Archive

Archive for April, 2007

The Thai Constitution & Religion

25 April 2007 1 comment

หนึ่งในสิ่งที่ผมทนไม่ได้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550
(ผู้ดีเก่า+อำนาจพิเศษ+เผด็จการทหาร )
คือเรื่องของการพยายามให้มีการบรรจุ ศาสนาประจำชาติ
(คนไม่นับถือศาสนาอย่างผม จะสามารถมีที่ยืนในสังคมนี้ได้อีกหรือไม่ ???)
เซ็งจนพูดอะไรไม่ถูก ไปอ่านที่ อ นิธิ เขียน จะดีกว่า


ศาสนาประจำประชาชาติ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

บน แท็กซี่เข้ากรุงเทพฯ รายการวิทยุประเภทโฟนอินขอความช่วยเหลือ มีเสียงหญิงผู้หนึ่งบอกเบอร์ทะเบียนรถ, ยี่ห้อและสีของรถกระบะตอนครึ่งคันหนึ่ง เพื่อให้ผู้ฟังช่วยกันสังเกตว่าพบที่ใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่หยุดรถทันที เรื่องของเรื่องก็คือพี่ชายของเธอซึ่งเครียดจากการงานจนเสียสติ จำผู้จำคนไม่ได้มานานแล้ว ได้ฉุดลากเอาลูกชายของตนเองสองคน ขึ้นรถขับหนีออกจากบ้าน ไม่ทราบว่าจะไปที่ใดตั้งแต่เช้า หญิงผู้นั้นเกรงว่าหลานทั้งสองจะได้รับอันตราย และพี่ชายซึ่งเสียสติและไม่ได้ขับรถมานานแล้ว จะก่อให้เกิดอันตรายแก่คนอื่นๆ อีก

พี่ชายของเธอคงไม่ใช่คนเครียด เพียงคนเดียวในสังคมไทยปัจจุบัน หากมีคนที่ตกเป็นเหยื่อของความเครียด ทำร้ายทั้งตนเองและผู้อื่นเพราะขาดสติอีกมาก นับตั้งแต่เสพสุราแก้กลุ้มไปจนถึงบั่นทอนความสัมพันธ์ที่ดีอันเคยมีกับคน รอบข้าง นอนไม่หลับ, ระบบขับถ่ายไม่ทำงาน, กินข้าวไม่ลง, สุขภาพเสื่อมโทรม หรือจนถึงที่สุดบางคนก็เสียสติ นับจำนวนคนที่ตกเป็นเหยื่อของความเครียดเช่นนี้ได้เป็นล้าน กระจายไปยังคนสถานภาพต่างๆ ตั้งแต่สูงสุดถึงต่ำสุด

ผมมองไม่เห็นว่า ถ้าชาติของเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

หาก ทว่า เป็นหรือไม่เป็นศาสนาประจำชาติ พระพุทธศาสนาช่วยทำให้คนไทยในอดีตเผชิญปัญหาชีวิตอย่างรู้เท่าทันในระดับ หนึ่งมานาน เช่นเพราะยอมรับว่าธรรมดาของชีวิตย่อมเป็นทุกข์ หาความเที่ยงแท้แน่นอนกับอะไรไม่ได้ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรจนเกินไป จึงแก้ทุกข์ได้ด้วยการ "ปลง" มากกว่าเหล้า, ยาเสพติด, หรืออะไรอื่นที่อยู่ภายนอก

ชีวิตในโลกสมัยปัจจุบัน ซึ่งแยกผู้คนออกจากสายสัมพันธ์ที่เคยมีมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, เครือญาติ, หรือชุมชน เพิ่มความเครียดให้แก่ปัจเจกมากขึ้น ถ้าท่าทีแบบพระพุทธศาสนาไม่ใช่ท่าทีต่อชีวิตของคนไทย ก็จะมีคนเครียดที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นเพิ่มมากขึ้นอย่างเหลือคณานับ ดังที่เราอาจได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังภยันตรายเหล่านี้ในสังคมไทยอยู่แทบจะตลอดเวลาดังปัจจุบัน

ผม ยอมรับว่า สถานะของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นอยู่ในขั้นวิกฤตเสียแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะมีศาสนาอื่นมาแข่งขัน หากเป็นเพราะคนที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะเอง ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพุทธธรรมในชีวิตของตน แม้ว่าอาจทรงจำหมวดธรรมข้อต่างๆ ไว้ได้มากจากวิชาศีลธรรมที่บังคับให้เรียนในโรงเรียนมา แต่ในชีวิตจริง พระพุทธศาสนาเหลือแต่พิธีกรรม นับตั้งแต่ตักบาตร, รดน้ำมนต์, ขอพรจากสัญลักษณ์ของศาสนาเช่นพระภิกษุ, พระพุทธรูป หรือเครื่องรางของขลังนอกพระศาสนาซึ่งพระภิกษุร่วมผลิตเชิงพาณิชย์ป้อนตลาด ที่งมงายอยู่ตลอดเวลา

คิดดูอย่างนี้ก็แล้วกันว่า หลักการข้อสำคัญสุดของพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนา อื่นๆ ก็คือ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถช่วยใครให้พ้นทุกข์ได้ หากเขาไม่ช่วยตัวเองตามพระบรมพุทโธวาท แต่สิ่งที่คนไทยผู้ประกาศตัวเป็นชาวพุทธยึดถือและปฏิบัติแพร่หลายที่สุดใน ปัจจุบัน คือการขอพึ่งสิ่งภายนอกทั้งหลาย นับตั้งแต่ต้นไม้ประหลาด, เหรียญหลวงพ่อ, "เสด็จพ่อ", ไปจนถึงจตุคามรามเทพ, แม้แต่การเรียกร้องมาตรการประชานิยมจากรัฐ ก็พอใจอยู่แค่ "ส่วนบุญ" ที่รัฐมอบให้ แทนที่จะเป็นมาตรการอันจะเพิ่มขีดความสามารถของตนเองเพื่อให้ช่วยตัวเองได้ เช่น ปฏิรูปที่ดิน หรืออำนาจในการจัดการทรัพยากรด้วยตนเอง

ความเป็นศาสนาประจำชาติที่มีรัฐธรรมนูญตราขึ้นรับรอง จะช่วยให้พระพุทธศาสนาพ้นจากวิกฤตนี้ได้อย่างไร

ผมไม่เข้าใจข้อเรียกร้องให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ว่าต้องการอะไร

ผู้ สนับสนุนข้อเรียกร้องมักอ้างว่า เพื่อบังคับให้รัฐต้องสนับสนุนพระพุทธศาสนา ผมไม่เข้าใจว่าเวลานี้รัฐไทยไม่ได้สนับสนุนพระพุทธศาสนาหรอกหรือ

ถ้าการ สนับสนุนหมายถึงการเงิน รัฐและสังคมไทยให้การสนับสนุนองค์กรของพระพุทธศาสนาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวัด, ศาสนสถาน หรือคณะสงฆ์ วัดไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน, พระไม่ต้องเสียภาษีรายได้, ทำวัตถุมงคลขายก็ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม, การจัดงานใหญ่ๆ ของพระพุทธศาสนา เช่นงานวิสาขบูชาและอื่นๆ ใช้งบประมาณแผ่นดิน, มีหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายหน่วยงาน, สถิติชี้ให้เห็นว่าคนไทยใช้เงินสำหรับ "ทำบุญ" กับองค์กรของพระพุทธศาสนาเป็นสัดส่วนสูงมาก

แล้วองค์กรพระพุทธศาสนา นำเอาการสนับสนุนด้านการเงินอย่างท่วมท้นนี้ไปทำอะไร? มีประโยชน์แก่พุทธธรรมอย่างไร ทำให้ท่าทีต่อชีวิตแบบพุทธแพร่หลายในหมู่ประชาชนอย่างไร

มุสลิมที่ สูญเสียพ่อ, พี่, สามี, ลูก ฯลฯ ไปในความไม่สงบที่เกิดในภาคใต้จำนวนมาก ยอมรับว่าชะตากรรมอันโหดร้ายที่ตนได้รับนั้น เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า จึงทำใจยอมรับได้อย่างสงบ พวกเขามีท่าทีต่อชีวิตที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนามากกว่า ไทยพุทธที่ขูดหาตัวเลขกับต้นกล้วย หรือลงทุนกับเหรียญจตุคามรามเทพรุ่นรวยเฉียบพลันอย่างเทียบกันไม่ได้

ระหว่าง การมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ กับการส่งเสริมให้ประชาชนมีท่าทีต่อชีวิตที่ไม่ยึดมั่นกับอัตตาของตนเอง อย่างมืดบอด ไม่ว่าท่าทีต่อชีวิตเช่นนี้จะอยู่ในศาสนาอะไร อย่างไหนจึงจะทำให้สังคมไทยเป็น "พุทธ" มากกว่ากัน

แท้จริงแล้วความ เป็น "พุทธ" ไม่ได้หมายถึงผ้าเหลือง, ธรรมจักร, วัด, หรืออื่นใดทั้งสิ้น แต่หมายถึงท่าทีต่อชีวิตที่เห็นว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมว่างเปล่า ไม่พึงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด" ต่างหาก

ถ้าการสนับสนุนมีความหมายใน ทางอื่นที่ไม่ใช่การเงิน เช่นปฏิรูปการศึกษาพระสงฆ์, ลงทุนกับสื่อให้ผลิตรายการเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพ และเหมาะกับผู้รับต่างวัยต่างสถานภาพ, สร้างสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพระดับโลก, ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เพื่อคืนวัดและพระให้แก่ประชาชน ฯลฯ

คิดไป เถิดครับ ท่ามกลางปัญหาที่น่าวิตกเกี่ยวกับองค์กรพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน มีเรื่องที่รัฐน่าจะทำให้แก่พระพุทธศาสนาและองค์กรพระพุทธศาสนาอีกมากมาย (ไม่ใช่แค่จัดงานกลางท้องสนามหลวง, ทอดกฐิน, และปล่อยเถรสมาคมให้บริหารจัดการคณะสงฆ์ไปตามแกน เพื่อแลกกับการที่คณะสงฆ์จะไม่เป็นอะไรอื่นมากไปกว่าสาวกของรัฐ)

แต่แน่ ใจหรือว่า รัฐจะเป็นพลังผลักดันที่ดีในการพัฒนาและนำเอาพระพุทธศาสนากลับมาสู่สังคมไทย ความเสื่อมโทรมที่เกิดกับพระพุทธศาสนาซึ่งเราเห็นได้ในวันนี้ ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางการสนับสนุนของรัฐไทยทั้งสิ้น

ก่อนหน้านั้น ขึ้นไป รัฐไม่มีกำลังพอจะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาได้มากนัก สังคมเป็นผู้กำกับควบคุมองค์กรศาสนามากกว่า ทุกคนยอมรับว่าพระพุทธศาสนาในเมืองไทยสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออก จากชีวิตและความคิดของคนไทย แตกต่างจากสมัยหลัง เมื่อรัฐมีกำลังมากขึ้นทั้งในการอุปถัมภ์และควบคุม พระพุทธศาสนากลับยิ่งห่างจากคนไทยไปจนแทบ "ไม่บอกไม่รู้" ว่าเป็นชาวพุทธ

ตรง กันข้าม แทนที่จะคิดถึงรัฐ หากเราคิดถึงสังคมไทย จะให้สังคมไทยเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์และควบคุมองค์กรมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เวลานี้ น่าจะเพิ่มพลังของพระพุทธศาสนาในด้านกล่อมเกลาจิตใจของคนไทยมากกว่า และถ้าต้องการสังคม ความเป็นศาสนาประจำชาติก็ไม่เกี่ยว อย่างที่ไม่เกี่ยวตลอดมานับตั้งแต่เรารับนับถือพระพุทธศาสนาเมื่อกว่าพันปี มาแล้ว จนเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง

เราจะกู้คืนจิตใจแบบชาวพุทธที่ แท้จริงกลับคืนสู่สังคมไทยได้อย่างไร ผมคิดว่าเราต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างพุทธบริษัทและรัฐ ทำความเข้าใจปัญหาและทางออกกันอย่างจริงจัง โดยมีรัฐให้การสนับสนุนแต่ไม่ครอบงำ ในที่สุดอาจมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวบ้าง เช่นการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์, การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ และฆราวาส, การปฏิรูปการจัดการศาสนสมบัติ, ฯลฯ แต่การใช้มาตรการทางกฎหมายโดยขาดความเข้าใจ โดยไม่สนใจต่อรากเหง้าของปัญหา หรือการยกยอพระพุทธศาสนาอย่างไร้สาระ เช่นให้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติ เช่นนี้ เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมือง สำหรับการปูฐานคะแนนเสียงให้แก่ตนเองหรือพรรคพวกเท่านั้น

รัฐไทยอาจ ไม่ใช่รัฐโลกียวิสัย (secular state) เหมือนรัฐตะวันตก แต่เราได้กลายเป็นรัฐโลกียวิสัยไปอย่างช้าๆ มาเกือบสองศตวรรษแล้ว และ ทันทีที่เราปลูกฝังสำนึกว่ารัฐของเราคือรัฐประชาชาติ เราต้องเปิดพื้นที่ทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมอันเท่าเทียมเสมอภาคให้แก่ความหลากหลายทางศาสนา, ชาติพันธุ์ และกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทุกคนเป็นเจ้าของประชาชาติไทยเท่าๆ กัน ขออย่ามีใครบนผืนแผ่นดินของ "ชาติ" เรา จะต้องรู้สึกว่าเขาเป็นแค่พลเมืองชั้นสอง เพราะเขาพูดภาษาที่ต่างจากภาษาไทย, นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธ, ทำมาหากินด้วยวิถีทางที่แตกต่างจากคนอื่น, มีบรรพบุรุษและวีรบุรุษคนละคนกับคนอื่น ฯลฯ

หากเราไม่สามารถยอมรับ พื้นที่อันเท่าเทียมกันของพลเมืองในรัฐได้ แปลว่าเราเองก็ไม่สามารถเป็นพลเมืองของประชาชาติได้เช่นกัน แปลว่าเรากำลังถอยกลับไปเป็นเพียง "ข้าราษฎร" ซึ่งจะมี "มูลนาย" กลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ที่เป็นเจ้าของรัฐไทยยิ่งกว่าใครอื่น และด้วยเหตุดังนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจของตนกำหนดความสัมพันธ์ใน รัฐได้ตามใจชอบของตน

รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นในหลักการที่ไม่ยอมรับ ความเป็นรัฐประชาชาติเช่นนี้ จะมีหรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็เท่ากัน ร้ายไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ-ถ้ามี-ก็เป็นเพียงเอกสารสำหรับกลบเกลื่อนอำพราง อำนาจที่ฉ้อฉลและไร้ความชอบธรรมเท่านั้น

มติชน รายวัน 2 เมษายน 2007

Categories: News and politics