Archive

Posts Tagged ‘ความเป็นไทย’

พ้นจากนี้ไปไม่ใช่ไทย, คำ ผกา

10 April 2012 Leave a comment

พ้นจากนี้ไปไม่ใช่ไทย, คำ ผกา

ข้อแนะนำในเรื่องการเบี่ยงเบนทางเพศ

1. ผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ควรปิดเป็นความลับเฉพาะตัว หรือเปิดเผยเฉพาะคนที่เข้าใจและไว้วางใจ พยายามปรับพฤติกรรมในการแสดงออกให้เหมาะสมกับเพศของตนเองตามกาลเทศะ

2. เมื่อเกิดปัญหาในการปรับตัวควรปรึกษาคนที่เข้าใจและไว้วางใจ

3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

4. พัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถอยู่เสมอ

จาก “หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน สุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลักสูตรการศึกษา พ.ศ.2551”

ต้องขอบคุณเพื่อนที่แชร์ส่วนหนึ่งของตำราเรียนวิชาสุขศึกษานี้มาในเฟซบุ๊ก หลังจากความโด่งดังของข้อสอบโอเน็ตที่ถามว่า “นักเรียนควรทำอย่างไรเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ” ที่คำตอบมีทั้ง ไปเตะบอล และปรึกษาพ่อแม่

นับว่าประเทศวาสนายังดีพอที่จะไม่ออกข้อสอบว่า การช่วยตนเองบ่อยๆ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร และคำตอบคือ ตาบอด เหมือนความรู้เมื่อสองศตวรรษที่ผ่านมา

ข้อแนะนำในเรื่องเบี่ยงเบนทางเพศอันปรากฏอยู่ในตำราทุกขศึกษา เอ๊ย สุขศึกษา ที่ฉันขยี้ตาดูว่าหลักสูตรปี 2551 ไม่ใช่ 2441 ได้บอกอะไรเราหลายอย่างมากเกี่ยวกับสังคมไทย

และฉันก็เริ่มเชื่อแล้วว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการรับรู้เกี่ยวกับตนเองเป็นการเฉพาะ ไม่เหมือนใครในโลกนี้

การเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสังคมไทยพร้อมๆ กับการสร้างตัวตนว่าด้วยความเป็นไทยในยุคเริ่มต้นนั้นทั้งซับซ้อนและมีความย้อนแย้งในตนเองอย่างสูง

ยกตัวอย่างเช่น เราเริ่มตระหนักรู้ถึงการสร้างขอบเขต ดินแดน รูปร่างหน้าตาของประเทศและการขีดเส้นอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่าการทำ “แผนที่” ผ่านความรู้ของ “ฝรั่ง”-ดังนั้น อัตลักษณ์ความเป็นไทยเชิงวัฒนธรรมที่เรารู้จักกันทุกวันนี้จึงเริ่มต้นจากความรู้ของ “ฝรั่ง”

ไม่นับว่า แรงกดดันที่ทำให้เราต้องตระหนักตื่นถึงความจำเป็นในการสร้าง “ตัว” ของหน่วยการเมืองแบบใหม่นี้ขึ้นมาก็มาจาก “ฝรั่ง” อีกนั่นแหละ

ในเวลาเดียวกัน การสร้างความภาคภูมิใจใน “ชาติ” ของตนก็ต้องมาพร้อมกับการยกตนข่มท่านเสมอ ทั้งหลีกเลี่ยงจะกล่าวถึงความอ่อนแอของตน พร้อมๆ ไปกับการใส่สีตีไข่เพิ่มอิทธิฤทธิ์มหิทธานุภาพแก่ประวัติศาสตร์แห่งชาติที่เพิ่งเกิดใหม่นั้น

กระไรเลยเราจะยอมรับว่าชะตากรรมของชาติเรานี้ได้รับการชี้นำจากฝรั่ง

ชนชั้นนำที่มีส่วนในการออกแบบชาติในยุคเริ่มต้นจึงเป็นผู้วางจักรวาลวิทยาว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับความเป็นไทยไว้ให้เป็นมรดกแก่เราในทุกวันนี้

และมรดกชิ้นหนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นไทยที่ลอยเท้งเต้งโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวกับใครในโลกทั้งโดดเด่น เจิดจรัส ดุจดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง ไม่เคยต้องง้อขอแสงสว่างจากใคร

เรามีภูมิปัญญาของเราเองที่ใครๆ ในโลกนี้ก็ต้องทึ่ง ต้องซูฮก

เรามีปรัชญาเป็นของเราเอง มีทุกสิ่งทุกอย่างล้ำค่าเป็นของตนมาโดยตลอด ทั้งไม่เคยต้องก้มหัวให้ใคร-ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนตกเป็นอาณานิคม เราไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร

โชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้ที่เราถูกสอนมาตลอดว่าประเทศไทยของเรานั้นคือดาวฤกษ์เจิดจรัส เราสามัญชนคนไทยในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจึงได้เรียนรู้แต่เรื่อง “ไทยๆ” ที่ได้รับการออกแบบมาจากผู้ที่มีอำนาจและความชอบธรรมในการออกแบบความเป็นไทยนั้น

การศึกษาของไทย เต็มไปด้วยเรื่อง “ไทยๆ” อันประกอบได้ด้วย ประวัติศาสตร์ไทย, ภาษาไทย, วรรณคดีไทย, ศิลปะไทย, ปรัชญาไทย, ประเพณีและวัฒนธรรมไทย, สุภาษิตสอนหญิงแบบไทย, วิถีไทย ฯลฯ

นักเรียนสามัญชนของไทยเราแทบจะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมต่างชาติ ต่างภาษา” อย่าว่าแต่ ภาษา ประวัติศาสตร์ ของประเทศเล็ก ประเทศน้อย ประเทศเพื่อนบ้าน แม้แต่อู่อารยธรรมใหญ่ของโลกอย่าง “ตะวันตก” นักเรียนสามัญชนของเราก็ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมันเลย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราสามัญชนไทย แทบจะไม่รู้จักประวัติศาสตร์ตะวันตก ไม่รู้จักนักปรัชญาตะวันตกคนสำคัญของโลก ไม่รู้จักนักประวัติศาสตร์ผู้ให้กำเนิดวิชาประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้อ่านวรรณกรรมเล่มสำคัญของอารยธรรมตะวันตก ไม่รู้จักบทกวี ดนตรี ศิลปะ สถาปัตยกรรม ละคร ชิ้นสำคัญที่ทำให้ตะวันตกเป็น “ตะวันตก” อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

แต่เราก็สามารถด่าวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างไม่กระดากปาก

มากไปกว่านั้นเรายังไม่แน่ใจเลยว่า ฝรั่ง = ตะวันตก หรือไม่?

หรือ เอ๊ะ พวกผมทอง ผิวขาวในละตินอเมริกาที่จะนับเป็นฝรั่งดีไหม?

แต่นั่นคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตกหรือเปล่านะ?

ยิ่งเราไม่เคยได้รู้จักคนอื่น เรายิ่งรู้สึกว่าตนเองเจิดจรัส ยิ่งเราถูกทำให้เชื่อว่า เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครเราไม่ต้องเรียนภาษาของเจ้าอาณานิคมอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกบังคับให้เรียนภาษาอังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส-โอ้ว มันดีจริงๆ เลยที่เรามีทั้งภาษาและตัวเลขของเราเอง ไม่เคยตกเป็นทาสใคร

ผลก็คือ เราจึงไม่ได้อ่านอะไรเลยที่ไม่ได้ตีพิมพ์อยู่ในภาษาของเรา ในขณะที่ประเทศซึ่งทุกข์ทนกับการถูก “ครอบครอง” จากมหาอำนาจ พยายามดิ้นรนจะรู้เท่าทัน มหาอำนาจ ด้วยการอ่าน และการแปลความรู้ของมหาอำนาจมาเป็นภาษาของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สังคมไทยจึงเหมือนสาวน้อยที่ถูกขังไว้บนหอคอยเล็กๆ มีผู้คอยขับกล่อมให้เชื่อว่าหอคอยแห่งนี้คือโลกทั้งใบ และเธอหญิงสาวที่สวยที่สุดในโลก

ผู้ทำหน้าที่ขับกล่อมหญิงสาวบนหอคอยอันโดดเดี่ยวนี้ เฝ้าบอกเธอว่าโลกข้างนอกนั้นอันตราย ป่าเถื่อน ต่ำช้า-ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ “เขา” ที่จะออกไปเผชิญกับโลกป่าเถื่อนนั้นและจะคัดสรรแต่สิ่งดีๆ มาไว้ให้หญิงสาวบนหอคอย

แล้วเราก็อยู่อย่างนั้นมากว่าร้อยปี เชื่อว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก หอคอยเล็กๆ นี้สวยที่สุดในโลก ดีที่สุดในโลก และกลัวที่สุดที่จะโดนไล่ออกจากหอคอยนี้เพราะไม่มีที่ไหนจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว

บนหอคอยแห่งความเป็นไทย สิ่งที่อยู่นอกหอคอยคือความ ต่างชาติ, ตะวันตก, ฝรั่ง ถูกจ้องมองผ่านหน้าบานเล็กๆ ที่ “ผู้ขับกล่อม” เจาะไว้ให้ดู มองผ่านหน้าต่างบานนี้ ต่างชาติ, ฝรั่ง, ตะวันตก คือความสามานย์, คือวัตถุนิยม, บริโภคนิยม, ฟรีเซ็กซ์, ขาดมิติทางจิตวิญญาณอันละเอียดอ่อน, หยาบช้า, สกปรก, ลูกเต้าไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า, เด็กไม่เคารพผู้ใหญ่

ผู้ขับกล่อมจะสอนเราอยู่เสมอว่า “อย่างมงายในวิทยาศาสตร์, อย่าหลงทุนนิยม, อย่าให้วัฒนธรรมตะวันตกมาชี้นำเรา”

ที่ต้องคอยขับกล่อมเช่นนี้ ก็เพื่อหล่อเลี้ยงคำพกลมที่ว่าเราคือดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง และผู้ขับกล่อมนั้นจะได้ผูกขาดอำนาจการไปท่องในโลกตะวันตกอันสามานย์แต่เพียงผู้เดียวและมีสิทธิในการคัดสรรว่าอะไรเหมาะกับหญิงสาวในหอคอยและอะไรไม่เหมาะ

ผู้ขับกล่อมจะเป็นคนคัดสรร ดัดแปลง คัดกรอง แปล และแปลง จากนั้นจึงนำเข้ามาในหอคอยและบอกว่านี่เป็นวัฒนธรรมแบบของเราเอง

ไม่เหมือนใครในโลกนี้และดีที่สุด

ประชาธิปไตย, สัญญาประชาคม, สิทธิมนุษยชน, รัฐธรรมนูญ, ชาติ, ประชาชน, นิติรัฐ, เสรีภาพ, ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์, เพศสถานะ, เพศวิถี, ความหลากหลายทางเพศ, ปัจเจกบุคคล, สิทธิที่จะเชื่อ, ไม่เชื่อ, ความเป็น queer, เกย์, กะเทย, ทอม, ดี้, ไบเซ็กช่วล, สวิงกิ้ง, ตุ๊กตายาง, เซ็กซ์ช็อป, หนังโป๊, VS ประชาธิปไตยแบบไทย, สิทธิแบบไทย, รัฐธรรมนูญแบบไทย, เสรีภาพแบบไทย, คุณธรรม, ศีลธรรม, บุญคุณ, ที่ต่ำที่สูง, ศักดิ์สิทธิ์, ระเบียบวินัย, ระบบอาวุโส, วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม, ความจริงสัมบูรณ์, สัจจะ, ธรรมาธิปไตย, การเกณฑ์ทหาร, ทรงผมนักเรียน, เครื่องแบบนักศึกษา, ความสามัคคี

ถ้อยคำเหล่านี้หมุนวนอยู่รอบๆ ตัวเรา และบนหอคอยแห่งความเป็นไทยอันโดดเด่นและเดียวดายนี้ เรารู้ว่าอะไรเหมาะกับเรา “ผู้ขับกล่อม” จะบอกเราว่าเราพร้อมและยังไม่พร้อมสำหรับอะไร และเราภูมิใจกับมันมาก

เราคือหญิงสาวที่สวยที่สุด เพียบพร้อมที่สุดในจักรวาลนี้

เราอาจจะจน

หอคอยเราอาจจะซอมซ่อ

และเรามีจิตวิญญาณที่สูงส่งกว่าใคร เพราะผู้ขับกล่อมบอกเรามาตลอดว่า ยิ่งมั่งคั่งทางวัตถุก็จะยิ่งอับจนทางจิตวิญญาณ

สังคมไทยเป็นดั่งหญิงสาวในหอคอยอันโดดเดี่ยวเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจสักนิดที่ ตำราเรียนวิชาสุขศึกษาของเราจะเรียกการเป็น homosexual หรือความรัก ความพึงใจที่มีต่อคนเพศเดียวกันให้เท่ากับการ “เบี่ยงเบนทางเพศ”

เนื่องจากเราตัดขาดจากความรู้และประวัติศาสตร์ตะวันตก รวมทั้งประวัติศาสตร์โลก เราจึงไม่เห็นการคลี่คลาย ต่อสู้ในเรื่องเพศวิถีในที่ต่างๆ ของโลก

เราจึงไม่เห็นการคลี่คลายต่อสู้กับความรู้ทางการแพทย์ ที่ได้ดำเนินมาถึงจุดที่ได้ยอมรับว่าการรักเพศเดียวกันเป็น “รสนิยม” เป็น “ทางเลือก” ของมนุษย์ที่พึงได้รับความเคารพ มิใช่ความเบี่ยงเบน มิใช่ความป่วยไข้

ความรู้แบบ “หอคอย” มองว่า การรักเพศเดียวกันเป็นความป่วยไข้ เป็นความน่าอับอายจึงมิให้บอกใครนอกจากคนที่ไว้ใจ!

มองว่ารักร่วมเพศมีแนวโน้มจะสำส่อนจึงย้ำเตือนให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และเป็นพลเมืองชั้นสองจึงกำชับให้เจียมตน หมั่นพัฒนาตนเอง!

การยอมรับสิทธิของเกย์เป็นเรื่องของฝรั่ง อย่าไปเอาอย่างมัน!

การอภิปรายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของฝรั่ง อย่าไปเอาอย่างมัน

การพูดเรื่องสิทธเสรีภาพเป็นเรื่องของฝรั่ง อย่าไปเอาอย่างมัน

เสรีภาพในเรื่องเพศวิถีแยกออกจากกระบวนการประชาธิปไตย เป็นความคิดของฝรั่ง อย่าไปเชื่อมัน!

นี่คือหอคอยแห่งความเป็นไทยที่เราภาคภูมิใจเหลือเกิน ภาคภูมิใจจนน้ำตาซึม เราช่างมีจิตวิญญาณอันสูงส่ง ไม่ถูกทำลายโดยวัตถุนิยม ทุนสามานย์ บริโภคนิยม เราคือสังคมผดุงความดีงาม ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ปรัชญา ความรู้ ประเพณี หอคอยนี้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา

ไอ้พวกนอกรีตจงไปลงนรก

พ้นจากนี้ไปที่ไม่ใช่ไทย

พ้นจากนี้ไม่ใช่เรา

พ้นจากนี้ไปคือ นรก

(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2555)

มติชนม 04 เมษายน 2555

คุยกับ “คำ ผกา” ตอน คนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก…?

6 February 2011 Leave a comment

คุยกับ “คำ ผกา” ตอน คนไทยไม่เหมือนชาติใดในโลก…?

“คำ ผกา”

ณ ร้าน “ก็องดิด” ห้องแถวริมถนนตะนาวเปิดขายหนังสือเครื่องดื่มพร้อม ตั้งอยู่ใกล้ๆสี่แยกคอกวัว หลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร้านเล็กๆที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือเนื้อหาหนักๆ เคล้าเครื่องดื่มเบาๆ เปิดร้านเชิญ “คำ ผกา” คอลัมนิสต์สาวชื่อดังที่ร้อนแรงและจัดจ้านที่สุดแห่งปี มาพูดคุยเรื่องเบาๆไปจนถึงเรื่องหนักๆ ที่ยินดีมาตอบทุกคำถาม วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง แบบฉบับ “คำ ผกา” ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่มีคารมคมคายในงานเขียนและมีฝีปากที่เผ็ดร้อนไม่แพ้กัน เมื่อผสมกับลีลาท่าทางด้วยแล้ว ชวนให้น่าติดตาม ไม่ต่างจากตัวอักษรที่เธอทำให้ใครหลายๆคน ทั้งชอบ หลงรัก หมั่นไส้และเกลียดชังในคราวเดียวได้

แต่สิ่งที่เธอถ่ายทอด คือ ความรู้สึกนึกคิดที่ผู้หญิงคนหนึ่งสะท้อนออกมาในยุคสลัดผ้าซิ่นทิ้ง แล้วมาสวมกางเกงกระโปรงใส่ส้นสูง จึงไม่มีอะไรต้องเหนียมอายดัดตัวเองให้เสียจริต คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น เห็นอย่างไรทำอย่างนั้น ไม่ว่าจะอ่านหรือจะฟัง “คำ ผกา” ก็คือ “คำ ผกา”

แฟนคลับเริ่มมาจับจองที่นั่งกันก่อนเวลาสนทนาจะเริ่มขึ้น ร้านหนังสือเล็กๆผู้คนล้นทะลัก จนแทบจะต้องต่อกล้องวงจรปิดออกไปนอกร้าน ขยับอยู่หลายรอบกว่าจะเขย่าคนให้มีพื้นที่ได้ฟังกันทุกคน สำรวจดูบรรดาแฟนคลับ “คำ ผกา” ไม่ใช่สาวน้อยที่มากรี๊ดดารา แต่มีคนหลากหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นมีกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีผมหงอกงอกให้เห็น ชวนกันมานั่งพับเพียบกับพื้นเพื่อฟัง “คำ ผกา” และปราศรัยกลุ่มย่อยกันระหว่างรอและในช่วงพักเบรกขายเครื่องดื่ม

“ชูใจ ห่วงใยมานี” แฟนคลับตัวยง ชวนนำคุย เริ่มต้นกับคำถามว่าด้วย ” ′แดงเหลือง′ ที่ทำหน้าที่ในสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพราะระยะหลังมีแกนนำใส่เสื้อแดงขึ้นเวทีเหลืองบ่อยครั้ง”

“คำ ผกา” ถามขึ้นทันทีว่า “เป็นแดงด้วยเหรอ ไม่ใช่แดงแต่เป็นเหลือง” แต่ทั้งหมดเราไม่มีสิทธิ์ไปพูดถึงยุทธศาสตร์ของใคร สิ่งที่จะบอกได้ คือ อุดมการณ์ของพันธมิตรฯกับคนเสื้อแดง ยืนอยู่บนอุดมการณ์คนละชุดอยู่แล้ว ไม่มีวันที่จะมาร่วมเป็นขบวนการเดียวกันได้ แม้ว่าเขาจะพยายามดึงเอาเรื่องชาติมาชู ต่อสู้เพราะความรักชาติ เพื่อคนไทยที่ถูกจับในเขมร

“การเคลื่อนไหวของพันธมิตร ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เป็นของประชาชนจริงๆ ไม่เหมือนขบวนการของคนเสื้อแดง ที่มันเติบโตด้วยตัวของมันเอง แต่อันนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นการจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “แดงเหลือง” ที่พยายามสื่อสารถึงพี่น้องคนเสื้อแดง ใส่เสื้อสีแดงขึ้นเวทีแล้วบอกว่า เราลุกขึ้นมาปกป้องชาติบ้านเมือง ยังไงก็ปลุกไม่ขึ้น เพราะความหมายของของคำว่า ชาติของคนเสื้อแดง กับความหมายของคำว่า ชาติของพันธมิตรเป็นชาติคนละชุดอยู่แล้ว” คำ ผกา อธิบาย

เมื่อถามต่อว่าแล้วความแตกต่างที่คิดว่าเราเป็นแบบเขาไม่ได้เพราะอะไร

“คำ ผกา” อธิบายเพิ่มเติมว่า ความคิดเรื่อง “ชาตินิยม” เป็นปัญหามาก เรายังไม่รู้เลยว่าชาตินิยมแปลว่าอะไร เพราะสิ่งที่พันธมิตรปลุกขึ้นมาไม่ใช่ขบวนการชาตินิยม อาจจะเรียกว่าเป็นปลุกความรู้สึกขึ้นมาให้รักชาติบ้านเมือง ซึ่งเรื่องนี้ตกยุคไปแล้ว ขบวนการชาตินิยมในหลายๆที่ โดยมาก เป็นขบวนการของประชาชน ส่วนตัวมองว่าขบวนการเสื้อแดงต่างหากที่เป็นขบวนการ “ชาตินิยม”

“อย่าลืมว่าการช่วงชิงความหมายของ คำว่า ชาติ ในประวัติศาสตร์ไทย มันชิงความหมายกันมาหลายยก แต่ตอนนี้การเคลื่อนไหวขบวนการชาตินิยม ของคนไทยขณะนี้ ขบวนการของคนเสื้อแดงกำลังทำตรงนั้นเพื่อช่วงชิงเอาความหมายของ คำว่า “ชาติ” มาเท่ากับ “ประชาชน” เรากลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนที่ ชาติ ยังยึดโยงกับ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ แล้วชาติมาเปลี่ยนความหมายเป็นประชาชน หลังปี พ.ศ. 2475 เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วในปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา คำว่า “ชาติ “ก็กลับไปมีความหมายแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเพื่อให้ชาติเท่ากับประชาชน นี่คือ การเปลี่ยนจิตนาการความหมายของ คำว่า ชาติที่สำคัญที่สุด แต่ขบวนการชาตินิยมนี้จะนำไปสู่อะไรไม่มีใครทราบได้ อาจจะนำมาซึ่งสิ่งที่ล้าหลังที่สุด สมมุติว่า ถ้าขบวนการต่อสู้ของเสื้อแดงชนะ นำมาซึ่งความรักชาติบ้านเมืองแบบล้าหลัง อีกแบบหนึ่งก็ได้ ไม่มีใครตอบได้ ”

@ ถ้ามีเพื่อนที่เป็นเสื้อสีต่างจากเราแต่เขาเป็นคนน่ารักนิสัยดีจะทำอย่างไร

“คำ ผกา” ให้คำแนะนำว่า เป็นเพื่อนกันได้ เพราะเห็นไม่ตรงกันได้ คนหนึ่งเห็นว่า “ชาติ” มีความหมายตามความคิดกระแสหลักในสังคม อีกคนเห็นว่า “ชาติ” คือ ประชาชน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ทุกคนมีสิทธิคิด มีสิทธิเชื่อแบบนั้น หากออกมาต่อต้านว่าทำไมเสื้อแดงต้องออกมาปิดถนนก็ต้องเถียงออกไปเลย

@ แล้วอธิบายกับเพื่อนอย่างไร

“คำ ผกา” บอกว่า มันง่ายมาก เพราะเขามาเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อไม่ได้แล้วมีคนตายเกือบร้อยคน จะให้ทำอย่างไร คนอยู่เฉยๆคงเสียสติ เหมือนที่ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เจ้าของสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม บอกว่า กระบวนการฟ้องร้องจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ศาล แต่สิ่งสำคัญ คือ เมื่อมีหลักฐานที่เปิดเผยออกมาเป็นระบบขนาดนี้ คนไทยยังยืนอยู่แล้วทนเห็นอภิสิทธิ์(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) เป็นนายกฯได้อย่างไร นี่คือ สิ่งที่คนไทยควรกลับมาถามตัวเองว่า เรานั่งอยู่ได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องว่าจะฟ้องศาลได้หรือไม่ได้ ศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่ในเมื่อหลักฐานถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ทุกคนนั่งอยู่ตรงนี้ แล้วมาตั้งคำถามว่านายอภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษจริงหรือไม่ใช่คำถามที่สำคัญ แต่คำถามที่ว่า ความเป็นมนุษย์ของพวกคุณอยู่ที่ไหนต่างหาก เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใจว่าคนไทยยังเป็นคนกันอยู่หรือเปล่า ทำไมเราต้องไปนั่งถามกันอีกว่า ตกลงฟ้องอภิสิทธิ์ได้หรือไม่

“ถ้าเปิดหู เปิดตา เปิดสมอง อีกนิดจะต้องรู้ แต่ที่ไม่รู้เพราะว่าไม่ยอมเปิดไม่ยอมรับรู้ สมองพิการไปแล้ว เมื่อนั่งดูโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเหมือนสมัยที่มีโฆษณา ยาแก้ปวด โฆษณาว่า ปวดหาย ปวดหาย กินแล้วหายปวดหัว เป็นการโฆษณาอะไรที่ไม่แนบเนียนเลย เป็นกลยุทธ์ที่ไม่แนบเนียนที่สุด โฉ่งฉ่างที่สุด ไร้รสนิยมที่สุด มันควรไม่มีใครเชื่อ ต้องมาตั้งคำถามกัน ว่า คนที่เชื่อเกิดอะไรขึ้น

หน้าที่ของเรา คือ เขียนต่อไป พูดต่อไป ปล่อยให้สลิ่มแก่ตายไป เนื่องจากยากเกินจะเยียวยา เพราะเจอยากล่อมประสาทที่ไม่สามารถกลับมาเป็นผู้เป็นคนหรือคิดได้อีกต่อไปแล้ว ก็ให้คนพวกนั้นตายไปในอีก 2-3 รุ่นข้างหน้า แล้วเราก็สื่อสารกับคนรุ่นใหม่เรื่อยๆ”

@ สิ่งที่นำเสนอในบทความนอกจากความรู้สึกความคิดของตัวเองมีการอ้างอิงจากงานวิชาการความรู้จากที่อื่นบ้างหรือไม่

“คำ ผกา” ชี้แจงในประเด็นความรู้ว่า จริงๆแล้ว สิ่งที่เขียนออกมาทุกวันนี้ แทบไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย เพราะปัญหาการเมืองไทยเป็นปัญหาประชาธิปไตยชั้นประถมศึกษา เคยเขียนว่าทำไม การเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ พรรคการเมืองอยู่ไม่ได้ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่คำถาม หรือ ปัญหาความขัดแย้งของสังคมที่ต้องใช้ทฤษฎีหรือความรู้อะไรมากมาย มันกลับมาศตวรรษที่ 18 ใช้แค่การเชื่อในระบอบเสรีนิยมแล้วจะทำอะไร ทำไมนั่งมองคนโยนระบบเลือกตั้งทิ้ง นั่งมองคนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ บอกนักการเมืองเลวหมด แล้วต้องการการปกครองแบบไหนกัน

@ กรณีการประท้วงจนเกิดความรุนแรงในประเทศอียิปต์ฉายภาพว่า หลายคนไม่เคยสนใจเรื่องในประเทศ แต่ไปให้ความสำคัญติดตามข่าวประณามการใช้ความรุนแรงของประเทศอื่น มองเรื่องนี้อย่างไร

“คำ ผกา กล่าวพร้อมยิ้ม (ปากกว้าง) ว่า เราเชื่อว่าประเทศเราเป็นหนึ่งเดียวมีความพิเศษไม่เหมือนใครในโลกนี้ มีสถาบันที่จะทำให้ประเทศเราเรืองรองผ่องอำไพ จึงไม่คิดจะเอาประเทศเราไปเปรียบเทียบกับประเทศไหน เราสู้เพื่อ อองซาน ซูจี สู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า แต่ของไทยเราไม่เป็นไรสบายดี สลิ่มยังเชื่อว่า ประเทศไทยสบายดี เพราะตราบใดที่ยังมีหลักยึดสำคัญดำรงอยู่ประเทศไทยก็จะสบายดีไปเรื่อยๆ

@ แล้วคนไทยไม่เหมือนชาติอื่นจริงหรือไม่ เพราะอะไร

“ไม่จริง คือ การที่คนไทยเชื่อว่าประเทศตัวเองไม่เหมือนคนอื่น นี่คือ สิ่งที่คนไทยไม่เหมือนชาติอื่นในโลก ซึ่งอุดมการณ์ที่บอกว่าไทยไม่เหมือนใคร เป็นผลผลิตของชนชั้นนำ หลัง พ.ศ. 2500 ไปหยิบความคิดของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาจับยำเป็นแกงโฮ๊ะ ทำให้เละกว่าเดิม แล้วยังมาผลิตเป็นองค์ความรู้ว่า เป็นข้อเด่นของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประสานผลประโยชน์ ประนีประนอม และไม่เหมือนใคร มีรอยยิ้ม โอบอ้อมอารี มีผู้นำที่ดี มีความรู้รักสามัคคี เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องมีระบบการปกครอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เป็นผลผลิตไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะมันอยู่ในระบบการศึกษา และพิธีกรรมหลายๆอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งรัฐผลิตและมีเครื่องมีเป็นประชาชนที่จะทำให้อุดมการณ์ชุดนี้ทำงานอยู่และมีความหมายสื่อความหมายได้ จนกลายเป็นความจริงแล้วพูดต่อซ้ำไปซ้ำมา”

@ ชนชั้นนำพยายามจะบอกว่าประเทศไทยยังไม่เหมาะกับประชาธิปไตย แล้วกลุ่มคนที่จะเคลื่อนไหวจะต้องทำไปในทิศทางใดบ้างเพื่อสื่อสารให้คนอื่นรู้ว่าประเทศเราเหมาะกับประชาธิปไตย

“คำ ผกา” กล่าวว่า เราไม่จำเป็นต้องไปบอกว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือบอกใครว่าเราพร้อมแล้วกับระบอบประชาธิปไตย เพราะว่ามันไม่มีแบบทดสอบว่า พร้อมหรือไม่พร้อม แต่โดยหลักการปกครองในโลกสมัยใหม่เราต้องการการปกครองในระบอบที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน มันง่ายมากไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดี ไม่ว่ามันจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ จะต้องให้ขบวนการนี้ทำงานไปพร้อมกับประชาชน ไม่จำเป็นต้องไปบอกใคร แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนัก เรื่องง่ายๆที่ทุกคนควรจะมี

“ในภาวะที่เราเห็นการใช้อำนาจแบบนี้ แล้วสังคมไทยก็เห็นการอุ้มคนไปฆ่า ระบบ 2 มาตรฐาน เราจะพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้มากแค่ไหน กระบวนการแบบนี้เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกกลัว แต่เราจะทนนั่งดูสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยไม่พูดอะไรเลยหรือ สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด แล้วในสถาบันการเมืองไม่ว่าจะเป็น สถาบันศาสนา สถาบันการเมือง สถาบันของสงฆ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นหนึ่งในสถาบันทางสังคม ที่ควรจะได้รับการพูดถึงวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบได้ ว่ามีบทบาทอะไรอยู่ในฐานะอะไร แล้วมาดูว่าสถาบันต่างๆที่มีอยู่ในสังคม มีความสัมพันธ์กันอย่างไร สถาบันทางการเมืองสถาบันทางสังคมควรจะมีความสัมพันธ์ทางอำนาจกันอย่างไร มีกลไกอะไรในการตรวจสอบได้บ้าง”

คำ ผกา กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมไว้ว่า เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่พูดแล้วคนจะเปลี่ยนทุกอย่าง ต้องเปลี่ยนด้วยระบบเศรษฐกิจ ผังเมืองเปลี่ยน สถาปัตยกรรมเปลี่ยน ศิลปะเปลี่ยน การทำงานของศิลปินเปลี่ยน วิถีชีวิตคนเปลี่ยน คนมีกิจกรรมในที่สาธารณะในอีกแบบหนึ่ง มันเกี่ยวพันกับการจัดการพื้นที่ในสังคม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของคนได้เอง ไม่ใช่ว่าเราไปฟังคนนั้นคนนี้แล้วมันจะเปลี่ยนได้ นี่คือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอ เป็นสิ่งที่คนปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แล้วอยู่ที่ว่าปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง

ในตอนต่อไปติดตามเรื่องอิทธิพลทางความคิดของคอลัมนิสต์สาวผู้นี้ ว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้สตรีผู้นี้กล้าลุกขึ้นมาเผชิญกับความจริงบางอย่างของสังคมที่ถูกซุกซ่อนไว้ในซอกในหลืบของสังคมที่เธอค่อยๆแงะ เขย่า ตีแผ่ ให้สังคมได้มองเห็นเสรีภาพ ทำในสิ่งที่ท้าทายซึ่งไม่ยากเพียงแค่กล้าเผชิญความจริง แม้จะมีความกลัวอยู่บ้าง แต่ความหวังที่จะทำสิ่งที่จะช่วยให้ความคิด ความเชื่อ ของคนไทยที่ว่า “เปลี่ยนยาก” แต่มันเปลี่ยนได้ เพียงแค่ “เปิดหูเปิดตารับฟัง”และ “มองคนเป็นคน” เท่านั้นเอง

มติชน, 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่หลากหลาย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

6 November 2010 Leave a comment

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่หลากหลาย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

แม้ว่าสังคมไทยจะประกาศว่ามีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเสมอภาคกัน แต่ในชีวิตปกติทุกคนในสังคมไทยก็รู้อยู่แก่ใจว่าสังคมไทยมีลำดับชั้น แต่สังคมไทยพยายามทำให้ลำดับชั้นนั้นบาดอารมณ์ของสังคมให้น้อยลงด้วยการ เคลือบด้วยการเสแสร้งว่าอย่างน้อยก็เท่ากันในความเป็นไทย เพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน ซึ่งจะต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า “คนไทยเหมือนกัน” จะถูกใช้ในยามที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมอันเกิดจากความเป็นคนไทย ที่ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกันนั้นเอง

ความเป็นไทยจึงเป็นเรื่องของระบอบการสร้างการ ยอมรับอำนาจและสิทธิพิเศษ (Power and Privilege) ของคนบางกลุ่มในสังคมว่ามีมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เราอาจจะรู้สึกว่าจะนิยามหรือให้ความหมายความเป็นไทยได้ยากมาก แต่ลองนึกถึงข้อกำกับพฤติกรรมในชีวิตจริงประจำวันของเราแต่ละคน ก็จะรู้สึกถึงความเป็นไทยที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของเราได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่าทีในการคุยกับ “ผู้ใหญ่” แม้แต่คำนิยามความเป็นไทยแบบง่ายๆ และคลุมความหมายทางชาติพันธุ์ไว้ เช่น ความเป็นไทย/คนไทยมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นก็เป็นความจริงในความ สัมพันธ์เชิงลำดับชั้น เช่น เอื้อเฟื้อต่อ “ผู้น้อย” ที่ต้องสยบต่อ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่การเอื้อเฟื้อในลักษณะที่เท่าเทียมกัน หมายความว่าหากคุณไม่หือ เราก็จะดูแลและเอื้อเฟื้อต่อคุณต่อไปนั้นเอง

ระบอบอำนาจและสิทธิพิเศษ (Power and Privilege) ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนในสังคมมาเนิ่นนานภายใต้เสื้อคลุมลักษณะทาง “ชาติพันธุ์ไทย” ครอบคลุมมิติทุกมิติไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติใด ก็จะมีผลกระทบต่อไปยังมิติของชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจของบรรดา “ผู้น้อย” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ให้ก้าวข้ามเส้นความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงของการเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ ซึ่งเดิมนั้นเป็น เจ๊กดาวน์ ลาวผ่อน แต่ตอนนี้เป็น ลาวดาวน์ ลาวผ่อน (ประมาณการว่าเจ้าของแท็กซี่ให้เช่าตอนนี้เป็นคนอีสานร้อยละห้าสิบ)

ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจก็ได้ทำ ให้เกิดความพยายามต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมด้วยการผลักดันแทรกวัฒนธรรมของ ชาติพันธุ์ “ผู้น้อย” เข้ามาในพื้นที่ของวัฒนธรรมไทย ดังที่ได้กล่าวถึงเพลงและตลกอีสานไว้ในคราวก่อนหน้านี้

นอกจากการก้าวข้ามเส้นกีดขวางทางเศรษฐกิจ และการแทรกเข้ามาในวัฒนธรรมไทยแล้ว ความต้องการอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นจึงเป็นแรง ผลักดันทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยหันไปพึ่งและ/หรือหยิบฉวยเอา “บุคคล” ที่เอื้ออำนวยให้พวกเขามีโอกาสที่จะก้าวพ้นความไม่เท่าเทียมมาใช้เป็น ประโยชน์ทางการเมือง

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันนั้น ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงเพราะการเคลื่อนไหวนั้นกำลังจะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบใหม่ แต่ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความคิดหลักเดิมอยู่นั้นคือ “ความเป็นไทย” หากแต่เป็น “ความเป็นไทย” ในอีกความหมายหนึ่งเท่านั้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ต้องการทำลาย “ความเป็นไทย” ดังที่จะเห็นว่าคำตอบโต้ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ยังคงใช้ฐานคิดของ ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น คนไทยด้วยกันทำไมต้องฆ่ากันเช่นนี้ หรือในขณะที่มวลชนนินทาชนชั้นนำอยู่ แต่ข้างบนเวทีก็ยังคงแสดงการยอมรับอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอยู่ แม้ว่าคนบนเวทีจะอ้างว่าเป็นการเสแสร้ง แต่การที่พวกเขาต้องเสแสร้งเช่นนั้นก็เพราะรู้ดีว่าการนินทาของคนที่อยู่ ข้างล่างเวทีไม่ได้แสดงถึงความสุกงอมทางความคิดเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ให้ได้ตามใจตนเอง

สภาวะคู่ขนานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน สังคมไทยเช่นนี้ แตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างความคิดหลักในสังคมอื่นๆ เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ด้านหนึ่งก็ยอมรับที่จะอยู่ร่วมในสังคมนี้ ต่อไป ไม่ได้ต้องการที่จะสร้าง/แยกออกไปสร้างสังคมใหม่ คนส่วนใหญ่ก็ยังยอมรับในระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งก็หมายความว่าไม่ได้ต้องการหมุนสังคมทุกนิยมไทยไปสู่สังคมที่มีการจัด ระบอบกรรมสิทธิ์แบบอื่นๆ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการนินทาชนชั้นนำจะขยายตัวสะพรั่งมากขึ้นกว่าเดิมมากนั้น หากตามไปฟังวงการนินทาแล้ว ก็จะพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคม ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางที่อยู่อีกฝั่งการเมืองหนึ่งเคยทำมาก่อนหน้านี้ (แน่นอนว่า ในปีกซ้ายสุดย่อมแตกต่างออกไป แต่ผมหมายถึงคนส่วนใหญ่) กลุ่มชนชั้นกลางกลับทำเป็นลืมพฤติกรรมการนินทาที่ตนเองเคยทำมาอย่างเมามันไปเสีย

การต่อสู้ทางการเมืองในวันนี้จึงเป็นการต่อสู้ เพื่อจะช่วงชิงการนิยามความหมายความเป็นไทยให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึก นึกคิดของกลุ่มตน

ดังนั้น หากเรามาร่วมกันสร้างคำนิยาม “ความเป็นไทย” ให้กว้างพอที่จะรับความคิดทุกคนได้และพยายามทำให้ความหมายของความเป็นไทยที่ นิยามขึ้นใหม่นั้นสามารถกำกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดคนได้จริงๆ การต่อสู้ทางการเมืองก็จะหันเหเข้าสู่ระบบที่ไม่ต้องรบและฆ่ากันอีก

ผมเสนอว่าเราควรจะนิยาม “ความเป็นไทย” ว่าเป็นความรักใน “ความยุติธรรมและเสมอภาคภาค” ซึ่งก็จะสอดคล้องและกว้างขวางพอที่จะรองรับความรู้สึกนึกคิดของคนทุกกลุ่มใน สังคมไทยได้

หากความรักใน “ยุติธรรมและเสมอภาค” ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ “ความเป็นไท” (ไม่มี ย.ยักษ์) และกลายมาเป็นหลักใน “ความเป็นไทย” ได้ เราทั้งหมดก็จะได้เข้ามาร่วมกันค่อยๆ ประคองสังคมไทยให้เดินไปสู่ความยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้น ชนชั้นนำไทยก็จะสามารถหันกลับปรับตัวเข้ามาสู่ความเป็นไทยได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งป้อมทำลายล้างกัน คนกลุ่มใหม่ก็จะเป็นพลังหลักในการสร้างสังคมเสมอภาคและยุติธรรม

ผมเสนอเช่นนี้ ก็เพราะคิดว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นโดยปราศจากรากฐานทางประวัติ ศาสตร์ และไม่เคยมีความพยายามยับยั้งความเปลี่ยนแปลงหรือแช่แข็งสังคมประสบความ สำเร็จได้ในประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา หากเราสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเงื่อนไขให้คนแต่ละกลุ่มในสังคมยึดเอาไว้ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้อย่างสันติที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ลองทำครับ

กรุงเทพธุรกิจ, วันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

—————————————-

ประวัติ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หนึ่งในผู้ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากประเทศญี่ปุ่น
จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย