Archive

Posts Tagged ‘ไสว บุญมา’

คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ, คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ by ไสว บุญมา

7 January 2011 Leave a comment

คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบ, คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ by ไสว บุญมา

ดร.ไสว บุญมา

หลังขึ้นเถลิงอำนาจไม่นาน รัฐบาลปัจจุบันก็ต่อยอดโครงการของรัฐบาลก่อนๆ ซึ่งรัฐมนตรีบางคนได้เคยประณามในยุคที่ตนเป็นฝ่ายค้านว่า “ประชานิยม” โดยเปลี่ยนชื่อบางโครงการเสียบ้าง หรือไม่ก็อ้างว่าเพื่อช่วยประชาชนในยามเศรษฐกิจถดถอย ในตอนนั้น ผมได้ทบทวนสิ่งที่ผมเขียนไว้ในหลายโอกาสว่าไม่น่าแปลกใจ ทั้งนี้ เพราะนโยบายประชานิยมเปรียบเสมือนยาเสพติด เมื่อเริ่มแล้วเลิกยาก นอกจากนั้น มันจะเข้มข้นขึ้น เนื่องจากพรรคการเมืองต่างจะหวังซื้อเสียงด้วยการแย่งกันเสนอนโยบายที่นับ วันจะยิ่งขยายออกไปครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ให้กว้างยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ณ วันนี้ เหตุการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ผมเขียนไว้นั้นเป็นจริง

แม้ในขณะนี้ จะยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้งครั้งหน้า แต่พรรคการเมืองต่างคาดเดาเหมือนกันว่าคงอีกไม่นาน รัฐบาลซึ่งถือไพ่อยู่ในมือและรอเวลาที่ตนเห็นว่าจะได้เปรียบสูงสุด จึงจะประกาศยุบสภาก็ออกมาประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนพรรคใหญ่ทางฝ่ายค้านก็ไม่ยอมน้อยหน้า จึงออกมาขยายนโยบายประชานิยมที่พวกตนเคยทำไว้เมื่อสมัยยังเรืองอำนาจ ความแตกต่างระหว่างสองฝ่าย คือ รัฐบาลพยายามสรรหาคำแปลกใหม่มาใช้เรียกโครงการเหล่านั้น ส่วนฝ่ายค้านยอมรับว่าประชานิยมเป็นแนวนโยบายสำคัญของตน และจะเพิ่มความเข้มข้นหากตนได้กลับมาเรืองอำนาจอีก มองจากแง่นี้ ฝ่ายค้านดีกว่าเพราะไม่พยายามตบตาประชาชนด้วยการเล่นคำ

ขอเรียนว่าที่เขียนเช่นนี้ผมไม่ได้สนับสนุนแนว นโยบายที่พรรคใหญ่ฝ่ายค้านแถลงออกมา ตรงข้ามผมขอย้ำจุดยืนที่ว่า ถ้านักการเมืองกลุ่มนี้กลับมามีอำนาจแล้วเสริมนโยบายประชานิยมให้เข้มข้นดัง ที่ตนเสนอไว้พร้อมกับทำความฉ้อฉลทางนโยบายที่เคยทำไว้ในอดีต จนเป็นที่ประจักษ์ ในวันหนึ่งข้างหน้าเศรษฐกิจจะติดหล่ม ทั้งนี้ เพราะเงินที่จะใช้เพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานและการลงทุนจะถูกใช้หมดไปกับ การสนับสนุนนโยบายเลวร้ายนั้นบ้างและถูกสูบออกไปใส่กระเป๋านักการเมืองและญาติ มิตรบ้าง ซึ่งรวมกันเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากแนวนโยบายไม่ถูกปรับเปลี่ยนแบบกลับลำ ความล้มละลายเช่นเดียวกับบางประเทศในละตินอเมริกาก็จะมาเยือน

ขอเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า ความล้มละลายในอาร์เจนตินาเกิดขึ้นหลัง 40 ปีจากวันที่เริ่มใช้นโยบายประชานิยม เมืองไทยเพิ่งนำมาใช้ไม่ถึง 10 ปี จึงยังมีเวลาสำหรับกลับลำ การกลับลำจะทำได้ง่ายขึ้นหากวินัยทางเงินการคลังยังไม่สั่นคลอน แต่ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าวินัยในด้านนี้ซึ่งเมืองไทยเคยมีอย่างเหนียวแน่นจะยัง ไม่สั่นคลอนอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไร ทั้งนี้ เพราะการเมืองดูจะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของระบบราชการและหน่วยงานอิสระมาก ขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้น รัฐบาลปัจจุบันดูจะพยายามลดการต่อต้านจากบรรดาข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ พร้อมกันไปด้วยโดยการขึ้นเงินเดือนให้ในช่วงนี้ ทั้งที่ยังไม่ควรมีการขึ้นเงินเดือน ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลยังขาดดุลงบประมาณสูงมาก หรือถ้ามองจากด้านการกระตุ้นการใช้จ่ายก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำต่อไป ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวจากการถดถอยแล้ว เมื่อเอ่ยถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ต้องพูดถึงการต่ออายุโครงการประชานิยม ต่างๆ รวมทั้งค่าน้ำค่าไฟและค่าโดยสารรถประจำทางที่รัฐบาลเคยอ้างว่าเพื่อช่วย ประชาชนยามเศรษฐกิจถดถอย การต่ออายุโครงการเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่รัฐบาลก็ยังทำเพราะหวังผลทางการเมือง

การชูนโยบายประชานิยมของนักการเมืองเพื่อหวัง ซื้อเสียงทางอ้อมนั้น พอเข้าใจได้ สิ่งที่ยากแก่การเข้าใจ คือ เรื่องนักวิชาการออกมาสนับสนุนนโยบายเหล่านั้น แบบไม่อายผีสางเทวดาโดยอ้างว่าประชาชนได้ประโยชน์บ้าง มันเป็นของเปล่าบ้าง หรือประเทศอื่นโดยเฉพาะในแถบสแกนดิเนเวียก็ทำบ้าง จริงอยู่ ประชาชนได้ประโยชน์ แต่โทษที่จะตามมากลับไม่พูดถึงกันไม่ว่าจะเป็นในด้านงบประมาณหรือด้านปลูก ฝังสันดานแบมือขอ ไม่ทราบว่านักวิชาการเหล่านั้นเรียนมาจากสำนักไหนจึงฝังใจว่าโลกนี้มีของ เปล่า ของเปล่าไม่มีเป็นสัจธรรม ผู้ได้ประโยชน์ไม่จ่ายผู้อื่นก็ต้องจ่าย ส่วนนโยบายด้านสวัสดิการของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนั้นทำได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากปัจจัยสำคัญสองด้าน คือ คนของเขามีรายได้สูงกว่าคนไทยราว 10 เท่า และเขาจ่ายภาษีสูงมากถึงราวครึ่งหนึ่งของรายได้ ส่วนคนไทยจ่ายแค่ 17% แม้จะมีรายได้และจ่ายภาษีสูงขนาดนั้น โครงการสวัสดิการของเขาก็เริ่มประสบปัญหาเพราะสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่ม ขึ้น การหมกเม็ดความจริงของนักวิชาการนับเป็นการขาดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง

คงเพราะการสนับสนุนของนักวิชาการ รัฐบาลนี้จึงมีคำใหม่ๆ ออกมา อาทิเช่น เรียกประชานิยมว่าประชาวิวัฒน์ พวกเขาคงไม่ได้คิดว่าการเรียกอุตพิดว่ากระดังงานั้นจะไม่มีวันเปลี่ยนกลิ่น ของมันได้ นอกจากนั้น พวกเขายังคิดคำขวัญใหม่ๆ ออกมา อาทิเช่น “คิดนอกกฎ-บริหารนอกกรอบ” การทำเช่นนี้ยังผลให้นักการเมืองและนักวิชาการในรัฐบาลปัจจุบันไม่ต่างกับคน ในรัฐบาลที่นำประชานิยมเข้ามาใช้ในเมืองไทย ในสมัยนั้น เขาใช้คำขวัญว่า “คิดใหม่-ทำใหม่” ซึ่งผมได้วิจารณ์ว่าเป็นการ “สุกเอา-เผากิน” และเมื่อมองจากฐานทางวิชาการที่หัวหน้ารัฐบาลในยุคนั้นชอบอวดอ้างด้วยแล้ว มันเป็นการ “คิดนอกคอก-ทำนอกคัมภีร์” โดยสิ้นเชิง

การวิจารณ์รัฐบาลผ่านหนังสือขายดีของผมชื่อ “คิดนอกคอก-ทำนอกคัมภีร์” มีผลทำให้ลิ่วล้อของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นปิดกั้นหนังสือเล่มต่อมาของผม เรื่อง “สู่จุดจบ!” หวังว่า ณ วันนี้ นายกรัฐมนตรีคงไม่มีลิ่วล้อทรามๆ ถึงขนาดนั้นเนื่องจากการปิดกั้นการวิจารณ์ คือ การนำประเทศลงเหวเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีลิ่วล้อทรามๆ แต่ถ้ายังไม่หยุด หรือกลับลำเรื่องนโยบายประชานิยม สังคมไทยก็จะเดินเข้าสู่จุดจบด้วยความล้มละลายเช่นเดียวกับบางประเทศในละตินอเมริกา ในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน

กรุงเทพธุรกิจ, 7 มกราคม 2554