Archive

Archive for January, 2008

End Of The Council for National Security (CNS)

22 January 2008 2 comments

End Of The Council for National Security (CNS)
ไปซะได้ก็ดีครับ คมช. ลาแล้วลาลับ อย่ากลับมา

ผมเชื่อว่า การรัฐประหาร ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุอะไรเลย
แถมจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ไม่อยากจะหัวเราะเยาะนะครับ
หลายๆคนที่ชื่นชมเชิดชูกันนัก กับ 19 กันยา
ถึงขนาดนำดอกไม้และอาหารไปให้ทหาร
หรือไปถ่ายรูปกับรถถัง เป็นที่สนุกสนาน

ตอนนี้หายไปไหนกันหมดแล้วครับ

ใครที่คิดไม่ตรงกับคุณในตอนนั้น
ก็ไล่ให้ไปเป็นฝ่ายคุณทักษิณซะหมด
ทั้งที่มีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยืนอยู่ตรงจุดยืนที่ว่า
ไม่ชอบคุณทักษิณ และต่อต้านการรัฐประหาร

ชอบถามกันนัก ว่าถ้าไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาทหาร จะทำอย่างไร
ผมว่าลองตอบตัวเองกันดีกว่า
ว่าพอเอาทหาร แล้วเหตุการณ์เป็นแบบนี้
พวกคุณได้บทเรียนอะไรกันบ้างไหม

แล้วจะพอหรือยัง
กับการคาดหวังว่า อำนาจพิเศษ หรือกลุ่มบุคคลพิเศษ
จะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้ได้

ของแบบนี้
ต้องเริ่มกันเอง ทำกันเองครับ
ประชาชน คนธรรมดาทั่วๆไปนี่แหละ
ที่จะเป็นคนเปลี่ยนแปลง

เชื่อและศรัทธาความเป็นมนุษย์ของตัวเองและผู้อื่นกันบ้าง
ของ่ายๆแค่นี้ เมื่อไหร่จะมีกันบ้างครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

http://www.nationmultimedia.com/2008/01/23/politics/politics_30063129.php
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000009136

Categories: News and politics

8 วิธีในการควบคุม ‘เงิน’ ของคุณ

10 January 2008 2 comments

8 วิธีในการควบคุม ‘เงิน’ ของคุณ

8 Ways to Take Control of Your Money

1 ตรวจสอบเงินทุกบาท – Track every Baht you spend

ใช่ครับ ไม่ว่ามันจะเป็นเงินเล็กน้อยแค่ไหน คุณต้องรู้ว่ามันรั่วไหลไปที่ไหนบ้าง ไม่งั้นคุณจะควบคุมมันได้อย่างไร
วิธีง่ายๆคือ ต้องเริ่มทำบัญชีครับ บัญชีรายรับรายจ่ายนี่แหละ
บริษัทใหญ่ๆ ยังต้องมีบัญชีเลย แล้วในฐานะปัจเจกบุคคล เราจะไม่มีบัญชีเพื่อดูสถานะตัวเองได้อย่างไรหล่ะครับ

2 ตั้งงบประมาณ – Develop a budget

ถ้าคุณไม่เคยทำ ก็ต้องลองทำดูครับ การตั้งงบประมาณเป็นวิธีที่จะทำให้คุณกำหนดได้อย่างชัดเจนว่า คุณจะใช้เงินเพื่อส่วนไหนเท่าไหร่อย่างไร
หลังจากทำบัญชีแล้ว คุณจะสามารถตั้งงบประมาณและควบคุมการใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้นครับ

3 เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน – Start an emergency fund

ตรงส่วนนี้ คุณจะไม่รู้หรอกว่ามันจะจำเป็น จนกว่ามันจะมีเหตุจำเป็น
ดังนั้น คุณควรจะมีเงินสำรองก้อนนึงไว้ต่างหาก เผื่อเหตุฉุกเฉินจริงๆ ที่ไม่มีใครสามารถช่วยคุณได้
เช่น ออกจากงาน เกิดอุบัติเหตุทำให้ไปทำงานไม่ได้ เป็นต้น

4 ออกจากการเป็นหนี้ – Get out of debt

ถึงแม้ว่าหนี้มีทั้งหนี้ที่ดี และหนี้ที่เลว
แต่สำหรับการเงินส่วนบุคคล กรณีที่เป็นหนี้ที่เลว หรือเป็นหนี้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัว ควรจะต้องวางแผนให้ปลดหนี้
ถ้าคุณติดหนี้เยอะจริงๆ เช่น บัตรเครดิต ผมคิดว่าถึงเวลาที่คุณอาจจะต้องไปติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตร เพื่อหาลู่ทางในการจัดการกับหนี้ก้อนนี้ให้ได้

5 เปิดบัญชีสำหรับเกษียณอายุ – Open a retirement account

อย่าฝากความหวังไว้กับกองทุนต่างๆ ที่รัฐบาลบังคับให้ต้องจ่ายเงินเข้าทุกๆเดือน
ไม่มีใครสามารถวางแผนเกษียณแทนเราได้
ไม่ว่าตอนนี้จะอายุเท่าไหร่ ถ้ายังไม่ได้วางแผนเกษียณ
ต้นปีนี้ ลองวางแผนเกษียณดูครับ
เปิดบัญชีธนาคาร แล้วฝากเงินสม่ำเสมอเข้าไปทุกเดือน ก่อนจะมองหาลู่ทางลงทุนอย่างอื่น เป็นวิธีง่ายๆสำหรับเริ่มต้นครับ

6 ใช้จ่ายให้น้อยกว่ารายได้ – Spend less than you earn

เป็นวิธีที่ใครๆก็รู้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำ
ตราบเท่าที่คุณก่อหนี้ โดยการใช้จ่ายมากกว่าที่หามาได้
คุณจะไม่สามารถควบคุมเงินของคุณได้
แต่เป็นเจ้าหนี้ ที่เข้ามาควบคุมเงินของคุณ

7 ใช้บริการอัตโนมัติ – Automate your finances

เดี๋ยวนี้พวกค่าสาธารณูปโภคต่างๆ สามารถตั้งชำระให้หักบัญชีธนาคารได้แล้ว
ถ้าคุณเป็นคนขี้เกียจหรือชอบลืมดูใบเรียกชำระหนี้
การตั้งชำระหนี้ใบเสร็จพวกนี้แบบอัตโนมัติ
จะทำให้เงินของคุณอยู่เป็นที่เป็นทางมากขึ้น
ไม่ต้องเสียค่าปรับหรือดอกเบี้ยจากการชำระเงินช้ากว่ากำหนดอีกด้วย

8 ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม – Educate yourself

ความรู้ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น ความเข้าใจที่มากขึ้นทำให้ความเสี่ยงน้อยลง
ถ้าคุณคิดว่าเรื่องทางการเงินหรือการลงทุนเป็นเรื่องที่เสี่ยง
นั่นเป็นเพราะคุณยังไม่มีความเข้าใจนี่เอง
เมื่อเป็นแบบนี้ คุณก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น
ไม่ว่าจะจากหนังสือ หรือคอร์สสัมมนาทางการเงินต่างๆ
ผมรับรองได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้เรื่องทางการเงินครับ

สุดท้าย

ผมเชื่อว่านี่เป็น 8 วิธีง่ายๆ ที่ใครๆก็ทำได้ ถ้าอยากทำจริงๆ …
เมื่อเราสามารถควบคุมเงินของเราได้ อะไรๆในชีวิตก็ง่ายขึ้น
การแก้ปัญหาและการควบคุมเงินอย่างเป็นระบบ สามารถเอาไปปรับใช้กับเรื่องต่างๆ และเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตได้มากมาย
ดังนั้น ถ้า 8 วิธีนี้ ใครยังไม่เคยทำ ลองทำดูครับ
แล้วจะรู้ว่า เรื่องเงิน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

Categories: Economics & Finance

PTT, Gas Pipe, Electricity Price & Taksin

3 January 2008 Leave a comment

PTT, Gas Pipe, Electricity Price & Taksin

ปตท., ท่อก๊าซ, ค่าไฟ และ รัฐบาลทักษิณ

ชำแหละ กำไรจากการผูกขาดของ ปตท.

ปตท.มีธุรกิจหลายด้านทั้งน้ำมัน ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ แต่ถ้าดูจากกำไรของปตท. แยกตามธุรกิจ ตัวเลขปี 2547 จะเห็นได้ว่า ปตท.ได้กำไรจากน้ำมัน การกลั่น ปิโตรเคมี 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ได้จากการสำรวจและผลิต ซึ่ง 90% เป็นก๊าซ 27,000 ล้านบาท ได้จากก๊าซ 32,000 ล้านบาท สองส่วนหลังนี้เองที่มาจากธุรกิจผูกขาด ซึ่ง เป็นอำนาจผูกขาดที่มีมา ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐวิสาหกิจ ก่อนแปรรูปเป็นบริษัทเข้าตลาดหุ้น ใน พ.ศ.2544 ต่อเนื่องยาวนาน จวบจนปัจจุบัน

1 การจัดหาและจำหน่ายก๊าซ

ใน ปัจจุบัน บมจ.ปตท.คิดค่าตอบแทนในการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ (margin) หรือ "ค่าหัวคิว" ในฐานะที่เป็นพ่อค้าคนกลางผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซ และผูกขาดการจำหน่ายให้ผู้ใช้ก๊าซ โดยบวก "ค่าหัวคิว" ในอัตราร้อยละ 1.75-9.33% ของราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ย ดังนั้นหากผู้ใช้ก๊าซและผู้ขุดเจาะก๊าซสามารถ ซื้อขายตรงได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าหัวคิวซึ่งจะทำให้ลดต้นทุน ค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท

2 การเลือกปฏิบัติในการขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซของ ปตท.ในราคาถูก ในขณะที่ขายให้โรงไฟฟ้าในราคาแพง

แต่ เดิมโรงแยกก๊าซจะ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในฐานะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ปัจจุบัน ปตท.เป็นบริษัทเอกชน ธุรกิจโรงแยกก๊าซของ ปตท.ไม่สมควรที่จะได้ รับการสนับสนุนให้มีอภิสิทธิ์ในการใช้ก๊าซ ราคาถูกกว่าผู้ใช้ก๊าซอื่น (โดยเฉพาะ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นผู้ใช้ก๊าซรายใหญ่ที่สุดของประเทศ) อีกต่อไป ปตท.ขายก๊าซให้โรงแยกก๊าซจำนวน 5 โรงของตัวเองในราคาประมาณ 150 บาท (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) ในขณะที่ขาย ให้ กฟผ.ในราคา 180 บาท (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) กลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าส่วนเกินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องร่วมกันแบกรับโรง แยกก๊าซของ ปตท. ไม่ได้แค่ผลิตก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งออกนอกประเทศทำกำไรให้กับบริษัท ปตท.ได้สูงถึง 15,000 ล้านบาท/ปี (สูงกว่ากำไรจากท่อก๊าซ ทั้งๆ ที่วงเงินลงทุนต่ำกว่าหลายเท่าตัว)

3 การเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.สผ. บริษัทลูก ปตท. โดยการรับซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่าก๊าซที่รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซรายอื่นๆ

ปตท. สผ.เป็นบริษัทลูก ปตท. แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นคู่สัญญารายใหญ่ขายก๊าซให้ ปตท.ซึ่งเป็น ผู้ผูกขาดการจัดหาก๊าซ ปตท.แทนที่จะทำหน้าที่เจรจาราคาสัญญาซื้อขายก๊าซให้มีความเป็นธรรม กลับมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะ ปตท.สผ. ยิ่งกำไรมาก (จากการขายก๊าซแพง) ปตท.ก็ได้รับผลพลอยได้จากกำไรของ ปตท.สผ.ที่ตนถือหุ้น อยู่ถึง 66.4% ส่วนภาระค่าก๊าซราคาแพง ปตท. ก็เพียงแค่ส่งผ่านต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซ (และผู้ใช้ไฟ ในที่สุด) แถมยังบวกค่าหัวคิวเพื่อฟันกำไรอีกต่อ ด้วย ผลที่ปรากฏก็คือ ก๊าซที่ ปตท.ซื้อจากแหล่งใน อ่าวไทยที่ ปตท.สผ.ร่วมทุนมีราคาแพงกว่า แหล่งอื่นๆ ถึง 28% และก๊าซที่ซื้อจากแหล่งในพม่า ที่ ปตท.สผ.ร่วมทุนมีราคาแพงกว่าแหล่งอื่นๆ ถึง 72%) ส่งผลให้ ปตท.สผ.มีกำไรถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และเพิ่มสูงขึ้นตามราคา น้ำมันโลกที่สูงขึ้น โดยรายได้กว่า 90% ของ ปตท.สผ.มาจากการหากำไรจากคนไทย

ค่าไฟฟ้าราคาแพงมาจากไหน และจะลดราคาได้หรือไม่

นอกจาก ปตท.จะมีอำนาจผูกขาดมากมายในธุรกิจก๊าซธรรมชาติแล้ว "กำไรผูกขาด" อีกส่วนหนึ่งของ ปตท.ยังมาจาก "ค่าผ่านท่อ" (ค่าให้บริการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ) ซึ่งคำนวณจากฐานอัตราผลตอบแทนการลงทุนในการวางท่อส่งก๊าซซึ่ง ปตท.ได้รับการันตีโดยมติ ครม.สมัยรัฐบาลทักษิณ สูงถึง 16-18% เนื่อง จากก๊าซธรรมชาติกว่า 70% ในแต่ละปี จะถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้า อำนาจผูกขาดของ ปตท.โดยเฉพาะในรูป "ค่าหัวคิว" และ "ค่าผ่านท่อ" จึงส่งผลให้ ปตท.มีรายได้มหาศาล และส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศใช้ไฟฟ้า แพงเกินเหตุ

ค่าไฟ 100 หน่วยในส่วนของการผลิตไฟฟ้ามีขั้นตอนมากมาย การจัดหาไฟฟ้า การจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า จากนั้นก็เป็นธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้า สร้างเขื่อน สร้างสายส่งไฟฟ้า กระจายมายังสถานีจ่ายไฟไปตามบ้านเรือน จากนั้นก็เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างการจดมิเตอร์ นี่คือภาพของธุรกิจไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งมีขั้นตอนค่อนข้างมาก แต่ว่าเงินมันมากระจุกตัวอยู่ที่ ปตท.เกือบทั้งหมด ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ คือ 100 หน่วยของค่าไฟที่ประชาชนจ่าย มาเข้ากระเป๋า ปตท.43 หน่วย ในขณะที่ กฟผ.ได้รับเพียงประมาณ 27 หน่วยเท่านั้น นี่ตัวเลขปี 2545 นะ ก่อนราคาก๊าซราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นตัวเลขปัจจุบันต้องสูงกว่านี้ นี่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.กับไฟฟ้า ค่อนข้างชัดเจนว่ากำไรมหาศาลของ ปตท.ของปีนี้เฉียดๆ แสนล้าน ไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้าน มันมาจากผู้ใช้ไฟค่อนข้างมาก

กฟผ.เป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ แทบจะเป็นผู้รับซื้อรายเดียว แต่กลับไม่มีอำนาจต่อรองเลย ปล่อยให้ ปตท.กำหนดราคา แค่นั้นยังไม่พอ ยังต้องจ่ายค่าหัวคิว หรือที่เรียกว่าค่าตอบแทนมาร์จิ้นให้กับ ปตท.

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน กรณีโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งของ กฟผ. โรงไฟฟ้าน้ำพอง มีความต้องการใช้ก๊าซ เพราะก๊าซไม่ค่อยพอ มีอีกแหล่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ก็คือที่พูฮ่อม ปรากฏว่าคนที่รับสัมปทาน ณ ปัจจุบันก็คือบริษัทอะเมอริดาเฮทของอเมริกา กฟผ.ต้องการซื้อก๊าซโดยตรงและมันก็อยู่ใกล้ๆ กัน แต่ กฟผ.ไม่สามารถซื้อตรงได้ ต้องให้ ปตท.เป็นคนรับซื้อจากอะเมอริดาเฮทเพื่อที่มาขายให้ กฟผ.อีกทีหนึ่ง ซึ่งการขายนี่ก็ต้องบวกค่าหัวคิวด้วย นี่มันแสดงให้เห็นว่าอำนาจผูกขาดให้อะไรกับ ปตท.

กรณีโรงไฟฟ้าน้ำพองกับพูฮ่อมนี่ชัด ว่าอำนาจผูกขาดทำให้เพิ่มต้นทุนแก่ผู้บริโภค ถ้า กฟผ.สามารถเจรจาโดยตรงกับผู้ขุดเจาะก๊าซ การเจรจาอาจจะมีความเข้มข้น หรืออาจจะเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นก็ได้

ถ้ารัฐจัดการกับ "กำไรผูกขาด" ทั้งหมดของ ปตท.ที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ก็น่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้ 13,000-14,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นส่วนลดค่าไฟ 9.30-10 สตางค์ต่อหน่วย

รัฐบาลทักษิณ คำสัญญา และท่อก๊าซ

ที่จริงก่อนจะเอาปตท.เข้าตลาดหุ้น รัฐบาลทักษิณก็กำหนดไว้แล้วว่าจะแยกท่อก๊าซออกมาจาก ปตท. แต่กลับทำเป็นลืมหน้าตาเฉย

มติ ครม. ตั้งแต่ช่วงการขายหุ้น ปตท.ปี 2544 รัฐบาลมีคำมั่นสัญญาต่อผู้บริโภคว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาเพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ไม่ต้องซื้อก๊าซจาก ปตท.รายเดียว อาจจะซื้อจากแชฟรอน จากยูโนแคล อำนาจต่อรองจะมีมากขึ้น รัฐบาลได้กำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ออกมาแล้วด้วย แต่สัญญาที่ให้ไว้กลับไม่มีการดำเนินการ กำหนดเงื่อนเวลาว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการดำเนินการ ทั้งที่เขียนไว้เรียบร้อยในหนังสือชี้ชวน และมีมติ ครม.รองรับด้วย

มันชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สัญญาไว้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคกลับไม่ได้ทำ ขณะที่บางสิ่งบางอย่างที่สัญญาไว้กับนักลงทุน ทั้งๆ ที่ไม่ควรกลับยึดมั่นถือมั่นมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการกำหนดผลตอบแทนการลงทุน ว่าในการลงทุนสร้างท่อก๊าซของ ปตท.จะประกันกำไรผลตอบแทนที่ระดับ 16-18 เปอร์เซ็นต์ ท่อเก่าประกันไว้ที่ 18 ท่อใหม่ 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ประกันไว้ 16 เปอร์เซ็นต์เพราะตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ปี 2542-2543 แล้วก็ยึดเอาอันนั้นมาเป็นหลักประกันในหนังสือชี้ชวน พอตอนหลังมีการเสนอแผนการลงทุนท่อเส้นที่ 3 ช่วงปี 2546 ช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงค่อนข้างมากเหลือแค่ 5.75 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่าที่เคยประกันไว้ 16 เปอร์เซ็นต์ บนฐานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่า กลับไม่ทบทวนเลยนะ รัฐบาลยึดเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือชี้ชวนเป็นสรณะ

กรณี ปตท.ยังมีที่ให้คำสัญญาไว้ว่าจะทำแต่ไม่ได้ทำ ก็คือการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำเป็นมาตรฐานสากล แต่ของรัฐบาลไทยไม่ได้ทำให้เรียบร้อย ท้ายสุดก็เลยไม่ได้ทำ ตอนแรกบอกว่าจะจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลที่มี พ.ร.บ.รองรับ เพื่อมาเป็นตัวถ่วงดุลระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค แต่พอแปรรูปเสร็จก็ฉีกกฎหมายทิ้ง มีมติยกเลิก พ.ร.บ.ตัวนี้ หลังจากมีการเรียกร้องให้จัดทำ พ.ร.บ.กิจการไฟฟ้า ก็ทำเฉพาะไฟฟ้า ในส่วนของก๊าซธรรมชาติก็ตัดออกเลย เดิมตอนแปรรูปมันมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ แต่มาตอนนี้รัฐไม่มีคำตอบเลยว่า เหตุใดจึงยกเลิกแผนการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลสำหรับสาขาก๊าซธรรมชาติ

ตอนแปรรูปครั้งแรกปี 2544 มีการให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐจะถือหุ้นในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นแปรออกไป 30 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากนั้นก็ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐเหลือเพียง 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้ก็เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่ต้องมีมติอะไร คลังสามารถขายได้ในฐานะผู้ถือหุ้น โดยขายผ่านกองทุนวายุภักษ์เป็นล็อตใหญ่ คลังขายให้กองทุนวายุภักษ์แล้วได้มาเป็นเงินสด กองทุนวายุภักษ์ก็ขายต่อให้ผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย ที่เล็งไว้กับ กฟผ.ก็อาจจะคล้ายๆ กัน อาจจะมีกองทุนวายุภักษ์ 2 ตั้งขึ้นเพื่อมาจำนำหุ้นในลักษณะนี้ แล้วนำเงินมาใช้ในนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อ ปตท. ไม่ได้ผูกขาดท่อก๊าซ

ถ้าแยกท่อก๊าซออก กฟผ.ก็สามารถเจรจาตรงกับผู้รับสัมปทานรายอื่น ปตท.ก็ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้บริการการขนส่งก๊าซผ่านท่อ เปรียบเหมือนถนนก็เปิดฟรี ใครใช้ก็ได้ แค่เก็บค่าผ่านทาง ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดว่าจะเลือกใครให้ใช้บริการ

ท่อก๊าซใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐในการเวนคืน ลิดรอนสิทธิเพื่อสร้างท่อ แต่แทนที่จะถูกใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ กลายเป็นว่าใช้เพื่อประโยชน์ของธุรกิจปตท.แต่เพียงผู้เดียว ถ้ามีการปลดล็อกตรงนี้ได้ก็จะทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติน่าจะถูกลง เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าหัวคิว

ณ ปัจจุบัน ผู้ใดก็ตามถ้าจะมาใช้ท่อก๊าซของ ปตท.จะต้องขายให้กับ ปตท.แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ปตท.ก็จะรับซื้อมาแล้วมาบวกมาร์จิ้น แล้วก็มาขายต่อ ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็คือ กฟผ. กลายเป็นว่าต้นทุนมาเท่าไหร่ก็บวกเพิ่มๆ ปตท.ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะต่อราคาให้ถูกลง เพราะมาร์จิ้นกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาปากหลุม ธุรกิจมันเป็นไปในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.อย่างเดียว ไม่ได้ออกมาเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

มันผูกขาดทั้งตอนซื้อและตอนขาย ไม่ว่าจะยูโนแคลหรือจะใครก็ตามที่ขุดมาต้องขาย ปตท.เท่านั้น แล้ว กฟผ.หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นที่ต้องการใช้ก๊าซ ก็ไม่สามารถซื้อจากใครได้นอกจาก ปตท. เขาทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ก็เหมือนลอตเตอรี่ ถ้ามีพ่อค้ากลางที่สามารถกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายได้ เราก็ไม่สามารถซื้อลอตเตอรี่ได้ในราคา 40 บาท ปตท.ก็ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง

บทส่งท้าย

ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชน ควรร่วมกันกดดันให้รัฐบาลเคารพในเจตนารมณ์ของศาล สวมหมวก "ผู้ดูแลประโยชน์ประชาชน" แทนที่หมวก "นักลงทุนรายใหญ่" เพื่อกำจัด "กำไรผูกขาด" ของ ปตท.และนำกำไรส่วนนี้ มาลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

"ประโยชน์ของประชาชน" ย่อมสำคัญกว่า "ผลกระทบต่อตลาดหุ้น" และถ้าทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้องร่วมกันอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจว่า ปตท.มี "กำไรผูกขาด" โดยไม่ชอบธรรมอย่างไร นักลงทุนทุกสัญชาติก็ย่อมรับได้ เพราะรัฐบาลของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย ล้วนกำกับดูแล "สาธารณสมบัติ" โดยเฉพาะสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศทั้งนั้น

Source
1
http://midnightuniv.org/midnight2545/document95234.html, คุณชื่นชม สง่าราศี กรีเซน, ไทยโพสต์, แทบลอยด์-ไทยโพสต์, 20-26 พ.ย. 2548
2 ประชาชาติธุรกิจ ฉบับที่ 3962 (3162) 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31, ล่องคลื่นโลกาภิวัตร, สฤณี อาชวานันทกุล

Categories: News and politics