Archive

Posts Tagged ‘ศาล’

ไม่เหมือนเดิม, สรกล อดุลยานนท์

7 July 2012 1 comment

ไม่เหมือนเดิม, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

เจอนักธุรกิจกี่คน ทุกคนล้วนแต่เบื่อ “การเมือง” กันทั้งสิ้น

ล่าสุด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ก็ย้ำอีกครั้งในงาน 36 ปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ถ้าการเมืองไทยนิ่ง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างมโหฬาร

โดยเฉพาะในวันที่ “อาเซียน” กำลังเป็นซุปเปอร์สตาร์ ที่ทั้ง “จีน” และ “สหรัฐอเมริกา” ต้องเอาใจ

ขนาดการเมืองไทยรบกัน 2-3 ปีติดต่อกัน เศรษฐกิจไทยยังเติบโต

เจอน้ำท่วมใหญ่ก็ยังโต

แล้วคิดดูสิว่าถ้าการเมืองนิ่ง เมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ถามว่านักการเมืองรู้ไหม

รู้ยิ่งกว่ารู้

แต่เพราะรากของความขัดแย้งหยั่งลึกลงในสังคมไทยยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ การเมือง

จึงไม่ “นิ่ง” เสียที

“ความรัก” ทำให้คนตาบอดฉันใด

“ความแค้น” ก็ทำให้จิตใจของคนมืดบอด

ฉันนั้น

คิดถึง “เป้าหมาย” ที่จะทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่สนใจว่า “วิธีการ” นั้นถูกต้องหรือไม่

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนที่สุด

ปรมาจารย์ด้านกฎหมายกันทั้งนั้น

แต่ไม่ละอายใจเลย

กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ

คนเราเวลาพูดในสิ่งที่ไม่เชื่อ ตรรกะมักสับสน

เพราะแทนที่จะคิดถึง “เหตุ” ก่อน “ผล”

กลับปักธงที่ “ผล” แล้วค่อยหา “เหตุ” มาสนับสนุน

พอวิธีคิดผิด คำพูดก็เลยสับสน

แค่สรุปว่าคำว่า “และ” กับ “หรือ” มีความหมายเหมือนกัน

อาจารย์ภาษาไทยทั่วประเทศก็งงแล้ว

หรือคนบางคนลืมไปว่าพูดอะไรไว้ในอดีต ในวันที่ไม่ได้ปักธงไว้ล่วงหน้า

เมื่อคิดอย่าง แต่พูดอย่าง เพราะ “ความแค้น” บังตา

หรือมี “ธง” อยู่ในใจ

ตรรกะจึงสับสน

โบราณเขาจึงบอกว่าคนพูดความจริง

ต่อให้พูด 100 ครั้งก็ยังเหมือนเดิม

แต่คนพูดโกหก พูดกี่ครั้งย่อมไม่เหมือนเดิม

มติชนรายวัน 7 กรกฎาคม 2555, คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12

มติชน, 7 กรกฎาคม 2555

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

5 July 2012 Leave a comment

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเพิ่งได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย” ของ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นจากข้อมูลสถิติหลายอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และอุดมการณ์ซึ่งเกิดในสังคมไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความตึงเครียดและแตกร้าวในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร

ในขณะที่การ “ปรองดอง” กำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงจนถึงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง งานวิจัยของ อ.ธเนศน่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนลงได้บ้าง เพราะ อ.ธเนศกำลังพูดว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาหลายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 โดดๆ หรือเพราะทักษิณ หรือเพราะสถาบันและเครือข่ายใดๆ เท่านั้น แต่มีพื้นฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คลี่คลายมานานกว่าสามทศวรรษ

การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ตามความเข้าใจของผม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยครั้งนี้ แตกต่างจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ใน พ.ศ.2475 นอกจากเหตุผลทางการเมือง, สังคม และอุดมการณ์แล้ว ยังมีการผลักดันของกลุ่มทุนภายในบางกลุ่ม ที่ต้องการให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สนใจตอบสนอง (รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ตอบสนองเช่นกัน และทำความผิดหวังแก่กลุ่มทุนภายใน)

ส่วนหนึ่งของ 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการเติบโตของคนชั้นกลางในเขตเมือง ภายใต้นโยบายพัฒนา ในขณะที่กลุ่มทุนก็ต้องการอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการ “กินหัวคิว” ของนายทหารในกองทัพ

ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบต่อคนระดับบน พลังของคนระดับบนเป็นหลักในการผลักดันให้ต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในสามทศวรรษหลังนี้ กระทบต่อคนเกือบทุกชั้นในสังคมไทย แผ่ไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พลังที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มมาก อย่างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน

คนระดับล่างซึ่งนับวันต้องอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น แม้แต่ที่อยู่รอดในภาคเกษตร ก็เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์เต็มตัว ต้องการความมั่นคงในชีวิตเศรษฐกิจของตนอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชีวิตตามจารีตประเพณีไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทำงานในเมือง ก็พบว่าชีวิตของตนขาดความมั่นคงเช่นกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยากที่แต่ละปัจเจกจะสามารถแสวง หาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

ไม่ต่างจากทุนขนาดใหญ่ที่หากำไรกับการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซ้ำยังมีเอสเอ็มอีที่เริ่มผลิตสินค้าคุณภาพแข่งขันมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ดีในอัตลักษณ์ใหม่ๆ และหลากหลายที่เกิดขึ้นในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อดังๆ ทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ หรือญาติธรรม ที่ต่างถึงขนาดเครื่องนุ่งห่มและทรงผม ไปจนถึงป้าย “เรารักในหลวง” หรือ “แวร์อาร์ยู ทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่ป้ายบริษัท, องค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือกองทัพ) และแน่นอนย่อมรวมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อหลากสี ฯลฯ ด้วย โดยสรุปก็คือ ผู้คนเริ่มมองเห็นตนเองแตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมมองความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่นหรือสังคมแตกต่างไปจากเดิมด้วยเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ “ระบบ” ที่เคยทำงาน ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่อไป ผมขอยกตัวอย่างเพียงกำลังของระบบเดิมที่ใช้ในการบังคับควบคุม (coercive forces) ที่สำคัญคือกองทัพ และคนในกระบวนการยุติธรรม

ดูเผินๆ เหมือนสถาบันเหล่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของบทบาทอาจจะใช่ คือยังคงทำหน้าที่ปกป้องระบบเดิมด้วยอำนาจที่อยู่ในมือ แต่ที่จริงแล้วเกิดความเครียดอย่างมากขึ้นในสถาบันทั้งสองอย่างยิ่ง

การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวที่จะรักษาระบบไว้ให้มั่นคงเหมือนเดิม บอกให้กองทัพรู้ว่า เครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงการเมืองของกองทัพนั้นเริ่มไร้ประสิทธิภาพเสียแล้ว อย่างน้อยต้นทุนก็สูงเสียจนอาจไม่คุ้ม การใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อสลายฝูงชนได้สำเร็จ แต่ยังกลายเป็นปัญหาที่อาจหันมาทิ่มแทงกองทัพได้จนบัดนี้

ภายในกองทัพเองก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น ทหารเกณฑ์มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ยุคสมัยของการผูกผ้าที่แขนเพื่อให้ซ้ายหันขวาหันถูกต้องหมดไปแล้ว ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิตครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่าทหารไม่ได้หันไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ขัดคำสั่งโดยไม่ถูกจับได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ที่เคยมีพลังครอบงำคนทั้งกองทัพได้กำลังถูกสั่นคลอน ปราศจากอำนาจทางอุดมการณ์ ก็เหลือแต่อำนาจที่ต้องอิงกับความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้กองทัพต้องอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือน (โดยเฉพาะนักการเมือง) มากยิ่งขึ้น

คนในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, ตุลาการ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ถูกผู้คนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา, แพ่ง วิธีพิจารณาความ ในวงการตุลาการ เราไม่มีคนที่มี “บารมี” สูงจนเป็นที่เชื่อฟังอย่างกว้างขวาง เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, หรืออดีตผู้พิพากษาเรืองนามอื่นๆ มานานแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกว่า ผู้พิพากษาที่เก่งและดีไม่มีอีกแล้ว แต่บอกว่ามาตรฐานของความเก่งและความดีในวงการผู้พิพากษาได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กัดกร่อนความเชื่อมั่นตนเองในวงการสื่อไปมาก แม้แต่งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก็เริ่มถูกเบียดเบียนจากโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ต้องพูดถึงงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งหดหายลงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว

ในขณะที่คนจำนวนมากซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเต็มตัว ย่อมต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง กำลังหวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจของตนตลอดมา จึงหันไปทุ่มเทความพยายามในอันที่จะไม่ให้ระบบการเมืองเปลี่ยน เช่น คนเหล่านี้กลับไปเป็นนักกษัตริย์นิยมอย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติของความเป็นกษัตริย์นิยมที่เหนียวแน่นนักมาก่อน ทั้งนี้เพราะอยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งสมอที่จะหยุดการก้าวเดินไปข้างหน้า (เช่นหยุดโลกาภิวัตน์ไว้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)

ในภาวะที่มีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้ ข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่นการสร้างกติกาของความขัดแย้งใหม่ ล้วนไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ สิ่งที่น่าคิดก็คือจะหาข้อเสนอระดับกลาง (intermediate measures) ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นที่ยอมรับกันได้หลายฝ่ายได้อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้แก่หลายฝ่าย อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดในสังคมไทยไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องสร้างกลไกและกระบวนการที่จะทำให้คนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” ของความขัดแย้งโดยตรง แต่จะมีผลลดระดับความขัดแย้งลงไปเป็นอันมาก (หากทำได้สำเร็จ) การเมืองจะไม่กระจุกตัวในส่วนกลาง ที่กล่าวกันว่าการเมืองไทยเป็นเกมส์ “กินรวบ” คือใครได้ก็ได้หมด ใครเสียก็เสียหมดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากสันดานของนักการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขในการจัดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกไว้กับส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ใครได้ตำแหน่งบริหารก็จะมีอำนาจล้นฟ้าโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจจะทำให้ไม่มีวันที่ใครจะได้อะไรหมดฝ่ายเดียว เพราะมีคนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ

ประชาชนระดับล่างสามารถเข้ามามีบทบาท หรือกำกับควบคุม การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งในรูปงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร, งบประมาณที่มาจากแหล่งรายได้ของตนเอง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งผู้บริหารที่อยู่ในโอวาทของประชาชน ไม่ใช่โอวาทของพี่ชาย

คนชั้นกลางที่มีการศึกษาย่อมมีอิทธิพลทางด้านความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอยู่แล้ว ใครจะบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งได้ดี หากไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง

คนที่กลัวการรัฐประหาร การกระจายอำนาจจะทำให้ผู้ทำรัฐประหารไม่รู้จะ “ยึด” อะไร เพราะไม่มีศูนย์กลางอะไรให้ยึด แม้แต่สถานีโทรทัศน์ก็ไม่รู้จะยึดช่องไหนดี เพราะไม่มีอำนาจของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด

ความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม-อุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่ม ระหว่างชนชั้น แม้แต่เมื่อชนชั้นนำสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ก็หาได้ทำให้ความขัดแย้งที่แท้จริงหมดไปไม่

ผู้ซึ่งมีหน้าที่คิดเรื่องการ “ปรองดอง” ควรคิดถึงมาตรการระดับกลางเช่นนี้ให้มาก เพื่อจะนำไปสู่การรอมชอมที่แท้จริงของภาคประชาชน ไม่ใช่การเกี้ยเซี้ยที่มุ่งจะรักษาระบบการเมืองให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มติชนรายวัน, 2 กรกฎาคม 2555

ระบอบอำมาตย์ชราธิปไตย, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

21 June 2012 Leave a comment

ระบอบอำมาตย์ชราธิปไตย, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สังคมการเมืองไทยกำลังอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองประเภทหนึ่ง ซึ่งควรจะมีชื่อเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า “อำมาตย์ชราธิปไตย”

อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีในการครอบงำสังคมการเมืองไทยของพลังฝ่ายอำมาตย์ในห้วงระยะเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยปรากฏเป็นรูปแบบและโครงสร้างในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา การครอบงำทางการเมืองของฝ่ายอำมาตย์ในสังคมการเมืองจะดำเนินไปโดยผ่านพลังของสถาบันทหาร ในด้านหนึ่งจะเป็นการใช้กำลังอำนาจในการเข้าแทรกแซงระบบการเมืองด้วยการรัฐประหารที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง และในสภาวะ “ปกติ” ก็ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองผ่านการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งจะมีอำนาจมากไปถึงมากที่สุดผันแปรไปตามแต่ละยุคสมัย

แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและการขยายอิทธิพลของระบอบประชาธิปไตยในระดับโลก ทำให้การครอบงำของพลังฝ่ายอำมาตย์ไม่อาจจะดำเนินไปในรูปแบบเดิมอีกต่อไป เนื่องอาจต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากภายในและแรงกดดันจากนานาอารยประเทศ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะของการครอบงำมาสู่รูปแบบอำมาตย์ชราธิปไตย

โดยอำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการแทรกตัวเข้ามาในการขยายตัวของพลังประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2540 อันปรากฏขึ้นพร้อมกับความตกต่ำทางด้านความชอบธรรมของนักการเมืองจากการเลือกตั้งที่ยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง แม้จะสามารถสร้างอำนาจนำทางการเมืองในระบบได้ จึงเป็นการเปิดทางให้กับพลังอำมาตย์เข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของระบบการเมืองอย่างเป็นทางการในตำแหน่งขององค์กรอิสระที่ได้ถูกริเริ่มจัดตั้งขึ้นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

อำมาตย์ชราธิปไตย มีลักษณะสำคัญที่ผันแปรไปจากอำมาตยาธิปไตย ดังนี้

ประการแรก บุคคลที่จะมาทำหน้าที่จะมิใช่มาจากแวดวงทหารซึ่งเป็นผู้ยึดกุมอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสงครามเช่นเดิม หากจะมาจากแวดวงตุลาการเป็นสำคัญ แม้จะมีได้มีปืน รถถัง กำลังพล แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะมาจากการอ้างความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ซึ่งสามารถจะตีความ/ให้ความหมายต่อกฎหมาย และสามารถทำให้บางฝักบางฝ่ายต้องสูญอำนาจในทางการเมืองไปได้ หากพิจารณาในแง่มุมดังกล่าวนี้ก็อาจไม่มีความแตกต่างไปจากการใช้รถถังในการยึดอำนาจรัฐในเชิงเนื้อหาแต่อย่างใด

อนึ่ง ก่อนที่จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระได้แทบทั้งหมดต้องดำรงตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูงของระบบราชการ ดังนั้น จึงทำให้บุคคลต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีอายุที่สูงหรืออยู่ในวัยชราอันเป็นบั้นปลายของชีวิต หากเปรียบเทียบกับข้าราชการในฝ่ายอื่นๆ ก็เป็นช่วงชีวิตขาลงที่เตรียมตัวเกษียณอายุราชการไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน แต่สำหรับคนกลุ่มนี้อาจเป็นจุดเริ่มในการป่ายปีนเข้าสู่แวดวงอำนาจทางการเมือง

ประการที่สอง การใช้อำนาจจะเข้ามาโดยผ่านองค์กรอิสระอันเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการชี้เป็นชี้ตายในการแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มต่างๆ

รูปแบบของอำมาตย์ชราธิปไตยจึงมิใช่การใช้อำนาจแบบดิบๆ ในทางการเมืองเฉกเช่นเดียวกับการรัฐประหารที่ปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองรองรับ แต่อำมาตย์ชราธิปไตยเป็นการใช้อำนาจที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมือง และในกรณีที่ถูกโต้แย้งว่าไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับก็ต้องพยายามยืนยันว่าเป็นการใช้อำนาจตีความตามบทบัญญัติ (โดยหากไม่เชื่อก็สามารถเปิดอ่านรัฐธรรมนูญภาษาอังกฤษได้)

ประการที่สาม นอกจากการอ้างอิงถึงอำนาจตามกฎหมายแล้ว บรรดาบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยมักอ้างอิงถึงคุณลักษณะความดีความชั่วของบุคคล โดยเน้นย้ำถึงการสนับสนุนต่อการทำความดีและประณามการกระทำความชั่ว แน่นอนว่า การให้คำอธิบายเช่นนี้ย่อมก็สามารถกระทำได้ แต่ปัญหาก็คือว่าบุคคลที่เป็นคนดีก็มักอยู่แค่ในแวดวงของอำมาตย์ชรา และคนชั่วอยู่คือบรรดานักการเมืองเห็นแก่ตัว

สิ่งที่ติดตามมาก็คือหากบุคคลใดเป็นคนชั่วในทัศนะของอำมาตย์แล้วก็จะต้องถูกกำจัดไป ไม่ว่าจะด้วยวิถีใดๆ ก็ตาม จะโดยชอบรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ขอให้เพียงเป้าหมายดี วิธีการจะเป็นอย่างไรก็ไม่สำคัญ เพราะฉะนั้น หากถึงที่สุดแล้วถ้าจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญก็ย่อมกระทำได้เพื่อปราบหมู่มารในสังคม

พร้อมกันไปก็มีการสร้างระบบการตรวจสอบแบบเข้มข้นกับนักการเมือง ขณะที่กับบรรดาอำมาตย์ด้วยกันแล้วไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเกิดขึ้นแต่ประการใด ถึงจะมีเรื่องฉาวโฉ่นานัปการเกิดขึ้น ไม่ว่าการใช้เส้นสายฝากงาน การวินิจคดีแบบไร้หลักวิชา แต่นั่นก็เป็นการใส่ร้ายจากฝ่ายตรงกันข้าม คนดีๆ อย่างพวกเราจะกระทำความชั่วได้อย่างไร คนดีย่อมดีวันยังค่ำไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบแม้แต่น้อย

แน่นอนว่า ปัญหาสำคัญของระบอบอำมาตย์ชราธิปไตยก็เช่นเดียวกันกับระบอบอำมาตยาธิปไตยในรูปแบบเดิมคือ เป็นการแทรกตัวเข้ามาครอบงำสังคมการเมืองไทยโดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือจุดยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด ทั้งในด้านที่มา การตรวจสอบ การควบคุม อำมาตย์ชราสามารถดำเนินการในเรื่องด้านได้ตามแต่ใจต้องการ

อันเป็นปมประเด็นถกเถียงสำคัญว่าสถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อยได้หรือไม่ หรือลำพังเพียงการเป็น “คนดี” ก็สามารถดำรงสถานะอยู่ได้ในสังคมการเมืองไทยได้โดยไม่ต้องถูกแตะต้องแต่อย่างใด

กรุงเทพธุรกิจ, 21 มิถุนายน 2555

ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

9 June 2012 Leave a comment

ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

การวิพากษ์วิจารณ์ต่อมติของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสั่งให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นเหตุการณ์ครั้งแรก

ซึ่งหลายฝ่ายมีท่าทีอย่างรุนแรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามกับจะพบว่าเหตุการณ์ในลักษณะทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

แม้อาจจะให้คำอธิบายว่าการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมาจากทางฝ่ายเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลมีความเห็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นประโยชน์หรือขัดแย้งกับแนวทางของทางเสื้อแดง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปให้ความสนใจมากนัก ดูจะเป็นคำปลอบประโลมที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หากได้ติดตามกรณีการโต้แย้งที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งจะพบว่าปมปัญหาสำคัญประการหนึ่งไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของจุดยืนทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความมีมาตรฐานในเหตุผลของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นับตั้งแต่การวินิจฉัยกรณีคุณสมัคร สุนทรเวช ให้พ้นไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่าเป็นลูกจ้างในการเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าว ซึ่งมีข้อโต้แย้งอย่างกว้างขวางว่าไม่ได้สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่อธิบายถึงลักษณะของลูกจ้างตามกฎหมายจ้างแรงงานอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ผู้มีความรู้เบื้องต้นทางกฎหมาย

การยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถูกให้เหตุผลว่าการยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาถึงความสมบูรณ์ในการยื่นคำร้องอย่างละเอียดลออ ทั้งในแง่ขั้นตอนและผู้ยื่นคำร้องว่าจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถรับคำร้องได้

แต่พอมาถึงกรณียื่นคำร้องร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญกับเปิดกว้าง แม้จนกระทั่งดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีรัฐธรรมนูญให้อำนาจรองรับไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

หรือแม้กระทั่งเรื่องฉาวโฉ่ที่ปรากฏในศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ถูกชี้แจงต่อสาธารณะทั้งที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของสังคมที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก วิธีการในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากนี้ของศาลรัฐธรรมนูญคือ การปิดปากเงียบต่อสื่อมวลชนและปล่อยให้ทุกอย่างค่อยๆ เงียบลงโดยหวังว่าจะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไปในที่สุด

ความเห็นอันเป็นมติของเสียงส่วนใหญ่ในศาลรัฐธรรมนูญกรณีสั่งให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็เช่นกัน ทำให้เกิดคำถามที่ยากจะตอบได้ถึงอำนาจรองรับในทางรัฐธรรมนูญอย่างน้อยใน 3 เรื่องสำคัญ คือ ผู้ยื่นคำร้อง เหตุของการยื่นที่ว่าด้วยการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และการสั่งให้ชะลอการพิจารณาในการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยที่ได้มีการโต้เถียงในประเด็นนี้อย่างกว้างขวางเกิดขึ้นแล้ว ประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นในที่นี้จึงไม่ใช่เรื่องสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น หรือเป็นปัญหาทางด้านความรู้ความสามารถเฉพาะตัวบุคคลของผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในทรรศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่ามีปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญตามที่มีอยู่ในปัจจุบันมีส่วนต่อประเด็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้

ประเด็นสำคัญที่ควรต้องมีการตระหนักและรวมไปถึงการปรับแก้เพื่อจะทำศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีมาตรฐาน สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สาธารณะได้ในทุกครั้งที่มีการวินิจฉัยเกิดขึ้น มีเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างน้อยใน 3 ประเด็น

ประการแรก ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มคนที่แคบและสามารถกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่มาจากสถาบันตุลาการ ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในทางสังคมการเมือง (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความถึงเส้นสายทางการเมือง) จึงจะสามารถทำให้ตัดสินข้อพิพาทต่างๆ ได้บนหลักการและคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมได้อย่างแท้จริง

ประการที่สอง ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ความเชื่อเรื่องตุลาการภิวัฒน์เป็นผลให้มีการเพิ่มอำนาจของสถาบันตุลาการอย่างมาก และหวังว่าจะเป็นสถาบันหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมไทยอันเนื่องมาจากการล้มละลายของสถาบันอื่นๆ จนไม่อาจเป็นฝากผีฝากไข้ไว้ได้

แต่ก็อย่างที่รับรู้กันว่าสถาบันตุลาการก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในทางการเมืองไปด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนถึงขอบเขตของสถาบันตุลาการในทางการเมืองว่าควรจะมีพื้นที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด เฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีบทบาทอย่างสำคัญในทางการเมือง

ประการที่สาม การควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญโดยสังคม อำนาจของสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ มากกว่าการบิดเบี้ยวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีกระบวนการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ยากมาก จะเห็นได้ว่าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงไม่ว่าข้าราชการประจำหรือการเมืองล้วนแต่ไม่สะดุ้งสะเทือนกับกระบวนการนี้มากเท่าไหร่

ต้องคิดถึงกระบวนการในการตรวจสอบหรือการสร้างความรับผิดจากการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญให้บังเกิดขึ้นในความเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการใช้หรือตีความรัฐธรรมนูญได้อย่างตามใจโดยไม่มีหลักกฎหมายที่ชัดเจนรองรับ

ศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อการแก้ไขความขัดแย้งในทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันหากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสร้างความยอมรับถึงเหตุผลของการวินิจฉัยก็ย่อมสร้างปัญหาความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่ควรขบคิดก็คือการพยายามสร้างองค์กรศาลรัฐธรรมนูญให้สามารถปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการช่วยให้สังคมการเมืองไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบ สันติ และด้วยความเป็นธรรมที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับ

กรุงเทพธุรกิจ, 7 มิถุนายน 2555

ตุลาการและความรับผิด, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

8 September 2011 Leave a comment

ตุลาการและความรับผิด

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

องค์กรตุลาการเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นบนฐานความคิดว่าการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจของรัฐออกเป็นฝ่ายต่างๆ จะสามารถทำให้การใช้อำนาจของรัฐดำเนินไปได้โดยมีความฉ้อฉลที่น้อยลงกว่ารวมการใช้อำนาจของรัฐอย่างเด็ดขาดไว้ที่องค์กรใดเพียงองค์กรหนึ่งเท่านั้น

และด้วยสถานะขององค์กรการเมือง ภายใต้การปกครองแบบเสรี/ประชาธิปไตย องค์กรตุลาการก็ย่อมจะต้องมีความรับผิด (accountability) ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในแง่ขององค์กรและในแง่ของส่วนตัว ส่วนจะเป็นความรับผิดประเภทใดก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดพลาด/การทุจริตในระดับองค์กร หรือเป็นเรื่องที่เป็นการกระทำความผิดของบุคคลเพียงคนเดียว

หากได้ดำเนินการใดที่เป็นความผิดด้วยความเห็นชอบขององค์กร ดังการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทใดไปในลักษณะที่ละเมิดต่อกฎระเบียบขององค์กรอย่างชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นความรับผิดร่วมกันของทั้งองค์กรอย่างไม่อาจปฏิเสธ

แต่หากเป็นเรื่องที่เป็นกรณีเฉพาะบุคคล บุคคลอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมรับผิดแต่อย่างใด เช่น ถ้ามีการกล่าวหาว่าตุลาการคนใดคนหนึ่งกระทำผิดด้วยการรับเงิน หรือสินบนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังเป็นคู่ความกัน ถ้าหากสามารถพิสูจน์ว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็เป็นความรับผิดที่ตกอยู่กับบุคคลนั้นเพียงคนเดียว

เหตุที่ต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการมีเหตุผลสำคัญในเบื้องต้นอย่างน้อยสองประการด้วยกัน

ประการแรก ในระบอบเสรีประชาธิปไตย สถาบันทางการเมืองถูกจัดตั้งและมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่ ก็เพราะได้รับอำนาจมาจากประชาชน ประชาชนจึงเป็นอำนาจหลักต่อการสร้างสถาบันการเมืองในสังคมสมัยใหม่

เมื่อได้รับความชอบธรรมมาจากประชาชน การตรวจสอบจึงเป็นคุณลักษณะประการหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันดังกล่าวไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลอยมาด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากฟากฟ้าไกลที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับคนในสังคม และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของประชาชนที่อยู่เหนือสถาบันการเมือง สถาบันการเมืองไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ประการที่สอง บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันทางการเมืองล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เช่นคนทั่วไป การคาดหวังว่าจะให้ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งถูกเข้าใจว่าเป็น “คนดี” แล้ว สามารถดำรงรักษาคุณลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องไปเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นได้

แทนที่จะฝากชะตากรรมของสังคมไว้กับคนดีซึ่งไม่รู้ว่าจะดีแตกขึ้นมาเมื่อใด การสร้างระบบการตรวจสอบขึ้นมานับเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากกว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เข้ามาสู่การดำรงตำแหน่งในสถาบันทางการเมืองก็ล้วนแต่ต้องอยู่ภายใต้ระบบของการตรวจสอบ อันจะทำให้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนดีแบบตั้งใจจริงหรือดีแบบสร้างภาพก็ล้วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบเช่นเดียวกัน

ด้วยกลไกทางการเมืองเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้สังคมมั่นใจได้ว่าบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ไปตามกรอบ และมาตรฐานขององค์กรตามที่ถูกคาดหวังเอาไว้

การตรวจสอบบุคคลในสถาบันทางการเมืองจึงความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันตุลาการ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรนี้ต้องยุติ หรือวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง จึงต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน

ลองนึกถึงว่าในสังคมที่ประชาชนไม่มีความวางใจในสถาบันตุลาการ คำวินิจฉัยที่ปรากฏขึ้นในข้อพิพาทต่างๆ ก็อาจเป็นเพียงการยุติข้อพิพาทในทางกฎหมาย แต่จะไม่สามารถยุติความขัดแย้งในทางสังคม ทั้งอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายความยุ่งยาก ให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น

กลไกและกระบวนการตรวจสอบสถาบันตุลาการ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำลายหรือสั่นคลอนความน่าเชื่อถือขององค์กรลง หากมีข้อกล่าวหาถึงการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น แต่ถ้าทางบุคคลหรือองค์กรสามารถให้คำชี้แจงต่างๆ ได้อย่างสิ้นข้อสงสัย ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นก็ย่อมยุติลงบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและพยานหลักฐาน

ในทางตรงกันข้าม การแก้ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่สถาบันนั้นๆ การตรวจสอบจึงเป็นกลไกสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนี้ หากบุคคลใดที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็ควรต้องมีความรับผิดต่อการไร้ความสามารถของตนด้วยเช่นกัน

ต้องไม่ลืมว่า ผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตุลาการของสังคมไทยมีเงินเดือนและผลตอบแทนอื่น มากกว่าข้าราชการประเภทอื่นหลายเท่าตัว สำหรับตุลาการระดับสูงเฉพาะแค่ค่าน้ำมันรถเดือนละมากกว่า 40,000 บาท ก็มากกว่ารายได้ของข้าราชการส่วนใหญ่ของสังคมไทย

จำนวนเงินทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจากภาษีของประชาชนแทบทั้งสิ้น การเรียกร้องให้มีการใช้ภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในองค์กรต่าง จึงควรเกิดขึ้นกับองค์กรทางการเมืองทุกประเภท ทั้งในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ไม่ใช่จำกัดการตรวจสอบไว้กับข้าราชการหรือนักการเมืองเป็นหลัก

การไม่ยอมรับการตรวจสอบไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างเรื่องความเป็นอิสระของสถาบัน การทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม การกระทำในลักษณะเช่นนี้ต่างหาก ที่เป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร รวมทั้งการนิ่งเฉยต่อข้อครหาที่กระหึ่มก้องไปทั่วทั้งเมือง ก็จะมีผลไม่แตกต่างเช่นเดียวกัน

หากไม่ลืมกันง่ายเกินไป อดีตที่ผ่านมา เคยมีข้อกล่าวหาต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนว่านอกจากทำงานเป็นตุลาการแล้วยังรับจ้างสอนหนังสือ จัดรายการวิทยุ อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่มีคำตอบจากผู้ที่ถูกกล่าวหานอกจากการนิ่งเงียบ แต่ความน่าเชื่อถือของบุคคลดังกล่าว ก็ได้ล้มละลายไปอย่างสิ้นเชิง

การตรวจสอบและความรับผิดของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันทางการเมือง จึงเป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในสังคมที่ยึดแนวทางเสรี/ประชาธิปไตย หากไม่ต้องการการตรวจสอบหรือความรับผิดชอบก็มีเพียงการพ้นไปจากตำแหน่ง หรืออีกทางหนึ่งก็ด้วยการชักนำให้สังคมเดินไปสู่ระบอบการปกครองที่ไม่ใช่เป็นเสรี/ประชาธิปไตยเท่านั้น

กรุงเทพธุรกิจ, 27 ตุลาคม 2553

เมื่อข้าพเจ้ามี “อำนาจ” โดย สรกล อดุลยานนท์

12 December 2010 Leave a comment

เมื่อข้าพเจ้ามี “อำนาจ”

โดย สรกล อดุลยานนท์

ไม่รู้ว่าตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการยุบพรรคทั้ง 2 คดี

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รู้สึกอย่างไร

แน่นอนว่าต้อง “ดีใจ” ที่ชนะ

แต่ในส่วนลึกของจิตใจ อยากรู้ว่าคนที่มีพื้นฐานจิตใจดีอย่าง “อภิสิทธิ์” รู้สึก “อาย” บ้างหรือเปล่า??

เหมือนกับตอนที่ตัดสินใจรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ทั้งที่รู้ว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลในกองทัพ

จะบอกว่ากองทัพไม่ได้ยกมือให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ไม่ได้ยกมือให้

จะบอกว่าเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพราะ ส.ส.ในสภายกมือให้

ก็ “ใช่” ไม่มีใครเถียง

แต่ใจย่อมรู้ว่า “ความจริง” เป็นอย่างไร

รู้ว่ามี “อำนาจนอกระบบ” กดดันพรรคร่วมรัฐบาลให้ย้ายขั้วมาอยู่กับ “ประชาธิปัตย์”

แต่ก็ยังยอมรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

เหมือนกับครั้งนี้ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรก็ตาม แต่ “อภิสิทธิ์” ต้องเห็นผังการเงินที่โยกย้ายจากกระเป๋าของ “เมซไซอะ” ไปยังญาติพี่น้องของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์

และรู้ว่า “ประจวบ สังข์ขาว” นั้นใกล้ชิดสนิทสนมกับคนในพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

“นักเลือกตั้ง” อย่าง “อภิสิทธิ์” ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าเงินก้อนนี้ เขาเอาไปทำอะไรในการเลือกตั้ง

และรู้อยู่กับใจว่าการโยกย้ายเงินแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า ??

หรือเรื่อง “ความตาย” ที่ “ราชประสงค์” ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะกรณี 6 ศพในวัดปทุมวราราม

“อภิสิทธิ์” ยืนยันตลอดว่า “ไม่จริง”

ชี้แจงในสภาว่า กระสุนยิงจากแนวราบ ไม่ใช่จาก “บน” ลง “ล่าง”

วันนี้ “ความจริง” ต่างๆ เริ่มชัดเจนขึ้น รวมทั้ง “ความจริง” ในคุก ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการชุด “คณิต ณ นคร” เอามาเปิดโปง

อยากรู้จริงๆ ว่า เมื่อเห็นข้อมูลเหล่านี้แล้ว “อภิสิทธิ์” รู้สึกอย่างไร

ไม่รู้ว่าวันนี้ “อภิสิทธิ์” ยังจำภาพของการเมืองไทยและระบอบประชาธิปไตยในความใฝ่ฝัน เมื่อวันที่ลาออกจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาลงรับสมัครเลือกตั้งได้หรือเปล่า

ภาพนั้นเมื่อเทียบกับ “ประชาธิปไตย” ในวันนี้

วันที่มีคนชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี

ยังเป็น “ประชาธิปไตย” เดียวกันหรือไม่

คำถามเหล่านี้ อยากให้ “อภิสิทธิ์” ตอบจากใจของคนชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ไม่ใช่คนที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่ต้องแบก “ความรับผิดชอบ” ทางการเมืองมากมาย

ไม่ต้องบอกใคร

แต่บอก “ใจ” ของตัวเอง

ถามช้าๆ ชัดๆ และตอบด้วยใจของคนชื่อ “อภิสิทธิ์” ที่ไม่ใส่ “หัวโขน” อะไรเลย

บางทีการเมืองไทยอาจเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เมื่อ “อภิสิทธิ์” นั่งถามตัวเองอย่างจริงจัง

และตอบตัวเองอย่างจริงใจ

ทำไมเราเปลี่ยนไป????

และเมื่อยอมรับว่าเราเปลี่ยนไป

แล้วทำไมเราไม่เปลี่ยนแปลง

นึกถึงวาทะประวัติศาสตร์ของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส เมื่อครั้งหมดอำนาจ

“เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ”

ไม่แน่นักอีก 10 ปีต่อจากนี้เราอาจได้ยินวาทะประวัติศาสตร์ใหม่

“เมื่อข้าพเจ้ามีอุดมการณ์ ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ

…เมื่อข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีอุดมการณ์”

(ที่มา คอลัมน์ สถานีความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 ธันวาคม 2553)

ไม่เกรงใจตุลาการ-ทหารภิวัตน์ “วรเจตน์” ในคัมภีร์ “นิติรัฐ” รัฐบาล-ประชาธิปไตย ในคำพิพากษาสื่อ

10 January 2010 Leave a comment

ไม่เกรงใจตุลาการ-ทหารภิวัตน์ “วรเจตน์” ในคัมภีร์ “นิติรัฐ” รัฐบาล-ประชาธิปไตย ในคำพิพากษาสื่อ

สัมภาษณ์พิเศษ

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้เปิดศักราชใหม่ด้วยบทวิพากษ์สังคมการเมืองไทยอันเผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่งของ “ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงบทวิพากษ์สื่อมวลชน พ.ศ.นี้ อย่างตรงไปตรงมา !

– ในฐานะที่อาจารย์สอนกฎหมายมหาชน พอใจกับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐ ของรัฐบาลชุดนี้มากน้อยแค่ไหน

1 ปีสำหรับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาแบบ ไม่เกรงใจกัน ผมคิดว่ารัฐบาลมัวแต่ไปเอาใจใส่กับเรื่องคุณทักษิณ (ชินวัตร)มากเกินไป ทำให้รัฐบาลไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็นหลายเรื่อง

ฉะนั้นถามว่า นิติรัฐในรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร ผมมองว่าจริง ๆ ไม่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่ประเด็นเรื่องนิติรัฐในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมคิดว่ายังไม่เข้าสู่ระดับที่ควรจะเป็นหลายเรื่อง อย่างที่บอก (ครับ) รัฐบาลอภิสิทธิ์ไปมุ่งในประเด็นการเมืองเกี่ยวกับการต่อสู้ของขั้วทางการเมืองมาก สำหรับผม ผมจึงมอง ไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในการผลักดันให้หลัก นิติรัฐหยั่งรากลงลึกในสังคมไทย

– รัฐบาลบอกว่าจะเร่งผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ได้ภายในปีนี้ อาจารย์คิดว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่

คำถามนี้ผมอาจจะตอบโดยตรงไม่ได้ (นะ) แต่ผมมองในแง่วิธีคิดทางประชาธิปไตยว่า เรามีปัญหาเรื่องนี้ คือ ทุกวันนี้เวลาเรามองเรื่องประชาธิปไตย เราไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยมันคือเรื่องการจัดสรรแบ่งปันตัวผลประโยชน์ของ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในทางการเมือง

อย่างที่ผมเคยเน้นเสมอว่า ทุกคนมีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น ขณะที่ตัวเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมาย ต้องพยายามจัดสรรตัวกติกา กติกาที่ทำขึ้นต้องเป็นกติกาที่วางอยู่บนความยุติธรรม แล้วให้กระบวนการในการเจรจา การต่อรองในทางผลประโยชน์กันเป็นไปโดยหลักการในทางประชาธิปไตย ที่มีการ ตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก โดยเคารพ เสียงข้างน้อย เพราะนโยบายบางอย่างทำให้บางกลุ่ม บางชนชั้น เสียผลประโยชน์อยู่เหมือนกันในบางเรื่อง

แต่ในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด มันผ่านกระบวนการตัดสินใจแบบนั้นมันก็ต้องยุติและเคารพกัน แต่ปัญหาคือประเทศเรายังไม่ได้มีสภาพที่เป็นประชาธิปไตย เราก็เจอแบบนี้ร่ำไป

ถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยมั้ย ผมว่าในทางคุณค่า เรามีปัญหามากว่าเป็นหรือเปล่า ยกตัวอย่างว่าในสมัยกลาง ศาสนจักรสอนว่าประชาชนหรือคน มีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด มนุษย์สูญเสียธรรมชาติที่ดี มนุษย์จึงไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ หนทางที่จะรอดพ้นจากบาปก็คือ การปฏิบัติตามพระคัมภีร์ไบเบิล เชื่อในพระเจ้า และเชื่อในคำสั่งสอนของโบสถ์ โดยอาศัยวิธีการกล่อมเกลา ลดทอนตัวคุณค่าของคนลงในลักษณะแบบนี้ โบสถ์ในยุคกลางก็สามารถกระทำการหลายอย่างได้ โดยอาศัยความเชื่อถือศรัทธาเป็นตัวนำ

ภายใต้ลักษณะแบบนี้ โบสถ์ก็มีผลประโยชน์อันมหาศาล ในสมัยกลาง โบสถ์สามารถขายใบบุญไถ่บาปได้ เอาเงินมาได้ แล้วเงินที่ได้มาส่วนหนึ่ง โบสถ์ก็นำไปใช้ในการทำสงคราม แต่ภายใต้วิธีคิดที่บอกว่ามนุษย์มีบาป มีแต่บรรดานักบวชเท่านั้นที่ปลดเปลื้องจากบาปแล้ว เป็นตัวแทน ของพระเจ้าบนพื้นพิภพ แล้วก็เกิดสภาพแบบกดคน

จนยุโรปผ่านยุคกลางมาได้ เข้าสู่ยุค แสงสว่างในทางปัญญา เขาจึงรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ขึ้นมา การแสดงความคิดในเรื่องต่าง ๆ ก็ตามมา

ซึ่งผมรู้สึกว่าคุณค่าอันหนึ่งของบ้านเรา บางทีอาจจะเทียบเคียงได้เหมือนกับสมัยกลาง บ้านเราทุกวันนี้กำลังจะบอกว่า ประชาชนเรายังไร้การศึกษา ตัดสินใจทาง การเมืองไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องมีคนที่มีการศึกษา คนชนชั้นนำ เป็นคนตัดสินใจแทน

ถ้าเกิดมีการเลือกตั้ง ก็บอกว่าประชาชนถูกซื้อ เมื่อประชาชนถูกซื้อ ก็ไม่ต้องเคารพการเลือกตั้งกัน เพราะซื้อเสียงกันเข้ามา ก็บอกว่าอย่าเลือกตั้งเลย ให้ผมแล้วกัน เป็นคนจัดการเอง ถ้าเรามีการถูกปลูกฝังความคิดแบบนี้ ความคิดดูถูกคน มันคือการทำลายคุณค่ารากฐานทางประชาธิปไตย

ในทางวิชาการ ผมพูดหลายครั้งแล้วว่า เราไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังเลย ถึงการเลือกตั้งในช่วงหลังว่าพฤติกรรมของคนในการเลือกตั้ง มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การซื้อเสียงยังเป็นแบบเดิมหรือยังมีการซื้อเสียงอยู่ แต่ว่า ผลกระทบที่มีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ผมเชื่อว่าการซื้อเสียงแม้หากจะยังมีอยู่ แต่มันอาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว เพราะผลการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งหลัง ไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้บริบททางการเมืองที่ แตกต่างกัน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นการเลือกตั้งตามกติกาอันใหม่ ซึ่งถูกทำขึ้นโดย ส.ส.ร. ที่เชื่อมโยงหรือมีที่มากับ คมช. ซึ่งเป็นคนเข้ายึดอำนาจการปกครองล้มรัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาลของ คมช. ภายใต้ กกต. ซึ่งเป็น กกต.อีกชุดหนึ่งแทน กกต.ชุดเดิม แต่เรา ก็เห็นว่าเสียงข้างมากยังไม่เปลี่ยน

เราจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร อธิบายว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังโง่อยู่ โง่อยู่เพียงเพราะว่าไม่ได้เลือกพรรคการเมืองอย่างที่คนชั้นกลางหรือ คนชั้นสูงส่วนหนึ่งต้องการให้เป็นเสียงข้างมากในสภากระนั้นหรือ

ผมถึงบอกว่า ปัญหาเรื่องทุจริตมีอยู่ ทุก ๆ แห่ง ก็แก้กันไปในทางระบบ แต่ของเราแก้กันโดยพยายามบอกว่า อันนั้นทุจริต (นะ ) ฉะนั้นคุณเลิกเลย คุณล้ม ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เอาคณะทหารเข้ามายึดอำนาจ แล้วก็บอกว่าเอาคนดี คนทรงคุณธรรมต่าง ๆ เข้ามาจัดการ แล้วคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แล้วแก้ได้ที่ไหน (ครับ) ก็อย่างที่เห็น

เพราะคนที่เข้ามาก็ผูกพันไปด้วย ผลประโยชน์เหมือนกันในทางการเมือง ผมถึงบอกว่าทุกคนมีผลประโยชน์ในทางการเมืองเหมือนกัน ฉะนั้นจึงต้องเอาเรื่องนี้มาพูดกันบนโต๊ะ

– พูดกันว่าหากรัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยอาจชนะเลือกตั้งอยู่ดี ถึงตอนนั้นเสื้อเหลืองก็อาจจะออกมาคัดค้านอีกก็เป็นได้ สังคมไทยยังมีทางออกจากวิกฤตอยู่หรือเปล่า

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ไม่มีทางออก (ครับ) ตราบเท่าที่เรายังไม่กลับไปสู่คุณค่าพื้นฐานในทางประชาธิปไตย ก็มีคนบอกว่าเวลากลับไปสู่พื้นฐานประชาธิปไตย ในเวลานี้คุณทักษิณชนะ ก็เลยไม่กลับ คือยังไงก็มองไม่พ้นคุณทักษิณอยู่ดี

ถ้าไปมองเรื่องเฉพาะหน้าก็ไม่จบครับ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะยังไม่ได้กลับเข้าสู่หลักการ คือมีการมองว่าหลักการพื้นฐานยังไม่ต้องเอามาใช้ แช่ไว้ชั่วคราวก่อน แต่ผมถามว่าแล้วคุณมีความชอบธรรมยังไง คุณเป็นเทวดามาจากไหนในการที่คุณจะเบรกหลักการที่จะต้องใช้ทั่วไปกับคน ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน

ผมมองว่าความขัดแย้งที่ผ่านมา ใช้กันมากี่วิธีแล้ว (ล่ะ) ทั้งตุลาการภิวัตน์ ทหารภิวัตน์ ออกมายึดอำนาจก็แล้ว ถามว่าทำไมความขัดแย้งมันยังอยู่ นอกจากยังอยู่แล้ว มันยังกัดเซาะสถาบันสำคัญ ๆ อีกด้วย วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นหนักขึ้นไปกว่าเดิม (นะ) นั่นแปลว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ผิดใช่มั้ย แต่ว่าไม่ยอมรับกันว่ามันผิด เพราะกลัวว่าถ้าใช้วิธีการที่มันถูกต้อง จะมีคนได้ ผลประโยชน์แล้วก็รับกันไม่ได้

– แต่รัฐบาลบอกว่าจะเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการอย่างเต็มตัว เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน

จริง ๆ รัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จมีฐานมาจากประชาธิปไตย แต่เมื่อคุณยังไม่เป็นประชาธิปไตย คุณเลิกฝันเถอะ (ครับ) ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการมันไม่ได้ เพราะพัฒนาการในทางระบบที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่พูดถึงการหักเหไปเป็น รัฐคอมมิวนิสต์ มันก็คือจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นรัฐที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ แล้วมาสู่รัฐที่เป็นประชาธิปไตย ก็คือ พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจในทางกฎหมาย หรือไม่ก็เป็นสาธารณรัฐไปเลย 2 รูปแบบ

พอเป็นประชาธิปไตย ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการแข่งขันกันโดยพลังเศรษฐกิจที่มันไม่เท่ากัน เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน รัฐก็จะต้องเข้ามาดูการแข่งขันของเอกชน การทำกฎหมายแรงงานสวัสดิการสังคม มันจะเข้ามา แต่มาบนพื้นฐานของพัฒนาการที่ต่อไปจากเรื่องของประชาธิปไตย ก็เป็นรัฐประชาธิปไตย แล้วก็สวัสดิการสังคม มันจะเชื่อมต่อกัน

แต่คำถามคือเราเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือเปล่า เรารับคุณค่าตรงนี้แล้วหรือยังในสังคมนี้ เราเชื่อว่าประชาชนของไทยมีสภาพของความเป็นพลเมือง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้วหรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่คิดอย่างนั้น ยังคิดว่าคะแนนเสียงของ คนขับรถแท็กซี่ คนขายก๋วยเตี๋ยว มีคุณค่าน้อยกว่ามหาบัณฑิต ก็จบครับ

นี่ไม่ได้พูดในทางอุดมการณ์ (นะ) แต่พูดในทางความเป็นจริง เพราะผมมองว่าประชาธิปไตยคือเรื่องของผลประโยชน์ มีคนบอกว่าการเลือกนักการเมืองก็ต้องเลือกคนดีมีคุณธรรมต่าง ๆ ถามว่าคุณจะดูยังไง ดูจากว่าคนคนหนึ่งปรากฏตัวในสื่อบ่อย พูดจาดูดีหน่อย ถือว่าคนนี้มีคุณธรรมเหรอ ดูแค่นี้เหรอ

หรือเป็นคนมีชื่อเสียงของสังคม ขยันออกสื่อ พูดจาเรื่องคุณธรรม ทำตัวเทศนาสั่งสอนคนบ้าง แล้วเป็นคนดี มีคุณธรรม ชาวบ้านอาจจะไม่ได้ดูแบบนั้นนะครับ แต่เขาดูว่าคุณเสนออะไร ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่สุดในทางประชาธิปไตย (นะ) คุณมี นโยบายยังไงที่จะมาจัดการกับชีวิตของเขา คุณทำอะไร เขาก็เลือก ถ้าคุณทำได้เขาก็เลือกคุณต่อ คุณทำไม่ได้เขาก็เลิกเลือกไปเลือกคนอื่นแทน

ในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงเสรีภาพในทางความคิดเห็น โดยที่ ไม่บอกว่าใครเห็นต่างจากคุณเป็นคนเลว หรือไปสนับสนุนคนเลว เหมือนกับที่ทำ ๆ กันอยู่ในสังคมไทยในเวลานี้ แล้วขอโทษ (นะ) ก็ปรากฏในสื่อกระแสหลักด้วย

– ทุกวันนี้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้วหรือยัง

ยัง (ครับ) ผมเห็นว่าไม่เลย ขอโทษนะ ที่ผมพูดตรงไปตรงมา คือเดี๋ยวนี้เวลาเสนอข่าว ข้อเท็จจริง หรือ fact ปะปนกับความเห็นไปหมดแล้วในสื่อ วิธีการเขียนข่าวหรือการรายงานข่าว ลองสังเกตดูให้ดีสิครับไม่ได้พูด fact อย่างเดียว แต่ใส่ทัศนคติของตัวลงไปในเนื้อข่าว ซึ่งทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมบอกว่ามันผิดแล้วที่บอกว่าสื่อต้องเลือกข้าง ผิดตั้งแต่ต้น

ผมแปลกใจมากว่าในวงการวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ อยู่กันได้ยังไง (ครับ) อาจจะมีคนบอกว่า วงการกฎหมายก็เหมือนกันนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ถามว่า เฮ้ย ! มีเหรอประเภทสื่อเลือกข้าง ไม่ใช่ว่าสื่อเสนอข้อเท็จจริงหรือครับ ส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นก็แยกไป แต่ fact คือ fact บิด fact ไม่ได้ สื่อเลือกข้าง เท่าที่ผมเห็นชัดก็คือ สื่อของรัฐบาลในยุคนาซีเรืองอำนาจในเยอรมันนะ

โอเค ถ้าบอกว่าคุณเป็นสื่อเลือกข้าง ของคุณถูกต้อง แต่อีกคนบอกของคุณไม่ถูก (อ่ะ) ทำยังไงล่ะ ถามว่าอย่างนี้ก็เป็น สื่อไม่ได้แล้วสิ เพราะว่าคุณเป็นผู้พิพากษาไปแล้วว่าอะไรถูก อะไรมันผิด แทนที่คุณจะนำเสนอ fact ทุกวันนี้ จึงมีสื่อ ที่ไม่ใช่สื่ออยู่มากมาย แล้วก็ indoctrinate คน

ขอโทษด้วย ถ้าผมไม่ได้ไปตามกระแสของสื่อ เพราะไม่จำเป็นที่ผมต้องเห็นด้วย โอเค ถ้าคุณเป็นคอลัมนิสต์ คุณเขียน ความเห็นของคุณ เขียนไปได้เลย แต่ข่าวคุณต้องเป็น fact คุณกั๊กไม่ได้

แต่แน่นอน โทนในการนำเสนอพอถึง จุดหนึ่ง ก็ต้องมีใจที่เป็นธรรมอยู่ (นะ) แต่ปัญหาคือใจที่เป็นธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อคุณกระโดดลงไปตะลุมบอนเป็นฝ่ายทางการเมือง กระโดดลงไปเพื่อจะจัดการบางเรื่องให้มันสิ้นซากไป มันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะคุณได้กลายไปเป็นคู่ต่อสู้ คุณลงไปเป็นผู้ร่วมต่อสู้

สื่อบางท่านอย่าให้ผมเอ่ยเลย ผิดเพี้ยนไปถึงขั้นละเมิดจรรยาบรรณของตัว เขียนอะไรที่รุนแรง แม้กระทั่งเรียกร้องให้คนฆ่ากันได้ ทำได้ยังไง แล้วไม่มีการพูดประณามอะไรกันเลย ก็ยังทำ

ทุกวันนี้สื่อเลยกลายเป็นเครื่องมือ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขึ้นทุกที ๆ เพราะคิดว่าตัวเองคือผู้ผูกขาดความดีงาม เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ไม่ได้มองว่าบริบททางการเมืองมันมีมุมมอง มีข้อเท็จจริงจำนวนมาก เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่

แล้วผมถามว่าถ้าคุณเป็นอย่างนี้จะมาเรียกร้องให้สังคมกลับสู่ความสมานฉันท์อะไร ประชาธิปไตยไม่ต้องการความสมานฉันท์หรอก แต่ต้องการ ความเห็นที่สามารถแสดงได้โดยเสรี และเคารพความคิดความเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ประณามคนที่เห็นต่างว่าเป็นคนเลว เป็นคนทรยศ เป็นคนขายชาติ นี่คือหน้าที่สื่อที่ต้องทำ

ถามว่าสื่อทำหน้าที่ตรงนี้แล้วหรือยัง ผมว่าสื่อมวลชนรู้ดีกว่าผม แต่ผมประเมินว่า ในช่วงที่ผ่านมาสื่อลงไปเล่น แล้วไม่ต้องพูดหรอกว่า กระบวนการพวกนี้ก็มีการเอื้อผลประโยชน์กัน

ประชาชาติธุรกิจ, 07 มกราคม 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4173


อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ไม่ยาวเท่าไหร่ แต่สั้นๆตรงประเด็น และโดนครับ
ผมยังมองไม่เห็นว่า ในเชิงหลักการ จะเอาอะไรมาเถียงได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ผมไฮไลต์เอาไว้

“อมร-วรเจตน์” วิวาทะรอบใหม่

16 June 2009 Leave a comment

“อมร-วรเจตน์” วิวาทะรอบใหม่

ในช่วงเดือนพฤษภาคม ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนรุ่นเดอะ เขียนบทความเรื่อง คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.pub-law.net บางตอนได้พาดพิง ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังพักร้อนอยู่ Passau ประเทศเยอรมนี

ต้นมิถุนายน นักกฎหมายหนุ่มเขียนจดหมายชี้แจงจากเยอรมนี อันเป็นเสมือนการเปิดวิวาทะทางวิชาการอีกรอบ หลังจากเคยเปิดศึกวิวาทะคดีปราสาท เขาพระวิหารมาแล้ว

ก่อนหน้านี้ ดร.อมรมักวิเคราะห์ว่า การเมืองไทยที่ล้าหลัง เป็นเพราะชนชั้นนำและนักวิชาการไทยไม่มีคุณภาพ และที่สำคัญเวลานี้บ้านเราไม่มี statesman

ดร.อมรมองปรากฏการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า เท่าที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรของชาติ โดย “เผด็จการทหาร” มีน้อยกว่า “เผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”

ดร.วรเจตน์ชี้แจงว่า “นี่หรือคือสังคมวิทยาของท่านผู้เขียนบทความ บทสรุปนี้ท่านสรุปจากอะไร มีข้อมูลในเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือสนับสนุนความเห็นของท่านอย่างไร ถ้าไม่มี นั่นก็เป็นเพียงความเชื่อของท่านเท่านั้น”

นักกฎหมาย หนุ่มชี้ว่า การวิเคราะห์สภาพปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะต้องนำสถาบันและกลุ่ม ผลประโยชน์ทางการเมืองทุกกลุ่มทั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและที่ไม่ปรากฏในรัฐ ธรรมนูญมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อพิจารณาว่าสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร

การกระจายผลประโยชน์ในทางการเมืองบนพื้นฐานของกติกา ประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่การวิเคราะห์เฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้หากจะวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยให้เป็นวิชาการจริงๆ แล้ว ผู้วิเคราะห์จะต้องวิเคราะห์ ปฏิสัมพันธ์ในทางการเมืองของสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านี้ ทั้งหมด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรี นักการเมืองและพรรคการเมือง บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กร อิสระ ทหาร ข้าราชการ พนักงานของรัฐ รวมตลอดถึงนักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ

เพราะหากการวิเคราะห์ไม่ได้กระทำอย่างรอบด้านแล้ว ก็อาจนำไปสู่บทสรุป ที่ผิดพลาดได้ เช่น การเปรียบเทียบ ระบอบนาซีเยอรมันกับการปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ “หยาบ” อย่างยิ่ง

เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ บรรทัดฐานทางกฎหมายและสังคม การดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมือง ทัศนคติ อารมณ์และความรู้สึกของคนในชาติ ฯลฯ การปกครองทั้ง 2 กรณีนี้ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย

เมื่อไม่ได้ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของระบอบนาซีเยอรมันให้ถ่องแท้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ท่านผู้เขียนบทความเพียงแค่เห็นว่าฮิตเลอร์เข้าสู่ อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งเหมือนกัน ก็กระโจนไปสู่บทสรุปอย่างง่ายดายว่าผลของการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะต้องออกมาในลักษณะที่เป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองเหมือนกัน และขยายเป็นความเชื่อตามๆ กันไป การยกเอาระบอบนาซีเยอรมันขึ้นมาเปรียบเทียบจึงไม่สามารถจะเข้าใจเป็นอย่าง อื่นได้

นอกจากผู้ที่เปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหยิบ “หน้ากาก” ทางวิชาการ ขึ้นมาสวม เพื่อตอบสนอง “ธง” หรือ “การเคลื่อนไหว” ทางการเมืองของตนเท่านั้น

วิวาทะระหว่างกูรูใหญ่กับนักกฎหมายหนุ่ม ยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกองเชียร์ของทั้ง 2 ฝ่าย แฟนพันธุ์แท้ของ ดร.วรเจตน์ทั้งในและต่างประเทศต่างยกนิ้วให้ผู้นำทางวิชาการรุ่นใหม่ ขณะที่กองเชียร์ของ ดร.อมร ในกระบวนการตุลาการภิวัตน์ก็มีไม่ใช่น้อย

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4114


เป็นวิวาทะฉบับย่อ ที่ประชาชาติเอามาให้ลงอ่านกันสั้นๆ ตัดทอนมา
ฉบับเต็มๆ เข้าไปอ่านได้ด้านล่างนี้เลย

“จดหมายชี้แจง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!753.entry

“จดหมายชี้แจง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

10 June 2009 Leave a comment

“จดหมายชี้แจง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552
โดย
www.pub-law.net (http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=1366)

Passau, Germany

3 มิถุนายน 2552

เรื่อง ชี้แจงการถูกพาดพิงจากบทความที่เผยแพร่ใน www.pub-law.net
เรียน ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ บรรณาธิการเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552 และวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย (www.pub-law.net) ได้เผยแพร่บทความของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทร- สมบูรณ์ เรื่อง คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 บทความทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม 2552 มีข้อความที่พาดพิงถึงผม โดยเหตุที่ข้อความที่พาดพิงถึงผมนั้นมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงต่อความจริง หากปล่อยไว้ ผู้อ่านที่ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นมาอาจเข้าใจผิดได้ จึงจำเป็นที่ผมต้องเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน อนึ่งโดยที่บทความของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ มีความคลาดเคลื่อนในทางวิชาการอยู่ด้วย ผมจึงขอถือโอกาสนี้อธิบายความไปในคราวเดียวกัน ดังนี้

1. ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ท่านผู้เขียนบทความ”) ได้เขียนบทความว่าการที่คนไทยมองไม่เห็นปัญหาที่ท่านเรียกว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” นั้นเป็นเพราะความล้มเหลวของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา โดยท่านเห็นว่าข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวดังกล่าวสามารถยืน ยันได้จากบทความของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์จำนวน 5 ท่านของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในบทความที่อ้างถึงข้างต้น ท่านได้เขียนดังนี้ “ท่าน คณาจารย์ฯได้กล่าวไว้ในบทความของท่านว่า ท่าน(คณาจารย์)เห็นว่า ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ; ทั้งที่ตามความเป็นจริง (reality) แล้ว ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ลายลักษณ์อักษร) ของประเทศไทย ระบบสถาบันการเมืองของเรา ไม่มีดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรบริหารแต่อย่างใด”

บทความที่ท่านผู้เขียนบทความกล่าวถึงนี้ ที่จริงแล้ว คือ แถลงการณ์ของอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 5 ท่าน ซึ่งออกไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ รับคำฟ้องกรณีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการขอ ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไว้พิจารณาและกำหนดมาตรการหรือวิธีการ คุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยผู้เขียนเป็นหนึ่งในห้าอาจารย์ที่ออกแถลงการณ์ดังกล่าว ข้อความในแถลงการณ์ที่ท่านผู้เขียนบทความได้กล่าวพาดพิงถึงนั้นปรากฏอยู่ใน หัวข้อที่ 16 ของแถลงการณ์ ความว่า “คณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งห้าดังมีรายนามตอนท้าย ตระหนักในความสำคัญของหลักการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทาง ปกครองโดยองค์กรตุลาการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความห่วงใยในดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ว่าอาจจะเสียไปโดยการที่ศาลปกครองในคดีนี้เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจ ทางบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางในทาง ประชาธิปไตยอยู่แล้ว อีกทั้งคำสั่งในคดีนี้ยังขัดแย้งกับแนวทางที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวางไว้ใน คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 178/2550 ที่คณาจารย์เห็นว่าสอดคล้องกับหลักนิติรัฐอีกด้วย จึงขอแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อคำสั่งของศาลปกครองกลางในคดีนี้ผ่าน แถลงการณ์ฉบับนี้”

ท่านบรรณาธิการคงจะเห็นว่าในแถลงการณ์ฉบับนี้ไม่ปรากฏข้อความตอนใดของ แถลงการณ์ ที่คณาจารย์ทั้งห้าเขียนดังที่ท่านผู้เขียนบทความได้สรุปไว้ ในทางความเป็นจริงดุลยภาพแห่งอำนาจทั้งสามจะมีหรือไม่ จะมีมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นหนึ่งที่อาจจะอภิปรายในมิติและแง่มุมต่างๆได้มากมาย แต่ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในทางกฎหมายในคดีนี้มีอยู่ว่าการที่ศาลปกครอง เข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดการใช้อำนาจบริหารโดยแท้ของคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นการ วินิจฉัยชี้ขาดคดีในเขตอำนาจของตนหรือไม่ การรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้นต้องด้วยเงื่อนไขที่ปรากฏตามพระราช บัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่ หากใครคนใดคนหนึ่งสรุปเอาเองง่ายๆว่า ไม่มีดุลยภาพดังกล่าว จึงไม่ต้องสนใจหลักการพื้นฐานในทางกฎหมายเสียแล้ว เราจะเรียนและสอนวิชานิติศาสตร์กันอย่างไร หากท่านผู้เขียนบทความเห็นว่าในทางความเป็นจริงดุลยภาพขององค์กรนิติบัญญัติ และองค์กรบริหารไม่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะโต้แย้งได้อีกในหลายแง่มุม โดยเฉพาะในแง่พัฒนาการของการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะถ้าใช้ตรรกะของท่านผู้เขียนบทความแล้ว โดยเหตุที่คณะรัฐมนตรีจะบริหารราชการแผ่นดินได้ก็โดยความไว้วางใจของสภาผู้ แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายข้างมากย่อมเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็จะไม่มีวันมีดุลยภาพในความเข้าใจของท่านได้ ) ก็จะต้องเสนอว่าจะทำให้ดุลยภาพตลอดจนการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรทั้งสองเป็นไป อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างไร แต่จะพาลเอาเหตุนี้ไปทำลายหลักการในทางนิติศาสตร์ที่จะต้องใช้วินิจฉัยชี้ ขาดคดีไม่ได้ สำหรับเรื่องนี้อันที่จริงอาจชี้ให้ท่านผู้เขียนบทความแยกแยะมิติของกฎหมาย ในแง่ของบรรทัดฐานที่กำหนดสิ่งที่ควรจะต้องเป็น (Sollen) กับกฎหมายในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางข้อเท็จจริง ระหว่างนิติศาสตร์โดยแท้ (Rechtsdogmatik; Legal dogmatics) กับสังคมวิทยากฎหมาย (Rechtssoziologie; Sociology of law) ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Verfassungsrecht; Constitutional law) กับสังคมวิทยาการเมือง (Politische Soziologie; Political sociology)ได้อีก แต่จะทำให้จดหมายฉบับนี้ยาวเกินไป ในชั้นต้นนี้ผมต้องการชี้แจงให้ท่านบรรณาธิการเห็นการสรุปความที่คลาด เคลื่อนและการกล่าวหาห้าอาจารย์อย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น

อนึ่ง ในบทความเกี่ยวกับคดีประสาทพระวิหารซึ่งผมและท่านผู้เขียนบทความได้โต้แย้งกัน และเคยเผยแพร่ในเว็บไซต์แห่งนี้มาแล้วนั้น ผมได้อธิบายโต้แย้งประเด็นทางกฎหมายกับท่านผู้เขียนบทความหลายประเด็น แต่ไม่ปรากฏว่าท่านผู้เขียนบทความได้อธิบายประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นอำนาจฟ้องคดี ประเด็นการวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดีในชั้นของการคุ้มครองชั่วคราว ฯลฯ เลย

2. ท่านผู้เขียนบทความได้อ้างถึงคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 5 ท่านเป็นตัวอย่าง (ตามความเห็นของท่าน) ว่าไม่รู้จักระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอาจารย์ที่เรียนกฎหมายและจบปริญญาเอกทางกฎหมายจากเยอรมนี ซึ่งในบรรดาอาจารย์ทั้งห้านั้น มีผมเพียงคนเดียวที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากเยอรมนี จึงอาจอนุมานได้ว่าท่านผู้เขียนบทความมุ่งหมายถึงตัวผม ท่านผู้เขียนบทความได้ยกตัวอย่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่บังคับให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคการเมือง และให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระตามมโนธรรมสำนึกของตน เป็นเครื่องสนับสนุนความเห็นของท่าน พร้อมกับกล่าวว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษากฎหมายจากประเทศเยอรมนีควรจะต้องรู้ เรื่องนี้ ผมขอเรียนท่านบรรณาธิการว่าผมทราบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไม่บังคับให้สมาชิก สภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองในระบบกฎหมายของเยอรมันดีพอที่จะทำให้ทราบ ว่าท่านผู้เขียนบทความมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวนี้ ท่านผู้เขียนบทความเข้าใจว่าบทบัญญัติในกฎหมายพื้นฐาน (Grundgesetz; Basic Law ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญเยอรมัน) ที่กำหนดอย่างชัดแจ้งให้ ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตนนั้นเป็น มาตรการที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีเขียนขึ้น เพราะเกรงว่าจะเกิดระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองซ้ำอีก (กล่าวคือจะซ้ำรอยฮิตเลอร์ที่ขึ้นครองอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง นำรัฐเยอรมันไปสู่ความเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จและพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ สองในที่สุด) อันที่จริงแล้วบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวมีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ก่อนที่ฮิตเลอร์จะขึ้นมามีอำนาจในเยอรมัน หาใช่เป็นบทบัญญัติที่เป็นนวัตกรรมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ (กฎหมายพื้นฐาน) ค.ศ. 1949 ไม่ และในช่วงที่ฮิตเลอร์กำลังจะขึ้นมามีอำนาจนั้น บทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวก็ใช้บังคับอยู่ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ ส.ส.เป็นผู้แทนของปวงชน ไม่ต้องผูกพันกับอาณัติหรือคำสั่งของผู้ใดนั้น ปรากฏขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1871 ซึ่งเป็นปีที่บิสมาร์คได้รวมอาณาจักรเยอรมันสำเร็จ (ในทางประวัติศาสตร์กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวความคิดดังกล่าวนี้สืบสาวกลับไปได้ถึงรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ.1791 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส) ท่านบรรณาธิการอาจตรวจสอบเรื่องนี้ได้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรเยอรมัน ค.ศ.1871 หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับถัดมาที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญไวมาร์ (ค.ศ.1919) ก็บัญญัติข้อความไว้ทำนองเดียวกันในมาตรา 21 และได้เพิ่มความขึ้นมาอีกว่า ส.ส.พึงจำนนต่อมโนธรรมสำนึกของตนเท่านั้น บทบัญญัติทำนองนี้ ปรากฏขึ้นอีกครั้งในกฎหมายพื้นฐานหรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งประกาศใช้ เมื่อ ค.ศ. 1949 (และเพิ่งมีการเฉลิมฉลองครบรอบหกสิบปีแห่งการประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้) ในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง หลักการพื้นฐานของบทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญสามประการ คือ 1. ส.ส. ต้องเป็นผู้แทนปวงชน (ไม่ใช่ผู้แทนของเขตเลือกตั้งหรือของผู้ที่เลือกตนเข้ามาเท่านั้น) 2. ส.ส. ไม่ผูกพันกับอาณัติหรือคำสั่งของผู้ใด 3. ส.ส.จำยอมเพียงแต่มโนธรรมสำนึกของตนเท่านั้น

ผมไม่เคยให้ความเห็นในที่แห่งใดเลยว่าผมเห็นด้วยกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่เคยสรุปและยึดถือเป็นสรณะว่า รากเหง้าของปัญหาในระบบการเมืองไทยทั้งหมด มาจากการที่รัฐธรรมนูญ 2540 บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง หากปฏิรูปการเมืองโดยอาศัย Statesman มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้แล้ว จะแก้ปัญหาทางการเมืองได้ ผมเห็นว่าสิทธิของปัจเจกบุคคลในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการลง สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ควรถูกจำกัดทั้งในแง่ของการบังคับให้สังกัดพรรค หรือเงื่อนไขประการอื่น เช่น การบังคับให้ต้องสำเร็จการศึกษาในชั้นปริญญาตรี อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงหลักความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนของ ส.ส.แล้ว จะต้องอภิปรายถึงการรักษาวินัยของพรรคการเมืองในกรณีที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัดพรรคการเมือง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนเสียงที่ประชาชนออกเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือก ตั้งนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความนิยมชมชอบในนโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับ เลือกตั้งผู้นั้นสังกัด จะต้องพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งและการทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในพรรค การเมืองพร้อมกันไปด้วย ใครก็ตามที่จะพูดถึงหลักดังกล่าว จะต้องคิดถึงประสิทธิภาพของพรรคการเมืองและการทำงานของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องพูดถึงมโนทัศน์ว่าด้วยกลุ่มการเมืองในสภา (Fraction) จะต้องพูดถึงสิทธิของ ส.ส.ที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมืองในสภา (หรือไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง – ส.ส.อิสระ) ว่าต่างจาก ส.ส.ที่สังกัดกลุ่มการเมืองในสภาอย่างไร เช่น ส.ส.ที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมืองในสภา (หรือไม่มีพรรคการเมืองสังกัด) จะไม่สามารถเป็นกรรมาธิการต่างๆได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องพูดและอภิปรายกันในภาพใหญ่ จะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ในกฎหมายรัฐสภาและกฎหมายพรรคการเมืองไปพร้อมกัน ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

อนึ่ง ในแง่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ผมเป็นผู้หนึ่งที่ได้วิพากษ์วิจารณ์บทบัญญัติบางเรื่องของรัฐธรรมนูญ 2540 นับตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีที่ผมสำเร็จการศึกษาจากประเทศเยอรมนี และกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผมมีความเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2540 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขในหลายประเด็น แต่ในขณะเดียวกัน ผมไม่เคยสนับสนุนวิธีการนอกระบบ ในการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และไม่อาจยอมรับวิธีการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญได้

3. ท่านผู้เขียนบทความได้พยายามกล่าวถึงการวิเคราะห์ปัญหาสภาพการเมืองไทยโดย อาศัย “สังคมวิทยา” และกล่าวในทำนองว่าผู้อื่น (คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั้งห้า โดยเฉพาะอาจารย์ที่จบปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี) มองไม่เห็นเหตุผลในทางสังคมวิทยา (ที่ท่านเรียกว่านิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ 20) ดังที่ท่านเห็น จึงปล่อยให้เกิดการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและนำไปสู่ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง ผมอยากเรียนท่านบรรณาธิการว่าการกล่าวอ้างสังคมวิทยาการเมือง หรือสังคมวิทยากฎหมายมาเป็นเหตุผลสนับสนุนข้ออ้างของตนอย่างง่ายๆ ปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นทั่วไป เช่น เมื่อมีการให้ความเห็นไปตามหลักการที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป แต่ไม่ต้องด้วยความเห็นของตน ก็จะบอกว่าผู้ให้ความเห็นไม่เข้าใจสภาพสังคมวิทยาของเมืองไทย ทั้งๆที่ผู้พูดเองต่างหากที่ไม่เข้าใจทั้งเนื้อหาสาระ และวิธีการของวิชาสังคมวิทยาการเมืองและสังคมวิทยากฎหมาย และด้วยความไม่เข้าใจ ไม่มีวิธีวิจัยตามทฤษฎีว่าด้วยวิธีการที่เป็นศาสตร์หรือวิธีวิทยา (Methodologie) ในการศึกษาปัญหานี่เอง จึงทำให้ท่านผู้เขียนบทความสรุปปรากฏการณ์ของการยึดอำนาจในประเทศไทยว่า “และเท่าที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรของชาติ โดย “เผด็จการทหาร” มีน้อยกว่า “เผด็จการโดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” นี่หรือ คือ สังคมวิทยาของท่านผู้เขียนบทความ บทสรุปนี้ท่านสรุปจากอะไร มีข้อมูลในเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือสนับสนุนความเห็นของท่านอย่างไร ถ้าไม่มี นั่นก็เป็นเพียงความเชื่อของท่านเท่านั้น

ผมอยากเรียนท่านบรรณาธิการว่า การวิเคราะห์สภาพปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะต้องนำสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกกลุ่มทั้งที่ปรากฏในรัฐ ธรรมนูญและที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อพิจารณาว่าสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร การกระจายผลประโยชน์ในทางการเมืองบนพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่การวิเคราะห์เฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้หากจะวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยให้เป็นวิชาการจริงๆ แล้ว ผู้วิเคราะห์จะต้องวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ในทางการเมืองของสถาบันและกลุ่มผล ประโยชน์ทางการเมืองเหล่านี้ทั้งหมด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรี นักการเมืองและพรรคการเมือง บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทหาร ข้าราชการ พนักงานของรัฐ รวมตลอดถึงนักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชนตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เพราะหากการวิเคราะห์ไม่ได้กระทำอย่างรอบด้านแล้ว ก็อาจนำไปสู่บทสรุปที่ผิดพลาดได้ เช่น การเปรียบเทียบระบอบนาซีเยอรมันกับการปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ “หยาบ” อย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ บรรทัดฐานทางกฎหมายและสังคม การดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมือง ทัศนคติ อารมณ์และความรู้สึกของคนในชาติ ฯลฯ การปกครองทั้งสองกรณีนี้ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย ผมมีข้อสังเกตว่าท่านผู้เขียนบทความอาจจะไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติเยอรมันสมัยฮิตเลอร์เรืองอำนาจและตัวบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น อย่างละเอียดลึกซึ้งมากนัก ดังจะเห็นได้จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับที่มาของบทบัญญัติว่าด้วย การปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระของ ส.ส.โดยไม่ขึ้นอยู่กับอาณัติของผู้ใด (freies Mandat) ที่ผมได้ชี้ให้เห็นข้างต้น เมื่อไม่ได้ศึกษาความเป็นมาเป็นไปของระบอบนาซีเยอรมันให้ถ่องแท้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ท่านผู้เขียนบทความเพียงแค่เห็นว่า ฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งเหมือนกัน ก็กระโจนไปสู่บทสรุปอย่างง่ายดายว่า ผลของการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็จะต้องออกมาในลักษณะที่เป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองเหมือนกัน และขยายเป็นความเชื่อตามๆกันไป การยกเอาระบอบนาซีเยอรมันขึ้นมาเปรียบเทียบจึงไม่สามารถจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากผู้ที่เปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหยิบ “หน้ากาก” ทางวิชาการขึ้นมาสวม เพื่อตอบสนอง “ธง” หรือ “การเคลื่อนไหว” ทางการเมืองของตนเท่านั้น

4. ในตอนหนึ่งของบทความท่านผู้เขียนบทความกล่าวว่า มนุษย์ทุกคน ต่างมี “ความเห็นแก่ตัว” เป็นธรรมชาติ (ของมนุษย์)” น่าเสียดายที่ท่านผู้เขียนบทความใช้สมมติฐานข้อนี้ไปวิเคราะห์เฉพาะพรรคการ เมืองกับนักการเมือง สมมติฐานข้อนี้ ถ้าท่านผู้เขียนบทความจะใช้ก็พึงใช้ให้เสมอกันกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการ เมืองทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ Statesman ของท่าน เว้นแต่ท่านผู้เขียนบทความจะคิดว่า Statesman ไม่ใช่มนุษย์ ถ้าเช่นนั้นก็สุดที่ผมจะอภิปรายให้เหตุผลกับท่านผู้เขียนบทความได้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีผลประโยชน์ในทางการเมือง กลุ่มที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีผลประโยชน์ในทางการเมืองเช่นกัน ปัญหาจึงมีอยู่แต่เพียงว่าผลประโยชน์อันใดเป็นผลประโยชน์อันชอบธรรมที่บุคคล พึงได้รับ และจะจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่บุคคลตลอดจนกลุ่มประโยชน์ต่างๆให้ยุติธรรมได้ อย่างไร ภายใต้หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จึงเรียนมาเพื่อท่านบรรณาธิการได้โปรดพิจารณาเผยแพร่จดหมายฉบับนี้ใน www.pub-law.net ให้ท่านผู้อ่านเว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทยได้ทราบเรื่องราวโดยถูกต้อง ตามความเป็นจริงด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถือ

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์

From : http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=1366


 

อ่านบทความ “คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร” ตอนที่หนึ่ง และ “คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร” ตอนที่สอง โดย ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์

คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง”ได้อย่างไร โดย ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.pub-law.net/publaw/View.asp?publawIDs=1358

คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง”ได้อย่างไร (ตอนที่ 2) โดย ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
http://www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=1361

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : สังคมไทย ไร้มืออาชีพ วิกฤตฝังลึก

27 April 2009 Leave a comment

วันที่สังคมไทย…ไร้มืออาชีพ วิกฤตฝังลึก…อภิสิทธิ์ทำอะไรไม่ได้ ! …ต้องกลับไปสู่หลักที่ถูกต้อง

สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ก่อนเหตุการณ์สงกรานต์จลาจล ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระวังรัฐธรรมนูญปี 2550 จะนำสังคมไทยไปสู่ทางตัน

 

คำเตือน…มาถึงเร็วเกินคาด วันนี้สังคมไทยไร้ทางออกจากความขัดแย้ง

ปลายเมษายน “ประชาชาติธุรกิจ” นั่งสนทนากับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อีกครั้ง ในห้วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด เพราะแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันยังทะเลาะกันเรื่องการเมือง

นี่คือบทวิพากษ์ที่เผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่ง…ก่อน ดร.วรเจตน์จะเดินทางไปพักผ่อนยาวที่ประเทศเยอรมนีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

– มองปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม นปช.อย่างไร

ผมคิดว่าการมองกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องมองแบบแยกแยะหน่อย เพราะถ้าไปมองอย่างเหมารวม เราก็จะไม่เห็นประเด็นของการเคลื่อนไหว และจะไม่เข้าใจความเคลื่อนไหว แน่นอนว่าฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับคุณทักษิณก็ต้องมองว่ากลุ่ม นปช.เป็นพวกพ้องของคุณทักษิณ เคลื่อนไหวเพื่อตัวคุณทักษิณ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวของ นปช. คุณทักษิณได้ประโยชน์ แต่ผมไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.เป็นไปเพื่อคุณทักษิณเพียง อย่างเดียวเท่านั้น แต่ผมคิดว่ามีประเด็นในทางหลักการที่มีมากกว่านั้น ซึ่งน่าเสียดายว่าถูกละเลยโดยสื่อกระแสหลัก โดยนักวิชาการกระแสหลัก

เหตุผลที่ละเลยหรือพยายามไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมคิดว่าเข้าใจได้ไม่ยาก ก็คือมาจากความเกลียดชังคุณทักษิณนั่นเอง จึงไม่พยายามมองภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในเชิงหลักการ เพราะถ้าหันกลับมามองในเชิงหลักการเคลื่อนไหว ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีประเด็นเคลื่อนไหวน่าสนใจหลายประเด็น บางประเด็นถูกจุดขึ้นมาแล้วก็หายไป

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดกันคือ การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มอำนาจ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มอำนาจที่เป็นทางการในทางการเมือง หรือกลุ่มคนที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางความเป็นไปในทางการเมือง เดิมทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ เวลาผมมองประเด็นทางกฎหมาย ผมก็มีความรู้สึกว่ากระบวนการใช้กฎหมายที่เป็นมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับหลักการหรือหลักวิชาที่ควรจะเป็นในหลายเรื่อง

และผมก็ยืนยันความเห็นที่เคยให้ไปทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรากฎหมายย้อนหลัง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคล การที่บุคคล คนเดียวกระทำความผิดแล้วยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค หรือก่อนหน้านั้น ก็คือการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา ซึ่งผมบอกว่า จะไม่แก้ปัญหาอะไรเลย รวมถึงเรื่องการยุบพรรคครั้งล่าสุด การทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปด้วยการทำกับข้าว ออกอากาศ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะของการต่อสู้กันในเชิงของอำนาจระดับบน

ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง มีประเด็นสำคัญคือ ชี้ไปซึ่งตัวบุคคลที่มีบทบาทในแง่ของการขับเคลื่อนในทางการเมือง ซึ่งเดิมทีเป็นคนในสังคมทั่วไปยกเอาไว้ ไม่แตะต้อง เช่น กลุ่มองคมนตรี หรือคนในองค์กรตุลาการ เช่น ประธานศาล

แต่วันนี้เราปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า มีการกินข้าวกันจริงที่บ้านคุณปีย์ มาลากุล คนที่ไปทานข้าวก็มีทั้ง องคมนตรีและประธานศาล ซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ผมว่าแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองนี้ มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นกันบนสื่อกระแสหลัก

อีกเรื่องที่อาจจะเกี่ยวพันกันก็คือ เรื่องของสิทธิของบุคคล ผมว่าถ้าตัดเรื่องคุณทักษิณไปแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ด้านหนึ่งมีความชอบธรรมในระดับหนึ่งทีเดียวในทางการเมือง

ถามว่าความชอบธรรมอยู่ตรงไหน ก็ตรงที่เขามาเรียกร้องสิทธิของเขา ในแง่ของการที่เขาตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลถูกล้มโดยกลุ่มบุคคลหรือชนชั้นกลางระดับหนึ่งในเมือง กลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งในเมือง ซึ่งรับไม่ได้กับการทำงานหรือพฤติกรรมของคุณทักษิณ

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาอยู่ที่คุณไม่ชอบคุณทักษิณ ถามว่าจะมีความชอบธรรมมั้ยที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนเลือก อย่างที่ผมบอก เขาจะเลือกผิดเลือกถูก แต่เขาตัดสินใจเลือก

ผมจึงรู้สึกว่า การที่เสื้อแดงเคลื่อนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเขาจะมา บอกว่า นี่คือรัฐบาลที่เขาตั้งขึ้น (นะ) คุณไม่มีสิทธิที่จะล้มไม่ว่าจะโดยกลไกในนามของอะไรก็ตาม เช่น ในนามของตุลาการภิวัตน์ ที่มีการพูดกันมา 3 ปีแล้ว แล้วทุกคนก็เห็นว่าทำให้ประเทศเข้ารกเข้าพง ทำให้ปัญหาแก้ยากยิ่งขึ้นลึกลงไปอีก

แต่อย่างไรก็ตาม เสียงของคนเสื้อแดงที่ผมติดตามจากสื่อกระแสหลัก ไม่ได้ให้พื้นที่เขา ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สงกรานต์ การชุมนุมก่อนหน้านั้นมีพื้นที่ในสื่อค่อนข้างน้อย ฉะนั้น ผมจึงบอกว่าในแง่มุมนี้ หลักการหลายเรื่องถูกต้อง และเป็นสิทธิที่เขาจะเคลื่อนไหว แต่พ่วงไปกับ คุณทักษิณ

แต่เท่าที่ผมตามประเด็นในการเคลื่อนไหว ผมคิดว่ากลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวในเชิงหลักการ เขาไปไกลกว่าคุณทักษิณมากแล้ว แต่ว่าสื่อกระแสหลักก็ดี นักวิชาการกระแสหลักก็ดี ยังติดอยู่กับประเด็นของคุณทักษิณ

– แต่ช่วงสงกรานต์จลาจล การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงรุนแรงไปหรือเปล่า ทำให้ภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป

ใช่ครับ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าพูดประเด็นนี้ก็อาจจะต้องแฟร์กับเขานิดหนึ่ง ผมคิดว่าคนที่ใส่เสื้อแดง คนที่หยิบเสื้อแดงมาสวมกับคนเสื้อแดง ต้องแยกกันให้ดี ไม่ใช่คนทุกคนซึ่งใส่เสื้อแดง เอาเสื้อแดงมาสวมจะเป็นคนเสื้อแดง เราอย่าเพิ่งไปสรุปแบบนั้น

ในเชิงของข้อเท็จจริง ยังต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไปอีกว่า ตกลงบุคคลซึ่งสวมเสื้อ สีแดง แล้วกระทำการก่อการจลาจล เป็นคนเสื้อแดง หรือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวของเสื้อแดงจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรอพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริง แต่ประเด็นวันนี้ได้เกิด การพิพากษาไปแล้วในสกู๊ปข่าวที่ทำทางโทรทัศน์ หรือในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่าคนที่สวมเสื้อแดงกับคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มเดียวกัน

ถ้าถามผม ผมว่ามีทั้ง 2 ส่วน คือมีทั้งคนเสื้อแดงจริงๆ ที่ร่วมอยู่ในการเคลื่อนไหว ที่มีปฏิกิริยาแล้วก็โต้กลับไปด้วยความรุนแรง แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นทั้งหมดหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่ายังปรู๊ฟไม่ได้ การยิงกันตายที่นางเลิ้งก็ดี การเผามัสยิดก็ดี เหล่านี้ยังต้องการพิสูจน์ ยังต้องการข้อเท็จจริงที่หลากหลายกว่านี้

แต่ว่าข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในโทรทัศน์หรือในหนังสือพิมพ์ก็ดี มันไปในทิศทางเดียว คือไม่เปิดพื้นที่อีกด้านหนึ่งให้มีโอกาสได้พูด แล้วคนในสังคมรับข้อเท็จจริงในกรอบแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เมื่อทำโพลสำรวจความคิดเห็น จึงออกมาแบบนั้น คือตำหนิการเคลื่อนไหว เพราะการรับรู้ข้อเท็จจริง รับรู้ผ่านทีวี ผ่านสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลัก ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเราไม่ได้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น

ที่พูดอย่างนี้ ผมไม่ได้จะให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง แต่ผมคิดว่ามันต้องแยกแยะ และระหว่างที่เราพูดถึงเรื่องความรุนแรง อีกด้านหนึ่งจะต้องตั้งคำถามกลับไปด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปฏิกิริยาที่มีต่ออะไร แต่เราไม่ตั้งคำถามแบบนี้ เพราะฝ่ายอำนาจรัฐอ้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจรัฐ แต่ถามว่าหากมองย้อนกลับไปในอดีต มีอะไรมากไปกว่านั้นหรือไม่

การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา คือการใช้กำลังในทางทหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย เป็นคนเลือกรัฐบาล แต่ล้มไปโดยการที่ทหารเอารถถังออกมายึดอำนาจ นี่เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง

ตามมาด้วยการใช้กลไกในทางกฎหมาย มีการตรากฎหมายโดยประกาศ คปค.ออกกฎหมายมา แล้วใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค การเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน เป็นความรุนแรงอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน

ตามมาด้วยการล้มรัฐบาลคุณสมัคร (สุนทรเวช) และการยุบพรรคพลังประชาชน วันนั้นสภาพการคือ ความไม่พอใจมันฝังอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงสูงมาก นี่คือความรู้สึก ที่บอกว่าเกิดการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม

แน่นอน…การเผารถเมล์หรืออะไรต่างๆ ถ้าเป็นความรุนแรงที่มีความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่ต้องพูดในมาตรฐานเดียวกัน แต่วันนี้เราไม่ได้พูดในมาตรฐานเดียวกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าการยึดอำนาจมาใช้กฎหมายไปย้อนหลังยุบพรรค การปลดนายกฯโดยเรื่องคุณสมบัติ เราไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นความรุนแรง

ผมคิดว่าความรุนแรงพูดได้หลายมิติ ความรุนแรงของคนเสื้อแดง อาจเป็นความรุนแรงแบบเลือดร้อน แต่ความรุนแรงอีกด้านหนึ่งอาจเป็นความรุนแรงแบบเลือดเย็น

ฉะนั้นเวลาเราพูด คุณต้องแฟร์ ปัญหาก็คือ บ้านเมืองจะไม่จบเลย (ครับ) ถ้าไม่ยอมรับกัน ถ้าอีกด้านหนึ่งบอกว่าถูกอยู่อย่างเดียว ซึ่งสำหรับผม (นะ) ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรกับเขาด้วย ผมก็บอกว่าไม่ถูก 3 ปีแล้วมันผิด แล้วก็ผิดกันมาตลอด

– แล้วจะออกจากวิกฤตที่ผิดมาตลอดจะต้องทำอย่างไร

ก็ต้องกลับเข้าสู่หลักที่ถูกต้อง แล้วให้ระบบเดินไป อะไรที่เบี่ยงไปจากความถูกต้องเราต้องกล้าบอกว่าผิด อย่าไปทำให้มันถูกเพียงเพราะว่าเกลียดหรือชังทักษิณ

– หากย้อนกลับไปในหลักการที่ต้องเป็นรูปธรรมควรจะเป็นยังไง แก้รัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างนั้นหรือเปล่า

อันนี้จะยากแล้ว พอพูดในทางที่เป็นรูปธรรมจะยาก คือ ถ้าพูดให้ถึงที่สุด จะต้องสมมติสถานการณ์ที่ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร 19 กันยาน่าจะดีที่สุด ซึ่งคนก็จะไม่ยอมรับ แต่ว่าในเชิงของการจำลองผมอาจจะหมายความว่า สิ่งที่ทำถัดจากนั้นมา ต้องใช้ไม่ได้หมดทุกฝ่าย แล้วกลับไปเริ่มต้นตรงจุดที่เป็นศูนย์ใหม่

ทุกฝ่ายเริ่มต้นในกติกากันใหม่ แล้วองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ก็ต้องออกไปให้หมด องค์กรอิสระต่างๆ ต้องไปกันหมด แล้วก็เริ่มต้นจากจุดจากศูนย์ใหม่ หมายความว่าก็ต้องมีการเลือกตั้ง รีฟอร์มรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ก็ต้องเริ่มอย่างนั้น ไม่มีทางอื่น

ทางที่พอจะเป็นไปได้ ที่ผมเคยเสนอก็คือ ช่วงที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผมบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นปัญหากับสังคมของเราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ในหลายเรื่อง และวันนี้คนจำนวนไม่น้อยก็เริ่มเห็นว่าเป็นปัญหา คนที่ยังบอกว่าไม่เป็นปัญหาผมคิดว่าก็อาจจะเหลือสุดท้ายคือ ท่านที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ กับองค์กรที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกลุ่มพันธมิตรฯ

แต่ในระยะถัดไป ผมคิดว่าคนจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาหมด ทั้งปัญหาเรื่องที่มา กระบวนการจัดทำ และทั้งภาพรวมในการจัดสถาบันในทางการเมืองและโครงสร้างขององค์กรในทางรัฐธรรมนูญทั้งหมด ฉะนั้นตอนนี้ถ้ามีใครบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพียงแค่การปะ ชุน มันจะไม่แก้ปัญหาหรอก (ครับ) แม้อาจจะทำให้เรื่องบางเรื่องหายไป สมประโยชน์ของบางฝ่าย แต่อีกหลายจุดก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ความไม่เป็นหลักเกณฑ์ของมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศก็ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ นี่เป็นตัวอย่าง

– แต่การย้อนกลับไปก่อน 19 กันยาคง ไม่ง่าย เพราะตอนนี้บ้านเมืองขัดแย้งแบ่งฝ่ายกันมากเหลือเกินแล้ว

ที่สุดผมถึงบอกว่า…ผมไม่เห็นทาง ผมพูดอย่างคนจนปัญญาว่า ผมไม่เห็นทางจริงๆ เพราะสั่งสมเหตุปัจจัยกันมาเป็นลำดับ คือไม่รู้จะพูดยังไง ตอนนี้สถานการณ์ไปเร็วกว่าที่ผมคิด

– อาจารย์มองบทบาทคุณอภิสิทธิ์ยังไง จะเข้ามาแก้วิกฤตรอบนี้ได้หรือไม่

ผมคิดว่า คุณอภิสิทธิ์ทำไม่ได้ เพราะปัญหามันลึกและฝังรากเกินกว่าที่รัฐบาลจะทำได้ แล้วบางเรื่องในสังคมไทยยังมีเรื่องที่ต้องห้ามอยู่ ซึ่งเรื่องต้องห้ามบางเรื่องต้องพูดกันให้ชัดเจนบนโต๊ะ เพราะบางทีก็คือมูลเหตุของปัญหาอย่างหนึ่งเช่นกัน แต่หลายเรื่องถูกจำกัดในข้อกฎหมาย ในทางธรรมเนียมปฏิบัติหลายเรื่อง

พูดง่ายๆ คือมีหลายเรื่องที่เราไม่สามารถพูดกันตรงไปตรงมาในสังคมบ้านเราได้ เมื่อพูดกันไม่ได้ก็จะไม่ตรงไปที่ตัวปัญหาจริงๆ หรือบางที บางคน ก็อาจจะรู้ แต่ไม่รู้จะพูดยังไง ที่เราเห็นอยู่ก็เป็นเพียงภาพข้างนอก

หากเราติดตามสถานการณ์แล้วไล่วิเคราะห์กันมาโดยตลอด ถ้าเกิดปัญหาเป็นแค่อย่างที่เราเห็นคงแก้ไม่ยากหรอก แต่คงจะมีอะไรมากไปกว่านั้น

คำว่าอะไรมากไปกว่านั้น บางเรื่องผมก็ไม่รู้ บางเรื่องผมก็เพิ่งมารู้ เช่น เรื่องการรับประทานข้าว ซึ่งก็เพิ่งมา รู้ว่ามีสภาพอย่างนี้ จากปาก พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี แต่ก็ไม่มีการพูด ไม่มีการตั้งคำถามว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่

– ที่สุดแล้วกระบวนการตุลาการภิวัตน์จะเดินไปทางไหน

ตุลาการภิวัตน์ในแง่การเอาศาลมาแก้ปัญหาในการเมือง โดยคิดว่าศาลเป็นองค์กรที่มีความวิเศษในตัว แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง…มันผิด และมีข้อจำกัดหลายประการ แล้วผมก็เคยบอกว่าถ้าไม่ระวังข้อจำกัดนี้จะย้อนกลับมาเป็นบูมเมอแรงกลับมาทำลายศาลในทุกระบบศาล

ฉะนั้น วันนี้เมื่อมีคนจำนวนไม่น้อยเขาคลางแคลงใจจะทำยังไง เมื่อสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจไปแล้ว ก็ลึกมากและแก้ยากมาก เพราะจริงๆ องค์กรนี้อาจเป็นองค์กรสุดท้ายที่ชี้ให้อยู่ในทางกฎหมาย ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าวิกฤตรอบนี้จะถูกแก้โดยใครคนใดคนหนึ่งได้ เพราะมันลึกมาก

– ที่อาจารย์กล่าวมา ดูเหมือนว่าสถาบันในบ้านเราเสื่อมกันไปหมด ไม่ว่าจะสถาบันศาล หรือสื่อ

รวมทั้งสถาบันองคมนตรีด้วย (ครับ) ซึ่งใกล้ชิดอย่างยิ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าจะบอกว่าไม่เสื่อมลงก็คงจะไม่ได้ ถ้าดูจากการโจมตีจากฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดง หรือการออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นอย่างนั้นจริง ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว คือ ผมสนใจน้อยมากว่าคุณไปวางแผนการทำรัฐประหารหรือไปทำอะไรหรือไม่ ผมว่าเราไปสนใจประเด็นนั้นมากไป แต่ประเด็นที่ว่าได้มานั่งพูดคุยกัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของตัว สำหรับผมคิดว่าก็เสียมากแล้ว

– ถ้าย้อนไปก่อน 19 กันยาอย่างที่อาจารย์ว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ต้องสูญสลายไปด้วย

ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด คำว่าย้อนกลับไปก่อน 19 กันยา เรากลับไปจินตนาการว่า ควรจะเป็นยังไง เพราะในทางความจริงย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว หมายความว่า คุณทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ รัฐบาลชุดก่อนต้องกลับฟื้นคืนมา นี่ไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ผมบอกว่า เราจำลองสถานการณ์ว่าไม่มีเหตุการณ์ 19 กันยา ตัวระบบกฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด กับตอนนั้นจะเป็นยังไง แล้วก็เป็นสภาพการณ์ชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในระยะอันใกล้ ผมจึงมองว่า ก็อาจจะต้องเลือกตั้งใหม่ แล้วหลังเลือกตั้งก็ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่

แต่ก็มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว แต่อย่างที่ผมบอก ก็กลับไปดูสิครับว่า กระบวนการและกลไกในการได้มาซึ่งตัวการยอมรับของประชาชนที่ออกเสียงประชามติเป็นยังไง คนไม่ยอมรับเท่าไหร่ จึงอ้างความชอบธรรมเต็มที่ไม่ได้ เพราะเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร แต่วันนี้คนก็จะไม่พูดประเด็นพวกนี้แล้ว ก็จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้ว

ผมว่ารากปัญหาสำคัญอันหนึ่งเกิดจากความกลัว ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนจำนวนไม่น้อย หลังจากที่เขาได้รับผลจากนโยบายประชานิยมในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ เราไปตัดสินว่าตกลงแล้วผิดหรือถูกโดยความรู้สึกนึกคิดของเราเอง

สำหรับผม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายคุณทักษิณหลายเรื่อง แต่ถ้ามีการเลือกตั้ง มีการโหวตออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น และไม่ควรจะมาทำลายการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งโดยอำนาจนอกระบบ แต่ปัญหาก็คือ คนกลุ่มหนึ่งเกรงว่ารัฐบาลทักษิณจะเข้มแข็งมากเกินไป

– แต่นักวิชาการจำนวนมากชี้ว่า มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูเรื่องการทุจริตซื้อเสียง คอร์รัปชั่น แทรกแซงองค์กรอิสระ ถึงจะเป็นประชาธิปไตย ?

สมมติถ้ามองแบบนั้น คำถามก็คือ คุณจะใช้วิธีการอะไร อย่างที่ทำกันอยู่หรือครับ เอาทหารลากรถถังออกมายึดอำนาจ แล้วอำนาจกลับไปอยู่อีกขั้วหนึ่ง เสร็จแล้วก็กลับไปอยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างนั้นหรือ ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือในแง่ของการแก้ปัญหา

ต่อให้เป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องแก้กันในทางระบบ ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเข้มแข็งยังไงก็ตาม เขาต้องกลับไปสู่ประชาชนในทุก 4 ปี แล้วผมก็เรียนว่าช่วงสมัยปลายคุณทักษิณ เสียงที่ออกมาทำให้ท่าทีของรัฐบาลคุณทักษิณเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนด้วยความเต็มใจหรอก แต่เปลี่ยนแปลงไปเพราะถูกบังคับ โดยพลังหรือการกดดันในทางสังคมในระดับหนึ่ง ที่ยอมรับว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นทิศทางอันหนึ่งที่จะทำให้แก้ปัญหาไปในทางระบบ

แต่ว่าเราไม่ได้อดทนที่จะรอคอย เพราะทุกคนรู้สึกว่าจะสิ้นชาติ แล้วก็มาสร้างเป็นกระแสขึ้นมา แล้วหลายเรื่องทำให้รุนแรงกว่าความเป็นจริงมาก คือ ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่ได้มีมูลอะไรเลยนะ แต่หลายเรื่องเกินจากความเป็นจริง

– มีคนบอกว่า ชนชั้นกลางไทย ใจร้อนและเห็นแก่ตัว

ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง ชนชั้นสูงด้วย กลุ่มชนชั้นนำในสังคมของไทย ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงกลุ่มอำนาจเดิมด้วยนะครับ ที่ในอีกด้านหนึ่งยามเรืองอำนาจก็ใช้อำนาจมากไปในบางเรื่องก็ถูกโต้กลับจากอีกกลุ่มหนึ่ง

แต่การโต้กลับ เป็นการโต้กลับแบบชนิดที่เรียกว่า กัดเซาะตัวระบบทั้งหมด นี่คือปัญหา คือจะว่าไปก็ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใครหรอกในทางการเมือง แต่ในทางหลักการ เพื่อให้อยู่กันได้ ต้องกลับมาที่หลักก่อน แต่เรามักคิดว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ใครได้ใครเสีย ก็อาจจะเป็นนิสัยของมนุษย์ธรรมดา ปัญหาจึงไม่จบ ที่สุดก็จะนำไปสู่การปะทะกัน แล้วในความรู้สึกของผม ผมบอกได้เลยว่า การกดในน้ำหนักแบบนี้ กดได้ไม่นานหรอก

– คนชั้นกลางก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง แล้วก็อยู่ร่วมกัน

ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องชนชั้นกลาง ผมคิดว่าสื่อมวลชนเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในด้านนี้ ผมพูดมานานแล้วเรื่องความเป็นมืออาชีพของสถาบัน ความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชน ความเป็นมืออาชีพของฝ่ายวิชาการ ซึ่งขาดหายไป พอขาดความเป็น มืออาชีพ ก็จะนำมาซึ่ง 2 มาตรฐานทันที

ผมถึงบอกว่าถ้ากลับมาสู่หลักการก็จะไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด แต่ผมไม่แน่ใจว่าในสังคมไทย คนที่เป็นคนชั้นนำในสังคม ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า ไม่รู้ได้ ถึงเกิดสภาพการณ์ในลักษณะแบบนี้ขึ้นมา คือมุ่งหวังจะเกาะกุมอำนาจ เอาไว้ที่ตัวเองเท่านั้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม แล้วในที่สุดประชาชนก็ถูกใช้เป็นเบี้ยมาสู้กัน

– การสร้างความเป็นธรรมในสังคมระหว่างให้คนรากหญ้ากับชนชั้นนำให้อยู่ร่วมกันได้ แก้ไขด้วยรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

คงแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวหนึ่ง ผมเคยได้ยินรัฐบาลพูดเรื่องภาษีมรดก แต่ก็หายไป ภาษีที่ดินหายไปไหนแล้ว ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่ต้องโยนเข้าไปในสังคม เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องช่องว่างในทางสังคมว่าเป็นยังไง การเอารัดเอาเปรียบกัน ในเชิงโครงสร้างเป็นยังไง

สำหรับผม คิดว่าในเชิงโครงสร้าง คนที่เป็นคนระดับล่างเขารู้สึกว่าเขาถูกเอาเปรียบอยู่มากแล้ว แค่เขามาเรียกร้องสิทธิของเขาว่าเขามีหนึ่งเสียงเหมือนกับคนอื่นๆ คุณยังปฏิเสธเขาเลย ซึ่งสะท้อนถึงวิธีคิด พื้นฐานในสังคมอุปถัมภ์แบบนี้ การมองคนอื่น ไม่ได้มองแบบที่เขาเป็นมนุษย์ เราเขียนเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นแค่ตัวหนังสือสวยหรู (ครับ) ก็แค่สิทธิเลือกตั้งที่เขาเลือกมา คุณยังยอมรับ ไม่ได้เลย

– ทางออกสังคมในระยะอันใกล้ ถ้าพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ใครควรเข้ามามีส่วนร่วม

ผมคิดว่าต้องทุกฝ่าย แต่ว่าในที่สุดต้องกลับไปเชื่อมกับประชาชน ซึ่งก็อาจจะเป็นปัญหาอีก โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้า ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าจะรับกันได้มั้ย ว่าคนพวกนี้เลือกมาทำรัฐธรรมนูญแล้วเนี่ย จะรับกันได้หรือเปล่า ที่สุดก็อาจจะเป็นคนจำนวนน้อยกว่า ที่เป็นคนชั้นกลางอาจจะรับไม่ได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาแบบงูกินหางแบบนี้ คำถามคือเรารับกันตรงนี้ได้หรือยัง

ที่ผมพูดแม้แต่ในครอบครัวก็พูด แล้วก็แตกกันไปหมด เพราะคิดกันคนละอย่าง ที่บ้านผมแม่ผมก็บอกว่ารับไม่ได้กับนักการเมือง ผมก็ถามว่าถ้ารับไม่ได้แล้วประโยชน์ทางการเมือง แม่คิดว่าจะอยู่กับใครล่ะ แม่ก็บอกว่าอยู่กับคนที่ดี ผมถามแม่ว่า ตกลงรู้ได้ยังไงว่าเขาดีจริง

– ถ้าให้เวลาอีกสัก 2 การเลือกตั้งผ่านไป ตะกอนของความขุ่นเคืองจะค่อยดีขึ้นหรือไม่

ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ กติกาไม่มีการเปลี่ยน ไม่แก้หรอกครับ ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นำไปสู่ทางตันอย่างแน่นอน ผมก็ยังยืนยัน ถ้ายังเป็นอย่างนี้

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4100