Archive

Archive for December, 2008

นักกฎหมายมหาชนไทย:นำพาประเทศไทยลงเหว?

28 December 2008 Leave a comment

2 ด็อกเตอร์วิพากษ์ 10 ปีนักกฎหมายมหาชนไทย:นำพาประเทศไทยลงเหว?

ผู้ที่ชี้แนวทางให้กับนักกฎหมายไทยนั้นท่านมีแนวทางหรือไม่ หรือท่านเองก็หลงทาง เพราะในที่สุดแล้วท่านก็พานักกฎหมายมหาชน ลงคลอง และประเทศไทยลงเหวไปด้วยในสภาพที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราลงเหวไปแล้ว

หมายเหตุรศ. ดร.วิษณุ วรัญญู ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงปาฐกถา ในงาน 1 ทศวรรษหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “10 ปีนักกฎหมายมหาชนไทย: ฤาจะเดินหน้าลงคลอง”  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551

จากการแสดงปฐกถาดังกล่าว บุคคลทั้งสองเห็นว่า การใช้และตีความกฎหมายของนักกฎหมายมหาชนในช่วงที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามหลักวิชาและหลักกฎหมาย ถึงขั้นพา”ประเทศไทยลงเหว”ไปแล้ว

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดจากการแสดงปฐกถาดังกล่าว


 

รศ. ดร.วิษณุ วรัญญู ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

เป็นหัวข้อที่พูดลำบากเพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ Controversial คือทำให้เกิดการปะทะกันได้ง่าย ๆ และหากประเด็นที่ผมนำเสนอจะให้ไม่ถูกอกถูกใจ อยากจะตอบโต้ก็ขอให้พูดจากันดีๆ

ประเด็น 10 ปี กฎหมายมหาชนไทย หัวข้อนี้ชวนให้คิด กรอบความคิดในเรื่องนี้ตั้งเหมือนกับว่า นักกฎหมายมหาชนตั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จริงๆ แล้วมันชวนให้คิดว่า หลักสูตรนี้เมื่อ 10 ปีผ่านไปได้สร้างนักกฎหมายมหาชนจริงหรือไม่ แต่จริงๆ แล้วเมื่อย้อนกลับไปว่า เราผลิตนักกฎหมายมหาชนแล้วเดินหน้าลงคลองหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีที่แล้วก็มีการอภิปรายทำนองนี้

แล้วมีคำถามที่สำคัญมาก และเป็นคำถามที่หลายคนถือว่า มีการจุดประกายให้มีความตื่นตัวของกฎหมายมหาชนคือ นักกฎหมายหลงทางหรือไม่ แล้ววันนั้นวิทยากร หรือปาฐกที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันเป็นกูรูของนักกฎหมายมหาชนก็ตอบว่า นักกฎหมายไม่หลงทางหรอก เพราะนักกฎหมายไม่มีแนวทาง เมื่อสามสิบปีที่แล้วเป็นคำถามที่ก้องอยู่ในหมู่นักกฎหมายมหาชน

ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจึงจะมีหลักสูตรกฎหมายมหาชนขึ้นมา เมื่อย้อนไปดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ก็มีความรู้สึกส่วนตัวว่า เราก็ยังหลงทางอยู่ มีความรู้สึกว่า ท่านที่มาชี้แนวทางให้ท่านก็ไม่รู้แนวทางเหมือนกัน เพราะเหตุว่า ถ้าท่านรู้ก็ควรชี้มา ทำไมจึงนำมาสู่สภาพปัจจุบัน แล้วที่สำคัญคือ มันไม่ได้ทำให้นักกฎหมายมหาชนลงคลองคนเดียว แต่ทำให้ประเทศไทยลงเหวไปด้วย ซึ่งนี่เป็นความรับผิดชอบของนักกฎหมายมหาชน

มีข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ใดที่นำมาสู่ข้อสังเกตที่ว่า ผู้ที่ชี้แนวทางให้กับนักกฎหมายไทยนั้นท่านมีแนวทางหรือไม่ หรือท่านเองก็หลงทาง  เพราะในที่สุดแล้วท่านก็พานักกฎหมายมหาชน ลงคลอง และประเทศไทยลงเหวไปด้วยในสภาพที่ประเทศไทยเป็นอยู่ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเราลงเหวไปแล้ว

เอาตัวอย่างง่ายๆ หนึ่งในหลายประเด็นเป็นคำถามที่ผมได้ยินชาวต่างประเทศพูดกันมาก ว่า เขาไม่เข้าใจระบบกฎหมายเมืองไทยว่า ทำไมการไปออกโทรทัศน์ทำอาหารผิดหนักจนกระทั่งออกจากตำแหน่งไป แต่ยึดสนามบินยึดทำเนียบผิดกฎหมายชัดๆ ยังไม่เห็นมีใครดำเนินการอะไรเลย มิหนำซ้ำ ยังเห็นหน้าในหนังสือพิมพ์ ยังมาเจรจากับตำรวจส่งมอบทำเนียบและสนามบินอีกต่างหาก ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจับไปแล้วไม่ต้องมีหมายจับ

นี่เป็นสิ่งที่คนไทยก็ตอบไม่ถูกว่า เกิดอะไรขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความอึดอัด ความกระอักกระอ่วนใจในการประกอบอาชีพของพวกเรา

กลับมาถึงสิ่งที่เราตั้งประเด็นไว้  ว่า นักกฎหมายโดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชนพาประเทศไปลงเหว ผมขออนุญาตใช้เกณฑ์ ซึ่งอาจจะมีข้อโต้แย้งได้ แต่ไม่สองมาตรฐาน

ผมขอใช้เกณฑ์ตามหลักของต่างประเทศที่ผมเรียนมา แม้ว่า จะมีคนต่อว่าว่า ของประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะใช้ตามของต่างประเทศไม่ได้หรอก ซึ่งหากทำอย่างนั้นเราจะไม่มีเกณฑ์อะไรเลย

เกณฑ์ต่างประเทศคือเกณฑ์เรื่องนิติรัฐกับหลักประชาธิปไตย เมื่อสอบทานย้อนไปสามปีที่ผ่านมา บทบาทของนักกฎหมายมหาชน มันจะเกิดคำถามสำคัญๆ นักกฎหมายมหาชนเพิกเฉยต่อการละเมิดหลักนิติรัฐได้อย่างไร

มีนักกฎหมายระดับกูรูออกมาสนับสนุน ออกมาช่วยเหลือให้ความเห็นหรือแม้กระทั่งไปร่วมงานหรือแม้กระทั่งอยู่เฉยไม่ตำหนิได้อย่างไร การยึดอำนาจเป็นการกระทำต่อหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยอย่างรุนแรงที่สุด ถามว่านักกฎหมายมหาชนไปสนับสนุนได้อย่างไร ไปร่วมดำเนิน การสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างไร

นี่เป็นคำถามหลักแล้วคำตอบจะโยงไปยังเหตุการณ์ข้างหน้าด้วย และผมไม่แน่ใจว่า ข้างหน้าจะมีการยึดอำนาจอีกก็ได้ แล้วนักกฎหมายมหาชนยังจะทำเช่นนั้นอยู่อีกหรือ

ประการที่ 2 ในระบบนิติรัฐ กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องสำคัญ การที่กฎหมายรัฐธรรมนูญวางไว้อย่างหนึ่ง แต่การปรับใช้ เราเห็นได้ชัดๆ ว่า มันไม่ถูกหลัก กลับนิ่งเฉยกันมาก ไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นให้กระจ่าง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่ผมเรียนในต่างประเทศ  เอาตำรามากางดูได้ ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญแยกไว้เป็นสองเรื่อง คุณสมบัติในการเข้าสู่ตำแหน่ง คือสิ่งที่ผู้เข้าดำรงตำแหน่งต้องมีอยู่ในวันที่ดำรงตำแหน่งซึ่งได้รับการตรวจสอบดูแล้ว คือ ถ้าครบแล้วก็แต่งตั้งได้ กับอีกหลักหนึ่งเรียกว่า ลักษณะต้องห้าม ไม่ใช่คุณสมบัติ ไม่ได้ดูในวันที่เขาได้รับแต่งตั้ง แต่เป็นสิ่งต้องห้าม เมื่อดำรงตำแหน่งแล้วห้ามกระทำ แล้วผลของสองเรื่องนี้ก็ไม่เหมือนกัน การขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งก็ไม่ชอบ แต่ลักษณะต้องห้ามเมื่อพบก็ต้องเลิกกระทำ

แต่ในบ้านเรา ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างอาจจะโดยไม่รู้ ท่านไปคาดหวังว่า ผู้ร่างฯ รู้ไม่ได้นะครับ เพราะบางทีผู้ร่างฯ ก็ไปล็อบบี้กันเอง ผมเคยเจอสภาพนี้มาแล้วยืนยันได้ เพราะฉะนั้นแล้วในรัฐธรรมนูญบางทีเขียนหลักการในบางเรื่องออกไป ทั้งๆ ที่ผิดก็คือโดยไม่รู้ คือ การระบุคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เอาไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดความสับสน

เอาตัวอย่างง่ายๆ ที่ต่างชาติเขางง เราเป็นประเทศที่ทันสมัย ทัดเทียมต่างประเทศ แต่หลักอันนี้ทำให้คนพ้นจากตำแหน่งได้อย่างไร คือ การห้ามไม่ให้ไปเป็นลูกจ้าง กรณีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นกรณีที่ absurd (ไร้สาระ-น่าหัวเราะ) ที่สุด ไปประกอบกิจการ อันนี้ต่อให้ตีความว่า เป็นลูกจ้างก็ตาม เป็นการกระทำในสิ่งต้องห้ามเท่านั้น มันไม่ใช่คุณสมบัติ มันก็มีผลเพียงว่า ต้องแจ้งไปให้เขาเลิกกระทำเท่านั้น โดยองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบ แต่นี่ระบบของเราทำไมแปลกประหลาดอย่างนี้ และไม่มีนักกฎหมายมหาชนที่เป็นกูรูออกมาตั้งข้อสังเกต

ตัวอย่างที่สาม ในเวลาที่เรายึดอยู่กับเรื่องนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย ในเวลาที่เรียนกฎหมาย รัฐธรรมนูญ ก็จะควบคู่มากับหลักความเป็นสูงสุดของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ คือการกระทำขององค์กรต่างๆ ของรัฐจะขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

การกระทำของศาลก็เช่นเดียวกัน ขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ในบ้านเราพูดกันแต่เฉพาะควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ  มีการพูดถึงการกระทำของฝ่ายบริหารไม่ให้ขัด แต่ไม่ได้พูดถึงว่าการกระทำของศาลถ้าขัดกับรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร

โดยความเคารพในการพิจารณาคดีๆ หลายๆ คำพิพากษามีคำถามใหญ่ๆ ว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และถ้าขัดแล้วใครจะตรวจสอบ ในต่างประเทศจะยกสุภาษิตว่า ใครจะควบคุมผู้ควบคุม

ขณะเดียวกันในโครงสร้างในองค์กรของบ้านเราที่กลไกการเข้าสู่ตำแหน่งยังไม่รัดกุมเหมือนกันในทุกๆ องค์กร นี่เป็นเพียงสามตัวอย่างที่ผมคิดว่า เป็นเรื่องน่าคิดและท้าทายว่าเราจะคิดอย่างไร

สิบปีของการมีหลักสูตรในการสร้างนักกฎหมายมหาชนนี้ผมคิดว่า เป็นระยะเวลาที่สั้นมากในประเทศไทยที่จะประเมินว่า เราได้นักกฎหมายมหาชนแท้จริงหรือยัง ได้นักกฎหมายมหาชนที่มีวิสัยทัศน์ ที่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง นำความผาสุกมาสู่ประชานได้หรือยัง แต่จุดเริ่มต้นมีความสำคัญเพราะถ้าจุดเริ่มต้นไม่ดี ผลผลิตก็จะไม่ดีแน่นอน

ผมก็อยากจะกระตุ้นให้ใช้เวทีนี้ ฝากข้อคิดกับท่านทั้งหลายในฐานะที่เป็นนักกฎหมายมหาชนต้องพยายามมองให้เห็นชัดเจน อย่างน้อยท่านต้องมีความคิดเป็นของตนเอง จะยอมให้คนอื่นมากำหนดทิศทางให้เราไม่ได้ แล้วถ้าแนวทางที่มีใครมาเสนอนั้น หากไม่ถูกต้องก็ต้องมีการทัดทาน โต้แย้ง มีเบรก ไม่เฮละโลกันไป

ผมไปอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้วไปชื่นชมศิลปวัฒนธรรมของต่างประเทศ ขณะที่ผมก็ยังชื่นชมศิลปวัฒนธรรมไทย และสิ่งหนึ่งผมชอบมากคือโอเปรา คือ Marriage de Figaro การสมรสของฟิกาโร แต่งโดยโมสาร์ต ปีที่แต่งใกล้เคียงกับปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นงานปฏิวัติเพราะเป็นงานที่ท้าทายชนชั้น เอาชนชั้นสูงมาล้อเล่น ว่า เป็นคนบ้ากาม เป็นตัวตลก และเคยถูกห้ามแสดง

สิ่งที่ผมติดใจโอเปร่าเรื่องนี้ ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมายฟังแล้วสะดุดหูมาก มีตัวละครอยู่ตัวหนึ่งเป็นทนายหน้าหอ ในบทร้องที่มีชื่อมาก ประโยคหนึ่งที่สะท้อนสภาพกฎหมายในบ้านเราปัจจุบันกล่าวว่า “คุณร่างกฎหมายมาเถอะ ข้าพเจ้าจะค้นตำราและจะใช้กลเม็ดเด็ดพรายทุกอย่างที่จะทำให้กฎหมายนั้นสิ้นผล”  นี่เป็นสิ่งที่จี้เข้าไปในใจดำของนักกฎหมายว่า คุณเป็นนักกฎหมายอย่างนั้นหรือเปล่า คือสามารถทำให้กฎหมายนั้นสิ้นผล หรือเกิดผลที่คุณต้องการ นี่เป็นสภาพที่เกิดขึ้นในบ้านเราซึ่งเป็นสภาพที่ไม่น่ายินดีเลย ก็ต้องดูต่อไปว่าเราจะพ้นไปจากสภาพที่ไม่น่ายินดีนี้อย่างไร พระมหาชนกจะพ้นไปจากการเป็นเหยื่อของเต่าปลาได้หรือไม่

วันนี้อาจารย์วรเจตน์ ภาครัตน์ (หัวหน้าพรควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้เปรียบผม เพราะเป็นนักวิชาการที่เป็นอิสระในการพูด

อีกประการหนึ่งที่ผมอยากจะเสริมอาจารย์วรเจตน์ก็คือตอนที่ผมเห็นรายงานในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการสัมมนาที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา (วันที่ 16-17 ธันวาคมที่ผ่าานมาจัดโดยสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย) คือเกี่ยวกับกระแสตุลาการภิวัตน์ ถ้าฟังแล้วไม่คิดไปลึกๆ ก็อาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ไม่น่าจะถูก คือการเอาเรื่องตุลาการภิวัตน์ว่า เอามาตัดสินคดี ว่า ในต่างประเทศเขาก็ทำอย่างนี้แหละคือทำการเมืองให้เป็นกฎหมาย

การทำการเมืองให้เป็นกฎหมายนั้นเป็นข้อเสนอที่นักคิดบางคนคิดว่าการเมืองไม่มีหลักมีเกณฑ์ แต่ถ้าท่านจะพูดให้ครบถ้วนก็มีอีกความคิดหนึ่งสวนขึ้นมา ก็คือ การวางกรอบกฎหมายให้กับการเมือง

การทำการเมืองให้เป็นกฎหมายคือ เอาตุลาการมาตัดสินคดีที่เป็นการเมือง กับการวางกรอบในทางกฎหมายในกับการเมือง คือการวางกรอบให้การเมืองเดินอยู่ข้างในกรอบของกฎหมายโดยดูอยู่ข้างนอก ในต่างประเทศเขายังไม่ได้ยอมรับความคิดแรกอย่างเต็มที่ ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เพราะอันตราย

เช่น นาย ก. ฟ้องนาย ข. บอกว่า นาย ข. ติดเงินกู้ไม่ยอมคืน ศาลพิจารณาตามหลักฐาน ในการตัดสินนี้ ศาลไม่ได้เกี่ยวกับนาย ก. หรือนาย ข. ศาลตัดสินไปตามกฎหมายได้ ไม่มีปัญหา โดยรูปเรื่อง คดีแพ่งแบบนี้เป็นเรื่องของคนสองคน ศาลไม่เกี่ยวข้อง ตัดสินได้เป็นกลาง

แต่ถ้าเป็นคดีการเมือง ไม่มีกฎหมายที่ไหนห้ามศาลไปเลือกตั้ง ในวันเลือกตั้ง คนที่เป็นตุลาการ คนที่เป็นผู้พิพากษาก็ไปเลือก ก็อาจจะมีคนที่ไม่เลือกพรรคใดเลย แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าฝ่ายหนึ่งฟ้องว่า ชายคนหนึ่งมีฐานะเป็นนายกฯ ไปทำรายการโทรทัศน์ แล้วให้ผมตัดสิน ถ้าผมไม่ได้เลือกพรรคนี้ จะให้เชื่อได้คลายข้องใจก็คือต้องเขียนคำตัดสินคดีอย่างละเอียดชัดเจนอ่านแล้วคลายข้อข้องใจไปเลย

นี่เป็นอันตรายของการเรียกร้องตุลการภิวัตน์ คือให้คนที่เป็นองค์กรศาลต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง มันอันตรายต่อตัวองค์กรศาลเอง เพราะศาลไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้ในทางการเมือง และองค์กรศาลจะถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง


 

รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์  หัวหน้าภาควิชากฎหมายปกครอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลอดสิบปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นลำดับ มีปัญหาทางกฎหมายมหาชนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ  โดยผู้สอนกฎหมายมหาชนจะแสดงทัศนะต่อกฎหมายมหาชนในช่วงเวลานั้นๆ สิบปีผ่านไปแทนที่ปัญหาทางกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองจะบรรเทาเบาบางลง หมายความว่า หลักทางกฎหมายมหาชนจะหยั่งรากลงลึกในสังคม กลับรู้สึกว่า ปัญหาทางกฎหมายมหาชนกลับทวีความรุนแรงขึ้น

ไม่แน่ใจว่าสิบปีที่ผ่านไปเป็นการสูญเปล่าในการจัดการศึกษากฎหมายมหาชนหรือไม่ วันนี้ นักกฎหมายมหาชนอาจต้องกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นใครและกำลังทำอะไรกันอยู่ แล้วเราจะต้องทำอะไรต่อไป

ถ้าเราชวนกันย้อนกลับมาถามคำถามแบบนี้ เราจะปฎิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายมหาชนมาพร้อมกับพัฒนาการของรัฐสมัยใหม่ จริงๆ แล้วแง่การจัดการปกครอง ในอดีต ในชุมชนบุพกาลไม่มีการจัดการปกครองที่มีระบบระเบียบ ในเวลานั้นจะถามหากฎหมายมหาชนคงยังไม่ได้ จนกระทั่งชุมชนนั้นได้พัฒนาไปแล้วกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงในแง่สำคัญหลายด้าน ในด้านหลัก คือการรวมอำนาจเข้าสู่ผู้ปกครองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมีอำนาจล้นพ้น รัฐสมัยใหม่ในระยะแรกจึงเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช

ถ้าย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า การเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นเพราะประชาชนโดยทั่วไปโหยหาความสงบ หมายความว่าในช่วงที่มีการเกิดรัฐนั้นมีความสับสนปั่นป่วนวุ่นวายกันทั่วไปในสังคม ใครก็ตามที่สามารถกุมอำนาจได้สำเร็จก็จะกลายเป็นผู้นำ รัฐช่วงแรกจึงเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชและคนที่มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดก็คือ พระมหากษัตริย์ นี่อาจจะสอดคล้องกับสภาพของรัฐในเวลานั้น ในรัฐชนิดนี้ เรายังพูดถึงกฎหมายมหาชนไม่ได้ เพราะรัฐที่มีอำนาจล้นพ้นอยู่ที่ผู้ปกครอง ยังไม่มีการจำกัดอำนาจ

แม้ว่ารัฐสมัยใหม่ช่วงแรกที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช จะสามารถตอบสนองความต้องการของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมได้ในระดับหนึ่ง คือ ทำให้ยุติสงครามกลางเมือง สงครามศาสนา หรือความขัดแย้งกันโดยใช้กำลังเข้าแก้ปัญหา มีการวางระบบระเบียบการปกครองไว้ดีตามสมควรก็ตาม แต่การปกครองในระบอบนี้ก็มีข้อเสียไม่น้อย

พัฒนาการในเวลาต่อมา คนในสังคมเริ่มรู้สึกว่า การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช สิทธิและเสรีภาพของประชาชนย่อมถูกจำกัดลง การปกครองในระบอบนี้ ให้อภิสิทธิ์แก่ชนชั้นเจ้า ตลอดจนขุนนางมากกว่าประชาชนทั่วไป ตัดไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมแสดงเจตจำนงทางการเมืองการปกครอง เพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจึงเกิดการพัฒนารัฐสมัยใหม่ในรุ่นถัดมา ที่พยายามจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ลง

บางประเทศเกิดการปฎิวัติเปลี่ยนแปลง ล้มล้างระบอบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช บางประเทศดึงพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ผู้ปกครองมีอำนาจกำกับ อาจจะกล่าวได้ว่าในรุ่นนี้รัฐยอมตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เวลาที่เกิดรัฐสมัยใหม่แบบนี้ ชั่วโมงแห่งการบังเกิดของกฎหมายมหาชนโดยแท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น

รัฐสมัยใหม่ที่เป็นรัฐที่ยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราเรียกว่า เป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย และวางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญ 2 ประการ คือ หลักประชาธิปไตยกับหลักนิติรัฐ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองในเวลานี้อาจทำให้เราต้องกลับมาถกเถียงกันเรื่องการตีความหลักนิติรัฐ บางทีเราอาจจะพูดถึงหลักนิติรัฐ โดยลืมเรื่องประชาธิปไตยไปก็ได้

ในยุคนี้แม้เป็นรัฐที่ประชาชนมีเสรีภาพและทำให้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่มากแล้วก็ตาม แต่ข้อเสียสำคัญของรัฐลักษณะนี้ คือ การที่คนมีสิทธิเสรีภาพโดยไม่จำกัดก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน คนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนในระบอบเก่าอาจได้เปรียบที่มีต้นทุนสูงกว่าเสรีชนทั่วไปในระบอบใหม่ คนในระบอบใหม่บางคนก็มีความสามารถในทางเศรษฐกิจ ในเวลาไม่ช้าไม่นานก็สามารถยึดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ และเกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน

ในยุคนี้กฎหมายมหาชนจึงต้องปรับตัวและสร้างรัฐสวัสดิการขึ้น หมายความว่า มีการคุ้มครองด้านแรงงาน ขจัดความเหลื่อมล้ำของผู้คนทางเศรษฐกิจในความเป็นจริง แต่ในทางการเมืองไม่จำเป็นแล้ว เพราะเกิดอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยขึ้นมาแล้ว

ในยุคนี้ จะเห็นว่ามีการใช้กฎหมายมหาชนเป็นเครื่องมือเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจของคนในสังคม สร้างรัฐสวัสดิการสังคมขึ้นมา ในเวลาต่อมา หรืออาจกล่าวว่าในยุคปัจจุบันนี้ หลายรัฐต้องเผชิญกับคุณค่า หรืออุดมการณ์อย่างใหม่คือความเป็นรัฐสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญไม่ได้เป็นความขัดแย้งในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่คือการทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้

นี่คือ รัฐสิ่งแวดล้อมซึ่งหลายประเทศสร้างเป็นคุณค่า สร้างเป็นอุดมการณ์ในทางรัฐธรรมนูญ นี่คือพัฒนาการที่เป็นมาโดยลำดับ ในแง่ความพยายามจัดการปกครองของมนุษย์ กฎหมายมหาชนที่เริ่มกำเนิดขึ้น ในรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็เริ่มพัฒนามาเป็นลำดับ และมีภารกิจของกฎหมายเอง นักกฎหมายมหาชนก็มีภารกิจที่จะทำให้อุดมการณ์ต่างๆ ในยุคสมัยที่แตกต่างกันบรรลุผล

ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้นกฎหมายมหาชนมีความสำคัญอย่างไร เราคงรู้ว่า ในรัฐลักษณะนี้ กฎหมายมหาชนจะประกันหลักการสำคัญ 2 ประการคือ หลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ

ในด้านหนึ่งเรายอมรับว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชน มีที่มาและแหล่งกำเนิดมาจากปวงชน ไม่ยอมรับให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยอมรับเสียงข้างมากแต่ก็เคารพเสียงข้างน้อย และเพื่อไม่ให้รัฐเสียงข้างมาก พัฒนาไปเป็นเผด็จการโดยเสียงข้างมาก หลักนิติรัฐก็เกิดมีขึ้นเพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคล

เราพูดถึงการแบ่งแยกอำนาจ ไม่ให้ผู้ปกครององค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไป เราพูดถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เราพูดถึงความยุติธรรมในทางเนื้อหาคือการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน เคารพหลักความสมควรแก่เหตุ

เราพูดถึงการเคารพหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ ความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย การคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจที่บุคคลมีต่อระบบกฎหมาย  การไม่ยอมให้มีการออกกฎหมายย้อนหลังให้เป็นผลร้ายต่อบุคคล เพราะมันทำลายความเชื่อถือที่บุคคลมีต่อระบบกฎหมาย เหล่านี้คือคุณค่าที่กำเนิดขึ้นและเป็นเรื่องสำคัญในทางกฎหมายมหาชน

ถ้าเราลองเอาหลักต่างๆ เหล่านี้มาลองวิเคราะห์กับสังคมไทย เราอาจจะพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราเวลานี้ อาจเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน

เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ก็เกิดการประนีประนอมระหว่างฝ่ายผู้เปลี่ยนแปลงและฝ่ายอำนาจเก่า ซึ่งในเวลานั้นคือฝ่ายขุนนางฝ่ายเจ้า แน่นอนว่า ในรัฐที่เป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความพยายามประสานประโยชน์ของกลุ่มคนกลุ่มใหม่กับประโยชน์ของกลุ่มคนกลุ่มเดิมก็มี การประสานนี้ก็พยายามทำอยู่ในสังคมไทยให้ลงตัว แต่ลงตัวมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่เราอาจจะถกเถียงกันได้อยู่

ในเวลาต่อมา ความจริงเมื่อเราเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยแล้ว เราน่า จะพัฒนากฎหมายและรัฐไปสู่ยุคที่เป็นรัฐสวัสดิการสังคม ความจริงมีรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาหนึ่งพยายามใช้นโยบายนี้เข้ามา และทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกิดตื่นตัวตระหนักรู้ในสิทธิของตัวเองขึ้น การตระหนักรู้และตื่นรู้ในสิทธิของคนจำนวนหนึ่งซึ่งแต่เดิม เห็นว่า การเลือกตั้งไม่มีความหมายอะไรกับชีวิตของเขา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ เพราะมันเกิดผลกระทบกับกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มในสังคม

ในเวลานี้เองที่กฎหมายมหาชนซึ่งหลักการยังไม่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมีปัญหา และสะท้อนให้เห็นในช่วงเวลา 3 ปีมานี้ ก่อนหน้านี้ยังไม่เห็นปัญหาเด่นชัด เนื่องจากการศึกษากฎหมายมหาชนและการใช้กฎหมายมหาชนยังคงใช้ตามหลักเกณฑ์เราเรียนกันมาอยู่ได้ ยังไม่ปรากฎเหตุผลพิเศษที่จะอ้างหลักการอย่างอื่นและเห็นไม่ตรงกัน เช่นการตรวจสอบอำนาจของผู้ปกครอง แต่ในช่วง  2-3 ปีมานี้ เราพบว่า มีปัญหาเกิดขึ้น

ถามว่า ทำไมเมื่อถึงจุดหนึ่ง นักกฎหมายมหาชนจึงเดินแยกทางกัน อาจารย์วิษณุได้พูดถึงการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549  ท่านก็มีความเห็นว่า ในทางนิติศาสตร์ นักนิติศาสตร์ไม่สามารถสนับสนุนการเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยการยึดอำนาจได้ ในทางรัฐศาสตร์อาจจะเป็นไปได้ ในแง่ของรัฐศาสตร์ ในทางกฎหมายมหาชนมันเป็นไปไม่ได้ แต่ทำไมหลัง 19 กันยา มันเป็นไปได้ และทำไมนักกฎหมายมหาชนแยกออกเป็นสองสาย ซึ่งความจริงอาจมีมานานแล้ว แต่หลังรัฐประหาร ทำให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ก่อนที่จะไปพูดถึงสภาพปัญหาของกฎหมายมหาชนและนักกฎหมายมหาชน เราอาจต้องพูดถึงบทบาทและภารกิจ และนี่อาจเป็นสิ่งที่ต้องย้ำเตือนกันให้เราทุกคนตระหนักรู้ว่า อะไรคือบทบาทและภารกิจของเรา เราอาจใช้สิ่งนี้เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นสอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของเราหรือไม่

ในหนังสือ “คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งด้วย)” ซึ่งเขียนโดยอาจารย์เดือน บุนนาค และอาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ภาค 1 หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2477 ในคำอุทิศของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เดือน บุนนาค และอาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เขียนอุทิศว่า ขออุทิศแด่เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายซึ่งได้กระทำกิจการใดกิจการหนึ่งอันใหญ่ยิ่งดังต่อไปนี้ เพื่อความเจริญต่อประเทศชาติ คือ

หนึ่ง เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้ประเทศสยามได้มีรัฐธรรมนูญ

สอง เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อเปิดสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกปิดโดยผิดวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ

สาม ปราบกบฎ และช่วยเหลือในการปราบกบฎ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 เพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความมั่นคงของรัฐธรรมนูญ

ถามว่า ทำไมผมจึงหยิบเอาคำอุทิศที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้มาพูดในวันนี้ ทั้งที่หนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว คำตอบคือ นักกฎหมายสองท่านนี้ได้แสดงให้เห็นในคำอุทิศในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งท่านได้อุทิศไปให้เพื่อนร่วมชาติซึ่งกระทำกิจการอันใหญ่ในช่วงเวลา 2 ปี 3 กิจการ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปิดสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกปิดโดยผิดวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญและการปราบกบฎและช่วยเหลือในการปราบกบฎ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความมั่นคงของรัฐธรรมนูญ

นั่นหมายความว่าท่านอาจารย์ทั้งสอง ได้แสดงภารกิจอันสำคัญยิ่งของนักกฎหมายมหาชน คือการธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในระบบซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

วันนี้ เราได้ตระหนักถึงบทบาทและภารกิจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ผมอาจไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่ท่านทั้งหลายอาจช่วยกันตอบคำถามเหล่านี้ได้เอง แต่หลังจากเราได้ฟังสภาพปัญหาที่ผมกำลังจะพูดต่อไปอาจจะทำให้เราตอบปัญหานี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ประการแรก ในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คือปัญหาเรื่องการอธิบายหลักประชาธิปไตยและความสัมพันธ์ระหว่างหลักประชาธิปไตยกับหลักนิติรัฐ เมื่อ 2-3 ก่อน สถาบันแห่งหนึ่งได้จัดการอภิปรายใหญ่ในเวทีแห่งหนึ่ง ชื่อการอภิปรายว่า หลักนิติรัฐกับสังคมไทย บนเวทีอภิปรายประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนในสังคม เป็นทั้งองค์ปาฐก นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ตุลาการ ผู้พิพากษาอีกจำนวนหนึ่ง ร่วมในการอภิปราย

บนเวที ทุกคนล้วนพูดเรื่องการรักษาหลักนิติรัฐเอาไว้ในสังคมไทย พูดเรื่องบทบาทของอำนาจตุลาการในการมีบทบาทที่จะธำรงรักษาหลักการนี้เอาไว้ในสังคมไทย สนับสนุนบทบาทที่ผ่านมาในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีขององค์กรทางตุลาการ เราน่าจะมาสำรวจตรวจสอบความคิดความเห็นของท่านเหล่านั้นแล้วดูว่า มันควรจะเป็นไปตามหลักการที่มันควรจะเป็นหรือไม่

เมื่อได้อ่านคำอภิปรายและปาฐกถาของท่านเหล่านั้น พบจุดร่วมที่สำคัญในคำอธิบายเหล่านั้น ซึ่งพูดกันถี่มากในสังคมไทยในระยะเวลา 3-4 ปีมานี้ คือ การลดทอนความสำคัญของหลักประชาธิปไตย โดยมีขึ้นภายใต้การสวมเสื้อคลุมหลักนิติรัฐ คล้ายกับว่า เอาหลักนิติรัฐนั้นมาเป็นปรปักษ์กับหลักประชาธิปไตย ในนามของการบอกว่าเราต้องไม่ปล่อยให้สังคมถูกชักพาไปโดยเสียงข้างมาก เพราะเสียงข้างมากนั้นอาจจะเป็นเสียงที่ผิด

เพราะฉะนั้น เราในฐานะนักกฎหมายมหาชนต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการนี้ คือเมื่อเสียงข้างมากผิด เราก็สามารถที่จะไม่ต้องเคารพเสียงข้างมากได้ แน่นอนว่า ไม่ได้พูดชัดเจน แต่ออกมาผ่านวาทกรรมหลายวาทกรรม เช่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยผ่านระบบเลือกตั้งนั้นได้ผู้แทนที่ทุจริตการเลือกตั้ง นักการเมืองเป็นปีศาจ เพราะฉะนั้นต้องลดทอนความสำคัญของหลักการประชาธิปไตยลง และเน้นเรื่องการรักษาไว้ซึ่งนิติรัฐ คือใช้กฎหมายเข้าจัดการ

ผมพูดถึงปัญหานี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีการพูดกันทั่วไปและจะเป็นเรื่องที่พูดกันไปอีกนานในสังคมไทย เพราะเป็นข้ออ้างเดียวที่จะทำให้บุคคลที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อใครเลยสามาถยึดกุมอำนาจรัฐได้

ปัญหาคือว่า มันถูกต้องหรือไม่ แล้วหลักนิติรัฐที่เป็นอยู่จริง ที่ยอมรับนับถือกันนั้นเป็นอย่างนั้นจริงหรือ สิ่งที่ท่านทั้งหลายเหล่านี้กำลังพยายามทำอยู่นั้นเป็นความพยายามรักษาหลักนิติรัฐหรือได้บิดผันหรือบิดเบือนหลักนิติรัฐไปแล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมือง รสนิยมทางการเมืองของตนเท่านั้น นี่คือสิ่งที่เราต้องตรวจสอบ

การชี้ไปคนอื่นว่าเป็นคนเลวนั้น ใครๆ ก็ทำได้ แต่ปัญหาว่า คนที่ชี้ไปนั้นเป็นคนดีหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ถ้าเราลองดูในหลักที่เป็นสากล 2 หลักการนี้ไปด้วยกัน คือมันสนับสนุนและส่งเสริมกัน ในเบื้องต้นเราต้องยอมรับหลักประชาธิปไตยก่อนที่จะไปพูดเรื่องของการรักษาหลักนิติรัฐ ถ้าไม่ยอมรับหลักการพื้นฐานนี้ ป่วยการที่จะพูดถึงนิติรัฐ มันก็กลายเป็นรัฐลักษณะอื่น ซึ่งไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย ถ้ายอมรับหลักประชาธิปไตย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ประชาธิปไตยไม่มีข้อบกพร่อง เราเห็นความบกพร่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราเห็นปัญหาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีในบ้านเมืองของเราเป็นเวลาหลายสิบปี แต่เราควรดึงเอาปัญหาแบบนี้ขึ้นมาชู และทำลายประชาธิปไตยให้สิ้นซากลงไปเลยหรือไม่ นี่คือคำถาม

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้เป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งหนึ่งที่มีการพูดกันคือ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ทำเมื่อปี 2475 นั้นทำเร็วเกินไปเพราะราษฎรยังไม่มีความรู้ ราษฎรยังโง่อยู่

ผ่านไป 76 ปีจนถึงวันนี้ ยังมีการพูดกันจนถึงวันนี้ว่า ราษฎรไทยยังโง่อยู่ เพราะเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็มีการซื้อเสียง แปลว่าคนไทยไม่เคยฉลาดขึ้นเลยเราโง่มาโดยตลอดอย่างนั้นหรือ

โดยลักษณะแบบนี้ทำให้มันลดทอนหลักและคุณค่านี้ลง เมื่อลดทอนหลักและคุณค่านี้ไปเสียแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือการไปให้ความสำคัญหรือยกระดับความสำคัญของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยทำลายฐานความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย

การเกิดขึ้นของบรรดาองค์กรอิสระต่างๆ ตลอดจนบทบาทขององค์กรตุลาการที่มีมากขึ้นในช่วงหลังๆ นี้มาในนามของหลักนิติรัฐ แต่ในที่สุดมันไม่ได้ดุลแล้ว เพราะเสาที่ค้ำยันระบบการปกครองนั้นอยู่มีอยู่ 2 เสา  เสาหนึ่งคือหลักประชาธิปไตย อีกเสาคือหลักนิติรัฐ

เมื่อท่านได้ทำลายหลักประชาธิปไตยลงแล้ว นิติรัฐก็ถูกยึดกุมโดยคนที่มีกำลังอำนาจในทางกฎหมาย นี่คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมเราในเวลานี้ เราพ้นปัญหาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเรามีปัญหาในแง่ที่มีรัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไป ซึ่งมีความพยายามในการใช้นิติรัฐเข้าตรวจสอบ แต่ทั้งสองอันนี้ในเชิงของระบบการปกครองช่วงนั้นมันได้ดุลกัน

บุคคลจำนวนหนึ่งสนใจเป้าหมาย เรียกว่าใช้ The end justifies the mean. คือ สนใจเป้าหมายในแง่ของสิ่งที่ตัวเองจะไปถึง โดยไม่สนใจวิธีการ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นนิติรัฐ เราจะสนใจเพียงเป้าหมาย โดยไม่คำนึงถึงวิธีการไม่ได้ นั่นหมายความว่าการดำเนินการกับกลุ่มในทางการเมืองซึ่งเราไม่พอใจไม่ชอบใจ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำลายล้างทางการเมือง ในเชิงระบบ เราไม่สามารถใช้ทุกวิธีการได้ เพราะมันผิดและขัดกับหลัก อันนี้เป็นสิ่งซึ่งนักกฎหมายมหาชนจะต้องยึดถือไว้ให้มั่น

เพราะไม่อย่างนั้นท่านก็หยิบเสื้อเกราะนิติรัฐขึ้นมาใส่ ควงทวนทำลายหลักประชาธิปไตยและในขณะที่ท่านทำลายหลักประชาธิปไตยลงนั้น ท่านก็ร้องว่าเรารักษาหลักนิติรัฐ ทั้งที่ความจริง ในเวลาเดียวกันนั้น ท่านได้ทำลายหลักนิติรัฐลงไปพร้อมๆ กัน

ประการที่สอง คือ ปัญหาความเป็น “ผู้เยาว์” ของนักกฎหมายมหาชนไทย ในที่นี้ไม่ได้ใช้ในเซนส์ของอายุ แต่ใช้ในเรื่องของการที่เราจะตรวจสอบว่านักกฎหมายมหาชนนั้นเขาบรรลุนิติภาวะทางความคิดแล้วหรือไม่ ในเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นในระบบกฎหมาย เขาแสวงหาวิธีแก้ปัญหาในทางระบบ โดยมีหลักการและเหตุผลรองรับถูกต้องครบถ้วน ตามหลักวิชาหรือไม่ หรือเมื่อมีปัญหาแล้วเขาหาวิธีการนอกระบบเข้ามาแก้ปัญหา

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อหลายปีก่อน คือการเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน หรือนายกฯ มาตรา 7 จริงๆ แล้วถ้าคนที่ไปเรียกร้องนั้นไม่ได้เป็นนักกฎหมายมหาชนก็อาจจะไม่รู้สึกอะไรมากนัก เพราะเราก็อาจเข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวนั้นไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นหลักการในทางรัฐธรรมนูญ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความพยายามหาทางออกนอกระบบ ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น และไม่มีคำอธิบายในทางหลักวิชา

นี่แหละเป็นปัญหาว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เราร้องเรียกให้การแก้ปัญหากระทำโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่พยายามที่จะแสวงหาหลักการในระบบเพื่อแก้ปัญหา คล้ายๆ กับว่า เราไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเรียนกฎหมายมหาชนกันไปเพื่ออะไร ในเมื่อเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ท่านไม่ได้แสวงหาวิธีการในทางกฎหมายเข้าคลี่คลายและแก้ปัญหานั้น

แต่นักกฎหมายเองกลับแสวงหาวิธีการนอกระบบนอกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเช่นนั้น บรรดาหลักวิชาต่างๆ ที่เราได้เรียนกันไป เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียน

สิ่งหนึ่งซึ่งมักพูดกันอยู่เสมอเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นคือ ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะใช้ในการแก้ปัญหาต้องเป็นวิธีการแบบไทยๆ เพราะประเทศไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่นในโลก เราจะไปนำเอาหลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาใช้แก้ปัญหาในบ้านเมืองเราไม่ได้ นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีการกล่าวอ้างเป็นประจำ ถามว่าถูกต้องหรือไม่

ถ้าเราวิเคราะห์สิ่งที่มีการพูดกันว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบ้านเรา เราต้องแสวงหาวิธีการและวิธีการนั้นคือวิธีการแบบไทยๆ สิ่งที่ถามกันคือวิธีการแบบไทยนั้นคืออะไร มีเหตุมีผล มีหลักเกณฑ์ที่จะรองรับหรือไม่ เวลาเราพูดถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราจะพบว่า วิชาความรู้ที่เกิดขึ้นในโลกหลายอย่างไม่ได้เป็นของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันกลายเป็นมรดกเป็นสมบัติของมนุษยชาติร่วมกัน มีความเป็นสากล มีเหตุมีผล การที่เราศึกษาหลักวิชาไม่ได้ศึกษาเพราะเป็นหลักวิชา แต่ศึกษาเพราะหลักวิชานั้นเมื่อนำมาอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมแล้วสามารถนำมาอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช่หรือไม่

เราตอบว่าสิ่งที่เราศึกษามาแล้วสามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นสิ่งที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป สิ่งนั้นก็ควรเอาใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อที่เราจะได้เป็นผู้ใหญ่ในทางกฎหมายกันเสียที

ประการที่สาม ปัญหาที่เกิดมีขึ้นในบ้านเมืองเราช่วงหลังและกระทบกับวิชาที่เราเรียนกัน คือ ปัญหาตุลาการภิวัตน์ ใครที่เรียนหลักสูตรนี้ในรุ่นแรกๆ อาจไม่เคยได้ยินคำนี้ในตอนที่เรียน เพราะคำนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยนักสังคมวิทยาคนหนึ่งและใช้ในช่วง 2-3 ปีมานี้ นั่นคือ ความพยายามบอกว่า อำนาจตุลาการนั้นได้แผ่ขยายออกไปและไปใช้แก้ปัญหาในทางการเมืองได้ด้วย

ประเด็นคือ เรื่องตุลาการภิวัตน์สอดคล้องกับหลักนิติรัฐหรือไม่ และนักกฎหมายมหาชนจะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ ในเชิงระบบ เราก็เรียนกันมาว่า จริงๆ แล้วอำนาจตุลาการเป็นอำนาจซึ่งอาจจะมีอันตรายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพราะอำนาจตุลาการนั้นเป็นอำนาจในลักษณะ passive ไม่ได้มีลักษณะ active เหมือนกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่สามารถริเริ่มกระทำการต่างๆ ได้เอง ขณะที่อำนาจตุลาการนั้นริเริ่มกระทำการเองไม่ได้ เป็นองค์กรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดี อันตรายจากอำนาจตุลาการจึงดูน้อยกว่า 2 อำนาจเบื้องต้น

แต่อำนาจตุลาการซึ่งเป็นอำนาจที่ 3 ในระบบกฎหมายก็อาจเป็นอำนาจที่อันตรายที่สุดได้เช่นกัน ถ้าการใช้อำนาจตุลาการไม่เป็นไปบนหลักการที่ถูกต้อง หมายความว่า ถ้าว่ากันตามหลักเรื่องตุลาการภิวัตน์แล้ว แปลว่า ผู้ที่เสนอเรื่องนี้มีธงทางการเมือง มีความคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามทิศทางการเมืองหรืออุดมการณ์ทางการเมืองนั้นๆ จึงได้นำเสนอรูปแบบของการใช้อำนาจทางตุลาการเข้าแก้ปัญหาทางการเมืองในนามของตุลาการภิวัตน์

การเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจของรัฐ บางคนอาจจะบอกว่า มันไม่มีหรอกโครงสร้างอำนาจของรัฐ หรือดุลยภาพของอำนาจ แต่เราปฎิเสธไม่ได้ว่า ในระบบของเราซึ่งเป็นระบบรัฐธรรมนูญ เราพยายามที่จะให้อำนาจดุลและคานกัน ในเชิงระบบก็ต้องเรียนรู้ อะไรที่บกพร่องก็ต้องปรับปรุงกันไป

แต่หลักสำคัญคืออำนาจตุลาการนั้น passive ในแง่ของการตัดสินคดีก็อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่คิดใช้อำนาจตุลาการเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมืองแบบที่องค์กรทางการเมืองเขาแก้ปัญหากันเองแค่เริ่มต้นคิดก็ผิดเสียแล้ว

เพราะลักษณะของอำนาจของตุลาการไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง เพราะลักษณะอันโดดเด่นที่สุดของอำนาจตุลาการ คือ ความเป็นกลางขององค์กรที่วินิจฉัยชี้ขาดคดี คำว่าความเป็นกลางไม่ได้หมายถึงว่าผู้ที่เป็นผู้พิพากษาห้ามตัดสินคดีหรือตัดสินคดีในทิศทางใดทิศทางหนึ่งไม่ได้ แต่หมายถึงการไม่มีอคติในการพิจารณาพิพากษา ไม่มีคำตอบล่วงหน้าในการพิพากษาคดีใดคดีหนึ่ง แต่พิพากษาคดีนั้นไปตามกฎหมาย และความยุติธรรม สังเกตว่าเราไม่ได้พูดถึงกฎหมายอย่างเดียว แต่เราพูดถึงกฎหมายและความยุติธรรม เพราะเวลาเราพูดถึงนิติรัฐ ถ้าเราเข้าใจคลาดเคลื่อนไป เราก็บอกว่านิติรัฐคือการปกครองโดยกฎหมาย แล้วเราจบเลย

ตอนที่สอบสัมภาษณ์นักศึกษา รุ่น 10 ได้ถามว่า การปกครองโดยนิติรัฐคืออะไร นักศึกษาตอบว่าคือ การปกครองโดยกฎหมาย ผมยกตัวอย่างประเทศหนึ่งซึ่งเผด็จการเป็นคนปกครอง ก็ถามว่า เป็นนิติรัฐไหม ท่านบอกว่าไม่เป็น ผมก็ถามว่า ประเทศนั้นใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง เพราะคณะรัฐประหารก็ออกกฎหมายมาและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง ท่านที่ตอบคำถามในตอนสอบสัมภาณ์ก็เริ่มลังเลว่า หรือว่า เป็นนิติรัฐด้วย เพราะใช้กฎหมายในการปกครองเหมือนกัน ท่านต้องเข้าใจว่า เวลาเราพูดถึงนิติรัฐ ไม่ได้หมายถึงการปกครองโดยกฎหมายอย่างเดียว แต่มันคือการปกครองโดยกฎหมายและความยุติธรรม

ถ้าเราพูดถึงเรื่องการตัดสินคดีภายใต้นิติรัฐ การตัดสินคดีจึงไม่ใช่เพียงแต่ตัดสินคดีไปตามถ้อยคำตามตัวกฎหมาย แต่ตัดสินคดีไปแล้วสอดคล้องกับหลักแห่งความยุติธรรม ถ้าไม่เช่นนั้นจะเหมือนที่ อาจารย์วิษณุ ยกตัวอย่างบทละครเรื่องการแต่งงานของฟิโกโร่ว่า ถ้าอย่างนั้นคนทั้งหลายก็ไม่ต้องสนใจหรอกว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไร เพราะสามารถใช้ความคิดความอ่านของตัวเข้าแทนที่กฎหมาย หรือถ้ากฎหมายไม่ยุติธรรม ก็หลับหูหลับตาตัดสินไปตามกฎหมายนั้นโดยไม่ต้องรู้สึก guilty หรือรู้สึกผิด เพราะไปเชื่อเสียแล้วว่านิติรัฐมันคือแค่การปกครองโดยกฎหมาย แต่ผมจะบอกว่า นิติรัฐคือการปกครองโดยกฎหมายและความยุติธรรม

โดยสภาพของการใช้อำนาจในการตัดสินคดี ที่บอกว่าเป็นกลางคือ คุณไปมีอคติด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ในทางกฎหมาย เขาจึงออกแบบหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น คนที่เป็นผู้พิพากษาจะไปร่วมเป็นกรรมการสอบสวนเรื่องราวที่ในที่สุดจะตีกลับมาที่ศาลไม่ได้ นี่เป็นหลักการใหญ่ที่เราต้องยึดถือไว้ให้มั่น และหลักการนี้ต้องไม่คำนึงถึงหน้าของบุคคลใด เพราะเรากำลังพูดถึงหลัก เราไม่ได้สนใจในบุคคล การที่ท่านเป็นนักกฎหมายมหาชนหมายความว่า ท่านคำนึงถึงหลักการอันนี้และท่านใช้บังคับกับบุคคลโดยเสมอหน้ากัน โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นใคร หลักการแบบนี้เมื่อใช้กับใครก็ใช้ในลักษณะเดียวกัน ปัญหาคือ ถ้าเราไปถือเสียแล้วว่าอันนี้คือการใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง แปลว่า เรากำลังสูญเสียหลักการและคุณค่าที่สำคัญไปแล้ว

คนที่ดำเนินการเช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนมีความหวังดี คือมุ่งเป้าหมายไปที่ end วัตถุประสงค์สุดท้ายว่าอันนั้นจะสำเร็จลงได้ด้วยความดี และเพื่อสำเร็จลงได้ไปถึงเป้าหมายที่ดี ท่านเหล่านี้จึงไม่สนใจ mean คือไม่สนใจเครื่องมือและวิธีการ เมื่อตัดสินโดยอัตวิสัยแล้วว่าเป้าหมายดี เพราะฉะนั้น ก็ใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายแบบนั้น

ในที่สุดเมื่อคิดกันอย่างนี้มากเข้าก็เกิดการตีความ เกิดการใช้กฎหมายโดยขัดกับหลักวิชา เพราะตั้งเป้าหมายไว้แล้วและรู้สึกที่ตัวเองเดินไปนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่สนใจว่าหลักการที่เล่าเรียนกันมา ใช้บังคับกับบุคคลโดยเสมอหน้ากัน มีสาระสำคัญอย่างไรแล้วเราควรจะเคารพนับถือเอาไว้รึเปล่า

ในการอภิปรายที่พูดถึง มีบางท่านบอกว่า นักกฎหมายจำนวนหนึ่งยึดติดกับตัวอักษร บัดนี้สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือว่า ใครก็ตามที่พูดถึงเรื่องหลักการที่ถูกต้องตามหลักวิชา แล้วพอเอามาใช้ปุ๊บไม่ได้ผลตามความต้องการ เขาก็จะบอกว่า บุคคลคนนั้นยึดติดกับหลักการ พยายามที่จะลดทอนคุณค่าของหลักการนี้ลงไปเพราหลักการนี้ ไม่สนับสนุนและไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตนเองต้องการ

ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ดีเบตกันได้ มีการฟ้องคดีที่ศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนกระบวนการขั้นตอนที่นำไปสู่การลงนามใน Joint Communique ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา หรือที่เราเรียกกันว่า คดีเขาพระวิหาร มีการฟ้องคดีไปที่ศาลปกครอง ในระยะเวลาซึ่งมีความเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีนี้ไว้พิจารณาและสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ในเวลาต่อมามีการอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดก็สั่งคุ้มครองเช่นเดียวกัน ดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว นักกฎหมายบางท่านให้เหตุผลในการที่ศาลปกครองรับคดีนี้ไว้พิจารณา โดยสนับสนุนศาลปกครอง ซึ่งไม่ตรงกับผม เพราะผมเห็นว่าคดีอันนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้

ในการอภิปรายคราวหนึ่ง ท่านที่ให้เหตุผลสนับสนุนการพิจารณาบอกว่า เรื่องอย่างนี้ศาลต้องรับไว้พิจารณาก่อน แล้วประเด็นอื่นๆ ก็ไปว่ากันหลังการรับคดีนี้ไว้พิจารณา

นี่หมายความว่าการที่ศาลจะรับคดีไว้พิจารณา นักกฎหมายท่านนั้นไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในการฟ้องคดีใช่ไหม ไม่ต้องคำนึงถึงเขตอำนาจของศาลใช่หรือไม่ ขอเพียงแต่เห็นว่าเรื่องนั้นสมควรรับไว้พิจารณา ก็ให้ศาลรับไว้พิจารณาเลยได้ใช่ไหม ท่านใช้อัตวิสัยของท่านเป็นเครื่องตัดสินความสมควรหรือไม่ สมควรของการรับคดีพิจารณาของศาล โดยไม่คำนึงถึงเกณฑ์ของภาวะวิสัย คือเกณฑ์ที่ปรากฎในกฎหมายใช่หรือไม่

ถ้าเช่นนั้นนี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดในวงการกฎหมายมหาชน เพราะหลักการในทางกฎหมายมหาชนถูกทอดทิ้งแล้ว

ในวันข้างหน้าเหมือนละครที่นักศึกษาได้ทำ คือโยนหนังสือทิ้ง เพื่อบอกว่าไม่ต้องเรียนกันแล้ว เพราะที่สุดการจะตัดสินอะไรสักเรื่องก็ตัดสินจากความรู้สึกว่า เรื่องนี้สมควรหรือไม่สมควรในทางอัตวิสัยของตัวท่านเอง

นี่คืออันตรายร้ายแรงที่สุดที่ผมเห็นว่า บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำต่อกฎหมายมหาชนได้ ท่านที่คิดอย่างนั้นอาจจะเป็นคนดี มีความประสงค์อย่างดีที่สุดก็เป็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย เพราะสิ่งที่ท่านได้ทำลงไปได้ทำลายคุณค่าพื้นฐานในหลักกฎหมายมหาชนลงเสียแล้ว ต่อไปจะไม่มีอะไรให้เรายึดถือเป็นหลักเป็นฐานกันได้อีก การอภิปรายถกเถียงกันทางเหตุผลก็จะไม่สามารถกระทำได้อีก เพราะใช้ความรู้สึกนึกคิดในทางอัตวิสัยเข้าตัดสินไปเสียแล้ว

กล่าวโดยสรุป ในภาพรวมของปัญหาทางกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองเราในเวลานี้ ผมคิดว่า โดยเหตุที่สังคมไทยได้เดินมาถึงจุดที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม

เราปฎิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ถ้าพิจารณาถึงพัฒนากรของรัฐตามที่ได้กล่าวมา ในที่อื่นๆ เขาผ่านจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย ขยับไปเป็นรัฐสวัสดิการสังคม คือเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยบวกกับสวัสดิการสังคม ขยับไปเป็นรัฐสิ่งแวดล้อม คือเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยบวกกับสวัสดิการสังคม โดยมีอุดมการณ์และมีคุณค่าเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาไปเป็นลำดับ

บ้านเราประสบปัญหาอันสำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ พัฒนาการในแง่การเมืองและการปกครองเรายังไม่ขาดตอนกัน หมายความว่าจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เราก็ยังไม่ขาดตอน อำนาจซึ่งมีมาแต่เดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเดิมก็ไหลเข้ามาอยู่ในรัฐที่ยอมตนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังดำรงอยู่ เป็นประโยชน์กลุ่มหนึ่งในโครงสร้างของรัฐแบบใหม่นี้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเป็นกลุ่มทุนเก่าที่แฝงตัวอยู่ในระบบแบบนี้

สอง คือกลุ่มทุนใหม่ ที่เกิดขึ้นเพราะโลกมีลักษณะโลกาภิวัตน์มากขึ้น สาม คือ กลุ่มประชาชนชาวบ้านทั่วๆ ไปซึ่งไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากสองกลุ่มแรก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มแรกซึ่งเป็นกลุ่มทุนเก่า ซึ่งผนวกรวมกับชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ชนชั้นสูงจำนวนหนึ่ง บรรดาข้าราชการประจำระดับสูงจำนวนหนึ่ง

พวกที่สองคือกลุ่มทุนใหม่ ในบางคราวรวมกันเป็นกลุ่มนักการเมือง เป็นพรรคการเมือง ที่เข้ายึดกุมอำนาจของรัฐอีกกลุ่มหนึ่ง

สามคือประชาชนทั่วไปที่อาจแตกแยกเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในสองกลุ่ม ทั้งสามกลุ่มนี้มีปฎิสัมพันธ์กันโดยในเวลาที่กลุ่มทุนเดิมเข้ามาในระบบใหม่ ผนวกกับกลุ่มทุนใหม่ได้ การเกื้อประโยชน์เป็นไปด้วยการพึ่งพา ความขัดแย้งก็จะไม่เกิด ประชาชนที่เป็นคนระดับล่างก็ไม่รู้สึกว่ามีความขัดแย้งอะไร เมื่อคราวที่มีการเลือกตั้งก็ไปเลือกตั้ง แต่จะไม่รู้สึกว่าการเลือกตั้งมีผลเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของเขา เพราะเหตุว่ากลุ่มที่เป็นระดับนำ ไม่ว่าจะเป็นทุนเก่าทุนใหม่ผนวกกัน

ในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มทุนบางกลุ่มที่เข้ายึดกุมอำนาจรัฐแล้วได้แบ่งปันผลประโยชน์บางส่วนให้กับคนระดับล่างบ้าง ในระดับซึ่งคนในระดับล่างรู้สึกว่าการไปเลือกตั้งนั้นได้ประโยชน์อะไรตอบแทนกลับมาบ้าง

คนในระดับนั้นจึงตระหนักรู้และสำนึกว่าคะแนนเสียงของตัวนั้นมีความหมาย บัดนี้กลุ่มทุนนั้นอาจมีการแยกกันจากทุนเดิม แล้วมาอาศัยกลุ่มคนระดับชาวบ้าน การขัดแย้งกันก็เกิด คู่ของความขัดแย้งก็เป็นแบบนี้

ที่สุด ปัญหาคือ ในรัฐแบบนี้ เราจะจัดให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมกันอยู่ได้อย่างไร ผมไม่อยากให้เราคิดว่า  เมื่อเราเป็นนักกฎหมายมหาชนแล้วเราไปโฟกัสหรือชี้ว่าปัญหาทุกอย่างอยู่ที่นักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ถ้ามองปัญหาอยู่แค่นี้ เราก็ไม่เห็นปัญหาทั้งหมดอย่างแน่นอน เพราะปัญหาของกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมไทยมันมีมากไปกว่านั้น

มันมีกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งดำรงอยู่ในทางความเป็นจริงและดูดซับเอาประโยชน์ในทางการเมืองหรือทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นส่วนเกินอยู่ในสังคมของเราจริง ต้องนำมาคำนวณด้วย โดยไม่สามารถละเลยการใช้กฎหมายกับคนกลุ่มเหล่านี้ได้  เพราะไม่เช่นนั้น ท่านอาจจะใช้กฎหมายโดยไม่เสมอภาค โดยที่ท่านเองอาจจะไม่รู้ตัว ว่าในการใช้กฎหมายไปนั้นได้ใช้ไปโดยไม่เสมอภาคแล้ว เพราะท่านไม่รู้สึกว่ามีกลุ่มแบบนี้เกิดขึ้นในสังคม

การจะขจัดความรู้สึกหรือสิ่งที่ผิดพลาดออกไปได้นั้นง่ายมาก เพียงใช้หลักวิชาที่เล่าเรียนมา เมื่อใช้กฎหมายแล้วมันถูกต้อง มีเหตุผลรองรับ ถูกต้องตามหลักทางวิชา ไม่ขัดแย้งกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ แน่นอนการตัดสินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ชีวิตของนักกฎหมายถูกสาปให้ต้องชี้ขาด ไม่ว่า จะอยากชี้ขาดหรือไม่ เมื่อเลือกเรียนวิชานิติศาสตร์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหน ชีวิตท่านจะต้องชี้ขาด ท่านจะต้องชี้ไปในทางใดทางหนึ่งเสมอ เมื่อท่านเอามาวัดกับเกณฑ์ทางหลักวิชา ท่านปฎิเสธไม่ได้ ปัญหาคือว่า จะชี้ขาดอย่างไรให้เมื่อชี้ขาดไปแล้ว เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเสมอหน้ากัน

ผมเรียนว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่า ในการชี้ขาดเรายืนอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านไหน ก็จะไม่สามารถชี้ขาดอย่างเป็นกลางได้ ท่านทำได้อย่างเดียวคือบอกว่าในการชี้ขาดนั้นยืนอยู่บนหลักของอุดมการณ์ประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐคู่กัน ขาหนึ่งอยู่บนหลักประชาธิปไตย ขาหนึ่งอยู่บนหลักนิติรัฐ อาจกล่าวได้ว่าการวินิจฉัยนั้นถูกต้องสมบูรณ์

ถ้าท่านยืนอยู่บนหลักการเดียว ท่านก็จะเหมือนกับคนขาขาดข้างหนึ่ง อาจยืนได้ไม่ตรง ตัวก็จะเอียง ซึ่งไม่เป็นที่พึงปรารถนาเลยในสังคมที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงและมีความขัดแย้งของบุคคลหลายฝ่าย

เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนักกฎหมายได้ทั้งหมด เพราะแต่ละคนก็ต่างจิตต่างใจ แต่ละท่านอาจมีความรู้สึกนึกคิดทางการเมือง มีผลประโยชน์ มีภูมิหลังต่างกันออกไป ก็เป็นธรรมดา เป็นความหลากหลายของบุคคล แต่เมื่อเราเป็นนักกฎหมายมหาชน สิ่งที่น่าจะไม่ต่างกันนั่นคือการวินิจฉัยไปบนเกณฑ์ของหลักวิชาที่ได้ยอมรับนับถือกันเป็นยุติ

ถามว่า วันนี้ในวงการกฎหมายมีการแตกแยกกันทางความคิด อาจารย์คนหนึ่งว่า อย่างหนึ่ง อาจารย์คนหนึ่งก็ว่าอีกอย่างหนึ่ง แล้วท่านจะทำอย่างไร ท่านทำอย่างไรไม่ได้เลยนอกจากต้องเอาสิ่งที่มีการถกเถียงกันไปครุ่นคิดตริตรองวินิจฉัยด้วยใจที่เป็นธรรม ละความรู้สึกทางการเมืองอื่นๆ ออกไปเสียก่อน แล้วดูจากเกณฑ์ของหลักวิชา

อาจารย์วิษณุ ได้ยกตัวอย่างซึ่งดีมากๆ ในกรณีคดีชิมไปบ่นไปของคุณสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ เราวินิจฉัยไปจากฐานของหลักวิชา แล้วเราไม่ได้สนใจว่า นายกฯ คนนี้จะเป็นคุณสมัคร คุณอภิสิทธิ์ จะเป็นใครก็ตาม หลักก็เป็นแบบเดียวกัน เพราะเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติแต่เป็นเรื่องลักษณะต้องห้าม ซึ่งถ้าเขาจะพ้นจากตำแหน่งเขาต้องมีลักษณะอันนั้นอยู่

ในเวลาที่ศาลได้วินิจฉัย หมายความว่า กรณีคุณสมัครจะต้องเป็นลูกจ้างอยู่ในวันที่ศาลมีการวินิจฉัย แล้วคุณสมัครเลือกจะเป็นลูกจ้างต่อไป ไม่เลือกเป็นนายกฯ อย่างนี้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้วในวันรุ่งขึ้น ท่านก็จะไม่สามารถได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกต่อไป เพราะท่านเป็นลูกจ้าง สภาฯ ก็จะเลือกให้เป็นนายกฯ ไม่ได้

แต่เมื่อในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คุณสมัครไม่ได้มีเหตุแบบนี้แล้ว หลักก็คือว่า ลักษณะต้องห้ามไม่ได้มีในวันนั้น ผลในทางกฎหมายก็คือว่า เขาต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ได้ เพราะไม่มีลักษณะต้องห้าม เพราะถ้าตีความให้เขาพ้นจากตำแหน่งผลที่ตามมาในทางกฎหมายก็จะประหลาด เพราะเมื่อเขาพ้นจากตำแหน่ง ในวันรุ่งขึ้น สภาอาจเลือกเขากลับเป็นนายกฯ ได้เลย เพราะเขาไม่ได้มีลักษณะต้องห้าม

ผมยังเชื่อว่า พัฒนาการประมาณ 200 กว่าปีของกฎหมายมหาชน แล้วมันจะไม่ทำให้เราสามารถวินิจฉัยปัญหาทุกอย่างได้โดยไม่มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ปัญหาจำนวนมากถ้าเราได้วินิจฉัยไปตามหลักวิชาอย่างถูกต้องเคร่งครัดแล้ว ผมเชื่อว่าปัญหานั้นจะยุติลงได้อย่างมีเหตุมีผลและมีคำอธิบาย ไม่ว่า ผลของคำวินิจฉัยนั้นจะทำให้ใครได้ประโยชน์หรือไม่ก็ตาม ถ้าท่านเป็นนักกฎหมาย ท่านพะวงไม่ได้ว่าตัดสินคดีนี้ไปแล้วใครได้ประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ไม่เกี่ยวกับท่าน แต่เกี่ยวกับว่าท่านตัดสินคดีไปมีข้อเท็จจริงเพียงพอไหม มีข้อกฎหมายสนับสนุนเพียงพอไหม เรื่องนี้โจทก์ได้ประโยชน์เป็นเรื่องของโจทก์ จำเลยได้ประโยชน์เป็นเรื่องของจำเลย แต่เขาได้ประโยชน์ไปจากฐานของหลักนิติธรรม

เรื่อง “10 ปีนักกฎหมายมหาชนไทย: ฤาจะเดินหน้าลงคลอง” ท่านอาจจะตัดสินได้เองว่า วันนี้วงการกฎหมายมหาชนบ้านเราเดินหน้าลงคลองหรือเปล่า หรืออาจจะตั้งชื่อเบาไปนิดหนึ่ง คือคลอง ลงไปอาจจะเย็นอยู่ มันอาจจะลงไปมากกว่าคลองและยากจะปีนป่ายกลับขึ้นมาได้อีก ถ้าลงคลองอาจจะยังพอกลับขึ้นมาได้ แต่ถ้าลงลึกไปกว่านั้นมาก ท่านไม่สามารถจะกลับขึ้นมาได้ หรือกลับขึ้นมาได้ด้วยความยากลำบาก

อยากให้อ่านคำพิพากษาคดีอะไรก็ได้ในช่วงหลังๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการเมือง จะพบว่า ในคำพิพากษานั้นศาลนอกจากจะตัดสินคดีแล้ว ยังได้แสดงทัศนะในแง่ของหลักศีลธรรม ลงไว้ในคำพิพากษาด้วย คือมีลักษณะเป็นการอบรมคู่ความในคดี เราอาจจะรู้สึกว่าก็ดี เพราะนักการเมืองบ้านเราไม่มีศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องถูกศาลอบรมเวลาตัดสินคดี

แต่อันตรายที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ การหยิบยกเอาข้อธรรม หรือหลักทางศีลธรรม ปกติไม่มีใครเถียง แต่ขึ้นกับว่า หยิบยกเอามาใช้ในบริบทใด เราบอกว่า การวินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้น ศาลวินิจฉัยไปตามกฎหมาย และความยุติธรรม คำพิพากษาต้องมีความเป็นภาวะวิสัยให้มากที่สุด ละเรื่องอัตวิสัยหรือ subjective เพื่อจะได้ตรวจสอบว่า การตัดสินคดีนั้น ผู้พิพากษาได้ตัดสินคดีไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมหรือไม่

ผมจึงเห็นว่า การไปหยิบยกอะไรบางอย่างที่อยู่นอกเหนือไปจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินเป็นสิ่งซึ่งอาจจะถูกโต้แย้งได้ อาจทำให้บุคคลซึ่งแพ้คดีรู้สึกว่า ศาลได้หยิบยกเอาเรื่องอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องในทางกฎหมายนั้นมาอยู่ในคำพิพากษาแล้วตัดสินคดี ซึ่งในที่สุดอาจจะเป็นผลในทางลบต่อองค์กรทางตุลาการ ถ้าท่านจะพูดศีลธรรมอะไรท่านพูดไป แต่ในตัวคำพิพากษาท่านต้องใช้หลักกฎหมายในการตัดสินคดี เพราะเราพิพากษาคดีไปโดยเกณฑ์ในทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นภาวะวิสัยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้และให้ตรวจสอบได้ เพราะว่า

ถ้าอ้างศีลธรรมมา มันเถียงกันไม่ได้ เช่น ทำดี ทุกคนก็บอกว่าทำดีกันหมด ก็จะเป็นปัญหา ผมจึงเรียนว่า ในข้างหน้าท่านวินิจฉัยอะไรก็แล้วแต่ เหตุผลที่ให้ในคำวินิจฉัยพึงเป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นในทางกฎหมายและมีความเป็นภาวะวิสัย อย่านำเอาเหตุผลอื่นมาปรากฎในคำพิพากษา

(อ้างอิงจากเว็บไซต์ประชาไท)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1229938333&grpid=01&catid=17

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แชร์ลูกโซ่

24 December 2008 Leave a comment

แชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่ หมายถึง รูปแบบการดำเนินธุรกรรมที่มุ่งประสงค์เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก โดยมีการสัญญาในการเข้าร่วมธุรกิจที่จะตอบแทนผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่สูงกว่าเงินลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการมักจะอ้างถึงการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป เพื่อปันรายได้แจกจ่ายผู้เข้าร่วมธุรกิจอย่างทั่วถึง แต่ผลของมันคือ การที่ตอบแทนผลประโยชน์ในช่วงต้นๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมธุรกิจต่อเนื่องจนเมื่อถึงจุดที่ผู้ประกอบการ หวังผลในการระดมทุนสำเร็จแล้ว ก็จะหาทาง ปิดตัวไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายผลประโยชน์ต่อๆไป

ระบบพีระมิด (pyramid system)

– ระบบนี้เน้นการหาสมาชิกรายหัว ซึ่งรายได้ของคนที่มาก่อนมาจากการหาสมาชิกของคนใหม่ที่เกิดขึ้นในขั้นฐาน
– หากเกิดการหาสมาชิกขาดช่วงลง สมาชิกที่มาก่อนจะเกิดผลกระทบในด้านรายได้ทันที
– ซึ่งแตกต่างจากระบบ MLM ที่ถึงแม้สมาชิกจะเข้ามาไม่มากก็จ่ายผลประโยชน์ตามระบบได้ ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนฐานแต่อย่างใด เพราะรายได้จะมาจากการขายสินค้าตัวเดิมให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ระบบลูกโซ่แบบรู้จบ (enless chain system)

ระบบนี้เป็นระบบแชร์ลูกโซ่แต่มีการจบของระบบ คือการที่สมาชิกเข้ามาก่อนสามารถรับผลประโยชน์จากสมาชิกที่เข้ามาใหม่แต่ จำกัดลำดับขั้น ถ้าสิ้นสุดขั้นที่กำหนดก็ไม่มีสิทธิ์รับผลประโยชน์อีก

ระบบลูกบอลหิมะ (snow ball system)

ระบบนี้คล้ายกับการ trading ระบบเงิน คือ การลงหุ้นในด้านการเงินแล้วแต่สัดส่วนที่จะลงทุน ลงน้อยได้ผลตอบแทนน้อย ลงทุนมากได้ผลตอบแทนมากตามสัดส่วน การจ่ายผลประโยชน์มีเป็นงวดๆ ดังนั้นจะใช้เงินของนักลงทุนมาจ่ายให้กับคนที่ลงทุนก่อน หมุนเวียนไปเรื่อยๆ จนกว่ารอบที่สัญญาจะหมดไป

ระบบลูกโซ่ (chain system)

ระบบแชร์ลูกโซ่จะแตกต่างกับระบบข้างต้น ก็คือจะไม่มีการจำกัดระยะเวลาตอบแทน และส่วนใหญ่จะให้ข้อตอบแทนที่สูงมากเกินจากการลงทุนเป็นจำนวน 2-5 เท่าขึ้นไป

ระบบเกมการเงิน (money game system)

คือ การใช้เงินต่อเงิน แต่มีเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยน เช่น การสมัครเข้ามาต้องจ่ายเงินให้ผู้แนะนำและหาสมาชิกให้ได้เท่าไหร่จึงจะมีค่า ตอบแทน และการแตกตัวของสมาชิกในเครือข่ายก็จะส่งผลประโยชน์ให้กับสมาชิกระดับสูง ตลอดไป ซึ่งระบบนี้จะมีลักษณะการตอบแทนใกล้เคียงกับระบบ MLM มาก แต่ไม่มีสินค้าเท่านั้นเอง ใช้เงินต่อเงินเลย หรือบางครั้งอาจใช้สินค้าชิ้นเล็กๆ บังหน้า หรืออาจเป็นบัตรส่วนลด บัตรอภิสิทธิ์ต่างๆ

ระบบแชร์ลูกโซ่แบบไบนารี่

คือหาสมาชิกแล้วแบ่งซ้าย ขวา เพื่อให้เท่าๆ กัน ซึ่งเมื่อแปลงระบบการจ่ายเงินโดยมีสินค้าบังหน้าเล็กน้อย ก็สามารถใช้เป็นระบบแชร์ลูกโซ่ได้อย่างแนบเนียนทีเดียว

Source : www.polsci.chula.ac.th

Categories: Economics & Finance

รายชื่อแยกที่มีกล้องจับ 30 แยก

19 December 2008 Leave a comment

รายชื่อแยกที่มีกล้องจับ 30 แยก

สี่แยกที่มีกล้องจับ โดยจะมี การจับ 3 กรณี

1. ผ่าสัญญานไฟแดง นอกจากนี้ พวกที่ฝ่าไฟเหลืองก็มีโทษ เช่นเดียวกับฝ่าไฟแดง แต่จะไม่ตัดแต้ม
2. จอดติดสัญญาน ไฟแดงทับเส้น ขาวด้านหน้า
3. จอดรถติดสัญานไฟ คล่อมช่องทาง ( คล่อมเส้นขาว)
วันที่เริ่มต้นใช้ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค 51

30 แยกสัญญาณไฟ ที่มีกล้อง

มีดังต่อไปนี้
1. แยกรัชดาฯ – ลาดพร้าว
2. แยกบ้านม้า
3. แยคลองตัน
4. แยกอโศกเพชร
5. แยกวิทยุ – เพลินจิต
6. แยกซังฮี้
7. แยกพญาไท
8. แยกโชคชัย 4
9. แยกนิด้า
10. แยกอุรุพงษ์
11. แยกประดิพัทธ์
12. แยกรัชดาฯ – พระราม 4
13. แยกลำสาลี
14. แยกบ้านแขก
15. แยกบางพลัด
16. แยกนรินทร
17. แยกราชประสงค์
18. แยกอโศก สุขุมวิท
19. แยกสาทร
20. แยกตากสิน
21. แยกโพธิ์แก้ว
22. แยกพัฒนาการ – ตัดรามฯ 24
23. แยกร่มเกล้า
24. แยกศุลกากร
25. แยกเหม่งจ๋าย
26. แยกท่าพระ
27. แยกประเวศ
28. แยกอังรีดูนังต์
29. แยกประชานุกูล
30. แยกบางโพ

ค่าปรับ มีอัตราเดียว 500 บาท เป็นความผิด ตามพ.ร.บ. จราจรทางบก
ข้อหาขับรถฝ่าฝืน สัญญาณจราจร ไฟสีแดง มาตรา 22 (2)
มีโทษตามมาตรา 152 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และตัดแต้ม 40 คะแนน
ใครเลี่ยงบาลี เอากระดาษปิด ป้ายทะเบียนหวังหลบเลี่ยง โดนปรับเพิ่ม

ไม่ไปจ่ายค่าปรับในเวลาที่กำหนด เวลาไปต่อทะเบียน โดนเพิ่ม 200

16 ฐานความผิดตัดแต้มใบขับขี่ 10-40 คะแนน

ถ้าผู้ขับขี่ทำความผิดข้อหาใดข้อหาหนึ่งใน 16 ข้อหาซ้ำ 2 ครั้งในข้อหาเดิมภายใน 1 ปี จะต้องเข้ารับการอบรม 3 ชั่วโมง
ถ้าทำความผิดมีคะแนนสะสมเกินกว่า 60 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตครั้งละไม่เกิน 90 วัน
หากทำความผิดซ้ำในข้อหาเดียวกัน 2 ครั้งใน 1 ปี และมีคะแนนสะสมรวมกันเกิน 60 คะแนน
จะต้องถูกอบรมทดสอบและพักใช้ใบอนุญาตไปพร้อมกัน

สำหรับ 16 ฐานความผิดมีดังนี้

บันทึกคะแนนครั้งละ 10 คะแนน
1. ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
2. ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันควร
 

ครั้งละ 20 คะแนน
1. แซงรถด้านซ้ายและไม่ปลอดภัย
2. แซงรถเมื่อขึ้นทางชัน ขึ้นสะพาน ในทางโค้งหรือแซงรถในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม ทางร่วม หรือแซงรถที่มีหมอก ฝน ฝุ่น หรือควัน จนมองไม่เห็นทางข้างหน้าได้ในระยะ 60 เมตร
3. จอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางโดยไม่เปิดไฟในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ
4. รถแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร
5. รถแท็กซี่พาผู้โดยสารไปทิ้งกลางทาง

ครั้งละ 30 คะแนน
1. ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
2. ขับรถประมาทหรือน่าหวาดเสียว
3. ขับรถในลักษณะผิดปกติวิสัย
4. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
5. ขัยรถเกินความเร็วที่กำหนด

ครั้งละ 40 คะแนน
1. ไม่หยุดรถหลังเส้นรอสัญญาณไฟ หรือขับรถฝ่าไฟแดง
2. ขับรถขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น
3. ขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
4. แข่งรถในทาง

Categories: Travel

กลอน “จักรภพ เพ็ญแข” ความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3

14 December 2008 Leave a comment

กลอน "จักรภพ เพ็ญแข" ความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3

อ่านแล้วลองคิดเอาเองครับ
ผมไม่รู้เหมือนกัน ว่า จักรภพ จะสื่ออะไรหรือหมายถึงใคร

ส่วนตัวกลอนที่ว่า
จะมีส่วนตัวหนังสือ สีแดงในวงเล็บ
ซึ่งเห็นมาจากอีกเวป ว่ากันว่าถอดมาจากเทปด้วยตัวเอง
คาดว่า มติชนอาจจะรีบ เลยอาจจะถอดเทปผิดก็ได้

กลอน "จักรภพ เพ็ญแข" ซัด พธม.รับจ้าง"คนที่อยู่เหนือ"

"ยุบแล้วยุบอีกจึงฉีกขาด เพราะยุบซ้ำธงชาติ จึงขาดวิ่น

นอนซมล้มป่วยระรวยริน จะถึงสิ้นกรรมหรือไม่ ได้รู้กัน
(นอนซมล้มป่วยระรวยริน ชาติจะสิ้นกรรมหรือไม่ ได้รู้กัน)

มิได้เอาประเทศชาติเป็นราชพลี แต่กลับเอาศักดิ์ศรี มาหํ้าหั่น

หลักกฎหมายพังวินาศเพราะฟาดฟัน เพราะอัตตาสุดขั้น สุดบรรยาย

ประชาชนอยู่ตรงไหนในบ้านนี้ ถ้าศักดิ์ศรีหาไม่ ก็ใจสลาย

ถ้าขอร้องแล้วไม่รู้ก็สู้ตาย จะไม่ขายวิญญาณ ขอทานกิน

คือระบบอุปถัมภ์อันซ้ำซาก แล้วโยนกากให้มวลชน คนท้องถิ่น

ชนชั้นกลางแบ่งสมบัติปล้นรัฐกิน คนที่อยู่ติดดิน ต้องกินเกลือ
(ชนชั้นกลางแบ่งสมบัติปล้นรัฐกิน ชนที่อยู่ติดดิน ต้องกินเกลือ)

โจรพันธมิตร เหตุที่ไม่มีใครจับ เพราะเขารับจ้างคน ที่อยู่เหนือ

กระชากชาติมาขยุ้มไม่คลุมเครือ ยังรอดตัวเหลือเชื่อ เพราะเอื้อกัน

ประชาชนก้าวหน้าเวลา ย่อมรู้ดีทุกๆ เรื่อง เบื้องหลังนั่น
(ประชาชนก้าวหน้าเวลานี้ ย่อมรู้ดีทุกๆ เรื่อง เบื้องหลังนั่น)

รู้ทั้งตัวหัวหน้าโจรคนสำคัญ รู้ทั้งสายสัมพันธ์ เกินบรรยาย
(รู้ทั้งตัวหัวหน้าโจรคนสำคัญ รู้ตลอดสายสัมพันธ์ เกินบรรยาย)

เพราะทักษิณกล้าเปลี่ยนประเทศชาติ ด้วยอำนาจมวลชน คนทั้งหลาย

เพราะตั้งใจเกินขั้นจึงอันตราย ถูกทำลายทุกๆ จุดไม่หยุดยิง

ขอขอบคุณที่สามานย์กันแสบไส้ ยึดสนามบินไว้ ก็ดียิ่ง

ยึดทำเนียบรัฐบาลมันส์จริงๆ เพราะทุกสิ่งช่วยยืนยัน ใครบัญชา

จากนี้ไปแบ่งออกไม่หลอกเล่น ใครอยากเป็นทาสตลอด ไปกอดขา

ใครอยากมีศักดิ์ศรีอย่าลีลา ร่วมประชาธิปไตย ไม่ต่อรอง

พี่น้องครับใกล้วันสำคัญแล้ว มาวางแนวปวงชน คนทั้งผอง

ประเทศนี้คือของเรา เราครอบครอง ด้วยครรลองเสรี มีศีลธรรม

อย่าไปด่าหมาใครเขาใช้เห่า มันก็เฝ้าเห่าทั้งวันลั่น วันยันค่ำ
(อย่าไปด่าหมาใครเขาใช้เห่า มันก็เฝ้าเห่าทั้งวัน ลั่นยังค่ำ)

รำคาญหมาตีเจ้าของต้องช่วยจำ เจ้าของกรรมชั่วที่ก่อ ไม่ต่อรอง
(รำคาญหมาตีเจ้าของต้องช่วยจำ เจ้าของกรรมชั่วที่ก่อ อย่าต่อรอง)

ต้องช่วยกันอธิบายให้ความรู้ เอาความจริงขึ้นสู้ ไม่มีสอง

กระเทาะแผ่นผิวฉาบที่ทาบทอง ให้เห็นของแท้ทั้งนั้น สันดานจริง

ยุคนี้กรรมแม้นิดยังติดจรวด ตามไล่กวดได้ทุกคน ถึงบนหิ้ง

คนที่ทำกรรมดีจะดีจริง ขอให้หยิ่งในวิญญา ประชาธิปไตย"
(คนที่ทำกรรมดีก็ดีจริง ขอจงหยิ่งในวิญญาณ์ ประชาธิปไตย)

หมายเหตุ : นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้อ่านบทกลอนบนเวทีรายการ "ความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3" ที่สนามศุภชลาศัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม โดยบอกว่าตนเองเป็นผู้แต่ง

Source : วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11236 มติชนรายวัน
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0103141251&sectionid=0101&selday=2008-12-14

The Rule Of Understanding Thai Politics For Foreigners

13 December 2008 Leave a comment

The Rule Of Understanding Thai Politics For Foreigners

Before you read this.
I want to say "I’m so sorry for you."
Lots of Thais think foreigner always don’t and will never understand Thailand situation.
D’you know why … because most of them think as the rule below.

The Rule Of Understanding Thai Politics For Foreigners

Rule 1 : Foreigners cannot understand anything in Thailand. Why ? Because … Because … they’re not Thai.

Rule 2 : Foreign journalists who violate Rule 1 and who dare to criticise, are … bought by Thaksin & CO.

Rule 3 : There is no Rule 3. Please, Go back to Rule 1.

Categories: Other

“วรเจตน์ ภาคีรัตน์” : ระบบกฎหมายลวงคน

8 December 2008 Leave a comment

สัมภาษณ์ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” : ระบบกฎหมายลวงคน

ภาคต่อที่ 3 จาก blog 2 ครั้งล่าสุด ได้แก่
1 แถลงการณ์ 5 อาจารณ์นิติธรรมศาสตร์ & การโต้ของ จรัญ ภักดีธนากุล
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!701.entry
https://mynoz.wordpress.com/2008/11/30/แถลงการณ์-5-อาจารย์นิติธ/

2 ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิพากษ์การเมืองไทยหลัง “ยุบพรรค”
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!714.entry

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิพากษ์การเมืองไทยหลัง “ยุบพรรค”

สัมภาษณ์ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” : ระบบกฎหมายลวงคน

“คดีแบบนี้ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณตีความแบบนี้ และคุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ คุณก็เขียนไปอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ-เมื่อกกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการ บริหารพรรค ก็ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค-แต่มันเหมือนกับบอกชาวโลกเขาไม่ได้ …..ระบบกฎหมายของเราในที่นี้คือการลวงคน มันไม่มี material ไม่มีเนื้อหา มีแต่รูปแบบ ถ้าพูดให้ extreme กระบวน การพิจารณาที่ทำกันมันคือความว่างเปล่า ที่คุณจะต้องให้ตุลาการนั่งพิจารณา ให้เขามาแถลงคดี มันคือความว่างเปล่าหมดเลย มันไม่มีอะไรให้พิจารณา”

หลังจากไม่พูดมา 6 เดือน ใช้เวลาเขียนบทความทางวิชาการโต้กับปรมาจารย์กฎหมายมหาชน อมร จันทรสมบูรณ์ อยู่ทางเน็ต ในที่สุด วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับเพื่อนๆ ก็ต้องออกแถลงการณ์ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตร และการวินิจฉัยยุบ 3 พรรคของศาลรัฐธรรมนูญ

อะไรเป็นเหตุให้เขาต้องกลับมาพูดอีก

“วันที่ ผบ.ทบ.แถลงข่าว มีอธิการบดีผมนั่งข้างๆ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ ผบ.ทบ.แก้ไขปัญหาเรื่องยึดสนามบิน ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างร้ายแรงในระบบกฎหมาย ในระบบกฎหมายเราไม่สามารถยอมรับได้ และ ในเกณฑ์สากลทุกประเทศเข้าใจเหมือนกัน ไม่มีใครยอมรับการกระทำแบบนี้ มันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจน ผมก็แปลกใจมากว่านักวิชาการนักกฎหมายไม่มีใครพูดสักแอะว่านี่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทุกคนอาจจะรู้สึกในใจว่ามันเกินไป แต่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะฉะนั้น law act order มันไม่มีในสังคม

ไหนๆ ก็พูดแล้ว บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ยังจะซักถามถึงประเด็นกฎหมายที่ข้องใจกันมาใน 6 เดือน ตั้งแต่คดีสมัครทำกับข้าว คดีที่ดินรัชดา ซึ่งวรเจตน์เคยยืนยันกับเราตั้งแต่ปี 2547 ที่เขากับสุรพล นิติไกรพจน์ ร่วมกันคัดค้านหวยลิเวอร์พูลว่ากรณีนี้ไม่ผิดมาตรา 100 กฎหมาย ปปช.

การชุมนุมผิดกฎหมาย

“มีบางคนบอกว่าผมเป็นนักวิชาการอยู่บนหอคอยเอาทฤษฎีกฎหมายของตะวันตก มันไม่เกี่ยว คุณไปดูในเกณฑ์สากล คุณอย่าไป in กับการชุมนุมจนพวกคุณทำอะไรก็ถูกหมด ผมเห็นคนตีแบดที่สุวรรณภูมิผมส่ายหัว เฮ้ยคุณทำอย่างนี้กันได้อย่างไร และกลไกมันดำเนินการไม่ได้”

“การสลายการชุมนุมควรเป็นมาตรการสุดท้าย แต่ต้องทำภายในระยะเวลาอันสมควร ไม่ใช่เราตั้งธงห้ามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม คือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ถ้ากลไกกฎหมายเข้าจัดการ มันต้องมีการบังคับ มัน ต้องเจ็บ เราต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องซึ่งต้องเกิด หมายความว่าผู้ชุมนุมเขาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงอันนี้มันมี เพราะไม่เช่นนั้นมันทำลายตัวระบบทั้งหมด และมันจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อไป วันนี้คนก็รับกันไม่ได้ คุณจะเคลื่อนไหวอะไรก็ตามสะดวกแต่เรื่องอย่างนี้มันเกินไปกว่ากรอบการชุมนุม”

ที่ผมแปลกใจคือนักกฎหมายไม่มีใครออกมาพูดว่า นี่ไม่ใช่การชุมนุมในความหมายของกฎหมายแล้ว และ ผบ.ทบ.ยังไปเสนอให้นายกยุบสภา โอเค ถ้าคุณประชุมร่วมกันแล้วมีประเด็นความขัดแย้งอยู่ 2-3 เรื่อง ประชาธิปัตย์บอกให้ยุบสภา ซึ่งเป็นฝ่ายค้านนะ พันธมิตรเรียกร้องให้ลาออก รัฐบาลบอกไม่ยุบสภาไม่ลาออก ถ้าเป็นข้อเสนอที่จำเป็นต้องมีจริง ข้อเสนอมันต้องแผกออกไปจากข้อเสนอทั้ง 3 อันนี้ หรือต้องหาทางประสานกัน 3-4 เรื่องนี้ แต่ประเด็นคือผมรู้สึกว่า ผบ.ทบ.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย มิหนำซ้ำอธิการบดีมหาวิทยาลัยของผมยังไปร่วมอยู่ในการแถลงข่าวนั้นด้วย และก็ยังเสนอเรื่องอารยะขัดขืน ซึ่งผิดหลักในทางกฎหมายอย่างแน่นอน ก็ยังดีที่ปลัดกระทรวง 2-3 กระทรวงออกมาบอกว่านี่ไม่ใช่มติของที่ประชุม เป็นความเห็นส่วนตัวของอธิการบดีสุรพล นิติไกรพจน์ และผมก็ยังคุยกับเพื่อนอยู่ว่าถ้าอธิการเสนออย่างนี้ อารยะขัดขืนเพราะรัฐบาลขาดความชอบธรรม ถ้าผมทำบ้าง อธิการบดีขาดความชอบธรรม ผมทำอารยะขัดขืนโดยไม่สอนหนังสือได้ไหม เพราะเป็นลักษณะเดียวกัน”

“อีก 2 วันถัดมาทำให้ผมรู้สึกว่าต้องออกมาพูดก็คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงปิดคดีวันที่ 2 ธ.ค. หลังจากตัดพยานบุคคลทั้งหมด เพื่อนกลุ่มผมเขาอยากออกแถลงการณ์ตั้งแต่วันที่ ผบ.ทบ.แถลงข่าวแล้ว ผมก็บอกว่ารอดูสักนิดสิว่าจะอย่างไร แต่มีเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเราก็คิดว่าควรจะต้องทำ ดังนั้นเมื่อออกก็ต้องออกเรื่องนี้ด้วย ก็เป็น 2 เรื่อง และผมคิดว่าคราวนี้ผมต้องพูด ก็เลยให้สัมภาษณ์สื่อบางสื่อไปก่อนหน้านั้น พูดตรงๆ ผมก็เบื่อหน่าย ขี้เกียจพูด”

บางคนไม่พอใจว่าเขาสนับสนุนให้สลายการชุมนุม

มันต้องมีวิธีการสลายการชุมนุม แต่รัฐต้องแสดงให้เห็นว่าเมื่อการเจรจาไม่ได้ผล กระบวนการทางกฎหมายต้องดำเนินการ คือไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดเมื่อมีการปิดทางเข้าที่ชุมนุมแล้วกลไกของรัฐก็ใช้บังคับไม่ได้ เพราะผู้ชุมนุมก็ยึดอาวุธของตำรวจ ตำรวจ ถูกผลักออกไป อย่างนี้แปลว่ากลไกของรัฐไม่ทำงาน มันเกิดสภาพแบบนี้ไม่ได้ในบ้านเมือง ไม่อย่างนั้นคนก็จะถามว่าแล้วระบบกฎหมายอยู่ไหน ทำไมคนกลุ่มหนึ่งสามารถทำการอันผิดกฎหมายได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ยึดทำเนียบมาจนคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ”

“เพราะฉะนั้นที่ผมบอกว่าใช้มาตรการทางกฎหมายต่อผู้ชุมนุมก็มีขั้นตอน เบื้องต้นคือหนึ่งคุณปิดไม่ให้มีการเข้าไปร่วมได้อีก และถ้ายังไม่ออกลำดับต่อมาคุณต้องเริ่มใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งต้องทำ แต่ไม่ใช่เจรจาไปตลอด ทั่วโลกเขาก็ไม่เข้าใจและเขายอมรับไม่ได้ แต่ผมแปลกใจที่สื่อมวลชนและนักวิชาการบางคนในบ้านเรายังออกมาออกทีวีพูดว่า อย่าใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม และที่ผมแปลกใจหนักไปกว่านั้นอีกก็คือทำไมไม่มีการขัดขวางการเคลื่อนขบวน เข้ายึดสวรรณภูมิ ตั้งแต่ตอนเคลื่อนไป องค์กรของรัฐก็รู้ ตำรวจก็รู้ ทหารก็รู้ อย่างน้อยถ้าปิดถนนเส้นหนึ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะไม่มาก แต่นี่ไปตลอด และทำไมวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทหารมาเต็มไปหมด แต่เรื่องอื่นๆ ทำไมไม่มีการดำเนินการ มันเกิดอะไรขึ้นกับกลไกการบังคับของรัฐ

ถ้าใครจะบอกว่าผมสนับสนุนการสลายการชุมนุม ผมก็ไม่ปฏิเสธถ้ามันผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย ต้องยอมรับว่าการสลายการชุมนุมเป็นมาตรการทางกฎหมายอย่างหนึ่งนะ ประเทศประชาธิปไตยทำกันทั่วโลก ที่อื่นเขาก็มีกระบอง มีแก๊สน้ำตา น้ำฉีด มันไม่ใช่เรื่องประหลาด เพียงแต่จะต้องทำเป็นขั้นตอน บางคนเขากลัวว่าผู้ชมนุมอาจจะมีอาวุธหรือตำรวจอาจจะทำแรงเกินไป มีคนเจ็บคนตาย แต่เราต้องเข้าใจว่าสภาพแบบนั้นมันเลี่ยงไม่ได้ ในที่สุดต้องทำก็คือต้องทำ ที่สุดถึงขั้นเด็ดขาดก็ต้องเด็ดขาด แต่ไม่ใช่บอกว่าห้ามสลายการชุมนุมเลย ซึ่งมันใช้ไม่ได้นะถ้าเกิดการยึดสนามบินแล้วคุณบอกว่าห้ามสลายการชุมนุม มันเป็นไปไม่ได้เลยในทางกฎหมาย โอเคคุณต้องใช้มาตรการเป็นขั้นเป็นตอน ผลักดันเขาออกมาหรือให้ไปชุมนุมอีกที่หนึ่ง ก็ว่าไป มันต้องเข้า แต่ไม่ใช่เอาปืนไปยิงเขา”

“ตำรวจก็น่าเห็นใจในแง่มุมนี้คือเขาเป็นผู้ปฏิบัติ ทำอะไรแรงเกินไปเขาก็จะถูกฟ้อง ถูกสอบ ในแง่นี้เรื่องสิทธิต้องมีอยู่ แต่ มันไม่ใช่เรื่องใช้สิทธิในการชุมนุม มันเกินกรอบของรัฐธรรมนูญ มันก็คงเหลือแต่สิทธิเสรีภาพในตัวบุคคล ซึ่งก็ต้องทำไปพอสมควรแก่เหตุ”

เพราะเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลามาก่อน

“มันเลยกดดันว่าไม่กล้าทำ กลัวที่จะทำ เดี๋ยวไปเข้าทาง ทหารออกมารัฐประหาร พอกลัวก็เลยเกิดสภาพแบบนี้ สิ่งที่สูญเสียไปก็คือคุณค่าในระบบกฎหมาย”

วรเจตน์เห็นว่า 7 ตุลาก็ต้องสลาย

“มีอาจารย์บางคนในคณะบอกว่ารุนแรงไป ผมถามว่าคุณปิดทางเข้า แล้วจะให้ทำอย่างไร แต่การสลายรุนแรงมากน้อยแค่ไหนเรามาว่ากัน มีคนบอกว่าตำรวจไม่มีการเตือน เพื่อนชาวต่างชาติผมคนหนึ่งอยู่ในที่ชุมนุมเขาบอกตำรวจเตือนแล้วเตือนอีก แต่แน่นอนเราอาจจะไม่มีการฝึกการสลายการชุมนุมบ่อยๆ ความ เชี่ยวชาญอาจจะไม่มี ประกอบกับความเกร็งในหลายเรื่อง แต่เราต้องเข้าใจว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวได้รับการให้ท้ายจากคนที่เป็นชนชั้น นำในสังคม หลายคนที่ให้ท้ายอยู่ มันจึงทำให้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ในนามของสิทธิสรีภาพ ซึ่งมันเกินไปมาก แต่ไม่มีใครพูด ผมคิดว่าผมรู้เรื่องสิทธิสรีภาพดี แต่สิทธิเสรีภาพเวลาคุณใช้คุณต้องเคารพชาวบ้านเขาด้วยนะ ไม่ อย่างนั้นอันธพาลก็อ้างสิทธิเสรีภาพได้ ถึงที่สุดมันก็ต้องจัดการ เพียงแต่ทำอย่างไรให้สูญเสียน้อยที่สุด แต่สภาพการณ์อย่างนั้นใครจะรับประกันได้ ที่สุดใครคือคนที่ควรจะต้องตำหนิ ก็คือแกนนำทั้งหลายที่เคลื่อนขบวน ที่ต่อสู้โดยวิธีการแบบนี้ต่างหากที่เป็นต้นเหตุ”

คำสั่งศาลปกครองก็ชี้ชัดว่าไม่ใช่การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

“อันนี้ก็ต้องพูด คนไปอ่านคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นและก็เข้าใจว่าศาลปกครองบอกว่าตำรวจสลายโดยมิชอบ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ในทางกลับกัน การชุมนุมของพันธมิตรไม่เคยมีองค์กรไหนชี้ว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย องค์กรแรกที่ชี้เรื่องนี้คือศาลปกครองกลาง ที่บอกว่าเป็นการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการ แต่ว่า มาตรการทางกฎหมายจะต้องเป็นขั้นเป็นตอน เป็นไปตามหลักพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งก็ถูกต้องในทางหลักการ ศาลยังไม่ได้ชี้ว่าตำรวจผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่เขาชี้แน่นอนว่าการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่ตอนตำรวจไปสลายคุณทำอย่างไร ศาลก็บอกว่าต้องมีขั้นมีตอน เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติต่อไป”

“คนที่บอกว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่ผมพูด แต่องค์กรตุลาการในคดีนี้ชี้ ไม่มีใครออกมาพูดนะ ปัญญาชนคนชั้นนำไม่เห็นออกมาพูดประเด็นนี้เลย ผมดูทีวีบางช่องยังไปบอกว่าศาลปกครองบอกว่าตำรวจอย่าไปสลายการชุมนุม”

วรเจตน์ยังเห็นว่า รัฐบาลไม่ต้องไปขอคำสั่งศาลแพ่งกรณีที่พันธมิตรยึดทำเนียบและยึดสนามบินสุวรรณภูมิ

อำนาจในการบังคับอยู่ที่ฝ่ายปกครอง องค์กรตุลาการปกติเขาคุ้มครองสิทธิของเอกชน อย่างเช่นมีคนไปกระทำการล่วงล้ำสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ อันนี้อาจจะไปฟ้องศาลแพ่งขอให้มีคำสั่งระงับได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางราชการ หน่วยงานราชการ การบริหารราชการ กลไกของรัฐมีอยู่ และเป็นเรื่องทางการปกครอง คุณสามารถใช้อำนาจทางการปกครองสลายการชุมนุม คนที่ active คือฝ่ายปกครอง ในทางกลับกันคนที่ต้องเป็นคนฟ้องก็คือฝ่ายที่ถูกดำเนินการ คือฝ่ายประชาชน ฟ้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายต่อศาลปกครอง”

“ในกรณีนี้พอหน่วยงานรัฐไปฟ้องศาลยุติธรรม และศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล พอเขาไม่ออกก็มีการอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปตลอด ระบบกฎหมายมันเลยผิดไปหมด ก็ต้องไปรอคำสั่งศาลกันหมดเลย ซึ่ง มันไม่ใช่ ในแง่มุมนี้เป็นทางฝ่ายรัฐต้องดำเนินการ ไม่ใช่เรื่องการไปฟ้องศาล ตั้งแต่สมัยคุณสมัครแล้วที่รองปลัดสำนักนายกฯไปฟ้องศาล คือถ้ามีคุณมาบุกมายึดคุณจัดการได้เลย ไม่ต้องขอคำสั่งศาลเพราะเป็นสถานที่ราชการ เป็น เรื่องในทางปกครอง ไม่ใช่เป็นประเด็นที่รัฐบาลไปฟ้องศาลแพ่ง แต่กรณีนี้ผมเข้าใจว่าเขาไปฟ้องเชิงล่วงล้ำอสังหาริมทรัพย์ ก็เลยให้ศาลใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราวในการสั่งให้ผู้ชุมนุมออกไป พอไปฟ้องแบบนี้ทางทนายของฝ่ายพันธมิตรเขาก็ยื่นค้านสิ เราก็จะเห็นว่ามันขัดกันไปขัดกันมาแบบนี้”

แล้วกรณีผู้ปกครองนักเรียนฟ้องให้ออกจากถนน

“อันนั้นก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ในแง่หนึ่งคล้ายๆ ตัวผู้ปกครองมองว่าเขาเดือดร้อนเสียหาย ถือว่ากระทบสิทธิตัวเขา ก็เป็นเรื่องเอกชนไปว่ากัน ก็ได้ในอีกทางหนึ่ง มีเหตุผลจะฟ้อง แต่ถ้าเป็นของรัฐ รัฐต้องดำเนินการเอง ไม่ใช่รัฐไปฟ้องศาลยุติธรรม กรณี ผู้ปกครองเขาเป็นเอกชน เขาได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ก็ต้องดูว่ากระทบสิทธิของเขาไหม ก็ว่าไปในทางแพ่ง แต่บังเอิญมันมาเชื่อมโยงกับเรื่องในทางมหาชน”

คำวินิจฉัยที่ไม่ต้องมีศาล

ต่อศาลรัฐธรรมนูญเขามีความเห็น 2 ประเด็นคือวิธีพิจารณาและคำวินิจฉัยตามมาตรา 237

“ในแง่ของวิธีพิจารณา หลักคือองค์กรตุลาการ ความน่าเชื่อถือในเชิงการใช้อำนาจ โดยยังไม่พูดประเด็นว่าเนื้อหาถูกหรือผิด แต่เรากำลังพูดถึงกระบวนการในการใช้อำนาจ ความน่าเชื่อถือของการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการอยู่ที่กระบวนการในการใช้อำนาจ เขาจึงมีกฏเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณา ซึ่งรับใช้วัตถุประสงค์หลักหลายประการ ด้านหนึ่งก็คือคุมศาลด้วย ว่า ตัวศาลเองก็ต้องตัดสินไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางเอาไว้ ผมจึงเรียกร้องมาตั้งแต่แรกว่ากฏเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลออกเองไม่ได้ ต้องสภาเป็นคนออก ผมวิจารณ์ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปออกข้อกำหนดเอง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ โอเค ผู้ร่างก็เขียนไว้ให้ร่างเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธี พิจารณา แต่บังเอิญตัว พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ ศาลรัฐธรรมนูญตอนนี้เลยใช้ข้อกำหนดตัวเองไปพลางก่อน”

“ข้อกำหนดวิธีพิจารณาต้องเป็นตัวกำกับศาล ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับสาธารณชนว่าเรื่องนี้ได้ดำเนินการไปตาม ระบบระเบียบตามกระบวนการที่ถูกต้อง นี่คือเป็นประกันความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชน แน่นอนบางเรื่องในเชิงข้อกฎหมายศาลอาจจะเห็นแล้ว ศาลอาจจะรู้ว่าเรื่องนี้จะต้องตัดสินอย่างไร แต่ในที่สุดในการดำเนินกระบวนการพิจารณาก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน และก็เคารพกระบวนพิจารณา”

ปัญหาที่เห็นอยู่อย่างชัดเจนก็คือ คนจะตั้งคำถามว่าให้ฝ่ายผู้ถูกร้องมาแถลงปิดคดีทำไม ในเมื่อคำแถลงปิดคดีนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรเลยกับตัวคำวินิจฉัย ผมพูดอย่างนี้จากสมมติฐาน มันเป็นไปไม่ได้ที่หลังจากมีการแถลงปิดคดีแล้วศาลได้นำเอาคำแถลงปิดคดีนั้นไปพิเคราะห์ ประกอบกับการต่อสู้คดี และเอาไปใช้ในการทำคำวินิจฉัย ทั้งคำวินิจฉัยส่วนตนและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะหลังแถลงปิดคดีมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมง เท่านั้นก็อ่านคำวินิจฉัย คนทั่วไปก็เคลือบแคลงได้ว่าคำวินิจฉัยนั้นถูกเขียนเอาไว้ก่อนแล้ว การแถลงปิดคดีจึงไม่มีความหมาย เว้นแต่ศาลจะบอกว่าศาลทำคำวินิจฉัยในตอนนั้นนั่นแหละ คือ 1 ชั่วโมงนั้น ศาลทำคำวินิจฉัยส่วนตนเสร็จ ทำคำวินิจฉัยกลางเสร็จ ซึ่งมันยากที่จะเป็นไปได้ อาจจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในแง่นี้คนก็ตั้งคำถามกับกระบวนการพิจารณาว่าทำไมต้องเร่งรีบ แม้ศาลอาจบอกว่าเรื่องนี้รู้อยู่แล้วว่าจะตัดสินไปในทิศทางไหน แต่คุณต้องต้องเคร่งครัดต่อการพิจารณาคดี ต้องมีห้วงเวลาหนึ่งที่คุณต้องประชุมปรึกษาคดี ลงมติในประเด็นของคดี ทำ คำวินิจฉัย ตรวจแก้คำวินิจฉัย ถกเถียงว่าถ้อยคำในคำวินิจฉัยเป็นอย่างไร แล้วคุณจึงนัดวัน แล้วคุณจึงอ่านคำวินิจฉัย แต่กระบวนการนี้มันเกิดขึ้นในวันเดียว ถ้าถามนักกฎหมายหลายคนไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในวันนั้น”

เคยมีศาลไหนทำแบบนี้ไหม

“ผมไม่เคยเห็น มีคนบอกว่าศาลฎีกาเคยทำแต่ผมไม่แน่ใจ และในทาง common sense มัน ก็ไม่ถูก อย่างน้อยสำหรับฝ่ายที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยเขา ก็รู้สึกว่าไม่ฟังเขา การรับฟังเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม เว้นแต่เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ไม่เป็นสาระ หน่วงการพิจารณา ศาลก็ตัดออกไปได้ แต่ในที่สุดก็ต้องพยายามฟังทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากระบวนวิธีพิจารณา”

เป็นอำนาจศาลหรือไม่ที่จะตัดพยานออก

“ในข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจาณาก็เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะงดการไต่สวนพยาน แต่คำถามคือการใช้ดุลยพินิจในลักษณะแบบนี้ ในห้วงเวลาที่กระชั้นอย่างนี้ สมควรหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่อย่างไร คือตัดทุกปากเลยด้วยซ้ำ เอาจากคำให้การมาดู ความจริงเรื่องนี้แม้ศาลศาลมองว่าเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ในที่สุดก็ ต้องฟัง เพราะเป็นไปได้ว่าคนที่มาให้การเขาอาจจะให้การในแง่ข้อกฎหมายที่กระทบสิทธิ ของเขาก็ได้ เช่นถ้าผมเป็นกรรมการบริหารพรรค แล้วผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำความผิด แต่ผมเป็นคนได้รับผลกระทบเพราะถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ผมควรจะมีสิทธิได้พูดกับศาล ควรจะมีสิทธิบอกศาลว่าเรื่องนี้ fact เป็น อย่างไร ผมไม่ได้เกี่ยวพันอย่างไร ผมควรจะมีสิทธิบอกศาลด้วยว่าในแง่มุมนี้ความยุติธรรมที่มีต่อตัวผมเป็นอย่างไร ข้อกฎหมายนี้ควรจะเป็นอย่างไร ส่วนศาลจะฟังความเห็นข้อกฎหมายผมหรือไม่ก็สุดแต่ศาล แต่ต้องฟังผม ไม่ใช่ไม่ฟังเลย ผมยกตัวอย่างตอนพระเจ้าจะลงโทษอดัมกับอีวา พระเจ้าเสด็จมา พระเจ้ารู้แล้วว่าอดัมกับอีวาฝ่าฝืนโองการของพระองค์ไปกินผลไม้จากต้นไม้ แห่งความรู้ แม้กระนั้นพระเจ้าก็ยังเปิดโอกาสให้อดัมกับอีวาได้พูด นี่พระเจ้านะ มีระบุในคัมภีร์ไบเบิล มันไม่เกี่ยวว่าเขารู้หรือไม่รู้อย่างไร มันเกี่ยวกับว่าได้ฟังเขาไหม เพราะนี่คือหลักประกัน ในแง่ของความยุติธรรม ต้องฟัง”

ในประเด็นคำวินิจฉัย ใช่ไหมว่าเป็นการตีความมาตรา 237 แบบสำเร็จรูป

โดยอัตโนมัติ ความจริงถ้าเป็นอย่างนี้ศาลไม่ต้องมีกระบวนพิจารณาเลย วันที่ศาลรับเรื่องจาก กกต. ศาลก็ตัดสินได้เลย ถ้าเหตุผลเป็นอย่างนี้ก็ตัดสินตั้งแต่วันนั้นได้เลย

“การตีความ ม. 237 แบบนี้ เท่ากับคนที่ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในกรณีพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยคือ กกต. ในกรณีพรรคพลังประชาชนคือศาลฎีกา เพราะ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำอะไรเลย ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากรณีชาติไทยกับมัชฌิมาธิปไตยในเมื่อ กกต.ได้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแล้ว ศาลก็ไม่สามารถฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้เพราะมาตรา 239(1) บัญญัติ ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด ศาลต้องผูกพันตามข้อเท็จจริงและตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉะนั้นศาลก็แทบจะไม่ทำอะไรเลยกรณีของศาลฎีกาก็เหมือนกัน”

“และแน่นอนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วย ในระดับหนึ่ง ระหว่างพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย เพราะกรณีของชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย ทั้ง 2 พรรค ไม่มีโอกาสต่อสู้ในชั้นศาลเลย เพราะ กกต.เพิกถอนสิทธิตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ขณะที่พลังประชาชนยังได้ไปต่อสู้ในศาลฎีกาแล้วศาลเพิกถอนสิทธิ เพราะฉะนั้นมันไม่เหมือนกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญทำเหมือนกันหมด ทั้ง 3 กรณี และแม้แต่คราวนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ดูต่อไปว่าข้อเท็จจริงที่เกิดมีขึ้น ที่ศาลฎีกา แม้จะเป็นเช่นนั้นจริงมันจะล็อกศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ให้ศาลฎีกาเป็นคนยุบพรรคไปเลยล่ะ จะให้ กกต.ส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกเพื่ออะไร”

ถ้าตีความอย่างนี้ก็เหมือนศาลไม่ได้ทำอะไรเลยใช่ไหม เพียงเป็นตราปั๊มให้ ม.237

“เอาง่ายๆ สมมติพรุ่งนี้มีการเลือกตั้ง อีก 7 วันถัดมา กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคพรรคหนึ่ง จริงๆ มันคือโดนยุบแล้ว คือมันตายแล้ว แต่มันก็มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะกลไกทางกฎหมายต้องส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ”

“ผลของการตีความแบบนี้ในที่สุดแล้วจะเกิดการใช้ตัวกลไกนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นเรื่องระยะเวลาด้วย เพราะพรรคโดนยุบแน่ๆ ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งช้าหรือเร็ว ในห้วงเวลาไหน แต่โดยแนวทางศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้”

ตอนที่ถกเถียงเรื่อง ม.237 วรเจตน์เคยแย้งไว้แล้วว่าไม่ควรบังคับโดยอัตโนมัติ

“ตอนนั้นมีการพูดกันว่า ม.237 บังคับให้ กกต.ต้องส่ง ผมมีความเห็นว่าไม่บังคับ การตีความ 237 ดุลยพินิจ มีได้ในชั้น กกต.และก็มีได้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ตัวบทจะเขียนด้วยถ้อยคำแบบนั้นก็ตาม ผมมีความเห็นแบบนี้ แต่อีกฝ่ายบอกว่า กกต.ต้องส่ง ตอนเดือน มี.ค.ผมก็บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีดุลยพินิจได้ในมาตรา 237 คนที่ไปอ่านมาตรา 237 ก็ออกมาพูดว่าวรเจตน์ไปตีความอย่างนั้นได้อย่างไร ก็รัฐธรรมนูญเขียนชัดนี่ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิกรรมการ บริหารพรรค”

“ดูจากถ้อยคำมันก็เป็นอย่างนั้น คนก็ตีความไปในลักษณะว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกล็อกโดย 237(2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากรรมการบริหารพรรคทำเอง คือการตีประเด็นว่ายิ่งต้องเป็นเช่นนั้น มันเป็น logic ทาง กฎหมายโอเค แต่ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับตัวบทนี้และการตีความแบบนี้ เพราะถ้าตีความแบบนี้เราประกาศตัวไม่ได้ว่าเราเป็นนิติรัฐ เราต้องไปเลิกบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการใช้สิทธิในทางศาล ก็คุณเขียนมาตรา 28 อยู่โต้งๆ นี่ วรรค 2 บอกว่าบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อ ต่อสู้คดีทางศาลได้ ผมถามว่าบรรดากรรมการบริหารพรรคทั้งปวงที่เขาไม่เกี่ยวข้อง เขามีโอกาสไหม ไม่มีโอกาสเลย หรือคนที่ถูก กกต.ตัดสิทธิก็ไม่มีโอกาสสู้คดีในศาลเลย คุณตีความ 237 แบบนี้แล้วคุณเอา 28(2)ไปไว้ที่ไหน คุณก็ลบมาตรานี้ทิ้งจากรัฐธรรมนูญไปสิ และก็มาตรา 3 ที่เขียนมาสวยหรู ตอนดีเบทรัฐธรรมนูญก็คุยโม้โอ้อวดกันนักหนาว่ามีเรื่องนิติธรรมนิติรัฐ คุณไม่เป็น แต่คุณฉาบเคลือบไว้ด้วยถ้อยคำพวกนี้ ในแง่หลักการรัฐธรรมนูญ 2550 คุณจะลวงชาวโลกไปได้อีกนานแค่ไหน

เขายืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตีความ ม.237 ให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ

“ตีความได้ถ้ากรรมการบริหารพรรคคนใดไม่มีส่วนรู้เห็นก็ไม่ต้องถูกตัดสิทธิ หรือไม่ยุบพรรคก็ยังตีได้ เว้นแต่ว่าการกระทำนั้นถือเป็นการกระทำของพรรค ถึงแม้คนร่างรัฐธรรมนูญจะเขียนแบบนี้ก็ตาม แต่จะเอาเจตนารมณ์ของคนร่างอย่างเดียวไม่ได้ การตีความกฎหมายคุณตรวจถ้อยคำ เจตนารมณ์ของคนร่าง คุณต้องดูระบบ เพราะคุณตีความอย่างนี้มันขัดกับระบบของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะคุณพูดไว้ที่หนึ่งอย่างหนึ่ง พูดอีกที่อย่างหนึ่ง แล้วมันขัดกัน คุณต้องตีความ 2 ที่ให้เป็นเอกภาพสอดคล้องต้องกันใช่ไหม”

“นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักหลักหรือการตีความหลักความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ และ การตีความตามระบบ เวลาผมสอนวิชาการใช้การตีความกฎหมาย ผมบอกนักศึกษาว่ากฎหมายมาตราหนึ่งเหมือนกับใบไม้ใบหนึ่ง เวลาคุณพิเคราะห์ใบไม้ใบหนึ่งคุณไม่เข้าใจได้ละเอียดถ่องแท้หรอก จนกว่าคุณจะรู้ว่าใบไม้ใบนั้นมาจากต้นไม้ต้นไหน ต้นไม้ต้นนั้นอยู่ในป่าแบบไหน ถ้า คุณเห็นป่าทั้งป่าเห็นต้นไม้ต้นนั้น คุณจะเข้าใจใบไม้ใบนั้นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เหมือนคุณตีความกฎหมาย ไม่ใช่ตีไปทื่อๆ ตามถ้อยคำแบบนี้”

“แล้วไม่คิดหรือว่าตกลงมีศาลรัฐธรรมนูญในคดีแบบนี้ไว้ทำไม ไม่ต้องมี และ ต่อไปถ้า กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค พรรคนั้นก็รู้ว่าถูกยุบแน่ๆ ถ้าคุณเป็นกรรมการบริหารพรรคคุณตั้งพรรคใหม่ได้เลย แล้วโอนสมาชิกไปตรงนั้นได้เลย คุณก็ตั้งกรรมการบริหารพรรคให้น้อยที่สุด เป็นพวกหน่วยกล้าตาย”

ตอนนี้ในทางปฏิบัติ มาตรา 237 ก็ไม่ต้องใช้อีกแล้ว ต่อไปพรรคเพื่อไทยกรรมการบริหารพรรคก็ไม่ลงเลือกตั้ง

ต่อไปนายกฯ ก็อาจจะไม่ต้องมาจากหัวหน้าพรรคด้วย ไม่ต้องเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะบทเรียนนี้มันชี้ให้เห็นแล้ว การใช้กฎหมายแบบนี้มันนำไปสู่ผลแบบนี้ แล้วคุณเลิกพูดเรื่องนอมินี ช่วงหนึ่งบอกว่าพลังประชาชนเป็นนอมินีไทยรักไทย logic พวกนี้มันตลก เดี๋ยวคุณก็ต้องฟ้องเพื่อไทยเป็นนอมินีพลังประชาชน เพราะโดยกลไกทางกฎหมายบังคับให้เกิดนอมินี ไปโทษเขาไม่ได้ เพราะเมื่อคุณเขียนกฎหมายไม่ยุติธรรม คือคุณไปตัดสิทธิคนที่เขาไม่ผิดเขาก็ต้องหาวิธีเป็นของธรรมดา เป็นปกติของมนุษย์ เขาก็ต้อง save ให้กรรมการบริหารพรรคน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นต่อไปคุณเลิกไปตำหนิเขาว่ามีอะไรชักใยอยู่ข้างหลัง เพราะว่าตัวกฎหมายบังคับให้ต้องมีชักใยอยู่เบื้องหลัง คุณเขียนกฎหมายไม่รับกับความยุติธรรมและโลกของความเป็นจริง ประหลาด ไม่มีที่ไหนในโลก”

“คุณยุบพรรคไป เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของความนิยม ฆ่ากันในทางการเมืองคุณฆ่าไปสิ ถ้าคนยังนิยมอยู่คนก็รู้ว่าพรรคนี้สืบมาจากพรรคนี้ สืบมา 3-4 ชุดเดี๋ยวมันวนกลับมาที่ชุดแรก สมมติต่อไปเพื่อไทยถูกยุบอีก ก็อาจจะมีพรรคใหม่ขึ้นมาอีก ชุดที่ 4 พอยุบอีกที ครั้งนี้รุ่นแรกที่ถูกเพิกถอนสิทธิ 111 คน เขาก็กลับมาได้แล้วครับ ผมถามว่านี่หรือคือภูมิปัญญาในการบัญญัติกฎหมายของสังคมนี้ ในการแก้ปัญหาทางการเมือง สังคมไทยเราระดับปัญญาในการออกแบบกฎหมายที่จะแก้ปัญหาอันหนึ่ง เราทำได้เท่านี้ และเราก็เอาคุณธรรมจริยธรรมมากันใหญ่โต แต่เราไม่ดูความเป็นจริงในทางการเมือง เราไม่เข้าใจทางการเมือง

ถ้าตีความตามตัวอักษรอย่างนี้ก็ไม่ต้องมาแถลงปิดคดีให้ยุ่งยากใช่ไหม

“ไม่ต้องนัดแถลง คุณจะทำช้าหรือทำเร็วก็เท่ากันเพราะมันไม่ต้องใช้อะไรนี่ ในเมื่อคุณบอกว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมายล้วนๆ”

ไม่ต้องมาฟังบรรหารคร่ำครวญ (เราหัวเราะ)

“เสียเวลาระบบกฎหมายจะตลกแบบนี้ วิธีการนี้ผมเศร้าใจว่าหลายปีมานี้เราค่อยๆ กัดกร่อนฐานของระบบกฎหมาย เราทำลาย culture วัฒนธรรมทางกฎหมายลงไปเรื่อยๆ คนทั่วไปก็จะมองว่ากฎหมายประหลาด มันไม่เป็นตรรกที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ อย่างที่ผมพูดไป สมมติ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก็เท่ากับพรรคนั้นถูกยุบแล้ว แต่ต้องผ่านกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย ในแง่มุมนี้ผมถามว่าศาลรัฐธรรมนูญเล่นการเมืองได้ไหม เล่นได้เต็มที่”

คือดึงช้าดึงเร็ว?

“ทำได้เลยใน sense นี้ เพราะคุณเป็นคนประกาศผลคำวินิจฉัย มันก็จะนำไปสู่สภาพการณ์แบบนั้น มันดึงช้าดึงเร็วได้ โดยเฉพาะพรรคนั้นเป็นพรรครัฐบาล มันจะนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล คนก็ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่หรือจะไป อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเอาช้าหรือเร็ว จะนัดอ่านวันไหน”

คดีแบบนี้ไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าคุณตีความแบบนี้ และคุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมพูดถึง 2 ประเด็น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กับผู้ตีความรัฐธรรมนูญแบบนี้ คือศาลรัฐธรรมนูญ ผลคือไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญในกระบวนวิธีพิจารณาเช่นนี้ คุณก็เขียนไปอย่างนี้ไม่ดีกว่าหรือ เมื่อกกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ก็ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แต่มันเหมือนกับบอกชาวโลกเขาไม่ได้ อย่างนี้ชาวโลกเขาเห็นว่า-เออ อันนี้พิจารณาโดยศาล ศาลออกนั่งบัลลังก์พิจารณา ชาวโลกเขามองในทางรูปแบบแต่เขาไม่เห็นทางในเนื้อหา”

“ผมถามว่าระบบกฎหมายเราคืออะไร ระบบกฎหมายของเราในที่นี้คือการลวงคน เอาเฉพาะในเรื่องนี้นะมันไม่มี material ไม่มีเนื้อหา มีแต่รูปแบบ ถ้าพูดให้ extreme กระบวนการพิจารณาที่ทำกัน มันคือความว่างเปล่า ที่คุณจะต้องให้ตุลาการนั่งพิจารณา ให้เขามาแถลงคดี มันคือความว่างเปล่าหมดเลย มันไม่มีอะไรให้พิจารณา”

“ถ้าจะไม่ให้มันว่างเปล่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความหมายในการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ตีความ 239(1) แบบที่ตีความว่าให้คำชี้ขาดของกกต.เป็นที่สิ้นสุด ศาลไปยุ่งอะไรไม่ได้ ในเรื่องนี้ศาลฎีกาก็ตีความแบบเดียวกัน เวลาที่มีคนถูกเพิกถอนการเลือกตั้งไปฟ้องศาลฎีกา ศาล ก็ไม่รับฟ้อง เพราะ กกต.วินิจฉัยแล้วถือว่าเป็นที่สิ้นสุด จบ แต่ผมถามว่าความเป็นที่สุดอย่างนี้มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของเราหรือเปล่า เอา ละคุณทำได้อย่างที่คุณอยากจะทำ แต่มันต้องตีความให้สอดคล้องกับนิติรัฐ โอเคคุณจบแล้วในทางบริหารแต่ไม่ตัดสิทธิคุณที่จะใช้สิทธิในทางตุลาการ ขอให้ศาลตรวจสอบว่าการวินิจฉัยของ กกต.ถูกหรือผิด”

“ที่เขียนกันมาอย่างนี้มันก็เป็นไอเดียของนักกฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่งด้วย ตอนแรกคงไม่ได้คิดหรอก และก็ค่อยๆ คิด เริ่มจากแนวทางของกกต.ชุดแรกที่บอกว่าตัดสิทธิ ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย ต่อมาก็มีการเถียงกัน มีคนมาให้คำอธิบายว่าต้องการให้ กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผมเห็นว่ามันผิดและผิดมาตลอด พอถึง 2550 เขาเลยทอนลง ให้คนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิทางศาลได้ แต่เขาก็กลัวว่าเสียงวิจารณ์จะเยอะ ก็เลยแบ่งเป็น 2 แบบ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผล ให้กกต.แจกใบแดง จบเลย ถ้าเพิกถอนทีหลังให้ไปศาลฎีกา เขาคิดว่าดี นี่คือคิดอย่างไม่มีฐานทฤษฎี เลยกลายเป็นปัญหา เห็นชัดเจนในคำวินิจฉัยนี้ว่ามันมีมาตรฐานไม่เหมือนกันระหว่างชาติไทย มัชฌิมา กับพลังประชาชน แต่ถึงที่สุดทั้ง 3 อันก็ ไม่ได้เกณฑ์ในทางมาตรฐานสากลทั้งหมด และถามว่าในการต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้เวลาที่ข้อกฎหมายเป็นอย่างนี้ การตีความมันถูกใช้ไปเพื่อเรื่องในทางการเมืองมันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปได้หมดเลย”

รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ กกต.ชี้เป็นชี้ตาย ส.ส. รัฐธรรมนูญ 2550 ขยับขึ้นมาให้ ม.237 ชี้เป็นชี้ตายพรรค และตอนนี้ก็ชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล เพราะผลคำวินิจฉัยทำให้ประชาธิปัตย์พลิกตั้งรัฐบาลได้

“มันขยับขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ตอนนี้คือชี้เป็นชี้ตายรัฐบาล เราก็จะประสบปัญหาอย่างนี้ตลอดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมือง มันยิ่งทำให้รุนแรงมากขึ้น มันไม่ได้เป็นการเมืองในสภาวะปกติ มันมีการสู้กันอยู่อย่างนี้ กฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ใกล้ชิดกับการเมืองก็กระเพื่อมไปด้วย เพราะว่าระบบกฎหมายเราในเรื่องนี้ไม่เข้มแข็งแล้ว แต่มันจะเป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายตัวระบบกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเองในที่สุด ทุกวันนี้โพลล์ความเชื่อถือคำวินิจฉัย กระบวนพิจารณา รวมทั้งนักกฎหมายโดยรวมกี่เปอร์เซ็นต์ เขายังเชื่อไหมว่านักกฎหมายอยู่บนหลักการที่เที่ยงธรรมและถูกต้อง หรือเขาเชื่อว่ากฎหมายก็คือเครื่องมือ แล้วแต่จะตีความไปทิศทางไหนก็ได้ทั้งสิ้น คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่มันอยู่ในทางความเป็นจริง”

“ในแง่นี้คือคุณไม่ได้เคารพการเลือกตั้ง เพราะความคิด extreme ของผู้มากด้วยคุณธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่จะทำให้การเลือกตั้งใสสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งไม่มีในโลกนี้ การเลือกตั้งไม่ได้สะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็อยู่ในระดับที่รับกันได้ในเชิงการปกครอง แต่ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งยอมรับไม่ได้ ก็เพื่อให้กลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งเข้าสู่อำนาจรัฐได้ กลุ่มข้าราชการระดับสูง กลุ่มที่เรียกกันโดยรวมว่าเป็นพวกอำมาตย์ พวกนี้ที่อยากมีอำนาจทางการเมืองแต่ไม่อยากลงเลือกตั้ง หรือลงเลือกตั้งแล้วไม่ได้ พวกนี้จะเข้าสู่อำนาจ นี่คือสภาพความเป็นจริงในประเทศไทย”

ผมมีวิวาทะกับปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนเรื่องรัฐบุรุษ เรื่อง ปฏิรูปการเมืองในช่วงหลัง ท่านก็มองว่านักการเมืองมันเลว ซื้อเสียง ต่อรองผลประโยชน์ ผมก็บอกว่ามันก็มีอยู่ เราไม่ได้ปฏิเสธการต่อรองเก้าอี้ แต่มันมีพัฒนาการเหมือนกันในระบบประชาธิปไตย มันมีเรื่องของนโยบายเหมือนกัน การที่คนเขาเลือกอย่าไปปรามาสว่าเป็นเพราะเงินอยางเดียว เขาเลือกเพราะนโยบายก็มี ท่านก็บอกว่าระบบนี้มันไม่ได้ ก็ ต้องเปลี่ยนไปสู่อีกแบบหนึ่ง ผมก็บอกว่าแล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าอีกกลุ่มหนึ่งไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง แน่ใจหรือว่าคนอีกกลุ่มไม่เล่นการเมือง ผมพูดอยู่เสมอคุณคิดว่าคณบดีไม่เล่นการเมืองเหรอ อธิการบดีไม่เล่นการเมืองเหรอ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ การได้มาซึ่งตำแหน่งของบุคคลเหล่านี้ ไม่มีการเมืองเหรอ ไม่มีการล็อบบี้กันเหรอ นี่เอา fact มา พูดกัน และถามว่าสภามหาวิยาลัยที่นั่งกันอยู่ทุกวันนี้ เอาใครมานั่งกันบ้าง พอคุณเถียงด้วยหลักการไม่ได้ คุณก็บอกว่าผมเป็นคนดี หลักการไม่ได้แต่คุณบอกว่าผมเป็นคนดี ดีหรือไม่ดีผมไม่รู้ ผมเห็นว่าในบางสังคมวิญญูชนจอมปลอมก็เยอะ ฉากหน้าเป็นคนดีแต่ลับหลังอาจจะจอมปลอมก็มาก พอคุณบอกว่าเป็นคนดี คนทั่วไปก็ตรวจสอบไม่ได้ แล้วคุณก็เกาะกุมกลไก คุณก็เชื่อมโยงเครือข่ายกันไปหมดในเวลานี้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคุณยังไม่เคารพอีกด้านหนึ่ง คือประชาชนด้วย นี่คือปัญหาของการเมืองไทยอย่างใหญ่หลวงเลย”

ผมถึงบอกว่าคุณมองการเมืองด้านเดียวได้อย่างไร เรายังไม่ได้พูดถึงอำนาจบางอย่างที่มันเร้นอยู่หรือมันซ่อนอยู่ในเชิงระบบ มีคนถามผมว่าทักษิณโฟนอินนี่เป็นอำนาจนอกระบบไหม ผมบอกว่าทักษิณโฟนอินไม่ใช่อำนาจนอกระบบเพราะเห็นตัวทักษิณชัดเจน โฟน อินดีหรือไม่ จะพอใจ-ไม่พอใจแล้วแต่ แต่ชัดเจนว่าไม่นอกระบบหรอก มันเห็นตัวเขา ที่เป็นเรื่องนอกระบบคือที่มันแฝงอยู่ มันเร้นอยู่ มันไม่เห็น หรือเฉพาะบางคนเท่านั้นที่เห็น คนส่วน ใหญ่ไม่เห็น แต่ไม่ช้าไม่นานก็จะรับรู้ถึงความมีอยู่ของอำนาจเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นในเชิงการวิเคราะห์การเมือง รวมทั้งเรื่องการตีความกฎหมาย ก็ต้องดู แต่ที่สำคัญคืออยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปอิงกับการต่อสู้ทางการเมืองด้านใดด้านหนึ่ง จนละเลยหลักการ บางทีผมอาจจะใช้คำแรงๆ คุณเปลี่ยนแปลงหลักการเพื่อไปตอบสนองความใคร่ทางการเมืองของคุณ ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ในหลายเรื่อง ไปดูเถอะมันเชื่อมโยงกันหมด ผมกล้าพูดอย่างนี้เพราะผมไม่ได้เชื่อมโยงอะไรกับใคร”

สงครามตีความ

หลังคำวินิจฉัยยุบพรรค ยังมีปัญหาการตีความตามมาอีกมาก ที่ดูเหมือนจะตีความให้เข้าข้างตัวเอง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เวลาเขียนโดยที่ไม่มีหลักการมันก็สร้างปมปัญหาทางกฎหมาย โดย เฉพาะภายใต้กลไกแบบนี้ ที่มีคนพร้อมจะยื่นเรื่องตลอดเวลา ผมเชื่อว่ามีความพยายามอยู่ที่จะทำให้ฝ่ายข้างมากในปัจจุบันเป็นรัฐบาลต่อไป ไม่ได้ โดยหลายวิธี กฎหมายก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ ใช้ฐานทางกฎหมายเข้าจัดการ ตอนนี้เวลาคนตีความกฎหมาย ก็จะตีว่าเฮ้ยตีความอย่างนี้แล้วจัดการฝ่ายนั้นได้ มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากหลัก มิหนำซ้ำบางเรื่องมันไม่มีหลักด้วย เช่นเรื่องยุบพรรคแล้วทำอะไรกับ ส.ส.สัดส่วน เพราะที่อื่นเขาไม่มีการยุบพรรคแบบของเขา ยุบพรรคแบบ 237 ใน โลกนี้ไม่มี มีเราประเทศเดียว พอไม่เขียน แล้วไม่มีหลัก อำนาจการชี้เป็นชี้ตายอยู่ที่ใคร ก็ศาลรัฐธรรมนูญ ออกซ้ายออกขวาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ”

ที่อ้างกันว่า ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชนหมดสภาพ เขาตีความอย่างไร

“เรื่องนี้อยู่มาตรา 106(8) สมาชิก ภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการ เมือง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น ก็หมายความว่าถ้าพรรคถูกยุบ มันจะมีช่วง 60 วัน ตอนนี้คุณเป็น ส.ส.โดยไม่มีพรรคได้”

“ปัญหา คือ ส.ส.ของเรามีแบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อ แบบเขตไม่มีปัญหาเพราะเลือกที่ตัวคน แต่ละคนพรรคถูกยุบเขาก็ไปหาพรรคใหม่สังกัด แล้วก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรนะ ปัญหาคือส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะเราเลือกเป็นบัญชี พรรคส่งบัญชี ปัจจุบันมี 8 กลุ่ม จังหวัดละ 10คน แล้วถามว่ามันไปทั้งบัญชีหรือเปล่า บัญชียังจะมีอยู่ไหม มีบางคนบอกว่ายุบพรรคแล้วหายทั้งหมด ส.ส.สัดส่วนทั้ง 3 พรรค หายเกลี้ยง นี่ก็เป็นความพยายามตีความอันหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่าเพื่อให้จำนวนฝ่ายรัฐบาลเหลือน้อย ให้อีกฝ่ายตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ถ้าถามผม เรื่องนี้ต้องบอกก่อนว่าหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในทางกฎหมายมันไม่มีเพราะมัน เริ่มจากการไม่มีหลักในแง่ของการยุบพรรค”

แต่ถ้าอ่านมาตรา 106 ก็ไม่ได้แยกว่าเป็น ส.ส.เขตหรือ ส.ส.สัดส่วน

ถ้าดูจากตรงนี้ผมก็เห็นว่า ส.ส.สัดส่วนก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกัน เมื่อพรรคถูกยุบก็ถือว่าเขาขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในมาตรา 106(8) เขายังคงสมาชิกภาพอยู่ เพราะไม่มีที่ไหนบอกเลยว่าเมื่อพรรคถูกยุบสมาชิกภาพเขาหมด บางคนไปตีความว่าเขาเลือกพรรคนี้ พรรคถูกยุบแล้วสมาชิกก็ต้องหมดไปด้วย แต่โดย sense ในระบบเลือกตั้งที่เราทำกันอยู่ ระบบบัญชีแบบนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับ 2 อย่างประกอบกัน เพราะพรรคก็ส่งชื่อคนในบัญชี คนที่ไปลงคะแนนเสียงเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเลือกเพราะพรรคหรือเพราะคนใน บัญชี หรือมองกลับกัน ส.ส.เขตก็มีที่คนเลือกเพราะพรรค”

“มาตรา 106 หมายความว่าวันนี้เขายังมีสมาชิกภาพอยู่ ถามว่าพรุ่งนี้เขาเลือกนายกได้ไหม ก็เลือกได้ โดยที่ยังไม่ต้องเข้าพรรค ภายใน 60 วัน เพราะเขามีสมาชิกภาพอยู่ เขายังมีศักดิ์และสิทธิของการเป็น ส.ส.อยู่ จนกว่าเขาเข้าพรรคไหนไม่ได้ ถึงจะพ้น”

“ถามว่าจะทำอย่างไรกับ ส.ส.สัดส่วน กรณี ที่พรรคไม่ถูกยุบ เวลาที่มีบัญชีรายชื่อ เมื่อมีคนลาออกคนตายก็เลื่อนขึ้นมา แต่กรณีนี้การย้ายพรรคของ ส.ส.สัดส่วนต้องไปทั้งบัญชีหรืออย่างไร อันนี้ยุ่ง เพราะมันไม่มีหลักอะไรแล้ว ถ้าถามผม ผมคิดว่าโดยเหตุที่ยุบพรรคแล้ว ก็ต้องตีความตาม 106 หมายความว่าตัวบัญชีของพรรคที่ถูกยุบนั้นหายหมด แต่ว่าตัวส.ส.อยู่ เมื่อตัวส.ส.อยู่คุณไปไหนก็ได้ สมมติว่าส.ส.สัดส่วนคนหนึ่งของพลังประชาฃนจะไปอยู่ประชาธิปัตย์ เขาก็ไปได้ แต่ถ้าเขาตายหรือลาออกในเวลาต่อมา ก็ จะไม่มีการเลื่อนมาอีกแล้ว เพราะบัญชีไม่มีแล้ว การเลื่อนคนข้างล่างขึ้นมาต้องทำให้เสร็จก่อนจะมีการยุบพรรค ในวันที่ยุบพรรคก็ดูว่ามีส.ส.สัดส่วนกี่คน แล้วย้ายพรรคไปเลย”

แล้วที่มี ส.ส.สัดส่วนลาออกก่อนหน้านี้ คนที่เลื่อนขึ้นมาจะถือว่าเป็น ส.ส.แล้วหรือยัง

“อันนี้เป็นปัญหาในเชิงการตีความ ต้องไปดูว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศชื่อบุคคลนั้นในราชกิจจานุเบกษาแล้วหรือยัง”

บางคนมองว่าต้องปฏิญาณตนในสภาก่อน แต่วรเจตน์มองว่าต้องยึดวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“ถือว่าสมาชิกภาพเขาเริ่มถัดจากวันที่ประกาศ แต่ปัญหายังมีช่วงคร่อม ก็คือมันมีการลาออกแล้วถัดจากนั้นอีก 2-3 วันมีการยุบพรรค ประธานสภายังไม่ได้ประกาศเลื่อน เพราะการประกาศต้องประกาศใน 7 วัน จะมีปัญหาว่าคนที่มีสิทธิเลื่อนจะอ้างได้ไหมว่าตัวตำแหน่งว่างลงก่อนที่จะมี การยุบพรรค เขาจะมีสิทธิขยับขึ้นเข้าไปในบัญชี อันนี้จะตีความยาก”

สมมติพรรคเพื่อไทยโหวตเลือกนายกฯ ระหว่างที่มีคนยื่นเรื่องคัดค้านสมาชิกภาพของ ส.ส.สัดส่วน ศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร จะสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ไหม เช่นให้รอศาลก่อนค่อยเลือกนายกฯ

“มันไม่มีในระบบของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจริงๆ อาจจะไม่มีเหตุคุ้มครองชั่วคราวด้วยซ้ำ คุณก็ตีความไปสิ แล้วก็จะมีคนถามว่าสมมติโหวตนายกฯ ไปแล้ว แล้วต่อมาศาลตีความว่า ส.ส.สัดส่วนพ้นสมาชิกภาพ เกิดอะไรขึ้น จะทำให้ผลโมฆะไหม ก็อธิบายความได้ว่ากรณีมันไม่ต่างจาก ส.ส.ที่พ้นจากความเป็น ส.ส.กรณีทุจริตการเลือกตั้ง ในวันนี้ที่มีการโหวตฯนายก ตามตัวบท การตีความขององค์กรที่เกี่ยวข้องเขายังเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็น ส.ส.อยู่ใช่ไหม การตีความรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตีความคนเดียว คนอื่นก็มีอำนาจตีความ ใการประชุมประธานสภาผู้แทนราษฎรเขาก็มีสิทธิที่จะบอกได้ว่านี่เป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรหรือไม่เป็น ในเบื้องต้นองค์กรเขาก็อาจจะชี้ว่ายังเป็นอยู่ คุณถือว่าไม่เป็นก็ไปฟ้องศาลเอา พอเป็นเขาก็สามารถจะโหวตเลือกนายกได้”

เหมือนยงยุทธเป็นประธานสภาโหวตเลือกนายกฯ ก็ไม่ได้ทำให้สมัครเป็นโมฆะ

“ใช่แบบเดียวกัน ฉะนั้นถ้าต่อมาขาดสมาชิกภาพมันก็ไม่กระทบ ในเชิงกฎหมายว่ากันไปอย่างนี้จะไม่มีปัญหา แต่เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะจะมีคนบอกว่าส.ส.ไม่มีคุณสมบัติ ขาดสมาชิกภาพ ไปโหวตนายกฯ เป็นโมฆะ ความจริงมันไม่ใช่ พอโหวตไปแล้วมีการนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ตัว act นั้นก็เกิดขึ้นแล้ว มันก็เหมือนกับ ส.ส.ทุจริตเลือกตั้งเข้ามาเป็นส.ส.เป็นอยู่ 6 เดือน โหวตผ่านกฎหมายไปหลายฉบับ ต่อมา กกต.บอกว่าเพิกถอนพ้นสมาชิกภาพ มันก็ไม่ได้กระทบกับสิ่งที่เขาได้กระทำไป ถึงแม้เขาจะต้องคืนเงินเดือน”

ถ้าตีความว่า ส.ส.สัดส่วนขาดสมาชิกภาพ ก็จะเป็นมาตรฐานต่อไปใช่ไหมว่า ม.237 ไม่ใช่แค่ยุบพรรค ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แต่รวมถึง ส.ส.สัดส่วนด้วย

“มันจะไปอีกว่าปลด ส.ส.สัดส่วนด้วย ซึ่งก็ตลก โดย sense คือมันประหลาด แต่อะไรประหลาดที่ไม่ได้เกิดขึ้นในโลกนี้ก็เกิดขึ้นได้เสมอในประเทศนี้”

มีอีกประเด็นว่ารักษาการนายกฯ ยุบสภาได้ไหม

ผมว่ายุบได้ มีคนบอกยุบไม่ได้ ไม่มีที่ไหนกำหนดห้ามไว้เลยว่ายุบสภาไม่ได้ และยิ่งกรณีนายกฯ พ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุไม่คาดคิด สมมตินายกฯตาย ครม.พ้นทั้งคณะ มีรักษาการนายก และคุณบอกว่ารักษาการนายกยุบสภาไม่ได้ แต่ มันเกิดเหตุวิกฤติที่ต้องยุบสภาขึ้นมาล่ะ บางคนบอกว่ายุบไม่ได้เพราะความชอบธรรมไม่มี แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย มีคนลงนามรับสนอง มันก็เป็นอำนาจในทางบริหารที่เห็นว่าน่าจะทำได้”

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าถ้าสมชายยุบสภา จะมี กกต.ลาออก 2 คนทำให้เลือกตั้งไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นอย่างไร

รัฐธรรมนูญเราเขียนไม่ดี การลาออกของ กกต. ไม่ควรทำให้เกิด deadlock แต่มันก็กลายเป็นปัญหาว่าต้องมาสรรหา กกต. เพราะไม่มีองค์กรดำเนินการเลือกตั้ง ผมเคยบอกว่าองค์กรพวกนี้มันต้องมีอะไหล่ มีคนมาทำแทน รัฐธรรมนูญเราไม่เขียนตัวสำรองเอาไว้ มันง่ายต่อการเกิด deadlock เป็น อย่างยิ่ง จริงๆ ต้องหาวิธีทำให้เลือกตั้งได้ แต่บ้านเรามันก็จะหาวิธีทำให้เลือกตั้งไม่ได้เพื่อนำไปสู่รัฐบาลพระราชทาน มันจะเป็นอย่างนี้ ยุ่งนะ ผมก็ปวดหัวถ้า กกต.ลาออกมาทั้งหมด ต้องเขียนเอาไว้ว่าองค์กรพวกนี้ไม่อยู่ต้องมีคนทำหน้าที่แทน ถ้าเป็นผมก็จะอนุโลมกฎหมายใช้ เอาสำนักงานนั่นแหละ เลขากกต.ก็ว่าไป แต่เราไปออกแบบโครงสร้างแบบองค์กลุ่มเอาไว้ ก็เสร็จ และอีกอย่างมันให้อำนาจวินิจฉัยกับตัว กกต.ด้วย ก็ไม่มีคนวินิจฉัยอีก”

ทำกับข้าว-รับจ้างสอน

“ลักษณะต้องห้ามคือสิ่งที่ไม่ให้ทำ ต้องไม่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น เช่นไม่ให้คุณไปเป็นลูกจ้าง คุณไปทำแล้วคุณลาออกเสีย บัดนี้คุณไม่มีลักษณะต้องห้ามแล้ว มันก็ไม่มี conflict อะไร แล้ว ส่วนตอนนั้นคุณไปเป็นจะมีปัญหาอะไรก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง บางคนจึงรู้สึกว่าแปลกที่ตัดสินพ้นจากตำแหน่งวันรุ่งขึ้นเป็นนายกฯ ได้ต่อเลย”

ต้องย้อนพูดถึงคดีชิมไปบ่นไปเพราะวรเจตน์กับเพื่อนๆ ทักท้วงคุณสมบัติของจรัญ ภักดีธนากุล

ที่จริงวรเจตน์บอกว่า ต่อให้คุณสมบัติจรัญมีปัญหา คำวินิจฉัยก็ไม่ถึงกับเป็นโมฆะ

“ตัวการกระทำของรัฐเมื่อเกิดขึ้นไปแล้ว ถ้าระบบกฎหมายอื่นรับรองการกระทำอันนั้น ก็คงยากถ้าจะบอกว่าการกระทำนั้นเป็นโมฆะเพราะตุลาการคนหนึ่งขาดคุณสมบัติ เฉพาะประเด็นเรื่องคุณสมบัติจะทำให้ถึงขั้นเป็นโมฆะก็คงไม่ถึงขั้นนั้น แต่มันมีผลในแง่ความชอบธรรมในการวินิจฉัย หรือถ้าเขาสามารถที่จะชี้ได้ว่านอกจาก อ.จรัลแล้วมีคนอื่นอีกหลายๆ คน ขาดคุณสมบัติ มันก็เป็นไปได้ที่คำวินิจฉัยจะใช้ไม่ได้ แต่มันก็เป็นประเด็นที่ต้องคิดต่อกันในทางกฎหมาย”

“ในแถลงการณ์ที่ออกไปเราตั้งประเด็นนี้ไว้เพราะมันหมิ่นเหม่อยู่เหมือนกัน ต่อความมีผลไม่มีผลในทางกฎหมาย เรื่อง นี้ผมพูดชัดเจนอยู่แล้วว่าถ้าคุณวินิจฉัยลูกจ้างแบบที่คุณได้วินิจฉัยคุณ สมัคร คุณก็เป็น มีคนเคยถามว่าผมเป็นลูกจ้างไหม ถ้าผมไปสอนหนังสือที่อื่น ปกติผมก็ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรอก แต่ศาลรัฐธรรมนูญทำให้ผมเป็น โดยคำวินิจฉัย ถ้าผมไปลงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผมก็จะเป็น ตามแนวที่คุณวินิจฉัยไว้นั่นแหละ และ ไม่ต้องเบี่ยงประเด็นไปที่เรื่องอื่น ไม่ต้องพูดเรื่องคุณธรรม อบรมสั่งสอนคน ไม่ต้อง ประเด็นมันอยู่ที่ว่าลูกจ้างที่คุณวินิจฉัยคุณตีความ 267 ไว้อย่างไร คุณต้องใช้ 207 อย่างเดียวกัน”

“ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามมาชี้แจง อาจารย์คนหนึ่งในคณะผมก็พยายามช่วยเถียงว่ามหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้เป็น องค์กรแสวงหากำไร เพราะฉะนั้นไม่เหมือนกรณีคุณสมัคร ผมก็บอกว่าท่านอ่านรัฐธรรมนูญให้ดีๆ นะ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าเป็นลูกจ้างขององค์กรทางธุรกิจที่แสวงหากำไรนะ เขาบอกเป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่แสวงหากำไร หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด”

เป็นลูกจ้างมูลนิธิก็ไม่ได้ใช่ไหม

“โดย sense นี้ก็ใช่ ฉะนั้นเวลาตีความลูกจ้าง คุณไม่ใช่ตีความเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไปเรื่อยเปื่อย แต่ที่เขาห้ามเพราะลูกจ้างมันต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายจ้าง มันขัดกับสถานะการเป็นรัฐมนตรี ที่คุณเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการทั้งหมด สูงสุดในกระทรวงที่คุณรับผิดชอบอยู่ หรือรัฐมนตรีช่วยก็ตาม มันขัดกันในความหมายนี้ เพราะฉะนั้นในความเห็นของผมคุณสมัครก็ไม่ใช่ลูกจ้าง ผมก็ไม่ใช่ลูกจ้าง อ.จรัญก็ไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่มีใครเป็นลูกจ้างในความหมายตามรัฐธรรมนูญ 267 และ 207 แต่ ทุกคนบัดนี้ถูกทำให้เป็นลูกจ้างโดยการนิยามความหมายว่าลูกจ้างคือคนที่ไปรับ ทำงานโดยมีค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเรียกค่าตอบแทนนั้นว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อขยายกว้างอย่างนี้ทุกคนก็คือลูกจ้าง

คือเรื่องคนดีคนเลวมันไม่เกี่ยวกับการตีความคุณสมบัติทางกฎหมาย ผมตีความกฎหมายโดยยึดหลักมันก็เลยไปเข้าทางอีกฝ่ายอยู่เรื่อยๆ จนอาจารย์บางคนขอไม่ให้ผมให้ความเห็น ผมก็บอกแล้วจะให้ผมทำอย่างไร เลิกสอนกฎหมายเลยไหม ให้ผู้มีคุณธรรมทั้งหลายมาสอน แล้วก็ไม่ต้องยึดหลักการอะไรอีกแล้ว ก็ยึดตามความเชื่อ ผมเคยมีวิวาทะกับตุลาการบางท่าน ท่านก็บอกว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยถูกหรอก แต่มันก็ดี แล้วผมก็ถามว่าอย่างนี้จะสอนหนังสือกันอย่างไร เอาอัตวิสัยตัวเองไปตัดสินเสียแล้ว อย่างนั้นตัวบทกฎหมาย หลักวิชาทางนิติศาตร์ที่สั่งสมกันมาเป็นพันปีคุณเลิกเถอะ ในเมื่อคุณตัดสินได้แล้วว่ามันดีหรือชั่วจากตัวคุณเอง ก็ไม่ต้องใช้หลักกฎหมายเป็นเกณฑ์แล้วสิ

“ก็มาบอกว่าผมเอาแต่กฎหมายไม่สนใจคุณธรรม ผมสนใจคุณธรรม แต่มันต้องไปด้วยกันสองอันนี้ คนที่ไม่เอาหลักกฎหมายต่างหากที่ไม่มีหลัก คุณไม่ชี้ประเด็นตามเหตุตามผล เพราะคุณอธิบายด้วยเหตุด้วยผลไม่ได้ เมื่อ อธิบายไม่ได้แล้วจะเป็นประชาธิปไตยจะเป็นนิติรัฐอย่างไรล่ะ แต่ที่น่าประหลาดใจคือคนเหล่านี้จำนวนมากยังอ้างนิติรัฐอยู่ ผมหัวเราะขำกลิ้ง พวกคุณอ้างนิติรัฐแต่ว่าคุณไม่ทำตามที่คุณอ้างหรือคุณสอนเลย คุณไม่ได้ทำอย่างที่คุณสอนชาวบ้านเขาเลย และสภาพการณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ผมกลายเป็นเสียงข้างน้อยในหมู่คนแบบนี้”

วรเจตน์อธิบายมาตรา 267 อีกครั้งว่า

“เขาพูดถึงการเป็นหุ้นส่วนซึ่งมันชัด ว่าคุณไปมีส่วนในการประกอบการธุรกิจ คุณทำงานในราชการ แล้ว ไปมีประโยชน์โดยตรงในบริษัทเอกชน มันขัดกัน อันที่สองกรณีลูกจ้างมันมุ่งหมายถึงการบังคับบัญชา ส่วนกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่มันกลายเป็นเรื่องความเหมาะสม เพราะมันยังไม่ได้แปรสภาพเป็นตัวบทกฎหมาย มันกลาย เป็นเรื่องความเหมาะสมที่คุณต้องไปถูกอภิปราย ถามว่าแล้วถ้ามันเอื้อประโยชน์กันล่ะ-ที่เป็นรูปธรรม มันก็จะไปเข้าเหตุของการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือไปเข้าเหตุขาดคุณสมบัติหรือลักษณะอย่างอื่น ถ้ามันมี fact ที่เป็นรูปธรรม”

“ผมก็เห็นว่าคุณสมัครไปทำกับข้าวดูในทางสังคมอาจไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เขาไปเป็นลูกจ้างบริษัทนั้น แล้วบอกว่าเอื้อประโยชน์กัน ถามว่า fact ที่ เอื้อประโยชน์กันมีหรือเปล่าในรูปธรรม หรือกรณีมีการยื่นกรอกใบอนุญาตและเห็นได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กับเจ้าของ บริษัท มันก็จะไปสู่เหตุที่เขามีส่วนได้เสียที่เขาไม่สามารถสั่งการในเรื่องนั้น ได้”

“แน่นอนถ้าคุณรู้สึกว่าลูกจ้างหรือหุ้นส่วนมันแคบไป คุณจะขยาย คุณต้องคิดในทางนโยบายว่าคุณจะเอาแค่ไหน เพราะถ้าคุณขยายมากไปมันทำอะไรไม่ได้นะ เพราะถ้าถูกเชิญไปปาฐกถาแล้วได้รับค่าตอบแทนก็จะเข้าข่ายเป็นลูกจ้างในกรณีนี้เหมือนกัน การตีความกฎหมายต้องนึกถึงผลกระทบที่ตามมาด้วย วินิจฉัยไปแล้วทำให้บุคคลทั้งหลายทั้งปวงต้องพ้นจากตำแหน่ง มัน แปลว่ามีปัญหาแล้วอย่างแน่นอน เพราะถ้าเอาเกณฑ์แบบนี้ไปใช้กับตัวคุณเองด้วย กับองค์กรตามรัฐธรนูญอื่นด้วย ก็จะมีคนพ้นจากตำแหน่งเต็มไปหมด ซึ่งคุณต้องคิดก่อนวินิจฉัย แต่เมื่อคุณวินิจฉัยไปแล้ว ก็มีผลผูกพัน ก็ต้องใช้เกณฑ์นี้กับทุกคนแล้ว

วรเจตน์ยังชี้ว่าหลักการสำคัญอีกข้อคือความไว้เนื้อเชื่อใจของคนที่มีต่อระบบกฎหมาย

ศาลไปนึกถึง conflict of interest อย่างเดียว ไม่คำนึงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจที่คนมีต่อระบบ ความไว้เนื้อเชื่อใจทางกฎหมาย หมายความว่าสมมติผมจะไปดำรงตำแหน่งหนึ่ง ผมก็ตรวจสอบ เช่นไปเป็นอาจารย์พิเศษ ไปปาฐากถา ผมก็ดูว่ามีอะไรบ้างที่ผมมีคุณสมบัติต้องห้าม ผมเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยเอกชนหรือเปล่า ผม ก็ต้องบอกว่าผมไม่ใช่ ก็อาจจะลาออกจากตำแหน่งอื่นๆ เพื่อไปดำรงตำแหน่งนั้น เพราะผมไว้เนื้อเชื่อใจในเชิงระบบกฎหมายว่าคำว่าลูกจ้างหมายความแบบนี้แหละ ผมถามหลายๆ คนแล้ว ความเข้าใจของคนทั่วๆ ไปคือความหมายนี้แหละ ต่อมาวันหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าผมเป็นลูกจ้าง ผมพ้นจากตำแหน่ง มัน ไม่ได้ ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ปรากฏชัดในคำวินิจฉัย ถ้าคุณจะทำเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมาย คุณต้องเขียนให้ชัด เพราะมันตัดสิทธิคน”

หมายความว่าคนทั่วไปเข้าใจตามประมวลกฎหมายแพ่ง ตามกฎหมายแรงงาน แต่ศาลตีความอีกอย่างโดยเอาตามพจนานุกรม

“การตีความรัฐธรรมนูญให้มีความหมายแผกออกไปจากกฎหมายอื่นเป็นไปได้ ในต่างประเทศก็มี แต่เป็นไปในทางคุ้มครองสิทธิ ขยายสิทธิ อันนี้ได้ แต่ไม่ใช่ไปจำกัดสิทธิหรือขยายการตัดสิทธิออกไป เพราะมันไปทำลาย trust ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เขามีต่อกฎหมาย ต่อไปคนก็จะไม่เชื่อ ไม่รู้ว่าตีความกว้างแค่ไหน ทุกอย่างก็กลายไปอยู่ที่ศาลเป็นคนชี้”

อย่างไรเรียกว่าตีความคุ้มครองสิทธิ เช่น ตีความกฎหมายแรงงานคุ้มครองลูกจ้างใช่ไหม

“หรือใช้หลักในรัฐธรรมนูญนั้นเอง ไปตีความกฎหมายเอกชนเพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพบุคคล อย่างนั้นต่างประเทศเขาก็ทำกัน”

วรเจตน์ยังชี้ด้วยว่า กรณีนี้ถือเป็นลักษณะต้องห้าม ไม่ใช่การขาดคุณสมบัติ

“เราไม่ได้แยกลักษณะต้องห้ามกับคุณสมบัติให้ชัด ลักษณะต้องห้ามคุณสมัครเขาไม่มีแล้วนะ เพราะเขาเลิกทำไปแล้ว ถ้าถามจริงๆ เอาแบบหลักๆเลย เมื่อเขาเลิกก็ต้องจำหน่ายคดี”

ประเด็นนี้ค่อนข้างแปลกใจเพราะไม่มีใครพูดกัน ไม่ใช่ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วหรือ วรเจตน์บอกว่าไม่ใช่ เพราะเห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่

“มันไม่ใช่เรื่องความผิดสำเร็จ ในความเห็นผมคือลักษณะแบบนั้นมันมีอยู่ แล้วมันขัดกับตำแหน่ง ถ้าเขาเลิก ก็คือไม่มีลักษณะที่ขัดกับตำแหน่งแล้ว ตีความไปตัดสินไปได้ประโยชน์อะไร ไปตัดสินเขาพ้นจากตำแหน่ง วันรุ่งขึ้นเขาก็เป็นนายกฯได้อีก เป็นได้ทันทีเลยนะเพราะเขาไม่มีลักษณะต้องห้ามไง”

“คุณสมบัติคือสิ่งที่อยู่ในตัวบุคคล ลักษณะ ต้องห้ามคือสิ่งที่ไม่ให้ทำ ต้องไม่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น เช่นไม่ให้คุณไปเป็นลูกจ้าง คุณไปทำแล้วคุณลาออกเสีย บัดนี้คุณไม่มีลักษณะต้องห้ามแล้ว มันก็ไม่มี conflict อะไร แล้ว ส่วนตอนนั้นคุณไปเป็นจะมีปัญหาอะไรก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง บางคนจึงรู้สึกว่าแปลกที่ตัดสินพ้นจากตำแหน่งวันรุ่งขึ้นเป็นนายกฯ ได้ต่อเลย”

“จริงๆในเชิงการตีความ ตอนแรกก็คือว่าเขาคิดว่าไม่ได้เป็นลูกจ้างไง เป็นปัญหาเรื่องการตีความในแง่ trust ของ บุคคล เมื่อมีคนวิจารณ์เขาก็เลิก เขาก็เป็นนายกฯได้ ถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไป มันไม่มีประโยชน์อะไรเพราะเขากลับมาเป็นนายกฯได้ แต่ทางการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

“ก็มีราษฎรอาวุโสบางคนบอกว่าคุณสมัครจะกลับมาเป็นนายกฯไม่ได้นะ เพราะ เท่ากับทำให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความหมาย แต่เขาไม่ได้คิดในเชิงกฎหมายว่าความจริงศาลรัฐธรรมนูญต้องจำหน่ายคดีออกไป ตั้งแต่แรก เมื่อปรากฏว่าเขาเลิกสิ่งนั้นไปแล้ว แล้วไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ได้”

“สมมติคุณสมัครบอกว่าผมไม่เลิก ผมเป็นมาตลอดจนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินก็ไม่เลิกเป็น เพราะเขาคิดว่าเขาไม่ใช่ลูกจ้าง แล้วถามว่าตอนนั้นเขาเป็นนายกฯอยู่ไหม เขาก็เป็นมาเรื่อยๆนะ เพราะศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัย พอศาลวินิจฉัยว่าเข้าลักษณะเป็นลูกจ้าง เขาพ้นจากนายกฯ ถ้าเขาไม่อยากเป็นนายกฯ ก็เป็นลูกจ้างต่อไป แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่เป็นลูกจ้างก็ได้ เขาเลิก วันรุ่งขึ้นเขาก็เป็นนายกฯได้ใช่ไหม”

แปลว่า อ.จรัญก็ยังเป็นตุลาการได้ ถ้าเลิกสอนหนังสือแล้ว

“ถูกต้อง แต่ถ้าใช้แบบเดียวกับคุณสมัครก็ต้องพ้นก่อนแล้วไปเลิกทำ สรรหาเข้ามาใหม่”

หรืออาจจะจำหน่ายคดีเพราะเลิกแล้ว

“ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ถือว่าผมเสนอช่องทางให้ก็ได้”

ที่มา : ไทยโพสต์ แทบลอยด์  6 ธันวาคม 2551

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิพากษ์การเมืองไทยหลัง “ยุบพรรค”

7 December 2008 Leave a comment

ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิพากษ์การเมืองไทยหลัง “ยุบพรรค”

ภาคต่อจาก blog ครั้งที่แล้วของผม
แถลงการณ์ 5 อาจารณ์นิติธรรมศาสตร์ & การโต้ของ จรัญ ภักดีธนากุล
http://mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!701.entry

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า อ. จรัญ ภักดีธนากุล
เป็นหนึ่งใน บุคคล ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2551
หลังจากนั้น วันที่ วันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ผมไม่เห็นด้วย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความคำว่าลูกจ้าง ไปขนาดนั้น
(อ่าน ที่ อ วรเจตร เขียนละกัน น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า)
แต่ปัญหาคือ ในเมื่อ คุณตัดสินคดี คุณสมัคร และไปตีความอย่างนั้น
พอถึง กรณีของตัวเอง กลับไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน

และนี่คือมาตราปัญหา ที่ อ. จรัญ ภักดีธนากุล ร่างมาเองกับมือ เห็นมาเองกับตา
ก่อนที่จะนำมาตีความอีกที โดยตัว อ. จรัญ ภักดีธนากุล เอง

มาตรา ๒๐๗

ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้อง

(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วน ท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหา ผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๔) ไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด

ใน กรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูง สุด เลือกบุคคล หรือวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) โดยได้รับความยินยอม ของบุคคลนั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อตนได้ลาออกจากการเป็นบุคคล ตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าตนได้เลิกประกอบวิชาชีพอิสระดังกล่าว แล้ว ซึ่งต้อง กระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบ แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกหรือ เลิกประกอบวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยรับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบ ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔ และมาตรา ๒๐๖ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ

ที่มา : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐/หมวด ๑๐

 


 

วิวาทะกูรู ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิพากษ์การเมืองไทยหลัง “ยุบพรรค”

สนทนาแบบเปิดใจกับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หน.ภาควิชากฎหมายมหาชน ม.ธรรมศาสตร์ หลังจับมือกับ 5 อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มธ. ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

หลังเหตุการณ์คดียุบพรรค (2 ธันวาคม ) กลุ่ม 5 อาจารย์หนุ่มไฟแรงจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร และ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย คือ การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเร่งรีบตัดสินคดีจนทำคำวินิจฉัยผิดพลาดรวมถึงถามหามโนธรรมในการตัดสิน

เป็นอีกครั้งที่จุดยืนทางวิชาการของนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ 5 คน ออกมาเขย่าบัลลังก์ศาล และสวนกระแสแบบสุดๆ

เช้าวันหนึ่ง หลังคดียุบพรรค “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาแบบเปิดใจ กับ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฏหมายมหาชน  ม.ธรรมศาสตร์ อีกครั้ง ท่ามกลางฝุ่นตลบการเปลี่ยนขั้วการเมืองไทย  …

@สิ่งที่อาจารย์รับไม่ได้ในเชิงหลักการในคดียุบ 3 พรรค (พลังประชาชน มัชฌิมาธิปไตย  ชาติไทย)

เป็นเรื่องกระบวนพิจารณาครับ ซึ่งสิ่งที่กลุ่ม 5 อาจารย์ได้ออกแถลงการณ์ไป  คือ วันตัดสินยุบพรรค คนก็เห็นว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยคดีมีความเร่งรีบอยู่ในตัวเอง  เพราะเมื่อมีการแถลงปิดคดีหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีการอ่านคำวินิจฉัย

ถ้าถามกันในเชิงกระบวนพิจารณา คนก็จะถามว่าเมื่อแถลงปิดคดีแล้ว ตุลาการแต่ละท่านเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนแล้วหรือยัง มีการประชุมปรึกษาคดีเพื่อลงมติในประเด็นของคดีเรียบร้อยแล้วหรือไม่ แล้วการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างทั้งการเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน  การลงมติในประเด็นของคดี ตลอดจนการทำคำวินิจฉัยกลางสามารถทำได้เสร็จภายใน ระยะเวลา 1 ชั่วโมงหรือ   ที่สำคัญคือในแง่การอ่านคำวินิจฉัย เราก็จะพบความผิดพลาดเกิดขึ้นในการอ่านคำวินิจฉัย

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการตัดการสืบพยาน หรือการเปิดโอกาสที่ให้คนได้รับผลกระทบโดยตรงในคดี เข้ามาสู่คดี อย่างเช่น  บรรดากรรมการบริหารพรรค ซึ่งเขาจะต้องถูกตัดสิทธิ์

แน่นอน ศาลอาจจะมองว่า  ประเด็นข้อกฏหมายในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด  แต่อย่างที่บอกแม้กฏหมายจะเขียนไว้อย่างไรก็ตาม  ในเชิงของกระบวนพิจารณาใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษา เขาย่อมมีสิทธิ์เข้ามาในคดี  ถ้าจะตัดสิทธิ์เขา ต้องเปิดโอกาสให้เขามีสิทธิ์ที่จะคัดค้านว่า ตัวเขาไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องนั้นอย่างไร  หรือมีประเด็นอย่างไรที่เขาจะให้การหรือให้ข้อเท็จจริงกับศาล ซึ่งตรงนี้ศาลไม่ได้ทำ

ในแง่ของกระบวนพิจารณา ก็คงเป็นประเด็นหลักในความเห็นของผม  ซึ่งจะนำไปสู่ความเคลือบแคลงของสาธารณะชน รวมถึงเรื่องคุณสมบัติของตุลาการ ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่

จริงๆ มีคนถามเหมือนกันว่าทำไมถึงมาพูดเรื่องคุณสมบัติตุลาการช่วงนี้  ผมเรียนว่า ก่อนหน้านี้ผมเคยให้สัมภาษณ์นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ในเว็บของคณะนิติฯ  เกี่ยวกับเรื่องคดีของคุณสมัคร (สุนทรเวช)  ผมก็ให้ความรู้ไป ในประเด็นเรื่องการเป็นลูกจ้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่าน

ก่อนหน้านี้  ที่ผมไม่ได้พูดในทางสาธารณะ เพราะผมคิดว่าตัวตุลาการที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ควรจะต้องพิจารณาด้วยตัวของท่านเอง  ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องออกไปเรียกร้อง  แต่ว่าเมื่อถึงคราวในการวินิจฉัยคดีที่สำคัญ ก็ต้องมีการตั้งคำถามเหมือนกันว่า ตกลงคุณสมบัติของคนที่วินิจฉัยนั้น เป็นที่ยอมรับ ถูกต้องและใช้มาตรฐานเดียวกัน ที่ได้วินิจฉัยตัดสินคนอื่นเขาหรือไม่

กลับมาที่ประเด็นในทางเนื้อหาของคดียุบพรรค ผมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกับศาลรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง ในการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 237

เรื่องนี้ กลุ่มอาจารย์ทั้ง 5 คน เคยมีการออกแถลงการณ์ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2551   ตอนที่กกต.จะวินิจฉัยเรื่องนี้ ผมก็บอกว่า ถ้าการทำความผิดของคนๆ เดียว นำไปสู่การยุบพรรค  แล้วไปตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่เขาไม่ได้รู้เห็นด้วยต่อการกระทำนั้น  รัฐธรรมนูญมาตรา 237  ก็จะไปขัดกับหลักทั่วไปในบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ

และในแง่การตีความของรัฐธรรมนูญ มีหลักการตีความ คือ การตีความให้รัฐธรรมนูญนั้นเกิดความเป็นเอกภาพ มีความสอดคล้องต้องกัน ผมถึงบอกว่า การตีความว่าคนๆ เดียวทำผิด  แล้วยุบทั้งพรรค พร้อมกับตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องการกระทำความผิด  จะเป็นไปได้หรือ ถ้าจะตีความบทกฎหมายเช่นนี้ไปตามถ้อยคำเพียงอย่างเดียว คุณจะต้องไปยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพให้หมดเสียก่อน ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 28 วรรคสอง ที่ว่าด้วยการประกันสิทธิในทางศาลเสียก่อน  และยกเลิกการประกาศความเป็นนิติรัฐเสียก่อน

เมื่อยกเลิกบทบัญญัติต่างๆเหล่านี้จนหมดสิ้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยดังที่ท่านได้วินิจฉัยเอาไว้ได้  แต่เมื่อรัฐธรรมนูญยังยอมรับนิติรัฐอยู่  ยังยอมรับเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพยู่  การตีความมาตรา 237 จึงตีความไปในทิศทางเหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าเอามาตราซึ่งเป็นมาตราที่ขัดกับหลักการใหญ่ในรัฐธรรมนูญไปทำลายหลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นในแง่นี้ คนทั่วไปคงไม่เข้าใจว่า รัฐธรรมนูญของไทยยังเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นนิติรัฐอยู่หรือเปล่า  เพราะเราประกาศเรื่องนิติรัฐ แต่เราสามารถตัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยที่บุคคลเหล่านั้น ไม่ได้มีสิทธิแม้แต่จะให้การต่อศาลว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้นอย่างไร นี่คือปัญหาของคำวินิจฉัย

ในทางการเมือง ผมมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นลิ่มอีกอันหนึ่ง ที่ตอกลงไปแล้วทำให้ความรู้สึกนึกคิดของบุคคลที่นิยมชมชอบพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้นมีในทางลบมากขึ้น และอาจจะไม่เชื่อถือ  ไม่ไว้วางใจต่อการใช้อำนาจในทางตุลาการมากขึ้นไปอีก   นี่คือสิ่งที่ต้องสูญเสียไป

@ แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 237 ผูกมัดโดยตัวกฏหมายแปรเป็นอื่นไม่ได้  ตุลาการจะทำอย่างอื่นได้ด้วยหรือ

ทำได้ครับ คือ เป็นปัญหาเรื่องการตีความรัฐธรรมนูญ เวลาอ่านตัวถ้อยคำก็จะเข้าใจอย่างที่ถามว่ารัฐธรรมนูญมัด เขียนว่า “ให้ถือว่า”  และให้ยุบและให้ตัดสิทธิ์  ตัวบทเป็นอย่างนั้นจริงครับ ผมไม่เถียง

แต่หลักการแบบนั้น ตุลาการต้องตีความรัฐธรรมนูญ ในทางที่จะสนับสนุนความยุติธรรมหรือความเป็นธรรม หลักในการตีความรัฐธรรมนูญ ดูตัวบทเฉพาะมาตรานี้หรือมาตราที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้ ต้องดูด้วยว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับในมาตราอื่นๆ วางหลักอะไรเอาไว้ อย่างที่ผมบอกไปว่า มาตรา 3 พูดเรื่องหลักนิติธรรม บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในหลายมาตราสะท้อนให้เห็นถึงหลักนิติรัฐ   ซึ่งหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ เป็นหลักการใหญ่รัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญ ถ้ามีบทบัญญัติแบบนี้  ซึ่งมีการเขียนในเชิงถ้อยคำที่ไปขัดกับ

ไม่ใช่ตีความเถรตรงไปตามตัวอักษร เพราะเมื่อตีความตามตัวอักษร บทบัญญัติมาตรา 237 จะไปขัดกับหลักการใหญ่ ซึ่งการตีความในลักษณะเช่นนี้มีผลเป็นการทำลายความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ ผมถึงบอกว่าถ้าจะตีความมาตรา 237 อย่างที่ตีความกัน ก็ต้องไปเลิกมาตราอื่นก่อน  เลิกเรื่องนิติรัฐนิติธรรมก่อน ถึงจะตีความแบบนี้ได้  ในแง่ของนิติวิธี เวลาที่คุณจะใช้และตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คุณต้องมองดูกฎหมายทั้งระบบ และตีความให้เป็นเอกภาพ สอดคล้องต้องกัน

การตีความกฏหมาย ในลักษณะที่ตีความกันอยู่ เท่ากับดึงมาตรา  237   หลุดลอยออกไป แล้วก็ขัดกับหลักทั่วไปในเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม  ที่เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ  เราจะพูดได้อย่างไรว่าเราประกันสิทธิเสรีภาพบุคคล ถ้าเกิดว่าคนที่ไม่ได้กระทำความผิดถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในเชิงอุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้น การตีความมาตรา 237 ที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องผูกมัดกับคำวินิจฉัยของ กกต. หรือคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น ผลก็คือ กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ย่อมไม่มีความจำเป็น เพราะเมื่อ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค หรือศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารก็เท่ากับพรรคนั้นจะต้องถูกยุบอยู่แล้วอย่างแน่นอน จะต้องส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำไม เพราะศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าตนไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้  การตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลอันประหลาดในระบบกฎหมาย

@ เรื่องคุณสมบัติของตุลาการที่อาจารย์ตั้งข้อสังเกต  อาจารย์จรัญ (ภักดีธนากุล) ถามกลับว่า แล้วอาจารย์เป็นลูกจ้างหรือเปล่า  คำตอบนี้เพียงพอหรือไม่

ผมขอตอบว่า จริงๆ ถ้าถามว่าเป็นลูกจ้างหรือไม่  ผมก็คงไม่ได้เป็นลูกจ้าง ในความหมายของกฏหมายจ้างแรงงานหรือกฎหมายภาษีอากร แต่ผมถูกทำให้เป็นลูกจ้างตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคดีคุณสมัคร ดังนั้น ประเด็นคือ เป็นลูกจ้างหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปถามอาจารย์จรัญว่าศาลรัฐธรรมนูญหรืออาจารย์จรัญเองซึ่งร่วมเป็นตุลาการในคดีนี้ได้วินิจฉัยเอาไว้ว่าอย่างไร

ในคำวินิจฉัย ที่ 12-13/2551  ศาลรัฐธรรมนูญเองและอาจารย์จรัญซึ่งเป็นตุลาการในคดีนี้  ได้วินิจฉัยเอาไว้ว่า ลูกจ้างในความหมายรัฐธรรมนูญ จะต้องแปลความตามความหมายทั่วไป  ซึ่งท่านดูพจนานุกรมแล้วท่านก็บอกว่า หมายถึง ผู้รับจ้างทำการงาน หรือผู้ซึ่งตกลงทำการงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ไม่คำนึงว่าทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นสินจ้าง ค่าจ้าง หรือทรัพย์สินอย่างอื่น  ผมก็บอกว่า ถ้าเอาตามความในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งท่านได้วินิจฉัยไว้เองนั้น ผมก็เป็นลูกจ้างในความหมายของคำวินิจฉัย  ที่ท่านวินิจฉัยไว้เอง

เมื่อผมเป็นแล้วในแง่นี้ตัวท่านอาจารย์ก็เป็นเหมือนกัน   ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ผมไม่ได้บอกว่าตามกฏหมาย  เพราะว่าผมไม่เห็นด้วยกับการตีความแบบนี้ แต่เมื่อท่านตีความอย่างนี้ออกไปแล้ว  ท่านให้ความหมายของรัฐธรรมนูญแบบนี้ไปแล้วในมาตรา 267  คำว่าลูกจ้างในมาตรา 207   ซึ่งใช้บังคับกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมีความหมายแบบเดียวกัน

จะไปเบี่ยงเบนประเด็นไม่ได้ เพราะประเด็นอยู่ที่ว่า  คุณเป็นลูกจ้างในความหมายของคำวินิจฉัยของคุณร่วมเป็นตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือไม่ต่างหาก ซึ่งก็จะต้องเอาคำวินิจฉัยที่คุณร่วมลงนามนั้นมาอ่าน  แล้วเอาท่อนนั้นที่คุณบอกว่าลูกจ้างคืออะไรมาอ่าน แล้ววัดว่าสิ่งที่คุณทำเป็นลูกจ้างหรือไม่

แล้วผมบอกว่า ถ้าตัวผม สมมุติผมเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเอกชนแบบที่ท่านเป็น  แล้วผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเอาการเป็นอาจารย์พิเศษดังกล่าววัดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็เป็นลูกจ้างในความหมายนี้ ไม่ต้องแถไถไปเรื่องอื่น  คือ เราพูดถึงเฉพาะประเด็นนี้   เราไม่พูดถึงว่าแล้วเป็นครูบาอาจารย์ มีคุณธรรมอะไรหรือเปล่า นั่นคนละเรื่องแล้ว

ผมก็อบรมสั่งสอนให้นักศึกษามีคุณธรรมไม่น้อยไปกว่าอาจารย์คนอื่นเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรมในการใช้กฎหมายและการดำรงตนเป็นนักกฎหมายที่มีจิตใจที่เที่ยงธรรม แต่ที่พูดกันอยู่ เป็นคนละประเด็นกัน

แล้วผมคิดว่าคนที่เป็นนักกฏหมาย เรื่องประเด็นเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นถ้าเราจับประเด็นไม่ได้  หรือพยายามเบี่ยงเบนประเด็น คนก็จะไม่เข้าใจ หรือมิฉะนั้นก็ทำให้คนเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

ก่อนหน้านี้มีการออกมาพูดกันว่า  มหาวิทยาลัยไม่ใช่องค์การที่แสวงหากำไร ฉะนั้นไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเอกชน  ไปสอนหนังสือ ไม่ได้ไปทำงานให้องค์การที่แสวงหากำไร เป็นการให้ความรู้บุคคล  ผมก็บอกว่า มหาวิทยาลัยเอกชน เป็นองค์การที่แสวงหากำไรหรือไม่ ก็เถียงกันไป แต่ผมเห็นว่าเป็นองค์การที่แสวงหากำไร

แต่ว่า ประเด็นนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย  เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าไปเป็นลูกจ้างขององค์การที่แสวงหากำไร หรือบริษัทแสวงหากำไร แต่เขียนว่าเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เขาใช้คำอย่างนี้ คือ “ลูกจ้างของบุคคลใด”  ในมาตรา 207

ฉะนั้นเมื่อเขียนว่าลูกจ้างของบุคคลใด แล้วลูกจ้างคืออะไร  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความหมายแบบนั้น ก็ต้องผูกพันตัวท่านเองด้วย    หรือท่านจะบอกว่า เมื่อท่านตัดสินแบบนี้ผูกพันคนทุกคนทั่วไป ยกเว้นตัวท่านเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แล้วแต่ ผมก็ไม่รู้จะพูดว่ายังไง (ครับ)

@ หลังคำวินิจฉัยคดียุบพรรค นักวิชาการหลายคนหรือนักกฏหมายก็ไม่ได้เห็นแบบเดียวกับอาจารย์และเพื่อนอาจารย์ 5 คน

ก็เป็นสิทธิ์ครับ ผมไม่แปลกใจ ว่าจะมีคนไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติ  แต่มีคนถามผมว่า  เห็นมั๊ยกลุ่มหนึ่งมีตั้ง 15 คน โอ้โห! กลุ่มผมมีแค่ 5 คน ซึ่งผมให้สัมภาษณ์หลายครั้งแล้วว่า ผมไม่เคยสนใจเรื่องจำนวน  ผมไม่เคยคิดจะไปล่ารายชื่อ ถ้าผมจะทำผมก็ทำได้ ได้มากหรือน้อยก็ไม่รู้ แต่ย่อมมากกว่าห้าคนแน่นอน แต่ถามว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น นี่เป็นแถลงการณ์ในประเด็นทางกฎหมาย เหตุผลทางกฎหมายไม่ได้วัดกันที่จำนวนคนมาลงชื่อ  ผมคิดว่า ที่เราทำแถลงการณ์ออกไป ตัวผมเองผมรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อสังคม ความรับผิดชอบที่ผมมีต่อประชาชน ต่อสังคมก็คือ  เมื่อเรามีแถลงการณ์ เราก็อ่านในกลุ่มของเรา ทุกคนได้อ่าน ทุกคนได้ดูเนื้อแถลงการณ์  แก้และปรับ แล้วเพื่อนในกลุ่มก็จะให้ผมก็จะเป็นคนดูคนสุดท้ายเสมอก่อนแถลงการณ์จะออกไป

เราก็มีความเห็นว่า จำนวนคน ไม่ใช่เป็นสาระสำคัญ  สาระสำคัญอยู่ที่ตัวเนื้อหาแถลงการณ์  เพราะเราทำแถลงการณ์ในปัญหาเรื่องข้อกฏหมาย ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง ที่จะเอาเรื่องจำนวนมากมาเพื่อแสดงความชอบธรรม ผมไม่เคยคิดทำอย่างนั้นเลย

ฉะนั้น 5 คนก็คือ 5 คน ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูคำแถลงการณ์ที่เราเคยออกกันมาโดยตลอด   ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2 ปีที่ผ่านมาเราทำอะไรกันมาบ้าง และทำมาโดยตลอด  เราไม่เคยทำเป็นเฉพาะกิจ  แต่เราเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะบอกกับสาธารณะชน ว่าเราคิดเห็นอย่างไร เราก็แสดงความเห็นออกไป

เมื่อแสดงไปแล้ว ก็เป็นสิ่งซึ่งสาธารณะชน วิญญูชนที่มีใจเป็นธรรม ก็ไปอ่านแถลงการณ์ของเรา  ไปอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไปดูกระบวนพิจารณาของศาล  รวมทั้งไปอ่านแถลงการณ์ของอาจารย์กลุ่มอื่นๆ  แล้วก็เปรียบเทียบจากข้อเท็จจริง

ทุกอย่างอยู่ในตัวแถลงการณ์ครับ แถลงการณ์ของกลุ่มอาจารย์ 5 คนบอกว่า เมื่อมีการแถลงปิดคดีแล้ว หลังจากนั้นก็มีการตัดสินเลย  แถลงการณ์ของอาจารย์อีกกลุ่ม เห็นว่า มีการแถลงปิดคดี เท่ากับให้โอกาสอย่างเต็มที่แล้ว  ก็เปรียบเทียบเอา

ผมไม่แคร์ หรือไม่สนใจจำนวนคน    ผมเห็นว่าความเคารพนับถือหรือการรู้จักกันส่วนตัว เป็นคนละเรื่องกับหลักวิชา เรื่องของหลักวิชา ผมเรียนว่าไม่มีอาวุโส   ทุกอย่างอยู่ที่เหตุผลที่แสดงออกไป

คนที่ได้มีโอกาสศึกษา  ได้เล่าเรียน  เมื่อเขามีความรู้ถึงระดับหนึ่ง  เขาก็จะเห็นเองว่าใครถูกและใครผิด  ถ้าเขาพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม ไม่สำคัญว่ากลุ่มผมจะเป็นอาจารย์กลุ่มเด็กอยู่  ไม่เหมือนกับตุลาการหรืออาจารย์อีกจำนวนหนึ่งที่อาวุโสมากแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้นครับ  ไม่ได้อยู่ที่ความอาวุโสหรือไม่อาวุโส   แต่อยู่ตรงที่หรือเนื้อหาที่เราได้ แสดงออกไปต่างหากครับ

พูดกันตรงๆ นะครับ มนุษย์เรา สามารถเลอะเทือนและฟั่นเฟือนได้ทุกช่วงของอายุ  ไม่มีกฏเกณฑ์ในทางธรรมชาติไม่ใช่หรือครับบอกว่า เฉพาะคนอายุที่ต่ำกว่า 40 เท่านั้นที่สามารถเลอะเทอะและฟั่นเฟือนได้หรือผิดเสมอ คนที่อายุเกิน 40 ขึ้นไปแล้ว ผ่านประสบการณ์มามากแล้ว จะไม่มีวันเลอะเทอะฟั่นเฟือนเลย คงไม่ใช่

เมื่อไม่ใช่ ผมก็เรียนว่าอย่าเอาเรื่องพวกนี้มาพูดกันเลยดีกว่า ดูในตัวน้ำหนักเหตุผลกันตรงๆ อ่านและพิจารณาตรึกตรองด้วยใจเป็นธรรม  ก็จะเห็นว่าเป็นอย่างไร

@ ผลจากคดียุบพรรค จะส่งผลกระทบต่ออนาคตการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

จริงๆ ผมเคยพูดว่าการยุบพรรคที่มีอยู่ในระบบกฏหมายไทย  ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ยอมรับนับถือกัน เพราะว่าการยุบพรรคที่มีกันอยู่ในนานาอารยะประเทศ จะยุบที่อุดมการณ์ของพรรค  คือเมื่อยุบแล้วพรรคนั้นก็จะหายไปเลย เพราะเป็นการยุบที่อุดมการณ์

แต่โดยระบบกฏหมายบ้านเรา  การยุบพรรคไม่ได้ยุบในเชิงของอุดมการณ์ แต่ยุบในเรื่องของการทุจริตการเลือกตั้ง   ฉะนั้นการยุบพรรคก็ไม่อาจก่อให้เกิดประโยชน์  นอกจากว่าเราสูญเสียบุคลากรทางการเมืองจำนวนหนึ่ง  ซึ่งอาจจะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพอยู่ด้วยก็ได้

ประเด็นคือ เราก็จะสูญเสียบุคลากรเหล่านี้ไป   บางคนบอกว่าก็ดีสิ ที่นักการเมืองหายไป แต่คำถามคือ ในแง่ของความเสมอภาคในเชิงการเมืองจะไม่มี ที่สุดก็จะไม่นำมาสู่อะไร

ผมถามว่า ยุบพรรคแล้วยังไงต่อ วันนี้เราก็ยังไม่รู้ ก็มีความพยายามทำให้การเมืองเปลี่ยนขั้วอยู่  ซึ่งจนถึงวันนี้ผมไม่แน่ใจว่า จะเปลี่ยนได้หรือเปล่า  เพราะเรายังไม่เห็นภาพ แต่ที่แน่ๆ จะเกิดพรรคใหม่ขึ้นมาอีก และจะดำเนินการสืบต่อจากพรรคที่ได้ยุบไปแน่นอน

เมื่อมีพรรคที่ 3 คุณยุบพรรคที่ 3 อีก  เขาก็จะมีพรรคที่ 4 ยุบอีกก็มีพรรคที่ 5  ครบ 5 ปีคุณก็เกิดพรรคใหม่เป็นพรรคที่ 6  และคนที่ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ก็กลับมาในพรรคนั้นอีกอยู่ดี ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาวเลยครับ  กระบวนการยุบพรรคการเมืองเพื่อขจัดปัญหาในทางการเมืองผมเคยบอกแล้วว่าผิด แต่คนก็ยังไม่เห็นว่าผิด  เรื่องบางเรื่องผมบอกแล้วว่าต้องใช้เวลา   รอดูกันไป แล้วจะเห็นกันเองว่าเป็นอย่างไร

@  คิดเห็นอย่างไรกับข้อเสนอของภาคธุรกิจ ให้สลับขั้วทางการเมือง

ผมเข้าใจภาคธุรกิจได้(ครับ)  เพราะเขาเสียหายเยอะจากการปิดสนามบิน  ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับผู้ชุมนุมได้ ก็เป็นธรรมดาที่ข้อเรียกร้องจะออกมาในลักษณะนี้  เขาไม่แน่ใจว่าถ้าขั้วทางการเมืองเป็นอย่างเดิม จะเกิดเหตุการณ์เหมือนที่เคยเกิดอีกหรือไม่ เขาคงมองเรื่องการประกอบธุรกิจ เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เรียกร้องได้  แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องในทางการเมือง

ผมเรียนว่า ถ้าเราย้อนกลับมาดูในทางการเมือง  ถามว่าทำไมรัฐบาลจึงไม่สามารถจัดการกับผู้ชุมนุมได้ ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ค้างคาใจคนจำนวนมาก แน่นอนว่าวันหนึ่งนักประวัติศาสตร์อาจจะมาเป็นคนตอบก็ได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทำไมกลไกของรัฐจึงไม่ทำงาน

กลไกของรัฐไม่ทำงานหรือทำงานไม่ได้เพียงเพราะว่ามีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง บรรดานักสิทธิมนุษยชนอีกจำนวนหนึ่งออกมาบอกว่า ห้ามใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมเช่นนั้นหรือ ผมไม่คิดว่าจะเป็นเพียงเท่านี้  อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญมากนัก

ผมนึกถึง  คำพูดของพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ  (ครับ)  ที่พูดว่าม็อบนี้เป็น “ม็อบมีเส้น” แน่นอนว่าคำนี้สะท้อนอะไรหลายอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้น บังเอิญว่าท่านไม่ได้พูดขยายความต่อไป เราก็ไม่ทราบว่านัยยะเรื่องนี้เป็นอย่างไร  แต่ก็ชัดเจนว่ารัฐบาลเผชิญกับความลำบากในแง่ของการใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการสลายการชุมนุม

Source : มติชน วันที่ 07 ธันวาคม 2551