Archive

Archive for February, 2011

โกรธแบบ 2 มาตรฐาน, สรกล อดุลยานนท์

27 February 2011 Leave a comment

โกรธแบบ 2 มาตรฐาน

โดย สรกล อดุลยานนท์

ถ้าไม่เจอแรงกดดันจากพื้นที่จริงๆ 4 ส.ส.ประชาธิปัตย์ จากจังหวัดยะลาและปัตตานี คงไม่ออกมาแถลงข่าวเรื่องเหตุระเบิดรายวันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อัดหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างรุนแรง

และตามน้ำด้วยการเสนอให้ปรับเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

การเล่นบทแรงครั้งนี้ทั้งที่เป็น ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล ในแวดวงการเมืองอ่านกันออกว่า 4 ส.ส. ต้องเจอเสียงโวยจากประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก

ถ้าไม่ออกมาเล่นบทตัวแทนชาวบ้านบอกเล่าถึงความเดือดร้อน และเรียกร้องหาคนรับผิดชอบ เลือกตั้งครั้งหน้าสอบตกแน่

ชาวบ้านคงใช้ตรรกะง่ายๆ คือเลือกพวกคุณเข้าไปแล้ว ไม่เห็นช่วยอะไรได้เลยทั้งที่หัวหน้าพรรคเป็น “นายกรัฐมนตรี”

แบบนี้เลือกคนอื่นพรรคอื่นดีกว่า

ยิ่งใกล้ยุบสภา ยิ่งเข้าใจได้ว่าทำไม ส.ส.ทั้ง 4 คน จึงออกตัวแรงขนาดนี้

หลายประโยคที่ 4 ส.ส.แถลงออกมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่คนอื่นเคยพูดมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่ อาวุธยุทโธปกรณ์ ใส่เข้าไปไม่รู้เท่าไร

แต่ผลลัพธ์สุดท้ายกลับไม่ได้ดีขึ้นเลย

“ให้ไปหมดแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียว คือการปรับเปลี่ยน”

พูดตามหลักการบริหารแล้ว ส.ส.กลุ่มนี้พูดถูกต้อง ที่สำคัญที่สุด คือ ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็น “คำตอบ” ที่ดีที่สุดว่าเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นหรือเปล่า

ที่ผ่านมาคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้สงสัยมานานแล้วว่าสถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นตามที่รัฐบาลและกองทัพบอกกับเราหรือเปล่า

ครับ ถ้า 4 ส.ส.เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน รัฐบาลและกองทัพก็สามารถจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง

แต่ ส.ส.ทั้ง 4 คน เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาล

เขาไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาโจมตีกองทัพเลย เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่า “รัฐบาล” ชุดนี้จัดตั้งในค่ายทหาร

การออกมาโวยจึงมีเพียงคำตอบเดียวคือ สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายกว่าเดิมจริงๆ

และเสียงโวยของชาวบ้านต้องแรงมาก ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ออกโรงแบบนี้

เกมนี้ไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ถ้าจะเกี่ยวข้องก็เพียง ส.ส.กลุ่มนี้พยายามจำกัดวงความรับผิดชอบให้หยุดอยู่แค่ “กองทัพ”

ไม่เลยไปถึง “รัฐบาล” ที่รับผิดชอบเรื่อง “นโยบาย”

เพราะถ้ากล่าวโทษถึงรัฐบาลเมื่อไร คนที่รับผิดชอบก็คือ พรรคประชาธิปัตย์

พรรคที่ ส.ส.ทั้ง 4 คนสังกัดอยู่

อย่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์จะออกมาโวยว่า “การเมืองคือฝ่ายบริหาร กำหนดนโยบาย ทหารก็นำไปสู่การปฏิบัติ”

แทงคืนเหมือนกัน

ดูเหมือนว่า การออกโรงของ 4 ส.ส.ครั้งนี้ จะทำให้ทหารยังเติร์กไม่พอใจ

เขาให้เหตุผลว่าตำแหน่ง ผบ.ทบ.ถือเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพบก

“ใครจะมาดูหมิ่นดูแคลนผู้บังคับบัญชาไม่ได้”

ฟังดูก็เป็นชายชาติทหารดี

เพียงแต่สงสัยเพียงว่าตอนที่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ให้ไปเล่น “ลิเก” บนเวทีพันธมิตร ทำไมทหารยังเติร์กไม่ได้ยิน

จำประโยคนี้ได้ไหมครับ

“นึกไม่ถึงว่าคนอย่าง ผบ.ทบ.จะหลุดคำพูดออกมาว่า อยากรบก็ไปรบเองสิ พูดอย่างนี้มาเป็นทหารทำไม ถ้าเป็นทหารแล้วไม่กล้าปกป้องดินแดนไทยก็ไปเล่นลิเกดีกว่า”

หรือ “อย่ามาพูดว่าทหารก็มีเลือดเนื้อมีพ่อมีแม่ ถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่ลาออกจากผู้บัญชาการทหารบก เป็นไปทำไม”

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้โดนไล่ครั้งแรกครับ

ก่อน 4 ส.ส.ใต้จะไล่ เขาเคยถูก “สนธิ” ไล่มาแล้วครั้งหนึ่ง

แต่ตอนนั้น “ทหารยังเติร์ก” ไม่ได้ยิน หรือได้ยินแล้วไม่โกรธ

หรือไม่กล้าโกรธ

ไม่น่าเชื่อว่าเมืองไทยวันนี้ แม้แต่ “ความโกรธ”

ยังแบ่งเป็น “สองมาตรฐาน” เลย

(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554)

มติชน 26 กุมภาพันธ์ 2554

บริหารแบบ “ฝ่ายค้าน” กลยุทธ์แก้ปัญหาน้ำมันปาล์มของ “อภิสิทธิ์”, สรกล อดุลยานนท์

20 February 2011 Leave a comment

บริหารแบบ “ฝ่ายค้าน” กลยุทธ์แก้ปัญหาน้ำมันปาล์มของ “อภิสิทธิ์” เรื่องที่ “อ๊อกซ์ฟอร์ด” ไม่เคยสอน

โดย สรกล อดุลยานนท์

ฟัง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ให้สัมภาษณ์เรื่อง “น้ำมันปาล์ม” แล้วต้องนึกอยู่พักหนึ่งว่า 2 คนนี้อยู่ฝ่ายไหน

เป็น “ฝ่ายค้าน”

หรือว่า “รัฐบาล”

การไล่บี้กระทรวงพาณิชย์เรื่อง “น้ำมันปาล์ม” ทั้งแพงและขาดแคลนของ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ครั้งนี้ถือเป็นความเก๋าทางการเมืองอย่างมาก

เพราะสามารถเปลี่ยนเสื้อจาก “ผู้ร้าย” มาเป็น “พระเอก” ในพริบตา

“อภิสิทธิ์” เป็น “นายกรัฐมนตรี” ส่วน “สุเทพ” เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ดูแลเรื่อง “น้ำมันปาล์ม” โดยตรง

ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องเข้าคิวซื้อน้ำมันปาล์ม เขาก็ต้องชี้นิ้วมาที่ “รัฐบาล”

คนยืนข้างหน้าสุด คือ “อภิสิทธิ์”

ถัดมา คือ “สุเทพ”

แต่ใครจะไปนึกว่าเพียงเผลอกะพริบตาแวบเดียว “อภิสิทธิ์-สุเทพ” จะกระโดดผึงเปลี่ยนมายืนฝั่งชาวบ้าน แล้วหันกลับชี้นิ้วไปที่ “พรทิวา นาคาศัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ยืนอยู่ลำดับที่ 3

“พรทิวา” ที่ยืนงงๆ อยู่ลำดับที่ 3 ในฝั่งรัฐบาลกลายมาเป็นคนยืนเด่นอยู่หน้าสุดของฝั่ง “ผู้ต้องหา” ทำน้ำมันปาล์มขาดแคลน

“แมน” จริงๆ

ถามว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบเรื่องการนำเข้าน้ำมันปาล์มใช่หรือไม่

ตอบว่า”ใช่”

ถามว่ามีข่าวเรื่อง “ใต้โต๊ะ” ที่กระทรวงพาณิชย์ไหม

ตอบว่า “มี”

แต่ถ้าถามให้ลึกลงไปอีกว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปล่อยให้สต๊อคน้ำมันปาล์มในประเทศเหลืออยู่ต่ำมาก การอนุมัติให้นำเข้าแต่ไม่กำหนดเวลา และปล่อยให้ปัญหาบานปลายใหญ่โตขนาดนี้

ใครรับผิดชอบ

ไม่ใช่ผู้นำองค์กรหรือครับ

น้ำมันปาล์มไม่ได้เพิ่งขาดตลาดเพราะสื่อทุกแขนงตีข่าวเรื่องนี้มานานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ “ผู้นำ” ยังสั่งการอยู่ในห้องแอร์ ไม่เคยมาไล่ปัญหาแบบนักบริหารจัดการเลย

นักบริหารที่ดีถ้าเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน

เขาจะเรียกประชุม ไล่งานอย่างละเอียด ถ้าส่วนไหนมีปัญหาก็ส่งคนเข้าไปกำกับดูแลละเอียด กำหนดขั้นตอนและเวลาชัดเจน

อะไรต้องเชือดก็เชือด

แต่ต้องคุยกันเงียบๆ ในห้องก่อน เพราะเป็น “ทีม” เดียวกัน

จากนั้นค่อยออกมาแถลงข่าวถึงวิธีการแก้ปัญหา

แต่ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ใช้วิธีออกมาตะโกนข้างนอก แล้วชี้นิ้วโยนความผิดไปที่ “ลูกน้อง” เลย

แบบนี้ไม่ใช่ “นักบริหาร” ครับ

แต่เป็น “นักการเมือง” ที่คิดเรื่องคะแนนเสียงอย่างเดียว

ทั้งที่ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดในเรื่องนี้

“อภิสิทธิ์-สุเทพ-พรทิวา” ทำงานร่วมกันมา 2 ปี รู้มือกันอยู่ว่าใครเก่งแค่ไหน สกปรกแค่ไหน ทำงานเป็นแค่ไหน ฯลฯ

ผู้บริหารที่เก่งต้องรู้ว่าจะใช้งานใคร และควรกำกับดูแลอย่างไร

“เก่ง แต่ขี้โกง” จัดการอย่างไร “ไม่เก่ง แต่มีหน้าที่รับผิดชอบ” จะจัดการอย่างไร ฯลฯ

ไม่ใช่พอเกิดปัญหาขึ้นมา ก็โยนให้ลูกน้องคิดและดำเนินการเองทั้งหมด

ถ้าดีก็รับเองคนเดียว

แต่พอผิดพลาดขึ้นมากลับโยนความรับผิดชอบให้ “ลูกน้อง”

ผมไม่เกี่ยว ผมสั่งการไปแล้ว แต่ลูกน้องทำผิดพลาดเอง ฯลฯ

ไล่จับผิด “ลูกน้อง” เหมือนตัวเองเป็น “ฝ่ายค้าน”

บางทีถ้าไม่มีใครสะกิด เขาอาจเผลอยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ “พรทิวา” ก็ได้

“อภิสิทธิ์-สุเทพ” เป็นรัฐบาลมากว่า 2 ปีแล้ว

ไม่น่าเชื่อว่าวิญญาณ “ฝ่ายค้าน” ยังไม่ออกจากร่างเลยครับ

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554)

มติชน, 19 กุมภาพันธ์ 2554

เจาะใจ “คำ ผกา” หน้ากระดาษสู่หน้าจอ

19 February 2011 Leave a comment

เจาะใจ “คำ ผกา” หน้ากระดาษสู่หน้าจอ

โดย วิภาวี จุฬามณี

ไม่ว่าจะด้วยรัก หรือชัง ผู้หญิงคนนี้ก็เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าจะในฐานะนักเขียน คอลัมนิสต์ นักวิจารณ์ ผลงานของเธอล้วนจัดจ้าน ร้อนแรง สะกิดให้หลายคนต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่

“ลักขณา ปันวิชัย” หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม “คำ ผกา” เกิดและเติบโตที่บ้านสันคะยอม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทำงานเป็นครูสังคมศาสตร์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น แต่แทนที่จะได้ใบปริญญา กลับได้ผลงาน “จดหมายจากเกียวโต” เป็นคอลัมน์แรกที่ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ในนามปากกา “ฮิมิโตะ ณ เกียวโต” ตามด้วย “กระทู้ดอกทอง” ผลงานที่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้จัก “คำ ผกา”

นอกจากนี้ ยังเคยเปลื้องผ้าถ่ายแบบให้กับนิตยสารจีเอ็ม เพื่อพิสูจน์ความคิดที่ว่า การแก้ผ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิง

ทุกวันนี้ “คำ ผกา” กลายเป็นคอลัมนิสต์ขายดี มีผลงานอยู่ในนิตยสารหลากหลายฉบับ โดยเฉพาะคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์ สังคม การเมือง แบบแสบๆ คันๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นคอลัมนิสต์ที่มีคนเขียนจดหมาย (ทั้งชมทั้งด่า) มากที่สุด

ล่าสุดเธอรับหน้าที่เป็นพิธีกรรายการ “คุยเล่นเห็นต่าง” ชวนคนดู วิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ในสังคมอย่างที่เธอถนัด ออกอากาศเทปแรกทาง “วอยซ์ ทีวี” ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ก.พ. 2554

ความรู้สึกต่อประสบการณ์ครั้งใหม่ จริงหรือไม่ที่ใครๆ บอกว่าเธอ “แรง” แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้านักวิจารณ์อย่างเธอ กลายเป็นคนถูกวิจารณ์เสียเอง

นี่คือคำตอบของผู้หญิงที่ชื่อ “คำ ผกา”

– เสียงตอบรับหลังจากรายการ “คิดเล่นเห็นต่าง” ออกอากาศไปเทปแรก

ในเฟซบุ๊กคนที่รู้จักกันจะช่วยแชร์ๆ ความคิดกัน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พี่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่พี่ออกมาจัดรายการแบบนี้ เราไม่ได้ต้องการเป็นศาสดา พูดทุกอย่างแล้วถูกต้องหมด ก็แค่อยากจะยั่วให้คนเอาประเด็นที่เรานำเสนอไปคิดต่อเท่านั้นเอง ก็เหมือนกันกับงานเขียน

– งานพิธีกรมีอิสระเท่ากับงานเขียนหรือเปล่า

ที่นี่ก็เต็มที่เหมือนกัน ไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย สามารถพูดได้ทุกอย่าง พูดได้ทุกเรื่อง เพียงแต่ว่าวิธีการสื่อสารต่างกัน เพราะอันนี้เราเหมือนคุยกันกับคนดู แต่ในงานเขียนเหมือนเราอยู่คนเดียวมากกว่า

– ทำไมถึงรับงานพิธีกร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าไม่ดูทีวีด้วยซ้ำไป

ก็เชื่ออย่างนั้นมาตลอด แล้ววอยซ์ทีวีก็ติดต่อพี่มา 3 ปี พยายามคุยๆๆ เราก็ปฏิเสธมาตลอด แต่พอได้เข้ามาคุยในออฟฟิศ เรารู้สึกประทับใจกับพี่ที่เป็น บ.ก. แล้วก็เจอสตูดิโอที่นี่ รู้สึกว่าทุกคนทำงานเป็นมืออาชีพมากๆ และเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ มีความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ

ได้คุยกับทีมงานแล้วเรารู้สึกว่าอยากจะทำงานด้วย เพราะเขาไม่ได้อยู่ในไวยากรณ์ของการทำโทรทัศน์แบบเดิมๆ อีกต่อไป อย่างเคยไปออกรายการทีวีแล้วพี่ใส่เสื้อแขนกุด เขาก็ไม่ให้ออก พูดอ้อมไปอ้อมมาว่า เอ่อ …มีเสื้อคลุมน่ารักๆ มั้ยค่ะ ก็รู้สึกว่า ถ้าทำรายการทีวีแบบนี้พี่ก็ไม่อยากทำ แต่ที่วอยซ์ทีวีให้เสรีภาพที่จะนำเสนอเนื้อหาในแบบที่เรายังเป็นตัวของตัวเอง เป็นความท้าทายอีกอันหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าอยากจะลองดู

– เริ่มสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสังคม การเมือง ตั้งแต่เมื่อไหร่

รู้สึกว่าใครๆ ก็ต้องสนใจเรื่องสังคม เพราะว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างน้อยคนก็อยากรู้ว่าทำไมไข่ถึงแพง ทำไมน้ำมันถึงขาดตลาด นี่ก็เป็นเรื่องสังคมแล้ว มันอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนแล้ว อย่างตอน นี้ไทยรบกับเขมร มันจะมีผลกระทบกับเราอย่างไร หรืออย่างน้อยเราจะ รู้สึกว่า ไปรบกันแล้วใครได้อะไร ประชาชนที่อยู่ชายแดนได้รับความเดือดร้อน แล้วเราจะรบกันเพื่ออะไร ก็เป็นคำถามง่ายๆ

– ทราบว่าแรงบันดาลใจหนึ่งคือเรื่องสั้น “จนตรอก” ของชาติ กอบจิตติ

มีคนถามว่ามีหนังสืออะไรเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้เด็กที่เคยอ่านการ์ตูนมหาสนุก การ์ตูนขายหัวเราะอยู่ดีๆ มาสนใจเรื่องชนชั้น เรื่องความยากจน เรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เราก็บอกว่า มีหนังสือจนตรอก ของคุณชาติ กอบจิตติ ซึ่งมันก็อยู่ในเทรนด์ของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในสมัยนั้น ที่พูดถึงครอบครัว คนจนมาก อยู่ในสลัม พ่อตกงาน เมาเหล้า ไม่รู้จะกินอะไร มันเผชิญกับความ ลำบากมากของชีวิต

เราอ่านในวัยๆ หนึ่ง ก็ทำให้เราตั้งคำถามว่า เฮ่ย…เป็นคนเหมือนกัน ทำไมครอบครัวนี้มีตังค์ ครอบครัวนี้จน มันเกิดอะไรขึ้น เริ่มตั้งคำถามว่า การที่คนหนึ่งจน คนหนึ่งรวย มันเกิดขึ้นจากอะไร เกิดจากกรรมเก่า เกิดจากความขี้เกียจรึเปล่า เกิดจากการขาดโอกาสในสังคมรึเปล่า หรือโครงสร้างในสังคมที่มีอยู่มันไม่เป็นธรรม

– การไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ทำให้นิสัย-ความคิดเปลี่ยนไปจากเดิมไหม

ก็เป็นไปได้ มันทำให้เราหันกลับมามองตัวเองด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น หลงตัวเองน้อยลง เหมือนคนได้ออกไปนอกกะลา แต่มันก็ไม่แน่ บางคนเมื่อไปอยู่ไกลบ้านจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นชาตินิยม อันเกิดจากการอยู่ห่างจากชาติ บ้านเมือง เช่น คนไทยในต่างชาติจำนวนมากจะต้องไปวัดไทย ต้องเอาลูกไปเรียนรำไทย เอาลูกไปสวดมนต์ให้ได้ ก็จะยิ่งรู้สึกว่า ยิ่งอยู่ไกลบ้านเท่าไหร่ยิ่งรักบ้านมากขึ้นเท่านั้น และพยายามจะปกป้องว่าเมืองไทยไม่ได้เป็นอย่างที่คนข้างนอกเขาว่ากันนะ บ้านเรามีอะไรดีบ้าง ทำตัวเป็นทูตสันถวไมตรีตลอดเวลา

แต่สำหรับตัวเอง การได้ไปอยู่ไกลบ้าน ทำให้เราหันกลับมามองตัวเราเองด้วยสายตาของคนข้างนอก ปกติเราก็หลงตัวเองไง เรารู้สึกว่าบ้านเราก็ดีนะ ของกินก็อร่อย วัดก็สวย ซึ่งจริงๆ แล้วบ้านเมืองอื่นเขาก็สวยเหมือนกันนะ พี่ยังนึกอยู่เลยว่า เรามีปมด้อยอะไรหรือเปล่า ทำไมต้องชมตัวเองตลอดเวลา คนที่อยากให้คนอื่นมาชม มันเหมือนคนมีปมด้อยใช่ไหมคะ (หัวเราะ)

ก็เลยรู้สึกว่าคนไทยต้องมีปมด้อย หรือที่เรียกว่า “Identity crisis” คือลึกๆ แล้วน้อยเนื้อต่ำใจอะไรก็ไม่รู้ พอเด็กไทยได้เหรียญทองโอลิมปิกก็ดีใจจะเป็นจะตาย ทำไมเราต้องดีใจขนาดนั้นด้วยเหรอ ทำไมเรามีความกระหาย ใคร่อยากได้การยอมรับจากโลกมากถึงขนาดนั้นเลยเหรอ แล้วเราต้องภูมิใจในความเป็นตัวเอง ทำไมเราต้องภูมิใจในความเป็นตัวเอง มันตลกอ่ะ

– ที่ผ่านมาเคยวิจารณ์คนที่สังคมนับถือ อย่างพระไพศาล วิสาโล น.พ.ประเวศ วะสี หรือ ว.วชิรเมธี

แล้วยังไงล่ะ คำถามคือ แล้วทำไมเราจะวิจารณ์ไม่ได้ ในเมื่อเราเห็นว่าคำพูดนี้ผิดปกติ คำพูดนี้ไม่ชอบมาพากล ไม่ได้แปลว่าดีหรือเลว แต่ว่าจาก วิธีมองโลกแบบของเรา เรารู้สึกว่าพูดแบบนี้มันไม่ถูก หรืออย่างน้อยๆ มันมีประเด็นที่ต้องได้รับการตั้งคำถาม พี่ก็แค่ตั้งคำถาม คนไม่ใช่เทวดาจะได้มีวาจาสิทธิ์ พูดอะไรก็ถูกไปหมด

ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยรู้สึกว่า พอคนนี้เป็นบุคคลที่น่านับถือแล้วต้องเอาไว้บนหิ้ง เอาไว้บนหิ้งก็กลายเป็นเทพเจ้า เป็นสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ กลายเป็นว่าพูดอะไรมาสังคมก็พร้อมที่จะเชื่อ มันก็เป็นเรื่องที่พี่รู้สึกว่าผิดปกติอีกนั่นแหละว่า เฮ่ย…ไม่ใช่สิ ทุกคนในโลกนี้มีความเท่ากัน มีสิทธิที่จะได้รับคำชมคำด่า มีสิทธิที่จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเท่าเทียมกัน

– เคยบอกว่า จริงๆ แล้วอยากจะค้านกับท่านพุทธทาส ด้วยซ้ำ

ก็ทำไมล่ะคะ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่มันมีอิทธิพลความคิดของท่านพุทธทาสที่มีต่อปัญญาชนไทย หรืออาจจะหลายอันก็ได้ และก็มีคนวิจารณ์งานของท่านพุทธทาสเยอะแยะ เพียงแต่ว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่มีคนอ่าน แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบมีเทวดา ชอบมีรูปเคารพ ท่านพุทธทาสก็เป็นมนุษย์ เป็นคนธรรมดาที่ไปบวช และนำเสนอ แนวคิดอันหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งใหม่ในสังคม ณ ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ท่านค้นพบ หรือแนวคำสอนความคิดของท่าน จะต้องเป็นจริง เป็นอมตะนิรันดร์กาล

เมื่อเวลาผ่านไป คำสอนนั้นมันจะตีความอย่างไร มันถูกนำไปใช้แบบไหน มันก็เป็นสิ่งที่เราควรจะกลับมาตั้งคำถามใช่ไหมค่ะ แล้วพี่ก็แปลกใจว่า ทำไมแค่บอกว่าจะวิจารณ์พุทธทาส ทำไมเป็นเรื่องใหญ่ ท่านพุทธทาสไม่ใช่คนเหรอ ท่านก็เป็นคนอ่ะ เป็นพระรูปหนึ่ง พี่ว่าคนไทยผิดปกติอ่ะ

– รู้สึกอย่างไรกับคำวิจารณ์

ก็รู้สึกว่า การต้องถูกวิจารณ์จากคนอ่าน เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะฉะนั้นจึงไม่เคยจะไปชั่งน้ำหนักว่า คำวิจารณ์ชิ้นไหนแรง ชิ้นไหนเบา ไม่เคยเก็บเอามาคิด เพราะรู้สึกว่า ก็นี่ไง สังคมที่เราปรารถนาจะเห็น คือสังคมที่คนถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอข้อถกเถียงของตัวเองมาในที่สาธารณะ มันไม่มีสิ่งที่ถูกที่สุด ไม่มีสิ่งที่ผิดที่สุด ในโลกนี้มันไม่มีสิ่งที่เป็นสัจธรรมอ่ะ การอยู่ของคน ของสังคม เคลื่อนไหวตลอดเวลา มนุษย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความคิดใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา มันต้องมีพลวัตทางความคิด มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรม

เมื่อไรที่คุณคิดว่า คนๆ นี้ประกาศสัจจะเนี่ย อันตราย ถ้าคนคิดว่าพระไพศาลเป็นคนดี ทุกสิ่งที่พระไพศาลพูดเป็นสัจจะ อันนี้อันตราย ถ้าคิดว่าท่านพุทธทาสเป็นคนดี ทุกสิ่งที่ท่านพุทธทาสพูดเป็นสัจจะ อันนี้สิคะ ที่เป็นอันตรายต่อสังคม แล้วก็จะต้องกลัวมาก ถ้าสักวันนึงมีคนคิดว่า คำพูดเราเป็นสัจจะ นี่เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด ในโลกนี้ไม่มีใครประกาศสัจจะ ไม่มีใครเป็นศาสดา ทุกคนเพียงแต่นำเสนอข้อถกเถียงของตัวเองออกมา แล้วสังคมก็ใช้วิจารณญาณ คนก็คิดเอาเองว่า อะไรเหมาะ ไม่เหมาะกับตัวเอง ตัวเองเลือกจะเชื่ออะไร มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล

– ประกาศตัวเองชัดเจนว่าเป็นคนเสื้อแดง

ใช่ ประกาศมานานแล้ว แล้วก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทุกคนต้องตื่นเต้น ทุกคนควรจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกตินะ คิดว่าคนที่ไม่เป็นแดงเนี่ยผิดปกติ (หัวเราะ) แล้วคุณเป็นอะไรอ่ะ คุณจะไปเอาเขาพระวิหารคืนเหรอถ้าคุณไม่เป็นสีแดง คุณจะเอารัฐบาลเผด็จการเหรอ คุณจะเอารัฐประหารเหรอ ต้องไปอ่านบทความของ สลาวอย ชีเชค ที่มติชนออนไลน์ เอาเวอร์ชั่นแปลเป็นภาษาไทยมาลงว่า ทำไมถึงกลัวการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในโลกอาหรับ ทั้งๆ ที่โลกเสรีนิยมต้องการประชาธิปไตย

แล้วทำไมการที่คนๆ หนึ่งประกาศว่า ยืนอยู่เคียงข้างประชาธิปไตย ยืนอยู่เคียงข้างแนวคิดเสรีนิยม จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมาตั้งคำถามเราว่า ทำไมเป็นแดง คุณคนถามนั่นแหละ กลับไปถามตัวเองว่า ทำไมไม่เป็น สีแดง และทำไมต้องตกใจ ว่า มีคนประกาศว่าเป็นสีแดง เพราะพี่แค่ ซิมเพิลมาก เรายืนอยู่เคียงข้างเสรีนิยมประชาธิปไตย ง่ายมากเลย ไม่อย่างนั้นคุณต้องกลับไปถามว่าทำไมอเมริกาเป็นเสรีนิยม ทำไมอเมริกาเป็นประชาธิปไตย

– ไม่กลัวจะถูกต่อต้านเหรอ

กลัวอะไร กลัวไม่มีจะกินเหรอ กลัวคนไม่จ้างเหรอ ก็ไม่เข้าใจว่า กลัวอะไร กลัวเพื่อนไม่รัก แล้วทำไมล่ะ ชีวิตนี้ไม่มีเพื่อนอยู่ไม่ได้เหรอ ไม่เข้าใจว่า ทำไมคนมันอ่อนแอขนาดนั้นเลยเหรอ คนมันไม่กล้าที่จะพูดออกมาดังๆ ว่าตัวเองเชื่ออะไร ตัวเองคิดอะไร แล้วทำไมสังคมนี้ถึงสร้างมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวออกมามากถึงขนาดนี้ ไม่ใช่คำถามที่ต้องถามเราอ่ะ เป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับไปถามตัวเอง ย้อนกลับไปถามสังคมไทยทั้งหมด

– มองกันว่า คนที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้า ไม่ใช่ปัญญาชนอย่างในอดีต

Who count! ใครไปนับว่าเป็นรากหญ้ากี่คน ชนชั้นกลางกี่คน ทุกคนพูดกันโดยทึกทักเอาเอง ยังไม่มีงานวิจัยออกมา ยังไม่มีการนับออกมาว่ามีกี่หัว รายได้เฉลี่ยเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นก็คิดกันเอาเองว่าเป็นชาวบ้าน แล้วพี่ก็ตอบไม่ได้ว่าเป็นชาวบ้านหรือเปล่า คุณต้องลงไปสัมผัสด้วยตัวเอง แล้ววันหนึ่งก็คงจะต้องมีการทำวิจัยว่า สรุปแล้วคนกลุ่มนี้เป็นใครกันแน่ พี่ไม่ชอบเลย เบื่อมากการที่ใครจะมาตั้งคำถามบนสมมติฐานว่า นี่เป็นชาวบ้าน นี่เป็นชนชั้นกลาง ถามว่าคุณเอาความเป็นชาวบ้านมาจากไหน เอาความเป็นชนชั้นกลางมาจากไหน คุณไปนับหัวเขาเหรอ คุณไปถามรายได้เขาเหรอ สุดท้ายแล้วเขามาจากจังหวัดไหนบ้าง เขามีอาชีพอะไร ก็สักแต่ว่าพูดกันไป ไม่ได้มีข้อมูลอะไรรองรับเลย

– ส่วนหนึ่งที่ทำให้คำ ผกา เป็นที่พูดถึง คือเป็นผู้หญิงที่พูดเรื่องเซ็กซ์อย่างเปิดเผย

แล้วทำไมเราจะไม่เปิดเผย ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงไม่เปิดเผย (หัวเราะ) ถ้าคนอื่นไม่เข้าใจพี่ พี่ก็ไม่เข้าใจคนอื่นเหมือนกัน เพราะพี่มองว่าเรื่องเซ็กซ์มันเหมือนเรากินข้าว เพียงแต่ว่าการพูดเรื่องเซ็กซ์ในแต่ละสังคมมันถูกกำกับด้วยอะไร และเรายอมที่จะถูกกำกับด้วยข้อจำกัดของสังคมที่เราสังกัดอยู่หรือเปล่า แล้วถ้าเราไม่ยอมอยู่ในกำกับอันนั้น เราจะทำอะไรได้ ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นไหม พร้อมที่จะอธิบายการกระทำของเราต่อสังคมไหม ก็แค่นี้เอง

– ถ่ายนู้ดให้จีเอ็ม เพราะต้องการพิสูจน์ตรงนี้ด้วย

พี่ก็แค่อยากจะบอกว่า มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยที่ผู้หญิงแก้ผ้า พี่ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนไปกว่านี้เลย ก็แค่อยากจะบอกว่า ถ้าผู้หญิงแก้ผ้ามันไม่จำเป็นต้องบอกว่า แก้ผ้าหาเงิน แก้ผ้าใช้หนี้ให้แม่ แก้ผ้าเพราะว่าเป็นงานศิลปะ แก้ผ้าเพราะว่าอยากต่อสู้ให้พีต้า เพื่อสิทธิสัตว์ พี่แค่อยากจะบอกว่า การแก้ผ้าของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ทำได้ ก็แค่นั้น

– แล้วที่ไปถ่ายให้ชุดชั้นใน TRY ARM

ก็ไม่มีอะไร เขาต้องการใครสักคนหนึ่งที่สังคมรู้จักมาโปรโมตผลิตภัณฑ์ของ TRY ARM แล้วบังเอิญว่าง แล้วก็พอจะจัดการให้เขาได้ ก็แค่ทำเพื่อเป็นแคมเปญรณรงค์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องที่ทำได้ภายในครึ่งวันอ่ะ แล้วก็รู้สึกว่า ทำไมเราไม่ทำล่ะ ถ้ามันช่วยทำให้วาระการต่อสู้ของกรรมกรกลุ่มนี้มีพลังมากขึ้น พี่ก็ยินดีจะทำ

– โดนวิพากษ์วิจารณ์เหมือนตอนถ่ายให้จีเอ็มไหม

ก็มีบ้าง แต่ไม่สนใจอยู่แล้ว (หัวเราะ) มองว่า เรารู้ว่าเราทำอะไร แล้วพี่ก็ไม่ได้ซีเรียสว่านม ก้น จิ๋ม ของพี่มันเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ ไม่ได้คิดว่า นมตัวเองมีค่าขนาดจะต้องปิดไม่ให้ใครเห็น หรือจิ๋มตัวเองเป็นมาสเตอร์พีซ ต้องปิดไม่ให้ใครเห็น บ้ารึเปล่า (หัวเราะ) มันก็แค่จิ๋ม ก็แค่นมอ่ะ ก็ทำไมล่ะ ไม่ได้รู้สึกว่า ร่างกายเรามันเอ็กซ์คลูซีฟขนาดนั้น มันก็ไม่ได้ต่างจากของผู้หญิงคนอื่น

– หนึ่งวันของ คำ ผกา ทำอะไรบ้าง

ก็ตื่นมาเหมือนคนทั่วไป อาบน้ำสระผม ทำอาหาร กินข้าว ทำงาน เขียน หนังสือ อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เจอเพื่อน กินเหล้ากินไวน์ สังสรรค์ ช็อปปิ้ง มีไปนวดหน้า ทำเลเซอร์ ดูแลผิวกระชับรูขุมขน ทำกิจกรรมเหมือนผู้หญิงทั่วประเทศไทยนี่แหละค่ะ ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ทำเล็บ แว็กซ์ขนหน้าแข้ง ถ้าว่าง (หัวเราะ) โดยมากก็ทำงาน ส่งต้นฉบับให้ทันเดดไลน์

– ถ้ามีคนทาบทามให้ถ่ายนู้ดอีกจะถ่ายไหม

ถ่าย ถ้าได้เงินค่าตัวเป็นที่พอใจ จะถ่ายเพื่อเงินแล้วคราวนี้ (หัวเราะ)

– แล้วมีติดต่อมาอีกไหม

ไม่มีหรอกค่ะ สงสัยคราวนี้ต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะได้ถ่าย (หัวเราะ)

(ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554)

มติชน, 18 กุมภาพันธ์ 2554

เบี้ยเดินหมาก, นิธิ เอียวศรีวงศ์

16 February 2011 Leave a comment

เบี้ยเดินหมาก, นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมไม่ทราบหรอกว่า เหตุใดจึงเกิดการปะทะกันกับกัมพูชาขึ้นที่ชายแดน ใครจะได้อะไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมก็เดาไม่ออก ใครในที่นี้รวมถึงฝ่ายกัมพูชา ซึ่งดูเหมือนมีเอกภาพในหมู่ชนชั้นนำกว่าไทย และฝ่ายไทยซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มอำนาจหลากหลาย เช่นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีหลายพรรค ไปจนถึงกองทัพ ซึ่งก็มีกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายในกองทัพเองหลายกลุ่ม และไปจนถึงอำนาจนอกระบบ ซึ่งก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียวอีกนั่นแหละ

ผมเพียงแต่ค่อนข้างแน่ใจว่า ไม่ว่าเหตุปะทะที่ชายแดนจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายกลุ่มอำนาจอันหลากหลายของไทย ต่างรู้ดีว่าการจุดชนวนปะทะกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนคลี่คลายไปทางหนึ่งทางใดได้ ทุกฝ่ายน่าจะรู้อยู่แล้วว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นจริงในปัจจุบันทำให้ไม่มีทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะสามารถตกลงข้อพิพาทเรื่องเขตแดนให้เป็นไปตามใจชอบของตนแต่ฝ่ายเดียวได้

แม้แต่การปลุกระดมให้ทำสงครามอย่างที่แกนนำพันธมิตร บางคนใช้ ก็รู้กันอยู่แล้ว แม้แต่แก่ตัวผู้ปลุกระดมเองว่า ไม่มีทางที่กัมพูชาหรือไทยจะชนะขาดได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นการปลุกระดมไปสู่สงคราม จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสงคราม แต่เพื่อการเมืองภายในของพันธมิตร เองมากกว่า

กล่าวโดยสรุป ก็คือ เหตุปะทะกันที่ชายแดน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรสักอย่างในการเมืองภายใน ไม่ของกัมพูชา ก็ของไทยเอง หรือของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การเล่นการเมืองอย่างสุ่มเสี่ยงเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะ”บานปลาย”ได้ง่าย อีกทั้งน่ากลัวแก่ไทยเสียยิ่งกว่ากัมพูชาด้วย เพราะอย่างน้อยภาวะการนำของกัมพูชาในขณะนี้ดูจะเป็นเอกภาพ จะหยุดหรือเบี่ยงประเด็นไปเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่ในเมืองไทยเป็นตรงกันข้าม คือขาดเอกภาพอย่างยิ่ง ผมอยากจะพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ชนชั้นนำไทยจะแตกร้าวกันอย่างหนักเท่าเวลานี้ ไม่ว่าจะมองไปที่เครือข่ายชนชั้นนำตามจารีต, กองทัพ, นักการเมือง, ทุน, นักวิชาการ, หรือแม้แต่คนชั้นกลางด้วยกันเอง

ความ ไม่เป็นเอกภาพของชนชั้นนำนั้นมีข้อดีในตัวเองด้วยนะครับ อย่างน้อยก็เกิดการถ่วงดุลอำนาจกันบ้าง แต่ในวิกฤตการณ์บางอย่าง ก็กลับกลายเป็นความอ่อนแอ ทั้งสังคมและชนชั้นนำจะตกเป็นเหยื่อของนักปลุกระดม (demagogue)ได้ง่าย

อย่างไร ก็ตาม ผมขออนุญาตมองโลกในแง่ดีว่า ภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้น กลับมีความสุ่มเสี่ยงในเมืองไทยน้อยลง เพราะเกิดปัจจัยใหม่ในการเมืองไทย นั่นคือสังคมโดยรวมมีสติเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือการแย่งอำนาจกัน ด้วยเล่ห์กระเท่ห์ของชนชั้นนำอย่างหมด ตัวเหมือนที่เคยเป็นมา (เช่นนักศึกษาไม่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสงคราม อย่างที่นักศึกษาเคยทำเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)

ผมอยากวิเคราะห์ความมีสติของสังคมดังที่กล่าวนี้ว่า มาจากอะไรบ้าง เพื่อจะได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเอง

1 การปลุกระดมด้วยลัทธิชาตินิยมแบบระรานของแกนนำพันธมิตร ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ฝูงชนที่ร่วมชุมนุมมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากนัก จึงไม่เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตนเองได้สะดวก

อันที่จริงชาตินิยมแบบระรานนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ทหารใช้กันมานาน เพราะให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองที่ไม่ชอบธรรมของกองทัพ แต่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดนี้ในครั้งนี้ จึงทำให้กลุ่มอำนาจในกองทัพบางกลุ่มไม่อาจใช้ชาตินิยมแบบระรานนี้ ไปยึดอำนาจทางการเมืองมาอยู่ในกลุ่มของตนได้

2 เหตุใดคนไทยจำนวนมาก จึงไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดของลัทธิชาตินิยมแบบระราน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เรียนรู้แล้วว่า ความเข้มแข็งของชาตินั้นไม่ได้มาจากพื้นที่อันกว้างขวางของดินแดน บูรณภาพทางดินแดนมีความสำคัญก็จริง แต่ยืดหยุ่นได้มากกว่าหนึ่งตารางนิ้ว ในการประเมินความเข้มแข็งของชาติ จำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นๆ เข้ามาบวกลบคูณหารด้วย เช่นปัจจัยทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, การรวมกลุ่มระหว่างประเทศ, สถานะของไทยในการเมืองโลก, และอนาคตอันยาวไกลของบ้านเมือง ทั้งหมดเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ และทหารก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมของชาติ มากกว่าคนกลุ่มอื่นแต่อย่างใด

3 ถ้าคนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คิดอย่างที่ผมว่าไว้ในข้อสอง ก็ หมายความว่ากองทัพต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนในสังคมไทยใหม่ ถ้ากองทัพยังอยากจะดำรงอยู่อย่างมีความสำคัญในสังคมอยู่บ้าง การปกป้องชาติอาจทำได้ด้วยกำลังทหาร แต่กำลังทหารอย่างเดียวไม่พอ และไม่สำคัญที่สุดด้วย มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งเราต้องใส่ใจมากกว่าความแข็งแกร่งของกองทัพ ถ้ากองทัพคิดว่าตัวจะมีบทบาทเหมือนเดิมตลอดไป

ในไม่ช้ากองทัพเอง นั่นแหละจะกลายเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนมากเห็นว่าเป็น”ส่วนเกิน”ของชาติ และหนักไปกว่านั้นคืออาจเห็นว่าเป็น”ตัวถ่วง”ก็ได้

4 สิ่งที่เคยเป็น “อาญาสิทธิ์” ทุกชนิดในสังคมไทย ถูกท้าทาย, ถูกตั้งคำถาม, ถูกตั้งข้อสงสัย, หรือถูกปฏิเสธ ไปหมดแล้ว ในสภาพเช่นนี้ ไม่มีชาติใดสามารถรบกับใครได้หรอกครับ อาจปะทะกันที่ชายแดนได้ แต่รบกับเขานานๆ ชนิดที่เรียกว่า “สงคราม” ไม่ได้

ผมขอยกตัวอย่างจากรายการวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ที่ผมเพิ่งได้ยินในเชียงใหม่ เป็นรายการสนทนาที่โฆษกท่านหนึ่งพูดในวันที่มีการปะทะกันที่ชายแดน และมีทหารเสียชีวิตว่า ถึงจะเสียใจต่อความสูญเสียของครอบครัวทหารท่านนั้น แต่คิดย้อนหลังไปไม่กี่เดือนก่อนหน้า ที่ทหารยิงประชาชนซึ่งไม่ได้ถืออาวุธล้มตายจำนวนมากแล้ว ก็มีความรู้สึกพิพักพิพ่วน ด้านหนึ่งก็คือเสียใจ, โกรธแค้นกัมพูชา เพราะอย่างน้อยก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงก็เป็นคนไทยด้วยกันเช่นเดียวกัน

ความหมายของเขานั้น เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ไว้ก็คือ จะมีกองทัพใดในโลกนี้หรือครับที่สามารถทำสงครามสมัยใหม่ได้ หากประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกอย่างนี้กับทหาร สงครามสมัยใหม่นั้นเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) คือไม่ได้รบกันที่แนวหน้าอย่างเดียว แต่รบกันทั้งสังคม ไม่เหมือนสงครามสมัยโบราณ ที่มีแต่ทัพของอัศวินรบกัน โดยประชาชนทำมาหากินและหลบหลีกภัยสงครามไปตามเรื่อง ใครแพ้ใครชนะก็ไม่เกี่ยวกับตัว เพราะนายเก่าหรือนายใหม่ก็ไม่สู้จะต่างอะไรกันนัก

5 ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากก็คือ เสียงของคนชายแดนบ้านภูมิซรอล, บ้านภูมะเขือ, ฯลฯ ดังกว่าที่เสียงของคนชายแดนเคยดังมา ในการปะทะกันด้วยอาวุธทุกครั้งของไทย ทีวีไทยเอาผู้ใหญ่บ้านจากหมู่บ้านแถวนั้น มานั่งสนทนากับนักวิชาการ ทีวีอีกหลายช่องไปถ่ายภาพความโกลาหลของประชาชนชายแดน ที่ต้องอพยพหลบภัย มานอนกันเกลื่อนกล่นในที่ซึ่งราชการตั้งเป็นศูนย์อพยพ

มีน้ำตาของแม่ที่พลัดหลงกับลูก มีคำให้สัมภาษณ์ของคนที่ต้องทิ้งสมบัติข้าวของและวัวควายไว้ โดยไม่มีคนดูแล มีอารมณ์ความรู้สึกของความสับสนวุ่นวาย ที่ต่างไม่สามารถจัดการกับชีวิตของตนได้ และแน่นอนมีความเสียหายทางวัตถุและชีวิตซึ่งเกิดขึ้น

เสียงของคนเล็กๆ ดังมากขึ้นในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว ทั้งจากเอ็นจีโอ, นักวิชาการ, และการเคลื่อนไหวของพวกเขาเอง สงครามหรือปัญหาระหว่างประเทศเคยเป็นพื้นที่หวงห้าม ที่ชนชั้นนำตัดสินใจกันเอง (อย่างมีเอกภาพ หรือไม่มีเอกภาพก็ตาม) แต่ครั้งนี้ไม่ใช่นะครับ มีเสียงของคนเล็กๆ สอดแทรกเข้ามา เช่น ผู้ใหญ่บ้านท่านที่กล่าวแล้ว เสนอให้เปิดการเจรจากันโดยเร็ว เพื่อยุติการใช้อาวุธ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ท่านไม่สนใจหรอกครับว่าจะเปิดการเจรจาอย่างไรจึงจะเป็นผล นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไปหาทางเอาเอง ท่านไม่ได้เรียกร้องให้ใช้กำลังทหารเข้าไปยึดนครวัด เสียมราบ พระตะบอง

เสียงเหล่านี้ดังเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรด้วย จะเพราะเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรก็ตามที แต่เป็นประเด็นหลักของการอภิปรายกระทู้ของฝ่ายค้าน ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

เราจะอยู่กันต่อไปโดยปิดหูให้แก่เสียงของคนเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว และจะใช้วิธีศรีธนญชัยกับเสียงเหล่านี้ ก็คงไม่ได้ผลยั่งยืนอะไร

6 คู่ขนานกันไปกับเสียงของคนเล็กๆ ผมคิดว่ามีเสียงของนักวิชาการซึ่งอาจไม่ดังเท่า แต่ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ให้หันมาทบทวนกรณีพิพาทเรื่องเขตแดน จากข้อมูลหลักฐานที่เป็นจริง และหาทางออกโดยสันติ ก่อนที่นักปลุกระดมจะฉวยเอาประเด็นเหล่านี้ ไปเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตน แม้ว่าเสียงของนักวิชาการเหล่านี้อาจไม่จับใจสื่อ และไม่เป็นข่าว แต่ได้สร้างฐานความรู้บางอย่างที่คนเล็กๆ สามารถหยิบฉวยไปใช้ เพื่อยับยั้งการเลือกความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้ และในความเป็นจริงเวลานี้ ผมก็ได้พบว่าคนเล็กๆ ที่มีสติดีที่สุด และไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอะไรกับข้อพิพาทชายแดน ก็กำลังกระตือรือร้นที่จะหยิบเอาฐานความรู้เหล่านี้ ไปใช้ในการกำกับนโยบายของรัฐด้วย เช่นในการสัมมนาเรื่อง “สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร” ที่ มธ.เมื่อเร็วๆนี้ ก็มีชาวบ้านจากภูมิซรอล อุตส่าห์เดินทางมาร่วมการสัมมนาด้วยจำนวนหนึ่ง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเล็กๆ ไม่ได้ส่งเสียงเพราะตัวเองเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่กำลังเขยิบเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำกับนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ด้วยสิทธิเสมอภาคกับสาวกของเวทีพันธมิตร ที่ราชดำเนิน

ในทุกที่ในโลกนี้ หากเบี้ยสามารถเดินหมากเอง สงครามจะเป็นตาอับตลอดไป แม้เรายังอาจมีข้อพิพาทและการปะทะกันด้วยอาวุธอยู่บ้าง แต่โลกนี้จะไม่มีสงคราม

มติชน, 14 กุมภาพันธ์ 2554

น้ำตาไหลเมื่อดู ‘ซูสีไทเฮา’, นิธิ เอียวศรีวงศ์

14 February 2011 Leave a comment

น้ำตาไหลเมื่อดู ‘ซูสีไทเฮา’, นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมติดตามภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง “ซูสีไทเฮา ก่อนแผ่นดินสิ้นสลาย” จากทีวีไทยมาจนจบด้วยความประทับใจ

เรื่องของผู้หญิงที่เป็นทรราชนั้น ดูเหมือนดึงดูดความสนใจของผู้คนอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เพราะเราบัญญัติคุณสมบัติของผู้หญิงและทรราชไว้ให้เป็นตรงข้ามกัน ผู้หญิงย่อมอ่อนหวาน เมตตา และมีความรักอันไม่จำกัดเหมือนแม่ ในขณะที่ทรราชคือคนโหดร้าย, เอาแต่ใจตัวเอง, บ้าอำนาจ ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ถือว่าเป็นของผู้ชาย (พ่อ)

เอาสองอย่างที่ตรงกันข้ามมาไว้ด้วยกัน จึงน่าสนใจดี

ในภาษาไทยนั้น มีหนังสือเรื่องซูสีไทเฮาไม่รู้จะกี่เล่ม ทั้งที่แปลมา และที่เขียนขึ้นใหม่จากข้อมูล (ที่แปลมาเหมือนกัน-และน่าเสียดายที่แปลจากภาษาฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่มีที่แปลจากภาษาจีนเอาเลย)

น่าสังเกตด้วยนะครับ ว่ามีหนังสือไทยเรื่องจักรพรรดินีบูเชกเทียนน้อยกว่าซูสีไทเฮาอย่างเทียบกันไม่ได้ ยิ่งขยายไปถึงคัตรีนมหาราชินีแห่งรัสเซีย, อลิซาเบธที่หนึ่งของอังกฤษ หรือแม้แต่พระสุริโยทัย หรือท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็ยิ่งมีน้อยกว่าซูสีไทเฮาขึ้นไปใหญ่

ผมอยากสรุปเอาดื้อๆ ว่า ผู้หญิงกับอำนาจสูงสุดนั้น แม้ไม่เป็นไปตามมโนภาพของเรานัก แต่ก็พอเห็นช่องทางที่เป็นไปได้ จึงไม่ดึงดูดความสนใจเท่ากับผู้หญิงกับทรราช

ยิ่งไปกว่านี้ เรื่องของมหาราชินียังมักคละเคล้าไปด้วยเรื่องคาวโลกีย์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเรื่องราวที่ชวนอ่าน ตรงกับคติความเชื่อเก่าแก่ของหลายวัฒนธรรมว่า ผู้หญิงนั้นมีธรรมชาติอ่อนแอด้านโลกียวิสัย อ่านมันส์ดีหรอกครับ แต่ไม่น่าสนใจเท่าทรราชหญิง

ซูสีไทเฮานั้นไม่มีชื่อเสียงด้านคาวโลกีย์-แม้ว่าในซีรีส์นี้จะมีบทของ “ชู้รัก” อยู่นิดหนึ่ง-แต่ไม่มีใครคิดถึงด้านนี้เมื่อพูดถึงซูสีไทเฮา คิดแต่ด้านเดียวถึงความเป็นทรราชของเธอซึ่งทำให้ “แผ่นดินสิ้นสลาย”

ซูสีไทเฮาของซีรีส์นี้ก็ยังเป็นทรราชเหมือนเดิม แต่ที่แตกต่างก็คือ เธอเป็นมนุษย์ด้วย มนุษย์ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกภายใต้การกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมเหมือนผู้หญิงคนอื่นในวัฒนธรรมเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเธอเอง ซึ่งทำให้เธอต้องเป็นอย่างที่เธอเป็น

ผมขอพูดถึงข้อจำกัดของซูสีไทเฮาก่อน อย่างที่รู้กันอยู่แล้วและหนังไม่ต้องพูดก็คือ เธอถูกนำมาถวายเข้าวังเมื่อแรกรุ่น หลังจากนั้น เธอก็ใช้ชีวิตอยู่ในนครต้องห้ามไปจนตาย ฉะนั้น เมื่อเธอได้เห็นแผนที่โลกเป็นครั้งแรก เธอจึงถามว่าปักกิ่งอยู่ที่ไหน ครั้นมหาขันทีชี้ให้ดูปักกิ่งซึ่งเป็นแค่จุดจุดเดียวบนแผนที่ เธอจึงสงสัยว่าแล้วนครต้องห้ามอยู่ที่ไหนในปักกิ่งเล่า

(ความหมายที่แฝงในหนังก็คือ หากปักกิ่งไม่มีนครต้องห้าม ราชวงศ์ชิงก็ไม่มีในจีน)

หนังเสนอเรื่องของซูสีผ่านตัวละครสองตัว คือเหลียงเหวินซิ่วและหลี่ชุนอวิ๋น (ซึ่งคงไม่เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์) ทั้งสองเป็นพี่น้องแต่ต่างพ่อแม่กัน เพราะแม่ของเหวินซิ่วซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา รับเอาชุนซึ่งเป็นเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดูแต่เล็ก นอกจากนี้ ก็จำกัดเรื่องราวให้แวดล้อมอยู่กับเหตุการณ์เดียวในประวัติศาสตร์ คือ “การปฏิรูปร้อยวัน” ของกวางสู่

ในขณะที่เหวินซิ่วสอบได้เป็นจอหงวน และอยู่ในโลกข้างนอกในฐานะขุนนาง ชุนกลับกลายเป็นขันทีคนสนิทของซูสีและเข้าไปอยู่ในโลกของซูสี ด้วยเหตุดังนั้น พี่ชายจึงมองเห็นความโหดร้ายและไร้คุณธรรมของซูสีได้ถนัด

ในขณะที่น้องชายมองเห็นหญิงม่ายชราคนหนึ่ง ซึ่งรับภาระหนักของบ้านเมือง แต่มีความเป็นมนุษย์ที่มีความอ่อนโยนและเมตตา พร้อมกันไปกับความฉลาดหลักแหลม ที่จะเอาอำนาจของตนให้รอดในโลกแห่งอำนาจที่ลับลมคมในและโหดร้ายต่อกัน

ชุนคืออีกมุมมองหนึ่งของซูสีไทเฮา ซึ่งมักถูกละเลยไปในวรรณกรรมที่เกี่ยวกับเธอ ในขณะที่เหวินซิ่วคือซูสีไทเฮาที่รู้จักกันทั่วไปอยู่แล้ว

นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมชอบหนังเรื่องนี้ เพราะผู้สร้างไม่ต้องการหักล้างประวัติศาสตร์ที่รู้กันทั่วไปว่าซูสีไทเฮานั้นทั้งโหดร้ายและทั้งโฉดชั่ว แต่ประวัติศาสตร์มักไม่สนใจความเป็นมนุษย์ของเธอ จึงไม่เคยนำเธอเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขที่เป็นจริงของพระราชวังต้องห้าม อันเป็นข้อจำกัดที่ปุถุชนทุกคนมีทางเลือกในการตอบสนองได้ไม่มากนัก

แต่หนังก็ไม่ดึงประเด็นนี้ไปจนสุดโต่ง เพื่อแก้ตัวแทนซูสีให้กลายเป็นมนุษย์สุดประเสริฐที่ถูกประวัติศาสตร์เข้าใจผิด อันเป็นการสร้างจุดขายอย่างหนึ่งของนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบตื้นๆ ซึ่งมีผู้ทำอยู่บ่อยๆ

ดุลยภาพที่พอดีๆ ของนิยายอิงประวัติศาสตร์ และความพยายามจะเข้าให้ถึง “ส่วนใน” ของตัวละครในประวัติศาสตร์นี่แหละครับ เป็นหัวใจสำคัญของนิยายอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งมักไม่ค่อยเห็นในนวนิยายไทย ส่วนใหญ่ที่เขียนกันขึ้นมามักไม่เกี่ยวอะไรกับตัวละครในประวัติศาสตร์ เพียงแต่สร้างนิยายขึ้นใหม่แล้วเอาไปแปะไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น เช่น เรื่องสี่แผ่นดิน ที่เกี่ยวกับตัวละคร (เกือบ) โดยตรงเช่นการปฏิวัติ 1475 คือการมองและตัดสินตัวละครจาก “ภายนอก” เหมือนที่นักประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้แล้ว เพียงแต่ดำเนินเรื่องให้เป็นนิยายเท่านั้น

ความชั่วโฉดโหดร้ายของซูสีในหนังเรื่องนี้มาจากไหน?

ส่วนหนึ่งก็เพื่อความสุขความพอใจส่วนตัวอย่างแน่นอน แต่ส่วนนี้แยกไม่ออกจากความยึดมั่นว่า การดำรงอยู่ของราชวงศ์ต้าชิงเป็นความดีสูงสุดในตัวเอง ไม่ใช่ดำรงอยู่เฉยๆ นะครับ แต่ต้องดำรงอยู่อย่างที่มีอำนาจสูงสุด เป็นโอรสสวรรค์ที่ได้รับความชอบธรรมในการมีอำนาจสูงสุดนั้นตลอดไป

อำนาจของซูสีกับอำนาจของต้าชิงแยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลสตัณหาของตัวซูสีเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อผดุงประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ โลกของจีน (ใต้หล้า) จะดำรงอยู่อย่างปรกติสุขได้ก็ต้องมีต้าชิง

หากบุคคลทำความชั่วเพื่อประโยชน์ตนแต่ถ่ายเดียว ในไม่ช้า ผู้คนก็ขจัดคนชั่วนั้นไป แต่คนที่สามารถทำชั่วในนามของประโยชน์สุขส่วนรวมนี่สิครับ ที่สามารถทำชั่วต่อไปได้นานๆ เพราะคนอื่นต่างร่วมสมาทานหลักการอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยเป็นอันมาก แม้ว่าบางคนอาจสมาทานด้วยจริงใจ และอีกหลายคนสมาทานเพื่อแฝงประโยชน์ส่วนตนเข้าไปในประโยชน์ส่วนรวมนั้นก็ตาม

ซูสีไทเฮาทำชั่วในนามของประโยชน์ส่วนรวมครับ

ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า คนชั่วส่วนใหญ่แล้วก็มักทำชั่วโดยอ้างประโยชน์สุขของส่วนรวม แต่พลังมันผิดกันไกลนะครับระหว่างคนที่เชื่ออย่างนั้นด้วยความจริงใจ กับคนที่ใช้ประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นข้ออ้าง พลังของซูสีที่สามารถเถลิงอำนาจมาได้ติดต่อกันถึง 4-50 ปีนั้น มาจากความเชื่ออย่างจริงใจของเธอ

ที่มันแย้งย้อนให้เรารู้สึกสมเพชเชิงอัศจรรย์ก็คือ แม้แต่ศัตรูของเธอเองก็เชื่ออย่างเดียวกัน

เหลียงเหวินซิ่วซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคณะปฏิรูป ต้องการขจัดซูสีออกไปจากอำนาจการบริหารบ้านเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้จักรพรรดิกวางสู่ได้นำการปฏิรูปประเทศจีนเข้าสู่ความทันสมัย สร้างความแข็งแกร่งให้จีนสามารถเผชิญภัยคุกคามจากมหาอำนาจต่างๆ ได้ เหวินซิ่วจึงมีความจงรักภักดีต่อกวางสู่อย่างสูง เพราะกวางสู่และต้าชิงคือกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสงบสุขของราษฎร

อย่างที่นักปราชญ์ขงจื๊อถูกอบรมสั่งสอนมานะครับ โลกที่จะผดุงอารยธรรมอันอำนวยความผาสุกแก่ราษฎรได้ ก็ต้องมีฮ่องเต้ผู้ปรีชาสามารถ หน้าที่ของราษฎรคือ ถวายความจงรักภักดีอย่างจริงใจ ตามแต่สถานะทางสังคมและการเมืองของแต่ละคนพึงกระทำ เหวินซิ่วเป็นขุนนางใกล้ชิด ก็ต้องเพ็ดทูลแต่ความสัตย์ความจริง ถวายคำแนะนำอย่างบริสุทธิ์ใจ แม้รู้ว่าจะทำให้กริ้วก็ต้องกราบทูล

ทั้งหมดนี้ เป้าหมายคือปวงประชาราษฎร แต่ปวงประชาราษฎรนั้นอยู่ลอยๆ ไม่ได้ เพราะจะสูญสิ้นอารยธรรม เกิดรบราฆ่าฟันกันเอง จนกลายเป็นจลาจลวุ่นวาย จึงต้องอยู่ภายใต้การนำของต้าชิงและฮ่องเต้ การยกย่องฮ่องเต้และราชวงศ์ก็เพื่อประชาราษฎร

เมื่อฝ่ายปฏิรูปแพ้เกมการเมือง ฮ่องเต้ถูกรอนอำนาจจนไม่เหลืออะไรเลยแล้ว เหวินซิ่วจึงหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เพราะรู้แล้วว่าไม่มีทางที่จะปกป้องประชาราษฎรได้ต่อไป

ปราชญ์ขงจื๊อผู้นี้ยึดมั่นหลักการเช่นนี้มาจนถึงท้ายเรื่อง ในท่ามกลางความโดดเดี่ยว เขาปรึกษาปัญหาทางการเมืองกับน้องสาวต่างบิดามารดาซึ่งเป็นลูกกำพร้าที่มารดาของเขาชุบเลี้ยงมาแต่เล็ก ไม่มีการศึกษาแบบเขา จึงเหมือนชาวบ้านทั่วไป เพียงแต่รักนับถือเขาและครอบครัวของเขาอย่างสูงเท่านั้น

น้องสาวของเขาตอบว่า เธอไม่รู้อะไรหรอก ก่อนที่เธอจะตามเหวินซิ่วมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้ มีไทเฮา โลกของเธอมีความสุขอยู่กับครอบครัวของแม่และพี่ชายสองคนนี้เท่านั้น

และเท่านั้นเองเหวินซิ่วก็ “ตาสว่าง” เขาตะโกนบอกตัวเองเหมือนบ้าคลั่งว่า ใช่แล้วๆ เขาเพิ่งเข้าใจเดี๋ยวนี้เองว่า “ไม่มีต้าชิง ไม่มีฮ่องเต้ ราษฎรก็ไม่เป็นไร”

จีนจะอยู่รอดได้ก็เพราะคนจีนเอง ไม่เกี่ยวกับกวางสู่หรือซูสี เพราะ “ไม่มีจักรพรรดิผู้ปรีชา ไม่มีประมุขโปรดสัตว์”

ผมได้แต่น้ำตาไหลพรากโดยไม่รู้สึกตัว

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554
มติชน, 12 กุมภาพันธ์ 2554

เส้นบรรจบพรมแดน, สรกล อดุลยานนท์

13 February 2011 Leave a comment

เส้นบรรจบพรมแดน และคำถามถึงความมั่นใจของรัฐบาลไทย กลัวทำไมกับสหประชาชาติ-ศาลโลก?

โดย สรกล อดุลยานนท์

ผมมีเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง

นาย ก.มีเพื่อนบ้านชื่อนาย ข.

ทั้งคู่ทะเลาะกันเรื่องที่ดิน 4.6 ตารางเมตรที่อยู่ระหว่างกลาง

นิดเดียวเมื่อเทียบกับพื้นที่บ้าน 1 ไร่ของนาย ก.และนาย ข.

เถียงกันอยู่นานหลายปีว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้

นาย ก.ก็อ้างว่ามีหลักฐานชัดเจน

ส่วนนาย ข.ก็เถียงว่าหลักฐานของเขาน่าเชื่อถือกว่า

เถียงกันไปเถียงกันมาจนทะเลาะและลงมือลงไม้กัน

สุดท้าย “นาย ข.” บอกว่าจะนำเรื่องนี้ไปให้ “ผู้ใหญ่บ้าน” เป็น “คนกลาง” ในการเจรจา และถ้าความขัดแย้งยังไม่ยุติก็จะนำเรื่องฟ้องศาล

แต่นาย ก.ไม่ยอม บอกว่ายังไงก็ต้องคุยกัน 2 คน

ปัญหาของเรา 2 คน จะไปแจ้งความให้คนอื่นมายุ่งได้อย่างไร

น่าแปลกที่ นาย ก.ซึ่งอ้างตลอดว่ามีหลักฐานยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของเขา

ชัดเจนที่สุด ถูกต้องที่สุด สู้อย่างไรก็ต้องชนะ

แต่นาย ก.กลับท่องคาถา “ทวิภาคี” ตลอด ไม่ยอมให้ใครมาเป็น “คนกลาง”

ในขณะที่นาย ข.กลับเรียกหา “คนกลาง” และขู่ฟ้องศาลตลอด

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

มันน่าจะมีแค่ 2 สาเหตุ

สาเหตุแรก คือ นาย ข.ตัวเล็กกว่านาย ก. ขืนเจรจาแบบตัวต่อตัวต่อไป

โอกาสที่จะเจ็บตัวมีมากกว่า

การดึง “คนกลาง” เข้ามา จะช่วยให้เขาลดความเสียเปรียบลง

สาเหตุที่สอง นาย ข.ต้องมั่นใจใน “หลักฐาน” ของเขามากจึงกล้าให้คนอื่นมาร่วมตัดสิน

ซึ่งหาก นาย ก.มั่นใจในหลักฐานของตนเองเหมือนกับที่พูด

เขาก็ต้องไม่กลัวที่จะขึ้นศาล

แต่นาย ก. กลับท่องคาถา “ทวิภาคี” ตลอด

ปฏิเสธเรื่อง “คนกลาง” และการขึ้นศาล

ด้วย “ภาษาท่าทาง” ที่ นาย ก. แสดงออกมา

ใครๆ ก็อ่านออกว่าสิ่งที่พูด กับ “ความจริง” ที่อยู่ในใจ นาย ก.นั้นตรงข้ามกัน

เขาไม่ได้มั่นใจในหลักฐานเหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์มา

ครับ ถ้าผมเป็นนาย ก. ที่ไม่มั่นใจในหลักฐานของตัวเอง

กลัวว่าขึ้นศาลเมื่อไร จะแพ้คดี และเสียที่ดิน 4.6 ตารางเมตรไป

ยุทธศาสตร์ที่ควรทำก็คือ อย่าไปเถียงว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของเรา

แต่ต้องบอกว่าเป็น “พื้นที่ทับซ้อน

เปลี่ยนจาก “ของข้า-ของเอ็ง”

มาเป็น “ของเรา

และใช้ความสัมพันธ์ที่ดี คุยกับนาย ข.ว่าเมื่อต่างคนต่างคิดว่าเป็นของตัวเอง

เถียงไปก็เหนื่อยเปล่าๆ

ที่ดินก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร

เรามาปลูกต้นไม้ เป็นกำแพงสีเขียวกั้นบ้านเรากันดีกว่า

ไม่ต้องสนใจว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร แต่แน่ๆ ก็คือเราได้พื้นที่สีเขียวร่วมกัน

คนฉลาดควรจะทำอย่างนี้ไม่ใช่หรือ??

วันก่อน อ่านคอลัมน์ “เทศมองไทย” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” เล่มใหม่ ผมชอบทรรศนะของนักการทูตอาวุโสคนหนึ่ง

เขาบอกว่า “เส้นเขตแดน” ไม่ควรจะหมายความว่าเส้น “แบ่ง” เขตแดนระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง

แต่ควรจะเป็นการ “บรรจบ” กันของเขตแดน

แม้จะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อใช้ “คำ” ที่แตกต่างกัน “ความรู้สึก” ก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน

ถ้าเราคิดแบ่ง ก็ต้องมีคนได้และคนเสีย

มีแต่ “ความทุกข์”

แต่ถ้าเราคิดจะหาเส้นที่บรรจบกัน

เราจะมีแต่ “ความสุข”

ครับ คนไทยโชคดีที่ได้ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ

จริงหรือ????

ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554

มติชน, 12 กุมภาพันธ์ 2554

อภิสิทธิ์กับการแก้ปัญหาเขตแดนด้วยสันติวิธี?, พวงทอง ภวัครพันธุ์

11 February 2011 Leave a comment

อภิสิทธิ์กับการแก้ปัญหาเขตแดนด้วยสันติวิธี?

โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

(ผู้เขียนเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็น Visiting Research Fellow, Stanford University)

สถานการณ์ ชายแดนไทย-กัมพูชาตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาล่าสุดขยับจากเรื่องเอ็มโอยู 2543 มาที่การแย่งชิงสิทธิเหนือวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ

ล่าสุดกัมพูชานำ ธงชาติของตนไปปักไว้บริเวณวัดแก้วฯ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการ เด็ดขาดเอาธงชาติกัมพูชาลงมาให้ได้ นายกฯอภิสิทธิ์จึงจำเป็นต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้

ส่วนกัมพูชาก็เริ่มเสริมกำลังทัพบริเวณชายแดน โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันมีสูงมาก

หนทาง เดียวที่จะปลดชนวนสงครามและแก้ปัญหานี้ได้อย่างถาวรคือ ทั้งไทยและกัมพูชาต้องตกลงกันให้ได้ว่า จะร่วมกันจัดการพื้นที่ทับซ้อนนี้อย่างไร

ในบรรดาประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระ วิหารนี้ พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. นี้เป็นส่วนที่แก้ไขยากที่สุด และถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็จะเป็นจุดที่สร้างปัญหา ก่อความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ไทยกัมพูชาได้เรื่อยๆ เปิดโอกาสให้กลุ่มชาตินิยมนำมาเคลื่อนไหวเล่นงานรัฐบาลและประเทศเพื่อนบ้านได้ตลอดเวลา

ช่วงที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ทับซ้อนได้แก่ การตั้งรกรากของชาวกัมพูชาในบริเวณนี้ การสร้างถนนจากกัมพูชาเข้าไปยังฝั่งตะวันตกของปราสาทพระวิหาร และล่าสุดคือ กรณีวัดแก้วฯ

พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.เป็นผลจากการที่กัมพูชาและไทยต่างอ้างอิงเอกสารที่แตกต่างกัน ฝ่ายไทยยึดถือเส้นสันปันน้ำเป็นเขตแดนตามหนังสือสัญญาระหว่างสยามและ ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 ส่วนกัมพูชายึดถือแผนที่ตามการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดน ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส หรือที่คนไทยมักเรียกว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000

กัมพูชา ถือว่าในคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี ค.ศ.1962 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเส้นเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารคือเส้นที่ปรากฏใน แผนที่ ดังคำวินิจฉัยที่ว่า “ประเทศไทยใน ค.ศ.1908-1909 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา…คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน”

กัมพูชาจึงยืนยันว่าวัดแก้วฯอยู่ภายในอาณาบริเวณของกัมพูชา เพราะวัดแก้วฯตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเส้นเขตแดนตามแผนที่ราว 700 เมตร

แต่ ฝ่ายไทยถือว่าศาลโลกไม่ได้ตัดสินให้ตามคำขอของกัมพูชาในข้อที่ว่า แผนที่มีสถานะเท่ากับสนธิสัญญา และเส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ฉะนั้น ไทยไม่จำเป็นต้องยอมรับเส้นเขตแดนตามแผนที่ฉบับดังกล่าว วัดแก้วฯจึงต้องอยู่ในเขตของไทย

เมื่อทั้งสองฝ่ายยึดถือเอกสารที่แตกต่างกันเช่นนี้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การปักปันเขตแดนบริเวณเทือกเขาดงรัก ไม่มีความคืบหน้า แต่ส่วนอื่นๆ คืบหน้าไปมากแล้ว เพราะเอกสารทั้งสองนี้ ถูกบรรจุให้เป็นเอกสารสำหรับการปักปันและสำรวจเขตแดนทางบก ตามเอ็มโอยู 2543 ด้วย

ฉะนั้น จึงเท่ากับว่า เอ็มโอยู 2543 ประกอบด้วยเอกสารที่ช่วยถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองให้กับทั้งสองฝ่าย และนี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าในพื้นที่ส่วนเขาดงรักนี้ หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องเขตแดน ไม่ได้ยอมอ่อนข้อให้กับแผนที่ 1:200,000 และพยายามรักษาสิทธิของไทยเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.อย่างเหนียวแน่น พื้นที่ทับซ้อนนี้จึงยังคาราคาซังต่อไป

สำหรับรัฐที่ชาญฉลาดก็จะพยายามหาทางตกลง เพื่อสร้างประโยชน์จากผืนดินที่เป็นข้อพิพาทนั้นๆ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะเก็บข้อพิพาทที่แก้ไขไม่ได้ ใส่ไว้ในลิ้นชักชั่วคราว แล้วหันไปจัดการกับส่วนอื่นก่อนคุยกันในเรื่องที่คุยกันได้ และก่อประโยชน์ให้กับทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตายืนยันว่าต้องตัดสินเรื่องดินแดนเล็กๆ ตรงนี้ให้ได้ก่อน ไม่งั้นห้ามทำเรื่องอื่น รบเป็นรบ ตายเป็นตาย (เพราะคนที่ตายกับที่คนที่เรียกร้อง เป็นคนละคนกัน) โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ชีวิตด้านอื่นๆ ของประเทศนี้เสียหายอย่างไรบ้าง

แต่กระแสชาตินิยมอันรุนแรงในขณะนี้ ไม่อนุญาตให้รัฐไทยและกัมพูชาเก็บเรื่องนี้ ไว้ในลิ้นชักอีกต่อไป แต่ต้องจัดการให้เด็ดขาดเรียบร้อย ผู้เขียนเชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ย่อมอยากให้เรื่องนี้เป็นที่ยุติ โดยไม่ต้องพาประเทศเข้าสู่สงคราม ฉะนั้น เมื่อตัดสงครามออกไปแล้ว หนทางเดียวที่เหลืออยู่คือ ทั้งไทยและกัมพูชาต้องหันมาเจรจา เรื่องการพัฒนาร่วมพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารกันอย่างจริงจังเสียที

อันที่จริง แนวคิดที่จะให้มีการบริหารจัดการร่วมพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร นี้เป็นสิ่งหน่วยราชการของไทยเองเป็นฝ่ายริเริ่มผลักดัน และสามารถเจรจาจนฝ่ายกัมพูชายอมรับในเวลาต่อมา การผลักดันนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ รบ.ทักษิณ-สุรยุทธ์-สมัคร (ดูบวรศักดิ์, แฉเอกสารลับที่สุด ปราสาทพระวิหาร, น.254-261)

แนวคิด บริหารจัดการร่วมนี้ น่าจะมาจากความคิดที่ว่า เมื่อกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แล้วจะต้องมีผลกระทบกับ พื้นที่ทับซ้อนที่ไทยอ้างสิทธิอยู่ด้วย

ฉะนั้น วิธีปกป้องสิทธิของประเทศไทยพร้อมๆ ไปกับรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย ก็คือเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน หากกัมพูชาทำอะไรที่ไทยเห็นว่าละเมิดสิทธิของไทย ก็จะสามารถทักท้วงได้ทันเวลา และแน่นอนว่าเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างกันยังดีอยู่ อีกฝ่ายย่อมยินยอมฟังคำทักท้วงมากกว่า

แต่กระแสคลั่งชาติที่เกิดขึ้น ทำให้แนวคิดนี้ต้องถูกพับเก็บใส่สิ้นชัก ไม่มีหน่วยงานไหนกล้าพูดถึงอีก

ผลก็คือ ประเทศไทยในขณะนี้แทบไม่รู้เลยว่า กัมพูชาเดินหน้าพัฒนาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารไปอย่างไรบ้าง ไทยไม่ได้เห็นแผนบริหารจัดการที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก เขายื่นไปแล้วเจ้าหน้าที่ไทยก็อ้างว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยได้รับ เขาพิจารณารับรองกันไปเรียบร้อยแล้ว แต่ฝ่ายไทยยังหลงเชื่อว่าเขาเลื่อนการพิจารณาไปปีหน้า ก็เพราะเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลไม่ดี ก็ยากที่ไทยจะขอให้กัมพูชาส่งเอกสารให้ไทยดูเพื่อตรวจสอบก่อน แล้วพอเขาประชุมกรรมการมรดกโลกที เราก็ส่งทีมไปวิ่งล็อบบี้ให้เขาถอนอีก โดยไม่ตระหนักว่า คณะกรรมการมรดกโลกถือว่าแผนบริหารจัดการ เป็นเอกสิทธิ์ของรัฐที่เป็นเจ้าของมรดกโลกชิ้นนั้นๆ ไม่เกี่ยวกับประเทศไทยในฐานะบุคคลที่สาม

สิ่งนี้ต่างกับยุคสมัยที่ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชายังดีอยู่ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่กัมพูชายื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2550 ที่ไครซ์เชิร์ต นิวซีแลนด์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยพบว่าแผนที่ที่แนบไปกับการขอขึ้นทะเบียน มีส่วนที่ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อน จึงทำเรื่องคัดค้าน จนคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้เลื่อนการพิจารณาไปเป็นปี 2551 ซึ่งในช่วงหนึ่งปีก่อนจะถึงการประชุมในปี 2551 ฝ่ายกัมพูชายินยอมร่วมมือกับไทยเป็นอย่างดี ด้วยการตัดพื้นที่ทับซ้อนออกจากแผนที่แนบการขึ้นทะเบียน และยังส่งแผนที่ฉบับแก้ไขให้ไทยตรวจสอบก่อน

จนกระทั่งหน่วยงานของไทย (กต., กรมแผนที่ทหาร, สมช.) ตรวจสอบจนพอใจและเห็นว่าไม่มีส่วนใดล่วงล้ำเข้ามา ในพื้นที่ทับซ้อนที่ไทยอ้างสิทธิอยู่ (ดูบวรศักดิ์ น.264) แล้วจึงนำไปสู่การออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชารับรองการขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลกที่ลงนามโดยนายนพดล ปัทมะ นั่นเอง

แต่ในขณะนั้น กระแสชาตินิยมและกระแสต่อต้านทักษิณนั้นมาแรงจนบดบังข้อเท็จจริง จนหมดสิ้น เราตั้งหน้าตั้งตาค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชา อย่างไม่ลืมหูลืมตา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นก็กระโดดเข้าสู่กระแสนี้ด้วย และเมื่อมาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการมรดกโลกถอนปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลก และคัดค้านแผนบริหารจัดการ (ทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นเนื้อหาของตัวแผน) แถมยังไปตกปากรับคำกับกลุ่มพันธมิตรว่า รัฐบาลของตนจะไม่ยอมให้มีการพัฒนาร่วมพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร

จุดยืนเหล่านี้ของนายอภิสิทธิ์ คืออุปสรรคสำคัญของการแก้ไขปัญหาเขตแดนด้วยสันติวิธีที่นายอภิสิทธิ์มักอ้างถึงอยู่เสมอ

สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ โอกาสที่คณะกรรมการมรดกโลกจะถอดถอนปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลกนั้น เท่ากับศูนย์ แม้แต่มรดกโลกหลายแห่งที่ติดรายชื่อ “อยู่ในภาวะอันตราย” มาหลายปี เพราะสภาพทรุดโทรมเต็มที ก็ยังไม่ถูกถอด เพราะเขาตระหนักว่ามรดกโลก คือ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจของผู้คนในประเทศนั้น การถอดถอนย่อมส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าอยุธยาถูกถอดจากมรดกโลก คนไทยจะรู้สึกโกรธแค้นเพียงใด และควรลองจินตนาการต่อด้วยว่า คนกัมพูชารู้สึกอย่างไร เมื่อคนไทยพยายาททำให้มรดกโลกของเขาถูกถอดถอน

ฉะนั้น หากนายอภิสิทธิ์มีจุดยืนที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยสันติวิธีจริงๆ (ไม่ใช่อย่างที่ปฏิบัติกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง) ก็จำเป็นต้องทบทวนจุดยืนที่จะให้มีการถอดถอนปราสาทพระวิหารออกจากมรดกโลก เพราะจุดยืนนี้คืออุปสรรคเบื้องต้นของการแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับกัมพูชา

และถ้าความสัมพันธ์ไม่ดี ก็ไม่มีทาง ที่จะก้าวไปสู่การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนด้วยสันติวิธีได้เลย

มติชน, 10 กุมภาพันธ์ 2554

ประเทศไทยโชคดีที่มี, ชำนาญ จันทร์เรือง

9 February 2011 Leave a comment

ประเทศไทยโชคดีที่มี…

ชำนาญ จันทร์เรือง

ท่ามกลางควันปืนและลูกระเบิดที่คละคลุ้งบริเวณ ชายแดนไทยกัมพูชา ภาพของการอพยพหนีตายของพี่น้องไทยและกัมพูชาได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศทั้งสอง ทั้งในรูปแบบของการรายงานตามข้อเท็จจริง และรูปแบบของการปลุกกระแสแห่งความรักชาติ ให้พลุ่งพล่านว่าหน็อยแน่ะเอ็งเป็นประเทศเล็กกระจ้อยร่อย บังอาจหาญกล้ามาราวีกับประเทศใหญ่กว่าอย่างข้า ในทำนองกลับกัน ทหารไทยที่ไม่เคยรบชนะใครเลยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา นอกจากชนะประชาชนของตัวเอง บังอาจมารบกับประเทศของข้าที่รบชนะมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือคอมมิวนิสต์ใหญ่ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย ต้องสั่งสอนเสียให้เข็ด

ในทำนองกลับกัน ฝ่ายกัมพูชาก็ปลุกระดมให้เห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบของพี่ไทย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันว่าบรรดาปราสาททั้งหลายมันก็ชัดๆ อยู่แล้วว่าเป็นปราสาทขอม ยังจะมีหน้ามาฮุบเอาของเราอีก ขนาดศาลโลกตัดสินแล้วยังตะแบงว่าตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร แต่ไม่ให้พื้นดินที่อยู่ข้างใต้ มิหนำซ้ำ จอมพลสฤษดิ์ยังดันมาทำรั้วกั้นที่เอาตามอำเภอใจเสียอีก อย่ากระนั้นเลย ต้องรบกับพี่ไทยเสียให้รู้เรื่องเสียที จะได้มีเรื่องมีราวไปถึงศาลโลกและสหประชาชาติ ซึ่งเขมรมั่นใจว่าชนะแหงๆ และยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดตัวทายาททางการเมือง ของสมเด็จอัครมหาเสนาบดี ฮุน เซน คือ บุตรชายสุดรักที่ชื่อว่าพลจัตวาฮุน มาเน็ต ให้พี่น้องชาวกัมพูชาคุ้นชินเป็นเบื้องต้น

ในบรรดาความโง่ของมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่มี ความโง่ใดๆ ที่จะเทียบเท่ากับการที่เข้า ห้ำหั่นเอาชีวิตมนุษย์ด้วยกันเพียงเพื่อกองหินเก่าๆ กับพื้นดินที่ไร้ค่าโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องอธิปไตย โดยการเอาเลือดทาแผ่นดินเพื่อสนองตัณหา ของผู้บริหารประเทศที่โง่เง่าและไม่รู้จักพอของทั้งสองฝ่าย ที่ดีแต่ปากให้สัมภาษณ์ว่ากันไป ว่ากันมา ออกแถลงการณ์โต้กันไปโต้กันมาจากในห้องแอร์ โดยมีพี่น้องร่วมชาติทั้งสองชาติต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมมานึกทบทวนว่า การศึกสงครามนั้นมันเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่า มันก็ย่อมป้องกันที่จะไม่ให้มีการเกิดขึ้นได้เสมอเช่นกัน ในส่วนของกัมพูชานั้นผมคงงดเว้นที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์เพราะดีไม่ดีจะเข้า ข่ายติชมอริราชศัตรูผิดอาญาแผ่นดินเข้าจะเดือดร้อนกันไปเปล่าๆ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ คนที่สามารถสั่งให้คนไปตายด้วยการรบกัน เพื่อสนองตัณหาทางการเมืองของตนได้นั้นย่อมไม่ใช่คนดีอย่างแน่นอน

หันมาพิจารณาในฝ่ายพี่ไทยเรา (ก็ไม่รู้ว่าได้รับการยกให้เป็นพี่ตั้งแต่เมื่อไร แต่ที่แน่ๆ ประเทศเพื่อนบ้านเราไม่มีประเทศไหนชอบเราสักประเทศ) แล้วพบว่าจากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดเหตุลุกลามใหญ่โตเป็นสงคราม ผู้คนอพยพหนีตายกันจ้าละหวั่นยิ่งกว่าครั้งใดๆ ตั้งแต่สงครามโลกเกิดขึ้นมาแล้วจะพบว่าประเทศเรานั้นโชคดีจริงๆ ที่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้

1. ประเทศไทยโชคดีที่มีอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นนายกฯ ที่มีความรู้ การศึกษา ชาติตระกูลดี มีอำนาจพิเศษหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นจากกองทัพ (ตอนนี้ชักไม่แน่ใจ) ไม่ว่าจะเป็นผู้มากบารมีทั้งหลาย เพราะกระชับพื้นที่จนคนตายไป 91 ศพ ยังอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีใครสามารถเอาความได้

แต่ประเทศไทยก็โชคไม่ดีเช่นกันที่มีอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด มีแต่ความโลเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนโยบายการต่างประเทศกับกัมพูชา แข็งก็ไม่แข็งจริง อ่อนก็ไม่อ่อนจริง จนผู้นำกัมพูชาจับไต๋ได้ถูกว่าอย่างไรเสียหากมีการสู้รบเกิดขึ้นนายกฯ อภิสิทธิ์คงจะออกอาการแหยเสียเป็นแน่ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้อยคำที่ดุดันดันแข็งกร้าวให้เอาธงลง ตอนก่อนปะทะกัน ฯลฯ ไม่มีให้เห็น ไม่ได้แม้สักเสี้ยวหนึ่งของวินสตัน เชอร์ชิล อดีตผู้นำของประเทศที่ตนเองกำเนิดและไปร่ำเรียนมา กลายเป็นใบ้ไปเสียเฉยๆ ซะอย่างนั้น

2. ประเทศไทยโชคดีที่มีรัฐมนตรีการต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ในทางการทูตมาอย่างยาวนานชื่อ กษิต ภิรมย์ รู้ทางหนีทีไล่ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ มิหนำซ้ำยังเป็นสหายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จนถึงกับเคยขึ้นเวทีของพันธมิตรมาแล้วถึงกับออกปากชมการชุมนุมว่า “อาหารดี ดนตรีเพราะ” จนได้รับการส่งเข้าประกวดจากพันธมิตรให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่ามีกองหนุนที่แน่นปึ้ก (แต่ตอนนี้ด่ากันแล้ว)

แต่ประเทศไทยก็โชคไม่ดีเช่นกันที่มีรัฐมนตรีว่า กระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อกษิต ภิรมย์ เพราะเคยปราศรัยด่าฮุน เซน ว่าเป็นกุ๊ย แต่ก็ต้องไปเจรจาความเมืองกับประเทศที่มีผู้นำที่ถูกตนเองด่าว่าเป็นกุ๊ย แล้วจะไปเหลืออะไร เพราะแม้แต่กำลังเจรจาอยู่กับเขาในประเทศเขาเองแท้ๆ เขายังสั่งยิงทหารไทยที่ชายแดนเลย ออกจากประเทศเขากลับมาได้ก็บุญแล้ว

3. ประเทศไทยโชคดีที่มีสมณะและฆราวาสผู้ทรงศีล สนับสนุนการชุมนุมของประชาชน ทั้ง (เคย) สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล การชุมนุมจึงเป็นไปด้วยน่าเลื่อมใส เพราะเป็นการชุมนุมของผู้ทรงศีล ความคิดเห็นและการแสดงออกต่างๆ จึงน่าจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์

แต่ประเทศไทยก็โชคไม่ดีที่ผู้ทรงศีลเหล่านั้น กลับสนับสนุนให้ยึดติดกับเศษหินเก่าๆ พื้นที่ดินเล็กๆ ที่ไร้ประโยชน์ โดยสนับสนุนให้มีการใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้ฟาดฟันกัน เปิดดูตำราพุทธศาสนาเล่มไหนก็ไม่เห็นมีว่าให้พุทธศาสนิกชนรบกัน เพื่อแย่งชิงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการดำเนินของกลุ่มนี้มีผลผลักดันให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ดำเนินการในหลายมาตรการ เช่น การจะให้เอาธงกัมพูชาลงและจนถึงที่สุดจนถึงกับจะรื้อวัดแก้วเสียด้วยซ้ำไป (ไม่รู้คิดได้อย่างไร)

4. ประเทศไทยโชคดีที่มีผู้บัญชาการทหารบก คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารอาชีพ ไม่เคยได้ยินถึงการแสดงความเห็นทางการเมือง (ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว) มีบุคลิกที่เข้มแข็งดุดันจนได้ฉายาว่าสฤษดิ์น้อย ซึ่งยังเป็นที่ถวิลหาของพวกอำนาจนิยมทั้งหลาย ที่ยังกล่าวถึงจอมพลสฤษดิ์อยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือเกิดเพลิงไหม้

แต่ประเทศไทยก็โชคไม่ดีที่ผู้บัญชาการทหารบกคน นี้เข้มแข็งและดุดันเฉพาะกับนักข่าว ถึงกับชี้หน้าอยู่เป็นประจำเมื่อถูกถามถึงการรัฐประหาร ไม่ได้เข้มแข็งดุดันให้ทหารเขมรได้กลัวเกรงถึงแสนยานุภาพของทหารไทยที่เขมร จะต้องคิดหนักเมื่อจะต้องรบกับไทยเลย มิหนำซ้ำ ยังแสดงอาการหลุดให้เห็นบ่อยๆ เมื่อมีการให้สัมภาษณ์ ไม่ให้สัมภาษณ์บ้างก็ได้นะครับ เสียบุคลิกหมด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไทยกับกัมพูชาจะรบหรือไม่รบกันจนผู้คนตายกันเป็นเบือก็ตาม สุดท้ายก็ต้องจบลงที่การเจรจา แต่ผลของการเจรจานั้น ย่อมขึ้นอยู่ที่ฝ่ายใดเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองที่เหนือกว่า หากเรายังมีผู้ที่เกี่ยวข้องดังสี่ประการข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ก็อย่าหวังว่าเราจะเป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าเลย แค่ศึกภายในยังเอาไม่อยู่แล้ว ศึกนอกที่ใหญ่โตกว่าเช่นนี้ ก็เป็นอันสิ้นหวังครับ

กรุงเทพธุรกิจ, 9 กุมภาพันธ์ 2554

ธงชัย วินิจจะกูล: “เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน

8 February 2011 Leave a comment

ธงชัย วินิจจะกูล: “เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน

ธงชัย วินิจจะกูล

ความรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง “การเสียดินแดน” วางอยู่บนความเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ 4 ประการ

1. เข้าใจผิดว่า รัฐสมัยเก่า (ก่อนศตวรรษที่ 20) ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่

ความจริง – รัฐสมัยเก่าไม่ถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าเป็นเรื่องของเจ้าที่มีอำนาจมากถืออำนาจบาตรใหญ่เหนือเจ้าที่มีอำนาจน้อยกว่า ลดหลั่นเป็นลำดับชั้นกันลงไป คือ เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าพ่อนั่นเอง เจ้าพ่อรายใหญ่ย่อมเรียก “ค่าคุ้มครอง” จากเจ้าพ่อรายเล็กกว่าในรูปของส่วยสาอากรผลประโยชน์ต่างๆและไพร่พล จากนั้นเจ้าพ่อทั้งรายใหญ่รายเล็กก็ไปขูดรีดเอากับไพร่ฟ้าข้าไทในเขตอิทธิพลของตนอีกทอดหนึ่ง

อำนาจของเจ้าพ่อรายเล็กจึงอยู่ที่อำนาจเหนือไพร่ฟ้าข้าไทในเขตอิทธิพลของตน อำนาจของเจ้าพ่อรายใหญ่จึงอยู่ที่อำนาจเหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไทในเขตอิทธิพลของตน อธิปไตยเหนือดินแดนแบบสมัยนี้ยังไม่มี อำนาจขององค์อธิปัตย์หมายถึงอำนาจเหนือคน คือ เหนือเจ้าพ่อรายเล็กและไพร่ฟ้าข้าไท ไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตชัดเจน บางทีก็มีบางทีก็ไม่มี ไพร่ฟ้าจะเดินทางไกลไปไหนต่อไหนก็ยังถือว่ายังอยู่ใต้อำนาจของเจ้าองค์เดิม หรือที่เรียกว่า “ใต่ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ของเจ้าองค์เดิม

“ดินแดน” ที่รัฐสมัยเก่าหวงแหนสุดขีดคือเมืองและวัง เพราะหมายถึงอำนาจของเจ้าพ่อ รัฐสมัยเก่าไม่หวงแหนชายแดน ยกให้เป็นของขวัญแก่ฝรั่งอังกฤษมาแล้วก็มี

2. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของอธิปไตยของรัฐเจ้าพ่อใหญ่

ความจริง – เจ้าพ่อรายเล็กที่ยอมเป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของรัฐเจ้าพ่อใหญ่ยังคงมีอำนาจเหนือเมือง วัง ไพร่ฟ้าข้าไทและเขตอิทธิพลของตน เพียงแต่ไม่ถือว่าเป็น “อิสระ” (คำว่า “อิสระ” แต่เดิมหมายถึงเป็นใหญ่สูงสุด ความหมายเพิ่งเปลี่ยนเป็น independence พร้อมๆกับรัฐสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 นี่เอง) จะถือว่าเป็น “อิสระ” ได้ยังไงในเมื่อยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเจ้าพ่อใหญ่ แต่การสวามิภักดิ์มิได้หมายถึงตกเป็นสมบัติของรัฐเจ้าพ่อใหญ่แต่อย่างใด เพียงหมายถึงยอมอยู่ใต้อำนาจบาตรใหญ่ “ความคุ้มครอง” ของเจ้าพ่อรายใหญ่กว่าและยอมจ่าย “ค่าคุ้มครอง” ตามที่เจ้าพ่อรายใหญ่เรียกมาเท่านั้นเอง

“เขตอิทธิพล” หรือดินแดนที่ไม่มีขอบเขตชัดเจนของเมืองขึ้นหรือประเทศราชจึงไม่ใช่สมบัติของเจ้าพ่อรายใหญ่ แต่แน่นอนว่าเจ้าพ่อใหญ่อย่างเจ้ากรุงเทพฯย่อมถือว่าประเทศราชเป็นสมบัติของตน

ทัศนะที่ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมาแต่โบราณ เช่น สุโขทัยเป็นเจ้าของทั้งแหลมมลายู จึงเป็นทัศนะประวัติศาสตร์แบบเจ้าพ่อใหญ่ เช่น เจ้ากรุงเทพฯ เจ้าอังวะ หงสา ฯลฯ แต่ทว่าไทย/สยามที่เป็นรัฐแบบชาติสมัยใหม่กลับรักษาทัศนะประวัติศาสตร์ของเจ้ากรุงเทพฯและยกให้เป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติอีกด้วย ประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็น “ราชาชาตินิยม” คือไม่ใช่แค่ชาตินิยมอย่างประเทศอื่น แต่เป็นชาตินิยมที่คิดแบบเจ้ากรุงเทพฯ เช่น ถือว่าประเทศราชและดินแดนชายขอบอำนาจเป็นของประเทศไทยมาแต่โบราณ

3. เข้าใจผิดว่า เมืองขึ้นหรือประเทศราชหนึ่งย่อมขึ้นต่อเจ้าพ่อรายใหญ่เพียงรายเดียว เมืองขึ้นของสยามย่อมขึ้นต่อสยามเท่านั้น ดังนั้นดินแดนประเทศราชย่อมเป็นของประเทศสยามแต่ผู้เดียว

ความจริง – ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯแทบทั้งหมดในประวัติศาสตร์เป็นเมืองขึ้นของเจ้าพ่อใหญ่รายอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น พม่า (อังวะ หงสาวดี) และเวียดนาม (เว้ ตังเกี๋ย) เพราะในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมัยเก่าแบบเจ้าพ่อนั้น รัฐเล็กๆถือว่ายอมอ่อนน้อมต่อเจ้าพ่อใหญ่ดีกว่าโดนเจ้าพ่อลงโทษ ครั้นเจ้าพ่อใหญ่หลายรายมาเรียก “ค่าคุ้มครอง” ก็ยอมซะเท่าที่ยังพอทนไหว (หากทนไม่ไหวค่อยฟ้องเจ้าพ่อ ก. ให้มาจัดการกับเจ้าพ่อ ข.) ประเทศราชของอยุธยาและกรุงเทพฯเป็นประเทศราชของ 2-3 เจ้าพ่อใหญ่ในเวลาเดียวกัน เจ้ากรุงเทพฯมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 รู้ข้อนี้ดีว่าประเทศราชไม่เคยขึ้นต่อสยามแต่ผู้เดียว

ดังนั้น ขอบข่ายอำนาจของเจ้าพ่อใหญ่อย่าง สยาม พม่า เวียดนามจึงซ้อนทับกันเป็นแถบเบ้อเริ่ม เพราะต่างมี่ประเทศราชร่วมกัน อำนาจซ้อนทับแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต้องแบ่งปันกันหรือรบราฆ่ากันเพราะทุกรัฐสมัยเก่าขอแค่ประเทศราชยอมสวามิภักดิ์และจ่ายค่าคุ้มครองสม่ำเสมอเป็นใช้ได้

แต่ครั้นทุกรัฐรับธรรมเนียมสมัยใหม่จากฝรั่งในปลายศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือดินแดนแบบซ้อนทับอีกต่อไป และถือการครอบครองดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องแย่งชิงกันว่าดินแดนของประเทศราชเป็นของใครกันแน่แต่ผู้เดียว ความขัดแย้งระหว่างสยามกับอังกฤษ ฝรั่งเศสสมัยรัชกาลที่ 5 คือ การพยายามแข่งขันกันช่วงชิงดินแดนประเทศราชมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว กรณี “เสียดินแดน” คือผลของการแย่งชิงกันแล้วสยามแพ้ สยาม”ไม่ได้ดินแดนมาเป็นของสยามแต่ผู้เดียว” ฝรั่งชนะจึงได้ไป

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมของรัฐไทยสมัยใหม่จึงแย่ยิ่งกว่าเจ้ากรุงเทพฯแบบก่อนศตวรรษที่ 20 เสียอีก คือ หลงคิดว่าประเทศราชเป็นของตนแต่ผู้เดียวมาแต่โบราณ ครั้นแย่งดินแดนประเทศราชกันแล้วแพ้เขา จึงเรียกว่า “ไทยเสียดินแดน”

4. เข้าใจผิดว่า ดินแดนของรัฐสมัยเก่ากำหนดชัดเจนแน่นอนว่าตรงไหนของใคร จึงสามารถพูดได้ว่า ไทยเสียดินแดนไปกี่ครั้งกี่ตารางกิโลเมตร

ความจริง – จากที่อธิบายมาข้างต้นคงเห็นแล้วว่า อำนาจดินแดนของรัฐสมัยเก่ามีทั้งซ้อนทับกันและโดยมากไม่กำหนดขอบเขตดินแดนชัดเจน ดินแดนของรัฐสยามสมัยใหม่ที่ชัดเจนมีเส้นเขตแบ่งปันเพิ่งเกิดขึ้นมาก็ต่อเมื่อแย่งชิงกันจบด้วยกำลังทหาร (ซึ่งสยามสู้ฝรั่งไม่ไหว) สยามจึงไม่เคยเสียดินแดนที่ไม่เคยเป็นของตน

ในเมื่อไม่เคยเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราช ไม่เคยเป็นเจ้าพ่อใหญ่แต่ผู้เดียวด้วยซ้ำไป แถมอำนาจเหนือดินแดนไม่มีขอบเขตชัดเจน การ “เสียดินแดน” แท้ที่จริงแล้วจึงเป็นการเสียอำนาจแบบเจ้าพ่อแบบโบราณ คือ ไม่สามารถอวดอ้างความเป็นอธิราชได้อีกต่อไป เรียกให้เขาอ่อนน้อมไม่ได้แล้ว เรียกเก็บผลประโยชน์ก็ไม่ได้เช่นกัน ในจารีตแบบรัฐราชาธิราชหรือรัฐเจ้าพ่อแบบสมัยเก่านั้น นี่เป็นการเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่สุดประเภทหนึ่ง ความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯจึงเป็นเรื่องของการที่พระองค์เสียพระเกียรติยศอย่างสาหัส ไม่ใช่การ “เสียดินแดน” ในแบบที่เราวัดกันออกมาได้เป็นตารางกิโลเมตร

กล่าวโดยสรุป ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเรื่องการ “เสียดินแดน” มีองค์ประกอบทางปัญญาสำคัญ 2 ประการ คือ

1. ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของดินแดนประเทศราชมาแต่โบราณซึ่งเป็นทัศนะประวัติศาสตร์ ของเจ้ากรุงเทพฯ และต้อง ถือเอาความเจ็บปวดของเจ้ากรุงเทพฯมาเป็นของตนด้วย

2. ต้องอ้างว่าเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวแบบชาตินิยมของรัฐชาติสมัยใหม่

องค์ประกอบทั้งสองประการเริ่มประมวลเข้าด้วยกันวาทการวาทกรรมการ “เสียดินแดน” โดยฝีมือของนักชาตินิยมอย่างหลวงวิจิตรวาทการและอีกหลายคนร่วมสมัยกับเขา โดยเริมผลิตมาตั้งแต่ประมาณต้นทศวรรษ 2470 (ก่อนการเปลี่ยนแปลง 2475 เล็กน้อย) และกลายเป็นส่วนสำคัญของลัทธิชาตินิยมของรัฐไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันนำไปสู่การ “เรียกร้องดินแดนคืน” ในปี 2483และกรณีดังกล่าวมีผลให้วาทกรรมและความเข้าใจประวัติศาสตร์ (ผิดๆ) เรื่องการ “เสียดินแดน” ฝังแน่นในสังคมไทย

วาทกรรมและประวัติศาสตร์การ “เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตัวพ่อ คือ ทั้งทรงพลัีง เป็นฐานอย่างหนึ่งที่มีส่วนก่อรูปก่อร่างความคิดชาตินิยมของไทยตั้งแต่เริ่มและยังคงเป็นฐานรากค้ำจุนชาตินิยมของไทยมาจนทุกวันนี้ แถมยังเป็นฐานภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่งที่ให้กำเนิดอุดมการณ์ ความเชื่อ วาทกรรมชาตินิยมอีกมากมาย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเอกสาร power point ชุดหนึ่งแพร่หลายอย่างกว้างขวาง เสนอว่า “ไทยเสียดินแดน” มาทั้งหมด 14 ครั้ง นี่เป็นตัวอย่างผลผลิตของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตัวพ่อที่สามารถผลิตโฆษณาชวนเชื่อเหลวไหลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด อ้างไปได้เรื่อยว่าปีนัง ทวาย มะริด ตะนาวศรี ฯลฯ เป็นของไทยแต่เสียไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แม้แต่นักชาตินิยมรุ่นหลวงวิจิตรวาทการยังไม่เคยเพ้อเจ้อไปไกลขนาดนั้น คือในระยะแรกที่วาทกรรมการ “เสียดินแดน” เริ่มปรากฏตัวนั้น อย่างมากก็เสนอว่าเสีย 3-5 ครั้งและทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงกับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยิ่งนานวัน จำนวนครั้งและดินแดนที่อ้างว่าเสียไปกลับมากขึ้นทุกที เพราะตัวเลขเหล่านี้ไม่มีหลักฐานหลักเกณฑ์ใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงการมอมเมาให้ไพร่ราษฎรหลงผิดงมงายกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม เอาความแค้นของเจ้ากรุงเทพฯและความคลั่งชาติมาเป็นความคิดของตน ยอมไปตายแทนเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองไทย

คนที่ยังหลงงมงายกับประวัติศาสตร์การ “เสียดินแดน” ก็เท่ากับยังหลงเชื่อประวัติศาสตร์แบบที่เจ้ากรุงเทพฯและพวกอำมาตย์ชาตินิยมต้องการ มีแต่คนที่รับใช้เจ้าจนตัวตายรับใช้เจ้านายห้วปักหัวปำเท่านั้นแหละที่เที่ยวป่าวร้องอยู่ในกรุงเทพฯให้ไพร่ราบทหารเกณฑ์ไปตายแทน

ชาตินิยมที่กำลังบ้าคลั่งอยู่ในขณะนี้ก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเรื่อง “เสียดินแดน” ปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมอย่างไม่ต้องสงสัย แถมยังมีอีกหลายแห่งรอบชายแดนประเทศไทย ไม่ใช่แค่ชายแดนกัมพูชา ที่ไม่มีทางแก้ตกง่ายๆ หรืออาจคาราคาซังแก้ไม่มีทางหมดสิ้นก็เป็นได้ เพราะรากเหง้าของปัญหามาจากระบบความสัมพันธ์ของรัฐแบบสมัยก่อนไม่ถือดินแดนที่ชัดเจนตายตัว กับความสัมพันธ์แบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่ถืออธิปไตยเหนือดินแดนที่ชัดเจนตายตัวเป็นเรื่องใหญ่ เข้ากันไม่ได้

การวางตัวเป็นเจ้าพ่อใหญ่อย่างที่ทำมาค่อนศตวรรษและกำลังทำอยู่ในขณะนี้ อย่างเก่งก็ชนะได้ชั่วคราว แล้วก็ต้องรบอีกครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายลงเลยสักนิด และหากจะใช้วิธีนี้คงต้องรบกับเพื่อนบ้านทุกด้ายตลอดแนวชายแดน เพราะมีปัญหาทั้งนั้น

การป่าวร้องว่าเขตแดนเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม เราจึงต้องไม่ยอมรับแผนที่ฝรั่ง ศาลฝรั่ง เขตแดนแบบฝรั่ง และจึงชอบธรรมที่จะไปเอาดินแดนคืนมา นี่เป็นเหตุผลแบบราชาชาตินิยมวิปลาศแบบสุดๆ คือ ถือว่าไทยยังเป็นเจ้าพ่อที่อ้างความเป็นใหญ่และเป็นเจ้าของดินแดนที่ไม่เคยเป็นของตน นี่ก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมตัวพ่อ

คนที่กล่าวหาว่าคนอื่น “โง่” 3-4 ชั้นหลงตามฝรั่งในเรื่องเส้นเขตแดนจนเสียดินแดนให้เขมร คือพวกเกลียดตัวกินไข่ เพราะ ชาติ ชาตินิยม อธิปไตยเหนือดินแดนแบบที่พวกเขาโฆษณาชวนเชื่ออยู่ ล้วนเป็นของที่ไทยรับเอามาจากฝรั่งทั้งนั้น ในเมื่อเราหลีกไม่พ้นที่จะต้องอยู่กับมาตรฐานความสัมพันธ์กันแบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่เริ่มมาจากฝรั่ง เราก็ควรรู้เท่าทัน รู้จักปรับตัว ไม่งมงายไปกับชาตินิยมหรือประวัิติศาสตร์อันตรายอย่างการ “เสียดินแดน” คนพวกนี้เที่ยวกล่าวหาคนอื่นว่าหลงฝรั่ง แต่กลับเสพติดงมงายกับสิ่งอันตรายที่ฝรั่งยุคอาณานิคมและยุคฟาสซิสต์ทิ้งไว้ให้สังคมไทย หยุดหลอกลวงประชาราษฎรไปตายแทนลัทธิราชาชาตินิยมเสียที หาทางออกที่มีอารยธรรมกว่าสงครามไม่ดีกว่าหรือ หรือว่าราชาชาตินิยมหมดท่าแล้ว จึงต้องใช้วิถีทางอนารยะบ้าคลั่งอย่างที่พยายามทำกันอยู่

หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ:”เสียดินแดน” เป็นประวัติศาสตร์หลอกไพร่ไปตายแทน (เพราะ “ไทย” ไม่เคยเสียดินแดน)

ประชาไท, Tue, 2011-02-08 08:14

ประวัติ : ธงชัย วินิจจะกูล (Thongchai Winichakul)
http://history.wisc.edu/people/faculty/winichakul.htm

ข้อคิดของ “อาจารย์ป๋วย” ถึงสงคราม “ไทย-กัมพูชา”, สรกล อดุลยานนท์

7 February 2011 Leave a comment

ตายอย่าง “บ้าๆ-โง่ๆ” ข้อคิดของ “อาจารย์ป๋วย” ถึงสงคราม “ไทย-กัมพูชา”

โดย สรกล อดุลยานนท์

ถามว่ามีคนไทยกี่คนที่ได้เห็นหรือเคยไปสัมผัสพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็น “พื้นที่ทับซ้อน” ของไทย-กัมพูชาบ้าง

เรื่อง “รักชาติ” หรือการรักษา “อธิปไตย” ของชาตินั้นพูดแล้วหล่อ ฟังแล้วเพราะ

แต่ถามว่า เคยตั้งคำถามไหมว่า “ชาติ” คืออะไร “อธิปไตย” คืออะไร

แค่ก้าวข้ามเส้นพรมแดนซึ่งต่างฝ่ายต่างเชื่อไม่เหมือนกัน แล้วหมายความว่า อีกฝั่งหนึ่งกำลังละเมิดอธิปไตยของเรา

คนที่คิดจะเจรจากันดีๆ กลายเป็นคนไม่รักชาติ

นึกถึงเด็กที่ทะเลาะกัน ใช้วิธีขีดเส้นเส้นหนึ่งขึ้นมาเหมือนเป็นเส้นพรมแดน

ท้าทายกันว่าแน่จริงก็เหยียบเส้นนี้สิ หรือเอาเท้าลบเส้นที่ขีดไว้สิ

สุดท้ายก็ชกกัน

เส้นพรมแดนนั้นเป็นแค่เส้นสมมุติ ว่าใครอยู่ประเทศไหน แต่ความจริงก็คือ ความสัมพันธ์ของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นเขตแดน ไม่ได้ขึ้นกับเชื้อชาติหรือสัญชาติ

คนภูมิซรอล จังหวัดศรีสะเกษ เขาไม่รู้จักคนกรุงเทพฯที่กำลังพูดเรื่อง “อธิปไตย” หรอกครับ

ทั้งที่เป็น “คนไทย” เหมือนกัน

แต่คนภูมิซรอลกลับคุ้นเคยและสนิทสนมกับคนกัมพูชาที่หมู่บ้านอยู่ติดกัน และเดินไปมาหาสู่กันเป็นประจำมากกว่า

ทั้งที่เป็นคนละชาติกัน

ครับ ระหว่างคนศรีสะเกษกับคนกรุงเทพฯ

ถามจริงๆ เถอะว่าใครควรจะเสียงดังเรื่องเส้นพรมแดน หรืออธิปไตยของชาติมากกว่ากัน

การปะทะกันเมื่อวันก่อน

ใครล่ะที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ฟังเสียงของเขาบ้างสิ

แค่ธงชาติเล็กๆ ผืนหนึ่งบนพื้นที่ทับซ้อน เราจะต้องรบกันเชียวหรือ

ถอยออกมาแล้วตั้งสติกันสักนิด

ผมนึกถึงข้อเขียนของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2519

“จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

เป็นแนวคิดเรื่องความต้องการพื้นฐานของอาจารย์ ป๋วย เป็นความฝันของคนธรรมดาคนหนึ่งที่เรียบง่าย ตั้งแต่วันแรกที่อยู่ใน “ครรภ์มารดา”

จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

อาจารย์ ป๋วยบอกว่า เมื่อแก่ เขาและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งได้จ่ายบำรุงตลอดมา

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

“เจริญ ผาหอม” ชาวบ้านภูมิซรอล ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คงตั้งคำถามเหมือนกัน

ทำไมเขาต้องตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ ด้วย

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554)

มติชน, 5 กุมภาพันธ์ 2554