Archive

Archive for June, 2008

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

29 June 2008 2 comments

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เคยหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
แต่ว่าข้อมูลที่ได้ในไทย ไม่ค่อยมีมากนัก
ประกอบกับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ พอเจอบทความนี้ เลยคิดว่าเก็บเอาไว้ดีกว่า

กลัว’มะเร็ง’ อยากฉีด ‘วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก’ แต่จะรู้ได้ยังไงว่าไม่ถูกเขา ‘หลอก’ ฟรี

สินค้าใดที่สามารถรักษาชีวิตได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะขายดิบขายดี แม้ราคาจะแพงลิบลิ่ว เช่น ‘วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก’ ที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วร.พ.หลายแห่งให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้คุณอาจเสียเงิน 2 หมื่นไปฟรีๆ พร้อมความรู้สึก?!?

หนึ่งในสินค้าที่กำลังเป็นความหวังของผู้หญิงทั่วโลกว่า จะช่วยรักษาชีวิตให้รอดจากโรคร้าย คือ วัคซีนที่ถูกทำมาเผยแพร่สู่ท้องตลาดในชื่อ ‘วัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูก’ ในสังคมไทย วัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูกกลายเป็นสินค้าสุดฮ็อตสำหรับผู้หญิงที่มีราย ได้ปานกลาง – ระดับสูง มาตั้งแต่ต้นปี 2550 เมื่อมีการจดทะเบียนวัคซีนตัวแรก ที่ชื่อ ‘Gardasil’ ซึ่งผลิตโดย บริษัท เมิร์ค (Merck) ในเดือนมีนาคม ปี 2550 และร้อนแรงยิ่งขึ้นหลังจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อบริษัทแกล็ค สมิธ แอนด์ ไคลน์ (Glax Smith and Kiine) จดทะเบียบวัคซีน Cervarix ตัวที่ 2 และกลายเป็นคู่แข่งกันแพร่ขยายจุดจำหน่ายที่โรงพยาบาลเอกชน ไปยังโรงพยาบาลของรัฐ

ด้วยสนนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนที่สูง ถึง 20,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งวัคซีนดังกล่าวยังไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้ที่รับการ ฉีดทุกคนได้ โดยกลุ่มผู้ที่ฉีดแล้วได้ผลมากที่สุด คือ ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน และอยู่ในกลุ่มอายุ 9 – 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่สามารถหารายได้ได้เอง

คำถามที่พุ่งไปสู่สินค้าตัวนี้ ณ ตอนนี้คือ ใครคือผู้ที่ต้องใข้ และใครคือผู้ที่ต้องจ่าย

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ‘ชื่อซ่อนปม…ร่มที่ยังมีรอยรั่ว’

‘วัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูก’ เพิ่งถูกใช้ในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์รู้จักวัคซีนนี้ในชื่อว่า ‘วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV’ หรือ ‘Human papillomavirus’ ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยบางสายพันธุ์เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก 70 % อย่าง ไรก็ตาม นอกเหนือจาก HPV 2 สายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว HPV สายพันธุ์อื่นๆ และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ก็ยังสามารถเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน  ดังนั้น โอกาสที่วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงอยู่ที่ประมาณ 70 % เท่านั้น

‘ใครควรฉีด ฉีดเมื่อไหร่ มีฤทธิ์นานแค่ไหน’ ขีดจำกัดที่มักไม่พูดถึง

ข้อจำกัดของวัคซีนที่มักถูกเผยแพร่ต่อสังคม คือ วัคซีนดังกล่าวจะให้ผลดีเฉพาะกับผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน และยังมีอายุน้อย โดยการไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เพราะสาเหตุของการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ปากมดลูก มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจาก HPV เป็นเชื้อที่สามารถติดได้ง่ายมาก จากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยมีโอกาศติด HPV ถึง 80 % และเมื่อร่างกายได้ติด HPV มาแล้ว วัคซีนดังกล่าวจะไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานการติดเชื้อได้

ส่วนการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เนื้อเยื่อปากมดลูก ซึ่งมักถูกเสนอเป็นวิธีการตรวจเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่งนั้น หากคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์และเข้าตรวจหา HPV แล้วพบว่าไม่มีการติดเชื้อ จะไม่ได้หมายความว่า จะสามารถฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้วได้ผล เพราะการตรวจการ HPV เป็นการตรวจหาร่องรอยแผล หรือปฏิกิริยาที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV เท่านั้น ซึ่งไม่มีน้ำหนักยืนยันว่า เราติดเชื้อ HPV แล้วหรือไม่ เพราะหากมี HPV จำนวนน้อยที่ปากมดลูก ก็อาจตรวจไม่พบเชื้อ

‘ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีเพศสัมพันธ์ มาแล้วและสนใจฉีดวัคซีนตัวนี้ และได้รับคำแนะนำชักชวนจากสถานพยาบาลให้ตรวจหาการติดเชื้อไวรัส HPV เพื่อให้รู้แน่ว่า เมื่อฉีดแล้วจะได้ผลหรือไม่ ขอให้แน่ใจได้เลยว่า คุณกำลังเจอมาตรการ ‘กินสองต่อ’ เข้าให้แล้ว !!! ‘

การตลาดที่ท้าทายจริยธรรม

จาก การสำรวจข้อมูล โดยการสอบถามโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV และราคาวัคซีนที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชน พบว่า ประเทศไทยยังมียี่ห้อเดียว คือ Gardasil และพบข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
– โรงพยาบาลหลายแห่งละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า วัคซีนนี้อาจไม่ได้ผลกับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
– บางแห่งให้ข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนผิดพลาด
– มักแนะนำให้ฉีดวัคซีนยี่ห้อที่สามารถป้องกันเชื้อได้ 4 ชนิด โดยอ้างว่า มีประสิทธิภาพกว่ายี่ห้อที่ป้องกันได้ 2 ชนิด ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด เพราะวัคซีน 2 ชนิดที่เพิ่มเข้ามา คือ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 เป็นสายพันธุ์ ที่ก่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกที่ต่ำมาก
– ไม่มีโรงพยาบาลใดให้ข้อมูลว่า วัคซีนนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา บางแห่งระบุว่า วัคซีนมีช่วยเวลาการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน และไม่มีผลข้างเคียง ทั้งที่ผลวิจัยในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้
– โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งเสนอ ‘โปรโมชั่น’ ในการฉีดวัคซีนนี้

คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV

1 ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซันนี้อาจไม่เป็นประโยชน์กับคุณเลย เพราะมีโอกาสสูงมากที่คุณเคยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวมาแล้ว
2 ถ้า ได้รับการชักชวนให้ตรวจว่า คุณติดเชื้อไวรัส HPV แล้วหริอไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจฉีดวัคซีนดังกล่าว จงปฏิเสธ เพราะผลการตรวจสอบที่ได้รับ ไม่มีความแน่นอนที่มากพอ
3 ถ้าคุณอายุมากกว่า 26 ปี ผลตอบสนองจากการฉีดวัคซีนอาจไม่ดีเท่ากับคนอายุน้อยกว่า
4 ถ้า คุณสนใจฉีดวัคซีนนี้ เพราะเข้าใจว่าจะทำให้ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เช่น แปปสเมียร์ VIA หรือ Thin prep อีกต่อไป ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ และนำชีวิตไปสู่ความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะวัคซีนนี้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 70 % เท่านั้น
5 ถ้าคุณ ได้รับทราบข้อมูลว่า วัคซีนนี้ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้น หมายความคุณถูกหลอกแล้ว เพราะขณะนี้ระยะเวลาในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ของวัคซีนยังไม่เป็นที่รู้อย่างแน่ชัด เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

รู้จักมะเร็งปากมดลูก … ภัยร้ายของผู้หญิง

ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก ระหว่างการสัมมนาระดับชาติ ว่า สาเหตุของโรคนี้ พบว่าร้อยละ 99.7 เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งมีความทนทานสูง นอกจากนี้ ยังไม่แสดงอาการเมื่อติดเชื้อ เพราะเกิดที่ระดับผิวสัมผัส แต่ไม่ได้เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไม่มีอาการปรากฎชัดเจน โดยไวรัสนี้จะไม่ทำให้เซลล์ตาย แต่จะทำให้เกิดเนื้องอก เมื่อเป็นมะเร็งระยะแรกจะไม่มีอาการปรากฎ โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่ติดเชื้อไวรัส HPV จนเกิดโรคประมาณ 10 ปี และแม้อยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้

ศ.นพ.จตุพล กล่าวว่า สาเหตุความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีบุตรหลายคน การสูบบุหรี่ และการมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ทั้งนี้ วิธิป้องกันโรคนี้มีหลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมข้างตน การฉีดวัคซีน HPV เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแปปสมียร์ การตรวจการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู (VIA) และการตรวจหาการติดเชื้อ HPV

‘ส่วนวิธีการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ดี ที่สุดในขณะนี้ คือ ผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจแปปเสมียร์อย่างสม่ำเสมอ 1 – 5 ปีต่อครั้ง’ ศ.นพ.จตุพล กล่าว

ที่มา นิตยสาร ‘ฉลาดซื้อ’ โดยมูลนิธีเพื่อผู้บริโภค ฉบับที่ 83 เขียนโดย กรองทรรศน์ อัศพัตร

Categories: Health and wellness

ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

24 June 2008 Leave a comment

ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

ต่อจากเมื่อวานที่เอากรณีปราสาทเขาพระวิหารมานำเสนอ
วันนี้เป็นอีกหนึ่งบทความ ของ อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ลองอ่านดูว่า กรณีนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร
มีเหตุการณ์อะไรบ้างในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกันมา
จะได้ไม่คิดอะไรมากนัก
ประวัติศาสตร์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยม
ที่เห็นว่าประเทศหรือชาติตัวเอง เป็นผู้ถูกกระทำหรือโดนรังแกมาโดยตลอด


ปราสาทเขาพระวิหาร-กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สืบเนื่องจากการที่ประเด็นเรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในการโค่นล้มรัฐบาลของ นรม. สมัคร สุนทรเวช และ "ระบอบทักษิณ" เป็นปัญหาของการเมืองภายในของเรา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจที่มาและที่ไปของเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางประวัติศาสตร์ และทางรัฐศาสตร์การเมือง ดังนั้น จึงขอบรรยายตามลำดับ ดังต่อไปนี้

(1)
"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "ประวัติศาสตร์แผลเก่า" ระหว่าง "ชาติไทย" กับ "ชาติ กัมพูชา" ระหว่าง "ลัทธิชาตินิยมไทย" และ "ลัทธิชาตินิยมกัมพูชา" แม้จะเกิดมานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นบาดแผลที่ไม่หายสนิท จะปะทุพุพองขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมื่อไรก็ได้ ในด้านของสยามประเทศ(ไทย) "ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นส่วนหนึ่งของ "การเมือง" และ "ลัทธิชาตินิยม" ในสกุลของ "อำมาตยาเสนาธิปไตย" ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัย

สงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำสมัย "สงครามเย็น" ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และก็ถูกสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และบรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆมา)

(2)
"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรม "บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ" ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับชนชาติไทย ลาว มอญ พม่าที่สร้าง "ปราสาท" ด้วยอิฐและไม้ ความสามารถและความยิ่งใหญ่ของขะแมร์กัมพูชา เทียบได้กับชมพูทวีป กรีก และอียิปต์ สุดยอดของขะแมร์กัมพูชา คือ Angkor หรือ "ศรียโสธรปุระ-นครวัด-นครธม"

ขะแมร์กัมพูชา ก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)
"ปราสาทเขาพระวิหาร" เป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก ("พนมดงแร็ก" ในภาษาขะแมร์ แปลว่าภูเขาไม้คาน ซึ่งสูงจากพื้นดินกว่า 500 เมตร และเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 600 เมตร ปัจจุบันตั้งอยุ่ใน (เขต) จังหวัด "เปรียะวิเฮียร" (Preah Vihear) ของกัมพูชา

(3)
"ปราสาทเขาพระวิหาร" น่าจะถูกทิ้งปล่อยให้ร้างไปเมื่อหลังปี พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) คือภายหลังที่กรุงศรียโสธรปุระ (นครวัดนครธม) ของกัมพูชา "เสียกรุง" ให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยของพระเจ้าสามพระยา) ขะแมร์กัมพูชาต้องหนีย้ายเมืองหลวงไปอยู่ละแวก อุดงมีชัย และพนมเปญ ตามลำดับ และ "หนีเสือไปปะจระเข้" คือเวียดนามที่ขยายรุกเข้ามาทางใต้ปากแม่น้ำโขง

แต่ประวัติศาสตร์โบราณเรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีในตำราประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ของไทย (หรือของเวียดนาม) ดังนั้นคนในสยามประเทศ(ไทย) ส่วนใหญ่จึงรับรู้แต่เพียงเรื่องการ "เสียกรุงศรี อยุธยา" แก่พม่า (พ.ศ. 2112 และ 2310) แต่ไม่รู้เรื่องของ "เสียกรุงศรียโสธรปุระ" (พ.ศ. 1974) ของกัมพูชา

ทั้งกัมพูชาและสยามประเทศ(ไทย) คงลืมและทิ้งร้าง "ปราสาทเขาพระวิหาร" ไปประมาณเกือบ 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามาล่าเมืองขึ้นในอุษาคเนย์ ได้ทั้งเวียดนาม ทั้งลาว และกัมพูชา ไปเป็น "อาณานิคม" ของตน และก็พยามยามเขมือบดินแดนของ "สยาม" สมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใข้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย (ในจังหวัดเลย) ไว้เป็นเครื่องต่อรองอยู่ 10 กว่าปี

(4)
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ที่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งที่ทรงแต่งเรื่อง "ไกลบ้าน") จึงได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนยกดินแดนเสียมเรียบ (อันเป็นที่ตั้งของนครวัดนครธมหรือกรุงศรียโสธรปุระ) กับพระตะบอง และศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยการแลก "จันทบุรี ตราด และด่านซ้าย (เลย)" กลับคืนมา (ครบรอบ 101 ปีในปี 2551 นี้)

เมื่อถึงตอนนี้นั่นแหละที่เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางด้านทิศตะวันออกของประเทศเรา มีพรมแดนและเส้นเขตแดนติดกัมพูชาและลาวอย่างที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน และตัวปราสาทเขาพระวิหาร ก็ถูกขีดเส้นแดนให้ตกเป็นของฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราช จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

กล่าวโดยย่อในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทยนั้น ฝ่าย "รัฐบาลราชาธิปไตยสยาม" ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่าปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันโดยสันติ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อเป็นหลักประกันในการรักษา "เอกราชและอธิปไตย" ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้

และดังนั้น เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง "อภิรัฐมนตรี" ในสมัยรัฐบาลของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรทั้งปราสาทเขาพนมรุ้ง และปราสาทเขาพระวิหาร จึงทรงขออนุญาตฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ที่จะขึ้นไปทอดพระเนตร "ปราสาทเขาพระวิหาร" ที่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ของฝรั่งเศส (และนี่ ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ. วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิถุนายน 2505)

(5)
กาลเวลาล่วงไปจนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ "ราชาธิปไตย" ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เรื่องของ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นครุกรุ่นทางการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง (ก่อนครั้งที่ 3 ของการ "โค่นรัฐบาลสมัคร" ในสมัยนี้) คือครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ปีกขวาของคณะราษฎร) และครั้งที่สอง สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคสงครามเย็น (ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และต่อต้านนโยบายเป็นกลางของกัมพูชาสมัยพระเจ้านโรดม สีหนุ)

ในครั้งแรก สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อ "คณะราษฎร" ยึดอำนาจได้แล้วแม้จะโดยปราศจากความรุนแรงและนองเลือดในปีแรกก็ตาม แต่ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองประเทศอย่างมาก เพราะเพียง 1 ปีต่อมาก็เกิด "กบฏบวรเดช" พ.ศ. 2476 (ที่นำด้วยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ ผู้เป็นตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์) เกิดการนองเลือดเป็น "สงครามกลางเมือง" และส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ถึงกับสละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่ที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์

ในท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองนั้น รัฐบาลพิบูลสงคราม หันไปพึ่ง "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" ปลุกระดมวาทกรรม "การเสียดินแดน 13 ครั้ง" ให้เกิดความ "รักชาติ" ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น

-24 มิถุนายน 2482 รัฐบาลเปลี่ยนนามประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย"
-Siam เป็น Thailand
-(แล้วเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรให้เป็น "ไทยๆ" ซึ่งรวมทั้ง
-พระไทยเทวาธิราช -ธนาคารไทยพาณิชย์ -ปูนซิเมนต์ไทย)
รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนที่ได้ตกลงแลกเปลี่ยนกันไปแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5) ในเดือนตุลาคม 2483 ผลักดันให้นิสิตนักศึกษาทั้งจุฬาฯ และ มธก. เดินขบวนเรียกร้องดินแดน "มณฑลบูรพา" และ "ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง"
 
จนในที่สุดก็เกิดสงครามชายแดน รัฐบาลส่ง "กองกำลังบูรพา" ไปรบกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น "มหามิตรใหม่" เข้ามาไกล่เกลี่ยบีบให้ฝรั่งเศส (ซึ่งตอนนั้นเมืองแม่หรือปารีสในยุโรปอ่อนเปลี้ยถูกเยอรมนียึดครองไปเรียบร้อยแล้ว) จำต้องยอมยกดินแดนให้ "ไทย" สมัยพิบูลสงคราม (ทำให้นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม กระโดดข้ามยศพลโท-พลเอก กลายเป็นจอมพลคนแรกในยุคหลัง 2475)

และนี่ก็เป็นที่มาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดินแดนทั้งเสียมเรียบ (ที่ถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆว่า จังหวัดพิบูลสงคราม) พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ (ซึ่งรวมทั้งที่อยู่ในลาว และอยู่ในบริเวณพนมดงรัก เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร และเมืองจอมกระสาน) ตลอดจนถึงไซยะบูลี (จังหวัดนี้อยู่ตรงข้ามหลวงพระบาง และถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ คือ จังหวัดลานช้าง คำว่า "ลาน" ในสมัยนั้นยังไม่มีไม้โท)
 
และก็ในตอนนี้นั่นแหละที่ทั้งปราสาทและเขาพระวิหาร กลับมาสู่ความสนใจและความรับรู้ของคนไทย รัฐบาลพิบูลสงคราม ดำเนินการให้กรมศิลปากร (ซึ่งในสมัยหลังการปฏิวัติ 2475 ได้หลวงวิจิตรวาทการ นักอำมาตยาเสนาชาตินิยม มือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นอธิบดี หลวง
วิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) ทั้งพูด ทั้งเขียน ทั้งแต่งเพลงแต่งละคร ปลุกใจให้รักชาติ) ได้จัดการขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 (เราไม่ทราบได้ว่าในตอนนั้น ฝรั่งเศสในอินโดจีนจะทราบเรื่องนี้ หรือประท้วงเรื่องนี้หรือไม่)

ในสมัยดังกล่าวนี้แหละ ที่รัฐบาลพิบูลสงคราม ชี้แจงต่อประชาชนว่า "ได้ปราสาทเขาพระวิหาร" มา ดังหลักฐานในหนังสือ "ประเทศไทยเรื่องการได้ดินแดนคืน" ของกองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2484 สมัยนั้น มีรูปปราสาทเขาพระวิหารพิมพ์อยู่ด้วย พร้อมด้วยคำอธิบายภาพว่า "ปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งไทยได้คืนมาคราวปรับปรุงเส้นเขตแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส และทางการกำลังจัดการบูรณะให้สง่างามสมกับที่เป็นโบราณสถานสำคัญ"

(6)
สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วย "มหามิตรญี่ปุ่น" ปราชัยอย่างย่อยยับ รัฐบาลพิบูลสงครามก็ล้ม ซึ่งก็หมายถึงว่า "ไทย" จะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการ "ปรับ" และเอาคืน

โชคดีของสยามประเทศ (ไทย) (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษกลับเป็น Siam ได้ชั่วคราว) ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐฯ สนับสนุน และมีทั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตร ให้การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการเข้าร่วมกับญี่ปุ่น กลายเป็นโมฆะหรือ "เจ๊า" กับ "เสมอตัว" ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือถูกยึดเป็นเมืองขึ้นอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนี

แต่รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นฝ่ายเสรีประชาธิปไตย (ค่ายปรีดี พนมยงค์) ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในอินโดจีนของฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น แต่ยังรวมถึงเมืองขึ้นของอังกฤษที่รัฐบาลพิบูลสงครามยึดครองและรับมอบมา เช่น เมืองเชียงตุง เมืองพานในพม่า หรือ 4 รัฐมลายู (ที่เคยถูกจับเปลี่ยนชื่อเป็นไทยๆ อย่างสวยหรูชั่วคราวว่า "สัฐมาลัย" คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเคดะห์)

แต่ก็ในตอนนี้อีกนั่นแหละที่ระเบิดเวลา "ปราสาทเขาพระวิหาร" ถูกวางไว้อย่างเงียบๆ กล่าวคือ ตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปไม่ และต่อมารัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งคืนชีพมาด้วยการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ภายใต้การนำของพลโทผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วย
 
ช่วยกันจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง อภัยวงศ์) ได้ส่งกองทหารไทยให้กลับขึ้นไปตั้งมั่นและชักธงไตรรงค์อยุ่บนนั้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2497 (1954)

กล่าวได้ว่า ความห่างไกลและความกันดารของทั้งตัวภูเขาและตัวปราสาทในสมัยนั้น และเพราะการที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ต้องพะวงกับสู้รบปราบปรามขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว ก็ไม่ทำให้เรื่องของปราสาทเขาพระวิหารเป็นข่าว หรืออยู่ในความรับรู้ของผู้คนโดยทั่วๆไป

(7)
ระเบิดเวลาลูกนี้ระเบิดขึ้น เมื่อกัมพูชาได้เอกราชในปี พ.ศ. 2496 (1953) อีก 6 ปีต่อมา พระเจ้านโรดมสีหนุซึ่งทรงเป็นทั้ง "กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช" และ "นักราชาชาตินิยม" ของกัมพูชา ก็ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อ 6 ตุลาคม 2502 (1959)

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ที่ทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่งตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลสฤษดิ์ ปลุกระดมให้ประชาชน "รักชาติ" บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (เข้าใจว่าเมื่อจบคดีอาจจะมีเงินหลงเหลืออยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดประมาณ 3 ล้านบาท ค่าของเงินในสมัยนั้น เทียบได้กับก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ท่าพระจันทร์ตอนนั้น ชามละ 3 บาท (ตอนนี้ 30 บาท) ตอนนั้นทองคำหนัก 1 บาทราคาเท่ากับ 500 บาท (ตอนนี้ 1.4 หมื่นบาท)

ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปี และลงมติเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 (1962) ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ "ปราสาทเขาพระวิหาร" ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ยามและเจ้าหน้าที่ออกนอกบริเวณ ศาลโลกครั้งนั้นประกอบด้วยผู้พิพากษา 12 นาย จาก 12 ประเทศ 9 ประเทศที่ออกเสียงให้กัมพูชาชนะคดี คือ โปแลนด์ ปานามา ฝรั่งเศส สหสาธารณรัฐอาหรับ อังกฤษ สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น เปรู และอิตาลี

ส่วนอีก 3 ประเทศ ที่ออกเสียงให้ไทย คือ อาร์เจนตินา จีน ออสเตรเลีย น่าสังเกตว่าอาร์เจนตินา คือ ประเทศที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกเกมคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ส่งไปเป็นทูต (ลี้ภัยการเมือง) และมีส่วนวิ่งเต้นให้อาร์เจนตินาออกเสียงให้ฝ่ายไทย ส่วนจีนนั้น คือ จีนคณะชาติ หรือไต้หวันของนายพลเจียงไคเช็ค หาใช่จีนแผ่นดินใหญ่ของเหมาเจ๋อตุงไม่ ดังนั้น ก็ต้องออกเสียงอยู่ในฝ่ายค่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น
 
ว่าไปแล้วรัฐบาลไทยแพ้คดีนี้อย่างค่อนข้างราบคาบ และคำพิพากษาของศาล ก็ยึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่และสัญญาเหล่านั้นขีดเส้นให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส หาได้ใช้หลักทางภูมิศาสตร์หรือสันปันน้ำ หรือทางขึ้นไม่ การกำหนดพรมแดนดังกล่าว รัฐบาลสยามในสมัยนั้นของรัชกาลที่ 5 และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ยอมรับไปโดยปริยายโดยมิได้มีการท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นผู้พิพากษาศาลโลก ก็ถือว่าการนิ่งเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับหรือ "กฎหมายปิดปาก" ซึ่งไทยก็ต้องแพ้คดี นั่นเอง (โปรดดูสรุปย่อคำพิพากษาของศาลโลกเป็นภาษาอังกฤษได้จาก
http://www.icj-cij.org/docket/files/45/12821.pdf

(8)
กล่าวโดยย่อ ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านนิติศาสตร์ ข้ออ้างของฝ่ายไทยเราทางด้านภูมิศาสตร์ คือ ทางขึ้นหรือสันปันน้ำ นั้นหาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ แต่คดีปราสาทเขาพระวิหาร ก็มีผลกระทบอย่างประเมินมิได้ต่อจิตวิทยาของคนไทย ที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"

ขอกล่าวขยายความไว้ตรงนี้ว่าวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน"

ถูกสร้างและ "ถูกผลิตซ้ำ" มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่าเขาและปราสาทพระวิหารเป็น "ของไทย" หรือขยายความการตีความประวัติศาสตร์ ให้ไทยมีความชอบธรรมในการครอบครองเขาพระวิหารยิ่งขึ้น มีการเสนอความคิดว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" ดังนั้น เมื่อ "ขอม" มิได้เป็นบรรพบุรุษของเขมรหรือขะแมร์กัมพูชา ประเทศนั้นก็ไม่ควรมีสิทธิจะ ครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

วิธีการตีความประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกว่าเป็น "ของไทย" แบบนี้ จะพบในงานเขียนมากมายของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานของ ปรีดา ศรีชลาลัย, น. ณ ปากน้ำ, พลูหลวง รวมทั้งของบุคคลสำคัญที่มีงานเขียนเชิงโฆษณาชวนเชื่อ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" เช่น "นายหนหวย" เป็นต้น และยังถูกถ่ายทอดต่อมาในวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน รวมทั้งปรากฏอยู่เป็นประจำในงานสื่อสารมวลชน นสพ. รายวัน รายการวิทยุและทีวีโดยทั่วๆไปอีกด้วย

(9)
สรุป
 
เราจะเห็นได้ว่าวาทกรรมของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" และ "การเสียดินแดน" นั้นถูกสร้าง ถูกปลุกระดม ถูกผลิตซ้ำมาเป็นระยะเวลา 3-4 ชั่วอายุคน ฝังรากลึกมาก ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็น "ร้อนแรง-ดุเดือด-เลือดพล่าน" จุดปุ๊บติดปั๊บขึ้นมาทันที "5 พันธมิตรฯ" ดูจะได้อาวุธใหม่และพรรคพวกเพิ่มในอันที่จะรุกรบให้แพ้ชนะกันให้เด็ดขาด นำเอาเวอร์ชั่นของ "อำมาตยาเสนาชาตินิยม" มาคลุกผสมกับ " "ราชาชาตินิยม" ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลสมัคร (ที่เป็นนอมินีทั้งของทักษิณ และเป็นนอมินีของอีกหลายๆฝ่ายหลายๆสถาบัน ที่เรามักจะคิดไม่ถึงหรือมองข้ามไป) ก็ดูจะขาดความสุขุมรอบคอบและความละเอียดอ่อนทางการทูตในการบริหารจัดการกับปัญหากรณีเกี่ยวกับเรื่องปราสาทและเขาพระวิหาร
ดังนั้น ในเมื่อเขาพระวิหารได้ถูกทำให้กลายเป็นการเมืองร้อนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาล คำถามของเราในที่นี้ คือ

ในแง่ของการเมืองภายใน
-รัฐบาลสมัครจะล้มหรือไม่
-รัฐบาลจะยุบสภาหรือไม่
-พันธมิตรจะรุกต่อหรือต้องถอย
-จะเกิดการนองเลือดหรือไม่
-ทหารจะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจอีกหรือไม่
หรือจะ "เกี้ยเซี้ย" รักสามัคคี สมานฉันท์ แตกต่าง หลากสีกันได้ ไม่มีเพียงแค่สีเหลือง กับสีแดง
คนไทยได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งที่วิปโยคและปลื้มปิติกันมาแล้วเป็นเวลากว่า 70 ปี
ทั้งการปฏิวัติ 2475
ทั้งกบฏบวรเดช 2476
ทั้งรัฐประหาร 2490
ทั้งปฏิวัติ 2500-2501
ทั้งการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516
ทั้งการรัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519
ทั้งพฤษภาเลือด (ไม่ใช่ทมิฬ) 2535
และท้ายสุดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ประสบการณ์และเหตุการณ์ดังกล่าวพอจะเป็นตัวอย่าง เป็นบทเรียนได้หรือไม่

หรือจะต้องรอให้สึนามิทางการเมืองถล่มทับสยามประเทศ(ไทย)ของเราให้ย่อยยับลงไป
 
ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ
เรื่องของเขาและปราสาทพระวิหาร
จะบานปลายไปเป็นการเมืองระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่
รุนแรงจนขั้นแบบเผาสถานทูตหรือไม่
จะมีการปิดการค้าชายแดนหรือไม่
จะกลายเป็นประเด็นสาดโคลนการเมืองภายในของกัมพูชา
(ที่จะมีการเลือกตั้ง 27 กรกฏานี้) หรือไม่
หรือว่า

ทั้งไทยกับกัมพูชา จะตระหนักว่าต้องอยู่ร่วมกันโดยสันติ
ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนยาว 800 กม. เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จะตกลงเสนอทั้งปราสาทและทั้งเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกร่วมกัน
บริหารจัดการและ (เอี่ยว) แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อคนไทย คนกัมพูชา คนลาว คนกูย คนขะแมร์อีสานใต้ คนกำหมุ คนแต้จิ๋ว คนไหหลำ คนฮกเกี้ยน คนกวางตุ้ง คนปาทาน ฯลฯ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นประชากรอันหลากหลายของรัฐชาติบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์นี้
คำตอบไม่น่าจะอยู่ในสายลม มิใช่หรือ

จาก http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=2419&username=phavihan


อ่านเรื่อง
เหตุผลใดไทย จึงแพ้คดีปราสาทพระวิหาร ได้ที่
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!573.entry

Categories: News and politics

เหตุผลใดไทย จึงแพ้คดีปราสาทพระวิหาร

24 June 2008 1 comment

ใน blog นี้ ประกอบไปด้วย 2 บทความ คือ
1 เหตุผลใดไทย จึงแพ้คดีปราสาทพระวิหาร
2 46 ปีของคดีปราสาทพระวิหาร ความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

ว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เห็นเป็นประเด็นฮิต ที่ปลุกกระแสชาตินิยมได้ดี
ก็เลยเอาบทความดังกล่างมาลงซะหน่อย
เพื่อจะทำให้คลายความคลั่งชาติลงได้

 


เหตุผลใดไทย จึงแพ้คดีปราสาทพระวิหาร

โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 05 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10923

บทนำ

ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารกลายเป็นหัวข้อที่สาธารณชนให้ความสนใจอีกครั้ง เมื่อประเทศกัมพูชายื่นเรื่องการขอเสนอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญา Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage โดยที่ประเทศไทยคัดค้านการยื่นฝ่ายเดียวของกัมพูชา โดยอ้างเรื่องความสมบูรณ์ทางวิชาการด้านโบราณคดีและการที่ทั้งสองประเทศยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดน

แม้คดีนี้จะผ่านความรับรู้ของคนไทยมายาวนานแล้วก็ตามแต่ปรากฏว่ามีคนไทยน้อยมากที่รู้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องนี้

เหตุผลที่คนไทยไม่ค่อยรู้ความเป็นมาเป็นไปในคดีปราสาทพระวิหารอาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านคือกัมพูชา จนทำให้สังคมไทยไม่อยากกล่าวถึงคดีนี้มากนัก

และด้วยเหตุที่คนไทยรู้จักกับคดีนี้น้อย จึงอาจมีการบิดเบือนข้อมูลได้ง่าย เนื่องจากคดีนี้มีสองประเด็นใหญ่ที่ต้องพิจารณาคือ ประเด็นเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลและการพิจารณาขั้นเนื้อหา

จึงขอแยกอธิบาย ดังนี้

ประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลโลก

ประชาชนคนไทยมักจะสงสัยอยู่เสมอว่า ทำไมประเทศไทยต้องไปขึ้นต่อสู้คดีต่อศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีอธิปไตย มีเอกราช การขึ้นต่อสู้คดีของประเทศไทยมิเท่ากับเป็นการเสียเอกราชหรือ

ประเด็นนี้ เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่สลับซับซ้อน หากใช้ความรู้สึกชาตินิยมหรือสามัญสำนึกย่อมไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยต้องขึ้นศาลโลก ผู้เขียนจะขออธิบายช่องทางการยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเสียก่อนว่ามีวิธีการใดบ้าง การยอมรับเขตอำนาจศาลโลกนั้นทำได้อยู่สามประการ คือ

ประการแรก การยอมรับเขตอำนาจการพิจารณาคดีโดยการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาใดอนุสัญญาหนึ่งซึ่งกำหนดว่า หากมีปัญหาในการตีความสนธิสัญญา ให้ศาลโลกเป็นผู้พิจารณา

ประการที่สอง ประเทศคู่พิพาทตกลงทำความตกลงยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเป็นเฉพาะกรณีๆ ไป กล่าวคือ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นมาแล้ว รัฐคู่พิพาทได้ทำสนธิสัญญายอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะข้อพิพาทนั้น และ

ประการที่สาม รัฐได้ทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาล ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้

ประเด็นเรื่องการยอมรับเขตอำนาจศาลโลก (ทั้งศาลโลกเก่าและใหม่) ของประเทศไทยนั้นเป็นประเด็นที่คนไทยไม่ใคร่ได้กล่าวถึง อาจเป็นเพราะว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายมากเกินไปประชาชนทั่วไปจึงไม่ค่อยได้สนใจ

อีกทั้งทางการก็มิได้ชี้แจงประเด็นนี้ต่อสาธารณชนมากนัก ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นประเด็นที่หากมีการกล่าวถึงในวงกว้างแล้วก็อาจมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องได้ แต่เนื่องจากประเด็นนี้สำคัญ ผู้เขียนจึงมิอาจหลีกเลี่ยงที่จะข้ามไปได้จึงขอกล่าวถึง ดังนี้

ประเทศไทยได้ทำคำประกาศยอมรับเขตอำนาจของศาลโลก ทั้งหมด 3 ฉบับ ดังนี้

ฉบับแรก ทำเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1929 และเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ในปี ค.ศ.1930 โดยคำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการคือ “ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ” (Permanent Court of International Justice : PCIJ) เป็นเวลา 10 ปี

ฉบับที่สอง รัฐบาลไทยทำคำประกาศโดยมิวัตถุประสงค์เพื่อ “ต่ออายุ” (renew) เขตอำนาจศาลโลกเก่า โดยคำประกาศฉบับที่สองนี้ทำเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1940 โดยคำประกาศที่สองนี้เริ่มมีผลใช้บังคับวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1940

ฉบับที่สาม รัฐบาลไทยทำเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1950 ซึ่งหลังจากที่คำประกาศฉบับที่สอง (ที่ต่ออายุคำประกาศฉบับแรก) หมดอายุเป็นเวลา 14 วัน

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจและเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ฝ่ายไทยนำมาอ้างก็คือ ศาลโลกเก่านั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1946 และตามธรรมนูญของศาลโลกใหม่ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” (International Court of Justice : ICJ) นั้นมาตรา 36 วรรค 5 ได้กำหนดว่า ให้การยอมรับเขตอำนาจ “ศาลโลกเก่า” โอนถ่ายไปยัง “ศาลโลกใหม่” หากว่า คำประกาศนั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่หรือกล่าวง่ายๆ คือ ยังไม่ขาดอายุนั่นเอง

ข้อต่อสู้เกี่ยวกับการคัดค้านเขตอำนาจศาลโลกใหม่ที่ทนายความฝ่ายไทยต่อสู้ในชั้นของการคัดค้านเขตอำนาจของศาลโลกใหม่นั้นมีว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าได้ยุติลงอันเป็นผลมาจากการสิ้นสุดของศาลโลกเก่า ดังนั้น คำประกาศต่ออายุเขตอำนาจศาลโลกเก่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1950 จึงไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป

อีกทั้งคำประกาศดังกล่าวมิใช่คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกใหม่ ดังนั้น ศาลโลกใหม่จึงไม่มีเขตอำนาจ

แต่ข้อต่อสู้นี้อ่อนมาก ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลฉบับที่สามที่รัฐบาลไทยทำเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ.1950 นั้น ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการต่ออายุยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าได้ เพราะว่า คำประกาศฉบับที่สามนี้ ทำหลังจากที่คำประกาศฉบับที่สองหมดอายุแล้วสองอาทิตย์

ศาลโลกเห็นว่า สิ่งที่จะต่ออายุได้นั้น สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ยังมีอยู่ มิใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งรัฐบาลไทยก็รู้ดีว่าขณะที่ทำคำประกาศฉบับที่สามนั้นทำหลังจากที่ศาลโลกเกjาได้สิ้นสุดลงแล้วกว่าสี่ปี (ศาลโลกเก่าสลายตัวเมื่อปี ค.ศ.1946 แต่คำประกาศฉบับที่สามทำเมื่อปี ค.ศ.1950) ข้ออ้างของประเทศไทยจึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นต่อไปมีว่า ในเมื่อคำประกาศฉบับที่สามฟังไม่ได้ว่าเป็นคำประกาศต่ออายุยอมรับเขตอำนาจศาลโลกเก่าแล้ว ผลในทางกฎหมายของคำประกาศฉบับที่สามคืออะไร ศาลโลกเห็นว่า คำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลฉบับที่สามเป็นคำประกาศใหม่ ที่แยกเป็นเอกเทศออกจากคำประกาศฉบับแรกและฉบับที่สอง

และหากพิจารณาเนื้อหาของคำประกาศที่สามแล้ว ศาลโลกเห็นว่า เป็นการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลโลกใหม่ โดยอิงเงื่อนไขจากคำประกาศฉบับแรก

ดังนั้น ศาลโลกจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ศาลโลกมีเขตอำนาจพิจารณาข้อพิพาทที่รัฐบาลกัมพูชาฟ้องรัฐบาลไทย ข้อต่อสู้ทางกฎหมายของฝ่ายไทยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นเรื่องเนื้อหาของข้อพิพาท

คําร้องของกัมพูชาที่สำคัญที่ให้ศาลโลกวินิจฉัยคือประเด็นที่ว่า กัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร การนำเสนอพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนั้นมีดังนี้

ฝ่ายไทยเสนอว่า หากพิจารณาตามสนธิสัญญาที่สยามทำกับประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา) เมื่อปี ค.ศ.1904 ซึ่งตามสนธิสัญญาจะใช้ “สันปันน้ำ” (watershed) ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ ปราสาทพระวิหารจะอยู่ฝั่งกัมพูชา

ขออธิบายตรงนี้เลยว่าหลังจากที่มีการทำสนธิสัญญาทวิภาคีในปี ค.ศ.1904 ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งคณะกรรมการผสมขึ้น และไม่นานนัก คณะกรรมการชุดนี้ก็มิได้ทำงานอีกต่อไป ต่อมา ฝ่ายไทยได้ร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ขึ้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนที่เจ้าปัญหาฉบับนี้ มีดังนี้

ประการแรก แผนที่นี้เป็นการร้องขอจากฝ่ายไทยให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้น แผนที่นี้ทำขึ้นที่กรุงปารีส การที่ประเทศร้องขอให้ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นนั้นเป็นเพราะว่าในขณะนั้นประเทศไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญในการทำแผนที่

ประการที่สอง การปักปันเขตแดนแล้วลงมาตราส่วนลงในแผนที่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของประเทศฝรั่งเศส โดยที่ฝ่ายไทยไม่มีส่วนร่วมเลย

ประการที่สาม การทำแผนที่นี้ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการผสมแต่อย่างใด ในประเด็นนี้ผู้พิพากษาฟิสต์มอริสซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะกล่าวว่า คณะกรรมการผสมไม่เคยแม้แต่จะ “เห็น” แผนที่นี้ อย่าว่าแต่ “รับรอง” เลย เป็นการร้องขอฝ่ายเดียวจากรัฐบาลไทย

ประการที่สี่ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นเหตุผลสำคัญที่ศาลโลกวินิจฉัยให้ประเทศไทยแพ้ก็คือ แม้ประเทศไทยจะไม่มีส่วนในการทำแผนที่ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยคัดค้านหรือประท้วงเกี่ยวกับความถูกต้องของแผนที่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีโอกาสอยู่หลายครั้งที่จะทักท้วงหรือประท้วงถึงความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดของแผนที่

โอกาสที่จะประท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ เช่น กรณีการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์และการเดินเรือกับประเทศฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1925-1937 แต่ไทยก็มิได้ทักท้วง

ซึ่งศาลโลกเห็นว่า การนิ่งเฉยของประเทศไทยเป็นเวลานานเท่ากับเป็นการยอมรับความถูกต้องของแผนที่แล้ว จะมาปฏิเสธในภายหลังนั้น ไม่อาจกระทำได้ เป็นการปิดปากประเทศไทยว่าจะมาปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการของไทยเองยังได้ทำแผนที่ใช้ขึ้นเองอีกด้วยในปี ค.ศ.1937 โดยแผนที่ที่เจ้าหน้าที่ของไทยเป็นผู้จัดทำ ได้แสดงว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ประเด็นนี้ไทยอ้างว่า แผนที่ที่ไทยทำขึ้นเองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการทหารเป็นการภายในเท่านั้น แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของไทยในประเด็นนี้

เหตุผลประการหนึ่งที่ศาลโลกเห็นว่า ประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือที่ตั้งปราสาทพระวิหารก็คือ การที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ไปเยือนกึ่งเป็นทางการที่ปราสาทพระวิหาร ในครั้งนั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งกองทหารเกียรติยศรับการเสด็จอย่างเต็มที่ และยังชักธงชาติของประเทศฝรั่งเศสด้วย

ซึ่งศาลโลกเห็นว่า เท่ากับประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารว่าเป็นของกัมพูชา (ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส) อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ผู้พิพากษาศาลโลกท่านหนึ่งคือ ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อยได้ทำความเห็นแย้งว่า ในเวลานั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศไทย อีกทั้งพระองค์ยังตรัสว่า การมาเยือนปราสาทพระวิหารนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

นอกจากนี้ สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไทยแพ้คดีอาจเป็นผลมาจากการตั้งรูปคดีที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น แทนที่ประเทศไทยจะปฏิเสธความผิดพลาดของแผนที่ ควรรับประเด็นเรื่องแผนที่ แล้วยกข้อต่อสู้ว่า ในกรณีที่ข้อความในสนธิสัญญาที่ให้ใช้ “สันปันน้ำ” แย้งกับ “แผนที่” ในกรณีนี้ให้ถือว่าข้อความในสนธิสัญญามีค่าบังคับเหนือกว่า

ซึ่งอนุสัญญาแวร์ซายส์ มาตรา 29 ก็มีข้อความทำนองนี้ อีกทั้งก็มีคดีที่ศาลตัดสินให้ความน่าเชื่อถือของสนธิสัญญายิ่งกว่าแผนที่

จริงหรือที่ “การนิ่งเฉย” หรือ “กฎหมายปิดปาก” มิใช่เป็นหลักกฎหมาย

หลังจากที่ไทยแพ้คดี นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้นกล่าวทำนองว่า ศาลโลกนำหลักกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมาตัดสินคดี ที่น่าคิดก็คือ ทำไมทนายฝ่ายไทยไม่ทราบ หรือว่า “หลักกฎหมายปิดปาก” หรือ “การนิ่งเฉย” นั้น ศาลโลกหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเคยนำมาใช้หลายคดีแล้ว

อีกทั้งนักกฎหมายระหว่างประเทศก็ยังได้เขียนบทความเรื่อง “หลักกฎหมายปิดปากที่ใช้ในศาลระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ของหลักกฎหมายดังกล่าวกับการนิ่งเฉย” (Estoppel before Internationals and Its Relation to Acquiescence) เขียนโดยนักกฎหมายระหว่างประเทศชื่อ Bowett ลงในวารสาร British Yearbook of International Law ปี ค.ศ.1957 และบทความชื่อ “หลักกฎหมายปิดปากในกฎหมายระหว่างประเทศ” โดย Mcgibborn ในวารสาร International and Comparative Law Quarterly ปี 1958 ซึ่งตีพิมพ์ก่อนที่ศาลโลกจะตัดสินประมาณ 3-4 ปี

ไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าฝ่ายไทยได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ แต่ไม่ว่าฝ่ายไทยจะได้เคยอ่านบทความนี้หรือไม่ก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดก็คือ ทนายความของฝ่ายไทยน่าจะย่อมรู้ถึงหลักกฎหมายปิดปากเป็นอย่างดี

เพราะหลักว่าด้วย “การถูกการตัดสิทธิ” (Preclusion) หรือ “การนิ่งเฉย” อาจเทียบได้หรือมีผลเท่ากันกับ “หลักกฎหมายปิดปาก” อันเป็นหลักกฎหมายอังกฤษหรือแองโกลแซกซอน

บทส่งท้าย

สรุปเหตุผลที่แท้จริงที่ประเทศไทยเสียปราสาทพระวิหารคือ การยอมรับความคลาดเคลื่อนของแผนที่อันเป็นผลมาจากการทำแผนที่ฝ่ายเดียวของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ซึ่งศาลโลกเห็นว่า หลังจากที่ทำสนธิสัญญาประเทศสยามอยู่ในฐานะที่จะคัดค้านความไม่ถูกต้องของแผนที่ได้หลายครั้ง แต่ก็มิได้คัดค้าน จึงปิดปากประเทศสยามว่าต่อมาจะปฏิเสธความไม่ถูกต้องของแผนที่ไม่ได้

หากประเทศไทยจะเสียดินแดนอีกครั้งคงไม่ใช่เพราะนำข้อมูลการต่อสู้ทางกฎหมายคดีความเอาไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านหรือเกิดจากความไม่รักชาติ ไม่สามัคคีอย่างที่คนไทยหลายคนเข้าใจกัน (ซึ่งรวมถึง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ด้วย) แต่เกิดจากความไม่รอบคอบ ความประมาท และไม่รู้จักหน้าที่ของตนเองมากกว่า

เหมือนกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสามจังหวัดภาคใต้ของเรา

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01050251&day=2008-02-05&sectionid=0130

 


46 ปีของคดีปราสาทพระวิหาร ความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11059

คดีปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “ศาลโลก” นั้นได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ได้ครบรอบเวลานานถึง 46 ปีแล้ว

คนไทยหลายคนที่เกิดไม่ทัน (รวมทั้งตัวผู้เขียน) ไม่ได้ทราบสภาพสังคมไทยขณะนั้นว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผลของคำพิพากษานี้

แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะเคยได้รับรู้เรื่องราวของคดีปราสาทพระวิหารก็ตาม แต่รายละเอียดทั้ง “ข้อเท็จจริง” และ “ข้อกฎหมาย” ของคดีนี้ดูจะยังไม่ไม่เป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาทางวิชาการมากนักซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการพาดพิงบุคคลหลายท่านก็เป็นได้

เรื่องปราสาทพระวิหารกลับมาเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้งเมื่อประเทศกัมพูชากำลังเตรียมการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกพิจารณาว่าปราสาทพระวิหารสมควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามอนุสัญญาเกี่ยวกับการปกป้องวัฒนธรรมโลกและมรดกธรรมชาติ (Convention concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) ปี ค.ศ.1970 หรือไม่

ข้อเขียนนี้คงมีวัตถุประสงค์เพียงแค่เตือนความทรงจำอะไรบางอย่างมิให้มีการลืมเลือนและตั้งข้อสังเกตบางประการ

1.ความเป็นมาโดยย่อ

คดีนี้เป็นคดีที่ประเทศกัมพูชาได้กล่าวหาว่าประเทศไทยละเมิดอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศกัมพูชาในเขตปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทพระวิหารซึ่งประเทศไทยโต้แย้งว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทย

ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทของคดีนี้จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร

แต่ศาลโลกจะวินิจฉัยประเด็นนี้จำต้องวินิจฉัยหรือให้ความกระจ่างประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณาเขตแดนของประเทศทั้งสองเสียก่อนซึ่งนำไปสู่การพิจารณาสนธิสัญญาปักปันเขตแดนที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 และฉบับที่สองลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907

รวมถึงแผนที่แนบท้ายสนธิสัญญาด้วย

2.ประเด็นที่ศาลโลกเห็นหรือให้ความสำคัญ : ความแตกต่างระหว่าง “ตุลาการเสียงข้างมาก” กับ “ตุลาการเสียงข้างน้อย”

เพื่อจะให้เข้าใจภาพรวมของประเด็นข้อพิพาทได้ดีขึ้นผู้เขียนขอสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับประเด็นที่ “ตุลาการเสียงข้างมาก” กับ “ตุลาการเสียงข้างน้อย” (ซึ่งประกอบด้วย 3 ท่านคือ ท่านมอเรโน กินตานา ชาวอาร์เจนตินา ท่านเวลลิงตัน คู ซึ่งเป็นชาวจีน และท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ชาวออสเตรเลีย) พิจารณาข้อกฎหมายแตกต่างกันรวมทั้งการให้ความสำคัญหรือน้ำหนักแก่ข้อเท็จจริงบางอย่างอย่างไม่เท่ากันด้วย ดังนี้

1) การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารกึ่งทางการของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ในคำพิพากษาศาลโลกตอนหนึ่งได้ให้ความสำคัญของการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยคำพิพากษาของศาลโลกใช้คำว่า “ในเรื่องนี้เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด” (the most sighificant episode) คือการเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร

ซึ่งเมื่อท่านไปถึงปราสาทพระวิหารได้มีข้าหลวงใหญ่ต้อนรับเสด็จ โดยมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้ ซึ่งตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า เท่ากับเป็นการยอมรับโดยปริยายถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

อีกทั้งเมื่อท่านกลับมาถึงกรุงเทพฯ ท่านยังได้ประทานรูปถ่ายที่ระลึกไปให้ข้าหลวงฝรั่งเศส โดยศาลโลกกล่าวว่า “พระองค์ทรงใช้ภาษาที่ดูเหมือนจะยอมรับว่า โดยการกระทำของข้าหลวงฝรั่งผู้นี้ ฝรั่งเศสได้กระทำตนเป็นประเทศเจ้าภาพ” (…he used language which seems to admit that France, through her Resident, had acted as the host country.)

ส่วนหนึ่งในตุลาการเสียงข้างมากที่ให้ความสำคัญกับการเสด็จเยือนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพคือท่านฟิทส์ มอริส ผู้พิพากษาชาวอังกฤษ โดยท่านเห็นว่า การเสด็จเยือนปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเท่ากับเป็นการรับรองอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู ได้แสดงความเห็นในความเห็นค้านของท่านว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะเยือนปราสาทพระวิหารนั้นมิได้เสด็จเยือนในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (ซึ่งขณะเยือนท่านมิได้ดำรงตำแหน่งนี้แล้ว) แต่ขณะเยือนท่านดำรงตำแหน่งนายกของราชบัณฑิตยสถาน

อีกทั้งปรากฏจากคำให้การของพระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ท่านที่ได้เสด็จในระหว่างการเยือนครั้งนี้ก็ได้กล่าวว่า พระองค์ท่านเห็นว่า การชักธงชาติฝรั่งเศสและการมีกองกำลังทหารต้อนรับนั้น “เป็นการทะลึ่ง” (imprudent)

และท่านยังรับสั่งว่าให้ถอดชุดเครื่องแบบทหารออกเสียก่อน ส่วนการส่งรูปถ่ายนั้น ท่านคูเห็นว่า มิได้มีความหมายมากไปกว่าการแสดงความเอื้อเฟื้ออันเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันออกเท่านั้น

2) ทางขึ้นของปราสาทพระวิหาร

หนึ่งในข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยที่หยิบยกขึ้นมาโน้มน้าวให้ศาลโลกเห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของประเทศไทยคือทางขึ้นของปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย เพราะฝั่งเขมรนั้นจะเป็นหน้าผาสูงชัน อย่างไรก็ดี ท่านฟิทส์ มอริส กลับเห็นว่า การที่ทางขึ้นแบบทางสะดวกอยู่ฝั่งไทยก็มิได้หมายความว่า ทางขึ้นจะมิได้อยู่ฝั่งเขมรด้วย ท่านฟิทส์ มอริส เห็นว่าทางเข้าถึงปราสาทพระวิหารก็มีทางเข้ามาจากฝั่งกัมพูชาเหมือนกันเพียงแต่ขึ้นด้วยความยากลำบากเท่านั้นเอง

3) การยอมรับแผนที่กับสนธิสัญญาที่ให้ใช้สันปันน้ำ

ฝ่ายไทยต่อสู้โดยให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาซึ่งตามสนธิสัญญามาตรา 1 ระบุให้เส้นเขตแดนถือตามสันปันน้ำ (watershed) ซึ่งหากถือตามสันปันน้ำแล้ว ปราสาทพระวิหารจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่หากพิจารณาตามแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสจัดทำแต่เพียงฝ่ายเดียว ปราสาทพระวิหารจะตั้งอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีคดีอยู่มากมายในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างสนธิสัญญากับแผนที่ ศาลหรืออนุญาโตตุลาการจะให้ความสำคัญแก่ตัวบทของสนธิสัญญามากกว่าแผนที่ โดยแผนที่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในหลายๆ องค์ประกอบที่ใช้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่มาตั้งแต่ต้น ทำให้ประเทศไทยถูกตัดสิทธิหรือถูกปิดปากมิให้โต้แย้งความไม่ถูกต้องของแผนที่ในภายหลัง

ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่าน กินตานา เห็นว่า อำนาจอธิปไตยทางอาณาเขตไม่ใช่เรื่องที่จะพิจารณากันอย่างผิวเผิน แต่ต้องพิจารณาบนหลักฐานข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านมิได้ให้ความสำคัญกับแผนที่ (เจ้าปัญหา)

โดยท่านได้ยกคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในคดี Palmas และสนธิสัญญากรุงแวร์ซายส์ว่าเมื่อเกิดมีความแตกต่างกันในเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างตัวบทของสนธิสัญญากับแผนที่ ให้ถือตัวบท (Text) (ไม่ใช่แผนที่) เป็นสำคัญ

ส่วนท่านคูก็มีความเห็นทำนองเดียวกับท่านกินตานา ว่า การพิจารณาประเด็นข้อพิพาททางเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักฐานที่แน่ชัดเท่านั้น ท่านคูจึงเสนอว่าศาลโลกควรตั้งพยานผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารและทำความเห็นเสนอมา

สำหรับท่านแล้วข้อยุติเรื่องหลักฐานสำคัญมากตราบใดที่หลักฐานเกี่ยวกับเขตแดนยังไม่ยุติแล้ว การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายไปในทางให้คุณหรือให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถกระทำได้

4) การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบๆ

ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนนั้น นอกจากแผนที่แล้ว สิ่งที่ศาลหรืออนุญาโตตุลาการให้ความสำคัญมากก็คือ “การอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนพิพาท” ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่เข้มข้นและสม่ำเสมอกว่ากัน การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของรัฐสามารถแสดงออกได้หลายวิธี เช่น การเก็บภาษี การออกใบอนุญาตต่างๆ การชักธงชาติ การก่อสร้างอาคารต่างๆ เป็นต้น

ในความเห็นแย้งของท่านเวลลิงตัน คู เห็นว่า การใช้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและบริเวณรอบๆ ปราสาทของประเทศไทยมีลักษณะที่เข้มข้นมากกว่าฝ่ายกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยได้มีการก่อสร้างถนนไปยังเชิงเขาพระวิหาร การเก็บภาษีนาข้าว การออกใบอนุญาตให้ตัดไม้ รวมถึงการทำบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณของทางราชการในปี ค.ศ.1931 ซึ่งรวมปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้มีพระอักษรถึงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมาสองฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1930 และวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1931 เพื่อขอบัญชีรายการอนุสาวรีย์โบราณในมณฑลนั้น ซึ่งทางเทศาภิบาลได้ส่งคำตอบว่า ปราสาทพระวิหารนั้นเป็นอนุสาวรีย์โบราณอันหนึ่งในจำนวนสี่อันในจังหวัดขุขันธ์ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในเวลานั้น

สิ่งที่สร้างความวิตกในปัจจุบันนี้ก็คือ ทางการของไทยมองข้ามความสำคัญของการใช้อำนาจอธิปไตยบริเวณพื้นที่รอบๆ ปราสาท ประเด็นนี้สำคัญมาก โดยนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงมากอย่าง ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ได้แสดงความวิตกกังวลในประเด็นนี้ในบทความของท่านชื่อว่า “ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร” ข้อสังเกตของท่านควรที่เจ้าหน้าที่ของไทยพึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

5) การให้ความสำคัญกับบริบททางการเมืองในขณะนั้น

เหตุผลหนึ่งที่ตุลาการเสียงข้างมากให้ความสำคัญคือการไม่ยอมทักท้วงความไม่ถูกต้องของแผนที่ของฝ่ายไทย

อย่างไรก็ดี ตุลาการเสียงข้างน้อยอย่างท่านเวลลิงตัน คู และท่านเซอร์สเปนเดอร์ ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายไทยที่อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถคัดค้านประท้วงฝรั่งเศสได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยทั้งสองท่านได้พิจารณาประเด็นเรื่องการล่าอาณานิคม (Colonization) หรืออิทธิพลของประเทศฝรั่งเศสที่กำลังแผ่ขยายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้นด้วย

โดยท่านสเปนเดอร์กล่าวในความเห็นแย้งของท่านว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่จะวัดความประพฤติปฏิบัติของประเทศสยามในเวลานั้นด้วยมาตรฐานทั่วไป ซึ่งอาจจะนำไปใช้ได้โดยชอบในปัจจุบันหรือแม้แต่ในขณะนั้นกับรัฐยุโรปซึ่งมีความเจริญอย่างสูงแล้ว”

และท่านยังกล่าวย้ำอีกด้วยว่า “ความหวาดกลัวของประเทศสยามต่อท่าทีของประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อสยามเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ไม่อาจละเลยเสียได้ในการพิจารณาคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติของประเทศสยาม การนิ่งเฉย การที่มิได้ทักท้วงถ้าหากคาดว่าควรมีการประท้วง”

3.ประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัย : 3 ประเด็น

มีอยู่สามประเด็นที่ศาลโลกวินิจฉัยซึ่งศาลโลกวินิจฉัยเป็นคุณแก่กัมพูชาทั้งสามประเด็นคือ

ประเด็นแรก ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ประเด็นที่สอง ประเทศไทยมีพันธะที่ต้องถอนกำลังทหาร

และประเด็นที่สาม ประเทศไทยต้องคืนบรรดาวัตถุที่ได้ระบุไว้แก่กัมพูชา มีข้อสังเกตว่ากัมพูชาเสนอให้ศาลโลกวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 และในเรื่องเส้นเขตแดนในอาณาบริเวณพิพาทด้วย

แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วย

4.สถานะทางกฎหมายของคำพิพากษาของศาลโลก : เป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์

ในธรรมนูญก่อตั้งศาลโลกมาตรา 59 ว่า คำพิพากษาของศาลโลกผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี และมาตรา 60 บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ (The judgment is final and without appeal)

นอกจากนี้แล้วในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 94 ได้บัญญัติว่า รัฐคู่พิพาทสามารถเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาออกคำแนะนำ (Recommendation) หรือมาตรการ (Measure) ได้

หากว่ารัฐคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

5.การไม่ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ตุลาการเสียงข้างมากแทบไม่ได้ให้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหารเลยว่า ใครเป็นผู้สร้าง

เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางกฎหมายด้านอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” มิได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครสมควรมีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาท

แต่การวินิจฉัยของศาลต้องอาศัย “ข้อมูลทางภูมิศาสตร์” และ “ข้อกฎหมาย” เป็นสำคัญ

ผู้พิพากษากินตานาเห็นว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทพระวิหารไม่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยของศาลในคดีนี้

6.คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร : เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยควรอ่าน

เช่นเดียวกับคดีประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่คนไทยมักไม่ค่อยทราบทำให้มีการเข้าใจไปต่างๆ นานา และในที่สุดก็ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นเป็นอย่างไร

แม้คนไทยจำนวนมากจะได้รับรู้ว่าประเทศไทยแพ้คดีนี้จำต้องยกปราสาทพระวิหารให้แก่เขมร

แต่น้อยคนที่จะรู้ถึงรายละเอียดของคดีนี้ทั้งในแง่ของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะแปลคำพิพากษาออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็ตาม (แต่ควรอ่านภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย)

ซึ่งคนไทยควรจะอ่านคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารและควรอ่านความเห็นเอกเทศของผู้พิพากษาแต่ละท่าน รวมถึงความเห็นแย้งของผู้พิพากษาสองท่านที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของไทยด้วย

ก็จะทำให้เข้าใจคดีประวัติศาสตร์ของคดีนี้มากขึ้น

บทส่งท้าย

ปราสาทพระวิหารแม้จะเป็นซากปรักหักพังที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ตาม แต่ปราสาทพระวิหารก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมถึงความรู้สึกทางชาตินิยมอย่างเต็มเปี่ยม

กาลเวลาที่ผ่านเนิ่นนานไปถึง 46 ปี มิได้มีผลลบความทรงจำของคนไทยที่มีต่อปราสาทพระวิหารนี้แต่อย่างใด ไม่มีสิ่งใดสะท้อนความรู้สึกของคนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ดีไปกว่า

ประโยคสุดท้ายของผู้พิพากษาท่านเซอร์เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ในความเห็นแย้งของท่าน (ซึ่งเป็นผู้พิพากษาท่านหนึ่งในสองท่านที่ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศไทย)

ท่านกล่าวว่า

“ดินแดนซึ่งอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นเป็นของประเทศไทยทั้งโดยสนธิสัญญาและโดยองค์กรซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาเพื่อพิจารณากำหนดเส้นเขตแดนนั้น ในบัดนี้ ได้กลับกลายไปเป็นของกัมพูชา”

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01200651&day=2008-06-20&sectionid=0130

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

23 June 2008 3 comments

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์หาเป็นไปตามหวังที่คิดไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายตามเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณงามความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินทองของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจและความฝืดเคืองทำมาหากิน ซึ่งราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิได้ปกครองประเทศ เพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่น ๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียภาษีราชการหรือภาษีส่วนตัว ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ใช้ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรรู้เท่าไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าราษฎรได้มีการศึกษาก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้และคงจะไม่ยอม ให้ทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง ! บ้านเมืองกำลังอัตคัตฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของรัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่กวาดรวบรวมไว้มาจัดบ้านเมืองให้มีงานทำจึงจะสมควรที่ สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินมีเท่าไหรก็เอาฝากต่างประเทศคอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของรัฐบาลของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองของแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความเห็นนี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฏหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

1 จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2 จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3 ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4 จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
6 จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันคงจะอยู่ชั่วดินฟ้านี้ ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งอยู่ในความสงบและตั้งหน้าหากิน อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริย์” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

คณะราษฎร
24 มิถุนายน 2475


พรุ่งนี้ (24 มิถุนายน) เป็นหนึ่งในวันสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศไทย
แต่มีไม่กี่คนที่ให้ความสำคัญ ไม่กี่คนที่จำและระลึกได้ว่าคือวันอะไร
กรุงเทพมหานครมีการปิดถนน แต่ไม่ใช่เพื่อขบวนรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ แต่เป็นของสมาคมหนึ่ง
สำหรับประเทศไทย บางเรื่องที่ไม่น่าจะสำคัญ ก็ทำให้เป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นมา
แต่บางเรื่องที่โดยสากล เป็นเรื่องสำคัญ กลับไม่ให้ความสำคัญ

Categories: Other

Thai woman arrested for refusing to stand for royal anthem

19 June 2008 Leave a comment

Thai woman arrested for refusing to stand for royal anthem

ไม่อยู่บ้านเข้าโรงบาลไปหลายวัน กลับมาก็เจอข่าวนี้จากต่างประเทศ
เลยต้องเอามา update ซะหน่อย
แต่ก็ไม่อยากจะพูดหรือวิจารณ์อะไร เอาแต่ตัวข่าวมาให้อ่านดีกว่า
ก็ได้โด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้ง กับมาตรา 112
เรื่องแบบนี้ หาดูที่ไหนไม่ได้ นอกจากประเทศไทยนะเนี่ย
ไม่รู้จะภูมิใจขนาดไหนดี หึๆๆๆ
เสียดาย น่าจะทำให้เป็นข่าวใหญ่ในไทยด้วย
อยากรู้ว่าเกิดมีคนทำตามทีเป็นสิบๆคน จะมีจุดจบเหมือนเหตุการณ์ในอังกฤษหรือไม่

Thai woman arrested for refusing to stand for royal anthem

Tue Jun 17, 1:24 AM ET

BANGKOK (AFP) – A Thai woman arrested for refusing to stand as the royal anthem played in a Bangkok cinema faces up to 15 years in prison, police said Tuesday.
ADVERTISEMENT

Ratchapin Chancharoen, 28, was arrested Sunday evening and charged with insulting Thailand’s King Bhumibol Adulyadej by not standing during the anthem, which plays to a montage of royal portraits before the screening of every film.

Ratchapin had gone to the theatre to watch "The Other Boleyn Girl," a story about England’s King Henry VIII.

Other theatre-goers became angry when she refused to stand, and Ratchapin began shouting "impolite words" as a group confronted her, police said.

Ratchapin was allowed to watch the movie before police took her away.

Major Charoen Srisalak, deputy chief investigator of the Bangkok police, said the suspect refused to answer any questions during interrogation.

"She said only that she did what she wanted to do. Police charged her with insulting the monarchy," he said.

If convicted, Ratchapin faces from three to 15 years in prison.

In April, a Thai man was also charged with lese majeste, or offending the monarchy, for refusing to stand for the anthem in a cinema. Thailand plays the anthem before any public performance.

King Bhumibol, 80, is the world’s longest-reigning monarch and commands an almost religious devotion from his subjects.

Thailand’s strict enforcement of its lese majeste law prevents any public discussion about the palace.

A cabinet minister was forced to resign last month after he was accused of offending the king in a speech about the 2006 coup by royalist generals who ousted then-premier Thaksin Shinawatra.

In April 2007, a Swiss man was sentenced to 10 years in prison — but later pardoned by the monarch — for defacing the king’s portrait.

The same month, the army-backed government temporarily blocked the popular video-sharing website YouTube after clips mocking the king appeared.

http://news.yahoo.com/s/afp/20080617/wl_asia_afp/thailandroyalscrime_080617052405

โผล่อีกไม่ยืนถวายความเคารพในโรงหนัง แถมยกเท้าพาดเก้าอี้

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์
15 มิถุนายน 2551 23:32 น.

พบอีกไม่ยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี แถบย้ายที่นั่งยกเท้าพาดเก้าอี้ ตร.เรียกสอบปากคำยังต่อรองขอดูหนังจบก่อน

วันนี้ (15 มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.30 น. พ.ต.อ.อาคม จันทนลาช ผกก.สน.พหลโยธิน รับแจ้งว่ามีผู้ไม่ยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ภายในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพลกซ์ ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร จึงไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.พหลโยธิน ก็พบหญิงสาว 1 รายกำลังยืนโวยวายอยู่ท่ามกลางวงล้อมของผู้ที่เข้าไปชมภาพยนตร์จำนวนหนึ่ง ด้วยความไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าไประงับเหตุ ก่อนจะพยายามเกลี้ยกล่อมและเชิญตัวหญิงคนดังกล่าวมาสอบปากคำที่ สน.พหลโยธิน ทราบชื่อต่อมาคือ น.ส.รัชพิณ จันทร์เจริญ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49 ถนนบางรัก ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบสวนผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เบื้องต้นให้การว่า ก่อนภาพยนตร์เรื่องที่เข้าไปชมจะเริ่มฉาย ในโรงภาพยนตร์ได้มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นตามปกติ โดยทุกคนในโรงก็ยืนกันถวายความเคารพกันหมด มีเพียง น.ส.รัชพิณ เท่านั้นที่ยังนั่งอยู่ ซึ่งหลังจากเพลงบรรเลงไปได้จนถึงท่อนที่สอง น.ส.รัชพิณ ก็ย้ายที่นั่งจากแถวอีไปนั่งด้านหน้าคนเดียว พร้อมทั้งยกเท้าขึ้นมาพาดบนเก้าอี้ ซึ่งบรรดาผู้ที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ก็เห็นเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงปรึกษากันว่าควรเชิญตัว น.ส.รัชพิณ ออกไปจากโรงภาพยนตร์ โดยหลังจากนั้นก็มีพนักงานของโรงภาพยนตร์เข้ามาพูดคุยเพื่อให้ น.ส.รัชพิณ ยืนถวายความเคารพ และเอาเท้าลงจากเก้าอี้ แต่ น.ส.รัชพิณ ก็ไม่สนใจ พนักงานของโรงภาพยนตร์จึงเดินออกไป

บรรดาผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเมื่อเพลงสรรเสริญจบลง น.ส.รัชพิน ก็ร้องตะโกนเป็นคำหยาบ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาภายในโรงภาพยนตร์ พร้อมกับเจรจากับ น.ส.รัชพิณ ก่อนเชิญตัวไปสอบปากคำที่ สน.พหลโยธิน แต่ น.ส.รัชพิณ ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่า ขอดูภาพยนตร์จนจบก่อนที่จะไปโรงพักด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรอจนภาพยนตร์จบก่อนเชิญตัว น.ส.รัชพิณ มาสอบปากคำที่โรงพัก ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกคนเห็นว่าเป็นการเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์และดูหมิ่น สถาบันเป็นอย่างมาก จึงรวมตัวกันมาให้ปากคำที่ สน.พหลโยธิน

ต่อมาเวลา 20.30 น. พ.ต.อ.เจริญ ศรีศศลักษณ์ รอง ผบก.น.2 ได้เดินทางมาสอบปากคำ น.ส.รัชพิณ ด้วยตนเองก่อนเปิดเผยว่า ขณะนี้ น.ส.รัชพิณ ยังคงไม่ให้การใดๆ บอกแต่เพียงว่า อยากทำเท่านั้น แต่เท่าที่สอบปากคำแล้ว ลักษณะของ น.ส.รัชพิณ คล้ายกับคนมีอาการทางประสาทและพูดจาหยาบคาย ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำตัว น.ส.รัชพิณ ส่งให้แพทย์ตรวจว่า มีอาการทางประสาท หรือเคยเข้ารับการรักษาอาการทางประสาทที่ไหนบ้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9510000070238

Categories: News and politics

Take It or Leave It

15 June 2008 Leave a comment
บางครั้ง เราต้องเจอกันทางเลือกที่ไม่น่าเลือกมากนัก
การตัดสินใจที่ยาก
แต่มีไม่กี่ครั้งในชีวิต ที่จะมีทางเลือกเหล่านั้นเข้ามา
แล้วทางไหนที่ควรจะเลือก
 
เลือก ที่จะไม่เลือก หรือเลือก ที่จะเลือก
ไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ตาม
แต่การตัดสินใจครั้งนั้นๆ จะตามไปตลอดชีวิต
และไม่มีทางกลับมาแก้ไขอะไรอีกได้
 
ถ้าตัดสินใจเลือกแล้ว
ก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้เลือก
แค่นั้น … ก็จบ
Categories: Other

Jakrapob Penkae At the Foreign Correspondence Club

14 June 2008 1 comment

A Talk by Jakrapob Penkae At the Foreign Correspondence Club
การบรรยายของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ประชุมชมรมนักข่าวต่างประเทศ

September 2007

Jonathan, moderator (โจนาธาน)

We’re very lucky to have him here to give us an insight into the alternative view to the one being portrayed by the CNS and their plan to return Thailand to democracy.

Jakrapob Penkae (จักรภพ เพ็ญแข)

Thank you, Jonathan. Distinguished members and friends, well, I just want to be more specific on what I have just been through so you understand my situation. I just got out of Khun Prem’s jail. It’s not a general jail. It’s Khun Prem’s jail. It’s Khun Prem’s direct way of communicating to the public that he’s not to be touched. Who is Khun Prem, whom he represents, ……represents him, would be a part of what we can discuss tonight because it involves the current and future of Thailand’s democracy as you know because most of you have been already quite knowledgeable about Thailand and its complex and unnecessary headaches and situations in Thai politics. Jonathan gave me a huge issue on "Democracy and Patronage System of Thailand" as a part of a discussion on Thailand’s democratization. I’ll try to handle it in the best possible way.

In fact, considering the current situation of Thailand, no topic can be more relevant to Thailand these days. Current political crisis in my opinion is the clash between democracy and patronage system directly. It’s a head-on clash, and this would change Thailand and its foundations. The stake is very high for both sides, I mean, democracy and patronage. And if you take the result of the August 19th referendum seriously, you are observing the clash between the 56% and the 41% of the entire population. Never before that such a high number of people came out to say that we no longer need your patronage. It’s simply democracy that we want, not someone to pad in the back, not someone to say that, well, "I’ll make your life a little better but you should feel most grateful to us." It’s the time that real changes should be the national right of the people of Thailand, no less than most people in a more developed land. I believe we can see this in a life time, the complete change that has started at this very moment.

Well, however, we have started off as a country in patronage system. Most of you who  read about Thailand and its brief history, because we decided to count our history 700 years ago and disregard the 300 years before that because it involved the southern complexity. That’s why the history was chosen to start 700 years ago in Sukhothai period where Sukhothai was the capital city of what would become Thailand. In Sukhothai, at least in one of the reigns of Sukhothai long history, we were led to know and believe that one of the Kings during Sukhothai period, King Ramkhamhaeng, at the time, to be more precisely "Great Brother" –er I’m sorry "Great Father Ramkhamhaeng" at the time because the idea of God-like monarch hasn’t arrived in this land yet during the Sukhothai period. So he was –or they were observed and regarded as "The Great Fathers" who could be benevolent to their people and gave the people what people needed at the time.

One of the noted examples was that Great Father Ramkhamhaeng, or King Ramkhamhaeng just to be in short, proposed to have a bell hung in front of his palace. And anybody with specific problems could come and ring the bell, and he or his people would come out and handle the problems. That was one of the first lessons the Thai students learn about Thai political regime that you have someone to depend upon. When we have problem, turn to someone who can help you. So before we know it, we are led into the patronage system because we ask about dependency before our own capability to do things. These are the very basic concept that makes Thai people different from many peoples around the world. So we started off like that. During the Sukhothai period we had Kings that did things like that. So people had duty to be loyal. People had duty to have faith in the system bestowed on them because that was the working system at the time and there was no competing system. In other word, there was not –there was no better idea how a kingdom could be run so that was the best system at the time.

Later on in Ayudhya period, that was the capital city of a land for 400 and some years. The God-like idea of monarch had been introduced with the Khmer civilization influence. The idea of a King as a demi-God, as a representative from the Hindu Gods and the Gods beyond these Hindu Gods had arrived in our land at the time. So the patronage system of helping people, or being dependable for people, had been changed into the state of protection. If you have loyalty to the King, unquestionable loyalty to the King, you would be protected. In order to show this protection more clearly, people who do otherwise must be punished. So this very system in Ayudhya period shows, or showed that there was an evolution of the system. Some people might call it regressive, some people would call it progressive. Whatever it might be in your opinion, it was a combination between the benevolence of the "Great Fathers" model and the "Great Leaders" model. In other words, Kings of Ayudhya were powerful and a concept of "power" were realized at the time that if people in power could be benevolent, you could benefit from that power as well. In other words, Ayudhya period taught Thai people to live with power, how to live with it, how to survive in it, and how not to be destroyed by it. But Ayudhya period also triggered the new relationships in our land, the master-slave relationship, the noble and commoners relationship. That was Ayudhya.

Then came Rattanakosin period. I would bypass the 12 years of Thonburi period. In Rattanakosin period in which we are now, the Chakri Dynasty was the starter of this so called Rattanakosin period. What it is is the combination of Ayudhya and the new skills of what I would like to call "knowledge management". In other words, the glory of the Chief Father is combined with the power of Ayudhya period and the demi-God stature of the monarchs, has been added during Rattanakosin period with the so called "knowledge management". Knowledge is power at the time, it was perceived so.

That’s why King Mongkut spoke English in his court. And he introduced science, and probably technologies, inventions, foreign goods that were completely unknown to Thai people at the time, as one of the sources of his power. King Mongkut was seen, not as a benevolent king, not as the best of Chief Father King, but as the Father of Science and Technology. He’s still regarded that way. So in other words, the system in Thailand has been to the point that leaders and rulers have been finding the best way possible at the time to convince people that they’re dependable. The source of their being dependable varies all the time like I described to you.

And then, here we are in the reign of the current King, King Bhumibhol or Rama IX. We have all of that combined. And because he reigns for so long of a time, 60 some years now, his being in Thailand has been promoted to the state of myth. People don’t know whether or not they’re talking about realities or belief about him. Because he reigns long enough that he could be all of those combined: the traditional King, the scientific King, the developing King, the working monarch, and now so, he can still be the guardian of the new invention to Thailand, democracy. So all of that have been in front of us that we have all those variables that we have to rearrange and put in a new order.

We missed some opportunities in the past like when Predee Panomyong, the civilian leader of the revolution of 1932, 2475 for Thai people, that the system was turned from absolute monarchy into constitutional monarchy. That was still in the reign of King Rama VII, King Prachathipok. Predee said later on, he seized power when he was 32 years old, and at the age of nearly 50, he was out of power completely and resided in Beijing for 10 years and then for the rest of his life in France. He never returned to Thailand, only his ashes. He said at the time that "When I had power, I don’t know what to do with it. When I grew up and know what to do with it, I no longer have power." The idea of having things at a wrong time has been reminding us that we probably need a leader to rearrange all of that for us.

You see, all of that that I have said to you from the beginning, it leads to a strong belief among Thai people still that, with a benevolent reign like this, we don’t actually need democracy. We are led into believing that the best form of government is guided democracy, or democracy with His Majesty greatest guidance. It has a continual development of ideas and belief into the current situation in which I see as a clash or the clash between democracy and patronage system.

In other words, Thais are made to be comfortable with patronage system. We start to invent the term like ‘ไม่เป็นไร’ or ‘It doesn’t matter.’ or ‘It’s alright.’ because there’s no other way to say it. We invented the system of smiling anyway no matter what happens because smiles are the way out of a problem. There’s simply no other way at the time. And we invented some saying some belief like ‘ค่าของคนคือคนของใคร’ ‘A person’s value’s based on whom he belongs.’ something like that. So the ideas and the terms like these have been based on a feeling –the feeling that to be patronized is alright.

I went to the US as a student in 1992 and I could never understand at the time why people could be angered by being patronized. Some friends of mine responded angrily to me and to the people I saw them talking to, ‘Don’t patronize me.’ I never understood that because the state of being patronized is alright. The state of being flattered is fine because your life depends on others anyway. So to be patronized is not a sin, is not evil. But all that are coming to a big change. That’s why we are clashing now because there are enough people who come out and say that, ‘No, we don’t want it anymore of your damn patronage.’ The 41% that said no to the constitution drafted by the dictators and the dictators’ followers has been the result of the huge lobbying in the bureaucracy of heavy budget investment to turn the whole country to a ‘Yes’ country, you remember that; it’s just a week ago.  And some even believe that there are some irregularities involved in the process of campaigning of the constitution or the counting of the votes.

But with all of that, big brother tactics combined, they got only 56%. And that includes the big billboards around Bangkok, and probably outside Bangkok too –but I haven’t seen any. But I saw a lot of them along the Don Muang Toll Way from the old airport that say something like "Well, we the Thai people have to join the same boat. We have the same fate, we join the same boat." But what is remarkable is the name that was put at the end of the statement.  It says ‘Yellow shirt people’. In other words, the ‘Yellow shirt people’ combined with all those tactics, you got only 56%. That is your big problem. Thailand is on the verge of change, if so. So what we’re talking about between democracy and patronage system is that people are coming out of age, I think.

I myself grew up in patronage system; I was pampered too. My father served in the air force and he later on became a commercial captain of Thai Airways when they first started the first bunch of local pilots. So he was paid in quite a high salary, enough to feed his family. And I wouldn’t have to go through the misery of life that he went through. He grew up in patronage system too. I treated my dinner for granted that they would always come to the table. I wouldn’t have a feeling of having dinner tonight and having nothing for tomorrow. But my father did experience all that. I grew up in that kind of system comfortably so. I started questioning the notion of patronage system later on when I became a full time journalist in a television, and started to probe Thailand and its society more seriously. I found that something is wrong. It took me years and some experience in the Taksin administration government to understand all of these.

Patronage system is problematic because it encourages inequality among individuals. And that’s the direct conflict to democracy. It encourages one person into thinking of depending on the other or others. It breeds endless number of slaves with a very limited number of masters. It prevents Thailand from coming out of age. That’s why, having been educated for so long of a time, having braved the world for so long of a time, never had any direct discrimination against any foreign cultures for so long of a time, many of us remain children. You can observe political fight in Thai politics and you would find most of them petty. It’s a child’s game –the way that they play of each other, or against each other. Because in a patronage system, you would remain children, you would remain somebody who depends on others. So no wonder pettiness is everywhere in Thailand.

You see one of the latest example happened to the Thai Rak Thai Party. You may have read the news. The election commission have a problem with the name of the new Thai Rak Thai Party. At the time Thai Rak Thai was transforming into a new party called ‘People’s Power Party’ or PPP. It was trying to play a trick of changing name or modifying name so people would know that it remains Thai Rak Thai. So they changed the name and the name was approved by the election commission. And then they found out that the modified name was abbreviated as TRT, just like Thai Rak Thai. They withdrew that endorsement, say that you can no longer use that name –it’s Thai Rak Thai again. My nightmare has returned. So in other words, this pettiness is a sample of how we play of each other in the 21st century.

So, Taksin, as Prime Minister that I came to work with and grew to like personally, came in and changed all that. Sleepwalkingly, Taksin has removed power patronage from the powers that be and turned it into public policies most people can benefit. I was with him so I knew that he didn’t launch those policies philosophically. He simply wanted to do his job. He wants to be liked. He wants to be loved. He wants to be a useful rich man. That’s simply the way he operates his money. But then his easy-going way has been in direct conflict with patronage system because it undid most of that –fast– in only 5 years. People at grassroots started to feel that they have rights. They have the right to feel that they could be much better off than being a little better than last year. In other words, they simply was given a new choice. And Taksin didn’t do it to challenge anyone but some people felt challenged by what he did and what he has done.

When he won the election for the first time with the 377 seats in the Parliament of 500, it was never before and absolute majority. I could tell you behind the scene and off the microphone in future times that the private conversation that I –I’m sorry I couldn’t reveal tonight– showed that there are some intimidation in the air right after the election result was known that Taksin won 377 seats among 500 in the Parliament. In other words, Taksin was not to be trusted because Taksin has violated the rules of being depending on others. He started to be a Prime Minister that doesn’t have to depend on anyone, and that is a sin in a patronage system. Taksin did right or wrong is up to the history to judge. You can drag him to court or you can…..justice –it doesn’t matter. But the matter is what he has put or imprinted in Thailand is something that people never felt before.

He almost did not do anything for the Bangkok people because he felt that they didn’t need him that much. If you ask Bangkok people, urbanized people, what Taksin had done to them, it could take them two weeks and they couldn’t come up with anything. But when you ask people at grassroots, they can cite ten items that they felt they were given under Taksin new system. Was Taksin patronizing them? In doing that, probably so, but he didn’t mean to do it that way. And I could tell you out of my personal observation of how he came up with that kind of policies. You know that he had planned that in the last two years of his second term, he would be in Thailand only 1/3 of the whole time. He would spend 2/3 of the last two years of his administration traveling the world. According to his word, he would be playing the role of ‘salesman’ for the country in the last two years, but he was deprived from that. He was overthrown while waiting to speak in the assembly in the United Nations. Right after the coup, September 19, 2006, we planned to launch a government in exile. But a telephone call from Bangkok changed all that. In my opinion, there was a mistake, we should have gone with a …… We should have made the CNS –the Surayut government—and the rest of them illegal. We should have made them illegitimate, like the Heng Samren Hun Sen regime of Cambodia years ago. We should have made that. But the telephone call changed all that. So what could we do? I am a small person in this vast entourage. I was at the time Deputy Secretary General to the Prime Minister –an equivalent to Deputy Chief of Staff in the President system of the US. But it was a small place so you could press for it. I would have pressed for government in exile. And if there would be a clash, a physical clash in Thailand –so be it.

So we’re talking in historical sense that even a Prime Minister who was put in power by the people, what he did was to release people from patronage system, but when the most crucial decision comes, even him, made the decision out of patronage system. So the deep root of the patronage system is here and it’s in direct conflict with democratization. We have to undo it. We have to personalize patronage system by saying that, well, who keeps patronizing people. And I believe that the time is near to do that. Once you were put in jail, it’s alright. We can do more time to realize your goal. It’s fine really.

The thing is that I was waiting for the second case that I’m charged with, the so called ‘wire tapping case’. On the 22nd of June, during our daily Sanam Luang protest stage, I was revealing a conversation of three people –a telephone conversation. Two of them were justice –one in the Supreme Court, one is in the Appeal Court. One was known to have a close relationship, presumably homosexual relationship with the powers that be. And they were talking to the sense that how we could manipulate the King’s statement to punish the Taksin administration and the Election Commissioners whom they believe to be siding with Taksin. And the rest of that is history if you follow the details in Thai news. In other words, they were forced to face the reality of how this patronage system which is the main element of aristocracy system of Thailand has been operated.

How they buddy each other and use this personal relationship which change things around. How they insult people by not endorsing the majority of the people. How they think that democracy has to be guided, still. So the tape itself would be a big case from now on. The police charge me and some of my colleagues of illegally wire tapping. It’s not the case. It was intentionally taped by the third person in the conversation that he would be coming out soon. He’s then the Permanent Secretary of the Prime Minister’s Office. So the case would be brought to court. My intention is not to approve whether or not I wiretapped, but I want to bring Khun Prem, General Prem, and the two judges to court. That would be my intention. Then I could be facing Khun Prem in court and ask him why such a great leader like himself decided to doubt the democracy like this. You were a great leader, Your Excellency, but you changed. So a once indispensable leader is now a leader at a very wrong time….. So Khun Prem symbolizes so many things. We learn from Khun Prem that a good person, when he gets real old –and it’s not the age that matters here, it’s the state of feeling old in the state of mind of not being adventurous anymore, of reversing to the old times, the good old times that he is comfortable with– is no longer suitable to be influential the country.

So, I’m sorry I have so much of the time that I just want to say that the –what I found lately, in jail and out of jail, that democracy and patronage system are direct conflict. And the election which is upcoming on December 23rd would not resolve anything. The situation would be worse after the election because all of the tactics and covers would have been used up. And the real intention would be revealed why you couldn’t allow democracy in this country. When you went to Sanam Luang –if you did– you would have the same feeling that I have that people in Thailand are no longer children. They are adults being forced into children’s costumes. They feel frustrated, physically and mentally, and they are struggling to get themselves out of that. I don’t know how they would come about but they will come. So I would end here. I hope that my opinions would attract some questions and some discussion after that. I would like to hear your opinion and your question so much. I want to know how you perceive Thailand because many of you have been in Thailand for so long of a time. Some of you are real Thailand lover –I don’t want to shatter that feeling. So I need to know what you actually feel about it at this point. Thank you very much.

Question :

At one point you said Thailand needed a leader to rearrange the current institutions at one point. I mean, you talk about the patronage system being unacceptable. Yet, you seem to think that Thailand can only be sorted out by a powerful leader –you’re referring to somebody like Khun Taksin that you worked underneath. Wasn’t it as much patronage under Taksin Shinawatra? Doesn’t he rely on patronage to bring people on board as well?

Answer :

It might not be him the leader I’m talking about. Actually, I should be referring to that as leadership instead of leader. What I meant to say is that things have been rearranged and put in the ‘right’ order by the force of the patronage system. But when people start to refuse that, they need a different kind of leadership to tell them to sing all these through. I don’t know any more than you do on what the new leadership would look like. But if you ask me, if I have to –to presume that I know and say something about it, I would say that the new leadership has to continue reducing the inequality of rights people in urbanized areas and the rest of the country have been put upon. In other words, the so called populist policies have to be the key to start making people believe that they have rights. And Khun Taksin, he’s reaching 60 now you know, and he’s quite a happy man, and he’s now happier than ever with the ‘Man City’. So I’m not even sure that Khun Taksin would want to take that role. He enjoys himself being a famous politician in Thailand. But according to him, if the owners don’t like what he did, a professional manager like him could be working for other companies. The kind of attitude is not really revolutionary. So the new leadership that I’m talking about is to be more revolutionary.

Question :

You’re talking about a leader being necessary. Isn’t it the best of thing if Thailand has fairly weak national leaders but start having much more dynamic politics at the local level? Beside you start waiting for a savior leader to come along. You’re surely thinking of the same sort of terms of patronage that was existing today.

Answer :

Oh no! I’m not waiting for the white knight to come and save all of us, no,no. What I’m saying is that this is the state of no white knight. I’m saying the opposite. This is the state of no white knight and yes the current state…..will not end like the May incident of 1992. There’s no one to end it because everyone is involved. You see that there’s no referee. So what would be happening from now on is really unknown. But I guess it would take — it would take some people’s heavy hands, if you will. For example, to put it in a more tangible, touchable samples, appointed General Saprung’s attitudes, appoint Police General Sereepisut as Police Chief and you’ll see something. Actually you should have done that –they should have done that. They should have appointed the most dictatorial figures into positions that need to be democratized, and then we may see something that happens. When there was a revolution, the leaders of such incident is always unknown. So I don’t know who the leader.

Question :

Khun Jakrapob, something you said about –er—there was an attempt by Taksin to form a government in exile. I’m just curious, could you walk us through when he was planning to do so and when this call came from Thailand to ask him not to move ahead…..

Answer :

Well, I went to jail one time and I would try to refrain myself from doing the same thing again. Well what I could say here is –er—it was not him who came up with the idea of a government exile. It’s from some of us mean to it. And we informally approached certain countries, I don’t want to name countries, but not less than 10 countries on that same night, whether or not they would endorse our government in exile. And they said they would. .In other words, if he would have gone ahead with government exile, I think he would have succeeded. But that’s an ‘if’ clause. What do you call it? If certification? Who made that call–I’m sorry I couldn’t reveal right here but we….

Question :

Would his name begin with ‘P’?

Answer :

(Laugh) Well, it is very much in style, actually. Well, that call changed the idea he was considering it at the time. That was the time before he issued that emergency decree on MCOT, TV channel 9, the time you remember it, about 0920 pm. That was shortly before that. I was in Bangkok because we kind of knew that something would happen but he had to go any way. So he flew from New York to London. And it would be harder to form a government in exile in London as opposed to the United Nations. So I realized that he put an end to the idea but it didn’t come from him.

Question :

Khun Jakrapob, I forgot what you put the word exactly. You said something like ‘sleepwalkingness’ that –describing Taksin’s –what-er-evolution as hero of democracy, yah? Can you elaborate on that? Do you feel that he really had –I mean—was he really interested in promoting democracy in Thailand? And wasn’t he just monopolizing the patronage system? And if he did just sort of sleepwalk into this hero of democracy-er-image that you’re portraying here, I mean, is he really a democratic person? Is he a democratic politician really? And wasn’t this just a very accidental hero we’ve thought you’re promoting at the moment?

Answer :

He, he was a product, he is a product of patronage system and autocracy who tried to be more democratic than he might ever be. He battles all the time between being a liberal business person and a police officer. It is his internal conflict and you need to talk…..about that, not me. But the thing is that he’s good enough for me to work with because I need someone, we need someone to lead a way to the light at the end of the tunnel. If Thailand is deep in patronage system the way that the old timers had brought Thailand about, there’s no need for education. Why do we need to go to schools, I mean? To find some masters and you’ll do fine because you wouldn’t be allowed to show your education and your knowledge any way. If you want to have a country full of people with energy, and people who want to change things, you have to provide them with an equal time, I mean, of yourself, to express yourself in that society.

To answer Peter’s question, I believe that Khun Taksin has been trying to be democratic. People of his generation is hardly democratic. Even democratic fighters turn out to be very dictatorial when you work with them closely. Some democratic fighters in Thailand beat their wives. That’s terrible. What kind of democracy is that? So it is a battling between democracy and autocracy that he, along with the rest of his generation, has to do. I don’t presume to say what he is, but I’m saying that when I said he’s sleepwalking into changing policies, what I mean is that he did not intend to grasp power from the old patronage system. He did not know that the war was ongoing. He did not know that poor people have been owned by somebody else. That’s why he burst out some words without knowing how hurt it might be to people who heard it. He said at one point before I became spokesman. He said it. He said that I’m tired of this ‘poor man’s brokers’, people who talk about the poor and poverty all the time and didn’t do a damn thing about it. You know you couldn’t give people spirit instead of better life. You cannot give them projects that need results. So that’s how he operates his mind. That’s why I think that sometimes he’s sleepwalking in the sense that he did not know the impact of what he did. But he realized the impact of what he did later on. So what we’re talking about is a collective leadership actually. Taksin was not dictatorial. I was working with him. I would be the one who stepped away from him if he was. But he merely a person who stick to the gun and try to get the job done, no leader in Thailand was ever like that. So it was dictatorial in the minds of people because you stuck to your gun. You insisted that it had to be done under your leadership and that could be construed by some people as being dictatorial. But if you met him in person, you spend some time with him, you would know that he’s no –he’s not—he doesn’t have that grain in his body. So I’m not saying that he’s a superman but he’s better than the old leaders that I was told to respect. I would rather work underneath a half good commoner than an empty noble, you see.

Question (Simon) :

Khun Jakrapob, will you be contesting the upcoming election on December 23rd? If so which party will you be joining? And can you tell us anything about what that party stands for or may do to Thailand? If you decide that you will not be joining this election since you campaign against the constitution, will you be doing any other kind of action, …..or whatever, to, you know, make your political point?

Answer :

Well, thank you, Simon. We had 377 seats in the parliament and we was –we were overthrown. So maybe the victory in the election might not be the whole thing, or the whole point. So all of us, some of us who were campaigning at Sanam Luang are now considering whether or not we should be joining the election. If we would join the election, it means that we would need a new forum to reveal them all. The election campaign for us would be another Sanam Luang stage if we would join the election. But if we would not join the election, it would mean that we would find something outside the electoral process to do in order to protect the system itself if we can, the best way we can. We are not priding ourselves as being, you know, the guardian of anything, but we try, or we would try. The party we would belong, anything Thai Rak Thai, anything Thai Rak Thai. It could be called, you know, Thai Love Chinese, you know, I would belong to that party.

Question (Peter) :

Maybe I can throw a split question to both of you. From what we read, the PPP has lots of former Thai Rak Thai MPs and, I guess, enters the election campaign, something happens as a road runner. So, two-part question: (1) What do you think will be done to stop PPP from winning? And (2) What do you both think about the government or a government party led by Samak?

Answer :

Let me make sure that I got your question right. The first question, what would stop PPP from winning?

Question :

What is it to stop, what is going to be done to stop from winning?

Answer :

The tactics of the other side?

Question :

Yes. And the second one, what do you both think of a governing party or party in the government led by Samak. What sort of person do you think he is?

Answer :

Well, for the first question, they really try to –er –allocate more budget in Isarn. They had people like the former MP of Thai Rak Thai, Wiwattanachai Na Kalasin, coming out and declare that he would form the Isarn group and try to grasp as much votes as possible from PPP, or the former Thai Rak Thai party. This kind of tactics I don’t know –er –there could be a lot more. But I think that the main tactic would be to brand Taksin as an asshole –would be the major tactic. They would continue to do it and what else I think that covers it.

But for the second question, Samak came from the, the, well, if you use the western mode of thought, you would brand Samak as ultra righteous. But if you look closer at him and follow the stories, you would find that he just heavily in patronage system. I mean he is an ultra conservative who can surrender his position easily if asked that what he was….. But then he decided to defend Taksin this time in his early 70’s. He’s in his 70’s now you know. He’s no longer a young politician but he decided to jump in and defended Taksin this time.

From : A Talk by Jakrapob Penkae At the Foreign Correspondence Club, September 2007

Categories: News and politics

เงินออมเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ

12 June 2008 Leave a comment

เงินออมเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ

วันนี้อ่านข่าวเจอมา เป็นเรื่องของ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีการศึกษา
ความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณ ของแรงงานภาคเอกชน ที่มีรายได้อยู่ในระดับเฉลี่ย
ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ผู้มีงานทำออมเพียงหนึ่งในสี่ของรายได้
ผลการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการออมของกลุ่มผู้มีงานทำที่มีความสามารถออมได้ จำนวน 1,230 คน
พบว่าผู้มีงานทำประเมินตนเองว่าสามารถออมได้ร้อยละ 60.7
และผู้ที่ออมได้สามารถออมได้ทุกเดือนร้อยละ 64.5
โดยสามารถออมได้เฉลี่ยร้อยละ 27 ของรายได้หลักและรายได้เสริม
หรือคิดเป็นเงิน 3,857 บาทต่อเดือน

โดยมีผลสรุปประมาณการว่า
จะต้องการเงินออมเพื่อใช้หลังเกษียณอายุรวมประมาณ 4.9 ล้านบาท

เงินออม 5 ล้านบาท โดยเฉลี่ย
สำหรับทุกคนที่ทำงานในภาคเอกชนนั้น
ไม่ใช่เงินจำนวนน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่ามากจนเป็นไปไม่ได้

คำถามคือ ต้องมีการออมเท่าไหร่ เพื่อจะได้เงินออมรวม 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ต้องการเกษียณอายุ
ถ้าคิดว่า อายุที่ต้องการเกษียณคือ 60 อายุที่เริ่มทำงาน คือ 20
เท่ากับมีเวลาที่สามารถหารายได้มาออม เท่ากับ 40 ปี

คราวนี้ ความแตกต่างที่สำคัญ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับ จำนวนเงินที่ออมได้ในแต่ละเดือนเท่านั้น
แต่เป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ทำได้

ถ้าฝากเงินธนาคาร แบบประจำในปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 3% ต่อปี
คุณต้องฝากเดือนละ 5400 บาท ทุกเดือน เป็นเวลา 40 ปั
เพื่อจะมีเงินจำนวน 5 ล้านบาทในอีก 40 ปีข้างหน้า

ถ้าเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน เป็น 5% ต่อปี
ในระยะเวลาการฝากที่เท่ากัน คุณจะใช้เงินต่อเดือนเพียง 3277 บาท

และถ้าผลตอบแทนที่ทำได้ เพิ่มเป็น 7% ต่อปี
จะใช้เงินฝากต่อเดือนเพียงแค่ 1905 บาทเท่านั้น

แต่จะมีซักกี่คน ที่สร้างผลตอบแทนการลงทุนได้สูงๆ

ดังนั้น จำนวนเงินในการออม ไม่ใช่ทั้งหมด
แต่ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดี ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม
เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลต่อแผนการเกษียณอายุ

Categories: Economics & Finance

Inguinal Hernia (ไส้เลื่อน)

8 June 2008 5 comments

Inguinal Hernia
ไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อน (Hernia) หมายถึง ภาวะที่ลำไส้เลื่อนออกนอกช่องท้องผ่านผนังช่องท้องที่บอบบาง ตำแหน่งที่ลำไส้จะเลื่อนออกนอกช่องท้องมีหลายแห่ง เช่น บริเวณขาหนีบ (Groin Hernia), ผนังหน้าท้อง (Abdominal Hernia), สะดือ (Umbilical Hernia), และ รอยแผลผ่าตัด(Incisional Hernia) เป็นต้น

ในท้องของเรามีลำไส้อยู่สองส่วน ส่วนแรกคือลำไส้เล็ก เป็นลำไส้ส่วนที่ต่อกับกระเพาะอาหาร ขดอยู่ตรงกลางท้อง ทำหน้าที่ย่อยอาหารต่อจากกระเพาะ อีกส่วนคือลำไส้ใหญ่ เป็นส่วนที่อยู่รอบๆลำไส้เล็ก  ทำหน้าที่เก็บอุจจาระและปล่อยออกไป ลำไส้พวกนี้จะมีเนื้อเยื่อบางๆเหมือนกระดาษ ที่ขึงลำไส้ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ที่ทางหน้าท้องจะมีเนื้อเยื่อบุผนังและกล้ามเนื้อบังลำไส้ไว้อีกที จากองค์ประกอบดังกล่าวจึงทำให้ลำไส้มีที่อยู่ประจำของมันอยู่ในช่องท้อง หากวันใดที่ลำไส้มีเหตุให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ เราก็จะเรียกมันว่า ‘ไส้เลื่อน’

ทำไมไส้ถึงเลื่อน

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนก็คือ ‘ผนังหน้าท้อง’ ขาดความแข็งแรง โดยสาเหตุต่างๆกันไป
1 ผิดปกติตั้งแต่เกิด บางคนมีช่องทางระหว่างช่องท้องกับลูกอัณฑะ(ซึ่งคนปกติจะปิดสนิท) บางคนขาดกล้ามเนื้อหน้าท้องบางตัว หรือมีความอ่อนแอของผนังหน้าท้องตั้งแต่เกิด ทั้งนี้แม้แต่จะเป็นแต่เกิด แต่อาจจะมาก่อเรื่องเมื่ออายุมากแล้วก็ได้
2 การเสื่อมลงตามอายุ พบในผู้สูงอายุ ซึ่งกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องอ่อนกำลังลง
3 อุบัติเหตุที่หน้าท้อง ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลงหรือเกิดความเสียหายต่อผนังหน้าท้อง
4 แรงดันในช่องท้องสูง การยกของหนัก ไอบ่อย มีการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ จะทำให้แรงดันในท้องเพิ่มขึ้นและค่อยๆทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง มากขึ้นอย่างช้าๆ
5 หลังการผ่าตัดช่องท้อง เนื้อเยื่อที่ถูกผ่าจะขาดความยืดหยุ่นและเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดของหน้าท้อง หากช่วงพักฟื้นเกิดเหตุแทรกซ้อนกับแผล ก็จะทำให้เกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดได้มากขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ถ้ามีเพียงข้อเดียวมักไม่เกิดอะไรขึ้น แต่หากเป็นพร้อมกันหลายๆข้อ ก็จะยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดไส้เลื่อนได้มากขึ้น

ชนิดของไส้เลื่อน

ถ้าแบ่งตามตำแหน่งที่ตรวจพบ จะแบ่งได้เป็น
1) ไส้เลื่อนลงอัณฑะ
2) ไส้เลื่อนผนังหน้าท้องส่วนล่าง
3) ไส้เลื่อนโคนขา
4) ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด
5) ฯลฯ ไส้เลื่อนยังมีอีกหลายชนิด แต่เจอได้น้อยกว่ามาก
การแบ่งแบบนี้ ได้ประโยชน์ในแง่ของการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่ายด้วยตา บางครั้งอาจจะบอกได้ถึงที่มาที่ไปของโรค และนำไปใช้ในการเลือกวิธีการในการผ่าตัด ประโยชน์อีกแง่หนึ่งก็คือบอกให้รู้ได้ว่า ไส้เลื่อนไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะกับผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องลงไข่

อาการของไส้เลื่อน

อาการในสายตาของแพทย์มีสองกลุ่มคือแบบหนักกับแบบเบา
แบบเบาๆ ก็คือ พบก้อนเคลื่อนเข้าออก หรือพบก้อนที่ค้างตุงไม่เลื่อนไปมา อาจจะไม่ปวดเลยหรือปวดมากก็ได้
แบบหนักๆ ก็อาการเหมือนกลุ่มเบาๆ แต่ว่ามีอาการของลำไส้อุดตันหรือพบการอักเสบของลำไส้และช่องท้อง โดยมากมักพบในกลุ่มที่ก้อนเลื่อนมาแล้วไม่กลับเข้าที่และมีอาการปวด
ทั้งสองกลุ่มนี้ ตัดกันด้วยเรื่องอาการลำไส้อุดตันหรือการอักเสบในช่องท้องครับ การที่แบ่งเป็นสองกลุ่มนี้ก็เพื่อเลือกว่าจะต้องผ่าตัดในทันทีเลยหรือไม่ หรือยังรอได้ ส่วนขนาดหรือลักษณะไม่ได้เป็นตัวตัดสิน เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่แล้วในก้อนไส้เลื่อนที่เห็นตุงๆ ไม่ใช่ไส้ แต่เป็นพังผืดโอเมนตัม Omentum เลื่อนลงมาปิด ซึ่งไส้เลื่อนที่เกิดจากพวกนี้มักไม่ก่ออันตราย ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดในทันที

การรักษาไส้เลื่อน

1 ผ่าตัดไส้เลื่อน ความจริงผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อน ถ้าเป็นไปได้ควรจะผ่าตัด โดยเฉพาะในรายที่ไส้มีการเลื่อนเข้าเลื่อนออก(เพราะพวกนี้ถ้าวันไหนเลื่อน เข้าแล้วไม่ออก มักเกิดเรื่อง) เมื่อผ่าไปแล้ว แพทย์ก็จะทำการตัดและเย็บปิดช่องทางที่ผิดปกติและใช้เทคนิกการผ่าตัดเพื่อ เสริมความแข็งแรงให้บริเวณนั้น หรืออาจจะใส่วัตถุสังเคราะห์รูปตาข่ายไปพยุงส่วนนั้นให้แข็งแรง
2 ดันไส้เลื่อนกลับ ในบางรายที่มารพ.ด้วยก้อนมีขนาดโตขึ้นและเจ็บปวด ในเบื้องต้นแพทย์จะให้ยาลดปวดและจัดท่าเพื่อดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าไป
3 รอต่อไป ในผู้ป่วยบางรายมีโรคประจำตัวหรือสภาวะร่างกายที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัด หรือเสี่ยงเกิดที่จะผ่าตัดไหว ก็จะไม่ได้รับการผ่าตัด แต่ก็จะมีการแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดการเป็นหรือลดการเกิดอาการ

แล้วจะทำอย่างไรขณะรอผ่าตัดไส้เลื่อน

การป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำในช่วงที่รอผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่เราพอจะป้องกันได้ทั้งในรายที่เป็นแล้วและในรายที่ยังไม่เป็นก็คือ การลดความดันในช่องท้องจากการกระทำต่างๆ คือ
1 อย่าไอ – ในที่นี้คือไม่ไปรับสิ่งที่เสี่ยงต่อการไอ เช่น หยุดการสูบบุหรี่ อย่าให้เป็นหวัด ถ้าไอควรจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ
2 อย่ายกของหนัก – การยกของหนักจะทำให้เกิดการเบ่ง และเกิดไส้เลื่อนซ้ำได้
3 อย่าเบ่งอุจจาระ – ก็คือควรกินอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการระบาย เพราะหากท้องผูกจนต้องเบ่งอุจจาระ ก็สามารถเกิดไส้เลื่อนซ้ำได้
4 อย่าเบ่งปัสสาวะ – ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นต่อมลูกหมากโตหรืออายุมาก อาจจะต้องเบ่งปัสสาวะบ่อย ทางแก้คือไปพบแพทย์ในเรื่องดังกล่าวเพื่อตรวจและรับการรักษาเพื่อให้ถ่าย ปัสสาวะคล่องขึ้น

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบมาตรฐาน

การผ่าตัดแบบมาตรฐานมีหลักการที่จะเข้าไปผูกตัดถุงไส้เลื่อนที่ยื่นออกมา จากนั้นก็ทำการเย็บซ่อมผนังหน้าท้องส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรงขึ้น เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การเย็บซ่อมอาจใช้การเย็บดึงเนื้อเยื่อข้างเคียงเข้าหากัน ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่าย แต่เนื้อเยื่อที่ถูกเย็บเข้ามาหากันจะตึงมาก ผู้ป่วยมักมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัด กลับไปทำงาน เดินตัวตรงตามปกติได้ช้า และเนื้อเยื่อที่ถูกเย็บอาจตึงมากและฉีกออกจากกัน ผนังหน้าท้องกลับมาอ่อนแอเหมือนเดิม แนวโน้มในปัจจุบันนิยมการเย็บซ่อมโดยไม่เกิดแรงตึงมากกว่า ซึ่งอาจใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ หรือการเย็บถักด้วยไหมเย็บ หลังผ่าตัดผู้ป่วยมักมีความเจ็บปวดน้อยกว่า กลับไปทำงาน เดินได้ตามปกติได้เร็ว วิธีหลังนี้มีข้อเสียตรงที่มีการใส่วัสดุแปลกปลอมเข้าในร่างกาย จึงมักต้องให้ยาปฏิชีวนะกันการติดเชื้อ และมีค่าใช้จ่ายเรื่องวัสดุสังเคราะห์หากเลือกใช้แผลผ่าตัดเป็นแผลแนวขาหนีบยาวประมาณ 4-5 cm.

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบใช้กล้องส่อง

เป็นการผ่าตัดเพื่อทำการซ่อมผนังหน้าท้องด้วยกล้องส่อง โดยมากจะใช้แผลขนาดเล็ก 3 แผล โดยแผลที่สะดือที่จะใส่กล้องยาว 1 cm. และแผลที่ใส่เครื่องมือยาว 0.5 cm. จากนั้นก็ทำการเลาะด้านหลังของผนังช่องท้อง ซึ่งจะมองเห็นรูไส้เลื่อนจากทางด้านหลังได้อย่างชัดเจน แล้วใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ปูคลุมกล้ามเนื้อ ตรึงด้วยหมุดเย็บ 3-4 ตัว เป็นอันเสร็จ วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญ ต้องใช้วัสดุสังเคราะห์และยังต้องรอดูผลชัดเจนในระยะยาว จึงมักยังทำได้ไม่แพร่หลาย และเลือกใช้ในรายที่เป็นทั้งสองข้าง หรือในรายที่เป็นซ้ำหลังการทำผ่าตัดแบบมาตรฐาน ปัจจุบัน เริ่มมีการทำในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนข้างเดียว ที่ไม่เคยผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยต้องการการรักษาวิธีนี้

พักฟื้นหลังผ่าตัดไส้เลื่อน

ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบใช้กล้องส่องหรือผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยไร้ความ ตึง จะใช้เวลาพักฟื้นสั้น โดยมากมักอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน จากนั้นก็กลับบ้านไปทำงานได้ ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดแบบมาตรฐานและใช้วิธีที่เย็บเนื้อเยื่อเข้าหากันจะอยู่ โรงพยาบาลนานกว่าเล็กน้อย และมักจะกลับไปพักที่บ้านอีก 5-7 วันก่อนจะกลับไปทำงานได้ ทั้งสองวิธี แพทย์มักแนะนำให้งดการยกของหนัก ออกกำลังกายเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์ ต้องไม่ลืมที่จะรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นปัจจัยชักนำด้วย

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดไส้เลื่อน

พบได้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่น การมีลิ่มเลือดบริเวณใต้แผลผ่าตัด ซึ่งเกิดจากเลือดออกจากหลอดเลือดเล็ก ๆ ขณะทำการเลาะเนื้อเยื่อ, การติดเชื้อของแผลผ่าตัด, การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ท่อนำน้ำเชื้ออสุจิ, เส้นประสาทขนาดเล็กที่มารับความรู้สึกจากผิวหนัง ซึ่งทำให้มีการเจ็บแปลบหรือชา เป็นต้น

ไส้เลื่อนผ่าแล้วเป็นอีก ได้หรือไม่

หลังการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบ ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกทั้งข้างเดิม และเป็นใหม่อีกข้างหนึ่ง สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นซ้ำในข้างเดิมมีหลายอย่างได้แก่ การผ่าตัดที่ทำได้ไม่ถูกต้องตามเทคนิค, การรักษาไม่ได้ครอบคลุมการรักษา ปัจจัยชักนำหรือกำจัดปัจจัยชักนำไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยไม่หยุดสูบบุหรี่ ท้องผูกต้องเบ่งเป็นประจำ ไม่ได้ทำการรักษาต่อมลูกหมากโต เป็นต้น นอกจากนี้เนื้อเยื่อที่ไม่แข็งแรงของผู้ป่วยก็เป็นปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ

โดยมากหากการผ่าตัดไส้เลื่อนครั้งแรกเป็นแบบมาตรฐาน การผ่าตัดแก้ไขโดยใช้การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องก็จะมีข้อได้เปรียบ เพราะการผ่าตัดไส้เลื่อนครั้งแรกที่เลาะเข้าทางด้านหน้าจะทำให้มีเนื้อเยื่อพังผืด จำนวนมาก ตัดเลาะซ้ำลำบาก การส่องกล้องเข้าจากด้านในผนังช่องท้อง จะไม่มีพังผืดมาบดบังทำให้ทำผ่าตัดแก้ไขได้แม่นยำและต้องไม่ลืมรักษาปัจจัยชักนำด้วย จึงจะป้องกันการเป็นซ้ำอีกได้ดีที่สุด

All Information From website, search keyword ‘ไส้เลื่อน’ from google

 

 

 

Oil Refinery

3 June 2008 Leave a comment

โรงกลั่นน้ำมัน
Oil Refinery

กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 7 ราย
อาทิเช่น บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีเออาร์ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท อัลลายแอนซ์ รีไฟน์นิ่ง จำกัด และ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด
ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกลั่นน้ำมัน ดังต่อไปนี้

สัดส่วนการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันหลัก 7 แห่ง ในไทย แบ่งเป็น

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) 5%
เบนซิน 22%
น้ำมันอากาศยาน 11%
ดีเซล 38%
น้ำมันเตา 21%
และเชื้อเพลิงสูญเสีย 3%

ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่น ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2551

ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 122.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อยู่ที่ 29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ติดลบ 93.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาเบนซิน ราคา 131.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บวก 8.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันอากาศยาน ราคา 159.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บวก 37.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาดีเซลราคา 158.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บวก 36.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันเตา ราคา 94.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ติดลบ 28.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2551

ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินสมทบกองทุนต่างๆ
สำหรับน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 10.87 บาทต่อลิตร คิดเป็นสัดส่วน 27%
สำหรับน้ำมัน ดีเซล อยู่ที่ 5.07 บาทต่อลิตร คิดเป็นสัดส่วน 13%

โดยปี 2550 โรงกลั่นน้ำมันหลัก 7 แห่ง
มีกำไรรวมกันประมาณ 54,049 ล้านบาท
เท่ากับผลตอบแทนต่อเงินทุนที่ใช้ก่อสร้างและดำเนินงาน (Return on Capital Employed) 6% ต่อปี
เมื่อเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์แล้ว
โรงกลั่นมีกำไรการกลั่นขั้นต้น 1.08 บาทต่อลิตร
หรือกำไรสุทธิ 36 สตางค์ต่อลิตร

ขัอมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ

Categories: Business