Archive

Posts Tagged ‘ศาสนา’

เมื่อชีวิตทางเลือกกลายเป็นสินค้า (ตอนที่ 2), อภิชาต สถิตนิรามัย

22 November 2010 Leave a comment

เมื่อชีวิตทางเลือกกลายเป็นสินค้า (ตอนที่ 2)

โดย อภิชาต สถิตนิรามัย apichat@ecom.tu.ac.th

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

ต่อจากฉบับที่แล้วผมเริ่มประเด็นการขยายตัวของสินค้าและการบริโภควัฒนธรรม ศาสนา และการศึกษาทางเลือก (Alternative culture, religion and education) ไปในส่วนของการศึกษาทางเลือก ซึ่งถูก popularize จนแทบจะกลายเป็นการศึกษากระแสหลักสำหรับชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินไปแล้ว ฉบับนี้ผมขอพูดถึงอีกกรณีหนึ่ง คือ ปรากฏการณ์การเติบโตของศาสนาทางเลือก ซึ่งผมใช้ในความหมายรวม ๆ ทั้งสายปฏิบัติ วิปัสสนา สายพระป่า เช่น แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต, เสถียรธรรมสถาน, โกเอ็นก้า ฯลฯ หรือสายพระก้าวหน้า พระนักคิดพระนักกิจกรรม เช่น ท่านพุทธทาส, พระไพศาล วิสาโล, ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต ฯลฯ ซึ่งเดิมเป็นที่เคารพศรัทธากันเฉพาะในคนกลุ่มเล็ก ๆ รวมทั้งการประสบความสำเร็จของพระนักเทศน์รุ่นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ว.วชิรเมธี หรือพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่-วัยรุ่น

สำหรับผมปรากฏการณ์นี้คงไม่เพียง แค่ว่า ชนชั้นกลางไทยกำลังวิ่งเข้าหาศาสนาเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ หรือเป็นเพียงความดัดจริตของชนชั้นกลางในการเข้าหาศาสนาเพียงเพื่อพิธีการ เอาเปลือกไม่เอาแก่นของศาสนาพุทธ แต่ประเด็นของผมคือ ศาสนาในฐานะสินค้าทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถปรับตัวเจาะตลาดกลุ่มชนชั้นกลางโดยการเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดที่ชนชั้นกลางกำลังแสวงหา กลายเป็นศาสนาที่สอดรับกับรสนิยมและความต้องการของคนกลุ่มนี้

ในขณะที่ชีวิตมั่นคงมากขึ้น lifestyle และมาตรฐานทางจริยธรรมของชนชั้นกลางระดับสูง เริ่มขยับตัวออกห่างจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งพวกเขาเหยียดว่า ยึดติดศาสนาเพียงพิธีกรรม และเสพติดกับความงมงาย นับตั้งแต่อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ตลอดจนการใบ้หวย สิ่งที่พวกเขาแสวงหาจึงเป็นศาสนาที่จะต้องฉีกตัวออกจาก “อัปลักษณ์” ข้างต้น ศาสนาของคนชั้นกลางจะต้องแตกต่างออกไป และจะต้องสะท้อนจริตความเป็นชนชั้นกลางระดับสูงของตน (ต้องเท่ด้วย !) เห็นได้ว่าในปัจจุบันสิ่งที่พระหรือแม่ชีดัง ๆ ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางนั้น หาใช่ความสามารถในการเข้าฌาน-สมาธิ การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือการใบ้หวย แต่บุคคลเหล่านี้มีลักษณะหลัก 2 อย่าง คือ

หนึ่ง ความสามารถและทักษะในการ เข้าถึงและสื่อสารกับชนชั้นกลาง ทั้งในแง่เนื้อหา ภาษา และเทคนิค ประเด็นการทำงานของพระไพศาลที่เน้นด้านสันติวิธี อหิงสา และการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่านั้นสอดคล้องกับจริตของชนชั้นกลางทางเลือกทั้งหลายที่รักสันติ เน้นปรองดอง รักต้นไม้ ใบหญ้า ท่วงทำนองการเทศน์ ว.วชิรเมธี ที่นุ่ม ๆ และเน้นการให้กำลังใจและสอนให้คนที่เหนื่อยล้ารู้จักช้าลง ก็เป็นที่จับจิตจับใจสำหรับชนชั้นกลางที่ต้องเผชิญกับชีวิตการทำงานในเมืองที่วุ่นวายอยู่ตลอดเวลาหรือสำหรับธรรมะจานร้อน หรือธรรมะ delivery ของพระมหาสมปอง ที่เน้นเทศน์ด้วยศัพท์ เนื้อหา ลีลา ทันสมัย ก็สามารถเจาะกลุ่มวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าท่านจะทำโดยรู้ตัวหรือตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ละท่านที่ว่ามานี้ต่างประสบความสำเร็จได้เพราะสามารถพัฒนาลักษณะเฉพาะ (product uniqueness) ของตัวเองจนสามารถเจาะเข้าสู่กลุ่มหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market) ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

สำหรับเครื่องมือรูปแบบใหม่ ๆ ในการสื่อสารนั้น มีตั้งแต่การ popularize พระผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ พระที่ประสบความสำเร็จแต่ละท่านต้องเป็นนักเขียนตัวยง (ถึงไม่เขียนเองก็ต้องมีถอดเทปเทศน์) ปี ๆ หนึ่งไม่มีใครที่ออกหนังสือน้อยกว่าหนึ่งเล่ม จนหมวดหนังสือธรรมยึดพื้นที่จำนวนมหาศาลในร้านหนังสือชั้นนำทุกที่ นอกจากหนังสือแล้วยังมี Gimmick อื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปฏิทิน แก้วน้ำ ปากกา ตัวอย่างขำ ๆ คือใครจะเชื่อว่าวันหนึ่งปฏิทินท่านพุทธทาสจะกลายเป็นปฏิทินพระที่ขายดีที่สุด และตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของสาวหนุ่มออฟฟิศ ทั้งที่ในสมัยหนึ่งท่านเคยเป็นพระที่ถูกประณามว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ นอกจากสิ่งพิมพ์แล้ว พระและแม่ชีเกือบทุกองค์ที่เป็นที่นิยมมักมีเครื่องมือสื่อสารกับฆราวาสทาง website, youtube, facebook, twitter, webblock ฯลฯ เอาเป็นว่าถ้าใครได้ (หรือหลง) เข้าไป add พระไพศาล หรือ ว.วชิรเมธี เป็นเพื่อนแล้วละก็ ท่านจะได้ของดี ๆ จากท่านเหล่านี้วันละ 3 เวลาเลยทีเดียว

สอง การจัดเตรียมชุดพิธีกรรม (ceremony package) ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต หรือ lifestyle ของชนชั้นกลาง ความสามารถในการแสดงธรรมเทศนาอย่างเดียวไม่พอ การจัดเตรียมวัดที่ร่มรื่น สงบ สะอาด-สะอ้าน และมีชุดธรรมกิจกรรมให้กับคนทุกกลุ่มในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากที่ชนชั้นกลางต้องการ หรือถ้าเรียกให้ถูกก็ต้องบอกว่า ความสำเร็จจะเกิดได้นั้นวัดต้องสามารถปรับตัวให้กลายเป็น “สปาทางอารมณ์” และ “สปาทางจิตวิญญาณ” ให้ได้ด้วย เช่น ที่เสถียรธรรมสถาน เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของผมไปใช้บริการอยู่เป็นประจำ เธอบอกว่าชอบมาก เช้าพาลูก ๆ ไปนั่งสมาธิกับแม่ชีศันสนีย์มีกิจกรรมเพนต์หน้าลูก ๆ ในขณะที่แม่ ๆ นั่งสมาธิ เที่ยงมีอาหารมังสวิรัติที่ใช้ผักออร์แกนิกให้กิน บ่าย ๆ พอลูกหลับ แม่ ๆ ก็ไปสวด เดินจงกรม โยคะ และที่สำคัญเธอเชื่อว่าการนั่งสมาธิไม่ใช่แค่ทำให้ลูกของเธอมีสมาธิ แต่จะทำให้เรียนเก่ง

นอกจากธรรมกิจกรรมสำหรับครอบครัวแล้ว คอร์สการนั่งสมาธิประสบความสำเร็จมาก หากมองในแง่ธุรกิจนอกจากจะมีความต้องการ (demand) ของชนชั้นกลางที่ต้องการหาทางบำบัด (ทางอารมณ์และจิตวิญญาณ) ทุกข์แล้ว supply ยังเติบโตเป็นดอกเห็ด มีทุกระดับ ทุกเวลา บางที่อยู่ในพื้นที่ป่าวิวสวยแบบสวิตเซอร์แลนด์เลยก็มี เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ต้องพูดถึง ไม่มีอีกแล้วปักกลด กลางป่า ซักผ้าเอง เพราะสถานปฏิบัติธรรมสมัยนี้มาตรฐานระดับรีสอร์ต

ในแง่นี้การเข้าคอร์สนั่งสมาธิแบบนี้ ไม่ใช่การเข้าวัดเข้าวาเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่มันกลายเป็นการผ่อนคลายจากสังคมที่วุ่นวาย ซึ่งเฉพาะคนที่รวยพอและมีเวลาเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่ระดับเจ้าของกิจการ/แม่บ้าน full-time ที่สามีเลี้ยงก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงกิจกรรมทางศาสนาแบบนี้ ตัวอย่างใกล้ตัวเลย แฟนผมซึ่งต้องถือว่าเป็น typical ชนชั้นกลาง เธอมักไปนั่งสมาธิ 10 (แบบห้ามพูดกันตลอดทั้ง 10 วัน) อย่างน้อยปีละรอบสองรอบ พี่สาวของผมที่มีกิจการเป็นของตัวเองเนี่ย มีกิจกรรมในวันหยุดคือ การตระเวนหาที่นั่งสมาธิ-เอาแบบให้ถูกรสนิยมสุด ๆ พี่สาวอีกคนนึ่งซึ่งเป็นแม่บ้าน full-time ปีหนึ่งอย่างน้อยต้องไปนั่งสมาธิ 3-4 ครั้ง ไปที 3-4 วัน เพื่อผ่อนคลายจากการรบกับลูกที่บ้าน สำหรับคนทำงานที่บ้านผมเนี่ย เนื่องจากเป็นชนชั้นแรงงานจึงไม่ค่อยมีโอกาสจะลาเจ้านายไปนั่งสมาธิยาวหลาย ๆ วันได้ ก็เสียบหูฟังเทศน์และธรรมเสวนาแทบจะแบบ 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องศาสนาผมว่าเอาสั้น ๆ แค่นี้ก่อนละกันนะครับ เอาแค่พอหอมปากหอมคอ พอชวนให้ท่าน ๆ มองศาสนา ผ่านแว่นทางโลก (secular world) กันดูบ้างแล้วกัน ผมยังกังวลอยู่เลยว่าถ้า คนที่บ้านผมหรือเพื่อน ๆ (ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง) ได้มาอ่านเข้า ผมคงไม่วายถูกประณามว่าเป็นพวกไม่มีศาสนา ไม่เอาพระเอาเจ้า ดูหมิ่นศาสนา ฯลฯ แค่คิดก็หูชาแล้วครับ

ประชาชาติธุรกิจ, 18 พฤศจิกายน 2553