Archive

Posts Tagged ‘รัฐประหาร’

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

5 July 2012 Leave a comment

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเพิ่งได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย” ของ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นจากข้อมูลสถิติหลายอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และอุดมการณ์ซึ่งเกิดในสังคมไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความตึงเครียดและแตกร้าวในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร

ในขณะที่การ “ปรองดอง” กำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงจนถึงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง งานวิจัยของ อ.ธเนศน่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนลงได้บ้าง เพราะ อ.ธเนศกำลังพูดว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาหลายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 โดดๆ หรือเพราะทักษิณ หรือเพราะสถาบันและเครือข่ายใดๆ เท่านั้น แต่มีพื้นฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คลี่คลายมานานกว่าสามทศวรรษ

การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ตามความเข้าใจของผม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยครั้งนี้ แตกต่างจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ใน พ.ศ.2475 นอกจากเหตุผลทางการเมือง, สังคม และอุดมการณ์แล้ว ยังมีการผลักดันของกลุ่มทุนภายในบางกลุ่ม ที่ต้องการให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สนใจตอบสนอง (รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ตอบสนองเช่นกัน และทำความผิดหวังแก่กลุ่มทุนภายใน)

ส่วนหนึ่งของ 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการเติบโตของคนชั้นกลางในเขตเมือง ภายใต้นโยบายพัฒนา ในขณะที่กลุ่มทุนก็ต้องการอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการ “กินหัวคิว” ของนายทหารในกองทัพ

ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบต่อคนระดับบน พลังของคนระดับบนเป็นหลักในการผลักดันให้ต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในสามทศวรรษหลังนี้ กระทบต่อคนเกือบทุกชั้นในสังคมไทย แผ่ไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พลังที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มมาก อย่างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน

คนระดับล่างซึ่งนับวันต้องอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น แม้แต่ที่อยู่รอดในภาคเกษตร ก็เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์เต็มตัว ต้องการความมั่นคงในชีวิตเศรษฐกิจของตนอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชีวิตตามจารีตประเพณีไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทำงานในเมือง ก็พบว่าชีวิตของตนขาดความมั่นคงเช่นกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยากที่แต่ละปัจเจกจะสามารถแสวง หาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

ไม่ต่างจากทุนขนาดใหญ่ที่หากำไรกับการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซ้ำยังมีเอสเอ็มอีที่เริ่มผลิตสินค้าคุณภาพแข่งขันมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ดีในอัตลักษณ์ใหม่ๆ และหลากหลายที่เกิดขึ้นในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อดังๆ ทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ หรือญาติธรรม ที่ต่างถึงขนาดเครื่องนุ่งห่มและทรงผม ไปจนถึงป้าย “เรารักในหลวง” หรือ “แวร์อาร์ยู ทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่ป้ายบริษัท, องค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือกองทัพ) และแน่นอนย่อมรวมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อหลากสี ฯลฯ ด้วย โดยสรุปก็คือ ผู้คนเริ่มมองเห็นตนเองแตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมมองความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่นหรือสังคมแตกต่างไปจากเดิมด้วยเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ “ระบบ” ที่เคยทำงาน ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่อไป ผมขอยกตัวอย่างเพียงกำลังของระบบเดิมที่ใช้ในการบังคับควบคุม (coercive forces) ที่สำคัญคือกองทัพ และคนในกระบวนการยุติธรรม

ดูเผินๆ เหมือนสถาบันเหล่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของบทบาทอาจจะใช่ คือยังคงทำหน้าที่ปกป้องระบบเดิมด้วยอำนาจที่อยู่ในมือ แต่ที่จริงแล้วเกิดความเครียดอย่างมากขึ้นในสถาบันทั้งสองอย่างยิ่ง

การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวที่จะรักษาระบบไว้ให้มั่นคงเหมือนเดิม บอกให้กองทัพรู้ว่า เครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงการเมืองของกองทัพนั้นเริ่มไร้ประสิทธิภาพเสียแล้ว อย่างน้อยต้นทุนก็สูงเสียจนอาจไม่คุ้ม การใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อสลายฝูงชนได้สำเร็จ แต่ยังกลายเป็นปัญหาที่อาจหันมาทิ่มแทงกองทัพได้จนบัดนี้

ภายในกองทัพเองก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น ทหารเกณฑ์มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ยุคสมัยของการผูกผ้าที่แขนเพื่อให้ซ้ายหันขวาหันถูกต้องหมดไปแล้ว ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิตครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่าทหารไม่ได้หันไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ขัดคำสั่งโดยไม่ถูกจับได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ที่เคยมีพลังครอบงำคนทั้งกองทัพได้กำลังถูกสั่นคลอน ปราศจากอำนาจทางอุดมการณ์ ก็เหลือแต่อำนาจที่ต้องอิงกับความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้กองทัพต้องอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือน (โดยเฉพาะนักการเมือง) มากยิ่งขึ้น

คนในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, ตุลาการ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ถูกผู้คนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา, แพ่ง วิธีพิจารณาความ ในวงการตุลาการ เราไม่มีคนที่มี “บารมี” สูงจนเป็นที่เชื่อฟังอย่างกว้างขวาง เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, หรืออดีตผู้พิพากษาเรืองนามอื่นๆ มานานแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกว่า ผู้พิพากษาที่เก่งและดีไม่มีอีกแล้ว แต่บอกว่ามาตรฐานของความเก่งและความดีในวงการผู้พิพากษาได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กัดกร่อนความเชื่อมั่นตนเองในวงการสื่อไปมาก แม้แต่งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก็เริ่มถูกเบียดเบียนจากโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ต้องพูดถึงงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งหดหายลงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว

ในขณะที่คนจำนวนมากซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเต็มตัว ย่อมต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง กำลังหวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจของตนตลอดมา จึงหันไปทุ่มเทความพยายามในอันที่จะไม่ให้ระบบการเมืองเปลี่ยน เช่น คนเหล่านี้กลับไปเป็นนักกษัตริย์นิยมอย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติของความเป็นกษัตริย์นิยมที่เหนียวแน่นนักมาก่อน ทั้งนี้เพราะอยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งสมอที่จะหยุดการก้าวเดินไปข้างหน้า (เช่นหยุดโลกาภิวัตน์ไว้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)

ในภาวะที่มีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้ ข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่นการสร้างกติกาของความขัดแย้งใหม่ ล้วนไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ สิ่งที่น่าคิดก็คือจะหาข้อเสนอระดับกลาง (intermediate measures) ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นที่ยอมรับกันได้หลายฝ่ายได้อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้แก่หลายฝ่าย อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดในสังคมไทยไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องสร้างกลไกและกระบวนการที่จะทำให้คนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” ของความขัดแย้งโดยตรง แต่จะมีผลลดระดับความขัดแย้งลงไปเป็นอันมาก (หากทำได้สำเร็จ) การเมืองจะไม่กระจุกตัวในส่วนกลาง ที่กล่าวกันว่าการเมืองไทยเป็นเกมส์ “กินรวบ” คือใครได้ก็ได้หมด ใครเสียก็เสียหมดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากสันดานของนักการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขในการจัดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกไว้กับส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ใครได้ตำแหน่งบริหารก็จะมีอำนาจล้นฟ้าโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจจะทำให้ไม่มีวันที่ใครจะได้อะไรหมดฝ่ายเดียว เพราะมีคนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ

ประชาชนระดับล่างสามารถเข้ามามีบทบาท หรือกำกับควบคุม การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งในรูปงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร, งบประมาณที่มาจากแหล่งรายได้ของตนเอง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งผู้บริหารที่อยู่ในโอวาทของประชาชน ไม่ใช่โอวาทของพี่ชาย

คนชั้นกลางที่มีการศึกษาย่อมมีอิทธิพลทางด้านความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอยู่แล้ว ใครจะบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งได้ดี หากไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง

คนที่กลัวการรัฐประหาร การกระจายอำนาจจะทำให้ผู้ทำรัฐประหารไม่รู้จะ “ยึด” อะไร เพราะไม่มีศูนย์กลางอะไรให้ยึด แม้แต่สถานีโทรทัศน์ก็ไม่รู้จะยึดช่องไหนดี เพราะไม่มีอำนาจของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด

ความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม-อุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่ม ระหว่างชนชั้น แม้แต่เมื่อชนชั้นนำสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ก็หาได้ทำให้ความขัดแย้งที่แท้จริงหมดไปไม่

ผู้ซึ่งมีหน้าที่คิดเรื่องการ “ปรองดอง” ควรคิดถึงมาตรการระดับกลางเช่นนี้ให้มาก เพื่อจะนำไปสู่การรอมชอมที่แท้จริงของภาคประชาชน ไม่ใช่การเกี้ยเซี้ยที่มุ่งจะรักษาระบบการเมืองให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มติชนรายวัน, 2 กรกฎาคม 2555

รัฐประหารคือการทุจริตทำลายชาติ, ดร.โสภณ พรโชคชัย

5 June 2012 Leave a comment

รัฐประหารคือการทุจริตทำลายชาติ, ดร.โสภณ พรโชคชัย

โดยดร.โสภณ พรโชคชัย

” . . . .ก็ยังมีเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง ได้คุยกับผม ท่านเป็นนายทหาร เป็นชั้นนายพล ต้องพูดว่า การปฏิวัติครั้งหนึ่ง ๆ พวกคณะปฏิวัติร่ำรวยกันมหาศาล ถ้าใครปฏิวัติแล้วมีเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ถือว่ามือตกมาก ทำให้ผมมีความรังเกียจในการปฏิวัติรัฐประหารมากมายเหลือเกิน”

ข้างต้นเป็นคำกล่าวของนายโสภณ จันเทรมะ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในระหว่างการอภิปรายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้ต่อต้านการทุจริต” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผู้เขียนได้เข้าศึกษาและจบการศึกษาไปแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะว่าในการทำรัฐประหารครั้งหนึ่ง ๆ คณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน และไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น คณะรัฐประหารสามารถเบิกเงินจากคลังหลวงออกมาใช้สอยตามอัธยาศัย เพื่อการยึดอำนาจ การรักษาอำนาจที่ยึดมา และเผื่อไว้เพื่อการหนีออกนอกประเทศ หากรัฐประหารนั้น ๆ กลายเป็นกบฏ แต่หากสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก็ได้เงินไปใช้สบาย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งคืนคลัง

โดยนัยนี้รัฐประหารก็คือการทุจริตในรูปแบบหนึ่ง เป็นการโกงเงินของประเทศชาติและประชาชน เอาไปใช้เพื่อการยึดอำนาจให้กับกลุ่มของตนโดยไม่ต้องส่งคืนคลังหลวง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีรัฐประหารครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่แสดงรายรับรายจ่ายเพราะถือเป็นความลับแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงก็คือความลับในการปฏิบัติการยึดอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ

ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นก็คือรัฐประหารเป็นการกระทำทุจริตที่กลับกลายเป็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของประชาชนที่ถูกล้มล้างไป เพราะอำนาจรัฐประหาร นอกจากการทุจริตแล้ว ยังสามารถสั่งฆ่า สั่งยึดทรัพย์ หรือสั่งทำลายหรือให้รางวัลแก่ใครก็ได้โดยเสมือนชอบด้วยกฎหมาย และสุดท้ายคณะรัฐประหารเองรวมทั้งการกระทำทั้งปวงของคณะรัฐประหารก็มักได้รับการนิรโทษกรรมไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น รัฐประหารก็คือความเถื่อนหรืออนารยะ เพราะรัฐประหารกระทำการด้วยการใช้กำลังอาวุธมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทย ในระหว่างทำการ คณะรัฐประหารมักจะหาข้ออ้างมากมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเดิมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การใช้กำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่ามาเอาชนะจนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ และทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นฝ่ายกบฏหรือฝ่ายที่ไม่ชอบธรรม ย่อมแสดงถึงความเถื่อน และความไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐของคณะรัฐประหารเอง และด้วยกำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่า จึงปิดปากวิญญูชนได้ (ชั่วคราว)

โดยที่ธรรมชาติสำคัญของการรัฐประหาร ก็คือ การใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน จึงกลายเป็นบ่อเกิดของการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้ที่ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ที่ชิงความได้เปรียบเหนือบุคคลอื่น จึงต้องเข้าหาคณะรัฐประหารซึ่งมีอำนาจสูงสุด การทุจริตต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามมา และด้วยเหตุนี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารหรือผู้เผด็จการต่าง ๆ จึงมักกลายสภาพเป็นทรราช ที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ

ยิ่งกว่านั้น หลังจากการทำรัฐประหาร ผู้ที่ได้ประโยชน์หรือ “ส้มหล่น” ก็คือผู้ที่ร่วมปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ให้เกิดรัฐประหาร บุคคลเหล่านี้ก็จะได้รับลาภยศ ถูกแต่งตั้งให้เป็นตุลาการบ้าง กรรมการในองค์กรอิสระที่ถูกอำนาจรัฐประหารครองงำบ้าง หรือสภา “เปรซิเดียม” (เอาไว้ออกกฎหมายเข้าข้างพวกเดียวกัน) ที่แต่งตั้งกันเองโดยคณะรัฐประหารตามอำเภอใจโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง หรือไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน บุคคลเหล่านี้ได้อำนาจมาจากปากกระบอกปืนของฝ่ายรัฐประหารโดยแท้ นี่คืออีกบริบทหนึ่งของการโกงกินทรยศต่อชาติ

ดังนั้นเราจะไปตั้งความหวังว่าจะมีคณะรัฐประหารใดกระทำการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเฉกเช่น ‘พระเอกขี่ม้าขาว” นั้น ย่อมเป็นความหวังที่เลื่อนลอย เป็นความหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของคณะรัฐประหารและสมุนของคณะรัฐประหารนั้น ๆ เท่านั้น เพราะเนื้อแท้ของการัฐประหารก็คือการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่การอภิวัฒน์เช่นการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ที่คณะราษฎรกระทำการเพื่อประเทศไทยโดยตรง

ที่สำคัญรัฐประหารสร้างความวิบัติซ้ำซ้อนให้กับประเทศไทย ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยตกต่ำ กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเช่นประเทศด้อยพัฒนาระดับล่าง ๆ ของโลก ที่มักใช้กำลังอาวุธขู่เข็ญเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ แทนที่จะรอคอยการเปลี่ยนแปลงตามกลไกทางการเมืองเช่นอารยะประเทศ ทำให้เกียรติภูมิของประเทศลดลง โอกาสการลงทุนของชาวต่างประเทศในไทยก็ลดน้อยลงไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าการทุจริตอื่นอาจส่งผลเสียเฉพาะจำนวนเงินที่ปล้นหรือลักไป แต่รัฐประหารจะส่งผลเสียเป็นเท่าทวีต่อประเทศชาติ ถ้าประเทศไทยเกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไทยก็จะตกต่ำยิ่งกว่าพม่าที่เพิ่งเริ่มมีประชาธิปไตย

คนไทย (บางส่วน) ไม่ควรหลงผิดไปเห็นดีเห็นงามกับอำนาจนอกระบบ จนสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ไทยควรเข้าสู่สังคมอารยะ รู้จักเกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ เลิกคิดทำรัฐประหารกันได้แล้ว

ข่าวสดออนไลน์, 01 มิถุนายน 2555

“ยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ”, สรกล อดุลยานนท์

8 April 2012 Leave a comment

“ยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ”, สรกล อดุลยานนท์

ถือเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่คมคายมาก สำหรับคำว่า “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ของสถาบันพระปกเกล้า

นัยของความหมายนี้คือ อย่าใช้ “เสียงข้างมาก” ในสภาผู้แทนราษฎรตัดสิน

เพราะไม่ใช่ “ความยุติธรรม” ที่แท้จริง

แต่เป็น “ความยุติธรรม” ที่ “ผู้ชนะ” การเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด

สถาบันพระปกเกล้าเกรงว่าจะเกิด “สงครามการปรองดอง” ขึ้นมา

ในขณะที่ทุกคนนึกถึงรายงานของกรรมาธิการวิสามัญเรื่องการปรองดองที่ พล.อ.สนธิ. บุญยรัตกลิน เป็นประธาน

ผมกลับนึกถึงการรัฐประหาร และ “ผลผลิต” จากการรัฐประหาร

เพราะการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ การกำหนดตำแหน่ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ทางการเมืองเช่นเดียวกัน

“ผู้ชนะ” คือ คมช.

และ “ผู้แพ้” คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่การรัฐประหาร เป็นการทำผิดกฎหมาย

“ผู้ชนะ” จึงเริ่มต้นกำหนด “ความยุติธรรม” ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แน่นอนต้องมีมาตราหนึ่งสำหรับการนิรโทษกรรมความผิดของ คมช.ไว้ด้วย

วันนั้นเราไม่เคยได้ยินคำเตือนว่าให้ระวังการสถาปนา “ความยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ”

หรือเมื่อ คมช.ตั้ง คตส.ขึ้นมาจัดการกับ “ทักษิณ”

กรรมการ คตส.เกือบทั้งหมดล้วนเป็น “คู่อาฆาต” ระดับ “ตัวพ่อ” ทั้งสิ้น

แต่ในมุมของ “ผู้ชนะ” คตส.ทั้งหมดล้วน “เป็นกลาง”

“ความยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ” แบบนี้ สถาบันพระปกเกล้าไม่เคยสงสัยและตั้งคำถาม

ความเกลียดชังในตัว “ทักษิณ” ทำให้คนบางคนลืมหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

ยอมรับ “ความยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ” ที่ได้มาจากการรัฐประหาร

และหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าคณะรัฐประหารเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”

ดังนั้น จะทำอะไรก็ได้

แน่นอนว่า “เสียงข้างมาก” ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ถูกต้องชอบธรรมทุกเรื่อง

ไม่ได้ถูกใจเราทุกครั้ง

แต่ “เสียงข้างมาก” ในสภาอย่างน้อยก็ยึดโยงกับประชาชน

ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตย

เป็น “ผู้ชนะ” ในระบอบประชาธิปไตย

ไม่ใช่ “ผู้ชนะ” จากการรัฐประหาร

การตั้งคำถามเรื่อง “ความยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ” กับ “เสียงข้างมาก” ในสภาไม่ใช่เรื่องผิด

เราสามารถสงสัยและตั้งคำถามได้

เพียงแต่คนที่ตั้งคำถามต้องมี “ความเป็นกลาง” เพียงพอ

คนที่ไม่เคยถามถึง “ความยุติธรรม” ของ “ผู้ชนะ” จาก คมช.เลย

คนนั้นก็ไม่น่าจะมี “ความชอบธรรม” ในการตั้งคำถามนี้กับ “เสียงข้างมาก” ที่มาจากประชาชน

ไม่ใช่หรือ?

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 เมษายน 2555)

มติชน, 7 เมษายน 2555

ปกป้องสถาบัน, เกษียร เตชะพีระ

12 October 2011 Leave a comment

ปกป้องสถาบัน

โดย เกษียร เตชะพีระ

ระหว่างติดตามสดับตรับฟังวิวาทะสืบเนื่องจากข้อเสนอของเพื่อนอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ดังอื้ออึงอยู่นั้น ผมอดนึกเปรียบเทียบ ไม่ได้ว่า…..

สิ่งที่คณะรัฐประหาร คปค.กระทำเมื่อ 5 ปีก่อนคือการใช้อำนาจปืนลุกขึ้นฉีกกฎหมายสูงสุดของชาติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้ทิ้งโดยพลการ

ขณะสิ่งที่คณะนิติราษฎร์ทำตอนนี้คือนำเสนอหลักเหตุผลข้อถกเถียงทางวิชาการเพื่อให้ สังคมไทยพิจารณาตัดสินใจลบล้างผลพวงของการละเมิดกฎหมายและอำนาจอธิปไตยของแผ่นดิน โดย คปค. ครั้งนั้น ผ่านกระบวนการและวิธีการโดยชอบในกรอบของกฎหมายปัจจุบัน

เนื้อแท้ที่แตกต่างตรงกันข้ามของสิ่งที่ทั้งสองคณะกระทำ, และปฏิกิริยาที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงต่อกรณีทั้งสองโดยเฉพาะในหมู่นักกฎหมายทนายความและครูบาอาจารย์นิติศาสตร์บางคน ช่างเป็นที่น่าแปลกประหลาดอัศจรรย์ใจเสียนี่กระไร?!?!?

เราจะเข้าใจพวกเขาว่าอย่างไรดี?

มองในแง่ดีที่สุด ผมเข้าใจว่าสิ่งที่นักกฎหมายทนายความและครูบาอาจารย์นิติศาสตร์บางคนพยายามทำ คือปกป้องสถาบันเก่าแก่สำคัญของชาติสถาบันหนึ่งไว้ นั่นคือสถาบันรัฐประหาร!

สถาบันดังกล่าวอยู่คู่กับสถาบันหลักทั้งสามอันได้แก่ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์มาตลอด ยุคการเมืองไทยสมัยใหม่

หน้าที่สำคัญของสถาบันหลักของชาติแห่งที่สี่นี้คือเป็นเครื่องมือหรือวิธีการ (instrument/means) ที่พลังการเมืองบางกลุ่มบางฝ่ายในสังคมการเมืองไทยเก็บไว้ใช้เพื่อปกป้อง สถาบันหลักทั้งสามในยามที่พวกเขาเห็นกันไปเองว่าคับขันจำเป็น

สถานะถูกผิดดีชั่วทางศีลธรรม (moral/immoral) ของสิ่งที่เป็นเครื่องมือย่อมไม่มีอยู่ในตัวมันเอง (ก็มันเป็นแค่เครื่องมืออ่ะ…) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมันเป็นกลางทางศีลธรรม (amoral) ตราบเท่าที่มันสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ มันก็ใช้ได้แล้ว

ในระเบียบวิธีคิดแบบ instrumentalism (อุปกรณ์นิยม), pragmatism (สัมฤทธิ์คตินิยม) หรือ consequentialism (ผลลัพธ์นิยม) นี้ เป้าหมายย่อมเป็นตัวให้ความชอบธรรมกับวิธีการ (The end justifies the means.)

หากเป้าหมาย (ปกป้องสถาบันหลักทั้งสาม, ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ) ถูกต้องชอบธรรมเสียอย่างแล้ว ไม่ว่าวิธีการใดๆ (รัฐประหาร, ใช้กำลังบังคับปราบปรามประชาชน, ก่อการร้าย ฯลฯ) ก็ใช้ได้ ต่อให้มันผิดทางศีลธรรมหรือการเมืองเพียงใดก็ตาม เพราะเป้าหมายที่ถูกต้องย่อมจะเสกบันดาลให้วิธีการดังกล่าวกลายเป็นถูกต้องดีงามในสายตาของผู้ใช้ไปได้โดยปริยาย

ในโลกที่ “จะแมวดำหรือแมวขาวก็ช่าง ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” หรือ “จะรัฐประหารหรือระบอบรัฐสภาก็ช่าง ขอให้ปราบคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบันได้เป็นพอ” นี้

แนวคิดและหลักปฏิบัติ เรื่องสิทธิเสรีภาพ, อำนาจอธิปไตยของประชาชน, หลักนิติธรรม ฯลฯ ย่อมกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม และฟุ่มเฟือย

มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะ

“เมืองไทยเสียอย่าง เรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใครอื่นเขาในโลก”
“ความเป็นไทยจะให้ไปเดินตามหลักสากลของฝรั่งมังค่าตะวันตกได้อย่างไร” ฯลฯ

เป็นเรื่องง่ายที่จะฟันธงว่าความคิดข้างต้นต่อต้านประชาธิปไตย ส่วนที่ยุ่งกว่าหน่อยคือ พยายามเข้าใจว่าลำดับเหตุผลตรรกะการคิดที่นำคนฉลาดๆ อย่างท่านไปสู่จุดนั้นมันเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่ามันเป็นอะไรบางอย่างทำนองนี้ครับ…

แก่นสารส่วนที่เป็นประชาธิปไตย (democratic components) ของระเบียบการเมืองเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) นั้นคือหลักของการปกครองโดยประชาชน (government by the people)

ผู้ตะขิดตะขวงใจหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประชาธิปไตยกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือปฏิเสธหลักการนี้แหละ

เพราะ “การปกครองโดยประชาชน” (ซึ่งฟังดูดี) แปลเป็นรูปธรรมในสังคมหนึ่งๆ ได้ความว่า (ขอประทานโทษ ใช้ภาษาตลาดเพื่อสื่อความเข้าใจ) “การปกครองโดยพวกมึง”!

พวกมึงน่ะน้า?!? เอื๊อกกกก…. ขืนให้พวกมึงขึ้นมาปกครองก็อิ๊บอ๋ายเท่านั้นเอง

ขึ้นชื่อว่า “ประชาชน” นั้นย่อมน่ารักในทางนามธรรม แต่พอกลายเป็น “พวกมึง” ในทางรูปธรรมแล้ว มันก็รักไม่ค่อยลง เพราะย่อมมีทั้งคนดีคนชั่ว คนฉลาดคนเขลาปะปนคละเคล้ากันไปเป็นธรรมดา

และที่แย่ก็ตรงพอปล่อยให้โหวตเสรีเลือกผู้ปกครองตามใจตัวเองทีไร ก็มักจะโหวตผิด เลือกคนโกงคนทุจริตมาทุกที

การที่ “ประชาชน” ผู้น่ารักดันโหวตเลือกคนไม่ดีมาสู่อำนาจ ย่อมฟ้องโทนโท่อยู่ว่า “พวกมึง” โง่ (ขาดการศึกษา) หรือชั่ว (ขายเสียงขายสิทธิเหมือนขายชีวิตขายชาติ) หรือยังเป็นเด็กอยู่ (ไม่บรรลุ วุฒิภาวะ ถูกจูงจมูกได้ง่ายด้วยนโยบายขายฝันสารพัด) ฉะนั้น

จึงจำเป็นอยู่เองที่ “พวกกู” (ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง) ผู้มีคุณธรรม สติปัญญาความสามารถและความเป็นไทย จะต้องเข้ามาแบกรับหน้าที่รับผิดชอบปกครองดูแลบ้านเมืองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตคับขันแตกแยกนี้ไปก่อน,

อะแฮ่ม, โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย หากด้วยวิธีอื่นแทน…..

แต่มันจะเป็นไรไปในเมื่อเป้าหมาย (ปราบคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบัน) ย่อมสำคัญกว่าวิธีการ (รัฐประหาร),

จะแมวดำแมวขาวก็ช่าง ขอให้จับหนู (ตัวใหญ่หนีไปอยู่ต่างประเทศอีกแล้วตอนนี้) ได้เป็นพอ แหะๆ

ปัญหาอยู่ตรงประสบการณ์รอบห้าปีที่ผ่านมาบ่งชี้ชัดว่า เครื่องมือ/วิธีการรัฐประหารนั้น มันไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการปราบทุจริตคอร์รัปชั่น/ปกป้องสถาบันอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้เลย

ตรงกันข้าม ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นยังดำรงอยู่ในวงการรัฐบาลและราชการ, ปัญหาความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติกลับหนักหน่วงร้ายแรงขึ้น,

มิหนำซ้ำความแตกแยกขัดแย้งระหว่างคนในชาติกลับรุนแรงลุกลามออกไปถึงขั้นฆ่าฟันกันกลางเมืองล้มตายเรือนร้อย บาดเจ็บเป็นพัน เสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน

นี่คือราคาที่เราจ่ายให้การใช้วิธีการที่ผิดในนามของเป้าหมายที่ถูก แล้วมันคุ้มกันไหม? เรียกชีวิตของผู้ที่ตายไปเพราะผลพวงสืบเนื่องจากรัฐประหารกลับคืนมาได้แม้สักคนหนึ่งไหม? ใครต้องรับผิดชอบ?

ผมอยากเรียนว่าการที่ คปค.ยึดอำนาจโดยอ้างเหตุผลในการปกป้องสถาบันหลักของชาติ ด้วยความเชื่อว่ามีแต่วิธีการรัฐประหารเท่านั้นจะยังความมั่นคงแก่สถาบันหลักของชาติได้ เท่ากับเป็นการลากดึงเอาสถาบันหลักของชาติให้ออกห่างจากรัฐธรรมนูญ, หลักนิติธรรมและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่เอาเข้าจริง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ตั้งอันมั่นคงที่สุดของสถาบันหลักของชาติคืออยู่ที่เดียวกับรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรมและประชาธิปไตยเท่านั้น

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารโดยเนื้อแท้แล้วจะส่งผลช่วยฟื้นฟูและผดุงความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ

เคียงข้างรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม และประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศในที่สุด

(ที่มา มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2554)

มติชน, 07 ตุลาคม 2554

ใต้กระแสรัฐประหาร, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

4 February 2011 Leave a comment

ใต้กระแสรัฐประหาร

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ผมเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์พูดถูกอย่างหนึ่ง คือ การกล่าวทำนองว่าการรัฐประหารไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร และปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในปัจจุบัน ก็มาจากการรัฐประหารคราวที่ผ่านมานั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม กระแสรัฐประหารก็ยังคงครึกโครมอยู่อย่างต่อเนื่อง

เราจะเข้าใจกระแสรัฐประหารที่ไม่ว่าจะจริงหรือ ไม่นี้ได้อย่างไร อะไรเกิดขึ้นในสังคมไทย จึงทำให้ทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองต้องโผล่ที่ การรัฐประหารอยู่เรื่อยไป

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 คนจำนวนมากคิดและเชื่อกันว่า โอกาสเกิดการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการรัฐประหาร น่าจะหมดไป แต่เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองลักษณะใหม่ในต้นทศวรรษ 2540 สังคมไทยก็หาทางออกอื่นๆ ไม่ได้ ชนชั้นนำก็หันกลับไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 19 กันยายน 2549

ความขัดแย้งทางการเมืองลักษณะใหม่ที่เกิดขึ้น ต้นทศวรรษ 2540 ลึกลงไปแล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้ยึดเอาหลักคนละหลัก มาเป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหวการเมือง ฝ่ายหนึ่งยึดและอ้างเอาหลักการอนุรักษนิยม เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหว อีกฝ่ายหนึ่งยึดเอาหลักการประชาธิปไตยเป็นแกนหลัก ตัวละครบนเวทีการเมืองไม่ว่าจะเป็นกองทัพ, พธม., ทักษิณ, ผู้อยู่เบื้องหลัง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เล่นบทบาท ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงและการแยกกลุ่มประชาชนสองกลุ่มนี้

ความขัดแย้งระหว่างประชาชนเช่นนี้ เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในทศวรรษ 2516-2519 แต่ในคราวนั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีกำลังน้อยกว่ามาก จึงทำให้รัฐเอียงเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งและ สามารถทำลายฝ่ายตรงกันข้ามลงไปได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับขนาดของแต่ละฝ่ายในช่วงทศวรรษ 2540 นั้นใกล้เคียงกันมาก จนกล่าวได้ว่า การเอียงของรัฐกลับจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก เพราะฝ่ายที่รัฐไม่ได้เข้าข้างจะยิ่งเป็นปฏิปักษ์มากขึ้น

การรัฐประหาร พ.ศ.2549 สำเร็จได้ ก็เพราะเป็นการทำในจังหวะที่อีกฝ่ายไม่ทันได้ตระหนักและเตรียมตัว (สำเร็จเฉพาะการยึดอำนาจรัฐเท่านั้น) แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการเอียงของรัฐในคราวนั้น ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐชัดเจนและรวดเร็วมาก (ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย) และการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่รัฐไม่ได้เข้าข้าง ก็เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ จนท้ายที่สุด ก็เกิดเหตุการณ์ที่ “เสมือนรัฐประหาร” อีกครั้งหนึ่งเมื่อเมษายนและพฤษภาคม 2553 ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมมากขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ทวีเพิ่มขึ้น เพราะรัฐไม่ได้ทำหน้าที่พื้นที่กลางให้แก่ทุกฝ่ายได้เข้ามาต่อรองกัน ยิ่งทำให้การมองทางออกจากความขัดแย้งนี้ลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คนทั้งสองฝ่ายรู้สึกได้ทันทีว่าภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้งทางการ เมืองนี้ จะต้องนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งแน่ๆ จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่ทั้งกลุ่มสีเหลือและสีแดงต่างก็มองกันไปที่การ รัฐประหารเหมือนกัน แต่เป็นการมองด้วยความหวังที่แตกต่างกัน

กลุ่มสีแดงมอง “การรัฐประหาร” ด้วยความหวังว่าหากเกิดขึ้นก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของ ประชาชนที่ไม่ใช่แค่กลุ่มสีแดงเท่านั้น และหวังต่อไปว่าการเคลื่อนไหวเพื่อต้านรัฐประหาร (ที่จะเกิดขึ้น) จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กลุ่มตนเองวาดหวังไว้ เช่น การทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ไม่ใช่สองมาตรฐาน เป็นต้น

กลุ่มสีเหลืองมอง “การรัฐประหาร” ด้วยความหวังว่าหากเกิดขึ้น ก็ผลักดันให้อำนาจรัฐเอียงเข้าข้างตนเองมากขึ้น หลังจากที่ผิดหวังกับการรัฐประหารและผลที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้แก่การ เคลื่อนไหวของกลุ่มตนเอง

ชนชั้นนำไทยที่ยังกุมอำนาจอยู่ก็กำลังมองความ ขัดแย้งของประชาชนสองฝ่ายอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากที่ทำสิ่งที่ผิดพลาดไปในการรัฐประหารคราวที่ผ่านมา เพราะมองไม่เห็นพลังของอีกฝ่ายหนึ่ง และกระโดดลงไปสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่งเต็มตัวมากเกินไปจนทำให้เสีย “ดุล” ไปอย่างไม่น่าให้อภัย

การเพ่งมองทำความเข้าใจความขัดแย้งระหว่าง ประชาชนของชนชั้นนำไทย ก็เพื่อที่จะแสวงหาทางที่จะทำให้กลุ่มตนครองอำนาจต่อไปได้ หมากตาหนึ่งที่ชนชั้นนำหยิบมาคิดคำนวณเสมอ ก็คือ การรัฐประหาร แต่การรัฐประหารครั้งใหม่ หากจะเกิดขึ้นก็จะต้องไม่ใช่การรัฐประหารลักษณะเดิมๆ อีกต่อไป

การรัฐประหารสองครั้งหลังนั้นเป็นการรัฐประหาร ที่มีมวลชนสนับสนุนอย่างล้นหลาม อย่างน้อยในช่วงแรก ไม่ใช่การรัฐประหารแบบที่ใช้แค่กำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐเท่านั้น การรัฐประหารครั้งใหม่ของชนชั้นนำไทย ก็ต้องเดินไปในแนวทางของการหาเหตุผล ให้มวลชนเข้าร่วมอย่างมหาศาล เพื่อจะกดทับไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านได้ในทันที (อย่างน้อยก็กดทับไว้สักช่วงหนึ่ง)

ภายใต้เงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างประชาชน ชนชั้นนำไทยที่ต้องพยายาม “เล่น” บทบาทเพื่อรักษาอำนาจตนเอง ก็ต้องเพ่งมองว่าหนทางใดที่ตนเองเล่นแล้วจะได้เปรียบ การ “แทง” ม้าตัวเดียวอย่างที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่ออำนาจของตนเอง การ “แทง” ม้าหลายตัวอาจจะทำให้กำไรไม่มากนัก แต่ความเสียงกับการหมดตัวก็ลดลง การรัฐประหารครั้งใหม่ หากเกิดขึ้น ก็จะเห็นการสลับขั้วเปลี่ยนข้างอย่างน่าสนใจทีเดียว

ภายใต้เงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างประชาชน การเกิดรัฐประหารก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็จะทำให้สังคมไทยปั่นป่วนไปหลายปีทีเดียว

สุดท้ายนี้ หวังว่าสังคมไทยจะสามารถแสวงหาทางออกได้ดีกว่าการรัฐประหารครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 4 กุมภาพันธ์ 2554

ฟังเสียงข้างน้อย”ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์”คดียึดทรัพย์ ศาลฎีกาเชื่อตรรกะดร.สมเกียรติ แต่ผมไม่เห็นด้วย!!

11 August 2010 Leave a comment

ฟังเสียงข้างน้อย”ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์”คดียึดทรัพย์ ศาลฎีกาเชื่อตรรกะดร.สมเกียรติ แต่ผมไม่เห็นด้วย!!

ย้อนหลังไป 4 เดือนที่แล้ว ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ… คลิกอ่าน

“ผมไม่คิดว่าศาลฎีกา จะรับครับ ยกทิ้งเลย แล้วก็ยึดทรัพย์กันไป” อะไรคือเบื้องหลังความเชื่อและหลักเหตุผลของนักกฎหมายหนุ่ม ลองพิจารณาดู …

 

วันที่ 11 ส.ค. ที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา มีมติไม่รับอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบครัว และพวก จำนวน 46,373,687,454.70 บาท ด้วยคะแนนเสียง 103 ต่อ 4 เสียง

 

ทั้งนี้ 103 เสียงไม่รับอุทธรณ์ มีจำนวน 4 เสียงที่ให้รับอุทธรณ์ และมีผู้พิพากษา 12 คน งดออกเสียง

 

สาเหตุที่ 103 เสียงไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นที่ ทนายพ.ต.ท.ทักษิณยื่นอุทธรณ์มาจำนวน 5 ประเด็นนั้นไม่มีหลักฐานใหม่แต่อย่างใด

 

ย้อนหลังไป 4 เดือนที่แล้ว ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ประชาชาติธุรกิจ ว่า “ผมไม่คิดว่าศาลฎีกา จะรับครับ ยกทิ้งเลย แล้วก็ยึดทรัพย์กันไป”

 

ถ้าเป็นหมอดู ดร. วรเจตน์ น่าจะทำนายอนาคต และชะตากรรมของ”ทักษิณและพวก” ล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง แต่ดร. วรเจตน์ ไม่ใช่หมอดู แต่เขาเป็นนักกฎหมายมหาชน เพียงไม่กี่คนในประเทศนี้ที่กล้าเขียนบทความทางวิชาการ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดียึดทรัพย์ คดีประวัติศาสตร์

 

เมื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์ จะพบว่า ในสำนวนของศาลรับฟังน้ำหนักพยานปาก ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) อย่างเต็ม ๆ ดังปรากฏในคำพิพากษาหลายตอน ขณะที่ ดร. วรเจตน์ โต้เหตุผลของ ดร.สมเกียรติ ในทุกประเด็น ผ่าน บทสัมภาษณ์ในประชาชาติธุรกิจและผ่านจอทีวีมาแล้ว

 

ก่อนที่เหตุผลของเสียงข้างน้อยจะเลือนหายไปในอากาศ ก่อนที่คนจะลืมว่า ประเด็นในคดียึดทรัพย์ คดีประวัติศาสตร์ ถกเถียงกันเรื่องอะไร ประชาชาติธุรกิจ ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ฉบับที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน มานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน ดังนี้

 

@ ดู เหมือนว่า คนจะฟังเหตุผลของดร.สมเกียรติ มากกว่า ดร.วรเจตน์

จริงๆ แล้ว อาจารย์สมเกียรติ (ตั้งกิจวานิชย์) กับผม รู้จักกันครับ และผมคิดว่าดีนะ ที่ได้พูดกันในทางเนื้อหา อันนี้ผมชอบ ดีกว่ามาป้ายว่าผมเป็นพวกทักษิณ อย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้น่าเบื่อ แต่การเอาเนื้อหามาโต้ ทำให้เกิดการถกเถียงกันทางปัญญา ว่าตกลงเรื่องเป็นอย่างไร ใครถูกใครผิด ผู้คนที่เกี่ยวข้อง คนในวงการ ประชาชนทั่วไปก็ต้องคิดเอา ผมคิดว่าสักระยะหนึ่งคนจะตัดสินได้

ที่ผ่านมา มีคนว่าผมอยู่เรื่อยว่าต่อต้านการรัฐประหาร แต่ทำไมไม่ไปดูเนื้อหาว่าคุณทักษิณผิดหรือไม่ผิด ผมก็เลยคิดว่าคราวนี้ก็มาดูเนื้อหากันจริงๆ เพราะเป็นเหตุที่ใช้อ้างในการทำรัฐประหารด้วย ว่ามีการทุจริตกัน มีการเอื้อประโยชน์ ผมก็เลยเน้นไปที่เรื่องข้อกล่าวหา 5 ข้อ ของคตส. ว่าในทางเนื้อหาของเรื่อง เมื่อตรวจสอบจากเกณฑ์กฏหมายแล้วเป็นยังไง

เมื่อผมตรวจสอบแล้ว และเห็นว่าไม่มีการกระทำในทางกฎหมายที่เป็นการเอื้อประโยชน์ ทำให้ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ มันก็ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องอื่น แต่เรื่องซุกหุ้น ก็มีคนอยากรู้ว่าผมคิดยังไง อาจารย์วรเจตน์บอกสิว่าซุกหุ้นหรือไม่

ผมเรียนว่า ถ้าพูดจากในคดี จะได้ตัดปัญหา เพราะคนก็มองว่าช่วยคุณทักษิณมั๊ย คืออ่านจากข้อเท็จจริงในคดี ผมคิดว่าถ้าฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลชี้ น่าจะฟังได้ว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น

แต่ถามว่าทำไมถึงพูดว่าฟังจากข้อเท็จจริงในคดี เพราะประเด็นเรื่องซุกหุ้นต่างจากอีก 5 ประเด็น คือประเด็นเรื่องหุ้นเป็นประเด็นที่วางอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ใช่ประเด็นข้อกฎหมายเป็นหลัก ประเด็นเรื่องซุกหุ้น เป็นประเด็นที่สืบจากฐานของข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ แต่ปัญหาคือ ในเชิงเอกสาร ผมไม่เห็นทั้งหมด อ่านจากคำพิพากษาในคดีที่ศาลสรุป รวมทั้งความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษา ทำให้เห็นได้ว่า ยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น แต่ถ้าเห็นเอกสารทั้งหมด เห็นข้อต่อสู้ทั้งมวล ก็ต้องว่ากันอีกครั้งหนึ่ง

แต่ประเด็นที่กล่าวหากรณีของการเอื้อประโยชน์หรือไม่ใน 5 ประเด็นเป็นประเด็นข้อกฎหมาย คือผมยอมรับข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลได้ฟังไว้ อย่างผมกับ อ.สมเกียรติ ก็ไม่ได้เถียงกันในข้อเท็จจริง เพียงแต่การพิเคราะห์ข้อเท็จจริง และการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องซุกหุ้นจึงต่างกันตรงนี้ ผมถึงบอกว่า เรื่องซุกหุ้นถ้าเอาที่ศาลชี้ เนื่องจากมันอยู่บนฐานข้อเท็จจริงว่าความเป็นจริงหุ้นอยู่กับใครอย่างไรถ้าอ่านจากคำพิพากษา ก็อาจจะพอมองได้เหมือนกันว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น คือ ไม่ได้มีการขายออกไปจริง แต่อันนี้เป็นการประเมินในทางเนื้อหา นักกฎหมายที่มองเน้นเรื่องความมั่นคงแห่งนิติฐานะ อาจจะพิเคราะห์เฉพาะในทางรูปแบบ แล้วเห็นว่าในทางกฎหมาย ต้องถือว่าโอนหุ้นกันไปแล้วก็ได้

แต่ปัญหาเรื่องหุ้นมีมากไปกว่านั้น ไม่ใช่เฉพาะในคดีนี้ ในอนาคตข้างหน้า สมมุติว่าคุณเป็นรัฐมนตรี แล้วคุณขายหุ้นให้ลูก ปัญหาก็คือว่า ถ้ามีคนมาบอกว่าหุ้นยังไม่โอนไป มันจะต้องสืบกันมากว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง ในทางรูปแบบโอนไปแล้ว แต่ว่าลูกมาปรึกษาว่าจะขายไม่ขาย มีคนมาติดต่อคุณว่าจะขายยังไง คุณจะเป็นนายหน้าให้กับลูกหรือไม่ ได้หรือไม่ แล้วถ้าทำอย่างนั้น จะถือว่าในทางกฎหมายหุ้นยังอยู่กับคุณหรือไม่

มันจะมีประเด็นอย่างนี้เถียงกันได้มากเลย แล้วมันมีปัญหาเรื่องความมั่นคงแน่นอนของนิติฐานะ เพราะว่าพ่อกับลูกมันใกล้กันมาก

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ สมมุติว่า ไม่มีการขายหุ้นให้ลูก แต่ยกให้ คือ ให้โดยเสน่หาเลย แล้วยังไง กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเป็นของใคร โดยปกติแล้ว เราก็ดูจากในทางรูปแบบ แต่เรื่องนี้บังเอิญ มันอยู่ในรัฐธรรมนูญ ศาลมองในทางเนื้อหาด้วยว่าจริงๆ อำนาจในการตัดสินใจอยู่กับใคร ซึ่งผมบอกว่า เมื่อฟังจากศาลพอมองได้อยู่ว่า คุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้น แต่ในทางรูปแบบไม่ใช่ เขาบอกว่าเขาขายไปแล้ว ในทางทะเบียนไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของลูก

ฉะนั้น ผมจึงบอกว่าประเด็นเรื่องนี้ มันจึงเป็นประเด็นซึ่งจะต้องเห็นข้อเท็จจริงทั้งหมดจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องข้อกฏหมายแล้ว แต่มันเป็นการวิเคราะห์ว่าในทางความเป็นจริง หุ้นเป็นของใครกันแน่

แต่หลายคนมองว่า เรื่องนี้ถ้าเราตีความหรือวินิจฉัยว่าคุณทักษิณครองไว้ซึ่งหุ้น ก็จะไปบอกเลยว่าเขาทุจริต หรือเป็นเรื่องที่มีการกระทำเอื้อประโยชน์ ซึ่งมันไม่ใช่ อีกอย่างหนึ่งหลายคนมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อแบบนั้น คือ คิดว่าพอคุณทักษิณยังคงถือหุ้นไว้ ก็จะต้องทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ทันที หรือไม่ก็สงสัยไว้ก่อน พอมีเรื่องที่อาจจะกังขานิดหน่อย ก็ไม่สนใจคำอธิบายอะไรแล้ว กระโจนไปสู่ข้อสรุปทันทีว่าอย่างนี้ต้องยึดทรัพย์

คือหลายคนไม่เข้าใจว่า ประเด็นที่ถือครองไว้ซึ่งหุ้น ผลทางกฎหมายคือ พ้นจากตำแหน่งหรือถ้าเป็นกรณีที่ฟ้องร้องกันว่ายื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ผลก็คือ จะถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ไม่ใช่การยึดทรัพย์ แต่คำถามคือ เราอาจต้องวางเกณฑ์นิดนึงว่า ในอนาคตคนจะขายหุ้นให้ลูกเขาควรทำยังไง ระบบกฏหมายถึงจะเชื่อว่าเขาขายแล้ว

คือ ระบบกฎหมายจะต้องเรียกร้องจากคนขนาดไหน ถึงจะเชื่อว่าเขาขายแล้ว แล้วเราก็ต้องไม่ลืมว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องทางการเมือง มันจะไปพันกับกระแสทางการเมืองอย่างมาก กระแสการเมืองที่ไปทางนั้นทางนี้ อาจจะส่งผลต่อการวินิจฉัยชี้ขาดคดีด้วย และในที่สุดแล้ว เราจะเผชิญกับปัญหาความเสมอภาคของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย คดีนี้ศาลมองว่าในทางเนื้อหา ดูแล้วมีพิรุธเรื่องการโอน เรื่องการทำตั๋วสัญญาใช้เงิน มันเหมือนกับไม่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจริงๆ ดูข้อเท็จจริงหลายอย่างประกอบกันศาลบอกว่าหุ้นยังไม่ได้โอนไป

 

@ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คุณทักษิณเองถือหุ้นเองหรือถือโดยผ่านลูกก็ตาม แต่วันที่คุณทักษิณนั่งเป็นนายกฯ อยู่หัวโต๊ะที่ประชุมครม. แล้วมีเรื่องใน 5 โครงการนี้เข้าครม. คุณทักษิณรู้ทั้งรู้ว่ามีหุ้นตรงนี้ มันก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะโครงการที่ตัวเองมีส่วนได้เสียเข้าสู่ครม.

อันนี้ต้องแยกครับ มันมีปัญหาเรื่องความเหมาะสมในตำแหน่งกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการกระทำ 2 เรื่องนี้มันไม่ใช่อันเดียวกัน เราอาจจะวิจารณ์เรื่องความเหมาะสมในตำแหน่งได้ แต่เรื่องความชอบด้วยกฏหมายนั้น มันเป็นอีกอันหนึ่ง

แล้วจริงๆ ใน 5 กรณีนี้ ถ้าเราพูดกันจากข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม ใน 5 กรณีนี้ถ้าพูดกันถึงที่สุด การตัดสินใจของคุณทักษิณที่มีส่วนแต่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น มีเรื่องเดียวคือ ตอนออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต เท่านั้นครับ เรื่องเดียว แต่กรณีนี้คุณทักษิณเป็นหนึ่งในบรรดารัฐมนตรีหลาย ๆคน แล้วต่อมาพระราชกำหนดฉบับนี้ก็มาผ่านรัฐภาอีก มิหนาซ้ำยังได้รับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจากศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นด้วย

ส่วนเรื่องอื่นๆ อีก 4 เรื่อง ประเด็นเรื่องของพรีเพด ประเด็นโรมมิ่ง ประเด็นเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่ใช่คุณทักษิณ แล้วไม่ใช่เรื่องครม. ส่วนเรื่องเงินกู้พม่าก็ไม่ใช่เรื่องของ ครม.โดยตรง แม้ว่าจะมีการเกี่ยวโยงในระดับนโยบายก็ตาม

เรื่องพรีเพดกับเรื่องโรมมิ่งเป็นเรื่องของทศท. เรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ ก็เป็นเรื่องรัฐมนตรีไอซีที เรื่องเงินกู้พม่าเป็นเรื่องที่ธนาคารเป็นคนให้กู้ เพียงแต่ว่าคุณทักษิณเป็นคนริเริ่ม หรือคณะรัฐมนตรีนั้นมีมติอนุมัติในเบื้องต้น ไม่เหมือนกับเรื่องพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต ฉะนั้นต้องแยก 5 เรื่องนี้

และนี่จะเป็นปัญหาเรื่อง causation คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจ จึงเหมารวมว่าเป็นการกระทำของคุณทักษิณหมด ซึ่งในทางความรู้สึก คุณอาจรู้สึกได้ว่าคุณทักษิณครอบงำคณะรัฐมนตรี แต่ในทางกฏหมาย นี่เป็นการยึดทรัพย์นะครับ นี่เป็นโทษเสมือนโทษอาญา หนักกว่าโทษปรับทางอาญาเสียอีก ต้องชัด จะเอาความรู้สึกหรือข้อเท็จจริงทางการเมืองมาใช้ไม่ได้ว่าคุณทักษิณครอบงำทุกองค์กร สั่งคนนั้นก็ได้ คนนี้ก็ได้ ดังนั้นเลยถือว่าคุณทักษิณกระทำการ อย่างนั้นพูดได้ในแง่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในทางการเมือง แต่ในทางกฎหมายต้องพิสูจน์กัน ต้องมีพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร ไม่อย่างนั้นจะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายไปทำไม ใช้ความเชื่อความรู้สึกที่ว่าคุณทักษิณครอบงำทุกองค์กรก็ตัดสินได้แล้ว

 

กรณีที่มีคนตั้งคำถามกับผมเรื่องหุ้น หลายคนดูจะติดใจอยู่มาก บางคนก็เอาเป็นเอาตายกับผมเหลือเกินผมอยากจะบอกว่า ในที่สุดแล้วถ้าเราเห็นว่าการกระทำนั้น มันไม่ได้มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่สมควรทำให้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติแล้ว เรื่องซุกหุ้นหรือไม่ซุกหุ้นก็ไม่มีความหมาย มันก็คือไม่ผิด ประเด็นคือ ยึดทรัพย์ไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าผิดแบบตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ก็เป็นเรื่องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

@ ทราบว่า อาจารย์อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน มีข้อสังเกตอะไรบ้างครับ

ในความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษาแต่ละคน ผมอ่านแล้วมีข้อสังเกตนิดหน่อย แล้วก็เป็นประเด็นข่าวในหนังสือพิมพ์ด้วย คือ ตอนที่มีการลงมติ ประเด็นว่าคุณทักษิณยังคงครองไว้ซึ่งหุ้นหรือไม่ มัน 9 ต่อ 0 คือเป็นเอกฉันท์ว่าคุณทักษิณยังคงถือครองไว้ซึ่งหุ้น พอมาถึงประเด็นว่ามีการเอื้อประโยชน์ทั้ง 5 กรณี หรือไม่ มันคือ 8 ต่อ 1 แล้วพอยึดบางส่วนหรือยึดทั้งหมด มันคือ 7 ต่อ 2

กรณี 8 ต่อ 1 มันน่าสนใจว่า ผมไปอ่านคำพิพากษาส่วนตน ปรากฏว่าเฉพาะเรื่องภาษีสรรพสามิต มีคนที่เห็นว่าเรื่องภาษีสรรพสามิตไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ สองคนครับ ไม่ใช่คนเดียว

ท่านหนึ่งก็คือม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ส่วนอีกท่านคือ ท่านพงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ กรณีของท่านพงศ์เทพประเด็นเรื่องภาษีสรรพสามิตท่านเห็นว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ประเด็นอื่นอีก 4 ประเด็น ท่านเห็นว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์หมด ท่านเลยจัดอยู่ในฝ่ายข้างมาก 8 คน

@ อาจารย์เห็นแย้งอาจารย์สมเกียรติ ประเด็นไหนบ้างครับ

เรื่องแรกคือประเด็นภาษีสรรพสามิต มีการเถียงกันว่า ตกลงการออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตเป็นการกีดกันหรือไม่กีดกันรายใหม่เข้าสู่ตลาด เพราะถ้ามองว่ากีดกัน ก็สามารถคิดต่อไปได้ว่า เอไอเอสจะได้ประโยชน์จากการกีดกันนั้น เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ผมสัมภาษณ์พาดพิงอาจารย์สมเกียรติ ซึ่งไปเป็นพยานในคดี แล้วเข้าใจว่าเป็นพยานปากสุดท้าย ผมมีข้อสังเกตว่า มันมีคนที่เห็นว่าไม่กีดกันเหมือนกัน แต่ว่าเวลาอ่านคำพิพากษา แม้แต่ความเห็นส่วนตนของผู้พิพากษา เสียงข้างมาก ปรากฏว่าไม่ได้มีการให้เหตุผลของฝ่ายที่เห็นว่าไม่กีดกันในคดี ว่าทำไมถึงเห็นว่าไม่กีดกัน

คือมีการเขียนนิดเดียวเอง แล้วก็มีบางท่าน เท่านั้นที่เขียน ไม่ได้เขียนทุกท่านด้วย มีสืบพยาน อย่าง ดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกทช. ท่านก็เห็นว่าไม่กีดกัน แต่ประเด็นที่ว่าอาจารย์กมลชัยเห็นว่าไม่กีดกัน ไม่มีการบรรยายไว้ในรายละเอียด ซึ่งน่าเสียดาย

ผมไม่รู้ว่าฝ่ายทนายคุณทักษิณ ได้อ้างนักวิชาการที่เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นหรือเปล่า ที่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่กีดกัน อันนี้ไม่ทราบได้ แต่เห็นว่าไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มาคาน หรือชี้ว่าทำไมไม่กีดกัน

ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์สมเกียรติพาดพิง บอกว่า คณาจารย์ทั้ง 5 พูดถึงเรื่องจุดคุ้มทุน โดยที่ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และไม่มีตัวเลขอะไรเลย ผมเรียนว่า เวลาที่เราวิเคราะห์คำพิพากษา เราวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงในคดี ผมก็อ่านข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา แล้ววิเคราะห์ไปจากนี้ จริงๆ ที่วิเคราะห์บอกว่า การมีภาษีสรรพสามิตมันไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการรายใหม่ ทำให้มีต้นทุนในการประกอบกิจการสูง กว่าจุดคุ้มทุนจนเข้าตลาดไม่ได้นั้น อันนี้หมายถึงว่าอ่านจากคำพิพากษานั่นเอง

หมายถึง คำพิพากษาไม่ได้มีอะไรที่จะบ่งชี้เช่นนั้น ถ้าศาลจะบอกว่ามันกีดกัน ศาลคงต้องชี้ให้เห็นแล้วว่า มันมีต้นทุนยังไงของรายใหม่ที่มันสูง จนถึงเข้าตลาดไม่ได้ คือคณาจารย์ทั้ง 5 ไม่ได้เห็นครับ จึงบอกว่าเรื่องนี้ จากคำพิพากษาเองไม่ได้บอก เราถึงบอกว่า เมื่อเราดูจากกรณีที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เฉยๆ มันยังไม่พอฟังว่าเป็นการกีดกัน อันนี้คือประเด็นหลัก แล้วข้อเท็จจริงในคดีไม่มีด้วยว่าต้นทุนของผู้ประกอบการรายใหม่มันสูง จนถึงขนาดว่ามันเข้าตลาดไม่ได้

 

ฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ ถ้าศาลบอกว่ากีดกันก็ต้องคำนวณ เหมือนที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าต้นทุนเป็นยังไงบ้าง แต่ประเด็นหลักของผมเวลาเราพูดเรื่องต้นทุนมันเถียงกันได้เยอะ และประเด็นที่มีการพูดกันก็คือว่า ในคำพิพากษา ศาลแสดงให้เห็นแต่เพียงว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เท่านั้นเอง

สรุปง่ายๆ ก็คือว่า รายเดิมคือเอไอเอส จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 25% ถ้าจะมีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เขาจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับรัฐ 6.5 % ทีนี้เมื่อมีภาษีสรรพสามิตอีก 10 % จึงกลายเป็น 16.5 %

คำถามก็คือ ถ้าเราไม่ดูต้นทุนตัวอื่น ดูแต่เฉพาะส่วนที่ต้องจ่ายให้กับรัฐที่เป็นภาษี และส่วนแบ่งรายได้เทียบกัน ถามว่า 16.5 มันมากกว่า 25 ตรงไหน

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่า คุณประกอบกิจการอย่างหนึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิม จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรืออะไรกับรัฐ 25 % ผมจะเข้าสู่ตลาด ยังไม่มีฐานลูกค้า รัฐบอกว่ากลัวผมแข่งไม่ได้ เก็บผมถูกๆ มองในมุมกลับ(นะ) มันแฟร์กับคุณหรือเปล่า ถ้าคุณต้องจ่าย 25% ผมจ่าย 5% ทำไมไม่จ่าย 25 เหมือนกัน ผมถึงบอกว่า 16.5 ยังไงมันก็ยังน้อยกว่า

ทีนี้ก็มีการโต้แย้งกัน โดยอาจารย์สมเกียรติบอกว่า รายเก่าเข้าตลาดมาก่อนมีฐานลูกค้ามาก แล้วยิ่งลูกค้าเยอะ การถึงจุดที่ได้กำไรมันก็เร็วขึ้น เรื่องนี้ผมเรียนว่า การเข้าตลาดก่อนของรายเก่า มันหมายความว่าเขาแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปก่อน ไม่ได้หมายความว่าเขาจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เขาเข้าตลาดก่อน แบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจไปก่อน

อีกอย่างก็คือ รายเก่าที่เขาทำสัญญาสัมปทานกับรัฐ เขาทำสัญญาสัมปทานแบบ BTO (Build, Transfer, Operate) ซึ่งก็คือ เขาเป็นคนที่ลงทุนเรื่องโครงข่าย ก็คือเขาลงทุนด้วยเงินของเขาเอง โอนให้กับรัฐวิสาหกิจ แล้วก็ประกอบกิจการ เงินลงทุนนี้จำนวนมากนะครับ เพราะว่ารัฐไม่ต้องการลงทุนเอง

รายใหม่ในการเข้าสู่ตลาดไม่ต้องลงทุนส่วนนี้ แล้วถ้าเกิดรายใหม่จะลงทุนตามระบบใหม่ ที่เป็นระบบใบอนุญาต ไม่ใช่ระบบสัญญาสัมปทานเหมือนรายเก่า เขาได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาลงทุน ขณะที่รายเก่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับรัฐ แล้วถามว่าตรงนี้ไม่คิดหรือ

ผมไม่แปลกใจเลยว่าบรรดาผู้พิพากษาที่ตัดสินเรื่องนี้ มีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคดี คือม.ล. ฤทธิเทพ เพียงท่านเดียวที่พูดถึงประเด็น BTO ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เห็นว่า รายเก่า ในการเข้าสู่ตลาดเขาเข้ายังไง มีต้นทุนการประกอบการยังไง ซึ่งตรงนี้ต้องคิด ซึ่งแน่นอนเข้าก่อนมันก็เป็นธรรมดา มันมีข้อดีข้อเสีย ต้องชั่งน้ำหนักกัน

ปัญหาก็คือว่า มีคนบอกว่าการที่รัฐบาลออกอันนี้ 10% เพิ่มขึ้นเลย 10% คือ ภาระภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าเพิ่มแล้วที่สุดมันทำให้แข่งไม่ได้หรือเปล่า หรือทำให้เขาไม่มีมูลเหตุจูงใจในการเข้าสู่ตลาดมั๊ย นี่คือประเด็น ซึ่งต้องพรูฟกันว่ามันเป็นการกีดกันยังไง

ท่านก็บอกว่า ตัวพิกัดภาษีมันเลื่อนไปได้ ต่อไปรัฐบาลอาจกำหนดเป็นร้อยละ 20 ก็ได้ ซึ่งมันยังไม่เกิด แต่ก็มีคนบอกว่ามีคนไม่กล้าลงทุน เพราะเขาก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลขึ้นยังไง เราต้องเข้าใจว่า เวลารัฐบาลจะทำพวกนี้ มันจะต้องดูสภาพตลาดต่างๆ เขาก็บอกว่า วันดีคืนดีคุณทักษิณ ก็ขึ้นภาษีสรรพสามิต ไป 30 ,40% อันนี้คือการคาดเดาแล้ว แล้วถ้าหากรัฐบาลถ้าทำอย่างนั้นก็จะมีประเด็นความชอบด้วยกฎหมายตลอดจนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำดังกล่าวตามมาด้วย

แน่นอน อาจจะมีคนบอกว่า คนประกอบธุรกิจเขาอาจจะคาดเดาได้ แล้วก็รู้สึกไม่มั่นใจ แต่มันคือการคาดเดา แล้วถ้าเกิดไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรวมทั้งในทางความเป็นจริงด้วย เราจะเห็นได้ว่า ที่เขาทำภาษีสรรพสามิตขึ้นมา เขาต้องการแก้ปัญหาเรื่อง การแปรสัญญาสัมปทาน ซึ่งมันทำไม่สำเร็จตั้งแต่ปี 2537 ทำมาหลายรัฐบาลแล้วมันทำไม่ได้ แล้วถึงเวลานั้นมีการแปรรูปไปแล้วจากองค์การโทรศัพท์ไปเป็นทีโอที แล้วก็การสื่อสารไปเป็นบริษัทกสท. แล้วต่อไปจะเอาสองหน่วยงานนี้เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์

 

พอเอาเข้าตลาด ก็จะต้องขายหุ้นให้เอกชน ในขณะที่ 2 หน่วยได้เงินสัมปทานจากเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ กินเงินสัมปทานต่อไป ถ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วไปขายหุ้น เอกชนที่เป็นผู้ถือหุ้น ก็จะได้เงินส่วนแบ่งสัมปทาน ซึ่งไม่ถูกต้อง เขาจึงหาวิธีเอาเงินเข้าคลังโดยตรง ซึ่งเขาก็ตัด 10% เข้าคลังโดยตรง ทำให้รัฐได้ประโยชน์โดยตรง

ทีนี้มีคนบอกว่า การออกพรก.สรรพสามิต ไม่ต้องการเก็บภาษีจริงๆ หรอก เพราะว่าออกมา บอกว่า เก็บ 10% แต่จริงๆ ไม่ได้เก็บ เอา 10% ออกไปหักจากค่าสัมปทาน คือ เอไอเอสต้องจ่าย 25% ให้กับทีโอที ก็บอกว่า 10 % ที่เป็นภาษีสรรพสามิต ให้เอาไปหักออกได้จากค่าสัมปทาน ก็คือจ่ายให้กับทีโอที 15 % แล้วจ่ายเข้าคลัง 10% ในความเป็นจริงคือรัฐไม่ได้ภาษี เพราะว่าแม้จะออกกฎหมายให้เก็บ แต่เอาตรงนี้ไปหักออกจากส่วนที่เอกชนต้องจ่ายกับรัฐอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนว่ารัฐบาลคุณทักษิณทำเรื่องนี้หลอกๆ โดยมีวัตถุประสงค์สร้างกำแพงภาษีให้รายใหม่เท่านั้น รายเก่าก็จ่ายเท่าเดิม เรื่องนี้ต้องอธิบายว่ามาตรการทางภาษี มันเป็นมาตรการที่รัฐบาลในเวลานั้นใช้แก้ปัญหาการแปรสัญญาสัมปทาน เป็นมาตรการที่รัฐบาลทำขึ้นเพื่อให้ได้ความมั่นคง ในแง่ของเงินที่จะเข้าคลังโดยตรง แน่นอนว่าการแก้ปัญหานี้ทำได้หลายวิธี แต่วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งภายใต้ข้อจำกัดหลายๆเรื่องที่มีอยู่ในเวลานั้น แม้ว่าวิธีนี้จะมีประเด็นให้ถกเถียงกันได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นเรื่องในทางนโยบาย ไปดูวิธีการแปรสัญญาที่ฝ่ายวิชาการทำวิจัยสิครับ แต่ละแห่งที่ทำวิจัยเรื่องเดียวกัน ยังเสนอวิธีการแก้ปัญหาต่างกันเลย

ถ้าเกิดรัฐจะเก็บเงินภาษีจริง ๆ ไม่ยอมให้รายเก่าหักออกจากค่าสัมปทาน ก็เท่ากับว่า เอไอเอสจ่าย 25 % ที่เป็นค่าสัมปทานให้กับทีโอที แล้วยังต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตอีก 10 % ถามว่าภาระภาษีสรรพสามิตตรงนี้ไปอยู่กับใครครับ เขาก็จะต้องผลักตรงนี้ไปให้ผู้บริโภคซึ่งก็คือพวกเรานั่นเอง

การที่เอา 10% ไปหัก จึงไม่ทำให้เกิดภาระกับผู้บริโภค เขามีเหตุผลอธิบาย ผมถึงบอกว่า ผมดูทั้งหมดแล้วมันอธิบายทางกฎหมายได้ มันมีลอจิกของมันอธิบายได้ ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

 

@ มุมมองอาจารย์วรเจตน์กับอาจารย์สมเกียรติเป็นมุมมองจากกรอบแว่นตาต่างสีหรือเปล่า

ผมไม่แน่ใจ (ครับ) แต่ถามว่าสิ่งที่ผมอธิบายให้ฟัง มันใช่หรือเปล่าล่ะ ผมไม่รู้ว่านักเศรษฐศาสตร์เขาคิดยังไง เพราะบังเอิญมีอาจารย์สมเกียรติพูดอยู่ท่านเดียว อาจจะต้องไปถามนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นว่าเขาจะคิดแบบผมบ้างมั๊ย ผมคิดว่ามีแน่นอน แล้วผมพยายามสำรวจ ตรวจสอบตรรกะของผมดู ผมก็ยังไม่พบว่ามันบกพร่องนะ ในแง่นี้ เพราะมันมีเหตุผลอธิบายได้

แล้วมองในทางกลับกัน ภาษีที่มันเพิ่มขึ้น อาจจะมีผลในการสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันก็ได้ เพราะมันทำให้เราต้องคำนวณดูว่า สมมุติว่ารายเดิมมีภาระส่วนแบ่งรายได้สูงมาก รายใหม่น้อยมาก รายเดิมก็อาจจะเสียเปรียบได้ แม้ว่ารายเดิมจะมีฐานลูกค้าอยู่ แต่ถ้ารายใหม่เข้าตลาดมา มันส่งผลที่ต้องจ่ายตรงนี้น้อยมาก เพราะดั๊มราคาได้ เข้ามาแข่ง ซึ่งเขาบอกว่าโอเคให้รายใหม่แข่งได้ แต่ว่า ช่องว่างที่ห่างมากเกินไป บางทีมันอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันก็ได้

อีกอันที่ต้องแย้งอาจารย์สมเกียรติก็คือ ผมบอกว่ามันไม่ได้มีการกีดกัน มีคนบอกว่าไม่กีดกันได้ยังไง เพราะหลังจากออก พระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตแล้ว ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดเลย ผมบอกว่า ที่มันไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เป็นเพราะว่ามันมีปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาตของกทช. ทีนี้อาจารย์สมเกียรติแย้งประมาณว่าผมไม่ได้ดูความเห็นกฤษฎีกาเลย บอกว่า ผมไม่ได้พูดถึงความเห็นกฤษฎีกา ที่กทช.เคยถามว่า สามารถจัดสรรคลื่นได้มั๊ย แล้วกฤษฎีกาก็บอกว่า จัดสรรได้ อาจารย์สมเกียรติก็เลยบอกว่า ที่ผมบอกว่า ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด เนื่องจากปัญหาอำนาจของ กทช. ไม่ถูกต้อง เพราะกฤษฎีกาก็บอกว่า กทช.สามารถจัดสรรคลื่นได้ อันนี้ต้องอธิบายหน่อยว่าอาจารย์สมเกียรติเข้าใจตรงนี้คลาดเคลื่อน

ประเด็นของเรื่องเป็นอย่างนี้ครับ การที่รายใหม่เข้าสู่ตลาด เข้ามาแข่งกับเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ หลังจากที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว รายใหม่เวลาเข้าสู่ตลาด เขาเข้าสู่ตลาดในระบบใบอนุญาต คือต้องได้รับใบอนุญาตจาก กทช.

ทีนี้มันมีปัญหาถกเถียงกันว่าก่อนที่ กทช.จะจัดสรรคลื่น จะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่แห่งชาติก่อน ซึ่งจะทำแผ่นแม่บทดังกล่าวได้ จะต้องมีคณะกรรมการร่วมระหว่าง กทช. กับ กสช. ทีนี้ อย่างที่เรารู้กันว่าในช่วงที่ผ่านมา เราไม่สามารถตั้ง กสช.ได้ พอตั้งกสช.ไม่ได้ มันก็ไม่มีคณะกรรมการร่วม มาจัดทำแผนแม่บทคลื่นความถี่ ก็เลยมีปัญหาเถียงกันว่าตกลงในขณะที่ไม่มีกสช. กทช.จะมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นหรือเปล่า

 

ความเห็นส่วนตัวผม ผมเห็นว่า กทช.มีอำนาจ แต่ว่าก่อนหน้านั้น มันมีปัญหาเถียงกันเรื่องอำนาจของกทช. ว่ามีหรือไม่มีมาโดยตลอด แล้วจนกระทั่งถึงปี 2549 สังเกตปีนะครับ ที่อาจารย์สมเกียรติอ้างกฤษฎีกา ผมจะบอกว่า ปี 2549 กทช. ถามกฤษฎีกาว่าตัวเองมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่หรือเปล่า

กฤษฎีกาตอบเมื่อเดือนสิงหาคม เดือนเดียวก่อนการรัฐประหาร 19 กันยา ว่า กทช.สามารถจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมได้ โดย กทช.ต้องจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามข้อบังคับวิทยุสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่คณะกรรมการร่วมจะนำมาจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติเสียก่อน ความเห็นนี้เพิ่งเกิดขึ้นปี 2549 และตอบคำถามอาจารย์สมเกียรติในตัวว่าแปลว่าอะไร เรื่องนี้ กฤษฎีกาตอบสิงหา 2549 แปลว่ามันมีความไม่แน่ใจในอำนาจกทช.มาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเรื่องนี้เถียงกันมาตั้งแต่ปี 2546 เพราะฉะนั้นที่อาจารย์สมเกียรติอ้าง ยิ่งสนับสนุนความเห็นผมว่าก่อนหน้านั้น กทช. ไม่แน่ใจในอำนาจออกใบอนุญาตของตัวมาโดยตลอด เพราะว่าเขาไม่แน่ใจอำนาจจึงถามไป กฤษฎีกาตอบเป็นเรื่องเสร็จ ที่ 386/2549 นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด

อีกอันหนึ่งที่อาจารย์สมเกียรติแย้งก็คือ ประเด็นเรื่องผู้ประกอบการเดิมตามสัญญาสัมปทานมีสิทธิดีกว่าผู้ประกอบการตามระบบใบอนุญาต เพราะว่าของเก่าทำสัญญา ของใหม่เป็นใบอนุญาต โอเค ถูกว่ารายเดิมมีสิทธิผูกขาด แต่ว่าต้องโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินให้กับรัฐนะ แล้วระยะเวลาในการประกอบกิจการใกล้จะหมดแล้ว เหลือไม่กี่ปี จ่ายค่าสัมปทานแพง 15, 20, 25, 30 หรือ 20 แล้วแต่ แต่รายใหม่แม้ไม่มีสิทธิผูกขาดเป็นผู้รับใบอนุญาต แต่ว่าเป็นเจ้าของโครงข่ายได้ อันนี้อาจจะต้องเปรียบเทียบกันนิดนึง

อีกประเด็นหนึ่งที่โต้แย้งกันก็คือ ที่ผมบอกว่า ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดเลย อาจารย์สมเกียรติบอกว่า ที่จริงมีบริษัทหนึ่งคือไทยโมบาย แล้วอาจารย์สมเกียรติก็บอกว่าผมผิด 2 ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นตรรกะ

ผมจะบอกให้ว่า ไทยโมบายไม่ใช่รายใหม่แท้จริงครับ คือ ไทยโมบายเป็นกิจการร่วมค้าที่เกิดขึ้นจากทีโอทีกับกสท. โทรคมนาคมตั้งขึ้นมาให้ทำมือถือ ทำอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ตอนนี้เลิกไปแล้ว แล้วไทยโมบายก็ไม่ได้ใบอนุญาตนะครับเพราะว่าใช้สิทธิ ของทีโอที กสท. นี่แหละทำ เขาจึงไม่ใช่รายใหม่

รายใหม่จริงๆ ไม่มี แล้วไทยโมบายเข้ามาในตลาด ได้เปรียบ คลื่นคุณก็ไม่ต้องจ่ายค่าคลื่น คือมันเป็นหน่วยที่ 2 องค์กรนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อทำในลักษณะกิจการร่วมค้า ฉะนั้นไม่ใช่รายใหม่ แบรนด์อาจจะดูใหม่ แต่ไม่ใช่รายใหม่ในความหมายที่เราพูดกัน ว่าคุณเข้ามา แล้วได้รับใบอนุญาตเข้ามา เอาเงินเข้ามาลงทุนเป็นรายใหม่ในตลาด ไม่ใช่ แต่วันนี้ไทยโมบายเลิกไปแล้ว ก็เลยมีคนบอกว่านี่ไงเป็นเพราะภาษีสรรพสามิต 10 % ผมบอกว่าไม่ใช่ ไปสรุปแบบนั้นไม่ได้ ไปดูสิครับว่าทำไม ไทยโมบายถึงเลิก เลิกเพราะปัญหาการบริหารภายใน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาษีสรรพสามิตเลย

ฉะนั้น อย่าไปสมมุติว่าอันนี้เป็นเพราะภาษีสรรพสามิต 10 % แล้วอีกอย่างก็คือ อาจจะตลกมากเหมือนกัน ถ้าเกิดจะบอกว่า ไทยโมบาย เป็นกิจการร่วมค้าของทีโอทีกับกสท แล้วถูกกีดกัน ซึ่งทีโอที กับ กสท. กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % แล้วมันจะกีดกันยังไง คือตัวรัฐกีดกันไทยโมบาย ซึ่งที่สุดไทยโมบายจ่ายไป 10 % กลับไปก็ไปเข้าตัวเอง แล้วกระทรวงการคลังก็ส่งกลับมาให้ผ่านทีโอทีกับ กสทฬโทรคมนาคมได้อีก คงพูดยากมั้งว่านี่คือการกีดกัน ฉะนั้น 10% กรณีไทยโมบายไม่น่าจะเป็นประเด็น เพราะกระทรวงการคลังถึงที่สุดแล้วคงกีดกันตัวเองไม่ได้

ส่วนที่บอกว่า ไม่เห็นว่ามีรายใหม่เข้ามา ไม่ได้แปลว่ารายใหม่ไม่ต้องการเข้า อันนี้ผมคิดว่าจะถือว่าเป็นความผิดพลาดทางตรรกะไม่ได้ เพราะว่าปกติในทางธุรกิจ ถ้ามันมีประเด็น มีคนมุ่งประสงค์ ต้องการธุรกิจอย่างนี้จริงๆ มันต้องแสดงตัวว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตลาดนะ แล้วก็คงต้องมีการชี้ให้เห็นว่าภาษี 10 % มันเป็นอุปสรรค ทำให้เขาเข้าสู่ตลาดไม่ได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมามันไม่มี ไม่เห็นความประสงค์ของคนที่จะเข้าประกอบการ คือ บางทีอาจจะพูดได้ว่ามีคนอยากเข้าสู่ตลาด ผมถามว่าใครล่ะ

ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งที่ถามว่า แล้วจะเข้าสู่ตลาดเข้าได้มั๊ย ผมจะบอกว่ามันมีปัญหาทางเทคนิคเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องคลื่น ในคลื่น 2 จี ที่ใช้ย่านความถี่ เป็นคลื่น 2 จี มันถูกใช้ไปเกือบหมดแล้ว

โดยสภาพ ถ้าออกใบอนุญาตให้กับรายใหม่ ก็จะต้องเรียกคลื่นกลับมาทั้งหมด แล้วมาจัดสรรใหม่ ซึ่งมันจะยุ่งยากมาก เพราะไปกระทบกับสัญญาสัมปทาน ฉะนั้น ประเด็นเรื่องคลื่นก็เป็นปัญหาทางเทคนิคอีกอันหนึ่ง ฉะนั้น การที่ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาด มันด้วยเหตุปัจจัยอย่างอื่น นี่ยังไม่ต้องพูดถึงมูลเหตุจูงใจในทางเทคโนโลยีด้วยว่ารายใหม่น่าจะอยากเข้าสู่ตลาดทำ 3 จี มากกว่า 2 จี

แล้วผมบอกให้ว่าเรื่องนี้ ยุติเหมือนกันในข้อเท็จจริงของศาล ไปอ่านความเห็นของผู้พิพากษาข้างมาก หลายคนเขียนเอาไว้ว่า การที่ไม่มีรายใหม่เข้าสู่ตลาดเป็นเพราะปัญหาเรื่องกทช. มีหรือไม่มีอำนาจ ในการออกใบอนุญาตจัดสรรคลื่น เพียงแต่ว่า ผู้พิพากษาข้างมากเขียนว่า ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้นก็เอามาอ้างไม่ได้ เพราะว่ายังไง มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นในเรื่องภาษีสรรพสามิตก็กีดกันอยู่ดี ซึ่งด้วยความเคารพ ศาลก็ไม่ได้พรูฟว่ากีดกันยังไง อย่างที่อธิบายไปแล้ว

ฉะนั้นเคลียร์ประเด็นนี้ว่ามันไม่ได้ประเด็นอย่างที่อาจารย์สมเกียรติเข้าใจ แล้วผมไม่ได้ผิดพลาดทั้งทางข้อเท็จจริงและทางตรรกะ

นอกจากนี้ มีการพูดถึงว่าพรก.สรรพสามิต ไม่มีที่ไหนในหมายเหตุท้ายพรก.สรรพสามิต พูดเรื่องการแปลงสภาพทีโอที หรือการจะบอกว่าต้องออกภาษีสรรพสามิต เพื่อจะมาจัดการเรื่องแปรสัญญาสัมปทาน อันนี้มาพูดทีหลังหรือเปล่า หมอเลี๊ยบก็ไม่พูดแบบนี้ตอนออก พรก.สรรพสามิต

ผมเรียนแบบนี้ว่า เวลาดูวัตถุประสงค์การออกกฏหมาย ในบ้านเรา มันไปดูที่ตัวหมายเหตุท้ายกฎหมาย ไม่ได้หรอก มันไม่พอ มันต้องดูตั้งแต่ตอนที่เขาทำนโยบาย ซึ่งเรื่องนี้ก็ปรากฏตั้งแต่ในชั้นของ ทศท. เลยมั้งครับที่คิดทำขึ้นมาของหน่วยงานชั้นต้นที่ตั้งเป็นคณะกรรมการ ลองไปอ่านคำพิพากษาดู เพราะว่ามีการพูดประเด็นเหล่านี้กัน

 

ทีนี้บังเอิญว่าตอนทำ ส่วนหนึ่งมันไปคล้ายกับ ข้อเสนอในงานวิจัยของคุณบุญคลี ปลั่งศิริ เรื่องนี้ก็มีการพูดกันว่าทำไมเอาของคุณบุญคลีมา เพราะคุณบุญคลีเคยอยู่เอไอเอสใช่มั๊ย แล้วทำเพื่อเอไอเอส ผมว่าลอจิกนี้ใช้ไม่ได้นะ

ในคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งไปเป็นพยานให้การว่า ไม่เคยเห็นวิทยานิพนธ์ของคุณบุญคลี หลายคนที่เป็นคณะทำงานที่ออกพรก.นี้ ก็ให้การอย่างนั้น แต่ผมถามจริงๆเถอะว่า ถ้าเป็นของคุณบุญคลีจริงแล้วมันยังไง ถ้างานของคุณบุญคลีมันมีเหตุผลรองรับ แล้วมันจะเป็นยังไงครับ ทำไมเหรอ เป็นบุญคลีนี่มันผิดตลอด ผมบอกว่า สำหรับผมต่อให้เป็นคุณทักษิณเองก็ตาม ถ้าแนวความคิดนั้นมีเหตุผล และแก้ปัญหาได้ มันก็ใช้ได้ หมายความว่าถ้างานวิจัยมันตอบโจทย์ อธิบายในทางเหตุผลได้ ทำไมต้องรังเกียจล่ะ

นี่เรากำลังจะบอกว่า ถ้าเป็นคุณบุญคลีแล้วผิดทันที ไม่ต้องสนใจว่าเขาพูดว่ายังไงเหรอ ฉะนั้น การอ้างแต่ชื่อคนทำวิจัยอย่างเดียว เพื่อแสดงว่าเนื้อหางานวิจัยนั้นผิด ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แล้วงานวิจัยคุณบุญคลี ไม่ควรถือเป็นหนังสือต้องห้าม ยิ่งควรสนับสนุนให้อ่านกัน ให้วิพากษ์วิจารณ์ คิดคล้อยหรือคิดค้านกันด้วยซ้ำไป

ควรเอามาอ่านว่าเขาเสนอว่ายังไง ผมก็ยังไม่เคยอ่านงานวิจัยคุณบุญคลีนะ ก็ยังสนใจอยู่ แต่ว่าในความเห็นส่วนตน ผู้พิพากษาท่านหนึ่ง คือ ท่านพงษ์เทพ กล่าวถึงเนื้อหางานวิจัยของคุณบุญคลี แล้วก็บอกว่าในงานวิจัยฉบับนี้ มีทางเลือกอยู่หลายแนวทาง แนวทางเรื่องสรรพสามิตเป็นแนวทางหนึ่งเท่านั้น และบอกด้วยว่า แนวทางสรรพสามิต ในงานวิจัยกับกรณีที่เป็น พรก.นั้น ไม่เหมือนกัน มีความต่างกันอยู่ คนละเรื่อง คนละหลักการกัน แต่ประเด็นที่ผมจะชี้คือ ไม่เป็นไรหรอก เป็นของคุณบุญคลีก็ได้ ถ้ามันถูก ก็เอาเหตุผลมาดูกัน

ประเด็นต่อมาคือ ประเด็นการออกพระราชกำหนดมีพิรุธเยอะ ทำไมถึงออกเป็นพรก.ล่ะ ทำไมไม่ออกเป็นพรบ. ผมเรียนว่า ประเด็นเรื่องการทำกฎหมายดังกล่าวในรูปพระราชกำหนด เป็นประเด็นที่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลคุณทักษิณ

คือ ผมมีความเห็นว่าเรื่องภาษีสรรพสามิตในกรณีนี้ ไม่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชกำหนด ผมเคยลงชื่อในแถลงการณ์ หลายปีแล้ว พูดเรื่องรูปแบบในการออกกฎหมายว่า กรณีนี้ ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ถ้าผมจะตำหนิเคสอันนี้ วันนี้ผมก็ยังตำหนิอยู่ว่ารัฐบาลคุณทักษิณในเวลานั้นออกเป็นพระราชกำหนดไม่ได้ เรื่องแบบนี้ทำเป็นพระราชบัญญัติได้ เอาเข้าสภาได้ ดีเบตกันได้ในสภา

แต่ประเด็นนี้จบไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ออกได้ แต่โดยส่วนตัวผม เห็นว่าทำเป็นพระราชกำหนดไม่น่าจะถูกต้อง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นั้นคือความเห็นในรูปแบบวิธีการออกกฏหมาย ผมไม่ได้บอกว่าในทางเนื้อหาเป็นเรื่องกีดกันรายใหม่ เพราะเมื่อได้ศึกษาอย่างจริงจังแล้วผมเห็นว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องกีดกัน ในทางเหตุผล ผมเห็นว่ามันฟังได้นะ ในทางวิธีการ อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างเรื่องภาษีสรรพสามิต ว่ามันเป็นมาตรการทางภาษีที่เหมาะสมหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เถียงกันได้ว่า เป็นเรื่องสินค้าฟุ่มเฟือย หรือไม่ ประมาณนี้ แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความเหมาะสม ซึ่งในทางกฎหมาย เราต้องเคารพการตัดสินใจของฝ่ายบริหารด้วย แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย ก็ไปว่ากันทางการเมืองได้ แต่ไม่ใช่เอาความเห็นที่เป็นเรื่องในทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของเราคนเดียวเท่านั้นว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

หรือมีประเด็นอีกอันหนึ่งว่า ทำไมถึงต้องทำเป็นภาษี แล้วทำไมถ้าอยากจะให้เอาเงินเข้ารัฐโดยตรง ทำไมไม่ทำเป็นมติครม. หรือทำเป็นกฏหมาย ไปสั่งทีโอที กับ กสท. ว่าถ้าคุณได้เงินสัมปทานมา ให้คุณส่งเข้าคลัง แล้วก็มีการชี้ให้เห็นว่าที่ต้องทำในรูปภาษีสรรพสามิต ก็เพราะว่าคุณต้องการใช้ภาษีเป็นกำแพงกีดกันรายใหม่ไง ถ้าเกิดไม่เอาในรูปภาษี แต่ไปสั่งให้ทีโอทีกับกสท. ส่งเงินเข้าคลังโดยตรง มันก็ไม่มีภาษี 10 % ก็ไม่กีดกันรายใหม่ ฉะนั้น ด้วยการที่คุณต้องการกีดกันรายใหม่ เนี่ยแหละ คุณก็เลยไม่ใช้วิธีนั้น แต่คุณใช้วิธีออกพระราชกำหนด ทำเป็นภาษีสรรพสมิต แล้วก็มีประกาศเก็บ 10% แล้วหลังจากนั้นก็มีมติครม. เว้น 10% ให้เอา 10% ไปหักออกจากสัญญาณสัมปทาน โดยที่รายอื่นอื่นจะเข้ามา คุณต้องเจอ 10% นี้ เพราะคุณไม่มีสัญญาสัมปทาน ฟังดูก็น่าจะคล้อยตามได้

ผมอธิบายแบบนี้ว่า จริงๆ เวลาจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฝ่ายบริหารเขาอาจมีวิธีการหลากหลาย มันเป็นทางเลือก แล้วการเลือกแต่ละทางเลือก มีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน ผมไม่ได้นั่งอยู่ในครม.วันนั้น แต่ตรงนี้ ถ้าถามผม วิธีการที่ไปสั่งหรือออกมติครม.ไปสั่งหน่วยงานให้ส่งคลังเลยกับวิธีการทางภาษี มันมีข้อดีข้อเสียต่างกันมั๊ย ก็อาจจะมี ถ้าคุณใช้วิธีออกมติ ครม. ก็อาจจะไม่มีข้อครหาเรื่อง 10% แล้วในด้านหนึ่ง ทำให้รายใหม่ ไม่มีภาระตรงนี้ เพิ่มเติมขึ้นมา

แต่ทำให้จูงใจรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งรายเก่าอาจจะโวยว่าทำให้ส่วนต่างของเงินที่ต้องส่งรัฐ มันต่างกันมาก กระทบกระเทือนกับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่ว่าวิธีออกกฏหมาย แล้ววิธีใช้มติครม. มันจะมีปัญหาได้ ถ้าสมมุติว่าในช่วงเวลาถัดไป มีการนำ 2 บริษัทนี้ที่แปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจ เข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วกระทรวงการคลังก็ไม่ใช้ผู้ถือหุ้น 100% อีกต่อไป

มติครม. ก็ไปสั่งไม่ได้แล้ว เพราะ ไม่ได้ถือคนเดียวแล้ว หรือถ้าทำเป็นกฏหมาย มันก็จะมีปัญหาว่า ผู้ที่ถือหุ้นหรือซื้อหุ้น เขาก็บอกว่ากฎหมายนี้ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของเขา คุณไปเอาเงินซึ่ง จริงๆ เข้าสู่บริษัทเขา ที่เขาเป็นเจ้าของถือหุ้นอยู่ด้วย คุณไปตัดส่งเข้ารัฐ วิธีนี้อาจจะมีปัญหาแบบนั้น

ส่วนวิธีภาษี มันมีข้อดีอันหนึ่งซึ่งท่านผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย เขียนไว้ชัดเจนว่า หนี้ภาษียังไงเสียก็เป็นหนี้บุริมสิทธิ หมายความว่า บริษัทที่รับสัมปทาน คุณจะมีหนี้ยังไงกับคนอื่นเนี่ย ต้องจ่ายกองนี้ก่อน

ฉะนั้น ผมถึงบอกว่า ดูทั้งหมด มันอธิบายในทางกฏหมายได้ ในทางการเมืองคุณอาจจะอภิปรายกัน ไม่เป็นปัญหาเลย แต่เราต้องนึกว่านี่คือการยึดทรัพย์ แล้วสิ่งที่รัฐบาลในเวลานั้นทำ ในทางเนื้อหาอธิบายในทางกฎหมายได้ไหม ก็อธิบายได้

ต่อมาคือ เรื่องพรีเพด อาจารย์สมเกียรติบอกว่า เป็นดุลพินิจของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ ลดสัมปทานเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ท่านเห็นว่า การเจรจาระหว่างทศท.กับเอไอเอสเพื่อลดค่าสัมปทาน ทำให้เอไอเอส มีประโยชน์มากขึ้น

และอ้างว่าดีแทคขอลด เอไอเอสก็เลยขอลดบ้าง อาจารย์บอกว่า อดัม สมิธ เคยเขียนไว้ว่ามันไม่ใช่ความใจดีของคนขายเนื้อ คนต้มเหล้า หรือคนอบขนมปังที่ทำให้เรามีอาหารค่ำ แต่เพราะเขาเหล่านั้นคิดถึงประโยชน์ของตัวเอง ประเด็นก็คือ คนเหล่านั้นเขารู้ว่าถ้าเขาเจอการแข่งขัน เขาก็ต้องสู้เพื่อผลประโยชน์ของเขาเอง ไม่ใช่อยู่ๆ เขาจะใจดีมาลดราคาให้กับเราเพื่อผลประโยชน์ของเรา

อันนี้ต้องเข้าใจว่าเอาวาทศิลป์ของอดัม สมิธ มาอ้างเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องเห็นความสัมพันธ์และการออกแบบรัฐวิสาหกิจในกิจการโทรคมนาคมของเรา ถึงจะเข้าใจ ระบบการให้สัมปทานที่ทำมานั้น เป็นสัญญาสัมปทานโพสเพด แล้วจ่ายเป็นขั้นบันได ต่อมาก็มีการทำพรีเพด ตอนแรกก็มีการทดลองทำ แล้วก็ตอนหลัง ดีแทคก็ไปขอลดค่าแอคเซสชาร์ต แล้วต่อมาการสื่อสารก็ลดให้ หลังจากนั้นเอไอเอสก็เลยขอลดบ้างกับองค์การโทรศัพท์ มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน จากที่ถ้าถือตามเดิม เอไอเอส ต้องจ่ายเป็นขั้นบันได เป็นให้จ่ายอัตราเดียว 20% ตลอดอายุสัญญาในกรณีของพรีเพด ข้อโต้แย้งก็คือว่า การไปกำหนดการลดค่าสัมปทานให้เอไอเอส มันเอื้อประโยชน์เอไอเอส จากเดิมที่คุณจ่ายเป็นขั้นบันได คุณจ่ายเป็น 20% ตลอดสัญญา (เฉพาะกรณีโพสต์เพด)

จะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจ ตัวระบบสภาพ การประกอบกิจการโทรคมนาคมในบ้านเราว่า การออกแบบหน่วยงานของรัฐ มันออกแบบในลักษณะที่ให้ผู้รับสัมปทาน คือ เอไอเอส เป็นพาร์ตเนอร์ชิพ กับ ทีโอที หรือองค์การโทรศัพท์เดิม (ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานเอไอเอส) ให้แข่งกับ ดีแทคในฐานะผู้รับสัมปทานจากการสื่อสาร และแข่งกับทรูมูฟซึ่งรับสัมปทานกับการสื่อสารเช่นกัน มันเป็นแบบนี้

ทีนี้การทำธุรกิจของเอไอเอส มันจะส่งผลต่อรายได้ของทีโอทีหรือองค์การโทรศัพท์เดิม (ทศท.)หมายความว่า ถ้าเกิดเอไอเอส มีส่วนแบ่งการตลาดมาก ทศท.ก็ได้เงินส่วนแบ่งมากตามไปด้วย

จริงๆ ตอนที่มีการทำระบบพรีเพดขึ้นมาในเวลานั้น เราไม่รู้หรอกครับว่า มันจะมีคนใช้ ตลาดมันจะตอบสนองมากแค่ไหน เราเอาเหตุการณ์ในวันนี้ไปประเมินค่าเรื่องราวในตอนนั้นไม่ได้ มันไม่แฟร์ คือ เราจะต้องดูจากเวลานั้น ฐานที่มอง มองเหมือนเราอยู่เวลานั้น แล้วเรากำลังจะทำพรีเพด แล้วก็ต้องแข่งขันกัน

ประเด็นก็คือ เวลาที่มีการเจรจากันมีข้อสังเกตว่า การที่ทำเป็นแฟลตเรท 20% มีคณะกรรมการทศท. เจรจา ที่บอกว่าถ้าทำแบบนี้แล้ว เอไอเอสต้องไปลดราคาให้กับผู้บริโภค คำถามก็คือว่า เขาเจรจา ทำการแบบนี้กันได้ยังไง แล้วใครได้ประโยชน์

ผลก็คือ การแก้สัญญาลดส่วนแบ่งรายได้เฉพาะกรณีของโพสต์เพดเป็น 20% ตลอดอายุสัญญานั้น ทีโอที ได้ประโยชน์ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เอไอเอสได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์หมด เพราะเมื่อทำ 20 % แฟลตเรทแล้ว การโตของพรีเพดก็โตมาก คนก็ใช้พรีเพดกันเยอะ เมื่อใช้เยอะ ฐานลูกค้าก็กว้าง เมื่อดูภาพรวมของรายได้ บวกกับโพสเพดแต่เดิม แล้วก็พรีเพด อันใหม่รวมกัน ในภาพรวม ทำให้ทีโอทีได้เงินส่วนแบ่งรายได้เยอะขึ้นกว่าเดิมมาก แม้จะมีการกำหนดส่วนแบ่งรายได้ 20 % ตลอดอายุสัญญาในส่วนของพรีเพดก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงยุติในคำพิพากษา ศาลก็ยอมรับ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ นอกจากนี้เอไอเอส ไปลดราคาให้กับผู้บริโภคมากกว่าที่ตกลงกัน ตอนแก้สัญญาเสียอีก

เอไอเอสได้ประโยชน์ เขาก็มีมาร์เกตแชร์มากขึ้น มีฐานลูกค้ามากขึ้น แล้วผมถามว่าแล้วยังไง คำถามมันง่ายๆ ว่า ถ้ามองว่าแบบนี้เอื้อประโยชน์ ถ้างั้น คุณต้องให้เอไอเอส ขาดทุนใช่มั๊ย จะได้ไม่เอื้อประโยชน์ พูดแบบนี้เดี๋ยวหาว่ามองแบบเอไอเอส 100 % อีก

คือ มันจะทำยังไง เพราะว่า การออกแบบ ระบบของบ้านเราออกแบบให้องค์การโทรศัพท์ เป็นพาร์ตเนอร์ชิพ กับเอไอเอสในการแข่งขันกับรายอื่น เพราะว่าถ้าเอไอเอส โต องค์การโทรศัพท์ก็ได้เยอะ ถ้าผมเป็นกรรมการทศท. แล้วผมเล็งเห็นอยู่แล้วว่า ถ้าผมลดให้เอไอเอสแบบนี้ มันมีความเป็นไปได้ที่เป็นแบบนี้ แล้วในภาพรวมได้เยอะขึ้น แล้วทำไมผมจะไม่ลดล่ะ ผู้บริโภคก็ได้ใช้โทรศัพท์ถูกลงอีก มันไม่ดีตรงไหน มันไม่ดีตรงที่เดียวแหละ คือเอไอเอส ได้ประโยชน์ (หัวเราะ) คือเท่านี้แหละ แต่ผมถามว่าคุณจะทำยังไง ถ้างั้น คุณต้องแก้สัญญาเป็นว่า ทีโอทีได้ประโยชน์ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แล้วเอไอเอสขาดทุน อย่างนี้ใช่มั๊ยถึงจะเรียกว่าถูกต้อง แล้วก็ไม่เอื้อประโยชน์ แล้วมันจะทำได้ไหม

มันเป็นไปได้มั๊ยล่ะ เพราะถ้าเอไอเอส ขาดทุน ทศท.หรือทีโอทีก็จะไม่มีรายได้ทันทีครับ มันกระทบทีโอทีทันที เขาก็บอกว่า เอไอเอสยังไงก็ยังสามารถลดได้อยู่แล้ว ถึงแม้การสื่อสารจะลดให้กับดีแทค แต่ว่าถึงยังไง ดีแทค มีค่าแอคเซสชาร์ต ต้นทุนอาจจะสูงกว่า เอไอเอส อยู่แล้ว ไม่ต้องไปลดให้หรอก ถึงไม่ลด เอไอเอสก็ยังได้เปรียบดีแทค และยังสู้ราคากับดีแทคได้อยู่ดี

คำถามก็คือว่า ถ้าไม่ลดลงไป เราไม่รู้หรอกว่า เอไอเอส จะสามารถไปลดราคาให้กับผู้บริโภคได้จนถึงขนาดที่ทำไปแล้วหรือเปล่า ผมว่ามันเป็นเรื่องการบริหารสัญญาของทศท. ซึ่งถ้ามันมีเหตุมีผลอธิบายได้ มันก็โอเค ซึ่งผมก็ฟังว่ามันอธิบายได้ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นกรรมการ ทศท. ก็คงคิดถึงประโยชน์ขององค์กรที่จะได้รับจากส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอส และหาวิธีบริหารสัญญาที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ทศท.หรือทีโอทีได้ประโยชน์เหมือนกัน

เรื่องพรีเพด ผมอ่านในคำพิพากษาแล้วผมไม่เข้าใจตรรกะของผู้พิพากษาฝ่ายข้างมาก ที่ยอมรับว่า ทีโอทีได้ประโยชน์ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่เอไอเอสได้ประโยชน์ด้วย ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ คือประเด็นมีอยู่อย่างเดียว ถ้ามองว่าเขาเป็นพาร์ตเนอร์ชิพกัน เป็นคู่สัญญากัน เอไอเอสมีรายได้มา ทีโอทีได้ส่วนแบ่งมาก แล้วก็รัฐออกแบบให้ทีโอทีแข่งกับ กสท. จะไม่มีปัญหาเลย คือเอไอเอสเป็นฝ่ายเดียวกับทีโอที ซึ่งต้องแข่ง

การลดให้ ก็ลดให้เพื่อให้เอไอเอสแข่งได้มากขึ้น แย่งลูกค้าได้มากขึ้น มันเป็นแบบนี้ ก็ระบบมันออกแบบมาเป็นแบบนี้ แล้วจะให้ทำยังไง

นอกจากนี้ คล้ายๆ กับว่า ผู้บริหาร ทศท. ชี้ช่องให้เอไอเอส เพราะตอนแรกเอไอเอสเขาขอมาแก้สัญญา แล้วผู้บริหาร ทศท. ให้เอไอเอสไปทำอะไรสักอย่าง แล้วบอกว่า ถ้าขาดทุนจะลดให้

คือ อย่างนี้ผมบอกว่า เหตุที่เขาเป็นพาร์ตเนอร์ชิพกัน มันเป็นเรื่องที่เขาจะแนะนำ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่อย่างนั้นต่อไป ราชการหรือหน่วยงานของรัฐคงห้ามคุยกับเอกชน คือเริ่องนี้มีการถามว่าผมไม่รู้สึกอะไรเหรอ ผมก็บอกว่า ผมไม่ได้รู้สึกนะ เพราะเขาเป็นหุ้นส่วนในทางการค้ากัน

ถัดมาประเด็นโรมมิ่ง อาจารย์สมเกียรติบอกว่า ผมมองแบบเอไอเอส 100% คือ อธิบายว่า จริงๆ เรื่องโรมมิ่ง ต้องพูดจากหลักก่อนว่าเราจะยอมให้มีการทำโรมมิ่งมั๊ย โรมมิ่ง คือ การขอเข้าไปใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของรายอื่น

ในบ้านเราก็ประหลาด คือตอนที่มีการให้คลื่นโทรศัพท์ประกอบกิจการ ให้คลื่น 900 กับเอไอเอส คลื่น 1800 ให้กับดีแทคและทรูมูฟ ทีนี้ในช่วงระยะเวลาเร่งด่วน มีปริมาณการใช้โทรศัพท์เยอะ มันก็จะเกิดทราฟิกแจม คือ มันมาอัดกัน เพราะว่ามันเบียดกัน ทีนี้วิธีแก้ ทำได้ 2 อย่าง หนึ่งก็คือ คุณต้องปักเสาอะไรเพิ่มเติม เป็นเรื่องทางเทคนิก กับอีกอันคือ ก็ไปทำโรมมิ่ง ไปขอใช้โครงข่าย ของคลื่นในอีกย่านความถี่หนึ่ง

บังเอิญว่า มันมีบริษัทดีพีซี ที่ได้คลื่น 1800 ไปทำ แล้วเป็นบริษัทที่เอไอเอสถือหุ้นอยู่ เอไอเอสก็เลยไปขอใช้ เวลาที่มันมีปริมาณการโทรมาก ก็จะขยับไปใช้คลื่น 1800 ก็ทำให้การติดต่อสื่อสาร เป็นไปได้

ปัญหาก็คือว่า พอไปใช้คลื่น 1800 มีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ เอไอเอสก็ไปขอหักส่วนแบ่งรายได้ ที่จะต้องจ่ายให้กับองค์การโทรศัพท์เดิม หรือ ทีโอที เช่น สมมุติว่า เอไอเอส มีรายได้ 100 บาท แล้วปรากฏว่าเอาไปทำโรมมิ่งและจ่ายค่าโรมมิ่ง ให้กับ ดีพีซี 50 บาท เมื่อเอไอเอสมีรายได้จริง 50 ก็ควรจะต้องคิดส่วนแบ่งรายได้จาก 50 บาท ไม่ใช่ 100 บาท

ประเด็นก็คือว่า สมมุติไม่ยอมให้หักค่าโรมมิ่งออกและเอไอเอสต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 20 % เอไอเอสก็ต้องจ่าย 20 บาท จาก 100 บาท ทั้งๆที่มีรายได้จริงๆ 50 บาท

ในขณะเดียวกัน ดีพีซี ก็ต้องเอา 50 บาทอันเป็นรายได้ที่ตนได้จากการอนุญาตให้เอไอเอสมาทำโรมมิ่ง ไปจ่ายส่วนแบ่งให้กับกสท. อีก สมมุติจ่าย 18 % ก็คำนวณไป ก็เท่ากับว่ากรณีนี้ การเก็บรายได้มันเกิดการซ้ำซ้อน ก็คือรัฐ โดยสัญญาสัมปทาน ผ่านมาจากทางองค์การโทรศัพท์หรือทีโอที เก็บไปแล้วทีหนึ่ง แล้วในเงินก้อนนั้น รัฐโดยการสื่อสารหรือ กสท.โทรคมนาคม ยังเก็บอีกทีหนึ่งอีก ในเงินส่วนที่มันจ่ายไปแล้วอีก มันก็ซ้ำซ้อน

เพราะฉะนั้น วิธีการก็คือว่า ก็ต้องทำให้เขาหักออก มันก็จะทำไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจ่าย ว่า ถ้าเอไอเอสต้องไปจ่ายค่าโรมมิ่งกับดีพีซี ก็ให้เอาค่าโรมมิ่งตรงนั้นออกไปเสีย เพราะว่า ค่าโรมมิ่งนั้น ยังไงๆ เสีย ดีพีซี ต้องไปจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากเงินก้อนนั้นอยู่แล้ว เอไอเอสก็จ่ายส่วนแบ่งเฉพาะ รายได้ที่เกิดขึ้นจริงๆ หลังจากมีการหักค่าโรมมิ่ง ก็คือ 50 บาท ในแง่นี้ก็เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ถ้าเกิดไม่ยอมให้หัก ก็จะไม่มีใครทำโรมมิ่ง แล้วมันก็เป็นปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารที่มันทำไม่ได้

ทีนี้ก็มีคนบอกว่า ทำไมยอมให้ทำแบบนั้น คุณต้องบังคับให้เอไอเอสสร้างเสาสิ เป็นหน้าที่ที่คุณต้องทำโครงข่าย ประเด็นมันคืออย่างนี้ครับว่า การไปสร้างเสามันเป็นการลงทุน เป็นการใช้ทรัพยากร ทั้งที่ความจริงมีตัวคลื่นเหลืออยู่ใช้ได้ ทำไมไม่ให้เขาจอยกันแล้วใช้คลื่นกัน ให้เต็มประสิทธิภาพ

ทำไมต้องเอาเงินตรงนี้ไปลงทุน ไปปักเสาอีก ให้มันสิ้นเปลืองทรัพยากร โรมมิ่งคือการใช้ทรัพยากรให้มันคุ้มค่า คือมันจะประหลาดมาก แล้วไม่มีใครเขาทำกัน ไปบังคับให้ปักเสา ทั้งที่ใช้วิธีโรมมิ่งได้ แล้วก็ได้ประโยชน์กัน แล้วในบทวิเคราะห์ กลุ่มห้าอาจารย์บอกว่า ปักเสาจริงๆ ก็ไปกระทบสิ่งแวดล้อมอีก การยอมให้ทำโรมมิ่งและหักค่าโรมมิ่งได้มัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

อาจารย์สมเกียรติบอกว่าค่าสัมปทานที่เอไอเอส กับดีพีซีจ่ายไม่เท่ากัน เพราะว่า ค่าบริการพรีเพด ในดีพีซีจ่าย 18 % เอไอเอสจ่าย 20 % ฉะนั้น การอนุญาตให้เอไอเอส เอาค่าโรมมิ่งไปหักค่าใช้จ่ายได้ จึงทำให้เงินเข้ารัฐที่เป็นส่วนต่างหายไปอยู่ในกระเป่าเอไอเอส และดีพีซี ซึ่งจริงๆ คือกระเป๋าเดียวกัน

ประเด็นนี้ถูกครับ แต่ก่อนมาถึงประเด็นนี้ มันเป็นคำถามในทางหลักการว่า เรายอมให้ทำโรมมิ่งได้ไหม ถ้ายอมให้ทำโรมมิ่งได้ ประเด็นที่มันตามมา ที่มันต่างกัน 2% มันช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นกรณีสัญญาที่ ดีพีซีทำกับการสื่อสารไว้แบบนั้น แล้วเอไอเอสทำกับองค์การโทรศัพท์แบบนั้น

คือ ประเด็นนี้ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นที่แย้งหลักการแต่มันเป็นประเด็นที่มันจะเกิดขึ้น ถ้ามันจะหายไป 2% มันต้องหายไป 2% เพราะหลักการที่ถูกต้อง เรื่องความต่างร้อยละ 2 จึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเห็นผม

คือเราต้องถามก่อนว่า คุณยอมให้ทำโรมมิ่งได้หรือเปล่า ยอมให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้มั๊ย แล้วการหักค่าใช้จ่ายจากการโรมมิ่งมันถูกต้องหรือเปล่า ถ้าหลักการถูก ก็ไม่มีปัญหา

อีกอย่างคือ การบังคับให้มีอุปกรณ์สัญญาณเพิ่มขึ้น ไม่เป็นประโยชน์กับรัฐหรอก ถึงที่สุดมันอาจจะเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน

ต่อมาคือ ประเด็นเอ็กซิมแบงก์ ที่ว่ามีการเรื่องล็อกสเป็ก ไม่มีข้อเท็จจริงนี้ในคำพิพากษา ก็คงพูดไม่ได้ ว่ามันมีการล็อกสเป็กหรือไม่ แล้วเรื่องการตกลงทำสัญญากัน เรื่องความตกลงกันระหว่าง 2 ประเทศ คงพูดยาก

ถามว่า การขยายวงเงินกู้เอ็กซิมแบงก์เกิดขึ้นหลังจากที่คุณพานทองแท้และพนักงานของชินคอร์ปไปสาธิตในช่วงที่รัฐบาลไทยกับพม่าไปประชุมกัน เรื่องอย่างนี้ผม ไม่สงสัยอะไรเลยหรือ ประเด็นก็คือ แล้วมันยังไง เป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่ มีการสืบให้เห็นความเกี่ยวพันตรงนี้หรือเปล่า ผมไม่เห็นเลย คือ จริง ๆ คุณสุรเกียรติ (เสถียรไทย) เป็นคนพูดเป็นคนให้ปากคำเกี่ยวกับเรื่องการให้พม่ากู้เงิน แต่ก็ไม่เห็นมีประเด็นที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงแบบที่อาจารย์สมเกียรติสงสัย

ผมเรียนว่า การให้เงินช่วยเหลือพม่า เราต้องเข้าใจว่า การทำสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องผิดปกติระหว่างประเทศ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บางทีเราอาจจะ เสียประโยชน์ในเรื่องดอกเบี้ย แต่เราได้ประโยชน์เรื่องอื่น แล้วข้อเท็จจริงมีปรากฏ อยู่ในการให้ปากคำว่า เราได้ประโยชน์อะไรที่สำคัญจากพม่า

ทั้งเรื่อง การป้องกันการปราบปรามยาเสพติด การจัดระบบแรงงานต่างด้าว เรื่องปตท.สผ. ได้รับสัมปทานเรื่องแก๊สที่พม่า ประเด็นพวกนี้เป็นประเด็นที่เจรจาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ให้รัฐบาลได้มีโอกาสได้ตกลงทำ ถ้าไม่อย่างนั้น มันกลายเป็นสงสัยหมด แล้วทำอะไรไม่ได้

ผมแปลกใจมากว่า คำพิพากษาของศาล บอกว่า เรื่องได้สัมปทานท่อแก๊ส ไม่เกี่ยวกัน ผมบอกว่า เขาคุยกันเป็นสัญญาสุภาพบุรุษว่า คุณให้ผมกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ คุณได้ตรงนี้ตรงนั้น ผมจะจัดการระบบเรื่องแรงงานต่างด้าว ป้องกันปราบปรามยาเสพติดตามแนวชายแดน ถามว่านี่ไม่ใช่ประโยชน์ของรัฐหรือ มันเป็นประโยชน์ซึ่งไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ แต่อาจจะมากกว่าประโยชน์ที่คำนวณเป็นเงินได้ มากกว่าดอกเบี้ยเล็กๆน้อยมากนัก แล้วมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงนะ ไม่ใช่ว่า พูดมาลอยๆ

มีประเด็นอันหนึ่งที่ผมอธิบาย บางคนอาจมองว่าเป็นพิรุธแต่ผมมองว่าไม่ใช่ เพราะมันมีการซื้อสินค้าจากไทยคม ในที่สุดพม่าก็บอกให้เอ็กซิมแบงก์จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวไปที่ไทยคมโดยตรง

ถามว่าเป็นพิรุธมั๊ย ผมเห็นพ้องกับท่านผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยว่าไม่เป็นพิรุธ ถามว่าทำไมต้องให้ธนาคารโอนเงินไปที่พม่า แล้วให้พม่าโอนกลับมาที่ไทยคม ให้เสียค่าธรรมเนียมการโอนทำไม แล้วมันก็มีปัญหาความเสี่ยงด้วยว่า พม่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ไม่รู้ อันนี้ เป็นเรื่องการค้าที่การตกลงกันเป็นปกติ พูดง่ายๆ คือ ผมไม่เห็นด้วยเลยว่ามันมีความผิดตรงไหน แล้วเอ็กซิมแบงก์เขาก็บอกว่าเขาไม่เสียหาย

ส่วนที่บอกว่า ทำไมพม่าใช้อินเตอร์เน็ตน้อยแล้วอยากได้ของไฮเทค อยากได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม คือเราไปคิดแทนเขาไม่ได้ มันก็เป็นข้อสงสัย แต่เราไปพูดแทนเขาไม่ได้

ส่วนเรื่องคำเบิกความของคุณสุรเกียรติ ผมดูอยู่ ถามว่าผมไม่สนใจเหรอ ก็ได้ความว่า มันไม่มีตรงไหนบอกว่ามันเป็นการตกลงกัน เพื่อล็อกให้มาซื้อสินค้าจากไทยคม มันเป็นการพูดถึงการให้กู้ว่ากู้เท่าไหร่

อาจารย์สมเกียรติบอกว่า สมัยคุณทักษิณ มีอำนาจเยอะมาก คุมรัฐมนตรี ไม่เห็นหรือ ผมเรียนว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ จะลงโทษคนโดยการยึดทรัพย์ ต้องปรากฏ และอันนี้เป็นองค์ประกอบในกฎหมายปปช.เลย ว่ามันต้องได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร หรือมีทรัพย์สินเพิ่มมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หมายถึงว่า มันก็มีการกระทำของคุณทักษิณ คือคุณทักษิณต้องกระทำการในความหมายทางกฎหมาย การกระทำของคุณทักษิณนั้น มันไปทำให้ตัวคุณทักษิณเอง ได้ประโยชน์ หรือได้ทรัพย์สินมาจากการกระทำที่ไม่สมควรอันนั้น

คำถามก็คือว่า แล้วมีการกระทำอะไรบ้างที่เป็นการกระทำของคุณทักษิณในคดีนี้ ไม่เห็นมีเลยครับ การออกพระราชกำหนดเป็นการทำของคณะรัฐมนตรี และในเวลาต่อมาเมื่อผ่านสภาแล้ว เป็นการทำรัฐสภา และเป็นการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าชอบ ไม่ใช่การกระทำของคุณทักษิณ

 

ถ้าจะบอกว่า อันนี้เป็นการกระทำของคุณทักษิณ ในทางกฏหมายก็ต้องพิสูจน์ว่าคุณทักษิณนั้นครอบหรือสั่ง องค์กรเหล่านี้ ยังไง ทีนี้อาจารย์สมเกียรติบอกว่า สมัยนั้นรัฐมนตรีกลัวคุณทักษิณ ไม่ทำตาม เดี๋ยวปลด คือ อย่างนี้เป็นความสงสัยได้ในทางการเมือง แต่นี่เรากำลังพูดถึงในทางกฎหมาย (นะ) มันไม่พอ อย่างน้อยคุณต้องมีพยานมาให้ปากคำ อย่างเรื่องพรีเพด ต้องมีกรรมการ ทศท.มายืนยันสิว่ามีอิทธิพล มีการสั่งการยังไง แต่มันไม่ปรากฏในสำนวน ในความเป็นจริงอาจจะมีหรือไม่มีไม่รู้ แต่ว่าในสำนวนมันไม่มี แล้วในหลายเรื่อง พยานก็ปฏิเสธด้วยว่าไม่มีการสั่งการ

แต่แน่นอนว่า การสั่งการหรือไม่มีการสั่งการ มันมองยาก ผมถึงบอกว่าถ้าจะมองประเด็นว่า ที่ทำๆ มันมีเหตุผลอธิบายได้ มันก็พอแล้ว ซึ่งทั้ง 5 เรื่องมันอธิบายได้ อย่างน้อยในทัศนะของผม ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ได้เสียอะไรด้วย ก็เห็นว่าอธิบายได้ แต่เอาล่ะ ถ้ามองว่าไม่มีเหตุผลอธิบายได้ จะต้องพรูฟต่อไปด้วยว่าเป็นการกระทำของเขา หรือเปล่า ซึ่งพรูฟได้มั๊ยล่ะ เราต้องพูดกันทางกฎหมายสิครับ นี่เป็นคดีขึ้นศาลนะ ไม่ใช่การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร

คือ ถ้าไม่อยากนั้น ทักษิณ จะกลายเป็นแก๊สโซฮอล์ อย่างที่มีการพูดกัน คือ เป็นทักษิณปุ๊ป ผิดเลย คือ ไม่ต้องรู้ว่าตกลง เขากระทำหรือไม่กระทำอะไร หรือคุณทักษิณ เป็นองอธิปัตย์ มีอำนาจล้นฟ้า คือ ต้องคิดแบบนั้นถึงจะเอาผิดได้ ซึ่งผมว่า ไม่ถึงขนาดนั้น (มั้ง) โอเค ผมก็ผ่านสมัยยุครัฐบาลทักษิณมา ผมเห็นด้วยว่าหลายส่วนก็มีอำนาจเยอะมาก แต่คงไม่ถึงขนาดสั่งทุกๆ อย่างได้ แล้วถ้ามันมีการทำอย่างนั้นจริงมันต้องปรากฏ แต่นี่เรากำลังพูดถึงเกณฑ์ทางกฎหมายที่จะเอาโทษเขา

@ อีกฝ่ายบอกว่าอาจารย์รับข้อมูลมาจาก เอไอเอส

ไม่ใช่ครับ ผมตอบได้เลยว่าไม่ใช่ นี่ก็เป็นวิธีทำลายหรือลดน้ำหนักเรื่องที่ผมพูดอีกวิธีหนึ่ง ง่ายดี ผมเล่าให้ฟังว่า มีคนสงสัยว่าทำไมผมรู้เรื่องกฎหมายโทรคมนาคมดี ไม่เคยเห็นผมพูดเรื่องนี้มาก่อนเลย (หัวเราะ)

เรียนว่า ปลายปีที่แล้ว ผมกลับมาจากเยอรมัน มีการเถียงกันเรื่องอำนาจของ กทช. ในการออกใบอนุญาต 3 จี แล้วผมก็มีเพื่อนอยู่ที่ กทช. เขาก็ไม่มีนักกฏหมายมหาชนพูดเรื่องนี้เลย ไม่เห็นมีใครสนใจว่าเรื่องนี้เป็นยังไง ก็บอกให้ผมศึกษาและให้ความเห็นหน่อย อยากรู้ว่าผมมีความเห็นยังไง

ผมก็ศึกษา ต่อมาทางเนชั่นก็เชิญไปร่วมวงเสวนากับผู้บริหาร 3 ค่าย มี กทช. ท่านหนึ่ง และมีอาจารย์เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งไปร่วมด้วย ช่วงเวลานั้นแหละที่ผมเข้าไปศึกษา จริงๆ ก่อนหน้านั้น ผมก็เคยศึกษากฎหมายโทรคมนาคมอยู่บ้างแต่ก็ไม่ต่อเนื่อง เพราะมีงานยุ่งเรื่องอื่น แต่พอมีกรณีนี้ผมก็กลับมาศึกษามากขึ้น

ในเดือนถัดมา มันก็เป็นประเด็นต่อเนื่อง พอเห็นผมพูดที่เนชั่นก็เข้าท่าเข้าทางดี กทช.ก็เลยขอให้คณะนิติศาสตร์จัดเสวนาเรื่อง 3 จี ทำให้ผมต้องดูภาพรวมทั้งหมด แล้วผมบอกได้ว่า ส่วนหนึ่งผมได้ข้อมูลจากเพื่อนผมที่กทช. อีกส่วนหนึ่งจากเพื่อนผมซึ่งอยู่ในวงการโทรคมนาคม เป็นเพื่อนคบกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาก็ให้ข้อมูลต่างๆ เอไอเอสเขาไม่เคยยุ่งกับผมเลย มีแต่หลังออกบทวิเคราะห์ไปแล้ว ที่มีเจ้าหน้าที่จากเอไอเอสท่านหนึ่งมาขอบทวิเคราะห์ ซึ่งผมก็ให้ไป เพราะเป็นของสาธารณะแล้ว ก็แค่นั้น แล้วผมก็รีเช็คข้อมูลครับ ไม่ได้ฟังคนเดียวแล้วผมเชื่อ แล้วก็ดูข้อกฏหมาย เอาสัญญามานั่งอ่านด้วย

 

มีคนบอกว่า ทำทำไม ทำแล้วได้อะไรหรือเปล่า คือผมไม่ได้อะไรสักสตางค์แดงเดียว ต้องนอนดึก ต้องถูกคนที่ชังคุณทักษิณด่าว่า แต่ที่ทำเพราะว่าผมมีความเห็นต่างจากศาลในคดีนี้ แล้วก็มีคนพูดให้ผมฟังหลายคนว่า ในเรื่องโทรคมนาคมมันมีความเข้าใจผิดกันในหลายเรื่อง แต่ผมก็คงไม่อ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นคนศึกษา เป็นนักกฏหมายที่พอรู้เรื่องนี้อยู่

คือในรายละเอียดทางเทคนิคโทรคมนาคมที่ยุ่งยาก หรือเรื่องดาวเทียมที่ยุ่งยาก ผมก็คงไม่รู้หรอก แต่ในประเด็นทางกฎหมาย ผมศึกษาแล้ว เข้าใจพอสมควร คิดว่าอธิบายได้

อีกประเด็นหนึ่งเรื่องความเชื่อ ที่อาจารย์สมเกียรติอาจจะเข้าใจประเด็นนี้ผิด ซึ่งอาจเป็นความผิดของผมเองที่พูดไม่ชัดเจน คือ ผมกำลังจะบอกว่า จะตัดสินเรื่องใดสักเรื่องหนึ่ง เราต้องให้มันอยู่ในบรรยากาศที่ ให้ศาลได้ทำงาน ได้ตัดสิน สังคมไม่ควรไปตัดสินไว้ล่วงหน้าก่อน คือสังคมใช้ความเชื่อของตนเองตัดสินไปแล้วก่อนศาลตัดสิน

ถ้ามองดูย้อนบรรยากาศกลับไปก่อนคดียึดทรัพย์ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย คือมีการพูดแทบจะข้างเดียวในสื่อกระแสหลัก มีการเขียนบทความต่างๆ ซึ่งบางส่วนออกมาในช่วงที่ศาลกำลังจะตัดสินคดีด้วย บางส่วนก็ออกมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร จำได้ไหมมีอยู่ช่วงหนึ่ง มีรายการทีวี ให้ คตส. ออกมาพูดข้างเดียว

ผมต่างหาก ไม่เคยพูดอะไรในช่วงเวลาก่อนศาลตัดสินในคดีเหล่านี้เลย เพราะผมคิดว่า ถ้าอยากให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน ก็ปล่อยให้ศาลท่านทำงาน เป็นคติของผมว่าโดยหลักแล้ว ผมจะไม่พูดอะไร ก่อนที่จะมีคำพิพากษาออกมา ช่วงก่อนศาลตัดสินก็มีสื่อบางฉบับขอสัมภาษณ์ ผมก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ แม้ศาลตัดสินแล้ว แต่ผมยังไม่ได้ศึกษาคำพิพากษาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ เพราะเรื่องนี้ซับซ้อน ต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจ แล้วเมื่อจะต้องให้ความเห็น ก็จะเห็นว่าผมและเพื่อนก็เขียนบทวิเคราะห์อย่างเปิดเผยแสดงต่อสาธารณะ แต่ถามว่าสังคมนี้ได้ปล่อยให้ระบบมันได้ทำงานแบบนั้นมั๊ย

 

บางท่านที่เป็นนักวิชาการชี้ไปแล้ว ปลุกปั่นไปแล้ว และทำให้สังคมเชื่อไปแล้ว แล้วก็ไม่แยกแยะเรื่องด้วย บางคนก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องราวอย่างจริงจัง คิดเอง รู้สึกเอง อนุมานเอง แล้วนำสังคมไป นี่คือ ความเชื่อที่ผมบอก คือเชื่อไปแล้วว่าผิด พอเชื่อไปแล้ว ก็ไม่ต้องดูแล้วว่าเหตุและผลเป็นยังไง ผมเรียนว่า คุณทักษิณจะกระทำการอย่างอื่นใด เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองหรือเปล่าผมไม่ทราบ ผมไปตัดสินไม่ได้

แต่เท่าที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา 5 กรณีที่ คตส. กล่าวหา ในทางกฎหมาย ผมเห็นว่าไม่มี อื่นๆ ที่ไม่อยู่ในคำพิพากษานี้ ผมไม่ทราบ ไม่ยืนยัน แล้วที่ทำตรงนี้มา ไม่ได้แย้งอะไรให้กับคุณทักษิณเลย ผมและเพื่อนๆในกลุ่มห้าอาจารย์แค่วิจารณ์ วิเคราะห์ คำพิพากษาของศาล ซึ่งผมถือว่าเป็นภารกิจสำคัญอันหนึ่งของนักนิติศาสตร์ แต่ถ้ามันจะเป็นประโยชน์กับคุณทักษิณบ้าง นั่นก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่จำเป็นที่ผมจะต้องหลีกเลี่ยง เพราะถ้าหลีกเลี่ยงก็ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร

ฉะนั้น เวลาพูดถึงเรื่องความเชื่อ ผมหมายถึงความเชื่อในเซ้นส์นี้ครับ ตอนนี้เราอาจจะรู้สึกว่ามันดีสิ เพราะยึดทรัพย์ได้ แต่ผมถามว่า คุณค่าของสังคมระยะยาว มันเป็นยังไง อันนี้ไม่ได้พูดเกี่ยวอะไรกับศาลนะ แต่พูดถึงสภาพสังคม

มีคนออกมาบอก ก่อนวันตัดสินคดีว่า จะมีผู้พิพากษา 4 คน ตัดสินยกคำร้อง มีการให้สินบนหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมถามว่าสังคมปล่อยให้เป็นอย่างนี้ได้ยังไง ถ้าผมเป็นผู้พิพากษาในคดี แล้วผมเห็นโดยมโนธรรมสำนึกของผม โดยหลักวิชาชีพของผม ว่า 5 กรณีนี้ มันไม่ผิด ผมจะกล้ามั๊ย ถ้าเกิดว่า มันมีการพูดออกมาอย่างนี้แล้ว ทำไมเราปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ นี่คือการกดดันศาลอย่างน่าละอายที่สุด

ฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์สมเกียรติ หรือคุณประสงค์ (เลิศรัตนวิสุทธิ์) โต้แย้งผม ในเนื้อหา เป็นการโต้แย้งกันด้วยเหตุผล ด้วยสติปัญญา ซึ่งเห็นไม่ตรงกันก็มานั่งเถียงกันแบบนี้แหละ แล้วก็ไม่ได้โกรธอะไรกัน

บางทีก็อาจจะแรงในการเขียนหรือการสัมภาษณ์ ซึ่งพอเข้าใจได้ แต่เถียงกันในทางเนื้อหา มันดีกว่ามาป้ายว่าผมเป็นพวกคุณทักษิณ อย่างนี้ผมรู้สึกว่าไม่ได้ใช้สติปัญญาอะไรเลย ก็ว่าไปเถอะ ผมไม่ใส่ใจเลย แต่ถ้าอธิบายกันในทางเนื้อหาอย่างนี้ ผมชอบ(ครับ) เพราะเราได้คิด ได้เห็นความเห็นเราว่าตรงไหนยังอ่อน ตรงไหนความเห็นเขาดี เขาถูก ตรงไหนเราคิดว่าเราดีกว่า

ถ้าสังคมเถียงกันอย่างนี้ได้ ผมไม่เคยกลัวเลย ถ้าเหตุผลผมผิด ผมก็ยอมรับว่าผมผิด แต่ถ้าเราคิดมาดีแล้วว่ามีเหตุมีผล ก็ต้องเคารพตัวเอง และต้องกล้าที่จะยืนยันสิ่งที่ตัวเองคิดโดยสัตย์ซื่อกับจรรยาบรรณในวิชาชีพของตัว ก่อนที่ผมจะออกบทวิเคราะห์หรือแถลงการณ์ผมและเพื่อนๆไตร่ตรองละเอียดพอสมควร อันนี้ไม่ใช่ว่าผมถูกอยู่คนเดียวนะ ผมยอมรับได้เลยว่าไม่ได้คิดแบบนั้น ใครจะหักล้างก็ได้ได้ แต่ต้องมีเหตุผล

แล้วจริงๆ ผมชื่นชมอาจารย์สมเกียรติ ที่ท่านศึกษากฎหมายด้วยตัวเอง แต่ถ้าท่านมีเวลาศึกษากฎหมายในระบบก็จะดี เพราะเรื่องบางเรื่องมันไม่ง่ายเหมือนที่คิด ประเด็นเรื่องการตีความกฎหมาย หรือการทำความเข้าใจเรื่องวัตถุประสงค์กฎหมาย อย่างที่ผมบอก ไปอ่านจากหมายเหตุท้ายกฎหมายไม่ได้ มันมีหลักการตีความกฎหมายว่าจะต้องดูอะไรบ้าง เพื่อให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ตัวกฎหมาย ส่วนในเรื่องของการคำนวณความเสียหายนั้น ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นจริง นักกฎหมายและผู้พิพากษาย่อมสามารถคำนวณได้อยู่แล้ว วงการกฎหมายคงไม่ถึงขนาดแห้งแล้งสติปัญญาในเรื่องนี้ แต่ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่ามันมีความเสียหายจริงหรือไม่ต่างหาก

ผมว่า เราคิดต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นมิตรกันไม่ได้ ( ครับ ) ยังคุยหัวเราะกันได้ แต่หลักวิชาที่ถูกต้องก็จะต้องรักษาไว้ นี่ขอพูดถึงคุณประสงค์ด้วยครับ คุณประสงค์ให้เกียรติผม ในการเขียนบทความ แล้วผมก็ให้เกียรติคุณประสงค์ เขียนตอบประเด็นที่ค้างคาใจ ถ้าเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าไม่ควรตอบ หรือไม่มีสาระพอที่จะตอบ ผมจะไม่เขียนเลย หรืออย่างของอาจารย์สมเกียรติ ผมให้เกียรติท่าน และท่านก็ให้เกียรติผม ที่ออกมาวิพากษ์กัน ที่เหลือเป็นสิ่งที่คนอ่านจะต้องตรึกตรองเอาเองว่าใครถูกผิดอย่างไร

ประชาชาติธุรกิจ, 11 สิงหาคม 2553

สนทนาพิเศษกับ “ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์”

29 September 2008 1 comment

สนทนาพิเศษกับ “ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์”

ไปเจอบทสัมภาษณ์นี้ในประชาชาติธุรกิจมา
คิดว่าหลายๆเรื่องที่เกิดในสังคมไทยระยะหลัง เป็นอะไรที่ไม่ได้ถูกต้องตามหลักการอะไรนัก
แต่ก็ขี้เกียจเกินกว่าจะมานั่งเขียนคำอธิบายสวยๆ
โชคดีที่บทความนี้ ตอบโจทย์บางอย่างได้
คุ้มค่าแก่เวลาที่เสียไปในการอ่าน


ชำแหละการเมืองใหม่ สิ่งตกค้างจากปี 2475 “ผมว่า (มัน) ไร้สาระมากเกินไป”

ชั่วโมงนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองใหม่ฉบับ 5 แกนนำพันธมิตรฯอย่างกว้างขวาง แน่นอน…ข้อวิพากษ์การเมืองใหม่มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นักวิชาการศิษย์เก่า สนช.ทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ประสานเสียงการเมืองใหม่อย่างรู้งาน

ส่วนผู้ที่ยึดหลักการประชาธิปไตย (จริงๆ) หลายๆ คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและในศาลยุติธรรมและศาลปกครองบ่นว่า ข้อเสนอของฝูงชนหน้าทำเนียบรัฐบาล “โคตรมั่ว”

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษกับ “ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน บนชั้น 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่การเมืองไร้ทางออก ขัดแย้งแบ่งขั้ว ขนาดที่หน้าห้องอาจารย์สอนกฎหมายคนหนึ่งติดโลโก้ “กู้ชาติ”

ด็อกเตอร์ทางกฎหมายจากเยอรมนี หอบตำรากฎหมายและคำพิพากษาคดีสำคัญมากองไว้ตรงหน้าแล้วพูดว่า “ผมพร้อมแล้ว”นักข่าวประชาชาติฯจึงกดเทปโดยพลัน

นี่คือบทวิพากษ์ที่ดุเด็ดเผ็ดร้อนอีกครั้ง…หลังจากอาจารย์วรเจตน์ปิดปากไม่พูดเรื่องการเมืองมา 3-4 เดือน

วันนี้เขาพร้อมที่จะเปิดศึกทางความคิดแล้ว

– ถึงชั่วโมงนี้อาจารย์มองเห็นทางออกความขัดแย้งในสังคมไทยหรือยัง

ผมยังมองไม่เห็นทางออก (ครับ) เพราะตอนนี้สังคมไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล และผมเข้าใจว่าตอนนี้กลุ่มคู่ขัดแย้งกันทางการเมืองถือเหตุผลคนละชุด หลักการคนละเรื่อง ต่างฝ่ายต่างก็อ้างอิงว่าหลักการฝ่ายตัวเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็เลยอาจจะยาก แล้วผมก็ไม่คิดว่าจะมีการสมานฉันท์เกิดขึ้นได้

จริงๆ เรื่องสมานฉันท์อาจไม่ใช่สิ่งถูกเท่าไร เพราะว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้วในระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นความขัดแย้งระดับรากฐาน ในทางความคิดเลยทีเดียว เมื่อฐานความคิดมองกันคนละมุม ให้น้ำหนักกับปัญหาคนละอย่าง มันจึงไม่มีทางที่จะทำให้ลงตัวได้หรือเกิดการสู้กันอย่างสมดุลในระบบได้

– การเปิดประตูไปสู่การปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าในบรรยากาศอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ ฝ่ายซึ่งไม่ได้อำนาจรัฐยื่นข้อเสนอที่ค่อนข้างแข็งและตึงมาก เป็นข้อเสนอที่การเปลี่ยนระบอบการปกครอง ข้อเสนอ 70 : 30 เป็นข้อเสนอที่ตึงมาก ก็จะหาจุดไม่ได้ เพราะอีกทางหนึ่งก็จะไม่ยอมถอย เป็นผม ผมก็ไม่ถอย นี่พูดตรงๆ (นะ) เพราะมันไปไกลจากระบบ

– นักวิชาการบางคนเห็นว่า ระบบเลือกตั้งในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและวิกฤต

ผมไม่แน่ใจสมมติฐานของบ้านเรา คือ…ถ้ามองในเชิงพัฒนาการทางประชาธิปไตยบ้านเรา ผมคิดว่าเรายังมีปัญหาในทางหลักการอยู่สูงมาก จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็ไม่ได้คิดประเด็นนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาผมนั่งคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นว่า สมมติฐานของบ้านเราหรือความเข้าใจของเราที่ว่า ปัญหาในทางประชาธิปไตยของเราอยู่ที่นักการเมืองเป็นหลักมันจริงหรือเปล่า… นี่คือประเด็น

เพราะส่วนใหญ่เวลาเราคิดถึงปัญหาในทางประชาธิปไตย เรามักจะโฟกัสไปที่นักการเมืองเป็นสำคัญ เมื่อปัญหาอย่างนี้เราก็พยายามไปแก้ที่ตัวนักการเมือง พยายามสร้างระบบขึ้นมาใหม่ สร้างองค์กรอิสระขึ้นมาโดยเอาคนที่เป็นข้าราชการระดับสูงเข้าไป

อยู่ในองค์กรเหล่านั้น แล้วก็กลายเป็นการสร้างอำนาจขึ้นมาใหม่เพื่อพยายามมาคานนักการเมือง คือไปเพิ่มอำนาจอีกทางหนึ่ง แล้วมันเพิ่มเป็นจำนวนมากในเวลานี้ กระทั่งอำนาจอย่างนี้กลายเป็นอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้อีกแล้ว เป็นอำนาจซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะดีกว่าอำนาจของนักการเมืองหรือเปล่า

ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงการเมืองวันนี้ เราเคยพูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง เรื่องการมี “statesman” (รัฐบุรุษ) ผมคิดว่า มันเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราเพ้อฝันมาก เกินไปแล้วผมไม่คิดเรามองปัญหาการเมืองครบกันทุกด้าน เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของกลุ่มคนทุกกลุ่ม

ถ้าเรามองว่าการเมืองเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มคนทุกกลุ่ม นักการเมืองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง อาจจะใหญ่หน่อย อาจจะมีปัญหาหน่อย แต่ว่าเราเคยวิเคราะห์กันจริงๆ มั้ยถึงรากของสังคมไทยเราว่าที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไรกันแน่ เป็นเพราะนักการเมืองอย่างเดียวหรือเปล่า

ความไม่มั่นคงทางการเมือง เป็นเพราะนักการเมืองอย่างเดียวหรือเปล่า หรือมีปัจจัยอื่นๆ อีก ซึ่งเราไม่ได้พูดกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้การออกแบบทางการเมืองเราเป็นปัญหาตลอดเวลาเราหนีจากนักการเมืองไปหาองค์กรอิสระ บัดนี้เราเกิดปัญหาใหม่ในองค์กรอิสระ เราเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายข้าราชการประจำ เพิ่มอำนาจให้กับตุลาการ บัดนี้เริ่มเกิดปัญหาบางอย่างแล้วในวงการตุลาการ

ซึ่งผมคิดว่า แน่นอน…เรื่องของนักการเมืองที่ชี้กันให้เห็นมาตลอด เราปฏิเสธการมีอยู่จริงของปัญหานี้ไม่ได้ แต่ปัญหาอย่างนี้ผมยังเชื่อว่าสามารถที่จะแก้ไขไปได้โดยระบบ แน่นอน…การวางกลไกเป็นสิ่งซึ่งจะต้องทำ แต่ถ้าเราคิดว่าปัญหาทุกอย่าง อยู่ที่นักการเมือง แล้วทุ่มทุกอย่างไปจัดการกับนักการเมือง แล้วก็สร้างหลักการแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา ทำผิดคนเดียว ยุบทั้งพรรค แบบเนี่ย…ก็จะไปกันใหญ่ ก็จะยิ่งหาทาง ออกไม่เจอ

เราทำรัฐธรรมนูญซึ่งมีปัญหาในทางหลักการขึ้นมาอย่างมาก บัดนี้เรามาบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ ถ้าแก้จะเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมือง เราวนอยู่ในวงจร ปัญหาแบบนี้ละครับ แล้วจะหาทางออกยังไง ผมแปลกใจมากที่มีคนบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ แล้วพอผมบอกว่าต้องแก้ ผมก็กลายเป็นกลุ่มพรรคพลังประชาชน ทั้งที่จริงๆ ในเชิงหลักการมันเป็นไปไม่ได้ในระบบแบบนี้

– อาจารย์เห็นว่า หลักการบ้านเรา มันเพี้ยนไปหมดแล้ว

ใช่ (ครับ) ผมเห็นเป็นอย่างนั้นในหลายเรื่อง แล้วเวลาเราพูด เราไม่พูดถึงมาตรฐานอันเดียวกัน เรากลายเป็นทวิมาตรฐาน เป็น 2 มาตรฐานไปในหลายๆ เรื่อง เราเพียงแต่ว่าชอบหรือไม่ชอบคนใดคนหนึ่งหรือคนบางคนเท่านั้นเอง

– หลักการที่เพี้ยน อาจจะสะท้อน จากคำวินิจฉัยของศาลในช่วงหลังด้วยหรือเปล่า

ผมคิดว่าคำวินิจฉัยของศาลในช่วง หลังก็มีปัญหาหลายเรื่อง แล้วบางเรื่อง ก็อธิบายในเกณฑ์มาตรฐานเดียวกันไม่ได้ วันนี้ สังคมไทยชอบพูดเรื่องจริยธรรมคุณธรรมเป็นหลัก เราพยายามเอาคุณธรรม และจริยธรรมเข้ามาเป็นเกณฑ์หรือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ในนามของกฎหมาย

เหมือนเราลืมกันไปว่า บรรทัดฐานในทางสังคมที่ควบคุมความประพฤติของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นศีลธรรมก็ดี จริยธรรมก็ดี คุณธรรมก็ดี หรือจารีตธรรมเนียมก็ดีกับเป็นกฎหมายนั้น มีเกณฑ์ในการตรวจวัดความประพฤติที่มีความแตกต่างกันอยู่

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเราเรียกร้องความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายอันนี้เป็นหลัก แต่ว่ากฎหมายไม่ดูหน้าคนว่าคนที่มาอยู่เบื้องหน้ากฎหมายเป็นใคร ปฏิบัติต่อคนเสมอกัน นี่คือคุณค่าของทางกฎหมาย แต่จริยธรรมหรือคุณธรรมอาจจะไม่ได้เน้นไปที่ตรงนี้ จริยธรรม คุณธรรม เน้นเรื่องคนดี คนไม่ดี คือไปตัดสินคนจากความดีความไม่ดีของคน ถ้าคุณเป็นคนดีอาจจะได้รับยกเว้นทำอะไรบางอย่างได้ ถ้าคุณเป็นคน ไม่ดีคุณก็อาจจะทำอะไร บางอย่างไม่ได้ ไปมองกันจากตรงนั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่า จริยธรรมหรือคุณธรรมนั้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่ว่าเวลาเราใช้กฎหมาย เราจะเอาตรงนั้นเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการวัดไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคตามมา

ยกตัวอย่างคดีคุณสมัคร (สุนทรเวช) เรื่องลูกจ้าง ผมว่าถ้าคุณวินิจฉัยนะครับว่า ลูกจ้างมีความหมายแบบนี้ คุณต้องใช้เกณฑ์นี้กับทุกคน (นะ) ไม่ใช่เฉพาะคุณสมัคร นี่คือหลักในทางกฎหมายครับ รวมทั้งกับตัวคนที่วินิจฉัยด้วย บางทีเราอาจจะต้องมานั่งคิดว่า ตอนที่เรานั่งวินิจฉัยคดี ก่อนที่เราจะไปชี้ว่าลูกจ้างหมายความว่ายังไง เราต้องถามตัวเราเองก่อนหรือเปล่าว่า ตกลงวินิจฉัยไปแล้ว แล้วเราเป็นลูกจ้างในความหมายรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ ทำไมคุณไม่ใช้เกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ทำไมเกณฑ์นี้ใช้กับคนอื่นได้ แต่ทำไมกับตัวเองถึงเป็นข้อยกเว้น นี่คือปัญหา และเรื่องที่น่าเศร้า คือมีคนพยายามออกมาอธิบายไปจากหลักการในทางกฎหมายที่ควรจะเป็น แล้วยังอ้างอธิบายกฎหมายอยู่ คุณอธิบายเรื่องเสรีภาพทางวิชาการซึ่งไม่เกี่ยวกัน มันคนละประเด็น คุณไม่เอาประเด็นต่อประเด็นมาว่ากันตรงๆ นี่คือปัญหาของการใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นในเวลานี้

– ดูเหมือนอาจารย์จะเห็นด้านลบของตุลาการภิวัตน์ค่อนข้างชัด

ผมเห็นว่าเรื่องตุลาการภิวัตน์ที่ถูกนำเสนอมาในช่วงที่มีการต่อสู้ทางการเมืองมันก็ผิดพลาด คือไปเอาสิ่งซึ่งเกินไปกว่าอำนาจอันเป็นปกติธรรมดาขององค์กรนี้มาใช้ ที่ผมพูดก็ด้วยความเป็นห่วงระบบศาล ระบบตุลาการ (ครับ) ว่าที่สุดเมื่อเข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเข้า คนก็จะมองว่าเป็นฝักเป็นฝ่ายในทางการเมือง

ผมถึงแปลกใจมากเลยว่า ในที่สุดเวลาศาลอ่านคำพิพากษาในคดีคุณหญิงพจมาน (ชินวัตร) ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลบอกว่า ศาลไม่เข้าข้างฝ่ายไหน (นะ) ศาลไม่พัวพันทางการเมือง ศาลต้องออกตัวก่อน (ครับ) แปลว่าเกิดอะไรขึ้นในเชิงระบบ แปลว่าศาลเองก็ต้องรู้แล้วใช่มั้ยว่าเริ่มมีปัญหาความเคลือบแคลงใจของคน

– เชื่อหรือไม่ว่านายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะเข้ามาแก้วิกฤตความขัดแย้งในสังคมได้

ผมจะไปบอกว่าแก้ได้หรือไม่ได้ ก็อาจจะฟันธงชัดเจนคงไม่ได้ แต่ผมเห็นว่าความ ขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ ลึกลงไปถึงรากฐานแล้วในทางความคิดของคน ความแตกแยกในสังคมมากเกินกว่าที่ นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งจะเข้ามาแก้ไขได้ คู่ของความขัดแย้งจะยังมีอยู่ต่อไป

ฉะนั้น การปะทะกันในทางความคิด ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ผมถึงบอกว่ารัฐธรรมนูญปี”50 ตั้งแต่ตอนที่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้วว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้จะนำประเทศไปสู่ทางตันข้างหน้าโดยตัวการออกแบบของมัน ผมถึงบอกให้ไม่รับรัฐธรรมนูญตั้งแต่คราวนั้น แล้วก็ไปทำ สร้างระบบที่ประสานกันได้ตั้งแต่คราวนั้น แต่บัดนี้เลยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ความแตกแยกก็ยังร้าวลึกลงไปในสังคม

– อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการเมืองใหม่ก็ได้รับการขานรับบางระดับ เช่นเดียวกับเสียงไม่เห็นด้วยก็มีไม่ใช่น้อย

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ปะทะกันครับ ไม่มีใครเขายอมคุณหรอก คนอีกครึ่งหนึ่ง อย่างน้อย (นะ) ผมคิดว่าเขาไม่ยอม หมายความว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯจะมีน้ำหนักและมีพลังมากถ้าคุณได้เสียง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศนี้ แต่ผมจะบอกว่า โดยข้อเสนอที่เสนอมานั้นไม่นำไปสู่อะไรเลย ผมเห็นข้อเสนอพันธมิตรฯแล้วผมก็หัวเราะ คุณเสนออะไรขึ้นมา 70 : 30 แล้วคุณบอกว่า คุณเสนอมาเป็นตุ๊กตา

ตัวคุณเองยังไม่ชัดกระจ่างในความคิดของคุณเลยว่า คุณต้องการอะไร คุณก็โยนขึ้นมา แล้วคุณก็ไม่มีทิศทางจะนำคนไปในทิศทางไหน ทิศทางของคุณมีอย่างเดียวคือ ขจัดศัตรูทางการเมืองของคุณเป็นหลัก ซึ่งบัดนี้ยังขจัดไม่ได้เพราะยังสืบต่อกันมา เพราะในระบบเลือกตั้งคนเขายังเลือกอยู่

ฉะนั้น คุณก็ต้องทำยังไง ให้ทำลายตัวระบบการเลือกตั้ง นี่พูดง่ายๆ ประเด็นอยู่ตรงนี้ แล้วผมเห็นว่าปัญหาประชาธิปไตยของไทยในเวลานี้ ผมสรุปก็ได้เลยนะว่า ไม่ได้อยู่ที่การซื้อเสียงเป็นปัญหาหลัก แต่อยู่ที่การไม่ยอมรับคะแนนเสียงของคนเป็น ด้านหลัก เราพยายามจะดึงกงล้อในทางประวัติศาสตร์ให้หมุนกลับไป ซึ่งมันหมุนกลับไปไม่ได้ มันต้องมีแต่หมุนไปข้างหน้า

– ทำไมอาจารย์ไม่ลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในเรื่องการเมืองใหม่ 70 : 30 เพื่อให้การศึกษากับคนในสังคม

จริงๆ ใครมาถามผมเรื่องนี้ ผมก็มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระมากเกินไป แต่เราก็ไม่รู้นะว่าข้อเสนอบางอย่างซึ่งไร้สาระกลับกลายเป็นสิ่งซึ่งคนเอามาพูดกันจนเป็นเรื่องเป็นราว ตอนเราเห็น สนช.ระบบสรรหา 100 เปอร์เซ็นต์ คุณเห็นมั้ยว่า สนช.เป็นอย่างไร ทำงานกันอย่างไร ไม่ครบองค์ประชุมกันกี่ฉบับ คุณเคยวิจารณ์กันบ้างมั้ย เคยติดตามดู สนช.ตอนออกกฎหมายหรือเปล่า

กฎหมายบางเรื่องผมก็ยอมรับว่าเป็นประโยชน์ (ครับ) แต่กฎหมายที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบางกลุ่ม บางหน่วยบางองค์กร มีกี่ฉบับ เราได้มีการตามไปวิเคราะห์ตรงนั้นบ้างมั้ย เพื่อจะดูคุณภาพของกรณีที่เรียกว่ามาจากการสรรหา

จริงๆ ข้อเสนอของพันธมิตรฯก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง (นะ) ข้อดีคือสะท้อนให้เห็นเลยว่า ปัญหาในทางประชาธิปไตยของเราที่ตกค้างมาตั้งแต่ปี 2475 ยังดำรงอยู่จนถึงวันนี้ 70 กว่าปีผ่านไปเราไม่ไปไหน น่าตกใจ อย่างน้อยในทางประชาธิปไตยเรายังไม่ไปไหนเลย เรายังไม่เห็นโทษของการทำรัฐประหารตัดตอนเพียงเพราะเรากลัวว่านักการเมืองจะมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล และจับกุมนักการเมืองไม่ได้ บางทีผมก็คิดว่า เอ๊ ! เราอาจจะกลัวอะไรมากไปมั้ย

แต่ในที่สุดก็ทำให้เราลดทอนคุณค่าของประชาธิปไตยลงไปเรื่อยๆ ทุกวัน จนเราก็รู้สึกว่าประชาธิปไตยนั้นไม่มีความหมายอะไรอีก เราไม่เคยปลูกฝังในทางความหมายเรื่องคะแนนเสียง ลงไปคุยกับ ชาวบ้านดูซิครับ คนขายลูกชิ้นปิ้ง คนขับแท็กซี่ คนขายก๋วยเตี๋ยว นักการภารโรงต่างๆ คนเหล่านี้เมื่อก่อนเขาก็ไปเลือกตั้งแบบแกนๆ แต่บัดนี้เขารู้สึกว่าเขาเลือกตั้งไปมีความหมาย (นะ) จะผิดจะถูกเรื่องหนึ่ง แต่ตรงนี้ไม่ใช่หรือครับที่เป็นความหมายสำคัญของประชาธิปไตย

…การต่อสู้ของพันธมิตรฯเป็นการทำร้ายคนอื่น ผมไม่ได้หมายถึงการทำร้ายโดยใช้กำลัง (นะ) แต่การใช้ความรุนแรงในทางวาจา คุณว่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณ จะเป็นประชาภิวัตน์ไปได้ยังไง คุณกลายเป็นสิ่งซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ของแกนนำว่า ถ้าพูดอะไรมาต้องเชื่อตามคุณ ถ้าคุณชี้ว่าคนนี้เลวก็ต้องเลว คุณกำลังสร้างความคิดอย่างหนึ่งที่ปรากฏในบทประพันธ์ของชาติ กอบจิตติ เรื่องคำพิพากษา

คุณกำลังทำให้คนในสังคมต้องเชื่อทุกอย่างที่คุณพูด และคุณก็ชี้ไปว่าไอ้ฟักมันเลว และนี่คือไอ้ฟัก ผมเริ่มรู้สึกว่ามันเกิดสภาพแบบนี้ขึ้นแล้ว เพราะว่าคุณลดทอนพลังเหตุผลลง คุณเหลือเฉพาะให้เป็นเหตุผลของคุณเท่านั้น

คุณไม่เคยคิดเลยว่าคนอื่นเขาก็มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองเหมือนกับคุณเหมือนกันนะ แต่อาจจะมีวิธีการคนละอย่างพูดง่ายๆ คุณใจไม่กว้าง แล้วคุณจะเป็นประชาภิวัตน์ได้ยังไง ไม่มีทางเป็นไปได้

– ในสถานการณ์อย่างนี้ อาจารย์ผิดหวังใครมากที่สุด

ในความเห็นผม (นะ) คือนักวิชาการกับสื่อเป็นกลุ่มที่ผมคิดว่าขาดความเป็นมืออาชีพ จริงๆ มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่มีความเป็นมืออาชีพสูง ก็มีคนอย่างนี้อยู่ในทุกวงการ แต่ผมไม่คิดว่าเขาเป็นข้างมากในวงการสื่อ แน่นอนสื่อมวลชนก็เหมือนกับกลุ่มคนอื่นๆ เหมือนกับนักวิชาการ คือมี ผลประโยชน์ของตัว

นักวิชาการก็มีผลประโยชน์ของตัว ผลประโยชน์อาจจะมาในหลายลักษณะหลายรูปแบบ ทั้งชื่อเสียง เงินทอง ตำแหน่ง สื่อก็มีผลประโยชน์ของเขาให้ตัวเองอยู่ได้ แน่นอนสื่อจำนวนหนึ่งอาจจะต้องการมีเสียงดัง เป็นคนชี้ทิศทาง มีอิทธิพลในทางความคิดต่อคนจำนวนมาก

แต่ไม่ว่าคุณจะมีผลประโยชน์อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณเข้าสู่วิชาชีพ คุณต้องมีความเป็นมืออาชีพ ความเป็นมืออาชีพของนักวิชาการก็คือ ในสาขาของตัวต้องพูดหรือ วิพากษ์วิจารณ์ไปตามหลักการที่ถูกต้องตามหลักวิชา ความรู้สึกในการมีอคตินั้น ซึ่งคุณแสดงออกไป คุณแสดงออกไปได้ แต่ว่าไม่ควรจะไปในนามของความเป็นวิชาการ

รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย (นะ) ที่คุณเข้าไปรับนับตำแหน่งหลังจากเป็น สนช.แล้ว บางส่วนก็กลายมาเป็น ส.ว.สรรหาอีก มันใช่ เหรอ มันถูกหรือไม่ ทำไมไม่มีการตั้งคำถามแบบนี้กัน การที่เราไปตรวจสอบแต่นักการเมืองอย่างเดียว โยนทุกอย่างให้กับนักการเมือง เราละเลยกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคม และที่สำคัญบางทีคนเหล่านี้อาจจะสวมเสื้อคลุมคุณธรรมออกมาให้เราเห็น แต่ภายใต้หลังเสื้อคลุมคุณธรรมนั้นซ่อนอะไรไว้บ้าง เราก็ไม่รู้ ประชาชนไม่เห็น

เพราะบัดนี้ถูกปิดเสียแล้ว โดยเสื้อคลุมคุณธรรม แต่นักการเมืองไม่มีเสื้อคลุมตรงนี้ เราก็เห็นแจ้งๆ เลย แล้วในทุกค่ายของทางการเมืองด้วย แต่ที่ผมกำลังจะบอกคือ เราทำแค่นี้ไม่ได้ สื่อมวลชนทำแค่นี้ไม่ได้ สื่อต้องกล้าที่จะทำ กล้าที่จะตรวจสอบให้เสมอหน้ากันด้วย ทุกวันนี้ไม่มีการตั้งคำถามจำนวนหนึ่ง เพราะคนพูดเป็นคนคนหนึ่ง คนบางคนอาจจะมีเกียรติประวัติที่ดีงามมาตลอดชีวิต แต่ไม่ได้เป็นเครื่องประกันครับว่า ในวันหนึ่งเขายังถูกต้องอยู่หรือไม่

– ทุกวันนี้เวลาพูดความจริง พูดเรื่อง หลักการ กลัวไหมว่าจะถูกด่า

ผมว่าวันนี้ผมมีภูมิต้านทานมากพอแล้วที่ผมไม่จำเป็นต้องกลัวแบบนั้น ผมคิดว่าเวลาก็ได้พิสูจน์ตัวผมในระดับหนึ่งแล้ว แล้วผมก็บอกให้ดูผมต่อไปเรื่อยๆ วันนี้คุณจะพูดอะไร จะใส่ความอะไร…เชิญครับ แต่ว่าความพยายามที่จะดิสเครดิตมันก็มีการทำกันอยู่เรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าผมจะไปสนใจเสียงแบบนั้น แล้วทำให้ไม่พูดอะไร คงทำไม่ได้ ถึงเวลาที่เราคิดว่าเราควรจะต้องพูดและต้องทำก็ต้องทำ ถึงเวลาที่เราต้องปะทะ พูดง่ายๆ คือต้องขัดแย้งกับใคร แม้อาจจะเป็นคนในทางส่วนตัวเราเคารพและนับถือก็ต้องปะทะ ก็ต้องแยกออกว่าทางส่วนตัวเป็น อันหนึ่ง แต่ในทางหลักการก็เป็นอีกอันหนึ่ง หลักการก็คือหลักการ หลักการไม่คำนึงถึงหน้าใคร

ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4040

“สมัคร” ไปไม่รอด !!! อารยะขัดขืนของพันธมิตรประหลาดๆ

11 September 2008 Leave a comment

“สมัคร” ไปไม่รอด !!! อารยะขัดขืนของพันธมิตรประหลาดๆ

สัมภาษณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4035

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ที่มีคนอ่านมากกว่า 1 ล้านคน ฟันธง (ฉับ) ว่า สมัครไปไม่รอด แน่ๆ

แต่ถึงกระนั้น อาจารย์นิธิก็เชื่อว่า สังคมไทยอยู่ในช่วงระยะปรับตัว ถึงแม้ไม่มีคนชื่อ “สมัคร สุนทรเวช” หรือ คนชื่อ “สนธิ ลิ้มทองกุล” วัฒนธรรมทางการเมืองไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ดี

“ประชาชาติธุรกิจ” นั่งสนทนากับอาจารย์นิธิในห้วงเวลาที่การเมืองไทยกำลังปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

– หลายคนเริ่มหวั่นวิตกแล้วว่า ถ้าพันธมิตรฯชนะจะน่ากลัวมาก

ก็น่ากลัว ผมเห็นด้วย ถ้าเผื่อว่าคนที่จะเอาสมัครออก จะเป็นกองทัพ เป็นศาล เป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าออกโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย เช่น ศาลสั่งจำคุก อันนี้ผมว่าจะไม่เกิดปฏิกิริยากับคนต่างจังหวัด รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่ถ้าสมมติว่าออกโดยการบังคับให้ออกแบบผิดกฎหมาย ผมว่าอันนี้ยุ่ง เพราะว่าคนต่างจังหวัดจะ ไม่ยอม

– หลายคนพูดถึงบทความอาจารย์ธงชัย (วินิจกุล) ว่า เมื่อเกลียดทักษิณก็อย่าทำอย่างทักษิณ และพันธมิตรฯก็ควรมอบตัวต่อศาล

จริง… ผมเห็นด้วย เพราะเป็นอารยะ ขัดขืนประหลาดๆ อารยะขัดขืนหมายความว่า คุณพร้อมที่จะรับโทษ เพราะการรับโทษทำให้ประเด็นคุณแข็งขึ้น เพราะกฎหมายหรือการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นธรรม ใครๆ ก็เห็นว่าไม่เป็นธรรม ยิ่งคุณโดนลงโทษ ยิ่งดีใหญ่เลย แต่นี่มันไม่ใช่ สิ่งที่คุณขัดขืน คนยังไม่เห็นว่าไม่เป็นธรรม

– แถลงการณ์จากหลายองคกร์ให้ยุติความขัดแย้ง ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไร แล้วเราจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกมั้ย

ทำแค่นี้ไม่พอก็จริง แต่ขณะเดียวกัน ผมกลับคิดว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมไทย เพราะเกิดความเห็นพ้องต้องกันทันทีหลังจากวันที่ปะทะกัน หรือวันที่ตำรวจเข้าไปลุยว่า เราต้องยุติความรุนแรง ผมว่าเป็นความเห็นร่วมกันที่ออกมาอย่าง ค่อนข้างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แล้วก็แรง

เพราะผมคิดว่า ในอนาคตข้างหน้า กว่าระบบการเมืองจะลงตัว ไม่ว่ากี่ปีก็แล้วแต่ เราจะเสี่ยงกับความรุนแรงเยอะมาก ฉะนั้นสิ่งเดียวที่สังคมทำได้เวลานี้คือ ต้องพยายามอย่าให้รุนแรง อย่าให้ นองเลือด

– บ้านเราจะกลายเป็นเหมือนฟิลิปปินส์หรือไม่ คือมีแต่ความขัดแย้ง ปะทะกัน ยืดเยื้อยาวนาน

ก็เป็นไปได้ (นะ) ในฟิลิปปินส์จริงๆ แล้ว มันแบ่งระหว่างกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนชั้นกลางกับคนชั้นกลางชัดเจนมาก ทั้งในฟิลิปปินส์หรือละตินอเมริกา มีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในละตินอเมริกาดีขึ้นในแง่ที่ว่า เริ่มมีการยอมรับว่าต้องใช้กติกาประชาธิปไตยในการตกลงความขัดแย้งมากขึ้น

– อาจารย์มองบทบาทสื่ออย่างไร ทำหน้าที่เป็นกลางพอหรือไม่

ไม่พอ…ผมว่าไม่พอ ขาดมากเลย จริงๆ แล้วผมว่ามีเรื่องที่สื่อจะเจาะ คือ ต้องเปิดทุกประเด็นออกมา เพื่อที่จะให้เราไม่ตกอยู่ในการที่จะต้องเลือกแค่ 2 ขั้ว ต่อมาคือ

ถ้าเลือก 2 ขั้ว ถามว่าคุณเจาะลึกพอมั้ย ผมว่าไม่พอ สื่อขยันพอที่จะไปถามว่าคนที่อยู่ใน นปก. ถูกจ้างมาเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายที่คุณรู้ว่าไม่ถูกจ้าง แต่มีเหตุอะไร ที่ทำให้ออกมานั่งที่ทำเนียบฯ

ทำไมถึงคิดว่าการจ้างอย่างเดียวเป็น ความชั่ว หรือความโง่ แล้วไปถาม (นะ) ผมเชื่อเลยว่า คนที่ร่วมอยู่ในพันธมิตรฯ miss inform คือถูกบอกผิดเยอะมาก ข่าวแต่ละวันตอนนี้คือ สมัครพูดยังไง พันธมิตรฯ หรือ ผบ.ทบ. พูดว่าอะไรก็จบ ไม่พอครับ เพราะทำให้สังคมไม่รู้อะไร ที่อยู่เบื้องหลังระหว่างสมัครกับพันธมิตรฯเยอะมาก

– ถ้าสมัครลาออก หรือยุบสภา การชุมนุมยึดทำเนียบควรจะยุติหรือไม่

ถ้าสมัครลาออก ผมคิดว่าเหตุผลในการจะอยู่ที่ทำเนียบฯ จะลดลงแยะเลย แล้วรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาอย่างี่เง่าเท่าสมัคร (นะ) ผมว่าลดได้ ถ้าคุณสมัครฉลาดกว่านี้ผมว่าลดไปตั้งนานแล้ว เพราะทุกครั้งที่กำลังจะลด สมัครก็ไปทำอะไรบางอย่างให้คนเพิ่มเข้ามาอีก

– อาจารย์มองจุดยืนประชาธิปัตย์ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างไรบ้าง

ถ้าจะมีการเลือกตั้งในภายหน้า ความได้เปรียบที่จะทำให้ล้มรัฐบาลได้ แล้วรวบรวมพรรคพวกขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ ทำอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันผมว่ายังมีมิติการเมืองอื่นๆ ที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้สนใจเลย ก็เลยทำให้กลายเป็นเกมการแย่งอำนาจธรรมดาๆ

ส่วนพรรคร่วม ผมคิดว่าเขาไม่มีทางเลือก เพราะเป็นพรรคเล็กทั้งนั้นคือ เลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าหลายพรรคอาจจะหายไปเลย แล้วพรรคใหญ่อย่าง ชาติไทย มีแต่จะหดลง ขยายไม่มี (นะ) เพราะฉะนั้น เขาไม่อยากเลือกตั้ง เขากลัวสมัครยุบสภา แล้วเขาก็รู้ด้วยว่า ถ้าเขาบีบหนักๆ ให้คุณสมัครออก คุณสมัครยุบ..

– ถึงนาทีนี้อาจารย์คิดว่า ยังไม่มีทางออกสำหรับสังคมไทย

มองไม่ออกครับว่าต่อไปข้างหน้าจะเป็นยังไง ผมรู้แต่เพียงว่าไม่ใช่แค่กรณีพันธมิตรฯ กรณีอย่างนี้จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องของสนธิกับสมัคร

– ชั่วโมงนี้ นายกฯสมัครจะไปไม่รอดหรือไม่ อย่างไร

ผมคิดว่าไม่รอด เพราะตอนนี้ไม่รู้จะออกทางไหนจริงๆ คุณเป็นนายกฯได้ยังไงโดยที่ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ไปไม่รอดหรอก จะรออยู่อย่างนี้ได้ยังไง เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แล้วผมคิดว่าก็ไม่ช้าเท่าไหร่ด้วย ไม่น่าจะเกินเดือนหนึ่ง…ผมให้

– ในสภาพอย่างนี้ข้าราชการเองก็เกียร์ว่างกันหมด

ก็ไม่ใช่เกียร์ว่าง (นะ) คือ เขาไม่ใจแน่ว่าสิ่งที่คุณสมัครสั่งให้ทำจะถูกหรือผิดก็ไม่รู้ อย่างนี้ผมก็ไม่กล้าหรอก เป็นใครก็ไม่มีใครกล้า ไปสั่งคุณอนุพงษ์ (เผ่าจินดา) แกยังไม่เอาด้วยเลย

– ถ้าพูดเรื่องปฏิวัติรัฐประหารช่วงนี้ จะเชยไปมั้ย

เชย…มันเชยแน่ แต่ที่ผมเชื่อ 2 อย่างคือ อย่างแรกผมเชื่อว่า ไม่มีกองทัพไทยเหลือในเวลานี้ คือ พอพูดคำว่ากองทัพไทยขึ้นมา คุณหมายถึงองค์กรซึ่งมีศูนย์รวมของการบังคับบัญชา ซึ่งไม่มี เวลานี้แตกหมด ฉะนั้นคุณจะทำยังไง ไม่มีความเป็นเอกภาพ อย่างที่สอง คุณรัฐประหารแล้วคุณจะทำอะไรต่อ มันชัดเจนว่าถ้าคุณจะทำสิ่งที่คุณคิดว่าควรทำแน่ๆ รับรอง..นองเลือด นองเลือดแน่นอน

– มีสื่อมวลชนรายงานข่าวอ้างว่า ทักษิณ จะทุ่มเงินซื้อกองพลกองพัน อาจารย์คิดอย่างไร

ซื้อกองพัน ผมคิดว่าทำไม่ได้ ทหารไทยผมว่าแปลกอยู่อย่าง (นะ) ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด กองทัพไทยเป็นกองทัพเดียวกระมังที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลเป็นคนตั้งขึ้นมา ส่วนกองทัพอื่นเกิดเอง เป็นกองโจร พอได้เอกราชก็เอากองโจรมารวมกัน กลายเป็นกองทัพแห่งชาติขึ้นมา

และด้วยเหตุดังนั้น กองทัพไทยจึงเป็น กองทัพที่เชื่อฟังในระบบบังคับบัญชาสูงมาก คือ สั่งให้ผมเคลื่อนรถถังออกมา ต้องแน่ใจนะว่า ผบ.ทบ.เอาด้วย อย่างน้อยสุดต้องแม่ทัพภาค 1 เอาด้วย (นะ) คือเราทำเองไม่เป็น ไม่เหมือนกองทัพฟิลิปปินส์ แค่นายพันก็ยึดอำนาจแล้ว

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol01110951&day=2008-09-11&sectionid=0202