Home > Literature & Short Story > Little House Series

Little House Series

‘หนังสือชุดบ้านเล็ก’ เป็นหนังสือเล่มแรกๆในชีวิตที่ได้อ่าน หรือได้ฟัง ……. จำได้ว่า ตอนเด็กๆก่อนนอน แม่จะอ่านให้ฟังทุกคืนเลย จนจุดนึง เลยหยิบมาอ่านเอง แต่มันก็นานมาก จนแทบจะจำอะไรไม่ได้แล้วหล่ะ คิดว่า ตั้งแต่อยู่ ป.1 มั้ง ตอนนั้นยังอ่านหนังสือไม่ค่อยได้ด้วยซ้ำ ก็ทนอ่านจนจบ หนาก็หนา เก่าก็เก่า หมายถึงหนังสือมันเก่าน่ะ แม่คงซื้อมานานมากแล้ว ตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกๆ พอตอนโตขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มอ่านพวกวรรณกรรมนักสืบ ประเภท 5 สหาย ผจญภัย, 4 สหาย ยอดนักสืบ เป็นซีรีย์ มีหลายเล่มมาก อีริค ไบรตันเขียน จนปัจจุบัน ก็เห็นมีพิมพ์มาขายใหม่โดยสำนักพิมพ์อื่นแล้ว แต่ที่พิมพ์ใหม่ เล่มหนามาก ไม่เหมือนเมื่อก่อน เล่มนิดเดียวเอง เคยเปิดๆดู คงเป็นที่ขนาด font แตกต่างกัน คิดแล้วคงเป็นหนังสือที่ จะไม่มีโอกาสอ่านอีก ในชีวิตนี้ ……. มันหมดเวลาไปกับอย่างอื่นที่เหมือนจะสำคัญกว่า แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ จนไม่รู้จะแบ่งเวลาให้ยังไง …….

——————————————————————————————–

‘หนังสือชุดบ้านเล็ก’ หรือ ‘The Little House Series’ วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกที่เขียนโดย ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ ซึ่งสร้างความประทับใจ ให้กับคนไทยมานานนับสามสิบปี ด้วยสำนวนแปลของ สุคนธรส ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น เมื่อปี 2507 และได้รับความนิยมจากผู้อ่านเป็นอย่างมาก จนได้รับการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง หลังจากนั้นถึงแม้จะมีคนนำมาแปลอีก แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม เท่ากับสำนวนแปลของสุคนธรส กระทั่งหนังสือขาดหายไปจากตลาดนานทีเดียว

หนังสือชุด ‘The Little House Series’ เป็นเรื่องชีวิตจริง ผู้แต่งได้บรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของผู้แต่งเอง ตั้งแต่เด็กจนโตอย่างละเอียดลออ สะท้อนชีวิตชาวอเมริกันที่ได้ต่อสู้กับธรรมชาติ และความลำบากยากแค้น มาด้วยความมานะอดทนมากมายเพียงไร ก่อนที่บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ 80 ปีเศษเท่านั้นเอง

ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ (Laura Ingalls Wilder) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องนี้ เธอเป็นบุตรคนที่สองของชาล์ส ฟิลิปป์ และแคโรไลน์ เลค ควินน์เนอร์ อิงกัลล์ส เกิดในกระท่อมไม้ซุงชายป่า ใกล้เมืองเปปปิน มลรัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1867 ครอบครัวของเธอเดินทางอพยพบนเกวียนประทุน ผ่านแคนซัส มินเนโซตา และตั้งรกรากถาวร บนที่ดินจับจองใกล้เมืองเดอ สเม็ต (De Smeth) มลรัฐดาโคตา เมื่ออายุ 15 ปี ลอร่าสอบเป็นครูได้และเริ่มต้นสอนหนังสือ เมื่อ ค.ศ.1885 ลอร่าแต่งงานกับแอลแมนโซ เจมส์ ไวล์เดอร์ ในตอนสุดท้ายของชีวิต ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในรัฐมิสซูรี และมีบุตรสาวผู้หนึ่งชื่อ โรส ไวล์เดอร์ เลน

หนังสือ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1932 และมีหนังสือชุดเดียวกันอีก 8 ตอน ตามออกมาเป็นลำดับ หนังสือ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ได้รับรางวัล Newberry Award ในปี ค.ศ.1932 และปี ค.ศ.1942 ลอร่าได้รับรางวัลวรรณกรรม Harry Hartman Award จาก Pacific Northwest Library Association ปี ค.ศ.1943 หนังสือ ‘ปีทองอันแสนสุข’ ได้รับรางวัล New York Herald Tribune Spring Book Festival และปี ค.ศ.1954 Children’s Library Association ตั้งรางวัล Laura Ingalls Wilder Award ให้กับนักเขียนที่มีผลงานดีเด่นสำหรับเด็กทุกๆ 5 ปี และห้องสมุดประจำรัฐต่างๆ อุทิศอาคารให้เกียรติกับเธอ ทั้งในเซ็นต์หลุยส์ ดีทรอยต์ มิชิแกน แมนฟิลด์ มิสซูรี โปมานา และแคลิฟอร์เนีย

ครอบครัวไวล์เดอร์ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ แมนฟิลด์ มลรัฐมิสซูรี แอลแมนโซ ผู้เป็นสามีสิ้นชีวิตที่นี่ในปี ค.ศ.1949 อายุ 92 ปี ลอร่าสิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1957 อายุ 90 ปี และลูกสาวของลอร่า ต่อมาเป็นนักเขียนมีชื่ออีกคนหนึ่งของอเมริกาด้วย หนังสือจากงานเขียนของลอร่า ยังเป็นที่นิยมอ่านกันแพร่หลายในหมู่เด็ก และหนังสือชุด ‘บ้านเล็ก’ ก็ได้รับการยอมรับเป็นผลงาน ‘อมตะ’ ที่ดีเด่นชิ้นหนึ่งสำหรับเยาวชน (ที่มา : นิตยสารโลกหนังสือ)

——————————————————————————————–

สุคนธรส หรือนามปากกาของ ม.ล.รสคนธ์ อิศรเสนา ผู้แปลวรรณกรรมเยาชนชุด ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2460 จบการปริญญาโทจาก Kansas State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และทำงานรับราชการโดยตลอด ตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณารักษ์ จนกระทั่งเป็นอาจารย์สอนหนังสือ นอกจากนี้ยังแปลหนังสือภาษาอังกฤษ ประเภทนวนิยาย ซึ่งมีเค้าเรื่องจริงแบบอิงประวัติศาสตร์ โดยใช้นามปากกา ‘สุคนธรส’ และเป็นผู้แปลหนังสือ 8 เล่มแรกของหนังสือชุด ‘บ้านเล็ก’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รวมสาส์นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2507 และได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้อ่าน จนต้องพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง หลังจากนั้นได้แปลหนังสือในชุดนี้อีก 2 เล่ม คือ ‘สี่ปีแรก’ และ ‘ตามทางสู่เหย้า’ ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร ‘ลลนา’ ยุคที่ ‘สุวรรณี สุคนธา’ เป็นบรรณาธิการ จากนั้นได้มีการจัดพิมพ์รวมเล่มอีกหลายครั้ง

นอกจากนี้ ม.ล.รสคนธ์ อิศรเสนา ยังเป็นพระสหายผู้หนึ่งของ ‘ว. ณ ประมวลมารค’ (พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ซึ่งเคยเรียนมาด้วยกันครั้งอยู่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเมื่อเรียนอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมชั้นซึ่งถนัดในการเขียนงานแปล อาทิเช่น ฐะปะนีย์ นาครทรรพ แม้นมาส ชวลิต และสุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ (ที่มา : นิตยสารโลกหนังสือ)

บางส่วนจาก :  จุดประกาย วรรณกรรม ปีที่ 16 ฉบับที่ 6134 วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2548

  1. Alisa
    6 October 2005 at 1:28 AM

    Puppy…still angry me??? ~>_<~

  1. No trackbacks yet.

Leave a comment