Archive

Posts Tagged ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’

ปัญหาของอเมริกา, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

15 August 2011 Leave a comment

ปัญหาของอเมริกา

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่สำหรับอเมริกา คือ การถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือโดยเอสแอนด์พี จาก AAA เหลือ AA+

และถูกนำไปอธิบายว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง และทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก ผมไม่คิดว่าการกระทำของเอสแอนด์พี จะส่งผลกระทบได้ขนาดนั้น เพราะเอสแอนด์พี ก็เป็นเพียงบริษัทจัดอันดับหนึ่งราย ในขณะที่อีก 2 รายไม่ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม นักเศรษฐศาสตร์หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) มีความเห็นคล้อยตามไปกับเอสแอนด์พี ว่า ความวุ่นวายแตกแยกทางการเมืองที่ยืดเยื้อจนทำให้ได้ข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐในวินาทีสุดท้ายนั้น ทำให้เกิดข้อกังขาว่านักการเมืองของสหรัฐดูจะขาดความสามัคคี และความเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ

นอกจากนั้น ข้อตกลงซึ่งประธานาธิบดีลงนามออกเป็นกฎหมายก็ไม่ได้แก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐแต่อย่างใด แต่ผลักภาระให้กับคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นกำหนดรายละเอียดในการลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ก็จะใช้กฎหมายบังคับให้ลดรายได้ของกระทรวงต่างๆ ในวงกว้างใน 10 ปีข้างหน้า แต่ในที่สุดแล้ว กลับไม่ได้ตกลงกันในเรื่องหลักที่สำคัญ คือ การจะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนรัฐสวัสดิการ (ค่ารักษาพยาบาลและเงินประกันสังคม) อย่างจริงจังและความจำเป็นจะต้องเพิ่มภาษีนั้นกลับเป็นสองเรื่องหลักที่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด เมื่อเป็นเช่นนั้น เอสแอนด์พี จึงสรุปว่าแม้ข้อตกลงที่ประธานาธิบดีลงนามออกเป็นกฎหมายไปแล้วจะทำให้ลดการขาดดุลงบประมาณได้ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ใน 10 ปีข้างหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐหยุดขยายตัวเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีได้ กล่าวคือ วันนี้สหรัฐมีหนี้สาธารณะเท่ากับ 100% ของจีดีพี และหากลดการก่อหนี้ไป 2 ล้านล้านดอลลาร์ใน 10 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของสหรัฐก็จะยังเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 140-150% ของจีดีพีในที่สุด ทำให้มองได้ว่าในอนาคตนั้นประเทศสหรัฐอเมริกาอาจไม่ได้มีสถานะแตกต่างจากประเทศกรีซในปัจจุบันแต่อย่างใด ดังนั้น การปรับอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ จึงสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี บุคคลสำคัญของสหรัฐ เช่น นายอลัน กรีนสแปนยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่มีวันผิดชำระหนี้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐย่อมจะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเพียงพอที่จะคืนหนี้ของรัฐบาลสหรัฐได้ทั้งหมด ประเด็นนี้ก็จริงเพราะไม่น่าจะมีธนาคารกลางของประเทศใดจะยอมให้รัฐบาลของตนต้องล้มละลายไปต่อหน้าต่อตา ในอดีตที่รัฐบาลต้องล้มละลายลงนั้นก็เพราะรัฐบาลเป็นหนี้ต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมา เจ้าหน้าที่ต่างชาติที่ขาดความมั่นใจก็จะนำเอาเงินไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้เงินของประเทศลูกหนี้ลดค่าลงจนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีอภิสิทธิ์ เพราะเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ที่ประเทศต่างๆ ถือเป็นประเพณีที่จะเอาเงินดอลลาร์ไปใช้เป็นเงินสกุลหลักของโลก ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงสามารถพิมพ์เงินออกมาให้รัฐบาลสหรัฐใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ทั้งนี้จะเห็นว่าเงื่อนไขนี้จะเกิดขึ้นได้ตราบเท่าที่ทุกประเทศยึดถือเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก

ในความเห็นของผมนั้น “อำนาจพิเศษ” ของสหรัฐดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากการที่เงินดอลลาร์ ไม่อ่อนค่ามากนักในช่วงที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะคุมการสร้างหนี้ในอนาคตได้ การที่เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าลงแปลว่าประเทศอื่นๆ ในโลกยังซื้อเงินดอลลาร์มาเก็บเอาไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง (รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย) เมื่อเป็นเช่นนี้ หากผมเป็นนักการเมืองอเมริกัน ผมก็จะไม่ได้รู้สึกกดดันให้ต้องรีบแก้ปัญหาและรักษาวินัยทางการคลังแต่อย่างใด ก็ในเมื่อประเทศอื่นๆ รับ “กระดาษสีเขียว” ที่ผมพิมพ์ออกมาแลกกับการใช้จ่ายของผมอย่างไม่มีเงื่อนไข

ธนาคารกลางสหรัฐนั้นผมเห็นว่าจะต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นธนาคารกลางตัวอย่างจริงๆ ในเชิงของการเอาใจรัฐบาลสหรัฐ เพราะตั้งแต่สิงหาคมของปีที่แล้วก็ได้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าจะพิมพ์เงินเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 6 แสนล้านดอลลาร์ (นักลงทุนเรียกมาตรการนี้ว่าคิวอี 2) โดยบอกให้ทราบอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อดันราคาพันธบัตรรัฐบาลให้สูงและกดดอกเบี้ยพันธบัตรให้ต่ำ ทำให้พันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ที่เอกชนไม่อยากลงทุน ซึ่งเป็นการผลักดันให้เอกชนของสหรัฐและเอกชนทั่วโลกหันไปลงทุนอย่างอื่นที่มีความเสี่ยงมากกว่า จึงไม่แปลกอะไรที่ราคาหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างถ้วนหน้า มาวันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐประกาศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมว่ามีความพร้อมที่จะอุ้มเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแรงลงโดยจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีกอย่างน้อยถึงกลางปี 2013 และส่งสัญญาณว่าอาจจะมีคิวอี 3 หรือการเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลรอบใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ตลาดเชื่อว่าเมื่อธนาคารกลางสหรัฐลดการถือครองพันธบัตรที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันของเอกชน (mortgage backed securities-MBS) ลงไปแล้วก็จะนำเอาเงินดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยธนาคารกลางสหรัฐถือ MBS อยู่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์

กล่าวโดยสรุปคือธนาคารกลางสหรัฐมีเป้าหมายหลัก คือ การ “แย่ง” สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (พันธบัตรรัฐบาล) ออกจากมือของเอกชนโดยเอาเงินยัดใส่มือเอกชนให้ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นเพื่อให้เกิดกิจกรรมและความคึกคักทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นธนาคารกลางสหรัฐกำลังทำให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินได้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ เช่นปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีนั้นจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.3% และพันธบัตร 10 ปีจ่ายดอกเบี้ยเพียง 2.4% และมีท่าทีว่าจะต้องการทำให้ดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวต่ำลงกว่านี้อีกอย่างต่อเนื่อง จากการส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น

หากนักการเมืองของสหรัฐรับทราบว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นธนาคารกลางสหรัฐก็จะพิมพ์เงินให้รัฐบาลคืนหนี้ ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ยินยอมจะถือเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น และหากธนาคารกลางสหรัฐจะกดดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลให้ต่ำติดดินหรืออีกนัยหนึ่ง คือ รัฐบาลสหรัฐจะกู้เงินได้โดยจ่ายดอกเบี้ยต่ำ ผมก็สงสัยจริงๆ ว่านักการเมืองสหรัฐจะรู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องทำให้เกิดวินัยทางการคลังได้อย่างไร กล่าวคือ การ “เล่นการเมือง” ระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตในช่วง 1 ปีก่อนการเลือกตั้งก็น่าจะดำเนินต่อไป คือ รีพับลิกันจะไม่ยอมให้ขึ้นภาษีและให้ลดรายจ่ายด้านเดียว ในขณะที่เดโมแครตก็จะยืนยันว่าต้องเก็บภาษีคนรวย และไม่ลดรายจ่ายประชานิยม เมื่อการไม่บรรลุข้อตกลงไม่มีบทลงโทษ ก็ไม่มีแรงกดดันให้ตกลงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ตรงนี้เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น กรีก สเปน โปรตุเกส อิตาลี ซึ่งถูกตลาดกดดันผ่านการปรับขึ้นของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลทำให้ประเทศดังกล่าวต้องรีบเร่งที่จะผ่านกฎหมายเพื่อรักษาวินัยทางการคลังอย่างจริงจัง

หมายความว่าตราบใดที่เงินดอลลาร์สหรัฐไม่อ่อนค่าและดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ระดับต่ำเช่นปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่ผู้นำทางการเมืองสหรัฐจะบรรลุถึงข้อตกลงที่จะนำมาซึ่งวินัยทางการคลังอย่างยั่งยืนและยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ รัฐบาลสหรัฐก็จะมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ทำให้แก้ปัญหาได้ยากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญ คือ เมื่อดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐต่ำดอกเบี้ยระยะยาวของประเทศอื่นๆ ในโลกโดยเฉพาะประเทศที่ผูกค่าเงินของตนกับเงินดอลลาร์ (เช่น ไทยเพราะกลัวบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ทำให้กระทบการส่งออก) ต้องปรับลงตามไปด้วย เมื่อต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลต่ำ ก็ทำให้รัฐบาลของประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มจะใช้จ่ายเกินตัวและกล้าขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ นโยบายการเงินและคิวอี 2, 3 ของสหรัฐนั้นกำลังจะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่ผูกค่าเงินของตนกับเงินดอลลาร์ อาจเริ่มขาดวินัยทางการคลังตามสหรัฐไปด้วยครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 15 สิงหาคม 2554

การอุดหนุนให้ใช้น้ำมันดีเซล, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

3 May 2011 Leave a comment

การอุดหนุนให้ใช้น้ำมันดีเซล

โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

รัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มน้ำมันดีเซลลงเท่ากับที่เคยให้กองทุนน้ำมันจ่ายเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลประมาณ 6 บาทต่อลิตร

เพราะในที่สุด หลังจากใช้เงินกองทุนน้ำมันไปกว่า 20,000 ล้านบาทเงินก็หมดลงไปในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งน่าเสียดายเพราะเงินกองทุนน้ำมันนั้นน่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้ในการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน แต่กลับเป็นการใช้เพื่อส่งเสริมให้ใช้น้ำมันดีเซลอย่างไม่ต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงานแต่อย่างใด

ราคาที่สูงขึ้นนั้นเป็นกลไกตลาดที่สะท้อนให้ผู้ผลิตรับรู้ว่าสินค้านี้มีค่า เป็นแรงจูงใจให้ขวนขวายที่จะผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจะรับรู้ว่าสินค้านี้เป็นสินค้าหายากดังนั้นจึงต้องใช้อย่างประหยัด การปรับเปลี่ยนของราคาจึงเป็นการรักษาความสมดุลทางเศรษฐกิจ อะไรมีน้อยก็ใช้น้อย (โดยราคาจะเป็นตัวส่งสัญญาณ) ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลมีดำริจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยหวังดีว่าจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่ม แต่การตั้งราคา (แรงงาน) ที่สูงก็จะส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการพยายามลดการจ้างแรงงานลงเพราะมีราคาแพง ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานก็เสี่ยงที่จะว่างงาน คือ ไม่มีรายได้เลย ทั้งนี้ ยิ่งรัฐบาลบอกว่าจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวอีก 2 ปี ก็จะยิ่งทำให้มีการขยับขยายการลงทุน เพื่อใช้เครื่องจักรที่ทุ่นการใช้แรงงานหรือย้ายโรงงานไปผลิตที่ประเทศอื่น ทำให้การว่างงานในอนาคตน่าจะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างทั้งสองนี้สะท้อนให้เห็นว่าในกรณีหนึ่งรัฐบาลอยากให้สินค้าราคาถูกและในอีกกรณีหนึ่งอยากให้แรงงานราคาแพง แต่ทั้งสองกรณีผลที่ตามมานั้นผมเห็นว่ามีผลเสียมากกว่าผลดีอย่างชัดเจน แม้จะขัดกับวัตถุประสงค์และความหวังดีของรัฐบาล

ในส่วนของราคาดีเซลนั้นรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เพราะเชื่อว่าหากปล่อยให้ราคาปรับขึ้นไปที่ 36 บาท ผู้ประกอบการก็จะเรียกร้องปรับขึ้นราคาสินค้าหลายประเภท สมมติว่าดีเซลนั้นเป็นต้นทุนการผลิตและขนส่งประมาณ 10% ดังนั้น หากต้องปรับราคาดีเซลขึ้นไป 20% ก็จะทำให้ราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 2% รัฐบาลเลยนึกว่าหากต้อง “จ่าย” เงินอุดหนุน (โดยยอมไม่เก็บภาษี) วันละ 350 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ก็ยังคุ้มค่าเพราะแปลว่าต้องจ่ายเงินปีละ 120,000 ล้านบาท หรือ 1.2% ของจีดีพี เพื่อแลกกับการคุมเงินเฟ้อ 2% ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุมราคาสินค้าอีก 3-4 เดือนก่อนการเลือกตั้งน่าจะคุ้มค่าและรัฐบาลจะสามารถรับภาระได้ แต่ที่นึกว่ารัฐบาลรับภาระนั้นอันที่จริงเป็นประชาชนผู้จะเสียภาษีในอนาคตเพิ่มขึ้นจะเป็นผู้ต้องรับภาระ

แต่การบิดเบือนราคาดีเซลให้ถูกลงเมื่อเทียบกับน้ำมันประเภทอื่นๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจได้ เพราะเมื่อรัฐบาลปรับลดภาษีดีเซลลงไปเกือบหมด ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำของการเก็บภาษีคือดีเซลจ่ายภาษีและเงินเข้ากองทุนน้ำมันประมาณ 2 บาทต่อลิตร ในขณะที่น้ำมันประเภทอื่นๆ จ่ายภาษีและเงินเข้ากองทุนน้ำมันมากกว่า 2-9 เท่า คือ ประมาณ 7-18 บาทต่อลิตร จะเห็นได้จากราคาหน้าโรงกลั่นว่าน้ำมันทุกประเภทราคาจริงนั้นใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 24 บาทต่อลิตร ยกเว้นดีเซลซึ่งที่จริงแล้วราคาแพงกว่าเบนซินที่ 26.5 บาทต่อลิตร กล่าวคือ ที่จริงแล้วคนไทยควรใช้เบนซินมากกว่าดีเซล เพราะเบนซินนั้นต้นทุนการผลิตต่ำกว่า แต่นโยบายที่บิดเบือนราคาทำให้ขณะนี้ทุกคนรุมใช้ดีเซลประมาณ 53.3 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่น้ำมันเบนซิน E85 (มีเอทานอล 85% และเบนซิน 15%) ซึ่งกองทุนน้ำมันชดเชยให้ 13.50 ต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกเหลืออยู่เพียง 23 บาทต่อลิตร แต่มีรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมัน E85 ได้เพียงไม่กี่คันในประเทศไทย

ผมเคยเขียนถึงการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลสรุปได้ว่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินนั้นเกือบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตั้งแต่ปี 2002 คือ ใช้เฉลี่ยวันละ 20 ล้านลิตรต่อวันมาโดยตลอด แต่การใช้ดีเซลนั้นเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 44 ล้านลิตรต่อวันในปี 2002 มาเป็น 53.8 ล้านลิตรในปี 2004 ซึ่งรัฐบาลทักษิณอุดหนุนการใช้ดีเซลและลดลงมาเหลือ 50.3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2006 และปรับขึ้นมาที่ 53.5 ล้านลิตรอีกครั้งจากตัวเลขล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ (ดีเซลและไบโอดีเซล) ทำให้อาจสรุปได้ว่าการอุดหนุนดีเซลนั้นทำให้มีการใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 3 ล้านลิตร แม้ว่าต้นทุนการผลิตสูงกว่าเบนซินประมาณ 2 บาทต่อลิตร แปลว่านโยบายอุดหนุนดีเซลนั้น นอกจากจะทำให้เสียรายได้ของรัฐปีละ 120,000 บาทแล้ว ยังทำให้ประเทศใช้ดีเซลมากขึ้น (ทั้งๆ ที่ราคาแท้จริงแพงกว่าเบนซิน) อีกวันละ 3 ล้านลิตร เปลืองเงินของประเทศเพิ่มขึ้นอีกปีละ 3,300 ล้านบาท

ผู้ใช้น้ำมันเบนซินนั้นไม่ใช่ทุกคนเป็นคนรวยตรงกันข้ามมีผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประมาณ 17 ล้านคัน ที่ต้องใช้เบนซินและจ่ายเงินให้รัฐลิตรละ 12-20 บาท เพื่อซื้อน้ำมันเบนซิน 91 หรือแก๊สโซฮอล์ 91 ในขณะเดียวกัน รถยนต์ราคาแพงหลายยี่ห้อก็ผลิตรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลออกมาเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ซื้อที่ต้องการประหยัดค่าน้ำมันลิตรละ 10 บาท สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากรัฐบาลจะต้องยกเลิกการอุดหนุนดีเซลในที่สุด ก็จะทำได้ยากมากเพราะจะมีกลุ่มที่เสียประโยชน์เพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปได้ว่าปริมาณการใช้ดีเซลจะเพิ่มขึ้นเป็น 55-56 ล้านลิตรต่อวันในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาล (ใหม่หลังการเลือกตั้ง) จะต้องมาพิจารณามาตรการอุดหนุนอีกครั้งหนึ่งซึ่งคงจะต้อง “วัดดวง” ว่า ในวันนั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงหรือปรับขึ้น แต่ผมสงสัยว่าน่าจะทรงตัวหรือปรับขึ้นมากกว่า

เมื่อวันที่ 19 เมษายน หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal รายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ซาอุดีอาระเบียเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยพยายามปรับเพิ่มปริมาณการผลิตและชี้นำให้โอเปคลดราคาน้ำมันมาเป็นการเห็นดีเห็นงามกับอิหร่านที่ต้องการให้โอเปคปรับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เพราะประเทศซาอุฯ และประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในการต้องเพิ่มนโยบายประชานิยมเพื่อลดความเสี่ยงที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลดังที่เกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง เช่น อียิปต์ ลิเบียและตูนิเซีย ในกรณีของประเทศซาอุฯ นั้นรัฐบาลสัญญาว่าจะใช้เงินงบประมาณเพื่อสร้างงานและขึ้นเงินเดือน ตลอดจนจ่ายเงินทดแทนให้ผู้ตกงานรวมทั้งสิ้นอีก 129,000 ล้านดอลลาร์ (3.87 ล้านล้านบาท) ต่อประชากร 26 ล้านคน หรือเกือบ 150,000 บาทต่อคน

เนื่องจากประเทศตะวันออกกลางส่วนใหญ่พึ่งพารายได้น้ำมันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80-90% ของรายได้ของรัฐทั้งหมด จึงสามารถคำนวณได้ว่ารัฐบาลโอเปคจะต้องดันราคาน้ำมันให้สูงที่ระดับใดจึงจะมีเงินงบประมาณเพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งในกรณีของซาอุฯ นั้นน้ำมันจะต้องราคา 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้และเพิ่มขึ้นเป็น 110 ดอลลาร์ ในปี 2015 หากไม่ต้องการขาดดุลการคลัง สำหรับประเทศที่เงินขาดมืออยู่แล้ว เช่น อิหร่านและเวเนซุเอลานั้นย่อมจะยิ่งผลักดันให้น้ำมันราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับซาอุฯ ซึ่งเคยพอใจกับน้ำมันราคาประมาณ 70-80 เหรียญต่อบาร์เรลครับ

2 พฤษภาคม 2554

นโยบายการเงิน, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

11 April 2011 Leave a comment

นโยบายการเงิน

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บางครั้งยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร

ในการใช้ภาษาไทยเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจนั้นหลายกรณีจะเขียนหรือพูดรวมกันไปว่าเป็นเรื่อง “นโยบายการเงินการคลัง” ทำให้บางครั้งเข้าใจว่าการเงินกับการคลังนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ที่จริงแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ในวันนี้ จึงขอพักการรายงานและวิเคราะห์ข่าวเศรษฐกิจและหันมาคุยเชิงวิชาการ โดยในวันนี้ จะเขียนถึงนโยบายการเงินครับ

นโยบายการเงินนั้นคือการกำหนดปริมาณของเงินในระบบเศรษฐกิจ ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดปริมาณเงิน คือ ธนาคารกลางในกรณีของไทย คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย อำนาจที่พิมพ์เงินนี้เป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะการที่ระบบการเงินมีสภาพคล่องมากหรือน้อยนั้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับความคล่องตัวในการทำธุรกิจในระยะสั้น กล่าวคือ หากสภาพคล่องมีน้อยการทำธุรกิจก็ยากลำบากและฝืดเคือง แตกต่างจากการที่ธนาคารกลางเติมให้ระบบมีสภาพคล่องสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มความคล่องตัวของธุรกรรมทางธุรกิจ

หากธนาคารกลางเพิ่มสภาพคล่องมากก็ย่อมทำให้ดอกเบี้ย ระยะสั้น (หรือต้นทุนของสภาพคล่อง) ลดลงในทางตรงกันข้ามหากสภาพคล่องน้อยดอกเบี้ยก็จะต้องสูง ทั้งนี้ ในกรณีของไทยนั้นเมื่อ ธปท.ปรับดอกเบี้ยขึ้นก็แปลว่า ธปท.จะลดสภาพคล่องเพื่อผลักดันให้ดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐนั้นนอกจากจะกดดอกเบี้ยระยะสั้นลงเหลือเพียง 0.25% ยังมีนโยบายพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอีกเดือนละกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ก็แปลว่าธนาคารกลางสหรัฐต้องการทุ่มเงินเข้าระบบ เพื่อให้ได้มีสภาพคล่องใช้กันอย่างเหลือเฟือ

นอกจากสภาพคล่องพื้นฐานคือการเพิ่มปริมาณธนบัตร (เงินตรา) ในระบบแล้วก็ต้องดูด้วยว่าธนาคารพาณิชย์มีศักยภาพในการนำเอาสภาพคล่องดังกล่าวไปปล่อยกู้ต่อได้มากน้อยเพียงใด เช่น ในช่วงหลังวิกฤติประมาณ 1998-2002 นั้น ธนาคารพาณิชย์ของไทยปล่อยกู้น้อยมาก แม้ดอกเบี้ยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและอยู่ที่ระดับต่ำ แต่ในช่วงดังกล่าวธนาคารยังมีทุนสำรองน้อยและยังห่วงปัญหาหนี้เสีย ประกอบกับผู้ประกอบการก็ยังไม่มั่นใจที่จะขยายธุรกิจในช่วงดังกล่าวแม้ดอกเบี้ยจะต่ำ (สภาพคล่องเหลือใช้มาก) แต่ก็ไม่สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักขึ้นได้ ในอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีของธนาคารกลางจีน ซึ่งต้องการควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่า 5% แต่ก็ยังไม่อยากปรับดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นนัก (เพราะจะเป็นภาระกับผู้กู้เงิน) จึงใช้การควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์แทน คือ บังคับเพิ่มทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์หลายครั้งจนปัจจุบันธนาคารจะต้องมีทุน 1 หยวน เพื่อปล่อยกู้ 5 หยวน เป็นการกำหนดทุนสำรองที่สูงมาก เพราะมาตรฐานปกตินั้นหากมีทุน 1 บาท จะปล่อยกู้ได้ 12.50 บาท กล่าวโดยสรุป คือ อำนาจสำคัญของธนาคารกลางมีอยู่สองประการ คือ อำนาจที่จะพิมพ์เงินและอำนาจที่จะควบคุมการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมักจะมีผลเกือบเบ็ดเสร็จในการควบคุมสภาพคล่องและเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แต่ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศโดยเฉพาะสหรัฐนั้นบริษัทขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถแสวงหาสภาพคล่องเพิ่มเติมได้จากการออกตราสารหนี้ กล่าวคือ แทนที่จะต้องกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งเป็นตัวกลางทางการเงินก็สามารถกู้ตรงต่อผู้ให้กู้โดยการระดมเงินกู้จากตลาดตราสารหนี้นั่นเอง

การมีสภาพคล่องมากๆ นั้น ในระยะสั้นเป็นสิ่งที่ทุกคน (ทั้งธุรกิจ ผู้บริโภคและรัฐบาล) ชอบ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจคึกคัก แต่ปัญหา คือ การมีสภาพคล่องมากๆ ในระยะสั้นจะกลายเป็นเงินเฟ้อที่คุมไม่อยู่ได้ในระยะยาว การให้ความสำคัญที่สมดุลกันระหว่างระยะสั้นและระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือ นักธุรกิจและนักการเมืองตลอดจนลูกจ้างย่อมจะให้ความสำคัญกับปัญหาที่ท้าทายความอยู่รอดเฉพาะหน้า กล่าวคือ หากการกลัวเงินเฟ้อในอนาคตทำให้ธุรกิจล่มสลาย และมีการว่างงานในวันนี้ ก็จะเป็นเรื่องที่กดดันผู้บริหารประเทศอย่างมาก ดังที่ Keynes นักเศรษฐศาสตร์ที่เลื่องลือของโลกคนหนึ่งพูดว่า in the long run, we are all dead ดังนั้น จึงไม่ควรจะคำนึงถึงระยะยาวมากจนเกินกว่าเหตุ

แต่ในอีกมุมมองหนึ่งนั้นต้องเข้าใจว่าการพิมพ์เงินมากๆ จะไม่ช่วยให้ประชาชนร่ำรวยและเศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้น เพราะเงินเป็นเพียงเครื่องมือในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยผลิตสินค้าได้ 100 ชิ้น และมีเงินในระบบ 1,000 บาท สินค้าก็จะราคา 10 บาทต่อชิ้น แต่หากเพิ่มปริมาณเงินเป็น 100,000 บาท และสินค้าราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อชิ้น ก็ไม่ได้ทำให้ใครร่ำรวยขึ้น เพราะปริมาณสินค้าที่ผลิตก็ยังเท่ากับ 100 ชิ้นอยู่ดี จริงอยู่ในระยะสั้นปริมาณเงินที่เพิ่มมากขึ้นอาจกระตุ้นให้คนตัดสินใจลงทุน เพิ่มการบริโภคและต้องการกู้ยืมมากขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วการลงทุนที่ยั่งยืนจะต้องเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนที่คุ้มทุน และรายได้ประชาชนจะเพิ่มขึ้นจริงได้ก็จากการมีการศึกษาที่ดี การมีประสบการณ์และมีฝีมือ สำหรับประเทศแล้วก็ต้องมีการลงทุน มีประชาชนที่มีความรู้ แล้วก็ต้องมีทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาทางเทคโนโลยี การบริการจัดการที่มีประสิทธิภาพ การคุ้มครองทรัพย์สินที่เป็นธรรม และมีประสิทธิผล ฯลฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ปริมาณการเงินและสภาพคล่องไม่สามารถกำหนดได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหลักสากลว่าผู้กำหนดนโยบายการเงิน คือ ธนาคารกลางจะต้องไม่อิงกับผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากเกินไป เช่น หากอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของนักการเมือง ก็จะถูกกดดันให้เพิ่มสภาพคล่องมากในช่วงใกล้การเลือกตั้ง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางจะเป็นองค์กรอิสระเพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่มีองค์กรใดเป็นอิสระจากอำนาจและการกำกับของประชาชนได้ เช่น ในกรณีของสหรัฐนั้นก็มีระบบที่มองว่ามีความสมดุลระหว่างระยะสั้นกับระยะยาวและการต้องรับผิดชอบต่อประชาชน (accountability) แต่มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง โดยการกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางและการกำหนดให้ธนาคารกลางมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ในการดำเนินนโยบายการเงิน คือ การรักษาเสถียรภาพของราคา (มองระยะยาว) และการส่งเสริมให้มีการจ้างงานเต็มอัตรา (มองระยะสั้นด้วย)

ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึง ปัญหาสภาวะเงินเฟ้อเศรษฐกิจฝืด (stagflation) ในทศวรรษ 70 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายโดยบทเรียนจากช่วงนั้น คือ

1. มีความหวังดีจะไม่ดำเนินนโยบายการเงินที่รัดกุมเกินไปในช่วงที่เงินเฟ้อเกิดจากปัญหาน้ำมันแพง (cost-push) แต่ก็นำไปสู่การคาดการณ์ว่าจะมีเงินเฟ้ออย่างยืดเยื้อ ทำให้ทุกคนมีพฤติกรรมเรียกร้องการขึ้นราคาและขึ้นเงินเดือน ทำให้เงินเฟ้อฝังตัวในระบบเศรษฐกิจและมีแต่เพิ่มขึ้นไม่ลดลง

2. มีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถบริการจัดการเงินเฟ้อได้ โดยการควบคุมราคาสินค้าและส่งเสริมให้มีการเจรจาปรับค่าแรง แต่กลับกลายเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดส่งผลให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจจึงขยายตัวเชื่องช้า

สำหรับประเทศไทยนั้นการเผชิญปัญหาเงินเฟ้อในอนาคตจะมีความท้าทายอีกประการหนึ่ง คือ ระดับการเปิดของเศรษฐกิจสูง กล่าวคือ การส่งออกและนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 130% ของจีดีพีในปี 2010 สูงกว่าเมื่อทศวรรษ 70 เท่าตัว กล่าวคือ ประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงว่าจะมีเงินถูก “นำเข้า” มายังประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น แม้ ธปท.จะเน้นว่าการควบคุมเงินเฟ้อนั้นจะต้องอาศัยกลไกดอกเบี้ยเป็นหลัก แต่อาจต้องพึ่งพาอาศัยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นกลไกหลักอีกส่วนหนึ่งก็เป็นได้ครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 4 เมษายน 2554

นโยบายการคลัง, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

11 April 2011 Leave a comment

นโยบายการคลัง

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นการกำหนดปริมาณเงินในระบบตลอดจนการควบคุมสถาบันการเงินโดยผู้มีอำนาจ คือ ธนาคารกลาง

และหากประเทศจะเกิดปัญหาว่ามีเงินเฟ้อมากหรือเงินเฟ้อน้อย (เงินฝืด) ก็ควรจะไปต่อว่าธนาคารกลางไม่ใช่รัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลมักจะเป็นผู้ออกหน้าว่า พยายามอย่างเต็มที่ในการควบคุมราคาสินค้า เพราะหากราคาสินค้าจะต้องปรับตัวสูงขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหรือมีกำลังซื้อสูงมากเป็นพิเศษจากการปล่อยกู้อย่างไม่คิดหน้าคิดหลังของสถาบันการเงิน ก็ยากที่รัฐบาลจะควบคุมได้

อำนาจหลักของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังนั้น สืบเนื่องจากอำนาจในการเก็บภาษีจากประชาชน ไม่มีองค์กรใดในเศรษฐกิจที่จะไปยึดเอาทรัพย์สินเงินทองของประชาชนได้โดยถูกกฎหมาย ยกเว้นแต่รัฐบาลผู้เดียว ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะอำนาจในการเก็บภาษีประชาชนย่อมต้องถูกควบคุมและตรวจสอบโดยประชาชนในทุกกรณี ดังที่มีคำกล่าวว่า “There can be no taxation without representation.”

การเก็บภาษีจาก (หรือยึดทรัพย์ส่วนหนึ่งของ) ประชาชนนั้น ย่อมจะต้องมีเงื่อนไขว่าเงินที่รัฐบาลเก็บไปนั้น จะต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์ให้ส่วนรวม เช่น การป้องกันประเทศ และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งประชาชนไม่สามารถรวมตัวกัน เพื่อจัดทำบริการดังกล่าวได้อย่างมีมาตรฐาน เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพได้ นอกจากนั้น ก็จะต้องมีกระบวนการเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องทรัพย์สินของตน (ทั้งที่เป็นทรัพย์สินทั่วไปและทรัพย์สินทางปัญญา) และเมื่อมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ก็จะต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรมในการตัดสินข้อถกเถียงดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมอีกด้วย การเก็บภาษีเพื่อใช้จ่ายในด้านดังกล่าว จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารประเทศ และระบบเศรษฐกิจ

แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะนึกถึงบทบาทของรัฐบาลในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูง อันจะช่วยเพิ่มรายได้และการจ้างงานให้กับประชาชน ซึ่งส่วนนี้ คือ การเก็บภาษีมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจ ซึ่งเอกชนทำเองได้ยาก เช่น การสร้างถนน ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า ฯลฯ ทั้งที่ในยุคสมัยใหม่ที่ระบบทุนนิยมพัฒนาไปมากแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวว่าเอกชนไม่มีเงินนั้นดูจะไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไรนัก เพราะมีหลายบริษัทข้ามชาติที่มีศักยภาพและความมั่งคั่งที่จะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ได้ โดยมีรัฐบาลเข้ามาให้ความมั่นใจและร่วมลงทุนเป็นส่วนน้อย หากโครงการดังกล่าวให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่า ในส่วนนี้จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเก็บภาษีจากประชาชนมากนัก แต่รัฐบาลควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน และที่สำคัญ คือ การกำหนดกรอบการกำกับดูแลโครงการให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการให้เป็นธรรม เช่น โครงการระบบโทรศัพท์แบบ 3 จี นั้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรเลย ก็จะมีภาคเอกชนมาเสนอตัวเป็นจำนวนมาก หากรัฐบาลกำหนดเงื่อนไขที่เปิดเสรี และไม่ต้องประมูลค่าใบอนุญาตราคาหลายหมื่นล้านบาท เพราะเงินดังกล่าวเหมือนกับการเก็บภาษี เพราะผู้ที่ประมูลใบอนุญาตจะไปเก็บเงินกับประชาชน ที่สำคัญ คือ จะต้องกำหนดให้มีผู้ประมูลมากรายเท่าที่จะนำไปสู่การแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการตั้งราคาค่าบริการให้กับประชาชนในจุดที่เขามีกำไรเพียงพอต่อการทำธุรกิจแต่ไม่มากจนร่ำรวยจากการมีอำนาจผูกขาด เช่น หากรัฐบาลต้องการเงินมาก จะทำให้มีเอกชนน้อยรายได้ใบอนุญาต ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรวมหัวกันผูกขาดบริการได้ ดังนั้น องค์กรที่จะกำกับดูแลจึงจะต้องมีความเชี่ยวชาญสูงและมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องการให้ประชาชนได้บริการราคาถูก หรืออยากเก็บเงินเอาไว้เอง หรือแบ่งให้รัฐบาล หรือแบ่งให้รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

ดังนั้น ในหลายกรณีที่รัฐบาลอยากขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีจากประชาชนแต่อย่างใด เพราะสามารถสร้างเงื่อนไขที่จะส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนแทนได้ โดยเอกชนซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าช่วยรับความเสี่ยงของการลงทุน แต่ในบางกรณีการลงทุนของภาครัฐเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การเก็บภาษีมาตั้งงบประมาณจึงสมควรที่จะจัดสรรงบประมาณให้มีสัดส่วนของงบลงทุนให้สูงเพียงพอกับความจำเป็น ซึ่งในขณะนี้ งบประมาณของรัฐบาลไทยไม่ได้อยู่ในสถานะที่น่าพอใจมากนัก กล่าวคือ มีการเก็บภาษีจากประชาชน 17% ของจีดีพี แต่ตั้งงบประมาณรายจ่ายเท่ากับ 21% ของจีดีพี ทำให้ขาดดุลงบประมาณ (ต้องกู้เงินจากประชาชน) 4% ของจีดีพี โดยที่เงินค่าใช้จ่ายประจำนั้นเกือบจะเท่ากับ 17% ของจีดีพี (หรือเท่ากับรายได้) แล้วทำให้งบลงทุนเกือบทั้งหมดนั้น ต้องกู้เงินมาจากประชาชน โดยปกติแล้ว รัฐบาลควรทำงบประมาณสมดุลและมีงบลงทุนประมาณ 30% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด หรือ 5-6% ของจีดีพี โดยไม่ต้องสร้างหนี้เพิ่ม เพราะหากดำเนินสถานะทางการคลังเช่นนี้ ก็จะต้องเข้าไปแย่งเงินทุนของภาคเอกชน ทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น ซึ่งน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะภาคเอกชนน่าจะลงทุนโดยได้ผลตอบแทนสูงกว่ารัฐบาล

ประเด็นที่สำคัญ คือ หากมองว่าเศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่สูงเป็นที่พอใจแต่เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่สูงเกินไป (เช่น เงินเฟ้อสูงกว่า 2-3% ต่อปี) รัฐบาลจะมีบทบาทช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้โดยการลดการใช้จ่ายสุทธิของรัฐบาล เช่น ลดรายจ่ายทำให้ขาดดุลงบประมาณน้อยลง หรือเพิ่มการเก็บภาษี เพื่อให้ได้ผลในทำนองเดียวกัน แต่แน่นอนว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบันซึ่งมีการพูดถึงปัญหาคอร์รัปชันอย่างแพร่หลาย ย่อมทำให้ประชาชนไม่สนับสนุนการปรับเพิ่มภาษีเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จะสังเกตว่าผมไม่ได้กล่าวถึงการเข้าไปกำกับการปรับขึ้นราคาสินค้าโดยกลไกของรัฐ ซึ่งนิยมทำกันอย่างต่อเนื่องเพราะทำให้ดูเสมือนว่ารัฐบาลไม่นั่งดูดาย แต่เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการกับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ “จำเป็น” สำหรับการครองชีพ

ปัญหาของแนวทางดังกล่าว คือ การกำกับการปรับขึ้นราคาของรัฐบาลนั้น เป็นเสมือนการทำให้กลไกการค้ามีความซับซ้อน ฝืดเคืองมากขึ้น ทำให้การทำธุรกิจต้องเสียเวลามากขึ้น เช่น หากผู้ผลิตพบว่าต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นก็ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และหากทำได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้สินค้าผลิตอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหรือผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลร้องขอให้ผู้ผลิตสินค้าชะลอการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยร้องขอทุก 3 เดือน 6 เดือน ปัญหา คือ การกักไม่ให้สินค้าประเภทต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน กำลังทำให้ผู้ผลิตหลายรายต้องปรับราคาสินค้าขึ้นสูงมากในครั้งเดียว และหลายๆ สินค้าเลยต้องมาปรับราคาเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น ที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งมีสินค้า “จำเป็น” เป็นสิบรายการต้องปรับราคาขึ้นพร้อมๆ กัน หลังจากที่ราคาน้ำมันปาล์มต้องปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20% และต่อมาน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งขาดตลาดมาหลายสัปดาห์ก็จะได้รับอนุมัติให้ปรับราคาขึ้นอีก 20% จึงจะมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดอีกครั้ง

ประเด็น คือ ในเมื่อรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้า (และหากผลิตก็จะไม่สามารถทำได้ในราคาต่ำเท่ากับเอกชน) การเข้าไปกำกับของรัฐจึงเป็นเพียงการชะลอการปรับตัวของราคา บางคนอาจบอกว่าหากชะลอการขึ้นของราคาสินค้าสัก 6 เดือน 1 ปี ก็ยังถือว่าเป็นประโยชน์ แต่ต้องเข้าใจว่าการแทรกแซงดังกล่าวของรัฐส่งผลให้ผู้ผลิตเสียเวลา เสียทรัพยากรและทำให้กำไรลดลง ดังนั้น ในระยะยาวภาคเอกชนจะเลือกผลิตสินค้าที่ถูกควบคุมน้อยมากกว่าสินค้าที่ถูกควบคุมมาก หากมีผู้ผลิตน้อยรายก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะผูกขาด ซึ่งจะบั่นทอนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ทางที่ดีกว่า คือ การที่รัฐบาลจะต้องเลือกกำกับดูแลเฉพาะสินค้าที่มีผู้ผลิตน้อยราย ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าผู้ผลิตดังกล่าวมีอำนาจเหนือตลาด กล่าวคือ เป็นผู้ผลิตที่กำหนดทิศทางของราคาตลาดได้ ทั้งนี้ รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับรู้ต้นทุนของเอกชนในรายละเอียด แต่หากผู้ผลิตขายสินค้าในราคาสูงเกินกว่าราคาสินค้าประเภทเดียวกันในตลาดโลก ก็อาจเปิดเสรีให้มีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศมาควบคุมการปรับขึ้นของราคาสินค้าภายในประเทศก็ได้

กล่าวโดยสรุป คือ การเข้าไปควบคุมราคาสินค้ายิ่งจะทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจลดลง และปริมาณการผลิตลดลง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้เสี่ยงต่อสภาวะขาดแคลนสินค้า ทั้งๆ ที่สินค้าที่ถูกควบคุมนั้น จะเป็นสินค้า “จำเป็น” ที่ต้องส่งเสริมให้มีการผลิตอย่างเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยส่งเสริมให้มีผู้ผลิตมากรายแข่งกันรักษาสัดส่วนของตนโดยการลดราคาและเพิ่มคุณภาพสินค้าแทนการกำกับจากหน่วยงานของรัฐครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 11 เมษายน 2554

กลัวปัญหา stagflation, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

28 March 2011 Leave a comment

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : กลัวปัญหา stagflation

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อ 14-16 มีนาคม กรุงเทพโพลล์ทำการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ไทย 65 คน โดยมีผลสำรวจที่น่าสนใจคือนักเศรษฐศาสตร์ 58% มองว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ stagflation หรือภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวเศรษฐกิจที่ระดับต่ำ ทำให้การว่างงานสูงหรือเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คือ 46.2% ประเมินว่าความสามารถด้านการบริหารจัดการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคาสินค้านั้นอยู่ในระดับ “พอใช้” และ 9.2% เห็นว่าค่อนข้างดี จึงสรุปได้ว่ามีเพียง 55.4% เห็นว่า “สอบผ่าน” ดังนั้นจึงเกิดความกังวลว่าในอนาคตประเทศไทยอาจเผชิญกับ stagflation หรือเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืดได้

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือนักเศรษฐศาสตร์ 61.6% ไม่เห็นด้วยกับการตรึงราคาดีเซล แปลว่าควรยอมให้ราคาดีเซลปรับสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 15% (เป็น 35 บาทต่อลิตร) หรือมากกว่านั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อไปอีก ซึ่งย่อมจะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ 1.0-1.5% โดยไม่รวมกับการขอปรับขึ้นราคาสินค้าหลายประเภทในขณะนี้เพราะรัฐบาลได้เคยขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้ามานานกว่า 1 ปีแล้ว หมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นได้มากในปีนี้ เพราะแรงกดดันจากต้นทุนการผลิต หรือหากมองในแง่นี้คือ cost-push inflation นั่นเอง ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากการประเมินปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมองว่าปัญหาโดยรวมนั้นมาจาก demand-pull หรือกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การใช้กำลังการผลิตและทรัพยากรของประเทศอย่างเต็มกำลังการผลิต (เช่นการว่างงานในไทยต่ำกว่า 1%) และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวมที่น่าจะสูงถึง 4.5% ในปีนี้และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งน่าจะขยายตัวประมาณ 7% ในปี 2011

ดังนั้นจึงมีสัญญาณชัดเจนจาก ธปท.ว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คือ 66.2% ก็เห็นด้วยกับ ธปท.ในเรื่องนี้ โดยให้ความเห็นว่าจะรักษาเสถียรภาพของราคาและการขยายตัวของเศรษฐกิจ (เพราะหากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ในวันนี้ ในวันหน้าก็จะยิ่งต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นและใช้มาตรการเสริมอื่นๆ ที่จะเป็นภาระต่อเศรษฐกิจเพราะไม่สามารถ “ตัดไฟแต่ต้นลม”) นอกจากนั้นก็ยังเห็นด้วยกับ ธปท.ว่าปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) ยังอยู่ที่ระดับต่ำ หากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะต้องยอมรับสภาพว่า ในครึ่งหลังของปีนี้หลังการเลือกตั้งรัฐบาลคงจะต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาดีเซล ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยราคาสินค้าจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่เมษายนเป็นต้นไป ในขณะที่ ธปท.ก็คงจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

แต่สภาวการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เพียงสะท้อนว่าปีนี้จะเป็นปีที่เกิดความอึดอัดทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้สะท้อนว่าจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืด เช่นที่กล่าวข้างต้นแต่อย่างไร หมายความว่าเมื่อปรับดอกเบี้ยขึ้นถึงจุดเหมาะสมและราคาดีเซลลอยตัวตามราคาตลาดโลก ตลอดจนราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ปัญหาเงินเฟ้อก็น่าจะหมดไป กล่าวคือทุกอย่างก็น่าจะกลับสู่สภาวะปกติในปีหน้าและปีต่อๆ ไปนั่นเอง

ปัญหาเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืดนั้นคือ การต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูง (6% หรือมากกว่านั้น) หลายปีติดต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจก็ฝืดเคืองคือการขยายตัวไม่ได้ดีเต็มที่ ทำให้มีคนว่างงานและรายได้ไม่พอรายจ่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1975-1979

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 60 นั้นมีการขยายตัวที่สูงถึง 8.4% ต่อปีในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ 2.2% ต่อปี แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 70 ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มมีปัญหาคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ในปี 1973 ซึ่งเป็นปีที่กลุ่มโอเปครวมหัวกันปรับราคาน้ำมันขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นยกแผง เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวดีตามไปด้วยคือจีดีพีโตถึง 10% แต่เงินเฟ้อก็ปรับสูงขึ้น 3 เท่าตัว 15.5% ปัญหาที่ตามมาคือเงินเฟ้อในปี 1974 กลับถีบตัวสูงขึ้นถึง 24.3% ในขณะที่จีดีพีขยายตัวเพียง 4.5% ทำให้เห็นได้ว่าเงินเฟ้อนั้นเมื่อปรับสูงขึ้นแล้วจะควบคุมได้ยาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นโอเปคมีศักยภาพสูงและมีความมุ่งมั่นในการดันราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัวและเกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทั้งในตะวันออกกลางและในประเทศไทย (ซึ่งบางคนอาจมองว่าไม่แตกต่างมากนักกับสภาวการณ์ในปี 2010-2011)

ที่น่าสนใจคือการที่รัฐบาลไทยได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงในปี 1975-1978 โดยการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณและขับเคลื่อนให้รัฐวิสาหกิจลงทุนขยายธุรกิจ (ซึ่งในหลักการให้ผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องดีกว่านโยบายประชานิยม) ในช่วงเดียวกัน ธปท.ก็ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายย่อมให้เงินเฟ้อสูงเฉลี่ย 6.2% ในช่วง 1975-1978 ซึ่งสูงกว่าเฉลี่ยในทศวรรษ 60 เกือบ 3 เท่าตัว ในที่สุดเมื่อรัฐบาลหมดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเริ่มเป็นหนี้มากมายและเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง จีดีพีก็ขยายตัวลดลงเหลือ 5.2% ในปี 1979 ในขณะที่เงินเฟ้อกระเพื่อมขึ้นเป็น 9.9% ในปี 1979 ต่อจากนั้นเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยก็เข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงิน รัฐบาลไทยต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ตลอดจนการลดค่าเงินบาทในปี 1984

ประสบการณ์ในทศวรรษ 60, 70 และ 80 นั้น ทำให้สรุปได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อนั้นมีอยู่ 3 ปัจจัยหลักคืออุปสงค์ส่วนเกิน อุปทานขาดแคลนและการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflationary expectation) ซึ่งประสบการณ์ในทศวรรษ 70 นั้นทำให้เห็นว่าในระยะยาวนั้น การคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ตรงนี้ ดร.สุรัช แทนบุญได้เขียนบทความลงในกรุงเทพธุรกิจอย่างละเอียดในฉบับวันที่ 22 มีนาคมครับ

สำหรับส่วนของเศรษฐกิจฝืดนั้นจะพบว่าในช่วงต้นทศวรรษ 70 นั้น มีความต้องการผ่อนปรนผลกระทบจากอุปทานขาดแคลน (cost-push inflation) โดยการไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยและจำกัดสภาพคล่องเพราะมองว่าจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ (เช่นที่พูดกันอยู่ในขณะนี้) แต่การ “ยอม” ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นนั้นพยายามทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและกำกับดูแล (เช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้เช่นกัน) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการดูแลให้มีการปรับขึ้นราคาและค่าจ้างอย่างกว้างขวาง โดยมีการระบุไว้ในสัญญาจ้าง สัมปทาน ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ กล่าวคือเป็นการสร้างการคาดการณ์เงินเฟ้ออย่างเป็นรูปแบบ คำถามคือทำไมการดำเนินการเช่นนี้จึงทำให้เศรษฐกิจฝืดหรือขยายตัวเชื่องช้ากว่าเดิม คำตอบคือประสิทธิภาพของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมนั้นเกิดจากการปรับตัวของราคาสินค้าอย่างเป็นอิสระเมื่อราคาสินค้า ก.ปรับสูงขึ้น แรงงานทุนและทรัพยากรก็จะถูกจัดสรรไปเพิ่มการผลิตสินค้า ก. โดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันหากสินค้า ข. ราคาตก ทรัพยากรทุนและแรงงานก็จะไหลออกเพื่อลดการผลิตสินค้าดังกล่าว แปลว่าทรัพยากรทุนและแรงงานจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงตลอดเวลา แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมการปรับตัวของราคา ซึ่งจะทำให้ขาดความคล่องตัวการจัดสรรทรัพยากร ทุนและแรงงานก็จะขาดประสิทธิภาพตามไปด้วยซ้ำร้ายรัฐบาลมักจะกดราคาสินค้าที่จำเป็น (แปลว่าราคาควรสูงขึ้นเพราะมีความต้องการมาก) แต่ปล่อยเสรีราคาสินค้าที่ไม่จำเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจให้ผลิตสินค้าที่ไม่ถูกควบคุมมากกว่า นอกจากนั้นผู้ผลิตก็คงรู้สึกกันถ้วนหน้าว่าระบบที่รัฐบาลควบคุมราคาสินค้านั้นผู้ผลิตต้องเจรจาโน้มน้าวรัฐบาล ให้ยอมปรับราคา ทำให้เสียเวลาและทรัพยากร เป็นการเบี่ยงเบนให้ไม่สามารถมุ่งเน้นการผลิตการพัฒนาคุณภาพของสินค้าจึงไม่ควรแปลกใจว่าทำไมจีดีพีจึงขยายตัวช้าลงในที่สุดครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

การแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐ, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

8 March 2011 Leave a comment

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : การแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วงหลังนี้จะมีข่าวการแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐอยู่หลายเรื่อง เช่น การกำหนดราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การกำหนดราคาน้ำมันปาล์มไม่ให้เกิน 67 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการกดไม่ให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีการกำหนดราคาให้สูงหรือให้เพิ่มขึ้นเช่นการประกันราคาข้าวและการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น

การกำหนดนโยบายดังกล่าวมีความตั้งใจดี แต่มักจะประสบปัญหาเพราะเป็นการฝืนกลไกตลาดเสรี ซึ่งในแก่นแท้คือการเปิดเสรีให้ประชาชนทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน ดังนั้นธุรกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นธุรกรรมที่ทำด้วยความสมัครใจและมีความเต็มใจ แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ที่เบี่ยงเบนจากจุดที่ต่างฝ่ายต่างทำด้วยความสมัครใจก็จะต้องยอมรับว่าธุรกรรมที่ทำขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นอย่างไม่เต็มใจ เช่น กรณีของน้ำมันปาล์มนั้นหากอ่านข้อมูลที่ปรากฏก็จะเห็นว่าปัญหาดั้งเดิมคือการขาดแคลนเมล็ดปาล์ม ซึ่งผลักดันให้ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นเกินกว่าราคาที่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มจะสามารถสกัดออกมาและบรรจุขวดได้ในราคาที่ทางการกำหนดและต่อมาเมื่อมีการปรับราคาน้ำมันปาล์มและอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบ (คือเมล็ดปาล์มหรือน้ำมันปาล์มดิบ) อย่างเพียงพอ ความขาดแคลนก็หมดไป ถามว่าในระหว่างที่น้ำมันปาล์มขาดแคลนอย่างหนักนั้นมีความพยายามหลีกเลี่ยงราคาคุม (คือการขายน้ำมันในขวด) โดยการขายในปี๊บหรือถุงหรือไม่ก็ต้องตอบว่าจะต้องมีบ้างถามว่าจะมีการกักตุนบ้างหรือไม่ ก็อาจมีบ้างแต่คงเพราะราคาที่รัฐบาลควบคุมอยู่ (ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเกินไป) ทำให้ขาดแรงจูงใจในการผลิต ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพราะเชื่อว่าผู้ผลิต ผู้จัดส่ง ผู้ขายส่งและผู้ขายปลีกนั้นส่วนใหญ่ต่างเป็นนักธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความซื่อสัตย์และมีชื่อเสียงทั้งสิ้น กระทรวงพาณิชย์เองก็เข้าใจดีว่าภาคเอกชนไทยผลิตสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมาโดยตลอด กล่าวคือเศรษฐกิจไทยนั้นโดยรวมแล้วก็ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจโดยสุจริต ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มนั้นจึงไม่น่าจะมีสาเหตุหลักจากการกระทำผิดของผู้ผลิตแต่อย่างใด

การประกันราคาข้าวนั้นก็ดูเสมือนว่าเป็นการทำประโยชน์ให้กับชาวนา แต่ก็ย่อมเป็นการตรึงราคาข้าวให้สูงเกินกว่ากลไกตลาด ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มทำให้สินค้าที่คนเมืองจำเป็นต้องบริโภคราคาแพงขึ้น ซึ่งขัดกับแนวคิดเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มที่กระทรวงพาณิชย์พยายามกดราคาไม่ยอมให้ปรับขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนระบบประกันราคา เป็นการให้เปล่ากับเกษตรกร เช่นหากราคาประกันเท่ากับ 12,000 บาทต่อเกวียน แต่ราคาตลาดเท่ากับ 9,000 บาทรัฐบาลก็จะชดเชยส่วนต่างคือ 3,000 บาทให้ โดยให้ชาวนาแจ้งจำนวนข้าวที่ผลิตออกมาได้ ทำให้ราคาในตลาดไม่ต้องปรับขึ้น แต่ก็ยังเป็นกลไกที่มีจุดอ่อน 2 ประการหลักๆ คือ 1. จะมีแรงจูงใจให้แจ้งจำนวนการผลิตสูง (และอาจลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาขอรับเงินชดเชย) 2. ชาวนาจะมุ่งเน้นการกดดันรัฐบาลให้ปรับเพิ่มราคาประกันแทนที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของข้าว จึงเป็นไปได้ว่าในระยะยาวประเทศไทยจะผลิตข้าวเป็นจำนวนมากแต่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวนาในระยะยาว ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ค่อยบอกว่ารายจ่ายที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้นมากน้อยเพียงใดและหลายคนคงจะเห็นร่วมกันว่าน่าจะสามารถนำงบประมาณไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้

สำหรับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรนั้นก็มาจากความตั้งใจที่ดีในการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันดีเซล แต่ก็เป็นภาระต่อภาครัฐอย่างยิ่งดังที่เคยกล่าวมาแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็คงต้องยอมจำนนปล่อยให้ราคาดีเซลปรับขึ้น แต่อาจต้องปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว (เช่นต้องปรับขึ้น 10-15% ภายใน 2-3 สัปดาห์) ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนอันจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะสั้นอีกด้วย

สำหรับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนั้นรัฐบาลพูดชัดเจนว่าในเมื่อราคาสินค้าจะต้องปรับขึ้น (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) รัฐบาลก็จะช่วย (หาเสียงกับ) ประชาชนโดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มให้อีก 25% ภายใน 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งก็เป็นเจตนารมณ์ที่ดีแต่ก็จะเป็นการสร้างการคาดการณ์ (expectation) เงินเฟ้อให้ฝังตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจโดยวัฏจักร คือการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ (เช่นน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ) ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นและต่อมาก็จะมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก อันจะทำให้ราคาสินค้า (รวมทั้งราคาวัตถุดิบ) เพิ่มขึ้น กล่าวคือจะเป็นการเข้าสู่วังวนของการปรับขึ้นราคาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในทศวรรษ 70 ที่เริ่มต้นจากการที่ประเทศต่างๆ กลัวว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันของโอเปกจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดปัญหาว่างงาน รัฐบาลจึงได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจขณะเดียวกันธนาคารกลางก็ผ่อนคลายทางการเงินยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามควบคุมราคาสินค้าและร่วมมือกับสหภาพแรงงานในการให้ปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเป็นระบบ แต่ในที่สุดก็ยิ่งทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อฝังตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จนในที่สุดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเงินเฟ้อจนถึงจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องตัดสินใจ “หักดิบ” เงินเฟ้อโดยการปรับดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 20% ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในปี 1980-1982

กล่าวโดยสรุปคือแนวคิดที่จะช่วยเหลือประชาชนโดยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้เคยทำกันมาแล้วและล้มเหลวมาแล้ว จริงอยู่ในปัจจุบันอาจมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 70 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทศวรรษ 50 และ 60 ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพทางราคาคือเงินเฟ้อต่ำและดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วใน 2-3 ปีข้างหน้าคือ 1. การที่ธนาคารกลางสหรัฐกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป (เรื่องนี้ผมจะอธิบายในครั้งต่อไป) 2. ปัญหาตะวันออกกลางซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำมันอย่างรุนแรงและ 3. การที่ประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งในอดีตเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและเป็นผู้กดเงินเฟ้อ ของโลกกำลังจะกลายมาเป็นผู้ส่งออกเงินเฟ้อของโลก หากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีเศรษฐกิจที่ “เปิด” มากกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วอย่างมากก็จะต้องได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เมื่อปี 1975 การส่งออกและนำเข้าของไทยนั้นประมาณ 40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันเท่ากับ 130% ของจีดีพี) ดังนั้นหากเราสร้างเงินภายในและต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่ “นำเข้า” มาจากข้างนอกก็ส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจอย่างมาก

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีผู้สนับสนุนมากมาย ซึ่งสาเหตุที่สนับสนุนนั้นมักจะมีสมมติฐานว่าหากรัฐบาลสั่งอย่างใดก็จะได้อย่างนั้น กล่าวคือหากสั่งให้ผู้ผลิตจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น พนักงานก็จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นตามที่สั่ง แต่เราจะเห็นได้จากกรณีของน้ำมันปาล์มว่าหากรัฐบาลสั่งในสิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตขาดทุนเขาก็ต้องหยุดหรือลดการผลิต (เพราะหากเขาขาดทุนแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้) ในทำนองเดียวกันหากค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มขึ้นตามกฎหมายก็อาจจะทำให้การจ้างงานลดลง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีทักษะน้อยที่สุดและผู้ที่ขาดประสบการณ์ (ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการมีงานทำมากที่สุด) หรืออาจมีความพยายามเลี่ยงกฎหมายและใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งหากมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นหรือการลงทุนเพิ่มเครื่องจักรและลดการใช้แรงงาน กล่าวคือผมค่อนข้างแน่ใจว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นหากไม่มีมาตรการเสริมคือการเพิ่มทักษะและผลิตภาพให้แรงงานไทยมี “คุณค่าทางเศรษฐกิจ” เพิ่มเพียงพอที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น แรงงานไทยก็จะต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อไปครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 07 มีนาคม 2554

ทำไมอเมริกาจึงรุ่งแต่อาร์เจนตินาร่วง, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

4 January 2011 Leave a comment

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : ทำไมอเมริกาจึงรุ่งแต่อาร์เจนตินาร่วง

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปกติผมจะเขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ครั้งนี้ผมเห็นว่าบทแรกของหนังสือ False Economy โดย Alan Beattie ที่เขียนถึงประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอเมริกาและอาร์เจนตินา มีข้อคิดที่น่าสนใจ ผมจึงขอนำสรุปให้อ่านกัน พร้อมกับการสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

ทำไมอเมริกาจึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง แต่ประเทศใกล้เคียงคืออาร์เจนตินาจึงประสบแต่ปัญหาและความถดถอยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าเราคงจะจำเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินไปพุ่งชนตึก World Trade Center ได้เป็นอย่างดีและถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นวิกฤติร้ายแรงที่สุดครั้ง หนึ่งที่สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญ แต่น้อยคนจะจำได้ว่าประมาณ 3 เดือนหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ประเทศอาร์เจนตินาต้องประกาศพักชำระหนี้อีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินการธนาคาร เหตุที่วิกฤติเศรษฐกิจของอาร์เจนตินามีการรับรู้กันในวงจำกัดก็เพราะ อาร์เจนตินาถือได้ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โลกและเทียบไม่ได้เลยกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการ เมือง

แต่เมื่อ 120 ปีที่แล้วอเมริกากับอาร์เจนตินามีสถานะและศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน โดยอาร์เจนตินานั้นถือได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และสามารถพูดได้เต็มปากว่าอาร์เจนตินาเป็นประเทศโลกที่ที่หนึ่งมาโดยตลอดจน กระทั่ง 60 ปีที่ผ่านมา บทความของนาย Beattie มุ่งชี้ให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายและการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ แตกต่างกันระหว่างอาร์เจนตินากับอเมริกาในช่วง 120 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศหนึ่งพัฒนาไปเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่อีกประเทศหนึ่งพลิกผันกลายเป็นประเทศโลกที่สาม

1. อเมริกากระจายทรัพยากร แต่อาร์เจนตินาเน้นการกระจุกตัว

ทั้งอเมริกาและอาร์เจนตินามีพื้นเพมาจากการเป็น ประเทศเมืองขึ้น (colony) โดยอเมริกาต่อสู้กับอังกฤษจนได้รับเอกราชในปี 1776 และประกาศเอกราชปี 1789 ขณะที่อาร์เจนตินาต่อสู้กับรัฐบาลสเปน จนได้รับชัยชนะในปี 1810 และประกาศเอกราชในปี 1816 แต่หลังจากนั้นแนวคิดและนโยบายของทั้งสองประเทศก็เริ่มแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยอเมริกาซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่มีทรัพยากรมากมายตัดสินใจชักจูงแรงงานจาก ต่างประเทศให้อพยพเข้ามา โดยให้แรงงานรายย่อยสามารถเข้ามาจับจองผืนแผ่นดินเพื่อทำมาหากินอย่างเปิด กว้าง แต่อาร์เจนตินานั้นเลือกที่จะมอบที่ดินจำนวนมากให้ครอบครัวที่ร่ำรวยไม่กี่ ครอบครัวซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำที่มีอำนาจในประเทศ (elite) ดังนั้นอเมริกาจึงมีชาวนาที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก ขณะที่อาร์เจนตินามีครอบครัวร่ำรวยไม่กี่ครอบครัวที่ครอบครองที่ดินเกือบ ทั้งประเทศ

ผลที่ตามมาคือ อเมริกาสามารถชักจูงแรงงานที่มีความกระตือรือร้นสูง ต้องการตั้งรกรากและสร้างอนาคตให้อพยพเข้ามาในประเทศได้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการกระจายและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างกว้างขวาง ในทศวรรษ 1850 มีแรงงานไหลเข้าอเมริกาประมาณ 250,000 คนต่อปีและมีการกระจายทรัพยากรและอำนาจไปในแนวทางประชาธิปไตย คือกระจายให้กับประชาชนโดยทั่วกัน ขณะที่อาร์เจนตินาไม่สามารถชักจูงแรงงานเข้าประเทศได้มากเท่าอเมริกาและผู้ที่อพยพไปตั้งรกรากในอาร์เจนตินาจะเป็นผู้ที่มีฝีมือต่ำ (low-skilled) จากอิตาลีและไอร์แลนด์ โดยอพยพเข้ามาช้ากว่าอเมริกาหลายสิบปี อาร์เจนตินาจึงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาโดยตลอด

2. การนำเอารายได้ไปใช้บริโภคแทนการลงทุน

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทั้งอเมริกาและอาร์เจนตินาขยายการผลิตสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องและทั้งสอง ประเทศได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันด้านการเกษตรสูงทัด เทียมกัน แต่ในกรณีของอาร์เจนตินานั้นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่คือเจ้าของ ที่ดินจำนวนน้อยที่ร่ำรวย ซึ่งนำกำไรไปใช้จ่ายในการซื้อสินค้าบริโภคฟุ่มเฟือยหรือซื้อที่ดินเพิ่มเติม เป็นหลัก คนกลุ่มดังกล่าวจะมีรสนิยมเป็น “ผู้ดี” ไม่ทุ่มเทกับการทำงาน เน้นกิจกรรมทางวัฒนธรรมสังคมกีฬา (เช่น โปโล) มุ่งเน้นส่งลูกหลานไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชั้นสูงในยุโรป โดยเรียนด้านภาษาและประวัติศาสตร์มากกว่าการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการ ผลิต ขณะที่อเมริกานำเอาผลกำไรที่ได้รับจากการขายสินค้าเกษตรไปลงทุนพัฒนา อุตสาหกรรมพร้อมกับการเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรกรรม และแม้อเมริกาจะพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศ (กู้เงิน) แต่ก็เป็นสัดส่วนเพียง 10-15% ของการลงทุน แต่อาร์เจนตินานั้นเน้นการบริโภคและกู้เงินต่างประเทศมาลงทุนเป็นสัดส่วน กว่าหนึ่งในสามของการลงทุนทั้งหมด นอกจากนั้นภาคการเกษตรและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมก็มีโครงสร้างที่เป็นการผูกขาดโดยชนชั้นสูงน้อยราย มากกว่าการแข่งขันโดยเสรี ผลที่ตามมาคือการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงินที่ดำเนินไปอย่าง เชื่องช้าไม่ทันพัฒนาการในอเมริกา

3. การพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในกรอบทุนนิยม

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นถือได้ว่า อเมริกาสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในขณะที่อาร์เจนตินาพลิกวิกฤติเป็นความตกต่ำ ในช่วงสงครามนั้นเงินทุนที่เคยไหลเข้าอเมริกาและอาร์เจนตินาก็หยุดลง แต่อเมริกาสามารถทดแทนความขาดแคลนดังกล่าวโดยการส่งออกอาวุธสงครามและสินค้า อุตสาหกรรม เมื่อสงครามเสร็จสิ้นและยุโรปอยู่ในสภาวะต้องฟื้นฟู อเมริกาก็กลายเป็นประเทศที่มีเงินทุนสามารถเข้าไปซื้อสินทรัพย์และกิจการใน ยุโรป แม้ว่าอเมริกาจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เรียกว่า the great depression ในช่วง 1929-1935 และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่อเมริกาก็ยังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและมุ่งเน้นที่จะรักษาระบบทุนนิยมไว้ แต่แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ของระบบทุนนิยม อาทิเช่นการนำเอาทฤษฎีของเคนส์มาใช้เป็นประเทศแรก กล่าวคืออาศัยการทุ่มเทจากภาครัฐในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในที่สุด เห็นได้จากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศภายใต้นโยบาย New Deal และการจัดตั้งระบบประกันสังคมเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของระบบทุนนิยม

แต่อาร์เจนตินานั้นเมื่อไม่มีทุนไหลเข้าก็ประสบปัญหาอย่างมากเพราะภาคอุตสาหกรรมไม่ได้พัฒนามาก และพึ่งพาการลงทุนของต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ผลคืออาร์เจนตินาได้รับแต่ผลกระทบในเชิงลบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้นำจึงสรุปว่าการเปิดเสรีและพึ่งพาตลาดโลกเป็นภัยอันตราย ทำให้ต้องการลดการพึ่งพาต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็มองว่าระบบทุนนิยมนั้นพึ่งพาไม่ได้ จึงเน้นนโยบายที่ให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงและทดแทนกลไกตลาด ซึ่งนาย Beattie มองว่าขณะที่อเมริกาพยายามเกื้อกูลกลไกตลาด (save market economics) อาร์เจนตินาพยายามฝังกลไกตลาด (bury market economics) นอกจากนั้นความตกต่ำทางเศรษฐกิจยังนำอาร์เจนตินาไปสู่การทำปฏิวัติรัฐประหาร ล้มระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบเผด็จการในปี 1945 โดยนายทหาร Juan Peron ตามแบบเผด็จการฟาสซีส ที่เน้นการรักชาติ มีวินัยและการพึ่งพาตนเอง (nationalism, discipline and self sufficiency)

4. การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเปิดกับแบบปิด

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้นคงไม่ต้องกล่าวถึงอเมริกามากนักเพราะเป็นยุครุ่งเรือง ของอเมริกาทั้งในด้านของการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้าน เช่น เป็นแกนนำของระบบทุนนิยม เป็นผู้นำด้านการทหารและเทคโนโลยีและเงินดอลลาร์กลายเป็นเงินสกุลหลักของโลก พร้อมกับบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ แต่สำหรับอาร์เจนตินานั้นมีแต่ความตกต่ำทางการเมืองเพราะการยึดมั่นกับระบบเผด็จการหลายสิบปี กว่าจะกลับมาเข้าสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง เศรษฐกิจก็พัฒนาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบปิดกั้นการนำเข้าและการแข่งขัน (industrialization through import substitution) ควบคุมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยรัฐวิสาหกิจและนโยบายประชานิยมที่บิดเบือนกลไกตลาดและให้เงินอุดหนุนมากมาย ทำให้รัฐบาลและเศรษฐกิจตกต่ำไปเรื่อยๆ แต่ชนชั้นนำก็ยังมีความเชื่อว่าปัญหาส่วนใหญ่ของอาร์เจนตินานั้นเกิดจากถูกระบบนายทุนเอาเปรียบ มากกว่าเกิดจากการตัดสินใจและนโยบายของรัฐบาล

ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจอาร์เจนตินาสามารถขยายตัว เพียง 2-3% ต่อปี ทำให้รายได้ต่อหัวของประชาชนอาร์เจนตินาถดถอยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นในปี 1950 รายได้ต่อหัวของชาวอาร์เจนตินาสูงกว่ารายได้ต่อหัวของชาวสเปนเท่าตัว แต่ในปี 1975 รายได้ต่อหัวของชาวสเปนสูงกว่าอาร์เจนตินาในช่วงเดียวกัน และเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นรายได้ต่อหัวของอาร์เจนตินาสูงกว่าญี่ปุ่น 3 เท่าในปี 1950 แต่กลายเป็น 1/3 ของญี่ปุ่นในปี 1985 ครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 3 มกราคม พ.ศ. 2554