Archive

Archive for September, 2009

3 ปี รัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย

14 September 2009 Leave a comment

3 ปี รัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย

เป็นบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 221 ของ Public Law Net (www.pub-law.net)
ที่เขียนโดย ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
เป็นเวปทางด้านกฎหมายที่นับว่าได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของไทย

Public Law Net

บทบรรณาธิการ ครั้งที่ 221

             สำหรับวันจันทร์ที่ 14 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน 2552
           
             "3 ปี รัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย"
           
             วันที่ 19 กันยายนปีนี้ เป็นวันครบรอบ 3 ปีของการทำรัฐประหาร "ครั้งล่าสุด" ในประเทศไทยครับ

             สภาพบ้านเมืองในวันนี้ คงไม่มีใครบอกได้ว่าเราไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว เพราะ "วิกฤต" ต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ แถมยังแตกแขนงออกไปอีกหลายสาขา ดังนั้น ในวันนี้ หลังจากที่ 3 ปีผ่านไป จึงน่าจะถือโอกาสประเมิน "ผลสำเร็จ" ของการกระทำรัฐประหารว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะระยะเวลา3 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำการประเมินได้เนื่องจากพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทุก ๆ ด้านที่เป็นผลพวงอันเกิดมาจากการรัฐประหารย่อมสะท้อนให้เห็นถึง "ผลสำเร็จ" ของการทำรัฐประหารได้ไม่ยากนัก

             ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในวันนั้นแม้เราจะพบว่ามีความขัดแย้งในสังคม แต่ความขัดแย้งดังกล่าวก็มิได้มีความ "รุนแรง" เท่ากับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น คณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ได้แสดงให้เราเห็นภาพของ "ความปรารถนาดี" ที่มีต่อบ้านเมืองและในทางกลับกันก็ได้ "ฉายภาพ" ของความเลวร้ายที่เกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาก็คือการล้มเลิกโครงการหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่ผ่านมา

             รัฐบาลของคณะรัฐประหารพยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ "ดูดี" และ "บริสุทธิ์ผุดผ่อง" แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศไม่ใช่ "ของง่าย ๆ" ที่ใครจะลุกขึ้นมาทำก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่เรามองเห็น "ความล้มเหลว" ในการบริหารประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งในด้านการออกกฎหมายโดย "สนช." ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารด้วย!!! จากความรู้สึกของผมน่าจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ล้มเหลวก็คือ กระบวนการตรวจสอบรัฐบาลที่ผ่านมาที่ทำงานกันอย่างขมักเขม้นและประสานเสียงกันอย่างน่าชื่นชม มีการฉายให้เห็น "ภาพร้าย" ของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกวันจนทำให้บางครั้งอดนึกไม่ได้ว่า ทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาถึงได้ "ร้าย" ขนาดนี้!!! ข่าวต่าง ๆ มีมากมายรายวันจนแทบไม่น่าเชื่อ ยังจำกันได้ไหมว่า 2 – 3 วันหลังการรัฐประหารก็มีข่าวการทุจริตเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งกำลัง จะเปิดให้บริการว่า เกิดการทุจริตกันมากทุกรูปแบบ รันเวย์ร้าวและทรุดจนไม่น่าจะใช้การได้ แถมมีบางคนออกมาให้ข่าวว่าคงเปิดใช้สนามบินไม่ได้อีกแล้วและสมควรเก็บไว้ เป็น "สุสาน" ของอดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมาด้วย!!! ส่วนกระบวนการตรวจสอบอื่น ๆ ก็ดู "น่ากลัว" ทั้งนั้น ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ถูกสังคมประณามว่าทุจริตทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่สร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้กับนักการเมืองในรัฐบาลที่ ผ่านมาจนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียวครับ

             เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐประหารก็สามารถ "เอาใครก็ไม่รู้" มาร่างรัฐธรรมนูญได้ ดู ๆ แล้วไม่น่าเชื่อว่าจะทำอย่างนี้ได้กับกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตัวอย่างดี ๆ มีให้เห็นทั่วโลกก็ไม่เอามาใช้กลับสร้างแบบของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญที่มีมาตรา 309 พ่วงท้ายมาด้วย คงไม่มีที่ใดในโลกนี้อีกแล้วที่ทำอย่างนี้ได้ครับ! ด้วยเหตุนี้เอง "ใครก็ไม่รู้" ที่มาร่างรัฐธรรมนูญที่บางคนก็เข้ามาเพราะ "มีตำแหน่ง" บางคนก็เข้ามาเพราะ "มีพรรคพวก" จึงช่วยกันผลิตรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย "ใหญ่" รัฐบาลหรือแม้กระทั่งผู้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญด้วยบางคนต้องออกมาบอกกับประชาชนก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติว่า "รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง" น่าอายไหมครับกับผลงานที่มีตำหนิ!!

             เมื่อรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกมาใช้บังคับ เกิดการเลือกตั้งขึ้น เกิดปัญหาจากบทบัญญัติที่หลาย ๆ มาตราในรัฐธรรมนูญนำมาซึ่งความวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ในวันนี้ อาจสรุปได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมาก็ว่าได้ ผมจะขอพูดถึงวิกฤตต่าง ๆ เพียง 3 วิกฤตที่ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารอย่างคร่าว ๆ ก็แล้วกันนะครับ

             วิกฤตแรกสำหรับผมก็คงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เราจะพบได้ในชีวิตประจำวันว่า เรามีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกันมากรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มี "หลายมาตรฐาน" ด้วยครับ!! ลองสังเกตดูในช่วงชีวิตประจำวันก็ได้ ทางเท้าสำหรับคนเดินกลายเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซด์และเป็นที่ขายของ บนถนน รถเมล์และรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งตามกฎหมายจะต้องวิ่งชิดขอบทางด้านซ้าย ก็ออกมาวิ่งเผ่นผ่านเต็มพื้นที่ถนนไปหมด สองตัวอย่างนี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทั้งผู้อยู่ใต้กฎหมายและผู้รักษากฎหมายต่างก็ละเลยการบังคับใช้กฎหมายกันไปหมด ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อมีการจับพ่อค้าขายของปลอมแถวพัฒน์พงษ์ เราจึงเห็นภาพการขัดขืนการจับกุมและการบุกชิงของกลางที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างไม่สะทกสะท้านครับ! ส่วนเรื่องเก่า ๆ ที่หลายต่อหลายคนพูดถึงก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันต่อไป การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นความผิดที่ ร้ายแรงจนถึงวันนี้เราก็ยังหาตัวคนทำผิดมาลงโทษไม่ได้ แต่พอมีข่าวการตัดต่อเทปเสียงนายกรัฐมนตรี เพียงไม่กี่ชั่วโมงเราก็ทราบข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีการตัดต่อกี่จุด เอาเสียงเหล่านั้นมาจากไหน แถมยังรู้ไปไกลกว่านั้นอีกว่าทำและเผยแพร่มาจากที่ใดด้วยครับ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คำว่า "สองมาตรฐาน" เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายครับ

             รวมความแล้ว สำหรับวิกฤตของการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่าอยู่คู่กับ ประเทศไทยมาจะครบ 3 ปีแล้ว และก็ยังมองไม่เห็นว่า ณ จุดใด เราจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้อง เป็นธรรมและยุติธรรม ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ ถึงการปกครองในระบบ "นิติรัฐ" ครับ!!

             วิกฤตต่อมา ก็คงหนีไม่พ้นปัญหา "อมตะ" ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยกว่า 50 ปีแล้ว และเรียกได้ว่าเป็น "เหตุใหญ่" ที่ใช้อ้างกันสำหรับการรัฐประหารแทบทุกครั้ง นั่นคือเรื่อง "การทุจริตคอรัปชั่น" ครับ !!! การดำเนินการตรวจสอบของกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐ ประหารและโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้วางมาตรการต่อเนื่องที่เพียงพอในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ เราก็ได้ยินเรื่อง "ปลากระป๋องเน่า" ที่ไม่รู้ว่าวันนี้ตรวจสอบไปถึงไหน ตกลงแล้วมีใครทุจริตหรือไม่ ตามมาด้วยการเช่ารถเมล์ 4,000 คันที่แพงยิ่งกว่าการซื้อหลายเท่าที่ไม่รู้เช่นกันว่าวันนี้ผลการพิจารณาไป ถึงไหน ปิดท้ายด้วยโครงการอภิมหาทุจริตชุมชนพอเพียงที่มีข่าวว่าเกิดการทุจริตจำนวนมากมายหลายโครงการย่อย ที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากและประชาชนก็ได้ "ของไม่ดี" ไปใช้ ที่ในวันนี้ก็เช่นเดียวกันที่เรื่องเงียบหายไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่า 3 ตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังนี้เขาเรียกว่า "การทุจริต" หรือไม่ครับ เพราะถ้าใช่ ก็คือการเอาเงินของประเทศชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่น่าจะต้อง "ลากคอ" คนทำผิดมาลงโทษ เช่นเดียวกับการที่เรา "สะใจ" กับการลงโทษอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ผ่านมาในข้อกล่าวหาเดียวกันนะครับ นอกเหนือจากการทุจริตที่เป็นตัวเงินและทรัพย์สินที่ กล่าวไปแล้ว วันนี้เราก็ยังคงพบการทุจริตรูปแบบดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะรัฐประหารกันกี่ครั้ง ก็ไม่เห็นหมดสิ้นไปเสียที นั่นก็คือการใช้อำนาจเข้าไป "แทรกแซง" ระบบราชการประจำที่บางคนพยายามเรียกว่า "การทุจริตเชิงอำนาจ" ลอง ดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็แล้วกันครับดูมีปัญหาไปหมดตั้งแต่การแต่งตั้ง ที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในกระทรวงอีกบางกระทรวง รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยที่เหมือนในหน่วยงานจะ "ไม่พอใจ" แต่ก็ไม่กล้า "ขัดขืน" ด้วยเกรงว่า หากรัฐบาลอยู่ยาวตนเองจะลำบากครับ

             หากการทุจริตคอรัปชั่นและการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงระบบราชการประจำเป็น "เงื่อนไขหลัก" ที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ก็ขอให้ลองพิจารณาดูเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็แล้วกันนะครับว่า เข้าเงื่อนไขที่จะทำการรัฐประหารแล้วหรือยัง?

             วิกฤตสุดท้าย ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่ควรจะกล่าวถึงไปแล้วตั้งแต่ต้นแต่ก็ นำมากล่าวถึงเป็นวิกฤตสุดท้ายด้วยเหตุที่ว่า น่าจะเกิดปัญหาขึ้นเร็ว ๆ นี้ และปัญหาน่าจะรุนแรงเพราะเป็น "วิกฤตสะสม" ที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยตรงครับ นั่นก็คือวิกฤตรัฐธรรมนูญครับ

             คงจำกันได้ว่า "รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง" เป็นคำพูดที่แม้จะมีคนนำมาอ้างถึงมากแต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้สักครั้ง เพราะว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตา "คัดค้าน" การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ "สาระที่จะขอแก้ไข" เลย คนเหล่านั้นพยายามทำให้ภาพของรัฐธรรมนูญดูเป็นของ "ศักดิ์สิทธิ์" เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ทุกคนต้องให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็น "สัญลักษณ์" ของความเป็นประชาธิปไตย คนเหล่านั้นจึง "คัดค้าน" การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการเสนอขอแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงใด ๆ ทั้งสิ้นครับ

             จริง ๆ แล้ว ผมเองก็เห็นด้วยกับการ "ไม่แก้" รัฐธรรมนูญในช่วงนี้เพราะเมื่อพิจารณาจาก "ข้อเสนอ" ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์แล้วก็ไม่เห็นว่าประชาชนหรือประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรมากมายนัก คงมีเพียงนักเลือกตั้งและนักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากจะแก้กันจริง ๆ แล้ว น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติต่างๆ ที่เป็นปัญหาและหาทางสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองให้ดีกว่านี้ ประเทศชาติก็จะได้ประโยชน์มากกว่าครับ

             ดูๆ ไปแล้ว หากเดาไม่ผิด เราคงต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกนานทีเดียวครับ ก็ "พลังหลัก" ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็น "พลังหลัก" ที่ค้ำยันรัฐบาลอยู่ ยังไงเสียก็คงต้องฟังกันบ้าง ใช่ไหมครับ!!!

             มีอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารแต่ผมคงจะขอไม่กล่าวถึงแล้วครับ ในวันนี้หากจะประเมินผลการรัฐประหารคงไม่ยากที่จะให้คะแนน การรัฐประหารที่ผ่านมาถือว่า "ล้มเหลว" โดยสิ้นเชิงเพราะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ได้เลย และในทางกลับกันกลับสร้างปัญหาสำคัญขึ้นมาให้กับประเทศอีก นั่นก็คือความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรงที่ดู ๆ แล้วน่าจะยากที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น ความล้มเหลวของการรัฐประหารยังแสดงออกมาโดยผ่านทางนักการเมืองหน้าเก่าที่แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็สามารถส่ง "ตัวแทน" เข้ามาร่วมอยู่ในรัฐบาล ในองค์กรของรัฐต่าง ๆ แถมบางคนก็ยังมีบทบาทสูงในการ "ชี้นำ" การเมืองของประเทศในวันนี้อย่างชัดเจนอีกด้วยครับ ส่วนการจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นทั้งที่เป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเป็นการ ใช้อำนาจหน้าที่ก็เห็นได้ชัดว่า "ล้มเหลว" เพราะวันนี้ก็ยังมีอยู่และดูท่าทางจะ "แยบยล" กว่าเดิมอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการกระทำที่ "สูญเปล่า" ครับ

             บทสรุปสำหรับ "3 ปีรัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย" ก็คือในวันนี้ระบบเศรษฐกิจของเราพังพินาศไปมาก สังคมมีความแตกแยกสูง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง การเมืองอ่อนแอ คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ประเทศชาติได้รับความเสียหายจากการรัฐประหารไปมากน้อยเพียงใด ส่วนใครได้นั้น ก็คงต้องไปดูกันเอาเองจากตำแหน่งหน้าที่ ฐานะการงาน บทบาทต่างๆ ที่บางคนได้มาจากการสนับสนุนการรัฐประหาร จากการเป็น สนช. จากการเป็นเนติบริกร จากการเข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญ ลองพิจารณากันเอาเองแล้วกันครับ

             ในวันนั้น หากไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นและปล่อยให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาการเมืองกันเอง ในวันนี้เราจะเป็นอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เรา "ลอง" มองดูบ้างครับ

             ความผิดพลาด "ครั้งใหญ่" ของคณะรัฐประหารก็คือ เมื่อขึ้นมาแล้วไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่าง "เด็ดขาด" ปัญหาต่าง ๆ จึงยังคงอยู่ครบทั้งหมด!!!

             ขอแสดงความไว้อาลัยให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกฆ่าทิ้งไป เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ครับ

             ท้ายที่สุด ขอฝากคำถามถึงผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ผู้เข้าไปช่วยเหลือการรัฐประหารและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อมาทั้งหมด รวมไปถึงผู้ที่เอาดอกไม้ไปแสดงความยินดีกับการรัฐประหารว่า คิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ หากมองด้วยสายตาที่เป็นธรรมคงเห็นต้องตรงกันนะครับว่าเป็น 3 ปีที่ประเทศเราต้องถอยหลังเข้าคลองไปมากครับ!
           
             ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือ บทความเรื่อง "แทรกแซงสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญ" ของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ โอกาสนี้ครับ นอกจากนี้ เรายังมีหนังสือใหม่จากสถาบันพระปกเกล้ามาแนะนำอีกด้วยครับ
           
             พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552 ครับ

             ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

From : www.pub-law.net

Categories: News and politics

เปิดบันทึก 7 ตุลา ผ่านสายตาเหยี่ยวข่าว ใครก่อความรุนแรง ?

7 September 2009 Leave a comment

เปิดบันทึก 7 ตุลา ผ่านสายตาเหยี่ยวข่าว ใครก่อความรุนแรง ?

แล้วที่สุด ป.ป.ช. มีมติฟันอาญา"สมชาย-จิ๋ว-พัชรวาท-สุชาติ" คดี สลายม็อบ7ตุลาฯ ประชาชาติออนไลน์ เปิดบันทึกนักข่าวที่อยู่ในเหตุการณ์ พบความจริงอีกด้านที่ไม่ค่อยมีคนกล้าพูด นั่นคือ ความจริงที่ว่า ความรุนแรง อาจไม่ได้มาจากตำรวจฝ่ายเดียว แต่ ม็อบเอง ก็ใช้ความรุนแรง เกินกว่าจะเรียกว่า สันติวิธี

…. 7 กันยายน ภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในสำนวนการไต่สวนคดีการสลายผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมป.ป.ช. มีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม

นอกจากนั้น ยังมีมติให้ชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรงในฐานความผิดเดียว กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่กลับไม่มีการสั่งให้หยุดการสลายการชุมนุม ทั้งที่มีผู้บาดเจ็บและชีวิตในช่วงเช้า

ขณะที่ ผู้ถูกกล่าวหาอีก 5 คน ระดับรองผบ.ตร. และรองผบช.น. คณะกรรมการฯ เห็นว่าไม่มีความผิด เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

@ บันทึก เหยี่ยวข่าว 7 ตุลา ความจริงอีกด้าน ?

ประชาชาติออนไลน์เปิดบันทึก เหยี่ยวข่าว ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคมที่อาจเป็นความจริงอีกด้านที่ถูกละเลยมาตลอดระยะเวลาาเกือบ1 ปีที่ผ่านมา

จากบันทึก7 ตุลาคมนักข่าวและช่างภาพ ไทยรัฐ บันทึกว่า …
สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ปีนรั้วหนีออกจากรัฐสภา ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตำรวจเดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหนึ่งในบรรยากาศสำคัญวันสลายม็อบรัฐสภา…วันที่ 7 ตุลาคม 2551

"เกือบบ่าย … หลังแถลงนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว คนข้างในต่างคนก็อยากจะออก แต่ม็อบปิดล้อมไว้ทุกด้าน

กิตติ วงษ์ใบแก้ว หรือ เจี๊ยบ ช่างภาพการเมือง นสพ.ไทยรัฐ บอกรัฐมนตรี ส.ส. มานั่งรวมกันที่บ่อปลาคาร์ฟด้านหน้า จะอยู่ข้างในอาคารก็ไม่ได้ สภาฯโดนตัดไฟ เครื่องปรับอากาศใช้ไม่ได้ รถก็เตรียมรอ…จะออก ประตูแน่นไปหมด
เจี๊ยบประเมิน รวมๆ กับส.ว.ผู้ติดตาม เจ้าหน้าที่ ช่างภาพ..นักข่าวอีกนับร้อยชีวิต ในสภาฯน่าจะมีคนติดอยู่เป็นพันคน

เจ้าหน้าที่ส่งข่าวมาจากด้านนอก บ่ายสามโมง จะเคลียร์…เปิดทางให้ ใกล้เวลาเตรียมขึ้นรถ แต่ก็ยังไม่มีใครได้ออกไปไหน
"การรอคอยผ่านไป 3 ชั่วโมง รัฐมนตรีเริ่มถอดสูทเพราะอึดอัด บางคนเริ่มหาทางอื่น มุ่งหน้าไปทางกำแพงรัฐสภาด้านหลัง ติดกับพระที่นั่งวิมานเมฆ"

จุดนี้…เป็นเส้นทางเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากรัฐสภา
"เจ้าหน้าที่ฝั่งวังเห็น ก็พยายามห้าม บอกว่า…อย่าลงมากันเยอะเพราะพันธมิตรฯบอกว่า พวกผมปล่อยให้นายกฯออกไปได้ยังไง"

เสียงทัดทานจากเจ้าหน้าที่ ไม่ทำให้รัฐมนตรีหยุดปีนรั้ว ที่เห็นๆ ก็จะมี รัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรีวัฒนธรรม รัฐมนตรีกีฬา ท่านบรรหารฯ และที่เก็บภาพได้…รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

"ภาพปีนรั้วทุลักทุเลมาก ผู้หญิงนุ่งกระโปรงยิ่งปีนลำบาก… จุดที่ปีนไม่ใช่ง่าย ต้องข้ามไปอีกตึกนึงถึงจะปีนลงข้าวรั้ว ตรงกำแพง…ต้องหันหน้าเข้า ค่อยๆปีนลงไป ไม่อย่างนั้นด้วยความสูงขนาดนี้ อาจเสียหลักพลัดตกได้"

บางคนพิการ ต้องใช้หลายคนช่วยกันอุ้มพยุงส่ง…รับข้ามกำแพง ถ้าไม่กลัวตายจริงๆ ไม่น่าจะทำได้ รั้วสูงเกือบ 3 เมตร มีเหล็กแหลมอยู่ด้านบน โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย
ไล่หลังนักการเมือง ก็มีข้าราชการ นักข่าวจะตามติดไปด้วย แต่ก็ถูกห้ามว่า "พอแล้วๆ ไปตอนนี้ก็ยังไม่ได้ออกไปไหน เพราะถนนด้านที่จะออกได้ ยังถูกปิดล้อมด้วยม็อบ"

เจี๊ยบจับภาพบรรยากาศชุลมุนหลังรัฐสภา ขณะที่ช่างภาพอีกไม่น้อยเก็บภาพสลายม็อบอยู่ด้านหน้า…เวลาล่วงเลยไปถึงบ่ายสี่โมงกว่า ทุกคนในรัฐสภาได้ยินเสียงระเบิดแก๊สน้ำตาดังอีกครั้งเป็นระลอก…
การสลายม็อบมีหลายช่วง แต่ช่วงนี้คือรอบสุดท้าย บรรยากาศค่อนข้างน่ากลัว

"ก่อนที่จะมีการสลายม็อบรอบนี้ ตำรวจเจรจาขอให้เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน ส.ส. รัฐมนตรี ออกไปจากรัฐสภา แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม เมื่อไม่ยอม… เจ้าหน้าที่ตั้งแนวถอยได้ 50 เมตร ก็เริ่มสลายม็อบทันที"

เสียงแก๊สน้ำตาถูกยิงไล่มาตั้งแต่ถนนข้างวัง ด้านที่มุ่งหน้าไปสะพานซังฮี้ กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นมารวมตัวกันตรงเขาดิน ประตูรัฐสภาด้านถนนราชวิถีเริ่มเปิดได้

"รถที่อออยู่ด้านใน ทยอยออกไปได้บ้าง แต่กว่า…จะเคลื่อนไปได้ ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง" เจี๊ยบ ว่า "รถผมอยู่คันที่สี่ จะออกพ้นประตูอยู่แล้ว ม็อบก็ตีโต้เจ้าหน้าที่ รุกต้านกลับมา…"

ราวห้าโมงกว่า คราวนี้มีเสียงปืนดังรัว ปัง…ปัง…ปัง ดังแน่นๆ ไม่เหมือนเสียงยิงแก๊สน้ำตา ภาพที่เห็น…ช่างภาพทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ วิ่งถอยเข้ามาในรั้วรัฐสภา ตำรวจที่ถือโล่อยู่ด้านหน้า ก็ยังวิ่งหนี…

"เพื่อนช่างภาพเล่าให้ฟังว่า เห็นตำรวจถูกยิงที่คอ แต่ก็เก็บภาพไม่ได้ว่าใครยิง…เพราะวุ่นวายไปหมด"

ทิศทางกระสุนที่ยิงตำรวจมาจากฝั่งม็อบ ภาพข่าวที่เห็นทางทีวีช่องหนึ่งจับภาพผู้ประท้วงคนหนึ่ง วิ่งไปด้วย ยิงปืนไปด้วย…หันปากกระบอกปืนมาทางเจ้าหน้าที่

ในฐานะสื่อมวลชน ช่วงชุลมุนแบบนี้ช่างภาพต้องเก็บภาพ ชิดติดสถานการณ์ขนาดไหน?

"ช่วงที่ฝ่ายม็อบยิงหนังสติ๊ก…ลูกเหล็ก ลูกแก้ว ฝ่ายตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ช่างภาพยังหลบใต้ต้นไม้สองฝั่งถนน เก็บภาพอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่ายได้"
พอมีเสียงปืน แน่ชัดว่ามีตำรวจโดนยิง… ห่างช่างภาพไม่เกิน 2 ช่วงตัว ทุกคนก็หลบหมด
"เข้ามาตั้งหลักอยู่ในรัฐสภา ยังมีลูกหิน ลูกเหล็กกลมๆ ถูกระดมยิงตามมาเป็นระลอก โดนขาช่างภาพไทยรัฐอีกคน แต่ไม่เป็นอะไรมาก"

สถานการณ์เริ่มนิ่งอีกครั้ง ช่างภาพนิ่งกำลังเอาคอมพิวเตอร์มานั่งส่งภาพเข้าโรงพิมพ์ แต่มีเสียงตะโกนว่า "ม็อบ…บุกทะลักเข้ามาในสภาฯแล้ว"
"นักข่าวผู้จัดการเองก็พยักหน้า ทำนองว่า…อยู่ไม่ได้แล้ว แต่ละคนยิ่งรีบเก็บข้าวของ ปีนออกทางรั้วด้านหลัง…ทางเดียวกับนายกรัฐมนตรี"

เจี๊ยบ บอกว่า ชุดนี้ถือเป็นชุดสุดท้ายที่ออกจากรัฐสภา เกือบร้อยคนเป็นสื่อมวลชนทั้งนั้น…คราวนี้ เจ้าหน้าที่ริมรั้วอีกฝั่งมีท่าทีดี ไม่ได้ห้าม

"ช่างภาพปีนลำบากกว่าเพื่อน ทั้งกล้อง เลนส์ คอมพิวเตอร์ห้อยเต็มตัว จะป่ายจะปีนไม่ใช่เรื่องง่าย…รถนักข่าวที่จอดอยู่ในสภาฯ ถึงจะเป็นห่วงแค่ไหน ก็ต้องจำใจทิ้ง…นาทีนี้ มัวห่วงรถไม่ได้ ต้องเอาชีวิตไว้ก่อน"

สถานการณ์เริ่มพลิกกลับ ม็อบกลับมาล้อมรัฐสภาได้อีกครั้งหนึ่ง ตำรวจถอยร่นราว 10 นาที …ตำรวจอีกชุดก็เริ่มบุกเข้ามาสลายอีกรอบ

"เจ้าหน้าที่บอกว่าจะเข้าเคลียร์พื้นที่…สุดท้ายแล้ว"

ข้ามรั้วรัฐสภามาได้อย่างปลอดภัยกันทุกคน เจ้าหน้าที่วังบอกว่าให้ไปรอก่อน ตอนนี้ยังไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ กว่าจะออกนอกพื้นที่ได้ก็กินเวลา 1 ทุ่มกว่า
เวลา 20.00 น. เจี๊ยบส่งรูปเข้าโรงพิมพ์แล้ว…เดินกลับมาที่รัฐสภามีทหารตรึงกำลังเรียบร้อย ม็อบพันธมิตรฯ ก็กลับไปตั้งมั่นที่ทำเนียบรัฐบาล

ร่องรอยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา… เจี๊ยบไม่เห็นเลือด มีแต่ขวดน้ำเยอะมากๆ เอารถสิบล้อ 5 คัน มาขนก็ขนไม่หมด รถที่เสียหายส่วนใหญ่ เป็นรถตำรวจโดนทุบกระจกพังยับ โดนปล่อยลมยางสี่ล้อ "หมอกควันแก๊สน้ำตายังไม่จาง แต่ละคนเดินร้องไห้กันตลอดทาง"

เหตุตำรวจสลายม็อบหน้ารัฐสภา ผ่านมาถึงวันนี้ทั้งช่างภาพ นักข่าว เจอหน้ากันก็ยังคุยถึงเรื่องวันนั้น… "ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขนาดนี้ เห็นภาพข่าวทางทีวี หนังสือพิมพ์…ก็ยิ่งรู้สึกกลัว"

หลายคนพูดให้ฟัง แก๊สน้ำตารู้ชัดเจนว่า…ยิงจากฝั่งตำรวจ แต่เสียงปืนที่ยิง ปังๆ ๆ ไม่รู้ว่าใครยิง ตั้งใจยิงเพื่ออะไร

"กลุ่มผู้ชุมนุมถูกสลายการชุมนุม อยู่ในอารมณ์คุกรุ่นอยู่แล้ว…อาจจะมีมือที่สาม ตั้งใจสวมรอยสร้างความรุนแรงให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นไปอีก"

ประเด็นที่พูดคุยกันมาก…กลุ่มผู้ชุมนุมที่ขาขาด หลายคนเชื่อว่าแก๊สน้ำตายังไงก็ไม่รุนแรง ทำให้ขาขาดได้… ช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์ตั้งข้อสงสัยถึงเหตุปะทะหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ช่วงกลางดึก มีผู้ได้รับบาดเจ็บขาขาด 3 คน

"บริเวณที่ขาด…มองแล้วใกล้เคียงกัน น่าจะได้รับผลมาจากแรงระเบิดในระยะใกล้ตัวมากๆ เพราะถ้าเกิดจากระเบิดที่เขวี้ยงมา ผู้ที่ยืนอยู่ใกล้รัศมีแรงระเบิด น่าจะได้รับบาดเจ็บไปด้วย"

แม้แต่…รูปถ่ายผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ที่นำมาเผยแพร่ทั้งจากฝ่ายตำรวจ ฝ่ายม็อบ ถกเถียงกันว่าเป็นรูปจริง…รูปตกแต่ง ความจริงก็คือความจริง…อย่างไร ก็พิสูจน์ได้ว่า เกิดจากอะไร? เกิดจากใคร?

เจี๊ยบ ทิ้งท้ายว่า "สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็น…ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง สื่อ…ทำหน้าที่อยู่ตรงกลาง หากปะทะกันอันตรายถึงชีวิต สื่อก็รักชีวิตไม่ต่างกับรัฐมนตรี… นายกรัฐมนตรี

@ บันทึกจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศ

Nick Nostitzแห่งเว็บไซต์ New Mandala บันทึก เหตุการณ์ที่เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลา 2551ดังนี้

ในเกมแห่งม่านหมอกและกระจกเงา ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามสร้างภาพ เพื่อบอกกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ในบทความชิ้นนี้ ผมจะพยายามบรรยายสิ่งที่ผมเห็นและความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้อ้างว่าผมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผมอยู่ที่นั่นระหว่างตีห้าถึงห้าทุ่มเท่านั้น โดยได้ปลีกตัวออกมาชั่วคราวในช่วงเที่ยงและช่วงระหว่าง 13.00-16.00 เพื่อส่งรูปถ่ายไปยังสำนักงานและหลับตาไปอีกราว 30 นาที ฉะนั้น ผมจึงไม่สามารถอยู่ในทุกที่ในช่วงเวลาเดียวกันได้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ที่ห่างออกไป แม้เพียง 100 เมตรก็ตาม

การโจมตีโดยตำรวจเริ่มประมาณ 6.00 น. ในขณะนั้นผมอยู่ในพื้นที่ที่ฝ่ายพธม.ยึดครองไว้ ทันทีที่ผมเห็นตำรวจตั้งแถวเพื่อเตรียมโจมตี ผมรีบออกจากจุดนั้นเพื่อไปอยู่ตรงด้านหน้าของแถวตำรวจแทน ผมรู้สึกปลอดภัยขึ้นเพราะผมรู้ว่าหากตำรวจต้องการสลายการชุมนุม จะตัองมีการใช้กำลังอย่างหนัก

ตำรวจได้ใช้รถบรรทุกที่ติดเครื่องขยายเสียงประกาศเตือนให้ผู้ชุมนุมสลายตัวเพราะกำลังจะถูกโจมตี และจะมีการยิงแก๊สน้ำตา ตำรวจได้ประกาศเตือนอย่างต่อเนื่อง และยังกล่าวว่า ในความขัดแย้งครั้งนี้ ยากที่จะมีใครเป็นผู้ชนะ พวกเราเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ควรมาสู้กันเอง

ผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายตัว และหลังจากนั้นไม่นาน การโจมตีก็เริ่มขึ้นด้วยการระดมยิงแก๊สน้ำตา

มันเริ่มจากทั้งด้านถนนราชวิถีและถนนพิชัย (ผมอยู่ที่นี่) ผมเห็นลูกระเบิดแก๊สน้ำตาระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อมันปะทะเข้ากับแนวกั้นยางรถยนต์ ยางบางเส้นถึงขนาดกระเด็นสูงจากพื้น 2-3 ฟุต ผู้ชุมนุมต่างพากันวิ่งหนีโดยเร็ว ผมเดินตามหลังตำรวจที่อยู่แถวหน้า มีการต่อสู้ระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมเล็กน้อย แต่ไม่มีอะไรรุนแรงมากนัก มีการโยนลูกระเบิดแก๊สน้ำตาโดยตำรวจเล็กน้อย (ผมเดาเช่นนั้น ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้) และผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรที่เหลืออยู่ไม่กี่คนก็ได้โยนวัตถุระเบิดเข้าใส่ตำรวจเช่นกัน มันอาจเป็นปะทัด หรือระเบิดปิงปองก็ได้ ในช่วงเวลาที่เร่งร้อนและเต็มไปด้วยหมอกควันนี้ เป็นการยากที่จะเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นแน่ ควันจากแก๊สน้ำตาทำให้คนตาพร่าไปหมด

นอกจากนี้ มีตำรวจไม่กี่คนที่มีหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตา พวกเขาจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ตลอดช่วงเวลานี้ ตำรวจได้ป่าวประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้ผู้ชุมหยุดการต่อสู้ และทันทีที่ผู้ชุมนุมหยุด และนั่งลงที่ถนน ตำรวจก็สามารถบรรลุเป้าหมาย คือเปิดประตูรัฐสภาได้สำเร็จ

ถึงตอนนี้ผมจึงได้เห็นว่ามีชุมนุมได้รับบาดเจ็บสาหัส ชายคนหนึ่งนั่งอยู่พื้นโดยขาข้างซ้ายถูกระเบิดขาดตั้งแต่หัวเข่าลงไป มีผิวหนังสองสามเส้นเชื่อมขาที่ตกอยู่ข้าง ๆ เขาถูกห้อมล้อมโดยตำรวจที่ก็ตกใจกับสภาพที่เห็นเช่นกัน ตำรวจบางคนพยายามปลอบเขา ยังมีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 2-3 คนในบริเวณนั้น

ไม่นานหลังจากนั้น รถพยาบาลได้นำชายคนนั้นและผู้บาดเจ็บคนอื่นขึ้นรถไป ภายในรัฐสภามีนักข่าววิทยุได้รับบาดเจ็บที่หลัง ผิวบางส่วนเปิดออก เลือดไหลและไหม้อย่างรุนแรง ตำรวจ ตชด.นายหนึ่งเข้าไปปลอบขวัญเขา

เมื่อสถานการณ์สงบลง ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเรื่องคนบาดเจ็บ พวกเขาล้วนตกใจกันทั้งนั้น หน่วยยิงแก๊สน้ำตาอธิบายว่า ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง การยิงแก๊สน้ำตาอาจก่อเกิดให้เกิดแรงระเบิดที่สูงได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดขึ้นในเวลาที่คนอยู่ด้วยกันอย่างหนาแน่น

ผมใช้เวลาอยู่ในบริเวณนั้นอีกพักหนึ่ง นั่งอยู่ภายในตึกรัฐสภา แล้วก็เดินไปที่แยกถนนราชวิถี-สามเสน อันเป็นบริเวณที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรกำลังรวมตัวกันอยู่

หลังจากนั้นครู่หนึ่ง ประมาณ 10.00 น. ผมเดินไป กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ตรงหัวมุมลานพระบรมรูปทรงม้า ทันทีที่ไปถึง ฝ่ายพันธมิตรก็เริ่มการโจมตี พวกเขาโยนระเบิดปิงปอง (หรืออาจเป็นลูกระเบิดแก๊สน้ำตา) เข้าไปยังพื้นที่ของบชน. และเข้าใส่ตำรวจ พวกเขาใช้หนังสติ๊กระดมยิงลูกเหล็กและลูกแก้วเข้าใส่ตำรวจ ช่วงขณะหนึ่งผมได้ยินเสียงระเบิด ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเสียงกระสุนปืนที่ยิงผ่านไปอยู่รอบตัวผม (เสียงของลูกกระสุนปืนที่พุ่งผ่านไปต่างกับเสียงของลูกกระสุนที่ยิงโดยหนังสติ๊กอย่างชัดเจน) ผมซ่อนอยู่ข้างหลังรถคันหนึ่ง และขณะที่กำลังโทรศัพท์โทรหาเพื่อนนักข่าวที่ชื่อ นิรมาล กอช จาก the Straits Times ผมก็ถูกยิงด้วยลูกเหล็กเข้าที่ท้อง

หลังจากสงบสติอารมณ์สักพักหนึ่ง ผมก็ตามตำรวจที่ล่าถอยเข้าไปในพื้นที่ของ บชน. หลังจากสถานการณ์ก็สงบลงชั่วคราว ผมจึงกลับบ้านเพื่อจัดการส่งภาพถ่ายให้สำนักงาน เมื่อถึงตอนนี้ ตำรวจได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่รอบ ๆ รัฐสภา ให้กับพวกพันธมิตรไป

ผมได้รับโทรศัพท์ในช่วงบ่ายว่าเกิดการปะทะกันอีกครั้งเมื่อตำรวจต้องเปิดประตูรัฐสภาด้านถนนราชวิถีอีกครั้ง ผมมาจากทางถนนร่วมจิตแล้วก็ต้องติดอยู่กับด้านผู้ชุมนุมที่กำลังถูกตำรวจระดมยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ โดยตำรวจพยายามตอบโต้การโจมตีของฝ่ายพันธมิตร ระเบิดแก๊สน้ำตาลูกหนึ่งตกลงมาห่างจากผมราวหนึ่งเมตรตอนที่ผมกำลังวิ่งอยู่ มันส่งเสียงระเบิดกึกก้องทีเดียว

ผมวิ่งมาถึงเส้นที่จะข้ามไปยังพื้นที่ที่ตำรวจยึดครองอยู่ (ตำรวจยิงระเบิดแก๊สน้ำตาลูกหนึ่งใส่ผมเพราะเข้าใจผิดว่าผมเป็นผู้ชุมนุม แต่ก็หยุดหลังจากที่ผมตะโกนซ้ำ ๆ กันว่าผมเป็นผู้สื่อข่าว และยกกล้องให้ดู)

ผมอยู่ตรงหัวผมถนนนั้นจนตกดึก ตำรวจต้องป้องกันหัวมุมถนนด้านนี้ไว้เพื่อให้ข้าราชการ ลูกจ้าง และสส.สามารถออกจากรัฐสภาได้ ตรงจุดข้ามถนนต้องเจอกับการโจมตีจากฝ่ายพันธมิตรอย่างไม่หยุดยั้ง พวกเขาระดมยิงลูกเหล็ก ลูกแก้ว ตำรวจจึงตอบโต้การโจมตีด้วยการยิงระเบิดแก๊สน้ำตา มีการยิงเข้าใส่ตำรวจที่อยู่ตรงหัวมุมถนนเป็นช่วง ๆ โดยยิงมาจากสถาบันราชวัตร

ตำรวจได้ขอให้พวกพันธมิตรที่หลบซ่อนอยู่ในตึกโดยรอบให้ออกมา ตำรวจตะโกนบอกว่าจะไม่ทำอะไรกับผู้ชุมนุมที่ออกมา ผมเห็นหลายคนเดินออกมาโดยตำรวจไม่ได้ทำอะไรพวกเขา สถานการณ์ที่เหนือจริงอันหนึ่งก็คือ เพื่อนของผม ซึ่งเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มพันธมิตร ก็เดินออกจากตึกเหล่านั้นด้วย

หลังจากนั้น สถานการณ์ก็ตึงเครียดอย่างไม่น่าเชื่อ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาตลอดเวลา ทั้งตรงจุดนั้นและแถวหัวมุมถนนที่ใกล้กับประตูใหญ่รัฐสภา ช่วงขณะหนึ่ง ฝ่ายพันธมิตรพยายามขับรถบรรทุกตรงเข้ามายังตำรวจที่อยู่ตรงถนนร่วมจิต พวกตำรวจจึงรีบตั้งเครื่องกีดขวางและยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่รถบรรทุก ทันก่อนที่รถจะชนตำรวจ คนขับถูกตำรวจนำตัวไป

ผมถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บหลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรใช้ปืนสั้นยิงเข้าใส่ตำรวจตรงหัวมุมตึกรัฐสภา และตำรวจที่ถูกรถปิ๊กอัพพุ่งชนโดยตั้งใจ

มีข่าวออกมาจากรัฐสภาว่าฝ่ายพันธมิตรยิงตำรวจสามคน พวกเขาอยู่ในตึกรัฐสภา และไม่ยอมให้รถพยาบาลเข้าไปรับคนเจ็บ
มีคนวิ่งข้ามถนนออกมาจากรัฐสภาเพื่อหนีออกจากบริเวณนั้นตลอดเวลา

เมื่อฟ้ามืดลง บริเวณนี้ก็สงบลง ผมเดินกลับไปที่ บชน. ซึ่งกำลังเจอกับการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตร ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา พันธมิตรใช้หนังสติ๊ก เสียงกระสุนปะทะกับโล่กำบังและพื้นถนนตลอดเวลา ครั้งนี้ผมโชคดีที่ไม่ถูกยิงเข้าอีก เห็นได้ชัดว่าฝ่ายพันธมิตรยิงปืนออกไปเป็นครั้งคราวเช่นกัน แต่ผมก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่นอน มันน่ากลัวมากทีเดียว มีความพยายามขับรถยนต์และรถบรรทุกเข้าชนแนวกีดขวาง แต่ตำรวจสกัดกั้นไว้ได้

ช่วงขณะหนึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมหนึ่งหรือสองคนได้รับบาดเจ็บที่ขา แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยตาของตัวเอง เพียงได้เห็นจากภาพถ่ายของช่างภาพไทยคนหนึ่ง
และเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ สถานการณ์สงบลงเล็กน้อย ตำรวจสามารถยึดแนวกีดขวางตรงหัวมุมลานพระบรมรูปทรงมากลับมาได้ รถปิ๊กอัพที่มีคนพยายามขับชนตำรวจจอดแน่นิ่งอยู่ตรงนั้น ตำรวจลากชายสองคนออกมาจากข้างหลัง และเล่นงานพวกเขาเล็กน้อย ผู้หญิงที่บาดเจ็บคนหนึ่งนอนอยู่บนถนน และมีหมอทหารมารับไป

รถฮัมวีของทหารคันหนึ่งวิ่งสังเกตสถานการณ์โดยรอบ และจอดตรงแถวตำรวจครู่หนึ่งก่อนจะต่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
หลัง 22.00 น.สถานการณ์เริ่มอยู่ในความควบคุมมากขึ้น ฝ่ายพันธมิตรมีคนน้อยกว่ามาก ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสักครู่ มีชายใส่ชุดพรางกายทหาร ซึ่งอาจเป็นทหารประจำการหรือนอกราชการที่อยู่ฝ่ายพันธมิตรก็ไม่รู้แน่ เดินมายังแนวลวดหนามและเจรจากับตำรวจอยู่ชั่วครู่

ตำรวจตอบไปว่าพวกเขาจะหยุดยิงแก๊สน้ำตาหากฝ่ายพันธมิตรหยุดยิงหนังสติ๊กและโจมตีตำรวจ ตำรวจเพียงแค่ตอบโต้การโจมตีเท่านั้น
หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็อยู่ในความสงบ มีพวกพันธมิตรประมาณ 100 คนที่ยังป้วนเปี้ยนอยู่แถวลานพระรูปฯ ผมจึงกลับบ้าน

ขณะนี้มีการถกเถียงกันว่าตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือไม่ และรวมถึงการใช้แก๊สน้ำตาด้วย จากสิ่งที่ผมเห็น ผมเชื่อว่าตำรวจไม่มีทางเลือกอื่น คุณอาจโทษว่าเป็นเพราะงบประมาณตำรวจที่น่าเวทนา ที่ทำให้พวกเขาไม่มีระเบิดแก๊สน้ำตาที่ก่ออันตรายน้อยกว่านี้ใช้ก็ได้ แต่อย่าโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้น ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยเครื่องมือที่มีให้พวกเขา และในกรณีนี้ ก็คือเครื่องมือที่ทำในรัสเซีย

ถามว่าการบาดเจ็บมีสาเหตุจากระเบิดของฝ่ายพันธมิตรหรือไม่? ตอบตามตรง ผมไม่รู้ ผมรู้แต่ว่ามีการโยนระเบิดโดยผู้ชุมนุมของพันธมิตรบางคนเท่านั้น

ในการเผชิญหน้ากันครั้งนี้ ฝ่ายพันธมิตรได้ใช้อาวุธที่อันตรายและถ้าตำรวจไม่ใช้แก๊สน้ำตา สถานการณ์ก็อาจย่ำแย่จนนำไปสู่การปะทะตัวต่อตัวระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม และหากเป็นเช่นนั้น ผมมั่นใจว่าจะทำให้สูญเสียชีวิตแก่ทั้งสองฝ่ายมากขึ้น ฝ่ายพันธมิตรมีปืนสั้นจำนวนหนึ่ง ตำรวจหนึ่งหรือสองนายถูกแทงด้วยปลายเสาธง ฉะนั้น เราไม่อยากจะจินตนาการหรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากแก๊สน้ำตาไม่ได้ช่วยสร้างระยะห่างระหว่างทั้งสองฝ่ายไว้ ผมไม่อยากคิดว่าตำรวจตั้งใจทำให้ใครบาดเจ็บ แต่ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่มีทางเลือกน้อยมาก

สิ่งที่คนบางคนดูเหมือนจะลืมก็คือ ความเป็นจริงพื้นฐาน: กฎหมายอยู่ข้างตำรวจ ไม่ได้อยู่ข้างพันธมิตร
นี่คือ ความจริงอีกด้าน ที่ตอกย้ำว่าFACT อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด …

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2552
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1252309799&grpid=00&catid=00


อ่านเรื่องก่อนหน้านี้ ที่เกี่ยวข้องได้จาก

ใครว่า พันธมิตรฯ ไม่ใช้ความรุนแรง … ข้อเท็จจริงที่ กก.สิทธิมนุษยชนฯมองไม่เห็น
http://mynoz.spaces.live.com/Blog/cns!2AAF032065B8040B!724.entry

Categories: News and politics

ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009, นิธิ เอียวศรีวงศ์

6 September 2009 1 comment

ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009

ปฏิเสธไม่ได้ว่า
จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ในประเทศไทย
มีจำนวนมากจนน่าตกใจ
และหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของรัฐบาลอภิสิทธิ์
ไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไรก็แล้วแต่

ข้างล่างนี้ เป็นบางส่วนของบทความของ อ.นิธิ

สถิติส่วนอื่นไปดูได้ที่
http://www.who.int/csr/disease/swineflu/updates/en/index.html
ล่าสุดของวันที่ 4 กันยายน 2009
http://www.who.int/csr/don/2009_09_04/en/index.html


 

…………………….

หลังจากเฝ้าสังเกตกระบวนการที่รัฐบาลไทยและสังคมไทย
เผชิญกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มาหลายเดือน
ผมรู้สึกว่ามีลักษณะพิเศษบางอย่างของไทยอยู่ในกระบวนการนั้น
ซึ่งคิดไปก็น่าวิตกอยู่ หากข้อสังเกตนี้จริง

…………………….

ข้อสังเกตประการแรก
คล้ายกับบทความที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ได้เขียนลงมติชนรายวันสักเดือนกว่ามาแล้ว
นั่นก็คือรัฐบาลไม่ค่อยสนใจกับการให้ความรู้เท่ากับให้คำสั่ง
ส่วนสังคมไทยก็พอใจที่จะรับแค่คำสั่งมากกว่าความรู้

รัฐบาลสั่งมาตรการสี่ห้าอย่างในการป้องกันตนเอง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
เช่น หมั่นล้างมือ, ไม่ร่วมภาชนะอาหารกับผู้ป่วย, เจ็บป่วยให้อยู่ห่างคนอื่น และใช้หน้ากากอนามัย

มาตรการเหล่านี้ก็ตรงกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
แต่อาจไม่ตรงกับคำแนะนำของสาธารณสุขของบางประเทศทีเดียวนัก
แต่รัฐบาลหรือสังคมไม่เคยบอกให้รู้ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยป้องกันตนเองมิให้ติดโรคได้อย่างไร
หรือป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างไร

…………………….

ข้อสังเกตประการที่สอง
มาจากสถิติขององค์การอนามัยโลก
เปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต ในประเทศอุษาคเนย์หลายประเทศไม่มีสถิติบริบูรณ์
จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม ทั้งภูมิภาคนี้มีผู้ป่วย 15,771 คน เสียชีวิต 139 คน
ทั้งผู้ป่วยและเสียชีวิตอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด
(คือตายเกิน 100 คน และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีสถิติเสียชีวิตสูงขนาดนี้
จนถึงวันที่ 22 ส.ค. ป่วย 14,976 คน ตาย 119 คน, มาเลเซียเกิน 50, และเวียดนามเกิน 10)

แน่นอนว่าเราไม่สามารถเอาไทยไปเปรียบเทียบกับลาว, กัมพูชา, และพม่าได้
(ลาวและกัมพูชานั้น ไม่มีสถิติแน่ชัด แต่องค์การอนามัยโลกประเมินว่าต่ำมากทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต
พม่ามีสถิติและต่ำมากเช่นกันคือ เป็น 24 ตาย 0)
เพราะเงื่อนไขการสัญจรโรคของประเทศเหล่านั้นต่ำมาก
เช่น คนส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางเกิน 3 กม.ต่อวัน
แม้กระนั้นเมื่อเอาไทยไปเปรียบกับประเทศที่มีระดับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
(ซึ่งมักเรียกว่าการพัฒนา)
ในระดับเดียวกัน
เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, และอินโดนีเซีย
(จนถึง 24 ส.ค. เป็น 2,909 ตาย 63)
ก็จะพบว่าไทยมีสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็ คือ
สถิติอื่นๆ ก็คล้ายกับสถิติไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
เช่น ไทยคลานออกมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 2540 ช้ากว่าอินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, และมาเลเซีย
ส่วนวิกฤตในครั้งนี้ก็ส่อว่าจะออกมาในรูปเดียวกัน
เมื่อเปรียบเทียบการจ้างงาน, การติดลบของจีดีพี, การลงทุน ฯลฯ

เราต่างเข้าไปพัวพันกับทุนนิยมโลกในเวลาเดียวกัน และในจังหวะเดียวกัน
เราต่างมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องเผชิญเหมือนกัน
แต่ความสามารถของไทยในการจัดการกับวิกฤตของโลกสมัยใหม่
ไร้ประสิทธิภาพกว่าประเทศเพื่อนบ้านดูเหมือนจะมากพอสมควร

…………………….

นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนรายวัน, 07 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11503