Archive

Posts Tagged ‘ประชาธิปไตย’

กรณีศึกษาน้ำท่วมกับอาการทางฮีสทีเรีย, คำ ผกา

28 October 2011 Leave a comment

กรณีศึกษาน้ำท่วมกับอาการทางฮีสทีเรีย

คำ ผกา

“ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องไห้ น้ำท่วม ไม่กลัว กลัวอย่างเดียว ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด”

ข้อความข้างบนนี้มาจากเฟซบุ๊กของหญิงสาวที่สถาปนาตนเป็นผู้สร้างอัจฉริยะหรือบอกว่าอัจฉริยะสร้างได้อะไรทำนองนั้น

แต่ที่น่าขันสำหรับฉันคือ ตรรกะของคนสร้างอัจฉริยะ

ประการแรก ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิต – อื้อหือ ฟังแล้วหูผึ่ง ถึงขั้นสักครั้งในชีวิต แถมพูดแล้วจะร้องไห้อีก ไม่รู้ว่าผัวใครตาย แม่ยายใครป่วย

อ่านต่อไป “น้ำท่วม ไม่กลัว” – เออ กูก็ไม่กลัว เห็นคนอยุธยา นครสวรรค์ สิงห์บุรี จมน้ำไปนานนับเดือน สิ้นเนื้อประดาตัว กูก็ไม่มีสิทธิ์กลัวแล้วโว้ย

อ่านต่อไป “กลัวอย่างเดียว ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด”

ป๊าดโธ่ – ถ้าอัจฉริยะคิดได้แค่นี้ ก็ให้ประเทศไทยจมน้ำตายกันไปทั้งประเทศก็สาสมดี

ในบ้านเมืองที่มีความศิวิไลซ์ ปกครอง บริหารราชการกันด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครเป็นเจ้าชีวิตใคร ไม่มีใครอุตริจุติลงมาเป็นผู้นำของใครเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีอาญาสิทธิ์

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต่างๆ นานานั้น ล้วนแต่เป็นประชาชนเหมือนๆ กันกับเรา เพียงแต่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็นผู้แทนประชาชน

จากนั้นก็ได้รับการคัดสรรให้มาเป็นทีมบริหารประเทศ คนเหล่านั้นเราเรียกว่า “ฝ่ายบริหาร” นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ย้ำให้อัจฉริยะฟังว่า – ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ผู้นำ” ไม่ใช่ยุคที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะศึกสงครามอย่างในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”

คุณหนูอัจฉริยะคะ หากเรามีผู้นำที่ปราดเปรื่อง และนำพาประเทศชาติให้พ้นทุกข์เข็ญได้จริง ขอเชิญคุณหนูไปดูงานที่เกาหลีเหนือนะ ที่ประเทศนั้นมีจริงๆ มี “ผู้นำ”อะไรจริง เมื่อเรามีผู้นำแบบเกาหลีเหนือเท่านั้นแหละ ที่ชะตากรรมของประเทศชาติจะขึ้นอยู่กับความโง่หรือความฉลาดของผู้นำ

แล้วหากคุณหนูอัจฉริยะจะบริภาษใครว่าโง่ ในฐานะที่เป็น “ครู” ซึ่งพ่อแม่จำนวนมากฝากให้คุณหนูอัจฉริยะเอาลูกไปฝึกฝนให้ปราดเปรื่อง คุณหนูอัจฯ ควรจะสามารถแจกแจง ใช้หลักวิชาความรู้ที่อวดอ้างร่ำเรียนมาอย่างหรูหราหมาจูนั้น จำแนกออกมาให้เห็นหน่อยว่า ได้วัดความโง่และความฉลาดของ “ผู้นำ” ที่คุณหมายถึงนั้น ด้วยเครื่องมืออะไร?

มีหลักฐานทางคำพูด การกระทำ และอะไรอื่นที่สนับสนุนการตัดสินใครว่าโง่หรือฉลาดเสียจนจะทำให้คนตายทั้งประเทศ เพราะหากเที่ยวพูดพล่อยๆ เช่นนี้ จะเสียความเป็นครูบาอาจารย์และเสียสถานะที่อุตส่าห์ปั้นแต่งมาให้คนนับถือยกย่องในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา

เพราะการพูดโดยพล่อยนั้นสำแดงถึงความไร้การศึกษาอย่างเข้มข้น

นํ้าท่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีนี้ ทุกประเทศเสียหายอย่างหนักหน่วง กัมพูชามีคนตายไปแล้วประมาณ 250 คน ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ได้รับความเสียหายไม่น้อย

เราจะบอกว่าประเทศเหล่านี้มีผู้นำที่โง่หรือ ?

เหตุการณ์สึนามิ และโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่น สูญเสียมหาศาล คุณหนูอัจฉริยะจะบอกว่าระบบป้องกัน เตือนภัยผิดพลาด

เพราะผู้นำของญี่ปุ่นโง่อย่างนั้นหรือ ?

รัฐบาลนี้ดำเนินการผิดพลาดในหลายเรื่องและต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์

แต่การวิจารณ์นั้นต้องวิจารณ์ให้ถูกจุด จะวิจารณ์เรื่องการเฝ้ารักษา กทม. จนเกินกว่าเหตุ จะวิจารณ์เรื่องความล่าช้า จะวิจารณ์เรื่องบริหารจัดการบกพร่อง ฯลฯ ทั้งหมดล้วนแต่ทำได้ทั้งสิ้น

เช่น นักเศรษฐศาสตร์ออกมาพูดเรื่องภาษีน้ำท่วม บางท่านออกมาพูดเรื่องระบบการประกันน้ำท่วมที่น่าจะดีกว่าภาษี บางท่านออกมาวิจารณ์บทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม

นักรัฐศาสตร์อาจจะออกมาวิจารณ์เรื่องความไม่ราบรื่นของการทำงานของฝ่ายภูมิภาคกับฝ่ายท้องถิ่น

หรือเราในฐานะประชาชนที่รอฟังข่าวจากรัฐบาลอาจจะไม่พอใจการทำงานของทีมโฆษก ศปภ. ที่ไม่ได้ทำหน้าที่โฆษกในเชิงคุณภาพ อันหมายถึงการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างสั้น แม่นยำ ชัดเจน เพราะในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือข้อมูล ข้อมูล และข้อมูล เพราะยิ่งมีข้อมูลที่แม่นยำเท่าไหร่ เราจะวางแผนล่วงหน้าได้ดีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยตนเองหรือช่วยผู้อื่น

เหล่านี้ จึงเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์ และคงจะดีกว่านี้หากบรรดาผู้มีการศึกษาและอ้างว่าอัจฉริยะสร้างได้ทั้งหลายจะได้ตระหนักว่าปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยนั้นสะท้อนความล้มเหลวในการจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติของสังคมไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ย้ำว่าหลายทศวรรษ

รัฐบาลของยิ่งลักษณ์เป็นแค่ปลายน้ำของปัญหาที่สั่งสมมานานหลายรัฐบาลต่อเนื่องกัน

หายนะที่เกิดจากน้ำท่วมครั้งนี้ คือบทเรียนที่สังคมไทยจะได้เรียนรู้ว่าการพัฒนาประเทศอย่างชุ่ยๆ นั้นเข้าข่าย เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

สังคมไทยควรจะได้สำนึกผิดร่วมกันว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้สนใจว่านิคมอุตสาหรรมจะไปผุดขึ้นที่ไหน

ที่ผ่านมา เราไม่เคยสนใจว่าบริษัทใหญ่จะไปทำพื้นที่เพาะปลูกขนาดมหึมาในป่าผืนไหน

ที่ผ่านมา เราไม่สนใจว่าโครงการสร้างถนน บ้านจัดสรรได้ปิดทางระบายน้ำอย่างไร ที่ผ่านมาเราไม่แคร์เลยว่าคลองจะถูกถมไปกี่สาย

และจนบัดนี้ฉันก็ยังไม่แน่ใจว่า คนกรุงเทพฯ กล้าเผชิญหน้ากับความจริงได้ไหมว่า ชัยภูมิที่ตั้งของกรุงเทพฯ คือเมืองที่ถูกออกแบบมาให้อยู่บนบกหกเดือนและอยู่ในน้ำหกเดือน

วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ ต้องเดินทางด้วยเรือหกเดือน อยู่บ้านน้ำแห้งหกเดือนและอีกหกเดือนแปรสภาพเป็นเรือนแพ บ้านของคนไทยภาคกลางมีสภาพเป็นกึ่งบ้านกึ่งแพกึ่งเรือพร้อมจะลอยเท้งเต้งในน้ำได้ตลอดเวลา

เขียนมาแบบนี้ไม่ได้จะบอกว่าให้คนกรุงเทพฯ กลับไปพายเรือหรืออยู่เรือแพปลูกผักบุ้งผักกระเฉดขาย

แต่น้ำท่วมครานี้ไม่ใช่เรื่องของการที่ธรรมชาติมาเตือนให้คนไทยเลิกทะเลาะกัน หันมารักกัน ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติกำลังเอาคืน เพราะธรรมชาติคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ปฏิกิริยาทางเคมี ชีววิทยา ไม่ใช่ภูตผี ที่มาหลอกมาหลอน มาเตือน มาสอน มาเอาคืน มาน้อยเนื้อต่ำใจ

น้ำท่วมครานี้คือการให้บทเรียนแก่สังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องดินฟ้าอากาศ รู้ว่าโลกร้อน ไม่ใช่จะไปหิ้วถุงผ้าหยุดโลกร้อนกันอย่างเดียว แต่เราต้องพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบเมือง การออกแบบบ้าน การออกแบบเมืองที่มีความพร้อมรับมือกับการอพยพคนอย่างฉุกเฉินหากเกิดทุพภิกขภัย

เขตภาคกลางของไทยทั้งหมดรวมทั้งกรุงเทพฯ ต้องการการออกแบบเมืองใหม่ในฐานะที่เป็นด่านสุดท้ายของการรับน้ำจากทั้งประเทศก่อนไหลลงสู่ทะเล ซึ่งมีทางเลือกสองทางว่าจะออกแบบเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคู คลอง หรือจะให้เป็นเมืองที่มีเขื่อนล้อมรอบ ป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามา เป็นต้น

การรับมือกับธรรมชาติที่เราต้องยอมรับว่าเพราะธรรมชาติไม่ได้มีหัวจิตหัวใจเหมือนอย่างมนุษย์ ธรรมชาติจึงโหดร้าย สามารถหยิบยื่นหายนะและความตายให้กับสรรพสิ่งทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิตไม่เคยละเว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม

ธรรมชาติไม่มียั้งคิดว่าคนนั้นน่าสงสารกว่าคนนี้ คนนี้น่าสงสารกว่าคนนั้น นี่คือเด็กทารก นี่คือผู้หญิงท้องแก่ ธรรมชาติ ไม่มีหัวใจ ไม่มีสมอง

เพราะฉะนั้น การเอาตัวรอดของมนุษย์จากภัยธรรมชาติมีทางเดียว คือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

เมื่อรู้ว่าฝนมากขึ้น พายุมากขึ้น ดินทรุดลง เราจะดันทุรังอยู่อย่างที่เคยอยู่ แล้วพอเกิดเภทภัยก็ต้องมาแก้ปัญหาเฉพาะกันไปเป็นปีๆ

พอน้ำแห้งก็กลับมาอยู่กันเหมือนเดิม สร้างบ้านแบบเดิม ถมคลองแบบเดิม ถมหนองสร้างนิคมอุตสาหกรรมกันเหมือนเดิม สร้างสิ่งก่อสร้างโดยไม่ศึกษาเรื่องดินถล่มหรือหาเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ป้องกันดินถล่มกันอย่างเดิม กลับไปเอาผืนป่าสร้างเขื่อนกันเช่นเดิม ปล่อยให้กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยาทำงานเช้าชามเย็นชาม ทำนายผิด คาดการณ์ผิดซ้ำซาก หายนะซ้ำซากกันอย่างเดิม

น้ำท่วมและหายนะคราวนี้ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลที่แล้ว แต่เป็นความผิดพลาดของสังคมไทยทั้งสังคมที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับการ “เอาชนะ” ธรรมชาติอย่างฉลาดเฉลียว

การเอาชนะธรรมชาติ ไม่อาจเอาชนะด้วยการร้องเพลงกล่อมให้คนไทยมีความรัก มีความสามัคคี มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมผนึกน้ำใจฝ่าฟันผองภัยไปด้วยกัน-โลกไม่ได้โรแมนติกขนาดนั้น

ความรักไม่ได้ช่วยให้น้ำแห้ง มีแต่ความรู้เรื่องการจัดการน้ำ ความรู้เรื่องวิศวกรรมโยธา ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้เรามีรัฐบาลที่พัฒนาเมืองอย่างมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล ไม่ชุ่ย มักง่าย และเฝ้าแต่แก้ไขปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดกันไปวันๆ

ปัญหาน้ำท่วม และอีกหลายภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากสังคมไทยจะต้องเผชิญกับหายนะ หรือที่คุณหนูอัจฉริยะใช้คำว่า “ตายกันหมด” นั้นไม่ใช่เพราะเรามีผู้นำโง่ แต่เพราะในหลายทศวรรษที่ผ่านมาเรามีชนชั้นนำที่ไม่ยอมปล่อยอำนาจให้เป็นของปวงชนชาวไทย เราจึงไม่มีการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและออกแบบชะตาชีวิตของตนเอง ทิศทางการพัฒนาประเทศจึงไม่ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่แต่เพื่อความมั่งคั่งของชนชั้นนำหนึ่งหยิบมือที่มั่งคั่งบนการพร่าผลาญทรัพยากรที่ปล้นไปจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าหรือสายน้ำ

การพัฒนาประเทศไทยจึงไม่เคยอยู่บนฐานของการออกแบบเมืองเพื่อความสุขของประชาชนในระยะยาว เพราะไม่เคยมีประชาชนในฐานะที่เป็น “ประชาชน” ในความหมายของรัฐสมัยใหม่ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศเห็นประชาชนเป็นเพียงราษฎรที่รอรับการ “ยกระดับคุณภาพชีวิต” จากรัฐที่ถูกกุมอำนาจโดยชนชั้นนำที่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ราษฎรได้กลายมาเป็นประชาชนหรือพลเมือง

เมื่อประชาชนดิ้นรนต่อสู้จนได้อำนาจรัฐมาอยู่ในมือ แม้จะต้องใช้เวลาอีกนับทศวรรษกว่าประชาชนจะสามารถปลุกปั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ บรรดาเหล่าซากเดนของชนชั้นนำที่มักจะเกิดอาการหัวใจวายหรือฮีสทีเรียกำเริบขึ้นทุกครั้งที่เห็นว่าอำนาจทางการเมืองกำลังจะเป็นของปวงชนชาวไทยได้จริงๆ

อาการฮีสทีเรียที่ว่านี้จะไปทำลายศักยภาพในการใช้เหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์จนสิ้น เพราะเพียงเห็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากประชาชนร้องไห้ พวกเขาก็จะโกรธ เห็นหัวหน้ารัฐบาลของประชาชนหัวเราะพวกเขาก็จะโกรธ เห็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากประชาชน แต่งตัวดีพวกเขาก็จะโกรธ เห็นหัวหน้ารัฐบาลของประชาชนแต่งตัวแย่พวกเขาก็จะโกรธ

การวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขาไม่ได้เกิดจากความพอใจหรือไม่พอใจในผลงานแต่เกิดจากความไม่พอใจที่เห็นว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของประชาชน

ความท้าทายของรัฐบาลนี้คือ นอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แล้ว รัฐบาลจะพิสูจน์ตนเองในฐานะของรัฐบาลที่มาจากประชาชนว่าจะมาสามารถเสนอพิมพ์เขียวของการพัฒนาประเทศที่มี “ประชาชน” ซึ่งมิใช่ “ราษฎร” อยู่ในแผนหรือไม่ ???

มติชนสุดสัปดาห์, 21 ตุลาคม 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1627

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ พูดเรื่อง การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

3 January 2011 Leave a comment

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ พูดเรื่อง การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เมื่อไม่นานมานี้ เว็ปนิติราษฎร์ ได้นำเสนอ บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ ของ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย” โดยเป็น”กองบรรณาธิการจุลนิติ”เป็นผู้สัมภาษณ์ ในช่วงปลายปี 2553

“มติชนออนไลน์” นำบทสัมภาษณ์ทางวิชาการมานำเสนอดังนี้

ถาม : หลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศในโลกนี้ได้วางหลักการพื้นฐานอันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้อย่างไร

ดร. วรเจตน์ : คำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึงการปกครองโดยประชาชนเป็นใหญ่ เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบการปกครอง (Regime of Government) เราคงทราบว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ได้ผ่านรูปแบบการปกครองมาแล้วหลายรูปแบบด้วยกัน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นประเด็นที่นับว่าเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด คือ “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยควรเป็นของใครหรือควรอยู่ที่ใคร” ซึ่งในที่สุดแล้วพัฒนาการของแนวความคิดทางด้านการเมืองโดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่เป็นต้นมา ได้ให้การยอมรับและถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ “ควรเป็นของประชาชน”

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว หลักการพื้นฐานหรือหัวใจที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาและคำนึงถึงคือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้นเป็นของใคร ฉะนั้น ถ้าหากว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของพระเจ้าหรือผู้แทนของพระเจ้าบนพื้นพิภพ หรือเป็นของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นของนักวิชาการหรือนักปราชญ์แล้ว การปกครองในรูปแบบนั้นไม่ถือว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศต้องเป็นของประชาชน

หลักการนี้คือหลักการพื้นฐานอันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญหรือนิยามที่สั้นที่สุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ให้พิจารณาในแง่ของตัวผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศว่าเป็นใคร อย่างไรก็ตามการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนนั้นอาจเป็นไปได้ในหลายลักษณะ ดังนั้นการใช้อำนาจสูงสุดจึงอาจมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปได้ เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การให้องค์กรของรัฐที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นต้น

ถาม : ในทัศนะของอาจารย์มีความเห็นว่าปัจจุบันประชาชนชาวไทยมีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

ดร. วรเจตน์ : เดิมสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาและเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย ผมถูกสอนให้เชื่อหรือเข้าใจเหมือนกับที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า ประชาชนของประเทศไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยคืออะไร หรือยังไม่มีความเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่ทรงอำนาจหรือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างไร

และผมถูกสอนให้เชื่ออีกว่าสาเหตุที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยมีปัญหานั้น สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร เป็นการชิงสุกก่อนห่าม เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มนักเรียนนอกหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นคนหัวก้าวหน้าและได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากตะวันตก พอกลับมาประเทศไทยจึงรีบร้อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ประชาชนของประเทศยังไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยคืออะไร จนส่งผลทำให้เกิดเป็นปัญหาของประเทศมาจนถึงปัจจุบันนี้

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ตระหนักแล้วว่าสิ่งที่ผมเคยรับรู้มานั้นน่าจะเป็นแนวความคิดที่ผิด และถ้าหากถามผม ณ ปัจจุบันนี้ว่าประชาชนชาวไทยโดยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ผมเชื่อว่าในปัจจุบันนี้ประชาชนชาวไทยโดยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจดี อย่างน้อยที่สุดก็ตระหนักรู้ในสิทธิในเสียงของตนเอง ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากพัฒนาการในทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วง ๓ ถึง ๔ ปี ที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในฝ่ายใดหรือสีใดก็ตาม

ผมเชื่อว่าเขามีความเข้าใจและตระหนักดีว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแท้จริงแล้วมันเป็นอำนาจของเขา เพียงแต่วิธีการในการแสดงออกหรือการใช้อำนาจและแนวความคิดบางอย่างอาจจะไม่ตรงกันเท่านั้น และบางส่วนอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพเสียงข้างมากอย่างพียงพอ คือคิดว่าเสียงข้างน้อย (ที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ) ถูกต้อง เมื่อถูกต้องเสียแล้วจึงมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรแม้แต่จะกระทบกับแก่นของประชาธิปไตยก็ได้เป็นความคิดที่ผิด

ถาม : ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนั้นเกิดจากสาเหตุใด และกระบวนการในการสร้างประชาธิปไตยโดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ได้มีโอกาสเข้าถึงวิถีชีวิตแบบสังคมประชาธิปไตยที่ถูกต้องนั้นควรมีแนวทางอย่างไร

ดร. วรเจตน์ : สำหรับคำถามประเด็นนี้อาจจะตอบยาก เพราะว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองของไทยในปัจจุบัน กล่าวคือ กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยในปัจจุบันยังมีการโต้เถียงกันว่าแท้จริงแล้วประชาชนชาวไทยมีความพร้อมหรือมีความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่ายังไม่พร้อม เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้ได้นักการเมืองเข้ามาทุจริตคอร์รัปชั่น และกระบวนการในการเลือกตั้งยังมีการซื้อเสียง รวมทั้งมีความเชื่อว่านักธุรกิจที่เข้าสู่ระบบการเมืองอาจจะผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยผ่านกลไกพรรคการเมือง และอาจจะนำไปสู่ระบบเผด็จการนายทุนได้ ดังนั้น จึงทำให้มีความเข้าใจหรือความเชื่อว่าประชาชนชาวไทยยังไม่พร้อมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

สำหรับในมุมมองของผม ในเบื้องต้นจะต้องมีความเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองซึ่งมองว่ามนุษย์ทุกคนในสังคมล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น เป็นเรื่องปัจเจกของบุคคลแต่ละคนหรือของกลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ชาวไร่ชาวนา คนขับรถแท็กซี่ ข้าราชการ หรือทุกคนที่อยู่ในระบบนี้ ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่พยายามจัดสรรผลประโยชน์ในทางการเมืองให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายภายใต้หลักนิติรัฐ

หากถามว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่ลงตัวของดุลอำนาจหรือความไม่ลงตัวของโครงสร้างการเมืองการปกครอง นับตั้งแต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 กล่าวคือ ก่อนปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนทั้งหลาย ซึ่งหากพิจารณาในทางหลักการแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากพิจารณาในแง่ของดุลอำนาจจริง ๆ แล้ว ผมมีความเห็นว่าอาจจะไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ 15 ปีแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางของประชาธิปไตยเป็นลำดับ แต่ก็มาสะดุดเอาเมื่อมีการทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 และนับแต่นั้นเป็นต้นมาอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแทบจะไม่ได้ตกมาอยู่ในมือหรือเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเหตุที่มักจะมีกระบวนการที่พยายามสกัดกั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เรื่อยมา และส่งผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วงจรการทำรัฐประหาร การยึดอำนาจ ฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสุดท้ายก็มีการยึดอำนาจ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สาเหตุประการหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จคือ ความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรในการสถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐให้เป็นอุดมการณ์ของสังคม กล่าวคือ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรไม่สามารถที่จะทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐแทรกซึมผ่านเข้าไปในกลุ่มคนหรือองค์กรที่มีอำนาจในทางวินิจฉัยชี้ขาดหรือตัดสินปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศได้ เราอาจพูดถึงองค์กรได้หลายองค์กร

แต่อาจจะยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัดได้ เช่น กองทัพหรือองค์กรตุลาการ หากกล่าวเฉพาะองค์กรตุลาการ เราจะเห็นว่าองค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยที่สุดภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากได้รับเอาโครงสร้างขององค์กรตุลาการเดิมก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเกือบทั้งหมด รวมทั้งมีบทบาทในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือมีส่วนในการพัฒนาประชาธิปไตยน้อยมาก

ดังนั้น พลังในการที่จะผลักหรือขับเคลื่อนประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้นจึงอ่อนแรงลง ประกอบกับการต่อสู้กันของกลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มอำนาจเดิมก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งมีความชาญฉลาดในการที่จะดึงอำนาจกลับคืนมาทีละเล็กทีละน้อยผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จนทำให้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกองทัพที่แทบจะไม่มีอุดมการณ์ในเรื่องการรักษาคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยหรือการพิทักษ์คุ้มครองรัฐธรรมนูญเลย

ความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของคณะราษฎรอาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในคณะราษฎรเอง กล่าวคือ ภายหลังจากที่ได้อำนาจมา นอกจากจะต้องต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว ในคณะราษฎรเองความคิดเห็นบางอย่างยังไม่ลงรอยกัน และความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันนี้ทำให้เกิดการต่อสู้กัน จนมาถึงจุดที่ทำให้สถานการณ์ผันแปรไป คือภายหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเป็นเหตุที่ทำให้ ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำของคณะราษฎรฝ่ายก้าวหน้า ผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวและต้องได้รับผลร้ายจนเป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในความคิดเห็นของผม เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์หรือจุดเปลี่ยนตรงนั้น ปัจจุบันนี้ประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจมีพัฒนาการไปอีกระดับหนึ่งแล้ว

ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้สร้างกลไกให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งดังกล่าวเป็นรัฐบาลชุดที่มีนโยบายและการทำงานถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลชุดดังกล่าวได้ถูกกล่าวหาหรือมีข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำ ในที่สุดปัญหาหรือแนวความคิดในสองด้านนี้ได้มาปะทะกัน และคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาเรื่องใดเป็นเรื่องหลัก ปัญหาเรื่องใดเป็นเรื่องรอง จึงได้ยกเอาเรื่องที่เป็นเรื่องรองกลายมาเป็นเรื่องหลัก

กล่าวคือ ยกเอาเรื่องการจัดการกับอดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นเรื่องหลัก ซึ่งภายใต้แนวความคิดแบบนี้จึงเป็นต้นเหตุในการทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งภายใต้หลักเกณฑ์ของประชาธิปไตย ในส่วนของข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ต้องดำเนินการหรือจัดการไปตามระบบหรือกลไกของประชาธิปไตย ซึ่งผมไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด เพราะขึ้นอยู่กับตัวระบบที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ถ้าเราเชื่อในระบบหรือกลไกของประชาธิปไตย แต่ถ้าหากเราไม่เชื่อว่าระบบหรือกลไกของประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ แล้วเราจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยกันทำไม

ดังนั้น ผมจึงอยากให้พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าต้นเหตุที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จอยู่ตรงไหน ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ประชาชนจริงหรือไม่ สำหรับผมแล้วผมคิดว่าเราคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าประชาชนไทยทุกคนหรือแม้กระทั่งในโลกนี้มีวิจารณญาณในการตัดสินใจที่เท่ากัน

ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในเยอรมัน ผมได้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมัน ทำให้ทราบว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งของประเทศเยอรมันได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ค่อนข้างสลับซับซ้อน และผมลองถามชาวบ้านเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่ามีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ชาวบ้านตอบว่าไม่รู้และไม่มีทางที่จะรู้ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนมาก แต่อย่างน้อยชาวบ้านรู้ว่ามีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งและรู้ว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของเขา ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องในทางเทคนิคที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับประเทศไทย ผมมีความเห็นว่าปัจจุบันนี้กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยหรือกลุ่มคนที่อยู่ในระดับผู้นำของประเทศน่าจะยังมีความไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะอาจกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเอง และกลัวว่าประชาชนจะถูกหลอกโดยนักการเมืองฉ้อฉล ด้วยความกลัวดังกล่าวจึงทำให้คนกลุ่มนี้ รวมทั้งนักวิชาการและข้าราชการระดับสูง ได้พยายามแสวงหาวิธีการหรือระบอบการปกครองในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา 2 และมาตรา 3 จะได้วางหลักการไว้ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยก็ตาม

แต่หากพิจารณาลึกลงไปในทางเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นว่ามีกลไกบางประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น หลักการเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิด เพราะเท่ากับไปทำลายการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงเจตจำนงในทางการเมืองของประชาชน อีกทั้งหลักการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่ประการใด หรือหลักการที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากการสรรหาส่วนหนึ่ง หรือการกำหนดให้ตุลาการมีบทบาทและอำนาจเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความยากลำบาก เป็นต้น

โดยสรุปแล้วปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จ คือ การที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น วิธีการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุด คือการยอมรับกันในหลักการเบื้องต้นก่อนว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศจะต้องเป็นของประชาชน หากประชาชนตัดสินใจอย่างใด ต้องยอมรับในการตัดสินใจนั้น และการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมาย มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ ซึ่งเท่ากับทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสะดุดหรือหยุดชะงักลง สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปไม่ถึงไหน

ถาม : เมื่อสักครู่อาจารย์ได้กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จ คือ ความล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ของคณะราษฎรในการสถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐให้เป็นอุดมการณ์ของสังคม ดังนั้น หากสามารถย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ และอาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกับคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจารย์จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

ดร. วรเจตน์ : ในฐานะที่ผมเป็นนักนิติศาสตร์ ผมคงจะทำได้ในแง่ของการจัดโครงสร้างของระบบกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินการเพียงแค่นี้อาจจะไม่เป็นการเพียงพอ เนื่องจากการสถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐให้เป็นอุดมการณ์ของสังคมนั้น ไม่ได้อาศัยเพียงเฉพาะตัวบทกฎหมายที่เป็นตัวหนังสือดำ ๆ บนแผ่นกระดาษเท่านั้น เพราะยังหมายถึง สำนึก วิธีคิด อุดมการณ์ และความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ดังนั้น การปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้เป็นอุดมการณ์ของสังคมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการในหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน

ดังนั้น ส่วนหนึ่งที่ผมจะทำคือการจัดวางโครงสร้างของระบบกฎหมายให้มีความสอดคล้องหรือรองรับกับอุดมการณ์ในทางประชาธิปไตย รวมทั้งในทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจด้วย สำหรับกฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าสิ่งที่จะต้องทำคือจัดการความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจในทางรัฐธรรมนูญให้รับกับตัวระบบ หมายความว่า อำนาจของรัฐทุกอำนาจที่ใช้จะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ทั้งในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ตลอดจนความสัมพันธ์ของอำนาจเหล่านี้กับประมุขของรัฐหรือพระมหากษัตริย์ด้วย โดยจะต้องจัดวางให้ได้ดุลยภาพภายใต้หลักการของความรับผิดชอบต่อประชาชน

นั่นหมายความว่าองค์กรของรัฐองค์กรใดมีอำนาจโดยขาดความเชื่อมโยงในทางประชาธิปไตยกับประชาชนหรือใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบกับการใช้อำนาจนั้น จะต้องปรับเปลี่ยนการมีและการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนั้นเสีย ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าในช่วงประมาณ 15 ปีแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางของประชาธิปไตยเป็นลำดับ โดยเฉพาะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งผมมีความเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความก้าวหน้ามาก โดยได้วางหลักการเกี่ยวกับอำนาจนิติบัญญัติไว้ค่อนข้างดี

และถ้าผมมีส่วนในการยกร่าง คงจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหลักการในบางประการ เช่น ทำให้อำนาจของตุลาการมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ให้มีผู้ตรวจการทหารซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นการตอบบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในช่วงสิบห้าปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ถ้าถามถึงรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้คงจะมีจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนเยอะกว่านี้มาก เรียกว่าต้องยกเครื่องใหม่ทีเดียว

ถาม : การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง ตามหลักการที่ว่าเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” นั้นควรจะต้องมีการพัฒนาอย่างไรจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้

ดร. วรเจตน์ : วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการทำให้กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยหรือกลุ่มคนที่อยู่ในระดับผู้นำของประเทศมีความตระหนักและควรรู้ว่าในที่สุดจะไม่สามารถทัดทานกระแสประชาธิปไตยได้ เพราะแนวความคิดทางด้านการเมืองการปกครองของโลกได้พัฒนามาถึงจุดสุดท้ายแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยคือคำตอบสุดท้าย ส่วนที่เหลือที่จะต้องมีการพัฒนาต่อไปเป็นเพียงรายละเอียดในแง่ของรูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันผมยังมองไม่เห็นว่ามีระบอบการปกครองใดที่จะดีไปกว่าระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ระบอบการปกครองในโลกนี้ไม่ว่าระบอบใดต่างก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ระบอบประชาธิปไตยก็มีปัญหาในตัวเอง แต่การมีปัญหาของระบอบประชาธิปไตยยังมีข้อดีคือ การเปิดโอกาสหรือการมีเสรีภาพในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นได้ ซึ่งถือเป็นคุณค่าสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำมากที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน ตามหลักการที่ว่าเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” นั้น คือการทำให้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน และประชาชนสามารถที่จะใช้อำนาจนั้นได้อย่างแท้จริง ต้องเคารพการใช้อำนาจของประชาชน และการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนที่มีความชัดเจนที่สุดคือการเลือกตั้งกับการออกเสียงประชามติ

ถึงแม้การเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง หรืออาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งมิใช่คำตอบทุกคำตอบของประชาธิปไตย แต่เป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตย หากใครปฏิเสธการเลือกตั้งเท่ากับเป็นการปฏิเสธประชาธิปไตยในบั้นปลาย และโดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าปัญหาในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ที่ชนชั้นนำ ปัญหาไม่ได้อยู่ทีประชาชน แน่นอนว่าในรายละเอียดคงจะต้องพูดถึงเรื่องการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นของประชาชน เรื่องการกระจายอำนาจอะไรเหล่านี้ แต่สิ่งนี้มาทีหลัง

ดังนั้นเวลาพูดว่าประชาชนไม่พร้อมเพราะยังไม่มีการศึกษา ต้องให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งเป็นคำพูดมาตรฐานเวลาพูดถึงปัญหาประชาธิปไตยไทย ผมว่าอาจจะต้องพูดถึงการให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยและการปลูกจิตสำนึกประชาธิปไตยให้กับคนที่มีการศึกษาเสียก่อน ส่วนประเด็นเรื่องนักการเมืองไม่ดี พรรคการเมืองไม่ดี ปัญหาพวกนี้ค่อยๆแก้ไขไปได้ ซึ่งการวางระบบกฎหมายรัฐสภา กฎหมายพรรคการเมืองที่ดีก็จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง

ถาม : บทสรุปส่งท้ายและข้อเสนอแนะอื่นๆ

ดร. วรเจตน์ : การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน ประชาชนจะต้องตระหนักและรู้ว่าตนเองเป็นเจ้าของอำนาจนั้น ดังนั้น หน้าที่สำคัญของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยคือการไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือการไปออกเสียงประชามติ อันเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจของตน
สำหรับในส่วนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ผมมีความเห็นว่าควรมีการเพิ่มเติมสิทธิบางประการให้แก่ประชาชน

เช่น สิทธิในการถอนคืนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นประพฤติหรือปฏิบัติตนไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป แม้การกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่หากประชาชนมีความรู้สึกว่าถ้าให้ทำหน้าที่ต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ และเมื่อผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งไปควรมีกลไกให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อถอนคืนตำแหน่งแล้วเลือกคนใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทน ดีกว่าการให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เป็นต้น

และควรมีการจัดความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจในทางรัฐธรรมนูญให้มีความสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะวิธีการในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาตุลาการในศาลสูงควรที่จะให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา (ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย) ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง กำหนดระบบการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยเคารพหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ และจะต้องมีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวได้

เช่นการมีผู้พิพากษาสมทบที่เป็นประชาชนธรรมดาในศาลระดับล่าง การกำหนดหลักการประกาศองค์คณะให้ประชาชนทราบตัวผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีในแต่ประเภทคดีในแต่ละปีการการตัดสินคดี การมีกฎหมายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กฎหมายรัฐมนตรีซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การแสดงออกซึ่งอำนาจรัฐและการรับผลตอบแทน การขจัดประโยชน์ที่ได้รับมาโดยไม่สมควร เป็นต้น

ตามที่กล่าวมาในเบื้องต้น เป็นสิ่งหรือกลไกที่จะต้องมีการคิดและเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แต่สังเกตว่ากลไกที่ต้องเพิ่มเติมดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วจะไปลดทอนอำนาจของชนชั้นนำทั้งนั้น ประเด็นปัญหาจึงมีว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ในสถานการณ์การเมืองที่ต่อสู้และแย่งชิงกันในปัจจุบัน ดังนั้น สถานการณ์ในปัจจุบันจึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยได้เดินมาถึงจุดซึ่งเป็นทางเดินสองทางที่แยกออกจากกัน และไม่มีวันที่จะมาบรรจบกันได้ เราจะต้องเลือกเดินไปในทางใดทางหนึ่ง ระหว่างทางที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ กับทางที่เป็นประชาธิปไตยปลอม ๆ หากถามว่าแนวโน้มในปัจจุบันสังคมไทยจะเดินไปในทิศทางใด

ผมมีความเชื่อว่าในที่สุดแล้วสังคมไทยจะเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งในระหว่างทางที่เดินนี้หากสามารถที่จะประนีประนอมกันได้ความรุนแรงอาจจะมีไม่มาก เช่น ในประเทศอังกฤษซึ่งเขาก็มีการต่อสู้และประนีประนอมกัน เนื่องจากในปัจจุบันสภาขุนนาง (House of Lords) ของอังกฤษ ยังประกอบด้วยสมาชิกประเภทขุนนางสืบตระกูล (Hereditary Peers) ซึ่งมีที่มาจากการสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิตอยู่ แต่สมาชิกประเภทนี้จะค่อย ๆ ถูกลดจำนวนให้น้อยลงจนในที่สุดผมเชื่อว่าจะเลิกไป เพราะประเทศอังกฤษรู้ว่าระบบแบบนี้มีความไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยจึงต้องมีการปฏิรูประบบการปกครองให้ไปในทิศทางประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น จึงพิจารณาเห็นได้ว่าปัจจุบันทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะเดินไปในทิศทางนี้หมด อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยอาจจะนำมาซึ่งปัญหาใหม่ ๆ เช่น ปัญหาการใช้ทรัพยากรที่เกินขนาดและนำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขและจัดการได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีโครงสร้างและมีกลไกที่ดีและยอมรับว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีการพูดถึงรัฐสวัสดิการ (Welfare state)รวมทั้งมีความพยายามที่จะปฏิรูปประเทศเนื่องจากมีความเห็นว่าสังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมนั้น ผมมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ตราบใดที่โครงสร้างของประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยก่อน เพราะการที่จะปฏิรูปประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการหรือสังคมแบบนั้นได้จะต้องผ่านสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยก่อนทั้งสิ้น

การจัดทำกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินจะสำเร็จได้อย่างไรถ้าชนชั้นนำของประเทศยังถือครองที่ดินจำนวนมหาศาลอยู่ ใครจะยอมให้มีกฎหมายแบบนี้มาบังคับใช้ เพราะคนที่กุมอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศไม่ใช่ประชาชนที่แท้จริง พรรคการเมืองใดที่คิดจะทำนโยบายในลักษณะนี้จะต้องถูกขัดขวางจากกลุ่มที่เป็นชนชั้นนำของประเทศที่ถือครองที่ดินอยู่ เพราะนโยบายดังกล่าวจะกระทบกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้โดยตรง

ดังนั้น ในการที่จะไปสู่รัฐสวัสดิการหรือปฏิรูปประเทศสิ่งที่จะต้องดำเนินการก่อนในเบื้องต้นคือการทำให้โครงสร้างของประเทศเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน โดยต้องเริ่มต้นทำให้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการทำให้สถาบันการเมืองหรือสถาบันในรัฐธรรมนูญทุกสถาบันอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ตนจะต้องอยู่ไม่มาก้าวก่ายกัน และแสดงบทบาทเท่าที่เป็นบทบาทที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หากมีปัญหาเกิดขึ้นต้องมีการแก้ไขปัญหาไปตามระบบ ให้ระบบค่อย ๆ ปรับตัวเอง แล้วในที่สุดจะไปสู่รัฐสวัสดิการอย่างที่ต้องการได้

มติชน, 2 มกราคม พ.ศ. 2554

นิติราษฎร์ โดย กองบรรณาธิการจุลนิติ, วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ชื่อเรื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง “การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย”

ทำไมการเมืองบ้านเราจึงพัฒนาช้า โดย วีรพงษ์ รามางกูร

22 December 2010 Leave a comment

ทำไมการเมืองบ้านเราจึงพัฒนาช้า

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์ คนเดินตรอก

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นี้ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยและมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ได้เชิญให้ไปแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ”นักการเมืองรุ่นใหม่กับแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต” ก่อนจะไปแสดงปาฐกถาต้องนั่งเรียบเรียงความคิดและใช้เวลากลั่นกรองเป็นเวลานาน เพราะการแสดงความคิดความเห็นเดี๋ยวนี้ต้องระมัดระวังก็เลยอยากมาเล่าไว้ที่นี้ด้วย

การพัฒนาประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์นี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเสียแล้ว เพราะประเทศเราถอยหลังมาไกลตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการแก้กฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนการบรรจุคนเข้าไปในองค์กรอิสระต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นผู้คนที่มีความคิดไปในทางเดียวกันหมด

การจะหยุดอยู่อย่างนี้ไม่พัฒนาไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคงเป็นไปได้ยาก เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษ อเมริกา หรือฝรั่งเศส ได้กลายเป็นกระแสของโลกไปเสียแล้ว การจะมีระบอบประชาธิปไตยแบบของเรานั้นไม่น่าจะเป็นไปได้

การเชื่อมโยงกันในกระบวนการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การโทรคมนาคม การสื่อสารมวลชนได้ทำลายกำแพงระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไปอย่างกว้างขวาง ประเทศเล็ก ๆ อย่างประเทศไทยคงจะทวนกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้

หากจะทวนกระแสก็คงจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการต่อต้านของสังคมชาวโลก พัวพันไปถึงการกีดกันการค้า การเจรจาธุรกิจ การเงิน เกียรติภูมิของชาติ นับวันมีแต่จะยิ่งลุกลามเข้ามา ซึ่งป้องกันได้ยากหรือปิดบังไม่ได้เลยหากไม่ยอมรับความจริงอันนี้ ความยุ่งยากก็จะเกิดขึ้น การปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเคยมีผู้กล่าวว่า “ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม สำหรับประเทศเล็กและมีประวัติศาสตร์การเมืองที่มาในแนวนี้ และได้เลือกสังกัดค่ายเสรีประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นหรือก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน

ความจริงแล้วสังคมไทยนั้นเอื้ออำนวยในการพัฒนาประชาธิปไตยกว่าประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

1.ความอดทนอดกลั้น คนไทยมีความอดทนอดกลั้นมากกว่าคนชาติอื่น ไม่มีความขัดแย้งกันในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิภาค คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยคนไทยก็ไปแต่งงานด้วย ระยะเวลาเพียงชั่วคนเดียวลูกหลานก็เป็นคนไทย ไม่เคยมีการแบ่งแยกกันในเรื่องภูมิภาค

ที่สำคัญคือ ภายหลังสงครามเย็นอันเกิดจากกระแสที่มาจากต่างประเทศ ผู้ที่มีความคิดความเห็นต่างกันก็ได้รับการยอมรับ กลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย บางคนกลับมาเป็นใหญ่เป็นโตในวงการเมือง เป็นพ่อค้านักธุรกิจ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึงความคิดที่แตกต่างแตกแยกกันอีกเลย

2.รู้จักประสานประโยชน์และประนีประนอม คุณลักษณะอันนี้ทำให้เราอยู่รอดเป็นเอกราช ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของใคร รู้จักประสานประโยชน์กับต่างชาติหรือฝ่ายตรงกันข้าม จึงไม่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อคราวเกิดเรื่อง 14 ตุลา 16 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ก็เป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับกองทัพ ซึ่งสะสมจนสถานการณ์สุกงอมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เกิดจากลักษณะของการเป็นผู้ชอบความรุนแรง

ลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความรุนแรง ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ผู้นำส่วนใหญ่ ตั้งแต่สมัย 2475 เป็นต้นมาจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงความรุนแรง ด้วยเหตุนี้เราจึงรอดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

3.ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความอดทนอดกลั้น การประสานประโยชน์ การรู้จักประนีประนอม ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ช่วงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางด้าน เชื้อชาติ ไม่ว่าจะแขก จีน ญวน มอญ ลาว เขมร ต่างภาษา ต่างศาสนา ได้ถูกหล่อหลอมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบเนียน เป็น “เบ้าหลอมละลาย” หรือ “melting pot” ยิ่งกว่าอเมริกาเสียอีก

ถ้าจะเกิดการแตกแยกก็ด้วยปัจจัยอื่น เช่น การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ การได้รับการปฏิบัติตอบอย่างอยุติธรรม เช่น กรณีความแตกแยกระหว่างสงครามเย็น ปัญหาของพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ เป็นต้น เมื่อได้รับการแก้ไขปัญหาก็ยุติลง เมื่อมีการปฏิบัติเช่นว่าอีกก็เกิดปัญหาอีก แต่โดยปกติแล้วความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “harmony” เป็นคุณลักษณะสำคัญอันหนึ่งของสังคมไทย

4.ความเป็นสังคมเปิด สังคมไทยเปิดให้กับคนทุกระดับที่ต้องการจะเปลี่ยนฐานะทางสังคมของตน จากสังคมระดับล่างขึ้นมาสู่สังคมระดับสูง ชาติกำเนิดไม่ได้เป็นเครื่องแบ่งชั้นวรรณะที่ตายตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ล้วนมาจากชนชั้นระดับล่าง ไต่เต้าขึ้นมาจากการศึกษา ความมุมานะ ขยัน อดทน ตั้งใจทำงาน แสดงความสามารถจากผลงาน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาจากครอบครัว คนชั้นล่างมากมาย ลูกหลานท่านเจ้าคุณ คุณพระคุณหลวงล้มหายตายจากสังคมไปเป็นเวลานานจนหมดความหมาย

บรรดาเศรษฐีเจ้าของกิจการ นายธนาคาร นักการเงิน นักอุตสาหกรรม พ่อค้า ผู้ส่งออก ล้วนมาจากผู้ที่สืบเชื้อสายชาวจีนที่อพยพหนีความยากจนมาตั้งรกรากสร้างฐานะขึ้นในประเทศไทย ร่ำรวยขึ้นมาจากความขยันหมั่นเพียร ประหยัดมัธยัสถ์ ส่งเสริมบุตรหลานให้มีการศึกษา รู้จักประสานประโยชน์กับผู้มีอำนาจรัฐเหมือน ๆ กับตระกูลร่ำรวยในอเมริกาและยุโรป

สังคมไทยจึงไม่ใช่สังคมปิด มีการ เปลี่ยนแปลงโยกย้ายถิ่นที่ประกอบอาชีพ ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ขณะนี้คนอีสาน คนไทยเชื้อสายจีน คนใต้ คนเหนือมีอยู่ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มิได้ติดอยู่กับถิ่นที่เกิดอีกต่อไป

5.ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่เปิดรับ ซึมซับต่อวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง ความคิดทางการเมือง สังคม ความเสมอภาค เสรีภาพ มองเห็นความเป็น “อารยะ” ของต่างประเทศ

สังคมไทย ทั้งสังคมระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไม่เคยมีปฏิกิริยาต่อต้านกระแสความรู้สึกนึกคิดอย่างรุนแรงต่อปรัชญาตะวันตก ไม่เคยต่อต้านกระแสวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม ความเท่าเทียมกันในโอกาสการศึกษา การทำงาน สิทธิสตรีและเด็ก สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล

ความจริงดูเหมือนจะล้ำหน้าตะวันตกเสียด้วย เช่น สภาวะโลกร้อน ประชาพิจารณ์ องค์กรอิสระ หากแต่เมื่อนำมาปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ แล้วจะได้ผลและประสบความสำเร็จแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มีความคิดที่จะยกฐานะระบบการเมือง ยกระดับของสังคมให้เทียบเท่า “นานาอารยประเทศ” สุนทรพจน์ของผู้หลักผู้ใหญ่ก็มักจะเปรียบเทียบว่าประเทศของเรามีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เทียบเท่า “นานาอารยประเทศ” อยู่เสมอ เมื่อผู้นำหรือสื่อมวลชนต่างประเทศยกย่อง ก็เป็นความภูมิอกภูมิใจให้ยกขึ้นมากล่าวถึงตลอด

การเป็นสังคมเปิดต่อข้อมูลข่าวสาร ทำให้หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแขนง ต่าง ๆ มีสิทธิเสรีภาพกว้างขวางกว่า นักสื่อสารมวลชนในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ไม่มีสื่อมวลชนประเทศใดในภูมิภาคที่สามารถกล่าวโจมตีบริภาษผู้นำประเทศได้รุนแรงเท่ากับสื่อมวลชนไทย แม้แต่ในช่วงเวลาที่มีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะ “ครึ่งใบ” หรือ “เต็มใบ” การปิดกั้นด้วยการใช้อำนาจทั้งจากทางตรงหรือทางอ้อม แม้จะทำได้แต่ก็ไม่สามารถทำได้นานหรือทำได้ตลอดกาล

ในระยะ 30 ปีมานี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการยกเลิกภาษีขาออกรูปแบบต่าง ๆ ของสินค้าภาคการเกษตรหรือต่อเนื่องจากการเกษตร การลดค่าเงินบาททำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าการเกษตรได้ในราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำตาล ไม้ยางพารา และ อื่น ๆ การเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้า การสร้างถนนหนทางเข้าถึงพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ โครงการไฟฟ้าชนบท ประชากรกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีไฟฟ้าใช้ มีระบบชลประทานขนาดย่อย ชลประทานราษฎร์ โครงการ ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในตอนฝนทิ้งช่วง โครงการสาธารณสุขหมู่บ้าน โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลตำบล โครงการสุขภาพดีทั่วหน้า ระบบการศึกษา การรณรงค์ให้คนรู้หนังสือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในชนบทอย่างมหาศาล

ความก้าวหน้าและราคาที่ถูกลงของเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ความทั่วถึงของหนังสือพิมพ์ การรับข่าวสารจากต่างประเทศผ่านดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดทั้งปวงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบทดั้งเดิมหายไป คนชนบทมีความเป็นอยู่ได้รับข้อมูลข่าวสารอันเดียวกันกับคนในเมือง ชีวิตชนบทดั้งเดิมที่แร้นแค้นได้ล่มสลายไปแล้ว แม้ว่านักวิชาการฝ่ายอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจะไม่ชอบก็ตาม

ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องส่งเสริมต่อการพัฒนาการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยได้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จีน บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือแม้แต่อินเดียและศรีลังกา รวมทั้งกัมพูชา แต่การพัฒนาการเมืองของประเทศเหล่านี้กลับไปไกลกว่าเรา อย่างน้อยบทบาทของกองทัพก็ไม่ได้มีมากอย่างของเรา การปฏิวัติรัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ก็ว่างเว้นมานานมากแล้ว แต่ของเรากองทัพยังเข้ามามีบทบาทในขบวนการการเมืองอยู่ การพัฒนาการเมืองจึงหยุดชะงัก ขณะนี้เรามีนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังทั่วประเทศตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นจำนวนมากกว่าประเทศใดในภูมิภาค ยกเว้นพม่าประเทศเดียว

ประเทศของเรามีการพัฒนาการเมืองค่อนข้างช้ามาก และหยุดชะงักเป็นช่วง ๆ มาเรื่อย ๆ ไม่มีความต่อเนื่องเพราะกลุ่มผู้นำของประเทศไม่ได้ให้น้ำหนัก ไม่มีความเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย มุ่งแต่จะมีอารมณ์ในตัวบุคคลที่มาเป็นผู้นำมากกว่าระบบ กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มผู้นำของประเทศ อันได้แก่

1.กลุ่มปัญญาชน ไม่ได้มีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย หลาย ๆ ครั้งลื่นไหลไปตามกระแสที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยปลุกระดมขึ้น จะเห็นได้จากการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งออกมาประกาศจุดยืนอย่างแจ้งชัดว่าสนับสนุนกองทัพให้ทำการปฏิวัติ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งก็ประกาศจุดยืนตรงกันข้ามกับขบวนการประชาธิปไตย ปฏิเสธการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่าประชาชนในต่างจังหวัดขายตัวขายเสียง โง่กว่าพวกตน ไม่ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายครั้งก็ทรยศต่อวิชาชีพของตนเอง ไม่มีจิตใจที่มั่นคงต่อความเชื่อของตนเอง

2.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การอภิปรายในสภาก็ไม่สร้างสรรค์ มุ่งแต่ทำลายฝ่ายตรงกันข้ามด้วยวิธีการโกหก ปั้นน้ำเป็นตัว แทนที่จะแข่งขันกันทำงานเพื่อพัฒนาการเมืองและผลงานทางเศรษฐกิจ กลับได้ดีได้เป็นรัฐบาลเพราะประสบความสำเร็จในการทำลายกันเอง ทำตนเป็นพรรคการเมืองของภูมิภาค ให้ความร่วมมือกับกองทัพในการทำลายขบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา

3.สื่อมวลชน ปกติจะเป็นสถาบันที่ปกป้องรักษาระบบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในช่วงที่ระบบการเมืองเปิดก็กล้าหาญจนเกินขอบเขตถึงขั้นใช้เป็นเครื่องมือทำลายคนอื่น ในช่วงที่ประชาธิปไตยลดน้อยลงหรือไม่มีก็ขาดความกล้าหาญ เปลี่ยนจุดยืน ไม่เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนหรือปัญญาชนที่ยึดมั่นในหลักการและวิถีทางของขบวนการประชาธิปไตย ไม่เป็นสถาบันหลักที่จะพิทักษ์ความถูกต้อง ถ้าจะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย ไม่มีน้ำหนัก ที่สำคัญก็คือไม่ชอบทำงานหนัก ทำการบ้านไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองได้ง่าย เมื่อมีการทำสงครามจิตวิทยาโดยรัฐก็ตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางธุรกิจและทางเศรษฐกิจหรืออารมณ์ส่วนตัว สถานีวิทยุก็ดี หรือสถานีโทรทัศน์หลัก ๆ ถ้าไม่เป็นของรัฐบาลก็เป็นของกองทัพ รายได้จากการโฆษณาก็มาจากกลุ่มธุรกิจ ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมมีความเอนเอียงไปทางอนุรักษนิยม

4.กองทัพ โดยธรรมชาติก็เป็นสถาบันที่มีความคิดทางอนุรักษนิยม แต่กองทัพของเราค่อนข้างจะเกินความพอดี คำนึงถึงแต่ระยะสั้น ไม่มองผลเสียและอันตรายต่อความมั่นคงทางการเมืองในระยะยาว

ขณะนี้ที่น่าห่วงเป็นที่สุด คือ ความเชื่อมั่นของขบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้คนเห็นว่าไม่สามารถเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายได้ พัฒนาตัวเองไปในทางต่ำลง ไม่ใช่สูงขึ้นเทียบเท่า “นานาอารยประเทศ”

น่าห่วงว่าในระยะยาวอาจระเบิดขึ้นได้สักวัน

ประชาชาติธุรกิจ, 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่หลากหลาย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

6 November 2010 Leave a comment

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่หลากหลาย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

แม้ว่าสังคมไทยจะประกาศว่ามีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเสมอภาคกัน แต่ในชีวิตปกติทุกคนในสังคมไทยก็รู้อยู่แก่ใจว่าสังคมไทยมีลำดับชั้น แต่สังคมไทยพยายามทำให้ลำดับชั้นนั้นบาดอารมณ์ของสังคมให้น้อยลงด้วยการ เคลือบด้วยการเสแสร้งว่าอย่างน้อยก็เท่ากันในความเป็นไทย เพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน ซึ่งจะต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า “คนไทยเหมือนกัน” จะถูกใช้ในยามที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมอันเกิดจากความเป็นคนไทย ที่ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกันนั้นเอง

ความเป็นไทยจึงเป็นเรื่องของระบอบการสร้างการ ยอมรับอำนาจและสิทธิพิเศษ (Power and Privilege) ของคนบางกลุ่มในสังคมว่ามีมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เราอาจจะรู้สึกว่าจะนิยามหรือให้ความหมายความเป็นไทยได้ยากมาก แต่ลองนึกถึงข้อกำกับพฤติกรรมในชีวิตจริงประจำวันของเราแต่ละคน ก็จะรู้สึกถึงความเป็นไทยที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของเราได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่าทีในการคุยกับ “ผู้ใหญ่” แม้แต่คำนิยามความเป็นไทยแบบง่ายๆ และคลุมความหมายทางชาติพันธุ์ไว้ เช่น ความเป็นไทย/คนไทยมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นก็เป็นความจริงในความ สัมพันธ์เชิงลำดับชั้น เช่น เอื้อเฟื้อต่อ “ผู้น้อย” ที่ต้องสยบต่อ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่การเอื้อเฟื้อในลักษณะที่เท่าเทียมกัน หมายความว่าหากคุณไม่หือ เราก็จะดูแลและเอื้อเฟื้อต่อคุณต่อไปนั้นเอง

ระบอบอำนาจและสิทธิพิเศษ (Power and Privilege) ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนในสังคมมาเนิ่นนานภายใต้เสื้อคลุมลักษณะทาง “ชาติพันธุ์ไทย” ครอบคลุมมิติทุกมิติไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติใด ก็จะมีผลกระทบต่อไปยังมิติของชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจของบรรดา “ผู้น้อย” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ให้ก้าวข้ามเส้นความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงของการเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ ซึ่งเดิมนั้นเป็น เจ๊กดาวน์ ลาวผ่อน แต่ตอนนี้เป็น ลาวดาวน์ ลาวผ่อน (ประมาณการว่าเจ้าของแท็กซี่ให้เช่าตอนนี้เป็นคนอีสานร้อยละห้าสิบ)

ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจก็ได้ทำ ให้เกิดความพยายามต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมด้วยการผลักดันแทรกวัฒนธรรมของ ชาติพันธุ์ “ผู้น้อย” เข้ามาในพื้นที่ของวัฒนธรรมไทย ดังที่ได้กล่าวถึงเพลงและตลกอีสานไว้ในคราวก่อนหน้านี้

นอกจากการก้าวข้ามเส้นกีดขวางทางเศรษฐกิจ และการแทรกเข้ามาในวัฒนธรรมไทยแล้ว ความต้องการอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นจึงเป็นแรง ผลักดันทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยหันไปพึ่งและ/หรือหยิบฉวยเอา “บุคคล” ที่เอื้ออำนวยให้พวกเขามีโอกาสที่จะก้าวพ้นความไม่เท่าเทียมมาใช้เป็น ประโยชน์ทางการเมือง

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันนั้น ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงเพราะการเคลื่อนไหวนั้นกำลังจะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบใหม่ แต่ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความคิดหลักเดิมอยู่นั้นคือ “ความเป็นไทย” หากแต่เป็น “ความเป็นไทย” ในอีกความหมายหนึ่งเท่านั้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ต้องการทำลาย “ความเป็นไทย” ดังที่จะเห็นว่าคำตอบโต้ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ยังคงใช้ฐานคิดของ ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น คนไทยด้วยกันทำไมต้องฆ่ากันเช่นนี้ หรือในขณะที่มวลชนนินทาชนชั้นนำอยู่ แต่ข้างบนเวทีก็ยังคงแสดงการยอมรับอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอยู่ แม้ว่าคนบนเวทีจะอ้างว่าเป็นการเสแสร้ง แต่การที่พวกเขาต้องเสแสร้งเช่นนั้นก็เพราะรู้ดีว่าการนินทาของคนที่อยู่ ข้างล่างเวทีไม่ได้แสดงถึงความสุกงอมทางความคิดเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ให้ได้ตามใจตนเอง

สภาวะคู่ขนานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน สังคมไทยเช่นนี้ แตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างความคิดหลักในสังคมอื่นๆ เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ด้านหนึ่งก็ยอมรับที่จะอยู่ร่วมในสังคมนี้ ต่อไป ไม่ได้ต้องการที่จะสร้าง/แยกออกไปสร้างสังคมใหม่ คนส่วนใหญ่ก็ยังยอมรับในระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งก็หมายความว่าไม่ได้ต้องการหมุนสังคมทุกนิยมไทยไปสู่สังคมที่มีการจัด ระบอบกรรมสิทธิ์แบบอื่นๆ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการนินทาชนชั้นนำจะขยายตัวสะพรั่งมากขึ้นกว่าเดิมมากนั้น หากตามไปฟังวงการนินทาแล้ว ก็จะพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคม ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางที่อยู่อีกฝั่งการเมืองหนึ่งเคยทำมาก่อนหน้านี้ (แน่นอนว่า ในปีกซ้ายสุดย่อมแตกต่างออกไป แต่ผมหมายถึงคนส่วนใหญ่) กลุ่มชนชั้นกลางกลับทำเป็นลืมพฤติกรรมการนินทาที่ตนเองเคยทำมาอย่างเมามันไปเสีย

การต่อสู้ทางการเมืองในวันนี้จึงเป็นการต่อสู้ เพื่อจะช่วงชิงการนิยามความหมายความเป็นไทยให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึก นึกคิดของกลุ่มตน

ดังนั้น หากเรามาร่วมกันสร้างคำนิยาม “ความเป็นไทย” ให้กว้างพอที่จะรับความคิดทุกคนได้และพยายามทำให้ความหมายของความเป็นไทยที่ นิยามขึ้นใหม่นั้นสามารถกำกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดคนได้จริงๆ การต่อสู้ทางการเมืองก็จะหันเหเข้าสู่ระบบที่ไม่ต้องรบและฆ่ากันอีก

ผมเสนอว่าเราควรจะนิยาม “ความเป็นไทย” ว่าเป็นความรักใน “ความยุติธรรมและเสมอภาคภาค” ซึ่งก็จะสอดคล้องและกว้างขวางพอที่จะรองรับความรู้สึกนึกคิดของคนทุกกลุ่มใน สังคมไทยได้

หากความรักใน “ยุติธรรมและเสมอภาค” ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ “ความเป็นไท” (ไม่มี ย.ยักษ์) และกลายมาเป็นหลักใน “ความเป็นไทย” ได้ เราทั้งหมดก็จะได้เข้ามาร่วมกันค่อยๆ ประคองสังคมไทยให้เดินไปสู่ความยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้น ชนชั้นนำไทยก็จะสามารถหันกลับปรับตัวเข้ามาสู่ความเป็นไทยได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งป้อมทำลายล้างกัน คนกลุ่มใหม่ก็จะเป็นพลังหลักในการสร้างสังคมเสมอภาคและยุติธรรม

ผมเสนอเช่นนี้ ก็เพราะคิดว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นโดยปราศจากรากฐานทางประวัติ ศาสตร์ และไม่เคยมีความพยายามยับยั้งความเปลี่ยนแปลงหรือแช่แข็งสังคมประสบความ สำเร็จได้ในประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา หากเราสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเงื่อนไขให้คนแต่ละกลุ่มในสังคมยึดเอาไว้ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้อย่างสันติที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ลองทำครับ

กรุงเทพธุรกิจ, วันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

—————————————-

ประวัติ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หนึ่งในผู้ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากประเทศญี่ปุ่น
จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“วรเจตน์ ภาคีรัตน์”จุดไฟกลางพายุ “ปรองดอง ปฏิรูป รัฐสวัสดิการ เป็นของเล่นที่โยนมาให้เล่นกันเฉยๆ

10 September 2010 Leave a comment

“วรเจตน์ ภาคีรัตน์”จุดไฟกลางพายุ “ปรองดอง ปฏิรูป รัฐสวัสดิการ เป็นของเล่นที่โยนมาให้เล่นกันเฉยๆ

หลังเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และเพื่อนอาจารย์ รวม 5 คน จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เงียบหายไปนาน จากวงสนทนาสาธารณะทั้งวงปิดและวงเปิด

ท่ามกลางบรรยากาศความเงียบงันทางวิชาการ บ้างก็ว่า วรเจตน์ แอบไปสร้างสาวก ขณะที่บางกระแสเหน็บแนมว่า วรเจตน์ถูก(ต้อง)อยู่คนเดียวแหละ อย่าไปเถียงเลย …

วันนี้ 5 เดือนผ่านไป อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน สำนักท่าพระจันทร์ กลับมาอีกครั้ง กับบทวิพากษ์สังคมไทยในประเด็นสำคัญ

พร้อมเปิดแผนการ”ลับ”ที่เขาเตรียมเปิดตัวเร็ว ๆ นี้

@ เงียบหายไปนาน นับจากเดือนพฤษภาคม โดนคุกคามทางวิชาการ หรือ อย่างไร

ไม่ถึงขนาดนั้น(ครับ) เพียงแต่ผมรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์ ที่จะพูดอะไรในช่วงเวลานั้น เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการต่อสู้กัน แล้วผมก็คิดว่าการที่มีพ.ร.ก. ฉุกเฉินก็มีส่วนเหมือนกัน แต่ไม่มีผลกับผม(นะ) แต่มีผลต่อบรรยากาศทั่วไปในการแสดงออกซึ่งความเห็น

หมายความว่า การแสดงความคิดความอ่านอะไรไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับรัฐบาล รัฐบาลก็จะมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ผมไม่พูดในช่วงนั้น แต่ผมเห็นว่า เรื่องที่ผมควรจะพูดก็ได้พูดไปหมดแล้วก่อนหน้านั้น ผมพูดมาหลายปีแล้วในเรื่องสภาพความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งยังไม่จบและจะดำเนินต่อไปอีก

@ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าอาจารย์เป็นพวกทักษิณ (ชินวัตร) อยู่เสมอ

(หัวเราะ) ก็ว่าผมเป็นพวกแดง แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร คือ ก็มีคนชอบถามผมว่าเป็นแดงมั๊ย ผมบอกอย่างนี้แล้วกันครับว่า เรื่องเหลืองเรื่องแดงเป็นเรื่องของสี ถ้าเกิดเราแทนค่าประชาธิปไตยว่าเป็นสีแดง แทนค่าอภิชนาธิปไตยว่าเหลือง ผมก็แดง ถ้าเราแทนค่าประชาธิปไตยเป็นสีเหลือง อภิชนาธิปไตยว่าแดง ผมก็เหลือง ส่วนเรื่องเป็นพวกคุณทักษิณ มันก็แค่การดิสเครดิตของกลุ่มบุคคลที่ไม่ค่อยมีสติปัญญาจะโต้แย้งผมเท่าไหร่ในทางหลักการ ในทางเหตุผล ก็เท่านั้น

ฉะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสี แต่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์และหลักการ และวิธีคิดทางประชาธิปไตยมากกว่า ผมสนับสนุนเรื่องประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ถ้าสีไหนสนับสนุนเรื่องหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง มันก็ตรงกันในทางความคิด เรื่องสีมาทีหลัง ความคิดมาก่อน

ผมจึงไม่รู้สึกอะไร เมื่อแสดงความเห็นไปแล้วไปทำให้เข้าทางคนเสื้อแดง อย่างที่ผมเคยพูด ก็คือ ช่วยไม่ได้ (ครับ) แล้วผมก็จะทำอย่างนี้ต่อไปอีก การป้ายสีผมว่าเป็นพวกคุณทักษิณ เป็นพวกแดง จะไม่มีผลอะไรกับความคิดของผมเลยแม้แต่น้อย ผมไม่สนใจ

@แต่บรรยากาศสังคมไทย อาจต้องใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง ตรงนี้มีผลต่อบรรยากาศทางวิชาการบ้างหรือไม่

ในห้องเรียน ผมก็ยังสอนหนังสือปกติ ผมก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.ก. ฉุกเฉินด้วย แต่ผมคิดว่าความเซ็นซิทีฟของฝ่ายรัฐแสดงออกมาในหลายลักษณะ ผมยกตัวอย่างเรื่องการที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ส่งหนังสือเวียนไปถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เรื่องขอความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษา โดยมีเนื้อหาระบุเกี่ยวกับการพิจารณาควบคุมการจัดแสดงละครเวทีทางด้านการเมืองของแกนนำนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากปัจจุบันมีแกนนำนักศึกษา จัดแสดงละครเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นด้านการเมือง โดยทาง สกอ.เห็นว่ามีลักษณะบิดเบือนสถานการณ์ทางการเมืองอันเป็นการปลุกระดมยั่วยุสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุความไม่สงบภายในประเทศ

การทำหนังสืออย่างนี้ออกมา ผมว่ามันกระทบนะในเชิงจิตวิทยา แล้วมันจะทำให้เกิดแรงต้านมากขึ้น คือพอใช้อำนาจกด ก็จะมีการต้านการกดทับนั้น

@ ความชั่วร้ายของพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่อาจารย์รับไม่ได้ คืออะไร

เพราะมันไม่ฉุกเฉินไง(ครับ) แต่รัฐทำให้มันฉุกเฉิน เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจเพิ่มเติมขึ้นจากอำนาจในยามปกติ

@ แต่รัฐบาลบอกว่า ต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่างความสงบสุขของคนส่วนใหญ่

พวกเผด็จการเขาคิดอย่างนี้(นะ) ย้อนกลับไปดูสมัยจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) เขาก็คิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่เนียนขึ้นกว่าเดิม มีโครงสร้างในทางสังคมสนับสนุนมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง แต่ว่าสภาพแก่นแท้ของเรื่องไม่ได้เปลี่ยน ก็คือว่า รัฐคิดว่าจะต้องมีอำนาจมากขึ้น การมีอำนาจมากขึ้นทำให้รัฐสะดวกในแง่ของการเข้าจัดการกับคนซึ่งมีความคิดความเห็นแตกต่างไปจากรัฐบาล

เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เขาอาจจะบอกว่ามีพรก.ฉุกเฉินไม่กระทบอะไร คุณก็ดำเนินชีวิตตามปกติถ้าคุณไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่ถ้าคุณเป็นคนเสื้อแดง คุณก็เลิกเป็นเสื้อแดงสิ ถ้าเลิกเป็นเสื้อแดงก็ไม่ฉุกเฉินอะไร ไม่ถูกกระทบตามพรก.นี้ ซึ่งคนจำนวนหนึ่งในสังคมคล้อยตามตรรกะแบบนี้ คนเหล่านี้ลืมนึกถึงการแสดงออกทางความคิดความเห็นที่แตกต่างจากตนออกไป

แต่ในนามของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะทำให้ไปกดทับความคิดความเห็นที่แตกต่าง อีกอย่างหนึ่งผมอยากถามว่า วันนี้ใครรู้สึกว่าประเทศนี้ฉุกเฉินบ้าง มีอะไรในชีวิตประจำวันที่ฉุกเฉิน เราไม่รู้สึกฉุกเฉินเลย มันเป็นภาวะปกติ แต่สำหรับรัฐบาลเองจำเป็นต้องการอำนาจแบบนี้เพื่อจัดการกับคนซึ่งเห็นต่างทางการเมือง เซ้นส์ของมันคือเป็นการกดทับทางการเมืองของคนที่เห็นต่างทางการเมืองมากกว่า ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของพรก.ฉุกเฉิน

@ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีเหตุการณ์ระเบิดในหลายพื้นที่

แล้วมีพ.ร.ก. ฉุกเฉินมันห้ามระเบิดได้หรือ(ครับ) ในทางกลับกัน มันก็ยังระเบิด แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าระเบิดเกิดจากสาเหตุใดหรือลักษณะไหนกันแน่ คือ มันเป็นไปได้ทุกอย่าง อาจจะเป็นไปได้ที่ฝ่ายสนับสนุนอำนาจรัฐบาลในปัจจุบันทำขึ้นมาเอง เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะทำให้ต่อพรก.ฉุกเฉินได้ต่อไป หรืออาจจะเป็นฝ่ายตรงข้ามทำขึ้น เพื่อสั่นคลอนอำนาจรัฐบาล คือเราไม่รู้เลยว่าใครทำ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวน แล้วจับกุมผู้กระทำความผิด

แต่การประกาศ พ.ร.ก. .ฉุกเฉินมันกระทบกับส่วนอื่นๆ ของสังคม แล้วจะทำให้กระบวนการที่จะเปิดให้คนในสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างแสดงออกโดยที่ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงกับอำนาจรัฐเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก นี่คือปัญหาใหญ่ของพ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้วไม่มีที่ไหนในโลกใช้พรก.ฉุกเฉินแบบที่เราใช้อยู่ขณะนี้หรอก นี่ยังไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินด้วยนะว่าเสมอภาคไหม เห็นๆกันอยู่

@ เส้นทางในการนำสังคมไทยสู่ความปรองดองของรัฐบาล อาจารย์มีความเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหน

ไม่มีความเชื่อมั่นเลย แล้วผมก็คิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ คนที่พยายามผลักการปฏิรูปวันนี้ก็คือ คนที่เคยทำการปฏิรูปเมื่อปี 2540 แล้วยังใช้วิธีคิดแบบช่วงก่อน 2540 อยู่ ทั้งๆ ที่สภาพทางการเมืองและความคิดความอ่านของคนเปลี่ยนไปมากแล้วในช่วง 10 กว่าปีมานี้

@ อาจารย์กำลังพูดถึงคณะกรรมการปฎิรูป ชุดคุณอานันท์(ปันยารชุน)และสมัชชาปฎิรูป ชุดคุณหมอประเวศ (วะสี)

ถูกต้องครับ แล้วการโยนเรื่องการปฏิรูปต่างๆ ออกมา ผมรู้สึกว่าเหมือนรัฐบาลโยนของเล่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังจัดการกับคนที่เห็นต่าง เดี๋ยวนี้การป้ายสีว่าเป็นพวกทักษิณซึ่งเริ่มใช้ไม่ค่อยได้ผลแล้ว เพราะคนไม่สนใจ แล้วก็เริ่มเห็นแล้วว่าคนที่เคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งตอนนี้ที่เป็นฝ่ายเสื้อแดงที่มีกิจกรรมอยู่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณเลย

ฉะนั้น คนที่มาทำปฏิรูป ประเด็นหลักของผมอยู่ที่ว่าหลักการที่จะเข้าไปทำ มันจะต้องเริ่มต้นจากฝ่ายที่มีส่วนในความขัดแย้งต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน การปฏิรูปมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรียังอยู่ในตำแหน่ง หลังจากที่มีเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุม แล้วมีคนตาย ไม่ต้องสนใจว่าคนที่ตายเกิดจากฝั่งไหน แล้วไม่ต้องบอกหรอกว่า เป็นทหารทำหรือกลุ่มไหนทำ แต่เมื่อเกิดการตายขึ้น ต้องรับผิดชอบก่อนในเบื้องต้น เมื่อรับผิดชอบแล้ว จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลซะก่อน ซึ่งยังไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องเปลี่ยนขั้วพลิกข้างเสียทีเดียว อาจจะเป็นรัฐบาลกลุ่มเดิม แต่ว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งในเวลาที่เกิดเรื่องขึ้นต้องรับผิดชอบก่อน นี่เป็นหลักการเบื้องต้น

ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบอะไร แล้วตั้งคนโน้นคนนี้เป็นกรรมการ แล้วยังดำรงตำแหน่งต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นไปได้ยังไงวิธีการคิดแบบนี้ แล้วใครเขาจะมาสมานฉันท์ด้วย แต่คนที่รับเป็นกรรมการ ผมเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ใครตัดสินใจยังไง ก็รับผิดชอบการตัดสินใจไปเอง แต่ผมว่าหลักการตรงนี้เป็นหลักการสำคัญ เป็นมโนธรรมสำนึกขั้นพื้นฐาน ถ้าคุณรับผิดชอบเสียก่อนในเบื้องต้น อันนี้ยังพอว่า อาจจะยังพอมีคนคิดว่ายังพอมองหน้ากัน พอที่จะคุยกันได้

@ แต่ถ้าคนในฝากรัฐบาลมองอีกแบบหนึ่งว่า เขาเป็นผู้รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ให้บ้านเมืองถูกเผา จากกลุ่มคนที่บ้าคลั่ง

คือผมถามว่า การเผา(เนี่ย) มันเกิดขึ้นตอนไหน ผมไม่ได้ถามถึงสาเหตุ พูดก็พูดเถอะ เสื้อแดงชุมนุมกว่า 2 เดือน ในย่านธุรกิจ ผมไม่เห็นข่าวว่ามีการทำความเสียหายในบริเวณนั้น ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยกับการชุมนุมที่นั่นอย่างถาวร แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดหลังการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม แล้วก็เกิดการเผา ถ้าบอกว่าเขาเป็นคนรักษาบ้านเมืองไว้ไม่ให้ถูกเผา คนที่คิดอีกอย่างหนึ่งก็อาจจะบอกว่า การที่รัฐใช้กำลังเข้าสลายแบบนั้นแหละ ที่ทำให้เกิดการเผา คือถ้าไม่มีการใช้อาวุธหนักเข้าสลายการชุมนุมแบบนั้น ก็จะไม่มีการเผา ไม่มีการเปิดโอกาสให้เผา

พูดอย่างนี้ไม่ได้สนับสนุนว่าการเผาห้างสรรพสินค้า เผาศาลากลางเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เราต้องมองว่าอะไรมันเป็นเหตุเป็นผล ก่อนหน้านั้นคนที่จะเข้ามาชุมนุมโดนสอยร่วง ๆ อีกอย่างหนึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าการเผาห้างในกรุงเทพเป็นฝีมือของใครกันแน่ ถ้าเราไม่รู้ว่าเป็นฝีมือใครก็อย่าเพิ่งไปสรุป

รัฐบาลบอกว่า การยิงไม่รู้เป็นของใครหรือบอกว่าทหารไม่ได้ยิง ฉะนั้น วันนี้มันต้องการการพิสูจน์ทางข้อเท็จจริงก่อน แต่ต้องเปิดให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ ในสภาพที่ไม่ใช่คนที่เป็นคู่กรณี เป็นผู้กุมอำนาจรัฐยึดกุมกระบวนการของการพิสูจน์ แต่ในเรื่องการเผาห้างในกรุงเทพนั้น รัฐบาลเองในมุมหนึ่งคุณก็ไม่สามารถรักษาตึกรามบ้านช่องไว้ได้ คุณปล่อยให้เกิดการเผา คุณก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน แล้วก็เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง

เหมือนรถไฟตกราง มีคนตาย ผู้ว่าการรถไฟ หรือคนที่เป็นรัฐมนตรีในบางประเทศเขาก็ลาออก เขาไม่ต้องถามว่าใครเป็นคนทำ นี่คือความรับผิดชอบทางการเมือง ชอบพูดกันนักไม่ใช่เหรอครับว่าความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่า ต้องมาก่อนความรับผิดชอบทางกฎหมาย แล้วทำไมไม่เปลี่ยนคำพูดสวยหรูพวกนี้ให้เป็นการกระทำ เป็นการปฏิบัติ เรื่องที่เกิดขึ้นนี้รุนแรงกว่าเรื่องรถไฟตกรางไม่รู้กี่สิบเท่า วันนี้เราลืมถามประเด็นนี้ไป เพราะเราไปพูดถึงเรื่องคืนความสุข กลายเป็นว่าคนมาชุมนุมสร้างความทุกข์ คนที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ว่าคนที่มาชุมนุมจำนวนไม่น้อยเขาทุกข์กว่าพวกคุณไม่รู้กี่เท่า แล้วก็ไม่เคยมีความสุขอย่างที่พวกคุณมี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้ หลายคนก็รู้สึกโล่งใจว่าจบสักทีหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการสร้างปัญหาใหม่ซึ่งมันจะแก้ยากกว่าเดิม

คือทุกที การจบของเหตุการณ์แต่ละตอนในช่วงเวลานี้ มันเป็นการทำให้ปัญหาใหญ่และลุกลามมากกว่าเดิม ร้าวลึกและแตกแยกกว่าเดิม จึงเยียวยาและทำให้กลับฟื้นคืนดียากขึ้นเรื่อยๆ

@ แล้วสังคมที่ร้าวลึกกว่าเดิม จะนำไปสู่อะไรได้บ้าง

คาดการณ์ยาก แต่ก็คาดได้อย่างหนึ่งว่าสังคมก็จะไม่สงบ ความสุขที่ปรารถนา ไม่มีทาง อาจจะได้ความสุขกลับมาชั่วครั้งชั่วคราว ได้ไปเดินช็อปปิ้ง แต่เรากำลังซุกขยะหรืออาจจะไม่ใช่ขยะแต่เป็นระเบิดไว้ใต้พรหม กลบเกลื่อนไว้ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็จะปะทุขึ้นมาใหม่

@ แม้ว่าจะผ่านการเลือกตั้งแล้วก็ตาม อย่างนั้นหรือ

ภายใต้โครงสร้างลักษณะแบบนี้ ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีก คือตอนนี้มันควรจะพูดอะไรไปมากกว่าที่เราจะพูดกันเรื่องของการปฏิรูป เรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งผมมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นของเล่นที่โยนมาให้เล่นกันเฉยๆ

@ อาจารย์ยังรอคอยผลจากการทำงานชุดอาจารย์คณิต ณ นคร มั๊ยครับ

ด้วยความเคารพครับ ผมไม่เคยว่าคณะทำงานชุดนี้ จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอะไรให้กระจ่างแจ้งได้ในความเห็นของผม ถามว่าทำไมทำไม่ได้ เพราะตอนแรกที่เริ่มเข้ามาทำงาน ก็บอกชัดเจนว่า ไม่ได้ค้นหาว่าใครถูกใครผิดอย่างไร และจนถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นว่ามีการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าไหร่

คือ ตอนนี้ บรรดาคณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งเข้าไป ได้เงินสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เงินเหล่านี้ก็ส่งให้นักวิชาการไปทำวิจัยกันในหลายๆ เรื่อง จัดการประชุมอะไรกันไป ตั้งองค์กร หน่วยธุรการที่ทำหน้าที่สนับสนุนงานของคณะกรรมการขึ้นมา ไม่ทราบว่าใช้งบกันกี่ร้อยล้านบาท แต่ที่สุดมันอาจจะไม่เกิดมรรคผลอะไร เพราะไม่ได้ลงไปที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ

@ การบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมาในสังคมไทย เห็นอะไรบ้างหรือไม่

คงไม่ต้องให้ผมพูด(มั้ง) คนที่มีจิตใจเป็นธรรมพอสมควร คงจะตอบได้เช่นกัน ผมคิดว่าเขาคงบอกได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่บ้านเราผมถามว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในหลายๆ เรื่อง มันยังไม่ได้ระดับที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นมันจึงมีเรื่องจำนวนมาก ที่เราไม่สามารถพูดกันอย่างตรงไปตรงมาได้ ด้วยการกดทับจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย และจากคุณค่าหรือค่านิยมบางอย่างของสังคมซึ่งอาจจะผิด นี่คือปัญหา

เมื่อไม่สามารถพูดในทางสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาได้ ผมจึงเบื่อมากที่การอภิปรายทางสาธารณะส่วนใหญ่ มักไม่ลงไปที่เนื้อหาสาระจริง กลายเป็นว่า เป็นการพูดกันเพียงลอย ๆ ผิวๆ ฉะนั้น ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยแล้ว เขาไม่คิดว่ากระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในระบบของเรานั้น เป็นระบบที่จะอำนวยความยุติธรรมได้

แน่นอน คนที่อยู่ในระบบยุติธรรมก็อาจจะเถียง แต่ถ้าถามผม ซึ่งเป็นนักกฎหมายแล้วประเมินเหตุการณ์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลา 3-4 ปี มานี้ สิ่งที่ผมวิพากษ์วิจารณ์ไป มันเป็นคำตอบในตัวว่าผมคิดยังไงกับกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา เพราะเรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนึกของคน คนรู้ได้เอง เว้นแต่ว่าคนจะอินไปกับการต่อสู้ทางการเมือง หรือกลายเป็นฝักฝ่ายการมืองอย่างรุนแรงจนมองไม่เห็น

สมมติว่ามีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งไม่ยุติธรรมออกมา แล้วกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนั้นถูกใช้กับกลุ่มในทางการเมืองซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มของเรา ในหมู่ของเราจะมีคนที่จิตใจสูงสักกี่คนที่จะบอกว่าไม่ยุติธรรม คนก็บอกว่ามันยุติธรรมแล้วเพราะกฎหมายนั้นใช้บังคับกับศัตรูของเรา แต่เมื่อกฎหมายฉบับนั้นหวนกลับมาใช้กับตัวเอง คราวนี้แหละก็จะร้องขึ้นมาว่าไม่ยุติธรรม

การมองความยุติธรรมวันนี้ ผมคิดว่า เราไม่ได้มองความยุติธรรมในลักษณะซึ่งเป็นภาวะวิสัย รอบด้าน คนจำนวนหนึ่งซึ่งจะต้องอำนวยความยุติธรรม ก็ปักธงแล้วเดินตามธงนั้น โดยคิดว่านั่นคือความดี นั่นแหละยุติธรรม ไม่แยแสสนใจกระบวนการ หลักการ คุณค่า อันที่จริงการจะประสาทความยุติธรรมได้ ต้องไม่ดูหน้าคน ไม่ดูสี แต่วันนี้มันไม่ได้มีสภาพเป็นแบบนั้น นี่คือปัญหา จะพูดให้สวยงามยังไง ให้มีวาทศิลป์ยังไง ใช้สื่อประโคมโหมยังไง มันก็ไม่สามารถที่จะปิดกั้นสิ่งที่มันเป็นความจริงได้

@ มีเสียงคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการชุดคุณอานันท์และหมอประเวศ ถูกหลอกใช้

ผมไม่คิดว่าท่านเหล่านั้นถูกหลอก แต่ผมมองว่ามันเป็นกลุ่มก้อนหรือเครือข่ายซึ่งมีความคิดความอ่านในหลายเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ทุกเรื่อง บางเรื่องก็ขัดแย้ง ปะทะกัน แต่โดยรวมรับใช้ความเชื่อทางการเมืองแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน ก็มีเรื่องที่คณะกรรมการเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล เช่น เรียกร้องให้เลิกพรก.ฉุกเฉิน แต่ถามว่าหากรัฐบาลไม่เลิก แล้วจะทำอย่างไรต่อ คณะกรรมการจะมีแซงชั่นยังไงกับรัฐบาลมั๊ย

ถ้าสมมุติว่างานของคุณคืองานปรองดอง งานสมานฉันท์ แล้วคุณมีความเห็นว่าการคงพรก.ฉุกเฉิน เป็นอุปสรรคในการทำงานของคุณ แล้วขอให้รัฐบาลเลิก แต่รัฐบาลไม่เลิก ผมถามว่ากรรมการจะทำอะไรต่อ บอกผมหน่อย จะมีแอ็กชั่นยังไงต่อไป จะลาออกเพื่อประท้วงรัฐบาลหรือ

ผมถึงบอกว่าในที่สุด มันเป็นกลุ่มก้อนที่มีความคิดความอ่านไปในทางเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องถูกหลอกอะไร อีกอย่างหลายคนก็เป็นคนดี แต่ผมเรียนว่า ความเป็นคนดีกับการตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันไม่แน่ว่าจะถูกเสมอ คนดีกับการตัดสินใจที่ถูกต้องบางทีมันเป็นคนละเรื่องกัน แต่สังคมเราไปนิยามว่าคนดีทำอะไรก็ถูกหมด แล้วดีเนี่ย มันก็ขึ้นอยู่กับว่าดีในเรื่องไหนด้วยนะครับ ดีเรื่องไหน ดียังไง

ผมสอนหนังสือ ผมบอกนักศึกษาว่า ถ้าเราเป็นจำเลยในคดี แล้วได้ผู้พิพากษาเป็นคนดี ถือศีล 5 ครบ แต่ผู้พิพากษาคนนี้มีอคติกับเรา มีเรื่องกับเรา เกลียดเรา มานั่งเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นกรรมการ ผมถามว่าเราจะรับให้คนนี้ ที่เป็นคนดี สังคมยกย่องว่าดี สื่อยกย่องว่าดี มาตัดสินเรื่องของเรามั๊ย แล้วคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีถ้าเขาดีจริงเขาจะไปนั่งเป็นกรรมการ เป็นผู้พิพากษาตุลาการไปนั่งตัดสินเรื่องแบบนั้นหรือไม่

นี่คือคำถามว่า เวลาเราพูดถึงเรื่องคนดี คุณดูจากตรงไหน เรื่องอะไรล่ะ ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นคนดีในเกณฑ์หนึ่งแล้ว เขาจะทำทุกอย่างถูกหมด คนดีก็มีอคติได้ตั้งเยอะ ผมเคยบอกลูกศิษย์ว่า กินเหล้าบ้างก็ได้ไม่เป็นไร ไม่ซีเรียสเลย คุณจบไปแล้ว เป็นผู้พิพากษา คุณกินเหล้า คุณเที่ยวบ้างก็ได้ สำหรับผมนะ

แต่ขอว่าเมื่อคุณใช้กฎหมาย ขอให้ใช้โดยเคารพหลักการและเคารพจรรยาบรรณในวิชาชีพของคุณ หลักพื้นฐาน หลักเรื่องการไม่มีส่วนได้เสีย คุณต้องรักษาสิ่งนี้ไว้ให้บริสุทธิ์ เรื่องส่วนตัวไม่เป็นไรหรอก ถ้าไม่เสียงาน ไม่กินเหล้าขึ้นบัลลังก์ ที่เหลือก็เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณ เพราะเราก็ยังเป็นมนุษย์โลกอยู่ แต่จรรยาบรรณทางวิชาชีพต้องรักษาเอาไว้ เพราะวิชาชีพกฎหมายเป็นวิชาชีพที่ตัดสินการกระทำของมนุษย์ เมื่อเราไม่ใช่พระเจ้า หลักการต่างๆที่เป็นคุณค่าพื้นฐานของวิชาชีพต้องรักษาไว้

ซึ่งอันนี้คนจำนวนมากไม่เข้าใจ กลายเป็นไม่พูดเรื่องหลักการ เรื่องคุณค่าแต่เอาเรื่องที่เป็นความประพฤติของตัวเองคือเรื่องที่ตัวเองประพฤติดีมาตัดสินเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความดีของตัวเอง เราเอาพระมาเทศน์ในสังคมส่วนใหญ่แบบนี้ ผมบอกว่า ขอโทษเถอะ ถ้าเป็นอย่างนั้น อัญเชิญพระสังฆราช หรือสมเด็จพระราชาคณะ มาบริหารประเทศเลยไม่ดีเหรอ แล้วผมถามว่า พระคุณเจ้าเหล่านั้นต้องตัดสินใจเรื่อง FTA ขึ้นมา ตัดสินใจเรื่องที่มันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมา ต้องตัดสินใจว่าตกลงควรจะทุบสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อรักษาถนนราชดำเนิน รักษาวิถีชีวิตของคนในบริเวณนี้เหมือนกับที่มีผู้เสนอมา ถ้าพระคุณเจ้าตัดสินใจขึ้นมา ก็จะห้ามวิจารณ์เรื่องที่ท่านตัดสินใจใช่ไหม ท่านตัดสินใจอะไรไป คือตัดสินใจถูกต้อง เพราะถือศีลมากกว่าเรา หรือเพราะไม่มีความอยากทางโลกแล้ว ทำอะไรก็ไม่ผิด เพราะถือว่ามีเกราะเป็นความดีแล้ว ห่มผ้าเหลืองมาเทศน์แล้ว

นี่คือปัญหาของเรา เราพยายามบอกว่า คนที่บริหาร คนที่ตัดสินใจเป็นคนดีเพราะฉะนั้นอย่าวิจารณ์ อย่าแตะต้อง เดี๋ยวคนดีเสียกำลังใจ ซึ่งมันผิด นี่มันเป็นความเข้าใจผิดมหันต์ในสังคมนี้

@ แล้วโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปประเทศไทย ที่ควรจะทำจริงๆ คืออะไร

ต้องทำหลายเรื่องครับ แต่ในความเห็นผม เราพูดเสมอว่าเราอยากได้รัฐซึ่งดูแลประชาชน พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ ขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน เรื่องปฏิรูปที่ดิน เรื่องโครงสร้างภาษี ประเด็นพวกนี้มันจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันจะต้องมาทีหลังความยุติธรรมในทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ต้องทำตรงนี้ก่อน

ถามว่า ถ้าไม่ทำตรงนี้ในทางพื้นฐาน แล้วไปทำอย่างอื่น มันไม่มีทางสำเร็จ เพราะก่อนจะไปถึงจุดนั้น ฐานต้องมาจากประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียก่อน ถามว่าแล้วคุณจะทำอะไร ก็ต้องมาตั้งคำถามว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีสถาบันไหนบ้าง เข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งต้องตั้งคำถามตรงไปตรงมา แล้วก็ต้องตอบกันอย่างตรงๆ และมีการรีฟอร์มตัวระบบการเมืองทั้งหมด

สถาบันทุกสถาบันจะต้องมีตำแหน่งแห่งที่ของตัว และอยู่ในที่ที่ตัวจะต้องอยู่ ถ้าเริ่มต้นจากตรงนี้ ผมคิดว่ามันจะไปได้ แต่ปัญหาวันนี้คือ มันไม่เป็นแบบนั้นครับ บางกรณี การพูดถึงสถาบันบางสถาบันแค่จะพูดยังไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ความจริง ความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อย เขารู้สึกว่ามันต้องมีการพูดถึงในความเป็นจริง มีการวิพากษ์วิจารณ์ แล้วคนที่คิดอย่างนี้ เขาหวังดีกับประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากด้วย เขาต้องการเกิดให้มีการพูดคุยกัน แล้วจัดวางสมดุลในทางการเมืองให้ได้

@ รวมถึงสถาบันกองทัพด้วย

ผมหมายถึงทุกสถาบันเลย กองทัพอาจจะมาทีหลัง ผมอาจจะพูดเลยไปกว่านั้นอีก จำได้มั๊ยครับว่า ผมเคยเสนอเรื่ององคมนตรี แล้วผมคิดว่าเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องพูดด้วย เราควรจะตั้งคำถามในทุกเรื่อง สมมติมีคนตั้งคำถามว่าในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา สถาบันในทางรัฐธรรมนูญสถาบันใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง การเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นถูกต้องตรงตามหลักการที่ควรจะเป็นหรือไม่ ก็ต้องถกเถียงกันได้ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่พอเริ่มต้น ก็ห้ามพูดเสียแล้ว แล้วจะแก้ปัญหาได้ยังไง สถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมถามว่าถูกนำมาใช้ทางการเมืองมั๊ย คำตอบก็คือใช่ ถ้าพูดกันตรงๆ บางทีก็มีการชูสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทำลายปรปักษ์ทางการเมือง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่นเลยนะ ผมถามว่าอย่างนี้ ถ้าไม่นำมาพูดกันให้มันหมดเปลือกตรงไปตรงมา เราจะแก้ปัญหาได้หรือ

ในทางวิชาการทุกวันนี้ มันไม่ได้มีการพูดกันเต็มที่อย่างตรงไปตรงมาอาจจะมีการพูดกันวงปิด แต่ผมคิดว่าไม่ได้ ต้องทำให้เป็นเรื่องเปิดเผย ตรงไปตรงมา ถ้าอยากจะแก้ปัญหานะ หน้าที่ของรัฐบาลก็คือสร้างบรรยากาศของการพูดคุยขึ้นให้ได้ แต่ผมถามว่า ในสภาพของพรก.ฉุกเฉินแบบนี้ สภาพของการสร้างกระแสความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาร่วมกันแบบนี้ มันไปปิดกั้นคนที่มีความคิดความเห็นที่ไม่เหมือนกัน ทำให้เขาพูดไม่ได้ แล้วมันจะอยู่กันอย่างสันติสุขได้อย่างไร

ผมเข้าใจว่า ผู้ใหญ่หลายท่านก็เห็นประเด็นเหล่านี้อยู่ และกำลังหาวิธีอยู่ แต่ว่ามันต้องทำโดยสละประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ทางชนชั้นที่สังกัด ละเอาไว้ก่อน แล้วดูประโยชน์ที่เป็นส่วนรวมโดยแท้จริงเสียก่อน ถ้าไม่สละประโยชน์ทางชนชั้นที่ยังมี ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ แล้วคุณก็ได้ประโยชน์อยู่ แล้วการคิดคุณไม่หลุดจากกรอบตรงนี้ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วผมเข้าใจว่า นี่เป็นปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยในบ้านเราเลยทีเดียว ที่เราพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันอาจจะผิดอย่างสิ้นเชิงเลย เพราะคำๆนี้คือการอำพรางปัญหา และการขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง อีกอย่างมีคนชอบพูดเสมอว่าคนของเรายังไม่พร้อม ผมว่าวันนี้คนส่วนใหญ่พร้อมแล้ว มีแต่ชนชั้นนำนั่นแหละที่ยังไม่พร้อม แล้วที่ไม่พร้อม เพราะถ้าให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ตนจะสูญเสียประโยชน์ที่เคยได้จากโครงสร้างของสังคมแบบนี้ไง

@ หากมองในทางการเมือง รัฐบาลประชาธิปัตย์อาจเป็นรัฐบาลต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง

เป็นไปได้ครับ แต่ปัญหาก็คือ การไม่ยอมรับในอำนาจของรัฐจะเพิ่มขึ้น ยิ่งใช้อำนาจมากเท่าไหร่ก็จะถูกปฏิเสธจากคนที่เขาไม่เห็นด้วยมากขึ้น คือเราต้องเข้าใจว่า การอยู่ร่วมกันในสังคม มันไม่มีหรอกเรื่องที่เราเห็นด้วยกันทุกเรื่อง แต่เรายังอยู่ร่วมกันได้ เพราะเรายอมรับตัวอำนาจรัฐ อำนาจของส่วนรวมอยู่ แต่สภาพมันจะไม่เป็นแบบนั้น ถ้าสมมุติว่ามันมีคนจำนวนหนึ่งปฏิเสธ เริ่มปฏิเสธทีละน้อยๆ เริ่มเสื่อมศรัทธากับตัวอำนาจรัฐ หรือ สถาบันสำคัญๆ ของรัฐ แล้วอันนี้ ถ้ามันมีเหตุปัจจัยอะไรบางอย่างที่เป็นปัจจัยภายนอกเข้ามา มันอาจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนในทางระบบหรือในทางระบอบ

ผมเข้าใจว่าวันนี้ทุกคนคิดและเห็น เพียงแต่การแก้ปัญหามันไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งจะเหนี่ยวรั้งเอาไว้ไม่ให้ไป เพราะว่าการเหนี่ยวรั้งมันสนับสนุนการดำรงอยู่ของตัวหรือชั้นของสังคมที่ตัวสังกัดอยู่ อีกฝ่ายหนึ่งพยายามจะผลักให้เกิดการเปลี่ยน

อันหนึ่งดึงให้คงสิ่งที่เรียกว่า “status quo” ก็คือคงสภาวะแบบนี้เอาไว้ อีกพวกหนึ่งต้องการเปลี่ยนไปจากสภาพแบบนี้ เพราะเขาเห็นว่าเป็นสภาพที่อยุติธรรม เขายอมรับไม่ได้ เป็นสภาพที่เขาถูกปฏิเสธสิทธิ ถูกปฏิเสธเสียง

@ แล้วสภาพอย่างนี้ จะคงอยู่อีกนานเท่าไร

นานพอสมควร เพราะเป็นช่วงการต่อสู้ แต่เราต้องไม่ลืมว่า การต่อสู้ที่มันเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเรา มันไม่มีการต่อสู้ทางความคิดครั้งไหน ที่มันลงลึกไปถึงระดับผู้คนมากเท่ากับในช่วงนี้

ผมอาจจะไม่ได้ผ่านเหตุการณ์ในอดีตมา แต่ก็ศึกษาประวัติศาสตร์แล้วประเมิน เราเคยมีประเด็นสู้กับคอมมิวนิสต์ เกิดความแตกแยกในระดับหนึ่ง แต่ตอนนั้นมันอยู่ในปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง แต่วันนี้คนซึ่งเข้าร่วมในความขัดแย้งมันทั่วไป และมันลึกไปในระดับของครอบครัว ที่ทำงาน และทุกหนทุกแห่ง แล้วมันก็ไม่น่าจะจบลงง่ายๆ แต่จะจบลงยังไง ผมก็ประเมินไม่ได้ แต่คาดหมายได้อย่างหนึ่งว่ามันต้องเปลี่ยน แต่เปลี่ยนแบบไหน ยังไม่รู้

คือฝ่ายที่ดึงกับฝ่ายที่ผลัก ในที่สุดฝ่ายที่ผลักซึ่งมีจำนวนมากกว่า มันจะผลักไปได้นั่นแหละ แต่มันจะไปได้แค่ไหน แล้วที่สุด มันจะสมดุลกัน โดยที่ไม่ต้องแตกหักกันหรือไม่ อันนี้ต้องรอดูต่อไปอีก

แต่ดูจากสภาพที่ผ่านมา ในช่วง 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมอาจจะมองในทางลบนิดหนึ่งว่าผมว่ามันจะไปสู่ภาวะที่มันรุนแรงขึ้น เพราะว่าฝ่ายซึ่งต้องการรักษา status quo เอาไว้ เป็นฝ่ายที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วอาจจะไม่ยอมประนีประนอม แต่อันนี้ก็ยังไม่แน่อีก เพราะด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ซับซ้อน ผลประโยชน์ที่เกี่ยวโยงกันมหาศาล การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ

@ มีเคลื่อนไหวกรณีเขาพระวิหาร ของกลุ่มหัวใจรักชาติ อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง เพราะอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) หรือนักประวัติศาสตร์หลายคน วิจารณ์ว่าคนไทยบางกลุ่มไม่อ่านคำพิพากษาศาลโลก ไม่เรียนรู้ประวัติ แต่พยายามต่อสู้ โดยใช้ประเด็นรักชาติ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ชาญวิทย์ครับ ครั้งหนึ่งผมเคยไปสอนหนังสือนักศึกษาปริญญาโท ผมพบว่าคนเรียนปริญญาโทในห้องนั้น จำนวนไม่น้อยเลยไม่ทราบว่าประเทศไทยแพ้คดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และเสียปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชาไปแล้วตามคำพิพากษานั้น

@ แต่ก็ยังมีความเชื่อว่าเราเป็นเจ้าของ และจะเอาปราสาทพระวิหารคืน

ใช่ ความคลั่งชาติเมื่อคลั่งมากเข้า ก็จะมองคนที่คิดไม่เหมือนตัวเองว่าไม่รักชาติ กลายเป็นว่าถ้าไม่ได้แสดงออกเหมือนที่ตัวเองแสดงออก พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้บ้าหรือคลั่งอย่างที่ตัวเองบ้า จะเป็นพวกไม่รักชาติ ผมว่าต่อไป คนในสังคมอาจจะเลือกเอาว่าจะคลั่งจะบ้าแล้วได้ชื่อว่าเป็นพวกรักชาติ กับ เป็นคนปกติมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แต่ถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ ที่สุดอาจจะเป็นแบบนี้

แล้วมันไม่มีทางที่จะประนีประนอมได้ มันต้องหักกันอยู่แล้วในเรื่องแบบนี้ คนก็จะเกลียดกัน เพราะคุณปลุกกระแสการคลั่งชาติขึ้นมา โดยที่เราต้องเข้าใจว่าเรื่องพรมแดน เป็นเรื่องความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ กรอบความคิดเรื่องพรมแดน รัฐชาติ เป็นกรอบความคิดสมัยใหม่ ซึ่งเวลาเอาไปแบ่ง มันต้องเจรจา ต้องคุยกัน

แต่ผมเห็นเรื่องนี้มาตั้งแต่กรณี “joint communiqué” หรือแถลงการณ์ร่วม แล้ว ที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศไปทำซึ่งในความเห็นผม ผมว่ามันไม่ได้มีปัญหาหรือข้อเสียอะไรเลย ถ้าใครไปอ่านข้อ 5 แถลงการณ์ร่วมก็จะเห็น ว่าเขาค่อนข้างรัดกุมในแง่ว่าอะไรที่มันพิพาทกันอยู่แล้ว ก็ไม่ได้บอกว่าจบไปด้วยแถลงการณ์ฉบับนี้

ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังไม่ชี้เลยในคำพิพากษาหรือวินิจฉัยว่าเสียดินแดน ยังบอกว่า “อาจ” เสียดินแดน ซึ่งผมก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วอันนี้ศาลเพิ่มความคือคำว่า “อาจ”เข้าไปในรัฐธรรมนูญเอง คือ ถ้าศึกษาและฟังรอบด้าน ไม่ได้ฟังด้านเดียวแล้วตัดสินไว้ก่อนแล้ว อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ทำตัวให้เป็นผู้ใฝ่รู้หรือศึกษาหน่อย ไม่คิดจากแรงขับทางการเมือง จากการเกลียดปรปักษ์ทางการเมือง แต่คิดอย่างมีเหตุมีผล ก็จะเห็นความจริง

แต่ปัญหาคือว่า วันนี้ไม่ได้คิดกันอย่างนั้น ซึ่งคนระดับครูบาอาจารย์ ก็อาจจะเป็นระดับน้ำเต็มแก้วได้ เพราะเขาก็เป็นคน เชื่อไปแล้ว เมื่อเชื่อไปแล้ว ก็ไม่ฟัง ไม่เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ตัดสินไปโดยแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งที่ถูกต้องก็คือเขาควรจะต้องแยกแล้วพิเคราะห์ให้เป็นภาวะวิสัย แต่ละเรื่องๆ ว่าใครถูกใครไม่ถูก

การบอกว่าคนหนึ่งถูก คนหนึ่งไม่ถูก มันต้องบอกจากการที่มีเหตุผลรองรับ ไม่ใช่ใช้อารมณ์ความรู้สึกรองรับ เพราะคนที่พร้อมจะฉวยโอกาสจากความคลั่งชาติมันมีอยู่แล้ว คือเราต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งเรื่องพรมแดน เขตแดน ที่อาจนำไปสู่การปะทะกัน ตามแนวชายแดน หรือแม้นำไปสู่สงคราม คนส่วนใหญ่เสียประโยชน์ แต่มันยังมีคนจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์จากภาวะความขัดแย้งอันนี้

คือ ในทุกสถานการณ์มันมีคนได้ประโยชน์ ไม่ใช่ทุกคนจะเสียประโยชน์หมด บางคนอาจจะคิดว่า เอาสถานการณ์แบบนี้ขึ้นมาปลุกเร้าเพื่อให้คนได้รักกัน จะได้หลอมรวมกันไปจัดการกับศัตรู ซึ่งเขาไม่รู้หรือเขาไม่ได้คิดว่าวันนี้ มีคนจำนวนมาก ที่ไม่ได้คิดแบบนั้น คนจำนวนไม่น้อยเขาจะบอกว่า การอยู่ร่วมกัน มันต้องอยู่ร่วมกันฉันเพื่อนบ้าน แล้วก็พูดคุยเจรจากัน

ฉะนั้น พวกที่อยากให้ใช้กำลัง คงอาจต้องขอร้องให้เขาไปรบเอง เพราะว่าที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น คนที่ไปรบ ไม่ใช่คนพวกนี้เลย แล้วพอพูดอย่างนี้ไป ผมก็จะกลายเป็นพวกไม่รักชาติ แต่ผมไม่แคร์เลย คือ ผมถูกด่าจากคนบ้า ผมจะต้องสนใจอะไร

@ มองกระบวนการสรรหา อธิการบดีม. ธรรมศาสตร์ อย่างไร อาจารย์คาดหวังอะไรไหม ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประชาคมธรรมศาสตร์

ไม่คาดหวังอะไรเลยจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ต้องเข้าใจว่าธรรมศาสตร์ ในส่วนสภามหาวิทยาลัยถูกยึดกุมโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยโครงสร้างของตัวมหาวิทยาลัย การยึดกุมนี้หมายความว่า การคัดเลือกตัวคนที่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกอย่าง มันเป็นเรื่องความเกี่ยวพันหรือความเชื่อมโยงกันหมด ในความสัมพันธ์ระหว่างคน

อาจจะมีตำแหน่งบางตำแหน่งมีการเลือกตั้ง แต่ผมถามจริงๆ เถอะ พูดไปอาจมีคนเคืองผม คือบางท่านที่นั่งในสภามหาวิทยาลัยท่านเป็นมากี่สมัย คือตัดสินใจเรื่องราวสำคัญๆ ของธรรมศาสตร์หลายเรื่อง โดยที่หลายท่านไม่ได้มีส่วนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนในประชาคม

ต้องเข้าใจว่าโครงสร้างพวกนี้เป็นโครงสร้างที่มันแน่นหนา ซึ่งมันต้องเปลี่ยนในเชิงระบบใหม่หมด มีการพูดกัน ในมหาวิทยาลัย เรื่องการสืบต่อตำแหน่ง อย่างท่านอาจารย์อภิชาต อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ท่านเขียนว่าธรรมศาสตร์ถูกปกครองโดยราชวงศ์หนึ่ง อะไรประมาณนี้

แล้วถามว่า พวกอาจารย์อย่างผมจะไม่ทำอะไรเลยหรือ ผมรู้สึกว่ามันมีเรื่องอื่นที่จะต้องทำมากกว่า คือมันต้องไปรบรากับคนอีกเยอะ ผมก็จะเพิ่มปริมาณคนที่ไม่ชอบหน้าผมอีกเยอะ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมจะกลัว แต่ผมก็มี 24 ชั่วโมง ก็มีเรื่องอื่นๆ ที่ผมจะต้องทำ บางเรื่องก็ต้องปล่อยไป ชีวิตไม่ได้มีมิติเดียว

@ แต่ในแคนดิเดต 3 คน อาจารย์มีตัวเลือกแล้วใช่มั๊ยว่าจะเลือกใคร

ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะไปเลือกหรือเปล่า รู้มั๊ยครับว่าทำไม เพราะว่าในที่สุดผมทราบว่ามันไม่มีผล การตัดสินใจสุดท้าย อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย เพราะเป็นแค่การหยั่งเสียง คือถ้ามหาวิทยาลัยมีทิศทางที่ผมเชื่อถือหรือเชื่อมั่นโดยฟังเสียงประชาคม กระบวนการในการสรรหาเป็นกระบวนการที่ดี เสมอภาค ผู้เข้ารับการสรรหามีความโดดเด่น มันก็อาจจะมีแรงจูงใจไปเลือก แต่ผมก็พอจะรู้ว่ามติมันจะออกมายังไง ซึ่งบางทีผมอาจจะคาดผิดก็ได้

@ ดูเหมือนว่าดินแดนแห่งเสรีภาพของธรรมศาสตร์ เอาเข้าจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น

คงไม่ถึงอย่างนั้น คือ อย่างผม(เนี่ย) เขาก็ปล่อยให้ผมได้พูด แม้ว่าจะจับตาดูอยู่ เพราะผมไม่สนใจตำแหน่งบริหาร เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีคนเสนอให้ผมรับการสรรหาเป็นผู้บริหารของสถาบันภายในธรรมศาสตร์แห่งหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าใครเสนอ ก็ได้แต่ขอบคุณอยู่ในใจ แต่ผมตอบปฏิเสธว่าไม่ขอเข้ารับการสรรหา เพราะว่าผมเห็นว่าระบบ โครงสร้างแบบนี้ทำอะไรได้ยาก

@ ถ้าจะเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน พ.ร.บ.ธรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ

ก็อาจจะต้องปรับตรงนี้ แต่มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วก็ต้องพูดกันว่าสภามหาวิทยาลัยที่เป็นแบบนี้ ตัวคนซึ่งเราคัดอะไรกันมาแบบนี้ มันควรจะเปลี่ยน หรือเรื่องความเป็นตัวแทน เรื่องความเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย หรือวิธีคิด วิสัยทัศน์ของคน รวมทั้งการให้ตัวประชาคมได้มีอำนาจมากพอสมควร อันนี้ต้องปรับ คือ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะเป็นการยึดกุม แต่ที่สุด มันก็จะเป็นการต่อสู้กัน ของขั้วทางการเมือง ซึ่งก็อาจจะสะท้อนการเมืองระดับชาติอยู่ในบางช่วงบางเวลา

@ ทราบมาว่าอาจารย์กำลังจะเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่

จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรมาก คือคุยกันกับเพื่อนอาจารย์ในกลุ่มว่า มีกลุ่มคนในสังคมที่ตามความคิดของกลุ่ม 5 อาจารย์ ซึ่งบัดนี้มากกว่า 5 อาจารย์แล้ว ซึ่งได้แสดงจุดยืน และทัศนะในทางกฎหมาย ในแต่ละเรื่อง แล้วก็เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่ากลุ่ม 5 อาจารย์ ไม่ได้มีประโยชน์ได้เสีย หรือเกี่ยวข้อง ในทางทรัพย์สินเงินทองหรือการได้ประโยชน์จากฝ่ายใด บางทีก็มีคนมาถามหาเรื่องแถลงการณ์เรื่องที่เราออกไปเมื่อ 3 ปีก่อน เขาก็อยากจะอ่าน แต่ไม่รู้จะไปอ่านที่ไหน

ก็เลยมีความคิดขึ้นมาว่าน่าจะทำเว็บขึ้นมา รวบรวมข้อมูลเรื่องที่เราได้ทำๆ ขึ้นไปรวมไว้ เอกสารเหล่านั้นซึ่งเป็นสาธารณะไปแล้ว ก็จะได้มีหลักแหล่งพอให้อ้างอิงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าใครจะนำไปใช้ทำอะไรก็ขอให้อ้างอิงไม่เอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ก็ใช้ได้หมด หรือบางคนอาจจะเพิ่งตามเรื่อง สนใจการเมืองฉับพลัน หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ แล้วก็ไม่รู้ว่ากลุ่ม 5 อาจารย์เคยพูดอะไร เคยวิจารณ์อะไร เคยแสดงความเห็นในเรื่องนั้นๆ ว่าอย่างไร ก็จะได้ตามอ่านได้

พร้อมๆ กันนี้ก็จะได้รวมงานวิชาการของกลุ่ม 5 อาจารย์ รวมทั้งอาจารย์ท่านอื่นที่จะมาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งด้วย ดังนั้นงานต่างๆที่รวมอาจจะไม่ใช่แถลงการณ์อย่างเดียว แต่จะมีเรื่องบทความทางวิชาการของผมเอง และของอาจารย์ในกลุ่มไปใส่เอาไว้ เพื่อให้คนที่เขาตามมาค้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น อาจจะรวมถึงบทสัมภาษณ์ต่างๆ ก็จะเอามารวมไว้ด้วย นอกจากนี้ก็จะมีเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์กฎหมายมหาชน รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้บรรดานักศึกษาต่างๆได้แสดงออกทางความคิดความอ่านโดยการเขียนบทความ แล้วเราก็จะช่วยตรวจดูความถูกต้องทางวิชาการให้ การรวบรวมนี้จนถึงวันเปิดตัวอาจจะไม่สมบูรณ์นัก แต่จะค่อยๆ นำมารวมให้ครบถ้วนในเวลาต่อๆไป

ที่สำคัญคือ เว็บที่จะเปิดขึ้นนี้ อย่างน้อยให้นักศึกษาไม่ใช่เฉพาะธรรมศาสตร์ แต่รวมถึงคนที่สนใจกฎหมายอื่นๆ สนใจ ความรู้ในทางกฎหมาย ได้เข้ามาและเข้าถึง มันก็เป็นการเผยแพร่ ความรู้ ความคิด ความอ่านของพวกเรา ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่ไม่ใช่กระแสหลักอีกทางหนึ่ง

แต่มากที่สุดและเป็นประเด็นหลักเลยก็คือ กลุ่ม 5 อาจารย์และอาจารย์ที่เข้ามาสมทบ เรายืนยันในหลักการประชาธิปไตย เป็นจุดยืนที่แน่วแน่มาโดยตลอด เพราะกำเนิดของ 5 อาจารย์มันเริ่มต้นจากการที่เราออกแถลงการณ์ประณามการทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ตอนนั้นมีอาจารย์ 4 คน เพราะอีกท่านหนึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ติดต่อกัน ไม่กล้าชวนท่านมาร่วม แต่ต่อมาท่านบอกว่าความคิดเหมือนกัน ร่วมกันได้ เราก็เลยกลายเป็นกลุ่ม 5 อาจารย์ ตอนนี้ก็เป็นกลุ่มมากกว่า 5 อาจารย์แล้ว

ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าทำไปทำมา เราจะต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้กฎหมายขององค์กรของรัฐมากขนาดนี้ แต่มันก็เป็นแบบนี้ไปแล้ว ตอนหลังพอมันมีประเด็นสำคัญๆ เรามีเวลาและคิดว่าควรแสดงทัศนะของเราให้สังคมรับรู้ เราก็วิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องคำพิพากษาของศาล กลุ่ม 5 อาจารย์ก็วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาสูงสุด ในทุกศาล ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ศาลฎีกา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับศาลทุกเรื่อง

แต่เรื่องไหนที่เราไม่เห็นด้วย เราก็แสดงความเห็นโดยเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่มีการไปพูดลับหลังโดยที่ไม่อิงหลักวิชา เราพูดเปิดเผยและพูดโดยหลักวิชาและหลักเหตุผล เพื่อให้ศาลได้อ่าน ให้คนทั่วไปได้อ่าน แล้วได้ตรึกตรอง เราเชื่อว่าการกระทำอย่างนี้ความเจริญงอกงาม ทางสติปัญญามันจะเกิดขึ้นกับสังคม เราอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งทำหน้าที่ตรงนี้ เท่าที่เรายังมีแรงและกำลังที่จะทำ ไม่ได้บอกว่าจะทำไปตลอดกาล ในอนาคตข้างหน้าก็จะมีคนมารับช่วงต่อไป

ฉะนั้น ประเด็นและเนื้อหาในเว็บก็จะเป็นเรื่องสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ใครที่รักประชาธิปไตย ที่สนใจ ก็จะตามความคิดความอ่านของกลุ่ม 5 อาจารย์และอาจารย์ที่เข้ามาสมทบได้ ก็จะมีการสลับกันมาเขียนเรื่องราวต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องวิชาการ ที่เราคิดว่าเราอยากจะเขียน ให้ลูกศิษย์ลูกหาที่เขาสนใจความคิดเราได้เข้ามาอ่าน

@ ในเว็บจะมีความเคลื่อนไหวตลอดไหม

จะพยายามให้มีความเคลื่อนไหวตลอด ก็จะมีการเขียนบทความทางวิชาการ หรือมีคนสนใจเรื่องประชาธิปไตยในต่างประเทศ เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องกฎหมายมหาชน ซึ่งโทนก็จะเน้นไปทางกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้

ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการตรวจทานความถูกต้อง ต่อไปคนก็จะได้อ่านและอ้างอิง แล้วมันดีในแง่ที่ว่า พูดอะไรเอาไว้ เราก็ไม่ละอายในสิ่งที่เราพูด ได้ยืนยันในสิ่งที่เราได้พูดเอาไว้ และตรวจสอบได้ ผมคิดว่าการทำอย่างนี้ ทำให้เห็นว่ากลุ่ม 5 อาจารย์ก็ถูกตรวจสอบได้จากสังคมเหมือนกัน แล้วถ้ามันมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่คนสนใจ ก็อาจจะมีการเขียนอะไรเอาไว้ เพื่อเป็นทรรศนะหนึ่งให้สังคมได้รับรู้

เราเชื่อว่า สังคมจะพัฒนาต่อไปได้มันจะต้องมี ความหลากหายในแง่ทรรศนะ ความคิด ความอ่าน แล้วให้คนในสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ว่าความเห็นเราจะถูกเสมอ แต่เพราะเราไม่มีส่วนได้เสีย ทำไปทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าจะวิจารณ์ ขอให้วิจารณ์ในเนื้อหาที่เราทำไปว่าเนื้อหาที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร

@ มีหัวข้อในการอภิปรายเปิดเว็บไซต์มั๊ยครับ

ยังไม่ได้เซ็ตครับ แต่คงเป็นเรื่องในทางกฎหมาย และพันกับสภาพการณ์ในทางสังคมของบ้านเมืองของเราอยู่ จริงๆ ก็มีการคุยกันว่า จะคุยเรื่องจรรยาบรรณของนักกฎหมายไหม พูดถึงเรื่องการใช้กฎหมายในห้วงเวลาที่ผ่านมา หรือประเด็นเรื่องตุลาการภิวัตน์หรือเปล่า

@จะเป็นเว็บอันตรายสำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจมั๊ย

คงไม่ เพราะมันก็จะเป็นเรื่องในทางวิชาการ ผมคิดว่าถ้าฝ่ายอำนาจรัฐจะปิด ที่เราทำเรื่องในทางวิชาการก็ให้มันรู้ไป แต่คงไม่มีเว็บบอร์ด เป็นการให้ความรู้เป็นสำคัญ

@ ชื่อเว็บล่ะครับ

มีแล้วครับ แต่ขออุบไว้ก่อนนิดนึง เพราะอาจจะเป็นที่หมั่นไส้เล็กน้อย พูดถึงเรื่องชื่อเว็บแล้ว ผมอยากจะพูดนิดหนึ่งว่า ช่วงหลังๆ มีคนชอบกล่าวหากลุ่ม 5 โดยเฉพาะผมจะถูกกล่าวหาเรื่อย ล่าสุด มีคนกล่าวหาว่าผมจะสร้างสาวก ผมเนี่ยนะจะสร้างสาวก เรื่องอย่างนี้ไม่เคยแม้แต่จะคิด ผมเรียนได้เลยว่า ความคิดแบบนี้ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย ผมพร้อมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ผมได้ตลอดเวลา แล้วผมก็ไม่เคยครอบงำความคิดของลูกศิษย์ ไปดูผมสอนหนังสือก็จะเห็นได้ แน่นอนผมก็ต้องสอนในสิ่งที่ผมเห็นว่าถูกต้องและผมเชื่อ แต่ผมก็บอกลูกศิษย์ลูกหาเสมอว่าถ้าจะเชื่อ อย่าเชื่อเพราะผมพูด ให้พิจารณาตรึกตรองตามเหตุผล ออกข้อสอบผมก็แฟร์โดยไม่เอาความคิดความอ่านทางการเมือง หรือประเด็นที่มันเถียงกันมากๆ ทางการเมืองมาออก แม้ผมจะมีความเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิดก็ตาม

ถามว่าทำไม เพื่อที่จะเลี่ยง เพื่อจะได้แฟร์กับคนซึ่งเขาเรียนหนังสือกับเรา ฉะนั้น ผมใจกว้างพอกับเรื่องพวกนี้ และไม่เคยคิดที่จะสร้างสาวกอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้นถ้าใครมองว่าผมจะสร้างสาวก คงกลัวผมมากเกินไป ผมไม่มีความสามารถพอจะเป็นศาสดา ผมก็มีแต่คนที่นับถือผมในทางความคิดความอ่านอยู่บ้างเท่านั้นเอง

บางคนก็สร้างกระแสบอกว่า วรเจตน์ถูกอยู่คนเดียวแหละ อย่าไปเถียงเลย คืออย่างนี้ไม่ประเทืองปัญญาเลย ไม่โต้แย้งกับผมในทางเนื้อหาเลย ผมถึงได้บอกไปเมื่อคราวสัมภาษณ์ครั้งที่แล้วว่า คุณประสงค์ (เลิศรัตนวิสุทธิ์) กับ อาจารย์สมเกียรติ (ตั้งกิจวาณิชย์) เถียงกับผมในทางเนื้อหา ผมชอบครับ แม้จะเห็นต่างกัน

อย่างนี้ดีครับ เพราะทั้ง 2 ท่านไม่ได้กล่าวหาผม ผมอยากให้สังคมไทยเป็นแบบนี้ แล้วอยากให้เถียงกันแบบนี้ ถ้าทำได้ สังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่สร้างสรรค์

@ มีการเปิดประมูล 3 จี แล้ว ในฐานะที่อาจารย์ศึกษาเรื่องนี้อยู่ ตั้งข้อสังเกตอย่างไรบ้าง

จริงๆ เรื่อง 3 จีต้องพูดกันอีกยาวเลยเพราะเป็นเรื่องซับซ้อน และเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ผมได้ตามดูการเปิดประมูลของกทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) อยู่ ดูข้อกำหนดของกทช.อยู่ ซึ่งมันก็มีบางเรื่อง ซึ่งผมมีความเห็นต่างไปจากกทช.

ยกตัวอย่างข้อกำหนดเรื่องการครอบงำโดยคนต่างด้าว ที่เรียกว่า ข้อห้ามว่าด้วยการกระทำที่มีลักษณะครอบงำกิจการโดยบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งคนที่อยู่ในวงการโทรคมนาคม อย่างอาจารย์สมเกียรติ หรือ ดร.อานุภาพ (ถิรลาภ) ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งผมเห็นพ้องกับทั้ง 2 ท่านว่าประกาศของกทช. ออกมา มันจะมีลักษณะเป็นการกีดกันการลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งมันน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

ผมมีความเห็นว่า ในทางกฎหมาย การประกาศของกทช.บางประเด็นน่าจะเกินกว่าอำนาจ เพราะบางเรื่องน่าจะเป็นระดับนโยบาย ซึ่งต้องทำเป็นกฎหมายโดยรัฐสภา หมายถึงต้องทำเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทำในรูปแค่ระดับประกาศคณะกรรมการน่าจะไม่ได้

รวมถึงเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลบางเรื่อง เรื่องประมูลก็มีการเถียงกันว่าเวลาให้ 3 จี จะใช้วิธีการ บางคนก็บอกว่า ควรนำระบบบิวตี้คอนเทสมั๊ย ก็คือ ให้กรรมการให้คะแนน ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมันเปิดดุลพินิจ ให้กับตัวคณะกรรมการมาก ซึ่งไม่น่าจะดี ในที่สุดก็บอกว่าใช้ระบบประมูลเอาตัวเงินเป็นตัวตัดสิน

แต่ถ้าลองไปอ่านร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไอเอ็มที ย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ซ หรือ 3 จี เราก็จะพบว่า ระบบการวางขั้นตอนในแง่ใบอนุญาต ผมคิดว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะว่า มันมีระบบของการวางเงินเพื่อเข้าระบบการประมูล แล้วหลังจากประมูลได้ มันก็ต้องมีการทำแผนอีก ทำตามเงื่อนไขบางประการต่อไปอีก เพื่อที่จะให้กทช. ให้ใบอนุญาตอีกทีหนึ่ง

ซึ่งผมเห็นว่ามันจะทำให้กระทบกับการประเมินเรื่องการลงทุน คือแรงจูงใจที่จะมีคนมาลงทุน และแข่งขันกันมันอาจจะน้อยลง นี่พูดในทางหลักการ ในทางปฏิบัติคนที่จะมาลงทุนอาจจะน้อยอยู่แล้ว เพราะต้องใช้เงินลงทุนเยอะ คือจริงๆ มันควรจะเป็นว่า การทำแผนการต่างๆ ในการประกอบโทรคมนาคมมันควรจะเสร็จแล้ว คุณสมบัติต่างๆ ควรจะเรียบร้อย ทำให้เสร็จก่อนการประมูล คือผู้ที่จะเข้าประมูลได้ควรผ่านขั้นตอนพวกนี้ พร้อมจะรับใบอนุญาตประกอบกิจการได้ พอประมูลเสร็จ ใครชนะก็ได้ไปเลย ไม่ควรจะมีดุลพินิจให้กทช. บอกว่าต้องทำนั่นทำนี่อีก

ผมยกตัวอย่าง เหมือนอย่างเรื่องสร้างเขื่อน คุณก็ต้องทำสเป็กให้เรียบร้อย แล้วใครผ่านตรงนี้หมายถึงเขามีคุณสมบัติแล้ว แล้วก็ดูเงิน ถ้าคุณให้ประโยชน์รัฐมากที่สุดก็ได้งานไป แล้วมันจะทำให้ระบบของการประมูลมีความหมาย ถ้าไม่อย่างนั้นการประมูลอย่างนี้ เมื่อได้ไปแล้ว กทช.เองจะมีอำนาจต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้ กทช.ถูกกล่าวหาเรื่องการกลั่นแกล้งหรือการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ได้ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าหลังการประมูลแล้ว กทช.จะทำอะไรไม่ได้เลย แต่ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เป็นสาระสำคัญและโดยสภาพเป็นเรื่องที่ทำให้เสร็จเป็นคุณสมบัติก่อนการเข้าประมูลไม่ได้เท่านั้น

ผมถึงบอกว่าเราใช้ระบบประมูล เพื่อตัดดุลพินิจ ฉะนั้น ขั้นตอนควรจะทำให้เรียบร้อย แล้วสุดท้าย ใครที่ผ่านเข้าถึงขั้นประมูลได้แล้ว คุณมีความสามารถแน่นอนในการประกอบกิจการ พอประมูลก็ต้องเป็นไปตามนั้น มันควรจะเป็นแบบนั้น ในความเห็นผม

@ อาจารย์ดูประกาศต่างๆ เห็นหรือไม่ว่ามีช่องที่เปิดให้กับกทช. และเอกชนบางรายที่จะได้ประโยชน์จากการกีดกันต่างชาติไว้

ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ นี่ก็เป็นปัญหา มีการพูดกันในวงการโทรคมนาคม เราก็พอเห็นเลาๆ อยู่ว่ามี 3 รายใหญ่ ก็คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ แล้ว 3 เจ้านี้เขาประมูลแน่ เอไอเอสกับดีแทค เราก็รู้ว่าเป็นทุนต่างชาติ ส่วนทุนไทยก็คือ ทรู

ทีนี้ปัญหาในเชิงหลักการ ผมเห็นว่าเรื่องทุน มันไม่มีสัญชาติ มีกำไรที่ไหนมันก็ไปที่นั่น แล้วเราต้องยอมรับว่า กิจการโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เราปฏิเสธเงินลงทุนของต่างชาติไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่า ถ้ายอมให้มีการแข่งขันกัน มันก็จะพัฒนาตัวเองไป ระบบแข่งขันจะดีจะชั่วมันยังต้องมีการต่อสู้พัฒนาไป เราลองนึกภาพโทรศัพท์ตอนที่ไม่มีการแข่งขัน หน่วยงานของรัฐผูกขาดทำอยู่มันเป็นยังไง

@ แต่ทรูพยายามอ้างว่า เรื่องโทรคมนาคมเป็นเรื่องความมั่นคงด้วย ไม่ใช่เรื่องการค้าเสรีอย่างเดียว

อันนี้เป็นปัญหาที่เถียงกันในทางพื้นฐาน อย่างที่ผมเคยพูดไปว่าเรื่องคลื่น มันเป็นคลื่นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ แล้วเวลาเราพูดถึงความมั่นคง เราต้องไม่ลืมว่ากทช. มีอำนาจในการควบคุมกิจการได้ หมายความว่า เป็นต่างด้าวที่เขามาลงทุนในไทย ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในของเรา การดำเนินการใดๆ ซึ่งมันจะกระทบต่อประโยชน์ของเรา กทช. มีอำนาจในการที่จะใช้มาตรการในทางกฎหมายเข้าจัดการอยู่แล้ว

คือ มันมีวิธีการในทางกฎหมาย คุณสั่งให้เขาไม่ทำอย่างนี้ คุณระงับการใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนการใช้ใบอนุญาต มันมีอำนาจตรงนั้นอยู่ แล้วอีกอย่างคลื่นนี้ใช้เพื่อการพาณิชย์ แล้วถามว่าความมั่นคงทำไมเราไม่ห่วงบริษัทคนไทยด้วยกันเหรอ คือถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องสงวนเอาไว้กับฝ่ายรัฐเท่านั้น แค่คุณเอามาให้ลงทุน ให้เอกชนทำ ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงจริง มันก็ควรจะทำไม่ได้ตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ประกอบการเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว

เพราะฉะนั้น ในเรื่องความมั่นคงที่นำมาอ้าง ในความเห็นผมน่าจะมีน้ำหนักน้อย แต่ผมเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องการแข่งขันกันในทางธุรกิจ ถ้าอ้างในแง่ปริมาณเงินทุนต่างชาติที่จะเข้ามา มันเงินใหญ่และหนา และทำให้การแข่งขัน ทุนไทยสู้ได้ไม่ได้ นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมากกว่าที่จะพูดเรื่องความมั่นคง

แต่ที่สุดก็ต้องมาพูดในทางหลักการว่า เราต้องยึดถือประโยชน์ของคนซึ่งเป็นผู้บริโภค เป็นประโยชน์สาธารณะสูงสุด หมายความว่ากิจการอันนี้ แม้ต่างชาติเข้ามาทำ แล้วสร้างพัฒนาการ สร้างความเจริญ ให้กับเรา สร้างงานให้คนทำ สร้างเครือข่ายโทรคมนาคม ถ้าเอาเทคโนโลยีเข้ามา เอาระบบบริหารกิจการเข้ามา แล้วคนไทยได้เรียนรู้ ต่อไป เราก็จะสร้างศักยภาพในแง่การแข่งขันได้

ก็เหมือนกับปตท.ไปลงทุนในต่างประเทศ ฉะนั้น ประเด็นเรื่องทุนต่างชาติต้องระวังมาก เพราะโลก ทุกวันนี้มันเชื่อมโยงกัน มากขึ้น คือ ผมเข้าใจคนซึ่งคิดในเรื่องชาติ คิดในแง่โรแมนติค ความเป็นชาติ ทุนต่างชาติเข้ามามากมาย ซึ่งมีประเด็นอยู่ แต่ว่า นี่เป็นเรื่องที่เราต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายว่าจะเอาอย่างไร

การตัดสินใจนี้ อย่างน้อยก็ผ่านมาในรูปของกฎหมายแล้ว ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม ในมาตรา 8 วรรค 3 มันมีการแก้ไขมาเมื่อปี 2549 การแก้ไขดังกล่าวเริ่มต้นมานานพอสมควรแต่มาเสร็จในช่วงรัฐบาลคุณทักษิณ ที่พูดถึงเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของผู้มีสัญชาติไทย เขาได้เลิกประเด็นตรงนี้ไป

ฉะนั้น แปลว่า การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น มันมีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวคุมอยู่ ชั้นหนึ่ง ฉะนั้นถ้าเกิดจะบอกว่าห้ามต่างด้าวประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมหรือจำกัดสิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ต่างไปจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ก็จะต้องให้เหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ถ้าเราเห็นว่า กิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการที่มีลักษณะพิเศษ ผมยังมีความเห็นว่า การกำหนดข้อจำกัดในเรื่องนี้ต้องกำหนดในระดับพระราชบัญญัติ คือในระดับเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

แน่นอน แม้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมจะเปิดโอกาสให้ กทช.กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาต จะต้องกำหนดข้อห้ามเรื่องการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย การกำหนดตรงนี้ต้องตีความให้รับกับพระราชบัญญัติด้วย ซึ่งไม่ใช่หมายถึงว่าเปิดโอกาสให้กทช.ไปกำหนดข้อห้ามหรือแนวปฏิบัติหรือบีบให้บริษัทต้องกำหนดข้อห้ามถึงขั้นเป็นการกีดกันการลงทุนจากต่างชาติได้ ฉะนั้น ผมคิดว่าต้องแยกเรื่องการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว กับการลงทุน ว่าการครอบงำมันแค่ไหนยังไง จะกำหนดอย่างไรให้สอดคล้องกับกฎหมายแม่บท ตลอดจนกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการของตนต่างด้าว ตรงนี้ต้องมานั่งเถียงกัน

แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว พัฒนาการโทรคมนาคมซึ่งส่วนหนึ่งมาได้ในระดับนี้เพราะมันมีทุนนอกเข้ามา มันทำให้เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันได้ แน่นอน อาจจะมีคนบอกว่า ผลกำไรจากการประกอบกิจการ ของบริษัทพวกนี้ค่อนข้างสูง แต่เราต้องเข้าใจว่า การทำธุรกิจในส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตเขาว่ามันมีประสิทธิภาพ

แล้วพูดก็พูดเถอะ หน่วยงานภาครัฐเราทำไมเวลาแข่ง แข่งสู้เขาไม่ได้ ฉะนั้น เราก็ต้องเปิดให้แข่งขัน หรือถ้ามีคนไทยอยู่ด้วย ก็ต้องไปคิดกันว่า คุณจะกำหนดสัดส่วนการลงทุนเอาไว้แค่ไหน อย่างไร ต้องคิดเอาว่าเราจะเอาแบบไหนกันแน่

ผมคิดว่ากทช. ต้องระวังนิดนึงครับ เพราะว่าข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ มันจะเป็นไปได้เสมอ ผมไม่ได้ว่าอะไรบริษัทซึ่งคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น ทรู เพราะเป็นเรื่องธรรมดาในการแข่งขันทางธุรกิจ ประเด็นในการที่เขามาต่อสู้กัน ก็ต้องหยิบประเด็นซึ่งได้เปรียบมาต่อสู้กันอยู่แล้ว

แต่ที่ผมอยากจะพูดก็คือในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ ผมไม่อยากให้เรื่องกิจการโทรคมนาคม เหมือนเรื่องปราสาทพระวิหาร เราคิดแบบมีเหตุผลเถอะ อย่าเอาความคิดเรื่องปราสาทพระวิหารมาใช้ในเรื่องโทรคมนาคม เพราะที่สุดรังแต่จะทำให้ประเทศไม่มีความก้าวหน้า

@ อาจารย์วิเคราะห์เหตุการณ์หลายอย่างถูกมาหลายครั้งเกี่ยวกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ผมไม่อยากประเมิน เพราะคดีอยู่ในศาล ซึ่งผมมักจะไม่ให้ความเห็น แล้วผมก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้ แต่ว่าผมมีคำตอบของผมอยู่ในใจว่าคดีจะออกมาอย่างไร (หัวเราะ) แต่ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานเถอะ เมื่อศาลพิพากษาแล้ว ก็มาดูกันว่าเหตุผลของคำพิพากษาเป็นอย่างไร ถึงวันนั้น ถ้าควรจะต้องพูด ผมก็จะพูดจากเหตุผลเนื้อๆ ไม่เอาความรู้สึกเข้าไปใส่

มติชนออนไลน์, 09 กันยายน 2553

เมื่อข้าพเจ้าเสียจริต, คำ ผกา

13 July 2010 Leave a comment

เมื่อข้าพเจ้าเสียจริต, คำ ผกา

“การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ควรให้ทำพร้อมกัน 10 เรื่อง คือ การสร้างจิตสำนึกใหม่คนไทย, สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่,ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง, สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤต, สร้างธรรมาภิบาลการเมืองการปกครอง, สร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้า, สร้างดุลยภาพสิ่งแวดล้อมและพลังงาน, ปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล, ทำการวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ และทำระบบการสื่อสารที่ผสานการพัฒนาทั้งหมด” http://www.thaireform.in.th/news-communications/1464–8-.html

พักนี้เวลาฉันเครียดๆ จะเข้าไปหาอ่านความคิดของหมอประเวศน์ อ่านทีไรอมยิ้ม คิกคัก อารมณ์ดีทุกที

รัฐบาลเราท่านก็ช่างใจดีจริงๆ คงรู้ว่าช่วงนี้ไพร่ เอ๊ย ประชาชนคนไทยออกจะเครียดกันอยู่หลายเรื่อง ทั้งข้าวแพง ไข่แพง แรงงานถูก

อดีตคนเสื้อแดงที่เคยออกไปต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซมซานกลับบ้านพร้อมบาดแผลทั้งทางกายและใจก็มาโดนคนชั้นกลางมีการศึกษากระทืบซ้ำว่าเป็นพวกพรมเช็ดเท้าบ้าง เป็นพวกโรคจิต ขี้หงุดหงิด ขี้อิจฉา เป็นพวกก้าวร้าว รักความรุนแรงบ้าง เป็นพวกเด็กกระทืบเต้นเอาแต่ใจตนเองบ้าง

อ่านแล้วเครียดนะนั่น

ชะรอยรัฐบาลจะเห็นใจว่าประชาชนเครียด เลยปล่อยมุขขำๆ ออกมาเป็นข่าวกันหลายมุข นอกเหนือไปจากการ ปิดถนนขายของ จัดคอนเสิร์ต จัดงานแบบ “ฝันกลางไฟ” แหม ชอบชื่องานนี้จัง ลองนึกภาพกรุงเทพฯตกอยู่ในทะเลเพลิงแล้วพวกเราจะไม่มีวันหยุดฝัน ไม่มีวันท้อ (ดูเอเอฟมากไปหรือเปล่าน๊า) เราจะเกาะกุมมือกันฝ่าฟันเปลวไฟ เราจะฝันถึงวันคืนแสนงามที่รอเราอยู่ข้างหน้า

ไม่ให้ขำได้อย่างไรอยู่ๆ ก็ออกมาแถลงเรื่อง ไซเบอร์ สเกาต์ อ่านแว่บแรกนึกว่าเป็นเด็กพันธุ์ใหม่น้องชายสะก๊อยอะไรอย่างนั้น เอามือเคาะหัวตัวเองอีกรอบถึงนึกขึ้นได้ว่าหมายถึงลูกเสือไซเบอร์ ที่จะสอดส่องสังเกตตรวจตราเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

อ่านแล้วร้อง อู๊ววว

อยากเอาหัวไปโขกกำแพงสักสามสี่ทีเพื่อจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งแล้วมั่นใจว่าตนเองไม่ได้อยู่ในนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออเวล ชะรอยที่หนังสือพิมพ์เกาหลีแซวพี่มากของเราว่าในชั่วโมงเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่อ๊อกสะฝอดนั้น นายมากของเราคงนั่งหลับเป็นแน่แท้

แต่ละไอเดียโปรเจ็กต์ของท่านจึงชวนให้เชื่อว่าท่านไปฝึกตนและรับประกาศณียบัตรมาจากคณะกายกรรมเปียงยางมากกว่ามหาวิทยาลัยอ๊อกสะฝอด

ฉันคงไม่จำเป็นต้องเขียนไปในที่นี้นะว่าทำไมถึงขำ?

ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนบอกว่าตัวเองเป็นประเทศประชาธิปไตยภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และแน่นอนว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตย ที่เคารพในสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองออกไประดมเยาวชนให้มาเป็นกลุ่มล่าแม่มดสังเวยรัฐบาลภายใต้ชื่อ “ลูกเสือ”

สำคัญที่สุด ไม่มีรัฐบาล ประชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนฐานการรับรองความชอบธรรมจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจะปอดแหก ขี้ขลาดกับการล้อเลียน วิพากษ์ วิจารณ์ไปจนถึงการปลดปล่อย สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ (ตามประสาพลเมืองผู้เก็บกดอันมีอยู่ทั่วไปในโลกไซเบอร์ทั่วจักรวาล) จนถึงขั้นจัดตั้งเยาวชนมาเป็นสายสืบของฝ่ายความมั่นคง

เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลนั้นรู้ดีว่า “อำนาจ” ที่ตนถือครองอยู่ไม่มีเสียงของ “ประชาชน” รองรับ อำนาจจึงเปราะบาง โงนเงน

สุดท้ายไปจบลงที่อาการปอดแหก เป็นนายกฯ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งบริหารบ้านเมือง แต่วันๆ มานั่งจับประชาชนเข้าคุกหรือกวาดล้างคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ

และเวลาที่เหลือก็เอาไปเขียนจดหมายรัก ออดอ้อนแฟนคลับที่กระหายรักพอๆ กันใน Facebook ไปวันๆ

ขำเรื่องลูกเสือไปแล้วมาเจองานอีเว้นท์ “6วัน 63 ล้านความคิด”

เจอแล้วร้องอู๊ววว แบบเกือบถึงจุดสุดยอดอีกรอบ เสียวนะคะ ในทางวัฒนธรรมศึกษาเขาว่ากันว่าเสียงที่กระซิบอยู่ข้างหูเป็นอะไรที่อีโรติก intimate ม้ากมาก (ในเชิงมารยาทเค้าถึงไม่ให้โทร. หาใครต่อใครพร่ำเพรื่อถ้าไม่ใช่ญาติสนิท มิตรสหาย)

ให้อภัยหญิงลามกจกเปรตอย่างฉันเถอะ เพราะนึกภาพการระดมดารา นักร้อง รวมทั้งเกณฑ์นักการเมือง รมต. ขวัญใจสาวๆ มารอรับโทรศัพท์จากประชาชนแบบนี้

ฉันไม่อาจคิดเป็นอื่นได้เลยนอกจากมหกรรมรวมรักทางโทรศัพท์ของประชาชาติไทย ที่หวังผลปรองดองทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง

ฉันขำเรื่องสองเรื่องนี้ยังไม่หนำใจต้องไปคว้าแผนปฏิรูปประเทศของหมอประเวศน์มาขำต่ออีกหนึ่งดอกอารมณ์จึงจะพีคและ “ถึง” จริง

คุณหมอก็ช่างพล่ามไปได้เรื่อยเนอะ เราต้องทำสิบเรื่องพร้อมกันอย่างงี้อย่างงั้น แล้วเข้าไปดูเว็บไซต์ปฏิรูปประเทศไทยก็มีแต่หัวข้อในทำนองว่า

“ชู 8 แนวทางสื่อมวลชนพาชาติออกจากวิกฤติ”,

ยุทธศาสตร์ 3 ปี สสค. ปูทางประเทศสู่สังคมกากรเรียนรู้,

เผยรายชื่อ ระดมนักวิชาการ สื่อมวลชน ปฏิรูปสื่อภาครัฐฯ, ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เดินหน้าลดความเหลื่อล้ำ

แผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งประเทศไทยโดย สว.รสนา

(แผนพัฒนาความซื่อตรง!? พระเจ้าในโลกนี้มีอะไรอย่างนี้ด้วยหรือ ซับซ้อนถึงขั้นแบ่งเป็นสามระดับคือ ระดับชุมชน สังคม องค์กร โห…เป็นสามระดับที่ไม่มีใครคิดได้เลย ลึกซึ้งมาก ไม่ใช่สมองระดับสว.คิดไม่ออกนะเนี่ยะ ใช้เงินระดมสมอง ประชุมกันไปเท่าไหร่ไม่รู้เพื่อจะได้สามระดับการพัฒนาความซื่อตรงอันนี้ ต้องการไม้บรรทัดเพิ่มไม๊คะ?)

อ่านแล้วเหนื่อยไหม?

ไหนจะทำ 10 อย่างพร้อมกัน ไหนจะชู 8 แนวทาง ไหนจะสร้างสังคมการเรียนรู้ ไหนจะทำโร้ดแมปปฎิรูปงานตำรวจ ไหนจะยุทธศาสตร์ 3 ปี

(คราวนี้ฉันเลยได้รับคำเฉลยว่าชะรอยนี่เป็นมรดกของคนทำงานทุกภาคส่วนของภาครัฐ โครงการเชียงใหม่เอี่ยมอันโด่งดังถึงตั้งธง ทำเชียงใหม่ให้น่าอยู่ภายใน 99 วัน โฮะ โฮะ พวกเค้าชอบกำหนด “ตัวเลข” กันอย่างเอาจริงเอาจังมาก วันหลังคงไปรับจ๊อบกองสลากได้)

ฉันมีคำถามง่ายๆ ถึงโครงการปฏิรูปประเทศไทยว่า “จะปฏิรูปไปไหน?”

ไอ้ แปดข้อ สิบประการของหมอประเวศน์นั้นเราจะเรียกด้วยภาษาชาวบ้านว่าอะไรมิทราบ?

นโยบาย?

ข้อเสนอแนะ?

ข้อคิดเตือนใจจากผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน?

ความปรารถนาดีจากราษฎรอาวุโส (เป็นสถานะทางสังคมที่ประหลาดมาก)?

ถ้าคุณหมอเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ก็พล่ามพูด หรือเขียนให้รัฐบาลไป ไม่เห็นมีอะไรใหม่น่าตื่นเต้นต้องเป็นข่าวหรือต้องนำมาเป็นโครงการยิ่งใหญ่จนต้องเรียกว่า “ปฏิรูป” ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลที่ส่วนใหญ่คงหมดไปกับค่าเครื่องบิน ค่าเอกสาร ถ่ายอาหาร จัดเลี้ยง สัมนา และประชุมกันไปมา จบด้วยแจกเอกสาร วนเวียนกันไปอย่างนี้ไม่ที่สิ้นสุด

(ภาคส่วนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุดคือ บริษัทสายการบิน โรงแรม ธุรกิจเคเตอริ่งของว่าง บุฟเฟต์ ธุรกิจเครื่องเขียน ขายกระดาษ แฟ้ม ธุรกิจเครื่อถ่ายเอกสาร คนทำถุงผ้าที่ระลึกงานสัมนา หมึกพิมพ์ปรินเตอร์ กระดาษ และโรงพิมพ์)

จะ 8 ข้อ หรือ สิบประการของหมอประเวศน์ล้วนแต่เป็นสามัญสำนึกสามัญพื้นฐานที่สุดที่รัฐบาลของประเทศ “ดีๆ” ในโลกนี้พึงรู้พึงทำมิพักต้องคอยบอก เหมือนตื่นเช้าต้องแปรงฟันแล้วนั่งขี้ สุขภาพจึงดีถ้วนหน้า ทำนองนั้น

ที่เพ้อมาทั้งหมดนี้ (แบบว่าเสียสติมาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. ถูกทุบกบาลซ้ำด้วยอาการยิ้มร่าท้าพรก.ฉุกเฉินของคนไทยที่ไม่มีใครเดือดเนื้อร้อนใจกับมันเลยมา 3 เดือนเต็มแถมยังแถว่า together we can -อยากจะต่อว่า yes, we can live under totalitarian dictatorshipไง.)

เพื่อจะย้อนจากข้อ 3 เรื่องปฏิรูปฯ ไปหาข้อ2 เรื่อง 6 วัน 63 ล้านเสียงไปถึงข้อ 1 เรื่องลูกเสือไซเบอร์ว่า ประเทศไทยเรามันเข้าข่ายประเทศขำขันจนยากจะถ่ายถอน

ประการแรก ท่านๆ ที่มาร่วมสร้างสรรค์การปฏิรูป ประเทศไทยทั้งหลาย (องค์กรที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชนทั้งหลาย ที่ทำท่าออกสตาร์ทรอขม้ำเหยื่อรอเข้าร่วมงาบกินงบฯ ก้อนนี้โปรดอย่ากระพริบตา) ฉันมีคำถามง่ายๆ ว่า ท่านควรถามตนเองให้เป็นมั่นเป็นเหมาะว่า ท่านเป็นใครมาจากไหนจึงจะโยนแผนปฏิรูปใส่หน้าประชาชนคนไทยทั้งประเทศ อำนาจที่จะมากำหนด 8 ข้อ สิบประการฯลฯ ของท่านมาจากการทำสัญญากับประชาคมที่ไหน อย่างไร?

ถามแบบบ้านๆ ว่า “พวกท่านถืออำนาจใดมาลงมือปฏิรูป?”

พื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตย “อำนาจ” ย่อมมากจากการที่ ประชาชนไว้วางใจเลือกผู้แทนของพวกเขาเข้ามาทำหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติและบริหาร สิ่งที่ผู้มีสติพึงทำในเวลานี้คือ ใคร่ครวญถึงที่มาของรัฐบาลชุดปัจจุบันและ “เลือด” ที่เปรอะไปทุกหนทุกแห่ง มิใช่การเข้าสังฆกรรมปฏิรูปและเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของคนไทยด้วย

การบอกว่า “เพราะเขาจนเขาจึงต่อต้านรัฐบาล เราต้องเกลี่ยผลประโยชน์ไปให้เขาบ้าง เขาจะได้ไม่ลูกมาท้าทายเราอีก” เพราะพวกเขาไม่ได้สู้เพราะความจน แต่พวกเขาลุกขึ้นสู้เพื่อทวงศักดิ์ศรีของพลเมือง ประชาชนไม่ได้อยากได้เงิน ณ ขณะนี้พวกเขาต้องการ สิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว จึงจะไปต่อรองเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ

หญิงเสียจริตอย่างฉันอยากบอกว่า ในสังคมประชาธิปไตยไม่มีใครมีอาญาสิทธิมาตั้งตนเป็น “ผู้รู้” เหนือกว่าผู้อื่น ท่านจะอาวุโส จะหนุ่ม จะแก่ จะจบป.หนึ่ง หรือจบอภิมหาปริญญา ท่านจะเป็นใครท่านก็คือประชาชนเท่ากับคนอื่นๆ

ดังนั้น จึงไม่มีสิทธิมาทำหน้าเปื้อนยิ้มบอกประชาชนว่าเรามาทำอย่างนี้กันเถอะ เรามาทำอย่างนั้นกันเถอะ เชื่อผมสิ ผมเป็นคนดี ผมหวังดี เอางบประมาณมาให้ผมสิ!!! (???)

อย่างมากที่สุดที่พวกท่านจะเป็นกันได้คือ “ที่ปรึกษา” ของฝ่ายบริหาร และคงไม่แปลกเท่าไรถ้าท่านเป็นทีมที่ปรึกษาของฝ่ายบริหารของรัฐบาลเข้าตามตรอกออกทางประตู

แต่เมื่อมันไม่ใช่มิหนำซ้ำรัฐบาลที่ท่านสังฆกรรมด้วยยังมีส่วนในการ “ทำร้าย” ประชาชนอย่างสาหัส พวกท่านจึงขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง

ขอให้ใคร่ครวญเรื่องนี้ให้จงหนักเพราะประวัติศาสตร์ย่อมทำหน้าที่ของมัน พวกท่านคงไม่อยากถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะของ…(ขอเว้นให้เติมเองเพราะฉันเชื่อว่าพวกท่านย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจตน)

ไม่เห็นแก่ใครก็โปรดเห็นแก่ “หน้า” ของลูกหลานของพวกท่านเองในภายภาคหน้า

เฉกเดียวกับงานอีเวนต์รับโทรศัพท์ระดมความคิด เอิ่ม…เป็นเวลากว่าสองศตวรรษมาแล้วที่ทั่วโลกยอมรับกว่าการระดม “เสียง” ของประชาชนในประเทศนั้นกระทำได้โดยผ่าน “การเลือกตั้ง” ค่ะ ทั่นผู้ชม!

การให้พลเมืองของรัฐทุกคนออกมาพูดความคิดของตนเองนั้น คาดว่าลองผิดลองถูกกันมา ตั้งแต่สมัยกรีกประชาธิปไตย

ทางตรงกันแล้วป่าวค๊า? (ทำหน้าปัญญาอ่อนหน่อยๆ ตอนถาม)

ทีนี้ก็เลยไม่เข้าใจว่าอีตอนที่ใครๆ เค้ามาขอเพียง “เลือกตั้ง” ใหม่ให้หายสงสัยนั้นทำไมไม่ทำ?

ดันกลับตาลปัตรมาทำ 63 ล้านเสียง “โทร.เข้ามาครับพี่น้อง เร่เข้ามาครับพี่น้อง”

ตลกจัง! – พวกท่านกำลังหน้าที่ฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ดีเจสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันนะฮ้า เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ฮัลโหล ฮัลโหล เทสต์ เทสต์!!! –

ฝ่ายพีอาร์และบริษัทจัดอีเวนต์ที่รัฐบาลจ้างโปรดทราบ มุขนี้ไม่สร้างสรรค์อย่างแรง ประชาชนรู้ทัน โปรดคิดมุขใหม่ให้เนียนและเป็นมืออาชีพกว่านี้หน่อยได้นะฮ้า (ควรมีพื้นความรู้ทางรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาการเมืองมาบ้างในการคิดแคมเปญให้รัฐบาลด้วยฮ่ะ)

ที่สำคัญคือ เอิ่ม …เดี๊ยนยังไม่อยากสำเร็จความใคร่จากเสียง

ขำขันสุดท้าย ลูกเสือไซเบอร์ เอาหัวโขกกำแพงเป็นครั้งที่ร้อยเพื่อความมั่นใจว่านี่มิใช่ เยาวชน Oceonia สังกัดกระทรวงแห่งความจริง (Ministry of Truth) ในนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล

เมื่อเรามีคณะปฏิรูปที่มาจากฉันทานุมัติของใครไม่ทราบแสดงตนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้บรรลุถึงความปรารถนาของมวลชนคนไทยทั้งชาติกระสันจะปฏิรูป เมื่อเรามีฝ่ายบริหารที่เข้าใจการทำงานคือการสนอง need ประชาชนทางโทรศัพท์ เป็นไปถึงเพียงนี้แล้วจะแปลกอะไรถ้าเราจะเพิ่ม ลูกเสือไซเบอร์มาเป็นเครื่องประดับอีกสักชิ้นสำหรับประเทศเผด็จการภายใต้พรก.ฉุกเฉิน

เอ๊ะ หรือเราอยู่ในนิยายเรื่อง 1984 จริง?

( คำ ผกา, มติชนสุดสัปดาห์ 9-15 กรกฎาคม 2553 )

มติชนออนไลน์, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

23 June 2010 Leave a comment

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาเป็นคู่กัดระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แต่ละฟากมีมวลชนหนุนหลังเป็นจำนวนมากและก้ำกึ่งกัน คือระหว่าง 3-4 ล้านคน (งานวิจัยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ) หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ 2 กลุ่มรวมกันก็เป็นร้อยละ 20

แต่ละฟากระดมมวลชนโดยชูประเด็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

ฟากเหลืองชูประเด็นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองจริยธรรมที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเมืองที่คนชั้นกลางมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

ฟากแดงเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ความเป็นธรรมในสังคม การยกเลิกระบบสองมาตรฐาน บางกลุ่มในคนเสื้อแดงตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากผู้ที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยม

ในงานศึกษาของเอนกและคณะก็พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น วิเคราะห์ได้เป็นความขัดแย้ง 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่

ระดับที่หนึ่ง คือ ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ

อีกระดับหนึ่งเป็นความขัดแย้งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทับถมมานาน เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวชนชั้นนำ คือ การแก่งแย่งที่จะนำสังคม ระหว่างขั้ว นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากทักษิณ (แดง) กับนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากต่อต้านทักษิณ (เหลือง)

อันที่จริง ณ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ชนชั้นนำไทยยังไม่ได้แบ่งขั้ว แทบทุกกลุ่มสนับสนุนทักษิณให้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยพวกเขามีความคาดหวังให้ทักษิณฟื้นฟูและปกป้องระบบเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต อีกทั้งให้นำนักธุรกิจไทยอยู่รอดปลอดภัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขาได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนพรรคทักษิณได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา แต่ต่อมาพบว่าทักษิณดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากความคาดหวังในหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แทนที่จะปกป้องทุนไทยจากโลกาภิวัตน์ ทักษิณกลับนำเศรษฐกิจถลำลึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ พร้อมกับที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัวรวมทั้งพวกพ้องได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มทุนที่ไม่ใช่พรรคพวก

สอง ทักษิณผงาดขึ้นเป็นผู้นำประชานิยมที่สามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากมวลชนชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนรายได้น้อย-ปานกลาง ในเขตเทศบาลอย่างล้นหลาม โดยใช้ชุดนโยบายประชานิยมและบารมีความเป็นผู้นำที่มวลชนรู้สึกว่าให้ความเป็นกันเอง และทำให้พวกเขารู้สึกมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองใดในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเคยทำได้ถึงขนาดนี้

นโยบายประชานิยมส่งผลให้ต้องดึงเอางบประมาณประจำปีที่ชนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยออกไปปันให้ชาวบ้าน

ขณะที่ชนชั้นกลางเห็นว่าเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายมากกว่าชาวบ้านในชนบท ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นกังวลต่อไปว่า การใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมนั้น นอกจากว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะก่อหนี้สาธารณะที่จะต้องชดใช้ต่อไปในอนาคต

สาม ความนิยมทักษิณอย่างล้นหลามมีนัยยะว่า พรรคของเขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดความเป็นกังวลว่าทักษิณจะครองเมืองเนิ่นนานไม่สิ้นสุด

สี่ นโยบายต่อต้านยาเสพติดและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุ อีกทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่โยงกับตัวเขา สมาชิกครอบครัวและพรรคพวก ทำให้ผู้ที่เคยนิยมทักษิณเปลี่ยนใจ

ขบวนการคนเสื้อเหลืองจึงก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณและพรรคพวกของเขา (ผู้สนับสนุนเสื้อแดงจำนวนมากก็เคยอยู่ในขบวนการนี้ แต่ได้แยกออกไปในภายหลัง) ต่อมาได้มีการขยายประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น บวกกับความไม่จงรักภักดี เป็นประเด็นดึงมวลชนเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อเหลือง เพื่อล้มระบอบ “ทักษิณา-ประชานิยม”

แล้วนำเมืองไทยกลับสู่ระบอบก่อนทักษิณ หรือที่เอนกเรียกว่า ระบอบหลัง 14 ตุลา 2516

สำหรับต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างนั้น นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งได้ทับถมมาจากอดีต (นิธิ, บวรศักดิ์, เอนก, เกษียร, ปีเตอร์ วอร์, ริค โดเนอร์, ชาร์ลส์ คายส์)

งานวิจัยภาคสนามของเอนกและคณะ สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้ตัวอย่างกว่า 5,500 ราย พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเป็นที่ตระหนักกันว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงมาจากเขตชนบทของภาคอีสานและเหนือเป็นจำนวนมาก และที่เป็นคนงานอพยพทำงานในเขตเมืองต่างๆ และที่กรุงเทพฯ และยังมีมาจากคนรายได้ระดับปานกลางและต่ำภายในเขตเทศบาล

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อีสานและภาคเหนือของไทยรู้สึกอยู่เสมอว่าชาวเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯดูถูกดูแคลนพวกเขา บ้างก็ว่าเป็นคนลาว คนเมือง ไร้การศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ ละครโทรทัศน์จำนวนมากให้ภาพตัวละครจากอีสานหรือชาวบ้านชนบทเป็นคนเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ และผู้สร้างละครมักจะไม่สนใจว่าชาวบ้านจริงๆ เขารู้สึกรู้สากับภาพพจน์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาตระหนักดี และอาจจะเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ลึกๆ มาเป็นเวลานาน

สำหรับปัญหาโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่อง “จนแทบตายแบบแต่ก่อน” แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนมี” “คนไม่มี” โดยในประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความมุ่งหวัง (rising expectation) ด้วย

คนจนในเมืองไทยเคยมีถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (พ.ศ.2503) แต่ขณะนี้ (2550) ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกลับสูงขึ้น สถิติที่มีอยู่บอกเราว่า คนจนร้อยละ 20 ของประเทศเคยมีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 6 ขณะนี้ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 แต่คนรวยสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศเพิ่มจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 54

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเมืองไทยขณะนี้สูงกว่าที่ในยุโรป และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน แต่สูงกว่าที่อเมริกาเพียงเล็กน้อย

นักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า บางทีเจ้าตัวปัญหาอาจจะไม่ใช่ขนาดของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะที่อเมริกาก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่ บางทีเจ้าตัวปัญหาหลัก คือ มีความคาดหวังแล้วผิดคาด

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่มาปะทุขึ้นมากหลังจากที่เศรษฐกิจบูม แล้วฟุบลงอย่างฮวบฮาบ เศรษฐกิจบูมสร้างความมุ่งหวังให้ผู้คนจำนวนมาก แล้วจู่ๆ เศรษฐกิจฟุบฮวบลงเมื่อ พ.ศ.2540 คนรวยก็เจอปัญหา แต่คนรวยสายป่านยาวกว่า และมีพรรคพวกอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะช่วยได้มากกว่าคนจน ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยว่าจึงมีความคับข้องใจสูง

โดยสรุป ปัญหาโครงสร้างมีองค์ประกอบของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และความคาดหวังที่ไม่สมหวังด้วย

ภาวการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบทักษิณพุ่งขึ้นสู่อำนาจได้ ปัญหาโครงสร้างนี้ถ้าไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นตอก็ไม่จะไม่สามารถป้องกันการก่อตัวของนักการเมืองแบบทักษิณในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่ใช้ทักษิณก็อาจมีคนอื่นพุ่งขึ้นมาได้

จากข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมานี้ เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ประการที่หนึ่ง การที่คู่ความขัดแย้งมีมวลชนหนุนหลังอยู่พอๆ กันและเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ทางออกที่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีต้นทุนสูงมาก จนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง ทั้ง 2 ขั้ว มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (พรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยมที่อังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้) ที่ต้องคิดคือ ต้องสร้างกรอบกติกาทางการเมืองที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้แบบสร้างสรรค์ เอนกและคณะได้กล่าวไว้ให้คิดต่อว่า

“ทางเลือกที่จะเดินต่อไปนั้น คือ การปราบปราม ขจัด หรือบั่นทอนสีแดง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา 2516 ให้คงต่อไป แต่วิธีการนี้อันตรายเหลือเกินสำหรับสถาบัน จำเป็นที่จะต้องร่วมกันลอกคราบประชาธิปไตยและเดินอีกทางหนึ่ง คือ ไม่ให้ใครแพ้หมด ชนะหมด…

ประชาธิปไตยจากนี้ไปจะต้องฟังเสียงของประชาชนในความหมายของข้างมาก…(หน้า 119)

แต่ต้องเคารพสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย” (หน้า 127) และ

“ระบอบใหม่นี้…ยังต้องขึ้นกับสามฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ Monarchy (สถาบันในความหมายจำกัดยิ่งขึ้น) หนึ่ง Aristocracy (หมายรวมถึงคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา สื่อ ปัญญาชน ข้าราชการ) หนึ่งและ Democracy (ประชาชนผู้หย่อนบัตร คนธรรมดา สามัญชน คนยากจน) เพียงแต่ลูกตุ้มของนาฬิกาการเมืองเรือนนี้จะเหวี่ยงไปสู่ขั้ว Democracy มากขึ้น” (หน้า 119) ผู้เขียนเข้าใจว่าเอนกและคณะวิเคราะห์ระบอบนี้ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง

ประการที่สาม เนื่องจากต้นตอของปัญหายังมีเรื่องความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย

เมื่อพูดถึงการประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ จึงต้องหมายถึงการนำคนระดับหัวของทั้งสองฝ่ายให้มาพูดคุยกัน ในประเด็นนี้นั้นข้อคิดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงน่าพิจารณา “ถ้าคุณกล่าวว่ามิสเตอร์ x (ทักษิณ) เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักเหตุผลคุณจะต้องเจรจากับมิสเตอร์ x”

ขอฝากข้อสังเกตทั้งสามประการนี้ให้รัฐบาลนำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขบคิดและดำเนินการ เพราะว่านี่เป็นภารกิจของท่านโดยแท้

มติชนรายวัน, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11792

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ในบทความที่กล่าวถึง ระดับของความคาดหวัง และระดับรายได้ ควรอ่านประกอบเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น กับบทความด้านล่างนี้

“เสื้อแดงคือใคร, อภิชาติ สถิตนิรามัย”

http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!859.entry

ไม่เกรงใจตุลาการ-ทหารภิวัตน์ “วรเจตน์” ในคัมภีร์ “นิติรัฐ” รัฐบาล-ประชาธิปไตย ในคำพิพากษาสื่อ

10 January 2010 Leave a comment

ไม่เกรงใจตุลาการ-ทหารภิวัตน์ “วรเจตน์” ในคัมภีร์ “นิติรัฐ” รัฐบาล-ประชาธิปไตย ในคำพิพากษาสื่อ

สัมภาษณ์พิเศษ

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้เปิดศักราชใหม่ด้วยบทวิพากษ์สังคมการเมืองไทยอันเผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่งของ “ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงบทวิพากษ์สื่อมวลชน พ.ศ.นี้ อย่างตรงไปตรงมา !

– ในฐานะที่อาจารย์สอนกฎหมายมหาชน พอใจกับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐ ของรัฐบาลชุดนี้มากน้อยแค่ไหน

1 ปีสำหรับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาแบบ ไม่เกรงใจกัน ผมคิดว่ารัฐบาลมัวแต่ไปเอาใจใส่กับเรื่องคุณทักษิณ (ชินวัตร)มากเกินไป ทำให้รัฐบาลไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็นหลายเรื่อง

ฉะนั้นถามว่า นิติรัฐในรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร ผมมองว่าจริง ๆ ไม่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่ประเด็นเรื่องนิติรัฐในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมคิดว่ายังไม่เข้าสู่ระดับที่ควรจะเป็นหลายเรื่อง อย่างที่บอก (ครับ) รัฐบาลอภิสิทธิ์ไปมุ่งในประเด็นการเมืองเกี่ยวกับการต่อสู้ของขั้วทางการเมืองมาก สำหรับผม ผมจึงมอง ไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในการผลักดันให้หลัก นิติรัฐหยั่งรากลงลึกในสังคมไทย

– รัฐบาลบอกว่าจะเร่งผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ได้ภายในปีนี้ อาจารย์คิดว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่

คำถามนี้ผมอาจจะตอบโดยตรงไม่ได้ (นะ) แต่ผมมองในแง่วิธีคิดทางประชาธิปไตยว่า เรามีปัญหาเรื่องนี้ คือ ทุกวันนี้เวลาเรามองเรื่องประชาธิปไตย เราไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยมันคือเรื่องการจัดสรรแบ่งปันตัวผลประโยชน์ของ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในทางการเมือง

อย่างที่ผมเคยเน้นเสมอว่า ทุกคนมีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น ขณะที่ตัวเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมาย ต้องพยายามจัดสรรตัวกติกา กติกาที่ทำขึ้นต้องเป็นกติกาที่วางอยู่บนความยุติธรรม แล้วให้กระบวนการในการเจรจา การต่อรองในทางผลประโยชน์กันเป็นไปโดยหลักการในทางประชาธิปไตย ที่มีการ ตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก โดยเคารพ เสียงข้างน้อย เพราะนโยบายบางอย่างทำให้บางกลุ่ม บางชนชั้น เสียผลประโยชน์อยู่เหมือนกันในบางเรื่อง

แต่ในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด มันผ่านกระบวนการตัดสินใจแบบนั้นมันก็ต้องยุติและเคารพกัน แต่ปัญหาคือประเทศเรายังไม่ได้มีสภาพที่เป็นประชาธิปไตย เราก็เจอแบบนี้ร่ำไป

ถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยมั้ย ผมว่าในทางคุณค่า เรามีปัญหามากว่าเป็นหรือเปล่า ยกตัวอย่างว่าในสมัยกลาง ศาสนจักรสอนว่าประชาชนหรือคน มีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด มนุษย์สูญเสียธรรมชาติที่ดี มนุษย์จึงไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ หนทางที่จะรอดพ้นจากบาปก็คือ การปฏิบัติตามพระคัมภีร์ไบเบิล เชื่อในพระเจ้า และเชื่อในคำสั่งสอนของโบสถ์ โดยอาศัยวิธีการกล่อมเกลา ลดทอนตัวคุณค่าของคนลงในลักษณะแบบนี้ โบสถ์ในยุคกลางก็สามารถกระทำการหลายอย่างได้ โดยอาศัยความเชื่อถือศรัทธาเป็นตัวนำ

ภายใต้ลักษณะแบบนี้ โบสถ์ก็มีผลประโยชน์อันมหาศาล ในสมัยกลาง โบสถ์สามารถขายใบบุญไถ่บาปได้ เอาเงินมาได้ แล้วเงินที่ได้มาส่วนหนึ่ง โบสถ์ก็นำไปใช้ในการทำสงคราม แต่ภายใต้วิธีคิดที่บอกว่ามนุษย์มีบาป มีแต่บรรดานักบวชเท่านั้นที่ปลดเปลื้องจากบาปแล้ว เป็นตัวแทน ของพระเจ้าบนพื้นพิภพ แล้วก็เกิดสภาพแบบกดคน

จนยุโรปผ่านยุคกลางมาได้ เข้าสู่ยุค แสงสว่างในทางปัญญา เขาจึงรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ขึ้นมา การแสดงความคิดในเรื่องต่าง ๆ ก็ตามมา

ซึ่งผมรู้สึกว่าคุณค่าอันหนึ่งของบ้านเรา บางทีอาจจะเทียบเคียงได้เหมือนกับสมัยกลาง บ้านเราทุกวันนี้กำลังจะบอกว่า ประชาชนเรายังไร้การศึกษา ตัดสินใจทาง การเมืองไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องมีคนที่มีการศึกษา คนชนชั้นนำ เป็นคนตัดสินใจแทน

ถ้าเกิดมีการเลือกตั้ง ก็บอกว่าประชาชนถูกซื้อ เมื่อประชาชนถูกซื้อ ก็ไม่ต้องเคารพการเลือกตั้งกัน เพราะซื้อเสียงกันเข้ามา ก็บอกว่าอย่าเลือกตั้งเลย ให้ผมแล้วกัน เป็นคนจัดการเอง ถ้าเรามีการถูกปลูกฝังความคิดแบบนี้ ความคิดดูถูกคน มันคือการทำลายคุณค่ารากฐานทางประชาธิปไตย

ในทางวิชาการ ผมพูดหลายครั้งแล้วว่า เราไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังเลย ถึงการเลือกตั้งในช่วงหลังว่าพฤติกรรมของคนในการเลือกตั้ง มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การซื้อเสียงยังเป็นแบบเดิมหรือยังมีการซื้อเสียงอยู่ แต่ว่า ผลกระทบที่มีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ผมเชื่อว่าการซื้อเสียงแม้หากจะยังมีอยู่ แต่มันอาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว เพราะผลการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งหลัง ไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้บริบททางการเมืองที่ แตกต่างกัน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นการเลือกตั้งตามกติกาอันใหม่ ซึ่งถูกทำขึ้นโดย ส.ส.ร. ที่เชื่อมโยงหรือมีที่มากับ คมช. ซึ่งเป็นคนเข้ายึดอำนาจการปกครองล้มรัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาลของ คมช. ภายใต้ กกต. ซึ่งเป็น กกต.อีกชุดหนึ่งแทน กกต.ชุดเดิม แต่เรา ก็เห็นว่าเสียงข้างมากยังไม่เปลี่ยน

เราจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร อธิบายว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังโง่อยู่ โง่อยู่เพียงเพราะว่าไม่ได้เลือกพรรคการเมืองอย่างที่คนชั้นกลางหรือ คนชั้นสูงส่วนหนึ่งต้องการให้เป็นเสียงข้างมากในสภากระนั้นหรือ

ผมถึงบอกว่า ปัญหาเรื่องทุจริตมีอยู่ ทุก ๆ แห่ง ก็แก้กันไปในทางระบบ แต่ของเราแก้กันโดยพยายามบอกว่า อันนั้นทุจริต (นะ ) ฉะนั้นคุณเลิกเลย คุณล้ม ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เอาคณะทหารเข้ามายึดอำนาจ แล้วก็บอกว่าเอาคนดี คนทรงคุณธรรมต่าง ๆ เข้ามาจัดการ แล้วคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แล้วแก้ได้ที่ไหน (ครับ) ก็อย่างที่เห็น

เพราะคนที่เข้ามาก็ผูกพันไปด้วย ผลประโยชน์เหมือนกันในทางการเมือง ผมถึงบอกว่าทุกคนมีผลประโยชน์ในทางการเมืองเหมือนกัน ฉะนั้นจึงต้องเอาเรื่องนี้มาพูดกันบนโต๊ะ

– พูดกันว่าหากรัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยอาจชนะเลือกตั้งอยู่ดี ถึงตอนนั้นเสื้อเหลืองก็อาจจะออกมาคัดค้านอีกก็เป็นได้ สังคมไทยยังมีทางออกจากวิกฤตอยู่หรือเปล่า

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ไม่มีทางออก (ครับ) ตราบเท่าที่เรายังไม่กลับไปสู่คุณค่าพื้นฐานในทางประชาธิปไตย ก็มีคนบอกว่าเวลากลับไปสู่พื้นฐานประชาธิปไตย ในเวลานี้คุณทักษิณชนะ ก็เลยไม่กลับ คือยังไงก็มองไม่พ้นคุณทักษิณอยู่ดี

ถ้าไปมองเรื่องเฉพาะหน้าก็ไม่จบครับ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะยังไม่ได้กลับเข้าสู่หลักการ คือมีการมองว่าหลักการพื้นฐานยังไม่ต้องเอามาใช้ แช่ไว้ชั่วคราวก่อน แต่ผมถามว่าแล้วคุณมีความชอบธรรมยังไง คุณเป็นเทวดามาจากไหนในการที่คุณจะเบรกหลักการที่จะต้องใช้ทั่วไปกับคน ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน

ผมมองว่าความขัดแย้งที่ผ่านมา ใช้กันมากี่วิธีแล้ว (ล่ะ) ทั้งตุลาการภิวัตน์ ทหารภิวัตน์ ออกมายึดอำนาจก็แล้ว ถามว่าทำไมความขัดแย้งมันยังอยู่ นอกจากยังอยู่แล้ว มันยังกัดเซาะสถาบันสำคัญ ๆ อีกด้วย วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นหนักขึ้นไปกว่าเดิม (นะ) นั่นแปลว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ผิดใช่มั้ย แต่ว่าไม่ยอมรับกันว่ามันผิด เพราะกลัวว่าถ้าใช้วิธีการที่มันถูกต้อง จะมีคนได้ ผลประโยชน์แล้วก็รับกันไม่ได้

– แต่รัฐบาลบอกว่าจะเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการอย่างเต็มตัว เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน

จริง ๆ รัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จมีฐานมาจากประชาธิปไตย แต่เมื่อคุณยังไม่เป็นประชาธิปไตย คุณเลิกฝันเถอะ (ครับ) ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการมันไม่ได้ เพราะพัฒนาการในทางระบบที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่พูดถึงการหักเหไปเป็น รัฐคอมมิวนิสต์ มันก็คือจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นรัฐที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ แล้วมาสู่รัฐที่เป็นประชาธิปไตย ก็คือ พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจในทางกฎหมาย หรือไม่ก็เป็นสาธารณรัฐไปเลย 2 รูปแบบ

พอเป็นประชาธิปไตย ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการแข่งขันกันโดยพลังเศรษฐกิจที่มันไม่เท่ากัน เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน รัฐก็จะต้องเข้ามาดูการแข่งขันของเอกชน การทำกฎหมายแรงงานสวัสดิการสังคม มันจะเข้ามา แต่มาบนพื้นฐานของพัฒนาการที่ต่อไปจากเรื่องของประชาธิปไตย ก็เป็นรัฐประชาธิปไตย แล้วก็สวัสดิการสังคม มันจะเชื่อมต่อกัน

แต่คำถามคือเราเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือเปล่า เรารับคุณค่าตรงนี้แล้วหรือยังในสังคมนี้ เราเชื่อว่าประชาชนของไทยมีสภาพของความเป็นพลเมือง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้วหรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่คิดอย่างนั้น ยังคิดว่าคะแนนเสียงของ คนขับรถแท็กซี่ คนขายก๋วยเตี๋ยว มีคุณค่าน้อยกว่ามหาบัณฑิต ก็จบครับ

นี่ไม่ได้พูดในทางอุดมการณ์ (นะ) แต่พูดในทางความเป็นจริง เพราะผมมองว่าประชาธิปไตยคือเรื่องของผลประโยชน์ มีคนบอกว่าการเลือกนักการเมืองก็ต้องเลือกคนดีมีคุณธรรมต่าง ๆ ถามว่าคุณจะดูยังไง ดูจากว่าคนคนหนึ่งปรากฏตัวในสื่อบ่อย พูดจาดูดีหน่อย ถือว่าคนนี้มีคุณธรรมเหรอ ดูแค่นี้เหรอ

หรือเป็นคนมีชื่อเสียงของสังคม ขยันออกสื่อ พูดจาเรื่องคุณธรรม ทำตัวเทศนาสั่งสอนคนบ้าง แล้วเป็นคนดี มีคุณธรรม ชาวบ้านอาจจะไม่ได้ดูแบบนั้นนะครับ แต่เขาดูว่าคุณเสนออะไร ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่สุดในทางประชาธิปไตย (นะ) คุณมี นโยบายยังไงที่จะมาจัดการกับชีวิตของเขา คุณทำอะไร เขาก็เลือก ถ้าคุณทำได้เขาก็เลือกคุณต่อ คุณทำไม่ได้เขาก็เลิกเลือกไปเลือกคนอื่นแทน

ในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงเสรีภาพในทางความคิดเห็น โดยที่ ไม่บอกว่าใครเห็นต่างจากคุณเป็นคนเลว หรือไปสนับสนุนคนเลว เหมือนกับที่ทำ ๆ กันอยู่ในสังคมไทยในเวลานี้ แล้วขอโทษ (นะ) ก็ปรากฏในสื่อกระแสหลักด้วย

– ทุกวันนี้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้วหรือยัง

ยัง (ครับ) ผมเห็นว่าไม่เลย ขอโทษนะ ที่ผมพูดตรงไปตรงมา คือเดี๋ยวนี้เวลาเสนอข่าว ข้อเท็จจริง หรือ fact ปะปนกับความเห็นไปหมดแล้วในสื่อ วิธีการเขียนข่าวหรือการรายงานข่าว ลองสังเกตดูให้ดีสิครับไม่ได้พูด fact อย่างเดียว แต่ใส่ทัศนคติของตัวลงไปในเนื้อข่าว ซึ่งทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมบอกว่ามันผิดแล้วที่บอกว่าสื่อต้องเลือกข้าง ผิดตั้งแต่ต้น

ผมแปลกใจมากว่าในวงการวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ อยู่กันได้ยังไง (ครับ) อาจจะมีคนบอกว่า วงการกฎหมายก็เหมือนกันนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ถามว่า เฮ้ย ! มีเหรอประเภทสื่อเลือกข้าง ไม่ใช่ว่าสื่อเสนอข้อเท็จจริงหรือครับ ส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นก็แยกไป แต่ fact คือ fact บิด fact ไม่ได้ สื่อเลือกข้าง เท่าที่ผมเห็นชัดก็คือ สื่อของรัฐบาลในยุคนาซีเรืองอำนาจในเยอรมันนะ

โอเค ถ้าบอกว่าคุณเป็นสื่อเลือกข้าง ของคุณถูกต้อง แต่อีกคนบอกของคุณไม่ถูก (อ่ะ) ทำยังไงล่ะ ถามว่าอย่างนี้ก็เป็น สื่อไม่ได้แล้วสิ เพราะว่าคุณเป็นผู้พิพากษาไปแล้วว่าอะไรถูก อะไรมันผิด แทนที่คุณจะนำเสนอ fact ทุกวันนี้ จึงมีสื่อ ที่ไม่ใช่สื่ออยู่มากมาย แล้วก็ indoctrinate คน

ขอโทษด้วย ถ้าผมไม่ได้ไปตามกระแสของสื่อ เพราะไม่จำเป็นที่ผมต้องเห็นด้วย โอเค ถ้าคุณเป็นคอลัมนิสต์ คุณเขียน ความเห็นของคุณ เขียนไปได้เลย แต่ข่าวคุณต้องเป็น fact คุณกั๊กไม่ได้

แต่แน่นอน โทนในการนำเสนอพอถึง จุดหนึ่ง ก็ต้องมีใจที่เป็นธรรมอยู่ (นะ) แต่ปัญหาคือใจที่เป็นธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อคุณกระโดดลงไปตะลุมบอนเป็นฝ่ายทางการเมือง กระโดดลงไปเพื่อจะจัดการบางเรื่องให้มันสิ้นซากไป มันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะคุณได้กลายไปเป็นคู่ต่อสู้ คุณลงไปเป็นผู้ร่วมต่อสู้

สื่อบางท่านอย่าให้ผมเอ่ยเลย ผิดเพี้ยนไปถึงขั้นละเมิดจรรยาบรรณของตัว เขียนอะไรที่รุนแรง แม้กระทั่งเรียกร้องให้คนฆ่ากันได้ ทำได้ยังไง แล้วไม่มีการพูดประณามอะไรกันเลย ก็ยังทำ

ทุกวันนี้สื่อเลยกลายเป็นเครื่องมือ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขึ้นทุกที ๆ เพราะคิดว่าตัวเองคือผู้ผูกขาดความดีงาม เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ไม่ได้มองว่าบริบททางการเมืองมันมีมุมมอง มีข้อเท็จจริงจำนวนมาก เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่

แล้วผมถามว่าถ้าคุณเป็นอย่างนี้จะมาเรียกร้องให้สังคมกลับสู่ความสมานฉันท์อะไร ประชาธิปไตยไม่ต้องการความสมานฉันท์หรอก แต่ต้องการ ความเห็นที่สามารถแสดงได้โดยเสรี และเคารพความคิดความเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ประณามคนที่เห็นต่างว่าเป็นคนเลว เป็นคนทรยศ เป็นคนขายชาติ นี่คือหน้าที่สื่อที่ต้องทำ

ถามว่าสื่อทำหน้าที่ตรงนี้แล้วหรือยัง ผมว่าสื่อมวลชนรู้ดีกว่าผม แต่ผมประเมินว่า ในช่วงที่ผ่านมาสื่อลงไปเล่น แล้วไม่ต้องพูดหรอกว่า กระบวนการพวกนี้ก็มีการเอื้อผลประโยชน์กัน

ประชาชาติธุรกิจ, 07 มกราคม 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4173


อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ไม่ยาวเท่าไหร่ แต่สั้นๆตรงประเด็น และโดนครับ
ผมยังมองไม่เห็นว่า ในเชิงหลักการ จะเอาอะไรมาเถียงได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ผมไฮไลต์เอาไว้

นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม, คำ ผกา

28 April 2009 Leave a comment

นับแต่นี้ไป ไม่เหมือนเดิม, คำ ผกา

ป้าทองไม่ได้สวมเสื้อแดง แกเป็นแค่ชาวบ้านสันคะยอม เรียนหนังสือจบชั้นประถมหรือเปล่าไม่แน่ใจอาชีพของแกคือ “แม่บ้าน”

แม่บ้านในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “เมีย” เพราะผัวแกตายไปนานแล้ว แม่บ้านในที่นี้ ภาษาละครหลังข่าวเขาเรียกกันว่า “คนใช้”

ป้าทองจะเป็นอะไรก็ช่าง ฉันรู้แต่ว่า แกเป็นคนบ้านเดียวกับฉัน วันหนึ่ง แกมาซื้อเนื้อหมูที่บ้าน ฉันก็เลยหยั่งเสียงเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างสงกรานต์ ในขณะที่พวกเรากำลังยุ่งอยู่กับการทำแกงฮังเลไปวัด

“คนเขาไปเดินขบวนไล่รัฐบาลกัน ป้าทองว่ายังไง”

“อู๊ยย…บ้านเมืองวุ่นวาย ร้อนร้าย ถ้าป้าทองเป็นรัฐบาลจะลาออก รู้ทั้งรู้ว่าประชาชนไม่ได้เลือกตัวเองมาเป็นรัฐบาล ยังจะหน้าด้านอยู่ได้ เออ ถ้ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ชนะ ป้าไม่ว่าซ๊ากคำ จะยอมรับเสียงที่คนเขาเลือกแต่โดยดี แต่นี่อะไรไม่รู้ อยู่ๆก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาล สมควรแล้วที่จะโดนประชาชนไล่ จริงไหม”

ป้าตอบยืดยาว สมฉายา ป้าทอง (โว)-โว แปลว่าคุยโวโอ้อวดนั่นเอง

ฉันยอมรับว่า อึ้งกับคำตอบของป้าทอง ป้าไม่ได้เรียนหนังสือมาก ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ป้าดูข่าวและติดละครของแพนเค้ก เหมือนชาวบ้านอีกทั้งประเทศไทย ไม่ได้พูดคำว่าประชาธิปไตยแต่ป้าช่างอธิบายมันออกมาชัดเจนแจ่มกระจ่าง

ความจำของป้าไม่ได้สั้นเหมือนใครบางคน ป้ายังจำได้ว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุด หลังจากรัฐบาลของ คมช. ป้ายังจำได้ว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากคือพรรค เพื่อไทย และหัวหน้าพรรค คือ นายสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์หลังจากนั้นป้าคงเข้าใจไม่ได้ ทำไม นายกฯ ที่มาจากพรรคที่ครองเสียงข้างมากถึงถูกถีบออกไปจากเวทีการเมืองไทยในเวลาอันสั้น?

ทำไมพันธมิตร ถึงสามารถชุมนุมยืดเยื้อได้หลายเดือนโดยไม่มีใครกล้าทำอะไร?

ทำไมคนเหล่านั้นถึงเข้าไปร้องรำทำเพลงในทำเนียบได้ นานนาน แถมยังมีใครไม่รู้ไปอุตริจัดงานแต่งงานเป็นที่ครื้นเครง?

ทำไมแก๊สน้ำตาทำให้คนแขน ขาขาดอย่างมีนัยสำคัญ?

งงยิ่งกว่านั้น กลุ่มพันธมิตรไปยึดสนามบินตั้งหลายวัน ผู้คนเดือดร้อนมหาศาล เศรษฐกิจของชาติยับเยิน แต่คนที่เสียง “ดัง” ในสังคมนี้กลับยกย่องคนยึดสนามบินว่าเป็นพวกกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตย แกนนำไม่มีใครโดนจับดำเนินคดี

น่าเจ็บใจกว่านั้น คนบางคนที่ชื่นชมม๊อบพันธมิตร ออกนอกหน้า ยังได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวงขี้หมูขี้หมา เป็นกระทรวงการต่างประเทศเสียด้วย

ป้าทอง ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์หรอก และไม่รู้ด้วยว่าฉายาของรัฐบาลนี้คือ “เทพประทาน” ป้าทองแค่ไม่เข้าใจว่า ทำไมเสียงโหวตของประชาชนจึงไม่ได้รับการเคารพ? ป้าทองไม่เข้าใจหรอกว่า “มือที่มองไม่เห็น” แปลว่าอะไร และเป็นใคร ป้าทองเข้าใจตามประสาป้าทองว่า เรามีการเลือกตั้งและเราควรจะยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น แม้มันจะไม่ถูกใจเรา

จบ

————————

ฉันอึ้งกับคำตอบของป้าทอง เพราะมันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมไทยไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันจะเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างป้าทองจะตระหนักในความหมายของ เสียง 1 เสียงที่ตัวเองกากบาทลงไปในบัตรลงคะแนน

ไม่ว่าสื่อมวลชน ชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ที่คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐเหนือชาวบ้านร้านช่อง จะเฝ้าเรียกคนที่ออกมาร่วมชุมนุมเสื้อแดงว่า เป็นผู้หลงผิด เป็นสาวกทักษิณ เป็นพวกขายสิทธิ ขายเสียง และยังไม่รู้ทันเล่ห์กลของนักการเมือง

หนังสือพิมพ์บางเล่มยิ่งอาการหนัก เพราะเรียกผู้ชุมนุมสีแดงว่า “หางแดง” หรือ “แดงประจำเดือน” สะท้อนและส่อให้เห็นถึงวุฒิภาวะ และรสนิยมของหนังสือพิมพ์นั้นได้อย่างดี นักวิชาการที่สังวาสเสพสุขกับสื่อชนิดนี้ คงหมดแล้วซึ่งสามัญสำนึกแห่งผิดชอบชั่วดี โดยสิ้นเชิง

มีคนพูดกันมากเรื่อง 2 มาตรฐาน ความแตกต่างระหว่างม๊อบมีเส้นกับไม่มีเส้น มีหลายคนบอกว่าม๊อบเสื้อแดงกำลังรุกเร้าให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งการเผารถเมล์ การเอารถแก๊สมาขู่ การปะทะกันตรงนั้นตรงนี้ระหว่างคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน ที่ผ่านมา

แต่ฉันอยากจะทบทวนอีกสักนิดว่าก่อนที่จะเกิดการจลาจลและกีฬาสีสงคราม แดง-เหลือง-น้ำเงิน นั้น มันเกิดอะไรขึ้น

————————

จะปฏิเสธไหมว่า หากไม่มีรัฐประหาร 2549 จะไม่มีสงครามสีในวันนี้

และ ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารควรสำเหนียกว่าประเทศไทย ณ พ.ศ.นี้ ไม่เหมือนกับประเทศไทยปี 2500 อีกต่อไปแล้ว คนไทย ชาวนา ชาวไร่ กรรมกรไทย ไม่ใช่ราษฎรโง่ ๆ เชื่อง ๆ แบบตัวละครเรื่องสั้น เขียดขาคำ ของลาวคำหอมอีกต่อไป

ชาวบ้านไม่ได้เห็นนายอำเภอแล้วรีบก้มกราบอีกแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ขึ้นไปบนที่ว่าการอำเภอแล้วขาสั่นผับๆ เพราะกลัวเจ้ากลัวนาย เราไม่ได้อยู่ในยุคที่เรียกข้าราชการว่า “เจ้าคนนายคน”

เราอยู่ยุคที่ นายกเทศบาลตำบลนั้นเป็นลูกของลุงศรีทน ที่มีนาติดกับนาของเราแถมยังฟ้อนผีมดร่วมกันทุกปี นายก อบต. ก็เป็นลูกหลานของคนบ้านนี้ เราอยู่ในยุคที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับการไปดำหัวผู้ว่าฯ ที่ขอโทษ เดี๋ยวนี้แทบไม่รู้เรื่องว่าชื่ออะไร เพราะมันช่างเป็นตำแหน่งที่ไร้ความหมาย หลังการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คำว่า “สถานที่ราชการ” ที่เคยทรงอำนาจขู่ให้ประชาชนต้องเดินตัวลีบๆ บางทีถึงขั้นถอดรองเท้านั้นเกือบจะมีความหมายเท่ากับศาลพระภูมิ ในสมัยที่ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

เทคโนโลยี่ ของการสื่อสาร วิทยุชุมชน การทำงานภาคประชาชนของ NGOs ที่ดำเนินการมายาวนานนั้น เราต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก ของประชาชนคนเดินดิน ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นประชาชน มีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองผ่านสิ่งที่เรียกว่านโยบายของรัฐบาล ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าหากเราไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาล เราสามารถ เรียกร้อง ต่อรอง ทำการรณรงค์กับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อหาแนวร่วม หรือเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูล ข่าวสารที่แตกต่างออกไปจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล

สังคมไทยมีคนอย่างยายไฮ เกิดขึ้นแล้ว มีสมัชชาคนจน มีสหภาพแรงงานที่กำลังตื่นตัว มีกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแข็งขัน เรามีคนไข้ที่ลกขึ้นฟ้องร้องหมอ (50 ปีที่แล้วรังเห็นหมอเป็นเทวดา และพูดภาษาเทพที่คนธรรมดาไม่เคยฟังรู้เรื่อง)

เรามี “กลุ่ม” องค์การนอกรัฐ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อยืนยันสิทธิศักด์ศรีของคนไทย ที่หรือหน่วยราการไม่เคยอ่าน เขาว่าเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ เท่ากับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเคืรอข่ายผู้ติดเชื้อฯ เครือข่ายหญิงบริการ ฯลฯ

ลองคิดดูแล้วกันว่าสังคมเราเดินมาไกลขนาดไหน ไกลจนถึงจุดที่ทั้งกะหรี่ ทั้งกะเทย ออกมาเป็นแอ็คทิวิสต์ เดินสายประชุมกับเฟมิเนิสต์ นักวิชาการ และเพื่อนนักกิกรมทั่วโลกเพื่อยืนยันศักดิ์ศรีแห่งอาชีพของตน

แล้วใครหน้าไหนยังจะคิดว่าจะลุกขึ้นมาทำรัฐประหารได้ง่ายดายเหมือนยุคของสฤษดิ์

แล้วใครอย่ามาคิดว่าจะลุกขึ้นมา Exercise อำนาจอย่างเดียวกับที่ สฤษดิ์ เคยทำกับคนไทยสมัยนั้น

ร้ายไปกว่านั้น ในยุคแห่งการรื้อสร้างและเสียดสี การรณรงค์และโฆษณาชวนเชื่อในกฤษฏาภินิหารต่าง ๆ นานาเพื่อให้ประชาชนสมยอมอำนาจนั้นทำได้ยากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากจะไม่ชวนเชื่อ แล้วยังน่าหัวเราะเยาะและรังแต่จะถูกนำมาล้อเลียนให้เสียผู้เสียคนกันไปข้าง

————————

เราอยู่ในยุคเทคโนโลยี่อยู่แค่การ คลิก คลิก คลิก โทรศัพท์มือถือของนาย ก. นาง ข. ที่ไหนก็ถ่ายรูปได้ สื่อของรัฐแสดงรูป ๆ หนึ่ง ประชาชนก็สามารถเอารูปอีกรูปหนึ่งมาแสดงทาบกันคัดง้างความหมาย ความเชื่อกันได้อย่างทันท่วงที

เพราะฉะนั้น การผูกขาดข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นแค่ฝันเปียกของรัฐบาล ICT ทำได้แค่วิ่งไปปิดเวปนั้น เวปนี้ไปวัน ๆ

ทว่ายิ่งปิดกั้น ยิ่งกักกัน ประชาชนยิ่งหลีกเร้น แหวกทางหาช่องใหม่ ภาษาใหม่ ถ้อยคำใหม่ สัญลักษณ์ใหม่ ๆ ทีรัฐไม่มีวันจะตามไปปิดหูปิดตาได้มิดชิดอีกต่อไป

ยิ่งปิด เรายิ่งสามารถค้นหาทางหนีได้แยบยลยิ่งขึ้น ภาษาที่เราใช้ยิ่งจะถูกพัฒนาให้ซับซ้อนซ่อนกลเสียจนรัฐได้แต่ทำตาปริบๆ คำสามัญอย่าง “ซาบซึ้ง” กลับซ่อนนัยชวนหัวมีพลังถึงขั้นพลิกขั้วของโลกให้กลับตาลปัตรได้

เพราะฉะนั้นที่วิ่งไล่ปิดวิทยุชุมชน จนหัวสั่นหัวคลอนนั้นอย่าหวังว่าจะสามารถทำการผูกขาดข่าวสารข้อมูลได้ง่าย ดาย และจะเอาประชาชนมาใส่ขื่อใส่คาได้ตามใจชอบ เพราะยิ่งปิดก็จะยิ่งมีช่องทางใหม่ ๆ มาทดแทน

นี่จึงเป็นกระบวนการ ต่อต้านรัฐประหาร (และขอไว้อาลัยแก่ภาพประชาชนที่เอาดอกกุหลาบไปให้ทหาร) หลังจากนั้นที่ดำเนินการมาอย่างเป็นอารยะนั่นคือ ไม่มีการออกมาชุมนุมหรือใช้ความรุนแรงใด ๆ นอกจากภาพการรณรงค์ด้วยข้อมูลเท่าที่จะทำได้ ส่วนชาวบ้านอย่างป้าทองเชื่อว่า เมื่อมีการคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ทีไหนได้ กลายเป็นว่ามีการใช้สถาบันตุลาการอย่างตั้งใจที่จะตัดตอนพรรคไทยรักไทย

สุดท้ายเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา กลับมีความพยายามที่จะใช้วิธีนอกกฎหมายในการกำจัดพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างกดดันและต่อเนื่องผ่านพันธมิตรฯ ใส่เสื้อสีเหลือง

มาถึงวันนี้ฉันคงไม่ต้องอ้อมค้อม เด็กมัธยม ยังรู้เลยว่านี่ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการ exploit การเมือง ภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด corrupt ที่สุดหน้าด้านและดัดจริตที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

วาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทย ๆ บวกกับมายาคติว่าด้วยนักการเมืองชั่วช้าสามานย์ เข้ามาเพื่อกอบโกย มือสกปรกโกงกิน ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกระแสเรียกร้องหาผู้ปกครองในอุดมคติปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองโปร่งใส good governance ศีลธรรม คุณธรรม ไปจนถึงเกมชิงความจงรักภักดีอย่างเข้มข้น

ถึงตอนนี้คำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่สำคัญเท่ากับ “ฆ่า” ทักษิณออกจากจักรวาลการเมืองไทย ไม่มีประชาธิปไตยไม่เป็นไรขอให้เอาทักษิณออกไปให้ได้ก่อน ความผิด และความไม่ชอบธรรมของทักษิณ ไม้ได้นำมาพิจารณาไต่สวนกันด้วยเหตุผล

แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังและ simplified ปัญหาของประเทศไปไว้ที่ผู้ชายชื่อทักษิณ ราวกับว่าหากไม่มีทักษิณเสียคน ประเทศไทยจะเรืองรองผ่องอำไพ ผุดผ่องงดงาม ขึ้นมาในบัดดล

เมื่อดึงดัน ถีบส่ง และฆ่าทิ้งรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างหน้าด้าน และอีกพรรคหนึ่งก็หน้าด้านพอที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล คุณอภิสิทธิก็กล้าขึ้นมาเป็นนายกฯ ท่ามกลาง question จากทั่วโลก (ฉันอายแทนมาก ๆ ) และในที่สุดประชาชนก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงลุกข้นมาชุมนุมเพื่อทวงถามความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความหมายของประชาธิปไตย ในขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มพันมิตรทำในสิ่งตรงกันข้ามนั่นคือ ไล่รัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย!

นี่คือสัญญาณที่บอกชนชั้นนำไทยว่า การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม “คนไทย” ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สำนึกทางการเมืองของวกเราเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำไม่อาจ manipulate ชี้นำ และสนตะพายเราด้วยคำพูดเพราะๆ หน้าหล่อๆ ยิ้มหวานๆ พิธีกรรมสารพัดพิธี อย่างที่เคยทำได้อีกต่อไปแล้ว

ประชาชนไทยเปลี่ยนไปแล้ว มีแต่ชนชั้นนำที่ไม่รู้ตัว และเฝ้าหลอกตัวเองว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และจะต้องหมือนเดิมตลอดไป

มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2552

มุมมองเหนือปรากฏการณ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์

19 April 2009 Leave a comment

มุมมองเหนือปรากฏการณ์

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนมานั้น คงบอกอะไรแก่คนได้ไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่ผมได้เรียนรู้มีดังนี้

1. จำนวนคนที่เข้าร่วมชุมนุมซึ่งมีไม่ต่ำกว่าแสนขึ้นไป รวมทั้งความองอาจกล้าหาญที่จะเผชิญกับภยันตรายอย่างไม่หวั่นเกรง ชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ได้รับจ้างใครมาชุมนุม อย่างน้อยไม่ใช่ผู้รับจ้างทั้งหมด และส่วนใหญ่น่าจะมาด้วยเสียงเรียกร้องบางอย่างในใจของตัวเอง

เป้าหมายของคุณทักษิณ ชินวัตร ในการปลุกปั่นให้มีการชุมนุม ไม่ใช่เป้าหมายของผู้ชุมนุม อันที่จริงนอกจากการเปิดโฟนอินให้คุณทักษิณได้พูดกับผู้ชุมนุมแล้ว แทบจะไม่มีใครพูดถึงคุณทักษิณบนเวทีกันเลย ยังไม่พูดถึงผลประโยชน์ของคุณทักษิณ เช่นการได้รับพระราชทานอภัยโทษจากคำพิพากษา ยิ่งไม่มีใครพูดถึงเลย

แน่นอนคุณทักษิณมีความสำคัญในการชุมนุมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่คุณทักษิณเป็นแค่สัญลักษณ์ของการประท้วง ไม่ใช่ตัวคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีผลประโยชน์และเป้าหมายเป็นของตนเอง อันเป็นสิ่งที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากรู้ว่าไม่ตรงกับของตน

ผมมีเพื่อนที่เข้าร่วมชุมนุม หรือสนับสนุนการชุมนุมหลายคน แต่ไม่มีสักคนเดียวที่อยากได้ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯอีก

รัฐบาลก็รู้ว่า สัญลักษณ์ทักษิณนั้นแหละ ที่จะทำให้คนเป็นกลางต่างๆ ไม่สนับสนุนการชุมนุม ฉะนั้น จึงรณรงค์มาตั้งแต่ต้นว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงคือ “ม็อบรับจ้าง” ของคุณทักษิณ ตราบเท่าที่การรณรงค์เช่นนี้เป็นเพียงยุทธวิธีในการต่อสู้กับคนเสื้อแดง ก็คงไม่เป็นไร (โดยเฉพาะเมื่อเรามีแต่สื่อสันหลังยาว ไม่เข้าไปเจาะเอาความจริงออกมาเผยแพร่) แต่อันตรายอยู่ที่ว่า รัฐบาลเองก็ถูกตัวเองหลอกให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ฉะนั้น เมื่อพบว่าจำนวนผู้ชุมนุมมีเป็นแสน รัฐบาลจึงงง ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เปิดโอกาสให้นักเลงที่สนับสนุนรัฐบาลจัดคนเสื้อน้ำเงินออกไปขัดขวางการชุมนุมด้วยวิธีต่างๆ ทั้งถูกและผิดกฎหมายร้ายแรง เท่ากับยั่วยุคนเป็นแสนให้คลั่ง และนำไปสู่การกระทำที่เกิดผลเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติ

คงจำได้ว่า ในวันแรกคุณอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง เพียงแต่ยื่นหนังสือผ่านเลขาธิการอาเซียนแล้วก็ถอยกลับ และประกาศว่าไม่ประสงค์จะขัดขวางการประชุม จนได้รับคำชื่นชมจากท่านเลขาธิการเอง แต่เมื่อกลับมาใหม่นั้น มาด้วยความคลุ้มคลั่งที่คนเสื้อแดงถูกลอบทำร้าย จนในที่สุดก็พังประตูเข้าไปทำลายการประชุม

รัฐบาลจัดการประชุมนานาชาติด้วยความประมาท เพราะไปเชื่อว่า “ม็อบรับจ้าง” ไม่มีกำลังจะทำอะไรได้ แทนที่จะเตรียมกำลังไว้สกัดกั้นอย่างเต็มที่ แม้แต่โรงแรมที่ใช้จัดการประชุมเองก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าออกได้ตามสะดวก ในที่สุดก็เกิดเหตุที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “ตัวตลก” บนเวทีโลกไปอย่างที่นายกฯ ออสเตรเลียกล่าว

ความล้มเหลวของการประชุมจึงเกิดจากความไร้สมรรถภาพในการจัดการของรัฐบาลเอง ไม่น้อยไปกว่าการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดง

2. มีเสียงที่คนจำนวนหนึ่งไม่ได้ยินหรือไม่อยากฟังจากที่ชุมนุม ซึ่งผมคิดว่ามีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราเข้าใจแรงจูงใจเบื้องหลังการชุมนุมได้ดีขึ้น

ก/ เสียงแรกคือการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “อำมาตย์” หรืออำมาตยาธิปไตย คำนี้มีความหมายได้หลายอย่าง นับตั้งแต่ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อแทนคำว่า Bureaucratic Polity ของ Frederick Riggs แต่อำมาตยาธิปไตยในความหมายนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือบางคนบอกว่ายุติไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2516 อย่างไรก็ตาม คำนี้ก็ยังถูกใช้กันต่อมาในความหมายอื่นซึ่งไม่สู้จะชัดนักว่าคืออะไร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสื่อความกันไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงระบบการจัดสรรอำนาจที่ชนชั้นนำจำนวนน้อยมีส่วนแบ่งอำนาจสูงเกินไป คาดหวังกันว่าชนชั้นนำจะต้องแบ่งปันอำนาจลงมารวมคนที่เคยถูกกันออกไปนอกวงจำนวนมากขึ้น มากแค่ไหนเถียงกันได้ เช่นรวมเฉพาะคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปซึ่งสวมเสื้อเหลือง หรือควรรวมไปถึงคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งสวมเสื้อแดงด้วยเป็นต้น

การเมืองบนท้องถนนของเสื้อทั้งสองสี ชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรอำนาจที่เป็นอยู่ยังไม่ลงตัว จำเป็นต้องปรับระบบการจัดสรรอำนาจกันใหม่ และนี่คือเหตุผลความล้มเหลวขององค์กรทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา, องค์กรอิสระ, หรือมหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ไม่สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งได้ เพราะองค์กรเหล่านี้เป็นกลไกของระบบจัดสรรอำนาจแบบเดิม จึงได้แต่ถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือวางกรอบการระงับความขัดแย้งไว้ในระบบจัดสรรอำนาจเดิม

ข/ สืบเนื่องจากข้อ ก/ ชุมนุมคนเสื้อแดงต่อต้านการรัฐประหาร หรือการแทรกแซงการเมืองของกองทัพทุกรูปแบบ อันที่จริงกองทัพและการรัฐประหารเป็นกลไกที่สำคัญมากในการจัดสรรอำนาจของชนชั้นนำ แต่บทบาทนี้ของกองทัพกำลังหมดไป (ซึ่งไม่ได้แปลว่ากองทัพจะสูญเสียส่วนแบ่งอำนาจไปทั้งหมด แต่ต้องลดลงอย่างแน่นอน ก่อนที่ความเป็นปกติจะกลับคืนมาสู่การเมืองไทย)

ค/ เสียงที่สำคัญจากชุมนุมของคนเสื้อแดงอีกอย่างหนึ่งคือความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานานถูกเยาะเย้ยเสียดสี และได้รับการตอบสนองอย่างพึงพอใจจากผู้เข้าร่วมชุมนุม อภิสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นสิ่งปรกติในสังคมไทยถูกตั้งคำถามหาความชอบธรรมอย่างหนัก

การเรียกร้องความสามัคคีของรัฐก็ดี ของฝ่ายชนชั้นนำก็ดีไร้ความหมาย ไม่ใช่เพราะผู้ชุมนุมปฏิเสธคุณค่าของความสามัคคี แต่เขาต้องการนิยามความหมายของสามัคคีใหม่ ไม่ใช่เพียงเพราะ “เป็นคนไทยด้วยกัน” แต่เพราะเป็นมนุษย์ที่เสมอกันต่างหาก

ทั้งหมดนี้ไม่ตรงกับเสียงของทักษิณที่โฟนอินเข้ามาเลย ทักษิณพูดถึงแต่ตัวเอง ไม่ใช่ตัวระบบการเมืองที่พิกลพิการในสายตาของผู้ชุมนุม ทั้งนี้ เพราะทักษิณเองก็คิดว่าตนเป็นผู้แพ้ในเกมชิงอำนาจของชนชั้นนำ จึงหันมาใช้มวลชนเป็นเครื่องมือในการชิงอำนาจคืน ถึงอย่างไรก็เป็นสนามแข่งขันของชนชั้นนำที่คนอื่นไม่เกี่ยว ทักษิณเองจึงตกขอบเพราะเข้ามาสู่การเมืองมวลชนซึ่งปฏิเสธสนามแข่งขันแบบเก่าเสียแล้ว

3. สืบเนื่องจากที่กล่าวในข้อ 2/ การเมืองไทยนั้นจำกัดอำนาจตัดสินใจให้อยู่ในมือของชนชั้นนำจำนวนน้อยตลอดมา คนกลุ่มใหม่ที่จะแทรกเข้ามาต้องกลืนตัวเองเข้าไปสังกัดชนชั้นนำให้ได้เท่านั้น จึงสามารถมีส่วนแบ่งอำนาจได้ หากมีกลุ่มใดที่พยายามจะแทรกเข้ามาถืออำนาจร่วมด้วย แล้วไม่อาจกลืนตัวเองเข้าไปในหมู่ชนชั้นนำได้ ก็จะเกิดการนองเลือดไปทุกที

บัดนี้มีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางระดับล่าง ที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย แต่การรัฐประหารก็ไม่สามารถกีดกันคนเหล่านี้ออกไปได้ การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ก็ไม่สามารถสยบคนกลุ่มใหม่นี้ได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่สามารถปรับระบบการจัดสรรอำนาจให้ลงตัว ก็จะมีการเคลื่อนไหวของคนสวมเสื้อสีเข้ามาแทนที่จนได้ การเมืองไทยไม่มีทางคืนสู่ปรกติภาพได้แน่ จนกว่าจะหาทางออกที่พอจะรับได้แก่คนทั้งหมด นับตั้งแต่ชนชั้นนำลงมาถึงคนชั้นกลางระดับล่าง… ที่เราเห็นเป็นเพียงจบฉากที่หนึ่งเท่านั้น

4. มาตรการสลายการชุมนุมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม (คือคนส่วนใหญ่เห็นด้วย) แต่ไม่มีคำตอบสุดท้ายทางการเมืองในโลกนี้ การชุมนุมที่ขาดการจัดองค์กรที่ดีพอสมควรเช่นที่เสื้อแดงได้จัดขึ้นคงเกิดขึ้นอีกไม่ได้แน่ แต่ด้วยการจัดองค์กรที่ดีขึ้น ด้วยสำนึกเต็มเปี่ยมว่าเวทีการต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่ท้องถนน แต่คือสังคม ผู้จัดชุมนุมอาจพลิกกลับให้มาตรการสลายการชุมนุมที่งดงามนี้ดูน่าเกลียดได้ง่าย เช่นแทนที่จะถืออาวุธหรือเครื่องมือเสมือนอาวุธเข้าต่อสู้ ผู้ชุมนุมนั่งหรือนอนลงบนพื้นถนน ให้ตำรวจทหารฉุดกระชากลากถูอุ้มขึ้นรถไปคุมขัง ภาพของความรุนแรงก็จะกลายเป็นของฝ่ายผู้สลายเอง แน่นอนผู้ชุมนุมต้องไม่เผาอะไร, ไม่ใช้รถก๊าซ, และไม่ขว้างปาเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานด้วย

5. การเมืองไทยจะกลับคืนสู่สภาพปกติหลังการชุมนุมใหญ่ได้หรือไม่ ในระยะแรกนี้สิ่งที่ปรากฏชัดขึ้นมาก็คือความยุติธรรมและนิติรัฐ เพราะสมานฉันท์ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นไม่ได้ท่ามกลางการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ถึงเวลาที่รัฐต้องจัดให้เกิดการลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

เป้าหมายสำคัญของการดำเนินคดีอย่างเท่าเทียมกันนั้น ไม่ใช่เพื่อแลกเปลี่ยนความสะใจระหว่างสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป้าหมายสำคัญคือการยกโทษ เพราะที่จริงแล้วการละเมิดกฎหมายของทั้งสองฝ่ายนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางความบกพร่องของระบบการเมืองมากกว่าความบกพร่องของแกนนำ แต่การยกโทษหรืออภัยโทษนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มที่ความจริงซึ่งกระบวนการทางกฎหมายที่ยุติธรรมจะเผยออกมา และการสำนึกผิดอย่างจริงใจของผู้ผิด ส่วนการยกโทษหรืออภัยโทษเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องเป็นผู้มอบแก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ง่าย หากความจริงและการสำนึกผิดได้เกิดขึ้นแล้ว

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11363 มติชนรายวัน