Archive

Posts Tagged ‘กองทัพ’

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

5 July 2012 Leave a comment

ปรองดองในภาคประชาชน, นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมเพิ่งได้อ่านงานวิจัยเรื่อง “โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย” ของ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นจากข้อมูลสถิติหลายอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และอุดมการณ์ซึ่งเกิดในสังคมไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความตึงเครียดและแตกร้าวในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร

ในขณะที่การ “ปรองดอง” กำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงจนถึงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง งานวิจัยของ อ.ธเนศน่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนลงได้บ้าง เพราะ อ.ธเนศกำลังพูดว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาหลายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 โดดๆ หรือเพราะทักษิณ หรือเพราะสถาบันและเครือข่ายใดๆ เท่านั้น แต่มีพื้นฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คลี่คลายมานานกว่าสามทศวรรษ

การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ตามความเข้าใจของผม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยครั้งนี้ แตกต่างจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ใน พ.ศ.2475 นอกจากเหตุผลทางการเมือง, สังคม และอุดมการณ์แล้ว ยังมีการผลักดันของกลุ่มทุนภายในบางกลุ่ม ที่ต้องการให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สนใจตอบสนอง (รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ตอบสนองเช่นกัน และทำความผิดหวังแก่กลุ่มทุนภายใน)

ส่วนหนึ่งของ 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการเติบโตของคนชั้นกลางในเขตเมือง ภายใต้นโยบายพัฒนา ในขณะที่กลุ่มทุนก็ต้องการอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการ “กินหัวคิว” ของนายทหารในกองทัพ

ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบต่อคนระดับบน พลังของคนระดับบนเป็นหลักในการผลักดันให้ต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในสามทศวรรษหลังนี้ กระทบต่อคนเกือบทุกชั้นในสังคมไทย แผ่ไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พลังที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มมาก อย่างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน

คนระดับล่างซึ่งนับวันต้องอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น แม้แต่ที่อยู่รอดในภาคเกษตร ก็เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์เต็มตัว ต้องการความมั่นคงในชีวิตเศรษฐกิจของตนอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชีวิตตามจารีตประเพณีไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทำงานในเมือง ก็พบว่าชีวิตของตนขาดความมั่นคงเช่นกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยากที่แต่ละปัจเจกจะสามารถแสวง หาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

ไม่ต่างจากทุนขนาดใหญ่ที่หากำไรกับการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซ้ำยังมีเอสเอ็มอีที่เริ่มผลิตสินค้าคุณภาพแข่งขันมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ดีในอัตลักษณ์ใหม่ๆ และหลากหลายที่เกิดขึ้นในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อดังๆ ทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ หรือญาติธรรม ที่ต่างถึงขนาดเครื่องนุ่งห่มและทรงผม ไปจนถึงป้าย “เรารักในหลวง” หรือ “แวร์อาร์ยู ทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่ป้ายบริษัท, องค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือกองทัพ) และแน่นอนย่อมรวมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อหลากสี ฯลฯ ด้วย โดยสรุปก็คือ ผู้คนเริ่มมองเห็นตนเองแตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมมองความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่นหรือสังคมแตกต่างไปจากเดิมด้วยเหมือนกัน

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ “ระบบ” ที่เคยทำงาน ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่อไป ผมขอยกตัวอย่างเพียงกำลังของระบบเดิมที่ใช้ในการบังคับควบคุม (coercive forces) ที่สำคัญคือกองทัพ และคนในกระบวนการยุติธรรม

ดูเผินๆ เหมือนสถาบันเหล่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของบทบาทอาจจะใช่ คือยังคงทำหน้าที่ปกป้องระบบเดิมด้วยอำนาจที่อยู่ในมือ แต่ที่จริงแล้วเกิดความเครียดอย่างมากขึ้นในสถาบันทั้งสองอย่างยิ่ง

การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวที่จะรักษาระบบไว้ให้มั่นคงเหมือนเดิม บอกให้กองทัพรู้ว่า เครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงการเมืองของกองทัพนั้นเริ่มไร้ประสิทธิภาพเสียแล้ว อย่างน้อยต้นทุนก็สูงเสียจนอาจไม่คุ้ม การใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อสลายฝูงชนได้สำเร็จ แต่ยังกลายเป็นปัญหาที่อาจหันมาทิ่มแทงกองทัพได้จนบัดนี้

ภายในกองทัพเองก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น ทหารเกณฑ์มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ยุคสมัยของการผูกผ้าที่แขนเพื่อให้ซ้ายหันขวาหันถูกต้องหมดไปแล้ว ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิตครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่าทหารไม่ได้หันไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ขัดคำสั่งโดยไม่ถูกจับได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ที่เคยมีพลังครอบงำคนทั้งกองทัพได้กำลังถูกสั่นคลอน ปราศจากอำนาจทางอุดมการณ์ ก็เหลือแต่อำนาจที่ต้องอิงกับความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้กองทัพต้องอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือน (โดยเฉพาะนักการเมือง) มากยิ่งขึ้น

คนในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, ตุลาการ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ถูกผู้คนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา, แพ่ง วิธีพิจารณาความ ในวงการตุลาการ เราไม่มีคนที่มี “บารมี” สูงจนเป็นที่เชื่อฟังอย่างกว้างขวาง เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, หรืออดีตผู้พิพากษาเรืองนามอื่นๆ มานานแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกว่า ผู้พิพากษาที่เก่งและดีไม่มีอีกแล้ว แต่บอกว่ามาตรฐานของความเก่งและความดีในวงการผู้พิพากษาได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กัดกร่อนความเชื่อมั่นตนเองในวงการสื่อไปมาก แม้แต่งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก็เริ่มถูกเบียดเบียนจากโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ต้องพูดถึงงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งหดหายลงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว

ในขณะที่คนจำนวนมากซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเต็มตัว ย่อมต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง กำลังหวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจของตนตลอดมา จึงหันไปทุ่มเทความพยายามในอันที่จะไม่ให้ระบบการเมืองเปลี่ยน เช่น คนเหล่านี้กลับไปเป็นนักกษัตริย์นิยมอย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติของความเป็นกษัตริย์นิยมที่เหนียวแน่นนักมาก่อน ทั้งนี้เพราะอยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งสมอที่จะหยุดการก้าวเดินไปข้างหน้า (เช่นหยุดโลกาภิวัตน์ไว้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)

ในภาวะที่มีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้ ข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่นการสร้างกติกาของความขัดแย้งใหม่ ล้วนไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ สิ่งที่น่าคิดก็คือจะหาข้อเสนอระดับกลาง (intermediate measures) ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นที่ยอมรับกันได้หลายฝ่ายได้อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้แก่หลายฝ่าย อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดในสังคมไทยไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องสร้างกลไกและกระบวนการที่จะทำให้คนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวกับ “การเมือง” ของความขัดแย้งโดยตรง แต่จะมีผลลดระดับความขัดแย้งลงไปเป็นอันมาก (หากทำได้สำเร็จ) การเมืองจะไม่กระจุกตัวในส่วนกลาง ที่กล่าวกันว่าการเมืองไทยเป็นเกมส์ “กินรวบ” คือใครได้ก็ได้หมด ใครเสียก็เสียหมดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากสันดานของนักการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขในการจัดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกไว้กับส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ใครได้ตำแหน่งบริหารก็จะมีอำนาจล้นฟ้าโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจจะทำให้ไม่มีวันที่ใครจะได้อะไรหมดฝ่ายเดียว เพราะมีคนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ

ประชาชนระดับล่างสามารถเข้ามามีบทบาท หรือกำกับควบคุม การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งในรูปงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร, งบประมาณที่มาจากแหล่งรายได้ของตนเอง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งผู้บริหารที่อยู่ในโอวาทของประชาชน ไม่ใช่โอวาทของพี่ชาย

คนชั้นกลางที่มีการศึกษาย่อมมีอิทธิพลทางด้านความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอยู่แล้ว ใครจะบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งได้ดี หากไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง

คนที่กลัวการรัฐประหาร การกระจายอำนาจจะทำให้ผู้ทำรัฐประหารไม่รู้จะ “ยึด” อะไร เพราะไม่มีศูนย์กลางอะไรให้ยึด แม้แต่สถานีโทรทัศน์ก็ไม่รู้จะยึดช่องไหนดี เพราะไม่มีอำนาจของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด

ความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม-อุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่ม ระหว่างชนชั้น แม้แต่เมื่อชนชั้นนำสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ก็หาได้ทำให้ความขัดแย้งที่แท้จริงหมดไปไม่

ผู้ซึ่งมีหน้าที่คิดเรื่องการ “ปรองดอง” ควรคิดถึงมาตรการระดับกลางเช่นนี้ให้มาก เพื่อจะนำไปสู่การรอมชอมที่แท้จริงของภาคประชาชน ไม่ใช่การเกี้ยเซี้ยที่มุ่งจะรักษาระบบการเมืองให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มติชนรายวัน, 2 กรกฎาคม 2555

รัฐประหารคือการทุจริตทำลายชาติ, ดร.โสภณ พรโชคชัย

5 June 2012 Leave a comment

รัฐประหารคือการทุจริตทำลายชาติ, ดร.โสภณ พรโชคชัย

โดยดร.โสภณ พรโชคชัย

” . . . .ก็ยังมีเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง ได้คุยกับผม ท่านเป็นนายทหาร เป็นชั้นนายพล ต้องพูดว่า การปฏิวัติครั้งหนึ่ง ๆ พวกคณะปฏิวัติร่ำรวยกันมหาศาล ถ้าใครปฏิวัติแล้วมีเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ถือว่ามือตกมาก ทำให้ผมมีความรังเกียจในการปฏิวัติรัฐประหารมากมายเหลือเกิน”

ข้างต้นเป็นคำกล่าวของนายโสภณ จันเทรมะ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ในระหว่างการอภิปรายในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้ต่อต้านการทุจริต” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระดับสูง รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งผู้เขียนได้เข้าศึกษาและจบการศึกษาไปแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะว่าในการทำรัฐประหารครั้งหนึ่ง ๆ คณะรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน และไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ ตัวอย่างเช่น คณะรัฐประหารสามารถเบิกเงินจากคลังหลวงออกมาใช้สอยตามอัธยาศัย เพื่อการยึดอำนาจ การรักษาอำนาจที่ยึดมา และเผื่อไว้เพื่อการหนีออกนอกประเทศ หากรัฐประหารนั้น ๆ กลายเป็นกบฏ แต่หากสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ก็ได้เงินไปใช้สบาย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องส่งคืนคลัง

โดยนัยนี้รัฐประหารก็คือการทุจริตในรูปแบบหนึ่ง เป็นการโกงเงินของประเทศชาติและประชาชน เอาไปใช้เพื่อการยึดอำนาจให้กับกลุ่มของตนโดยไม่ต้องส่งคืนคลังหลวง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีรัฐประหารครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่แสดงรายรับรายจ่ายเพราะถือเป็นความลับแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงก็คือความลับในการปฏิบัติการยึดอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ

ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นก็คือรัฐประหารเป็นการกระทำทุจริตที่กลับกลายเป็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการของประชาชนที่ถูกล้มล้างไป เพราะอำนาจรัฐประหาร นอกจากการทุจริตแล้ว ยังสามารถสั่งฆ่า สั่งยึดทรัพย์ หรือสั่งทำลายหรือให้รางวัลแก่ใครก็ได้โดยเสมือนชอบด้วยกฎหมาย และสุดท้ายคณะรัฐประหารเองรวมทั้งการกระทำทั้งปวงของคณะรัฐประหารก็มักได้รับการนิรโทษกรรมไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงนั้น รัฐประหารก็คือความเถื่อนหรืออนารยะ เพราะรัฐประหารกระทำการด้วยการใช้กำลังอาวุธมาล้มล้างรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชนชาวไทย ในระหว่างทำการ คณะรัฐประหารมักจะหาข้ออ้างมากมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจเดิมที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การใช้กำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่ามาเอาชนะจนสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ และทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นฝ่ายกบฏหรือฝ่ายที่ไม่ชอบธรรม ย่อมแสดงถึงความเถื่อน และความไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐของคณะรัฐประหารเอง และด้วยกำลังพลและกำลังอาวุธที่เหนือกว่า จึงปิดปากวิญญูชนได้ (ชั่วคราว)

โดยที่ธรรมชาติสำคัญของการรัฐประหาร ก็คือ การใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน จึงกลายเป็นบ่อเกิดของการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้ที่ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ที่ชิงความได้เปรียบเหนือบุคคลอื่น จึงต้องเข้าหาคณะรัฐประหารซึ่งมีอำนาจสูงสุด การทุจริตต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นตามมา และด้วยเหตุนี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารหรือผู้เผด็จการต่าง ๆ จึงมักกลายสภาพเป็นทรราช ที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ

ยิ่งกว่านั้น หลังจากการทำรัฐประหาร ผู้ที่ได้ประโยชน์หรือ “ส้มหล่น” ก็คือผู้ที่ร่วมปลุกปั่นสร้างสถานการณ์ให้เกิดรัฐประหาร บุคคลเหล่านี้ก็จะได้รับลาภยศ ถูกแต่งตั้งให้เป็นตุลาการบ้าง กรรมการในองค์กรอิสระที่ถูกอำนาจรัฐประหารครองงำบ้าง หรือสภา “เปรซิเดียม” (เอาไว้ออกกฎหมายเข้าข้างพวกเดียวกัน) ที่แต่งตั้งกันเองโดยคณะรัฐประหารตามอำเภอใจโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง หรือไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน บุคคลเหล่านี้ได้อำนาจมาจากปากกระบอกปืนของฝ่ายรัฐประหารโดยแท้ นี่คืออีกบริบทหนึ่งของการโกงกินทรยศต่อชาติ

ดังนั้นเราจะไปตั้งความหวังว่าจะมีคณะรัฐประหารใดกระทำการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มของตนเฉกเช่น ‘พระเอกขี่ม้าขาว” นั้น ย่อมเป็นความหวังที่เลื่อนลอย เป็นความหลงผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของคณะรัฐประหารและสมุนของคณะรัฐประหารนั้น ๆ เท่านั้น เพราะเนื้อแท้ของการัฐประหารก็คือการแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ใช่การอภิวัฒน์เช่นการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ที่คณะราษฎรกระทำการเพื่อประเทศไทยโดยตรง

ที่สำคัญรัฐประหารสร้างความวิบัติซ้ำซ้อนให้กับประเทศไทย ทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยตกต่ำ กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเช่นประเทศด้อยพัฒนาระดับล่าง ๆ ของโลก ที่มักใช้กำลังอาวุธขู่เข็ญเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ แทนที่จะรอคอยการเปลี่ยนแปลงตามกลไกทางการเมืองเช่นอารยะประเทศ ทำให้เกียรติภูมิของประเทศลดลง โอกาสการลงทุนของชาวต่างประเทศในไทยก็ลดน้อยลงไปด้วย อาจกล่าวได้ว่าการทุจริตอื่นอาจส่งผลเสียเฉพาะจำนวนเงินที่ปล้นหรือลักไป แต่รัฐประหารจะส่งผลเสียเป็นเท่าทวีต่อประเทศชาติ ถ้าประเทศไทยเกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไทยก็จะตกต่ำยิ่งกว่าพม่าที่เพิ่งเริ่มมีประชาธิปไตย

คนไทย (บางส่วน) ไม่ควรหลงผิดไปเห็นดีเห็นงามกับอำนาจนอกระบบ จนสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ไทยควรเข้าสู่สังคมอารยะ รู้จักเกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ เลิกคิดทำรัฐประหารกันได้แล้ว

ข่าวสดออนไลน์, 01 มิถุนายน 2555

อิสระของทหารเหนือการเมือง, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

27 October 2011 Leave a comment

อิสระของทหารเหนือการเมือง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายจัดระเบียบราชการกลาโหมในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็คือ ต้องการป้องกันนักการเมืองที่มาดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารใช้อำนาจให้คุณให้โทษอย่างไม่เป็นธรรม

ด้วยการชี้ให้เห็นว่าหากปล่อยให้นักการเมืองสามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกองทัพได้ก็จะเป็นผลให้บรรดานายทหารทั้งหลายต่างพากันวิ่งเข้าหานักการเมือง และในที่สุด ก็ทำให้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายถูกควบคุมโดยนักการเมือง

ปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ได้เคยปรากฏมาก่อนหน้าแล้ว เมื่อมีนักการเมืองเข้าไปเป็นผู้ใช้อำนาจในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ การใช้เหตุผลดังกล่าวนี้ จึงทำให้สังคมมองเห็นภาพความเป็นจริงได้ไม่ยาก

อันที่จริงถ้าการแทรกแซงของนักการเมืองในการแต่งตั้งเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งผลด้านลบ กระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานต่างๆ ในระบบราชการของไทยก็ควรยึดถือหลักการเดียวกับการแต่งตั้งนายทหารระดับสูงเหมือนกัน จะแต่งตั้งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากบิ๊กๆ ในแต่ละกระทรวงก่อน

แต่คำถามที่อาจจะไม่ได้ขบคิดกันไปพร้อมกัน ก็คือ หากไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งโดยนักการเมืองแล้วกระบวนการแต่งตั้งบุคลากรในกองทัพจะเป็นไปโดยไม่มีการใช้เส้นสายเลยกระนั้นหรือ

ถ้าการวิ่งเข้าหานักการเมืองของบรรดานายทหารเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้อันเนื่องมาจากความปรารถนาในตำแหน่งใหญ่โตของแต่ละบุคคล หากอำนาจเปลี่ยนมือจากนักการเมืองมาสู่บรรดาบิ๊กๆ ในกองทัพแทน (ดังที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายจัดระเบียบราชการกลาโหม) จะรู้กันได้อย่างไรว่าจะไม่มีการวิ่งเต้นเกิดขึ้น

ในเมื่อต่างก็เป็นบุคคลธรรมดาเหมือนกัน ก็ย่อมมีการคิดถึงผลประโยชน์ เครือข่าย ความมั่นคง การสนับสนุน หรืออื่นๆ ด้วยเช่นกัน

เพียงแต่รูปแบบของการวิ่งเต้นหรือการเข้าหาอาจเปลี่ยนแปลงไป จากที่ต้องสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับนักการเมืองก็ต้องแปรเปลี่ยนมาเป็นการเสนอหน้าให้นายเห็น การใช้เส้นสายของรุ่นหรือหน่วยงานที่สังกัดร่วมเป็นร่วมตายกันมา ก็เป็นข้อวิจารณ์ให้เห็นมาอย่างกว้างขวางเช่นกันแล้วมิใช่หรือเมื่อการโยกย้ายอยู่ในมือของพวกบิ๊กๆ ตัวเก็งของการแต่งตั้งในแต่ละครั้งมีเหตุผลอื่นมากกว่าความสามารถแต่เพียงอย่างมิใช่หรือ

จะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็คือกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักคุณธรรมเหมือนกัน

ที่กล่าวเช่นนี้อาจทำให้ดูราวกับว่าไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการแต่งตั้งโยกย้ายโดยนักการเมืองหรือบรรดาบิ๊ก แต่ในหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือ ความมีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งเหนือระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นราชการทหารหรือพลเรือนก็ตาม

ความสามารถในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน จึงต้องมีอำนาจในการคัดเลือกบุคคลที่ฝ่ายการเมืองเห็นว่ามีความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน เพื่อทำให้นโยบายของนักการเมืองที่นำเสนอต่อประชาชนสามารถเดินหน้าไปได้ ในทางกลับกัน หากไม่สามารถผลักดันนโยบายที่ได้โม้ไว้ก็ย่อมมีความรับผิดในทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารหรือข้าราชการระดับสูงของนักการเมือง จึงมีกลไกความรับผิดต่อประชาชนดำรงอยู่

แต่หากเป็นอำนาจของบิ๊กๆ แล้ว ความรับผิดอันเนื่องมาจากการแต่งตั้งนายทหารที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่จะไปอยู่ที่ไหน ถ้าแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารที่ไม่ได้เรื่อง คนซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทิ้งทวนก็อาจเกษียณอายุไปเลี้ยงหลานอยู่บ้านเรียบร้อย ไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน หรือการตรวจสอบอันใด

ความรับผิด (accountability) เป็นหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย เพราะจะทำให้การกระทำต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับ และตรวจสอบ มิใช่เป็นเทวดาที่สามารถทำเรื่องต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรับผิดต่อใครแม้แต่น้อย

ขอย้ำไว้นะครับว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองจะมีสันดานที่ดีกว่านายทหารและในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน การวัดความดีความชั่วของบุคคลเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ทางที่ดี ก็คือ การสร้างระบบขึ้นมาตรวจสอบและสร้างความรับผิดจากการกระทำให้บังเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของนักการเมือง

การสร้างกระบวนการการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าขัดต่อความชอบด้วยกฎหมาย เช่น การโยกย้ายไปสู่ตำแหน่งที่ตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมโดยบุคคลนั้นปราศจากความผิดใด การแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่ถูกต้องมาดำรงตำแหน่ง เป็นต้น เป็นตัวอย่างของการสร้างกระบวนการที่ไม่ได้ฝากความหวังไว้เพียงเรื่องความดีชั่วส่วนตัว รวมทั้งองค์กรที่ทำหน้าวินิจฉัยที่มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง

ถ้าหากเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายภายในกรอบของอำนาจ แต่เป็นดุลยพินิจที่นักการเมืองได้ใช้ไปตามความเห็นของตน เช่น ระหว่างการเลือกนาย ก. กับ นาย ข. ที่มีคุณสมบัติไม่แตกต่างกันมากแต่อย่างใด ก็ย่อมถือเป็นการตัดสินใจในทางการเมือง หากบุคคลที่ถูกแต่งตั้งไปทำหน้าที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลหรือรัฐมนตรีก็ต้องมีความรับผิดกับการตัดสินใจดังกล่าวในทางการเมือง

กระบวนการดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ปกติอย่างมากในสังคมประชาธิปไตย หากจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติก็คงในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ หรือมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับต่ำเท่านั้น

กรุงเทพธุรกิจ, 27 ตุลาคม 2554

ประชาธิปไตยแบบ “ผี-ผี”, สรกล อดุลยานนท์

9 April 2011 Leave a comment

ประชาธิปไตยแบบ “ผี-ผี”

โดย สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้การเมืองไทยมี “ผี” อยู่ 2 ตัว ที่กำลังหลอกหลอนคนไทย

“ผี” ตัวแรก คือ ผีรัฐประหาร

ขนาด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ประกาศจะยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม

และผลักดัน “กฎหมายลูก” อย่างจริงจัง

แต่คนในแวดวงการเมืองก็ยังถามกันอยู่เลยว่า “จะมีการเลือกตั้ง” หรือไม่

จน “ผู้บัญชาการ” ทุกเหล่าทัพต้องออกมายืนเรียงหน้ากระดานประกาศว่าจะไม่มีการรัฐประหาร และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“ท่านเชื่อเถอะว่าเราจะไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ท่านเลิกเชื่อข่าวลือเถอะ ที่บอกว่าทหารจะปฏิวัติ ไม่มีหรอก ทหารจะไม่เกี่ยวข้องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น”

ทุกประโยคของพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั้นชัดเจนมาก

ไม่ปฏิวัติ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่เชื่อ

ถามว่าแปลกใจไหม

ตอบได้เลยว่า “ไม่แปลก”

เพราะประวัติศาสตร์ช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังสดๆ ร้อนๆ

จำคำสุดฮิตในอดีตได้ไหมครับ

“ลับ-ลวง-พราง”

เป็นคำที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ภาคภูมิใจมาก

“พูดอย่าง-ทำอย่าง” คือหนึ่งในกลยุทธ์ “ลับ-ลวง-พราง” ของ “บิ๊กบัง”

หรือกรณีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ร่วมประชุมกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่กรมทหารราบ11 รอ.

เสนอ “เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้” เพื่อให้ย้ายขั้วมาหนุน “ประชาธิปัตย์”

นักการเมืองที่อยู่ในวงสนทนาวันนั้นออกมาเล่าให้นักข่าวฟังเป็นฉากๆ

ล่าสุด “ไพโรจน์ สุวรรณฉวี” ก็เพิ่งพูดถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา

“ความจริง” ในอดีตที่ “ผู้นำ” รุ่นก่อนทำไว้ทำให้คนไม่เชื่อมั่นคำสัญญาของผู้นำเหล่าทัพในวันนี้

“ผีรัฐประหาร” จึงยังคงหลอกหลอน “คนไทย” ต่อไป

ส่วน “ผี” ตัวที่ 2 คือ ผีคอมมิวนิสต์ ครับ

“หมอผี” ที่ปลุกกระแสนี้มาหลอกหลอกคนไทยคือ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

เขากล่าวหา “คนเสื้อแดง” ว่าใช้แนวคิด “คอมมิวนิสต์”

ทั้งที่วันนี้ลัทธิ “คอมมิวนิสต์” มีแต่หดหายไปจากโลก ประเทศคอมมิวนิสต์อย่าง “จีน” ก็กำลังลอกคราบเข้าสู่ “ทุนนิยม”

แต่ “สุเทพ” ก็ยังปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา

ไม่แปลกหรอกครับที่ “แทน เทือกสุบรรณ” ลูกชายของ “สุเทพ” จะถามคุณพ่อว่าเป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่า ทำไม “คนเสื้อแดง” จึงไม่ลดลง

เพราะเมื่อวิธีคิดผิด การกระทำก็ผิด

“ผี” 2 ตัวในโลกการเมืองวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจาก “ความกลัว” ทั้งสิ้น

ตัวหนึ่ง เกิดขึ้นจาก “ความกลัว” ของคนไทยจาก “ความจริง” ในอดีตที่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้

แต่ผีอีกตัวหนึ่ง เกิดจาก “ความกลัว” ของคนที่มีอำนาจ

กลัวจะหลุดจากอำนาจ

ก็เลยทำตัวเป็น “หมอผี” ปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา

ว่ากันว่า “เหมา เจ๋อ ตุง” ยังบ่นเลย

เอ็งมา ข้ามุด เอ็งหยุด ข้าแหย่ เอ็งแย่ ข้าตาม

…เอ็งอย่าพยายาม ข้าไม่เอาด้วย

ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2554

มติชน, 9 เมษายน 2554

อาฟเตอร์ช็อค, สรกล อดุลยานนท์

27 March 2011 Leave a comment

อาฟเตอร์ช็อค

โดย สรกล อดุลยานนท์

มีคนบอกว่าสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติในวันนี้ คือ “อาฟเตอร์ช็อค” ทางการเมืองจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

การรัฐประหาร เปรียบเสมือน “แผ่นดินไหว” ทางการเมือง

“แผ่นดินไหว” นั้นคือ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกแบบ “ผิดปกติ”

ทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ มักจะตามมาด้วย “อาฟเตอร์ช็อค” อีกหลายครั้ง

ที่ญี่ปุ่น แผ่นดินไหว 9 ริคเตอร์ 1 ครั้ง

แต่ตามมาด้วย “อาฟเตอร์ช็อค” อีกหลายสิบครั้ง

บางครั้งก็หนักหนาระดับแผ่นดินไหวที่พม่า 7 ริคเตอร์ เมื่อวันก่อน

ในพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เรียก “อาฟเตอร์ช็อค” ว่า “แผ่นดินไหวตาม”

คือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมา หินต่างๆ รอบๆ ศูนย์กลางไหวสะเทือนใต้ผิวโลกจะพยายามปรับตัวให้คืนสภาพสมดุล

จึงเกิดแผ่นดินไหวตามมาเป็นระยะก่อนจะหยุดไหวสนิท

“การเมือง” ก็เช่นกัน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบ “ผิดปกติ” ย่อมส่งผลสะเทือนแบบ “อาฟเตอร์ช็อค” ตามมาเป็นระยะ

การรัฐประหารที่ผ่านมาก็คือ เหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” ทางการเมืองเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ “ผิดปกติ”

จากนั้น “อาฟเตอร์ช็อค” ก็ตามมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การก่อตัวของ “คนเสื้อแดง” ความรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนมี “ที่มา” จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น

ขนาด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่าจะยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

แทนที่ทุกคนจะพุ่งเป้าความสนใจไปที่การเลือกตั้ง

กลับมีคนบางกลุ่มปลุกกระแส “ไม่มีเลือกตั้ง” และ “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นมา

ไม่มีใครกล้า “ฟันธง” บอกว่าเรื่องนี้ “เป็นไปไม่ได้”

แม้แต่ “อภิสิทธิ์” หรือ “สุเทพ” เองก็ตาม

ปากก็บอกว่าไม่จริง เป็นไปไม่ได้

แต่ในใจคงหวั่นไหวเหมือนกัน

ถามว่าทำไมจึงหวั่นไหว

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2549

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กกต.ลาออก-นายกฯมาตรา 7-ตุลาการภิวัฒน์ หรือการรัฐประหาร

ทุกเรื่องล้วนแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น

“ตัวละคร” ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม

ความกลัว “ทักษิณ ชินวัตร” ก็ยังคงอยู่

อย่าลืมว่าการรัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นก็เพราะความกลัวว่าพรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้ง

มีคนบอกว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของ “แผ่นดินไหว” นั้นไม่ใช่ความเสียหายทางวัตถุหรือชีวิตคน

แต่เป็นเรื่อง “จิตใจ”

“อาฟเตอร์ช็อค” ทางจิตใจนั้นหนักหนายิ่งกว่าทางวัตถุมากนัก

คนที่เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์

จะเกิดความหวาดระแวงตลอดเวลา

เช่นเดียวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ที่ทำให้คนไทยเกิดความหวาดระแวง

ไม่เชื่อมั่นว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย

อย่าแปลกใจที่จะไม่มีใครเชื่อคำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าจะไม่ปฏิวัติ

ไม่มีใครเชื่อ “อภิสิทธิ์” ว่าจะมีการเลือกตั้ง

ไม่มีใครเชื่อว่า “ตุลาการภิวัฒน์” จะไม่เข้ามายุ่งการเมือง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เราต้องนึกเสมอว่า “ประวัติศาสตร์” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว

เราแก้ไขอะไรไม่ได้

แต่ “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”

เราจัดการได้ !!!

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2554)

มติชน, 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

“เส้นใหญ่”…เล็กไป โดย สรกล อดุลยานนท์

19 December 2010 Leave a comment

“เส้นใหญ่”…เล็กไป โดย สรกล อดุลยานนท์

19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2553)

แม้จะเป็นน้องใหม่ของวงการ “ก๊อบปี้ ไรเตอร์” ทางการเมือง แต่สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็สามารถสร้างเสียงฮือฮาขึ้นมาได้

กับฉายาของรัฐบาล “เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว”

ลำพังชื่อนั้นไม่เท่าไร แต่คำอธิบายความสิครับ

…สุดยอด

เขาอธิบายว่า “เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว” นั้นประกอบไปด้วย

“เส้นใหญ่” คือ ได้รับการสนับสนุนจากกระบอกปืนและรถถัง รวมถึงบารมีทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่เป็น “ผัดซีอี๊ว” เนื่องจากมีสีดำ เหมือนข่าวคาวความฉ้อฉลของรัฐบาลชุดนี้ ที่แม้นายอภิสิทธิ์พยายามแสดงตนเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต หากแต่อยู่ร่วมในรัฐบาลเดียวกัน

“เส้นใหญ่” จึงเป็น “สีดำ”

อีกทั้ง “ผัดซีอิ๊ว” ยังประกอบด้วย “คะน้า” และ “ไข่ไก่”

“คะน้า” มีสีเขียวคล้ายกองทัพ ส่วน “สีเหลือง” คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

คลุกเคล้ารวมกันจึงกลายเป็น “เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว”

อธิบายได้เหนือชั้นจริงๆ

เพราะแค่อาหารจานเดียวแต่แสดงถึงองค์ประกอบของรัฐบาลได้ครบถ้วน

ไม่แปลกที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้จัดการรัฐบาลจะไม่ชอบฉายานี้

แต่แปลกใจกับเหตุผลของ “สุเทพ”

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความชอบธรรม” ด้วยเหตุผลว่า “อภิสิทธิ์” ได้รับเสียงยกมือจาก ส.ส.ในสภา

หรือยืนยันว่ารัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพราะการประสานงานของ “สุเทพ” เอง

นักข่าวถามว่ายืนยันใช่ไหมว่าได้อำนาจรัฐมาเพราะพรรคประชาธิปัตย์เอง โดยไม่มีพี่เลี้ยงพิเศษจัดให้

“ใช่ ไม่มีใครมาจัดให้”

น่าแปลกนะครับว่าในวันนี้ยังมีคนเชื่อว่ามนุษย์สามารถ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ได้

จำได้ว่าจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ นักข่าวก็ตั้งฉายาในช่วงปีใหม่ทันที

“รัฐบาลเทพประทาน”

“นักข่าวการเมือง” นั้นรู้เรื่อง “อำนาจนอกระบบ” เป็นอย่างดี เพราะนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนเล่าให้ฟังเป็นฉากๆเลยว่านั่งรถไปที่ปั๊มน้ำมันหน้าค่ายก่อนจะเปลี่ยนรถเข้าค่ายอย่างไร

นายทหารคนไหนพูดอะไร

รู้หมด

ฉายา “รัฐบาลเทพประทาน” จึงเกิดขึ้นจาก “นักข่าว” ที่อยู่ในแวดวงข่าวสาร

แต่ “รัฐบาลเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว” นั้นเกิดจาก “คนนอก”

เห็นอย่างไรก็ตั้งฉายาอย่างนั้น

ซึ่งวันนี้อาจจะเชยไปบ้าง เพราะหลังผ่านคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว

แค่ “เส้นใหญ่” คงจะน้อยไป

ยิ่งตอนหลัง “อภิสิทธิ์” เริ่มไม่สนใจกองทัพและกลุ่มพันธมิตร เพราะเชื่อมั่นใน “บารมี” ของตนเอง

“คะน้า” กับ “ไข่ไก่” จึงไม่จำเป็น

ฉายาที่เหมาะสมกับรัฐบาลชุดนี้มากที่สุด คือ รัฐบาลก๋วยเตี๋ยวหลอด

ยังคลุก “สีดำ” เหมือน “ผัดซีอิ๊ว”

แต่ “แป้ง” ที่ห่อไส้นั้นใหญ่กว่า “เส้นใหญ่”

เพราะรัฐบาล “อภิสิทธิ์” วันนี้

ถ้าใช้สำนวนคอนเสิร์ต “บิ๊ก เมาท์เทน” ที่เขาใหญ่

ต้องบอกว่า…

…มันใหญ่มาก

กงเกวียนกำเกวียน โดย สรกล อดุลยานนท์

28 November 2010 Leave a comment

กงเกวียนกำเกวียน โดย สรกล อดุลยานนท์

ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร”

ต้องเผชิญหน้ากับ “กลุ่มพันธมิตร” ที่เคยรักใคร่กลมเกลียวกันมาก่อน

และเป็น “แนวร่วม” ในการขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ-สมัคร-สมชาย”

ก่อนหน้านี้ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์” วิเคราะห์สถานการณ์แบบโยน “ระเบิด” ถามทางว่า “ม็อบพันธมิตร” ที่นัดชุมนุมกันในวันที่ 11 ธันวาคม มีบางคนต้องการสร้าง “เงื่อนไข” ให้ “กองทัพ” ทำรัฐประหาร

“รัฐประหาร” ในมุมของ “อภิสิทธิ์” คือ การพบกันระหว่าง “เชื้อเพลิง” กับ “ไฟ”

“เชื้อเพลิง” คือกลุ่มพันธมิตร

“ไฟ” คือ “กองทัพ”

ถ้ามีแต่ “เชื้อเพลิง” แต่ “ไฟ” ไม่เล่นด้วย การรัฐประหารก็ไม่เกิด

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “รัฐประหาร” ที่ “อภิสิทธิ์” จุดขึ้นมา หลายคนจึงมองว่า “ระเบิด” ที่โยนออกมาพุ่งเป้าไปที่ “กองทัพ”

มากกว่า “กลุ่มพันธมิตร”

จำได้ว่า “อภิสิทธิ์” เคยมีวาทกรรมหนึ่งที่คมคายอย่างยิ่ง

“การมีรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”

ครับ การรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากที่เมืองไทยว่างเว้นการรัฐประหารมานานถึง 15 ปี

เมื่อการแก้ปัญหาทางการเมืองที่สุดแสนจะ “โบราณ” และ “ล้าหลัง” ถูกนำมาใช้อีกครั้ง “ความเป็นไปได้” ที่จะเกิดการรัฐประหารครั้งต่อไปจึงสูงขึ้น

“อภิสิทธิ์” ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

แต่พูดสั้นๆ แค่นี้ เพราะ “เนื้อหา” ส่วนใหญ่ “อภิสิทธิ์” จะพูดถึง “เงื่อนไข” ที่เกิดจากนักการเมืองมากกว่า

ในหนังสือ “ร้อยฝันวันฟ้าใหม่” ของ “อภิสิทธิ์” เขาบอกว่าการป้องกันการรัฐประหารที่ดีที่สุด คือ นักการเมืองต้องไม่สร้างเงื่อนไขแบบนี้อีก

ความผิดพลาดของ “อภิสิทธิ์” คือเขาไม่ปิดประตูตาย ปฏิเสธการรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง

ระดับต่อให้เป้าหมายดีแค่ไหน นักการเมืองเลวเพียงใด “กองทัพ” ก็ไม่มีสิทธิรัฐประหาร

แต่แง้มประตูไว้นิดๆ ว่ารัฐประหารจะชอบธรรมเมื่อนักการเมืองสร้าง “เงื่อนไข” ขึ้นมา

ย้อนอดีตกลับไป จำ “เงื่อนไข” หรือ “เหตุผล” 4 ข้อที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใช้ในการรัฐประหารได้ไหมครับ

1.เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

2.รัฐบาลทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง

3.แทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ

4.ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

อ่าน “เงื่อนไข” เหล่านี้แล้ว “อภิสิทธิ์” ก็มีสิทธิหนาวๆ ร้อนๆ

เพราะถ้าสถานการณ์เมื่อปี 2549 ยังบอกว่าสังคมไทยแตกแยก ปี 2553 ก็คงอยู่ในระดับแตกละเอียด

ส่วนเรื่องทุจริต รัฐบาลชุดนี้ไม่แพ้รัฐบาล “ทักษิณ” เผลอๆ จะชนะแบบขาดลอยด้วย

เรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ

คลิป “วิรัช” กับ “เลขาฯศาล” ก็ชัดยิ่งกว่าชัด

ส่วนเรื่อง “สถาบันเบื้องสูง” ครั้งก่อนกลุ่มพันธมิตรเป็นคนเปิดประเด็นโจมตี “ทักษิณ”

แต่ “อภิสิทธิ์” ไม่โดน มีแต่ข้อหาใหม่…”ขายชาติ”

ไม่แปลกที่วันนี้ “อภิสิทธิ์” จะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมา

ทั้งที่ พล.อ.สนธิเคยสารภาพกับ “สำราญ รอดเพชร” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ว่าเขาคิดเงื่อนไข 4 ข้อนี้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 กันยายนหลังยึดอำนาจสำเร็จแล้ว

“4 ข้อนี้เราคิดขึ้นมาฉุกเฉิน ว่างั้นเถอะ ที่คิดว่ามีเหตุมีผล…”

ใครที่คิดว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

ให้กลับไปอ่านคำพูดของ “อภิสิทธิ์” อีกครั้ง

“การมีรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”

…อาเมน

มติชนออนไลน์, 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
(ที่มา คอลัมน์ สถานีความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553)

ไม่เกรงใจตุลาการ-ทหารภิวัตน์ “วรเจตน์” ในคัมภีร์ “นิติรัฐ” รัฐบาล-ประชาธิปไตย ในคำพิพากษาสื่อ

10 January 2010 Leave a comment

ไม่เกรงใจตุลาการ-ทหารภิวัตน์ “วรเจตน์” ในคัมภีร์ “นิติรัฐ” รัฐบาล-ประชาธิปไตย ในคำพิพากษาสื่อ

สัมภาษณ์พิเศษ

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้เปิดศักราชใหม่ด้วยบทวิพากษ์สังคมการเมืองไทยอันเผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่งของ “ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อดีตหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงบทวิพากษ์สื่อมวลชน พ.ศ.นี้ อย่างตรงไปตรงมา !

– ในฐานะที่อาจารย์สอนกฎหมายมหาชน พอใจกับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติรัฐ ของรัฐบาลชุดนี้มากน้อยแค่ไหน

1 ปีสำหรับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ถ้าพูดกันตรงไปตรงมาแบบ ไม่เกรงใจกัน ผมคิดว่ารัฐบาลมัวแต่ไปเอาใจใส่กับเรื่องคุณทักษิณ (ชินวัตร)มากเกินไป ทำให้รัฐบาลไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็นหลายเรื่อง

ฉะนั้นถามว่า นิติรัฐในรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร ผมมองว่าจริง ๆ ไม่เฉพาะรัฐบาลนี้ แต่ประเด็นเรื่องนิติรัฐในช่วงหลายปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมคิดว่ายังไม่เข้าสู่ระดับที่ควรจะเป็นหลายเรื่อง อย่างที่บอก (ครับ) รัฐบาลอภิสิทธิ์ไปมุ่งในประเด็นการเมืองเกี่ยวกับการต่อสู้ของขั้วทางการเมืองมาก สำหรับผม ผมจึงมอง ไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ในการผลักดันให้หลัก นิติรัฐหยั่งรากลงลึกในสังคมไทย

– รัฐบาลบอกว่าจะเร่งผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ได้ภายในปีนี้ อาจารย์คิดว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่

คำถามนี้ผมอาจจะตอบโดยตรงไม่ได้ (นะ) แต่ผมมองในแง่วิธีคิดทางประชาธิปไตยว่า เรามีปัญหาเรื่องนี้ คือ ทุกวันนี้เวลาเรามองเรื่องประชาธิปไตย เราไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยมันคือเรื่องการจัดสรรแบ่งปันตัวผลประโยชน์ของ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในทางการเมือง

อย่างที่ผมเคยเน้นเสมอว่า ทุกคนมีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น ขณะที่ตัวเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญหรือตัวกฎหมาย ต้องพยายามจัดสรรตัวกติกา กติกาที่ทำขึ้นต้องเป็นกติกาที่วางอยู่บนความยุติธรรม แล้วให้กระบวนการในการเจรจา การต่อรองในทางผลประโยชน์กันเป็นไปโดยหลักการในทางประชาธิปไตย ที่มีการ ตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก โดยเคารพ เสียงข้างน้อย เพราะนโยบายบางอย่างทำให้บางกลุ่ม บางชนชั้น เสียผลประโยชน์อยู่เหมือนกันในบางเรื่อง

แต่ในระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด มันผ่านกระบวนการตัดสินใจแบบนั้นมันก็ต้องยุติและเคารพกัน แต่ปัญหาคือประเทศเรายังไม่ได้มีสภาพที่เป็นประชาธิปไตย เราก็เจอแบบนี้ร่ำไป

ถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยมั้ย ผมว่าในทางคุณค่า เรามีปัญหามากว่าเป็นหรือเปล่า ยกตัวอย่างว่าในสมัยกลาง ศาสนจักรสอนว่าประชาชนหรือคน มีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด มนุษย์สูญเสียธรรมชาติที่ดี มนุษย์จึงไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ หนทางที่จะรอดพ้นจากบาปก็คือ การปฏิบัติตามพระคัมภีร์ไบเบิล เชื่อในพระเจ้า และเชื่อในคำสั่งสอนของโบสถ์ โดยอาศัยวิธีการกล่อมเกลา ลดทอนตัวคุณค่าของคนลงในลักษณะแบบนี้ โบสถ์ในยุคกลางก็สามารถกระทำการหลายอย่างได้ โดยอาศัยความเชื่อถือศรัทธาเป็นตัวนำ

ภายใต้ลักษณะแบบนี้ โบสถ์ก็มีผลประโยชน์อันมหาศาล ในสมัยกลาง โบสถ์สามารถขายใบบุญไถ่บาปได้ เอาเงินมาได้ แล้วเงินที่ได้มาส่วนหนึ่ง โบสถ์ก็นำไปใช้ในการทำสงคราม แต่ภายใต้วิธีคิดที่บอกว่ามนุษย์มีบาป มีแต่บรรดานักบวชเท่านั้นที่ปลดเปลื้องจากบาปแล้ว เป็นตัวแทน ของพระเจ้าบนพื้นพิภพ แล้วก็เกิดสภาพแบบกดคน

จนยุโรปผ่านยุคกลางมาได้ เข้าสู่ยุค แสงสว่างในทางปัญญา เขาจึงรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ขึ้นมา การแสดงความคิดในเรื่องต่าง ๆ ก็ตามมา

ซึ่งผมรู้สึกว่าคุณค่าอันหนึ่งของบ้านเรา บางทีอาจจะเทียบเคียงได้เหมือนกับสมัยกลาง บ้านเราทุกวันนี้กำลังจะบอกว่า ประชาชนเรายังไร้การศึกษา ตัดสินใจทาง การเมืองไม่ได้ ฉะนั้นจะต้องมีคนที่มีการศึกษา คนชนชั้นนำ เป็นคนตัดสินใจแทน

ถ้าเกิดมีการเลือกตั้ง ก็บอกว่าประชาชนถูกซื้อ เมื่อประชาชนถูกซื้อ ก็ไม่ต้องเคารพการเลือกตั้งกัน เพราะซื้อเสียงกันเข้ามา ก็บอกว่าอย่าเลือกตั้งเลย ให้ผมแล้วกัน เป็นคนจัดการเอง ถ้าเรามีการถูกปลูกฝังความคิดแบบนี้ ความคิดดูถูกคน มันคือการทำลายคุณค่ารากฐานทางประชาธิปไตย

ในทางวิชาการ ผมพูดหลายครั้งแล้วว่า เราไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังเลย ถึงการเลือกตั้งในช่วงหลังว่าพฤติกรรมของคนในการเลือกตั้ง มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การซื้อเสียงยังเป็นแบบเดิมหรือยังมีการซื้อเสียงอยู่ แต่ว่า ผลกระทบที่มีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ผมเชื่อว่าการซื้อเสียงแม้หากจะยังมีอยู่ แต่มันอาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว เพราะผลการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งหลัง ไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้บริบททางการเมืองที่ แตกต่างกัน การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นการเลือกตั้งตามกติกาอันใหม่ ซึ่งถูกทำขึ้นโดย ส.ส.ร. ที่เชื่อมโยงหรือมีที่มากับ คมช. ซึ่งเป็นคนเข้ายึดอำนาจการปกครองล้มรัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาลของ คมช. ภายใต้ กกต. ซึ่งเป็น กกต.อีกชุดหนึ่งแทน กกต.ชุดเดิม แต่เรา ก็เห็นว่าเสียงข้างมากยังไม่เปลี่ยน

เราจะอธิบายเรื่องนี้ว่าอย่างไร อธิบายว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังโง่อยู่ โง่อยู่เพียงเพราะว่าไม่ได้เลือกพรรคการเมืองอย่างที่คนชั้นกลางหรือ คนชั้นสูงส่วนหนึ่งต้องการให้เป็นเสียงข้างมากในสภากระนั้นหรือ

ผมถึงบอกว่า ปัญหาเรื่องทุจริตมีอยู่ ทุก ๆ แห่ง ก็แก้กันไปในทางระบบ แต่ของเราแก้กันโดยพยายามบอกว่า อันนั้นทุจริต (นะ ) ฉะนั้นคุณเลิกเลย คุณล้ม ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เอาคณะทหารเข้ามายึดอำนาจ แล้วก็บอกว่าเอาคนดี คนทรงคุณธรรมต่าง ๆ เข้ามาจัดการ แล้วคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ แล้วแก้ได้ที่ไหน (ครับ) ก็อย่างที่เห็น

เพราะคนที่เข้ามาก็ผูกพันไปด้วย ผลประโยชน์เหมือนกันในทางการเมือง ผมถึงบอกว่าทุกคนมีผลประโยชน์ในทางการเมืองเหมือนกัน ฉะนั้นจึงต้องเอาเรื่องนี้มาพูดกันบนโต๊ะ

– พูดกันว่าหากรัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยอาจชนะเลือกตั้งอยู่ดี ถึงตอนนั้นเสื้อเหลืองก็อาจจะออกมาคัดค้านอีกก็เป็นได้ สังคมไทยยังมีทางออกจากวิกฤตอยู่หรือเปล่า

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ไม่มีทางออก (ครับ) ตราบเท่าที่เรายังไม่กลับไปสู่คุณค่าพื้นฐานในทางประชาธิปไตย ก็มีคนบอกว่าเวลากลับไปสู่พื้นฐานประชาธิปไตย ในเวลานี้คุณทักษิณชนะ ก็เลยไม่กลับ คือยังไงก็มองไม่พ้นคุณทักษิณอยู่ดี

ถ้าไปมองเรื่องเฉพาะหน้าก็ไม่จบครับ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะยังไม่ได้กลับเข้าสู่หลักการ คือมีการมองว่าหลักการพื้นฐานยังไม่ต้องเอามาใช้ แช่ไว้ชั่วคราวก่อน แต่ผมถามว่าแล้วคุณมีความชอบธรรมยังไง คุณเป็นเทวดามาจากไหนในการที่คุณจะเบรกหลักการที่จะต้องใช้ทั่วไปกับคน ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน

ผมมองว่าความขัดแย้งที่ผ่านมา ใช้กันมากี่วิธีแล้ว (ล่ะ) ทั้งตุลาการภิวัตน์ ทหารภิวัตน์ ออกมายึดอำนาจก็แล้ว ถามว่าทำไมความขัดแย้งมันยังอยู่ นอกจากยังอยู่แล้ว มันยังกัดเซาะสถาบันสำคัญ ๆ อีกด้วย วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นหนักขึ้นไปกว่าเดิม (นะ) นั่นแปลว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ผิดใช่มั้ย แต่ว่าไม่ยอมรับกันว่ามันผิด เพราะกลัวว่าถ้าใช้วิธีการที่มันถูกต้อง จะมีคนได้ ผลประโยชน์แล้วก็รับกันไม่ได้

– แต่รัฐบาลบอกว่าจะเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการอย่างเต็มตัว เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน

จริง ๆ รัฐสวัสดิการที่ประสบความสำเร็จมีฐานมาจากประชาธิปไตย แต่เมื่อคุณยังไม่เป็นประชาธิปไตย คุณเลิกฝันเถอะ (ครับ) ว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการมันไม่ได้ เพราะพัฒนาการในทางระบบที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่พูดถึงการหักเหไปเป็น รัฐคอมมิวนิสต์ มันก็คือจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นรัฐที่จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ แล้วมาสู่รัฐที่เป็นประชาธิปไตย ก็คือ พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจในทางกฎหมาย หรือไม่ก็เป็นสาธารณรัฐไปเลย 2 รูปแบบ

พอเป็นประชาธิปไตย ก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการแข่งขันกันโดยพลังเศรษฐกิจที่มันไม่เท่ากัน เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน รัฐก็จะต้องเข้ามาดูการแข่งขันของเอกชน การทำกฎหมายแรงงานสวัสดิการสังคม มันจะเข้ามา แต่มาบนพื้นฐานของพัฒนาการที่ต่อไปจากเรื่องของประชาธิปไตย ก็เป็นรัฐประชาธิปไตย แล้วก็สวัสดิการสังคม มันจะเชื่อมต่อกัน

แต่คำถามคือเราเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือเปล่า เรารับคุณค่าตรงนี้แล้วหรือยังในสังคมนี้ เราเชื่อว่าประชาชนของไทยมีสภาพของความเป็นพลเมือง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์แล้วหรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่คิดอย่างนั้น ยังคิดว่าคะแนนเสียงของ คนขับรถแท็กซี่ คนขายก๋วยเตี๋ยว มีคุณค่าน้อยกว่ามหาบัณฑิต ก็จบครับ

นี่ไม่ได้พูดในทางอุดมการณ์ (นะ) แต่พูดในทางความเป็นจริง เพราะผมมองว่าประชาธิปไตยคือเรื่องของผลประโยชน์ มีคนบอกว่าการเลือกนักการเมืองก็ต้องเลือกคนดีมีคุณธรรมต่าง ๆ ถามว่าคุณจะดูยังไง ดูจากว่าคนคนหนึ่งปรากฏตัวในสื่อบ่อย พูดจาดูดีหน่อย ถือว่าคนนี้มีคุณธรรมเหรอ ดูแค่นี้เหรอ

หรือเป็นคนมีชื่อเสียงของสังคม ขยันออกสื่อ พูดจาเรื่องคุณธรรม ทำตัวเทศนาสั่งสอนคนบ้าง แล้วเป็นคนดี มีคุณธรรม ชาวบ้านอาจจะไม่ได้ดูแบบนั้นนะครับ แต่เขาดูว่าคุณเสนออะไร ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่สุดในทางประชาธิปไตย (นะ) คุณมี นโยบายยังไงที่จะมาจัดการกับชีวิตของเขา คุณทำอะไร เขาก็เลือก ถ้าคุณทำได้เขาก็เลือกคุณต่อ คุณทำไม่ได้เขาก็เลิกเลือกไปเลือกคนอื่นแทน

ในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงเสรีภาพในทางความคิดเห็น โดยที่ ไม่บอกว่าใครเห็นต่างจากคุณเป็นคนเลว หรือไปสนับสนุนคนเลว เหมือนกับที่ทำ ๆ กันอยู่ในสังคมไทยในเวลานี้ แล้วขอโทษ (นะ) ก็ปรากฏในสื่อกระแสหลักด้วย

– ทุกวันนี้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้วหรือยัง

ยัง (ครับ) ผมเห็นว่าไม่เลย ขอโทษนะ ที่ผมพูดตรงไปตรงมา คือเดี๋ยวนี้เวลาเสนอข่าว ข้อเท็จจริง หรือ fact ปะปนกับความเห็นไปหมดแล้วในสื่อ วิธีการเขียนข่าวหรือการรายงานข่าว ลองสังเกตดูให้ดีสิครับไม่ได้พูด fact อย่างเดียว แต่ใส่ทัศนคติของตัวลงไปในเนื้อข่าว ซึ่งทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมบอกว่ามันผิดแล้วที่บอกว่าสื่อต้องเลือกข้าง ผิดตั้งแต่ต้น

ผมแปลกใจมากว่าในวงการวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ อยู่กันได้ยังไง (ครับ) อาจจะมีคนบอกว่า วงการกฎหมายก็เหมือนกันนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่ถามว่า เฮ้ย ! มีเหรอประเภทสื่อเลือกข้าง ไม่ใช่ว่าสื่อเสนอข้อเท็จจริงหรือครับ ส่วนที่เป็นข้อคิดเห็นก็แยกไป แต่ fact คือ fact บิด fact ไม่ได้ สื่อเลือกข้าง เท่าที่ผมเห็นชัดก็คือ สื่อของรัฐบาลในยุคนาซีเรืองอำนาจในเยอรมันนะ

โอเค ถ้าบอกว่าคุณเป็นสื่อเลือกข้าง ของคุณถูกต้อง แต่อีกคนบอกของคุณไม่ถูก (อ่ะ) ทำยังไงล่ะ ถามว่าอย่างนี้ก็เป็น สื่อไม่ได้แล้วสิ เพราะว่าคุณเป็นผู้พิพากษาไปแล้วว่าอะไรถูก อะไรมันผิด แทนที่คุณจะนำเสนอ fact ทุกวันนี้ จึงมีสื่อ ที่ไม่ใช่สื่ออยู่มากมาย แล้วก็ indoctrinate คน

ขอโทษด้วย ถ้าผมไม่ได้ไปตามกระแสของสื่อ เพราะไม่จำเป็นที่ผมต้องเห็นด้วย โอเค ถ้าคุณเป็นคอลัมนิสต์ คุณเขียน ความเห็นของคุณ เขียนไปได้เลย แต่ข่าวคุณต้องเป็น fact คุณกั๊กไม่ได้

แต่แน่นอน โทนในการนำเสนอพอถึง จุดหนึ่ง ก็ต้องมีใจที่เป็นธรรมอยู่ (นะ) แต่ปัญหาคือใจที่เป็นธรรมเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อคุณกระโดดลงไปตะลุมบอนเป็นฝ่ายทางการเมือง กระโดดลงไปเพื่อจะจัดการบางเรื่องให้มันสิ้นซากไป มันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะคุณได้กลายไปเป็นคู่ต่อสู้ คุณลงไปเป็นผู้ร่วมต่อสู้

สื่อบางท่านอย่าให้ผมเอ่ยเลย ผิดเพี้ยนไปถึงขั้นละเมิดจรรยาบรรณของตัว เขียนอะไรที่รุนแรง แม้กระทั่งเรียกร้องให้คนฆ่ากันได้ ทำได้ยังไง แล้วไม่มีการพูดประณามอะไรกันเลย ก็ยังทำ

ทุกวันนี้สื่อเลยกลายเป็นเครื่องมือ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขึ้นทุกที ๆ เพราะคิดว่าตัวเองคือผู้ผูกขาดความดีงาม เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ไม่ได้มองว่าบริบททางการเมืองมันมีมุมมอง มีข้อเท็จจริงจำนวนมาก เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่

แล้วผมถามว่าถ้าคุณเป็นอย่างนี้จะมาเรียกร้องให้สังคมกลับสู่ความสมานฉันท์อะไร ประชาธิปไตยไม่ต้องการความสมานฉันท์หรอก แต่ต้องการ ความเห็นที่สามารถแสดงได้โดยเสรี และเคารพความคิดความเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ประณามคนที่เห็นต่างว่าเป็นคนเลว เป็นคนทรยศ เป็นคนขายชาติ นี่คือหน้าที่สื่อที่ต้องทำ

ถามว่าสื่อทำหน้าที่ตรงนี้แล้วหรือยัง ผมว่าสื่อมวลชนรู้ดีกว่าผม แต่ผมประเมินว่า ในช่วงที่ผ่านมาสื่อลงไปเล่น แล้วไม่ต้องพูดหรอกว่า กระบวนการพวกนี้ก็มีการเอื้อผลประโยชน์กัน

ประชาชาติธุรกิจ, 07 มกราคม 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4173


อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้สัมภาษณ์ไม่ยาวเท่าไหร่ แต่สั้นๆตรงประเด็น และโดนครับ
ผมยังมองไม่เห็นว่า ในเชิงหลักการ จะเอาอะไรมาเถียงได้ โดยเฉพาะประเด็นที่ผมไฮไลต์เอาไว้