Home > Business > THAIBEV

THAIBEV

12 September 2005 Leave a comment Go to comments

THAIBEV

นับถอยหลัง “ช้าง” กรีฑาทัพ นำไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) กระหึ่มตลาดหุ้น

ที่สุดของหุ้นไอพีโอที่เป็นบริษัทเอกชน โดยไม่นับรัฐวิสาหกิจอย่างบริษัทกฟผ.ในรอบปี 2548 ต้องยกให้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) ของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่กระแสคัดค้านจากผู้ไม่เห็นด้วยที่จะนำธุรกิจน้ำเมาเข้ามากระจาย หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มซาลง

จากนี้ไปก็เหลือเพียงคอยว่า จะขายหุ้นอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ และราคาเท่าไหร่ ความสนใจนับจากนี้ไปก็จะพุ่งเป้าไปที่ บล.ภัทร ในฐานะที่ปรึกษาการเงินนั่นเอง

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) จะเป็น 1 ใน 2 หุ้น ที่จะดันมูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์ (Marketcapitalization)ของไทยพุ่งทะยานไล่ตามจีดีพี เพราะหากนับบริษัท กฟผ.เข้าไปด้วย มาร์เก็ตแคป ของตลาดเพิ่มขึ้นถึง 11% เลยทีเดียว

หากเอ่ยชื่อ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าบอกว่า “หุ้นเบียร์ช้าง” เชื่อว่าหลายคนรู้จักเป็นอย่างดี แต่ Smart IPO เชื่อว่า มีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อย ที่รู้ว่า เบียร์ช้าง เป็นเพียงบริษัทในเครือของไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) เท่านั้น เพราะการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) ขนเอาบริษัทในเครือพ่วงเข้ามาด้วยถึง 58 บริษัท

ตลาดเบียร์ และสุราของไทยเป็นหนึ่งในหกตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2547 ไทยมีปริมาณการขายเบียร์ 1,619.1 ล้านลิตร ในขณะที่มีปริมาณการขายสุรา 648.6 ล้านลิตร

ตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่มีมูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) Economy Beer ซึ่งเป็นเบียร์ที่ผลิตในประเทศ และมีราคาถูก มีปริมาณขายคิดเป็น 83.0% ของตลาดเบียร์ในประเทศ 2) Standard Beer เป็นเบียร์ที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก มีปริมาณขายประมาณ 10.5% ของตลาดเบียร์ในประเทศ และ 3) Premium Beer ซึ่งเป็นตลาดบน มีปริมาณขายประมาณ 6.4% ของตลาดเบียร์ในประเทศ

ส่วนตลาดสุรา สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม เช่นเดียวกัน ได้แก่
1) สุราขาวและสุราสมุนไพรจีน ซึ่งครองตลาดส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสุราราคาถูก มีปริมาณขายประมาณ 69.4% ของตลาดสุราในประเทศ
2) สุราวิสกี้ แอดมิกซ์และสก๊อตวิสกี้ผสม/สแตนดาร์ด มีปริมาณขายประมาณ 29.6% ของตลาดสุราในประเทศ
3) สุราพรีเมียม มีปริมาณขายประมาณ 1.0% เท่านั้น

ภาพรวมธุรกิจ ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV)

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2546 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจด้านการลงทุน โดยถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ใช่แอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์พลอยได้อื่นๆ รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทย่อย รวมกัน 58 แห่ง ซึ่งสามารถแบ่งตามประเภทธุรกิจได้ดังนี้

1.กลุ่มธุรกิจเบียร์ น้ำดื่มและโซดา เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทมากเป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มธุรกิจสุรา แต่สร้างชื่อให้กับบริษัทเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 46.6% ของรายได้จากการขายทั้งหมด ประกอบด้วยบริษัทย่อยจำนวน 11 บริษัท โดยมี บริษัท เบียร์ไทย และบริษัทเบียร์ทิพย์ เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการโรงงานผลิตเบียร์ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ มีกำลังการผลิต 970 ล้านลิตร/ปี มีการผลิตเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราช้าง” และเบียร์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราอาชา”

ในปี 2547 กลุ่มธุรกิจเบียร์ของบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 60.4% ของตลาดเบียร์ภายในประเทศ

แม้บริษัทจะเป็นที่รู้จักของสาธารณชนทั่วไปมาจากเครื่องหมายการค้า “ตราช้าง” และ “ตราอาชา” แต่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็หาได้เป็นของบริษัทเองไม่ แต่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งก็คือ “บริษัท เบียร์ช้าง” และ “บริษัท เบียร์อาชา” ที่บริษัทต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ในอัตรา 2% ของยอดขายสุทธิของผลิตภัณฑ์

สัญญาที่ทำกับบริษัทเบียร์ช้างไม่มีกำหนดอายุของสัญญา ในขณะที่สัญญาที่ทำไว้กับบริษัทเบียร์อาชา มีอายุ 30 ปี โดยบริษัทเบียร์ช้าง และบริษัทเบียร์อาชา มีสิทธิเลิกสัญญาในกรณีต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาที่เกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นความเสี่ยงหนึ่งของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามคงเบาใจได้ เพราะข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 ก.ค. 2548 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ บริษัทเบียร์ช้าง มีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้น 50% และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี 49.94%

2.กลุ่มธุรกิจสุรา ซึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนรายได้ 53.5% ของรายได้จากการขายของบริษัท ประกอบด้วยบริษัทย่อยจำนวน 28 บริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจผลิต และจัดจำหน่ายสุราขาว สุราผสม(สุราสมุนไพรจีน) สาเก และสุราสี รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลอยได้และวัตถุดิบ โดยมีบริษัทย่อยจำนวน 15 บริษัทเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการโรงงานสุรา 16 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 790 ล้านลิตร/ปี

มีเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น “สุราขาว” ตรารวงข้าวและตราไผ่ทอง “สุราสมุนไพรจีน” ตราเซี่ยงชุน ,ตราชูสิบนิ้ว และตราเสือดำ “สุราสี” ตราแสงโสม ,ตราแม่โขง ,ตรามังกรทอง และตราคราวน์ 99 ในปี 2547 กลุ่มธุรกิจสุราของบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันประมาณ 74.4% ของตลาดสุราภายในประเทศ

3.กลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 0.6% ของรายได้จากการขายของบริษัท มีบริษัทย่อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัทไทยแอลกอฮอล์ เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินกิจการโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม มีกำลังการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ 95 ดีกรี ประมาณ 0.2 ล้านลิตร/วัน หรือเอทานอล 99.5 ดีกรี ประมาณ 0.2 ล้านลิตร/วัน

4.กลุ่มธุรกิจอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 7.8% ของรายได้จากการขายรวมของบริษัท โดยบริษัทถือหุ้นในบริษัทต่างๆ อีก 18 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มบริษัทการตลาดและส่งออก ,กลุ่มบริการขนส่ง และกลุ่มบริษัทธุรกิจต่อเนื่อง

ไอพีโอ 7,000 ล้านหุ้น ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV)

ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 29,000 ล้านบาท เป็นทุนเรียกชำระแล้ว 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 22,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 7,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนการกระจายหุ้น 24.14% โดยจะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป 6,000 ล้านหุ้น และไว้รองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 1,000 ล้านหุ้น เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อไป

ปัจจุบัน Risen Mark Enterprise Ltd. ถือหุ้น ไทยเบฟเวอเรจ จำนวน 25.17% ,Good Show Holding Limited 19.07% ,นายเจริญ สิริวัฒนภักดี 14.35% ,คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี 14.35% และ Golden Capital (Singapore) Limited 4.60%

ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้แล้วเสร็จจะทำให้ Risen Mark Enterprise Ltd มีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 19.10% ,Good Show Holding Limited 14.46% ,นายเจริญ สิริวัฒนภักดี 10.88% ,คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี 10.88% และ Golden Capital 3.49% ในขณะที่ประชาชนทั่วไปมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 24.14%

ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV), กำไรสะสมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

สำหรับฐานะการเงินของ ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) ณ วันที่ 30 มิ.ย. 48 มีสินทรัพย์รวม 89,019 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 53,751 ล้านบาท

แม้ไทยเบฟเวอเรจ (THAIBEV) จะมีการจ่ายปันผล 2,640 ล้านบาท แต่ยังมีกำไรสะสมอีกว่า 13,277 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่มี 11,342 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.06% จะส่งผลให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเพิ่มขึ้นเป็น 35,267 ล้านบาท จากเดิม 32,735 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.74%

จากโครงสร้างทางการเงิน บริษัทมีอัตราส่วนสภาพคล่อง(Current Ratio) ไตรมาสที่ 2/48 ที่ 0.76 เท่า ทรงตัวจากสิ้นปี 47 ที่ 0.76 เท่า ในขณะที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)ไตรมาสที่ 2/48 ลดลงเหลือ 1.52 เท่า จากสิ้นปี 47 ที่ 1.69 เท่า

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาสที่ 2/48 (งวด 6 เดือน) มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 45,651 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 45,015 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.41%

ในขณะเดียวกันบริษัทก็มีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 37,231 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 36,321 ล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.50% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 5,172.62 ล้านบาท หรือ 0.24 บาท/หุ้น จากปีก่อนที่ 5,614 ล้านบาท หรือ 0.26 บาท/หุ้น ปรับตัวลดลง 7.86%

From : กรุงเทพธุรกิจ, 12 กันยายน 2005
http://bangkokbiznews.com/2005/09/12/news_18576230.php?news_id=18576230

—————————————————————–

อ่านเสร็จตอนแรกเหมือนไม่มีอะไร แต่เกิด idea เลย
ว่าถึงเอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด แต่ก็ยังมีเทคนิคให้ได้รายได้เพิ่มอยู่ดี
ถ้าแบบเบสิค ก็ออกแนวให้บริษัท เช่าอสังหาของตัวเอง
แต่นี่ ให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญคือ ต้องมีที่ปรึกษากฎหมายและการเงินในการวางแผนที่ดีนี่สิ

Categories: Business Tags:
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.

Leave a comment