Home > Economics & Finance > International Bond

International Bond

ประเภทของตราสารหนี้ระหว่างประเทศ (international bond) นั้นสามารถแบ่งออกเป็นสามประเภทด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ตราสารหนี้ต่างประเทศ (foreign bond) ยูโร บอนด์ (euro bond) และโกลบอล บอนด์ (global bond)

ทั้งนี้ตราสารหนี้ระหว่างประเทศทั้งสามประเภทนี้ มีลักษณะปลีกย่อยแตกต่างกันออกไป อย่าง foreign bond เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กร หรือบริษัทต่างประเทศ โดยที่ผู้ออก foreign bond สามารถออกในรูปของสกุลเงินใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสกุลเดียวกับประเทศที่ตราสารหนี้นั้นออกเสนอขาย สำหรับบ้านเราก็มี foreign bond กับเขาเหมือนกัน โดยเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (adb) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (jbic) แต่การออก foreign bond นั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ก.ล.ต. ของประเทศที่ออกเสนอขายตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดของตราสารหนี้ที่ออก หรือแม้แต่ลักษณะของตราสารหนี้ที่จะออก เป็นต้น

ในขณะที่ euro bond นั้น จะเป็นตราสารหนี้ที่ออกเสนอขายในต่างประเทศ โดยตราสารหนี้ที่ออกสามารถออกเป็นเงินสกุลต่างๆ นอกเหนือจากสกุลเงินที่ euro bond นั้นออกเสนอขายได้เช่นกัน ซึ่งการออกเสนอขาย euro bond นี้ไม่ถูกจำกัดให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ก.ล.ต. ของประเทศใดประเทศหนึ่ง และสำหรับ global bond นั้น เป็นตราสารหนี้ระหว่างประเทศอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสองกลุ่มข้างต้น ตรงที่ผู้ออกตราสารหนี้สามารถออกเสนอขายตราสารหนี้รุ่นนั้นพร้อมกันทีเดียวในหลายตลาด เช่น อาจจะเสนอขายในตลาดยูโร บอนด์ พร้อมกับเสนอขายในตลาด us yankee bond ( yankee bond เป็นชื่อเล่นของ foreign bond ที่ออกเสนอขายในประเทศสหรัฐ) ควบคู่กันไป ซึ่งการออกเสนอขาย global bond นี้จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ของประเทศที่ออกนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับนิยามของ global bond ที่ออกเสนอขายในประเทศนั้นเป็นแบบใด ถ้าถูกจัดให้เป็น foreign bond การออกเสนอขายก็ต้องปฏิบัติภายใต้กฎเกณฑ์ ก.ล.ต.ของประเทศที่นำตราสารหนี้นั้นออกเสนอขาย

จากที่กล่าวมาข้างต้น international bond ทั้งสามกลุ่มมีลักษณะค่อนข้างที่จะคล้ายๆ กัน เพียงแต่จะมีข้อปลีกย่อย หรือกฎเกณฑ์ในการออกเสนอขายแตกต่างกันไปบ้าง แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็น่าจะเป็น international bond ประเภท euro bond ซึ่งการออกเสนอขายตราสารหนี้อยู่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง และไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนว่าตราสารหนี้ประเภทนี้ต้องนำมาขึ้นทะเบียนกับที่ใด แต่ส่วนใหญ่ euro bond จะมาขึ้นทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน หรือตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว euro bond จะมีการแบ่งประเภทให้เห็นเด่นชัดตามสกุลเงินที่ euro bond นั้นออกเสนอขาย อาทิ euro bond ที่ออกมาเป็นสกุลเงินเยนญี่ปุ่น จะเรียกว่า euro yen bond หรือ ที่ออกเสนอขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเรียกว่า euro dollar bond ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่า euro dollar bond จะต้องออกเสนอขายในสหรัฐ แต่อาจจะออกโดยบริษัทที่ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี แต่เสนอขายในประเทศออสเตรเลีย และเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็เป็นได้ สำหรับลักษณะของการจ่ายดอกเบี้ยของ euro bond มักจะจ่ายดอกเบี้ยแบบปีละครั้ง มากกว่าจะจ่ายปีละสองครั้งเหมือนตราสารหนี้ทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากเรื่องของความยุ่งยากในการจ่ายดอกเบี้ย ให้กับผู้ถือตราสารหนี้ที่อยู่กันคนละประเทศกับผู้ออกตราสารหนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ถือหุ้นแต่ละครั้งค่อนข้างสูง

ในบางครั้ง เวลาที่เรากล่าวถึงคำว่า euro bond อาจจะเกิดความสับสนกับคำว่า eurobond เพราะเรียกเหมือนกันแต่เขียนต่างกันนิดหน่อยตรงเว้นวรรคคำ จนบางครั้งไม่แน่ใจว่าพูดถึง euro bond หรือ eurobond กันแน่ ซึ่งตราสารหนี้สองประเภทนี้แตกต่างกันแน่นอน เพราะ euro bond นั้นจัดอยู่ในกลุ่มของ international bond ซึ่งผู้ออกสามารถออกตราสารหนี้ในรูปสกุลเงินใดก็ได้ แต่ในขณะที่ eurobond เป็นตราสารหนี้ที่ออกเป็นเงินสกุล euros (ซึ่งเป็นเงินสกุลของ 12 ประเทศในสหภาพยุโรป หรือ eu)

โดย สายชล ลิสวัสดิ์

Categories: Economics & Finance
  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.

Leave a comment