Home > Economics & Finance, News and politics > “จีดีพี” ในกระเป๋า, สรกล อดุลยานนท์

“จีดีพี” ในกระเป๋า, สรกล อดุลยานนท์

“จีดีพี” ในกระเป๋า

โดย สรกล อดุลยานนท์

หลังจากประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็เริ่มตั้งรับทางการเมือง

เมื่อทุกฝ่ายออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ 2 เรื่องใหญ่

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

และคนจบปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท

ประมาณ 10 กว่าวันที่ผ่านมา ภาคเอกชนและนักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้านแบบ “ประสานเสียง”

ผลกระทบที่พูดถึงล้วนน่ากลัวมาก

ต้องปิดกิจการ ต้องปลดคนงาน ต้องย้ายฐานการผลิต ฯลฯ

สุดท้ายก็จบลงตรงข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายชดเชยให้กับภาคธุรกิจ

ถามว่าเสียงคัดค้านของภาคเอกชนนั้นมีเหตุผลหรือไม่

ตอบได้เลยว่าน่ารับฟังอย่างยิ่ง

แต่ “อย่าเชื่อ” ทั้งหมด

เคยตั้งคำถามบ้างไหมครับว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยคุยนักคุยหนาว่าเศรษฐกิจไทยดีมาก

จีดีพีของประเทศเติบโตสูงมาก

ตัวเลขการส่งออกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำไรเพิ่มขึ้นมโหฬาร

แต่แปลกไหมครับว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงรู้สึกว่า “จน” ลงกว่าเดิม

แสดงว่า จีดีพีที่เป็น “ตัวเลข” ของสภาพัฒน์ กับ “จีดีพีในกระเป๋า” ของชาวบ้านแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

วันนี้ น่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องกระจายจีดีพีในกระเป๋ายอดพีระมิดลงมาที่ระดับฐานล่างได้แล้ว

อย่าลืมว่า “ค่าแรง” นั้นเป็นเพียง “ต้นทุน” หนึ่งของธุรกิจ

เหมือนกับ “น้ำมัน-วัตถุดิบต่างๆ” หรือ “อัตราดอกเบี้ย”

เพียงแต่ต้นทุนตัวอื่นที่เพิ่มขึ้น ไม่ทำให้เกิด “กำลังซื้อ” ในประเทศ

ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระเพียงฝั่งเดียว

ไม่เหมือนกับ “ต้นทุน” เรื่อง “ค่าแรง” ที่เพิ่มขึ้น เพราะการเพิ่มของต้นทุนตัวนี้จะทำให้กำลังซื้อในประเทศสูงขึ้นด้วย

เป็นการเติมตัวเลขทั้งฝั่ง “อุปสงค์” และ “อุปทาน”

ฝั่ง “คนขาย” เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็ขึ้นราคาสินค้า

ส่วนฝั่ง “คนซื้อ” ก็พอรับได้ เพราะเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเหมือนกัน

เป็นการต่อสู้ที่ค่อยสมน้ำสมเนื้อหน่อย

ไม่ใช่ “คนซื้อ” โดนชกข้างเดียวเหมือนในอดีต

ที่สำคัญ ทุกครั้งที่ถกเถียงกัน เราต้องไม่ลืมความหมายของ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ด้วย

“ค่าจ้างขั้นต่ำ” นั้นหมายถึง “อัตราค่าจ้างตามความจำเป็นที่ลูกจ้างคนเดียว (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้”

เราลอง เปลี่ยน “จุดเริ่มต้น” ของการคิดใหม่ จากเรื่องผลกระทบในภาคธุรกิจ มาเป็นคุณภาพชีวิตของ “ผู้ใช้แรงงาน”

ลองจินตนาการเล่นๆ ว่า “คุณภาพชีวิต” ขั้นต่ำของเพื่อนคนไทยของเราคนหนึ่งควรจะได้รับนั้นเป็นอย่างไร

แล้วตีออกมาเป็นตัวเลข ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ

จากนั้นลองคำนวณว่า ค่าใช้จ่ายต่อวันเป็นเท่าไร

“จุดเริ่มต้น” การคิดที่เปลี่ยนไป อาจทำให้เราเข้าใจว่าอะไรเป็นเรื่องที่ “ควรฟัง”

และเรื่องใดเป็นเรื่องที่ “ควรทำ” ในวันนี้

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554)

16 กรกฎาคม 2554

  1. Nok
    25 July 2011 at 5:53 PM

    อ่านข้อเขียนของคุณแล้วอยากหัวเราะ…..ลองคิดดูถึงธุรกิจส่งออกที่ต้องแข่งขันกับประเทศจีนดู อยู่ดีๆไปขึ้นราคา จะไปขายใครไม่ทราบ??? พูดถึงแต่ในแง่ดีว่าจะขายในประเทศได้มากขึ้น แล้วธุรกิจส่งออกจะให้มันตายไปเลยใช่ไม๊?

    300 บาทนี่ต่อวันนะ เพิ่ม 100 บาทต่อคนต่อวัน ต้องหาเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่มาจ่ายคนงานในโรงงาน/บริษัท ถ้ามี 1000 คน ก้อวันละแสน เดือน ละ 2.5 ล้าน ปีนึงก็ ร่วม 30 ล้านบาท กว่าจะเสียภาษีก็อีกปีนึง
    บริษัทคงเจ๊งไปก่อนจะไดีเสียภาษีที่ลดลงแล้ว….

    ถ้าคุณจะเชียร์เสื้อแดงก็ไม่ต้องให้มันสุดโต่งขนาดนี้ก็ได้…..เคยติดตามงานเขียนคุณอยู่ ช่วงหลังๆเริ่มรู้สึกว่าเอนเอียงมากกก………..ตอนนี้เสียความรู้สึกสุดๆ

    เรื่องที่เขียนข้างบน มันเพ้อฝัน…..รำคาญ

  1. No trackbacks yet.

Leave a comment