Home > News and politics > ไฟที่ปลายอุโมงค์, สรกล อดุลยานนท์

ไฟที่ปลายอุโมงค์, สรกล อดุลยานนท์

ไฟที่ปลายอุโมงค์, สรกล อดุลยานนท์

สรกล อดุลยานนท์

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีมติรับ 5 คำร้องของวุฒิสมาชิกและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีมาตรา 68 ในวันที่ “ม็อบพันธมิตร” ชุมนุมล้อมสภากรณี พ.ร.บ.ปรองดอง

สถานการณ์การเมืองอาจไม่เป็นเหมือนที่เห็นในวันนี้

เพราะวันนั้น กลุ่มพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ

เนื้อหาใน พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เรียกแขกได้ดีมาก

ทั้งศัตรูของ “ทักษิณ” ที่ไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง แต่นั่งบ่นอยู่ที่บ้านก็ลงแรงลุกขึ้นมาค้านนอกบ้าน

กลุ่มคนที่อยู่กลางๆ ที่อยู่เฉยๆ ก็ไม่เห็นด้วย

ที่สำคัญคือกลุ่ม “คนเสื้อแดง” จำนวนไม่น้อยที่เคยเป็นแนวร่วมของ “ทักษิณ” ก็ส่ายหน้ากับการนิรโทษกรรมคนที่สั่งฆ่าประชาชน

แต่ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไพ่เรื่องมาตรา 68 ออกมา

สถานการณ์ก็พลิกกลับ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “จินตนาการ” จากเทพนิยายเรื่อง “รัฐบาลเทพประทาน” ในอดีตหวนคืนมาอีกครั้ง

“ม็อบพันธมิตร-พรรคประชาธิปัตย์” และ “ตุลาการภิวัฒน์”

ขาดแต่ “กองทัพ” เพียงกลุ่มเดียว

ไม่เช่นนั้นจะครบ “จิ๊กซอว์” เทพนิยาย “รัฐบาลเทพประทาน”

เพราะเมื่อมาตรา 68 นั้นรุนแรงถึงขั้น “ยุบพรรค” คนย่อมคิดถึงประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต

ไม่รู้ว่าคนที่เล่นเกมนี้ยังคิดว่าประเทศไทยยังเหมือนเดิมหรือเปล่าจึงทำให้เขาเล่นเกมแบบเดิมๆ

เพราะในความเป็นจริง เมืองไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว

พลังมวลชนของ “ทักษิณ” คือ กลุ่มคนเสื้อแดง วันนี้ขยายตัวมากขึ้นกว่าวันก่อน

ในมุมกลับ พลังมวลชนของอีกฝั่งหนึ่งก็ร่อยหรอลง

ส่วนความเชื่อความศรัทธาต่อบางองค์กรวันนี้ก็ลดน้อยลง

คำว่า “สองมาตรฐาน” จึงแจ้งเกิดได้ในสังคมไทย

เมื่อ “ผู้ใหญ่” ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เขาจึงทิ้งไพ่ใบเดิม

เกมที่กำลัง “ได้เปรียบ” จากกรณี พ.ร.บ.ปรองดองจึงพลิกกลับมาอยู่ในสถานะที่ “เสียเปรียบ”

เพราะคนเสื้อแดงกับ “ทักษิณ” ที่กำลังมีรอยร้าวหวนกลับมาจับมือกันแน่นกว่าเดิม

ในขณะที่เหตุผลในการรับเรื่องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มี “จุดอ่อน” ให้โจมตีมากมาย

สถานการณ์ที่พลิกกลับครั้งนี้ทำให้เกมแห่งการปรองดองเปลี่ยนไป

เพราะ “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทยเริ่มหวาดระแวง

จากเดิมที่เคยคิดว่าพยายามหา “จุดกลาง” ที่ 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ เช่น นิรโทษกรรม

วันนี้ชัดเจนแล้วว่าอีกฝั่งหนึ่งไม่ยอมแน่

บางทีเกมการปรองดองอาจต้องเปลี่ยนไปเหมือนที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” พูดไว้เมื่อวันก่อน

คือ ต้องชนะอย่างเด็ดขาดแล้วค่อย “ปรองดอง”

คงเหมือนกับสหรัฐอเมริกาถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดนิวเคลียร์จนราบคาบ

จากนั้นก็ร่างสัญญาสันติภาพขึ้นมา

คงไม่มีใครอยากเห็นเมืองไทยเป็นอย่างนั้น

แต่เมื่อมองลอดอุโมงค์แห่งความดำมืด

ทุกคนเห็นแสงสว่างที่อยู่ปลายอุโมงค์

แต่ไม่แน่ใจว่าแสงสว่างนั้นเป็น “ทางออก”

หรือเป็นเปลวไฟของการล้างผลาญที่กำลังลุกลามเข้ามาหาเรา

ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2555

มติชน, 09 มิถุนายน พ.ศ. 2555

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.

Leave a comment