Archive

Archive for July, 2008

ข่าวที่จะไม่ได้เห็นในเวปผู้จัดการ

31 July 2008 Leave a comment

ข่าวที่จะไม่ได้เห็นในเวปผู้จัดการ

ได้ยินคนเล่าถึงเรื่องนี้ ก็เลยเข้าไปหาในเวป manager.co.th แต่ไม่เจอซักที
ในที่สุดเลยลองใช้ google search ดู ก็เลยไปเจอในเวป ของเครือเนชั่นฯ, คืออยู่ใน คมชัดลึก
ว่าแล้วก็ต้องเอาผลงานของ การ์ดพันธมิตร มาแปะเก็บไว้ซะหน่อย

การ์ดพันธมิตรฯเมาซ่าชกตร. หนีไม่พ้นถูกคุมตัวแจ้งข้อหา

นักรบศรีวิชัยม็อบพันธมิตรฯดื่มเหล้าเมาซ่า ขอบุหรี่-เงิน 20 บาทจากกรรมการสมาคมตระกร้อฯไม่ได้ เตะ-ต่อยเจ็บ เหยื่อเข้าแจ้งความ ตำรวจตามจับยังถูกต่อยเจ็บ แต่หนีไม่พ้นถูกคุมตัวแจ้งข้อหาที่โรงพัก

ที่สน.นางเลิ้ง กทม. เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 30 ก.ค. นายวิชาญ ตรงเข็นขาว อายุ 40 ปี กรรมการสมาคมตระกร้อแแห่งประเทศไทย เข้าแจ้งความกับ ร.ต.ท.คนัช ปาณไกพัล ร้อยเวร สน.นางเลิ้งว่าถูกนายกฤษฎา ช่วยอุดม อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ 8 ต.บึงหวาน อ.ปะโต๊ะ จ.ชุมพร ทำร้ายร่างกาย

นายวิชาญให้การว่า ขณะตนนั่งพักอยู่ภายในบริเวณลานจอดรถวัดโสมนัสวิหารได้พบกับนายกฤษฎาและพวก อีก 1 คนเดินตรงเข้ามาหาและยังสังเกตุเห็นว่านายกฤษฎามีอาการมึนเมา โดยนายกฤษฎาเดินเข้ามาขอบุหรี่ ตนบอกว่าไม่ได้สูบจึงไม่ได้ให้บุหรี่ จากนั้นนายกฤษฎาก็ขอเงินอีก  20 บาท แต่ตนก็ไม่ได้ให้ นายกฤษฎษยังพยายามถามตนว่าเป็นพวกเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนามหลวงหรือไม่ ตนก็พยายามอธิบายว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน หลังจากนั้นนายกฤษฎาก็เตะตนซึ่งตนก็เอามือซ้ายขึ้นมากันไว้  นายกฤษฎาเตะอยู่หลายครั้งก่อนที่ตนจะหลบหนีออกมาได้  คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมจึงเข้าแจ้งความ

รูปการ์ดพันธมิตรที่ว่า ดูได้ที่นี่
http://www.komchadluek.net/2008/07/31/images/11235443low.jpg
http://www.komchadluek.net/2008/07/31/images/11235446low.jpg

ต่อ มาเวลา 18.00 น. ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ มูลตา รองสว.สป.พร้อมด้วยด.ต.ทวี เนียบสุวรรณ ,ส.ต.อ.วรรณพงษ์ จันทร์สุรี ผบ.หมู่ สน.นางเลิ้ง สืบทราบว่านายกฤษฎาเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัยของกลุ่มพันมิตรฯจึงเดินทางไปยัง กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อจะขอควบคุมตัวมาสอบปากคำ แต่นายกฤษฎาไม่ยอมจึงต่อยเข้าใบหน้าของ ส.ต.อ.วรรณพงษ์

แต่ต่อตำรวจก็สามารถควบคุมตัวมาทำการสอบปากคำที่ สน.นางเลิ้ง และจากการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอเกินกว่า 120 มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่า เมาสุราเครื่องดองของเมา ประพฤติตนวุ่นวาย ทำร้ายตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่  ขณะนี้ได้ส่งตำรวจไปตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลมิชชั่นแล้ว

ข่าวจาก คมชัดลึก http://www.komchadluek.net/2008/07/31/x_main_a001_213856.php?news_id=213856
ถ้า link เสีย ดูได้ที่นี่ http://news.sanook.com/crime/crime_291789.php

Categories: News and politics

An Open Letter from Scholars of Southeast Asian Studies

26 July 2008 Leave a comment

จดหมายเปิดผนึก นักวิชาการด้านอุษาคเนย์

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรุงเทพฯ สยาม/ประเทศไทย

กรกฎาคม 2551

เรื่อง จุดยืนทางวิชาการต่อกรณี “ปราสาทพระวิหาร”

เรียน คณาจารย์ ผู้ปกครอง สื่อมวลชน นักศึกษา และพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา

อนุสนธิ จากการปะทุขึ้นของความขัดแย้งในกรณีการขอจดทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลกโดยทางการประเทศกัมพูชา ซึ่งนำไปสู่การประท้วงคัดค้านจากกลุ่มการเมืองและประชาชนไทย กระทั่งนำไปสู่การสร้างอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรงขึ้นทั่วไปในหมู่ประชาชน ไทยวงการต่างๆ

นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกลุ่มของอาจารย์และนักวิชาการ ที่ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนและทำงานศึกษาวิจัย เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ เห็นว่าประเด็นที่กลุ่มการเมืองและประชาชน ที่ต่อต้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชานั้น เกี่ยวพันกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของภูมิภาคสุวรรณภูมินี้ ความรับรู้ในข้อเท็จจริงและการตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายนั้น ควรมีการกระทำอย่างเคารพต่อความจริง และเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่และสังคมได้มีโอกาสศึกษา และใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจของตนเอง ว่าจะสนับสนุนนโยบายและปฏิบัติการอะไร โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มการเมืองใดๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าว นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ จึงตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องแสดงจุดยืนทางวิชาการ 4 ข้อ ดังนี้

1. ต่อกรณีของ “ปราสาทพระวิหาร” นั้น นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ เคารพต่อคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 กล่าวคืออำนาจอธิปไตยเหนือ “ปราสาทพระวิหาร” เป็นของประเทศกัมพูชา

2. นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ สนับสนุนการศึกษาประวัติศาสตร์ของภูมิภาคสุวรรณภูมิอย่างวิพากษ์และรอบด้านเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อเป็นไปในการปลุกปั่นสร้างกระแส และสร้างความชิงชังรังเกียจต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก่อให้เกิดความดูถูกทางเชื้อชาติระหว่างกันขึ้นอันเป็นมรดกของลัทธิ อาณานิคมตะวันตก ทั้งอาจเป็นชนวนของความรุนแรงกระทั่งสงครามระหว่างรัฐชาติได้

3. นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ เห็นด้วยและสนับสนุน ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของสุวรรณภูมิ ว่ามีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน มาอย่างยาวนาน จึงควรร่วมมือกันสร้างและปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และภราดรภาพของประเทศและประชาชนที่เป็นเพื่อนบ้านกันในสังคมโลกาภิวัตน์ที่ ไร้พรมแดนยิ่งขึ้นทุกวัน

4. นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมเจรจากัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยขอเสนอให้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ องค์กรอาเซียน เข้ามาเป็นองค์กรกลางในการไกล่เกลี่ยและสร้างหนทางในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ดังกล่าว

จึงเรียนมาเพื่อแจ้งให้คณาจารย์ ผู้ปกครอง สื่อมวลชน นักศึกษา และพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา ได้ทราบจุดยืนทางวิชาการของ นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาดังกล่าวจะยุติลงได้ เพื่อการอยู่ร่วมกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอย่าง สงบสันติและเคารพซึ่งกันและกัน

ขอแสดงความนับถือ

ลงชื่อ (รายนามแนบท้าย)

An Open Letter from Scholars of Southeast Asian Studies

Concerning the Preah Vihear Case

Faculty of Liberal Arts,
Thammasat University
Siam/Thailand
July 2008

To Teachers, Parents, Mass Media, Students, and the People of Thailand and Cambodia,

The recent border dispute over the “Preah Vihear” World Heritage site has led to a series of highly emotional protests from some organizations and individuals in Thailand, leading to a situation of unwarranted hostility among them and between people of the two countries.

Scholars of Southeast Asian Studies, whose purpose is to contribute to knowledge about the Southeast Asian region, wish to emphasize that the root of this border dispute is in the historical and cultural legacies of Thailand and Cambodia. Facts and interpretations of historical evidences should be conducted with respect to the truth, and not to serve partsan political interests. Accordingly, we would like to propose the following:

1. In the case of ‘Preah Vihear’, we fully support the ruling of the International Court of Justice on 15 June 1962 at The Hague, Netherlands; that the sovereignty over the “Preah Vihear” belongs to Cambodia.

2. We support and promote the vigorous debates over contentious issues, providing that the knowledge should not be used to cause prejudice and antagonism between neighboring countries that may even lead to warfare.

3. We recognize that various countries in the region share a common history and culture. These commonalities should serve as the foundation of international cooperation to protect human dignity and for fraternity among nations, particularly in the face of increasing challenges to all countries in the region posed by globalization.

4. We recommend that the necessary steps should be taken to resolve this dispute through organizational mediation. The Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) should initiate this process to achieve this goal.

We urge teachers, parents, mass media, students, and the people of Thailand and Cambodia to call for a peaceful solution to this dispute, based on respect for the integrity of all Southeast Asian nations.

Yours sincerely,

Signed (enclosed)

รายชื่อผู้ร่วมลงนาม/The Signed/Khmer Language

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Dr.Charnvit Kasetsiri
Former Rector, Thammasat University

รองศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Associate Professor Dr.Thanet Aphornsuvan
Faculty of Liberal Arts, Thammasat University

ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจกุล
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน
Professor Dr.Thongchai Winichakul
Southeast Asian Studies Program, University of Wisconsin Madison

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
Dr.Sriprapha Petcharamesree
Office of Human Rights Studies and Social Development, Mahidol University

อาจารย์กฤษณา พรพิบูลย์
นักวิชาการ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
Miss Kridsanah Pornpibul
Scholar, Southeast Asian Studies

ดร. เคย์ โมห์แมน
นักวิชาการ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
Dr.Kay Mohlman
Scholar, Southeast Asian Studies

อาจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
Mr.Akkharaphong Khamkhun
Southeast Asian Studies Program

อาจารย์เม็ง วง
นักวิชาการ สถาบันภาษาแห่งชาติ ราชบัณฑิตสถานแห่งกัมพูชา
Mr.Meng Vong
Institute of National Language, Royal Academy of Cambodia

อาจารย์ สมฤทธิ์ ลือชัย
นักวิชาการ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
Mr.Somrit Luechai
Scholar, Southeast Asian Studies


 
เรื่องเขาพระวิหารนี้
ถ้าจะมีใครซักคนที่สังคมควรจะฟัง ก็คือ อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เพราะท่านเป็น อาจารย์ที่คลุกคลีกับเรื่องนี้โดยตรง
เข้าไปดูเวปไซต์ของอาจารย์ได้ที่ www.charnvitkasetsiri.com
 
หรือไปอ่านบทความของ อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เรื่อง ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม ได้ที่
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!574.entry

Categories: Other

บริษัท ที่ อย. ชี้ว่าทำผิดพระราชบัญญัติอาหาร

24 July 2008 Leave a comment

อ่านแล้วน่ากลัว ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่เคยซื้อ หรือ ผู้จำหน่ายที่เคยซื้อ
ก็เลยเอามาเตือนตัวเอง ว่าบางผลิตภัณฑ์ ต้องระวังตอนที่เลือกซื้อให้ดีๆ

ปลาหิมะแช่แข็งจากอุรุกวัย อย.ชี้ปรอทสูงเกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นพ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ อย.ได้ดำเนินการกับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ในลักษณะความผิดต่างๆ 6 ราย ดังนี้ ความผิดฐานนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุขและนำเข้า เพื่อจำหน่ายอาหาร ผิดมาตรฐาน

1.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรศักดิ์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต คอมเมอเชียล สถานประกอบการเลขที่ 1887 หมู่ 4 ถนนเสรีไทย แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เนื่องจากได้ตรวจสอบการนำเข้าพร้อมเก็บตัวอย่างอาหาร "หัวผักกาดดองหวาน (ของโตไก)" ซึ่งนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พบวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดซอร์บิก โดยผู้นำเข้ามิได้ขอความเห็นชอบการใช้จาก อย. และพบสีตาร์ตราซีน ซึ่งกฎหมายกำหนดห้ามใช้สีผสมอาหารในผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้สด ผลไม้ดอง และผักดอง โดยเปรียบเทียบปรับ 4,000 บาท นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบ "ปลาหิมะแช่แข็ง" นำเข้าจากประเทศอุรุกวัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 พบปรอทสูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ได้เปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท

2.บริษัท เฮาเหว่ย (ประเทศไทย) จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 193/100 อาคารเลครัชดา ออฟฟิศ คอมเพล็กซ์ ชั้น 23 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ได้ตรวจสอบ "ขนมสอดไส้ครีมกลิ่นสตรอเบอรี่" นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 พบวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดซอร์บิก โดยผู้นำเข้ามิได้ขอความเห็นชอบการใช้จาก อย. โดยได้เปรียบเทียบปรับ 4,000 บาท

3.บริษัท ฟู้ดดิตาเลีย จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 160/1 ซอยสุขุมวิท 33 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ได้ตรวจสอบ "ไส้กรอกหมู SALAME PIACENTINO" นำเข้าจากประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 พบปรอทสูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ได้เปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท

4.บริษัท เจริญวัฒนา จำกัด สถานประกอบการเลขที่ 839-841 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ได้ตรวจสอบ "สาหร่ายทะเลแห้ง" นำเข้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 พบตะกั่วสูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ได้เปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท

5.ไอศครีมทิพย์รส สถานประกอบการเลขที่ 50-52 ปากซอยประชาราษฎร์ 2 ถนนประชาราษฎร์ 2 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 พบบักเตรีสูงเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ได้เปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท

6.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส สาขาวังหิน) สถานประกอบการเลขที่ 4/84-85 หมู่ 14 ถนนสุขาภิบาล แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ มีความผิดฐานผลิตอาหารภายหลังใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว โดยมิได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 8,000 บาท เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551

มติชน วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11093

Categories: Food and drink

6 มาตรการลดค่าครองชีพ

15 July 2008 1 comment

6 มาตรการลดค่าครองชีพ

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลง "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน" โดยมี น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกันแถลงข่าว วานนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศ 5 เดือนครึ่ง โดยรัฐบาลได้คิดแก้ไขปัญหาของประเทศอยู่เสมอ คณะรัฐมนตรีทุกคนได้ทำหน้าที่ร่วมกันทำงานทุกคน และในที่สุดเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลทำงานมาจะครบ 6 เดือน จึงได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพราะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากเป็นตัวกำหนดสถานการณ์เศรษฐกิจของบ้านเมือง

1 ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยการเพิ่มส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์

ประโยชน์ : จะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงด้วยการยอมลดภาษีใช้เวลา 6 เดือนในระหว่างตั้งตัวก่อนที่งานใหญ่เมกะโปรเจคจะเกิด เพื่อลดราคาน้ำมัน โดยจะมีการกำหนดวันเวลาให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการตรวจสอบโดยข้าราชการประจำต้องเห็นด้วยทั้งหมด

1.1 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 E20 และ E85 ลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ แก๊สโซฮอล์ 95 ลง 3.30 บาทต่อลิตร เหลือ 0.0165 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีช่วงห่างของราคาจำหน่ายต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 91 และน้ำมันเบนซิน 95 มากขึ้น

1.2 น้ำมันดีเซล ลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บน้ำมันดีเซลลง 2.30 บาทต่อลิตรเหลือ 0.005 บาทต่อลิตร และลดภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel : B5 ) ลง 2.19 บาทต่อลิตร เหลือ 0.0048 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการขนส่งในระยะสั้น และช่วยให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานทางเลือก (NGV)

ผลกระทบ : สูญเสียรายได้ภาษีสรรพสามิต 29,000 ล้านบาท

ผู้รับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง/พลังงาน

2 ชะลอการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือน

ประโยชน์ : เพื่อลดแรงกดดันค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน และเพื่อรักษาสภาพของครัวเรือนซึ่งใช้เป็นมาตรฐาน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มระยะเวลาในการปรับตัวด้านราคาของก๊าซหุงต้มแก่ประชาชน

ผู้รับผิดชอบ : กระทรวงพลังงาน

3 ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน

โดยภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้น้ำ สำหรับผู้ใช้น้ำประเภทที่อยู่อาศัย ที่มีปริมาณการใช้น้ำในช่วง 0 – 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณการใช้เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน โดยจะครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั้งประเทศ ประมาณ 3.2 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ใช้น้ำที่อยู่ในเขตนครหลวง ประมาณ 1.2 ล้านราย และ เขตภูมิภาคประมาณ 2 ล้านราย

ประโยชน์ : ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้น้ำประปาอย่างประหยัด สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำประปาเฉลี่ยต่อรายต่อเดือนประมาณ 213 และ 176 บาท ในเขตนครหลวงและภูมิภาค ตามลำดับ

ผลกระทบ : รายได้ของ กปภ. ประมาณ 2,400 ล้านบาท และ กปน. ประมาณ 1,530 ล้านบาท โดยให้ กปน. หักค่าใช้จ่ายจากรายได้นำส่งรัฐตามผลการดำเนินงานในปี 2551 สำหรับ กปภ. เห็นควรจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้เป็นกรอบค่าใช้จ่ายไว้ ในกรณีที่รายได้นำส่งรัฐตามผลการดำเนินงานในปี 2551 ไม่เพียงพอ

หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงมหาดไทย (กปน. กปภ.)

4 ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน

วัตถุประสงค์ : เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย

สาระสำคัญ : สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะลดภาระค่าใช้จ่าย 2 กรณี คือ 1) หากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และ 2) กรณีใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 80 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าทั้งหมด

ประโยชน์ : ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ประมาณ 9.85 ล้านราย แยกเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในเขตนครหลวง ประมาณ 0.41 ล้านราย และเขตภูมิภาค ประมาณ 9.44 ล้านราย ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนเฉลี่ย 120-200 บาทต่อครัวเรือน

ผลกระทบ : รายได้จากการให้บริการของ กฟน. และ กฟภ. ลดลงประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการในปี 2551 ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง จึงควรให้ กฟผ. ลดราคาค่าไฟฟ้าในส่วนที่จำหน่ายให้แก่ กฟน. และ กฟภ. และให้ กฟผ.หักจากรายได้นำส่งรัฐจากผลการดำเนินงานในปี 2551/2552 แทน

หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงพลังงาน/กระทรวงมหาดไทย (กฟผ. กฟน. กฟภ.)

5 ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง

วัตถุประสงค์ : เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน ผู้มีรายได้น้อยที่เดินทางด้วยรถประจำทาง โดยจะจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาของ ขสมก. จำนวน 800 คัน ใน 73 เส้นทาง ให้บริการในเขตกทม. และปริมณฑลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีการปล่อยรถเมล์ที่วิ่งบริการฟรีสลับกับรถเมล์ที่เก็บเงิน โดยจะมีการติดป้ายบอกไว้ให้ประชาชนทราบ

ประโยชน์ : ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

ผลกระทบ : ภาครัฐจัดสรรงบกลางชดเชย (รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น) รายได้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประมาณ 1,244 ล้านบาท

หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงคมนาคม (ขสมก.)

6 ลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3

วัตถุประสงค์ : เพื่อค่าใช้จ่ายการเดินของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เดินทางด้วยรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม(กรณีรถไฟที่เก็บค่าธรรมเนียม เช่น รถเร็ว รถด่วน ไม่เข้าหลักเกณฑ์)

สาระสำคัญ : ให้ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 16 ล้านคน (6 เดือน)

ประโยชน์ : ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

ผลกระทบ : รายได้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลดลงประมาณ 250 ล้านบาท โดยภาครัฐจัดสรรงบกลางชดเชย (รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น)

หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงคมนาคม (ร.ฟ.ท.)

มาตรการทั้งหมดจะใช้เวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการผ่อนคลายให้แก่ประชาชน เริ่มต้นไม่เกินวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2552 ยกเว้นมาตรการด้านพลังงาน ปรับลดภาษีน้ำมัน ที่จะเริ่มใช้ 25 กรกฎาคม 2551

From : http://www.bangkokbiznews.com/2008/07/16/news_26839281.php?news_id=26839281

Categories: News and politics

ย้อนรอย “มรดกโลกพระวิหาร” ชัยชนะของกัมพูชา-บทเรียนซ้ำซากของไทย

10 July 2008 1 comment

ผมเพิ่งได้บทความสรุป เหตุการณ์ที่ผ่านมา ในกรณีเขาพระวิหาร จากประชาชาติธุรกิจ
อ่านดูแล้วก็มีข้อสังเกตอยู่ในใจ เลยเอามาใส่ไว้ดีกว่า
โดยส่วนที่ผมแทรกข้อมูลเพิ่มเติมที่ผมรู้ จะพยายามทำให้เห็นชัดเจน แล้วลองตรวจสอบกันดูว่า
แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

ย้อนรอย "มรดกโลกพระวิหาร" ชัยชนะของกัมพูชา-บทเรียนซ้ำซากของไทย

ในที่สุดปมขัดแย้งกรณี "เขาพระวิหาร" ได้เดินมาถึง บทสรุป เมื่อใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2551 ตามเวลาประเทศไทย หลังประชุมคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่เมืองควิเบก ของแคนาดา พิจารณาเห็นชอบตามคำขอของกัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว แม้จะเป็นเพียงแค่การขึ้นทะเบียนแค่ตัวประสาทพระวิหารก็ตาม

พร้อมกับเปิดเงื่อนไขประนีประนอมให้ฝ่ายไทยร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารกับกัมพูชาและชาติอื่นๆ ที่ถือเป็นฝ่ายที่ 3 รวมเป็น 7 ชาติด้วยกัน โดยที่ฝ่ายไทยเตรียมเสนอพื้นที่รอบปราสาท พระวิหาร ยกสระตราว สถูป ผามออีแดง เป็น "มรดกโลกด้านภูมิทัศน์" (Culture Landscape) พ่วงเข้าไปในการประชุมนัดถัดไป

แม้จะดูเหมือนว่าพัฒนาการในภาคต่างประเทศของกรณีเขา พระวิหาร จะปิดฉากลงไปแล้ว แต่การเคลื่อนไหวในประเทศไทยหาได้จบสิ้นลงไปไม่ เมื่อในอีก 1 วันถัดมาคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยชี้ขาดว่าคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา ที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลงนามเพื่อสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ที่ http://www.concourt.or.th/download/Center_desic/51/center6-7_51.pdf ลองอ่านช่วงบทสรุป หน้า 24-25

ส่งผลให้กรณีนี้กลับมาเป็นโจทย์ใหม่ให้คนไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และตัวนายนพดลเองในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศที่รับผิดชอบกรณีนี้โดยตรง

"ประชาชาติธุรกิจ" ขอลำดับเหตุการณ์ความเป็นมาของกรณีเขาพระวิหาร นับจากความพยายามขอขึ้นทะเบียนของฝ่ายกัมพูชา จนถึงการลงนามข้อตกลงร่วมระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อ 18 มิถุนายน 2551 และลงเอยด้วยคำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ชนวนที่ทำให้เขาพระวิหารกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2548 โดยได้เสนอขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว และในเอกสารคำร้องยื่นจดทะเบียนยังแนบแผนที่ ที่ครอบคลุมถึงพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิทับซ้อนด้วย

ในระหว่างปี 2548-2549 กระทรวงการต่างประเทศและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการของกัมพูชามาโดยตลอด เพราะมีข้อห่วงกังวลเรื่องเขตแดนที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน พร้อมกันนี้ไทยได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อชี้แจงข้อกังวล ดังกล่าวทั้งต่อกัมพูชา ยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศ และไทยยังเสนอให้ยื่นจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน 2 ประเทศ (transboundary property) โดยนำส่วนประกอบที่อยู่ในฝั่งไทยรวมเข้าไปด้วย เพื่อความสมบูรณ์ของมรดกโลก แต่กัมพูชาปฏิเสธข้อเสนอของไทย และยืนยันจะขอจดทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว

ขณะที่ฝ่ายไทยก็เดินหน้าชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จนกระทั่ง ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ที่ประชุมกันที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ได้มีมติเลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารออกไปก่อน และให้ไทยกับกัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยจะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งในการประชุมสมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคมปี 2551

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมที่ไครสต์เชิร์ชอยู่ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งฝ่ายไทยสนับสนุนในหลักการต่อการ จดทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา แต่ต้องมีการดำเนินการร่วมกัน และได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย

แต่ฝ่ายกัมพูชายังเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ โดยยังใช้แผนที่ครอบคลุมพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ และเพิกเฉยต่อข้อทักท้วงของไทย จนกระทั่งนายนพดลเข้ารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงบัวแก้วในเดือนกุมภาพันธ์

ตรงจุดนี้ กลับไปอ่านข่าวได้จากเวปผู้จัดการ ตาม link ที่ว่านี้
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000078607

ไทยหนุนขึ้นทะเบียน "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นมรดกโลก

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 5 กรกฎาคม 2550 19:57 น.

ดร.มนัสพาสน์ ชูโต ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจทราบมติของคณะกรรมการมรดกโลก ว่า ทางการไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และขอให้หน่วยราชการทุกฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะเกื้อกูลความร่วมมือระหว่าง ไทย-กัมพูชา ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นอย่างแข็งขัน เพื่อเอื้ออำนวยให้กระบวนการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ประธานที่ประชุมได้ขอร้องให้คณะผู้แทนไทยเสนอแผนปฏิบัติงานบางส่วนเกี่ยว กับเรื่องนี้ ซึ่งไทยสนองตอบด้วยดี ขณะนี้คณะกรรมการมรดกโลกได้มีฉันทามติแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องแสดงให้ปรากฏชัดว่า ฝ่ายไทยจริงจังและจริงใจที่จะสนับสนุน กัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ให้ข้อเสนอขึ้นทะเบียนของกัมพูชามีความสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะฟื้นการปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งจะมีเรื่องการบูรณะปฏิสังขรณ์ปราสาท โดยกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของไทยพร้อมประสานงานกับฝ่าย กัมพูชาเพื่อบูรณะ เสริมคุณค่าสากลของปราสาทให้ดีขึ้นตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 31 สิ้นสุดลง และคณะกรรมการเฉพาะกิจฯจะทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการจะสัมฤทธิผลในการประชุมคณะ กรรมการมรดกโลกสมัยประชุมครั้งที่ 32 ที่ประเทศแคนาดาในปี 2551

หรือไปอ่านเรื่อง Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose?
ได้ที่
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!582.entry

ในเดือนมีนาคม นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้พบกับนายกฯฮุน เซน ของกัมพูชา ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายสมัคร และในการประชุมสุดยอดจีเอ็มเอสที่เวียงจันทน์ ซึ่งผู้นำทั้งสองได้มีการหารือในเรื่องนี้

วันที่ 6 พฤษภาคม นายนพดลมอบหมายให้ นายวีระศักดิ์

ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือกับฝ่ายกัมพูชา โดยมีผู้แทนฝ่ายทหารเดินทางไปด้วย และในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีมีมติโยกย้าย นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และให้ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไปเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแทน

ท่าทีของกัมพูชาเริ่มเปลี่ยนไปในการหารือระหว่างนายนพดล และนายสก อาน รองนายกฯกัมพูชา หลังจากพิธีเปิดถนนและสะพานที่เกาะกงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม โดยฝ่ายกัมพูชาเสนอที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น หลังจากนั้นในวันที่ 22-23 พฤษภาคม นายนพดลและคณะได้หารือกับกัมพูชาที่กรุงปารีส เพื่อแก้ไขปัญหาก่อนการประชุมสมัยที่ 32 โดยกัมพูชายืนยันจะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท และจะยังไม่กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ด้าน ทิศเหนือและตะวันตกที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ แต่จะให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายจัดทำแผนบริหารจัดการเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งข้อตกลงนี้ได้รับการบันทึกเป็นร่างคำแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องนำกลับไปขอความเห็นชอบจากรัฐบาล

ตรงจุดนี้ ถ้าอ่านมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า กัมพูชา ยอมถอยให้ เพราะ ‘กัมพูชายืนยันจะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท และจะยังไม่กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ด้าน ทิศเหนือและตะวันตกที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่ แต่จะให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายจัดทำแผนบริหารจัดการเสนอต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553’, อ่านแล้ว กลับเข้าใจในทางที่ดี ว่ากัมพูชา ขึ้นทะเบียนแค่ตัวปราสาท ไม่ขึ้นพื้นที่ทับซ้อน มันน่าจะดีกว่าก่อนๆหน้านี้ ที่กัมพูชา พยายามจะขึ้นพื้นที่ในบริเวณกว้างกว่านี้ ใช่หรือไม่

5 มิถุนายน กัมพูชาส่งร่างแผนผังที่ปรับแก้ใหม่มาให้ฝ่ายไทยตรวจสอบโดยกรมแผนที่ทหาร หลังจากนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในวันที่ 17 มิถุนายน

นายนพดลลงนามในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน และตามมาด้วยการคัดค้านของกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้าน ฯลฯ ซึ่งพากันตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมนายนพดลจึงไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงความกังวลว่าท่าทีสนับสนุนของไทยเช่นนี้อาจจะส่งผลต่อกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนในอนาคต ขณะที่บางฝ่ายโยงไปถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปลงทุนในเกาะกงของกัมพูชา

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นไฮไลต์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านในระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน ซึ่งเฉพาะประเด็นเรื่องเขาพระวิหารที่อภิปรายไม่ไว้วางใจตัวนายนพดลนั้น กินเวลาในวันแรกกว่า 10 ชั่วโมง โดยเนื้อหาหลักของการอภิปรายโจมตีการทำงานของนายนพดลที่ควรจะนำเสนอรัฐสภาพิจารณา เพราะถือเป็นเอกสารสัญญาที่มีความเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและเขตแดนของชาติ รวมถึงการลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นการลบล้างการสงวนท่าทีของรัฐบาลไทยในอดีตที่มีต่อเรื่องนี้ และปมเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง ความน่าเชื่อถือ จาก คอลัมน์ Marketthink โดย สรกล อดุลยานนท์
ได้ที่
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!583.entry

27 มิถุนายน ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อน พิพากษาในคดีที่นายสุริยะใส กตะศิลา และคณะที่ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

29 มิถุนายน นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เปิดเผยก่อนเดินทางไปร่วมการประชุมว่า คณะกรรมการมรดกโลกของไทย จะขอให้มีการเลื่อนวาระขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาออกไปก่อน คาดว่าจะได้รับความเห็นชอบเนื่องจากเป็นไปตามอนุสัญญา มาตรา 11 ข้อ 3 ที่กำหนดไว้ว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่อยู่ในดินแดนของ 2 ประเทศจะต้องไม่มีการโต้แย้งจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง

กระทั่งวันที่ 4 กรกฎาคม นายนพดลได้เข้าให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อชี้แจงกรณีการลงนามของฝ่ายไทยในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารฝ่ายเดียวของกัมพูชา แล้วให้รายละเอียดว่า ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เคยไปตกลงกับทางกัมพูชาไว้ในมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในสมัยประชุมครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศไทยสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา

ต่อมา นายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ตอบโต้คำกล่าวของนายนพดล โดยชี้แจงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช คือไทยไม่เห็นด้วยที่กัมพูชาจะดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงลำพัง โดยไม่มีความร่วมมือของไทย

ตรงนี้ สามารถตรวจได้จากเอกสารการประชุม โหลดได้ที่นี่
http://whc.unesco.org/archive/2007/whc07-31com-24e.pdf
จะเห็นสรุปการประชุม หน้า 153-154 (เลขหน้าในเอกสาร ไม่ใช่เลขหน้าจากโปรแกรมที่เปิดดู) ในข้อ Decision: 31 COM 8B.24 ส่วนที่อยากเน้นย้ำคือ

The State Party of Cambodia and the State Party of Thailand are in full agreement
that the Sacred Site of the Temple of Preah Vihear has Outstanding Universal Value
and must be inscribed on the World Heritage List as soon as possible. Accordingly,
Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose the site for formal
inscription on the World Heritage List at the 32nd session of the World Heritage
Committee in 2008 with the active support of Thailand.

ผมไม่สามารถหาเอกสารที่ นายนิตย์ พิบูลสงคราม บอกว่า ไทยไม่เห็นด้วยที่กัมพูชาจะดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงลำพัง โดยไม่มีความร่วมมือของไทย
ดังนั้น กรณีนี้ ถ้าอ่านจากเอกสารสรุปการประชุม ก็ต้องยอมรับว่า ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เคยไปตกลงกับทางกัมพูชาไว้ในมติที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในสมัยประชุมครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศไทยสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา

หรือไปอ่านเรื่อง Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose?
ได้ที่
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!582.entry

กระทั่งเมื่อนายปองพลเดินทางไปถึงเมืองควิเบก ได้ให้สัมภาษณ์ข้ามทวีปกลับมายังประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 5 กรกฎาคม (ตามเวลาแคนาดา) ว่า คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศและยูเนสโก ได้รับเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย แจ้งให้ทราบถึงคำสั่งศาลปกครองที่ให้คุ้มครองชั่วคราว

เมื่อเวลางวดเข้ามาเรื่อยๆ นายปองพลได้ให้สัมภาษณ์เป็นระยะๆ นับจากวันที่ 6-7 กรกฎาคมตามเวลาประเทศไทย โดยยอมรับถึงความเสี่ยงที่กัมพูชาจะสามารถขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก หลังจากคณะกรรมการมรดกโลกไม่เลื่อนพิจารณาปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แม้จะยอมเลื่อนลำดับการพิจารณาจากลำดับที่ 4 มาเป็นลำดับที่ 47 แล้วก็ตาม แต่การพิจารณาจะมีขึ้นประมาณ 5 ทุ่ม ของวันที่ 7 ตามเวลาประเทศไทย

สุดท้ายเมื่อใกล้เที่ยงคืนของวันเดียวกันมีรายงานว่า เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการมรดกโลก 21 ชาติ เห็นควรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารตามที่กัมพูชาเสนอให้เป็นมรดกโลก เพราะว่าเข้าหลักเกณฑ์ 1 ใน 3 ข้อที่เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงาม เป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด ส่วนทางออกของไทยนั้นนายปองพลชี้แจงว่า ทางคณะกรรมการมรดกโลกจะตั้งคณะกรรมการ 7 ประเทศ โดยประเทศไทยเป็น 1 ในนั้นเข้ามาดูแลบริหารจัดการปราสาทพระวิหารร่วมกับกัมพูชา

กัมพูชาประสบความสำเร็จในการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกสมดังใจปรารถนา !!!

ผมเข้าใจว่า กัมพูชา ขึ้นทะเบียน ตัวปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่ เขาพระวิหาร ลองไปเช็คกันดูให้ดี ว่าสื่อเสนอข่าวถูกหรือผิดอย่างไร

ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4017 (3217)

Categories: News and politics

Microsoft Update cause ZoneAlarm loss internet access

10 July 2008 Leave a comment

Microsoft Update cause ZoneAlarm loss internet access

วันที่ 9 กรกฎาคม 2008 ตามเวลาในไทย
ไมโครซอฟท์ ได้ออกตัวอัพเดทออกมา ในชื่อว่า
Microsoft Update KB951748
ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้งาน ZoneAlarm ทุกคน
เพราะมีการเปลี่ยนแปลงระบบความปลอดภัยที่ ZoneAlarm ไม่รู้จัก หรือไม่ชอบ

ความซวยมาเยือน อยู่ดีๆใครจะรู้ว่าเกิดเหตุการณ์นี้
ก็เลยหาสาเหตุอยู่ตั้งนาน ว่าทำไม ADSL มีสัญญาณ internet ก็ต่อได้
แต่กลับไม่สามารถใช้งาน Internet ได้เลย ไม่ว่าจะด้วยโปรแกรมใดๆก็ตาม

อุตสาห์รอถึงเช้า เพื่อโทรไปถาม operator ที่ให้บริการ Internet ADSL ที่ใช้อยู่
เพราะมีช่วงที่สัญญาณ ADSL หายไป ก็เข้าใจว่าจะเกิดเหตุการณ์เดิม ที่พอสัญญาณมา จะต่อเนตไม่ได้
คราวนี้ ทาง operator ก็ช่วย reset port สัญญาณให้ใหม่
แต่ปัญหาทุกอย่างยังไม่หาย

เลยลองปิด zonealarm ดู
ได้ผลเลย ทุกอย่างกลับมาใช้ได้เหมือนเดิม
ก็งงว่าเกิดได้อย่างไร ไฟไม่ดับ คอมไม่มี Hang เกิดอะไรขึ้น
นั่ง uninstall แล้วก็ install zonealrm ใหม่
แล้วก็เซตค่านู่นนี่ไปตามเรื่อง
ปรากฎว่า ทุกครั้งที่เปิด zonealarm จะใช้ Internet ไม่ได้เลย

คราวนี้ เลยต้องพึ่ง google
ก็เลยได้เจอต้นตอของปัญหา
http://download.zonealarm.com/bin/free/pressReleases/2008/LossOfInternetAccessIssue.html

ทางเลือกในการแก้ปัญหาเบื้องต้น มี 2 ทาง
คือ uninstall microsoft hotkix หรือ Microsoft Update KB951748 นั่นเอง
กับ Move Internet Zone slider to Medium
ด้วยความโมโห ใช้ดีๆมาตั้งนาน เลยเลือกวิธีแรก Uninstall Microsoft Update KB951748

หลังจากนั้นก็ใช้งานมาได้ด้วยดี

ตอนนี้คงต้องรอตัว update zonealarm ตัวใหม่
คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหากับ Microsoft Update KB951748 อีก

ปราสาทเขาพระวิหาร อาจเป็นระเบิดเวลา

8 July 2008 Leave a comment

ปราสาทเขาพระวิหาร อาจเป็นระเบิดเวลา

1

ธรรมชาติของเส้นเขตแดนแบบสมัยใหม่ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเปรียบเสมือนระเบิดเวลา

เส้นเขตแดนทุกแห่งในทุกวันนี้สืบทอดมรดกมาจากการเมืองแบบก่อนสมัยใหม่ซึ่งไม่สนใจการแบ่งพรมแดนด้วยเส้นชัดเจนต่อเนื่องไปตลอดแนว แถมยังอยู่ได้ด้วยสภาวะที่อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนซ้อนทับกำกวมเกินกว่าครึ่งของแนวพรมแดนทั้งหมดของสยาม

เขตแดนสมัยก่อนส่วนมากแค่กำหนดแนวจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องต่อกันตลอดพรมแดน บ้างเป็นแค่หลักหมาย หลายแห่งคลุมเครือ หัวเมืองชายแดนมักอ่อนน้อมต่อเจ้าหลายฝ่ายพร้อมๆ กัน ตลอดแนวพรมแดนสมัยใหม่จึงมีบริเวณที่ไม่ชัดเจนทะเลาะกันได้ไม่รู้จบอยู่เต็มไปหมด

นี่ยังไม่นับอีกปัจจัยคือ สภาพพื้นที่ ลำน้ำ ดอนทราย ชายฝั่ง แม้แต่แนวปันน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังตกลงเขตแดนไปแล้วในครั้งก่อนๆ

2

เขตแดนแบบชัดเจนและอธิปไตยเหนือดินแดนแบบไม่กำกวม เป็นความปรารถนาของโลกสมัยใหม่ เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แค่ประมาณ 100-130 ปีมานี้เอง

การถกเถียงเรื่องเขตแดน อ้างว่าดินแดนเป็นของตนโดยไม่ตระหนักถึงประวัติศาสตร์ข้อนี้จึงเป็นปัญหายากจะแก้ให้ตกตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะทุกฝ่ายสามารถหาเหตุผลครึ่งๆ กลางๆ มาเข้าข้างตนเองได้ทั้งนั้น หากลามปามต่อไปก็ต้องตัดสินด้วยการใช้กำลัง ตายไปเป็นร้อยเป็นพันก็คงแก้ไม่ตกอยู่ดี

ในเมื่อเขตแดนสมัยใหม่เป็นระเบิดเวลาของความขัดแย้งรุนแรงเช่นนี้ รัฐสมัยใหม่ที่ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงใช้โต๊ะเจรจา สนธิสัญญา แผนที่

หากทะเลาะกันมากก็อาศัยคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นข้อยุติความขัดแย้งเพื่อให้รัฐสมัยใหม่อยู่ร่วมกันได้

3

เขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร อาศัยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2505 เป็นข้อยุติ เพราะมิฉะนั้นอีกหนทางที่จะตัดสินได้ชั่วคราวคือ กำลังทหาร และชีวิตอีกไม่รู้เท่าไรต้องสูญเสียเพื่อชัยชนะเพียงชั่วคราว

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ไม่มีทางเป็นคำตอบสิ้นสุดสมบูรณ์ในกรณีนี้ (ความเข้าใจที่ว่า สันปันน้ำเป็นมาตรการแบ่งเขตแดนที่ดีที่สุดเสมอเป็นความเข้าใจผิดๆ ตื้นเขินและไม่รับผิดชอบ ตลอดแนวพรมแดนของประเทศไทย เขตแดนหลายแห่งไม่ได้แบ่งด้วยแนวสันปันน้ำ และหากเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ทั่วไป ประเทศไทยคงต้องเสียดินแดนอีกหลายแห่ง ซึ่งทุกวันนี้เป็นของไทยด้วยเกณฑ์อื่น นับรวมกันอาจมากกว่าดินแดนเขาพระวิหารมากนัก – เอาอย่างนั้นไหมล่ะ?)

กรณีปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น หากเป็นแค่ความถูกผิดทางปฏิบัติก็ยังน่าจะหาทางออกได้ คือ ระหว่างแผนที่ – แผนผังกระบวนการขออนุมัติ ลงนาม ทำสัญญาร่วม การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ฯลฯ แต่ขณะนี้ได้เลยเถิดเกินกว่าความถูกผิดในทางปฏิบัติเหล่านี้ไปมากแล้ว

คือ เกิดการฉวยใช้กรณีนี้เพื่อปลุกระดมโมหะของคนไทยว่าปราสาทเป็นของไทย และประเทศไทยควรเอาปราสาทคืนมาเป็นของไทย

ผู้นำพรรคการเมืองพูดเช่นนี้ชัดๆ ผู้นำพันธมิตรหลายคนพูดเช่นนี้ชัดๆหลายครั้ง ผู้มีชื่อเสียงหลายคนในสังคมไทยออกมาพูดเช่นนี้ชัดๆ ปลุกความเชื่อผิดๆ และอันตราย ปลุกชาตินิยมเพ้อเจ้ออย่างไม่รับผิดชอบ

เราควรเคารพข้อยุติที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศวางไว้ เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุด ประเทศไทยไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่ดีไปกว่ากัมพูชาในเรื่องนี้ ถึงจะรื้อฟื้นขึ้นมาก็คงไม่ชนะ เว้นเสียแต่จะส่งทหารไปตายเพื่อชัยชนะชั่วคราว

4

ความคิดความเชื่อเรื่อง "การเสียดินแดน" แพร่หลายในหมู่นักชาตินิยมขาดสติทั้งหลายในภูมิภาคนี้ (และอีกหลายแห่งในโลก)

นักชาตินิยมลาวเคยพูดว่า ลาวเสียฝั่งขวาน้ำโขง (คือภาคอีสานของไทยปัจจุบัน) ให้แก่สยาม นักชาตินิยมเขมรยังโฆษณาอยู่จนทุกวันนี้ว่า กัมพูชาเสียดินแดนให้ไทยและเวียดนามไปมากมาย สงครามระหว่างกัมพูชา-เวียดนามยุคเขมรแดงก็เพื่อเอาดินแดนเขมรบริเวณที่ราบลุ่มปากน้ำโขงคืนมานั่นเอง

นักชาตินิยมกัมพูชายังคงผลิตแผนที่การเสียดินแดนของกัมพูชาเผยแพร่แก่ชาวเขมรให้คิดเจ็บแค้นว่าไทยและเวียดนามเอาดินแดนของเขาไป

นักชาตินิยมไทยผลิตแผนที่ไทยเสียดินแดนเช่นกัน ทั้งแผนที่และประวัติศาสตร์การเสียดินแดนยังเป็นเรื่องสำคัญในหลักสูตรอบรมสั่งสอนคนไทยตลอดมาหลายชั่วคน อยู่ในสมองของคนไทยทั้งประเทศจนไม่เคยสงสัยเลยสักนิดว่า การเสียดินแดนเป็นแค่การตีความประวัติศาสตร์เข้าข้างตัวเองของนักชาตินิยมไทย

การเสียดินแดน ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำในอีกหลายประเทศ รวมทั้งจีน เวียดนาม ปากีสถาน ฯลฯ เสียดินแดนกันทั้งนั้น เพราะประวัติศาสตร์ฝ่ายตัวเองเขียนไว้อย่างนั้น

เพราะความคิดเรื่องการเสียดินแดนเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์อันทรงพลังเพื่อปลุกเร้าค้ำจุนลัทธิชาตินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศ คราใดที่การปลุกระดมเรื่องการเสียดินแดนนำไปสู่การสู้รบแย่งชิงดินแดนจริงๆ ความหายนะสูงมากทุกครั้ง

แต่แทบไม่มีสักกรณีเดียวที่นักชาตินิยมผู้จุดกระแสการเสียดินแดนจะไปออกรบในแนวหน้าเพื่อเอาดินแดนคืนมา

5

ลัทธิชาตินิยมของไทย อยู่บนฐานความเชื่อสำคัญๆ จำนวนหนึ่งที่มีพลังก่อให้เกิดโทสะและโมหะได้ง่ายมาก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นประวัติศาสตร์แบบทึกทักเข้าข้างตัวเอง

แต่คนไทยก็เชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำ

ความเชื่อเรื่องการเสียดินแดนเป็นหนึ่งในเรื่องพรรค์นั้น ความเชื่อนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความทรงจำผิดๆ ของประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมด แต่ความเชื่อเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่จำเป็นมาก เพื่อค้ำจุนลัทธิชาตินิยมของไทย

ถ้าไม่มีความเชื่อเรื่องเสียดินแดน ลัทธิชาตินิยมไทยอาจพังครืน จึงจำเป็นต้องกรอกหัวประชากรด้วยความทรงจำผิดๆ ทำบ่อยๆ มากๆ จนประชากรเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงอย่างไม่ต้องสงสัยไร้ข้อโต้แย้ง

6

"ไฟ" ของลัทธิชาตินิยมยังคงอันตรายดังที่เป็นมาตลอด

ยังคงเป็นอาวุธที่น่ากลัวในการเมืองไทยในปัจจุบัน ไม่ต่างจากที่เป็นมาตลอด

พันธมิตรและสื่อมวลชนที่มีแต่ความรักชาติแต่ขาดสติปัญญา กำลังทำสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขาเคยประณามชาวเขมรเมื่อคราวนักชาตินิยมเขมรปลุกกระแสต่อต้านประเทศไทยเมื่อปี 2548

ชาตินิยมก็เหมือนกับไฟ เราไม่ควรเล่นกับมันเพราะอันตราย หากสุมกันเข้าไปจนควบคุมไม่ได้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเสียแล้ว

(บางคนช่วยสุมไฟชาตินิยมจนคุโชน กล่าวว่าคนไทยยังชาตินิยมไม่พอ ประวัติศาสตร์ไทยยังชาตินิยมไม่พอ แล้วตบท้ายว่า "แต่ต้องสันตินะ สันตินะ" นับเป็นการปัดความรับผิดชอบล่วงหน้าอย่างน่าสมเพชในกรณีที่ไฟชาตินิยมลุกลามปามเกินควบคุมได้)

"ไฟ" ชาตินิยม เป็นบ่อเกิดของโทสะ โมหะ ตามคำสอนของพุทธศาสนา เป็นไฟของอวิชชาชนิดร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง

7

อย่าเล่นกับไฟอย่างไร้ความรับผิดชอบ หากไม่กล้านำหน้าออกไปรบ ก็อย่าสุมไฟ

หากพวกชาตินิยมไร้สติ ต้องการเอาเขตแดนที่มีปัญหาทั้งหลายมาเป็นของไทย มีเขตแดนอีกนับร้อยแห่งให้เลือกที่จะส่งทหารไปตาย แต่ลงท้ายรับรองได้เลยว่าไม่มีทางยุติข้อขัดแย้งได้ด้วยกำลังทหาร

ยังจำกรณีพิพาทไทย-ลาว เมื่อต้นปี 2531 เพื่อยึดเนิน 1428 ได้หรือไม่? เนินเขาที่แทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่และเป็นที่รู้จักด้วยตัวเลขบนแผนที่ทหารเป็นเหตุให้ไทยสูญเสียทหารไปหลายร้อยคน

ยังจำกันได้หรือไม่?

กรณีนั้นกลายเป็นเรื่องเล่าขานต่อมาในประเด็นเรื่องความสามารถของผู้นำทหารของไทยและผลประโยชน์ป่าไม้ที่เป็นชนวนให้สองฝ่ายแย่งชิงกัน รากเหง้าของปัญหาเขตแดนกลับไม่มีคนพูดถึง

รากเหง้าของปัญหาเขตแดนกรณีนั้นมาจากสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส 1907 ที่พยายามขีดเส้นบนพื้นที่ที่ไม่เคยมีเส้นเขตแดนชัดเจนมาก่อน ประชาชนแถวนั้นก็ปะปนผูกพันกันจนแยกไม่ได้ว่าตรงไหนไทยตรงไหนลาว แถมยังทำสนธิสัญญาก่อนการสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศอย่างละเอียด ชื่อลำน้ำสันเขาตามสนธิสัญญากับชื่อท้องถิ่นจึงลักลั่นกันแต่ต้น

ต่อมาในกรณีพิพาทนั้น ลาวกับไทยอ้างแผนที่คนละฉบับ จากการสำรวจที่กระทำต่างกัน 60-70 ปี (เรื่องตลกคือฝ่ายไทยอ้างแผนที่ฝรั่งเศสประกอบสนธิสัญญา 1907 ที่คนไทยไม่ยอมรับและเกลียดนักหนา ส่วนฝ่ายลาวอ้างแผนที่อเมริกันซึ่งทำขึ้นช่วงสงครามถล่มเวียดนาม ลาว และกัมพูชา) ระหว่างนั้น ลำน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนก็เปลี่ยนไปทั้งชื่อท้องถิ่นและแนวลำน้ำ กล่าวคือ แนวลำน้ำเดิมแห้งขอดไป แต่เกิดแนวลำน้ำใหม่ชื่อใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในแผนที่ฉบับเก่า ชื่อลำน้ำสายเดิมที่เป็นเส้นเขตแดนตามแผนที่เก่าจึงเลอะเลือนไปจากความทรงจำของท้องถิ่น แนวลำน้ำที่เปลี่ยนไปย่อมหมายความว่าสันปันน้ำเปลี่ยนไปด้วย หากถือตามแผนที่คนละฉบับที่ทำกันคนละเวลา เนินที่เคยนับว่าอยู่ในแนวเขตแดนของประเทศหนึ่งก็กลับย้ายไปอยู่ในแนวเขตแดนของอีกประเทศหนึ่งแทน

แม้แต่ชื่อของลำน้ำตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ของไทยก็ยังผิดๆ ตลอดระยะกรณีพิพาท เพราะอักษรโรมันในแผนที่เก่าถูกทับด้วยเส้น contour lines ครั้นอ่านอย่างมักง่ายเอาสะดวก ไม่มีการตรวจสอบ จึงกลายเป็นชื่อใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการทะเลาะกันใหม่ได้ในอนาคตทหารของสองประเทศตายไปเป็นพันคน เพื่ออะไร?

ตอบ

1 เพื่อสนองโลภะความกระหายผลประโยชน์ที่ทหารผู้เสียชีวิตไม่มีส่วนได้ด้วยสักนิด

2 เพื่อสนองชาตินิยมที่พอกพูนด้วยโทสะและโมหะจนไร้สติ ไม่ไตร่ตรองปัญหาจากประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักธรรมชาติของพื้นที่และไม่สนใจหาความรู้ท้องถิ่น

3 เพื่อหวังเปลี่ยนชาตินิยมเบาปัญญาที่ไม่มีปัญญาพอที่จะเอาชนะแม้กระทั่งเส้น contour lines บนแผนที่ ให้กลายเป็นชัยชนะอันน่าภาคภูมิใจของชาติ

โศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากชาตินิยมเบาปัญญาในเรื่องเขตแดนเคยเกิดมาแล้ว จะให้เกิดอีกร้อยครั้งก็ได้ ไร้สาระยิ่งกว่ากรณีเนิน 1428 ก็ได้

แต่จะให้เกิดอีกแม้แต่ครั้งเดียวเพื่อสนองความเบาปัญญาของนักชาตินิยมทำไมกัน?

8

การใช้ปราสาทเขาพระวิหารเพื่อปลุกชาตินิยมอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายกว่าคราวก่อนๆ

โดย ธงชัย วินิจจะกูล, นสพ มติชน รายวัน, วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11077


หลังจากเมื่อวาน เอาของ คุณหนุ่ม เมืองจันทร์มาให้อ่านกัน วันนี้ เป็นบทความของ คุณธงชัย วินิจจะกูล
ไม่รู้จะโทษระบบการศึกษาของไทยหรืออะไรดี ที่ทำให้หลายๆคน ถูกชักจูงง่ายๆ ด้วยกระแสชาตินิยม
ถ้าทุกคนได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างที่น่าจะได้เรียน ลดความเป็นอคติต่างๆลงไป
สังคมโลกอาจจะมีความขัดแย้งน้อยกว่านี้

There is no "if" in the History

Categories: News and politics

ความน่าเชื่อถือ, สรกล อดุลยานนท์

7 July 2008 1 comment

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องเขาพระวิหารกันอยู่
ก็เลยเอาบทความของ คุณหนุ่มเมืองจันทร์ (สรกล อดุลยานนท์) ที่เขียนลงในประชาติธุรกิจ มาไว้ในนี้ด้วย
ตอนแรก ว่าจะเขียนเอง พอได้อ่านของ คุณหนุ่มเมืองจันทร์
ก็เลยสรุปได้ว่า ไม่ต้องเขียนดีกว่า เพราะมันก็เนื้อหาคล้ายคลึงกัน แต่สำนวนอาจเป็นรอง
ดังนั้น เอามาเก็บไว้ที่นี่ก็พอ


ความน่าเชื่อถือ คอลัมน์ Marketthink โดย สรกล อดุลยานนท์

ความขัดแย้งเรื่อง “เขาพระวิหาร” ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก

หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ พื้นฐานเบื้องต้นของการมองปัญหาครับ

ประการแรก เรายอมรับไหมว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505

ถ้า “ยอมรับ” ก็มองปัญหาแบบหนึ่ง

ถ้าใจ “ไม่ยอมรับ” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ หรือคิดว่า คำตัดสินของศาลโลกไม่เป็นธรรม

การมองปัญหาก็จะมีอารมณ์ไปอีกรูปแบบหนึ่ง

ผมชอบคำหนึ่งของ “อัครพงษ์ ค่ำคูณ” ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขาบอกว่า หลักของวิชาประวัติศาสตร์นั้นต้องไม่มีคำว่า “ถ้า”

There is no “if” in the History

เรื่องราวในอดีตเกิดขึ้นมาแล้ว แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นหากคิดถึงคำว่า “ถ้า” จะต้องใช้เพื่อความสมานฉันท์ เพื่อความเข้าใจในมนุษย์และสังคม

ประการที่สอง เราคิดกับ “กัมพูชา” แบบ “เพื่อน” หรือ “ศัตรู

ถ้ามอง “กัมพูชา” เป็น “เพื่อน”

เราจะคิดแบบหนึ่ง

แต่ถ้ามอง “กัมพูชา” เป็น “ศัตรู” เป็นคนที่คิดเอาเปรียบเรา หรือเคยโกงเขาพระวิหารไปจากไทย

เราก็จะคิดกับปัญหาเรื่องนี้อีกแบบหนึ่ง

ลองใคร่ครวญช้าๆ นะครับ

คนที่ไม่ยอมรับว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา และคิดกับกัมพูชาในแง่ลบ มองเขาเป็นเพื่อนบ้านที่คิดไม่ซื่อ

มุมมองของเขาก็จะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง

เหมือนกับเรามีเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ถ้าเราไม่ชอบหน้าเขา ทันทีที่มีกิ่งไม้ยื่นเข้ามาในบ้านเรา

เราจะไม่พอใจ คิดว่าเพื่อนบ้านแกล้ง จะคิดละเอียดเลยว่าจะต้องจัดการอย่างไร จะว่าเขาอย่างไรดีให้เจ็บแสบที่สุด

จินตนาการที่เกิดขึ้นจะเต็มเปี่ยมไปด้วยแง่มุมในทางลบมากมาย

แต่ถ้าคนที่ยอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา และคิดว่ากัมพูชาเป็น “เพื่อนบ้าน” เขาจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศ

เห็นกิ่งไม้ยื่นเข้ามาก็รู้สึกว่าเป็นร่มเงาให้กับบ้านเรา

หรือถ้ามีปัญหาก็จะบอกเพื่อนบ้านดีๆ

คิดละเอียดเหมือนกัน แต่คิดละเอียดว่าจะหาวิธีบอกอย่างไรดีที่จะไม่ให้เพื่อนบ้านไม่พอใจ

ครับ พื้นฐานความคิดจะกำหนดมุมมองโลกที่แตกต่างกัน

…..

แต่ “ตัวแปรสำคัญ” ในเรื่องนี้ คือ เรื่อง “ความหวาดระแวง” ถ้ารัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่ “นพดล ปัทมะ” ซึ่งเคยเป็นทนายส่วนตัวของ “ทักษิณ ชินวัตร

ถ้าไม่มีข่าวว่า “ทักษิณ” ไปเจรจาเรื่องการเช่าเกาะกงกับ “ฮุนเซน”

เชื่อไหมครับว่าความเห็นของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ จนถึงเจ้ากรมแผนที่ทหาร จะมีน้ำหนักมากกว่านี้

แต่เพราะหวาดระแวงในตัว “นพดล” และ “ทักษิณ

คนส่วนใหญ่จึงมองเรื่องนี้ว่ามีเบื้องหลังเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน

มองเห็นแต่ “ปัญหา” ไม่เห็น “โอกาส

คิดแต่ว่า “กัมพูชา” จะได้ โดยที่ไม่ได้มองเลยว่า “ไทย” ได้อะไรจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้บ้าง

“เขาพระวิหาร” นั้น เหมือนกับ “ที่ดินตาบอด”

“ตา” จะหาย “บอด” ก็ต้องขึ้นที่ฝั่งไทย

การขึ้นทะเบียนมรดกโลก คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินตาบอด

ทางออกก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันที

นักท่องเที่ยวจะขึ้นฝั่งไหน ถ้ามีการลงทุนสร้างโรงแรมจะสร้างตรงไหน ?

คิดนิดเดียวก็จะรู้ว่าใครได้ประโยชน์

หรือเรื่องที่บอกว่าให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน

เรื่องนี้ลองคิดแบบใจเขาใจเรา

คิดในมุมกลับว่าถ้าไทยเป็นเจ้าของ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ส่วนกัมพูชาเป็นเจ้าของทางขึ้น เราจะยอมรับข้อเสนอนี้ไหม

อย่าลืมนะครับเจ้าของที่ดินทางออกนั้นมีอำนาจต่อรองในระดับหนึ่ง

แต่ต้องไม่ทำให้เจ้าของที่ดินรู้สึกว่าคุณจะมาถือหุ้น 50-50 เท่ากัน

ใจเขา-ใจเรา ครับ

แค่ผ่าตัดถ่ายโอนหัวใจทางจินตนาการนิดเดียว ปัญหาก็คงไม่ลุกลามไปกว่านี้

สำหรับผม ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารเป็นตัวอย่างทีดีในเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ

ความน่าเชื่อถือ” นั้น มีราคามาก

ต่อให้ข้อมูลจะดีแค่ไหน ถ้าคนนำเสนอไม่น่าเชื่อถือลูกค้าก็ไม่ซื้อครับ

From : ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4016 (3216)
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02mar07070751&day=2008-07-07&sectionid=0207

 

 

 

 

 

 

 

 

Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose?

7 July 2008 Leave a comment

Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose?

หลายๆคน วิจารณ์โดยไม่มีหลักฐานเอกสารใดๆ
ในกรณีเขาพระวิหาร
ว่ารัฐบาลของคณะรัฐประหาร โดย คุณ สุรยุทธ์ ได้ลงนามตกลง
กรณีเขาพระวิหาร กับกับพูชาอย่างไร

ผมก็เลยไปค้นเอกสารมา อ้างอิงได้ที่นี่
http://whc.unesco.org/archive/2007/whc07-31com-24e.pdf
ซึ่งเป็น เอกสารการประชุมที่ประชุมได้มีมติรับรอง
ในที่ประชุม คณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก
ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2550 ไครส์เชิร์ช นิวซีแลนด์
(Thirty-first session, 23 June-2 July 2007, Christchurch, New Zealand)

ในหน้า 153-154 จะเห็นชัดเจนดังนี้

Decision: 31 COM 8B.24
 
The World Heritage Committee,
 
1. Having examined Documents WHC-07/31.COM/8B and WHC-07/31.COM/INF.8B.1,
 
2. Having taken note of the following statement by the Chairperson of the World Heritage
Committee which has been agreed to by the Delegation of Cambodia and the
Delegation of Thailand:

“The State Party of Cambodia and the State Party of Thailand are in full agreement
that the Sacred Site of the Temple of Preah Vihear has Outstanding Universal Value
and must be inscribed on the World Heritage List as soon as possible. Accordingly,
Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose the site for formal
inscription on the World Heritage List at the 32nd session of the World Heritage
Committee in 2008 with the active support of Thailand.
 
They also agree that the site is in need of urgent attention and requires international
financial and technical assistance and close cooperation between them.
They further agree that it is essential to strengthen conservation and management at
the site including by the development of an appropriate management plan, as required
under paragraph 108 of the  Operational Guidelines, that will ensure the future
protection of this property.
 
They understand, following consultation with the World Heritage Centre, that financial
and technical assistance for the development of a management plan will be available
through the World Heritage Centre’s International Assistance programme.”

สังเกตแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจน เน้นแค่ในประโยคนี้ครับ

The State Party of Cambodia and the State Party of Thailand are in full agreement
that the Sacred Site of the Temple of Preah Vihear has Outstanding Universal Value
and must be inscribed on the World Heritage List as soon as possible. Accordingly,
Cambodia and Thailand agree that Cambodia will propose the site for formal
inscription on the World Heritage List at the 32nd session of the World Heritage
Committee in 2008 with the active support of Thailand.

ใครจะอ้างก็คงฟังไม่ขึ้น
ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้น ขอร่วมเป็นเจ้าของมรดกโลก อย่างเขาพระวิหาร
นอกจากจะอ่านภาษาอังกฤษไม่แตก
หรือแถไถไปเรื่อย เพราะผลประโยชน์ส่วนตัว

ที่น่าขันก็คือว่า เวปไซต์ผู้จัดการ เคยลงข่าวนี้ เมื่อปี 2550 หรือ 2007
ซึ่งถ้าอ่านเนื้อหาดู ไม่มีส่วนไหน ที่บอกว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้ ต้องเสนอให้ไทยเป็นเจ้าของร่วมด้วย ลองอ่านดูดังนี้
(หรืออาจจะเข้าไปดูรูปที่ capture หน้าจอ ที่นี่ http://img370.imageshack.us/img370/512/cambodiamanageraa1.png)

ไทยหนุนขึ้นทะเบียน "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นมรดกโลก

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 5 กรกฎาคม 2550 19:57 น.

ดร.มนัสพาสน์ ชูโต ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจทราบมติของคณะกรรมการมรดกโลก ว่า ทางการไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และขอให้หน่วยราชการทุกฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะเกื้อกูลความร่วมมือระหว่าง ไทย-กัมพูชา ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นอย่างแข็งขัน เพื่อเอื้ออำนวยให้กระบวนการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ประธานที่ประชุมได้ขอร้องให้คณะผู้แทนไทยเสนอแผนปฏิบัติงานบางส่วนเกี่ยว กับเรื่องนี้ ซึ่งไทยสนองตอบด้วยดี ขณะนี้คณะกรรมการมรดกโลกได้มีฉันทามติแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องแสดงให้ปรากฏชัดว่า ฝ่ายไทยจริงจังและจริงใจที่จะสนับสนุน กัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ให้ข้อเสนอขึ้นทะเบียนของกัมพูชามีความสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะฟื้นการปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งจะมีเรื่องการบูรณะปฏิสังขรณ์ปราสาท โดยกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของไทยพร้อมประสานงานกับฝ่าย กัมพูชาเพื่อบูรณะ เสริมคุณค่าสากลของปราสาทให้ดีขึ้นตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 31 สิ้นสุดลง และคณะกรรมการเฉพาะกิจฯจะทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการจะสัมฤทธิผลในการประชุมคณะ กรรมการมรดกโลกสมัยประชุมครั้งที่ 32 ที่ประเทศแคนาดาในปี 2551

From : http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000078607 

ซึ่งกรณีการรับรองแบบนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกรณี ที่แสดงให้ชาวโลก รับรู้ว่า
ประเทศไทย รับรองสิทธิความเป็นเจ้าของเขาพระวิหาร ของกัมพูชา

Categories: News and politics

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่

3 July 2008 2 comments

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่

วันที่ 3 กรกฏาคม 2551 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร
สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่มิเตอร์)
ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร จะมีผลบังคับใช้
ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ ปรับราคาเพิ่มขึ้น ดังนี้

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ ปี 2551

อัตราค่าโดยสารสำหรับระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 2-12 กิโลเมตรละ 5 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 12-20 กิโลเมตรละ 5.50 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 20-40 กิโลเมเมตรละ 6 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 40-60 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 60-80 กิโลเมตรละ 7.50 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 80 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 8.50 บาท

ส่วนกรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อัตราค่าโดยสารนาทีละ 1.50 บาท
กรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารของผู้รับจ้าง
ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากที่แสดงในมิเตอร์อีก 20 บาท
กรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ให้เก็บค่าจ้างเพิ่มอีก 50 บาท

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ ปี 2539

อัตราค่าโดยสารสำหรับระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 35 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 2-12 กิโลเมตรละ 4.50 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 12-20 กิโลเมตรละ 5 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 20 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 5.50 บาท

อัตราค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ ปี 2535

อัตราค่าโดยสารสำหรับระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 35 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 2-3 กิโลเมตรละ 5 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 3-5 กิโลเมตรละ 4.50 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 5-7 กิโลเมตรละ 4 บาท
ระยะทางกิโลเมตรที่ 7 ขึ้นไป กิโลเมตรละ 3.50 บาท

Categories: Other