Archive

Archive for November, 2010

กงเกวียนกำเกวียน โดย สรกล อดุลยานนท์

28 November 2010 Leave a comment

กงเกวียนกำเกวียน โดย สรกล อดุลยานนท์

ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร”

ต้องเผชิญหน้ากับ “กลุ่มพันธมิตร” ที่เคยรักใคร่กลมเกลียวกันมาก่อน

และเป็น “แนวร่วม” ในการขับไล่รัฐบาล “ทักษิณ-สมัคร-สมชาย”

ก่อนหน้านี้ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์” วิเคราะห์สถานการณ์แบบโยน “ระเบิด” ถามทางว่า “ม็อบพันธมิตร” ที่นัดชุมนุมกันในวันที่ 11 ธันวาคม มีบางคนต้องการสร้าง “เงื่อนไข” ให้ “กองทัพ” ทำรัฐประหาร

“รัฐประหาร” ในมุมของ “อภิสิทธิ์” คือ การพบกันระหว่าง “เชื้อเพลิง” กับ “ไฟ”

“เชื้อเพลิง” คือกลุ่มพันธมิตร

“ไฟ” คือ “กองทัพ”

ถ้ามีแต่ “เชื้อเพลิง” แต่ “ไฟ” ไม่เล่นด้วย การรัฐประหารก็ไม่เกิด

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “รัฐประหาร” ที่ “อภิสิทธิ์” จุดขึ้นมา หลายคนจึงมองว่า “ระเบิด” ที่โยนออกมาพุ่งเป้าไปที่ “กองทัพ”

มากกว่า “กลุ่มพันธมิตร”

จำได้ว่า “อภิสิทธิ์” เคยมีวาทกรรมหนึ่งที่คมคายอย่างยิ่ง

“การมีรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”

ครับ การรัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากที่เมืองไทยว่างเว้นการรัฐประหารมานานถึง 15 ปี

เมื่อการแก้ปัญหาทางการเมืองที่สุดแสนจะ “โบราณ” และ “ล้าหลัง” ถูกนำมาใช้อีกครั้ง “ความเป็นไปได้” ที่จะเกิดการรัฐประหารครั้งต่อไปจึงสูงขึ้น

“อภิสิทธิ์” ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

แต่พูดสั้นๆ แค่นี้ เพราะ “เนื้อหา” ส่วนใหญ่ “อภิสิทธิ์” จะพูดถึง “เงื่อนไข” ที่เกิดจากนักการเมืองมากกว่า

ในหนังสือ “ร้อยฝันวันฟ้าใหม่” ของ “อภิสิทธิ์” เขาบอกว่าการป้องกันการรัฐประหารที่ดีที่สุด คือ นักการเมืองต้องไม่สร้างเงื่อนไขแบบนี้อีก

ความผิดพลาดของ “อภิสิทธิ์” คือเขาไม่ปิดประตูตาย ปฏิเสธการรัฐประหารอย่างสิ้นเชิง

ระดับต่อให้เป้าหมายดีแค่ไหน นักการเมืองเลวเพียงใด “กองทัพ” ก็ไม่มีสิทธิรัฐประหาร

แต่แง้มประตูไว้นิดๆ ว่ารัฐประหารจะชอบธรรมเมื่อนักการเมืองสร้าง “เงื่อนไข” ขึ้นมา

ย้อนอดีตกลับไป จำ “เงื่อนไข” หรือ “เหตุผล” 4 ข้อที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใช้ในการรัฐประหารได้ไหมครับ

1.เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

2.รัฐบาลทุจริต ประพฤติมิชอบ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างกว้างขวาง

3.แทรกแซงอำนาจขององค์กรอิสระ

4.ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

อ่าน “เงื่อนไข” เหล่านี้แล้ว “อภิสิทธิ์” ก็มีสิทธิหนาวๆ ร้อนๆ

เพราะถ้าสถานการณ์เมื่อปี 2549 ยังบอกว่าสังคมไทยแตกแยก ปี 2553 ก็คงอยู่ในระดับแตกละเอียด

ส่วนเรื่องทุจริต รัฐบาลชุดนี้ไม่แพ้รัฐบาล “ทักษิณ” เผลอๆ จะชนะแบบขาดลอยด้วย

เรื่องแทรกแซงองค์กรอิสระ

คลิป “วิรัช” กับ “เลขาฯศาล” ก็ชัดยิ่งกว่าชัด

ส่วนเรื่อง “สถาบันเบื้องสูง” ครั้งก่อนกลุ่มพันธมิตรเป็นคนเปิดประเด็นโจมตี “ทักษิณ”

แต่ “อภิสิทธิ์” ไม่โดน มีแต่ข้อหาใหม่…”ขายชาติ”

ไม่แปลกที่วันนี้ “อภิสิทธิ์” จะมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมา

ทั้งที่ พล.อ.สนธิเคยสารภาพกับ “สำราญ รอดเพชร” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ว่าเขาคิดเงื่อนไข 4 ข้อนี้ขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 กันยายนหลังยึดอำนาจสำเร็จแล้ว

“4 ข้อนี้เราคิดขึ้นมาฉุกเฉิน ว่างั้นเถอะ ที่คิดว่ามีเหตุมีผล…”

ใครที่คิดว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

ให้กลับไปอ่านคำพูดของ “อภิสิทธิ์” อีกครั้ง

“การมีรัฐประหารทุกครั้ง เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ของการมีรัฐประหารครั้งต่อไป”

…อาเมน

มติชนออนไลน์, 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
(ที่มา คอลัมน์ สถานีความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553)

เมื่อชีวิตทางเลือกกลายเป็นสินค้า (ตอนที่ 2), อภิชาต สถิตนิรามัย

22 November 2010 Leave a comment

เมื่อชีวิตทางเลือกกลายเป็นสินค้า (ตอนที่ 2)

โดย อภิชาต สถิตนิรามัย apichat@ecom.tu.ac.th

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

ต่อจากฉบับที่แล้วผมเริ่มประเด็นการขยายตัวของสินค้าและการบริโภควัฒนธรรม ศาสนา และการศึกษาทางเลือก (Alternative culture, religion and education) ไปในส่วนของการศึกษาทางเลือก ซึ่งถูก popularize จนแทบจะกลายเป็นการศึกษากระแสหลักสำหรับชนชั้นกลางผู้มีอันจะกินไปแล้ว ฉบับนี้ผมขอพูดถึงอีกกรณีหนึ่ง คือ ปรากฏการณ์การเติบโตของศาสนาทางเลือก ซึ่งผมใช้ในความหมายรวม ๆ ทั้งสายปฏิบัติ วิปัสสนา สายพระป่า เช่น แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต, เสถียรธรรมสถาน, โกเอ็นก้า ฯลฯ หรือสายพระก้าวหน้า พระนักคิดพระนักกิจกรรม เช่น ท่านพุทธทาส, พระไพศาล วิสาโล, ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต ฯลฯ ซึ่งเดิมเป็นที่เคารพศรัทธากันเฉพาะในคนกลุ่มเล็ก ๆ รวมทั้งการประสบความสำเร็จของพระนักเทศน์รุ่นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ว.วชิรเมธี หรือพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่-วัยรุ่น

สำหรับผมปรากฏการณ์นี้คงไม่เพียง แค่ว่า ชนชั้นกลางไทยกำลังวิ่งเข้าหาศาสนาเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ หรือเป็นเพียงความดัดจริตของชนชั้นกลางในการเข้าหาศาสนาเพียงเพื่อพิธีการ เอาเปลือกไม่เอาแก่นของศาสนาพุทธ แต่ประเด็นของผมคือ ศาสนาในฐานะสินค้าทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถปรับตัวเจาะตลาดกลุ่มชนชั้นกลางโดยการเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดที่ชนชั้นกลางกำลังแสวงหา กลายเป็นศาสนาที่สอดรับกับรสนิยมและความต้องการของคนกลุ่มนี้

ในขณะที่ชีวิตมั่นคงมากขึ้น lifestyle และมาตรฐานทางจริยธรรมของชนชั้นกลางระดับสูง เริ่มขยับตัวออกห่างจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งพวกเขาเหยียดว่า ยึดติดศาสนาเพียงพิธีกรรม และเสพติดกับความงมงาย นับตั้งแต่อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ตลอดจนการใบ้หวย สิ่งที่พวกเขาแสวงหาจึงเป็นศาสนาที่จะต้องฉีกตัวออกจาก “อัปลักษณ์” ข้างต้น ศาสนาของคนชั้นกลางจะต้องแตกต่างออกไป และจะต้องสะท้อนจริตความเป็นชนชั้นกลางระดับสูงของตน (ต้องเท่ด้วย !) เห็นได้ว่าในปัจจุบันสิ่งที่พระหรือแม่ชีดัง ๆ ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากชนชั้นกลางนั้น หาใช่ความสามารถในการเข้าฌาน-สมาธิ การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือการใบ้หวย แต่บุคคลเหล่านี้มีลักษณะหลัก 2 อย่าง คือ

หนึ่ง ความสามารถและทักษะในการ เข้าถึงและสื่อสารกับชนชั้นกลาง ทั้งในแง่เนื้อหา ภาษา และเทคนิค ประเด็นการทำงานของพระไพศาลที่เน้นด้านสันติวิธี อหิงสา และการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่านั้นสอดคล้องกับจริตของชนชั้นกลางทางเลือกทั้งหลายที่รักสันติ เน้นปรองดอง รักต้นไม้ ใบหญ้า ท่วงทำนองการเทศน์ ว.วชิรเมธี ที่นุ่ม ๆ และเน้นการให้กำลังใจและสอนให้คนที่เหนื่อยล้ารู้จักช้าลง ก็เป็นที่จับจิตจับใจสำหรับชนชั้นกลางที่ต้องเผชิญกับชีวิตการทำงานในเมืองที่วุ่นวายอยู่ตลอดเวลาหรือสำหรับธรรมะจานร้อน หรือธรรมะ delivery ของพระมหาสมปอง ที่เน้นเทศน์ด้วยศัพท์ เนื้อหา ลีลา ทันสมัย ก็สามารถเจาะกลุ่มวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าท่านจะทำโดยรู้ตัวหรือตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ละท่านที่ว่ามานี้ต่างประสบความสำเร็จได้เพราะสามารถพัฒนาลักษณะเฉพาะ (product uniqueness) ของตัวเองจนสามารถเจาะเข้าสู่กลุ่มหรือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (niche market) ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

สำหรับเครื่องมือรูปแบบใหม่ ๆ ในการสื่อสารนั้น มีตั้งแต่การ popularize พระผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ พระที่ประสบความสำเร็จแต่ละท่านต้องเป็นนักเขียนตัวยง (ถึงไม่เขียนเองก็ต้องมีถอดเทปเทศน์) ปี ๆ หนึ่งไม่มีใครที่ออกหนังสือน้อยกว่าหนึ่งเล่ม จนหมวดหนังสือธรรมยึดพื้นที่จำนวนมหาศาลในร้านหนังสือชั้นนำทุกที่ นอกจากหนังสือแล้วยังมี Gimmick อื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปฏิทิน แก้วน้ำ ปากกา ตัวอย่างขำ ๆ คือใครจะเชื่อว่าวันหนึ่งปฏิทินท่านพุทธทาสจะกลายเป็นปฏิทินพระที่ขายดีที่สุด และตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของสาวหนุ่มออฟฟิศ ทั้งที่ในสมัยหนึ่งท่านเคยเป็นพระที่ถูกประณามว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ นอกจากสิ่งพิมพ์แล้ว พระและแม่ชีเกือบทุกองค์ที่เป็นที่นิยมมักมีเครื่องมือสื่อสารกับฆราวาสทาง website, youtube, facebook, twitter, webblock ฯลฯ เอาเป็นว่าถ้าใครได้ (หรือหลง) เข้าไป add พระไพศาล หรือ ว.วชิรเมธี เป็นเพื่อนแล้วละก็ ท่านจะได้ของดี ๆ จากท่านเหล่านี้วันละ 3 เวลาเลยทีเดียว

สอง การจัดเตรียมชุดพิธีกรรม (ceremony package) ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต หรือ lifestyle ของชนชั้นกลาง ความสามารถในการแสดงธรรมเทศนาอย่างเดียวไม่พอ การจัดเตรียมวัดที่ร่มรื่น สงบ สะอาด-สะอ้าน และมีชุดธรรมกิจกรรมให้กับคนทุกกลุ่มในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากที่ชนชั้นกลางต้องการ หรือถ้าเรียกให้ถูกก็ต้องบอกว่า ความสำเร็จจะเกิดได้นั้นวัดต้องสามารถปรับตัวให้กลายเป็น “สปาทางอารมณ์” และ “สปาทางจิตวิญญาณ” ให้ได้ด้วย เช่น ที่เสถียรธรรมสถาน เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของผมไปใช้บริการอยู่เป็นประจำ เธอบอกว่าชอบมาก เช้าพาลูก ๆ ไปนั่งสมาธิกับแม่ชีศันสนีย์มีกิจกรรมเพนต์หน้าลูก ๆ ในขณะที่แม่ ๆ นั่งสมาธิ เที่ยงมีอาหารมังสวิรัติที่ใช้ผักออร์แกนิกให้กิน บ่าย ๆ พอลูกหลับ แม่ ๆ ก็ไปสวด เดินจงกรม โยคะ และที่สำคัญเธอเชื่อว่าการนั่งสมาธิไม่ใช่แค่ทำให้ลูกของเธอมีสมาธิ แต่จะทำให้เรียนเก่ง

นอกจากธรรมกิจกรรมสำหรับครอบครัวแล้ว คอร์สการนั่งสมาธิประสบความสำเร็จมาก หากมองในแง่ธุรกิจนอกจากจะมีความต้องการ (demand) ของชนชั้นกลางที่ต้องการหาทางบำบัด (ทางอารมณ์และจิตวิญญาณ) ทุกข์แล้ว supply ยังเติบโตเป็นดอกเห็ด มีทุกระดับ ทุกเวลา บางที่อยู่ในพื้นที่ป่าวิวสวยแบบสวิตเซอร์แลนด์เลยก็มี เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ต้องพูดถึง ไม่มีอีกแล้วปักกลด กลางป่า ซักผ้าเอง เพราะสถานปฏิบัติธรรมสมัยนี้มาตรฐานระดับรีสอร์ต

ในแง่นี้การเข้าคอร์สนั่งสมาธิแบบนี้ ไม่ใช่การเข้าวัดเข้าวาเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่มันกลายเป็นการผ่อนคลายจากสังคมที่วุ่นวาย ซึ่งเฉพาะคนที่รวยพอและมีเวลาเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่ระดับเจ้าของกิจการ/แม่บ้าน full-time ที่สามีเลี้ยงก็คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงกิจกรรมทางศาสนาแบบนี้ ตัวอย่างใกล้ตัวเลย แฟนผมซึ่งต้องถือว่าเป็น typical ชนชั้นกลาง เธอมักไปนั่งสมาธิ 10 (แบบห้ามพูดกันตลอดทั้ง 10 วัน) อย่างน้อยปีละรอบสองรอบ พี่สาวของผมที่มีกิจการเป็นของตัวเองเนี่ย มีกิจกรรมในวันหยุดคือ การตระเวนหาที่นั่งสมาธิ-เอาแบบให้ถูกรสนิยมสุด ๆ พี่สาวอีกคนนึ่งซึ่งเป็นแม่บ้าน full-time ปีหนึ่งอย่างน้อยต้องไปนั่งสมาธิ 3-4 ครั้ง ไปที 3-4 วัน เพื่อผ่อนคลายจากการรบกับลูกที่บ้าน สำหรับคนทำงานที่บ้านผมเนี่ย เนื่องจากเป็นชนชั้นแรงงานจึงไม่ค่อยมีโอกาสจะลาเจ้านายไปนั่งสมาธิยาวหลาย ๆ วันได้ ก็เสียบหูฟังเทศน์และธรรมเสวนาแทบจะแบบ 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว

สำหรับเรื่องศาสนาผมว่าเอาสั้น ๆ แค่นี้ก่อนละกันนะครับ เอาแค่พอหอมปากหอมคอ พอชวนให้ท่าน ๆ มองศาสนา ผ่านแว่นทางโลก (secular world) กันดูบ้างแล้วกัน ผมยังกังวลอยู่เลยว่าถ้า คนที่บ้านผมหรือเพื่อน ๆ (ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง) ได้มาอ่านเข้า ผมคงไม่วายถูกประณามว่าเป็นพวกไม่มีศาสนา ไม่เอาพระเอาเจ้า ดูหมิ่นศาสนา ฯลฯ แค่คิดก็หูชาแล้วครับ

ประชาชาติธุรกิจ, 18 พฤศจิกายน 2553

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่หลากหลาย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

6 November 2010 Leave a comment

การต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่หลากหลาย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

แม้ว่าสังคมไทยจะประกาศว่ามีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนเสมอภาคกัน แต่ในชีวิตปกติทุกคนในสังคมไทยก็รู้อยู่แก่ใจว่าสังคมไทยมีลำดับชั้น แต่สังคมไทยพยายามทำให้ลำดับชั้นนั้นบาดอารมณ์ของสังคมให้น้อยลงด้วยการ เคลือบด้วยการเสแสร้งว่าอย่างน้อยก็เท่ากันในความเป็นไทย เพราะทุกคนเป็นคนไทยเหมือนกัน ซึ่งจะต้องกล่าวให้ชัดเจนว่า “คนไทยเหมือนกัน” จะถูกใช้ในยามที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมอันเกิดจากความเป็นคนไทย ที่ไม่เท่ากันและไม่เหมือนกันนั้นเอง

ความเป็นไทยจึงเป็นเรื่องของระบอบการสร้างการ ยอมรับอำนาจและสิทธิพิเศษ (Power and Privilege) ของคนบางกลุ่มในสังคมว่ามีมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เราอาจจะรู้สึกว่าจะนิยามหรือให้ความหมายความเป็นไทยได้ยากมาก แต่ลองนึกถึงข้อกำกับพฤติกรรมในชีวิตจริงประจำวันของเราแต่ละคน ก็จะรู้สึกถึงความเป็นไทยที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของเราได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ท่าทีในการคุยกับ “ผู้ใหญ่” แม้แต่คำนิยามความเป็นไทยแบบง่ายๆ และคลุมความหมายทางชาติพันธุ์ไว้ เช่น ความเป็นไทย/คนไทยมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นก็เป็นความจริงในความ สัมพันธ์เชิงลำดับชั้น เช่น เอื้อเฟื้อต่อ “ผู้น้อย” ที่ต้องสยบต่อ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่การเอื้อเฟื้อในลักษณะที่เท่าเทียมกัน หมายความว่าหากคุณไม่หือ เราก็จะดูแลและเอื้อเฟื้อต่อคุณต่อไปนั้นเอง

ระบอบอำนาจและสิทธิพิเศษ (Power and Privilege) ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนในสังคมมาเนิ่นนานภายใต้เสื้อคลุมลักษณะทาง “ชาติพันธุ์ไทย” ครอบคลุมมิติทุกมิติไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในมิติใด ก็จะมีผลกระทบต่อไปยังมิติของชีวิตด้านอื่นๆ ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง ที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจของบรรดา “ผู้น้อย” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ให้ก้าวข้ามเส้นความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงของการเป็นเจ้าของอู่แท็กซี่ ซึ่งเดิมนั้นเป็น เจ๊กดาวน์ ลาวผ่อน แต่ตอนนี้เป็น ลาวดาวน์ ลาวผ่อน (ประมาณการว่าเจ้าของแท็กซี่ให้เช่าตอนนี้เป็นคนอีสานร้อยละห้าสิบ)

ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจก็ได้ทำ ให้เกิดความพยายามต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมด้วยการผลักดันแทรกวัฒนธรรมของ ชาติพันธุ์ “ผู้น้อย” เข้ามาในพื้นที่ของวัฒนธรรมไทย ดังที่ได้กล่าวถึงเพลงและตลกอีสานไว้ในคราวก่อนหน้านี้

นอกจากการก้าวข้ามเส้นกีดขวางทางเศรษฐกิจ และการแทรกเข้ามาในวัฒนธรรมไทยแล้ว ความต้องการอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้อื่นจึงเป็นแรง ผลักดันทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยหันไปพึ่งและ/หรือหยิบฉวยเอา “บุคคล” ที่เอื้ออำนวยให้พวกเขามีโอกาสที่จะก้าวพ้นความไม่เท่าเทียมมาใช้เป็น ประโยชน์ทางการเมือง

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันนั้น ถูกตอบโต้อย่างรุนแรงเพราะการเคลื่อนไหวนั้นกำลังจะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบใหม่ แต่ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความคิดหลักเดิมอยู่นั้นคือ “ความเป็นไทย” หากแต่เป็น “ความเป็นไทย” ในอีกความหมายหนึ่งเท่านั้น

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ต้องการทำลาย “ความเป็นไทย” ดังที่จะเห็นว่าคำตอบโต้ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ยังคงใช้ฐานคิดของ ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น คนไทยด้วยกันทำไมต้องฆ่ากันเช่นนี้ หรือในขณะที่มวลชนนินทาชนชั้นนำอยู่ แต่ข้างบนเวทีก็ยังคงแสดงการยอมรับอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำอยู่ แม้ว่าคนบนเวทีจะอ้างว่าเป็นการเสแสร้ง แต่การที่พวกเขาต้องเสแสร้งเช่นนั้นก็เพราะรู้ดีว่าการนินทาของคนที่อยู่ ข้างล่างเวทีไม่ได้แสดงถึงความสุกงอมทางความคิดเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ให้ได้ตามใจตนเอง

สภาวะคู่ขนานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองใน สังคมไทยเช่นนี้ แตกต่างไปจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างความคิดหลักในสังคมอื่นๆ เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ด้านหนึ่งก็ยอมรับที่จะอยู่ร่วมในสังคมนี้ ต่อไป ไม่ได้ต้องการที่จะสร้าง/แยกออกไปสร้างสังคมใหม่ คนส่วนใหญ่ก็ยังยอมรับในระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งก็หมายความว่าไม่ได้ต้องการหมุนสังคมทุกนิยมไทยไปสู่สังคมที่มีการจัด ระบอบกรรมสิทธิ์แบบอื่นๆ

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการนินทาชนชั้นนำจะขยายตัวสะพรั่งมากขึ้นกว่าเดิมมากนั้น หากตามไปฟังวงการนินทาแล้ว ก็จะพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคม ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มชนชั้นกลางที่อยู่อีกฝั่งการเมืองหนึ่งเคยทำมาก่อนหน้านี้ (แน่นอนว่า ในปีกซ้ายสุดย่อมแตกต่างออกไป แต่ผมหมายถึงคนส่วนใหญ่) กลุ่มชนชั้นกลางกลับทำเป็นลืมพฤติกรรมการนินทาที่ตนเองเคยทำมาอย่างเมามันไปเสีย

การต่อสู้ทางการเมืองในวันนี้จึงเป็นการต่อสู้ เพื่อจะช่วงชิงการนิยามความหมายความเป็นไทยให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึก นึกคิดของกลุ่มตน

ดังนั้น หากเรามาร่วมกันสร้างคำนิยาม “ความเป็นไทย” ให้กว้างพอที่จะรับความคิดทุกคนได้และพยายามทำให้ความหมายของความเป็นไทยที่ นิยามขึ้นใหม่นั้นสามารถกำกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดคนได้จริงๆ การต่อสู้ทางการเมืองก็จะหันเหเข้าสู่ระบบที่ไม่ต้องรบและฆ่ากันอีก

ผมเสนอว่าเราควรจะนิยาม “ความเป็นไทย” ว่าเป็นความรักใน “ความยุติธรรมและเสมอภาคภาค” ซึ่งก็จะสอดคล้องและกว้างขวางพอที่จะรองรับความรู้สึกนึกคิดของคนทุกกลุ่มใน สังคมไทยได้

หากความรักใน “ยุติธรรมและเสมอภาค” ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับ “ความเป็นไท” (ไม่มี ย.ยักษ์) และกลายมาเป็นหลักใน “ความเป็นไทย” ได้ เราทั้งหมดก็จะได้เข้ามาร่วมกันค่อยๆ ประคองสังคมไทยให้เดินไปสู่ความยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้น ชนชั้นนำไทยก็จะสามารถหันกลับปรับตัวเข้ามาสู่ความเป็นไทยได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งป้อมทำลายล้างกัน คนกลุ่มใหม่ก็จะเป็นพลังหลักในการสร้างสังคมเสมอภาคและยุติธรรม

ผมเสนอเช่นนี้ ก็เพราะคิดว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นโดยปราศจากรากฐานทางประวัติ ศาสตร์ และไม่เคยมีความพยายามยับยั้งความเปลี่ยนแปลงหรือแช่แข็งสังคมประสบความ สำเร็จได้ในประวัติศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา หากเราสร้างอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเงื่อนไขให้คนแต่ละกลุ่มในสังคมยึดเอาไว้ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้อย่างสันติที่สุด ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ลองทำครับ

กรุงเทพธุรกิจ, วันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

—————————————-

ประวัติ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หนึ่งในผู้ร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากประเทศญี่ปุ่น
จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย