Archive

Archive for July, 2012

ไม่เหมือนเดิม, สรกล อดุลยานนท์

7 July 2012 1 comment

ไม่เหมือนเดิม, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

เจอนักธุรกิจกี่คน ทุกคนล้วนแต่เบื่อ “การเมือง” กันทั้งสิ้น

ล่าสุด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ก็ย้ำอีกครั้งในงาน 36 ปีหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ถ้าการเมืองไทยนิ่ง เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างมโหฬาร

โดยเฉพาะในวันที่ “อาเซียน” กำลังเป็นซุปเปอร์สตาร์ ที่ทั้ง “จีน” และ “สหรัฐอเมริกา” ต้องเอาใจ

ขนาดการเมืองไทยรบกัน 2-3 ปีติดต่อกัน เศรษฐกิจไทยยังเติบโต

เจอน้ำท่วมใหญ่ก็ยังโต

แล้วคิดดูสิว่าถ้าการเมืองนิ่ง เมืองไทยจะเป็นอย่างไร

ถามว่านักการเมืองรู้ไหม

รู้ยิ่งกว่ารู้

แต่เพราะรากของความขัดแย้งหยั่งลึกลงในสังคมไทยยากที่จะถอนออกได้ง่ายๆ การเมือง

จึงไม่ “นิ่ง” เสียที

“ความรัก” ทำให้คนตาบอดฉันใด

“ความแค้น” ก็ทำให้จิตใจของคนมืดบอด

ฉันนั้น

คิดถึง “เป้าหมาย” ที่จะทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่สนใจว่า “วิธีการ” นั้นถูกต้องหรือไม่

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนที่สุด

ปรมาจารย์ด้านกฎหมายกันทั้งนั้น

แต่ไม่ละอายใจเลย

กล้าพูดในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ

คนเราเวลาพูดในสิ่งที่ไม่เชื่อ ตรรกะมักสับสน

เพราะแทนที่จะคิดถึง “เหตุ” ก่อน “ผล”

กลับปักธงที่ “ผล” แล้วค่อยหา “เหตุ” มาสนับสนุน

พอวิธีคิดผิด คำพูดก็เลยสับสน

แค่สรุปว่าคำว่า “และ” กับ “หรือ” มีความหมายเหมือนกัน

อาจารย์ภาษาไทยทั่วประเทศก็งงแล้ว

หรือคนบางคนลืมไปว่าพูดอะไรไว้ในอดีต ในวันที่ไม่ได้ปักธงไว้ล่วงหน้า

เมื่อคิดอย่าง แต่พูดอย่าง เพราะ “ความแค้น” บังตา

หรือมี “ธง” อยู่ในใจ

ตรรกะจึงสับสน

โบราณเขาจึงบอกว่าคนพูดความจริง

ต่อให้พูด 100 ครั้งก็ยังเหมือนเดิม

แต่คนพูดโกหก พูดกี่ครั้งย่อมไม่เหมือนเดิม

มติชนรายวัน 7 กรกฎาคม 2555, คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12

มติชน, 7 กรกฎาคม 2555

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

5 July 2012 Leave a comment

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเพิ่งได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย” ของ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นจากข้อมูลสถิติหลายอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และอุดมการณ์ซึ่งเกิดในสังคมไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความตึงเครียดและแตกร้าวในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร

ในขณะที่การ “ปรองดอง” กำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงจนถึงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง งานวิจัยของ อ.ธเนศน่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนลงได้บ้าง เพราะ อ.ธเนศกำลังพูดว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาหลายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 โดดๆ หรือเพราะทักษิณ หรือเพราะสถาบันและเครือข่ายใดๆ เท่านั้น แต่มีพื้นฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คลี่คลายมานานกว่าสามทศวรรษ

การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ตามความเข้าใจของผม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยครั้งนี้ แตกต่างจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ใน พ.ศ.2475 นอกจากเหตุผลทางการเมือง, สังคม และอุดมการณ์แล้ว ยังมีการผลักดันของกลุ่มทุนภายในบางกลุ่ม ที่ต้องการให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สนใจตอบสนอง (รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ตอบสนองเช่นกัน และทำความผิดหวังแก่กลุ่มทุนภายใน)

ส่วนหนึ่งของ 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการเติบโตของคนชั้นกลางในเขตเมือง ภายใต้นโยบายพัฒนา ในขณะที่กลุ่มทุนก็ต้องการอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการ “กินหัวคิว” ของนายทหารในกองทัพ

ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบต่อคนระดับบน พลังของคนระดับบนเป็นหลักในการผลักดันให้ต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในสามทศวรรษหลังนี้ กระทบต่อคนเกือบทุกชั้นในสังคมไทย แผ่ไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พลังที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มมาก อย่างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน

คนระดับล่างซึ่งนับวันต้องอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น แม้แต่ที่อยู่รอดในภาคเกษตร ก็เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์เต็มตัว ต้องการความมั่นคงในชีวิตเศรษฐกิจของตนอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชีวิตตามจารีตประเพณีไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทำงานในเมือง ก็พบว่าชีวิตของตนขาดความมั่นคงเช่นกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยากที่แต่ละปัจเจกจะสามารถแสวง หาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

ไม่ต่างจากทุนขนาดใหญ่ที่หากำไรกับการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซ้ำยังมีเอสเอ็มอีที่เริ่มผลิตสินค้าคุณภาพแข่งขันมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ดีในอัตลักษณ์ใหม่ๆ และหลากหลายที่เกิดขึ้นในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อดังๆ ทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ หรือญาติธรรม ที่ต่างถึงขนาดเครื่องนุ่งห่มและทรงผม ไปจนถึงป้าย “เรารักในหลวง” หรือ “แวร์อาร์ยู ทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่ป้ายบริษัท, องค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือกองทัพ) และแน่นอนย่อมรวมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อหลากสี ฯลฯ ด้วย โดยสรุปก็คือ ผู้คนเริ่มมองเห็นตนเองแตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมมองความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่นหรือสังคมแตกต่างไปจากเดิมด้วยเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ “ระบบ” ที่เคยทำงาน ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่อไป ผมขอยกตัวอย่างเพียงกำลังของระบบเดิมที่ใช้ในการบังคับควบคุม (coercive forces) ที่สำคัญคือกองทัพ และคนในกระบวนการยุติธรรม

ดูเผินๆ เหมือนสถาบันเหล่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของบทบาทอาจจะใช่ คือยังคงทำหน้าที่ปกป้องระบบเดิมด้วยอำนาจที่อยู่ในมือ แต่ที่จริงแล้วเกิดความเครียดอย่างมากขึ้นในสถาบันทั้งสองอย่างยิ่ง

การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวที่จะรักษาระบบไว้ให้มั่นคงเหมือนเดิม บอกให้กองทัพรู้ว่า เครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงการเมืองของกองทัพนั้นเริ่มไร้ประสิทธิภาพเสียแล้ว อย่างน้อยต้นทุนก็สูงเสียจนอาจไม่คุ้ม การใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อสลายฝูงชนได้สำเร็จ แต่ยังกลายเป็นปัญหาที่อาจหันมาทิ่มแทงกองทัพได้จนบัดนี้

ภายในกองทัพเองก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น ทหารเกณฑ์มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ยุคสมัยของการผูกผ้าที่แขนเพื่อให้ซ้ายหันขวาหันถูกต้องหมดไปแล้ว ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิตครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่าทหารไม่ได้หันไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ขัดคำสั่งโดยไม่ถูกจับได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ที่เคยมีพลังครอบงำคนทั้งกองทัพได้กำลังถูกสั่นคลอน ปราศจากอำนาจทางอุดมการณ์ ก็เหลือแต่อำนาจที่ต้องอิงกับความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้กองทัพต้องอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือน (โดยเฉพาะนักการเมือง) มากยิ่งขึ้น

คนในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, ตุลาการ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ถูกผู้คนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา, แพ่ง วิธีพิจารณาความ ในวงการตุลาการ เราไม่มีคนที่มี “บารมี” สูงจนเป็นที่เชื่อฟังอย่างกว้างขวาง เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, หรืออดีตผู้พิพากษาเรืองนามอื่นๆ มานานแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกว่า ผู้พิพากษาที่เก่งและดีไม่มีอีกแล้ว แต่บอกว่ามาตรฐานของความเก่งและความดีในวงการผู้พิพากษาได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กัดกร่อนความเชื่อมั่นตนเองในวงการสื่อไปมาก แม้แต่งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก็เริ่มถูกเบียดเบียนจากโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ต้องพูดถึงงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งหดหายลงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว

ในขณะที่คนจำนวนมากซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเต็มตัว ย่อมต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง กำลังหวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจของตนตลอดมา จึงหันไปทุ่มเทความพยายามในอันที่จะไม่ให้ระบบการเมืองเปลี่ยน เช่น คนเหล่านี้กลับไปเป็นนักกษัตริย์นิยมอย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติของความเป็นกษัตริย์นิยมที่เหนียวแน่นนักมาก่อน ทั้งนี้เพราะอยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งสมอที่จะหยุดการก้าวเดินไปข้างหน้า (เช่นหยุดโลกาภิวัตน์ไว้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)

ในภาวะที่มีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้ ข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่นการสร้างกติกาของความขัดแย้งใหม่ ล้วนไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ สิ่งที่น่าคิดก็คือจะหาข้อเสนอระดับกลาง (intermediate measures) ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นที่ยอมรับกันได้หลายฝ่ายได้อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้แก่หลายฝ่าย อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดในสังคมไทยไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องสร้างกลไกและกระบวนการที่จะทำให้คนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” ของความขัดแย้งโดยตรง แต่จะมีผลลดระดับความขัดแย้งลงไปเป็นอันมาก (หากทำได้สำเร็จ) การเมืองจะไม่กระจุกตัวในส่วนกลาง ที่กล่าวกันว่าการเมืองไทยเป็นเกมส์ “กินรวบ” คือใครได้ก็ได้หมด ใครเสียก็เสียหมดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากสันดานของนักการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขในการจัดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกไว้กับส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ใครได้ตำแหน่งบริหารก็จะมีอำนาจล้นฟ้าโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจจะทำให้ไม่มีวันที่ใครจะได้อะไรหมดฝ่ายเดียว เพราะมีคนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ

ประชาชนระดับล่างสามารถเข้ามามีบทบาท หรือกำกับควบคุม การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งในรูปงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร, งบประมาณที่มาจากแหล่งรายได้ของตนเอง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งผู้บริหารที่อยู่ในโอวาทของประชาชน ไม่ใช่โอวาทของพี่ชาย

คนชั้นกลางที่มีการศึกษาย่อมมีอิทธิพลทางด้านความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอยู่แล้ว ใครจะบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งได้ดี หากไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง

คนที่กลัวการรัฐประหาร การกระจายอำนาจจะทำให้ผู้ทำรัฐประหารไม่รู้จะ “ยึด” อะไร เพราะไม่มีศูนย์กลางอะไรให้ยึด แม้แต่สถานีโทรทัศน์ก็ไม่รู้จะยึดช่องไหนดี เพราะไม่มีอำนาจของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด

ความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม-อุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่ม ระหว่างชนชั้น แม้แต่เมื่อชนชั้นนำสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ก็หาได้ทำให้ความขัดแย้งที่แท้จริงหมดไปไม่

ผู้ซึ่งมีหน้าที่คิดเรื่องการ “ปรองดอง” ควรคิดถึงมาตรการระดับกลางเช่นนี้ให้มาก เพื่อจะนำไปสู่การรอมชอมที่แท้จริงของภาคประชาชน ไม่ใช่การเกี้ยเซี้ยที่มุ่งจะรักษาระบบการเมืองให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มติชนรายวัน, 2 กรกฎาคม 2555

เขม่า, สรกล อดุลยานนท์

3 July 2012 Leave a comment

เขม่า, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

ในห้องเรียนวันหนึ่ง “ไอน์สไตน์” ตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า…

“มีคนซ่อมปล่องไฟสองคน กําลังซ่อมปล่องไฟเก่า พอพวกเขาออกมาจากปล่องไฟ ปรากฏว่าคนหนึ่งตัวสะอาด อีกคนตัวเลอะเทอะเต็มไปด้วยเขม่า ถามว่า คนไหนจะไปอาบน้ำก่อน”

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือตอบทันที “คนที่ตัวสกปรกเลอะเขม่าควัน”

“ไอน์สไตน์” ยิ้มนิดนึงแล้วตั้งคำถามต่อ

“นักศึกษาลองคิดดูให้ดีนะ คนที่ตัวสะอาด เห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเขาออกจากปล่องไฟเหมือนกันก็ต้องสกปรกเหมือนกันแน่เลย ส่วนอีกคนเห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่าตัวเองก็สะอาดเหมือนกัน”

“ตอนนี้ ผมขอถามพวกคุณอีกครั้งว่า ใครที่จะไปอาบน้ำก่อน”

นักศึกษาอีกคนรีบยกมือ ตอบด้วยเสียงที่ตื่นเต้นว่า “ผมรู้แล้วครับ พอคนตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก ก็นึกว่าตัวเองต้องสกปรกแน่ ส่วนคนที่ตัวสกปรกเห็นอีกคนตัวสะอาด ก็นึกว่าตัวเองไม่สกปรกเลย ดังนั้น คนที่ตัวสะอาดต้องวิ่งไปอาบน้ำก่อน ?.. ถูกต้องไหมครับ”

“ไอน์สไตน์” กวาดสายตาไปรอบห้อง นักศึกษาทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยกับคําตอบนี้

“คําตอบนี้ก็ผิด เพราะทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก” เขายิ้มแล้วสรุป

“นี่แหละที่เขาเรียกว่า…ตรรกะ”

“ไอน์สไตน์” บอกว่า เมื่อความคิดของคนเราถูกชักนําจนสะดุด ก็จะไม่สามารถแยกแยะและหาเหตุผลแห่งเรื่องราวที่แท้จริงออกมาได้

เราจึงลืม “ความเป็นเหตุเป็นผล” ในเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่สุด

เหตุที่นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเห็นข่าวเรื่องอุบัติเหตุ “นาซา” ในเมืองไทย

จากเรื่อง “วิทยาศาสตร์” บริสุทธิ์ เมื่อมีนักการเมืองมาชี้นำให้กลายเป็นเรื่อง “ความมั่นคง” และ “การเมือง”

คนจำนวนมากก็ถูกชี้นำจนลืม “ตรรกะ” พื้นฐาน

ลืมว่าเทคโนโลยีดาวเทียมวันนี้ไปไกลมากแล้ว แค่โปรแกรม “กูเกิล เอิร์ธ” ก็สามารถมองเห็นหลังคาบ้านของทุกคนได้แล้ว

ดาวเทียมทหารของสหรัฐอเมริกาจึงน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ไม่แปลกหรอกที่รัฐมนตรีบางคนจะพูดเล่นๆ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องสหรัฐอเมริกาจะจารกรรมความลับด้านความมั่นคงของไทย

“ยังเหลืออะไรที่เขาไม่รู้อีกบ้าง”

เรื่องบางเรื่องที่คนไทยไม่รู้ แต่สหรัฐอเมริการู้ดีมาก

กรณี “วิกิลีกส์” ชัดเจนที่สุด

ไม่แปลกหรอกที่นักวิทยาศาสตร์ไทยจะโกรธมากที่โครงการนี้ล้มลงเพราะ “การเมือง”

เพราะเป็นการเสียโอกาสการเรียนรู้ครั้งสำคัญ

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์คงรู้แล้วว่าเกมการเมืองครั้งนี้ เขาต้อง “จ่าย” อะไรไปบ้าง

“เขม่า” บนตัวคือ “คำตอบ” ที่ดีที่สุด

มติชน, 30 มิถุนายน 2555