Home > News and politics > รัฐนาฏกรรม, นิธิ เอียวศรีวงศ์

รัฐนาฏกรรม, นิธิ เอียวศรีวงศ์

รัฐนาฏกรรม, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนึ่งในแนวคิดเกี่ยวกับรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนสมัยใหม่ ซึ่งนักวิชาการด้านนี้ได้สร้างเอาไว้ก็คือ รัฐโบราณเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐนาฏกรรม (theatrical state) รัฐคือโรงละคร มีหน้าที่แสดง

แสดงอะไรหรือครับ ก็แสดงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง บารมีอันเปี่ยมล้นของพระราชา ความมีพลังอำนาจในการอุปถัมภ์ค้ำจุน รวมทั้งการจำลองอำนาจในจักรวาลออกมาเป็นรูปธรรมบนพื้นโลกในขนาดที่ย่อส่วนลงมา (เช่น มีพระศิวะหรือพระอินทร์ และเหล่าเทพบริวารคอยรับใช้)

จะสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็ได้ว่า รัฐคือแบบจำลองของจักรวาลอันมีพระเจ้าถือเกียรติยศและอำนาจสูงสุด ความยิ่งใหญ่อลังการต่างๆ ของพระราชา ก็คือแบบจำลองของพระเจ้านั่นเอง

ผมควรเตือนท่านผู้อ่านด้วยว่า การแสดงดังกล่าวนี้ไม่ได้มีเหตุมาจากการที่พระราชายกตัวเองเป็นพระเจ้าเท่านั้น แต่ระเบียบของจักรวาลคือระเบียบของโลก “ละคร” ที่รัฐแสดงให้ดูนี้ คือการยืนยันระเบียบที่ทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า ตัวจะสามารถมีชีวิตอย่างมั่นคง (แปลว่าไม่เปลี่ยนแปลง) และอย่างมีความสุขตามอัตภาพ คือสุขทุกข์ตามสถานภาพของตนเอง (ไม่ใช่สุขเท่าๆ กัน)

…………………………………….

ทำไมรัฐโบราณของอุษาคเนย์จึงต้องเป็นรัฐนาฏกรรม?

คําตอบมีสองอย่าง คืออย่างง่ายและอย่างยาก

ผมขอพูดถึงคำอธิบายอย่างง่ายก่อน

หากไม่นับหว่างเด๊ของเวียดนามแล้ว พระราชาของรัฐอุษาคเนย์โบราณ หาได้มีพระราชอำนาจมากล้นจริงจังไม่ เริ่มจากการเปรียบเทียบกับเวียดนามก็ได้ แม้ว่าพระราชามีข้าราชการปฏิบัติงานตามพระราชโองการ แต่ข้าราชการเหล่านี้ไม่ได้มาจากการสอบคัดเลือกอย่างการสอบของเวียดนาม (ซึ่งเอาอย่างมาจากจีน) ซึ่งเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถสมัครสอบได้ แต่มักเป็นลูกท่านหลานเธอหรือมาจากตระกูลซึ่งมีอำนาจในตัวเอง ที่พระราชาต้องประนีประนอมด้วย

ดังนั้น ระบบราชการจึงเป็นหอกข้างแคร่ของพระราชาเสมอ ไม่มีก็ไม่ได้ มีก็ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว

นอกจากนี้ พระราชาไม่มีกองทัพประจำการ ไม่มีเครื่องมือสื่อสารคมนาคม (ไม่จำเป็นต้องคิดถึงโทรเลขหรือโทรทัศน์เสมอไป แต่ไม่มีแม้แต่ระบบม้าเร็วอย่างที่เปอร์เซีย, โรมัน, จีน มี) ไม่มีโรงเรียนเพื่อการศึกษามวลชน ไม่มีตำรวจ ไม่มีเจ้าพนักงานเก็บภาษี พูดง่ายๆ คือไม่มีเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐอย่างที่จะทำให้พระองค์มีพระราชอำนาจจริงๆ สักอย่าง

อำนาจจึงต้องตั้งอยู่บนการแสดง หรือเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ หนึ่งในการแสดงที่สำคัญคือพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำให้ได้ชมกันเป็นประจำ ในเมืองไทยนั้นทำกันทุกเดือนเลยทีเดียว ดังที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลของกฎหมายตราสามดวง สิ่งหนึ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ในพระราชพิธีต่างๆ คือขบวนแห่ ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระแก้วคือภาพขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค เหมือนหนึ่งเป็นตำรา (แปลว่าที่ “ตรา” เอาไว้) สำหรับเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องตลอดไป

(อันที่จริง มีตำราที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับขบวนแห่ทั้งสองประเภทนี้ ซึ่งสืบค้นจากความทรงจำของคนเก่าๆ และจดไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ด้วย)

ขบวนแห่เป็น “ละคร” ที่ให้สารสำคัญบางอย่าง จึงต้องเคร่งครัดกับแบบธรรมเนียม สารที่ว่านั้นคืออะไรบ้าง ผมคิดว่ามีดังต่อไปนี้

  1. ความมั่งคั่งหรูหราอุดมสมบูรณ์ เพราะทุกคนแต่ง “เต็มยศ” แม้แต่ไพร่เลวที่ถูกเกณฑ์เข้าขบวน ก็ยังสวมเสื้อสีต่างๆ อันเป็นหน้าที่ของคลังศุภรัตน์ต้องจัดหาให้
  2. อย่างที่สอง คือสถานภาพอันสูงสุดของพระราชา หรือบุคคลที่พระราชามอบหมายให้ทำหน้าที่แทน หรือพระโกศ พระราชยานที่ประทับตั้งอยู่กึ่งกลางขบวนค่อนไปข้างหน้า แวดล้อมด้วยไพร่พลหน้าหลัง มีเครื่องยศนับตั้งแต่บังสูรย์และอื่นๆ ล้อมหน้าหลัง
  3. อย่างที่สาม คือการแสดงช่วงชั้นทางสังคม ขุนน้ำขุนนางหรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะเดินในขบวนแห่ตรงไหน ใกล้ไกลจากพระราชาเท่าไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเอง หรือแทรกลงไปในที่ว่างตามใจชอบ แต่ต้องจัดขึ้นให้ตรงกับสถานภาพที่แท้จริงของแต่ละคน สารของ “ละคร” ตรงนี้ ช่วยตอกย้ำระเบียบทางสังคมของรัฐโบราณเหล่านี้ คือความไม่เสมอภาคเป็นระเบียบที่ขาดไม่ได้ในสังคมที่สงบสุข

ผู้อ่านบางท่านอาจท้วงผมว่า ในเมืองไทยโบราณ เขาห้ามประชาชนเงยหน้าขึ้นดูพระราชา ต้องหมอบก้มหน้าอยู่กับพื้นเท่านั้น “ละคร” จึงแสดงโดยไม่มีคนดู และไม่มีผลในทางสังคมและการเมืองอย่างไร

ผมก็อยากชี้ให้เห็นว่า ประชาชนผู้หมอบก้มหน้าบนหนทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นฉาก “ละคร” ที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่ ผมไม่ทราบว่าในสมัยนั้นเขาเกณฑ์มาให้นั่งก้มหน้าอย่างนั้นหรือไม่ คิดว่าคงไม่ เพราะรัฐโบราณไม่มีสมรรถภาพพอจะเกณฑ์ได้ แต่ถึงอย่างไร เมื่อพระราชยานที่ประทับผ่านไปแล้ว ก็ย่อมเงยหน้าขึ้นชมขบวนแห่ได้ และหลังรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ห้ามชมพระบารมีอีกแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างของรัฐนาฏกรรมโดยคำอธิบายอย่างง่าย สรุปก็คือนาฏกรรมเข้ามาแทนที่อำนาจที่เป็นจริง

ผมขอไม่พูดถึง “ละคร” อื่นๆ นอกจากพระราชพิธี เช่น พระราชวัง, วัดหลวง มัสยิดหลวง, ละครหรือการแสดงของหลวง, เครื่องราชูปโภค, นางห้าม, ฯลฯ ล้วนส่งสารอย่างเดียวกัน

…………………………………….

คำอธิบายอย่างยากนั้น ผมเอามาจากหนังสืออันลือชื่อเรื่อง Negara, The Theatre State in Nineteenth-Century Bali ของศาสตราจารย์ Clifford Geertz

บาหลีในช่วงนั้นประกอบด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยมากมาย และพระราชาหาได้มีอำนาจจริง (อย่างรัฐบาลปัจจุบัน) สักแห่งเดียว แต่ Geertz ไม่ได้คิดว่า ความเป็นรัฐนาฏกรรมของรัฐบาหลีเหล่านั้น เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการรักษาเพิ่มพูนอำนาจของผู้ปกครอง

ปัญหาทั้งหมดมาอยู่ที่ว่า ในโลกปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงรัฐ ความคิดที่อยู่หลังหัวของเรา คือแนวคิดเรื่องรัฐแบบตะวันตก ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 เช่น รัฐเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงทั้งหมดไว้แต่ผู้เดียว รัฐคือเจ้าของอาณาบริเวณ (ทางภูมิศาสตร์) อันหนึ่ง ฯลฯ

แต่รัฐบาหลี (ซึ่ง Geertz พูดไว้ชัดเจนว่า นัยยะของมันใช้อธิบายรัฐโบราณของอุษาคเนย์ได้หมด) ไม่ใช่ “รัฐ” อย่างนั้น และด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงใช้คำบาหลีเรียกแทน นั่นคือ “นคระ” และเนื้อหาสำคัญของ “นคระ” คือรัฐนาฏกรรม

ตัวนาฏกรรมนั่นแหละครับคือรัฐ

จะพูดว่ารัฐไม่ใช่อำนาจทางการเมืองก็เกือบจะใช่เพราะอำนาจในการจัดการชีวิตคนในสังคมบาหลีนั้น แม้มีหลายสถาบันหรือองค์กร แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ “นคระ” เด็ดขาดสักอย่างเดียว หลายองค์กรนั้นไม่เกี่ยวกับ “นคระ” เลย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “นคระ” ไม่มีความสำคัญ “นคระ” ให้ความหมายแก่ชีวิตของผู้คน เป็นหมุดหมายที่ขาดไม่ได้ของระบบเกียรติยศหรือช่วงชั้นทางสังคม (ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับตำแหน่งแหล่งที่ในรัฐ แต่ขึ้นกับสายสัมพันธ์ของกลุ่มเครือญาติชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของบาหลีเอง เรียกในภาษาบาหลีว่า “ดาดิอา”)

ในขณะเดียวกัน “ละคร” ที่ “นคระ” แสดงให้ดู ก็ช่วยกำหนดตำแหน่งแหล่งที่ของผู้คนแต่ละคนในจักรวาล เป็น “ตัวฉัน” ที่จะใช้ในการสัมพันธ์กับโลกข้างนอกตัวเรา นับตั้งแต่คนในครอบครัวไปจนถึงเพื่อนบ้าน, พ่อค้าแม่ค้า, พราหมณ์, คนเก็บภาษี, ไปจนถึงพระเจ้า และโลกหน้า ฯลฯ

Geertz กล่าวว่า “รัฐพิธีไม่ใช่ลัทธิพิธีของรัฐ แต่เป็นข้อถกเถียงซึ่งกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยศัพท์ของพิธีกรรมที่ใช้กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบอกว่าสถานภาพทางโลกล้วนมีฐานในจักรวาล ความเป็นช่วงชั้นคือหลักการที่ครอบงำจักรวาล และบอกว่าชีวิตมนุษย์เป็นแต่เพียงการจำลองอย่างใกล้เคียงบ้างไม่ใกล้เคียงบ้างของชีวิตเทพยเจ้า”

และ “พิธีฉลองของรัฐในบาหลีโบราณเป็นละครอภิปรัชญา นั่นคือละครที่ออกแบบมาเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับธรรมดาของความเป็นจริง และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อกำหนดให้สภาพชีวิตที่เป็นอยู่สอดคล้องกับความเป็นจริงสูงสุดนั้น นั่นก็คือละครที่เสนอธรรมะ [สภาวะที่เป็นอยู่จริง] และเพราะได้เสนอธรรมะจึงเท่ากับทำให้มันเกิดขึ้น หรือทำให้มันเป็นจริง”

ความยิ่งใหญ่ของพระราชาในนาฏกรรมที่แสดงให้ดู จึงทำให้ชาวบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่นั้นด้วย “พระราชาคือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของชาวนา”

สัญลักษณ์สำคัญของ “นคระ” ทั้งสามอย่างย่อมกลืนกันไปกับสภาพที่เป็นจริงของสังคมบาหลี สัญลักษณ์อย่างแรกคือศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา ความเป็นพระราชาย่อมเป็นสัญลักษณ์ของนายเหนือหัว และนายเหนือหัวคือสัญลักษณ์ของประโยชน์สุขร่วมกัน

สัญลักษณ์อย่างที่สองคือปัทมะหรือดอกบัว (ที่ประทับของพระเจ้า-ปัทมาสน์) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวัง พระราชวังคือสัญลักษณ์ของราชอาณาจักร และราชอาณาจักรคือสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน

สัญลักษณ์อย่างที่สามคือ Sekti (จาก “ศักติ” ในสันสกฤตคืออำนาจในทางโลก ภาษาไทยคงเป็นอานุภาพและบารมี) คือสัญลักษณ์ของสถานภาพ สถานภาพคือสัญลักษณ์ของอาญาสิทธิ์ และอาญาสิทธิ์คือสัญลักษณ์ของความเคารพนบนอบ

สัญลักษณ์หมดนะครับ ไม่ใช่อำนาจหรือที่มาของอำนาจซึ่งเป็นวิธีอธิบายองค์ประกอบของรัฐแบบตะวันตก

รัฐโบราณของภูมิภาคนี้ถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของจักรวรรดินิยมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนหมด ต่างก็สร้างกลไกแห่งอำนาจแบบรัฐสมัยใหม่ขึ้นแทนที่นาฏกรรมกันทุกประเทศ

จริงอยู่ นาฏกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐทุกรัฐ แม้ในสมัยปัจจุบัน (อังกฤษกำลังจะฉลอง 60 ปีแห่งการครองราชย์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างยิ่งใหญ่) แต่เพราะเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ รัฐเหล่านั้นจึงไม่ใช่รัฐนาฏกรรม

ความเป็นรัฐนาฏกรรมซึ่งอยู่กับภูมิภาคนี้มานานก็ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย(เมื่อเทียบกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ) แต่ก็มีปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละรัฐของอุษาคเนย์ ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยตรง ความเป็นรัฐนาฏกรรมเหลืออยู่น้อย แต่ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยอ้อม ส่วนหนึ่งที่สำคัญของรัฐเหล่านี้คือความเป็นรัฐนาฏกรรมสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่นาฏกรรมที่ขาดความเชื่ออย่างที่คนโบราณเชื่อจะเกิดขึ้นได้อย่างไร (ในงานปลงศพของราชารัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งในบาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีคนมาชมงานถึง 50,000 คน คิดเป็น 5% ของประชาชนทั่วเกาะบาหลีในเวลานั้น)

คำตอบคือการลงทุนอย่างมโหฬารในทุกทาง เพื่อให้ละครที่จัดแสดงเป็นการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจและประทับใจไปอีกนาน

(ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-7 มิถุนายน 2555)

มติชน, 02 มิถุนายน 2555

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.

Leave a comment