Archive

Archive for September, 2011

โลกทรรศน์ที่ต้องเปลี่ยน, สรกล อดุลยานนท์

25 September 2011 Leave a comment

โลกทรรศน์ที่ต้องเปลี่ยน

โดย สรกล อดุลยานนท์

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์บุญชนะ อัตถากร เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ท่านเชื่อว่าเมืองไทยหนีไม่พ้นการรัฐประหาร

เพราะเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย คนไทยจะจดจำว่า “รัฐประหาร” คือวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาของประเทศ

แต่ที่สหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมา

ไม่เคยมีประชาชนคนไหนเรียกร้องให้ “กองทัพ” รัฐประหาร

ไม่เคยมีผู้นำกองทัพคนใดคิดจะยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากประชาชน

เพราะไม่เคยมีการรัฐประหารในประเทศของเขา

ประชาชนไม่เคยมี “ภาพจำ” ในเรื่องนี้

กระบวนการแก้ปัญหาจึงดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ

แต่เมืองไทยทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา จะมีคนกลุ่มหนึ่งคิดถึงการแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร

ทั้งคนนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบ

เหตุผลหนึ่งที่กองทัพกล้าฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะหลังยึดอำนาจสำเร็จคณะรัฐประหารสามารถนิรโทษกรรมตัวเองได้

ล่าสุดถึงขั้นขอ “งบฯลับ” ย้อนหลังจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลายพันล้านบาท

รู้ไหมว่าเป็นงบฯอะไร

“งบประมาณ” ที่ใช้ในการทำรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาครับ

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

นอกจากนั้นหลักคิดที่ว่า “ผู้ชนะ” คือ “ความถูกต้อง” ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยหนีไม่พ้นจากเงามืดของการรัฐประหารเสียที

ระบบตุลาการของไทยยังถือว่าประกาศคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

“ผู้ใหญ่” จำนวนไม่น้อยก็มีวิธีคิดว่าเมื่อเกิดการรัฐประหารไปแล้ว เราจะช่วยประคับประคองประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างไร

จำได้ว่า “อานันท์ ปันยารชุน” ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังคณะ รสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ด้วยเหตุผลนี้

หนังสือของ “วิษณุ เครืองาม” ก็ให้เหตุผลคล้ายคลึงกันในการเข้าไปช่วยเขียนธรรมนูญการปกครองให้กับ คมช. พร้อมกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

ทุกคนอ้างว่านี่คือการช่วยเหลือประเทศชาติ

หลักคิดดังกล่าวดูเหมือนจะมี “เหตุผล”

แต่ยิ่งนานวันยิ่งพิสูจน์แล้วว่าวิธีคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง

ไม่ว่าการยอมรับประกาศคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

หรือการยอมช่วยเหลือคณะรัฐประหาร

เพราะนี่คือ “ปุ๋ย” ที่ทำให้การรัฐประหารเติบโต

“การยอมรับ” ไม่ได้เป็นการช่วยประเทศในระยะสั้น แต่ทำลายประเทศในระยะยาว

“การปฏิเสธ” ต่างหากที่ช่วยเหลือประเทศชาติให้ดำเนินไปตามหลักการที่ถูกต้อง

ข้อเสนอของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงสังคมไทยในวันนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง

เราต้องทำให้การรัฐประหารเป็นเรื่องเลวร้ายของสังคมไทย

ด้วยการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร

หลักคิดที่ว่าคนมี “อาวุธ” จะทำอะไรก็ได้

“ชัยชนะ” คือ “ความถูกต้อง”

“ผู้ชนะ” เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์

หลักคิดเหล่านี้ต้องหมดสิ้นจากสังคมไทย

ไม่ใช่เพื่อ “เรา”

แต่เพื่อคนรุ่นต่อไป

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2554)

มติชน, 24 กันยายน 2554

ความจำสั้น, สรกล อดุลยานนท์

19 September 2011 Leave a comment

ความจำสั้น

โดย สรกล อดุลยานนท์

เห็น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาสรุปเรื่องนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแล้วรู้เลยว่า “มือใหม่” จริงๆ

พล.อ.อ.สุกำพล สรุปว่าถ้าคุยกับ “บีทีเอส” และ “บีเอ็มซีแอล” แล้วไม่สามารถทำได้ก็ต้องจบ

“จบอย่างมีเหตุผล ประชาชนคงเข้าใจ”

เป็นการให้สัมภาษณ์แบบตรงไปตรงมาแบบ “ทหาร”

แต่ “นักการเมืองรุ่นเก๋า” ฟังแล้วหัวเราะ

เพราะถ้าเป็น “นักการเมืองรุ่นเก๋า” เขาจะใช้กลยุทธ์ “รำวง”

วนไปวนมา ตั้งคณะกรรมการศึกษา เตะถ่วงไปเรื่อยๆ

ด้วยสมมติฐานว่า “คนไทยลืมง่าย”

จำโครงการเช่ารถเมล์ของ ขสมก.ได้ไหมครับ

กระทรวงคมนาคมของ “ภูมิใจไทย” พยายามผลักดันอย่างเต็มที่ ทั้งกดดันทั้งกระทบเท้าขู่

แต่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ใช้กลยุทธ์ “รำวง”

เห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อสังเกต

ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ชุดล่าสุดมี “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

จำได้ว่า “ไตรรงค์” ปลอบรัฐมนตรีของ “ภูมิใจไทย” ว่า “ผมทำงานไม่ช้า”

แต่เชื่อไหมว่าโครงการนี้ใช้เวลา “รำวง” ไปเรื่อยๆ จนหมดอายุรัฐบาล “อภิสิทธิ์”

เป็นกลยุทธ์การเมืองภายใต้ความเชื่อว่า “คนไทยลืมง่าย”

ข่าวเก่าผ่านไป ข่าวใหม่เข้ามา

ไม่มีใครมาจดจำหรอกว่าเคยสัญญาว่าอย่างไร

เคยพูดอะไร

หรือเคยทำอะไรไว้ในอดีต

ที่ชัดเจนที่สุด คือ กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาถล่มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม, การแจกเงินช่วยน้ำท่วมล่าช้า, การไล่จับ “ทักษิณ”, ผลประโยชน์ทับซ้อนในการเจรจากับกัมพูชา ฯลฯ

คนจำนวนไม่น้อยตะลึงในความกล้าหาญของ “ประชาธิปัตย์”

เพราะทุกเรื่องรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ทำมาแล้วทั้งสิ้น

แค่เดือนเศษ เขาคิดว่าคนไทยลืมแล้ว

เรื่องโยกย้ายข้าราชการ แค่กรณี “วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์” อธิบดีกรมการปกครองเรื่องเดียวก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนแล้ว

ย้ายเพราะไม่ยอมร่วมทุจริต และไม่ยอมให้เอาปืนไปยิงประชาชน

เรื่องตำรวจยิ่งแล้วใหญ่ แค่ตำแหน่ง “ผบ.ตร.” ยังยืดยาวเป็นมหากาพย์เลย

เรื่องแจกเงินช่วยน้ำท่วมล่าช้า คนนครศรีธรรมราชรู้ดี เพราะเคยประท้วงรัฐบาล “อภิสิทธิ์” จ่ายเงินช่วยเหลือล่าช้า

น้ำท่วมซ้ำครั้งที่ 2 เงินช่วยเหลือครั้งแรกยังไม่ได้เลย

หรือเรื่องไล่จับ “ทักษิณ” ที่รัฐบาล “อภิสิทธิ์” บอกคนไทยทั้งประเทศว่าตำรวจสากลขึ้นบัญชีแล้ว จะจับตัวได้แล้ว พูดแบบนี้มา 2 ปีกว่า

สุดท้ายคนของกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งออกมายอมรับว่า “ไม่จริง”

พลิกดูข่าวการให้สัมภาษณ์ของ “กษิต-ชวนันท์” ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วมาอ่านข่าววันนี้

งงจริงๆ ว่าทำไมกล้าพูด

หรือล่าสุดเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ในการเจรจากับกัมพูชา

“ฮุน เซน” เล่นการเมืองเพื่อช่วย “เพื่อไทย” แน่นอน

แต่มี “ความจริง” บางอย่างซ่อนอยู่ที่คนไทยไม่เคยรู้มาก่อน

เราไม่เคยรู้เลยว่ามีการเจรจาเรื่องบ่อน้ำมันในทะลแบบ “ไม่เป็นทางการ” กับกัมพูชามาถึง 3 ครั้ง

การเมืองวันนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าการทำงานของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

มีหลายเรื่องที่สมควรถูกวิพากษ์วิจารณ์

แต่เราต้องดูคนที่วิจารณ์เหมือนกัน

อย่าให้เขาดูถูกคนไทยว่าเป็น “ปลาทอง”

ความจำสั้นแค่ 4 วินาที

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 17 กันยายน 2554)

มติชน, 17 กันยายน 2554

สองสัญชาติของผู้ดี, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

15 September 2011 Leave a comment

สองสัญชาติของผู้ดี

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

หลักการในการให้สัญชาติแก่บุคคลธรรมดาในการเกิดโดยทั่วไปในประเทศต่างๆ จะวางอยู่บนหลักการเรื่องหลักดินแดนและหลักสืบสายโลหิต

หลักดินแดน (jus soli) จะเป็นการให้สัญชาติแก่บุคคลที่ถือกำเนิดขึ้นมาในดินแดนของรัฐ โดยถือว่าบุคคลที่เกิดในดินแดนของรัฐใด ก็ควรจะต้องมีความเกี่ยวพันกับรัฐนั้น จึงสมควรที่จะสามารถถือสัญชาติของรัฐในห้วงเวลาที่เกิด รัฐส่วนใหญ่มักให้สัญชาติของตนแก่บุคคลภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

หลักสืบสายโลหิต (jus sanguinis) จะเป็นการให้สัญชาติแก่บุคคลที่บิดามารดาถือสัญชาติของรัฐ กรณีนี้ถือว่าสัญชาติจะส่งผ่านจากบิดามารดาไปยังผู้เป็นบุตร หากบิดามารดาเป็นผู้ถือสัญชาติของรัฐใดเมื่อมีบุตรขึ้นมา ผู้เป็นบุตรก็ควรที่จะได้รับสัญชาติของบิดามารดา เพื่อสามารถเข้าถึงสิทธิในฐานะพลเมืองเช่นเดียวกับบิดามารดา หลักสืบสายโลหิตจะให้สัญชาติโดยพิจารณาจากสัญชาติของบิดามารดาเป็นหลักแม้จะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นภายในดินแดนแห่งรัฐที่บิดามารดาถือสัญชาติก็ตาม

หากพิจารณาจากหลักการดังกล่าว สภาวะของการมีสองสัญชาติจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน การแต่งงานระหว่างผู้คนที่ถือสัญชาติต่างกันและหากรัฐทั้งสองนั้นยินยอมให้สัญชาติตามหลักสืบสายโลหิตแก่บุตรที่เกิดจากบุคคลซึ่งถือสัญชาติของตน เช่น ก. สัญชาติ X แต่งงานกับ ข. สัญชาติ Y และโดยที่รัฐ X, Y ต่างก็ให้สัญชาติด้วยหลักสืบสายโลหิต บุตรก็ย่อมถือสัญชาติทั้งของรัฐ X และ Y

หรือในกรณีที่บุคคลซึ่งเข้าเมืองไปในรัฐต่างๆ อย่างถูกกฎหมายและรัฐนั้นก็ให้สัญชาติตามหลักดินแดนแก่บุตรที่ถือกำเนิดขึ้น เด็กที่เกิดขึ้นมาในรัฐนั้น นอกจากจะได้สัญชาติของรัฐที่ตนเองเกิดแล้วก็ยังมีสิทธิที่จะได้สัญชาติตามบิดามารดาจากหลักสืบสายโลหิตเพิ่มเติมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องสัญชาติของบุคคลมักปรากฏความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลธรรมดาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ดังที่ในปัจจุบันก็มีความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนบางประการปรากฏอยู่ ดังต่อไปนี้

ประการแรก การมีสัญชาติมากกว่าหนึ่งสัญชาติเป็นสิ่งที่ไม่ได้ “ผิดปกติ” และสามารถเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางในห้วงเวลาที่มีการข้ามรัฐอย่างกว้างขวางทั้งโดยสามัญชนและชนชั้นนำ คนสัญชาติไทยเป็นจำนวนมากที่ได้ทำมาหากินและตั้งถิ่นฐานจนกระทั่งได้รับสิทธิการอยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา บุตรที่เกิดมาก็ได้สัญชาติทั้งของไทยและของสหรัฐอเมริกา

ส่วนใหญ่คนที่ได้สัญชาติในลักษณะนี้มักต้องการตั้งรกรากในดินแดนอีกแห่ง ซึ่งมักต้องแสดงออกให้เห็นด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกระทั่งสามารถเข้าเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้ได้สิทธิในการอาศัยและสัญชาติของรัฐนั้น ซึ่งก็สามารถสืบต่อมายังบุตรของตน และเนื่องจากกฎหมายไทยในเรื่องสัญชาติไทยไม่ได้บังคับให้บุคคลต้องมีสัญชาติไทยเพียงอย่างเดียวโดยห้ามถือสัญชาติอื่น บุคคลจึงถือสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นควบคู่กันไปได้

บรรดาลูกท่านหลานเธอจำนวนมากที่ไปบิดามารดาไปคลอดในต่างประเทศ ก็ด้วยความคาดหวังว่าจะทำให้ลูกของตนสามารถมีอีกสัญชาติหนึ่งนอกไปจากสัญชาติไทยมิใช่หรือ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายต่อการยอมรับว่าตนเองจะมีสัญชาติมากกว่าหนึ่งสัญชาติ เฉพาะอย่างยิ่งการได้สัญชาติอันเป็นผลมาจากการเกิดเพราะเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการกระทำของบิดามารดา มิใช่เป็นการกระทำของตนแต่อย่างใด

ประการที่สอง การไม่ได้ใช้สิทธิในสัญชาติของบุคคลใดๆ ก็ตามจะไม่ได้เป็นผลให้บุคคลนั้นสิ้นสิทธิความเป็นสัญชาติไปโดยปริยาย

ดังเช่นหากมีคนสัญชาติไทยอพยพไปตั้งรกรากในประเทศอื่นเป็นระยะเวลายาวนาน และไม่ได้กลับมายังประเทศไทยอีกเลยทั้งไม่เคยใช้สิทธิในฐานะของคนสัญชาติไทยทั้งด้านการศึกษา การเดินทาง การรักษาพยาบาล เป็นต้น การไม่ใช้สิทธิในฐานะของพลเมืองที่ถือสัญชาติไทยไม่ได้มีความหมายว่าบุคคลดังกล่าวจะสละสัญชาติไปในทางพฤตินัย บุคคลดังกล่าวก็ยังคงมีสัญชาติไทยต่อไปตลอดชีวิต

การจะสละสัญชาติจึงต้องดำเนินไปด้วยวิธีการที่ชัดเจน รัฐไม่มีอำนาจเพิกถอนสัญชาติของบุคคลด้วยหลักการที่ว่าบุคคลนั้นไม่ใช่สิทธิในสัญชาติของตนมาเป็นระยะเวลานาน

ประการที่สาม ที่ผ่านมาหลายๆ ปัญหามักถูกอธิบายด้วยการผูกติดอยู่กับเงื่อนไขเรื่องสองสัญชาติ กรณีความรุนแรงที่ภาคใต้ก็มีคำอธิบายชุดหนึ่งออกมาว่าสาเหตุที่ไม่อาจดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้ก็เพราะบุคคลเหล่านั้นถือสองสัญชาติ เมื่อกระทำความผิดในดินแดนของรัฐไทยก็จะหลบเลี่ยงความผิดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น จึงควรจะต้องดำเนินการกับบุคคลที่มีสองสัญชาติหรือหลายสัญชาติด้วยการให้บุคคลนั้นเลือกถือสัญชาติแห่งใดเพียงแห่งเดียว

แนวความคิดเช่นนี้ผูกติดความจงรักภักดีของบุคคลให้ขึ้นอยู่กับการถือสัญชาติเพียงแห่งเดียวว่าจะทำให้สามารถกรองบุคคลผู้ไม่จงรักภักดีออกไปได้ (รวมถึงบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงสัญชาติไทยได้) แต่เมื่อเกิดปัญหาเรื่องสองสัญชาติกับชนชั้นนำของสังคมไทยกลับไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวหาเรื่องความไม่จงรักภักดีกับชนชั้นแต่อย่างใด

แน่นอนว่า การถือสัญชาติของบุคคลไม่ได้มีความหมายถึงความจงรักภักดีที่จะมีต่อสังคมแห่งใดแห่งหนึ่งได้อย่างแท้จริง แต่ในสังคมไทยนั้นในการพิจารณาเรื่องสัญชาติสำหรับสามัญชนจะมีความหมายแตกต่างไปอย่างสำคัญกับชนชั้นนำ สามัญชนควรมีเพียงหนึ่งเดียว เพราะหากมีหลายสัญชาติจะแสดงซึ่งความไม่ภักดี แต่สำหรับชนชั้นนำการมีหลายสัญชาติกลับเป็นเรื่องปกติที่สะท้อนให้เห็นถึง “อภิสิทธิ์” มากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป

ดังนั้น ในทางนิตินัยการถือหลายสัญชาติมิได้เป็นการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายไทย ในแง่มุมทางสังคม สำหรับบุคคลสองสัญชาติในหมู่ผู้ดีเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นถึงความต่างไปจากสามัญชน เพราะมีคนจำนวนเพียงหยิบมือเดียวในสังคมแห่งนี้ที่จะสามารถถือสัญชาติของบรรดาอารยประเทศ รวมถึงการได้รับการศึกษาแบบที่เป็นผู้ดีจากตะวันตก มีสามัญชนในยุคปัจจุบันจำนวนเท่าไร ที่สามารถจะถือสองสัญชาติในลักษณะนี้ได้บ้าง

เดาได้เลยว่าในบรรดาชนชั้นนำไทยจำนวนไม่น้อยก็ล้วนแล้วแต่น่าจะมีสัญชาติมากกว่าสัญชาติไทยเพียงอย่างเดียว

ด้วยเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก วิธีการเดียวสำหรับสามัญชนที่จะทำให้บุตรของตนสามารถถือสัญชาติของประเทศอื่นได้ก็ด้วยการหาผัวฝรั่ง แต่สองสัญชาติของสามัญชนกับสองสัญชาติของผู้ดีก็ยังมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

แม้ลูกจะอาจได้สัญชาติอังกฤษตามผัวแต่ก็ยังคงต้องให้ ด.ช. บักเคน ฟาร์เมอร์สัน เรียนที่โรงเรียนห้วยกระโทกวิทยาเหมือนเดิม ไม่มีโอกาสจะได้ไปเรียนที่ออกซ์เฟิร์ดเหมือนบรรดาอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายอย่างแน่นอน

กรุงเทพธุรกิจ, 3 มีนาคม 2554

มาตรการภาษี รถคันแรก 2011

14 September 2011 Leave a comment

มาตรการภาษี รถคันแรก 2011

มาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตรถยนต์คันแรก

คลอดออกมาแล้วสำหรับมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตรถยนต์คันแรก (ภาษาราชการ) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ไฟเขียวอนุมัติการคืนภาษีรถคันแรกตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรียบร้อยแล้วโดยมาตรการดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554-วันที่ 31 ธันวาคม 2555 ร่นเร็วจากเดิมที่จะเริ่มวันที่ 1ต.ค.2554

สำหรับหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินการในโครงการ มาตรการภาษีรถยนตร์คันแรก มีดังนี้

หลักเกณฑ์มาตรการภาษีรถยนตร์คันแรก

1.เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน2554 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555

2.เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคัน

3.เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร/รถกระบะ (Pick up)/รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab)

4.เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ)

5.คืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน

6.ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

7.ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี

8.การคืนเงินจะคืนเมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปี ไปแล้ว (เริ่มจ่ายคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 เป็นต้นไป)

แนวทางการดำเนินงานมาตรการภาษีรถยนตร์คันแรก

1.ผู้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2555 ต้องยื่นคำขอคืนเงินกับกรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้

-หนังสือยินยอมสละสิทธิการโอนภายใน 5 ปี
-สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ซื้อ
-สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ (ในกรณีเช่าซื้อ)

2.กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อขอตรวจสอบการครอบครองรถยนต์คันแรก และแจ้งการสละสิทธิการโอนภายใน 5 ปีของผู้ซื้อ

3.กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบและบันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ลงในคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน

4.กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดส่งหนังสือรับรองการครอบครองรถยนต์คันแรก และสำเนาคู่มือการจดทะเบียนที่บันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ให้กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่

5.กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 เป็นต้นไป (กรมสรรพสามิตจะคืนเงินในรูป แบบของเช็คเงินสดครั้งเดียวเต็มจำนวนเช่นเดียวกับเช็คช่วยชาติของรัฐบาลชุด ก่อน ซึ่งจะเริ่มคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 เป็นต้นไป)

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน http://www.excise.go.th

Read more…

Categories: News and politics

หมากตาสุดท้าย, สรกล อดุลยานนท์

11 September 2011 Leave a comment

หมากตาสุดท้าย

โดย สรกล อดุลยานนท์

มี 2 วรรคทองของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” เจ้าสัวสหพัฒน์ ที่ผมชอบมาก

วรรคทองแรก

“ชีวิตของคนเราจะสำเร็จหรือไม่ต้องดูหมากตาสุดท้าย”

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า “บุณยสิทธิ์” ประสบความสำเร็จแล้วเพราะมีธุรกิจมากมาย อาณาจักรสหพัฒน์ก็ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่ “บุณยสิทธิ์” คิดว่าแม้เขาจะอายุ 73 ปีแล้ว แต่เขาถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ

“จนกว่าจะวางหมากตาสุดท้าย”

เขายกตัวอย่างนักธุรกิจบางคนรุ่งเรืองและร่ำรวยตอนอายุ 40 ปี แต่ตอนตายธุรกิจกลับไม่เหลือเลย

แบบนี้ถือว่าวาง “หมากตาสุดท้าย” ผิดพลาด

ครับ ไม่ใช่เพียงแต่ “นักธุรกิจ” เท่านั้น

“คนดี” ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน

สะสม “ความดี” และได้รับแต่คำชื่นชมมาชั่วชีวิต

แต่วาง “หมาก” ผิดไปตัวเดียว

ระเนระนาดเลยครับ

จนถึงวันนี้ยังงงๆ และก่งก๊งอยู่เลย

ไม่รู้ว่าก่อนถึง “หมากตาสุดท้าย” เขาจะแก้เกมได้หรือไม่

เพราะ “หมากตาสุดท้าย” คือ “ภาพจำ” ของคนเรา

จะให้คนรุ่นหลัง “จำ” ว่าเราเป็นอย่างไร

“หมากตาสุดท้าย” สำคัญที่สุด

อีกประโยคหนึ่งของ “บุณยสิทธิ์”

เมื่อมีคนถามว่าทำไมเขาจึงใช้ชีวิตอย่างสมถะมาก รวมทั้งบริษัทในเครือสหพัฒน์ก็ไม่หวือหวา สำนักงานก็เรียบง่าย

“บุณยสิทธิ์” ตอบด้วยการถามกลับว่า “คุณเคยเห็นคนปีนเขาไหม”

ตอนที่ขึ้นเขา ทุกคนต้องก้มตัวเพื่อรักษาสมดุล

แต่ตอนลงเขา ทุกคนจะยืดตัว

“ถ้าคนไหนยืดมาก แสดงว่าเขากำลังลงจากยอดเขาแล้ว”

อ่านวรรคทองนี้แล้วนึกถึง “นักการเมือง”

ลำพังแค่นักการเมืองฝ่ายค้านที่เปรียบเหมือนกับคนที่กำลังจากยอดเขา

การยืดตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่า “ฉันยังแน่” ไม่ใช่เรื่องแปลก

เพราะวิญญาณ “รัฐบาล” ยังไม่ออกจากร่าง

การยืดตัวจึงเป็นท่าทีปกติของคนที่เพิ่งเดินลงจากยอดเขาแห่ง “อำนาจ”

แต่ที่น่าแปลกก็คือฝ่ายรัฐบาล

ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคน

เพิ่งขึ้นสู่ “อำนาจ” แท้ๆ

ภาพที่ทุกคนเห็นคือการเดินขึ้นยอดเขา

แต่สังเกตไหมครับว่าการวางตัวและการให้สัมภาษณ์ของเขาเหมือนกับคนที่เดินลงจากยอดเขา

ทะนงตนและวางอำนาจ

ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

คำสัมภาษณ์แต่ละประโยคเหมือนกับวิญญาน “ฝ่ายค้าน” ยังไม่ออกจากร่าง

กลายเป็น “ฟาร์มเพาะศัตรู” โดยไม่จำเป็น

ถ้ารัฐมนตรีแต่ละคนคือ “หมาก” ของรัฐบาล

การวางหมากผิด 1 ตัว

บางทีอาจนำไปสู่การแพ้ทั้งกระดานก็ได้

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน 2554)

มติชน, 10 กันยายน 2554

ละคร, คำ ผกา

9 September 2011 Leave a comment

ละคร

คำ ผกา

แปลกใจว่าทำไมคนจึงแตกตื่นกับการฉายคลิปบ่อนกลางกรุงของ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กันนักหนา แปลกใจพอๆ กับที่เมื่อหลายปีก่อน โทรทัศน์ไอทีวีในสมัยนั้นติดกล้องลับแอบถ่ายตำรวจรับเงินจากคนขับรถที่ทำผิดกฎจราจรหรือกฎหมายอะไรจำไม่ได้ชัด

เหตุที่แปลกใจเพราะไม่เข้าใจว่า คนไทยทุกคนต่างก็รู้ดีว่ามีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างสามัญที่สุด และเผลอๆ เราก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนที่เคยยกมือไหว้บอกพี่จราจรว่า “ขอโทษจริงๆ ครับ ไม่ทันระวัง ไม่ว่ากันนะพี่นะ” ก่อนจะ “ตอบแทนน้ำใจ” กันในเรตที่เป็นรู้กันดีอีกนั่นแหละว่าเท่าไหร่ โดยปราศจากความโกรธเกลียดหรือแม้กระทั่งเห็นว่านี่คือการคอร์รัปชั่น แต่มองว่าเป็นการ “ช่วยกัน” ต่างตอบแทน พนักงานเหล่านี้เงินเดือนก็น้อย งานก็หนัก นิดๆ หน่อยๆ และไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ส่วนด้านที่ต้องส่งส่วยกันอย่างเป็นระบบก็ยิ่งรู้สึกว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของการ “บริหารจัดการ” ที่ขาดเสียไม่ได้ไปแล้ว

ส่วนเรื่อง “บ่อน” ก็เหมือนกับ “ซ่อง” เหมือนกับ “คลินิกทำแท้งเถื่อน” เหมือน “หวยเถื่อน” เหมือน “น้ำมันเถื่อน” และเหมือนอะไรที่ “เถื่อนๆ” อีกหลายประเภทเหลือเกินในประเทศนี้ที่พวกเราต่างก็รับรู้ว่ามันมีอยู่

หรือคุณคิดว่า น้องๆ ที่พัฒน์พงศ์ ที่นานา เค้าแค่ออกมาเต้นๆ และนั่งดริ๊งก์เป็นเพื่อนแขกเท่านั้นจริงๆ

แล้วทำไมเมื่อเกิดเหตุการณ์ประเภทแอบถ่ายมาแฉ (ซึ่งไม่เหมือนกับการเขียนแฉ หรือเล่าให้ฟัง) คนจำนวนมาก (รวมทั้งคนที่เคยทำ เคยใช้บริการ เคยเห็นสิ่งหรือพฤติกรรมเหล่านั้นด้วยตาของตนเอง) ก็ยังรู้สึกว่า เราต้องตื่นเต้น เราต้องประโคมข่าว เราต้องกดดันให้รัฐ ให้ตำรวจจัดการกับเรื่องนี้ไห้เด็ดขาดเสียที

เป็นดังนี้ ทำให้ฉันคิดว่าหรือสังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการ “แสดง” (perform) ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องของการ “แสดง” และการ “จัดฉาก” และการแสดงหรือ performance อันนี้สำคัญกว่าข้อเท็จจริงทุกประการ และเราอาจจะขาดใจตายเสียก็ได้หากชีวิตนี้ปราศจากซึ่ง “งานแสดง”

โรงละครโรงใหญ่ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” นี้เล่นละครเรื่อง “ประเทศไทยที่น่าอยู่งดงามไม่เหมือนใครในโลก”

ละครเรื่องนี้เล่นตามบทที่เขียนเอาไว้ว่า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรม วัฒนธรรมเก่าแก่ดีงาม เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ในอดีตเหนือกว่าอาณาจักรอื่นๆ ในภูมิภาค อาณาจักรอื่นๆ นั้นหากไม่สวามิภักดิ์ต่อเราด้วยเกรงกลัวในความเก่งกล้าสามารถก็มักใช้เล่ห์กล การหักหลัง การไม่สำนึกในบุญคุณอย่างน่าขยะแขยงมาทำให้เราพ่ายแพ้ในการศึก”

“อาณาจักรไทยของเรา แม้จะเคยเพลี่ยงพล้ำในการสงครามแต่ก็กอบกู้เอกราชมาได้เสมอด้วยความสามัคคีของคนในชาติ การเสียสละชีวิตของคนที่รักชาติยิ่งกว่าชีวิตของตน ด้วยปรีชาสามารถของผู้ปกครองที่มีทั้งคุณธรรมและความกล้าหาญ อัจฉริยะ จนนำพาประเทศชาติให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ไม่ยอมสูญเสียที่ดินแม้แต่ตารางนิ้วให้แก่ใคร ยินดีปกป้องเชิดชูศักดิ์ศรีของประเทศชาติไว้เหนือสิ่งอื่นใด”

“ใครก็ตามที่เห็นว่าอาณาจักรไทยมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าหลัง เช่น การมีภรรยาหลายคน การดูถูกสตรีเพศ คนเหล่านั้นเข้าใจผิด เพราะนั่นเป็นวัฒนธรรมจีนและอินเดียที่ผสมปนเปอยู่ในวัฒนธรรมไทย แต่วัฒนธรรมไทยแท้บริสุทธิ์นั้นเป็นวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวและให้เกียรติผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่อย่างสูงส่ง หรือหากมีใครมาว่าคนไทยกินเนื้อหมา เราจะรีบเถียงว่า ไฮ้ อย่ามามั่ว พวกคนกินเนื้อหมาในเมืองไทยไม่ใช่คนไทย นู่น เป็นแกว เป็นลาว “

ละครเรื่องนี้ใช้ตรรกะเช่นนี้ตลอดเรื่องนั่นคือ อะไรที่ดีๆ เราจะบอกว่าเป็นไทย อะไรที่ไม่ดีเราจะรีบโยนให้คนอื่น

ลูกเมียเช่า ถ้าโตขึ้นเป็นเด็กจรจัด ข้างถนนเป็นอาชญากรเราจะเรียกลูกเมียเช่า ถ้าบังเอิญได้เป็นคนดังระดับโลกเราจะรีบเรียกเข้ามารับปริญญากิตติมศักดิ์พร้อมมอบสัญชาติไทย และมีพิธีมอบกุญแจเมืองกันได้อย่างเอิกเกริก เด็กไทยที่ไประหกระเหินอยู่เมืองนอก หากตกต่ำ เป็นปัญหาของสังคม เราจะบอกว่า “อ๋อ มันได้อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตก” แต่ถ้าเขาได้ดิบได้ดีมีชื่อเสียง กลายเป็นดีไซเนอร์ระดับโลก เราจะบอกว่า “นี่ไงคนไทยมีความสามารถ มีพรสวรรค์ มีเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็สร้างความภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ”

ในละครเรื่องนี้ประเทศไทยต้องมีโขน มีปี่พาทย์ ระนาดเอก มีผ้าไหม มีสาวไทยนั่งบนตั่งแกะสลักผลไม้ มีรำไทย มีตลาดน้ำ มีชาวนาผู้เบิกบานและควายที่อ้วนท้วน สมบูรณ์ แข็งแรง

ในละครเรื่องนี้ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธที่เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแห่งความเมตตาและไมตรีจิต ท่ามกลางความมลังเมลืองของศิลปะ จิตรกรรมในวัด เจดีย์สีทอง และผู้คนที่แต่งตัวแบบไทยๆ นั่นคือผ้าฝ้าย ผ้าถุง เดินเข้าวัด ไหว้พระ ทำบุญกับพระสงฆ์ที่ดูเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว สำรวม ไม่เป็นกะเทย ไม่เล่นหวย ไม่เล่นยา และมีใบหน้าเปื้อนยิ้ม หากไม่ใช่ฉากนี้อาจตัดสลับไปที่ฉากความเป็นพุทธสายปฏิบัติอยู่อย่างสมถะในป่าลึก

โอ้ เมืองไทยเมืองพุทธ ไม่มีที่ไหนจะดีไปกว่าการได้อยู่ในเมืองแห่งพุทธศาสนาอันลึกซึ้งเช่นนี้แล้ว

ในละครเรื่องนี้จะให้ตัวละครออกมาบอกว่า ไม่ว่าจะมีความทันสมัยในสังคมแค่ไหน เราจำต้องรักษาวิญญาณแห่งความเป็นพุทธ และรัฐบาลต้องแบ่งงบประมาณมาให้เหล่าสถาปนิกเชิงพุทธมาสร้างสถาปัตยกรรมหรือสวนแห่งจิตวิญญาณกันให้มาก มิเช่นนั้นมันจะถึงกาลเสื่อมแห่งวิถีทางจิตวิญญาณแบบไทย

ส่วนจะมีคนจน หรือปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในประเทศที่ต้องการใช้งบประมาณอีกมากนั้นช่างหัวมัน จะมีอะไรมาสำคัญไปกว่าจิตและปัญญาแบบไทยเล่า และจะให้ดีเราต้องช่วยกันสร้างห้องนิพพานจำลองกันให้มากๆ เพื่อคนจะได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์แห่งการเข้าถึงนิพพานแล้วจะได้ไม่ต้องกินแวเลี่ยม เอ๊ย จะได้ไม่ต้องไปหมกมุ่นกับปัญหาแบบโลกย์ๆ ให้มากนัก

ในละครเรื่องนี้ ภาพของครอบครัวไทยจะเป็นภาพของความรักความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย มีภาพยายกับหลาน ปู่กับหลาน ภาพคนแก่ที่มีความสุขท่ามกลางลูกหลานยอดกตัญญู เป็นคนแก่อารมณ์ดี เราจะไม่มีวันเห็นภาพคุณปู่คุณตาคุณย่าคุณยายเจ้าอารมณ์หรือหงุดหงิดเลย หาไม่จะเป็นภาพคนแก่โศกเศร้าที่ลูกหลานทิ้งไป เป็นการกระตุ้นให้เรารีบมารักษาวัฒนธรรมไทยด้วยความรักความอบอุ่นในครอบครัวอย่างไร้เงื่อนไข

ผู้หญิงไทยในละครเรื่องประเทศไทยยังเป็นแม่พลอยหรือหญิงกล้าหาญแบบแม่มณีในทวิภพ พ้นจากนี้แล้วไม่ใช่ผู้หญิงไทย เร็วๆ นี้ฉันถูกนักปราชญ์ราชบัณฑิตท่านหนึ่งอบรมด้วยความปรารถนาดีว่า “การนั่งไขว้ขามิใช่สิ่งที่คนไทยทำ” สาธุ

ดังนั้น จึงสันนิษฐานต่อไปว่าในละครเรื่องนี้ผู้หญิงไทยคงไม่ “บ๊วบ” ไม่ “คราง” ไม่เป็นเกย์ ไม่ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก และอีกหลายต่อหลายไม่ที่เดียว

ละคร “ประเทศไทย” แสดงต่อเนื่องไปอย่างนี้ปีแล้วปีเล่า ไม่เคยปรับพล็อต ไม่เคยปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย มีแต่จะเสริมความดราม่าให้เข้มข้น ไร้เหตุผล ห่างไกลจากข้อเท็จจริงมากขึ้น ทว่า ละครเรื่องนี้สมจริงเสียจนมีคนไทยจำนวนมากเชื่อว่าหากปราศจาก “ละคร” เรื่องนี้แล้วตนเองจะไร้ที่พึ่งทางจิต เคว้งคว้าง สับสน อ้างว้าง และอาจสิ้นชีวิตได้

การเสพติด “ละคร” นี้ทำให้คนไทยจำนวนมากหลับตาเสียหนึ่งข้างกับ “ความเป็นจริง” คนไทยจำนวนมาก ร้องไห้กับหมาจรจัด เสียใจกับหมาที่ถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหาร

แต่ไม่รู้ไม่ชี้กับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่อดอยาก ยากจน ถูกกดขี่ให้ตกต่ำซ้ำซากอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ฉ้อฉล หลอกลวง

คนไทยจำนวนมากจึงไม่ยอมรับความจริงที่ว่าประเทศนี้มีทุกอย่างเท่าที่เมืองของมนุษย์พึงจะมีนั่นคือ บ่อน ซ่อง หวย ทำแท้ง incest พระตุ๊ด เณรกะเทย แม่ชีทอม มีการร่วมเพศระหว่าง คน สัตว์ สิ่งของ มีเซ็กซ์ทอย มีการรับสินบน มีหมอชั่ว มีครูปลิ้นปล้อน มีพระสร้างภาพจนกลายเป็นดารา มีนักเขียนลวงโลก มีหญิงสำส่อน (เช่น คำ ผกา เป็นต้น) มีคนโดนขังฟรี มีคนจ้างเด็กไปติดคุกแทนตัวเอง

มีและมีอะไรอีกหลายร้อยพันประการเป็นความอัปลักษณ์อันต่างจากภาพฝันที่ “ละคร” มอบให้แก่เรา

ความอัปลักษณ์ใดๆ ก็ตามจะไม่ได้รับการเยียวยาเลย หากเราไม่เริ่มต้นที่การยอมรับความจริงอย่างที่มันเป็น เช่น ภาษาไทยก็ไม่ได้เก่าแก่อะไรนักหนา ประเทศเราก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ คนไทยก็เหมือนปุถุชนพลเมืองโลกทั่วๆไป ไม่ได้เก่งหรือโง่เป็นพิเศษ ปัญหา บ่อน ซ่อง และอีกหลายๆ ปัญหาเรื่องความดี หรือ ศีลธรรม หรือความซื่อสัตย์เคร่งครัดของตำรวจ แต่เป็นปัญหาเรื่องการ “บริหารจัดการ” ล้วนๆ

เอาอย่างหยาบที่สุด เพียงยอมรับว่าการพนันมีอยู่จริง คนชอบเล่นการพนันมีอยู่จริง แทนการห้ามการปิด เราน่าจะมีวิธีการบริหารจัดการบ่อนและซ่อง ให้ยังผลประโยชน์แก่คนทุกฝ่าย และปลอดภัยสำหรับคนทุกฝ่าย เช่น ปลอดภัยพอที่จะไม่เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองของประเทศติดการพนันจนไม่ทำมาหากิน ซึ่งไม่น่าจัดการยาก แค่ดูตัวอย่างการจัดการของประเทศอื่นๆ ที่มีบ่อนถูกกฎหมาย

ภาษีจากบ่อน อาจจะได้นำไปเพิ่มเงินเดือนแก่ตำรวจให้มีเงินเดือน รายได้มากพอจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์มีศรี มีรายได้มากพอจะพยุงเกียรติยศของตน เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วคงไม่มีตำรวจคนไหนอยากรับเงินเจ้าพ่อหรือลดตัวไปรับเงินร้อยสองร้อยข้างถนนจากผู้ทำผิดกฎจราจร

การตื่นเต้นตกใจกับคลิปบ่อนเถื่อนของสังคมไทยก็ยังเป็นแค่อาการ “ตกใจ” เพื่อจะไปเรียกร้อง “ศีลธรรม” เรียกร้องการย้ายตำรวจที่รับผิดชอบ ซึ่งเราทุกคนก็รู้กันอยู่เต็มอกว่า มันไม่ได้ช่วยอะไร ต่อให้ย้ายเอาตำรวจที่ดีที่สุดในโลกมาคุมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาระดับตัวบุคคล ไม่ใช่ปัญหาของระดับศีลธรรม แต่เป็นปัญหาของสังคมที่ถูกกล่อมให้หลับใหลด้วยแวเลี่ยมทางอุดมการณ์จนหมดซึ่งศักยภาพในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลอีกทั้งหมดความสามารถที่จะมองเห็นโลกตามความเป็นจริง

สังคมเช่นนี้เชื่อว่าปัญหาใดๆ ก็ตามจะถูกทำให้หายไปด้วยการมี “คนดี” มาดูแล แทนที่จะมุ่งสร้างระบบคะคานอำนาจ ตรวจสอบ ถ่วงดุล ในการบริหารงานราชการและการเมือง

สังคมเช่นนี้จึงมองเห็นปัญหาบ่อนซ่อง เป็นปัญหาทางศีลธรรมแทนที่จะมองเห็นว่าเป็นปัญหาในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ

สังคมเช่นนี้จึงคับแคบตื้นเขินพอที่จะจับคู่ เหล้า บุหรี่ บ่อน ซ่องไปเท่ากับความเลว และความเสื่อมศีลธรรมเท่านั้นไม่มีทางเป็นอื่น แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงการเอารัดเอาเปรียบ ความหลอกลวง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่อาจมาพร้อมกับชุดความดีตื้นเขิน สำเร็จรูป

สังคมเช่นนี้จึงเป็นบ่อเกิดของนักบุญจอมปลอมที่เสพกินความโง่เขลา ตื้นเขินของมวลชนเป็นอาหาร

คนที่นำเอาคลิปออกมาแฉคือ คุณชูวิทย์นั้นคือคนที่รู้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ดีกว่าใครในฐานะเป็นผู้อยู่ในแวดวงและมีประสบการณ์เชิงประจักษ์

คุณชูวิทย์ย่อมรู้ว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ได้แก้ด้วยการเรียกร้องให้ย้ายตำรวจ หรือการ alert ให้ประชาชนแตกตื่นว่า เฮ้ย แม่ง มีบ่อน และประชาชนก็แตกตื่นเพราะชินที่ต้องเล่นตามบท จนลืมถามตัวเองว่า “เฮ้ย กูก็รู้อยู่แล้วนี่นา” เช่นกับที่เราเห็นภาพ “ละคร” อีกหลายต่อภาพโดยไม่เคยเอะใจว่า “เฮ้ย นี่มันไม่จริงนี่หว่า”

ทว่า การ alert นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่นละครไปตามบท เหมือนที่ไอทีวีไปแอบถ่ายตำรวจรับส่วย เพราะคนที่เล่นบทนี้จะได้รับเสียงปรบมือ ชื่นชมจากคนดูในฐานะผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ตงฉิน ขณะเดียวกัน การสาปแช่ง ด่าทอความชั่วร้ายก็ช่วยเพิ่มระดับทางศีลธรรมในจินตนาการของคนดูให้มีกำลังใจเพิกเฉยต่อความโหดร้ายตามที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ในละครเรื่องนี้คุณชูวิทย์ก็แค่เล่นบท หนุมาน “ซุกซนแต่ทรงคุณธรรม” เป็นแค่ทางเลือกของคนดูที่อกหักจากพระราม

และแล้วสังคมไทยคนไทยก็มีชีวิตรอดกันไปอีกวันด้วยหนทางการแก้ปัญหาแบบละคร และทิ้ง “ความจริง” ให้ดำเนินต่อไปอย่างไม่ไยดี

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1620 หน้า 90

ตุลาการและความรับผิด, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

8 September 2011 Leave a comment

ตุลาการและความรับผิด

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

องค์กรตุลาการเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นบนฐานความคิดว่าการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจของรัฐออกเป็นฝ่ายต่างๆ จะสามารถทำให้การใช้อำนาจของรัฐดำเนินไปได้โดยมีความฉ้อฉลที่น้อยลงกว่ารวมการใช้อำนาจของรัฐอย่างเด็ดขาดไว้ที่องค์กรใดเพียงองค์กรหนึ่งเท่านั้น

และด้วยสถานะขององค์กรการเมือง ภายใต้การปกครองแบบเสรี/ประชาธิปไตย องค์กรตุลาการก็ย่อมจะต้องมีความรับผิด (accountability) ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในแง่ขององค์กรและในแง่ของส่วนตัว ส่วนจะเป็นความรับผิดประเภทใดก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่เกิดขึ้นว่าเป็นความผิดพลาด/การทุจริตในระดับองค์กร หรือเป็นเรื่องที่เป็นการกระทำความผิดของบุคคลเพียงคนเดียว

หากได้ดำเนินการใดที่เป็นความผิดด้วยความเห็นชอบขององค์กร ดังการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทใดไปในลักษณะที่ละเมิดต่อกฎระเบียบขององค์กรอย่างชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นความรับผิดร่วมกันของทั้งองค์กรอย่างไม่อาจปฏิเสธ

แต่หากเป็นเรื่องที่เป็นกรณีเฉพาะบุคคล บุคคลอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาร่วมรับผิดแต่อย่างใด เช่น ถ้ามีการกล่าวหาว่าตุลาการคนใดคนหนึ่งกระทำผิดด้วยการรับเงิน หรือสินบนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังเป็นคู่ความกัน ถ้าหากสามารถพิสูจน์ว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็เป็นความรับผิดที่ตกอยู่กับบุคคลนั้นเพียงคนเดียว

เหตุที่ต้องมีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการมีเหตุผลสำคัญในเบื้องต้นอย่างน้อยสองประการด้วยกัน

ประการแรก ในระบอบเสรีประชาธิปไตย สถาบันทางการเมืองถูกจัดตั้งและมีความชอบธรรมในการดำรงอยู่ ก็เพราะได้รับอำนาจมาจากประชาชน ประชาชนจึงเป็นอำนาจหลักต่อการสร้างสถาบันการเมืองในสังคมสมัยใหม่

เมื่อได้รับความชอบธรรมมาจากประชาชน การตรวจสอบจึงเป็นคุณลักษณะประการหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันดังกล่าวไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลอยมาด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากฟากฟ้าไกลที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับคนในสังคม และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของประชาชนที่อยู่เหนือสถาบันการเมือง สถาบันการเมืองไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ประการที่สอง บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันทางการเมืองล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เช่นคนทั่วไป การคาดหวังว่าจะให้ใครคนใดคนหนึ่งซึ่งถูกเข้าใจว่าเป็น “คนดี” แล้ว สามารถดำรงรักษาคุณลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องไปเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นได้

แทนที่จะฝากชะตากรรมของสังคมไว้กับคนดีซึ่งไม่รู้ว่าจะดีแตกขึ้นมาเมื่อใด การสร้างระบบการตรวจสอบขึ้นมานับเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากกว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เข้ามาสู่การดำรงตำแหน่งในสถาบันทางการเมืองก็ล้วนแต่ต้องอยู่ภายใต้ระบบของการตรวจสอบ อันจะทำให้ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นคนดีแบบตั้งใจจริงหรือดีแบบสร้างภาพก็ล้วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบเช่นเดียวกัน

ด้วยกลไกทางการเมืองเช่นนี้ต่างหากที่จะทำให้สังคมมั่นใจได้ว่าบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ไปตามกรอบ และมาตรฐานขององค์กรตามที่ถูกคาดหวังเอาไว้

การตรวจสอบบุคคลในสถาบันทางการเมืองจึงความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันตุลาการ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรนี้ต้องยุติ หรือวินิจฉัยข้อขัดแย้งต่างๆ ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง จึงต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน

ลองนึกถึงว่าในสังคมที่ประชาชนไม่มีความวางใจในสถาบันตุลาการ คำวินิจฉัยที่ปรากฏขึ้นในข้อพิพาทต่างๆ ก็อาจเป็นเพียงการยุติข้อพิพาทในทางกฎหมาย แต่จะไม่สามารถยุติความขัดแย้งในทางสังคม ทั้งอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขยายความยุ่งยาก ให้กว้างขวางเพิ่มขึ้น

กลไกและกระบวนการตรวจสอบสถาบันตุลาการ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำลายหรือสั่นคลอนความน่าเชื่อถือขององค์กรลง หากมีข้อกล่าวหาถึงการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น แต่ถ้าทางบุคคลหรือองค์กรสามารถให้คำชี้แจงต่างๆ ได้อย่างสิ้นข้อสงสัย ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นก็ย่อมยุติลงบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและพยานหลักฐาน

ในทางตรงกันข้าม การแก้ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่สถาบันนั้นๆ การตรวจสอบจึงเป็นกลไกสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนี้ หากบุคคลใดที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็ควรต้องมีความรับผิดต่อการไร้ความสามารถของตนด้วยเช่นกัน

ต้องไม่ลืมว่า ผลตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตุลาการของสังคมไทยมีเงินเดือนและผลตอบแทนอื่น มากกว่าข้าราชการประเภทอื่นหลายเท่าตัว สำหรับตุลาการระดับสูงเฉพาะแค่ค่าน้ำมันรถเดือนละมากกว่า 40,000 บาท ก็มากกว่ารายได้ของข้าราชการส่วนใหญ่ของสังคมไทย

จำนวนเงินทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจากภาษีของประชาชนแทบทั้งสิ้น การเรียกร้องให้มีการใช้ภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในองค์กรต่าง จึงควรเกิดขึ้นกับองค์กรทางการเมืองทุกประเภท ทั้งในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ไม่ใช่จำกัดการตรวจสอบไว้กับข้าราชการหรือนักการเมืองเป็นหลัก

การไม่ยอมรับการตรวจสอบไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างเรื่องความเป็นอิสระของสถาบัน การทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม การกระทำในลักษณะเช่นนี้ต่างหาก ที่เป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กร รวมทั้งการนิ่งเฉยต่อข้อครหาที่กระหึ่มก้องไปทั่วทั้งเมือง ก็จะมีผลไม่แตกต่างเช่นเดียวกัน

หากไม่ลืมกันง่ายเกินไป อดีตที่ผ่านมา เคยมีข้อกล่าวหาต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนว่านอกจากทำงานเป็นตุลาการแล้วยังรับจ้างสอนหนังสือ จัดรายการวิทยุ อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่มีคำตอบจากผู้ที่ถูกกล่าวหานอกจากการนิ่งเงียบ แต่ความน่าเชื่อถือของบุคคลดังกล่าว ก็ได้ล้มละลายไปอย่างสิ้นเชิง

การตรวจสอบและความรับผิดของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันทางการเมือง จึงเป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในสังคมที่ยึดแนวทางเสรี/ประชาธิปไตย หากไม่ต้องการการตรวจสอบหรือความรับผิดชอบก็มีเพียงการพ้นไปจากตำแหน่ง หรืออีกทางหนึ่งก็ด้วยการชักนำให้สังคมเดินไปสู่ระบอบการปกครองที่ไม่ใช่เป็นเสรี/ประชาธิปไตยเท่านั้น

กรุงเทพธุรกิจ, 27 ตุลาคม 2553

ปรัชญา, คำ ผกา

7 September 2011 Leave a comment

ปรัชญา

คำ ผกา

หลายๆ คนบอกว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้แรงกดดันหรือถูกขนาบด้วยสองอำนาจจนแทบจะเป็นรัฐบาลที่ต้องทำงานอยู่ระหว่างเขาควายสองข้าง (dilemma)

นั่นคือต้องรักษาสมดุลอำนาจกับกลุ่มอำนาจเก่า และการแสดงท่าทีประนีประนอมแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ทั้งนี้ เพราะกลัวว่าจะมีการปลุกมวลชนขวาจัดคลั่งชาติมาสร้างสถานการณ์เรียกร้องให้กองทัพออกมาทำการรัฐประหารอีก

อีกด้านหนึ่งรัฐบาลนี้ก็ถูกกดดันจากฝ่ายประชาชนเสื้อแดงที่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลนี้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่สามารถคะคานกับกลุ่มอำนาจเก่าและอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าอภิชน

แต่ฉันกลับไม่เห็นเช่นนั้น

แน่นอนว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมและการประสานผลประโยชน์ แต่ธงที่ใหญ่กว่านั้นคือ คุณจะประนีประนอมด้วย “ปรัชญา” ชุดไหน

เช่น การดำเนินนโยบายประนีประนอมด้วยการยึดเอาปรัชญาของประชาธิปไตย และประชาชนนำหน้าด้วยต่างจากนโยบายประนีประนอมที่ยึดเอาปรัชญาของการเอาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องให้รอด หรือประนีประนอมด้วยการไม่มีปรัชญาอะไรเลยแต่เพียงแค่เอาตัวให้รอดไปวันๆ

ฉันไม่เห็นว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์จะต้องนำตัวเองไปอยู่ใน dilemma นั้น เพราะรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีความชอบธรรมทุกประการในการดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเอง

ไม่ใช่จะก้าวไปทางซ้ายก็กลัวฝั่งขวาจะเกลียด จะขยับขาไปขวาก็กลัวโดนทางซ้ายจะกระทืบ

ผิดจากรัฐบาลชุดก่อนที่ไม่มีความชอบธรรมจากเสียงของประชาชนยอมรับทั้งไม่ได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติเนื่องจากที่มาของอำนาจรัฐบาลไม่ชอบธรรม

อาจจะมีคนเถียงว่า รัฐบาลของพรรคไทยรักไทยก็มาจากเสียงของประชาชนยังถูกรัฐประหารออกไปง่ายดาย แต่สถานการณ์ของพรรคไทยรักไทยในวันนั้นต่างจากสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยในวันนี้

ความล้มเหลวของรัฐบาลไทยรักไทยในวันนั้นมาจากการให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับสังคมน้อยเกินไป และเกิดช่องว่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งก้าวหน้าในขณะที่นโยบายทางวัฒนธรรมกลับล้าหลัง (กระทรวงวัฒนธรรมยังเป็นแค่กระทรวงของแถม ทั้งๆ ที่กระทรวงนี้มีศักยภาพในการปฏิรูปจิตสำนึกของประชาชนได้มากเท่าๆ กับกระทรวงศึกษาธิการ)

ตัวอย่างนโยบายทางวัฒนธรรมที่ล้าหลัง เช่น การตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม” หรือความไม่อ่อนไหวต่อนโยบายทางวัฒนธรรมที่ไปสนับสนุนความคิดคลั่งชาติที่คับแคบในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจได้ก้าวข้ามพรมแดนของ “ชาติ” ไปไกล

ความไม่พยายามที่จะ “นิยาม” หรือ ก่อร่างสร้างจิตสำนึกของ “ชาติ” แบบใหม่ที่ทันสมัย อันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผนวกเอาคุณค่าว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างถึงที่ที่สุด การให้ความสำคัญกับ “ประชาชน” ในฐานะของสถาบันหลักของชาติ การให้ความสำคัญกับความเสมอภาค และเสรีภาพอย่างถึงที่สุด ท้ายที่สุดมันคือดาบที่กลับมาทำลายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเอง

เพราะ “เนื้อหา” ที่ใช้โจมตีรัฐบาลไทยรักไทยของคุณทักษิณนั้นไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่นที่เป็นเรื่องหลักแต่เป็นเรื่อง “ขายชาติ” ไมว่าจะเป็นกรณีเทมาเส็กหรือเขาพระวิหารหรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน (แต่กฎหมายห้ามพูด) ไม่นับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยรักไทยปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

ถ้าเพียงแต่รัฐบาลในเวลานั้นใส่ใจกับการก่อร่างสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นเสรีนิยมทางวัฒนธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการทำงานทางวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์แบบถึงรากถึงโคนในทุกมิติ (ไม่ต้องทำเอง เพียงแต่เปิด เปิด และเปิด) การทำงานเชิงนโยบายของหน่วยงานบางหน่วยงานที่ไปสนับสนุนการรัฐประหารทางอ้อมจะไม่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้

และการรัฐประหารอาจจะไม่สำเร็จก็เป็นได้ เพราะประเด็น “ขายชาติ” จะปลุกไม่ขึ้น การตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าสำคัญกว่าวัฒนธรรมไทย, พุทธศาสนาแบบไทย และการบ้าคลั่งความดี และศีลธรรมแบบ สสส. หรือแม่ชี หลวงพี่ นู่น นั่น นี่ จะเป็นวัคซีนป้องกันการรัฐประหารให้รัฐบาลที่มาจากประชาชน

5 ปีผ่านไปนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ประชาชนไทย-อย่างน้อย 15 ล้านเสียงที่ไป vote ให้พรรคเพื่อไทย-ได้บทเรียนที่เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะตระหนักว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทนและการเลือกตั้งคือระบอบการปกครองที่แย่น้อยที่สุด

เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะเรียนรู้ว่า ไม่ต้องการคนดี มีศีลธรรมมาบริหารบ้านเมือง แต่เราต้องการระบบที่ตรวจสอบนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเรา

เราจ่ายไปแพงมากเพื่อที่จะตระหนักว่าความหมายของ “ชาติ” ไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งการรักชาติอย่างบ้าคลั่งนั้นรังแต่จะนำความสูญเสีย ความอับอายในความไร้วุฒิภาวะของ “ชาติ” ที่เราสังกัดอยู่

และเราจ่ายไปแพงมากในการเป็นประจักษ์พยานว่า “อำนาจ” ที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้น ฆ่าประชาชนได้อย่างโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม

เราจ่ายไปแพงมากเพื่อจะเรียนรู้ว่า อยู่กับรัฐบาลประชาธิปไตยที่ห่วยดีกว่าอยู่กับเผด็จการที่ทรงประสิทธิภาพ

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนที่อ้างตัวว่ามีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่งกว่าผู้อื่น เจ้าของสื่อที่ชอบไปเดินตามหลังพระสงฆ์ชื่อดังของโลก นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ราษฎรอาวุโส ปราชญ์อาวุโส นักวิชาการผู้ทรงภูมิธรรม นักข่าวที่มุ่งมั่นในการทำข่าวสอบสวนเปิดโปงความชั่วของนักการเมือง ฯลฯ คนเหล่านี้พาเหรดออกมาแก้ผ้า เปิดเปลือยสันดานที่แท้ออกมาให้สาธารณชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ล่อนจ้อนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ไม่เคยมีครั้งไหนที่สังคมไทยจะเกิดกระแส “รู้ทันคนดี” ที่ซับซ้อนกว่าการ “รู้ทันทักษิณ” หลายร้อยเท่า

การเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นเป็นการเลือกตั้งที่คนไทยและสังคมไทยต้องจ่ายไปด้วยราคาที่แพงที่สุด และเราจ่ายด้วยชีวิตของคนไทยที่ต้องไปตายเพียงเพราะออกมาเรียกร้องการบูรณะปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความเสมอภาค

ไม่เพียงแต่ความตาย แต่ยังแลกมาด้วยอิสรภาพและคุณภาพชีวิตที่พึงมีพึงเป็นของประชาชนที่ออกไปต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

วันที่ 3 กรกฎาคม ประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากได้ออกไปแสดงเจตจำนงแล้วว่า

1.ไม่ต้องการพรรคประชาธิปัตย์

2.เลือกพรรคเพื่อไทยด้วยสมมุติฐานว่า พรรคเพื่อไทยยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร

การยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยนั้นคือการยืนอยู่ข้างผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ไม่จำเป็นต้องไปเกรงต่อข้อครหาว่าทำเพื่อ “คนเสื้อแดง”

การปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย

การลดอำนาจกองทัพ และการสร้างกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชนมิใช่กองทัพของ “ทหารเพื่อทหาร”

ความจริงจังและจริงใจต่อนโยบายการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น

การสร้างมาตรฐานเดียวในกระบวนการยุติธรรม

การออกแบบนโยบายบนฐานปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

การให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูด คิด เขียน

การสร้างสำนึกของพลเมืองที่มีความเคารพในสิทธิของผู้อื่น

การสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการบริหารและระบบราชการให้มีความเป็น “พิธีกรรม” น้อยลง มีความเป็น “มืออาชีพ” มากขึ้น

การให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับประชาชนที่มิใช่การสัมภาษณ์รายวันแต่คือความสามารถในการส่งผ่าน ข้อมูล ข้อเท็จจริง ผ่านการแถลง ผ่านเว็บไซต์ หรือเปิดให้มีเวทีพิจารณ์ เวทีสาธารณะ การทำงานร่วมกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ต่อโครงการขนาดใหญ่ของแต่ละกระทรวง-ทว่า สภาพที่เป็นอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ในเวลานี้ กลับเต็มไปด้วย เนื้อหาเชิงพิธีกรรม ตราสัญลักษณ์ ข่าวประชาสัมพันธ์หัวหน้าหน่วยงาน และการเข้าถึงข้อมูล รายละเอียด งานวิชาการของแต่ละกรม แต่ละกระทรวง กลับเข้าถึงยากเย็น ซับซ้อน หรือไม่มีปรากฏในเว็บไซต์เลย

เลิกเสียทีกับการเอาตรากระทรวงอันเต็มไปด้วยลายกนกและรูปป่าหิมพานต์มาเปิดเป็นหน้าแรกของเว็บ ตึ่งโป๊ะ ไม่อยากเห็น แต่อยากเห็นการจัดการเว็บไซต์ที่มุ่ง “สื่อสาร” กับประชาชนด้วยเนื้อหาของการทำงานจริงๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อ “ประชาชน” ทุกคน มิใช่การทำเพื่อ “เสื้อแดง”

การสะสางกระบวนการยุติธรรมของไทยที่คุณยิ่งลักษณ์จะต้องรู้ดีที่สุดเพราะเป็นสิ่งที่ครอบครัวของคุณยิ่งลักษณ์เผชิญมาด้วยตนเองกับปัญหาสองมาตรฐาน การเมืองเข้าไปแทรกแซง ความล่าช้า หรือสถานะที่ละเมิด วิพากษ์วิจารณ์มิได้ เหล่านี้หากมีกระบวนการ modernization องคาพยพนี้เสียที ก็จะเป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่สังคมไทยและคนไทยทุกคนไม่ว่าจะสีไหน มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร

เพราะในกระบวนการยุติธรรม คุณจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างเท่าเทียมกันทุกประการ

การคืนความยุติธรรม การเยียวยาผู้ที่ได้รับความสูญเสียนั้น รัฐบาลทำได้ทันที เพราะนี่ไม่ใช่เรื่อง “เสื้อแดง” แต่เป็นเรื่องของ “มนุษย์”

รัฐบาลสามารถทำงานร่วมกับนักวิชาการ หน่วยงานภาคประชาสังคมในการ “เยียวยา” ย้ำว่านี่ไม่ใช่ทำเพื่อ “เสื้อแดง” แต่เพื่อแสดง “สปิริต” ของรัฐบาลที่มาจากประชาชนว่า รัฐบาลนี้เคารพสิทธิมนุษยชน มีมนุษยธรรม และคือหมุดหมายที่บอกว่า ในอนาคต จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ในสังคมไทยอีก นั่นคือการเข่นฆ่าประชาชน

รัฐบาลต้องกล้าหาญในการเข้าไปจัดการกับงบประมาณที่ใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น เรื่องของพิธีกรรมหรือการทำโฆษณาอันฟุ้งเฟ้อ ที่หน่วยงานราชการใช้อย่างไม่จำเป็น การพีอาร์ที่ดีที่สุดของหน่วยงานราชการคือพีอาร์ด้วย “ผลงาน” มิใช่การสร้างภาพซื้อโฆษณาในสื่อ เงินที่ใช้กับการทำป้ายโฆษณาตนเองของนักการเมืองหรือหน่วยงานติดข้างถนนอย่างไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์โภชผลใดๆ นอกจากสร้างทัศนะอุจาดต้องได้รับการทบทวน

คุณยิ่งลักษณ์และรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ในวันนี้เมื่อได้ “อำนาจ” ที่ประชาชนมอบให้ไปไว้ในมือแล้วต้องถามตนเองให้หนักและต้องหาคำตอบให้ได้อย่างชัดเจนว่า “ปรัชญา” ในการบริหารประเทศของคุณคืออะไร?

เพราะตัว “ปรัชญา” นั้นจะบอกทิศทางและให้คำตอบแก่การดำเนินนโยบายทั้งหมดไม่ว่านโยบายใหญ่หรือโครงการเล็กๆ มันจะบอกได้ว่าคุณจะสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน มันจะบอกออกมาในตัวเลขงบประมาณของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับอะไรและไม่ให้อะไร

มันจะบอกในรายชื่อโยกย้าย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ

มันจะบอกออกมาในนโยบายการเซ็นเซอร์ ในทิศทางการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรม มันจะบอกออกมาแม้ในกระทั่งในตารางนัดหมายของผู้นำว่าไปพบใครหรือไม่พบใคร พบเมื่อไหร่ พบอย่างไร

เราในฐานะประชาชน และในฐานะที่เลือกคุณยิ่งลักษณ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ เราไม่ต้องการเห็นการทำงานและโปรโตคอลในกรอบคิดแบบเก่า นายกรัฐมนตรีพิสูจน์ตนเองด้วยการทำงาน ภาวะผู้นำ ความชัดเจนในปรัชญาการบริหาร มิใช่การไปปลูกต้นลำดวนตามสถานที่ราชการ หรือการสร้างพิธีกรรมการทำงานใน “ภาษา” ของระบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต ที่จะต้องแวดล้อมด้วย wall paper, คณะกันชน-ประชาธิปไตยคือการสร้าง “ภาษา” ให้คนสัมผัสได้ถึงความเป็น “ธรรมดาสามัญ” และ “เข้าถึงง่าย” ในระบบบริหาร

นโยบายวัฒนธรรมที่ต้องทันสมัย เป็นสากล การนิยาม “ชาติ” ที่พ้นไปจากความ “คลั่งชาติ” และการมุ่งสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม ความเสมอภาคเท่านั้นที่จะเป็นเกราะป้องกันรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ มิใช่การไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ และบนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแต่การทำงานเพื่อประชาชนจึงจะทำให้ประชาชนยืนอยู่ข้างคุณ

อย่าลืมว่าประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะไม่ต้องการ “ปรัชญา” แบบพรรคประชาธิปัตย์

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 90

ความคลุมเครือ-ที่มาของอำนาจนอกระบบ, นิธิ เอียวศรีวงศ์

6 September 2011 Leave a comment

ความคลุมเครือ-ที่มาของอำนาจนอกระบบ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คําอภิปรายของฝ่ายค้านและตอบโต้ของรัฐบาลในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างอะไรสองอย่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางการเมืองของไทย ว่าได้เดินมาถึงแพร่งสำคัญที่ต้องเลือกว่าจะเดินไปทางใด โดยเฉพาะการอภิปรายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์, ความจงรักภักดี และ ม.112 ในกฎหมายอาญา

ผู้ฟังหลายคนคงรู้สึกผิดหวังเหมือนผม ที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะเล่นเกมการเมืองเก่า คือยืนยันความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ชัดเจนดังเดิม ด้วยการประกาศความจงรักภักดีอย่างท่วมท้นของตน และอย่างที่ฝ่ายค้านวางเส้นทางให้เดิน คือไม่คิดจะทบทวน ม.112 ไม่ว่าในแง่เนื้อหา หรือในแง่ของการปฏิบัติ

ยิ่งไปกว่านั้น รองนายกฯเฉลิม อยู่บำรุง และ รมต.ไอซีที ยังแสดงบทบาทไม่ต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่จะบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น

ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่เต็มอกว่า การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไร และบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปราบศัตรูทางการเมืองอย่างเมามันอย่างไร

(ถ้าเมามันเท่ากันเช่นนี้ ยังมีน้ำหน้าจะไปปลดคนโน้นคนนี้ ซึ่งเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลได้ใช้กฎหมายอย่างเมามันได้อย่างไร)

แต่อะไรกับอะไร ที่ต่อสู้กันอยู่ในสภาในวันแถลงนโยบาย?

ผมพยายามหาวิธีอธิบายเรื่องนี้อยู่หลายวัน และคิดว่าอธิบายได้ แต่เพิ่งมาอ่านพบบทความของ นายรอเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ลงในเว็บไซต์นิวมัณฑละ ตรงกับความคิดของผมพอดี แต่อธิบายได้กระจ่างชัดกว่า จึงขอนำมาสรุปดังนี้ (จมูกของหลายคนคงย่นเมื่อได้ยินชื่อนี้ แต่เราตัดสินอะไรกันที่เนื้อหาไม่ดีกว่าที่ผู้พูดหรอกหรือครับ)

เขายกทฤษฎีของนักวิชาการเยอรมันคนหนึ่งชื่อ Ernst Fraenkel ซึ่งศึกษาเยอรมันภายใต้นาซี ออกมาเป็นทฤษฎีที่อาจเอาไปใช้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย

เขาเสนอว่ารัฐนั้นมีสามประเภทอย่างกว้างๆ

ประเภทหนึ่งคือนิติรัฐ ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎเกณฑ์กติกาหรือกฎหมาย

อีกประเภทหนึ่งซึ่งอยู่สุดโต่งอีกข้างหนึ่งคือรัฐอภิสิทธิ์ อันหมายถึงรัฐที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งถืออภิสิทธิ์บางอย่าง และการบริหารจัดการบ้านเมืองย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้

รัฐประเภทที่สามคือรัฐซ้อน อันได้แก่รัฐเช่นประเทศไทย

กล่าวคือมีสถาบัน, องค์กร และการจัดการที่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ แต่ในการบริหารจัดการจริง ก็ยังขึ้นอยู่กับความประสงค์ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนนั่นเอง

ที่รัฐเหล่านี้ต้องมีระเบียบแบบแผนระดับหนึ่งก็เพราะ ระเบียบแบบแผนเอื้อต่อทุนนิยม จำเป็นต้องมีระบบตุลาการที่เป็นอิสระและเป็นกลาง พอจะตัดสินกรณีพิพาททางธุรกิจหรือหนี้สินได้ แต่ในเรื่องอำนาจทางการเมือง กลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็ยังหวงไว้ตามเดิม แต่ก็หวงไว้ภายใต้ความคลุมเครือในรูปแบบของนิติรัฐ ไม่ได้ประกาศออกมาโจ้งๆ ตลอดไปกฎหมายเป็นรองความประสงค์ของฉัน

ฉะนั้น ถ้าอธิบายตามทฤษฎีของนาย Ernst Fraenkel อะไรที่ต่อสู้กันในสภาวันนั้น ที่จริงคือการต่อสู้ระหว่างนิติรัฐ และรัฐอภิสิทธิ์นั่นเอง

นิติรัฐของไทยกำลังผลักดันตัวเองไปสู่กฎระเบียบที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเหลือความคลุมเครือของอำนาจน้อยลง ในขณะที่รัฐอภิสิทธิ์พยายามจะรักษาส่วนที่ไม่เสรีและไม่ประชาธิปไตยเอาไว้ภายใต้ความคลุมเครือ เพื่อจรรโลงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มต่อไป

และด้วยเหตุดังนั้น จึงกดดันให้รัฐบาลใหม่ต้องยอมรับว่า จะไม่เข้าไปสถาปนาความชัดเจนในความคลุมเครือที่จำเป็นต้องดำรงอยู่

และอย่างที่กล่าวในตอนแรกนะครับ รัฐบาลพรรค พท.ก็พร้อมจะรักษาความคลุมเครือนั้นไว้ดังเดิม ผมยังพยายามจะมองในแง่ดีว่า เพราะพรรค พท.คิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะประคองตัวให้รอดพ้นจากการถูกทำลายลงด้วยอำนาจของรัฐอภิสิทธิ์

แต่นี่น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะสถานการณ์ของไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว พรรค พท.มีแต้มต่อหลายอย่างที่ควรกล้าเดิมพันมากกว่าขออยู่ในตำแหน่งนานๆ เพียงเท่านั้น ถึงอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็กลับมาอีก

ผลการเลือกตั้งที่ พท.ชนะอย่างท่วมท้นทำให้เห็นว่า การต่อสู้ของนิติรัฐได้เข้ามาอยู่ในสภาแล้ว หลังจากได้อยู่ในท้องถนนมาตั้งแต่ พ.ศ.2516 แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการต่อสู้ในท้องถนนอีกเลย หากรัฐอภิสิทธิ์พยายามสถาปนารัฐบาลของตนเองขึ้นใหม่ (โดยการรัฐประหาร, คำพิพากษา, หรือการจัดรัฐบาลในค่ายทหารก็ตาม) การต่อสู้ในท้องถนนก็อาจกลับมาอีก

นอกจากนี้รัฐอภิสิทธิ์ยังอาจหนุนให้เครือข่ายของตนใช้ท้องถนนเพื่อบ่อนทำลายอำนาจรัฐประชาธิปไตยในสภาได้ หากสถานการณ์อำนวย แต่แนวหน้าของการต่อสู้ของนิติรัฐได้เคลื่อนเข้ามาอยู่ในสภาแล้ว

ดังนั้น หากรัฐบาล พท.ไม่ยอมรุกคืบหน้าในการขยายพื้นที่ของนิติรัฐ ทุกอย่างจะชะงักงันอยู่อย่างเก่า และพรรค พท.ต้องไม่ลืมว่า ในสถานการณ์ชะงักงันที่พื้นที่นิติรัฐมีอยู่นิดเดียว ในขณะที่พื้นที่ของรัฐอภิสิทธิ์มีในความคลุมเครืออยู่อย่างกว้างขวาง พรรค พท.ก็จะถูกเขี่ยกระเด็นไปได้ง่ายๆ

การต่อสู้ผลักดันเพื่อขยายพื้นที่ของนิติรัฐในสภาจึงเป็นไปเพื่อความมั่นคงของพรรค พท.เองด้วย ซ้ำจะเป็นความมั่นคงมากเสียยิ่งกว่าพยายามจรรโลงความคลุมเครือให้ดำรงอยู่เพื่อการยอมรับของรัฐอภิสิทธิ์เสียอีก

ส.ส.ของ พท.แต่ละคนจะมีพันธกรณีกับประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใดไม่ทราบได้ แต่พรรค พท.เองจะอยู่รอดได้ก็อยู่ที่พื้นที่นิติรัฐหรือประชาธิปไตยต้องขยายกว้างขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลพท.จะล้มก็ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น

พรรค พท.จึงควรอธิบายให้ชัดเจนว่า ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น แท้ที่จริงคือความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั่นเอง

เพราะพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย (ตามรัฐธรรมนูญ) คนที่ไม่จงรักภักดีคือคนที่ละเมิดอธิปไตยของปวงชนชาวไทย

ในส่วน ม.112 นั้น พรรค พท.ต้องกล้าพูดความจริงว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาแน่นอน ไม่ในเนื้อหาก็ในการบังคับใช้ หรือทั้งสองอย่าง จากการที่มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาเพียงปีละไม่ถึง 10 ราย กลายเป็นมีผู้ต้องหานับร้อยในทุกปี

การสร้างภาพความจงรักภักดีอย่างสูงสุดแก่ตนเอง ดังที่นักการเมืองได้ทำสืบเนื่องกันมาหลายปีแล้วนี้ เป็นสิ่งที่พรรค พท.จะไม่ทำตามเป็นอันขาด การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกยุคปัจจุบัน ต้องทำด้วยสติปัญญาและคำนึงถึงความละเอียดอ่อน

ฉะนั้น หากจะยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ต่อไป กฎหมายนั้นต้องชัดเจนว่า กระทำการอย่างใดจึงจะถือว่าละเมิดกฎหมาย ไม่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของเจ้าหน้าที่และผู้ฟ้องร้องตามอำเภอใจ และเพราะกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งกัน ทั้งในเชิงบุคคลและในเชิงการเมืองอยู่เสมอ จำเป็นต้องสร้างกระบวนการกลั่นกรองการฟ้องร้องที่ละเอียดรอบคอบและโปร่งใส

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนักรัฐประหารและนักการเมือง ต่างช่วยกันทำความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯตลอดมา และส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้คือการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือ จะหยุดการทำร้ายสถาบันฯ ต่อไปได้ ก็ต้องทบทวนมาตรา 112 เพื่อทำให้ทุกฝ่าย ไม่สามารถเที่ยวทำร้ายศัตรูของตน โดยใช้มาตรานี้เป็นเกราะกำบังตนอีกต่อไป

การประกาศว่าจะทบทวน ม.112 จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ตรงกันข้าม การขจัดความคลุมเครือในเรื่องนี้เสียอีก ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบัน เพราะในความคลุมเครือของรัฐอภิสิทธิ์นั้น ย่อมไม่มีความมั่นคงแก่สถาบันใดๆ ทั้งสิ้น

และเพราะพรรค พท.มองการณ์ไกลกว่า พรรค พท.จึงจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการทบทวน ม.112 ทั้งๆ ที่พรรค พท.น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า การทบทวนจะก่อให้เกิดศัตรูมากขึ้น แต่ต้องแยกแยะศัตรูเหล่านี้ให้ดี ส่วนที่จริงใจเพราะเกรงว่าสถาบันฯจะไม่ได้รับการปกป้อง พรรค พท.ย่อมสามารถแลกเปลี่ยนแสดงเหตุผลเพื่อให้เขากลับมาสนับสนุนได้

แต่ส่วนที่ไม่จริงใจ และใช้การปกป้องสถาบันฯเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อหาอำนาจทางการเมือง สู้กับ “มัน” สิครับ

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 กันยายน 2554)
มติชน, 05 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

1 September 2011 Leave a comment

ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้กลายเป็นประเด็นซึ่งถูกตระหนักถึงอย่างกว้างขวาง

เฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ภายหลังการก่อตัวของมวลชนคนเสื้อแดง ที่ขยายตัวออกอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ภาพความไม่เท่าเทียมกันในหลากหลายมิติได้ถูกนำเสนอปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่องว่างทางรายได้ของคนที่มีรายได้สูงกับรายได้ต่ำ การถือครองที่ดินของเจ้าที่ดินกับชาวไร่ชาวนา เป็นต้น อันเป็นผลไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขในรูปแบบต่างๆ อันมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คน และด้วยความเชื่อว่าจะทำให้กลุ่มเสื้อแดง “สลายตัว” ไปในที่สุด

จึงได้มีการพูดถึงนโยบายการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า การเพิ่มระบบสวัสดิการแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มคนระดับล่างหรืออยู่ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน การจัดระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ฯลฯ

แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของนโยบายเหล่านี้ อาจมีส่วนช่วยสร้างภาวะความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ทิศทางในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้น ล้วนเป็นความพยายามที่ไม่ได้ให้ความสนใจและมองข้ามประเด็นสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นตอทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ นั่นก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย

ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจหมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไร

หากนิยามกันแบบสั้นๆ ก็คือ ความสามารถในการตัดสินใจเพื่อกำหนดชะตากรรมของตนหรือกลุ่มของตน ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจก็หมายความถึงว่าความสามารถในการกำหนดอนาคตของคนแต่ละกลุ่มมีไม่เท่าเทียมกัน บางกลุ่มมีเสียงดังกว่ากลุ่มอื่นๆ และมักเลือกเอาอนาคตในแบบที่เป็นประโยชน์กับตัวและพวกพ้องมากกว่าการตระหนักถึงกลุ่มคนอื่นอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และทำให้บางกลุ่มต้องแบกรับภาระมากเกินไปอย่างไม่เป็นธรรม

ทำไมผู้ใช้แรงงานจึงมีคุณภาพชีวิตในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งอาจมาจากค่าจ้างแรงงานที่น้อยนิด การจ้างงานซึ่งพร้อมจะถูกเลิกจ้างได้ทุกลมหายใจ ความเสี่ยงจากโรคภัยในการทำงานโดยไม่มีหลักประกันใดรับรอง หรือจากอีกหลายปัจจัยที่มีอยู่อย่างมากมาย

แต่หากค้นไปให้สุดสายแล้ว จะพบว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็เพราะความไร้อำนาจของผู้ใช้แรงงานในการปกป้องชีวิตของตนเอง ทั้งจากการเอาเปรียบของนายจ้างและการให้ความช่วยเหลือของอำนาจรัฐ

การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยในห้วงเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะผลของความปรวนแปรทางธรรมชาติหรือเป็นเพราะจน เครียด กินเหล้าเท่านั้น ความไม่มั่นคงของเกษตรกรรายย่อยก็เกี่ยวพันอย่างสำคัญกับการมองข้ามหัวคนตัวเล็กๆ ในภาคการเกษตร หากแต่มุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่เป็นด้านหลัก การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่มีการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะบังเกิดแก่คนตัวเล็กๆ แต่อย่างใด ขณะที่บางกลุ่มสามารถฉวยประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างมหาศาล

รายงานข่าวความมั่งคั่งของเจ้าของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ไปควบคู่กับการล้มละลายของชาวนา จึงเป็นเรื่องปกติเพราะความไร้อำนาจของคนกลุ่มหนึ่ง

การเผชิญหน้ากับความยากจนของคนตัวเล็กในสังคมด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะในแบบที่เรียกว่าประชานิยมนั้น แม้อาจดูว่าช่วยแก้ไขปัญหาได้แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงการจัดการกับบั้นปลายของปัญหาโดยที่ไม่ได้เพิ่มอำนาจให้กับผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบแต่อย่างใด

ทั้งที่หากทำให้เกิดอำนาจที่ใกล้เคียงกันมากขึ้นระหว่างกลุ่มคนแต่ละฝ่าย เช่น ระหว่างผู้ใช้แรงงานกับนายจ้าง ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานอาจไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของค่าจ้างรายวันเท่านั้น อาจจะครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

อำนาจที่ใกล้กันมากขึ้นจะช่วยทำให้ทางด้านผู้ใช้แรงงานสามารถสร้างหลักประกันจากอำนาจของตนเองมากกว่าเพียงการรอรัฐบาลประทานมา ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าจะได้อย่างที่ต้องการและบนพื้นฐานของความเป็นธรรม

การเพิ่มอำนาจให้เกิดความเท่าเทียมกันไม่ใช่ด้วยการเพิ่มเบี้ยยังชีพ 500 บาท หากแต่หมายถึงการสร้างเงื่อนไขและองค์ประกอบบางอย่างซึ่งอาจแตกต่างไปตามแต่ละกลุ่ม การประกันสิทธิทางกฎหมายในการรวมกลุ่มอาจมีความจำเป็นผู้ใช้แรงงาน ขณะที่บางประเด็นอาจต้องมีการปรับโครงสร้างทางการเมืองในรูปแบบใหม่ให้บังเกิดขึ้น อันเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงรายละเอียดในแต่ละประเด็น

การขจัดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจจึงจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการต่อรองและสร้างกติกาทางสังคม ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้พูดและเรียกร้องถึงความต้องการของตน รวมทั้งการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจกับสถาบันหรือกลุ่มองค์กรอื่นในทางสังคม สหภาพแรงงานหรือสหภาพชาวนาที่เข้มแข็งก็อาจต่อรองนโยบายด้วยการลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่สนับสนุน

ข้อกล่าวหาเรื่องการไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากหน่วยงานของรัฐ หรือที่เรียกว่า “สองมาตรฐาน” หรือการสร้างวาทกรรมไพร่-อำมาตย์ที่มีความหมายกินใจผู้คนจำนวนมาก ก็ล้วนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ เพราะไม่อาจควบคุมหรือกำกับสถาบันทางการเมืองหรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรม จึงเป็นผลให้ต้องถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่มีความพยายามอันชัดเจนในการสร้างความเท่าเทียมทางอำนาจให้เพิ่มขึ้น แม้มีข้อเสนอบางประการจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในเรื่องการยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค หรือการให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน อันนับเป็นประเด็นสำคัญในการทำให้ท้องถิ่นจะสามารถมีเสียงที่ดังมากขึ้น แต่ก็ไม่มีการขานรับเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเพียงพอ

เราจึงได้ยินแต่นโยบายในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยที่ยังคงความเหลื่อมล้ำทางอำนาจเอาไว้อย่างมั่นคง หรือหากพูดอีกแบบ ก็คือ มีความมั่นคงในชีวิตดีขึ้นได้แต่ยังไง ก็ต้องเป็นเพราะพวกอั๊วให้ลื้อนะโว๊ย จงสำนึกบุญคุณไว้ดี

กรุงเทพธุรกิจ, 12 พฤษภาคม 2554