Archive

Archive for March, 2011

การดำเนินนโยบายการเงิน ในภาวะที่ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น

29 March 2011 Leave a comment

การดำเนินนโยบายการเงิน ในภาวะที่ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น

ดร.สุรัช แทนบุญ

ทีมพยากรณ์และพัฒนาแบบจำลอง สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีคำถามว่าในภาวะที่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้น ทำไมอัตราดอกเบี้ยถึงต้องปรับขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไปอีก นโยบายการเงินให้ความสำคัญกับเงินเฟ้ออย่างเดียวหรือ และทำไมนโยบายการเงินถึงตอบสนองกับ supply shock ทั้งๆ ที่ทฤษฎีบอกว่าทำไม่ได้ ผมคงไม่สามารถตอบแทนผู้กำหนดนโยบายได้ แต่จะขอใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยจึงได้ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และจะมีแนวโน้มขาขึ้นในระยะต่อไป

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าราคาสินค้าและบริการทั่วไปที่ปรับสูงขึ้นมีที่มาจากปัจจัยใดบ้าง

ปัจจัยแรกที่ทำให้ราคาสูงขึ้นคือเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวดีในปัจจุบัน ความต้องการเมื่อเทียบกับผลผลิตที่มีอยู่ (หรือที่เรียกกันว่าอุปสงค์ส่วนเกิน) จะส่งผลให้มีการแย่งกันใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่มีอยู่จำกัด ทำให้ต้นทุนถีบตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องขึ้นราคาเพื่อรักษากำไร สำหรับประเทศไทย ณ ขณะนี้ประเมินว่าอุปสงค์ส่วนเกินจะเริ่มมีมากขึ้นเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งสะท้อนจากโรงงานที่ต้องเดินเครื่องต่อเนื่องเพื่อผลิตให้ทันกับคำสั่งซื้อ ในขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเพื่อรองรับการผลิต

ปัจจัยที่สองคงไม่พ้นราคาสินค้าบางชนิดที่เร่งตัวขึ้นจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง โดยทั่วไปแล้วหาก “supply shock” ดังกล่าวเกิดขึ้นและหายไป ผลกระทบที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อจะมีเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ในบางกรณีโดยเฉพาะเวลาที่อุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่ราคาน้ำมันและวัตถุดิบสูงขึ้น ผู้ประกอบการอาจกล้าที่จะขึ้นราคาหากมีแรงซื้อรองรับ ในทางตรงข้ามเศรษฐกิจซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นตัวเช่นกรณีสหรัฐ คนตกงานเป็นจำนวนมาก หากมองไปข้างหน้าแล้วไม่เห็นอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ผู้ประกอบการก็จะไม่กล้าขึ้นราคาสินค้ามากนัก ดังนั้น ผลของ supply shock อาจจะทวีความรุนแรงในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ซึ่งเป็นภาวการณ์ปัจจุบันในกรณีของประเทศไทย

ปัจจัยที่สามและอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อเงินเฟ้อคือการคาดการณ์เงินเฟ้อ หากสาธารณชนคิดว่าราคาโดยรวมในอนาคตมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แนวโน้มของต้นทุนก็จะสูงขึ้นไปด้วยเช่นในกรณีที่แรงงานเรียกร้องขอปรับค่าแรงเพราะแนวโน้มค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้า ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตสูง เช่นในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในแถบประเทศผลิตน้ำมันหลักของโลกจะจบเมื่อไร หรือขยายวงกว้างออกไปถึงไหน ผู้ประกอบการอาจจะคาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และปรับขึ้นราคาสินค้ามากกว่าหรือนานกว่าในกรณีที่มีข้อมูลชัดเจน ทั้งนี้ การศึกษาหลายๆ ชิ้นพบว่าในระยะยาวเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในบรรดาสามปัจจัยนี้ในการกำหนดพลวัตเงินเฟ้อของไทย

คราวนี้มาดูว่านโยบายการเงินควรดำเนินไปอย่างไรเมื่อเงินเฟ้อโน้มสูงขึ้น

นโยบายการเงินคงทำอะไรไม่ได้มากกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรราคาน้ำมันก็จะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อลงจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่งถูกเพียงส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นด้วย และส่งผลต่อเนื่องไปยังประชาชนและผู้ประกอบการในวงกว้าง ขอขึ้นค่าแรงและเงินเดือนบ้าง ขอขึ้นราคาสินค้าบ้าง ถึงแม้สมมติว่าราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลง ราคาต่างๆ ก็จะไม่ปรับลดลงตามทันทีหากการคาดการณ์เงินเฟ้อเตลิดไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับฝังตัวอยู่นานในแนวโน้มเงินเฟ้อ

ดังนั้น นโยบายการเงินมีหน้าที่ในการช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนและผู้ประกอบการ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่เนิ่นๆ รวมถึงการส่งสัญญาณชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไปหากเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มสูง จะมีส่วนช่วยให้ภาคเอกชนอนุมานได้ว่าอุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจจะถูกขจัดออกบ้าง ส่งผลให้เงินเฟ้อที่คาดการณ์ลดลงและในที่สุดก็ถูกยึดเหนี่ยวไว้ และหากนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพในการเหนี่ยวรั้งการคาดการณ์ อัตราดอกเบี้ยก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นไปมากเพื่อชะลอเศรษฐกิจ

คำถามสำคัญก็คือว่าอะไรจะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ การที่ประชาชนและผู้ประกอบการจะเชื่อว่าเงินเฟ้อจะไม่ขึ้นสูงต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นั้นขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินแบบมีเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยมีเป้าประสงค์และกฎกติกาที่ชัดเจนที่จะต้องรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ และขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ มีส่วนเสริมสร้างประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน เพราะสาธารณชนสามารถประเมินได้ว่าที่ผ่านมาเงินเฟ้อเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายบ่อยเพียงใดและอธิบายได้หรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในช่วงเงินเฟ้อสูงนั้นสามารถรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบได้ดีเพียงใด เหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความท้าทายของนโยบายการเงินอยู่ที่การชั่งน้ำหนักระหว่างเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในส่วนนี้ที่มาของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นประเด็นสำคัญ โดยในปัจจุบัน ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมานานแล้วมาจากอุปสงค์ของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนที่ขยายตัวดี มีเพียงแค่ระยะหลังที่ผลผลิตหายไปจากตลาดบ้างเพราะภัยธรรมชาติและปัญหาความไม่สงบ ถ้ามองในบริบทของทั้งโลก ความต้องการของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ดึงราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้สูงขึ้นนั้น ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การชั่งน้ำหนักของนโยบายการเงินอาจค่อนไปทางดูแลเงินเฟ้อมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจในภาวการณ์ปัจจุบัน

โดยสรุปแล้ว ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นนั้น นโยบายการเงินควรเน้นที่การควบคุมอุปสงค์ส่วนเกินและการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่อาจเร่งขึ้นเรื่อยๆ จากความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ที่อาจปรับสูงขึ้นในวงกว้าง อัตราดอกเบี้ยนโยบายจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจัดการควบคุมการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

กรุงเทพธุรกิจ, 2 มีนาคม 2554

กลัวปัญหา stagflation, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

28 March 2011 Leave a comment

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : กลัวปัญหา stagflation

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อ 14-16 มีนาคม กรุงเทพโพลล์ทำการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ไทย 65 คน โดยมีผลสำรวจที่น่าสนใจคือนักเศรษฐศาสตร์ 58% มองว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ stagflation หรือภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวเศรษฐกิจที่ระดับต่ำ ทำให้การว่างงานสูงหรือเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คือ 46.2% ประเมินว่าความสามารถด้านการบริหารจัดการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคาสินค้านั้นอยู่ในระดับ “พอใช้” และ 9.2% เห็นว่าค่อนข้างดี จึงสรุปได้ว่ามีเพียง 55.4% เห็นว่า “สอบผ่าน” ดังนั้นจึงเกิดความกังวลว่าในอนาคตประเทศไทยอาจเผชิญกับ stagflation หรือเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืดได้

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือนักเศรษฐศาสตร์ 61.6% ไม่เห็นด้วยกับการตรึงราคาดีเซล แปลว่าควรยอมให้ราคาดีเซลปรับสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 15% (เป็น 35 บาทต่อลิตร) หรือมากกว่านั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อไปอีก ซึ่งย่อมจะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกได้ 1.0-1.5% โดยไม่รวมกับการขอปรับขึ้นราคาสินค้าหลายประเภทในขณะนี้เพราะรัฐบาลได้เคยขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้ามานานกว่า 1 ปีแล้ว หมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าราคาสินค้าจะปรับตัวขึ้นได้มากในปีนี้ เพราะแรงกดดันจากต้นทุนการผลิต หรือหากมองในแง่นี้คือ cost-push inflation นั่นเอง ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากการประเมินปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมองว่าปัญหาโดยรวมนั้นมาจาก demand-pull หรือกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การใช้กำลังการผลิตและทรัพยากรของประเทศอย่างเต็มกำลังการผลิต (เช่นการว่างงานในไทยต่ำกว่า 1%) และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกโดยรวมที่น่าจะสูงถึง 4.5% ในปีนี้และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียซึ่งน่าจะขยายตัวประมาณ 7% ในปี 2011

ดังนั้นจึงมีสัญญาณชัดเจนจาก ธปท.ว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คือ 66.2% ก็เห็นด้วยกับ ธปท.ในเรื่องนี้ โดยให้ความเห็นว่าจะรักษาเสถียรภาพของราคาและการขยายตัวของเศรษฐกิจ (เพราะหากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ในวันนี้ ในวันหน้าก็จะยิ่งต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นและใช้มาตรการเสริมอื่นๆ ที่จะเป็นภาระต่อเศรษฐกิจเพราะไม่สามารถ “ตัดไฟแต่ต้นลม”) นอกจากนั้นก็ยังเห็นด้วยกับ ธปท.ว่าปัจจุบันดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยลบเงินเฟ้อ) ยังอยู่ที่ระดับต่ำ หากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะต้องยอมรับสภาพว่า ในครึ่งหลังของปีนี้หลังการเลือกตั้งรัฐบาลคงจะต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาดีเซล ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยราคาสินค้าจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่เมษายนเป็นต้นไป ในขณะที่ ธปท.ก็คงจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

แต่สภาวการณ์ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เพียงสะท้อนว่าปีนี้จะเป็นปีที่เกิดความอึดอัดทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้สะท้อนว่าจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืด เช่นที่กล่าวข้างต้นแต่อย่างไร หมายความว่าเมื่อปรับดอกเบี้ยขึ้นถึงจุดเหมาะสมและราคาดีเซลลอยตัวตามราคาตลาดโลก ตลอดจนราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ปัญหาเงินเฟ้อก็น่าจะหมดไป กล่าวคือทุกอย่างก็น่าจะกลับสู่สภาวะปกติในปีหน้าและปีต่อๆ ไปนั่นเอง

ปัญหาเงินเฟ้อ-เศรษฐกิจฝืดนั้นคือ การต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูง (6% หรือมากกว่านั้น) หลายปีติดต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจก็ฝืดเคืองคือการขยายตัวไม่ได้ดีเต็มที่ ทำให้มีคนว่างงานและรายได้ไม่พอรายจ่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1975-1979

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 60 นั้นมีการขยายตัวที่สูงถึง 8.4% ต่อปีในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ 2.2% ต่อปี แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 70 ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มมีปัญหาคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ในปี 1973 ซึ่งเป็นปีที่กลุ่มโอเปครวมหัวกันปรับราคาน้ำมันขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นยกแผง เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวดีตามไปด้วยคือจีดีพีโตถึง 10% แต่เงินเฟ้อก็ปรับสูงขึ้น 3 เท่าตัว 15.5% ปัญหาที่ตามมาคือเงินเฟ้อในปี 1974 กลับถีบตัวสูงขึ้นถึง 24.3% ในขณะที่จีดีพีขยายตัวเพียง 4.5% ทำให้เห็นได้ว่าเงินเฟ้อนั้นเมื่อปรับสูงขึ้นแล้วจะควบคุมได้ยาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงนั้นโอเปคมีศักยภาพสูงและมีความมุ่งมั่นในการดันราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัวและเกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทั้งในตะวันออกกลางและในประเทศไทย (ซึ่งบางคนอาจมองว่าไม่แตกต่างมากนักกับสภาวการณ์ในปี 2010-2011)

ที่น่าสนใจคือการที่รัฐบาลไทยได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงในปี 1975-1978 โดยการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณและขับเคลื่อนให้รัฐวิสาหกิจลงทุนขยายธุรกิจ (ซึ่งในหลักการให้ผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องดีกว่านโยบายประชานิยม) ในช่วงเดียวกัน ธปท.ก็ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายย่อมให้เงินเฟ้อสูงเฉลี่ย 6.2% ในช่วง 1975-1978 ซึ่งสูงกว่าเฉลี่ยในทศวรรษ 60 เกือบ 3 เท่าตัว ในที่สุดเมื่อรัฐบาลหมดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเริ่มเป็นหนี้มากมายและเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง จีดีพีก็ขยายตัวลดลงเหลือ 5.2% ในปี 1979 ในขณะที่เงินเฟ้อกระเพื่อมขึ้นเป็น 9.9% ในปี 1979 ต่อจากนั้นเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยก็เข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาการล้มละลายของสถาบันการเงิน รัฐบาลไทยต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ตลอดจนการลดค่าเงินบาทในปี 1984

ประสบการณ์ในทศวรรษ 60, 70 และ 80 นั้น ทำให้สรุปได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อนั้นมีอยู่ 3 ปัจจัยหลักคืออุปสงค์ส่วนเกิน อุปทานขาดแคลนและการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflationary expectation) ซึ่งประสบการณ์ในทศวรรษ 70 นั้นทำให้เห็นว่าในระยะยาวนั้น การคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ตรงนี้ ดร.สุรัช แทนบุญได้เขียนบทความลงในกรุงเทพธุรกิจอย่างละเอียดในฉบับวันที่ 22 มีนาคมครับ

สำหรับส่วนของเศรษฐกิจฝืดนั้นจะพบว่าในช่วงต้นทศวรรษ 70 นั้น มีความต้องการผ่อนปรนผลกระทบจากอุปทานขาดแคลน (cost-push inflation) โดยการไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยและจำกัดสภาพคล่องเพราะมองว่าจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ (เช่นที่พูดกันอยู่ในขณะนี้) แต่การ “ยอม” ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นนั้นพยายามทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและกำกับดูแล (เช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้เช่นกัน) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งการดูแลให้มีการปรับขึ้นราคาและค่าจ้างอย่างกว้างขวาง โดยมีการระบุไว้ในสัญญาจ้าง สัมปทาน ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ กล่าวคือเป็นการสร้างการคาดการณ์เงินเฟ้ออย่างเป็นรูปแบบ คำถามคือทำไมการดำเนินการเช่นนี้จึงทำให้เศรษฐกิจฝืดหรือขยายตัวเชื่องช้ากว่าเดิม คำตอบคือประสิทธิภาพของเศรษฐกิจระบบทุนนิยมนั้นเกิดจากการปรับตัวของราคาสินค้าอย่างเป็นอิสระเมื่อราคาสินค้า ก.ปรับสูงขึ้น แรงงานทุนและทรัพยากรก็จะถูกจัดสรรไปเพิ่มการผลิตสินค้า ก. โดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันหากสินค้า ข. ราคาตก ทรัพยากรทุนและแรงงานก็จะไหลออกเพื่อลดการผลิตสินค้าดังกล่าว แปลว่าทรัพยากรทุนและแรงงานจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงตลอดเวลา แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมการปรับตัวของราคา ซึ่งจะทำให้ขาดความคล่องตัวการจัดสรรทรัพยากร ทุนและแรงงานก็จะขาดประสิทธิภาพตามไปด้วยซ้ำร้ายรัฐบาลมักจะกดราคาสินค้าที่จำเป็น (แปลว่าราคาควรสูงขึ้นเพราะมีความต้องการมาก) แต่ปล่อยเสรีราคาสินค้าที่ไม่จำเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจให้ผลิตสินค้าที่ไม่ถูกควบคุมมากกว่า นอกจากนั้นผู้ผลิตก็คงรู้สึกกันถ้วนหน้าว่าระบบที่รัฐบาลควบคุมราคาสินค้านั้นผู้ผลิตต้องเจรจาโน้มน้าวรัฐบาล ให้ยอมปรับราคา ทำให้เสียเวลาและทรัพยากร เป็นการเบี่ยงเบนให้ไม่สามารถมุ่งเน้นการผลิตการพัฒนาคุณภาพของสินค้าจึงไม่ควรแปลกใจว่าทำไมจีดีพีจึงขยายตัวช้าลงในที่สุดครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

อาฟเตอร์ช็อค, สรกล อดุลยานนท์

27 March 2011 Leave a comment

อาฟเตอร์ช็อค

โดย สรกล อดุลยานนท์

มีคนบอกว่าสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติในวันนี้ คือ “อาฟเตอร์ช็อค” ทางการเมืองจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การรัฐประหาร เปรียบเสมือน “แผ่นดินไหว” ทางการเมือง

“แผ่นดินไหว” นั้นคือ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกแบบ “ผิดปกติ”

ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มักจะตามมาด้วย “อาฟเตอร์ช็อค” อีกหลายครั้ง

ที่ญี่ปุ่น แผ่นดินไหว 9 ริคเตอร์ 1 ครั้ง

แต่ตามมาด้วย “อาฟเตอร์ช็อค” อีกหลายสิบครั้ง

บางครั้งก็หนักหนาระดับแผ่นดินไหวที่พม่า 7 ริคเตอร์ เมื่อวันก่อน

ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียก “อาฟเตอร์ช็อค” ว่า “แผ่นดินไหวตาม”

คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมา หินต่างๆ รอบๆ ศูนย์กลางไหวสะเทือนใต้ผิวโลกจะพยายามปรับตัวให้คืนสภาพสมดุล

จึงเกิดแผ่นดินไหวตามมาเป็นระยะก่อนจะหยุดไหวสนิท

“การเมือง” ก็เช่นกัน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบ “ผิดปกติ” ย่อมส่งผลสะเทือนแบบ “อาฟเตอร์ช็อค” ตามมาเป็นระยะ

การรัฐประหารที่ผ่านมาก็คือ เหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” ทางการเมืองเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ “ผิดปกติ”

จากนั้น “อาฟเตอร์ช็อค” ก็ตามมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การก่อตัวของ “คนเสื้อแดง” ความรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนมี “ที่มา” จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น

ขนาด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่าจะยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

แทนที่ทุกคนจะพุ่งเป้าความสนใจไปที่การเลือกตั้ง

กลับมีคนบางกลุ่มปลุกกระแส “ไม่มีเลือกตั้ง” และ “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นมา

ไม่มีใครกล้า “ฟันธง” บอกว่าเรื่องนี้ “เป็นไปไม่ได้”

แม้แต่ “อภิสิทธิ์” หรือ “สุเทพ” เองก็ตาม

ปากก็บอกว่าไม่จริง เป็นไปไม่ได้

แต่ในใจคงหวั่นไหวเหมือนกัน

ถามว่าทำไมจึงหวั่นไหว

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2549

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กกต.ลาออก-นายกฯมาตรา 7-ตุลาการภิวัฒน์ หรือการรัฐประหาร

ทุกเรื่องล้วนแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น

“ตัวละคร” ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม

ความกลัว “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ยังคงอยู่

อย่าลืมว่าการรัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นก็เพราะความกลัวว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง

มีคนบอกว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของ “แผ่นดินไหว” นั้นไม่ใช่ความเสียหายทางวัตถุหรือชีวิตคน

แต่เป็นเรื่อง “จิตใจ”

“อาฟเตอร์ช็อค” ทางจิตใจนั้นหนักหนายิ่งกว่าทางวัตถุมากนัก

คนที่เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์

จะเกิดความหวาดระแวงตลอดเวลา

เช่นเดียวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ที่ทำให้คนไทยเกิดความหวาดระแวง

ไม่เชื่อมั่นว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย

อย่าแปลกใจที่จะไม่มีใครเชื่อคำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าจะไม่ปฏิวัติ

ไม่มีใครเชื่อ “อภิสิทธิ์” ว่าจะมีการเลือกตั้ง

ไม่มีใครเชื่อว่า “ตุลาการภิวัฒน์” จะไม่เข้ามายุ่งการเมือง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เราต้องนึกเสมอว่า “ประวัติศาสตร์” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว

เราแก้ไขอะไรไม่ได้

แต่ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”

เราจัดการได้ !!!

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2554)

มติชน, 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

“ฝ่ายค้าน”ที่น่ากลัวกว่า, สรกล อดุลยานนท์

20 March 2011 Leave a comment

“ฝ่ายค้าน”ที่น่ากลัวกว่า

โดย สรกล อดุลยานนท์

ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านแล้ว ต้องยอมรับเลยว่า “ประชาธิปัตย์” เหนือชั้นจริงๆ ในเรื่องการตอบโต้ในสภาผู้แทนราษฎร

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย

ถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวที่ลอกเลียนแบบได้ยาก

กลยุทธ์ที่ใช้ประจำก็คือ เริ่มต้นด้วยการ “ดิสเครดิต”

ทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” ของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่อภิปราย

หยิบเรื่องเล็กๆ ที่เห็นชัดว่า “ฝ่ายค้าน” ผิดพลาดมาเริ่มต้นก่อน

ปูพื้นความผิดพลาด 2-3 เรื่อง เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าคนพูดไม่น่าเชื่อถือ

จากนั้นจึงเลือกตอบในประเด็นที่ได้เปรียบ

ชวนทะเลาะในเรื่องที่ตัวเองได้เปรียบ

ส่วนเรื่องที่เสียเปรียบก็จะหลีกเลี่ยง หรือเลือกมุมที่จะตอบ

เป็นลีลาเหมือนกับ “นักมวย” ที่พลิกออกจากมุม

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

มีคนบอกว่านี่คือการประยุกต์เทคนิคของ “ทนายความ” และ “นักโต้วาที” มาผสมผสานกันจนกลายเป็น “นวัตกรรม” ของ “ประชาธิปัตย์”

ไม่เชื่อลองสังเกตดูสิครับ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภานั้นตัดสินกันด้วยการยกมือของ ส.ส

ฝ่ายไหนได้มากกว่าก็ชนะ

ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เกมจะจบลงแค่ในสภา

แต่การอภิปรายครั้งนี้มี 2 ยกครับ เพราะ “อภิสิทธิ์” ประกาศแล้วว่าจะยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมนี้

หรืออีกไม่เกิน 50 วันนับจากนี้

ยกแรก คือ ในสภา “อภิสิทธิ์” อาจชนะ

แต่ “สนามเลือกตั้ง” ซึ่งเป็น “ยกที่สอง” บอกได้เลยว่า ไม่แน่ !!

เพราะคนตัดสินคือ “ประชาชน”

ช่วง 50 วันนับจากนี้ ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

เรื่องปัญหาความขัดแย้งกับกัมพูชา ที่เงียบๆ ไปนั้น

เดี๋ยวก็ผุดขึ้นมาอีกครั้งแน่นอน

เพราะตัวเร่งปฏิกิริยาอย่าง “กลุ่มพันธมิตร” ยังชุมนุมอยู่

หรือเรื่องวิกฤตการณ์สึนามิและโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

และประเทศไทยก็คงไม่พ้นจากวิกฤตการณ์นี้

แต่ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ

เสียงบ่นในสภาจบแล้ว

แต่เสียงบ่นของประชาชนยังไม่จบ

ข่าวเรื่อง “ของแพง” จะกลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้จะแรงขึ้น

เพราะนอกจากสินค้าจำนวนมากที่ขยับตัวขึ้นไปแล้ว

ยังมีสินค้าอีกหลายตัวที่รอคิวขึ้นราคา

นี่คือ เรื่องใหญ่ที่สุดของรัฐบาล “อภิสิทธิ์”

เพราะคนที่บ่นเรื่องนี้คือ “แม่บ้าน”

ออกไปนอกบ้าน เสียงของ “แม่บ้าน” อาจไม่ดัง

แต่ในบ้าน เสียงของ “แม่บ้าน” ดังที่สุด

เรื่องของแพงนั้น ในสภาอาจใช้ “วาทศิลป์” แก้ปัญหาได้

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง “วาทศิลป์” ช่วยอะไรไม่ได้

เพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริง

เงินออกจากกระเป๋าเพิ่มขึ้นจริง

ในแวดวงการเมืองเขาจึงว่าพรรคฝ่ายค้านในสภาที่ชื่อว่า “เพื่อไทย” นั้นไม่น่ากลัวเท่ากับพรรคฝ่ายค้านนอกสภา

ที่ชื่อว่า “ความจริง”

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2554)

มติชน, 20 มีนาคม 2554

ขอบคุณ “อภิสิทธิ์”, สรกล อดุลยานนท์

12 March 2011 Leave a comment

ขอบคุณ “อภิสิทธิ์”

โดย สรกล อดุลยานนท์

คำแถลงของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้จะถูกข่าว “สึนามิ” ที่ญี่ปุ่นกลบไป

แต่ก็ถือเป็น “ข่าวใหญ่”

และ “ข่าวดี”

เพราะเป็นครั้งแรกที่ “อภิสิทธิ์” กำหนดเวลาการยุบสภาที่ชัดเจน คือ ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม

ตีความได้ว่าหากการแก้ไขกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จเร็ว

“อภิสิทธิ์” ก็อาจยุบสภาเร็วกว่านั้น

เพราะตอนนี้ใครๆ ก็มองออกว่า “อภิสิทธิ์” อยากยุบสภาเร็ว

ข่าวแว่วๆ เรื่องการยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นไม่ใช่ “ข่าวลือ”

ยิ่งดูจากการยิงโฆษณาอย่างถี่ยิบตอนนี้ ยิ่งชัดเจน

ถ้าไม่คิดจะยุบเร็ว พรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยิงโฆษณาถี่ยิบอย่างนั้นหรอกครับ

ขืนยิงโฆษณา แล้วยุบช้า

ภาษาโฆษณาเขาเรียกว่า “ทิ้งน้ำ”

เพราะถึงเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง คนก็ลืมแล้ว

“อภิสิทธิ์” คงประเมินแล้วว่ายิ่งยุบเร็ว ยิ่งดี

ขืนยุบช้า อาจจะช้ำไปมากกว่านี้

เพราะเห็นชัดๆ ว่ามรสุมเศรษฐกิจ เรื่อง “ข้าวยากหมากแพง” กำลังมาแรง

แต่เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องการให้สภาผ่าน “กฎหมายลูก” ออกมาก่อน

แวดวงการเมืองอ่านกันว่าเป็นการป้องกันอิทธิฤทธิ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่อาจทำให้การเมืองถึงทางตัน

“อภิสิทธิ์” จึงต้องยอมเลื่อนกำหนด “ยุบสภา” ออกไป

แม้จะช้าไปหน่อย แต่ก็ดีกว่าที่ “ยื้อ” ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ

เพราะเมื่อกำหนดเวลาชัดเจน ในเวลาที่เอื้อมมือถึง ไม่ใช่พูดลอยๆ กว้างๆ เหมือนในอดีต

ประเภท “เร็วๆ นี้” หรือ “ภายในครึ่งปีแรก”

แต่กำหนดเลยว่า “ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม”

หรืออีกแค่ไม่ถึง 2 เดือน

ครับ ถ้าเป็นนักประชาธิปไตยจริง และเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา

ทุกคนต้องยอมรับการยุบสภา

ที่หมายถึงการคืนอำนาจให้กับประชาชน

“การเลือกตั้ง” อาจไม่ใช่กระบวนการที่ดีที่สุด สะอาดที่สุด โปร่งใสที่สุด

แต่การเลือกตั้งก็ยังเป็นกระบวนการที่เลวน้อยที่สุด

เพราะประชาชนทั้งประเทศมีโอกาสได้กำหนดอนาคตของตัวเอง

ไม่เหมือนกับการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนไม่กี่คน

ใช้ “อำนาจนอกระบบ”

ใช้ “รถถัง” และ “อาวุธ” ที่มาจากภาษีอากรประชาชนมาล้มล้างมติของประชาชน

ตอนนี้ก็ได้หวังเพียงว่าการยุบสภาครั้งนี้จะช่วยลดดีกรีความขัดแย้งในสังคมไทยลงได้บ้าง

ถ้า “ประชาธิปัตย์” ชนะเลือกตั้ง “อภิสิทธิ์” ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ถ้า “เพื่อไทย” ชนะ “เพื่อไทย” ก็เป็นรัฐบาล

เล่นกันตามกติกาประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเสียที

ผลเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างไร ทุกคนต้องยอมรับ

และถ้ามีใครคิดรัฐประหาร ล้มการเลือกตั้ง

หรือหลังการเลือกตั้งมีคนใช้อำนาจกองทัพมาจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีก

รับรองว่าบ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่นอน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 12 มีนาคม 2554)

มติชน, 12 มีนาคม 2554

การแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐ, ศุภวุฒิ สายเชื้อ

8 March 2011 Leave a comment

เศรษฐศาสตร์จานร้อน : การแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วงหลังนี้จะมีข่าวการแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐอยู่หลายเรื่อง เช่น การกำหนดราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การกำหนดราคาน้ำมันปาล์มไม่ให้เกิน 67 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการกดไม่ให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จะมีการกำหนดราคาให้สูงหรือให้เพิ่มขึ้นเช่นการประกันราคาข้าวและการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น

การกำหนดนโยบายดังกล่าวมีความตั้งใจดี แต่มักจะประสบปัญหาเพราะเป็นการฝืนกลไกตลาดเสรี ซึ่งในแก่นแท้คือการเปิดเสรีให้ประชาชนทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน ดังนั้นธุรกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นธุรกรรมที่ทำด้วยความสมัครใจและมีความเต็มใจ แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ที่เบี่ยงเบนจากจุดที่ต่างฝ่ายต่างทำด้วยความสมัครใจก็จะต้องยอมรับว่าธุรกรรมที่ทำขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นอย่างไม่เต็มใจ เช่น กรณีของน้ำมันปาล์มนั้นหากอ่านข้อมูลที่ปรากฏก็จะเห็นว่าปัญหาดั้งเดิมคือการขาดแคลนเมล็ดปาล์ม ซึ่งผลักดันให้ราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นเกินกว่าราคาที่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มจะสามารถสกัดออกมาและบรรจุขวดได้ในราคาที่ทางการกำหนดและต่อมาเมื่อมีการปรับราคาน้ำมันปาล์มและอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบ (คือเมล็ดปาล์มหรือน้ำมันปาล์มดิบ) อย่างเพียงพอ ความขาดแคลนก็หมดไป ถามว่าในระหว่างที่น้ำมันปาล์มขาดแคลนอย่างหนักนั้นมีความพยายามหลีกเลี่ยงราคาคุม (คือการขายน้ำมันในขวด) โดยการขายในปี๊บหรือถุงหรือไม่ก็ต้องตอบว่าจะต้องมีบ้างถามว่าจะมีการกักตุนบ้างหรือไม่ ก็อาจมีบ้างแต่คงเพราะราคาที่รัฐบาลควบคุมอยู่ (ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเกินไป) ทำให้ขาดแรงจูงใจในการผลิต ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพราะเชื่อว่าผู้ผลิต ผู้จัดส่ง ผู้ขายส่งและผู้ขายปลีกนั้นส่วนใหญ่ต่างเป็นนักธุรกิจที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความซื่อสัตย์และมีชื่อเสียงทั้งสิ้น กระทรวงพาณิชย์เองก็เข้าใจดีว่าภาคเอกชนไทยผลิตสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมาโดยตลอด กล่าวคือเศรษฐกิจไทยนั้นโดยรวมแล้วก็ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจโดยสุจริต ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มนั้นจึงไม่น่าจะมีสาเหตุหลักจากการกระทำผิดของผู้ผลิตแต่อย่างใด

การประกันราคาข้าวนั้นก็ดูเสมือนว่าเป็นการทำประโยชน์ให้กับชาวนา แต่ก็ย่อมเป็นการตรึงราคาข้าวให้สูงเกินกว่ากลไกตลาด ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มทำให้สินค้าที่คนเมืองจำเป็นต้องบริโภคราคาแพงขึ้น ซึ่งขัดกับแนวคิดเกี่ยวกับน้ำมันปาล์มที่กระทรวงพาณิชย์พยายามกดราคาไม่ยอมให้ปรับขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนระบบประกันราคา เป็นการให้เปล่ากับเกษตรกร เช่นหากราคาประกันเท่ากับ 12,000 บาทต่อเกวียน แต่ราคาตลาดเท่ากับ 9,000 บาทรัฐบาลก็จะชดเชยส่วนต่างคือ 3,000 บาทให้ โดยให้ชาวนาแจ้งจำนวนข้าวที่ผลิตออกมาได้ ทำให้ราคาในตลาดไม่ต้องปรับขึ้น แต่ก็ยังเป็นกลไกที่มีจุดอ่อน 2 ประการหลักๆ คือ 1. จะมีแรงจูงใจให้แจ้งจำนวนการผลิตสูง (และอาจลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาขอรับเงินชดเชย) 2. ชาวนาจะมุ่งเน้นการกดดันรัฐบาลให้ปรับเพิ่มราคาประกันแทนที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของข้าว จึงเป็นไปได้ว่าในระยะยาวประเทศไทยจะผลิตข้าวเป็นจำนวนมากแต่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวนาในระยะยาว ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ค่อยบอกว่ารายจ่ายที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวนั้นมากน้อยเพียงใดและหลายคนคงจะเห็นร่วมกันว่าน่าจะสามารถนำงบประมาณไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้

สำหรับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรนั้นก็มาจากความตั้งใจที่ดีในการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันดีเซล แต่ก็เป็นภาระต่อภาครัฐอย่างยิ่งดังที่เคยกล่าวมาแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็คงต้องยอมจำนนปล่อยให้ราคาดีเซลปรับขึ้น แต่อาจต้องปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว (เช่นต้องปรับขึ้น 10-15% ภายใน 2-3 สัปดาห์) ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนอันจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะสั้นอีกด้วย

สำหรับการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนั้นรัฐบาลพูดชัดเจนว่าในเมื่อราคาสินค้าจะต้องปรับขึ้น (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) รัฐบาลก็จะช่วย (หาเสียงกับ) ประชาชนโดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มให้อีก 25% ภายใน 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งก็เป็นเจตนารมณ์ที่ดีแต่ก็จะเป็นการสร้างการคาดการณ์ (expectation) เงินเฟ้อให้ฝังตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจโดยวัฏจักร คือการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ (เช่นน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ) ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นและต่อมาก็จะมีการเรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้าง ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก อันจะทำให้ราคาสินค้า (รวมทั้งราคาวัตถุดิบ) เพิ่มขึ้น กล่าวคือจะเป็นการเข้าสู่วังวนของการปรับขึ้นราคาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในทศวรรษ 70 ที่เริ่มต้นจากการที่ประเทศต่างๆ กลัวว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันของโอเปกจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดปัญหาว่างงาน รัฐบาลจึงได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจขณะเดียวกันธนาคารกลางก็ผ่อนคลายทางการเงินยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามควบคุมราคาสินค้าและร่วมมือกับสหภาพแรงงานในการให้ปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเป็นระบบ แต่ในที่สุดก็ยิ่งทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อฝังตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจ จนในที่สุดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเงินเฟ้อจนถึงจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องตัดสินใจ “หักดิบ” เงินเฟ้อโดยการปรับดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 20% ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในปี 1980-1982

กล่าวโดยสรุปคือแนวคิดที่จะช่วยเหลือประชาชนโดยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้เคยทำกันมาแล้วและล้มเหลวมาแล้ว จริงอยู่ในปัจจุบันอาจมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 70 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทศวรรษ 50 และ 60 ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพทางราคาคือเงินเฟ้อต่ำและดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วใน 2-3 ปีข้างหน้าคือ 1. การที่ธนาคารกลางสหรัฐกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป (เรื่องนี้ผมจะอธิบายในครั้งต่อไป) 2. ปัญหาตะวันออกกลางซึ่งกระทบต่อการผลิตน้ำมันอย่างรุนแรงและ 3. การที่ประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งในอดีตเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและเป็นผู้กดเงินเฟ้อ ของโลกกำลังจะกลายมาเป็นผู้ส่งออกเงินเฟ้อของโลก หากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีเศรษฐกิจที่ “เปิด” มากกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วอย่างมากก็จะต้องได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เมื่อปี 1975 การส่งออกและนำเข้าของไทยนั้นประมาณ 40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันเท่ากับ 130% ของจีดีพี) ดังนั้นหากเราสร้างเงินภายในและต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่ “นำเข้า” มาจากข้างนอกก็ส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจอย่างมาก

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีผู้สนับสนุนมากมาย ซึ่งสาเหตุที่สนับสนุนนั้นมักจะมีสมมติฐานว่าหากรัฐบาลสั่งอย่างใดก็จะได้อย่างนั้น กล่าวคือหากสั่งให้ผู้ผลิตจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น พนักงานก็จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นตามที่สั่ง แต่เราจะเห็นได้จากกรณีของน้ำมันปาล์มว่าหากรัฐบาลสั่งในสิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตขาดทุนเขาก็ต้องหยุดหรือลดการผลิต (เพราะหากเขาขาดทุนแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้) ในทำนองเดียวกันหากค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มขึ้นตามกฎหมายก็อาจจะทำให้การจ้างงานลดลง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีทักษะน้อยที่สุดและผู้ที่ขาดประสบการณ์ (ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการมีงานทำมากที่สุด) หรืออาจมีความพยายามเลี่ยงกฎหมายและใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งหากมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นหรือการลงทุนเพิ่มเครื่องจักรและลดการใช้แรงงาน กล่าวคือผมค่อนข้างแน่ใจว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำนั้นหากไม่มีมาตรการเสริมคือการเพิ่มทักษะและผลิตภาพให้แรงงานไทยมี “คุณค่าทางเศรษฐกิจ” เพิ่มเพียงพอที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น แรงงานไทยก็จะต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อไปครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 07 มีนาคม 2554

การบริหาร “ความรู้สึก”, สรกล อดุลยานนท์

6 March 2011 Leave a comment

การบริหาร “ความรู้สึก”

โดย สรกล อดุลยานนท์

ถึงวันนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” คงเริ่มนึกเสียใจที่ไม่ยอมยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2553

ย้อนเวลากลับไปเดือนพฤษภาคม 2553

ตอนนั้น “ม็อบเสื้อแดง” ได้เปรียบ จน “อภิสิทธิ์” ต้องยื่นข้อเสนอยุบสภาในเดือนกันยายน และเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 14 พฤศจิกายน 2553

แต่ “ม็อบเสื้อแดง” ไม่ยอม

และในที่สุดก็นำไปสู่การสลายการชุมนุมมีคนเสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย

หลังวันที่ 19 พฤษภาคม หลายคนในกลุ่ม “คนเสื้อแดง” บอกว่าน่าเสียดายที่แกนนำ นปช.ไม่ยอมตามข้อเสนอของ “อภิสิทธิ์”

ไม่เช่นนั้นเดือนพฤศจิกายนก็ได้เลือกตั้งใหม่ไปแล้ว

ในขณะที่ “อภิสิทธิ์” ก็รู้สึกว่าตนเองได้เปรียบ เขาจึงเตะเรื่อง “ยุบสภา” ออกไปไกล ด้วยการสร้างเงื่อนไข 3 ข้อขึ้นมา

คิดว่ายิ่งอยู่นานจะยิ่งได้เปรียบ

“อภิสิทธิ์” นึกไม่ถึงว่ากระแส “คนเสื้อแดง” จะกลับมาอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่รัฐบาลต้องเผชิญกับมรสุมใหญ่ 3 ลูก

ลูกแรก คือ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

การออกมาแถลงข่าวของ 4 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อัด “ผู้บัญชาการทหารบก” อย่างหนัก คือ บทสรุปที่ชัดเจนว่าสถานการณ์เลวร้ายจริงๆ

ลูกที่สอง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา

ตั้งแต่ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าใช้สำนวนล้อเลียนนิยายดังในอดีตก็ต้องบอกว่าแนวรบด้านตะวันออก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

คือ เลวร้ายเหมือนเดิม และมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการปะทะใหญ่กันระหว่างทหารไทย-กัมพูชา

มีคนไทยที่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชาต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนกว่า 30,000 คน

ลูกที่สาม ปัญหาข้าวยากหมากแพง

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ของแพง” ไม่น่ากลัวเท่ากับ “ของขาด”

ความพยายามควบคุมราคาจนกลไกตลาดผิดเพี้ยน ผนวกกับปรากฏการณ์ “สวาปาล์ม” ทำให้เกิดเหตุการณ์ “น้ำมันปาล์ม” ขาดแคลนและราคาแพง

จนถึงวันนี้สถานการณ์ก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

มรสุม 3 ลูกนี้ทำให้ “ภาพจำ” ของ “อภิสิทธิ์” ในใจประชาชนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ “อภิสิทธิ์” คงอยากยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2553

เพราะวันนั้น “ความรู้สึก” ของประชาชนกับ “อภิสิทธิ์” น่าจะเป็น “บวก” มากกว่าวันนี้

วันที่คำว่า “ข้าวยากหมากแพง” เริ่มมีคนใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ใช่ “นักข่าว” แต่เป็น “ชาวบ้าน”

นักข่าวคนไหนไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ถ้าไปสัมภาษณ์ชาวบ้านเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนจะตอบเหมือนกันหมด

ไม่มีใครพูดถึงรัฐบาลในทางบวกเลย

“ภาพประทับ” ในใจจากกรณี “น้ำมันปาล์ม” ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าทุกสินค้ามีโอกาสที่จะแพงขึ้นและขาดตลาด

“ความเชื่อ” แบบนี้น่ากลัวมาก

เพราะจะทำให้เกิด “ดีมานด์เทียม” คือ ผู้บริโภคซื้อของไปสต๊อคเกินความจำเป็นที่ต้องใช้

ส่วนพ่อค้านั้นคาดการณ์ว่าของจะต้องขึ้นราคาแน่ๆ เขาก็จะกักตุนไว้

จาก “น้ำมันปาล์ม” ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเชื่อว่า “น้ำตาลทราย” จะเป็นสินค้าตัวต่อไป

และยิ่งรัฐบาลอุ้ม “น้ำมันดีเซล” ไม่ไหว ต้องยอมปรับราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดในอีกไม่ช้า

เคราะห์ซ้ำ กรรมซัดอย่างแน่นอน

เพราะ “น้ำมัน” คือต้นทุนหลักของทุกสินค้า

ราคาสินค้าทุกตัวต้องขยับขึ้นทันที

อย่าลืมว่าศิลปะหนึ่งของการเมือง คือ การบริหารความรู้สึกของประชาชน

ณ วันนี้ ความรู้สึกของประชาชนกับรัฐบาล “อภิสิทธิ์” อยู่ในช่วงขาลง

และถ้าปล่อยไหลลงไปเรื่อยๆ จนถึงวันเลือกตั้ง

น่ากลัวครับ น่ากลัว

ความรู้สึกของประชาชนเมื่อวันหย่อนบัตรลงคะแนนเป็นอย่างไร

ผลการเลือกตั้งก็เป็นเช่นนั้น

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2554)

มติชน, 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

Problem, Avast Workstation for Ubuntu has corrupted.

5 March 2011 Leave a comment

Avast Workstation for Ubuntu has corrupted.

 

Problem, Avast Workstation Ubuntu has corrupted after it’s own update.

“Error occurred in Avast! engine: invalid argument”

First, I try to reinstall program from avast site but it still corrupted.

then I find what to do on the internet for 2 hours and make sure it works for all of my ubuntu computer.

How to solve Avast Workstation Ubuntu has corrupted

1 Run ‘sudo sysctl kernel.shmmax’

The default should be something like 33554432.

2 Run ‘sudo sysctl -w kernel.shmmax=67108864’

I don’t know exactly what happens, but it works for me.

Categories: Computers and Internet Tags: