Archive

Posts Tagged ‘เสื้อเหลือง’

เบี้ยเดินหมาก, นิธิ เอียวศรีวงศ์

16 February 2011 Leave a comment

เบี้ยเดินหมาก, นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมไม่ทราบหรอกว่า เหตุใดจึงเกิดการปะทะกันกับกัมพูชาขึ้นที่ชายแดน ใครจะได้อะไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมก็เดาไม่ออก ใครในที่นี้รวมถึงฝ่ายกัมพูชา ซึ่งดูเหมือนมีเอกภาพในหมู่ชนชั้นนำกว่าไทย และฝ่ายไทยซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มอำนาจหลากหลาย เช่นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีหลายพรรค ไปจนถึงกองทัพ ซึ่งก็มีกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายในกองทัพเองหลายกลุ่ม และไปจนถึงอำนาจนอกระบบ ซึ่งก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียวอีกนั่นแหละ

ผมเพียงแต่ค่อนข้างแน่ใจว่า ไม่ว่าเหตุปะทะที่ชายแดนจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายกลุ่มอำนาจอันหลากหลายของไทย ต่างรู้ดีว่าการจุดชนวนปะทะกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนคลี่คลายไปทางหนึ่งทางใดได้ ทุกฝ่ายน่าจะรู้อยู่แล้วว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นจริงในปัจจุบันทำให้ไม่มีทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะสามารถตกลงข้อพิพาทเรื่องเขตแดนให้เป็นไปตามใจชอบของตนแต่ฝ่ายเดียวได้

แม้แต่การปลุกระดมให้ทำสงครามอย่างที่แกนนำพันธมิตร บางคนใช้ ก็รู้กันอยู่แล้ว แม้แต่แก่ตัวผู้ปลุกระดมเองว่า ไม่มีทางที่กัมพูชาหรือไทยจะชนะขาดได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นการปลุกระดมไปสู่สงคราม จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสงคราม แต่เพื่อการเมืองภายในของพันธมิตร เองมากกว่า

กล่าวโดยสรุป ก็คือ เหตุปะทะกันที่ชายแดน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรสักอย่างในการเมืองภายใน ไม่ของกัมพูชา ก็ของไทยเอง หรือของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การเล่นการเมืองอย่างสุ่มเสี่ยงเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะ”บานปลาย”ได้ง่าย อีกทั้งน่ากลัวแก่ไทยเสียยิ่งกว่ากัมพูชาด้วย เพราะอย่างน้อยภาวะการนำของกัมพูชาในขณะนี้ดูจะเป็นเอกภาพ จะหยุดหรือเบี่ยงประเด็นไปเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่ในเมืองไทยเป็นตรงกันข้าม คือขาดเอกภาพอย่างยิ่ง ผมอยากจะพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ชนชั้นนำไทยจะแตกร้าวกันอย่างหนักเท่าเวลานี้ ไม่ว่าจะมองไปที่เครือข่ายชนชั้นนำตามจารีต, กองทัพ, นักการเมือง, ทุน, นักวิชาการ, หรือแม้แต่คนชั้นกลางด้วยกันเอง

ความ ไม่เป็นเอกภาพของชนชั้นนำนั้นมีข้อดีในตัวเองด้วยนะครับ อย่างน้อยก็เกิดการถ่วงดุลอำนาจกันบ้าง แต่ในวิกฤตการณ์บางอย่าง ก็กลับกลายเป็นความอ่อนแอ ทั้งสังคมและชนชั้นนำจะตกเป็นเหยื่อของนักปลุกระดม (demagogue)ได้ง่าย

อย่างไร ก็ตาม ผมขออนุญาตมองโลกในแง่ดีว่า ภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้น กลับมีความสุ่มเสี่ยงในเมืองไทยน้อยลง เพราะเกิดปัจจัยใหม่ในการเมืองไทย นั่นคือสังคมโดยรวมมีสติเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือการแย่งอำนาจกัน ด้วยเล่ห์กระเท่ห์ของชนชั้นนำอย่างหมด ตัวเหมือนที่เคยเป็นมา (เช่นนักศึกษาไม่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสงคราม อย่างที่นักศึกษาเคยทำเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)

ผมอยากวิเคราะห์ความมีสติของสังคมดังที่กล่าวนี้ว่า มาจากอะไรบ้าง เพื่อจะได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเอง

1 การปลุกระดมด้วยลัทธิชาตินิยมแบบระรานของแกนนำพันธมิตร ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ฝูงชนที่ร่วมชุมนุมมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากนัก จึงไม่เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตนเองได้สะดวก

อันที่จริงชาตินิยมแบบระรานนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ทหารใช้กันมานาน เพราะให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองที่ไม่ชอบธรรมของกองทัพ แต่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดนี้ในครั้งนี้ จึงทำให้กลุ่มอำนาจในกองทัพบางกลุ่มไม่อาจใช้ชาตินิยมแบบระรานนี้ ไปยึดอำนาจทางการเมืองมาอยู่ในกลุ่มของตนได้

2 เหตุใดคนไทยจำนวนมาก จึงไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดของลัทธิชาตินิยมแบบระราน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เรียนรู้แล้วว่า ความเข้มแข็งของชาตินั้นไม่ได้มาจากพื้นที่อันกว้างขวางของดินแดน บูรณภาพทางดินแดนมีความสำคัญก็จริง แต่ยืดหยุ่นได้มากกว่าหนึ่งตารางนิ้ว ในการประเมินความเข้มแข็งของชาติ จำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นๆ เข้ามาบวกลบคูณหารด้วย เช่นปัจจัยทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, การรวมกลุ่มระหว่างประเทศ, สถานะของไทยในการเมืองโลก, และอนาคตอันยาวไกลของบ้านเมือง ทั้งหมดเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ และทหารก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมของชาติ มากกว่าคนกลุ่มอื่นแต่อย่างใด

3 ถ้าคนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คิดอย่างที่ผมว่าไว้ในข้อสอง ก็ หมายความว่ากองทัพต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนในสังคมไทยใหม่ ถ้ากองทัพยังอยากจะดำรงอยู่อย่างมีความสำคัญในสังคมอยู่บ้าง การปกป้องชาติอาจทำได้ด้วยกำลังทหาร แต่กำลังทหารอย่างเดียวไม่พอ และไม่สำคัญที่สุดด้วย มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งเราต้องใส่ใจมากกว่าความแข็งแกร่งของกองทัพ ถ้ากองทัพคิดว่าตัวจะมีบทบาทเหมือนเดิมตลอดไป

ในไม่ช้ากองทัพเอง นั่นแหละจะกลายเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนมากเห็นว่าเป็น”ส่วนเกิน”ของชาติ และหนักไปกว่านั้นคืออาจเห็นว่าเป็น”ตัวถ่วง”ก็ได้

4 สิ่งที่เคยเป็น “อาญาสิทธิ์” ทุกชนิดในสังคมไทย ถูกท้าทาย, ถูกตั้งคำถาม, ถูกตั้งข้อสงสัย, หรือถูกปฏิเสธ ไปหมดแล้ว ในสภาพเช่นนี้ ไม่มีชาติใดสามารถรบกับใครได้หรอกครับ อาจปะทะกันที่ชายแดนได้ แต่รบกับเขานานๆ ชนิดที่เรียกว่า “สงคราม” ไม่ได้

ผมขอยกตัวอย่างจากรายการวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ที่ผมเพิ่งได้ยินในเชียงใหม่ เป็นรายการสนทนาที่โฆษกท่านหนึ่งพูดในวันที่มีการปะทะกันที่ชายแดน และมีทหารเสียชีวิตว่า ถึงจะเสียใจต่อความสูญเสียของครอบครัวทหารท่านนั้น แต่คิดย้อนหลังไปไม่กี่เดือนก่อนหน้า ที่ทหารยิงประชาชนซึ่งไม่ได้ถืออาวุธล้มตายจำนวนมากแล้ว ก็มีความรู้สึกพิพักพิพ่วน ด้านหนึ่งก็คือเสียใจ, โกรธแค้นกัมพูชา เพราะอย่างน้อยก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงก็เป็นคนไทยด้วยกันเช่นเดียวกัน

ความหมายของเขานั้น เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ไว้ก็คือ จะมีกองทัพใดในโลกนี้หรือครับที่สามารถทำสงครามสมัยใหม่ได้ หากประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกอย่างนี้กับทหาร สงครามสมัยใหม่นั้นเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) คือไม่ได้รบกันที่แนวหน้าอย่างเดียว แต่รบกันทั้งสังคม ไม่เหมือนสงครามสมัยโบราณ ที่มีแต่ทัพของอัศวินรบกัน โดยประชาชนทำมาหากินและหลบหลีกภัยสงครามไปตามเรื่อง ใครแพ้ใครชนะก็ไม่เกี่ยวกับตัว เพราะนายเก่าหรือนายใหม่ก็ไม่สู้จะต่างอะไรกันนัก

5 ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากก็คือ เสียงของคนชายแดนบ้านภูมิซรอล, บ้านภูมะเขือ, ฯลฯ ดังกว่าที่เสียงของคนชายแดนเคยดังมา ในการปะทะกันด้วยอาวุธทุกครั้งของไทย ทีวีไทยเอาผู้ใหญ่บ้านจากหมู่บ้านแถวนั้น มานั่งสนทนากับนักวิชาการ ทีวีอีกหลายช่องไปถ่ายภาพความโกลาหลของประชาชนชายแดน ที่ต้องอพยพหลบภัย มานอนกันเกลื่อนกล่นในที่ซึ่งราชการตั้งเป็นศูนย์อพยพ

มีน้ำตาของแม่ที่พลัดหลงกับลูก มีคำให้สัมภาษณ์ของคนที่ต้องทิ้งสมบัติข้าวของและวัวควายไว้ โดยไม่มีคนดูแล มีอารมณ์ความรู้สึกของความสับสนวุ่นวาย ที่ต่างไม่สามารถจัดการกับชีวิตของตนได้ และแน่นอนมีความเสียหายทางวัตถุและชีวิตซึ่งเกิดขึ้น

เสียงของคนเล็กๆ ดังมากขึ้นในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว ทั้งจากเอ็นจีโอ, นักวิชาการ, และการเคลื่อนไหวของพวกเขาเอง สงครามหรือปัญหาระหว่างประเทศเคยเป็นพื้นที่หวงห้าม ที่ชนชั้นนำตัดสินใจกันเอง (อย่างมีเอกภาพ หรือไม่มีเอกภาพก็ตาม) แต่ครั้งนี้ไม่ใช่นะครับ มีเสียงของคนเล็กๆ สอดแทรกเข้ามา เช่น ผู้ใหญ่บ้านท่านที่กล่าวแล้ว เสนอให้เปิดการเจรจากันโดยเร็ว เพื่อยุติการใช้อาวุธ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ท่านไม่สนใจหรอกครับว่าจะเปิดการเจรจาอย่างไรจึงจะเป็นผล นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไปหาทางเอาเอง ท่านไม่ได้เรียกร้องให้ใช้กำลังทหารเข้าไปยึดนครวัด เสียมราบ พระตะบอง

เสียงเหล่านี้ดังเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรด้วย จะเพราะเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรก็ตามที แต่เป็นประเด็นหลักของการอภิปรายกระทู้ของฝ่ายค้าน ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

เราจะอยู่กันต่อไปโดยปิดหูให้แก่เสียงของคนเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว และจะใช้วิธีศรีธนญชัยกับเสียงเหล่านี้ ก็คงไม่ได้ผลยั่งยืนอะไร

6 คู่ขนานกันไปกับเสียงของคนเล็กๆ ผมคิดว่ามีเสียงของนักวิชาการซึ่งอาจไม่ดังเท่า แต่ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ให้หันมาทบทวนกรณีพิพาทเรื่องเขตแดน จากข้อมูลหลักฐานที่เป็นจริง และหาทางออกโดยสันติ ก่อนที่นักปลุกระดมจะฉวยเอาประเด็นเหล่านี้ ไปเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตน แม้ว่าเสียงของนักวิชาการเหล่านี้อาจไม่จับใจสื่อ และไม่เป็นข่าว แต่ได้สร้างฐานความรู้บางอย่างที่คนเล็กๆ สามารถหยิบฉวยไปใช้ เพื่อยับยั้งการเลือกความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้ และในความเป็นจริงเวลานี้ ผมก็ได้พบว่าคนเล็กๆ ที่มีสติดีที่สุด และไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอะไรกับข้อพิพาทชายแดน ก็กำลังกระตือรือร้นที่จะหยิบเอาฐานความรู้เหล่านี้ ไปใช้ในการกำกับนโยบายของรัฐด้วย เช่นในการสัมมนาเรื่อง “สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร” ที่ มธ.เมื่อเร็วๆนี้ ก็มีชาวบ้านจากภูมิซรอล อุตส่าห์เดินทางมาร่วมการสัมมนาด้วยจำนวนหนึ่ง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเล็กๆ ไม่ได้ส่งเสียงเพราะตัวเองเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่กำลังเขยิบเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำกับนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ด้วยสิทธิเสมอภาคกับสาวกของเวทีพันธมิตร ที่ราชดำเนิน

ในทุกที่ในโลกนี้ หากเบี้ยสามารถเดินหมากเอง สงครามจะเป็นตาอับตลอดไป แม้เรายังอาจมีข้อพิพาทและการปะทะกันด้วยอาวุธอยู่บ้าง แต่โลกนี้จะไม่มีสงคราม

มติชน, 14 กุมภาพันธ์ 2554

และแล้วความจริงกรณี 7 คนไทยก็ปรากฏ, ชำนาญ จันทร์เรือง

26 January 2011 2 comments

และแล้วความจริงกรณี 7 คนไทยก็ปรากฏ

ชำนาญ จันทร์เรือง

จากกรณีที่คนไทย 7 คนถูกทหารกัมพูชาจับตัวจนในที่สุด ศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 5 คนไทยคนละ 9 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 1 ล้านเรียล โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อนซึ่งก็มีความหมายว่ากระทำความผิดจริงแต่ยัง ไม่ต้องถูกติดคุกนั่นเอง เหตุการณ์ต่างๆ ที่สับสนในตอนแรกเริ่มกระจ่างขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยว่า “ใครได้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร” ซึ่งใช้เป็นคำอธิบายว่า “การเมืองคืออะไร” (Politics is,who gets “What”, “When”, and “How”) ของฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่โด่งดัง

ที่ผมยกนิยามศัพท์ของคำว่า “การเมืองคืออะไร” มากล่าวถึงกรณี 7 คนไทย ก็เนื่องเพราะว่ากรณีนี้เป็นกรณีการเมืองโดยแท้ ถึงแม้ว่าจะมีกรณีการบังคับใช้กฎหมายของศาลกัมพูชามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ฝ่ายการเมืองของกัมพูชา ที่ใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองกับไทยเช่นกัน

จุดเริ่มต้นของกรณีนี้เกิดขึ้นจากมีการพยายาม ที่จะใช้การปลุกกระแสชาตินิยม ในกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มและรัฐบาลเอง เพื่อสร้างคะแนนนิยมของกลุ่มการเมืองและกลบปัญหาความไม่เอาไหนของรัฐบาลเอง แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง เนื่องจากมีเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนไม่มากนักและมิหนำซ้ำยังถูกต่อต้านจากคน ในพื้นที่ จึงได้มีการตัดสินใจยกระดับการจุดชนวนด้วยการเดินข้ามแดนเข้าไปให้ทหาร กัมพูชาจับกุมตัว โดยหวังที่จะปลุกกระแสความรักชาติขึ้นมา

ในเบื้องแรกผู้ก่อการเรื่องดังกล่าวคงมิได้คาด หมายเหตุการณ์จะพลิกผัน ว่าจะมีการดำเนินคดีจนถึงกับมีการขึ้นโรงขึ้นศาลจนถึงต้องมีการขังคุก (ขี้ไก่) จนแมลงสาบแทะหัว กว่าจะได้ประกันตัวและตัดสินคดีก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด คณะดังกล่าวคงนึกแต่เพียงว่าหากมีการจับกุมในพื้นที่คงสามารถเจรจาได้เหมือน ครั้งที่ผ่านๆ มา แล้วค่อยนำข่าวไปสร้างกระแส

แต่เหตุไม่คาดฝันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะทหารกัมพูชาที่จับกุมเกิดจำนายวีระ สมความคิด ที่เคยถูกจับมาแล้วแต่ถูกปล่อยตัว พร้อมกับทำทัณฑ์บนไว้แล้วเมื่อไม่นานมานี้ กอปรกับนายวีระเองก็ถูกทางการกัมพูชาขึ้นบัญชีดำไว้แล้วเพราะด่าฮุน เซนไว้เยอะ การณ์จึงกลับไปเข้าล็อกทางฝ่ายกัมพูชา บุคคลทั้งเจ็ดจึงถูกส่งตัวไปยังพนมเปญ พร้อมกับการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลฮุน เซน

การจงใจที่จะให้ถูกทางการกัมพูชาจับกุมนั้น ปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นภาพจากวีดิโอที่ถูกบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเรียกร้องในทันทีทันควันของขบวนการคลั่งชาติ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปะทะกับกัมพูชาเพื่อให้บานปลายให้ได้ เป้าหมายก็เพื่อให้มีการตัดความสัมพันธ์ของสองประเทศ มีการเรียกร้องให้ปิดพรมแดนเพื่อตอบโต้ จากนั้นนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูต และที่ร้ายที่สุดมีการเรียกร้องจากทหารเก่าหลงยุค ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการทางทหาร ออกมากดดันรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา

แต่โชคดีที่ปลุกกระแสไม่ขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะได้เห็นการคืนชีพของพวกคลั่งชาติ ที่กลับมายิ่งใหญ่เป็นผู้นำประชาชนบนความหายนะของประเทศ เพราะชายแดนจะถูกแปรจากสนามการค้ากลายเป็นสนามรบ ประชาชนทั้งสองประเทศอพยพหลบหนีการสู้รบกันอย่างน่าเวทนา ดังปรากฏในหลายประเทศแถบแอฟริกา เราอาจจะได้เห็นผู้คนและทหาร ชั้นผู้น้อยล้มตายด้วยเหตุผลเพียงว่าเพื่อรักษาผืนแผ่นดินที่พิพาท ตามแผนการกระหายอำนาจของกลุ่มล้าหลังคลั่งชาติพวกนี้

ทางฝ่ายรัฐบาลเองนั้นเล่านอกจากจะดำเนินนโยบาย ทางการทูต แบบตีสองหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หลังจากที่เกิดปัญหาความกินแหนงแคลงใจกับกลุ่มการเมือง ที่ส่งเสริมตัวเองให้ขึ้นสู่อำนาจ ก็พยายามเอาใจโดยการเล่นการเมืองแบบตีสองหน้าอีกเช่นกัน โดยแสร้งว่าไม่ยอมรับการกดดันทางนโยบายจากกลุ่มนี้ แต่กลับส่ง ส.ส.คนสนิทกับหัวหน้ารัฐบาลเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวโดยหวังเพื่อแสดงให้ เห็นว่ายังมีไมตรีกันอยู่ และหวังผลทางการเมืองในเบื้องลึกคือการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่บนสถานการณ์ความ ขัดแย้งในกระแสความรักชาติที่ดุเดือดเลือดพล่าน

นอกจากนั้นการพยายามปลุกกระแสคลั่งชาติโดยการ ยอมลงทุนให้คนของตัวเองถูกจับนั้น ก็ยังหวังผลของการกลบกระแสของการเรียกร้องผลของการค้นหาความจริงกรณี 91 ศพให้เงียบลงอย่างน้อยก็ชั่วคราวในระยะเฉพาะหน้าชั่วคราวก่อนที่จะมีการ เลือกตั้งใหญ่เสียก่อนหลังจากนั้นค่อยว่ากันทีหลัง เป็นแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ และเผื่อฟลุคจุดกระแสติดก็จะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดพรรคเดียวไป เลย

แต่ก็เป็นที่น่าดีใจที่คนไทยส่วนใหญ่ติดตามข่าว สารด้วยสนใจและเห็นใจผู้ถูกจับ แต่ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อของอุบายอันซ่อนเร้นนี้ กระแสการปลุกความรักชาติจึงไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นกระแสความคลั่งชาติตามที่ กลุ่มการเมืองและรัฐบาลมุ่งหวัง เหตุดังกล่าวนี้มิใช่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รักชาติ แต่คนไทยในยุค “2G ครึ่ง” นี้เข้าถึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลายทางนอกเหนือจากสื่อของกลุ่มการเมืองดังกล่าว และสื่อกระแสของรัฐบาล ทำให้คนไทยได้รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ถึงแม้ว่าจะรู้ไม่หมดทุกอย่างถึงเบื้องหลังอุบายดังกล่าวก็ตาม

แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดคนไทยเรารู้ว่าหากเกิด เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา เราก็จะเป็นเหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม ผู้คนบาดเจ็บล้มตายโดยไม่มีเหตุผล มีแต่ความอดอยากยากแค้น ดังปรากฏเป็นข่าวที่รับรู้กันโดยทั่วไป คนไทยเรารู้ว่าโลกยุคใหม่มิใช่ยุคชาตินิยมล้าหลังคลั่งชาติที่เมื่อเกิดความ ขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องสู้รบกันให้แตกหักกันไปข้างหนึ่งอีกต่อไปแล้ว

คนไทยรู้ว่าอย่างไรเสียเรากับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาวหรือพม่าและแม้แต่มาเลเซียก็ตามเราไม่สามารถยกประเทศหนีกันไปได้ และก็หมดยุคที่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดครองประเทศอื่นมาเป็นของตนเองอีกต่อไป ที่สำคัญก็คือแน่ใจได้อย่างไรว่าหากเรารบแล้วจะชนะ เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เป็นมหาอำนาจทางทหารยังรบแพ้ในสงครามเวียดนาม และกำลังแพ้อีกในสงครามอิรักจนโอบามาต้องออกนโยบายว่าจะถอนทหารเพื่อไม่ให้ เสียหน้าการเป็นมหาอำนาจของตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยเราจะรบชนะแต่ก็คงหืดขึ้นคอ หรือสะบักสะบอม สูญเสียมาก แต่เราก็จะแพ้ในเวทีโลก แต่หากจะพูดแบบไม่เกรงใจละก็ทหารไทยเราห่างสมรภูมิไปนาน ต่างจากทหารกัมพูชาที่รบมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเขมรแดงที่ฮุน เซนเอามาใช้งาน ว่ากันว่าทหารกัมพูชาเชื่อว่าหากสู้กันตัวต่อตัวแล้วล่ะก็ต้องใช้ทหารไทยถึง 3 หรือ 5 คน สู้กับทหารกัมพูชาเพียงคนเดียวจึงจะเอาชนะได้

การเจรจาด้วยสันติวิธี การตกลงผลประโยชน์ร่วมกัน การเป็นเพื่อนบ้านที่มีไมตรีต่อกันต่างหากที่เป็นนโยบายที่สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย การได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้างเล็กๆ น้อยๆ อยู่ที่ฝีมือของกระทรวงการต่างประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นผู้ดำเนิน การ ซึ่งฝีมือทางด้านการต่างประเทศหรือทางการทูตของไทยก็ปรากฏเป็นเป็นที่เลื่อง ลือในความยอดเยี่ยมมาช้านาน ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือแม้แต่เราจะได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรซึ่งเป็น ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง เรายังไม่ตกเป็นประเทศที่เป็นฝ่ายแพ้สงครามเลย แต่ปัจจุบันเรากลับท้าตีท้าต่อยกับเขาไปทั่ว นับเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของนโยบายการต่างประเทศของไทยเรา ซึ่งยังไม่รวมถึงการที่ให้เลขานุการรัฐมนตรีฯ ทำหน้าที่ให้ข่าวสำคัญๆ ต่อสื่อมวลชนแทนโฆษกกระทรวงฯ ทั้งๆ ที่ไม่มีแนวธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การที่เรายอมรับคำพิพากษาของศาลกัมพูชา โดยไม่มีการอุทธรณ์ซึ่งทำให้คดีถึงที่สุด โดยความหมายก็คือเรายอมรับเขตอำนาจศาลกัมพูชาว่ามีอำนาจเหนือเขตแดนดังกล่าว ทำให้เราต้องเสียเปรียบหรืออำนาจต่อรองในการปักปันเขตแดนในภาพรวมต่อไปในอนาคต ซึ่งเข้าหลักกฎหมายปิดปากที่ทำให้เราแพ้คดีประสาทพระวิหารในศาลโลกมาแล้วในอดีต

ถึงแม้ว่านายอภิสิทธิ์จะพยายามชี้แจงว่าคำ พิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความก็ตาม แต่ก็เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวเพราะแม้ว่าในคำบังคับจะผูกพันเฉพาะ คู่ความหรือคู่กรณี แต่หลักกฎหมายที่ศาลได้วางไว้ย่อมเป็นแนวที่ต้องปฏิบัติตาม ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือคำพิพากษาของศาลปกครองที่ผ่านมา ที่สำคัญก็คือกรณีคำพิพากษาฎีกาคดีอาชญากรสงครามหรือกรณีการยึดทรัพย์ของผู้นำรัฐบาลที่ถูกรัฐประหาร เป็นต้น

ฤๅว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์จะถูกจารึกไว้ใน ประวัติศาสตร์ชาติไทย ว่าเป็นยุคที่เราต้องเสียดินแดนให้กัมพูชาเพราะความ “คลั่งชาติ” ของคนบางกลุ่ม และความ “อ่อนหัด” ของผู้นำรัฐบาลนั่นเอง

กรุงเทพธุรกิจ, วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

กงเกวียนกำเกวียน โดย สรกล อดุลยานนท์

28 November 2010 Leave a comment

กงเกวียนกำเกวียน โดย สรกล อดุลยานนท์

ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร”

ต้องเผชิญหน้ากับ “กลุ่มพันธมิตร” ที่เคยรักใคร่กลมเกลียวกันมาก่อน

และเป็น “แนวร่วม” ในการขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ-สมัคร-สมชาย”

ก่อนหน้านี้ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์” วิเคราะห์สถานการณ์แบบโยน “ระเบิด” ถามทางว่า “ม็อบพันธมิตร” ที่นัดชุมนุมกันในวันที่ 11 ธันวาคม มีบางคนต้องการสร้าง “เงื่อนไข” ให้ “กองทัพ” ทำรัฐประหาร

“รัฐประหาร” ในมุมของ “อภิสิทธิ์” คือ การพบกันระหว่าง “เชื้อเพลิง” กับ “ไฟ”

“เชื้อเพลิง” คือกลุ่มพันธมิตร

“ไฟ” คือ “กองทัพ”

ถ้ามีแต่ “เชื้อเพลิง” แต่ “ไฟ” ไม่เล่นด้วย การรัฐประหารก็ไม่เกิด

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “รัฐประหาร” ที่ “อภิสิทธิ์” จุดขึ้นมา หลายคนจึงมองว่า “ระเบิด” ที่โยนออกมาพุ่งเป้าไปที่ “กองทัพ”

มากกว่า “กลุ่มพันธมิตร”

จำได้ว่า “อภิสิทธิ์” เคยมีวาทกรรมหนึ่งที่คมคายอย่างยิ่ง

“การมีรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”

ครับ การรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากที่เมืองไทยว่างเว้นการรัฐประหารมานานถึง 15 ปี

เมื่อการแก้ปัญหาทางการเมืองที่สุดแสนจะ “โบราณ” และ “ล้าหลัง” ถูกนำมาใช้อีกครั้ง “ความเป็นไปได้” ที่จะเกิดการรัฐประหารครั้งต่อไปจึงสูงขึ้น

“อภิสิทธิ์” ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

แต่พูดสั้นๆ แค่นี้ เพราะ “เนื้อหา” ส่วนใหญ่ “อภิสิทธิ์” จะพูดถึง “เงื่อนไข” ที่เกิดจากนักการเมืองมากกว่า

ในหนังสือ “ร้อยฝันวันฟ้าใหม่” ของ “อภิสิทธิ์” เขาบอกว่าการป้องกันการรัฐประหารที่ดีที่สุด คือ นักการเมืองต้องไม่สร้างเงื่อนไขแบบนี้อีก

ความผิดพลาดของ “อภิสิทธิ์” คือเขาไม่ปิดประตูตาย ปฏิเสธการรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง

ระดับต่อให้เป้าหมายดีแค่ไหน นักการเมืองเลวเพียงใด “กองทัพ” ก็ไม่มีสิทธิรัฐประหาร

แต่แง้มประตูไว้นิดๆ ว่ารัฐประหารจะชอบธรรมเมื่อนักการเมืองสร้าง “เงื่อนไข” ขึ้นมา

ย้อนอดีตกลับไป จำ “เงื่อนไข” หรือ “เหตุผล” 4 ข้อที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใช้ในการรัฐประหารได้ไหมครับ

1.เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

2.รัฐบาลทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง

3.แทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ

4.ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

อ่าน “เงื่อนไข” เหล่านี้แล้ว “อภิสิทธิ์” ก็มีสิทธิหนาวๆ ร้อนๆ

เพราะถ้าสถานการณ์เมื่อปี 2549 ยังบอกว่าสังคมไทยแตกแยก ปี 2553 ก็คงอยู่ในระดับแตกละเอียด

ส่วนเรื่องทุจริต รัฐบาลชุดนี้ไม่แพ้รัฐบาล “ทักษิณ” เผลอๆ จะชนะแบบขาดลอยด้วย

เรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ

คลิป “วิรัช” กับ “เลขาฯศาล” ก็ชัดยิ่งกว่าชัด

ส่วนเรื่อง “สถาบันเบื้องสูง” ครั้งก่อนกลุ่มพันธมิตรเป็นคนเปิดประเด็นโจมตี “ทักษิณ”

แต่ “อภิสิทธิ์” ไม่โดน มีแต่ข้อหาใหม่…”ขายชาติ”

ไม่แปลกที่วันนี้ “อภิสิทธิ์” จะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมา

ทั้งที่ พล.อ.สนธิเคยสารภาพกับ “สำราญ รอดเพชร” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ว่าเขาคิดเงื่อนไข 4 ข้อนี้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 กันยายนหลังยึดอำนาจสำเร็จแล้ว

“4 ข้อนี้เราคิดขึ้นมาฉุกเฉิน ว่างั้นเถอะ ที่คิดว่ามีเหตุมีผล…”

ใครที่คิดว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

ให้กลับไปอ่านคำพูดของ “อภิสิทธิ์” อีกครั้ง

“การมีรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”

…อาเมน

มติชนออนไลน์, 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
(ที่มา คอลัมน์ สถานีความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553)

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

23 June 2010 Leave a comment

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาเป็นคู่กัดระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แต่ละฟากมีมวลชนหนุนหลังเป็นจำนวนมากและก้ำกึ่งกัน คือระหว่าง 3-4 ล้านคน (งานวิจัยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ) หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ 2 กลุ่มรวมกันก็เป็นร้อยละ 20

แต่ละฟากระดมมวลชนโดยชูประเด็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

ฟากเหลืองชูประเด็นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองจริยธรรมที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเมืองที่คนชั้นกลางมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

ฟากแดงเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ความเป็นธรรมในสังคม การยกเลิกระบบสองมาตรฐาน บางกลุ่มในคนเสื้อแดงตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากผู้ที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยม

ในงานศึกษาของเอนกและคณะก็พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น วิเคราะห์ได้เป็นความขัดแย้ง 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่

ระดับที่หนึ่ง คือ ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ

อีกระดับหนึ่งเป็นความขัดแย้งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทับถมมานาน เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวชนชั้นนำ คือ การแก่งแย่งที่จะนำสังคม ระหว่างขั้ว นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากทักษิณ (แดง) กับนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากต่อต้านทักษิณ (เหลือง)

อันที่จริง ณ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ชนชั้นนำไทยยังไม่ได้แบ่งขั้ว แทบทุกกลุ่มสนับสนุนทักษิณให้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยพวกเขามีความคาดหวังให้ทักษิณฟื้นฟูและปกป้องระบบเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต อีกทั้งให้นำนักธุรกิจไทยอยู่รอดปลอดภัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขาได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนพรรคทักษิณได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา แต่ต่อมาพบว่าทักษิณดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากความคาดหวังในหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แทนที่จะปกป้องทุนไทยจากโลกาภิวัตน์ ทักษิณกลับนำเศรษฐกิจถลำลึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ พร้อมกับที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัวรวมทั้งพวกพ้องได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มทุนที่ไม่ใช่พรรคพวก

สอง ทักษิณผงาดขึ้นเป็นผู้นำประชานิยมที่สามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากมวลชนชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนรายได้น้อย-ปานกลาง ในเขตเทศบาลอย่างล้นหลาม โดยใช้ชุดนโยบายประชานิยมและบารมีความเป็นผู้นำที่มวลชนรู้สึกว่าให้ความเป็นกันเอง และทำให้พวกเขารู้สึกมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองใดในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเคยทำได้ถึงขนาดนี้

นโยบายประชานิยมส่งผลให้ต้องดึงเอางบประมาณประจำปีที่ชนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยออกไปปันให้ชาวบ้าน

ขณะที่ชนชั้นกลางเห็นว่าเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายมากกว่าชาวบ้านในชนบท ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นกังวลต่อไปว่า การใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมนั้น นอกจากว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะก่อหนี้สาธารณะที่จะต้องชดใช้ต่อไปในอนาคต

สาม ความนิยมทักษิณอย่างล้นหลามมีนัยยะว่า พรรคของเขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดความเป็นกังวลว่าทักษิณจะครองเมืองเนิ่นนานไม่สิ้นสุด

สี่ นโยบายต่อต้านยาเสพติดและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุ อีกทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่โยงกับตัวเขา สมาชิกครอบครัวและพรรคพวก ทำให้ผู้ที่เคยนิยมทักษิณเปลี่ยนใจ

ขบวนการคนเสื้อเหลืองจึงก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณและพรรคพวกของเขา (ผู้สนับสนุนเสื้อแดงจำนวนมากก็เคยอยู่ในขบวนการนี้ แต่ได้แยกออกไปในภายหลัง) ต่อมาได้มีการขยายประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น บวกกับความไม่จงรักภักดี เป็นประเด็นดึงมวลชนเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อเหลือง เพื่อล้มระบอบ “ทักษิณา-ประชานิยม”

แล้วนำเมืองไทยกลับสู่ระบอบก่อนทักษิณ หรือที่เอนกเรียกว่า ระบอบหลัง 14 ตุลา 2516

สำหรับต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างนั้น นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งได้ทับถมมาจากอดีต (นิธิ, บวรศักดิ์, เอนก, เกษียร, ปีเตอร์ วอร์, ริค โดเนอร์, ชาร์ลส์ คายส์)

งานวิจัยภาคสนามของเอนกและคณะ สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้ตัวอย่างกว่า 5,500 ราย พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเป็นที่ตระหนักกันว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงมาจากเขตชนบทของภาคอีสานและเหนือเป็นจำนวนมาก และที่เป็นคนงานอพยพทำงานในเขตเมืองต่างๆ และที่กรุงเทพฯ และยังมีมาจากคนรายได้ระดับปานกลางและต่ำภายในเขตเทศบาล

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อีสานและภาคเหนือของไทยรู้สึกอยู่เสมอว่าชาวเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯดูถูกดูแคลนพวกเขา บ้างก็ว่าเป็นคนลาว คนเมือง ไร้การศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ ละครโทรทัศน์จำนวนมากให้ภาพตัวละครจากอีสานหรือชาวบ้านชนบทเป็นคนเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ และผู้สร้างละครมักจะไม่สนใจว่าชาวบ้านจริงๆ เขารู้สึกรู้สากับภาพพจน์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาตระหนักดี และอาจจะเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ลึกๆ มาเป็นเวลานาน

สำหรับปัญหาโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่อง “จนแทบตายแบบแต่ก่อน” แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนมี” “คนไม่มี” โดยในประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความมุ่งหวัง (rising expectation) ด้วย

คนจนในเมืองไทยเคยมีถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (พ.ศ.2503) แต่ขณะนี้ (2550) ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกลับสูงขึ้น สถิติที่มีอยู่บอกเราว่า คนจนร้อยละ 20 ของประเทศเคยมีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 6 ขณะนี้ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 แต่คนรวยสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศเพิ่มจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 54

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเมืองไทยขณะนี้สูงกว่าที่ในยุโรป และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน แต่สูงกว่าที่อเมริกาเพียงเล็กน้อย

นักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า บางทีเจ้าตัวปัญหาอาจจะไม่ใช่ขนาดของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะที่อเมริกาก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่ บางทีเจ้าตัวปัญหาหลัก คือ มีความคาดหวังแล้วผิดคาด

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่มาปะทุขึ้นมากหลังจากที่เศรษฐกิจบูม แล้วฟุบลงอย่างฮวบฮาบ เศรษฐกิจบูมสร้างความมุ่งหวังให้ผู้คนจำนวนมาก แล้วจู่ๆ เศรษฐกิจฟุบฮวบลงเมื่อ พ.ศ.2540 คนรวยก็เจอปัญหา แต่คนรวยสายป่านยาวกว่า และมีพรรคพวกอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะช่วยได้มากกว่าคนจน ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยว่าจึงมีความคับข้องใจสูง

โดยสรุป ปัญหาโครงสร้างมีองค์ประกอบของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และความคาดหวังที่ไม่สมหวังด้วย

ภาวการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบทักษิณพุ่งขึ้นสู่อำนาจได้ ปัญหาโครงสร้างนี้ถ้าไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นตอก็ไม่จะไม่สามารถป้องกันการก่อตัวของนักการเมืองแบบทักษิณในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่ใช้ทักษิณก็อาจมีคนอื่นพุ่งขึ้นมาได้

จากข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมานี้ เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ประการที่หนึ่ง การที่คู่ความขัดแย้งมีมวลชนหนุนหลังอยู่พอๆ กันและเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ทางออกที่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีต้นทุนสูงมาก จนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง ทั้ง 2 ขั้ว มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (พรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยมที่อังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้) ที่ต้องคิดคือ ต้องสร้างกรอบกติกาทางการเมืองที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้แบบสร้างสรรค์ เอนกและคณะได้กล่าวไว้ให้คิดต่อว่า

“ทางเลือกที่จะเดินต่อไปนั้น คือ การปราบปราม ขจัด หรือบั่นทอนสีแดง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา 2516 ให้คงต่อไป แต่วิธีการนี้อันตรายเหลือเกินสำหรับสถาบัน จำเป็นที่จะต้องร่วมกันลอกคราบประชาธิปไตยและเดินอีกทางหนึ่ง คือ ไม่ให้ใครแพ้หมด ชนะหมด…

ประชาธิปไตยจากนี้ไปจะต้องฟังเสียงของประชาชนในความหมายของข้างมาก…(หน้า 119)

แต่ต้องเคารพสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย” (หน้า 127) และ

“ระบอบใหม่นี้…ยังต้องขึ้นกับสามฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ Monarchy (สถาบันในความหมายจำกัดยิ่งขึ้น) หนึ่ง Aristocracy (หมายรวมถึงคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา สื่อ ปัญญาชน ข้าราชการ) หนึ่งและ Democracy (ประชาชนผู้หย่อนบัตร คนธรรมดา สามัญชน คนยากจน) เพียงแต่ลูกตุ้มของนาฬิกาการเมืองเรือนนี้จะเหวี่ยงไปสู่ขั้ว Democracy มากขึ้น” (หน้า 119) ผู้เขียนเข้าใจว่าเอนกและคณะวิเคราะห์ระบอบนี้ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง

ประการที่สาม เนื่องจากต้นตอของปัญหายังมีเรื่องความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย

เมื่อพูดถึงการประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ จึงต้องหมายถึงการนำคนระดับหัวของทั้งสองฝ่ายให้มาพูดคุยกัน ในประเด็นนี้นั้นข้อคิดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงน่าพิจารณา “ถ้าคุณกล่าวว่ามิสเตอร์ x (ทักษิณ) เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักเหตุผลคุณจะต้องเจรจากับมิสเตอร์ x”

ขอฝากข้อสังเกตทั้งสามประการนี้ให้รัฐบาลนำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขบคิดและดำเนินการ เพราะว่านี่เป็นภารกิจของท่านโดยแท้

มติชนรายวัน, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 11792

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ในบทความที่กล่าวถึง ระดับของความคาดหวัง และระดับรายได้ ควรอ่านประกอบเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น กับบทความด้านล่างนี้

“เสื้อแดงคือใคร, อภิชาติ สถิตนิรามัย”

http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!859.entry

รวมคลิปเด็ด ของพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ใน Youtube

10 April 2009 2 comments

รวมคลิปเด็ด ของพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ใน Youtube

ปกติก็ไม่เคยไปหาคลิปพวกนี้ดู
แต่ว่าไปเจอที่มีคนรวบรวมมาให้
ดูแล้วสนุกสนานอย่างไร ก็ลองเผยแพร่กันไป
ว่าทั้งเสื้อแดง นปช. หรือ เสื้อเหลือง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำอะไรอย่างไรกันบ้าง
แล้วผลที่ตามมาต่างๆ เป็นอย่างไร

คลิปฮอตและคลิปแนะนำ ทั้งที่เกี่ยวกับพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ชุมนุมยึดทำเนียบ และ ปชป.

[hot] clip คลิป ตะลึง ท้าวมหาพรหมถูกควักดวงตา+มาร์ค จับไม้กวาด(ไม่เป็น)ปัดเป่าซากใครทำ? [ช่อง9]
http://www.youtube.com/watch?v=bwVzp5h_VJA

[hot] clip คลิป ตะลึง ท้าวมหาพรหมถูกควักดวงตา [ช่อง 7]
http://www.youtube.com/watch?v=HbrJ6iJxB60

[hot] clip คลิป ตะลึง ท้าวมหาพรหมถูกควักดวงตา [ช่อง 5]
http://www.youtube.com/watch?v=pdmFI7J4-gw

[hot] clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) ชูภาพพระฉายาลักษณ์ ยิงปืนใส่กลุ่ม Taxi และเผาทำลายรถอย่างบ้าคลั่ง
http://www.youtube.com/watch?v=KNhLI3LDgzQ

[hot] clip คลิป สนธิ ลิ้มทองกุล กับ พฤติกรรมที่เหยียบย่ำจิตใจคนไทยทั้งชาติ (ลานพระบรมรูปทรงม้า)
http://www.youtube.com/watch?v=cqOy_jShU04

[แนะนำ] clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) ช่วงยึดทำเนียบ แถลงไม่เปิดพื้นที่ถนนราชดำเนินในช่วงพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพ
http://www.youtube.com/watch?v=NCQArJHM4Vo

[แนะนำ] clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) นำพระบรมฉายาลักษณ์มาทำโล่
http://www.youtube.com/watch?v=Ij4AhZTxBlk

[แนะนำ] clip คลิป ความจริงวันนี้ 7 ตุลา วีรชนหรือเหยื่อ [hero or victim]
http://www.vdo5.com/view_video.php?viewkey…0c8a7ae7684644e

[แนะนำ] clip คลิป ความจริงวันนี้ 1 กันยา พันธมิตร (เสื้อเหลือง) ฆ่าประชาชน [Clash of the Thai-tans]
http://www.vdo5.com/view_video.php?viewkey…788d543508116cb

[แนะนำ] clip คลิป มาร์ค อภิสิทธิ์ เดี่ยวไมโครโฟน [ปชป.รับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง]
http://www.youtube.com/watch?v=igyUhnIglx4

[แนะนำ] clip คลิป รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง [มาดูโฉมหน้ากัน ว่ามีใครเคยพูดกันบ้าง?]
http://www.youtube.com/watch?v=DqR9eU3Coeg


คลิปพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ในช่วงก่อน หลัง และระหว่างการชุมนุมยึดทำเนียบ

clip คลิป ตะลึงรายวัน พบระเบิดปิงปองจำนวนมากในท่อระบายน้ำใกล้ทำเนียบ
http://www.youtube.com/watch?v=aoI2n_cH-mc

clip คลิป พบศพที่ดอนเมืองและอาวุธสงครามเพียบที่ทำเนียบ
http://www.youtube.com/watch?v=ztEgS8JNVoU

clip คลิป พบระเบิดที่ทำเนียบเพี่มอีกเพียบ หลังพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ยึดทำเนียบ [tik4u007]
http://www.youtube.com/watch?v=xux1TtiZE74

clip คลิป “เฮ้ยยิงเลย ฆ่ามัน เฮ้ยยิงเลย ฆ่ามัน” ปังๆๆๆ [พบมีการปาระเบิดด้วยจากภาพช้า วินาทีที่ 25-30]
http://www.youtube.com/watch?v=G_vDu3SHp8Y

clip คลิป พบปุ๋ยยูเรีย 10 ก.ก.เชื้อประทุ และอาวุธจำนวนมากในทำเนียบฯ
http://www.youtube.com/watch?v=qED3WmIIaII

clip คลิป ภาพความเสียหายภายในทำเนียบ หลังพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ยึดทำเนียบ
http://www.youtube.com/watch?v=PuJpZReAts4

clip คลิป ตะลึง”ป้ายขี้”ในห้องรมต เจอระเบิดเพิ่ม ทำเนียบยับทรัพย์สินสูญหาย ขรกร่ำไห้ NBTedition
http://www.youtube.com/watch?v=sikaXeyhhbU

clip คลิป พบระเบิดเพิ่ม ทำเนียบยับทรัพย์สินสูญหาย ขรกร่ำไห้ Mcot-edition2
http://www.youtube.com/watch?v=yEMAHgJmJwM

clip คลิป ข้าราชการร่ำไห้ ทำเนียบยับ-ทรัพย์สินสูญหาย-พบระเบิดเพิ่ม หลังพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ยึดทำเนียบ [ช่อง7 edition]
http://www.youtube.com/watch?v=1t11RX-pQk4

clip คลิป โหด การ์ดพันธมิตร (เสื้อเหลือง) วิ่งไล่ตีก่อนจับยิงทิ้ง เดชะบุญมีคนพบรอดปาฏิหารย์
http://www.youtube.com/watch?v=itBGxiJJRHk

clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) เรียงคิวเข้าแถวขโมยกินไอศกรีม
http://www.youtube.com/watch?v=FSOIVkDZ_I0

clip คลิป สนธิ ลิ้มทองกุล สั่งพลีชีพยิงทิ้งตำรวจ
http://www.youtube.com/watch?v=gBsuhGtqYuE

clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) ป่วนเมืองล้อมจะทำร้ายตำรวจ ตำรวจใจเด็ดเอาตัวเข้าขวาง
http://www.youtube.com/watch?v=pYnVRidq8wM

clip คลิป ผู้ใช้รถบนถ.วิภาวดีสุดทนรถพันธมิตร (เสื้อเหลือง) Part2 (แจกมะพร้าว)
http://www.youtube.com/watch?v=gNKCSoRO7u0

clip คลิป ผู้ใช้รถบนถ.วิภาวดีสุดทนรถพันธมิตร (เสื้อเหลือง)
http://www.youtube.com/watch?v=uWasw0y6zA8

clip คลิป จับการ์ดพันธมิตร (เสื้อเหลือง) พร้อมอาวุธปืน Part2
http://www.youtube.com/watch?v=mHm9OO22q9c

clip คลิป จับการ์ดพันธมิตร (เสื้อเหลือง) พร้อมอาวุธปืน
http://www.youtube.com/watch?v=oA-_wPkgFpo

clip คลิป โอละพ่อ สิ้นเสียงระเบิดที่ ASTV ตำรวจสามารถจับยามเฝ้าแผ่นดินยิงอาวุธปืน
http://www.youtube.com/watch?v=vZYGh2yWbFw


คลิปอื่นๆที่น่าสนใจ ของพันธมิตร ที่เรียกกันว่าคลิปเสื้อเหลือง

clip คลิป นาที ผู้ประกาศ ASTV เปิดก้นโกยแนบ
http://www.youtube.com/watch?v=TW5VM_D0buE

clip คลิป ตำรวจจับพันธมิตร (เสื้อเหลือง) พบปืนกลอูซี่อ้างเป็นของการ์ด สนธิ ลิ้มทองกุล
http://www.youtube.com/watch?v=JHjlDJlgQJU

clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) รุมทำร้ายเจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ
http://www.youtube.com/watch?v=nLp78-lRkWI

clip คลิป ชาวต่างชาติสุดทน PAD Hooligans ปิดล้อมสนามบิน
http://www.youtube.com/watch?v=mazTO9btkmE

clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) รุมทำร้ายนายตำรวจหลังปิดล้อมสนามบิน
http://www.youtube.com/watch?v=R3YVxbMko1U

clip คลิป จับพันธมิตร (เสื้อเหลือง) ปล้นรถเมล์ PAD hijack buses พร้อมอาวุธปืนระเบิด
http://www.youtube.com/watch?v=OAo0GBZffo8

clip คลิป เค 100 ล้าน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 – 23 พ.ย. 51
http://www.youtube.com/watch?v=02PsaeH0_bk

clip คลิป คนกลางที่ไม่เอาพันธมิตร (เสื้อเหลือง) +นปก.คือพวก…? [ในสายตาสนธิ ลิ้มทองกุล]
http://www.youtube.com/watch?v=eAsPsGrfXbE

clip คลิป ลับ ลวง คราง 1 [สนธิ ลิ้มทองกุล หลุด การ์ดพันธมิตร (เสื้อเหลือง) พกอาวุธปืน]
http://www.youtube.com/watch?v=Fr1rmugVa-8

clip คลิป จับการ์ดพันธมิตร (เสื้อเหลือง) พบอาวุธเครื่องกระสุนปืนและระเบิดปิงปองจำนวนมาก
http://www.youtube.com/watch?v=YAtGOS93hSA

clip คลิป PAD Houston พันธมิตร ฮูสตัน โชว์ความหยาบจิตใจต่ำ ซ้ำเติมนายสมัครที่เดินทางไปรักษาตัวโรคมะเร็ง
http://www.youtube.com/watch?v=XFeL0ZElLKM

clip คลิป ภาพต้นฉบับจากกล้องวงจรปิด พันธมิตร (เสื้อเหลือง) รุมทำร้ายตำรวจ CCTV [palrakonline]
http://www.youtube.com/watch?v=rGJskL2BL48

clip คลิป พันธมิตร (เสื้อเหลือง) ชุมนุมโดยสงบ [ปราศจากอาวุธและใบกระท่อม]
http://www.youtube.com/watch?v=U1oKQ6D3z0Q

clip คลิป นักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตร มาดูงาน NBT? [พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ NBT!]
http://www.youtube.com/watch?v=o3fpfiRIUWk

clip คลิป จับพันธมิตร (เสื้อเหลือง) พัทลุงเสพยาบ้าพกปืนไปกู้ชาติที่สุรินทร์
http://www.youtube.com/watch?v=5OhqueUZKvU

clip คลิป ช่อง7 จับช็อตเด็ด พันธมิตร (เสื้อเหลือง) รุมกระทืบชาวบ้าน [palrakonline]
http://www.youtube.com/watch?v=N-404eo2TRU

“สมัคร” ไปไม่รอด !!! อารยะขัดขืนของพันธมิตรประหลาดๆ

11 September 2008 Leave a comment

“สมัคร” ไปไม่รอด !!! อารยะขัดขืนของพันธมิตรประหลาดๆ

สัมภาษณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4035

“นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักประวัติศาสตร์และคอลัมนิสต์ที่มีคนอ่านมากกว่า 1 ล้านคน ฟันธง (ฉับ) ว่า สมัครไปไม่รอด แน่ๆ

แต่ถึงกระนั้น อาจารย์นิธิก็เชื่อว่า สังคมไทยอยู่ในช่วงระยะปรับตัว ถึงแม้ไม่มีคนชื่อ “สมัคร สุนทรเวช” หรือ คนชื่อ “สนธิ ลิ้มทองกุล” วัฒนธรรมทางการเมืองไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ดี

“ประชาชาติธุรกิจ” นั่งสนทนากับอาจารย์นิธิในห้วงเวลาที่การเมืองไทยกำลังปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

– หลายคนเริ่มหวั่นวิตกแล้วว่า ถ้าพันธมิตรฯชนะจะน่ากลัวมาก

ก็น่ากลัว ผมเห็นด้วย ถ้าเผื่อว่าคนที่จะเอาสมัครออก จะเป็นกองทัพ เป็นศาล เป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้าออกโดยถูกต้อง ตามกฎหมาย เช่น ศาลสั่งจำคุก อันนี้ผมว่าจะไม่เกิดปฏิกิริยากับคนต่างจังหวัด รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่ถ้าสมมติว่าออกโดยการบังคับให้ออกแบบผิดกฎหมาย ผมว่าอันนี้ยุ่ง เพราะว่าคนต่างจังหวัดจะ ไม่ยอม

– หลายคนพูดถึงบทความอาจารย์ธงชัย (วินิจกุล) ว่า เมื่อเกลียดทักษิณก็อย่าทำอย่างทักษิณ และพันธมิตรฯก็ควรมอบตัวต่อศาล

จริง… ผมเห็นด้วย เพราะเป็นอารยะ ขัดขืนประหลาดๆ อารยะขัดขืนหมายความว่า คุณพร้อมที่จะรับโทษ เพราะการรับโทษทำให้ประเด็นคุณแข็งขึ้น เพราะกฎหมายหรือการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นธรรม ใครๆ ก็เห็นว่าไม่เป็นธรรม ยิ่งคุณโดนลงโทษ ยิ่งดีใหญ่เลย แต่นี่มันไม่ใช่ สิ่งที่คุณขัดขืน คนยังไม่เห็นว่าไม่เป็นธรรม

– แถลงการณ์จากหลายองคกร์ให้ยุติความขัดแย้ง ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไร แล้วเราจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกมั้ย

ทำแค่นี้ไม่พอก็จริง แต่ขณะเดียวกัน ผมกลับคิดว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมไทย เพราะเกิดความเห็นพ้องต้องกันทันทีหลังจากวันที่ปะทะกัน หรือวันที่ตำรวจเข้าไปลุยว่า เราต้องยุติความรุนแรง ผมว่าเป็นความเห็นร่วมกันที่ออกมาอย่าง ค่อนข้างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว แล้วก็แรง

เพราะผมคิดว่า ในอนาคตข้างหน้า กว่าระบบการเมืองจะลงตัว ไม่ว่ากี่ปีก็แล้วแต่ เราจะเสี่ยงกับความรุนแรงเยอะมาก ฉะนั้นสิ่งเดียวที่สังคมทำได้เวลานี้คือ ต้องพยายามอย่าให้รุนแรง อย่าให้ นองเลือด

– บ้านเราจะกลายเป็นเหมือนฟิลิปปินส์หรือไม่ คือมีแต่ความขัดแย้ง ปะทะกัน ยืดเยื้อยาวนาน

ก็เป็นไปได้ (นะ) ในฟิลิปปินส์จริงๆ แล้ว มันแบ่งระหว่างกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนชั้นกลางกับคนชั้นกลางชัดเจนมาก ทั้งในฟิลิปปินส์หรือละตินอเมริกา มีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในละตินอเมริกาดีขึ้นในแง่ที่ว่า เริ่มมีการยอมรับว่าต้องใช้กติกาประชาธิปไตยในการตกลงความขัดแย้งมากขึ้น

– อาจารย์มองบทบาทสื่ออย่างไร ทำหน้าที่เป็นกลางพอหรือไม่

ไม่พอ…ผมว่าไม่พอ ขาดมากเลย จริงๆ แล้วผมว่ามีเรื่องที่สื่อจะเจาะ คือ ต้องเปิดทุกประเด็นออกมา เพื่อที่จะให้เราไม่ตกอยู่ในการที่จะต้องเลือกแค่ 2 ขั้ว ต่อมาคือ

ถ้าเลือก 2 ขั้ว ถามว่าคุณเจาะลึกพอมั้ย ผมว่าไม่พอ สื่อขยันพอที่จะไปถามว่าคนที่อยู่ใน นปก. ถูกจ้างมาเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายที่คุณรู้ว่าไม่ถูกจ้าง แต่มีเหตุอะไร ที่ทำให้ออกมานั่งที่ทำเนียบฯ

ทำไมถึงคิดว่าการจ้างอย่างเดียวเป็น ความชั่ว หรือความโง่ แล้วไปถาม (นะ) ผมเชื่อเลยว่า คนที่ร่วมอยู่ในพันธมิตรฯ miss inform คือถูกบอกผิดเยอะมาก ข่าวแต่ละวันตอนนี้คือ สมัครพูดยังไง พันธมิตรฯ หรือ ผบ.ทบ. พูดว่าอะไรก็จบ ไม่พอครับ เพราะทำให้สังคมไม่รู้อะไร ที่อยู่เบื้องหลังระหว่างสมัครกับพันธมิตรฯเยอะมาก

– ถ้าสมัครลาออก หรือยุบสภา การชุมนุมยึดทำเนียบควรจะยุติหรือไม่

ถ้าสมัครลาออก ผมคิดว่าเหตุผลในการจะอยู่ที่ทำเนียบฯ จะลดลงแยะเลย แล้วรัฐบาลใหม่ที่ขึ้นมาอย่างี่เง่าเท่าสมัคร (นะ) ผมว่าลดได้ ถ้าคุณสมัครฉลาดกว่านี้ผมว่าลดไปตั้งนานแล้ว เพราะทุกครั้งที่กำลังจะลด สมัครก็ไปทำอะไรบางอย่างให้คนเพิ่มเข้ามาอีก

– อาจารย์มองจุดยืนประชาธิปัตย์ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างไรบ้าง

ถ้าจะมีการเลือกตั้งในภายหน้า ความได้เปรียบที่จะทำให้ล้มรัฐบาลได้ แล้วรวบรวมพรรคพวกขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่ ทำอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันผมว่ายังมีมิติการเมืองอื่นๆ ที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้สนใจเลย ก็เลยทำให้กลายเป็นเกมการแย่งอำนาจธรรมดาๆ

ส่วนพรรคร่วม ผมคิดว่าเขาไม่มีทางเลือก เพราะเป็นพรรคเล็กทั้งนั้นคือ เลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าหลายพรรคอาจจะหายไปเลย แล้วพรรคใหญ่อย่าง ชาติไทย มีแต่จะหดลง ขยายไม่มี (นะ) เพราะฉะนั้น เขาไม่อยากเลือกตั้ง เขากลัวสมัครยุบสภา แล้วเขาก็รู้ด้วยว่า ถ้าเขาบีบหนักๆ ให้คุณสมัครออก คุณสมัครยุบ..

– ถึงนาทีนี้อาจารย์คิดว่า ยังไม่มีทางออกสำหรับสังคมไทย

มองไม่ออกครับว่าต่อไปข้างหน้าจะเป็นยังไง ผมรู้แต่เพียงว่าไม่ใช่แค่กรณีพันธมิตรฯ กรณีอย่างนี้จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องของสนธิกับสมัคร

– ชั่วโมงนี้ นายกฯสมัครจะไปไม่รอดหรือไม่ อย่างไร

ผมคิดว่าไม่รอด เพราะตอนนี้ไม่รู้จะออกทางไหนจริงๆ คุณเป็นนายกฯได้ยังไงโดยที่ทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ไปไม่รอดหรอก จะรออยู่อย่างนี้ได้ยังไง เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แล้วผมคิดว่าก็ไม่ช้าเท่าไหร่ด้วย ไม่น่าจะเกินเดือนหนึ่ง…ผมให้

– ในสภาพอย่างนี้ข้าราชการเองก็เกียร์ว่างกันหมด

ก็ไม่ใช่เกียร์ว่าง (นะ) คือ เขาไม่ใจแน่ว่าสิ่งที่คุณสมัครสั่งให้ทำจะถูกหรือผิดก็ไม่รู้ อย่างนี้ผมก็ไม่กล้าหรอก เป็นใครก็ไม่มีใครกล้า ไปสั่งคุณอนุพงษ์ (เผ่าจินดา) แกยังไม่เอาด้วยเลย

– ถ้าพูดเรื่องปฏิวัติรัฐประหารช่วงนี้ จะเชยไปมั้ย

เชย…มันเชยแน่ แต่ที่ผมเชื่อ 2 อย่างคือ อย่างแรกผมเชื่อว่า ไม่มีกองทัพไทยเหลือในเวลานี้ คือ พอพูดคำว่ากองทัพไทยขึ้นมา คุณหมายถึงองค์กรซึ่งมีศูนย์รวมของการบังคับบัญชา ซึ่งไม่มี เวลานี้แตกหมด ฉะนั้นคุณจะทำยังไง ไม่มีความเป็นเอกภาพ อย่างที่สอง คุณรัฐประหารแล้วคุณจะทำอะไรต่อ มันชัดเจนว่าถ้าคุณจะทำสิ่งที่คุณคิดว่าควรทำแน่ๆ รับรอง..นองเลือด นองเลือดแน่นอน

– มีสื่อมวลชนรายงานข่าวอ้างว่า ทักษิณ จะทุ่มเงินซื้อกองพลกองพัน อาจารย์คิดอย่างไร

ซื้อกองพัน ผมคิดว่าทำไม่ได้ ทหารไทยผมว่าแปลกอยู่อย่าง (นะ) ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด กองทัพไทยเป็นกองทัพเดียวกระมังที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลเป็นคนตั้งขึ้นมา ส่วนกองทัพอื่นเกิดเอง เป็นกองโจร พอได้เอกราชก็เอากองโจรมารวมกัน กลายเป็นกองทัพแห่งชาติขึ้นมา

และด้วยเหตุดังนั้น กองทัพไทยจึงเป็น กองทัพที่เชื่อฟังในระบบบังคับบัญชาสูงมาก คือ สั่งให้ผมเคลื่อนรถถังออกมา ต้องแน่ใจนะว่า ผบ.ทบ.เอาด้วย อย่างน้อยสุดต้องแม่ทัพภาค 1 เอาด้วย (นะ) คือเราทำเองไม่เป็น ไม่เหมือนกองทัพฟิลิปปินส์ แค่นายพันก็ยึดอำนาจแล้ว

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol01110951&day=2008-09-11&sectionid=0202