Archive

Archive for July, 2011

แด่ “ปชป.” ด้วยรัก, สรกล อดุลยานนท์

30 July 2011 Leave a comment

แด่ “ปชป.” ด้วยรัก

โดย สรกล อดุลยานนท์

ในฐานะคนรักประชาธิปไตยคนหนึ่ง ผมหวังอย่างยิ่งว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปรับตัวครั้งใหญ่

นำความพ่ายแพ้อย่างยับเยินในครั้งนี้มาเป็น “บทเรียน”

เพราะในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครต้องการให้มีพรรคการเมืองใดผูกขาดชัยชนะในการเลือกตั้ง

เราต้องการ “การแข่งขัน” ที่มีคู่แข่งที่ไม่ห่างไกลกันมากนัก

ไม่ใช่ขาดลอยระดับ 265 ต่อ 159

เพราะถ้าเมืองไทยมีพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวที่เหนือกว่า “คู่แข่ง” มากเกินไป

ไม่มีหลักประกันใดที่ “เพื่อไทย” จะไม่หลงลำพอง

อย่าลืมว่า “อำนาจ” นั้นไม่เข้าใครออกใคร

ใครที่มี “อำนาจ” นานๆ มักเกิดอาการ “หลงอำนาจ” อยู่เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น เมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ระบบ “2 พรรคใหญ่” อย่างชัดเจน เราต้องตั้งความหวังและเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์

กรณีของ “ประชาธิปัตย์” นั้นทำให้นึกถึงบทเรียนทางธุรกิจเรื่องหนึ่ง

นั่นคือ การแข่งขันระหว่าง “เบียร์สิงห์” กับ “เบียร์ช้าง”

“เบียร์สิงห์” เป็นเจ้าตลาดเบียร์มานาน ครองส่วนแบ่งการตลาด 80%

แต่เพียงแค่ 3 ปีที่ “เบียร์ช้าง” ออกสู่ตลาด “เบียร์สิงห์” ก็สูญเสียตำแหน่ง “แชมป์” ไป

ครั้งนั้น “สันติ ภิรมย์ภักดี” เรียกประชุมผู้บริหารทั้งหมด

และประกาศว่า “เราแพ้แล้ว”

เป็นการยอมรับความพ่ายแพ้อย่างจริงใจ ไม่ใช่การยอมรับความพ่ายแพ้ด้วยสำนวนแบบเท่ๆ เพื่อปกป้องตัวเอง

“ผมยอมรับว่าเราแพ้ แต่เราไม่ยอมแพ้”

เป็น “คีย์เวิร์ด” สำคัญของ “สันติ” ที่ประกาศในที่ประชุม และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนทำให้ค่ายสิงห์กลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งหนึ่ง

เขานำ “ความพ่ายแพ้” มาเป็น “บทเรียน”

การยอมรับ “ความพ่ายแพ้” อย่างจริงใจ จะทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น

กล้ายอมรับ “ความเก่ง” ของ “คู่แข่ง”

และยอมรับ “ความผิดพลาด” ของตนเอง

เพราะถ้าปราศจากการยอมรับอย่างจริงใจ “ปัญหา” ที่ดำรงอยู่ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

จุดเริ่มต้นของการกลับสู่ความเป็น “ผู้ชนะ” อีกครั้งของ “เบียร์สิงห์” คือการยอมรับความพ่ายแพ้

ความพ่ายแพ้นั้นเหมือนกับการตกลงไปในหุบเหว

เราไม่มีทางขึ้นจากเหวได้เลยถ้ายังแหวกว่ายอยู่ในอากาศ

การยอมรับความพ่ายแพ้ก็เหมือนกับการยอมรับการลงสู่ก้นเหว

เพื่อที่เท้าจะได้แตะพื้น

จากนั้น จึงย่อตัวและกระโดดใหม่อีกครั้ง

วันนี้ ถ้าจะให้แนะนำ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

ผมอยากให้ 2 คนนี้บอก “จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี” ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ให้ช่วยนัด “สันติ” ให้ เพื่อเข้าไปซึมซับบทเรียนแห่งความพ่ายแพ้ และแนวทางการพลิกเกมสู่ “ชัยชนะ”

เพื่อที่ “ประชาธิปัตย์” จะได้กลับมาเหมือน “เบียร์สิงห์”

ขอเอาใจช่วยอย่างจริงใจ

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2554)

30 กรกฎาคม 2554

นิทาน “พระวิหาร”, สรกล อดุลยานนท์

24 July 2011 Leave a comment

นิทาน “พระวิหาร”

โดย สรกล อดุลยานนท์

ถ้ารัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็น “บริษัท”

และกำลังต้องปิดกิจการ

ตอนนี้ “นักบัญชี” คงกำลังกดเครื่องคิดเลขคำนวณเพื่อดูว่า “บรรทัดสุดท้าย” เป็นอย่างไร

“ตัวดำ” หรือ “ตัวแดง”

“กำไร” หรือ “ขาดทุน”

ผมเชื่อว่าเมื่อตรวจสอบบัญชีอย่างละเอียด “อภิสิทธิ์” คงรู้แล้วว่าเขามี “รายจ่าย” มโหฬารจากการแต่งตั้ง “กษิต ภิรมย์” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ”

2 ปีกว่าในตำแหน่งนี้ เวลาครึ่งหนึ่งเขาใช้กับการไล่ล่า “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เหลือใช้กับการทะเลาะกับ “ฮุน เซน”

ถ้าดูข้อมูลเก่าเราจะเจอข่าว “กษิต” และ “ชวนันท์ อินทรโกมาลย์สุต” เลขานุการ รมต.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงความมั่นใจว่าจะไล่จับ “ทักษิณ” ได้อย่างแน่นอนเยอะมาก

ถึงวันนี้เราก็รู้แล้วว่าที่ทั้งคู่พูดมาตลอดนั้นเป็นความจริงหรือไม่

และไม่รู้ว่าเป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ ที่บรรดาทูตประเทศต่างๆ จึงเข้าคิวพบ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนรู้ผลการเลือกตั้ง

ถ้อยคำที่เผยแพร่ออกมาเหมือนมีนัยยะอะไรบางประการ

เชื่อว่าหลังจากนี้เราคงจะได้ยิน “ความจริง” ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากคนในกระทรวงการต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน

นั่นคือ “รายจ่าย” ของประเทศไทย

และที่ต้องจ่ายมากที่สุดคงไม่พ้นเรื่อง “ปราสาทพระวิหาร”

จนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่ยังตั้งคำถามอยู่เลยว่าเมืองไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

นึกถึงวันที่ “นพดล ปัทมะ” ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา สนับสนุนให้ “กัมพูชา” จดทะเบียน “ปราสาทพระวิหาร” เป็นมรดกโลก

ส่วนพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็ให้ 2 ประเทศพัฒนาร่วมกัน

ถ้าทุกอย่างจบลงด้วยดีในวันนั้น “กัมพูชา” ก็ต้องรู้สึกดีว่า “ไทย” มีน้ำใจ

ส่วนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกันมี “นัยยะ” แห่งความจริงที่ไม่อยู่ในตัวอักษรในสัญญา

คือ “ไทย” ได้เปรียบ “กัมพูชา” ทั้งศักยภาพทางการเงิน และฝีมือทางธุรกิจ

แค่คิดง่ายๆ ว่านักท่องเที่ยวจะขึ้นปราสาทพระวิหารทางไหน

ก็เมื่อทางขึ้นอยู่ในประเทศไทย เขาก็ต้องขึ้นทางฝั่งไทย

พักที่ไหน ก็ต้องพักทางฝั่งไทยเพราะสะดวกสบายกว่า

แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาล “อภิสิทธิ์” กลับมีแต่ความขัดแย้งจนถึงขั้นเปิดศึกที่ชายแดน

คนไทย 5 หมื่นกว่าคนต้องอพยพทิ้งบ้านเรือน

“อาเซียน” ต้องเรียกประชุมเพื่อแก้ความขัดแย้งระหว่าง “ไทย-กัมพูชา”

รัฐบาลไทยถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก

“กัมพูชา” ยื่นเรื่องเข้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

และในที่สุดก็ยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 และคุ้มครองฉุกเฉินให้ไทย-กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ความขัดแย้ง

นี่คือ “รายจ่าย” ครั้งใหญ่ของประเทศชาติ

ที่ผ่านมาแม้ว่าใครจะ “ปากแข็ง” ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย แต่ในใจนั้นแฝงด้วยความหวาดหวั่นเพราะรู้อยู่ว่าถ้าเรื่องถึง “ศาลโลก” เมื่อไร เรามีโอกาสแพ้มากกว่าชนะ

ใครที่บอกว่าหลักฐานของเราดีกว่า

ใครที่บอกว่ากัมพูชาเสียพื้นที่มากกว่าเรา

ใครที่บอกว่าเราชนะแน่นอน ฯลฯ

ในโลกแห่งความเป็นจริง สุดท้าย “นิทาน” ก็ย่อมเป็น “นิทาน”

และ “นิทาน” เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า….

“คนโง่แต่ขยัน” อันตรายที่สุดจริงๆ

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2554)

มติชน, 23 กรกฎาคม 2554

ค่าแรง 300 บาท กับราคาอสังหาริมทรัพย์, โสภณ พรโชคชัย

20 July 2011 1 comment

ค่าแรง 300 บาท กับราคาอสังหาริมทรัพย์

ดร.โสภณ พรโชคชัย

AREA คาด การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน คงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาที่อยู่อาศัย เพราะค่าแรงเป็นต้นทุนเพียงส่วนน้อย

การที่มีข่าวว่า รัฐบาลใหม่มีนโยบายให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าอาจทำให้ราคาบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการคงจะผลักภาระให้ผู้ซื้อ ทำให้เกิดความเดือดร้อนในการซื้อบ้าน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เสนอข้อมูลเพื่อการพิจารณาดังนี้

1. โดยปกติในวงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ก็มักว่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่างฝีมือต่าง ๆ ดังนั้นจึงอาจไม่มีผลกระทบมากนัก

2. ค่าแรงขั้นต่ำอาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่นอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แต่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันใช้ระบบการก่อสร้างระบบกึ่งสำเร็จเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงอยู่ในภาวะที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมทั่วไป

3. ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ค่าแรงมีสัดส่วน 30 % ของค่าก่อสร้างโดยรวม ดังนั้นหากมีการเพิ่มค่าแรงขึ้น 50% ก็จะทำให้ราคาค่าก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้น 15% อย่างไรก็ตามมูลค่าบ้านหลังหนึ่งเป็นส่วนของค่าก่อสร้างประมาณ 1/3 อีก 2/3 เป็นส่วนของราคาที่ดิน ดังนั้นการขึ้นค่าแรง 50% จึงอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาประมาณ 5% เท่านั้น อย่างไรก็ตามโดยที่ค่าแรงในก่อสร้างจ่ายสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในปัจจุบัน ผลกระทบจึงมีไม่มากนัก

4. หากเป็นในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นที่ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ขายจะได้ส่วนต่างของมูลค่า หากมีการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าก่อสร้างบ้างก็คงไม่เป็นผลเสียแก่ฝ่ายใด เข้าทำนอง Win-Win ต่อทุกฝ่าย

5. หากเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งไม่มีผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงหรือค่าวัสดุก่อสร้างก็ไม่มีผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ เพราะในห้วงเวลาดังกล่าวมักไม่มีการก่อสร้าง การซื้อขายมักเป็นการซื้อขายสินค้ามือสองเป็นสำคัญ

6. การที่บางฝ่ายให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงจะทำให้ราคาสินค้าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นกำลังซื้อด้วยความกลัวว่าราคาจะขึ้นเสียก่อน ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการค้าอสังหาริมทรัพย์มากกว่าการที่ราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอแนะนำให้นักลงทุนและผู้สนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้พิจารณาเปรียบเทียบสินค้าให้รอบคอบก่อนการลงทุน ทั้งสินค้ามือหนึ่ง และสินค้ามือสองในตลาด จะได้เป็นการลงทุนอย่างรอบรู้ (knowledgeable)

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th) นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ ของสภาหอการค้าไทย และเป็นผู้แทนภาคี UN Global Compact ขององค์การสหประชาชาติ http://www.facebook.com/pornchokchai

กรุงเทพธุรกิจ, 18 กรกฎาคม 2554

300 บาท, นิธิ เอียวศรีวงศ์

19 July 2011 Leave a comment

300 บาท

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เสียงคัดค้านต่อต้านนโยบายค่าแรง 300 บาทของพรรค พท.ดังระงมไปทั่ว เมื่อเห็นได้ชัดแล้วว่า พรรค พท.จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่ โดยยังไม่มีใครสร้าง “อุบัติเหตุทางการเมือง” ขึ้นในตอนนี้ ทุกคนรู้ว่านี่เป็นก้าวที่ถอยไม่ได้ เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่อจาก พท. โดยผ่านการเลือกตั้งหรือยึดบ้านยึดเมือง ก็ไม่สามารถลดราคาลงจากนี้ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ย่างก้าวแรกนี้ดีกว่า

ผมไม่ทราบว่า แล้วมีใครที่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทหรือไม่ เพราะสื่อไม่ขยันพอจะไปเที่ยวหาคนที่ไม่ใช่นักการเมืองของ พท.ที่เห็นด้วย เพื่อเอาความเห็นของเขามาเสนอบ้าง (นักหนังสือพิมพ์ไทยชอบอ้างว่าข่าวต้องมีดุลยภาพ แต่ผมไม่เคยเห็นดุลยภาพที่ว่าในข่าวสำคัญๆ เลย มีแต่เมื่อคนด่ากันผ่านสื่อนั่นแหละ ที่สื่อจะเปิดพื้นที่ของตนให้เป็นเวทีมวย) ดังนั้นในไม่ช้าสังคมไทยก็จะคล้อยตามฝ่ายทุนว่า หากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืน (ทั้งๆ ที่อาจพังเพราะสหรัฐกำลังจะล้มละลายก็ได้)

ผมติดตามกระแสคัดค้านต่อต้านแล้วก็ออกจะเศร้าใจนะครับ เพราะทางเลือกที่ผมได้จากการต่อต้านคัดค้าน มีอยู่เพียงสองทางเท่านั้น คือขึ้นหรือไม่ขึ้น ไม่มีทางเลือกอื่นๆ เช่นไม่ขึ้นแต่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือขึ้นแต่ต้องขึ้นด้วยวิธีอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในสังคมไทย ทางเลือกถูกเสนอให้จำกัดเพียงสองเสมอ ทำไมชีวิตผมจึงเหลือให้เลือกได้แต่ทักษิณกับอภิสิทธิ์เท่านั้น

ในส่วนข้อคัดค้านของฝ่ายทุน เช่นสภาอุตสาหกรรมนั้น แม้ยังฟังไม่ขึ้น แต่ก็เข้าใจได้ คือเป็นความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง พูดอะไรก็ถูกทุกที แม้ไม่ต้องแสดงอะไรให้เห็นมากไปกว่า “กูพังแน่” ก็ตาม

ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ ความเห็นของคนที่ไม่ใช่ทั้งแรงงาน (ภาคอุตสาหกรรม) และไม่ใช่ทั้งนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อาจสรุปได้ว่า ยังไม่จำเป็นในขณะนี้ และฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการไตรภาคีว่าจะสามารถชะลอการขึ้นค่าแรงอย่างฮวบฮาบนี้ได้

ผมถามตัวเองว่า 300 บาทนี้มีเหตุผลหรือไม่ ผมตอบตัวเองไม่ได้ แต่มีนักวิชาการด้านแรงงานท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อคำนวณรายจ่ายของแรงงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่พอจะทำให้เขามีชีวิตปกติสุขได้แล้ว เขาควรมีรายได้วันละ 298-299 บาท ก็คือ 300 บาทนั่นเอง (300 คูณ 26 = 7,800 บาทต่อเดือน)

อ้าว ถ้าอย่างนั้น ตัวเลข 300 ก็ไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ ที่มาจากการหาเสียงล่ะสิครับ มีเหตุผลของ “ชีวิต” แรงงานในฐานะมนุษย์รองรับอยู่ เว้นแต่จะเห็นว่า “ชีวิต” ของแรงงานไม่ใช่ชีวิตของมนุษย์เท่านั้น ที่จะคิดได้ว่า 300 บาทเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป

แม้ตัวเลข 300 จะมีเหตุผลรองรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำได้ทันทีโดยไม่มีผลกระทบที่เราไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เราก็น่าจะยอมรับได้ว่าตัวเลข 300 เป็นเป้าหมายหรืออุดมคติ ซึ่งจะต้องบรรลุให้ได้ในเร็ววัน ในสังคมสร้างสรรค์ (อันเป็นเป้าหมายของหน่วยงานที่เอาภาษีบุหรี่ของผมไปทำงาน) ข้อถกเถียงก็น่าจะอยู่ตรงที่มาตรการอันจะนำไปสู่อุดมคติว่า ควรทำอะไรและอย่างไรบ้าง จึงจะสามารถบรรลุอุดมคติดังกล่าวได้เร็ววัน แต่ผมไม่ได้ยินใครเถียงกันเรื่องนี้เลย

หากแรงงานได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทแล้ว จะทำให้สินค้าไทยราคาแพงขึ้นจนกระทั่งไม่อาจแข่งขันในตลาดโลกและตลาดภายใน ใช่หรือไม่?

ค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตแน่ แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งเตือนว่า เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น 40 บาทต่อวัน มิได้หมายความว่าสินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 40 บาทไม่ เพราะในกลไกการผลิตย่อมมีการดูดซับต้นทุนระหว่างกัน จนกระทั่งราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มค่าแรง อาจไม่มากนัก แต่เพิ่มแน่

ดังนั้น รัฐย่อมสามารถช่วยให้สินค้าไม่เพิ่มราคาขึ้นมากนักได้ ด้วยการเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตส่วนอื่นๆ เช่นลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ หรือตามข้อเสนอของพรรค พท.เอง คือการลดภาษีรายได้บริษัทลงเหลือ 27% เป็นต้น ข้อถกเถียงในสังคมสร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นเรื่องบทบาทของรัฐว่า จะเข้าไปหนุนช่วยในด้านใดและอย่างไร

ยิ่งกว่านี้ การหนุนช่วยของรัฐต้องมีจุดมุ่งหมายที่มากกว่าราคาสินค้าเฉพาะหน้า แต่ควรเป็นการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น

ผมคิดว่า ถ้าเราช่วยกันคิด, เสนอ และถกเถียงเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ก็จะสามารถกลบเสียงของสภาอุตสาหกรรมที่ขอให้รัฐเข้ามาช่วยจ่ายค่าแรง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย (ซ้ำอาจถูกมองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลกด้วย) นอกจากทำให้อุตสาหกรรมไทยย่ำเท้าอยู่กับที่ โดยไม่ยอมขยับหนีเวียดนาม, จีน, อินโดนีเซีย และกัมพูชา ต้องตกอยู่ใน “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” ชั่วกัลปาวสาน

ยิ่งกว่านี้ ข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมยังฟังดูเหมือนว่า รัฐต้องจ้างอุตสาหกรรมมิให้กดขี่แรงงาน ตรรกะเดียวกันนี้นำเราไปสู่การจ้างโจรไม่ให้ปล้นด้วย

ผมยอมรับนะครับว่า รัฐบาลไทยได้เอาเงินไปจ้างโรงสีไม่ให้กดขี่ชาวนา จ้างโรงบ่มมิให้กดขี่ชาวสวนลำไย ฯลฯ มาแล้ว แต่นั่นคือวิธีการที่ตัวเกษตรกรไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยตรง และน่าจะยกเลิกเพื่อหามาตรการใหม่ที่จะทำให้เกษตรกรได้รายได้ที่มั่นคง ไม่ใช่มาตรการที่อุตสาหกรรมจะมาเอาเป็นแบบอย่างได้ ในขณะที่รัฐสามารถช่วยแรงงานโดยตรงได้อีกหลายอย่าง เช่นสนับสนุนให้โรงงานสร้างที่พักอาศัยในบริเวณโรงงาน หรือจัดให้เกิดที่พักในราคาถูกใกล้แหล่งโรงงาน สร้างโรงเรียนที่ฟรีจริงให้บุตรหลาน สร้างศูนย์เรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใกล้แหล่งโรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของแรงงาน ฯลฯ

300 บาทจะนำไปสู่ของแพงขึ้นหรือไม่? ก็คงมีผลให้ของแพงขึ้นในระยะหนึ่ง เพราะเมื่อครอบครัวแรงงานสามารถกินไข่ได้ทุกวัน ก็เป็นธรรมดาที่ไข่ย่อมแพงขึ้นในระยะหนึ่ง จนกว่าผู้ผลิตไข่ซึ่งขายดิบขายดีจะเร่งผลิตไข่ออกมาได้มากกว่าเดิม แต่ผมไม่แน่ใจว่า เมื่อลูกแรงงานจะซื้อรองเท้านักเรียนใหม่เพิ่มขึ้นหลายๆ ครอบครัว รองเท้าจะต้องแพงขึ้นเสมอไป เพราะโรงงานรองเท้าย่อมหันมาผลิตรองเท้าเพื่อตลาดภายในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แค่วางรองเท้าในตลาดปุ๊บ ก็ขายได้ปั๊บ ย่อมเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายแล้ว เพราะลดต้นทุนด้านสต๊อคลงไปมาก

ในฐานะของคนที่ไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์เลย ผมออกจะสงสัยทฤษฎีว่า การเพิ่มรายได้ทำให้ของแพงจังเลย ก็เมื่อสินค้าใดเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น ราคาสูงขึ้น ทำไมจึงไม่แย่งกันผลิตเพื่อโซ้ยกำไรล่ะครับ และเมื่อแย่งกันผลิต ราคาสินค้านั้นก็น่าจะลดลงมาสู่ราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่หรือครับ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้น แต่น่าจะอยู่ที่ว่ากลไกตลาดของเราเองต้องมีอะไรบางอย่างบิดเบี้ยว ทำให้ไม่มีใครแย่งกันผลิต พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมนั้น ไม่มีจริงในตลาดไทย เราก็น่าจะไปจัดการกับ “อำนาจเหนือตลาด” ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งครอบงำตลาดไทยอยู่ และที่จริงก็มีมากเสียด้วย การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาทจึงต้องมาพร้อมกับมาตรการที่จะทำลาย “อำนาจเหนือตลาด” ในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่ไปห้ามไม่ให้จ่าย 300 บาท ไม่อย่างนั้นไม่ควรมีใครในโลกได้รายได้เพิ่มขึ้นสักคน รวมทั้งนักวิชาการด้วย

อันที่จริงนโยบาย 300 บาทนี้ก็เดินตามนโยบายของรัฐบาลของพี่ชายว่าที่นายกฯ เป็นการฟื้นเศรษฐกิจวิธีหนึ่ง (แทนการแจกเงินเฉยๆ แก่ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) คือทำให้เกิดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยในตลาดให้มากขึ้น อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งเน้นแต่ตลาดต่างประเทศอย่างที่สภาอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ แต่เพิ่มกำลังซื้อภายให้สูงขึ้น อย่าลืมด้วยว่าตลาดภายในนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางภาวะใกล้ล้มละลายของตลาดยุโรปและอเมริกา ประเด็นที่ผมอยากชี้ในเรื่องนี้ก็คือ 300 บาทเป็นนโยบายที่มีข้อดีเหมือนกัน ไม่ใช่เหลวไหลเพราะการหาเสียงอย่างที่สมาคมนายจ้างพยายามสร้างภาพ

บางท่านให้ความเห็นต่อ 300 บาทที่ตลกดีในทรรศนะของผม นั่นคือ แรงงานได้แค่วันละ 150 ก็อยู่ได้แล้ว ถ้ามีที่พักในโรงงาน มีเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรที่สามารถซื้ออาหารได้ในราคาถูก ฯลฯ จริงเลยครับ ถ้ามีที่พักฟรี, กินอาหารฟรีทั้งตนเองและครอบครัว, มีโรงเรียนฟรีสำหรับบุตรหลาน, มีโรงพยาบาลฟรีสำหรับครอบครัว, มีเสื้อกางเกงให้ใช้ฟรี, มีฟิตเนสและโรงหนังฟรีใกล้ๆ, แถมกล้วยแขกหรือฝรั่งดองให้อีกหนึ่งถุงหลังอาหารกลางวัน ฯลฯ จ่ายแค่ 50 บาทเป็นเงินติดกระเป๋าก็พอแล้ว

จริงที่ว่า “รายได้” ไม่ได้มีความหมายเพียงเงินค่าจ้าง แต่สวัสดิการในรูปแบบต่างๆ ก็เป็น “รายได้” ส่วนหนึ่ง และเราควรหันมาสร้าง “รายได้” ให้แรงงานในรูปสวัสดิการให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่จะใช้เวลาเท่าไรล่ะครับ แม้แต่สมมุติว่ารัฐให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน ก็ต้องใช้เวลา 5 ปี, 10 ปี หรือชั่วอายุคนหน้า แล้วระหว่างนี้ล่ะครับ จะให้แรงงานอยู่อย่างไร ในเมื่อเพื่อจะอยู่ได้ เขาต้องมีรายได้ถึงวันละ 298 บาทต่อวัน อยู่กับเงินกู้นอกระบบหรือครับ เงินกู้นอกระบบนั้นกินรายได้ของแรงงานไปจนกระทั่งดูเหมือน 300 บาทก็จะไม่สามารถปลดเขาจากพันธะนั้นได้เสียแล้ว

แน่นอนว่า 300 บาทไม่ได้เข้ามาแทนที่สวัสดิการอันจำเป็น แต่ 300 บาททำให้เขาอยู่ได้ก่อน การพัฒนาฝีมือแรงงานและสวัสดิการควรเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐจะต้องผลักดันอย่างเต็มที่ เป็นก้าวต่อไปที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอันขาด

บางคนแสดงความห่วงใยว่า 300 บาทจะดึงเอาพม่า, ลาว, กัมพูชา, หลั่งไหลเข้ามาอีกมากมาย ก็คงจะดึงจริงแน่ และถึงจะมีหรือไม่มี 300 บาท อีก 5 ปีข้างหน้าในเงื่อนไขของเศรษฐกิจเสรีอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าเหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานต่างชาติ ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงงานไทยขาดแคลน การมีแรงงานต่างชาติเข้ามาก็ดีแล้วไม่ใช่หรือครับ แต่สาเหตุส่วนนี้ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า แรงงานต่างชาติรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทยไม่ได้ยกเว้นแรงงานต่างชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆ ที่กฎหมายกำหนดเลย

หากเราสามารถบังคับใช้กฎหมายจริง แรงงานต่างชาติจะได้ค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย ผมไม่เชื่อว่านายจ้างไทยยังอยากจ้างแรงงานต่างชาติอยู่อีก แม้บางคนจะบอกว่าพม่า, เขมร, ลาว หัวอ่อนกว่าแรงงานไทย แต่อย่าลืมนะครับว่า คนที่มีบ้านอยู่ต่างประเทศให้กลับ ข้อพิพาทแรงงานอาจพัฒนาไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายกว่าแรงงานไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ เผาโรงงานแล้วหนีกลับบ้านไม่ง่ายกว่าหรอกหรือครับ ที่ยังนิยมจ้างกันอยู่ในเวลานี้ ก็เพราะเอาเปรียบเขาได้ง่ายไม่ใช่หรือ

ยิ่งหากอุตสาหกรรมไทยสามารถขยับคุณภาพการผลิตให้สูงขึ้น แรงงานข้ามชาติ (กลุ่มเดิม) ยิ่งไม่เหมาะกับอุตสาหกรรมไทย

300 บาทนั้น ให้คำตอบที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ปราศจากปัญหาเสียเลย ก็มาช่วยกันคิดแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นไม่ดีกว่าหรือครับ

มติชน, 18 กรกฎาคม 2554

———————————————-

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าแรงขั้นต่ำ ผมเห็นด้วยในหลักการว่าควรจะสูงขึ้น
แต่ไม่แน่ใจ เพราะไม่เห็นตัวเลขทางด้านต่างๆอย่างชัดเจน ว่าควรจะสูงขึ้นขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองกันตรงๆตามสามัญสำนึก
ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน แม้จะใช้สำหรับการดำรงชีพของคนคนเดียว ก็ไม่ได้สุขสบายนัก
มิเช่นนั้น การเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายๆพรรคการเมือง คงไม่มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
แต่จะต่างกันก็แค่ พรรคไหนจะขึ้นกันเท่าไหร่

“จีดีพี” ในกระเป๋า, สรกล อดุลยานนท์

16 July 2011 1 comment

“จีดีพี” ในกระเป๋า

โดย สรกล อดุลยานนท์

หลังจากประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็เริ่มตั้งรับทางการเมือง

เมื่อทุกฝ่ายออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ 2 เรื่องใหญ่

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

และคนจบปริญญาตรี เงินเดือน 15,000 บาท

ประมาณ 10 กว่าวันที่ผ่านมา ภาคเอกชนและนักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้านแบบ “ประสานเสียง”

ผลกระทบที่พูดถึงล้วนน่ากลัวมาก

ต้องปิดกิจการ ต้องปลดคนงาน ต้องย้ายฐานการผลิต ฯลฯ

สุดท้ายก็จบลงตรงข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายชดเชยให้กับภาคธุรกิจ

ถามว่าเสียงคัดค้านของภาคเอกชนนั้นมีเหตุผลหรือไม่

ตอบได้เลยว่าน่ารับฟังอย่างยิ่ง

แต่ “อย่าเชื่อ” ทั้งหมด

เคยตั้งคำถามบ้างไหมครับว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยคุยนักคุยหนาว่าเศรษฐกิจไทยดีมาก

จีดีพีของประเทศเติบโตสูงมาก

ตัวเลขการส่งออกสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำไรเพิ่มขึ้นมโหฬาร

แต่แปลกไหมครับว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงรู้สึกว่า “จน” ลงกว่าเดิม

แสดงว่า จีดีพีที่เป็น “ตัวเลข” ของสภาพัฒน์ กับ “จีดีพีในกระเป๋า” ของชาวบ้านแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

วันนี้ น่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องกระจายจีดีพีในกระเป๋ายอดพีระมิดลงมาที่ระดับฐานล่างได้แล้ว

อย่าลืมว่า “ค่าแรง” นั้นเป็นเพียง “ต้นทุน” หนึ่งของธุรกิจ

เหมือนกับ “น้ำมัน-วัตถุดิบต่างๆ” หรือ “อัตราดอกเบี้ย”

เพียงแต่ต้นทุนตัวอื่นที่เพิ่มขึ้น ไม่ทำให้เกิด “กำลังซื้อ” ในประเทศ

ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระเพียงฝั่งเดียว

ไม่เหมือนกับ “ต้นทุน” เรื่อง “ค่าแรง” ที่เพิ่มขึ้น เพราะการเพิ่มของต้นทุนตัวนี้จะทำให้กำลังซื้อในประเทศสูงขึ้นด้วย

เป็นการเติมตัวเลขทั้งฝั่ง “อุปสงค์” และ “อุปทาน”

ฝั่ง “คนขาย” เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็ขึ้นราคาสินค้า

ส่วนฝั่ง “คนซื้อ” ก็พอรับได้ เพราะเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเหมือนกัน

เป็นการต่อสู้ที่ค่อยสมน้ำสมเนื้อหน่อย

ไม่ใช่ “คนซื้อ” โดนชกข้างเดียวเหมือนในอดีต

ที่สำคัญ ทุกครั้งที่ถกเถียงกัน เราต้องไม่ลืมความหมายของ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ด้วย

“ค่าจ้างขั้นต่ำ” นั้นหมายถึง “อัตราค่าจ้างตามความจำเป็นที่ลูกจ้างคนเดียว (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว) ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้”

เราลอง เปลี่ยน “จุดเริ่มต้น” ของการคิดใหม่ จากเรื่องผลกระทบในภาคธุรกิจ มาเป็นคุณภาพชีวิตของ “ผู้ใช้แรงงาน”

ลองจินตนาการเล่นๆ ว่า “คุณภาพชีวิต” ขั้นต่ำของเพื่อนคนไทยของเราคนหนึ่งควรจะได้รับนั้นเป็นอย่างไร

แล้วตีออกมาเป็นตัวเลข ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ

จากนั้นลองคำนวณว่า ค่าใช้จ่ายต่อวันเป็นเท่าไร

“จุดเริ่มต้น” การคิดที่เปลี่ยนไป อาจทำให้เราเข้าใจว่าอะไรเป็นเรื่องที่ “ควรฟัง”

และเรื่องใดเป็นเรื่องที่ “ควรทำ” ในวันนี้

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2554)

16 กรกฎาคม 2554

รายได้นักบิน

12 July 2011 3 comments

รายได้นักบิน

คงมีหลายๆคนที่สนใจและอยากรู้ว่าอาชีพนักบิน มีรายได้เท่าไหร่

ข้อมูลนี้มาจาก กัปตันวินัย ปราชญาพร นายกสมาคมนักบินไทย ที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่ สายการบินเอทิฮัดเดินสายช็อปนักบินตามประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสายการบินไทย

กัปตันวินัย ปราชญาพร นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการที่สายการบินเอทิฮัด จากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เดินทางมาประเทศไทยพร้อมทั้งเปิดห้องบอลรูมของโรงแรม โกลเด้นทิวลิป เพื่อรับสมัครนักบินระหว่างวันที่ 24-25 มิถุนายนนี้ว่า จะส่งผลให้นักบินของสายการบินต่าง ๆ ไม่เฉพาะแต่การบินไทยเท่านั้นที่จะให้ความสนใจไปสมัครกันเป็นจำนวนมาก โดยจะรวมถึงสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชียและอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกที่มีการโรดโชว์ในลักษณะนี้จากเดิมที่ใช้วิธีการสมัครผ่านอินเตอร์เน็ต เพียงอย่างเดียว

บิน 10 ปีมีเงินเก็บ 25 ล้าน

ส่วนสาเหตุที่จะทำให้นักบินให้ความสนใจเป็นเพราะผลตอบแทนทั้งรายได้ ในรูปของเงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการต่าง ๆ ที่มอบให้นั้นถือว่าดีมากจนปฏิเสธไม่ลงโดยล่าสุดมีการคำนวณรายได้ในระดับกัปตันของเอทิฮัดกับการบินไทยพบว่า ถ้าใช้ระยะเวลาทำงาน 10 ปี พบว่าถ้าบินกับสายการบินเอทิฮัดจะมีรายได้มากกว่าการบินไทยไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท โดยเงินเดือนของเอทิฮัดจะอยู่ที่ราว 480,000 บาทต่อเดือน ถ้ามีใบอนุญาตเป็นครูสอนนักบินจะได้รายได้เพิ่มอีก 40,000 บาทต่อเดือนหรือทำให้มีรายได้ในราว 520,000 บาท ขณะที่กัปตันการบินไทยมีรายได้ในราว 280,000 บาทต่อเดือน

“นักบินเข้าใหม่การบินไทยมีรายได้เงินเดือน 60,000 บาท บวกเบี้ยเลี้ยงอีก 30,000 บาท ถ้าเป็นโคไพลอตจะมีรายได้อยู่ที่ 160,000-180,000 บาท แต่เอทิฮัดจ่าย 280,000 บาทต่อเดือน ระดับกัปตันจ่าย 480,000 บาท ขณะที่ อยู่การบินไทยได้ 280,000 บาท แสดงให้เห็นถึงส่วนต่างรายได้ ในราว 200,000 บาทต่อเดือนหรือปีละ 2,400,000 บาท ไม่รวมสวัสดิการอื่นๆ ที่จูงใจอีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้นักบินที่ยังโสดและมีประสบการณ์ 5-7 ปีอยากไปร่วมงานด้วย “  นายกสมาคมนักบินไทยกล่าว

ปรับเงินเดือน 6 หมื่นก็ไม่อยู่

เขายังระบุอีกว่าก่อนหน้าฝ่ายบริหารการบินไทยก็กลัวปัญหาสมองไหลและได้เสนอปรับรายได้นักบิน โดยล่าสุดคณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาปรับรายได้โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือระดับกัปตันเพิ่ม 60,000 บาท ซีเนียร์โคไพลอต 45,000 บาทและจูเนียร์โคไพลอต 30,000 บาทต่อเดือน แต่ก็ต่ำกว่าที่เสนอไปมากและเชื่อว่าคงไม่สามารถแก้ปัญหาสมองไหลได้ เนื่องจากเทียบ
ผลตอบแทนที่สายการบิน ในตะวันออกกลาง อย่างเอทิฮัดจ่ายแล้วนับว่ายังมีความแตกต่างกันมาก

โดยเฉพาะกลุ่มนักบินในระดับซีเนียร์มีการปรับรายได้ต่ำกว่าที่ขอไปจำนวน 60,000 บาทต่อเดือนเนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการต้องการตัวของสายการบินต่างชาติมากที่สุดแต่ฝ่ายบริหารปรับให้เพียง 45,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่านักบินกลุ่มนี้คงจะมีการทยอยลาออกไปร่วมกับสายการบินต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ยิ่งมีการเดินสายการจัดโรดโชว์ถึงในเมืองไทยด้วย

หวั่นนักบินขาดกระทบไฟลต์บิน

หลังจากขณะนี้ได้ลาออกไปแล้ว 42 คน สัมภาษณ์ไปแล้วกำลังรอการเรียกตัวอีก 30 คนและโรดโชว์ในครั้งนี้จะมีนักบินอีกจำนวนหนึ่งไปสมัครแม้จะมีการปรับรายได้แล้วก็ตาม โดย เอทิฮัดให้ความสนใจกลุ่มนักบินที่มีประสบการณ์ 5-7 ปี ในการบินเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 หรือโบอิ้ง 737 แอร์บัสเอ 330 แอร์บัสเอ 340 และยังไม่มีครอบครัว เพราะจะทำให้ประหยัดค่าเล่าเรียนลูกไปได้อีกจำนวนหนึ่ง และสามารถย้ายไปประจำที่อาบูดาบีได้ง่ายกว่าคนมีครอบครัว

นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวต่ออีกว่า เดิมทีบริษัทจะจ่ายค่าเล่าเรียนในการฝึกอบรมนักบินและมีสัญญาผูกมัดในการทำงานอย่างน้อย 4 ปี แต่ปัจจุบันนักบินต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเองคนละ 2 ล้านบาท ใช้ระยะเวลา 1 ปี และใช้วิธีหักเงินเดือนใช้คืนบริษัท ซึ่งถ้าไม่ครบสัญญาต้องเสียค่าปรับ กรณีลาออกต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน ไม่งั้นจะเสียค่าปรับแต่เมื่อเทียบรายได้ที่เอทิฮัดให้แล้ว ถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก ปัจจุบันการบินไทยมีกัปตัน 479 คน โคไพลอต 840 คน ขณะนี้ถือว่ายังพอรับมือไหว แต่ถ้าหากมีการลาออกไปอีกสักประมาณ 80 คนจะกระทบกับการจัดตารางการบินอย่างแน่นอน

“เวลานี้ต้องถือว่าตลาดเป็นของนักบิน ทั่วโลกยังมีความต้องการนักบินสูงมีการประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะถึง 1 แสนคน เนื่องจากมีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศเกิดใหม่อย่าง จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศในแถบตะวันออกกลางที่ยังมีการสั่งซื้อเครื่องบินกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด มีการสั่งซื่อเครื่องบิน A 380 อีก 90 ลำที่จะส่งมอบภายใน 5 ปีที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทยคือเรื่องมาตรฐานนักบินที่ต้องมีการพิจารณากันให้ดี สิ่งที่น่าทำคือรับสมัครนักบินที่ยังไม่มีไลเซนส์ เอามาฝึก น่าจะทำได้เร็วกว่าการเรียนตามปกติที่สามารถผลิตได้ปีละ 100 คนทั่วประเทศเท่านั้น” นายกสมาคมนักบินไทยกล่าว

โรดโชว์ 7 ประเทศทั่วเอเชีย

ทางด้านแหล่งข่าวจากวงการนักบินที่เดินทางไปร่วมโรดโชว์กับสายการบินเอทิฮัดที่ประเทศสิงคโปร์ เผยว่า การเดินทางมาประเทศไทยช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ถือเป็นประเทศสุดท้ายของการเดินสายรับสมัครนักบินทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยก่อนหน้านั้น ได้มีการจัดโรดโชว์มาแล้ว 6 ประเทศ ไทยเป็นประเทศที่ 7 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ที่เมืองจาการ์ตาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เป็นแห่งแรกจากนั้นก็ไป สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา ฮ่องกง โฮจิมินห์ และกรุงเทพฯ เป็นแหล่งสุดท้าย

โดยสายการบินเอทิฮัดได้ทำพรีเซนเตชันแสดงความเป็นมาของสายการบินและเป้าหมายที่ชัดเจนแก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยระบุว่าเป็นสายการบินของรัฐบาลมีฐานการบินอยู่ที่เมืองอาบูดาบี และแหล่งผลิตน้ำมัน 90% ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่ในเมืองอาบูดาบี ตั้งเป้าหมายจะมีเครื่องบิน 180 ลำ ไม่มีนโยบายเป็นพันธมิตรกับสายการบินใดกลุ่มใดไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย สตาร์อัลไลแอนซ์ หรือวันเวิลด์ ที่ถือว่าเป็นเครือข่ายพันธมิตรทางการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะบริหารเอง แต่จะโค้ดแชร์กับสายการบินใหญ่ ๆ เชื่อมโยงเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก

เศรษฐกิจแย่ไม่เคยลดเงินเดือน

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลทางด้านลูกเรือว่า 90% ของพนักงานเป็นชาวต่างชาติ และมีนักบิน 78 สัญชาติ ลูกเรือ 141 สัญชาติ บ่อยครั้งที่ลูกเรือในเที่ยวบินเดียวกัน 18-19 คน ต่างสัญชาติกันทั้งหมด และยังเป็นสปอนเซอร์ในการแข่งขัน เอฟวัน ที่มีผู้ชมปีละ 600 ล้านคน เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งเตรียมจะมีอาคารผู้โดยสารของเอทิฮัดโดยเฉพาะซึ่งในแผนการขยายสนามบินเทอร์มินัล 3 ของสนามบิน มีการสั่งเปลี่ยนเก้าอี้ใหม่ใช้งบ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 540 ล้านบาท หลังจากใช้ไปแค่ 18 เดือน เพราะเห็นว่ามีข้อเสีย ที่นั่งในชั้นไดมอนด์คลาส สามารถปรับให้นั่งรับประทานอาหารค่ำได้ 4 คนเหมือนที่บ้านหรือภัตตาคาร มีจอทัชสกรีนในการขอเครื่องดื่มติดต่อกับลูกเรือโดยตรง

ปัจจุบันเอทิฮัดมีนักบิน 1,100 คน มีสถิติการลาออก 23 คน แม้เศรษฐกิจแย่แต่ก็ไม่เคยไปแตะเรื่องรายได้ของพนักงาน อาบูดาบี เป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงท็อป 30 แต่รายได้นักบินก็ถือว่าสูง ถ้าเทียบกับค่าครองชีพ สามารถซื้อบ้านหรู 4 ห้องนอน มีสระว่ายน้ำ มีรถ ปอร์ช ขับ ในราคาที่จับจ่ายซื้อหาได้ เมื่อเทียบกับเมืองอื่นที่ถ้ารายได้เท่ากัน แต่ไม่สามารถซื้อบ้าน ซื้อรถแบบนี้ได้

ค่าหมอปีละ 20 ล้านเข้าร.พ.ทั่วโลก

ส่วนรายได้นักบิน 80% มาจากรายได้เงินเดือนขั้นพื้นฐาน อีก 20% มาจากการไปบิน เพื่อทำให้มีรายได้แน่นอนไม่ต้องมาติดกับการต้องบินมากเพื่อให้ได้รายได้มากมีนโยบายทำให้นักบินทุกฝูงบิน (FEET) มีรายได้เท่า ๆ กันทุกเส้นทางบิน ต่างกันตรงที่ค่าอาหาร รายได้ ขั้นพื้นฐาน กัปตันเริ่มต้นที่ 9,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 288,000 บาทต่อเดือน ค่าเช่าบ้าน (170,000 AED หรือราว 1.4 ล้านบาทต่อปี 1 เออีดีเท่ากับ 8 บาทเศษ)

ขณะที่บ้านเดี่ยว 4 ห้องนอน มีสระว่ายน้ำ ค่าเช่าปีละ 132,000 AED หรือราว 1,056,000 บาทต่อปี หรือจะเช่าถูกกว่าแต่บริษัทจ่ายเต็ม ค่าเล่าเรียนลูก ได้ 4 คนอายุ 4-19 ปี โดยช่วงอายุ 4-11 ปี ได้คนละ 30,000 เออีดี 240,000… บาท อายุ 11-19 ปีได้ 42,000 เออีดี หรือ 336,000 บาท จ่ายตามจริงตามใบเสร็จ เรียนที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ และกำลังพิจารณาเพิ่ม

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการด้านสุขภาพมีการประกันค่ารักษาพยาบาลวงเงินปีละ 2,5000,000 AED หรือราว 20 ล้านบาท ต่อ 1 ครอบครัว มีบัตร เอโอเอสการ์ดให้ใช้ได้กับทุกคนในครอบครัว ทั้งขณะปฏิบัติหน้าที่และไม่ทำงานโดยเจ็บป่วยที่ไหนในโลกนี้แสดงบัตรจะได้รับการบริการเรื่องค่าใช้จ่าย นักบินเกษียณตอนอายุ 65 ปี ในกรณีเจ็บป่วยไม่ได้ทำงาน 3 เดือนสายการบินอื่นจะไม่ได้รับเงินเดือนแต่เอทิฮัด จะจัดให้ทำงานออฟฟิศ มีรายได้เดือนละประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 150,000 บาทต่อเดือน และทำได้นานถึง 5 ปี เป็นต้น แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ 23-25 มิถุนายน 2554

Categories: Other Tags:

วิเคราะห์จุดลบ-จุดบอด ยิ่งลักษณ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

11 July 2011 Leave a comment

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ่านเกมเกี้ยเซียะ “อำนาจเก่า+อำนาจพิเศษ” วิเคราะห์จุดลบ-จุดบอด “ยิ่งลักษณ์”

กระแส “ยิ่งลักษณ์ฟีเวอร์” ปะทะ ท้าทายทุกโครงสร้างอำนาจ

เมื่อเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ทุกอำนาจใน-นอกระบบต่างจับตา ตั้งรับ

1 ในนั้นเป็นนักประวัติศาสตร์ “กลุ่มสันติประชาธรรม” ที่เฝ้ามองการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน จนถึงวันที่”เพื่อไทย”กวาดคะแนนถล่มทลาย

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม จบสิ้นลง

เขาคาดหวังเล็กๆ ว่า นักการเมืองจะไม่เป็นวัวลืมตีน ไม่เห็นประชาชนเป็นควาย

เขาไม่อยากเห็น “ยิ่งลักษณ์” เกี้ยเซียะ กับ “อำนาจพิเศษ” และทหาร

Q ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่

ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมานาน ก็ไม่เคยคิดว่าประเทศเราจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงได้ เพราะประเทศถูกครอบงำโดยเพศชายมาตลอด จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่มาก ผมอยากจะเชื่อและหวังว่า เมื่อเกิดการตีบตันทางการเมือง ผู้หญิงจะมีความสามารถในการทำงาน ได้มากกว่าผู้ชาย

ผมคิดว่าถ้ามองในแง่บวกกับประเทศ นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะมีนายกรัฐมนตรีผู้หญิง และผมก็ภาวนาเอาใจช่วย

Q คุณยิ่งลักษณ์อยู่ภายใต้การตัดสินใจของคุณทักษิณ จะเป็นการลดทอนภาวะผู้นำหรือเปล่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณยิ่งลักษณ์เป็น “โคลนนิ่ง” ของคุณทักษิณ ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา คุณสมัคร คุณสมชาย ก็เป็น “นอมินี” แต่ประเด็นของมันคือ “ตรา” หรือ “โลโก้” ของทักษิณยังขายได้ เหมือนอย่างที่เคยพูดกันมาก่อนว่า เอา “เสาไฟฟ้า” มาลงสมัคร แล้วเอา “โลโก้” ของทักษิณไปใส่ ก็ชนะได้ ฉะนั้นแปลว่า คุณอยากจะก้าวข้าม เดินเลยทักษิณ มันก็ทำไม่ได้

งานเลือกตั้งคราวนี้ มองลึก ๆ เป็นเสมือน “ประชามติ” ว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา” ทักษิณ คำตอบสำหรับคนที่เชียร์คุณทักษิณ ก็บอกว่าใช่แล้ว คือ “เอา” คุณทักษิณ ส่วนคำตอบสำหรับคนที่ไม่ชอบคุณทักษิณ ก็รับไม่ได้ แต่หมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่ “หนึ่งคน หนึ่งโหวต” ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าเป็น “เสียงสวรรค์” หรือเป็น “เสียงนรก” ก็ตาม ก็แบ่งเป็นสองพวก พวกหนึ่ง “เอาทักษิณ” อีกพวกหนึ่ง “ไม่เอาทักษิณ” อันนี้คล้ายเป็น “ประชามติ” ไปโดยที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจ

Q แปลว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกยังไม่พ้นเงาพี่ชาย

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า คุณยิ่งลักษณ์จะมีความเป็นตัวของตัวเองบ้างหรือไม่ ผมคิดว่าเธอก็อาจเป็นตัวของตัวเธอเองได้ไม่น้อย เธอให้ภาพ หรือปรากฏตัวในแง่ความเป็น “ผู้หญิงเก่ง” ซึ่งไม่ได้ทำตัวว่า “กูเก่ง” เหมือน “ผู้ชาย” คุณยิ่งลักษณ์ไว้ผมยาวเหมือนนางงาม หรือไม่ก็นางแบบโฆษณา “แชมพู” มีปอยผมตวัดปลายนิดหนึ่ง ดูเป็น “ผู้หญิง” เธอสู้ด้วยความเป็น “ผู้หญิง” ของเธอ

อันนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจมาก แล้วถ้าคุณเป็น “สุภาพบุรุษ” คุณจะไม่ยอมให้เป็นเรื่องของ lady first หรือ แล้วเรื่องที่ว่านายกรัฐมนตรีหญิง ชื่อยิ่งลักษณ์ นามสกุลชินวัตร จะก้าวพ้นทักษิณได้ยังไง ก็เขาเป็นพี่น้องกัน มันไม่พ้นหรอก เพียงแต่ว่าเธอจะทำอย่างไรกับข้อกล่าวหาอันนี้ แล้วคนทั่ว ๆ ไปจะ “แคร์” กับข้อกล่าวหาอันนี้มากน้อยแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับผลงานมากกว่า

Q รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเหมือนยุค “สมัคร-สมชาย” ที่มีตำแหน่ง แต่ไม่มีอำนาจบริหารหรือไม่

รัฐบาลยิ่งลักษณ์คงพยายามอย่างยิ่ง ที่จะ “เกี้ยเซียะ” กับ “อำนาจเก่า” กับ “อำนาจพิเศษ” ผมวิตกว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องทำอะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง เช่น เธอต้อง “เกี้ยเซียะ” กับทหาร ไม่กล้าแตะทหาร ไม่เข้าไปยุ่งกับทหาร ไม่จัดการกับทหารให้เป็นประชาธิปไตย

ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็วิตกว่ารัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ก็คงจะไม่เข้าไปแตะต้องเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ รัฐบาลนี้อาจจะยอม “เกี้ยเซียะ” ด้วยการไม่ปฏิรูป หรือแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 อย่างที่มีการเรียกร้องกัน

ผมคิดว่าเพื่อความอยู่รอดของเธอ เพื่อการที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้สะดวก เธอก็อาจจะต้อง “เกี้ยเซียะ” สองประเด็นหลัก ๆ คือหนึ่ง ไม่แก้กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ปฏิรูปเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และสอง ไม่เข้าไปยุ่งกิจการสถาบันทหาร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นจุดบอด จุดลบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Q ประเด็น “ไพร่-อำมาตย์” คงเงียบหายไป เมื่อฝ่ายตัวเองมีอำนาจรัฐ

การพูดเรื่องไพร่-อำมาตย์ไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องของคนเสื้อแดง ดังนั้นถ้าคนเสื้อแดงเก่งจริง ก็ต้องดำเนินการต่อไป ด้วยการที่คิดว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง ไม่ใช่คิดว่าตัวเองเป็นพรรคเพื่อไทย

Q เสื้อแดงคือคนที่โหวตให้เพื่อไทย แล้วจะไม่คิดว่าเป็นพรรคของเขาได้อย่างไร

แน่นอน เขาเป็นพวกเดียวกัน เขามาด้วยกัน เขาต้องช่วยกัน แต่ผมคิดว่าเมื่อคุณได้รับชัยชนะ แล้วคุณจะทำอย่างไรกับชัยชนะของคุณ ที่จะผลักดันให้สังคมนี้ก้าวหน้าต่อไป ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการ “เกี้ยเซียะ” เมื่อได้อำนาจ

Q เพื่อไทยได้อำนาจแล้ว จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นได้จริงไหม

ปัญหาคือว่าคนเราเมื่อได้อำนาจแล้ว ก็อาจจะลืมหลักการและอุดมการณ์ ผมก็ไม่ได้หวังอะไรมากมายจากพรรคเพื่อไทย เรื่องที่เขาเคยผลักดันเอาไว้มันอาจจะจบลง เมื่อเขาเป็นส่วนหนึ่งของคนมีอำนาจ เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง เขาอาจจะลืมสิ่งที่เขาได้พูด ได้ต่อสู้มา เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ฉะนั้นประชาชนทั่วไปที่รักและบูชาประชาธิปไตยก็ต้องต่อสู้ไป เผลอ ๆ พรรคเพื่อไทยก็อาจจะไม่ช่วยนักประชาธิปไตยที่แท้จริงก็เป็นได้

Q นักการเมืองที่กล่าวอ้างอะไรลอย ๆ จะต้องปรับตัวหรือไม่

คำพังเพย “ประชาธิปไตย” ที่ว่า “คุณหลอกคนได้บางครั้งบางคราว คุณหลอกคนจำนวนมากได้หลายครั้งหลายคราว แต่คุณจะไม่สามารถหลอกคนทั้งหมดได้ทุก ๆ ครั้ง” เสมอไป ต่อไปนี้ ผมคิดว่าหลอกไม่ได้ง่าย ๆ ตรงนี้ผมรู้สึกภูมิใจที่เป็นคนไทย เราไม่ได้ “โง่” อย่างที่นักการเมืองบางพวกมองว่าเราเป็น “ควาย”

“ชาวกรุง” คิดว่า “ควายโง่” ส่วน “ชาวบ้าน” คิดว่า “ควายซื่อสัตย์” เราอาจจะต้องเลือกว่าจะเชื่อฝ่ายไหนดี ส่วนตัวผมคิดว่า ควายคือความ “ซื่อ” ในขณะที่นักการเมืองส่วนใหญ่เป็น “ชาวกรุง” หรือไม่ก็เป็น “บ้านนอก” มาก่อน พอเข้ามาเป็น “ชาวกรุง” ก็เลยกลายเป็น “วัวลืมตีน” เลยคิดว่า “ควาย” หรือ “คนอื่น ๆ” โง่

Q พรรคประชาธิปัตย์คะแนนห่างจากพรรคเพื่อไทยเป็นสัญญาณอะไร

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นสัญญาณบอกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คนทั่ว ๆ ไปอาจคิดว่า ประชาธิปัตย์จะกลับไปเล่นเกมซ้ำ ๆ ที่จะร่วมมือกับ “อำนาจพิเศษ” เพื่อกลับมามีอำนาจใหม่ ไปเล่นกับ “อำนาจเก่า” กลุ่ม “ผู้ดีเก่า” “เงินเก่า” หรือ “เจ้าที่ดินเก่า” ซึ่งถ้าไม่ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่ปรับตัว ไม่ปฏิรูป ในหลายเรื่อง เช่น เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เรื่องที่ดิน ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ กลับไปเล่นเกม “ประชานิยม” แบบที่เป็น “แบรนด์” ของฝ่ายตรงข้ามของตน ก็อาจจะถูก “มองข้าม” ไปในทางการเมืองก็ได้

Q การเมืองจากนี้จะปรับเปลี่ยนไปอย่างไร

ตั้งแต่ปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ได้เป็นรัฐบาล หลังจากนั้นถูกยุบพรรค แต่เลือกตั้งใหม่ก็ชนะ

ประเด็นจึงอยู่ที่ผู้ที่มี “อำนาจพิเศษ” ผู้ที่มี “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” ก็อาจจะต้องคิดว่า เฮ้ย ! จะ “เกี้ยเซียะ” หรือ “ไม่เกี้ยเซียะ” ผมว่าในด้านหนึ่ง เขาคง “เกี้ยเซียะ” กัน แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องรอดูไปก่อน สัก 6 เดือน หรือ 12 เดือน ก็อาจจะพลิกผันใหม่ได้อีก เพราะคนที่อยู่ในอำนาจ หรือเคยมีอำนาจ จะยอมเสียอำนาจได้ง่าย ๆ หรือ เป็นไปได้ยาก

ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าจะมีการรัฐประหารแบบเดิม ๆ โดยเอาทหารออกมา เอารถถังออกมา ซึ่งตอนนี้ว่าไปก็ทำไม่ง่ายนัก และในช่วงระยะเวลาที่ “กระแสยิ่งลักษณ์” ยังแรงอยู่ก็คงทำไม่ได้ หรือจะทำอีกวิธีหนึ่งคือ รัฐประหารโดยรัฐสภา เช่น ปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำแบบ “โมเดล” รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯทำ เมื่อปี 2476 ก็เป็นไปได้ แต่รัฐสภาเป็นพวกใคร ถ้าไม่ใช่พวกของผู้มี “อำนาจพิเศษ” หรือ “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” ก็ทำไม่ได้ คือยึดอำนาจ หรือทำ “รัฐประหารทางสภา” ไม่ได้

เหลืออันเดียว คือ “รัฐประหารโดยศาล” ที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัตน์” แต่ผมขอใช้คำว่า “ตุลาการธิปไตย” อาจจะถูกต้องกว่า คืออำนาจสูงสุดเป็นของฝ่ายศาล พวกนี้อาจจะมายุบไอ้โน่น ยุบไอ้นี่ เผลอ ๆ อาจจะยุบให้หมดเลยก็ได้ ถ้ายุบไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำให้เกิดช่องว่างหรือ “สุญญากาศ” ทางการเมือง แล้วก็ตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” อันนี้ก็อาจจะเป็นเป้าหมายบั้นปลายของพวกเขาก็ได้

คนที่มีอำนาจอยู่ ในเมื่อเลือกตั้งก็แล้ว สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ก็แล้ว ก็ไม่ชนะทุกที ก็ล้มกระดานเสียให้หมดเลย แล้วตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ผมคิดว่านี่เป็น scenarios สุดท้าย อาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้ หากจะมองใน “แง่ร้าย” แบบสุด ๆ

Q ถ้าเสื้อแดงกับเพื่อไทยไปปรองดองกับ “อำนาจเก่า” จะอธิบายกับมวลชนอย่างไร

ถึงตอนนั้น เขาก็อาจไม่สนใจที่จะอธิบายกับประชาชนหรอก เมื่อเขาได้อำนาจแล้ว เขาก็อาจเป็นเหมือนคนอื่นๆ ก็ได้ ดังนั้น เราต้องติดตาม สอดส่อง มอนิเตอร์ ต้องตามดู คุณยิ่งลักษณ์ ณัฐวุฒิ จตุพร อาจจะดูดี เพราะชนะแล้ว ต่ทันทีที่เข้าไปอยู่ในอำนาจ อยู่ในตำแหน่ง มีเก้าอี้แล้ว เขาจะเปลี่ยนไหม ก็มีสิทธิ์เปลี่ยน

ผมไม่เคยไว้ใจนักการเมืองเลย ในฐานะที่เป็นคนชื่นชมอาจารย์ปรีดี ในฐานะที่เป็นลูกน้องอาจารย์ป๋วย ในฐานะที่ศึกษาการเมืองมาจนอายุ 70 ปี ผมไม่ค่อยอยากจะเชื่อนักการเมือง เท่าไรนัก ต่อให้ “อม” พระแก้วมรกตมาพูด ผมก็ไม่เชื่อ

Q ทำไมคิดว่า ชนชั้นนำของ 2 ขั้วจะปรองดองกันไม่ได้ในบั้นปลาย

หมายความว่า ถ้าเขาจะต่อสู้กันต่อไป เพื่อบั้นปลายของความเป็นประชาธิปไตย ที่มากกว่าปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตย ที่คำนึงถึงประชามหาชน คำนึงถึงคนระดับล่าง คนไม่มีที่ดินทำกิน คนที่มีช่องว่างความห่างกับคนรวยในกรุงเทพฯ ถ้าเขาสามารถจะเดินไปตามที่เขาเคยคิด เคยเชื่อ เคยพูด ผมก็ดีใจ

แต่ผมไม่ไว้ใจ ผมไม่เคยเชื่อนักการเมือง จึงต้องติดตามดูต่อ เมื่อเขาไปมีตำแหน่งแล้วเขาก็ลืม “วัวลืมตีน” ผมหวังว่าคนแบบคุณยิ่งลักษณ์ หรือณัฐวุฒิ หรือจตุพร ซึ่งเป็นคนที่ต้องต่อสู้จริงๆ ผ่านการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อยู่ในสมรภูมิยาวนาน ผมหวังว่า เขาจะไม่เป็น “วัวลืมตีน” กันครับ

Q พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม ต่อไปเขาอาจจะจับมือกับปชป.และถล่มรัฐบาลเพื่อไทย หรือไม่

ก็เป็นไปได้ครับ พันธมิตรฯ ก็น่าสงสาร น่าเห็นใจ นี่โชคดีนะที่ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ทอดสะพานให้เขาเดินลงได้ ยุติการชุมนุมกลับบ้านได้

สิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจมากๆ ก็คือว่า ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง คุณสุวิทย์ โยนเรื่องการถอนตัว เดินออกจากที่ประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก แต่ท้ายที่สุด คุณสุวิทย์ กลับไม่ได้รับเลือกตั้ง แปลว่า ฝ่ายที่ปล่อยเรื่องปราสาทเขาพระวิหารออกมาช่วยหาเสียง กลับจุดไม่ติด ไม่ได้รับการโหวต และ “สอบตก” ไปเลย ส่วนฝ่ายที่ปล่อยเรื่อง “เผาบ้านเผาเมือง” ในโค้งสุดท้าย ก็ได้รับการโหวตพอสมควรในกรุงเทพฯ

มติชน, 9 กรกฎาคม 2554

เสนาะ-ณัฐวุฒิ, สรกล อดุลยานนท์

10 July 2011 Leave a comment

เสนาะ-ณัฐวุฒิ

โดย สรกล อดุลยานนท์

ฟัง “เสนาะ เทียนทอง” และ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ให้สัมภาษณ์เรื่องตำแหน่ง “รัฐมนตรี” แล้ว

รู้เลยว่า “กระดานชนวน” กับ “แท็บเล็ต” แม้จะมีรูปร่างคล้ายกัน

แต่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ตอนนี้คนในพรรคเพื่อไทยคงเริ่มสับสนว่า “ป๋าเหนาะ” เพิ่งก้าวเข้ามาในพรรคเพื่อไทยได้ไม่ถึง 1 เดือนก่อนสมัครรับเลือกตั้ง

หรือว่าเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่ในพรรคเพื่อไทยมายาวนาน

ลำพังแค่การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีให้ตนเองหรือลูกชาย ก็ถือว่า “กระดานชนวน” แล้ว

“เสนาะ” ยังตีกัน “ณัฐวุฒิ” และแกนนำคนเสื้อแดงไม่ให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีก

เพราะขนาด “สุเทพ เทือกสุบรรณ-บรรหาร ศิลปอาชา-สุวัจน์ ลิปตพัลลภ-เนวิน ชิดชอบ” แกนนำพรรคคู่แข่งต่างออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกัน

เขายอมรับว่าแพ้เพราะกระแสพรรคเพื่อไทย

และ “คนเสื้อแดง”

“คนเสื้อแดง” นอกจากลงคะแนนให้ “เพื่อไทย” แล้ว ยังเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ทำลายระบบโครงสร้าง “หัวคะแนน” แบบเดิมๆ

จน “กระสุน” แพ้ “กระแส”

ในทางการเมือง การจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลนั้นนอกจากเลือกคนดีมีฝีมือในการบริหารงานเป็น “รัฐมนตรี” แล้ว ส่วนหนึ่งยังต้องตอบแทนให้กับคนที่ทำงานการเมืองด้วย

เพราะในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลไม่ได้บริหาร “บ้านเมือง” เพียงอย่างเดียว แต่ต้องบริหาร “การเมือง” ด้วย

ดังนั้น ในทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกหาก “ณัฐวุฒิ” จะเป็น “รัฐมนตรี”

เพราะนอกจากเป็นแกนนำ “คนเสื้อแดง” พลังหลักของ “เพื่อไทย” แล้ว

ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เขาเป็นคนเดินสายพร้อมกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เรียกคะแนนให้ “เพื่อไทย” ในทุกพื้นที่

“ณัฐวุฒิ” จึงเหมาะสมที่จะเป็น “รัฐมนตรี” มากกว่า “เสนาะ เทียนทอง”

แต่ในการให้สัมภาษณ์ “สรยุทธ” ทางช่อง 3 “ณัฐวุฒิ” กลับนิ่งมาก ไม่ได้เรียกร้องเก้าอี้ “รัฐมนตรี” เลย

เขายืนยันว่าจะยอมรับมติของพรรค จะให้ทำงานบริหารหรือทำงานสภาก็ได้

หากถามว่า “เพื่อไทย” ควรให้เก้าอี้รัฐมนตรีกับ “ณัฐวุฒิ” หรือไม่

ตอบได้เลยว่า “ต้องให้”

แต่ถามว่า “ณัฐวุฒิ” ควรรับตำแหน่งหรือไม่

ตอบว่า “ไม่ควร”

เพราะนอกจากเป็น “สายล่อฟ้า” ทางการเมือง และทำให้แผนการปรองดองไม่ราบรื่น

“คนเสื้อแดง” ยังเคยกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ว่าตั้งผู้ต้องหาคดี “ก่อการร้าย” อย่าง “กษิต ภิรมย์” มาเป็นรัฐมนตรี

ดังนั้น ถ้าเขารับตำแหน่งรัฐมนตรีก็เท่ากับทำซ้ำในสิ่งที่ “ประชาธิปัตย์” เคยทำ

หรือต้องเจอข้อหานำมวลชนออกมาเพราะอยากเป็น “รัฐมนตรี”

ช่วงเวลาแบบนี้เองที่จะพิสูจน์ความหนักแน่นของใจคน

ถ้า “ณัฐวุฒิ” รู้จักรอคอย และกล้าปฏิเสธความหอมหวนของ “อำนาจ”

เขาจะสง่างามมากในทางการเมือง

อย่าลืมบทเรียนของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่หรี่ตาทำเป็นมองไม่เห็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารและรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

ตัดสินใจผิดนิดเดียว ความเป็นนักประชาธิปไตยที่สร้างสมมาหายวับไปกับตา

ที่สำคัญถือเป็นการย้ำให้ “ป๋าเหนาะ” รู้ว่า “กระดานชนวน” กับ “แท็บเล็ต” นั้นแม้รูปร่างคล้ายกัน

แต่แตกต่างกันจริงๆ

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2554)

มติชน, 9 กรกฎาคม 2554

“อำนาจ” ในมือเรา, สรกล อดุลยานนท์

4 July 2011 Leave a comment

“อำนาจ” ในมือเรา

โดย สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มมองข้ามช็อตไปแล้วว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

สมมติฐานแรก ถ้า “ประชาธิปัตย์” ชนะเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

ส่วนใหญ่จะฟันธงว่าไม่มีปัญหา

เพราะ “เสื้อแดง” จะไม่มีความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว

ยกเว้นว่ามีการโกงอย่างมโหฬารจนน่าเกลียด

ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

สมมติฐานที่สอง ถ้า “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

แม้โดยมารยาท “ประชาธิปัตย์” ควรเปิดทางให้ “เพื่อไทย”

แต่ตามกติกาประชาธิปไตยพรรคไหนรวบรวมเสียง ส.ส.ได้มากที่สุดก็มีสิทธิตั้งรัฐบาล

ดังนั้น ถ้า “ประชาธิปัตย์” รวบรวมเสียงได้มากกว่าก็สามารถเป็นรัฐบาลได้

สมมติฐานสุดท้ายต่างหากที่มีปัญหา

นั่นคือ “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ

“เพื่อไทย” จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้จะไม่ใช่ “ปัญหา”

แต่เป็น “โอกาส”

เพราะหมายความว่า ประชาชนทั้งประเทศมีมติแล้วว่าจะเลือกพรรคไหนเป็นรัฐบาล และเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

ประเทศประชาธิปไตยจริงๆ เขาเชื่อว่าเสียงของ “ประชาชน” คือ “เสียงสวรรค์”

ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน

ไม่มีใครใหญ่กว่ากัน

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในเมืองไทย สมมติฐานข้อสุดท้ายกลายเป็น “ปัญหา” ในเมืองไทย

สื่อต่างชาตินั้นฟันธงเลยว่า เมืองไทยจะยังคงวุ่นวายต่อไป และปัญหายังไม่จบ

ซึ่งตรงกับความรู้สึกของคนหลายคน

เพราะทุกครั้งที่เราจะวิเคราะห์เรื่องที่ยังมาไม่ถึง ส่วนใหญ่จะใช้ “กรอบประสบการณ์” ในอดีตทำนายอนาคตทั้งสิ้น

ทุกคนเชื่อว่าในประเทศไทยมี “มือที่มองไม่เห็น” อยู่จริง

และ “มือที่มองไม่เห็น” ไม่ชอบ “ทักษิณ” ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย

ทุกคนคิดถึงเรื่องการยุบพรรค นึกถึงเรื่อง “สมัคร สุนทรเวช” ทำกับข้าวแล้วต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นึกถึง “ม็อบเสื้อเหลือง” นึกถึงการรัฐประหาร นึกถึงการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ฯลฯ

เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็น “ปิศาจ” ที่หลอกหลอนคนไทย

และทำลาย “ความเชื่อมั่น” ในระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง

ถามว่าแปลกไหม

ตอบได้เลยว่า “ไม่แปลก”

แต่จะ “แปลก” มากเลยถ้าคนไทยจะนิ่งเฉยต่อ “ปิศาจ” ตัวนี้

และยอมให้มันมาหลอกหลอนคนไทยต่อไป

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย เพราะเรากำลังกำหนดทิศทางของประเทศ

ครับ คนเราเลือกเกิดไม่ได้

แต่เราเลือกที่จะเป็น

และเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงได้

เพราะไม่มีอำนาจใดจะยิ่งใหญ่เท่ากับอำนาจของประชาชนหรอกครับ

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2554)

2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554