Home > News and politics > เปิดตัว “ปีย์ มาลากุล” คนนัด “สุรยุทธ์” ถก3ตุลาการ

เปิดตัว “ปีย์ มาลากุล” คนนัด “สุรยุทธ์” ถก3ตุลาการ

เปิดตัว "ปีย์ มาลากุล" คนนัด "สุรยุทธ์" ถก3ตุลาการ

"ไม่มีการพูดเรื่องปฏิวัติ หรือเรื่องตำแหน่ง ไม่มีทหารอยู่สักคนจะพูดเรื่องปฏิวัติได้อย่างไร"

หมายเหตุ – "มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์พิเศษนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา บุคคลซึ่งถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กล่าวหาเป็นเจ้าของบ้านที่เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะเป็นองคมนตรี มาพบกับตุลาการระดับสูงเพื่อวางแผนโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549) และเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม

ในการพูดคุยกัน 7 คน ที่บ้านประกอบด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี, คุณอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด, คุณชาญชัย ลิขิตจิตถะ ขณะเป็นประธานศาลฎีกา คุณจรัญ ภักดีธนากุล ขณะเป็นเลขาธิการประธานศาลฎีกา คุณปราโมทย์ นาครทรรพ (นักคิดนักเขียนในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) และผม ไม่มีการพูดเรื่องการวางแผนรัฐประหารหรือโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการเชิญคนที่สนิทสนมและเป็นเพื่อนมารับประทานอาหารที่บ้านเพื่อพูด คุยถึงปัญหาบ้านเมืองซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้ว

การเชิญเพื่อนและคนที่มีความสนิทสนมมารับประทานอาหารเย็นที่บ้านเป็นประจำอยู่ ก็เพื่อให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง เพราะต้องการทันสถานการณ์เนื่องจากมีอาชีพเป็นนักข่าว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง จึงได้เชิญคุณอักขราทร ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ รวมทั้งคุณชาญชัย (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) มารับประทานอาหารที่บ้านในวันที่ 6 พฤษภาคม 2549 เพื่อคุยว่า จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไรตามที่ทรงมีพระราชดำรัส จากนั้นได้โทรศัพท์ชวน พล.อ.สุรยุทธ์ พล.อ.พัลลภ และคุณปราโมทย์ ซึ่งมีความสนิทสนมกันอยู่แล้วว่า อยากจะมาฟังหรือไม่

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2549 ปรากฏว่า พล.อ.สุรยุทธ์ มาถึงบ้านที่สุขุมวิท 103 เป็นคนแรก จึงนั่งคุยกันก่อน จากนั้นอีกประมาณ 15 นาที คุณอักขราทร คุณชายชัย และคุณจรัญ ภักดีธนากุล (ปัจจุบันเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) มาถึงพร้อมกัน โดย พล.อ.พัลลภและคุณปราโมทย์เดินเข้ามาบ้านพร้อมกัน จากนั้นจึงขึ้นนั่งโต๊ะอาหารรูปทรงกลม โดย พล.อ.สุรยุทธ์นั่งขวามือของผม พล.อ.พัลลภนั่งทางซ้ายมือ ส่วนตุลาการทั้ง 3 คน นั่งตรงกันข้ามเพื่อที่จะได้ซักถามสะดวก

ผมถามทางฝ่ายตุลาการว่าจะ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งทั้งคุณอักขราทรและคุณชาญชัยก็อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสอย่างไรบ้าง จนเข้าใจ และทางตุลาการมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไรในทางกฎหมายโดยไม่ได้ลงราย ละเอียดถึงตัวบุคคล แต่พูดถึงขั้นตอนในทางกฎหมายโดยคุณอักขราทรและคุณชาญชัยเป็นคนอธิบายเป็น หลัก ส่วนคุณจรัญพูดน้อยหน่อยซึ่งจำไม่ได้ว่าพูดเรื่องอะไรบ้าง แต่หลังจากนั้นก็คุยกันเรื่องอดีตเก่าๆ เรื่องมโนสาเร่ จนกระทั่งเลิกประมาณ 4 ทุ่มกว่า และผมยังเดินไปส่ง พล.อ.สุรยุทธ์และ พล.อ.พัลลภ ซึ่งคนทั้งสองไม่เคยอยู่กัน 2 ต่อ 2 เพราะมีผมนั่งคั่นอยู่ตรงกลาง เวลามีอะไรต้องคุยผ่านผม

เรื่องที่เกิดขึ้นมันนานหลายปีแล้ว คนที่มากินข้าวไม่มีใครจำวันที่ได้สักคน ผมอายุ 72 แล้วก็จำไม่ได้ แต่เมื่อมีคนมาให้สัมภาษณ์ก็ต้องเปิดดูบันทึกของเลขาฯ เพราะต้องสั่งอาหารญี่ปุ่นจากโรงแรมดุสิตธานีจึงรู้ว่าเป็นวันนี้ ซึ่งมีแผนผังด้วยว่า ใครนั่งตรงไหนอย่างไร

@ ในการพูดคุยมีเรื่องเกี่ยวกับการล้มการเลือกตั้งหรือไม่

มีการพูดถึงการเลือกตั้ง แต่จำไม่ได้ในรายละเอียด เพียงแต่ฝ่ายตุลาการมีการพูดถึงการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ยืนยันว่าไม่มีการพูดเรื่องปฏิวัติ หรือพูดเรื่องตำแหน่ง ไม่มีทหารอยู่สักคนจะพูดเรื่องปฏิวัติได้อย่างไร

@ ทำไมเชิญ พล.อ.พัลลภและนายปราโมทย์เข้าร่วม และร่วมในฐานะอะไร

มีความสนิทสนมกับคนทั้งสองมานานแล้ว และตอนนั้น พล.อ.พัลลภกำลังดังเรื่องคาร์บอมบ์ (คดีวางระเบิด พ.ต.ท.ทักษิณ) ส่วนคุณปราโมทย์นั้น เขียนหนังสือเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ และมีความรู้ทางด้านกฎหมายเลยเชิญมาร่วม

@ พล.อ.พัลลภระบุว่ามีการประชุมวางแผนที่บ้านนายปีย์ถึง 3-4 ครั้ง

พบเพียงครั้งเดียว ผมดู พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ที่ พล.อ.พัลลภพูดไม่ตรง ก็แปลกใจว่าทำไม

@ เคยสนิทสนมกับ พล.อ.พัลลภมาก่อน ทราบสาเหตุหรือไม่ว่า ทำไมถึงพลิกขั้วแบบ 180 องศา

รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน แต่คิดว่าอาจไม่พอใจ พล.อ.สุรยุทธ์ที่ไม่ได้ตำแหน่งอะไรในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ หรือไม่ได้รับการตอบแทนอะไรบางอย่าง ซึ่งก็ไม่เข้าใจความคิดของ พล.อ.พัลลภเช่นกัน

@ หลังจากเกิดเหตุที่มีการเปิดโปงกัน ได้ติดต่อกับ พล.อ.พัลลภ พล.อ.สุรยุทธ์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ยังไม่ได้ติดต่อกับบุคคลใดทั้งสิ้น

@ พ.ต.ท.ทักษิณเคยมารับประทานอาหารที่บ้านหรือไม่

เคยมาหลายครั้งเพราะเคยสนิทสนมกันในช่วงก่อนที่จะเป็นนายกฯ ส่วนช่วงเป็นนายกฯไม่ได้มา อาจจะเป็นเพราะไม่มีเวลา แต่หลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และกลับจากต่างประเทศ คุณทักษิณมา 2 ครั้ง คุณพญิงพจมาน ชินวัตร มา 1 ครั้ง

มติชนรายวัน วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11342


สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามวันที่ ดังนี้

6 พฤษภาคม 2549 – การรับประทานอาหารค่ำ บ้าน ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา
17 พฤษภาคม 2549 – ปฏิญญาฟินแลนด์ โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
25 กรกฎาคม 2549 – ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 กกต. คนละ 4 ปี ไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี
24 สิงหาคม 2549 – คดี "คาร์บอมบ์"
19 กันยายน 2549 – ปฏิวัติ
1 ตุลาคม 2549 – นายกหลังการปฏิวัติ สุรยุทธ์ จุลานนท์

ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา "มีความสนิทสนมกับคนทั้งสองมานานแล้ว และตอนนั้น พล.อ.พัลลภกำลังดังเรื่องคาร์บอมบ์ (คดีวางระเบิด พ.ต.ท.ทักษิณ) ส่วนคุณปราโมทย์นั้น เขียนหนังสือเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ และมีความรู้ทางด้านกฎหมายเลยเชิญมาร่วม"

เป็นไปได้หรือไม่อย่างไร พล.อ.พัลลภ ที่ดังเรื่องคาร์บอมบ์ ก่อนเกิด คาร์บอมบ์ กว่า 3 เดือน และ เรื่องเกี่ยวกับปฏิญญาฟินแลนด์ ของ ปราโมทย์ นาครทรรพ ก่อนตีพิมพ์

อ้างอิงเรื่อง ปฏิญญาฟินแลนด์
Mr Pramote’s five-episode article "Finland Strategy: Thailand’s Revolution Plan?" in the daily on May 17, 19, 22, 23 and 24 and on its website, on May 18, 21, 22 and 23
ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์:แผนเปลี่ยนการปกครองไทย ? (1)
โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 18 พฤษภาคม 2549 13:16 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000065158

อ้างอิงเรื่อง พิพากษาจำคุก 3 กกต.
นาย จรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการศาลฎีกา กล่าวว่า ได้สรุปข้อกฎหมายที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก กกต.ให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา รับทราบ และจะดำเนินการบวนการสรรหา กกต.ชุดใหม่อย่างแน่นอน แต่ต้องขอเวลาสักระยะ
http://news.sanook.com/politic/politic_10841.php
http://tnews.teenee.com/politic/3380.html
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/BreakingNews/tabid/98/newsid533/2258/Default.aspx

Categories: News and politics
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.

Leave a comment