Archive

Archive for June, 2010

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

23 June 2010 Leave a comment

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาเป็นคู่กัดระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แต่ละฟากมีมวลชนหนุนหลังเป็นจำนวนมากและก้ำกึ่งกัน คือระหว่าง 3-4 ล้านคน (งานวิจัยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ) หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ 2 กลุ่มรวมกันก็เป็นร้อยละ 20

แต่ละฟากระดมมวลชนโดยชูประเด็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

ฟากเหลืองชูประเด็นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองจริยธรรมที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเมืองที่คนชั้นกลางมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

ฟากแดงเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ความเป็นธรรมในสังคม การยกเลิกระบบสองมาตรฐาน บางกลุ่มในคนเสื้อแดงตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากผู้ที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยม

ในงานศึกษาของเอนกและคณะก็พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น วิเคราะห์ได้เป็นความขัดแย้ง 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่

ระดับที่หนึ่ง คือ ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ

อีกระดับหนึ่งเป็นความขัดแย้งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทับถมมานาน เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวชนชั้นนำ คือ การแก่งแย่งที่จะนำสังคม ระหว่างขั้ว นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากทักษิณ (แดง) กับนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากต่อต้านทักษิณ (เหลือง)

อันที่จริง ณ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ชนชั้นนำไทยยังไม่ได้แบ่งขั้ว แทบทุกกลุ่มสนับสนุนทักษิณให้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยพวกเขามีความคาดหวังให้ทักษิณฟื้นฟูและปกป้องระบบเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต อีกทั้งให้นำนักธุรกิจไทยอยู่รอดปลอดภัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขาได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนพรรคทักษิณได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา แต่ต่อมาพบว่าทักษิณดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากความคาดหวังในหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แทนที่จะปกป้องทุนไทยจากโลกาภิวัตน์ ทักษิณกลับนำเศรษฐกิจถลำลึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ พร้อมกับที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัวรวมทั้งพวกพ้องได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มทุนที่ไม่ใช่พรรคพวก

สอง ทักษิณผงาดขึ้นเป็นผู้นำประชานิยมที่สามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากมวลชนชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนรายได้น้อย-ปานกลาง ในเขตเทศบาลอย่างล้นหลาม โดยใช้ชุดนโยบายประชานิยมและบารมีความเป็นผู้นำที่มวลชนรู้สึกว่าให้ความเป็นกันเอง และทำให้พวกเขารู้สึกมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองใดในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเคยทำได้ถึงขนาดนี้

นโยบายประชานิยมส่งผลให้ต้องดึงเอางบประมาณประจำปีที่ชนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยออกไปปันให้ชาวบ้าน

ขณะที่ชนชั้นกลางเห็นว่าเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายมากกว่าชาวบ้านในชนบท ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นกังวลต่อไปว่า การใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมนั้น นอกจากว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะก่อหนี้สาธารณะที่จะต้องชดใช้ต่อไปในอนาคต

สาม ความนิยมทักษิณอย่างล้นหลามมีนัยยะว่า พรรคของเขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดความเป็นกังวลว่าทักษิณจะครองเมืองเนิ่นนานไม่สิ้นสุด

สี่ นโยบายต่อต้านยาเสพติดและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุ อีกทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่โยงกับตัวเขา สมาชิกครอบครัวและพรรคพวก ทำให้ผู้ที่เคยนิยมทักษิณเปลี่ยนใจ

ขบวนการคนเสื้อเหลืองจึงก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณและพรรคพวกของเขา (ผู้สนับสนุนเสื้อแดงจำนวนมากก็เคยอยู่ในขบวนการนี้ แต่ได้แยกออกไปในภายหลัง) ต่อมาได้มีการขยายประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น บวกกับความไม่จงรักภักดี เป็นประเด็นดึงมวลชนเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อเหลือง เพื่อล้มระบอบ “ทักษิณา-ประชานิยม”

แล้วนำเมืองไทยกลับสู่ระบอบก่อนทักษิณ หรือที่เอนกเรียกว่า ระบอบหลัง 14 ตุลา 2516

สำหรับต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างนั้น นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งได้ทับถมมาจากอดีต (นิธิ, บวรศักดิ์, เอนก, เกษียร, ปีเตอร์ วอร์, ริค โดเนอร์, ชาร์ลส์ คายส์)

งานวิจัยภาคสนามของเอนกและคณะ สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้ตัวอย่างกว่า 5,500 ราย พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเป็นที่ตระหนักกันว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงมาจากเขตชนบทของภาคอีสานและเหนือเป็นจำนวนมาก และที่เป็นคนงานอพยพทำงานในเขตเมืองต่างๆ และที่กรุงเทพฯ และยังมีมาจากคนรายได้ระดับปานกลางและต่ำภายในเขตเทศบาล

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อีสานและภาคเหนือของไทยรู้สึกอยู่เสมอว่าชาวเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯดูถูกดูแคลนพวกเขา บ้างก็ว่าเป็นคนลาว คนเมือง ไร้การศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ ละครโทรทัศน์จำนวนมากให้ภาพตัวละครจากอีสานหรือชาวบ้านชนบทเป็นคนเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ และผู้สร้างละครมักจะไม่สนใจว่าชาวบ้านจริงๆ เขารู้สึกรู้สากับภาพพจน์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาตระหนักดี และอาจจะเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ลึกๆ มาเป็นเวลานาน

สำหรับปัญหาโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่อง “จนแทบตายแบบแต่ก่อน” แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนมี” “คนไม่มี” โดยในประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความมุ่งหวัง (rising expectation) ด้วย

คนจนในเมืองไทยเคยมีถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (พ.ศ.2503) แต่ขณะนี้ (2550) ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกลับสูงขึ้น สถิติที่มีอยู่บอกเราว่า คนจนร้อยละ 20 ของประเทศเคยมีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 6 ขณะนี้ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 แต่คนรวยสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศเพิ่มจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 54

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเมืองไทยขณะนี้สูงกว่าที่ในยุโรป และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน แต่สูงกว่าที่อเมริกาเพียงเล็กน้อย

นักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า บางทีเจ้าตัวปัญหาอาจจะไม่ใช่ขนาดของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะที่อเมริกาก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่ บางทีเจ้าตัวปัญหาหลัก คือ มีความคาดหวังแล้วผิดคาด

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่มาปะทุขึ้นมากหลังจากที่เศรษฐกิจบูม แล้วฟุบลงอย่างฮวบฮาบ เศรษฐกิจบูมสร้างความมุ่งหวังให้ผู้คนจำนวนมาก แล้วจู่ๆ เศรษฐกิจฟุบฮวบลงเมื่อ พ.ศ.2540 คนรวยก็เจอปัญหา แต่คนรวยสายป่านยาวกว่า และมีพรรคพวกอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะช่วยได้มากกว่าคนจน ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยว่าจึงมีความคับข้องใจสูง

โดยสรุป ปัญหาโครงสร้างมีองค์ประกอบของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และความคาดหวังที่ไม่สมหวังด้วย

ภาวการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบทักษิณพุ่งขึ้นสู่อำนาจได้ ปัญหาโครงสร้างนี้ถ้าไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นตอก็ไม่จะไม่สามารถป้องกันการก่อตัวของนักการเมืองแบบทักษิณในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่ใช้ทักษิณก็อาจมีคนอื่นพุ่งขึ้นมาได้

จากข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมานี้ เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ประการที่หนึ่ง การที่คู่ความขัดแย้งมีมวลชนหนุนหลังอยู่พอๆ กันและเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ทางออกที่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีต้นทุนสูงมาก จนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง ทั้ง 2 ขั้ว มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (พรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยมที่อังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้) ที่ต้องคิดคือ ต้องสร้างกรอบกติกาทางการเมืองที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้แบบสร้างสรรค์ เอนกและคณะได้กล่าวไว้ให้คิดต่อว่า

“ทางเลือกที่จะเดินต่อไปนั้น คือ การปราบปราม ขจัด หรือบั่นทอนสีแดง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา 2516 ให้คงต่อไป แต่วิธีการนี้อันตรายเหลือเกินสำหรับสถาบัน จำเป็นที่จะต้องร่วมกันลอกคราบประชาธิปไตยและเดินอีกทางหนึ่ง คือ ไม่ให้ใครแพ้หมด ชนะหมด…

ประชาธิปไตยจากนี้ไปจะต้องฟังเสียงของประชาชนในความหมายของข้างมาก…(หน้า 119)

แต่ต้องเคารพสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย” (หน้า 127) และ

“ระบอบใหม่นี้…ยังต้องขึ้นกับสามฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ Monarchy (สถาบันในความหมายจำกัดยิ่งขึ้น) หนึ่ง Aristocracy (หมายรวมถึงคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา สื่อ ปัญญาชน ข้าราชการ) หนึ่งและ Democracy (ประชาชนผู้หย่อนบัตร คนธรรมดา สามัญชน คนยากจน) เพียงแต่ลูกตุ้มของนาฬิกาการเมืองเรือนนี้จะเหวี่ยงไปสู่ขั้ว Democracy มากขึ้น” (หน้า 119) ผู้เขียนเข้าใจว่าเอนกและคณะวิเคราะห์ระบอบนี้ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง

ประการที่สาม เนื่องจากต้นตอของปัญหายังมีเรื่องความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย

เมื่อพูดถึงการประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ จึงต้องหมายถึงการนำคนระดับหัวของทั้งสองฝ่ายให้มาพูดคุยกัน ในประเด็นนี้นั้นข้อคิดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงน่าพิจารณา “ถ้าคุณกล่าวว่ามิสเตอร์ x (ทักษิณ) เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักเหตุผลคุณจะต้องเจรจากับมิสเตอร์ x”

ขอฝากข้อสังเกตทั้งสามประการนี้ให้รัฐบาลนำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขบคิดและดำเนินการ เพราะว่านี่เป็นภารกิจของท่านโดยแท้

มติชนรายวัน, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11792

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ในบทความที่กล่าวถึง ระดับของความคาดหวัง และระดับรายได้ ควรอ่านประกอบเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น กับบทความด้านล่างนี้

“เสื้อแดงคือใคร, อภิชาติ สถิตนิรามัย”

http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!859.entry

ผลสำรวจเสื้อแดง ล่าสุดสู้เพราะ “เอือม 2 มาตรฐาน” ไม่ใช่ยากจน-ไล่อำมาตย์ ลั่นอย่ามองเป็น “วัว-ควาย”

15 June 2010 Leave a comment

ผลสำรวจเสื้อแดงล่าสุดสู้เพราะ "เอือม 2 มาตรฐาน" ไม่ใช่ยากจน-ไล่อำมาตย์ ลั่นอย่ามองเป็น "วัว-ควาย"

ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนาหัวข้อ "มิติใหม่ในการชุมนุมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย : กรณีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ" เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เนื่องใจโอกาสสถาปนาคณะครบรอบปีที่ 61 โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ประภาศ ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.อภิชาต เป็นผู้ร่วมเสวนาคนแรกที่แสดงความคิดเห็นในเชิงเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับปรากฎการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง โดยหยิบยกผลการสำรวจจากหมูบ้านต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม อุบลราชธานี และเชียงใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวอย่างจำนวนไม่มากแต่พอที่จะทำอ้างอิงเป็นตัวแทนของ 1 หมู่บ้านได้ ภายหลังวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

คำถามแรกที่อยากรู้คือใครคือเป็นเสื้อสีอะไร ในหมู่บ้านจังหวัดนครปฐมพบว่า เสื้อแดงส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง ขณะเสื้อเหลืองส่วนมากทำอาชีพค้าขายและรับราชการ

ส่วนระดับการศึกษาพบว่า เสื้อเหลืองจะมีการศึกษาสูงกว่าเสื้อแดง ด้านรายได้พบว่า ค่าเฉลี่ยต่อเดือน ในอาชีพหลักเสื้อเหลืองเยอะกว่าเสื้อแดง แต่เสื้อแดงมีรายได้มากกว่าคนไม่มีเสื้อ

ประเด็นต่อไปที่อยากรู้คือความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้น มีผลอย่างไรต่อคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองบ้าง จากการเก็บข้อมูลพบว่า ในการประเมินแบบอัตวิสัยพบว่า ทั้งเหลืองและแดงมองว่า ตัวเองเป็นคนชั้นกลางทั้งนั้น แต่คนเสื้อเหลืองมองตัวเองว่าเป็นคนจน มากกว่าที่คนเสื้อแดงมองตนเอง

"เมื่อถามว่าแต่ละคนคิดยังไงต่อการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้น เสื้อเหลืองมองว่า ปัญหาการดังกล่าวมีมากกว่าที่คนเสื้อแดงมองในปัญหาเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราจึงพอสรุปได้ว่า ความคับข้องใจของคนเสื้อแดงไม่ได้มากจากปัญหาการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะคนเสื้อแดงยังพอรับได้ ผิดกับเสื้อเหลืองที่มองปัญหาดังกล่าวใหญ่กว่า จึงสรุปว่า ความยากจนในเชิงภาววิสัยไม่ใช่ปัญหาของคนเสื้อแดง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในทางอัตวิสัยเป็นปัญหากับเสื้อเหลืองมากกว่าเสื้อแดง อาจพูดได้ว่า เสื้อเหลืองไม่พอเพียงมากกว่าเสื้อแดงด้วยซ้ำไป" ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวและว่า ดังนั้น ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของคนเสื้อแดง ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงของคนเสื้อแดง

ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า จากการลงไปศึกษากลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ปัญหาใหญ่ที่พวกเขาประสบคือเรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกว่าโดนดูถูกเหยียดหยาม จึงยิ่งต้องรู้สึกอยากต่อสู้ร่วมกับเสื้อแดงเพื่อทวงสิทธิของคืน หรือทำให้เกิดการยุบสภา ความคับข้องที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในด้านภาววิสัยและอัตวิสัย แต่ในแง่ความคับข้องใจนั้น กลับพบว่า มีความแตกต่างในแง่พื้นที่ เช่น ชาวนาในนครปฐมจะไม่รู้สึกคับข้องใจเท่ากับคนเสื้อแดงในอุบลราชธานี จึงขอเรียกว่า "ปมอีสาน" ขณะที่เสื้อแดงเชียงใหม่นั้น ไม่มีความแน่ใจในอนาคตเช่นกัน แต่ไม่รู้สึกเหมือนเสื้อแดงอุบลฯ และในเรื่องความเป็นเมือง ก็ไม่มีความรู้สึกว่า ตกเป็นอณานิคมของชาวกรุงอีกด้วย

ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวถึงนโยบายประชานิยมว่า ในทุกโครงการประชานิยม เสื้อแดงจะได้รับบริการโดยตรงมากกว่าคนเสื้อเหลือง เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เราพบว่าคนเสื้อแดงถึง 81% มารับบริการนี้ ขณะที่คนเสื้อเหลืองมีเพียง 54% เท่านั้น ดังนั้น โครงการประชานิยมจึงโดนใจเสื้อแดงจริง อาจเป็นเพราะคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่อยู่นอกระบบสวัสดิการรัฐและประกันสังคม

นอกจากนี้ โครงการประชานิยมยังสามารถรองรับเรื่องที่ไม่คาดฝัน หรือไม่ทันตั้งรับของทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ (โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค) หรือด้านการเงิน (กองทุนหมู่บ้าน) เพราะตรงกับเศรษฐกิจยุคใหม่ในชนบท ซึ่งในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปหมดแล้ว ชาวนามีรถไถใช้แทบทุกครัวเรือน

"เมื่อถามต่อว่าคนเสื้อแดงออกมาประท้วงเพราะอะไร คำถาม 3 ข้อแรกได้แก่ 1.เรื่อง 2 มาตรฐาน 2.ต่อต้านการรัฐประหาร และ 3.ต่อต้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนเหตุผลเรื่องการต่อต้านอำมาตย์นั้นไม่มีเลย ส่วนการต่อต้านการยากจนนั้น มีคนเลือกน้อยมาก ขณะที่ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำนั้น ไม่มีคนเลือกเลย ดังนั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ จึงขอสรุปว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นมีเหตุผลมาจากความขัดแย้งทางด้านการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและความเท่าเทียม" ผศ.ดร.อภิชาต กล่าว

ผศ.ดร.ประภาศ กล่าวเสริม ผศ.ดร.อภิชาตว่า เราได้ขอสรุปใหญ่ว่า คนเสื้อแดงไม่ใช่รากหญ้าแต่เป็นยอดหญ้า ที่เข้ามาสัมพันธ์กับเศรษฐกิจการตลาดและเมือง ที่เข้ามาชุมนุมกัน ดังนั้น อย่าไปบอกว่าเขาเป็นพวกวัวควายถูกจูงมา คนพวกนี้มีชีวิตสัมพันธ์กับการเมืองและการต่อรองใช้ทรัพยากรของรัฐ ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ ชีวิตต้องอยู่กับความเป็นจริง การเลือกตั้งในช่วงประชาธิปไตยเต็มใบ ผู้คนก็ใช้ประโยชน์กันได้ ส่วนประชานิยมนั้น วงขอบก็ไม่ค่อยกว้างเท่าไหร่ เราจะเห็นชัดมาก

นายประภาสกล่าวว่า ส่วนเรื่องนักการเมืองและหัวคะแนน ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีทรัพยากรเชื่อมโยงเข้ามา เลยค่อนข้างเห็นด้วยกับ ผศ.ดร.อภิชาตว่า การมาชุมนุมไม่ได้เกิดจากความคับข้องใจ แต่คนมาร่วมชุมนุมมาด้วยประโยชน์ ที่เกิดจากกระบวนการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตย คิดว่าเขาเข้ามาเหมือนกลุ่มผลประโยชน์เพื่อเข้ามารักษานายกฯ หรือพรรคการเมืองที่เขาชื่นชอบ

"ขอสรุปว่า เสื้อแดงเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ นโยบายและการเมือง ต่างไปจากการเมืองภาคประชาชนแบบสมัชชาคนจน เสื้อแดงเป็นมวลชนอีกมิติหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก มีลักษณะเป็นเหมือนที่ ผศ.ดร.อภิชาตพูดไว้ คนเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะมีพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้ชีวิตพวกเขาที่เขาเข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองได้มากขึ้น เข้ามาสัมพันธ์กับพวกหัวคะแนนและนักการเมือง และกลไกพวกนี้ก็สำคัญในการกระจายทรัพยากรของรัฐ ทำให้ชีวิตของเขาทำมาหากินได้มากขึ้น ไม่มีชาวบ้านที่ไหนที่จะออกมาเดินขบวนด้วยเงินของตัวเอง เราพบว่า แกนนำหลักๆ หลายรายก็หมดเนื้อหมดตัวกันไปเหมือนกัน" ผศ.ดร.ประภาศ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า จะมาพูดเรื่องใหม่ใน 4 เรื่อง ได้แก่ ความโกรธ ข่าวลือ สี และการก่อการร้ายที่รัฐบาลชอบพูด

1.เริ่มจากความโกรธก่อน ความโกรธมักเกิดจากการผิดหวัง สิ่งที่ทำลายความคาดหวังมีอยู่หลายอย่าง ตอนนี้กำลังระบาดไปทั่ว สามารถมาจากความรักหรือความชังก็ได้ ขบวนการทางการเมืองที่เราเห็นเป็นขบวนการทางการเมืองที่เต็มไปด้วยอารมณ์ อารมณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยที่น่าสนใจมาก เราจะไม่สามารถเข้าใจการเมืองได้ ถ้าเราไม่เข้าใจความโกรธและวิธีที่อารมณ์ทำงานในสังคมการเมือง

2.ข่าวลือ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ลักษณะพิเศษของข่าวลือคือความไม่แน่นอน ซึ่งความไม่แน่นอนนั้น เป็นอาวุธที่ทรงพลังมากในความขัดแย้งทุกชนิด เวลาสู้กับรัฐและสิ่งที่รัฐพยายามจะทำ คือ รัฐใช้กระบวนการเฝ้ามองและควบคุมที่เน้นความแน่นอน ข่าวลือเป็นอะไรที่ไม่แน่ใจและสามารถเลื่อนไหลได้ ดังนั้น จึงแปลได้ว่า เมื่อคนจำนวน 3,000 คน เดินออกจากวัดปทุมวนารามและกลับไปอยู่ในชุมนุม ก็จะมีเรื่องเล่าอยู่ 3,000 เรื่อง และเมื่อมีคนฟัง เรื่องราวก็จะเดินทางไปอีกหลายลักษณะ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเพิ่มตอนต่างๆ เข้าได้ไป ในลักษณะที่พิสดารมากขึ้น ทั้งน่าสนใจและควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้ ถ้ายิ่งถูกจำกัดเท่าไหร่ ข่าวลือก็ยิ่งควบคุมยากขึ้นเท่านั้น

3.การก่อการร้าย สาระสำคัญของการก่อการร้ายไม่ใช่ความรุนแรง แต่สาระสำคัญ คือ ความกลัว การก่อการร้ายไม่ได้ผลิตความรุนแรงแต่ผลิตความกลัว และความไม่แน่นอนในชีวิต สังคมการเมืองทุกชนิดทำงานภายใต้ฐานของความแน่นอนบางประการ ถ้ามีสิ่งมารบกวน จะทำให้สังคมการเมืองนั้นอยู่ได้อย่างลำบาก แต่ทุกครั้งที่รัฐบาลใช้วาทกรรมเรื่องการก่อการร้าย ไม่ทราบว่ารัฐบาลรู้หรือไม่ว่า การก่อการร้ายเป็นสงครามที่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะคู่ต่อสู้มันมีอยู่ไม่สิ้นสุด เพราะเป็นการต่อสู้กับวิธีการ ไม่ใช่การต่อสู้กับคน ดังนั้น เราควรเรียนรู้จากอิสราเอล กล่าวคือเราควรต้องป้องกันไม่ให้ประชาชนกลายเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด

และ 4. สี ความขัดแย้งทางการเมืองต้องอาศัยอัตลักษณ์ การขัดแย้งทางการเมืองในหลายที่โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ สีผิวเป็นเรื่องสำคัญ แต่สีผิวกับสีเสื้อมันต่างกันตรงที่สีผิวสามารถเปลี่ยนได้ยาก เสื้อกลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง เราเอาความโกรธไปใส่กับสัญลักษณ์ เป็นการแบ่งขั้วในสังคมไทย ซึ่งนับว่าอันตรายในสังคมไทยเหมือนกัน

มติชนออนไลน์, 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Categories: News and politics

ปรองดองบนสองมาตรฐาน, สิริพรรณ นกสวน

8 June 2010 Leave a comment

ปรองดองบนสองมาตรฐาน

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สองมาตรฐานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคน ไทยก็ว่าได้ เราทุกคนคงจะเคยเลือกปฏิบัติต่อคนอื่นๆ และเคยถูกคนอื่นเลือกปฏิบัติด้วยกันทั้งสิ้น แต่กระนั้นคำว่าสองมาตรฐานก็ไม่ใช่คำที่ทุกคนจะให้ความหมายตรงกัน

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ บอกว่ารัฐบาลของท่านไม่มีสองมาตรฐาน แต่ถ้าสถานการณ์ต่างกันจะปฏิบัติเหมือนกันไม่ได้ จึงมองว่าข้อกล่าวหารัฐบาลเป็น "สองมาตรฐานเทียม" ขณะที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อธิบายสองมาตรฐานว่า "…ที่จริงแล้ว มันเป็นมาตรฐานชุดเดียวกัน กล่าวคือ กฎหมาย เหตุผล สิทธิ บำเหน็จรางวัลและโทษทัณฑ์ ตลอดจนระบบคุณค่าอื่นๆ นั้น ใช้กับคนตามฐานะชนชั้นของแต่ละคน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบ "สองมาตรฐาน" ที่เป็นอยู่นี้ คือ รูปแบบหนึ่งของระบบแบ่งแยกคนในสังคม" (จากบทความ "on the Red germs")

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงแนวทางปฏิบัติสองมาตรฐานที่ประชาชนรู้สึก รับรู้ และพูดกันอย่างกว้างขวาง แม้รัฐบาลและนายกฯ อาจไม่เห็นด้วยก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนอุปสรรคทางความคิดที่อาจกั้นกางเส้นทางการปรองดองแห่งชาติ

ประการแรก สองมาตรฐานในการตรวจสอบความจริง ผู้เขียนเชื่อว่า (ซึ่งเป็นความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ในที่เกิดเหตุบน ถ.พระราม 4 การพูดคุยแลกเปลี่ยน และดูคลิปจำนวนมาก ที่มีคนส่งมาให้) มีกองกำลังติดอาวุธแอบแฝงอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมจริง มีผู้ชุมนุมที่โกรธแค้น ลุแก่โทสะไปเผาบ้านเผาเมืองจริง และยอมรับว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ได้ล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในสังคมจริง ซึ่งในประการหลังนี้ การชุมนุมในระยะแรกไม่ได้ต่างไปจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย

แต่ยังมีคำถามสำคัญจำนวนมากที่รัฐบาลไม่ได้ตอบ และดูเหมือนจะทำหลงลืมไป หากไล่เรียงตามเหตุการณ์ คือ ปฏิบัติการ "ขอคืนพื้นที่" เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนินนั้น เป็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุม ที่ยังไม่มีการใช้อาวุธใช่หรือไม่ หากความขัดแย้งกันเองภายในกองทัพ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนายทหารคนสำคัญอย่างที่ร่ำลือกัน การต่อสู้อย่างดุเดือดด้วยอาวุธสงคราม ปืนจริง กระสุนจริง เฮลิคอปเตอร์ปล่อยแก๊สน้ำตาจริง เจ็บจริง ตายจริงในวันนั้น ก็ไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุม ที่หลังเหตุการณ์วันนั้นถูกเรียกขานรวมๆ ว่า "ผู้ก่อการร้าย"

จนถึงทุกวันนี้ กองกำลังชุดดำที่ปฏิบัติการผสมโรงตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ยังไม่ปรากฏชัดว่าเป็นใครและทำงานให้ฝ่ายไหน การที่ ศอฉ.และกองทัพไม่สามารถจับตัวผู้ก่อการร้ายชุดดำ/ชุดพราง และมือเผากลางกรุง ได้แม้แต่คนเดียว บ่งบอกความไร้ประสิทธิภาพ หรือเพราะเหตุผลอื่นใดกันแน่ ภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศชี้ว่า บุคคลถืออาวุธสงครามในชุดดำ/ชุดพราง นั้น มีทั้งที่อยู่ในแนวทหาร และแนวกลุ่มผู้ชุมนุม มีความพยายามพูดถึง "มือที่สาม" แต่มือที่สามนี้สัมพันธ์อย่างไรกับ "มือที่หนึ่ง" และ "มือที่สอง"

นอกจากนั้น ยังมีคำถามคาใจสังคม เช่น ทำไมประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่มีอาวุธ และไม่ได้กำลังต่อสู้กับกองกำลังของรัฐ เกิดอะไรขึ้นในวัดปทุมวนารามซึ่งเป็นเขตอภัยทาน คำอธิบายว่าถูกยิงโดยผู้ก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธฝ่ายผู้ชุมนุมเอง ฟังดูไม่สมเหตุสมผลพอให้เชื่อได้ โศกนาฏกรรมในเขตอภัยทานเป็นผลจากปฏิบัติการผิดพลาด หรือความจงใจ และของใคร

หากประเมินบนมาตรฐานเดียว ทั้งรัฐบาลและ นปช. ควรรับผิดชอบร่วมกันต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น แกนนำ นปช. ควรยอมรับข้อเสนอเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายนและยุติการชุมนุม รัฐบาลเองมีทางเลือกที่จะป้องกันการสูญเสีย เช่น จัดการไม่ให้สถานการณ์บานปลาย หรือยุบสภาก่อนหน้านี้ หรือลาออก แต่ทางเลือกเหล่านี้ไม่ได้ถูกเลือก ที่น่าเศร้าใจ คือ จนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นการแสดงความรับผิดชอบใดๆ จากฝ่ายรัฐบาล หรือแม้คำขอโทษจากปากผู้นำประเทศ

ประการที่สอง สองมาตรฐานในการเยียวยา รัฐบาลได้ทุ่มเงินและกระหน่ำประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากการชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรต้องทำ แต่ที่เรียกว่าสองมาตรฐานเพราะไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนนอกกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะผู้มาชุมนุมโดยปราศจากอาวุธที่ (ถูก) สลายตัวไป ที่ผ่านมา ไม่มีการติดตามสอบถามจากฝ่ายรัฐบาลว่าคนเหล่านี้กลับถึงบ้านอย่างไร เหตุใดคนจำนวนมากจึงออกมาชุมนุม คนเหล่านี้เรียกร้องอะไร การเยียวยาข้างเดียวเช่นที่เป็นอยู่นี้ ไม่ช่วยให้สังคมเข้าใจได้ว่ารัฐบาลเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลเฉพาะของคนกรุงเทพฯ

อย่าลืมว่า กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย หากการเยียวยาแบบสองมาตรฐานดำเนินต่อไป ชนบทอาจลุกขึ้นมาตัดขาดกรุงเทพฯ ด้วยความคับแค้นใจ เมื่อคนกรุงเทพฯ ไม่มีน้ำ ไม่มีข้าว ไม่มีคนงานก่อสร้าง และอื่นๆ จะอยู่อย่างไร

ประการสุดท้าย สองมาตรฐานในการสื่อสารกับสังคม การนำเสนอข้อมูลด้านเดียวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านช่องทางสื่อสารของรัฐบาล พร้อมๆ กับปิดกั้นช่องทางสื่อสารของผู้ไม่เห็นด้วยเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐอำนาจนิยม หากจะแก้ตัวว่า รายการต่างๆ ที่เสนอความเห็นด้านเดียวในช่องทีวีที่เรียกในภาษาชาวบ้านว่าช่องหอยม่วง เป็นการเอาคืนรายการความจริงวันนี้ ของคุณวีระ คุณจตุพร และคุณณัฐวุฒิ ในสมัยรัฐบาลคุณสมัคร-คุณสมชาย แล้วละก็ ต้องบอกว่า ช่างน่าสงสารประเทศไทยจริงๆ ที่ต้องตกอยู่ภายใต้ผู้นำที่เห็นแก่ตัวไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะยุคใดสมัยไหน

แม้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลยังใจไม่กว้างพอที่จะซูมคลิปวีดิโอของฝ่ายค้านให้มีขนาดภาพและความ ชัดเจนเหมือนคลิปของฝ่ายตนเอง นอกจากนั้น รัฐบาลยังสองมาตรฐานกับอารมณ์ขันของคน ด้วยการปิดคลิปล้อเลียน "ศอฮ." ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค (Facebook) ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลแต่อย่างใด ขณะที่คลิปชื่นชม ศอฉ. กลับถูกส่งต่อออกไปอย่างแพร่หลาย

การสื่อสารแบบสองมาตรฐานไม่ได้ทำให้สังคมโดยรวม เรียนรู้ที่จะแบ่งปันความทุกข์ยากและปัญหาของคนทั้งประเทศ ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับคนไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี แนวทางปฏิบัติเช่นนี้เป็นการผลักให้คนที่เห็นต่างจากรัฐบาลในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ได้นิยมคุณทักษิณ ไปยืนอยู่ในจุดตรงข้ามกับรัฐบาลอย่างเต็มตัว

ในสังคมที่รายได้ การศึกษา มาตรฐานการดำเนินชีวิต และวิธีคิดเป็นคู่ขนานอย่างประเทศไทย รัฐบาลมีภาระหนักอึ้งที่จะประสานความแตกต่าง ที่เป็นชนวนของความแตกแยก หากยังปล่อยให้สังคมส่วนที่ด้อยกว่า เสียเปรียบกว่า รู้สึกขมขื่น เคว้งคว้าง และสับสน อยู่เช่นนี้ รับประกันได้เลยว่าแผนปรองดองล้มเหลวตั้งแต่แกะกล่อง

กรุงเทพธุรกิจ, วันอังคารที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Categories: News and politics

แด่คนกรุงเทพฯ, อภิชาต สถิตนิรามัย

3 June 2010 Leave a comment

แด่คนกรุงเทพฯ

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

โดย อภิชาต สถิตนิรามัย apichat@econ.tu.ac.th

ข้อมูลในตารางของ 18 จังหวัดในภาคอีสาน ภาคเหนือ และกรุงเทพฯ ซึ่งถูกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรงนั้น ประกอบด้วยตัวชี้วัดด้านรายได้ (Income index) และตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง-สังคม (Participation index) ตัวชี้วัดแรก ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 4 ตัว คือ ระดับรายได้ของครัวเรือน อัตราความยากจน (Poverty incidence) ครัวเรือนที่เป็นหนี้ และระดับความไม่เท่าเทียมของรายได้ (Gini) ส่วนตัวชี้วัดที่ 2 ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อย 4 ตัวเช่นกัน คือ อัตราการลงคะแนนเลือกตั้ง (Voter turnout) จำนวนการรวมกลุ่ม (Community group) ครัวเรือนที่เข้าร่วมในกิจกรรมกลุ่มท้องถิ่น (Household participating in local group) และครัวเรือนที่เข้าร่วมในกิจกรรมบริการสังคม (Household participating in social service)

http://img695.imageshack.us/img695/5138/edi05310553p2.jpg

จากตาราง กรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่ตัวชี้วัดด้านรายได้มีค่าสูงสุดในประเทศ แต่ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมต่ำที่สุด ในขณะที่จังหวัดมุกดาหารมีค่าเฉลี่ยรายได้ลำดับที่ 66 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มจังหวัดที่ยากจนที่สุดของไทย (ชั้นที่ 1) แต่ตัวชี้วัดด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองมีค่าสูงสุดของประเทศ พูดอีกแบบคือ กรุงเทพฯเป็นจังหวัดคู่ตรงข้ามของมุกดาหาร หากเหมาเอาว่าส่วนใหญ่ของคนกรุงเป็นเหลืองแล้ว คนส่วนใหญ่ของมุกดาหารย่อมเป็นแดง

เมื่อพิจารณาทั้ง 17 จังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพฯ) จะพบว่า 1.ในแง่รายได้ มีถึง 10 จังหวัดที่ตกอยู่ในกลุ่มที่ฐานะทางเศรษฐกิจแย่ที่สุดของประเทศ (ชั้นที่ 1) อีก 4 จังหวัดอยู่ในชั้นที่ 2 และมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่อยู่ในชั้นที่ 3 สรุปแล้วฐานะของคนเสื้อแดงก็คือ คนจนถึงคนชั้นกลาง 2.ในแง่การมีส่วนร่วมด้านการเมือง-สังคม ภาพของทั้ง 17 จังหวัดกลับหัวกลับหางกับภาพด้านเศรษฐกิจกล่าวคือ มีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้นที่ตกอยู่ในชั้นที่ 2 (ค่อนข้างต่ำ) อีก 5 จังหวัดอยู่ชั้นที่ 3 ในขณะที่ 4 จังหวัดเป็นชั้นที่ 4 และอีก 3 จังหวัดมีระดับการมีส่วนร่วมสูงสุด (ชั้นที่ 5) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ส่วนใหญ่ของคนใน 17 จังหวัดแดง มีส่วนร่วมทางการเมืองและมีกิจกรรมรวมหมู่ระดับสูง

เรา "อ่าน" อะไรได้บ้างจากตัวเลขชุดนี้ ผมอ่านว่า

1 คนใน 17 จังหวัดนั้นเป็นพลเมืองผู้ตื่นตัว (active citizen) มากกว่าคนกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจแย่กว่ามาก ดังนั้นการกล่าวหาของคนกรุงเทพฯต่อคนเสื้อแดงว่าเป็นได้แค่ม็อบเติมเงิน ม็อบรับจ้าง จึงไม่น่าจะถูกต้อง เขาเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง-สังคมมากกว่าคนกรุงเทพฯเสียอีก คนกรุงต่างหากที่เป็นผู้ไม่สนใจ ไม่ไปเลือกตั้ง ไม่เข้าร่วม ไม่รวมกลุ่มทำกิจกรรมรวมหมู่ พูดง่าย ๆ คือ เป็นผู้เฉื่อยชาทางการเมืองและสังคมมากกว่าคนเหนือและคนอีสานที่ตนดูแคลน

2 ทำไมคนที่รวยกว่า เช่น คนกรุงจึงมีกิจกรรมรวมหมู่น้อยกว่าคนต่างจังหวัด ตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า เพราะคนกรุงมีความจำเป็นในการรวมกลุ่มน้อยกว่า กรุงเทพฯในฐานะศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศได้รับการประคบประหงมจากรัฐมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสาธารณูปโภคทางกายภาพทุกแบบ การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ

ดังนั้น ไม่ว่าคนกรุงจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำแค่ไหน รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนก็ต้องเอาใจคนกรุงอยู่แล้ว คนกรุงจึงไม่เห็นว่าการเลือกตั้งคือเครื่องมือทางการเมืองที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิผลในการแย่งชิงทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ของพื้นที่กรุงเทพฯ คงไม่ต้องแจกแจงในรายละเอียดว่า คนกรุงมีเครื่องมืออื่นที่ทรงอำนาจมากกว่าการเลือกตั้งมาก เช่น สื่อกระแสหลักทุกประเภท (และชนชั้นนำทุกแบบของสังคมก็เป็นคนกรุงด้วย) ลองจิตนาการว่า คุณเป็นคนมุกดาหาร จังหวัดไกลปืนเที่ยง แล้วอยากได้ใคร่มีสาธารณูปโภค โรงเรียน หรือโรงพยาบาล คุณจะต้องทำอะไรบ้าง ง่ายที่สุดคือการเลือกตั้ง ส.ส. พรรค หรือ อบต.ที่คุณคิดว่าจะนำมาซึ่งสิ่งเหล่านี้ (อย่าลืมว่าทำไมสุพรรณบุรีจึงมีชื่อเล่นว่า บรรหารบุรี) หรือไม่คุณก็ต้องรวมกลุ่มกันแล้วไปต่อรอง เรียกร้องกับผู้มีอำนาจ-หน้าที่นั้นๆ ในแง่นี้จึงไม่แปลกที่มุกดาหารจะมีคะแนนการมีส่วนร่วมสูงที่สุดในประเทศ

ไม่แปลกอีกเช่นกันที่คนกรุงเทพฯคัดค้านข้อเรียกร้องยุบสภาของเสื้อแดง จนกระทั่งยอมออกใบอนุญาตฆ่าให้แก่รัฐบาลอภิสิทธิ์ (ชน) เพราะรู้ดีว่าไม่มีทางชนะในระบบเลือกตั้งที่คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปมีคุณค่า-น้ำหนักทางการเมืองเท่ากัน เนื่องจากข้อเท็จจริงพื้นๆ ว่า คนกรุงมีจำนวนน้อยกว่าคนต่างจังหวัด ไม่แปลกเลยที่คนกรุงจำนวนมากจะเห็นด้วยกับ "การเมืองใหม่" แบบ 70/30 ของฝ่ายพันธมิตรฯ และผมจะไม่แปลกใจเลยหากมีตัวเลขยืนยันว่าคนกรุงเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นขั้นต่ำสุดของระบอบประชาธิปไตย น้อยกว่าคนอีสาน

ประชาชาติธุรกิจ, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4214


อภิชาต สถิตนิรามัย (Apichat
Satitniramai), Work Experience: คณะเศรษฐศาสตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร

อ่าน "เสื้อแดงคือใคร" by อภิชาติ สถิตนิรามัย ได้ที่

http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!859.entry

ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมไทย

2 June 2010 Leave a comment

ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมไทย

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นรากฐานของความขัดแย้งในสังคมไทย เพียงแต่ว่ามุมมองของความเหลื่อมล้ำนี้ แตกต่างกันไปตามสถานะและชนชั้น

ชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่ได้รับผลประโยชน์จาก ความเหลื่อมล้ำนี้ จะเห็นว่าสังคมไทยรับรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และรัฐก็พยายามช่วยเหลืออยู่ และมักจะสรุปว่าสภาพความเหลื่อมล้ำก็ดีกว่าเดิมมาก แม้ว่ากลุ่มนี้จะมีความปรารถนาดีต่อคนจนอยู่ แต่ก็เป็นลักษณะของการ "มองลงต่ำ" หรือเป็นการเห็นและช่วยคนจนในรูปแบบของการ "ก้มตัว" ลงไปช่วยเหลือเป็นหลัก รูปแบบการ "ก้มตัว" ลงไปช่วยเหลือคนจนปรากฏ ก็คือ การ "สงเคราะห์" เป็นครั้งเป็นคราวไป

ในอดีต การ "สงเคราะห์" อาจจะส่งผลดีทางอารมณ์ความรู้สึก ทั้งผู้ "สงเคราะห์" และ "ผู้รับการสงเคราะห์" เพราะนอกจากช่วงเวลาแวบเดียวของการรับการสงเคราะห์แล้ว ชีวิตของ "ผู้รับการสงเคราะห์" ไม่ได้พ้องพานเข้าไปเกี่ยวข้องอะไรกับ "ผู้สงเคราะห์" เลย ดังนั้น การเป็นคนไร้ศักดิ์ศรีรอรับของบริจาค จึงเป็นเรื่องที่รับได้ รวมทั้ง "ผู้รับการสงเคราะห์" ก็รู้สึกได้ถึงวาระพิเศษที่ได้รับการสงเคราะห์

ที่สำคัญ ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ คือ ลักษณะเด่นหนึ่งในความเป็นไทยที่ปลูกฝังกันมา ที่ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน และเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบ "ผู้ใหญ่-ผู้น้อย"

ในช่วงเวลาสามสิบปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชนบท ก่อให้เกิดการประกอบอาชีพในลักษณะใหม่ ซึ่งทำให้มาตรฐานการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความสามารถในการครอบครองสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปเดินเล่นตามห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างจังหวัด จะพบเห็นถึงความสามารถในการครอบครองสินค้าอุปโภค-บริโภคขยายตัวมากขึ้นอย่าง มากมาย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงขยายตัวออกหัวเมืองไกลมากขึ้นตามลำดับ

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนี้ ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างลึกซึ้งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของการให้ความ "สงเคราะห์" ลักษณะเดิมกลายเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและการรับของสงเคราะห์เป็นเรื่องของ การไร้ซึ่งศักดิ์ศรีไป

หากสำรวจกันจริงๆ ในเขตพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเข้มข้นนั้น หากมีพิธีการให้การสงเคราะห์ จะพบว่าจำนวนผู้ที่เข้ารับการสงเคราะห์นั้นน้อยลง และมักจะเป็นการเกณฑ์หรือขอร้องจากเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มากขึ้น แม้ว่าคนในพื้นที่นั้นๆ อาจจะยังคงมีความยากจน หรือมีรายได้ไม่สูงมากนักก็ตาม ยกเว้นว่าในเขตห่างไกลมากๆ หรือในช่วงเวลาวิกฤติภัยธรรมชาติ การรับของแจกจึงไม่ใช่เรื่องพิเศษที่ควรจะรำลึกถึงบุญคุณผู้ให้อีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องไร้ความหมายมากขึ้นๆ ที่สำคัญ นอกจากไร้ความหมายแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยความรู้สึกว่าถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีอีกด้วย

กล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ได้ทำให้เปลี่ยนแปลงลักษณะของความยากจน จากความ "ยากจน-สมบูรณ์" มาสู่ความ "ยากจนเชิงสัมพัทธ์" และความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้ทำให้ความคิดทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ความ "ยากจน-สมบูรณ์" ต้องการและยอมรับการสงเคราะห์ แต่ความ "ยากจนเชิงสัมพันธ์" ต้องการโอกาสและความเท่าเทียมกัน

ในเขตพื้นที่ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ระบบอุปถัมภ์ในชนบทที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงผู้ใหญ่-ผู้น้อยและเป็นเชิงสงเคราะห์ ก็ต้องปรับเปลี่ยนอย่างลึกซึ้ง จากเดิมที่สามารถเรียกร้องความจงรักภักดีได้ยาวนาน ก็เป็นเพียงแลกเปลี่ยนความจงรักภักดีกันเป็นครั้งๆ ไป จนอาจจะกล่าวได้ว่าได้สูญเสียลักษณะสำคัญของระบบอุปถัมภ์ไปหมดแล้ว

ที่น่าตกใจ ก็คือ รัฐบาล ชนชั้นนำ และชนชั้นกลางจำนวนมาก ไม่แยแสต่อความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลนี้ แม้ว่าการอธิบายการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง (โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549) ว่า มีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำ แต่ก็มักจะกล่าวไปในทำนองว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้นมีมานานแล้ว และรัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือตลอดมา แต่หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่ากรอบการอธิบายนั้นแฝงไว้ด้วยความคิดของการช่วย เหลือในลักษณะของการ "สงเคราะห์" ต่อไป โดยมองว่าคนจนที่เข้ามาเคลื่อนไหวนั้นไม่รู้เรื่องอะไร หากแต่มาเพราะถูกชักจูงให้หลงผิด

หากเปรียบเทียบนโยบายประชานิยมของทักษิณกับ อภิสิทธิ์ จะพบความแตกต่างที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายประชานิยมของทักษิณเป็นการโอนเงินลงไปให้ชาวบ้านตัดสินใจกันเองว่าจะ ใช้จ่ายเงินนั้นไปทางไหนและจะใช้อย่างไร แต่ประชานิยมของอภิสิทธิ์กลับเป็นการให้หน่วยราชการเป็นผู้ตัดสินใจใช้เงิน ที่โอนไปให้แก่ชาวบ้าน

แน่นอนว่า นโยบายประชานิยมทั้งสองแบบมีความไม่โปร่งใสและรั่วไหลด้วยกันทั้งนั้น แต่ประชานิยมแบบทักษิณ ชาวบ้านมีศักดิ์ศรีเพราะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ประชานิยมของอภิสิทธิ์กลับเป็นตรงกันข้าม ชาวบ้านเป็นเสมือนผู้รอรับ "การสงเคราะห์" จากการตัดสินใจของข้าราชการ

ชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง ที่มีอำนาจอยู่ในตอนนี้ จำเป็นต้องเข้าใจระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ ทางสังคมนี้ให้ชัดเจน และต้องช่วยกันสร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคมชุดใหม่ ที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันให้มากขึ้น

การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องเกิดขึ้นในเร็ววัน และจำเป็นที่จะต้องเป็นการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้มากกว่าการ เรียนรู้ลักษณะไทยแบบเดิม เพื่อที่จะทำให้ทุกคนในสังคมได้จัดวางตนเองอย่างเหมาะสมต่อไป

เรามาถึงทางแยกของความเปลี่ยนแปลงครับ เราไม่มีทางจะรักษาจินตนาการสังคมแบบเดิมไว้ได้ภายใต้พลังความเปลี่ยนแปลง นี้ เราต้องช่วยกันสร้างจินตนาการสังคมลักษณะใหม่ ที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้

กรุงเทพธุรกิจ, วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Categories: News and politics

ปฏิบัติการ “ล่าแม่มด” กับการตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคม

1 June 2010 Leave a comment

ปฏิบัติการ "ล่าแม่มด" กับการตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคม

โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่ามกลางวาทกรรม "รู้รักสามัคคี" "รักกันไว้เถิด" "อย่าโกรธเกลียดทำร้ายกัน" สิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปก็คือ กระบวนการทำลายความชอบธรรมขบวนการคนเสื้อแดงอย่างเข้มข้นรุนแรงทั้ง โดยรัฐบาล สื่อมวลชนส่วนใหญ่ มวลชนสารพัดสี และเครือข่ายทางสังคมในโลกไซเบอร์

ขบวนการที่ชอบเรียกร้องให้สังคมไทยต้องรู้รักสามัคคีเหล่านี้ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ภาพพจน์ของคนเสื้อแดงมีความหมายเท่ากับ ความรุนแรง ความถ่อย โจรสถุล ผู้หลงผิด ขบวนการล้มเจ้า และผู้ก่อการร้าย ฯลฯ

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้สังคมไทย ที่เราเห็นผ่านจอทีวี วิทยุ และหน้าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ จึงไม่ได้รู้สึกโศกสลดต่อการตายของคนเสื้อแดงแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น 21 ศพเมื่อวันที่ 10 เมษายน หรือกว่า 80 ศพที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ

สำหรับบางคนการสูญเสียโรงหนังสยามอันเก่าแก่ดูน่าโศกสลดเสียยิ่งกว่าการตายของคนเสื้อแดงที่ "เกิดร่วมแดนไทย" กับพวกเขา

ความสำเร็จในการทำลายความชอบธรรมคนเสื้อแดง ทำให้คนในเมืองไม่เคยได้ยินเสียงกู่ร้องทวง "สิทธิและความยุติธรรมทางการเมือง" ของคนเสื้อแดง ไม่เห็นว่าภาวะสองมาตรฐานที่พวกเขาพากันสนับสนุนการรัฐประหารและวิธีการของกลุ่มพันธมิตร เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทักษิณด้วยวิธีนอกระบบ ฯลฯ ได้สร้างความรู้สึก "อยุติธรรม" ให้กับคนเสื้อแดงอย่างไร

เมื่อไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง พวกเขาจึงตีความตามประสาอภิสิทธิ์ชนว่า เพราะความยากจน จึงทำให้พวกบ้านนอกต้องเคลื่อนขบวนเข้ายึดกรุงเทพฯ จึงถึงเวลาที่พวกเขาต้องแสดงความเมตตาต่อคนยากไร้ ต่อไปนี้เราต้องช่วยกันปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้พี่น้องชาวชนบท พวกเขาจะได้ไม่กลายเป็นผู้หลงผิด ถูกนักการเมืองชั่วหลอกเข้าเมืองอีก คนเสื้อแดงโปรดใจเย็น รัฐบาลกำลังจะส่งโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมืองไปให้ท่าน

ความสำเร็จของขบวนการทำลายความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ช่างคล้ายคลึงกับสถานการณ์เมื่อ 34 ปีที่แล้ว ที่บรรดาชนชั้นกลางในเมืองช่วยกันเชียร์ให้อำนาจรัฐช่วยกันกวาดล้างนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

หลัง 6 ตุลา แม้นักศึกษาจะพ่ายแพ้ ขบวนการนักศึกษาถูกทำลายจนต้องพากันหนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่า แต่กระบวนการ "ล่าแม่มด" ของรัฐบาลขวาจัด ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ยังไล่ล่า-คุกคาม ผู้คนต่อไป โดยมีประกาศคณะปฏิวัติที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กลไกตำรวจ-ทหาร

ณ เดือนพฤษภาคม 2553 ขบวนการคนเสื้อแดงได้ถูกบดขยี้อย่างไร้ความปรานีจากอำนาจรัฐ แกนนำเกือบทั้งหมดถูกจับกุม มวลชนแตกกระสานซ่านเซ็นกลับสู่บ้านเกิดของตนด้วยน้ำตานองหน้า และความโกรธแค้นที่ไม่มีใครไยดี

แต่กระบวนการล่าแม่มดก็ยังดำเนินต่อไป ควบคู่ไปกับภาษาหวานๆ ของบรรดาผู้นำรัฐบาล กองทัพ ปัญญาชน สื่อมวลชนว่า "เราต้องช่วยกันเยียวยา" สังคมไทย

ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของรัฐที่จะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ขบวนการล่าแม่มดของรัฐบาล ได้เริ่มปรากฏตัวให้เห็นเมื่อ ศอฉ.เปิดเผยเครือข่ายขบวนการล้มเจ้า ที่กวาดเอาคนจำนวนมาก ทั้งนายพล นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ จนถึงนักศึกษาตัวเล็กๆ เข้ามารวมเป็นก๊วนเดียวกัน ต่อมาก็ประกาศรายชื่อแบล๊คลิสต์แหล่งเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมของคนเสื้อแดง ซึ่งมีทั้งเศรษฐีพันล้านและนักวิชาการยาจก อย่างจรัล ดิษฐาอภิชัย รวมอยู่ด้วย

เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถบดขยี้ขบวนการเสื้อแดงในกรุงเทพฯลงแล้ว พวกเขาย่อมต้องพยายามหาทางขุดรากถอนโคนขบวนการเสื้อแดงต่อไป บรรดาฮาร์ดคอร์ การ์ด และแกนนำคนเสื้อแดงท้องถิ่นในเขตภาคอีสานและภาคเหนือ จะไม่มีวันได้อยู่เย็นเป็นสุขไปอีกนาน และอาจรวมถึงบรรดาผู้ที่พยายามขุดค้นหาความจริงในวันที่ 19 พฤษภาคมเพื่อโต้แย้งกับข้อมูล "ผู้ก่อการร้าย" ของรัฐ

ศอฉ.จัดแสดงอาวุธร้ายแรงจำนวนมากที่อ้างว่ายึดมาได้จากวัดปทุมวนาราม เพื่อยืนยันว่าเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายอย่างแท้จริง

สิ่งที่น่ากังขาคือ ไม่มีประจักษ์พยานที่ยืนยันได้ว่าอาวุธเหล่านั้นยึดมาจากวัดปทุมวนาราม เพราะนักข่าวถูกกันออกจากบริเวณวัดจนหมดด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย รายงานของนักข่าวต่างชาติ เช่น The Independent และ The Australian ซึ่งอยู่ภายในวัดในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม ก็ไม่ได้เห็นว่ามีการยิงตอบโต้ด้วยอาวุธร้ายแรงจากผู้คนในวัดเข้าใส่ทหาร ชาวบ้านมีแต่หนังสติ๊ก และปืนแก๊ป มีแต่ฝ่ายทหารที่ยิงเข้าไปในวัดอย่างหูดับตับไหม้ (ดูมติชนออนไลน์ 22 พ.ค.53)

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายรัฐบาลก็เปิดแถลงต่อสาธารณชนว่า ค้นพบอาวุธจำนวนมากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกับนำมาแสดงต่อที่สนามหลวง แต่หลักฐานเรื่องอาวุธนี้กลับไม่ได้นำมาใช้ในการฟ้องดำเนินคดีต่ออดีตผู้นำนักศึกษา 13 คน และฝ่ายรัฐ ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีกเลย

หรือนี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาสังคมไทยของรัฐบาลอภิสิทธิ์?

หรือว่ากระบวนการเยียวยาของรัฐบาลนั้น มุ่งไปที่พวกเดียวกัน เพื่อสร้าง "ความรู้รักสามัคคี" ในหมู่ผู้คนกรุงเทพฯ และผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น

สำหรับปฏิบัติการล่าแม่มดในโลกไซเบอร์ ที่จริงได้ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยเริ่มขึ้นในยุครุ่งโรจน์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เวลาที่มีใครบังอาจวิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร หรือแสดงความเข้าอกเข้าใจขบวนการคนเสื้อแดง ผู้คนในเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้จะช่วยกันส่งอี-เมลที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ไปถล่มคนเหล่านั้น บางคนโชคร้ายหน่อยก็จะได้รับทั้งจดหมาย และโทรศัพท์ด่าทอขู่ทำร้ายแถมให้ด้วย

พวกเขาเพลาแรงกันไปพักหนึ่ง จนกระทั่งคนเสื้อแดงยกพลเข้ากรุงเทพฯในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครั้งนี้พวกเขากลับมาใหม่แต่แรงกว่าเก่า

สุดยอดของขบวนการล่าแม่มดนี้ ก็คือกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "การลงทัณฑ์ทางสังคม" (Social Sanction) ที่ช่วยกันตามล่าผู้ที่ถูกเหมาเอาว่าไม่จงรักภักดี เอามา "เสียบประจาน" ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวและให้สมาชิกช่วยกันตามราวีทั้งในโลกไซเบอร์ และในโลกที่เป็นจริง

ล่าสุดเครือข่ายโลกไซเบอร์แห่งหนึ่ง กำลังรณรงค์ล่ารายชื่อเรียกร้องไม่ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับเด็กที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นคนเสื้อแดงเข้าศึกษาต่อ

ปฏิบัติการล่าแม่มดของรัฐ มาจากความเชื่อว่า เมื่อโอกาสมาถึงก็ต้องขุดรากถอนโคนฝ่ายศัตรูให้ถึงที่สุด ส่วนของภาคประชาชน ดูจะมาจากความเชื่อในความถูกต้องในคุณธรรมของตนผสมกับความดูถูกเหยียดหยามคนเสื้อแดง ยิ่งเมื่อคนเสื้อแดงพ่ายแพ้ พวกนี้ก็ยิ่งได้ใจ ต้องรุมกระหน่ำให้ถึงที่สุด

ฉะนั้น คาถาที่คนเหล่านี้ชอบพร่ำสอนสังคมให้รักกันไว้เถิด อย่าทะเลาะกันเลย เราต้องมีสติ เราต้องรักกัน จึงมีไว้ฉาบผิวพฤติกรรมอันแท้จริงของตนเอง

แต่พวกเขาควรรับรู้ด้วยว่า ปฏิบัติการแห่งความเกลียดชังนี้จะไม่มีวันช่วยสมานรอยแตกร้าวของสังคมได้เลย มันมีแต่จะช่วยตอกลิ่มแห่งความแตกแยกระหว่างเมืองกับชนบท ช่วยซ้ำเติมให้บาดแผลและความโกรธแค้นของคนเสื้อแดงให้เลวร้ายลงไปอีก

บางทีสังคมไทยควรต้องหัดเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากประเทศเพื่อนบ้านของตนเองบ้าง แม้ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่คนไทยไม่ชอบหน้าเอามากๆ เช่น กัมพูชา

ผู้ที่ผ่านยุค 1970s มาแล้ว น่าจะจำกันได้ว่ากลุ่มคนที่เป็นเป้าสังหารของเขมรแดงหลังจากที่พวกเขายึดอำนาจได้ในปี 2518 ก็คือ นักการเมือง ข้าราชการทหาร ตำรวจ ราชวงศ์ พลเรือน พ่อค้านักธุรกิจ ปัญญาชน และพวกประกอบวิชาชีพต่างๆ พูดง่ายๆ คือ บรรดาอภิสิทธิ์ชนคนในเมืองนั่นเอง

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กัมพูชา ไมเคิล วิคเคอรี่ เคยวิเคราะห์ไว้ว่าสาเหตุประการสำคัญของการสังหารคนเหล่านี้ก็คือ เขมรแดงเกลียดคนเมือง ที่เอาเปรียบ ข่มขู่ ขูดรีด คุกคาม ดูถูกคนชนบทตลอดมา วิคเคอรี่เห็นว่าอาการเกลียดคนเมืองนี้แพร่กระจายอยู่ในชนบทกัมพูชานานหลายปีก่อนที่เขมรแดงจะยึดอำนาจได้เสียอีก (ดู Michael Vickery, Cambodia 1975-1982) ภายในเวลาแค่ 3 ปีกว่า ระบอบเขมรแดงทำให้ผู้คนเสียชีวิตราว 1.7 ล้านคน

สำหรับสังคมไทย คนในเมืองมักมีภาพฝันเกี่ยวคนบ้านนอกว่าเป็นพวกสุภาพ อ่อนน้อม ซื่อบริสุทธิ์ จนถึงขั้นโง่เง่า แต่วันนี้ คนเสื้อแดง ได้ทำลายภาพลักษณ์เหล่านั้นจนสิ้น แต่คนในเมืองทั้งหลาย ก็ยังอยากจะหลอกตัวเองต่อไปว่า หลังจากวันนี้ ประเทศไทยจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีกเมื่อคนเสื้อแดงได้รับบทเรียนราคาแพงกลับไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับคืนเป็นคนบ้านนอกที่น่ารักของประเทศไทยต่อไป

เราได้แต่ภาวนาว่า ความหวังของพวกเขาจะเป็นความจริง

มติชนออนไลน์, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553


พวงทอง ภวัครพันธุ์

การศึกษา : รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2525-2528, ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ The University of Wollongong, Australia, 2532-2538
ปัจจุบัน : อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Categories: News and politics