Archive

Archive for March, 2007

Yen Carry Trade

11 March 2007 3 comments

Yen Carry Trade

Yen carry trade กำลังเป็นที่พูดกันบ่อยครั้งในแวดวงนักลงทุนว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ The Economist ได้เขียนอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ดังนั้นหากท่านผู้อ่านต้องการทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างครบถ้วน ก็ควรอย่างยิ่งที่จะอ่านบทความนี้อย่างละเอียด

yen carry trade นั้นคือการที่นักลงทุนกู้ยืมเงินเยนซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนในหุ้นหรือทำ ธุรกรรมอื่นๆ (เช่นซื้อทองหรือน้ำมัน) ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงทำให้สามารถทำกำไรได้อย่างงามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นมีภาระเงินเฟ้อต่ำและเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ดังนั้นธนาคารกลางจึงกดดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับต่ำ (คืออยู่ที่ศูนย์อยู่นานหลายปี) และเพิ่งเริ่มปรับขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา และขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายก็ยังอยู่ที่ระดับเพียง 0.5% ในขณะที่ดอกเบี้ยระยะยาว (เช่นพันธบัตร 10 ปี) อยู่ที่ 1.7-1.8% ต่อปี

การยืมเงินเยนจึงอาจมีต้นทุนไม่ถึง 2% ต่อปี แต่หากนำมาลงทุนในตลาดหุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ก็จะสามารถได้รับผลตอบแทน 30-40% ต่อปีได้โดยไม่ยาก แม้แต่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ยังสามารถได้ผลตอบแทน 16-17% เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมีการลอกเลียนแบบกันทำ yen carry trade อย่างแพร่หลาย ผลที่ตามมาคือการอ่อนค่าของเงินเยนและเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า เพราะเมื่อยืมเงินเยนแล้วก็นำไปแลกเป็นเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ผู้ที่ทำ yen carry trade ยิ่งลำพองใจเพราะนอกจากดอกเบี้ยจะต่ำแล้วเงินเยนยังอ่อนค่าอีกด้วย แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทุกคนทำเหมือนๆ กันจึงเกิดการแลกเงินเยนในปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน

เมื่อหาเงินมาลงทุนได้ง่ายและต้นทุนต่ำ (หรืออีกนัยหนึ่งคือมีสภาพคล่องเหลือเฟือ) นักลงทุนก็ยิ่งกู้เงินมาลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นต่างประเทศจนราคาหุ้นปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ผลคือนักลงทุนนำตัวเข้าไปสู่สภาวะที่มีความเสี่ยงสูง

ปัญหาคือการทำ yen carry trade นั้นเป็นการฝืนปัจจัยพื้นฐาน เพราะญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ (เกิน 0% เพียงเล็กน้อย) และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 3.5% ของจีดีพีนั้น ดังนั้นค่าเงินเยนควรจะแข็งขึ้น ในทางตรงกันข้ามประเทศสหรัฐซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อ 2.5-3.0% และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 6.5% ของจีดีพีนั้น เป็นประเทศที่ค่าเงินควรจะอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ เงินเยนอ่อนค่าและเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งยิ่งทำให้การอาศัย yen carry trade นับวันมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มีใครทราบปริมาณการลงทุนในลักษณะนี้มีมากเพียงใด โดยมีการประเมินกันว่า yen carry trade อาจมีมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยพื้นฐานนั้นในที่สุดจะต้องปรากฏขึ้นไม่ช้าก็เร็ว และเมื่อเงินเยนเริ่มแข็งค่านักลงทุนที่อาศัย yen carry trade ก็จะมีปัญหาเพราะต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้น หากมีการเริ่มขายหุ้นที่ลงทุนเอาไว้เพื่อให้ได้เงินมาใช้คืนหนี้ที่เป็นเงินเยน ก็จะทำให้นักลงทุนรายอื่นๆ ที่ใช้ yen carry trade ประสบปัญหาขาดทุนทั้งจากการปรับตัวลดลงของสินทรัพย์ที่ลงทุนและขาดทุนจากการแข็งค่าของเงินเยน จึงจะถูกกดดันให้ขายหุ้นทิ้งและนำเงินมาซื้อเงินเยนเพื่อใช้คืนหนี้สิน แต่การกระทำดังกล่าวก็จะทำให้หุ้นยิ่งราคาตกและเงินเยนยิ่งแข็งค่าเพราะผู้ที่กู้เยนมาลงทุนจะตระหนกและทำในทิศทางเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์คือ การปรับตัวลดลง 9% ของตลาดหุ้นจีน ซึ่งทำให้มูลค่าตลาดลดลง 130,000 ล้านเหรียญ ทั้งนี้เป็นเพราะมีข่าวลือว่าทางการจีนจะเข้มงวดกับการเก็งกำไรในตลาดหุ้นจีนซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายจนผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบ 140% ในปีที่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือคืนนั้น ตลาดหุ้นยุโรปก็ตกกันถ้วนหน้าประมาณ 2-3% และตลาดดาวโจนส์ก็ตกลง 3.5% สิ่งที่เกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นคือตลาดหุ้นในเอเชียก็ปรับลดลงอีก 2-3% ที่น่าสนใจคือตลาดนิกเคอิที่ญี่ปุ่นซึ่งลดลงเพียง 0.5% ในวันที่ตลาดหุ้นจีนตกแต่กลับปรับลดลง 3% ในวันต่อมาหลังจากตลาดหุ้นในสหรัฐและยุโรปปรับตัวลดลง

จึงอาจแปลกใจว่าทำไมตลาดหุ้นจีนที่มีขนาดเล็กทำให้ในตลาดใหญ่ๆ เช่น อเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยประเมินได้ว่าตลาดอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นที่ลดลงนั้นมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ หรือ 10 เท่าตัวของการปรับลดลงของตลาดหุ้นจีนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัว ทำให้หลายคนหันไปกล่าวโทษ อลัน กรีน สแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ ที่กล่าวสุนทรพจน์โดยเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเผชิญกับสภาวะถดถอยในครึ่งหลังของปีนี้

ผมไม่คิดว่าคำพูดของคุณกรีนสแปนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้นตก แต่เชื่อว่าที่หุ้นปรับลดลงก็เพราะ yen carry trade เริ่มมีปัญหาเมื่อราคาหุ้นจีนตกก็กลัวว่าหุ้นตลาดเกิดใหม่อื่นๆ จะปรับตัวลดลงด้วย จึงมีบางกองทุนรีบขายหุ้นและนำเงินมาแลกเงินเยนเพื่อคืนหนี้ แต่เมื่อเริ่มทำเช่นนั้นราคาหุ้นที่ตกลงและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 121 เยนต่อ 1 ดอลลาร์มาเป็น 118 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ภายใน 1 วัน 1 คืน นอกจากนั้นผมก็ยังสงสัยว่า การสร้างสภาพคล่องโดยการทำ yen carry trade นั้นแสดงให้เห็นว่า yen carry trade นั้นอาจทำกันอย่างกว้างขวางและกระจายทั่วโลกก็เป็นได้

สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากคือความเป็นไปได้ว่ายังมีกองทุน yen carry trade ขนาดใหญ่ๆ อีกหลายกองที่ยัง "ออกไม่ทัน" และกำลังประสบปัญหาทางการเงิน หากเงินเยนยังแข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปที่ 115-116 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ เราก็อาจเห็นกองทุนบางกองทุนประสบปัญหาล้มละลายได้และหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็คงจะเร่งเรียกคืนสินเชื่อเพราะกลัวความเสี่ยง แต่การบังคับให้เขาคืนหนี้ก็จะยิ่งเป็นการลดสภาพคล่องและทำให้การขาดสภาพคล่องกระจายไปทั่วระบบ ซึ่งก็จะยิ่งกดดันให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง

สรุปได้ว่าราคาหุ้นที่ปรับลดลงไป 1-2 วันและเริ่มปรับขึ้นเล็กน้อยในวันต่อมานั้น ยังเป็นสภาวการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจควรรออีกสัก 2-3 สัปดาห์ให้แน่ใจว่าจะไม่มีกองทุนที่ล้มละลายเพราะ yen carry trade จึงจะกล้าลงทุนได้ ดังนั้นควรเฝ้าดูเงินเยนว่ามีเสถียรภาพหรือยัง หรือยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเป็นเช่นนั้นความเสี่ยงของ yen carry trade ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ประเทศไทยนั้นอาจไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับประเทศอื่นๆ เพราะหุ้นของไทยราคาถูกอย่างต่อเนื่องมิได้ปรับตัวขึ้นเช่นหุ้นในตลาดอื่นๆ โดยสำหรับผมนั้นปัจจัยภายในประเทศโดยเฉพาะการเมืองอาจจะกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากกว่า แต่หากต้องการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยก็จะต้องหันไปซื้อพันธบัตร แต่ทั้งนี้ราคาพันธบัตรต่างประเทศและพันธบัตรไทยก็ได้ปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมากแล้วโดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อ yen carry trade คือนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพราะผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ในประเทศญี่ปุ่นต่ำ ดังนั้นหากนักลงทุนญี่ปุ่น เริ่มไม่มั่นใจการลงทุนในต่างประเทศและถอนทุนกลับ ก็จะส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นปลายมีนาคมจะเป็นเดือนที่มีการปิดบัญชีประจำปีของญี่ปุ่น จึงจะมีการนำเอากำไรจากการลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น

ดังนั้นเงินเยนน่าจะแข็งค่าขึ้นเป็นพิเศษในเดือนมีนาคม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้กองทุนที่อาศัย yen carry trade ต้องลดพอร์ตการลงทุนและทำให้ราคาหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนได้อีกครับ

โดย ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 มีนาคม 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3877

Categories: Economics & Finance

Why I have to watch soccer without sound

7 March 2007 1 comment

ปกติ ถ้าไม่โชคร้ายจริงๆ
ผมคงไม่นั่งดูฟุตบอลพากษ์ไทย
บางครั้งทนดูแบบปิดเสียงดีซะกว่า
เนื่องจากผู้บรรยายนี่แหละครับ
ผิดพลาดบ้าง มั่วบ้าง

อย่างล่าสุด คืนนี้
ระหว่าง Bayern Munich vs Real Madrid
ทางช่อง 3 มีผู้บรรยายคือ บิ๊กจ๊ะ และใครอีกซักคนนี่แหละ ผิวเข้มๆหน่อย ไม่รู้ว่าชื่ออะไร
บรรยายผิดอย่างรุนแรง ถึง 3 จังหวะ ในครึ่งหลัง
(ครึ่งแรกปิดเสียงครับ เลยไม่รู้ว่ามีหรือไม่)

จังหวะที่ 1
จังหวะที่ Robinho ล้ำหน้า
จากภาพ replay จะเห็นได้ว่า
บอลที่จ่ายออกจากเท้า Guti อยู่ในจังหวะที่ Robinho ไม่ล้ำหน้าก็จริง
แต่ลูกบอลสะดุดและสัมผัสโดน van Nistelrooy ก่อน
ซึ่งจังหวะที่โดน van Nistelrooy นี้ Robinho อยู่ในจังหวะล้ำหน้าแล้ว
ดังนั้น จากภาพ replay ทำให้ชัดเจนว่า กรรมการตัดสินถูกต้อง

แต่ผู้บรรยายทั้ง 2 ยังไม่ได้รู้ตัว และบอกว่า ไม่ล้ำหน้า
ไม่ใช่ครั้งเดียว แต่หลายครั้ง ยืนยันกัน 2 คน … sign

จังหวะที่ 2
จังหวะโดนใบเหลือง-แดงของ van Bommel and Diarra
ผู้บรรยายทั้ง 2 พูดตรงกันอีกว่า
Bayern โชคดี ที่ Diarra โดนใบเหลือง-แดง
เพราะก่อนหน้านี้ Diarra ไม่ได้โดนใบเหลือง
ย้ำอยู่หลายครั้ง ว่าผู้ตัดสิน ได้ตัดสินผิดพลาดอย่างรุนแรง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
Diarra โดนใบเหลืองไปก่อนหน้านั้น ในนาทีที่ 61
จากจังหวะผลักนักเตะ Bayern ที่กำลังจะ counter attack ในแดนของ Bayern

ก็ไม่เข้าใจว่า ไม่ได้ดูบอลอยู่หรืออย่างไร
ถ้าจำไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ต้องพูดก็ได้ครับ … sign again

จังหวะที่ 3
จังหวะที่ Sergio Ramos ยิงเข้าประตูในช่วงท้ายเกม
แต่กรรมการไม่ให้ประตู
เพราะว่ามีการทำ handball เกิดขึ้น
จังหวะนี้ ผู้บรรยาย งงว่าเกิดการทำ handball ที่ไหน ใครเป็นคนทำ
จากภาพ replay เห็นชัดเจนว่า Sergio Ramos ได้ใช้ท่อนแขนในการ control ลูกบอล ก่อนจะยิงประตูได้
ไม่ว่าจะตั้งใจมากหรือไม่ แต่ถ้าไม่โดนมือ จังหวะนี้ คงไม่สามารถ control บอลมายิงได้
ดังนั้น น่าจะชัดเจนว่า เป็นการทำ handball จริง

แต่ผู้บรรยาย ยืนยันว่า ไม่น่าจะเป็นการฟาวล์
โดยตอนแรก พูดแบบไม่แน่ใจว่า มีการทำ handball หรือไม่
ต่อมา พูดในแบบที่บอกว่า ถึงจะมี ก็ไม่ได้เป็นการตั้งใจ … keep signing

————————-

เซ็งโคตร ไม่รู้จะต้องทนอีกนานแค่ไหน
พยายามเลือกแบบ soundtrack ก็ฟังไม่ได้
หรือไม่ก็คงทีวีเก่าเกิน เลยใช้ระบบ soundtrack ไม่เหมือนกัน

ถ้าบรรยายแบบนี้ เงียบๆไป ฟังผู้บรรยายภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็ฟังแต่เสียงในสนามก็พอ

Categories: Entertainment

Offshore – Onshore – Interest

2 March 2007 Leave a comment

ส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างตลาด offshore กับตลาด onshore และผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย

Q : แล้วทำไมแบงก์ชาติถึงต้องมีการแบ่งตลาดเป็น onshore กับ offshore ด้วยล่ะคะ มันดียังไง ?

A : จริงๆ แล้วการเกิดตลาด offshore กับ onshore นี่ ไม่ได้เป็นความตั้งใจของแบงก์ชาติหรอกครับ แต่ในอดีตที่ผ่านมาเราไม่ได้คุมเงินบาทให้อยู่แต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว บางคนเอาไปเล่นพนันที่กัมพูชาบ้าง บางคนเอาไปซื้อของแถวชายแดนบ้าง เงินบาทเลยรั่วออกไปนอกประเทศพอสมควร คราวนี้พอมีมาตรการกันสำรอง 30% ก็ทำให้มีการแบ่งแยกตลาด onshore กับ offshore ขึ้นมา เงินที่เคยออกไปอยู่นอกประเทศก็ดันมีมากพอที่จะเกิดตลาดซื้อขายกันได้ ซึ่งไม่เหมือนกับเงินหยวน ที่ที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีการควบคุมมิให้เล็ดลอดออกไปนอกประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จีนจึงสามารถควบคุมเงินหยวนได้ง่ายกว่า

Q : อ๋อค่ะ พอเข้าใจที่มาที่ไปของการเกิด 2 ตลาดแล้วค่ะ แต่ที่ยังสงสัยคือ ทำไมอัตราแลกเปลี่ยน offshore ถึงแข็งกว่าตลาด onshore เยอะขนาดนี้คะ

Aย : นี่ถ้าผมตอบแบบกำปั้นทุบดินผมจะตอบว่า เหตุที่เงินบาท offshore แข็งกว่า onshore ก็เพราะว่าเงินบาทในต่างประเทศ (offshore) มีความขาดแคลนมากกว่าเงินบาทในประเทศ (onshore) น่ะสิครับ …อันนี้กลไกราคาปกติ อะไรขาดแคลนอันนั้นก็แพงเป็นธรรมดา แต่ผมเข้าใจว่าหนูฉงนกำลังจะถามผมว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เงินบาทในต่างประเทศ (offshore) มันขาดแคลนขนาดนี้ใช่ไหมครับ

ตรงนี้ก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินอีกแหละครับว่า การแข็งค่า (การขาดแคลน) ของเงินบาทในตลาด offshore ก็เกิดจากอะไรไม่ได้นอกจาก 1.อุปทานน้อย (ไม่มีเงินบาทออกจากในประเทศไปชดเชยความขาดแคลนในต่างประเทศ) และ/หรือ 2. อุปสงค์เยอะ (คนในต่างประเทศต้องการเงินบาทมาก) ใช่ไหมล่ะครับ แต่ที่น่าวิเคราะห์คือ ทำไมไม่มีเงินบาทไหลออกนอกประเทศ และ/หรือ คนในต่างประเทศต้องการเงินบาทมาก นี่สิครับ

Q : นั่นสิคะ ทำไมคะ ?

A : เอาเรื่องเงินบาทไม่ออกนอกประเทศก่อนนะครับ ดูเหมือนว่านอกจากการออกกฎเกณฑ์อะไรต่อมิอะไรที่จะมาควบคุมการไหลของเงินบาทแล้ว ตอนนี้แบงก์ชาติไม่มีทางเลือกอื่นในการพยุงค่าเงินบาทนอกจากการลดดอกเบี้ยแล้ว เพราะการพยุงเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาทำให้แบงก์ชาติมีหนี้อยู่เป็นล้านล้านบาท และขาดทุนจากการพยุงหลายแสนล้านบาทแล้ว ตรงนี้ใครๆ เขาก็อ่านเกมออก… ถ้าเราเก็งนโยบายได้ เราก็เก็งกำไรได้ใช่ไหมครับ …เนื่องจากราคาพันธบัตรแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ย ถ้าผมเป็นต่างชาติ ผมก็คงจะรีบเข้าไปเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรก่อนดีไหมครับ เพราะถ้าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยจริง ผมก็จะได้กำไรจากส่วนต่างราคาพันธบัตรไงล่ะครับ อ่านง่ายอย่างนี้แล้ว ใครจะเอาเงินออกล่ะครับ แหม… ขอเก็งกำไรก่อนซะหน่อยไม่ได้หรือครับ

Q : อ๋อ …เออ… แล้วทำไมเงินบาทในตลาดต่างประเทศถึงขาดแคลนล่ะคะ ?

A : แหม… ง่ายจะตาย ก็คนที่อยู่ต่างประเทศเขาก็ต้องการกำไรชัวร์ๆ แบบนี้เหมือนกันนี่ครับ เพียงแต่เขาเอาเงินเข้ามาไม่ทัน แต่แบงก์ชาติปิดประตูการนำเงินเข้าโดยการออกมาตรการกันสำรอง 30% เสียก่อนนี่ครับ ตอนนี้ก็เลยหาเงินบาทกันจ้าละหวั่น เพราะขืนถือเงินดอลลาร์ทะเล่อทะล่าเข้ามาแลกในประเทศไทย ก็ต้องโดนให้กันสำรองไว้ 30% สิครับ

Q : อย่างนี้พอแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยแล้ว ต่างชาติก็จะมองเราหมดประโยชน์แล้วขนเงินออกนอกประเทศหรือเปล่าคะ ?

A : จริงๆ การลดอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้เงินมันจะไหลออกไปยังประเทศที่ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอย่างที่เราทราบๆ กันอยู่แล้วนะครับ แต่ที่การลดดอกเบี้ยครั้งก่อนไม่ทำให้เงินไหลออกก็เพราะเขาเดากันออกว่าดอกเบี้ยมันต้องลดลงอีก ยังทำกำไรกันได้อีก ยังไม่อิ่ม ถ้าถามว่าถ้าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยในวันที่ 28 ก.พ.2550 นี้ (ตอนที่ผมเขียนคอลัมน์นี้อยู่ ธปท. ยังไม่มีการประกาศ) แล้ว เงินจะออกหรือเปล่า ก็ต้องดูว่าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยมากหรือเปล่า ถ้าลดน้อย แล้วเขาเก็งกันได้ว่าจะลดอีกในเวลาอันใกล้ เงินก็อาจจะยังไม่ออกมากนะครับ ในทางกลับกัน ถ้าลดมากและไม่เหลือความหวังให้เขาเก็งกำไรกันอีกต่อไปแล้ว เขาก็อาจเอาบาทที่มีอยู่มาแลกดอลลาร์ แล้วก็หอบกลับประเทศไป ตรงนี้ก็เป็นไปได้ที่เราอาจจะเห็นการไหลออกของเงินทุนอย่างรุนแรงนะครับ

Q : โอ้โห เหมือนเขารุมกินบุฟเฟต์เราอยู่เลยนะคะ แต่ เอ… ถ้าแบงก์ชาติลดอัตรา ดอกเบี้ยจริง แม้ว่าต่างชาติจะได้กำไรจากการเก็งกำไร มันก็เป็นระยะสั้น แต่พื้นฐานเศรษฐกิจเรายยังแข็ง อัตราการใช้กำลังการผลิตก็อยู่ในระดับเต็มศักยภาพ ในระยะกลางมันก็จะเป็นการกระตุ้นการลงทุนใช่ไหมคะ ?

A : ผมน่ะอยากให้เป็นอย่างนั้นเสียเหลือเกินครับ ตามหลักการแล้วลำพังแค่การผลิตอยู่ในระดับเต็มศักยภาพก็ต้องมีการลงทุนใหม่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ยิ่งลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำลงด้วย (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง) นักลงทุนก็คงต้องยิ่งอยากลงทุนนะครับ แต่ผมกลัวจะไม่เป็นไปตามนั้นสิครับ ถ้าเรากลับไปดูตัวเลขช่วงที่ประเทศเราเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ๆ ตอนนั้นดอกเบี้ยต่ำติดดินเลย แต่ก็ไม่ค่อยมีใครลงทุน ทั้งนี้ก็เพราะในช่วงนั้นนักลงทุนยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเศรษฐกิจฟื้นจริงหรือเปล่า ตอนนี้ก็คล้ายๆ กันแหละครับ การเมืองจะเอายังไง สุวรรณภูมิจะย้ายหรือเปล่า รถไฟใต้ตินจะมี รึเปล่า ยังไม่แน่เลย เป็นผม ผมก็ไม่กล้าไปสร้างบ้านจัดสรรเพื่อเก็งกำไรแถวนั้นหรอกครับ แล้วยิ่งไปกันใหญ่ รัฐวิสาหกิจไหน หรือบริษัทเอกชนไหนที่จะลงทุนขนาดใหญ่และต้องการใช้เงินกู้ต่างประเทศ การกู้ที่ว่าก็ถูกสกัดด้วยนโยบายกันสำรอง 30% ของแบงก์ชาติเข้าไปอีก… ผมลองมานั่งดูๆ ดัชนีพ้องทางเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วแล้ว หนักใจครับ แค่ผลของความไม่แน่นอนทางการเมืองอย่างเดียว (ตอนนั้นยังไม่มีนโยบายกันสำรอง 30%) การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ก็เก่งแล้ว (ซึ่งเข้าใจว่าการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายปีก่อนน่าจะขยายตัวเป็นบวกได้เล็กน้อย) แถมดัชนีชี้นำหลายๆ ตัวยังชี้ให้เห็นว่าไตรมาสแรกปีนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วได้ยังไง แต่ก็อย่างว่าละครับ ผลในเชิงจิตวิทยาวัดยาก ผมก็หวังว่านักลงทุนจะมั่นใจและลงทุนกัน เพราะสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอยู่ครับ นอกจากนี้ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2550 ยังไปได้ดีครับ การส่งออกแม้จะแผ่วกว่าปี 2549 ลงบ้าง แต่ก็ยังคงจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยได้อยู่

Q : อย่างนี้ อาจารย์มองเศรษฐกิจปีนี้เป็นยังไงคะ ?

A : ยังไม่อยากตอบคำถามนี้ตอนนี้เลยครับ คงต้องจับตามองเดือน มี.ค.-เม.ย.2550 นี้ให้ดีๆ ละครับ เพราะสิ้นเดือน ก.พ.2550 ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค.2550 ซึ่งเป็นเดือนจะแสดงผลกระทบของทั้งเรื่องระเบิด ทั้งมาตรการต่างๆ (เช่น พ.ร.บ.นอมินี) จะทยอยกันออกมาจนครบ… 28 ก.พ.2550 ก็จะได้รู้ว่าแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยไหม ถ้าลด ลดเท่าไร และเงินทุนต่างชาติจะยังอยู่ในไทยไหม มากน้อยแค่ไหน ถ้าลดน้อย และสามารถคาดเดาว่ายังลดต่อได้อีก การลงทุนใหม่อาจถูกชะลอไว้ก่อน เพราะนักลงทุนจะรอดอกเบี้ยที่ถูกกว่านี้ และในทางกลับกัน เงินทุนไหลออกก็คงยังไม่มากนัก… แถมวันที่ 6 มี.ค.2550 สภาพัฒน์ (สศช.) ก็จะประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วอีก ถึงตรงนั้นเราคงมองเห็นภาพอะไรต่างๆ ชัดเจนขึ้นแหละครับ แต่ถ้าให้ประเมินตอนนี้เลย ปี 2550 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 4% ก็นับว่าเก่งมากแล้วครับ

 โดย นิตินัย ศิริสมรรถการ, ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 1 มีนาคม 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3875

Categories: Economics & Finance