Archive

Archive for December, 2010

ทำไมการเมืองบ้านเราจึงพัฒนาช้า โดย วีรพงษ์ รามางกูร

22 December 2010 Leave a comment

ทำไมการเมืองบ้านเราจึงพัฒนาช้า

โดย วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์ คนเดินตรอก

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นี้ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยและมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ได้เชิญให้ไปแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ”นักการเมืองรุ่นใหม่กับแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต” ก่อนจะไปแสดงปาฐกถาต้องนั่งเรียบเรียงความคิดและใช้เวลากลั่นกรองเป็นเวลานาน เพราะการแสดงความคิดความเห็นเดี๋ยวนี้ต้องระมัดระวังก็เลยอยากมาเล่าไว้ที่นี้ด้วย

การพัฒนาประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์นี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเสียแล้ว เพราะประเทศเราถอยหลังมาไกลตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการแก้กฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนการบรรจุคนเข้าไปในองค์กรอิสระต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นผู้คนที่มีความคิดไปในทางเดียวกันหมด

การจะหยุดอยู่อย่างนี้ไม่พัฒนาไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคงเป็นไปได้ยาก เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษ อเมริกา หรือฝรั่งเศส ได้กลายเป็นกระแสของโลกไปเสียแล้ว การจะมีระบอบประชาธิปไตยแบบของเรานั้นไม่น่าจะเป็นไปได้

การเชื่อมโยงกันในกระบวนการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การโทรคมนาคม การสื่อสารมวลชนได้ทำลายกำแพงระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไปอย่างกว้างขวาง ประเทศเล็ก ๆ อย่างประเทศไทยคงจะทวนกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้

หากจะทวนกระแสก็คงจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการต่อต้านของสังคมชาวโลก พัวพันไปถึงการกีดกันการค้า การเจรจาธุรกิจ การเงิน เกียรติภูมิของชาติ นับวันมีแต่จะยิ่งลุกลามเข้ามา ซึ่งป้องกันได้ยากหรือปิดบังไม่ได้เลยหากไม่ยอมรับความจริงอันนี้ ความยุ่งยากก็จะเกิดขึ้น การปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเคยมีผู้กล่าวว่า “ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม สำหรับประเทศเล็กและมีประวัติศาสตร์การเมืองที่มาในแนวนี้ และได้เลือกสังกัดค่ายเสรีประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นหรือก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน

ความจริงแล้วสังคมไทยนั้นเอื้ออำนวยในการพัฒนาประชาธิปไตยกว่าประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

1.ความอดทนอดกลั้น คนไทยมีความอดทนอดกลั้นมากกว่าคนชาติอื่น ไม่มีความขัดแย้งกันในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิภาค คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยคนไทยก็ไปแต่งงานด้วย ระยะเวลาเพียงชั่วคนเดียวลูกหลานก็เป็นคนไทย ไม่เคยมีการแบ่งแยกกันในเรื่องภูมิภาค

ที่สำคัญคือ ภายหลังสงครามเย็นอันเกิดจากกระแสที่มาจากต่างประเทศ ผู้ที่มีความคิดความเห็นต่างกันก็ได้รับการยอมรับ กลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย บางคนกลับมาเป็นใหญ่เป็นโตในวงการเมือง เป็นพ่อค้านักธุรกิจ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึงความคิดที่แตกต่างแตกแยกกันอีกเลย

2.รู้จักประสานประโยชน์และประนีประนอม คุณลักษณะอันนี้ทำให้เราอยู่รอดเป็นเอกราช ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของใคร รู้จักประสานประโยชน์กับต่างชาติหรือฝ่ายตรงกันข้าม จึงไม่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อคราวเกิดเรื่อง 14 ตุลา 16 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ก็เป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับกองทัพ ซึ่งสะสมจนสถานการณ์สุกงอมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เกิดจากลักษณะของการเป็นผู้ชอบความรุนแรง

ลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความรุนแรง ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ผู้นำส่วนใหญ่ ตั้งแต่สมัย 2475 เป็นต้นมาจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงความรุนแรง ด้วยเหตุนี้เราจึงรอดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

3.ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความอดทนอดกลั้น การประสานประโยชน์ การรู้จักประนีประนอม ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ช่วงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางด้าน เชื้อชาติ ไม่ว่าจะแขก จีน ญวน มอญ ลาว เขมร ต่างภาษา ต่างศาสนา ได้ถูกหล่อหลอมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบเนียน เป็น “เบ้าหลอมละลาย” หรือ “melting pot” ยิ่งกว่าอเมริกาเสียอีก

ถ้าจะเกิดการแตกแยกก็ด้วยปัจจัยอื่น เช่น การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ การได้รับการปฏิบัติตอบอย่างอยุติธรรม เช่น กรณีความแตกแยกระหว่างสงครามเย็น ปัญหาของพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ เป็นต้น เมื่อได้รับการแก้ไขปัญหาก็ยุติลง เมื่อมีการปฏิบัติเช่นว่าอีกก็เกิดปัญหาอีก แต่โดยปกติแล้วความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “harmony” เป็นคุณลักษณะสำคัญอันหนึ่งของสังคมไทย

4.ความเป็นสังคมเปิด สังคมไทยเปิดให้กับคนทุกระดับที่ต้องการจะเปลี่ยนฐานะทางสังคมของตน จากสังคมระดับล่างขึ้นมาสู่สังคมระดับสูง ชาติกำเนิดไม่ได้เป็นเครื่องแบ่งชั้นวรรณะที่ตายตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ล้วนมาจากชนชั้นระดับล่าง ไต่เต้าขึ้นมาจากการศึกษา ความมุมานะ ขยัน อดทน ตั้งใจทำงาน แสดงความสามารถจากผลงาน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาจากครอบครัว คนชั้นล่างมากมาย ลูกหลานท่านเจ้าคุณ คุณพระคุณหลวงล้มหายตายจากสังคมไปเป็นเวลานานจนหมดความหมาย

บรรดาเศรษฐีเจ้าของกิจการ นายธนาคาร นักการเงิน นักอุตสาหกรรม พ่อค้า ผู้ส่งออก ล้วนมาจากผู้ที่สืบเชื้อสายชาวจีนที่อพยพหนีความยากจนมาตั้งรกรากสร้างฐานะขึ้นในประเทศไทย ร่ำรวยขึ้นมาจากความขยันหมั่นเพียร ประหยัดมัธยัสถ์ ส่งเสริมบุตรหลานให้มีการศึกษา รู้จักประสานประโยชน์กับผู้มีอำนาจรัฐเหมือน ๆ กับตระกูลร่ำรวยในอเมริกาและยุโรป

สังคมไทยจึงไม่ใช่สังคมปิด มีการ เปลี่ยนแปลงโยกย้ายถิ่นที่ประกอบอาชีพ ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ขณะนี้คนอีสาน คนไทยเชื้อสายจีน คนใต้ คนเหนือมีอยู่ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มิได้ติดอยู่กับถิ่นที่เกิดอีกต่อไป

5.ในขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่เปิดรับ ซึมซับต่อวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง ความคิดทางการเมือง สังคม ความเสมอภาค เสรีภาพ มองเห็นความเป็น “อารยะ” ของต่างประเทศ

สังคมไทย ทั้งสังคมระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไม่เคยมีปฏิกิริยาต่อต้านกระแสความรู้สึกนึกคิดอย่างรุนแรงต่อปรัชญาตะวันตก ไม่เคยต่อต้านกระแสวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม ความเท่าเทียมกันในโอกาสการศึกษา การทำงาน สิทธิสตรีและเด็ก สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล

ความจริงดูเหมือนจะล้ำหน้าตะวันตกเสียด้วย เช่น สภาวะโลกร้อน ประชาพิจารณ์ องค์กรอิสระ หากแต่เมื่อนำมาปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ แล้วจะได้ผลและประสบความสำเร็จแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มีความคิดที่จะยกฐานะระบบการเมือง ยกระดับของสังคมให้เทียบเท่า “นานาอารยประเทศ” สุนทรพจน์ของผู้หลักผู้ใหญ่ก็มักจะเปรียบเทียบว่าประเทศของเรามีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เทียบเท่า “นานาอารยประเทศ” อยู่เสมอ เมื่อผู้นำหรือสื่อมวลชนต่างประเทศยกย่อง ก็เป็นความภูมิอกภูมิใจให้ยกขึ้นมากล่าวถึงตลอด

การเป็นสังคมเปิดต่อข้อมูลข่าวสาร ทำให้หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแขนง ต่าง ๆ มีสิทธิเสรีภาพกว้างขวางกว่า นักสื่อสารมวลชนในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ไม่มีสื่อมวลชนประเทศใดในภูมิภาคที่สามารถกล่าวโจมตีบริภาษผู้นำประเทศได้รุนแรงเท่ากับสื่อมวลชนไทย แม้แต่ในช่วงเวลาที่มีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะ “ครึ่งใบ” หรือ “เต็มใบ” การปิดกั้นด้วยการใช้อำนาจทั้งจากทางตรงหรือทางอ้อม แม้จะทำได้แต่ก็ไม่สามารถทำได้นานหรือทำได้ตลอดกาล

ในระยะ 30 ปีมานี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการยกเลิกภาษีขาออกรูปแบบต่าง ๆ ของสินค้าภาคการเกษตรหรือต่อเนื่องจากการเกษตร การลดค่าเงินบาททำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าการเกษตรได้ในราคาสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำตาล ไม้ยางพารา และ อื่น ๆ การเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้า การสร้างถนนหนทางเข้าถึงพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ โครงการไฟฟ้าชนบท ประชากรกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีไฟฟ้าใช้ มีระบบชลประทานขนาดย่อย ชลประทานราษฎร์ โครงการ ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในตอนฝนทิ้งช่วง โครงการสาธารณสุขหมู่บ้าน โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลตำบล โครงการสุขภาพดีทั่วหน้า ระบบการศึกษา การรณรงค์ให้คนรู้หนังสือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในชนบทอย่างมหาศาล

ความก้าวหน้าและราคาที่ถูกลงของเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ความทั่วถึงของหนังสือพิมพ์ การรับข่าวสารจากต่างประเทศผ่านดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดทั้งปวงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบทดั้งเดิมหายไป คนชนบทมีความเป็นอยู่ได้รับข้อมูลข่าวสารอันเดียวกันกับคนในเมือง ชีวิตชนบทดั้งเดิมที่แร้นแค้นได้ล่มสลายไปแล้ว แม้ว่านักวิชาการฝ่ายอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจะไม่ชอบก็ตาม

ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องส่งเสริมต่อการพัฒนาการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยได้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จีน บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือแม้แต่อินเดียและศรีลังกา รวมทั้งกัมพูชา แต่การพัฒนาการเมืองของประเทศเหล่านี้กลับไปไกลกว่าเรา อย่างน้อยบทบาทของกองทัพก็ไม่ได้มีมากอย่างของเรา การปฏิวัติรัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ก็ว่างเว้นมานานมากแล้ว แต่ของเรากองทัพยังเข้ามามีบทบาทในขบวนการการเมืองอยู่ การพัฒนาการเมืองจึงหยุดชะงัก ขณะนี้เรามีนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังทั่วประเทศตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นจำนวนมากกว่าประเทศใดในภูมิภาค ยกเว้นพม่าประเทศเดียว

ประเทศของเรามีการพัฒนาการเมืองค่อนข้างช้ามาก และหยุดชะงักเป็นช่วง ๆ มาเรื่อย ๆ ไม่มีความต่อเนื่องเพราะกลุ่มผู้นำของประเทศไม่ได้ให้น้ำหนัก ไม่มีความเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย มุ่งแต่จะมีอารมณ์ในตัวบุคคลที่มาเป็นผู้นำมากกว่าระบบ กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มผู้นำของประเทศ อันได้แก่

1.กลุ่มปัญญาชน ไม่ได้มีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย หลาย ๆ ครั้งลื่นไหลไปตามกระแสที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยปลุกระดมขึ้น จะเห็นได้จากการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งออกมาประกาศจุดยืนอย่างแจ้งชัดว่าสนับสนุนกองทัพให้ทำการปฏิวัติ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งก็ประกาศจุดยืนตรงกันข้ามกับขบวนการประชาธิปไตย ปฏิเสธการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่าประชาชนในต่างจังหวัดขายตัวขายเสียง โง่กว่าพวกตน ไม่ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายครั้งก็ทรยศต่อวิชาชีพของตนเอง ไม่มีจิตใจที่มั่นคงต่อความเชื่อของตนเอง

2.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การอภิปรายในสภาก็ไม่สร้างสรรค์ มุ่งแต่ทำลายฝ่ายตรงกันข้ามด้วยวิธีการโกหก ปั้นน้ำเป็นตัว แทนที่จะแข่งขันกันทำงานเพื่อพัฒนาการเมืองและผลงานทางเศรษฐกิจ กลับได้ดีได้เป็นรัฐบาลเพราะประสบความสำเร็จในการทำลายกันเอง ทำตนเป็นพรรคการเมืองของภูมิภาค ให้ความร่วมมือกับกองทัพในการทำลายขบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา

3.สื่อมวลชน ปกติจะเป็นสถาบันที่ปกป้องรักษาระบบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในช่วงที่ระบบการเมืองเปิดก็กล้าหาญจนเกินขอบเขตถึงขั้นใช้เป็นเครื่องมือทำลายคนอื่น ในช่วงที่ประชาธิปไตยลดน้อยลงหรือไม่มีก็ขาดความกล้าหาญ เปลี่ยนจุดยืน ไม่เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนหรือปัญญาชนที่ยึดมั่นในหลักการและวิถีทางของขบวนการประชาธิปไตย ไม่เป็นสถาบันหลักที่จะพิทักษ์ความถูกต้อง ถ้าจะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย ไม่มีน้ำหนัก ที่สำคัญก็คือไม่ชอบทำงานหนัก ทำการบ้านไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองได้ง่าย เมื่อมีการทำสงครามจิตวิทยาโดยรัฐก็ตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางธุรกิจและทางเศรษฐกิจหรืออารมณ์ส่วนตัว สถานีวิทยุก็ดี หรือสถานีโทรทัศน์หลัก ๆ ถ้าไม่เป็นของรัฐบาลก็เป็นของกองทัพ รายได้จากการโฆษณาก็มาจากกลุ่มธุรกิจ ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมมีความเอนเอียงไปทางอนุรักษนิยม

4.กองทัพ โดยธรรมชาติก็เป็นสถาบันที่มีความคิดทางอนุรักษนิยม แต่กองทัพของเราค่อนข้างจะเกินความพอดี คำนึงถึงแต่ระยะสั้น ไม่มองผลเสียและอันตรายต่อความมั่นคงทางการเมืองในระยะยาว

ขณะนี้ที่น่าห่วงเป็นที่สุด คือ ความเชื่อมั่นของขบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้คนเห็นว่าไม่สามารถเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายได้ พัฒนาตัวเองไปในทางต่ำลง ไม่ใช่สูงขึ้นเทียบเท่า “นานาอารยประเทศ”

น่าห่วงว่าในระยะยาวอาจระเบิดขึ้นได้สักวัน

ประชาชาติธุรกิจ, 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“เส้นใหญ่”…เล็กไป โดย สรกล อดุลยานนท์

19 December 2010 Leave a comment

“เส้นใหญ่”…เล็กไป โดย สรกล อดุลยานนท์

19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2553)

แม้จะเป็นน้องใหม่ของวงการ “ก๊อบปี้ ไรเตอร์” ทางการเมือง แต่สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็สามารถสร้างเสียงฮือฮาขึ้นมาได้

กับฉายาของรัฐบาล “เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว”

ลำพังชื่อนั้นไม่เท่าไร แต่คำอธิบายความสิครับ

…สุดยอด

เขาอธิบายว่า “เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว” นั้นประกอบไปด้วย

“เส้นใหญ่” คือ ได้รับการสนับสนุนจากกระบอกปืนและรถถัง รวมถึงบารมีทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่เป็น “ผัดซีอี๊ว” เนื่องจากมีสีดำ เหมือนข่าวคาวความฉ้อฉลของรัฐบาลชุดนี้ ที่แม้นายอภิสิทธิ์พยายามแสดงตนเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต หากแต่อยู่ร่วมในรัฐบาลเดียวกัน

“เส้นใหญ่” จึงเป็น “สีดำ”

อีกทั้ง “ผัดซีอิ๊ว” ยังประกอบด้วย “คะน้า” และ “ไข่ไก่”

“คะน้า” มีสีเขียวคล้ายกองทัพ ส่วน “สีเหลือง” คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

คลุกเคล้ารวมกันจึงกลายเป็น “เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว”

อธิบายได้เหนือชั้นจริงๆ

เพราะแค่อาหารจานเดียวแต่แสดงถึงองค์ประกอบของรัฐบาลได้ครบถ้วน

ไม่แปลกที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้จัดการรัฐบาลจะไม่ชอบฉายานี้

แต่แปลกใจกับเหตุผลของ “สุเทพ”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความชอบธรรม” ด้วยเหตุผลว่า “อภิสิทธิ์” ได้รับเสียงยกมือจาก ส.ส.ในสภา

หรือยืนยันว่ารัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพราะการประสานงานของ “สุเทพ” เอง

นักข่าวถามว่ายืนยันใช่ไหมว่าได้อำนาจรัฐมาเพราะพรรคประชาธิปัตย์เอง โดยไม่มีพี่เลี้ยงพิเศษจัดให้

“ใช่ ไม่มีใครมาจัดให้”

น่าแปลกนะครับว่าในวันนี้ยังมีคนเชื่อว่ามนุษย์สามารถ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ได้

จำได้ว่าจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ นักข่าวก็ตั้งฉายาในช่วงปีใหม่ทันที

“รัฐบาลเทพประทาน”

“นักข่าวการเมือง” นั้นรู้เรื่อง “อำนาจนอกระบบ” เป็นอย่างดี เพราะนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนเล่าให้ฟังเป็นฉากๆเลยว่านั่งรถไปที่ปั๊มน้ำมันหน้าค่ายก่อนจะเปลี่ยนรถเข้าค่ายอย่างไร

นายทหารคนไหนพูดอะไร

รู้หมด

ฉายา “รัฐบาลเทพประทาน” จึงเกิดขึ้นจาก “นักข่าว” ที่อยู่ในแวดวงข่าวสาร

แต่ “รัฐบาลเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว” นั้นเกิดจาก “คนนอก”

เห็นอย่างไรก็ตั้งฉายาอย่างนั้น

ซึ่งวันนี้อาจจะเชยไปบ้าง เพราะหลังผ่านคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว

แค่ “เส้นใหญ่” คงจะน้อยไป

ยิ่งตอนหลัง “อภิสิทธิ์” เริ่มไม่สนใจกองทัพและกลุ่มพันธมิตร เพราะเชื่อมั่นใน “บารมี” ของตนเอง

“คะน้า” กับ “ไข่ไก่” จึงไม่จำเป็น

ฉายาที่เหมาะสมกับรัฐบาลชุดนี้มากที่สุด คือ รัฐบาลก๋วยเตี๋ยวหลอด

ยังคลุก “สีดำ” เหมือน “ผัดซีอิ๊ว”

แต่ “แป้ง” ที่ห่อไส้นั้นใหญ่กว่า “เส้นใหญ่”

เพราะรัฐบาล “อภิสิทธิ์” วันนี้

ถ้าใช้สำนวนคอนเสิร์ต “บิ๊ก เมาท์เทน” ที่เขาใหญ่

ต้องบอกว่า…

…มันใหญ่มาก

เมื่อข้าพเจ้ามี “อำนาจ” โดย สรกล อดุลยานนท์

12 December 2010 Leave a comment

เมื่อข้าพเจ้ามี “อำนาจ”

โดย สรกล อดุลยานนท์

ไม่รู้ว่าตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการยุบพรรคทั้ง 2 คดี

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รู้สึกอย่างไร

แน่นอนว่าต้อง “ดีใจ” ที่ชนะ

แต่ในส่วนลึกของจิตใจ อยากรู้ว่าคนที่มีพื้นฐานจิตใจดีอย่าง “อภิสิทธิ์” รู้สึก “อาย” บ้างหรือเปล่า??

เหมือนกับตอนที่ตัดสินใจรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ทั้งที่รู้ว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลในกองทัพ

จะบอกว่ากองทัพไม่ได้ยกมือให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ไม่ได้ยกมือให้

จะบอกว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพราะ ส.ส.ในสภายกมือให้

ก็ “ใช่” ไม่มีใครเถียง

แต่ใจย่อมรู้ว่า “ความจริง” เป็นอย่างไร

รู้ว่ามี “อำนาจนอกระบบ” กดดันพรรคร่วมรัฐบาลให้ย้ายขั้วมาอยู่กับ “ประชาธิปัตย์”

แต่ก็ยังยอมรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

เหมือนกับครั้งนี้ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรก็ตาม แต่ “อภิสิทธิ์” ต้องเห็นผังการเงินที่โยกย้ายจากกระเป๋าของ “เมซไซอะ” ไปยังญาติพี่น้องของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์

และรู้ว่า “ประจวบ สังข์ขาว” นั้นใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

“นักเลือกตั้ง” อย่าง “อภิสิทธิ์” ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าเงินก้อนนี้ เขาเอาไปทำอะไรในการเลือกตั้ง

และรู้อยู่กับใจว่าการโยกย้ายเงินแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า ??

หรือเรื่อง “ความตาย” ที่ “ราชประสงค์” ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะกรณี 6 ศพในวัดปทุมวราราม

“อภิสิทธิ์” ยืนยันตลอดว่า “ไม่จริง”

ชี้แจงในสภาว่า กระสุนยิงจากแนวราบ ไม่ใช่จาก “บน” ลง “ล่าง”

วันนี้ “ความจริง” ต่างๆ เริ่มชัดเจนขึ้น รวมทั้ง “ความจริง” ในคุก ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการชุด “คณิต ณ นคร” เอามาเปิดโปง

อยากรู้จริงๆ ว่า เมื่อเห็นข้อมูลเหล่านี้แล้ว “อภิสิทธิ์” รู้สึกอย่างไร

ไม่รู้ว่าวันนี้ “อภิสิทธิ์” ยังจำภาพของการเมืองไทยและระบอบประชาธิปไตยในความใฝ่ฝัน เมื่อวันที่ลาออกจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาลงรับสมัครเลือกตั้งได้หรือเปล่า

ภาพนั้นเมื่อเทียบกับ “ประชาธิปไตย” ในวันนี้

วันที่มีคนชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

ยังเป็น “ประชาธิปไตย” เดียวกันหรือไม่

คำถามเหล่านี้ อยากให้ “อภิสิทธิ์” ตอบจากใจของคนชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ไม่ใช่คนที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่ต้องแบก “ความรับผิดชอบ” ทางการเมืองมากมาย

ไม่ต้องบอกใคร

แต่บอก “ใจ” ของตัวเอง

ถามช้าๆ ชัดๆ และตอบด้วยใจของคนชื่อ “อภิสิทธิ์” ที่ไม่ใส่ “หัวโขน” อะไรเลย

บางทีการเมืองไทยอาจเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เมื่อ “อภิสิทธิ์” นั่งถามตัวเองอย่างจริงจัง

และตอบตัวเองอย่างจริงใจ

ทำไมเราเปลี่ยนไป????

และเมื่อยอมรับว่าเราเปลี่ยนไป

แล้วทำไมเราไม่เปลี่ยนแปลง

นึกถึงวาทะประวัติศาสตร์ของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เมื่อครั้งหมดอำนาจ

“เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ”

ไม่แน่นักอีก 10 ปีต่อจากนี้เราอาจได้ยินวาทะประวัติศาสตร์ใหม่

“เมื่อข้าพเจ้ามีอุดมการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ

…เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีอุดมการณ์”

(ที่มา คอลัมน์ สถานีความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2553)